แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าไปหว่านใส่ป่าใส่ดง ไปหว่านใส่พลาญหิน ข้าวมันก็ไม่งอกไม่งาม ต้องหว่านลงไปเนื้อนา คือศรัทธา มีความเพียรเหมือนน้ำฝน ชุ่มฉ่ำอยู่เสมอ ข้าวปลูกพันธุ์ดี ๆ หว่านลงไป เกิดมรรคเกิดผล เต็มมรรคเต็มหน่วย เต็มมรรคเต็มผล แล้วก็อาศัยการดูแล การพรวนดิน ใส่ปุ๋ย คือสมาธิ คือปัญญา อย่าอ่อนแอ สมาธิหมายถึงคันคราดคันไถ สามารถพลิกหญ้าลงไปเก็บไว้ใต้ดิน หญ้าก็จะเกิดปุ๋ยน่ะสมาธิ หญ้าอยู่ตรงไหน ทุกข์อยู่ตรงไหน พลิกมันลงไป ความลำบากเป็นยังไง พลิกมันลงไป เหมือนทุกวันนี้ชาวนาเขาก่อนที่จะปลูกข้าว เขาหว่านถั่ว เห็นไหม ทางไปแก้งคร้อ ถั่วเนี่ยเขียวเต็มทุ่งนา พอถั่วงามเขียว แล้วเขาก็ไถพลิกถั่วลงไป ต้นถั่วลงไปใต้ดิน ถั่วก็ไปเป็นปุ๋ย หว่านข้าวลงไป ข้าวก็งาม นาร่องไหนแปลงใดที่หว่านถั่วลงไปก่อน หาเมล็ดลีบไม่ค่อยมี ได้ผล เคยไปดูที่กุดชุม จังหวัดยโสธร ที่นั่นเขารับผิดชอบผลิตข้าวคุณภาพสู่คนให้บริโภค มีโรงสีด้วย เขารับผิดชอบ เขาผลิตข้าวไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใส่สารเคมี เขารับผิดชอบ ไปชิมก็แซบ ไปกินข้าวกุดชุมแล้วมากินข้าวบ้านเราเนี่ย ต่างกันมากมาย
ฉันใดก็ดี การปฏิบัตินี่ พลิกสิ่งไหนที่มันไม่ดี ให้มันเปลี่ยนแปลง ให้มันสมกับชื่อว่าปฏิบัติ ปฏิก็พลิกความร้ายเป็นความดี พลิกอะไรที่มันไม่ดี ลงไป เปลี่ยนหน้าใหม่ แล้วมันก็เปลี่ยนได้ชีวิตเรา ไม่ใช่ทำไม่ได้ ถึงคราวอดก็อด ถึงคราวทนก็ทน มีความทนก็ถือว่าขันติบารมี การสร้างบารมี ความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง มีความอดทนก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถ้าขาดความอดทนสักหน่อยละก็ ทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องสู้งานสู้การ สู้การปฏิบัติ เหมือนคนพายเรือข้ามฟาก ต้องถ่อต้องพายไปอย่างนั้นจะไปเจอเปลวน้ำไปเจอคลื่นก็ต้องมีจังหวะงัดท้ายให้ดี ๆ ตั้งหางเสือให้ดี ๆ เพื่อจะไม่ตกต่ำลงไป การสอนตัวเองก็เหมือนกันนะ ถึงคราวทนก็ทน ถึงคราวอดก็อด ถึงคราวยากก็ยาก ถึงคราวง่ายก็ง่าย ถึงคราวสุขก็สุข ถึงคราวทุกข์ก็ทุกข์ สิ่งเหล่านี้เพื่อให้เราได้ลุยมัน ถ้าชีวิตเราไม่ผ่านสิ่งเหล่านี้ มันไม่ใช่ชีวิตจริง ชีวิตจริงมันต้องผ่าน
แล้วการศึกษาเนี่ย จะศึกษาอะไรก็ตาม ถือว่าศึกษาเนี่ย ต้องรู้ ต้องรู้บุญรู้คุณ บุญคุณที่เราควรจะรู้คือครูอาจารย์ บิดามารดา ใครจะรู้อะไรก็ตาม ถ้าไม่รู้บุญรู้คุณเรื่องนี้ ถือว่าไม่ใช่การศึกษา เช่น พอเราปฏิบัติไป พอเราปฏิบัติไป เห็นทุกข์ เห็นความยากลำบากก็ไปคิดถึงพ่อถึงแม่ โอ! น้ำตาร่วงเลย พอรู้จักรูปรู้จักนาม คิดถึงหลวงปู่เทียน ปัดโธ่! หลวงปู่เทียน มาสอน ฉลาดหนอหลวงปู่เทียน สอนให้คนรู้ตัวเอง พอมีศีล มีสมาธิขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมา คิดรักพระพุทธเจ้า รักพระธรรม รักพระสงฆ์ เคารพรักศาสนา มันไปทางนี้นะการปฏิบัติธรรม มองไปเป็นกระแสไปเลย เห็น เห็นพ่อเห็นแม่ เสียดายแท้ พ่อตายไปก่อน ถ้าพ่อไม่ตายจะไปสอนพ่อ เหลือแต่แม่ ก็ไปสอนแม่จริง ๆ นะ หลวงพ่อเทียน ก็บอกหลวงปู่เทียน “หลวงปู่เทียน หลวงปู่ จะใช้อะไรผม หลวงพ่อมีสิทธิใช้ได้อย่างเต็มที่” บอกหลวงปู่เทียน ทุกวันนี้ก็ยังทำงานตามที่หลวงปู่เทียนบอก ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นความจริง ปฏิบัติอย่างนี้มันเป็นจริง ก็ไปสอนคนอื่นให้เขารู้เหมือนกับเรารู้ ตรงนี้แหละสำคัญ ถ้าใครไม่รู้ สอนให้เขารู้นะ เป็นบุญมหาศาล คนที่โกรธไปสอนให้เขาหายโกรธ คนที่ทุกข์ไปสอนให้เขาหายทุกข์ หน้าที่เราต้องทำอันนี้ ต้องขนส่ง ต้องขนส่ง คืองานของเรา
เราจึงต้องปฏิบัติ อย่าไปรี ๆ รอ ๆ อย่าไปมองนอกตัว อันโน้นเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอย่างโน้น อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้มันดี ฉันชอบอย่างนั้น ฉันไม่ชอบอย่างนี้ อย่าไปมองแบบนั้น สิ่งเหล่านี้อย่าให้มันขวางกั้น มีสติลงไป อะไรก็ตาม เข้าข้างความรู้สึกตัว ฝึกตน บัณฑิตต้องฝึกตน ช่างถากก็ย่อมถาก ตรงไหนที่มันคดมันงอ ดัดลงไปให้มันตรง ช่างดัดลูกศรก็ดัดลูกศรให้มันตรง บัณฑิตก็เพียรพยายามฝึกตัวเอง ถ้าไม่ฝึกตัวเองไม่ชื่อว่าบัณฑิต จะจบปริญญามาขนาดไหนก็ไม่ชื่อว่าบัณฑิต บัณฑิตคือฝึกตน มองตนเหมือนกับส่องเงาในกระจก ถ้าใครรู้จักโทษตัวเอง ดีมาก อย่าไปโทษคนอื่น อย่าไปโทษสิ่งอื่น แม้คนอื่นตำหนิเรา เราก็มองเรา มองเรา เป็นเหมือนเขาว่าไหม มองหา ค้นคว้าหา โอ๊ย! ไม่มีนะไม่เหมือนเขาว่านะ เอ้! ไม่เห็นมีตรงไหนนะ ก็สงสารคนที่เขาว่า โอ้! เขาไม่รู้หนอ เขาจึงพูดอย่างนั้น ไม่ได้โกรธเขาเลย เขาไม่รู้เขาจึงพูด คนไม่รู้เนี่ย ทำอะไรก็เป็นคนที่น่าให้อภัย ถ้ามองเราเห็นว่ามันผิดขาดตกบกพร่อง มองเห็น โอ้! ขอบคุณเขา ขอบคุณเขา ผู้ใดชี้โทษแล้ว ผู้ใดขนาบแล้วขนาบอีก ชี้โทษแล้วชี้โทษอีก เป็นประโยชน์ โอ้! ผู้นั้นคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้เรา
เหมือนพระพุทธเจ้ากล่าวกับหมู่เหล่าพระสาวกทั้งหลายว่า “เราจะขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด เราจะชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุด เราจะทำกับพวกเธออย่างไม่ทะนุถนอม เหมือนช่างหม้อที่ทำกับหม้อยังเปียกยังดิบอยู่ ผู้ใดมีแก่นก็ทนอยู่ได้ ผู้ใดไม่มีแก่นก็ไป” พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ โอ้! ลึกซึ้งมาก มันก็มีแก่นเหมือนกันนะคนเรา อย่ามีแต่หม้อ มันไม่ทน หม้อมันไม่ทน ผู้ใดมีแก่นจึงจะทนอยู่ได้ … “นิคคัย๎หะนิคคัย๎หาหัง อานันทะ วักขามิ ปะวัย๎หะปะวัย๎หาหัง อานันทะ วักขามิ โยสาโร โส ฐัสสะติ” ถ้าเป็นบาลีเขาก็ว่านะพวกเรา
ผมก็ไปน้ำหนาว เมื่อคืนไปนอนน้ำหนาว ไปดูผู้คน ไปดูภูมิประเทศเขา ไปดูพระสงฆ์ ไปดูความยากลำบาก ก็เลยเห็น อะไร ๆ มันก็ไม่เหมือนสุคะโต บางอย่างก็เหมือนกัน เขาเอากลดขาด ๆ กางให้นอน แต่เราก็มีกลดมีมุ้ง ถือไปด้วย เห็นกลดเขาขาด ก็เลยไม่เอากลับมา เลยมอบให้พระที่นั่นใช้เลย เอ้อ! บางทีมันก็เห็นอกเห็นใจ เห็นอกเห็นใจ น้ำก็ไม่มีอาบเหมือนกันกับพวกเราบางครั้ง พระท่านก็จะไปตักน้ำมาให้อาบ บอกแล้วว่าไม่ต้อง ไม่ต้อง ๆ ผมจะช่วยตัวเอง ขอให้ผมได้ช่วยตัวเอง เขาก็คะยั้นคะยอ เดี๋ยวผมจะไปทำให้ เราก็ยกมือ ขอ ขอ อย่าไป คือเรามองเห็น มองเห็นตรงไหนละ มองเห็นน้ำที่เขาเอาทำเป็นอ่างไว้บันได แต่ว่าไม่ใช่อ่างน้อย ๆ นะ อ่างใหญ่พอสมควร สัก 2 – 3 เมตรนั่นแหละ มันใส สำหรับเขาล้างท่อ สังเกตดู แต่ว่าดูน้ำ มันใสกว่าวัดป่าสุคะโตนะ ก็มองเห็นอยู่ ไป ไป ๆ คุณกลับไป คุณกลับไป หลวงพ่อจะช่วยเหลือตัวเองแล้ว ไล่เขากลับไป เราก็ถือโอกาสอาบน้ำใต้บันไดเลย โอ้! ดีมากเลย สบายเลย ถ้าคนไปเห็น โอ! พระผีบ้า โอ! อาบน้ำ ล้างขาก่อนเลย แต่มันสะอาดนะ ถ้าไม่ใช้บาตร ยังรู้จักอาบน้ำดีกว่าไม่อาบ ถ้าจะไปตัก ไม่รู้จะไปตักตรงไหน มันค่ำมันมืด วัดเขาก็เป็นป่าเป็นดง มีเก้งมีกวาง เออ! ดีเหมือนกันนะ ถ้าจะมาเปรียบเทียบกับวัดบ้านเรา ก็ยังพอ ๆ บางทีก็อย่างกุฏิคุณไพรวัลย์เนี่ย ก็ไม่เคยดูแลตรงนั้นเลย เหม็นหึ่งเลย หมอพยาบาลไปพักอยู่ตรงนั้น โอ๊ย! อายเขาเลยหลวงพ่อ หลวงพ่อไปดูเนี่ย เหม็นไปทั้งห้องทั้งกุฏิเลย น้ำ เพราะเปิดออกมาขังไว้... ไม่ว่าสีไหนสีไหนล้างก็ไม่ออก ปัดโธ่! สำนักปฏิบัติธรรมสุคะโตเนี่ย อันนี้หนอ ต้องขออภัยบางครั้งก็ดูแลไม่ทั่วถึง มีอะไรก็บอกกัน แก้ปัญหาบอกกัน ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ พร้อมที่จะช่วยอยู่ เจ้าหน้าที่น้ำคืออาจารย์หงวน ได้ทุกท่านนั่นแหละ ถ้าน้ำไม่มีก็บอก มีเจ้าอธิการ เจ้าอธิการคลัง เจ้าอธิการเสนาสนะ เจ้าอธิการอาหาร เจ้าอธิการเสนาสนะอาจจะเป็นท่านสุรินทร์เนาะ ถือกุญแจ แจกกุฏิให้อาคันตุกะที่มาพัก เจ้าอธิการอาหารก็อาจจะเป็นแม่ชี เจ้าอธิการคลัง ผ้าไตร ยา ปัจจงปัจจัยอาจจะเป็นอาจารย์ตุ้ม ไปทางโน้นแล้วนะ ถ้ากุฏิมันรั่ว ปิดไม่ได้ กุญแจเป็นอย่างไร บอกเจ้าอธิการ อธิการใครนะ มีเหมือนกันนะ มีพระอานนท์ประกาศให้พระสงฆ์ทราบว่าถ้ากุฏิใครรั่ว หลังคารั่ว หน้าต่างประตู เปิดปิดไม่ได้ ก็กรุณาบอกพระอานนท์ พระอานนท์จะยินดีไปทำให้ มีเหมือนกันสมัยก่อน ซ่อมแซมเสนาสนะ ธุระหน้าที่ เรียกว่ากิจสงฆ์ ผู้เอากิจเอาการเอางานของสงฆ์ กิจของผู้อื่นไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เอางานเอาการ ช่วยคนอื่น เขากระตือรือร้นเรื่องนี้สมัยก่อน บางทีเจ้าอธิการย้อมผ้า อาจารย์ตุ้มทำโรงย้อมไว้ สมัยก่อนก็มีพระอนุรุทธะ ถ้าผ้าจีวรใครจะซักจะย้อมก็บอกพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะก็ฟันแก่นขนุน ฟันแก่น เปลือกเค็ง เปลือกเหนียด ฯลฯ แก่นขนุนนี้ฟันแหลก ๆ แล้วก็มาต้ม เคี่ยวเอาน้ำ เอาแก่นขนุนสัก 2 กิโล เอาน้ำใส่ครึ่งปี๊บ ต้มจนมันแห้ง เหลือแต่ตะกอน เอาไปกรอง เหลือแต่ตะกอนสีเหลือง ๆ แล้วเอาไปย้อม กว่าจะได้สีไปย้อมผ้าเนี่ย พระอนุรุทธะต้องฟันฟืน ต้องต้ม โรงย้อมต้องเปลือยกายได้ ไม่ต้องห่มจีวร มันร้อน ย้อมผ้าให้องค์นั้น ย้อมผ้าให้องค์นี้ สมัยก่อน ผ้าขาดก็ต้องสอย ไม่มีจักรเย็บเหมือนทุกวันนี้ ทุกวันนี้ไม่ได้ย้อมเลย ผ้าไม่ได้ย้อมเลย สีมาตรฐาน ตั้งแต่ซื้อมาจนขาด ไม่ต้องย้อมเลย เรียกว่าผ้าบังสุกุล เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนใช้ผ้าย้อมอยู่ เขาไม่ใช้ผ้าบังสุกุล ถ้าเป็นผ้ามาตัดจีวรก็เอาผ้าขาว เอามาตัดแล้วก็เอามาย้อม เดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง ก็เพิ่งไม่ได้ย้อมผ้าเพียง 20 ปีมานี่แหละ แต่ 20 ปีก่อนต้องไปย้อมเหมือนกัน สมัยก่อนไม่เจริญ เปลือกเค็ง สมัยก่อนนิยมสีหลังตะขาบ ลูกศิษย์หลวงปู่เทียน เจ้าคณะจังหวัดเลย พานุ่งผ้าสีหลังตะขาบ ต่อมา ๆ ประชุมกันใหม่สีแก่นขนุนบัดนี้ แก่นขนุนมันหาง่าย ไม่ต้องย้อม เขาผลิตมา เขาถวายเยอะ เอาไปเอามาก็หาได้ง่าย ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นสีแก่นขนุน แต่ก่อนก็สีหลังตะขาบ สีแดง ๆ เข้ม ๆ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องย้อมแล้ว สีแก่นขนุนต้องเอาเปลือกเค็ง ต้มดี ๆ ใส่ใบขาม ใส่สารส้ม ย้อม เรียกว่ามีเจ้าอธิการ นั่นก็ตามธรรมวินัยก็คิดช่วยเหลือกันนั่นแหละ ช่วยกัน ๆ พวกเรา
ในวันพรุ่งนี้จะมีนักเรียนมา 200 – 300 คน อาจารย์วรเทพก็ไม่อยู่ อาจารย์ทรงศิลป์ก็ไม่อยู่ เหลือแต่พวกเรา อาจารย์ตุ้มให้ใครเป็นวิทยากร พรุ่งนี้อบรมนักเรียน 3 วันนี้ เต็มเลยนะนักเรียน วัดภูเขาทองก็เต็ม สุคะโตก็เต็ม หลวงพ่อก็ไม่รู้จะไปทางไหนกันแน่ ภูเขาทองก็นิมนต์ไป สุคะโตก็นิมนต์สอน เอาที่นี่ก่อนละพรุ่งนี้นะ ช่วยกันพวกเรา ดูน้ำดูไฟ ตื่นก่อนนอนหลังเขา เวลาเขาใช้ห้องน้ำห้องส้วม พอเขาออกไปแล้ว เราต้องเข้าไปดูอีกทีหนึ่ง มันปิดน้ำไหม ปิดไฟไหม ให้เขานอนแล้วค่อยไปดูค่อยนอนพวกเรา ถ้าไปนอนก่อนเขา บกพร่อง น้ำไหลตลอดคืน เปิดไฟจ้าตลอดคืน เราก็สิ้นเปลืองพลังงาน น้ำมันก็แพง ค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้น เมื่อวานนี้หลวงพ่อรดน้ำต้นไม้ที่ศาลาหน้า มีโยมมา “ทำไมหลวงพ่อ ทำไมไม่ใช่สปริงเกอร์” “เดี๋ยว ๆ ประหยัดสักหน่อย ถ้าใช้สปริงเกอร์มันต้องเสียค่าไฟ” เขาหัวเราะ เขาว่าเล่น ๆ ไปเฉย ๆ อะไรก็แพงหมดแล้วทุกวันนี้ น้ำมันก็ขึ้นตะพึดตะพือ ใช้อะไรก็สำรวมพวกเรา อย่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย นอนให้อิ่ม กินให้อิ่ม อย่างอื่นเอาไว้ อย่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ใช้ไฟใช้น้ำ รู้จักสำรวมระมัดระวัง ใช้ปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง อย่าเบื่อหน่ายต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม อย่าทะเยอทะยานอยากในกามคุณ ถ้าใครหลงอยู่สภาพเช่นนั้น ไม่เจริญ ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น สู้ ในโลกนี้ไม่ใช่เราอยู่คนเดียว มันต้องสู้ มันต้องสู้จริง ๆ โลกทุกวันนี้ มันแสบเผ็ด ถ้าใครไม่เก่งก็อยู่ลำบาก ถูกโลกทับถมได้ง่าย ฝึกเอาไว้วิทยายุทธ พวกเรา ถ้าไม่ฝึกมันก็ไม่มีคุณภาพ อะไร ๆ ก็ตาม ก่อนที่จะมีคุณภาพ ต้องฝึกซ้อมตนเอง ซ้อมกายซ้อมใจ ปรับกายปรับใจ
โดยเฉพาะวิชากรรมฐาน เป็นวิชาที่ลุยพอสมควร พอทำปั๊บก็ง่วงเหงาหาวนอน ยาก ปวดหลังปวดเอว เมื่อยล้า บางทีอยู่ดี ๆ พอทำลงไปก็คร่ำเครียด คิดมาก ฟุ้งไปเลย นั่นแหละเขาให้เราฝึกมัน มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราฝึก เราจะหลุดไปตามมันได้ง่าย เห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรา เราก็ได้สอนตัวเรา วิชากรรมฐานเป็นวิชาที่สอนตัวเรา มันโผล่มาแง่ใดมุมใด เพียรพยายามรู้ พอทนก็ทน ถ้ามันปวดมันเมื่อยก็ทนสักหน่อย ถ้ามันคิดอะไรมากก็หยุดมันสักหน่อย ถ้ามันเบื่อก็เปลี่ยนความเบื่อเป็นความปกติ มันมาให้เราเปลี่ยน มันเป็นงานเป็นการ เหมือนเราฝึกวัวฝึกควาย เทียมคราดเทียมไถ วัวบางตัว ควายบางตัวเนี่ย ไม่เอางานเอาการ เราก็เอาแอก เอาท่อนไม้ เอาท่อนไม้ผูกเชือก แล้วก็ไปผูกคอมัน ให้มันลากท่อนไม้ไปกินหญ้าทั้งวัน ลากไปตามโคกตามป่าไป กินหญ้าไป ลากไปอย่างนั้น ตอนเย็นก็ลากมาเข้าคอก ผูกติดคอมันอยู่นั่น สองวันสามวัน เอาไปเอามามันก็รู้จักเอางานเอาการ แต่พอทำใหม่ ๆ จับใส่ล้อใส่เกวียนมันนอน ไม่เอาเลย พยศ ไม่เอา นอน ตีก็ไม่ไป อ้าว! ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปบังคับมัน เอาท่อนไม้มาผูกเชือกติดคอมันไว้ เดี๋ยวมันก็ลุกไปของมันเอง แล้วมันก็ลุกไปจริง ๆ ให้มันลากท่อนไม้อยู่สามวันสี่วัน เอาไปเอามาพอเอามาใส่ล้อใส่เกวียน ก็ดันไปได้บัดนี้ รู้จักดัด รู้จักสู้ เคยเห็นเขาฝึกม้าพยศอยู่ที่ประเทศพม่า ถ้าม้าตัวไหนมันพยศมาก เขาก็มียาง สนามฝึกม้าเขาเนี่ย สุดลูกหูลูกตา เขามีประตูเดียว มีที่พัก พวกฝึกม้าทั้งหลายก็ไปนั่งอยู่ประตู พอฝึกขี่ได้ก็ขี่ไป ตัวไหนที่มันพยศ เขาก็มีรถยาง เป็นยางล้อแบบยาง ช่วยกันจับแล้วก็มัดใส่คอมัน ม้าก็พาวิ่งไป ไม่หลุดเลยนะ กระโดดโลดเต้นขนาดไหนล้อยางก็ไม่หลุดจากคอมัน วิ่งไปจนมองไม่เห็น มันไกลลิบสนามฝึกม้า หนึ่งวันสองวันมันก็กลับมาเลย เดินพาล้อมา เดินต๋อย ๆ ๆ มา เจ้าของก็ไปจับเอา เราก็ฝึกแบบนั้นก็มี
พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นสารถีฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า ฝึกผู้คน พระพุทธเจ้ายอดเยี่ยม “อนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ” เป็นผู้ฝึกบุรุษ สารถีฝึกบุรุษ ไม่มีใครยิ่งกว่า พวกเรานี่ก็มาให้พระพุทธเจ้าให้ได้นิสสัย “อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ” ขอนิสสัยตั้งแต่วันเราบวช “ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ” “ตติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ” ข้าพเจ้าจะขอนิสสัยจะหัดนิสสัยตามพระพุทธเจ้า ตามพระธรรมวินัย เราก็เป็นภาระ เอาภาระต่อกันและกัน ภาระของเราก็ต้องศึกษา ภาระของผู้ที่จะพอบอกสอน ก็ต้องบอกต้องสอนต้องเอากัน อย่าปล่อยกันทิ้ง ช่วยกัน ปลุกกัน ลุกขึ้นมาทำวัตรทำวา ไปกินไปฉันเน้อ ทำวัดเวลานั้นเน้อ ไปฉันเวลานั้น ไปบิณฑบาตเวลานั้น เอากัน มีพี่เลี้ยง สมัยหลวงพ่อไปปฏิบัติ มีผู้เฒ่าอายุ 80 ปีเป็นพี่เลี้ยง ชวน ไป “ไปโน้นเฮา กินข้าวแล้ว ปะเข้าไปในป่าพู้นเฮา” เขาก็อยู่เส้นทางหนึ่ง เราก็นั่งอยู่เส้นทาง เดินอยู่เส้นทางหนึ่งใกล้ ๆ กัน พอดีเดินเหนื่อย เราก็มานั่ง นั่งหลวงพ่อก็เคยฝึกสมาธิ นั่งนิ่ง ๆ หลับตา มันเคยชินแบบนั้น มันนั่งสงบอยู่ พ่อใหญ่ก็มา มายืนบอก “อย่านั่งอยู่แต่ในความสงบสิ ยกมือสร้างจังหวะนะ สร้างสติ ถ้านั่งสงบ มันบ่ได้สติเลย ยกมือสร้างจังหวะที่หลวงพ่อเทียนสอน” กลับมายกมือสร้างจังหวะ เวลาใดที่นั่งอยู่นิ่ง ๆ พ่อใหญ่จะมาบอก “บ่ได้ บ่ได้ พักอันนี้ก่อน อันนั้นเอาไว้เสียก่อน” โอ้! ถ้าไม่มีพ่อใหญ่เม่า ก็คงใช้เวลาเยอะ มันสู้กัน พ่อใหญ่เม่าก็มาสอน เป็นพี่เลี้ยงนะ ยังเห็นบุญเห็นคุณ แต่ว่าท่านเสียชีวิตแล้ว ก็เลยเอาศพไปมอบให้โรงพยาบาลขอนแก่น พากันไป สมัยปีสร้างวัดโมกฯ ใหม่ ๆ ปี 2514 ก็เลยเอาศพไปมอบให้โรงพยาบาล ชวนพ่อใหญ่เม่าไป พ่อใหญ่เม่าก็มอบศพเหมือนกัน พอตายแล้ว ก็เอาศพพ่อใหญ่เม่าไปโรงพยาบาล เศรษฐีบ้านห้วยบ้านไฟพ่อใหญ่เม่าเนี่ย โอ! เคารพท่าน แม้แต่ได้ยินชื่อก็ยังเคารพท่านอยู่ เห็นบุญเห็นคุณท่านมาบอกมาสอน เวลาใดที่นั่งหลับตาไม่สร้างจังหวะนั่งสงบ ท่านจะมาบอกทันที สมัยหนึ่งแต่ก่อนเรียกว่าเป็นหมอเขียนยันต์สักให้คน เขียนยันต์เอาขนาดไหนงามเลย แล้วก็สักเป็นรูปยันต์ต่าง ๆ กลัวว่ามันจะลืม ก็เลยเอาปากกามาเขียนยันต์ เขียนสวย พอดีพ่อใหญ่เม่าเดินมา “เฮ็ดหยั่งล่ะ” หลวงพ่อก็ยกกระดาษที่เขียนยันต์ ยื่นให้พ่อใหญ่เม่าดู ว่าจะอวดพ่อใหญ่เม่า พ่อใหญ่เม่าจับได้ ขยำ ๆ ไปเลย ไม่ดูให้สักหน่อยหรือ “เอาไป เอาไป เอามาปากกา กระดาษก็ไม่ต้องเอาแล้ว” หลวงพ่อเขียนยันต์สองสามภาพ เขียนใส่กระดาษ ว่าจะอวดพ่อใหญ่เม่า พ่อใหญ่เม่าไม่ดูเลย กำ ๆ แล้วขยำไปเลย เราว่าจะอวดพ่อใหญ่เม่า พ่อใหญ่เม่าขยำหมด มาคิดดูทุกวันนี้ โอ! นึกว่าเราฉลาด ที่แท้เรามันโง่ มาเห็นพ่อใหญ่เม่าขยำลายยันต์ของเราที่อุตส่าห์เขียนอย่างดี มันเป็นอย่างนั้น พ่อใหญ่เม่านี่โอ! ช่วยเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนไปทำอย่างนั้นนะ บางทีเราอาจจะไม่พอใจ บังคับกันเกินไป ไม่รู้ว่าเป็นยังไงพ่อใหญ่เนี่ย คิดไปต่าง ๆ นานา เราก็ทวนกระแส ทวนกระแส ยอมรับครึ่งหนึ่ง ไม่ยอมรับครึ่งหนึ่ง หัดตัวเอง เราก็ดันว่าเราทำถูก เราก็ทำแบบนี้ พ่อใหญ่เม่าก็ดันเราไปแบบนั้น เซากันอยู่ อยู่ด้วยกัน จำพรรษา อยู่เป็นเพื่อนกันจริง ๆ กับพ่อใหญ่เม่า ท่านอายุ 70 – 80 ปี เราตอนนั้นอายุ 30 ปี กินข้าวด้วยกัน เวลาฉันข้าวก็ พระฉันเสร็จแล้ว เขาก็รวมอาหารใส่พาข้าวไว้ให้เรา แม่ชีรวมอาหารจากพระจากเจ้าจากแม่ชีบ้าง ใส่พาข้าวไว้ เอาของคว่ำไว้ แล้วก็ตีระฆัง เป้งๆๆๆ พ่อใหญ่เม่าก็ไปเรียกเรา “ไปๆๆๆ เปิ้นตีระฆังแล้ว” บางทีแม่ชีก็นั่งเฝ้าไว้ เดี๋ยวแมวหมามันจะขึ้นไปกินข้าวก่อน แม่ชีก็กวาดใต้ถุนศาลาเล่นรอเราอยู่ พอเราขึ้นไปศาลา แม่ชีก็กลับที่พัก เราก็ไปทานอาหารกับพ่อใหญ่เม่าสองคน ทานแล้วพ่อใหญ่เม่าพาล้างถ้วยล้างชาม บอกไม่ให้ล้าง พ่อใหญ่เม่าก็ยังล้าง ช่วยกันอย่างนั้นนะ ช่วยกัน ช่วยกัน ๆ ล้างถ้วยล้างชามเก็บไว้ ไม่เหมือนกับพวกเราทุกวันนี้นะ สมัยก่อน ต้องฉันข้าวหลังพระ เป็นโยม
ก็พุทธยานนะ วัดป่าพุทธยาน เป็นวัดแรกที่หลวงปู่เทียนเริ่มเผยแพร่ธรรมะ โอ๊ย! เสียดาย พุทธยานสูญหายไปแล้ว เรายังมีอดีตรำลึกลึก ๆ อยู่ พุทธยาน ภาพที่มันสะกิดหัวใจเรา ต้นข่าขี้หมูเดินจงกรมอยู่ที่นั่น กุฏิหลังหนึ่งทางทิศเหนือ กุฏิหลังหนึ่งทางทิศตะวันตก ประสบการณ์กับการปฏิบัติธรรม ชอบมาก พุทธยานๆ เขาก็เอาเป็นราชภัฏวิทยาลัยครูไป สมัยปี 2513 – 14 เดินไปดูต้นข่าขี้หมูไม่เห็นเลย เขาไถทิ้ง เขาปลูกอาคารเรียนเต็มไปหมดเลย เห็นแต่แท้งค์น้ำที่สร้างไว้ กุฏิอาจารย์สมหมายเขายังไม่ทำลาย อันพวกเราเนี่ย มีอะไรที่จะลิขิตจิตใจเราบ้างหรือเปล่าที่อยู่สุคะโตเนี่ย มันเปลี่ยนแปลงไหม ชีวิตมันยากตรงไหน มันง่ายตรงไหน มันผิดถูกอย่างไร อดีตรำลึกมันมีนะปฏิบัติธรรม เคยผิดเคยถูก มันลืมไม่เป็น มันเห็นจัง ๆ ต่อหน้าต่อตาเรานะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่คิดเห็น ได้แก้ความทุกข์ ได้แก้ความหลง แก้มิจฉาทิฏฐิให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มันเป็นรอยหัวใจเรา มันต้องเป็นอย่างนั้นปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ดุ้น ๆ เดา ๆ คำนึงคำนวณ อย่าเพิ่งไปปฏิเสธ ทำอะไรก็ไม่รู้ละไปอยู่แล้ว เดือนสองเดือนไม่รู้อะไร ก็อย่าเพิ่งไปว่า บางทีเราทำวันนี้ อาจจะรู้ข้างหน้า เหมือนคนไปหาหมอโรงพยาบาล อาทิตย์ที่หนึ่งมันจะหายอยู่แล้ว กินยาโรงพยาบาล แล้วก็หนีจากโรงพยาบาลไปหาหมอน้ำมนต์ หมอน้ำมนต์ให้กิน แป๊บเดียวหายเลย ก็นึกว่าตัวเองหายจากหมอน้ำมนต์ ที่แท้เราไปกินยาโรงพยาบาล โรคบางอย่างต้องอาทิตย์สองอาทิตย์มันจึงหาย การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน มันเป็นมรดกของเราตั้งแต่ปีกลายนี้ ตั้งแต่เดือนก่อนโน้น มันมาเกิดอานิสงส์วันนี้ อาจจะไม่อยู่ที่นี่ก็ได้ อาจจะไปอยู่บ้านก็ได้ แต่อย่าประมาท อย่าเนรคุณความเพียรของเรา เหมือนหมาป่าอยากกินลูกมะม่วง มะม่วงต้นนั้นมันหวาน มันก็ไปนอน มันเคยไปกินทุกวัน มะม่วงมันหล่นลงมา มันก็ไปกินทุกวัน วันนั้นไป ไปรออยู่วันหนึ่งไม่ได้หล่นลงมาสักลูกเลย ก็เลยประกาศขึ้นว่า กูไม่อยากมึงดอกมะม่วง ลูกกูก็ไม่อยาก เมียกูก็ไม่อยาก ว่าแล้วหมาป่าก็ขี้ทั้งเยี่ยวราดต้นมะม่วงไปเลย สาปแช่งต้นมะม่วงไปเลย มันโกรธว่าต้นมะม่วงไม่หล่นให้มันกิน ที่จริงมันไม่ใช่ มันไม่ใช่ต้นมะม่วงมันหล่น มันเป็นธรรมชาติ มันหล่นลงมามันก็ไม่ได้หล่นให้หมากิน มันไม่หล่น มันก็ไม่ได้โกรธหมา มันเป็นธรรมชาติของมัน ถึงคราวมันหล่นก็หล่นลงมา หมาจะรู้หมาไม่รู้มันก็หล่นของมัน ถ้าคราวมันไม่หล่นก็จะไม่รู้หมามันโกรธอะไร มันไม่รู้ บางทีปฏิบัติธรรมก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อย่าตีโพยตีพาย น้อม ๆ ใจเอาไว้ เป็นบุญ ปุพเพกตปุญญตา บุคคลผู้ทำบุญไว้ในปางก่อน มันมี บุญปางก่อนมันมี เมื่อวานก็มี ปีกลายนี้ก็มี ความดีความชั่ว มันอาจจะต่อมา ต่อมา ความชั่วก็เหมือนกัน แม้แต่น้อยก็อย่าประมาท ความดีก็เหมือนกัน น้อยก็อย่าประมาท