แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน รับอรุณ เราก็ได้พักผ่อนหลับนอนมาพอสมควร ตื่นเช้าขึ้นมาตี 4 เราก็มาสวดพระสูตรทำวัตรเช้า สาธยายพระสูตร เราก็แสดงออกทางกาย วาจา ใจ เพื่อเตรียมความพร้อมเหมือนกับการชำระล้างชีวิตจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ เพื่อจะย้อมเหมือนกับจะย้อมผ้า ซักให้สะอาด ให้ย้อมเอาสีต่างๆ ที่ประสงค์ ก็ย่อมทำได้ การฟังธรรมเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ทุกชีวิต พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว ตรัสไว้ดีจริง ๆ ไม่เป็นของใคร เพิ่มเติมก็ไม่ได้ แก้ไขก็ไม่ได้ ไม่ต้องไปใช้เหตุผลอะไรแยกแยะ หลงเข้าถึงความหลง ทำไมจึงหลง หลงเป็นยังไง ทุกข์เป็นยังไง โกรธเป็นยังไง ไม่ต้องไปเพิ่มไปเติม ถ้าโกรธก็คือโกรธ ทุกข์คือทุกข์ หลงคือหลง รู้คือรู้ ตรัสไว้ดี เป็นการศึกษาปฏิบัติ พึงกระทำด้วยตนเอง ถ้าหลงเอง ก็แยกความหลงเป็นความรู้เอง ถ้ามันทุกข์ก็เปลี่ยนความทุกข์เป็นความรู้ไปเอง
เป็นการกระทำด้วยตนเอง ไม่มีใครช่วยเหลือได้ หลงก็ไม่มีใครรู้กับเรา เรารู้คนเดียว รู้ก็ไม่ใช่ใครจะรู้ให้เรา เรารู้คนเดียว เป็นการศึกษาปฏิบัติได้ ให้ผลได้ไม่กำจัดกาล ถ้าหลง ไม่ต้องหาโอกาสอื่น มีหน้าที่แก้ความหลง เดือนหน้า วันหน้า กลางคืน กลางวัน ที่โน่นที่นี่ ไม่ใช่ หลงที่ใด หลงรู้ตนที่นั่นได้ ปฏิบัติได้ ถ้าหลงไม่หลงก็ได้ ถ้าทุกข์ไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าโกรธไม่โกรธก็ได้ ลองเปลี่ยนกันดู เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ให้ผลได้ ไม่กำจัดกาลเวลา เป็นสิ่งที่ควรน้อมมาใส่เรา อะไรที่มันถูกน้อมมา น้อมเราไปหา ทำขึ้นมา อย่างที่เราปฏิบัติธรรมเนี่ย เวลามันหลงน้อมความรู้เข้ามา เวลามันโกรธน้อมความไม่โกรธเข้ามา ให้มีความรู้สึกตัว เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว อย่าปฏิเสธ อันสิ่งที่ถูกต้อง เรียกว่าปฏิบัติได้ ให้ผลได้ น้อมมาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ประกาศท่าทาง นี่คือความหลง นี่คือความรู้ นี่คือความทุกข์ นี่คือความไม่ทุกข์ เชิญมาดู อยากให้คนอื่นมาดู ความไม่ทุกข์ก็มี ความทุกข์ก็มี ไม่ต้องไปหมดหวัง ไม่ต้องไปพลาดโอกาส
ถ้าเวลามันหลง ไม่เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เป็นการพลาดไปแล้ว เสียหายไปแล้ว เหมือนกับเราสร้างงานสร้างการ นี่มันผิดตรงนี้ นี่มันควรจะทำอย่างนี้ ถ้าตรงที่มันผิดไม่แก้ไข มันก็ผิดเรื่อยไป ความหลงเป็นความหลงเรื่อยไป ความโกรธเป็นความโกรธเรื่อยไป ความทุกข์เป็นความทุกข์เรื่อยไป ฉะนั้นเรารู้จักแก้ไข ความหลงกลายเป็นปัญญา ปัญหากลายเป็นปัญญาได้ เราจึงมา
ปฏิบัติ คือเปลี่ยนแปลง มาเปลี่ยน มาดูแล มารู้เห็น พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น มันก็หลงต่อหน้าต่อตาเรานี่แหละ มันก็สุข โกรธ ทุกข์ ต่อหน้าต่อตาเรานี้ เราเป็นคนเห็นเอง เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตนเอง ใครจะรู้ให้กันไม่ได้ ใครจะเปลี่ยน ใครจะช่วยตัวเองให้เราเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เป็นปัจจัตตัง นี่คือวิทยาศาสตร์ในทางชีวิตเรา ไปโกรธทำไม ไปหลงทำไม ไปทุกข์ทำไม จึงมีการศึกษา มาปฏิบัติ มันทำได้อยู่ ไม่ใช่หลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย ถ้าเราอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไมมีค่าเลยชีวิตเรา ไม่ใช่ชีวิตเลย ถ้าโกรธก็ไม่ใช่ชีวิตแล้ว ถ้าทุกข์ก็ไม่ใช่ชีวิตแล้ว
ชีวิตมันต้องเป็นปกติ ชีวิตที่สุดยอดคือไม่เป็นอะไร ให้เข้าถึงความไม่เป็นอะไรให้ได้ในชีวิตนี้ ตั้งแต่ยังไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ประมาทไม่ได้ เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว โดย “ชาติยา” โดยความเกิด “ชะรามะระเณนะ” โดยความแก่ พะยามะระเณนะ โดยความเจ็บ มะยามะระเณนะ โดยความตาย เราจะต้องไปรอวันแก่ วันเจ็บ วันตาย ให้มันเหนือก่อนเดี๋ยวนี้ มันเหนือได้ มาศึกษาชีวิตเนี่ย มันก็มีหลักสูตรอยู่แล้ว ลูบคลำได้ จับต้องไป เช่น กายานุปัสสนา มีสติดูกาย มันก็เห็นกาย ตาในดู เห็น เห็นแล้วไม่เป็นไปกับกาย มันแสดงอะไรก็เห็น ดูมันจนเห็นว่า จนตอบได้ สติมันตอบ ทักท้วง กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา เป็นการทักท้วง โต้ตอบ เหมือนคนเฝ้าบ้าน ไล่หมูไล่หมาไล่เป็ดไล่ไก่ ไม่ให้มันมาทำเสียหาย
ความหลงก็ทำให้กายใจเสียหาย ผิดพลาดได้ ตัวใหญ่ตัวโตมันคือความหลง การปฏิบัติธรรมเนี่ย พิชิตความหลง เป็นหมายเลขหนึ่ง เห็นทันที ไมได้ไปหา ความหลงก็เกิดขึ้น โง่ ๆ ไม่เฉลียวฉลาด เหมือนยุงชอบซุกซน เวลามันจะกัด มันก็ซุกซน ลุกลี้ลุกลน มันก็ถูกฆ่าตาย สำหรับผู้ที่ป้องกันตัว ไล่ยุง ชีวิตเราสิ่งที่มันเป็นบาปอกุศล มันโง่ ๆ ไม่เฉลียวฉลาดอะไร และก็ไม่ได้หา เวลาเราดูมันก็มาให้เห็น เข้าแถวมา เข้าแถวมาเป็นหมู่ ความหลงเป็นหมู่แห่งอกุศล ต้องรู้จักความหลง เราจึงสวด “จงละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว” เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เราก็ละแล้วความหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ มันก็เจริญแล้ว
เราต้องสอบอารมณ์ตัวเอง การสอบคือผ่าน ถ้าสอบไม่ผ่าน ไม่ถือว่าสอบ ไม่ผ่านถือว่าไม่ได้ ทำไม่ได้ พระธรรมนี้ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่กำจัดกาล ถ้ามันหลงรู้ ทำได้แล้ว ปฏิบัติได้แล้ว ผ่านแล้ว ผ่านได้แล้ว เรียกว่าสอบอารมณ์ ก็จะเก่งเรื่อยไป อย่าให้มันหลง ความหลงนี่เป็นความลึกซึ้ง สัมผัสเห็นแจ้ง สมน้ำหน้า เหมือนกับเราเห็นอะไรที่เราจะแก้ไข เช่น ยางรถมันรั่ว เราไปปะยางรถ นายช่างเขาดู หา หาจุดที่มันรั่ว เอาไปแช่น้ำ สูบลมแช่น้ำ มันก็แสดงออก ช่างเขาก็เห็น ก็เอาอะไรไปเสียบไว้ เราก็เห็นแล้ว ๆ ๆ
การเห็นแล้ว เรียกว่า แก้ไขได้ เหมือนหมอ ดูสมมติฐานของโรคเก่ง ดูโรคมันออก เมื่อดูโรคออก ก็ใช้ยาแก้ไขโรคนั้นได้ เก่งที่การดูโรค ไม่ใช่เก่งที่การรู้ยา หมอที่เก่งนะ ดูโรคออก สมมติฐานของโรคมันเกิดจากอะไร เป็นโรคชนิดใด เหมือนหลวงตาเป็นโรค ไปหาโรคอยู่ตั้งหลายวันเกือบจะตายไป เขาก็ส่องกล้องเข้าไปในท้อง ทำทุกอย่าง ผลที่สุดก็มาตัดเอาก้อนเนื้อลำคอไปตรวจ เขาก็รู้แล้วว่า นี่คือก้อนเนื้อต่อมน้ำเหลือง ก้อนเนื้อโตเร็ว ตันคอไม่กี่วัน เขารู้แล้วว่านี่เป็นต่อมน้ำเหลืองก้อนเนื้อโตเร็ว ลุกลามไปถึงตับ ปวดท้อง เหตุที่มันปวดท้องเพราะก้อนเนื้อ มันลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองเข้าสู่เส้นเลือด ไปสู่ตับอ่อน นี่เขาก็รู้แล้ว พอเขารู้แล้วก็ รู้ยา ใช้คีโมตัวใหม่เข้าไปเลย เพื่อสกัดก้อนเนื้อโตเร็ว ให้มันยุบลง หมดไป มันก็หายได้ อันประสาอะไรความหลง ไม่มีวัตถุสิ่งของอันอื่นมาช่วย มีสภาวะที่รู้ มีสภาวะที่หลง มันก็มีอยู่แล้ว ไม่ได้ไปหา ไม่ใช่เครื่องมือที่หนึ่งที่สอง เอาในตัวมันเลย
เหตุคือความหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เป็นผลทันที เป็นเหตุเป็นผล ถ้ามีความหลง มันก็มีความรู้ ความรู้มันเป็นกุศลไปแล้ว ฉลาดไปแล้ว เหมือนพระพุทธเจ้า ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ เห็นทุกข์เป็นเหตุ แล้วทุกข์เป็นผล ทุกข์มันเป็นผล สมุทัยเหตุที่ทำให้ทุกข์ เป็นสมุทัย อะไรที่ในโลกนี้ มีแต่เหตุกับผล ไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราทุกข์ ก่อนที่มันจะโกรธ ก่อนที่มันจะทุกข์ มันหลงก่อน บางคนไปแก้ความโกรธ ไม่ถูกต้อง ไปด่าเขา ไปทำลายเขา ทะเลาะวิวาทกัน ไปตี ไปฆ่าเขา ไม่ถูกต้อง อันเราโกรธ ไม่ใช่ไปฆ่าเขา ต้องเปลี่ยนความหลงของเขา เขาหลงเขาจึงโกรธ เบื้องหลังของเราจริง ๆ เนี่ย ตัวหลง เราไม่ใช่ไปโกรธหน้าเขา ถ้าเบื่อก็เบื่อความโกรธ อยู่กับใครก็เป็นเช่นนี้ อยู่กับเราก็เป็นอย่างนี้ มันคือความหลง เหตุอยู่ที่ความหลง มันจึงทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว นี่เรียกว่า เหตุปัจจโย คาถาพระอัสสชิ จึงตรัสให้สารีบุตรฟังว่า “ทุกสิ่ง ๆ เกิดแต่เหตุ จะดับก็ดับที่เหตุ” อย่าไปตีโพยตีพาย ทำไมจึงหลง ทำไมจึงหลง พอเกิดความหลงก็เป็นผู้หลง คร่ำเครียด วุ่นวายไปเลย ไม่ใช่ แทนที่จะหัวเราะความหลงมันเป็นของดี จะได้รู้มัน จะได้พ้นจากมัน เหมือนเราเห็นงู เราจะได้พ้นจากงู เพราะเห็นแล้ว
สภาวะที่เห็นเนี่ย เป็นสภาวะที่ดู มันจึงเห็น เราจึงมาดู กายของเรา เคลื่อนไหวไปมานี่ ให้มันเป็นหลักเป็นฐาน เป็นเสาเขื่อนเอาไว้ ตั้งเอาไว้ เหมือนเสาเขื่อน เหมือนหลัก ปักอยู่ในน้ำที่มันไหล น้ำมันไหลไปเท่าไหร่ แต่เสายังปักอยู่ อันน้ำที่มันไหลไป มันเป็นน้ำใหม่ไหลมา น้ำเก่าไหลไป ชีวิตของเรามันก็มี สันตติ-การเกิดขึ้น ธารทะเลไหลไป มันไหลไปอยู่เรื่อย เราก็เห็นมันอยู่ เห็นมันอยู่
การมีสติ เป็นการทวนกระแส มันก็จะเก่งขึ้น ๆ หรือเหมือนกับสันตติ เหมือนกับธารน้ำ ธารทะเล เหมือนกับน้ำที่มันไหล มีสติทีไรรู้ รู้ เหมือนกับทิ้งกระสอบทรายลงไปธารน้ำไหล กระสอบหนึ่งก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่มันยังทำหน้าที่อยู่ในน้ำอยู่ ทิ้งลงไปเรื่อย ทิ้งลงไปเรื่อย มันก็เต็มขึ้นมาได้ มากขึ้นมาได้ กลายเป็นเขื่อนเล็ก ๆ ขวางกั้นน้ำ น้ำก็อยู่ได้ เรารู้ทีหนึ่ง เรารู้ทีหนึ่งเนี่ย มันไม่ใช่เสียหาย แต่เราอย่าประเมิน เมื่อไหร่มันจะรู้ เมื่อไหร่จะเป็นยังไง อย่าไปหาเหตุหาผล คิดอ่านเท่าไหร่ เมื่อเป็น เป็นยังไง เมื่อรู้จะรู้ยังไง ไม่ต้องไปคิดเหตุผลอะไร เหมือนเรากินข้าว หิวข้าว หิวข้าวต้องมีกิริยาที่กินข้าว กลืนลงไป เคี้ยวลงไป กลืนลงไปทีละคำ มันก็อิ่มเอง ความรู้สึกตัว ที่เราประกอบอยู่นี้ มันก็มากขึ้น ๆ เมื่อความรู้สึกตัวมันมากขึ้น ความหลงก็น้อยลง หรือหมดไปได้ นี่คือกรรม ที่มันศักดิ์สิทธิ์ เป็นกรรมฐาน
กรรมฐานเช่นนี้ ไม่ใช่อ้อนวอน บวงสรวง พิธีกรรม ไม่ใช่ เป็นการกระทำลงไป ถึงกายถึงใจ เป็นการแสดงธรรม ถึงกายถึงใจทันที เราก็มีกายมีใจอยู่ ไม่ใช่ไม่มี กายใจนี่ก็เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เอารูปมาทำดี เอานามมาทำดี เอารูปมาละความชั่ว เอานามมาละความชั่ว มันก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องอ้อนวอน ไม่ใช่เรื่องปรารถนา มีแต่อ้อนวอนกราบไว้ สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้ เขาบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู อยากได้บุญก็ไปซื้อเอา
เหมือนพระโสณโกฬิวิสะ เป็นลูกชายของเศรษฐี มีเงินมีทองเป็นโกฏิ ๆ พอบวชมาปฏิบัติธรรม เดินจงกรมจนเท้าแตก เอาฝ่าเท้าเดิน ฝ่าเท้าแตก ย่องเอา ปลายเท้าแตก เอาส้นเหยียบ ส้นเท้าแตก เอาข้างตะแคงเดินไป ข้างเท้าแตก น้อยใจ รอยเลือดบนเส้นทางเดินจงกรม พระมาเห็นเข้า มาดูเท้าโสณโกฬิวิสะ แตกหมดเลย โสณะฯ ก็น้อยใจ คงไม่ได้ เรามีเงินมีทองเยอะ จะต้องสึกไปทำบุญทำทานเอามรรคผลนิพพานนี่ ไม่ใช่โอกาสที่เราจะมาปฏิบัติ ไม่มีใครทำยากถึงขนาดเท้าแตกบนเส้นทางเดินจงกรม แดงไปหมดเลย น้อยใจ ไปกราบลาพระพุทธเจ้า ขอลาสิกขา จะไปทำบุญเอา สร้างวัดสร้างวาเอา
พระพุทธเจ้าก็ถาม “โสณะฯ โสณะฯ เธอเคยทรงดนตรีหรือ สมัยเป็นหนุ่ม” โสณะฯ ก็เป็นนักเล่นดนตรี
“เมื่อเธอต้องการทำดนตรีของเธอ แต่สายดนตรีของเธอมันตึงเกินไป มันจะได้เสียงเพราะไหม มันก็ไม่เสียงเพราะ ถ้าหย่อนเกินไป มันจะได้เสียงเพราะที่ต้องการ มันก็ไม่ได้ แล้วเธอควรทำยังไง”
“ต้องพอดี ๆ”
“การปรารถความเพียร การทำสิ่งใดต้องมีความพอดี ไม่ใช่ทุกขาปฏิปทา-ทำทรมานลำบากมันก็รู้ได้ยาก สุขาปฏิปทา-ทำอ่อนแอเกินไป ก็รู้ได้ยาก ต้องทำพอดี ๆ พอดี”
เวลามันผิด อย่าเป็นผู้ผิด เห็นมันผิด มันก็พอดี ถ้าเป็นผู้ผิด มันตึงเกินไป ถ้ามันถูกก็ เออ! อย่างนี้ถูก เออ! หย่อนเกินไปแล้ว เออ! นี่ถูก นี่ดี นี่ไม่ดี มันตึง มันหย่อน เวลาใดที่มันหลงไป เกาหัว ยาก คร่ำเครียดขึ้นมา เวลาใดมันรู้มันสงบ ยิ้มแย้มแจ่มใส มันตึง มันหย่อน
เหมือนหลวงตาสมัยปฏิบัติใหม่ ๆ มีพระหลวงตาองค์หนึ่งไปอยู่ด้วย ท่านก็นั่งสร้างจังหวะอยู่ เราก็เดินจงกรมอยู่ มันเป็นเขา เราเดินอยู่ที่สูงกว่า ท่านนั่งอยู่ที่ต่ำกว่า เสียงเอารองเท้าตีหัวตัวเอง เป๊บ ๆ ๆ ๆ มองไปดู เห็นเอารองเท้าตีหัวตัวเอง เราก็เดินไปถาม “เป็นไงหลวงพ่อ”
“ไอ้บ้าเนี่ย มันคิดอะไรไม่รู้ คิดแล้วคิดอีก มันคิดอะไรเนี่ย” เอารองเท้ามาตีหัวตัวเอง
อันนั้นก็ตึงเกินไป มันดับเบิ้ลคิดแล้ว ไม่ใช่คิดเฉย ๆ หรอก จนมือไปเอารองเท้ามาตีหัว หาว่าหัวนี่มันเป็นตัวเหตุที่มันคิด ที่แท้คือมันคือความหลง แทนที่จะทำแบบยิ้ม ๆ หัวเราะความหลง
นี่คือหลง นี่คือรู้ ให้มันชัดเจน ให้มันเห็นแบบชัดเจน มันจึงพอดี “เห็น” นี่มันพอดี “เห็น” นี่คือมรรค “มัชฌิมาปฏิปทา” คือมันเห็น การเห็นนี่มันไม่เป็นอะไร มันเป็นกลาง มันเป็นธรรม
ถ้าเห็นก็หลุดพ้นแล้ว ถ้าเป็นมันก็ไม่หลุดพ้น
เป็นผู้คิด-ไม่มีทางหลุดพ้นเลย เป็นผู้ไม่คิด-ไม่มีทางหลุดพ้น เป็นผู้ผิด เป็นผู้ถูก ไม่ใช่ทางหลุดพ้นตรงนั้น
เห็นมันผิด เห็นมันถูก เนี่ย! ทางหลุดพ้นมันอยู่ตรงนี้ เริ่มตามทางไป เรียกว่า “มรรค”
มรรคแปลว่า ดู เราจึงมาดูกายเนี่ย “เห็น” เนี่ย! มรรคแล้ว เห็นมันง่วง เห็นมันคิด เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ เห็นมันร้อน เห็นมันหนาว เห็นมันปวด เห็นมันเมื่อย เห็นอย่างเดียวเลย ผ่านได้ตลอด ไม่มีอะไรขวางกั้นได้
ถ้าเป็นแล้ว ไปไม่รอด ถูกขวางกั้นแล้ว เหมือนด่าน จึงเห็นกายเป็นกาย กูร้อน กูหนาว กูหิว กูปวด กูเมื่อย กูยาก กูง่าย กูลำบาก มันขวางกั้นแล้ว
ถ้าเห็น อือ! เห็นรู้ อ๋อ! เห็นกายเห็นเป็นรูป รูปธรรมหนอ นามธรรมหนอ มันทำดี มันทำชั่ว มันเป็นสุข เป็นทุกข์ เนี่ย! เป็นรูป เป็นความเป็นธรรมของรูปแล้ว มันร้อนเป็น มันหนาวเป็น ขอบคุณความหนาวความร้อน ไม่ใช่มาเป็นสุข ไม่ใช่มาเป็นทุกข์ อะไรก็ตามอย่าเอามาเป็นสุข มาเป็นทุกข์ ให้เห็นมันสุข ให้เห็นมันทุกข์ นี่เรียกว่า “มรรค” ง่าย ๆ ลัด ๆ
ทางลัดสู่การพ้นทุกข์ คือภาวะที่เห็นนี้ ไม่ใช่ภาวะที่เป็น นั่นมันเนิ่นช้า เนิ่นช้าไปแล้ว โค้งไปแล้ว เทียวทางเวิ้งเหิงหลายมันสิค่ำมัวแต่กินหมกหว้ามันสิช้าค่ำทางคว้าหมากหว้า คือมันสุขมันทุกข์ สุขก็ชอบใจ เอาแล้วอยู่กับความชอบใจ ทุกข์ก็ไม่ชอบใจ เอาแล้ว อยู่กับความไม่ชอบใจ ความชอบความไม่ชอบมันเป็นรสของโลก จะหนีจากโลกไม่ได้
ถ้า “เห็น” นี่เหนือโลกไปแล้ว “ไม่เป็น”เนี่ย! เหนือโลกไปแล้ว ลัด ๆ เข้าไป ตรงนี้เป็นตรงที่สะดวก ลัดเข้าไป ลัดเข้าไป ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เป็น ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เป็น ไม่เป็นผู้ผิด ไม่เป็นผู้ถูก เช่น มันผิดเห็นมันผิด เช่น มันถูกเห็นมันถูก มันสงบเห็นมันสงบ มันไม่สงบเห็นมันไม่สงบ ไม่ใช่เป็นผู้สงบ ไม่ใช่เป็นผู้ไม่สงบ
“วันนี้หนูเครียด วันนี้ง่วงนอน” เป็นหนู เป็นตัวเราซะ แสดงใบหน้าคร่ำเครียด ไม่มีรอยยิ้มซักหน่อย
พอเราไปช่วยเหลือ “กรรมฐานทำไมพูดอย่างนี้ ให้ดูมัน ไม่ต้องพูดอย่างนี้ ดูมัน มันเครียดเห็นมันเครียด อย่าเป็นผู้เครียด ถ้าเป็นแล้ว มันไปไหนไม่ได้ ยังถูก ไม่ได้ไขกุญแจแก้โซ่ ยังติดหลักอยู่ เห็นมันเครียด เห็นมันง่วง เรียกว่า ไขกุญแจแก้โซ่ ค่อยหลุดออก ค่อยหลุดออก สิ่งยากกลายเป็นของง่าย สิ่งหนักกลายเป็นของเบา ถ้าเป็นแล้วมันหนัก ถ้าไม่เป็นมันเบา วางก็เบา ถ้าเอาก็หนัก”
เป็นผู้หลง เป็นผู้สุข เป็นผู้ทุกข์ เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติยากรู้ได้ยาก
ปฏิบัติสะดวก คือเห็นเนี่ย สุขาปฏิปทา ปฏิบัติสะดวก ๆ รู้ได้ง่าย
“แล้วทำยังไง กรรมฐานน่ะ”
ต้องได้บทเรียนจากตัวเอง พลิกแพลงดู อะไรที่มันเก่าก็ให้มันใหม่ เช่น นั่งนานมันเก่า มันพร่า เหมือนเราลืมตามองนาน ๆ ไม่กระพริบตา มองอะไรมันก็พร่า ๆ กระพริบตาสักหน่อย หรือนวดตาสักหน่อย หรือเราใส่แว่นมันไม่ตรงเลนส์ ขยับแว่นสักหน่อย การดูอะไร ที่เราสร้าง ที่ดูอยู่เนี่ย มันพร่า ๆ ก็ตั้งต้นใหม่ เช่น เรานั่งสร้างจังหวะ นั่งไป ๆ ยกมือไป 14 จังหวะ มันไม่รู้ วางใหม่ ตั้งต้นใหม่ เอามือวางไว้ใหม่ หายใจสักรอบสองรอบก่อน ยืดตัวขึ้น มีพลิกแพลงบ้าง อย่าโง่ ๆ ซื่อบื้อ ยืดตัวขึ้น อาจจะมองไปไกล ๆ สักหน่อย ท้องฟ้า ต้นไม้ ทิศทาง แต่ว่ามีความรู้สึก แล้วค่อยมาตั้งต้นใหม่ ไม่ใช่นั่งนาน ๆ จนหลังขดหลังงอ ก็ไม่รู้จักตั้งต้นใหม่ กลายเป็นคนหลังงอไปเลย พระกรรมฐานมักจะเสียตรงนี้ เพราะใช้ชีวิตไม่ค่อยถูกต้อง บางทีไปแข่งขันกันนั่ง 8 ชั่วโมง คุยโอ้อวด นั่งได้ 8 ชั่วโมง ไม่ใช่ นั่งด้วยความหลง หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องอะไร 8 ชั่วโมงไม่มีประโยชน์เลย ถ้ามันหลง ถ้ามันหมกมุ่นครุ่นคิด ไม่รู้จักรู้สึกตัว มันก็ไม่ได้ทำอะไร ถ้ามันหมกมุ่นครุ่นคิดไป รู้สึกตัว เปลี่ยนเป็นสภาพที่รู้ น้อย ๆ ก็ดี ชั่วช้างสะบัดหู ชั่วงูแลบลิ้น
เราทำกรรมฐานกันยังไง ทำตัวเองยังไง ได้บทเรียนจากความหลง ได้บทเรียนจากความถูกความผิดไหม เห็นมันผิดเออ! รู้ เห็นมันถูกรู้ เห็นมันสุขรู้ เห็นมันทุกข์รู้ เห็นมันสงบรู้ เห็นมันฟุ้งซ่านรู้ ประสาอะไร สิ่งเหล่านี้ สิ่งนี้ก็รู้แล้ว สิ่งนี้รู้แล้ว นี่คือหลง นี่คือรู้ นี่คือสุข นี่คือทุกข์ นี่คือสงบ นี่คือฟุ้งซ่าน เห็นหน้ามึงแล้ว เกิดขึ้นทีไรก็ชี้หน้าปั๊บ ผ่านไปได้เลย รู้แล้ว ๆ รู้แล้ว ๆ ไม่ใช่ เอ๊ะ!ทำไม ๆ ทำไม อย่างนี้การบ้านแล้ว นักกรรมฐานนี่ เออ! คือรู้แล้ว วิปัสสนาคือถึงบางอ้อ รู้แล้ว อ้อ ๆ ๆ อ้อ! คำเดียว ไม่ใช่ ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ทำไม ๆ นักกรรมฐานไม่มีคำว่าทำไม ถ้าจะพูดออกมาสักคำก็ไม่เป็นไร “ไม่เป็นไร” นี่คือวิชากรรมฐาน ที่ช่วยความหนักให้เป็นเบา ความยากเป็นง่าย ไม่เป็นไร เกิดมันแสดงออกจริง ๆ “เป็นเช่นนั้นเอง” “ไม่เป็นไร” ถ้าไม่ไหว มันหนัก ถ้าไม่เป็นไร มันเบา ๆ ทำอะไรก็ตาม ไม่เป็นไร เบา ถ้าไม่ไหว มันหนักมาก
อันนี้ก็พูดให้เป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ไปจำเอา เอาไปใช้ลองดู เอาไปใช้ลองดู ถ้าเห็นแล้วอย่าเป็น เป็นผู้ผิด เป็นผู้ถูก อันนั้นไม่ใช่ ให้เห็นมันผิด เห็นมันถูก มันก็ไปเรื่อยไป เหมือนกับท่อนซุง ที่ไหลตามแม่น้ำ ไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา ไหลล่องไป ล่องไปถึงทะเล ทะเลมหาสมุทร เป็นมรรคผลนิพพาน เอียงไปสู่มรรคสู่ผลได้ แต่ท่อนซุงท่อนใด ไปติดฝั่งซ้าย ไปติดฝั่งขวา ไปไม่ถึงไหน บางทีก็ถูกมารเอาขึ้นฝั่ง ไปลาก ไปชำแหละได้ ฝั่งซ้ายคือไม่พอใจ ฝั่งขวาความพอใจ บวก ๆ ลบ ๆ ยินดีเรียกว่าฝั่งขวา ยินร้ายเรียกว่าฝั่งซ้าย ผิดเรียกว่าฝั่งซ้าย ถูกเรียกว่าฝั่งขวา ผิด ๆ ถูก ๆ ได้ ๆ เสีย ๆ ไม่ใช่ ล่องไปเรื่อยไป ไม่เป็นไร ๆ เห็นมัน ๆ ๆ มันสุขเห็นมัน มันทุกข์เห็นมัน
นี่คือพระอรหันต์บางรูป ไปนั่งอยู่บนเขาฝั่งแม่น้ำ เห็นท่อนซุงไหลมา ก็ไหลไป เอาท่อนซุงเป็นบทเรียน เอามาสอนตัวเอง ภิกษุณีบางรูป เห็นควาญช้าง เอาช้างลงอาบน้ำ ควาญช้างยืนอยู่บนฝั่ง ที่เขาคิชฌกูฎ เขาคิชฌกูฎเนี่ยมันมีน้ำอยู่ข้างๆ ภิกษุณีก็เห็น เห็นควาญช้างยืนอยู่บนฝั่ง บอกช้างลงน้ำ ช้างก็ลงไปน้ำ บอกให้ช้างล้างหลัง ล้างข้าง ล้างท้อง ช้างก็ดูดน้ำ พ่นใส่หลังปู้ด ควาญช้างก็บอกล้างข้างซ้าย ช้างก็ดูดน้ำพ่นไปข้างซ้าย ควาญช้างบอกว่าล้างข้างขวา ช้างก็ดูดน้ำพ่นไปข้างขวา บอกว่าล้างท้อง ช้างก็ดูดน้ำพ่นไปท้อง ล้างรอบ ๆ ตัว ควาญช้างก็บอกขึ้นมา ช้างก็ขึ้นมา ควาญช้างก็บอกไปนวด ไปนวดตัว นวดข้าง นวดท้อง นวดหลัง ช้างก็ไปนวดกับต้นไม้ ยังมีวัตถุ สี อุทยานหินช้างสี ผาช้างสี อยู่ที่พองหนีบ เคยไปขอต้นไม้มาปลูก อุทยานหินช้างสี หินช้างสีมันคืออะไร ฟังรู้เรื่องไหม หินช้างมันสี ช้างมันสีหินเนี่ย เวลามันลงน้ำแล้วมาสี สีข้างซ้าย สีข้างขวา สีท้อง เอนหลังใส่ (หัวเราะ) ช้างมันก็นวดตัวมัน ภิกษุณีเห็นเช่นนั้น โอ๊ย! ช้างเนี่ย มันเป็นสัตว์แท้ ๆ ทำไมสอนได้ เราเป็นภิกษุณีนี่ มันดื้อด้านขนาด สอนตัวเองนี่ เอามาฝึกตัวเองจนเป็นพระอรหันต์ได้ นี่แหละ
ก็ไปเห็นเหมือนกัน ช้างแสดง วันนั้นไปเทศน์ที่สุรินทร์ เขาพาไปดูบ้านช้าง มันมาแสดงหลายฉาก ฉากแรกก็ถือตะกร้ามาขอเงิน พาลูกอ่อนมา เดินขอเงิน พวกเราก็อยู่ตามสแตนด์ มันถือตะกร้า ยื่นให้คนนั้นคนนี้ คนก็อดไม่ได้นะ ลูกน้อยก็เดิน ก็จกให้สิบบาท ยี่สิบบาท เต็มตะกร้าเลย ช้างมาขอเงิน หน้าตาน้ำตาไหล คล้าย ๆ มันร้องเพลงร้องไห้ ปากบิดปากเบี้ยวไป เออขอทานเน้อ คล้าย ๆ ว่าปากมันหน้าตาก็เศร้า ๆ โอ! ลูกก็หลับตาปี๋ เหมือนคนขอทานอุ้มลูกไปขอทาน คนเห็นก็อดไม่ได้ (หัวเราะ) ฉากที่สอง มันก็มายืนบนเก้าอี้ เก้าอี้เล็ก ๆ เนี่ย ยืนขึ้น ยืน 4 ขา ยืน 4 ขา แล้วก็ยืน 2 ขายกขาหน้าขึ้น แล้วก็ยืนเอาขาหน้าลง ยกก้นขึ้น เอ้า! มันแสดง หลายฉาก
เออ! เราฝึกตัวเองนี่เนาะ มันหลงเฉย ๆ น่ะ ไม่ขี่ช้างขี่ม้ามา ความหลงน่ะ ความโกรธมันมีดาบศาสตราวุธไหม ทำไมยอมเสียเปรียบมัน มันไม่มีอะไร มันโกรธ มันทุกข์ ความคิด ความหลง เท่านี้เอง นี่แหละคือเหตุปัจจัย เรียกว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีเท่านี้ เป็นหลักสูตรที่ทฤษฎี ไปใช้กับชีวิตได้ทุกรูปแบบ เป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่ทฤษฎีจบจากสถาบันมหาวิทยาลัยที่ไหนมา ทฤษฎีในชีวิตเราเนี่ย ทำไมไปยอมทุกข์ ยอมโกรธ ยอมหลงอยู่ จนตายเหรอ แทนที่เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ขอพูดแรง ๆ ชีวิตมันก็นานเหลือเกิน อยู่ที่นี่นานเหลือเกิน จนจะหมดจะตายไปแล้ว