แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน ฟังทุกวัน ทำในใจทุกวัน ร่างกายก็ทำทุกวัน สร้างความเห็นถูกให้เกิดทุกโอกาส เรียกว่า ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ถ้าจะพูดใหญ่ ๆ ก็คือสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานคือ ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ผู้ใดเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง มรรคผลนิพพานจะไม่ว่างจากคนผู้นั้น เมื่อพวกเราพากันปฏิบัติอยู่ตามหลักสติปัฏฐาน เรียกว่า มรรคผลนิพพานก็ไม่ว่างจากโลกนี้ไป อันนี้เป็นหลักของวิทยาศาสตร์ ในด้านธรรมะ ในด้านชีวิตของเรา แม้มีความผิด มันก็มีความถูก บางทีความผิดทำให้เกิดความถูกต้อง ไม่เสียหาย ไม่เหมือนกับวัตถุสิ่งของ เมื่อมีความทุกข์ก็มีความไม่ทุกข์ เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่น้อมมาใส่เรา น้อมเราเข้าไป เป็นคนอื่นมาดู เป็นของอัศจรรย์
ชีวิตเราเนี่ยอย่าให้พลาดซะ ตื่นแต่ดึกสึกแต่หนุ่ม อย่าได้ประมาท ถ้าประมาทมันก็ผิดพลาด เสียเวลา เสียชาติ เราจึงเอาให้สุดความสามารถของเรา ทำอะไรก็ตามต้องทำให้จริง เรียกว่า “ศรัทธา” ไม่ท้อแท้ และก็มีความเพียร และมีจิตใจใส่อยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะ หัดตัวเอง ฝึกตัวเอง
พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “โน่น..โคนไม้ โน่น..เรือนว่าง ไปสู่ที่นั่น” ไม่ได้บอกเราไปเที่ยวเตร่เร่ร่อนที่ใด สถานที่สงบ เป็นการตอบปัญหาชีวิตของเราได้ เรียกว่า “ปลีกวิเวก” กายวิเวก สงัดกายไว้ก่อน ไม่คลุกคลีกัน หลีกเร้น แล้วก็เมื่อกายวิเวกแล้ว จิตก็อาจจะวิเวกได้ง่าย วิเวกทางกายมันก็เป็นที่อยู่ที่ไม่ผิด มีความถูกต้องของกาย จิตใจก็จะมีการวิเวกเกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมช่วยเหลือ เมื่อใจมีวิเวกเกิดขึ้น สงบจากตัณหาต่าง ๆ อุปธิวิเวกก็เกิดขึ้นได้ พ้นจากอันนั้น พ้นจากอันนี้
เห็นความหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ มันชวนให้เปลี่ยน เวลาเราเดินอยู่ เราก็มีกิจกรรมที่เราเดินอยู่ เป็นหลักสูตรอยู่ รู้กับการเดิน รู้กับการเคลื่อนไหวมือ อะไรที่มันเกิดขึ้นจากการไม่รู้ จากที่เรากำหนด เรามีที่ตั้ง เราก็กลับมาได้ ไม่อวดตัว เห็นความหลงเกิดจากกาย มีตัวมีตนเกิดจากกาย เป็นตัวเป็นตนเป็นสุขเป็นทุกข์ เรื่องต่าง ๆ มาให้กายเป็นสุข มาให้กายเป็นทุกข์ ชื่อว่าวัตถุอาการ เป็นความร้อน เป็นความปวด ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ความหนาว ความหิว เป็นวัตถุอาการที่มันเกิดขึ้นกับกาย เราก็มีสติเห็นในอาการต่าง ๆ ว่ามีความไม่เที่ยง มันกลบเกลื่อนในความไม่เที่ยงอยู่กับอาการ อาการก็เป็นที่เกิดแห่งความไม่เที่ยง ซ่อนเร้นอยู่ พอเห็นมันกลบเกลื่อนแล้ว มันปิดแล้ว มันคว่ำไว้ เราก็หงายไว้ เปิดไว้ อันความเท็จความจริงเป็นยังไง เราก็เห็นแจ้งเข้าไปเรื่อย ๆ ในความไม่เที่ยง ในวัตถุอาการต่าง ๆ ไม่ใช่มันไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์มาก บางทีจะได้มรรคได้ผลจากวัตถุ จากอาการ จากความไม่เที่ยง จากความเป็นทุกข์ จากการมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั่นแหละ อาจเป็นมรรคผลนิพพานตรงนั้นได้ ชำนิชำนาญในวัตถุอาการต่าง ๆ ที่เกิดกับกาย เห็นแล้วเห็นอีก มีประโยชน์ ถ้าเห็นบ่อย ๆ มันก็ชำนาญในการเห็น กำหนดรู้ด้วยการรู้ กำหนดด้วยการละ กำหนดด้วยการทำให้หมดไป มันหมดไปได้ ความหลงเกิดจากกาย ก็ไม่เที่ยง เกิดอะไรก็ตาม มันหมดไปได้ สิ่งใดที่มันหมดไป ไม่ทำให้เป็นภาระ เราก็ตอบเอง รู้เอง เห็น ได้คำตอบ มีความหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น มันจะมีสิ่งบ่งบอก ว่าผิด ว่าถูกยังไง เป็นคำตอบของผู้ปฏิบัติ ความหลงมันเป็นความรู้ไปเสียแล้ว ความไม่เที่ยงเป็นความรู้ไปเสียแล้ว ความทุกข์เป็นความรู้ไปเสียแล้ว ความไม่ใช่ตัวตนกลายเป็นความรู้ไปเสียแล้ว มันลงตัวแล้ว ถ้าได้รู้แล้ว ถูกต้องแล้ว สัมผัสดูก็รู้ ความหลงไม่จริงจังอะไร ความรู้เป็นของจริงกว่า ปรมัตถสัจจะ ความหลงเป็นสมมติ ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความไม่ทุกข์เนี่ยเป็นของที่จริงกว่า เป็นสัจจะ ทำดูแล้วเป็นอย่างนี้ ตอบเอาเอง เห็นแจ้ง ไม่ประมาทในเรื่องของความไม่เที่ยง ไม่ประมาทในความเป็นทุกข์ เพราะเราได้สัมผัสดู การสัมผัสนี้ มันบ่งบอกถึงความเท็จความจริง ไม่ได้กลบเกลื่อน
แต่ก่อนเราไม่มีสติปัฏฐาน ไม่มีที่ตั้งหลุดง่าย ไปอะไรก็ไปเป็น ในความไม่เที่ยงก็เป็นตัวเป็นตนอยู่ในความไม่เที่ยง ในความทุกข์ก็เป็นตัวเป็นตนอยู่ในความทุกข์ ยึดถือเอา เสียเวลาอยู่กับความเป็นทุกข์ เสียเวลาอยู่กับความไม่เที่ยง มาครองกายครองใจเรา นึกว่าตัวเราซะ เรานี่เป็นทุกข์ เรานี่ไม่มีอะไรเป็นของจีรังยั่งยืน หวั่นไหว หลุดลอยอยู่เรื่อย เรียกว่าใจลอย เมื่อเป็นเอามากก็กลายเป็นโรคประสาทได้ ไม่มีหลักไม่มีฐาน เหมือนมีบ้านมีเรือนไม่มีหลักฐานทางที่พึ่งอาศัย ที่ทำอยู่ทำกิน นี่ก็เลื่อนลอยในทางรูปธรรม ในทางนามธรรมก็ยิ่งเลื่อนลอยไปกว่านั้น คว้าน้ำเหลว เหมือนมีแต่ความหวัง เหมือนคนกระหายน้ำ คิดบ่อน้ำบ่อหน้าไปเรื่อย เพราะไม่เคยมีน้ำ จะมีอะไรที่จะให้เราเป็นวัตถุสิ่งของ พอไปถึง ถ้าจะดื่มน้ำก็กลายเป็นน้ำเค็มดื่ม ไม่ได้ ก็คิดต่อไปอีก มีอนาคตเป็นที่พึ่ง ปัจจุบันลืมไป ในชีวิตจิตใจของเรา มันก็เลื่อนลอยเหมือนคนไม่มีหลักฐาน คิดพึ่งอะไรอย่างอื่น วัตถุอย่างอื่นไป ความสุขก็อาศัยวัตถุให้เกิดความสุข ความทุกข์ก็เป็นวัตถุทำให้เกิดความทุกข์ ความหลงก็เป็นวัตถุทำให้เกิดหลง หาแต่สิ่งมาต่อ หาเอาวัตถุมาแก้ จริง ๆ มันมีอยู่
สติปัฏฐานนี่ เวลาหลงไป กลับมารู้ เอาตรงนี้ไว้ก่อน ความสุข ความทุกข์ รู้เข้าไป ให้รู้แจ้งสอดแทรกเข้าไป ซึมซับเข้าไป หัดตัวเองอย่างเนี่ย ในความไม่เที่ยง ในความเป็นทุกข์ ที่อยู่กับกายกับใจของเราเนี่ย ถ้าเราสัมผัสดูดี ๆ มันน่าจะมีประโยชน์ในความเป็นทุกข์ ถ้าสัมผัสดูดีดี มันจะหัวเราะในความเป็นทุกข์ได้ ในความทุกข์นั่นน่ะ มันจะเป็นรสชาติของสัจจะอันหนึ่ง จนได้พูดออกมาว่า พุทโธพุทโธ ปัดโธ่! เหมือนพระพุทธเจ้าท่านตรัสออกจากพระโอษฐ์ว่า บาดโท้ ๆ ตื่นทุกข์ตื่นทุกข์ เรียกว่าตัวเราไม่ค่อยจะเห็นมัน มันเกิดกับกายกับใจ เป็นทุกข์เป็นสุข บาดโท้ ๆ อันไม่ทุกข์ไม่สุขมันมีอยู่ บาดโท้ ๆ ขยันตรงนี้ ขวนขวายตรงนี้ ในความทุกข์จะเป็นการหัวเราะ เป็นความลึกซึ้งอันหนึ่ง เห็นทุกข์ เห็นอริยสัจ เห็นของจริง เห็นอันประเสริฐ อย่างนี้แท้ ๆ ความทุกข์แท้ ๆ ความไม่เที่ยงแท้ ๆ ความไม่ใช่ตัวตนแท้ ๆ มันเป็นมรรคผลนิพพาน จนเรียกว่า “พุทโธ” ตื่นแล้ว ตื่นแล้ว ไม่หลับอยู่กับความหลง ไม่หลับอยู่กับความทุกข์ ไม่หลับอยู่กับความไม่เที่ยง ไม่ได้หลับอยู่กับความไม่ใช่ตัวตน
แต่ก่อนสิ่งเหล่านี้ ลิขิตชีวิตของเรา นี่สติปัฏฐานมันเป็นเกรด ถ้าเป็นการเรียนหนังสือก็เกรดดี ดูแลดูอะไรก็คล่องตัวดี แต่เกรดแบบการเรียนมันเป็นสมอง แต่เกรดของกรรมฐานมันเป็นสติปัญญา ไม่ใช่ไปคิด พบเห็น พบเห็นความไม่เที่ยงอย่างจริงจัง จ๊ะเอ๋กัน เรานั่งสร้างจังหวะรู้สึกตัวอยู่ดี ๆ ความไม่เที่ยงมันเกิดปุ๊บขึ้นมา ความรู้ก็อยู่นั่นแล้ว จ๊ะเอ๋กันเลย เพราะว่ามันยิ่งใหญ่ เรียกว่า “สติอินทรีย์” แต่ก่อนสติอินทรีย์ไม่ใหญ่ เล็ก ๆ เหมือนแมลงกับแมลง เหมือนงูกับงูมันกินกันได้ ถ้างูตัวใหญ่ มันก็กินงูตัวเล็กได้
สติเนี่ย มันใหญ่ เราทำบ่อย ๆ รู้บ่อย ๆ มันใหญ่ขึ้นเพราะการกระทำ เพราะความเพียร มันหลงเจอรู้ตรงนั้น โตขึ้นตรงนั้นแล้ว มันทุกข์ที่ใดรู้ตรงนั้น โตตรงนั้นแล้ว มันโกรธที่ใดรู้ตรงนั้น โตตรงนั้นแล้ว ความโต ความเจริญของสติปัญญา ไม่ใช่เจริญแบบสุข ๆ ทุกข์ ๆ ในความสุขมันก็รู้ ไม่มีรสชาติของความสุข ความทุกข์ มันไม่มีรสชาติของความไม่เที่ยง ความโกรธ ความหลง แต่ก่อนมีรสชาติ ถ้าสุขก็หัวเราะ ถ้าทุกข์ก็ร้องไห้ พอมาศึกษาไป ปฏิบัติไป ความหลงมันมีความรู้อยู่ที่นั่น ความโกรธความทุกข์ มีความรู้ตรงนั้น ได้ประโยชน์ เรียกว่าโตตรงนี้กัน เหมือนเรากินข้าว เพราะเรากินข้าว เคี้ยวอาหารกลืนลงไป มันจึงอิ่มเป็น อาหารอย่างดี สมมติว่าแม่ป้อนข้าวลูก แล้วลูกไม่รู้จักกลืนข้าว ลูกก็ไม่โต เอานมใส่ปาก ลูกไม่กลืนนม ลูกก็ไม่โต แม่ถึงจะมีความรักขนาดใด ถ้าลูกไม่กลืนนมกลืนข้าว มันก็ไม่โตได้ เขาไม่ช่วยตัวเอง ผลที่สุดก็ตาย ไม่ใช่ความผิดของแม่
พระพุทธเจ้าก็บอกเราอยู่ว่าอย่าประมาท ความหลงเป็นความประมาท ความรู้เป็นความไม่ประมาท ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด และก็เอาความหลงแหละเป็นความรู้ กลืนลงไป รู้ลงไปขณะที่มันหลง รู้ลงไปขณะที่มันทุกข์ รู้ลงไปขณะที่มันโกรธ มันอยู่ตรงนี้ เหมือนนกอินทรีมันก็โตตรงที่มันจับบ่อย ๆ กินอาหารบ่อย ๆ ต่อไปสติจะเป็นอินทรีย์ นิวรณธรรมจะเป็นแมลงไปเลย ใหม่ ๆ นิวรณธรรมยิ่งใหญ่ ขวางกั้นได้ เวลานิวรณธรรมครอบงำ อ่อนหมดเลย เวลามันง่วง มือก็ยกไม่ขึ้น ก้าวก็ก้าวไม่ไป ตาก็ลืมไม่ขึ้น อ่อนไปหมดเลย นั่งก็หลังขดหลังงอ สัปหงกโงกเงก หมดไปเลยเหมือนกับขวางกั้นไปเลย แทนที่จะรู้ หลงไปเลย ให้รู้ รู้ไม่ออก มันจะหลับอย่างเดียว ดื้อ นิวรณธรรมเหมือนลูกดื้อ นักเรียนดื้อ คนดื้อ คนดื้อนี่ยังพอสอนได้ แต่คนด้าน หน้าด้าน สอนยาก ชีวิตคนเรามันมีทั้งดื้อ มันมีทั้งด้าน บางทีไม่สอนเลย คล้อยตาม เลี้ยงลูกด้วยการตามใจ จะเสียใจภายหลัง ตามใจของตัวเองเกินไป เสียใจเพราะการตามใจ มันหลงก็หลง จะเสียใจเพราะความหลง มันโกรธก็โกรธ จะเสียใจเพราะความโกรธ มันทุกข์ก็ทุกข์ จะเสียใจเพราะความทุกข์ มันรักมันชัง ก็ทำตามความรักความชัง จะเสียใจเพราะความรักความชัง
อย่าหมดตัวตรงนั้น ให้มันเจริญตรงนั้น หลงเพื่อรู้ ทุกข์เพื่อรู้ โกรธเพื่อรู้ สุขทุกข์เพื่อจะรู้ นี่คือสติปัฏฐาน หัดตรงนี้ให้เป็น หัดตรงนี้ให้ได้ ทำให้ได้ ถ้ามันง่วงเหงาหาวนอนเกินไป ก็อย่าไปอ่อนตรงนั้น เข้มแข็งตรงนั้น ตรงไหนที่มันอ่อนแอ เข้มแข็งเอาไว้ เหมือนสร้างบ้านสร้างเรือน ฐานไม่ดี มันก็ลงตรงนั้นเรื่อย ๆ เหมือนเสาฐานไม่ดี อ่อนตรงไหนน้ำก็ไหลลงตรงนั้น เมื่อน้ำก็ไหลลงตรงนั้น ก็ทรุดลงไปเรื่อย ๆ ตรงนั้นต้องเข้มแข็ง ไม่มีใครรู้ นอกจากตัวเรา มีเยอะแยะ ทางออกจากนิวรณธรรม อย่าจน เวลามันง่วง ก็อย่าไปจิตใจคับแคบ ถ้าจะเบนสายตา ก็มองยอดไม้ไกล ๆ โน่น มองไปข้างนอก อย่ามาก้มอยู่
เวลานั่งทำความเพียร ก็มองสายตาให้ได้ฉากกับการนั่ง เงยเกินไปก็ฟุ้งซ่าน ก้มเกินไปก็ง่วงง่าย ให้ได้ฉาก ความสูงของการนั่ง กับการมองไปข้างหน้า ให้เท่ากับความสูงของการนั่ง มันจะมีฉากสายตาจะอยู่ได้นาน ถ้าเงยเกินไปก็จิตใจฟุ้งซ่าน
แม้แต่เดินจงกรมก็อย่าก้มเกินไป อย่าเงยเกินไป ให้ความสูงของการเดิน มองไปกับปลายเท้า ให้มีความยาวเท่ากับความสูง มันจะได้ฉาก หลบหลีกไปซะ ถ้ามันง่วง ลืมตามองขึ้นไปหายอดไม้ ต้นยาง ตะเคียนทอง มะฮอกกานี พะยอม ดูให้ติดตา นี่คือต้นนั้น ออกไปสักหน่อย แล้วค่อยกลับมา ทำในใจ
นอกจากนั้นก็อาจมีการเคลื่อนไหว ก็เคลื่อนไหวมือแรง ๆ สักหน่อย อย่าไปทำอ่อนแอ ยกป้อกแป้กป้อกแป้ก ให้มันชัดเจนเข้าไป ยกมือขึ้นเป็นระเบียบเรียบร้อย มันก็จะหายไปความง่วง มันก็จะเป็นการสดชื่นอยู่ในขณะที่มันอ่อนแอ แข็งแรงอยู่ในความอ่อนแอ ในความทุกข์จะมีความไม่ทุกข์ ในความหลงจะมีความไม่หลง ในความโกรธจะมีความไม่โกรธ ใส่ใจสักหน่อย
ในพระสูตรก็ตรัสสอนอย่างนั้น ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกมา มีสติ มีสัมปชัญญะ มันก็ง่าย ๆ บางทีเรามาจนเรื่องนี้กัน ไปรวยอันอื่น พอยื่นมาก็เอาหมด เราต้องสงวน รักนวลสงวนตัวเอาไว้ เวลาปฏิบัติ อดทน ถึงคราวอดทนก็อดทน ถึงคราวเพียรก็เพียร ถึงคราวมีสติก็ใช้ลงไป มันก็มีส่วนประกอบ เวลามีศีลก็มีศีล อย่าคิดอะไรที่เป็นทุศีล ทำให้จิตใจด่างพร้อย มีศีลด้วย ศีลคือก้อนหิน ศิลาคือก้อนหินหนักแน่นเอาไว้ อย่าหลุดไปง่าย มีหลักมีฐานอยู่ รู้สึกตัวเอาไว้ ตั้งนาน ๆเอาไว้ อย่าทำความเพียรเพราะความทุกข์ อย่าทำความเพียรเพราะความอยาก ทำซื่อ ๆ รู้ซื่อ ๆ อย่าประเมินตัวเอง ให้ความรู้นี่เป็นสิ่งบุกเบิกไป รู้ไว้ก่อน จะถูกจะผิดรู้ไว้ก่อน มีฐานอยู่ในรู้ไว้ก่อน อย่าประเมินว่าทำไม ทำไม ทำไมมันจึงหลง ไม่ค่อยได้อะไรเลย อะไรถูกอะไรผิด หาคำตอบจากความคิดไม่ใช่นักกรรมฐาน
นักกรรมฐานจะไม่ค่อยหาคำตอบจากความคิด ให้การกระทำพาไป ลิขิตไป ทำอย่างนี้ มันรู้อยู่อย่างนี้ อันตัวนี้จะพาไป แล้วกรรมจำแนกไป จะเห็นช่องเห็นทางไป เราก็สอนตัวเองอย่างนี้ ฝึกหัดตัวเองอย่างนี้ เป็นภาคสนามจริง ๆ กระตือรือร้น มันหลงแหละเป็นเรื่องกระตือรือร้น ความง่วงก็เป็นกระตือรือร้น ใส่ใจ มีสติอยู่แล้ว ต่อรองได้เลย คิดอะไร เวลาง่วง รู้สึกตัว อย่าทิ้งธรรม
ธรรมะ คือความรู้สึกตัวนะ บัณฑิตผู้ประพฤติ ผู้ฝึกฝนตนดีแล้ว เวลาประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม เวลาประสบกับความหลงก็ไม่ทิ้งธรรม เวลาประสบความโกรธก็ไม่ทิ้งธรรม อย่าให้ความโกรธเป็นความโกรธ อย่าให้ความหลงเป็นความหลง อย่าให้ความทุกข์เป็นความทุกข์ อย่าให้อะไรเป็นอะไร เป็นตามเรื่องของมัน กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ให้มีสติเข้าไปสอดแทรก สอดรู้สอดเห็น เหมือนผู้คุมงาน โฟร์แมน หรือสถาปนิก ดูจุดอ่อน ถ้าคนงานทำงานไม่เป็น ดูจุดอ่อน ถ้าเราดู ผ่านตาเรา เห็นกับตา มันก็มั่นใจ ถ้าทำอะไรไม่ดู ไม่เห็น กลบเกลื่อนได้ ซ่อนเร้นได้ อันตัวเราเนี่ย มันปิดบังได้ ให้เห็นมัน มันหลงนั่นแหละ เป็นสิ่งที่ควรรู้ให้มาก มันทุกข์นั่นแหละเป็นสิ่งที่ควรรู้ให้มาก มันโกรธนั่นแหละเป็นสิ่งที่ควรรู้ให้มาก ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความหลง ตัวโผมัน เหมือนมือสามนิ้ว ความหลงอยู่กลาง ๆ เนี่ย ถ้าหลงก็ทุกข์ได้ ถ้าหลงก็โกรธได้ ถ้าไม่หลงมันก็ไม่มีอะไร ตัวหลงเป็นเหตุ เราศึกษาเบื้องต้น เจอกับเรื่องหลง ชัดเจนเลย ไม่หลบลี้ เรารู้กาย มันจะหลงที่กาย ความหลงเกิดจากกายมีเยอะแยะ เป็นสุขเป็นทุกข์ได้ สุขทุกข์ก็มีต่อไปอีก ต่อยอดไปอีก สุขทุกข์ที่เกิดจากกาย ก็ไปอีก ต่อให้หลงไปเรื่อย ไปในสุขในทุกข์ เรียกว่ากาย สุขทุกข์นั่นเวทนา ต่อไปอีกแล้ว เกิดอยู่บนกาย เป็นสุขเป็นทุกข์ พอเป็นสุขเป็นทุกข์ ก็เข้าถึงจิตแล้ว ครอบงำจิตแล้ว เหมือนมะเร็งร้าย
อย่างหลวงตานี่ เป็นมะเร็งนะ น้ำเหลือง มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ก็อยู่กับเลือดกับเนื้ออยู่แล้ว อยู่กับเส้นกับเอ็นอยู่แล้ว มันก็มีทางที่มันเดินทางไปน้ำเหลือง เมื่อมีต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้น น้ำเหลืองเสียแล้ว มาสู่ไทรอยด์ ไทรอยด์ก็มีเนื้อ ก็เลยคอบวมขึ้น เป็นก้อนเนื้อ ออกจากคอ มันก็ไหลไปตามตับ ไปสู่ตับอ่อน พอเนื้อตับอ่อนนี่ลุกลามไป เนื้อตับมันเกิดก้อนเนื้อ ไม่ปกติ ก็ปวดท้องอย่างหนัก ก้อนเนื้ออยู่ในไทรอยด์ มันก็โตขึ้นเพราะมันเชื้อมะเร็ง ก็เป็นก้อนเนื้อโตเร็วขึ้นมา ตันหลอดลม หายใจไม่ออก ตายไป นั่นมันยากอะไรความตาย ปั๊บ ๆ แผล็บเดียวตายไปเลย โรคร้ายมันเกิด คือโรค อันนั้นเป็นโรคแห่งวัตถุ หมอช่วยได้
แต่โรคแห่งความหลงเนี่ย ไม่มีใครช่วยเรา นอกจากช่วยตัวเอง โอสถก็คือ รู้สึกตัวเนี่ย ธัมมะระตะนัง พุทธะระตะนัง สังฆะระตะนัง เป็นธรรมะ เวลามันหลง รู้เข้าไป ช่วยตัวเองให้เข้าไป ถ้ามันรู้ตรงที่มันหลงกาย ไปสู่เวทนา ไปแล้ว ไปไกลแล้ว ไปสู่จิต ก็ไปไกลแล้ว ไปสู่ธรรมนี่ ก็ยิ่งครอบไปหมดเลย ครอบคลุมมีอำนาจมาก ไปเป็นอารมณ์ไปเลย นึกว่าอารมณ์เป็นตัวเรา เอาอารมณ์มาเป็นจิตใจ ความโกรธเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ใจ ความทุกข์เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ใจ ความหลงเป็นอารมณ์ ไม่ใช่จิตใจ เราก็ถือว่าเราซะ เป็นภพเป็นชาติอยู่ในอารมณ์ไป มากมาย โกรธก็ว่าใจตัวเอง ทุกข์ก็ว่าใจตัวเอง รักก็นึกว่าใจตัวเอง เกลียดชังก็นึกว่าจิตใจตัวเอง มันไม่ใช่เลย
พอเรามาแยกตั้งแต่ต้น เห็นกายสักว่ากาย เวทนาสักว่าเวทนา จิตสักว่าจิต ธรรมสักว่าธรรม มันก็ยังปกติ ไม่ครอบงำกัน กายก็เป็นกาย เวทนาก็เป็นเวทนา จิตก็สักว่าจิต ธรรมก็สักว่าธรรม มีแต่สติเข้าไปเห็น ให้เป็นระเบียบ ให้กายเป็นระเบียบ ไม่ใช่เวทนามาครอบงำ เป็นสุขเป็นทุกข์ เวทนาก็ไม่มีอำนาจอะไร อาศัยเขา แล้วก็มีอะไรที่มันต่อไป มีสมมติมีบัญญัติ มีวัตถุอาการ
วัตถุก็คือตานี่ กับรูปเป็นวัตถุ เมื่อตากับรูปสัมผัสเข้า ก็เป็นอาการ มันไม่อยู่ที่นี่นะ มันไปไกลแล้ว เป็นอาการไปแล้ว มีไหมตาเห็นแล้วเกลียดเลยมีไหม ตาเห็นแล้วรักเลยมีไหม มีเหมือนกันนะ พอตาเห็นแผล็บเดียวก็มีความรักกันเลย ง่าย ๆ เกินไปความรัก บางทีมันรักโจรผู้ร้ายด้วย ในพระสูตรมีเยอะแยะ ลูกสาวเศรษฐีอยู่ในปราสาทชั้นเจ็ดโน่น เห็นเขาจะฆ่าโจรผู้ร้าย เอาแห่อ้อมเมือง ลูกสาวเศรษฐีแอบดูทางหน้าต่าง เคยได้เรียนไหมพระสูตรนี้ เกิดรักโจร สวยดี ขาวสูง หน้าตาดี ไปรักโจร ผลที่สุดก็ ขอไถ่โจรเอามาเป็นสามีของตนเอง เท่าไรก็ไถ่ โจรก็ยังเป็นโจรอยู่ พออยู่ด้วยกันก็จะฆ่าเมียตัวเอง เพราะมันเป็นโจรอยู่ แต่คนที่เป็น(เมีย) ต่อไปเป็นภิกษุณีนะ เป็นพระอรหันต์นะ คนคนเนี้ย ก็เลยมีปัญญาด้วยนะ จะฆ่าจริง ๆ ก็ได้อยู่ แต่ต้องพาไปเที่ยวชมหน้าผา ไปฆ่าบนหน้าผา จับโยนลงหน้าผา แต่นางนี้ก็ไม่หลง เพราะยังมีปัญญา แต่งตัวสวยงาม ถ้าจะฆ่าจริง ๆ ขอให้ฟ้อนรำ ให้สามีนั่งอยู่เนี่ย จะฟ้อนรำ เพื่อจะให้สุดความสามารถในความรัก ฟ้อนรำให้ดูหน่อย สามีก็ยังคิดจะฆ่าอยู่ จะรำสวยขนาดไหน แต่งตัวดีขนาดไหน มันก็เป็นโจร พอดีสามีหันหน้าไปทางหน้าผา ภรรยาก็ฟ้อนรำไปผลักโจรลงไปหน้าผา ตาย (หัวเราะ) ก็พอมีปัญญาหน่อย แล้วนางนี้ก็ไปบวชเป็นภิกษุณี มาเห็นเรื่องความรัก มันหลอก ตาเห็นก็หลอก เกิดความรักขึ้นมา ไม่เชื่อความหลอก ความรักนั้นหลอกเรา ความโกรธนั้นหลอกเรา เข็ดหลาบ เอามาเป็นบทเรียนฝึกตนเอง ฝึกตนเอง จนได้เป็นพระอรหันต์ในภิกษุณี ชื่ออะไรไปหาค้นดู ชื่ออะไรจำไม่ได้ มีพระสูตรนะ (นางภัททา ภายหลังเป็นพระภัททากุณฑลเกสาเถรี) มีบ้างไหมตามันหลอก ตาเห็นรูปมันหลอก เกิดความพอใจ เกิดความไม่พอใจ หูมันหลอก เกิดความพอใจไม่พอใจ
อาจารย์ทิศาปาโมกข์เนี่ย ลูกศิษย์มาศึกษาเป็นจำนวนมาก พร้อม ๆ กันกับอหิงสกะมานพ เห็นอหิงสกะมานพเรียนเก่ง รุ่นราวคราวเดียวกัน เขาก็อิจฉาอหิงสกะมานพ ว่าจะเก่งกว่าเขาเสียแล้ว รวมหัวกัน หลอกให้อาจารย์ไล่อหิงสกะมานพหนี อาจารย์ก็ได้ยิน หูเบาเกินไป เชื่อลูกศิษย์ส่วนมาก อาจารย์ก็ดูแล้ว ลูกศิษย์อหิงสกะมานพนี้ เป็นคนที่ไม่แสดงอะไรออกมาเลย เป็นเด็กดี เป็นลูกพราหมณ์บ้านใหญ่โต กับบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั่นเท่า ๆ กัน อยู่กรุงสาวัตถี หลวงตาก็ไปดู ใกล้ ๆเชตวันมหาวิหาร ลูกศิษย์...เข้าไป ยุยงเข้าไป อาจารย์ก็เชื่อ วางแผนฆ่าอหิงสกะมานพ หลอกให้อหิงสกะมานพไปตาย แต่อหิงสกะมานพมีปัญญา จนในที่สุดอหิงสกะมานพก็มาบวช พระพุทธเจ้าไปโปรดเอา สมัยนั้นครูทั้งหก เกิดขึ้นก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นครูคนที่เจ็ด ยังไม่มีใครเคารพเชื่อถือเท่าไร ครูทั้งหกคือใครบ้าง อาจารย์ทิศาปราโมทย์เนี่ยคนหนึ่งล่ะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร อชิตะเกสกัมพล ปกุทธะกัจจายนะ มักขลิโคศาล นิครนถ์นาฏบุตร บูรณะกัสสปะ อันนี้ความจำมา
แต่ว่าอันตัวหลงเนี่ย ไม่ค่อยจำจากใคร เคยหลงมาอย่างสุด ๆ เคยรักมาอย่างสุด ๆ เคยทุกข์ เคยเกลียดมาอย่างสุด ๆ ก็มันมีวัตถุอาการ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง นั่งเฉย ๆนี่ นะ เป็นวัตถุกามคุณ เกิดจากรูปเนี่ย เกิดจากนามเนี่ย ถ้าเราไม่หัดน่ะ มันจะเชื่อมันได้ยังไง พวกนี้ มันดุร้ายนะ เราไปยึด ถึงกับเป็นอารมณ์ขึ้นมา ถือว่าเราซะแล้ว รักก็เป็นเรา เกลียดก็เป็นเรา ทุกข์ก็เป็นเรา ทำตามความรักความชัง ความสุขความทุกข์ เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ชีวิตจริง ๆ เสียเปรียบมันแล้ว บัดนี้มันรู้แล้วเนี่ย ก็ไปตายเลย
มีสติเป็นอินทรีย์อันยิ่งใหญ่ นกอินทรีย์ ประสาอะไร อารมณ์เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ มีอำนาจอะไร ความง่วงเป็นอะไร เป็นอาการ แต่ก่อนเรียกว่านิวรณธรรม บัดนี้เป็นอาการ ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย จิตใจฟุ้งซ่าน กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฐิ ถูกยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ว่าเป็นตัวเป็นตน นิดหน่อย ถ้าเราไม่รู้ก็เรื่องใหญ่มาก ฟัดเราหัวฟัดหัวเหวี่ยง ล้มลุกคลุกคลาน กินไม่ได้นอนไม่หลับ มันมีจริง ๆ ไหม มันไม่มี เคยเสียเปรียบมันไหมพวกเราเนี่ย ยึดแบกความโกรธข้ามวันข้ามคืนมีไหม นอนอยู่กับความโกรธ ความโกรธนอนอยู่ในชีวิตเรา มันดีอะไร ลองเปลี่ยนดูสิ เวลามันโกรธ รู้สึกตัวดูสิ หัดไปตั้งแต่เนี่ย เริ่มต้นเข้าไป มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม เป็นตัวโผมัน แยกตรงนี้ ไขกุญแจแก้โซ่ตรงนี้ โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไข มันไปไม่รอด กี่ภพกี่ชาติ วนเวียนอยู่นี่ ที่ว่าเวียนว่ายตายเกิด เกิดดับ เกิดดับ หลายภพหลายชาติ เกิดรัก เกิดชัง เกิดโกรธ เกิดโลภ เกิดหลง เกิดทุกข์ เกิดสุข เกิดกิเลส ตัณหา ราคะ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่มีอิสระเลย แค่นี้หรือชีวิตเรา ดีกว่านี้ไม่มีหรือ เกิดมาเท่านี้หรือ เกิดมาแก่เจ็บตายหรือ เท่านี้หรือ เวลาแก่ก็ทุกข์ เวลาเจ็บก็ทุกข์ เวลาตายก็ทุกข์หรือ
ถ้ามาแยกตั้งแต่ต้นนี้ไป มันไม่มี ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในชีวิตจริง ๆ เนี่ย มันมีชีวิตจริง ๆ มันได้ชีวิตคนเรานี้จริง ๆ เนี่ย อาตมาจึงพูดอย่างนี้ ผมก็เคยฝึกมานี่แล้ว เคยตายมาแล้วนะ (หัวเราะ) เคยตายมาจริง ๆ เคยเจ็บมาจริง ๆ จนได้อุ่นใจ โอย! หมอกำพลยืนอยู่ข้างเตียงในห้องไอซียู คุณหมอไม่ต้องห่วงหลวงพ่อ หลวงพ่อเวลานี้ชีวิตส่วนตัว ประสบการณ์กรรมฐานมากับหลวงพ่อเทียน 40 กว่าปี มันเป็นวันนี้ ไม่ต้องห่วง บอกได้เลย แม้หายใจไม่ได้ ก็ไม่ค่อยจะเดือดร้อน เราไม่ใช่อาศัยลมหายใจ เราไม่เป็นอะไร มันปวดตับก็ไม่ค่อยเดือดร้อน พะวงปวด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มันปวด มันเห็นมันปวด มันไม่ปวด มันไม่เป็นผู้ปวด เห็นมันปวด เท่าเนี่ย ชีวิตน้อย ๆ เท่านี้ สบ้ายสบาย มันหายใจไม่ได้ เห็นมันหายใจไม่ได้ ไม่ใช่เป็นผู้หายใจไม่ได้ มันต่อหน้า เท่านี้ชีวิตส่วนตัวจริง ๆ เวลามันเจ็บ เวลามันปวด ก็มีความเจ็บเด่น ๆ มันโชว์ออกมา เห็นมันเด่น ๆ ทุกแง่ทุกมุม ไม่ค่อยเป็นทุกข์เพราะความปวด ตั้งแต่เราแยก ตั้งแต่เนี่ย กาย มันแยกไปแล้ว เวทนา แยกเข้าไป จิต แยกออกไป มันก็ ไม่มีอะไรที่ทำให้เป็นอะไรไป
จึงอยากจะพูดให้เป็นสรุปว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” มีได้ไหมเรา มันหลงไม่เป็นผู้หลงได้ไหม ง่าย ๆ มันโกรธไม่เป็นผู้โกรธได้ไหม มันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ได้ไหม พวกนี้หรือ แยกไปเลย สุดเหวี่ยงไปเลย คนละโลกไปเลย คนละโลกไปเลย อยู่เหนือโลกไปเลย เห็นมันปวด เห็นมันเจ็บ ไม่ใช่เป็นผู้ปวด ไม่เป็นผู้เจ็บ มันเริ่มตั้งแต่เนี่ย มันหลง เห็นมันหลงหรือเป็นผู้หลง มันโกรธ เห็นมันโกรธหรือเป็นผู้โกรธ ถ้าไม่แยกตอนนี้หรือ เวียนว่ายตายเกิด มีมากมาย ชีวิตเรา
ขอให้ได้พูดเรื่องนี้บ้าง มีเพื่อน มีหมู่ มีมิตร มีสถานที่ ก็อยากจะพูดเรื่องนี้กัน ถ้าไม่พูดเรื่องนี้ เราไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ยังไง กินข้าวเสียข้าวเปล่า ชาวบ้านเลี้ยงข้าวเลี้ยงปลา ให้อาหาร สร้างที่อยู่อาศัยให้ เราขอแสดงความถูกความผิด ที่มีอยู่กับเรา ให้เราเห็น ไปดูเอาเอง ถ่ายให้ดูแล้ว มันหลงไม่ใช่เรา มันหลงคือความหลง สักว่า มันสุขมันทุกข์ สักว่าสุขว่าทุกข์ เนี่ย! แยกออกมาเนี่ย จะเป็นอินทรีย์อันยิ่งใหญ่ สติอินทรีย์ ใหญ่ วันเวลา ฝึกตนสอนตนเอาไว้ จะอยู่ในโลกอย่างงดงาม สง่างาม ถ้าไม่ฝึกตรงนี้ก็อ่อนแอ ถูกทับถม ถูกโลกทับถม โบราณท่านว่าไปเมืองบนเห็นคนขี่ช้าง ไปเมืองล่างเห็นช้างขี่คน มีได้นะ ช้างขี่คนมันจะขนาดไหน คนขี่ช้างขนาดไหน ต่างกันอยู่นะ เมืองบนอยู่ที่ไหนล่ะ เมืองล่างอยู่ที่ใด
เนี่ย! ชีวิตของเรานี้ จิตใจมันสูง เห็นมันสูง เป็นน่ะมันต่ำ ถ้าเห็นแล้วมันสูง ถ้าเป็นแล้วมันต่ำ ความทุกข์ความสุขทับถม ถ้าเห็นแล้วมันทับไม่ได้ มันสูงขึ้นมา เห็นความโกรธขี่คอความโกรธ เห็นความทุกข์ขี่คอความทุกข์ อันขี่คอมันเหมือนกับเราวิ่งแข่งขันกัน เราขี่คอคนที่วิ่ง แต่คนที่วิ่งพยายามจะวิ่ง เราก็ขี่คอมันอยู่ มันแก่ไปแล้วขี่คอความแก่ มันเจ็บก็ขี่คอความเจ็บ มันจะตายขี่คอความตาย นี่คนขี่ช้าง ถ้าเป็นช้างขี่เราก็ โอย! ร้องไห้เสียใจเป็น... มีค่าอะไร