แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมะคือฟังเรื่องของเรานี่ เรื่องของเราก็มีกายมีใจ มาศึกษาเรื่องกายเรื่องใจ เป็นแหล่งศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ กายอันกว้างศอก ยาววา หนาคืบ เรียนให้จบ ถ้าเรียนที่นี่มันจบ ถ้าเรียนในโลก มันก็ไม่จบ เรียนเรื่องกายเรื่องใจนี่จบ เรียกว่า “สถาบัน” ให้จบเรื่องกายเรื่องใจ ถึงมรรค ถึงผล เหนือการเกิดแก่ เจ็บตาย เหนือทุกข์ เหนือสุข เหนือโลก ถ้าเราไม่เรียนรู้ก็ถูกโลกทับถม
ในกายในใจนี้ ศึกษาเข้าไป มีสติเข้าไป กายเป็นตำรา ใจเป็นตำรา สติเป็นนักศึกษา บางอย่างก็เรียนรู้ บางอย่างต้องทำให้เป็น พูดแล้วทำไม่เป็น สมัยโบราณท่านว่า ไม่เรียน ไม่มีรู้ ฉันจะเลี้ยงกระเป๋าได้ ... อะไรจำไม่ได้ ต้องมีเรียนมีรู้ เรียนรู้ แต่ทำไม่เป็น รู้ว่ากายใจนี้เป็นรูปเป็นนาม มันมีรูป มันมีขันธ์ 5 มีธาตุสี่ มีขันธ์ห้า ประชุมกันเข้า เรียกว่า “รูปนาม” ถ้าเรียกว่ากายว่าใจ มันจน มันคับแคบ ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นนาม มันกว้างใหญ่ไพศาล มันแตกฉาน
รูปนามนี้ ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ตกอยู่ในความเป็นทุกข์ ตกอยู่ในความไม่ใช่ตัวตน แม้มันมีแปดหมื่นสี่พันอย่างในรูปในนามนี้ มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มันก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ตกอยู่ในความเป็นทุกข์ ตกอยู่ในความไม่ใช่ตัวตน มันมีที่สุดของรูปของนาม และก็นอกจากนั้น ก็ยังมีอะไรต่างๆ ที่เกิดอยู่บนรูปบนนามนี้ เรียกว่า “วัตถุอาการ”
วัตถุคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง
อาการคือ มันเกิดขึ้นได้ระหว่างวัตถุภายนอก-ภายใน ตากับรูป หูกับเสียง มันมีอาการเกิดขึ้นถ้าวัตถุสองอย่างนี้สัมผัสกัน ก็ไปไกล ถ้ามันเป็นอาการเกิดขึ้น ถ้าไม่รู้ ไปเป็นภพเป็นชาติ เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นภพเป็นชาติ เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน เป็นภพภูมิต่าง ๆ ได้ ในอาการที่เกิดขึ้นกับวัตถุ ที่มันอยู่บนรูปบนนามนี้ มีมาก ในรูปในนามนี้ มันมีอาการ ทำให้เกิดอะไรได้ เกิดผี เกิดกลัว เกิดกล้า เกิดเกลียด เกิดโลภ เกิดหลง ได้หลายอย่าง งานการที่มันเกิดขึ้นจากวัตถุอาการ ที่มันเกิดขึ้นเพราะไม่มีสติ ไม่มีสติเป็นสิ่งคุมกำเนิดของอาการเกิด ปล่อยให้มันเกิดไป ในความอะไรหลาย ๆ อย่าง ในรูปในนามนี้ ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ไปเป็นภพภูมิต่าง ๆ
ถ้ามีสติ ก็เห็นเป็นอาการที่มันเกิดขึ้น ก็ได้ประโยชน์จากรูปจากนามนี้ เช่น “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” ถ้าไม่เห็นก็เป็น มันก็มี เป็นทางไป ถ้าไม่เป็น มันก็มืด มันตัน ทางมันตัน ทางมันสุดโต่ง ทางมันไปถึง มันมีที่สุด เห็นทุกข์ ทุกข์ก็ไปไม่ได้ ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นมันโกรธ เห็นมันหลง มันก็จบ เรียกว่าได้ประโยชน์จากภาวะ ได้ประโยชน์จากอาการที่มันเกิดขึ้นระหว่างรูป ระหว่างนาม จะต้องหัดทำให้เป็น รู้แล้วทำให้เป็น
เวลามันหลงให้รู้ เวลามันคิดให้รู้ เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ให้รู้ อย่าให้มันมีช่องว่างตรงนี้ ถ้าไม่รู้ มันก็มีสมมุติบัญญัติ ว่าชอบ ว่าไม่ชอบ บัญญัติเอา สมมุติเอา ในความชอบ ในความไม่ชอบ ว่าเป็นตัวเป็นตน อยู่ในสมมุติ ก็เลยกลายเป็นภพเป็นชาติ เกิดดับ เกิดดับ เกิดเก่ง มีแต่ชาติ อันเกิดจากอาการต่าง ๆ เรียกว่า ภพชาติ เป็นวัฏสงสาร เหมือนอยู่ในห้วงน้ำโอฆะ
ถ้าขึ้นฝั่งซะ เห็นไม่เป็น มันก็ขึ้นฝั่ง เห็นทุกข์ไม่เป็นทุกข์ล่ะ ขึ้นฝั่ง เห็นสุขไม่เป็นผู้สุข ขึ้นฝั่ง ไม่ต้องมุดต้องดำ ต้องโผล่ ต้องแหวกต้องว่าย อยู่ในอาการต่าง ๆ นี่ทำให้เป็น แหวกว่ายให้เป็น
เห็น เรียกว่า “ทัสสนานุตริยะ” แหวกว่ายออกไป ขึ้น พยายามขึ้น ให้รู้ อย่าไปให้มันเป็นสมมุติ เหตุผล อาการต่าง ๆ อย่าไปไกล ขึ้นซะ เห็นทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นโกรธไม่เป็นผู้โกรธ ขึ้นฝั่ง มันจะชำนาญ
ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ ยังไม่ขึ้นฝั่ง ยังมุดอยู่ ยังอยู่ในโอฆะ ในห้วงน้ำ ในวัฏฏะ เป็นกรรมต่อไป เป็นกิเลสต่อไป เป็นวิบากต่อไป เรียกว่า “วัฏฏะ” กิเลส กรรม วิบาก มันตั้งต้นจากกรรม กรรมแล้วเกิดกิเลส กิเลสเกิดวิบาก เราใช้อะไร มันก็ติดเรื่องนั้น ใช้ให้มันหลงก็ติดเรื่องหลง ใช้ให้มันโกรธก็ติดเรื่องโกรธ ใช้ให้มันรักก็ติดเรื่องรัก ใช้ให้กลัวก็เกิดเรื่องกลัว ใช้ให้กล้าก็เกิดเรื่องกล้า ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงหัดให้เป็นซะ ถ้าไม่หัดมันไม่เป็น โลกมันมีรสชาติ ความสุขก็มีรสชาติ ความทุกข์ก็มีรสชาติ ความโกรธก็มีรสชาติ ความรักความชังมีรสชาติ สัตว์โลกต้องติดรสแบบนี้ เราจึงมาอยู่เหนือโลกแบบนี้ซะ “ทวนกระแส” ทวนกระแส
การเห็นไม่เป็นนี่ มันทวนกระแส ถ้าไม่เห็น ก็เรียกว่าไม่เห็น เรียกว่าไม่มีโอกาส เรียกว่า “บัวใต้น้ำ” เป็นอาภัพพบุคคล เหมือนบัวใต้น้ำ บางชีวิตก็ไม่มีโอกาส เพราะไม่หัด ไม่สนใจ ไม่สนใจ มุดอยู่ ดำอยู่ เป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาไป ชีวิตทั้งชีวิตฟรีไปเลย เสียชาติที่เกิดมา ไม่ได้ประโยชน์จากชีวิต ไม่ได้ประโยชน์จากกายจากใจ
อันกายอันใจนี้ มันมีมรรคมีผล ไม่มีสัตว์อื่นประเภทอื่น ที่มีมรรคมีผลเหมือนกับคนเรา มันมาเพื่อการนี้โดยตรง เกิดมาเพื่อการนี้ ไม่ใช่เกิดมาเพื่อแก่เจ็บตายไป เราจะต้องเป็นสุขเป็นทุกข์เพราะเรื่องโลกนี่ไม่ได้ ให้มันอยู่เหนือโลกซะ หัดทำ มีสติ มันเป็นตัวศึกษา มันเป็นสูตรอยู่ ในรูปในนามนี้ มันเป็นสูตร สูตรกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เป็นสูตรไปแบบนี้ มันจึงถูก สองห้าต้องเป็นสิบ สองสิบก็เป็นยี่สิบ ใช่ไหมล่ะ มันเป็นสูตรอย่างนี้ ถ้าเป็นสามสิบ หรือสองห้าเป็นสามสิบ สองห้าเป็นร้อย มันก็ไม่ถูก อะไรที่มันเกิดจากกาย มันสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มันถูก ความผิดมันก็มีในรูปในกายเนี่ย ความถูกก็มี แต่เราทำไม่เป็น เหมือนกับคณิตศาสตร์ เราไม่ได้เรียน ถ้าเราเรียนเราก็ทำได้ ทำเป็น เรียกว่าทำเป็น ทำเป็น ถ้าทำไม่เป็นก็ไม่เป็น
อะไรก็ตามในโลกนี้ ชีวิตของเราเนี่ย มันมีสูตรอย่างนี้ กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ถูกต้องที่สุด ถ้ากายเป็นกู สุขเป็นกู ทุกข์เป็นกู ร้อนเป็นกู หนาวเป็นกู หิวเป็นกู ปวดเป็นกู ไม่ถูกต้องเลย เป็นภาระ เป็นการบ้านต่อไป เฉลยไม่ได้ เมื่อเฉลยไม่ได้ ก็เป็นหนี้ เป็นจำเลยของกาย แล้วแต่กายมันจะบังคับ ถูกตัดสินไปแล้ว ต้องแก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ มันตัดสินไปเลยถ้าไม่เฉลยตรงนี้ เหมือนพิพากษาตุลาการ เราเป็นจำเลย ต้องแก้ เอาตัวให้รอด อย่าเป็นถูกจองจำไป มัดไม้ มัดมือ มัดศอก ถูกจองจำ ติดคุก ติดตะราง รอวันแก่ วันเจ็บ วันตาย เรามีทุกข์เป็นเบื้องหน้าแท้ ๆ ถูกความทุกข์หยั่งเอาแท้ ๆ ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์จะปรากฏแก่เรา
เราจึงมาเรียนตรงนี้ กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาเนี่ย จะไปเรียนที่ไหน ก็เรียนที่นี่ อาจารย์ใด ประเทศใด ศาสนาไหน มันคือกายคือใจเนี่ย ปัญหาก็อยู่ที่นี่เหมือนกันหมด ปัญญาก็อยู่ที่นี่เหมือนกันหมด ปัญญาที่ได้จากกายจากใจ ความว้าวุ่นในกองสังขาร คือกายสังขาร จิตสังขารนี่ เขาเรียกว่า “ปัญญา” ไม่ใช่ปัญญาจบจากศาสตร์ต่าง ๆ อันนั้นเป็นปัญญาอาชีพ เอาไปใช้งานใช้การได้
พระพุทธเจ้าสมัยเป็นเจ้าฟ้าชายจบมาตั้ง 17 (18) ศาสตร์ ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ทำไมเรียนสูตรนี้ ในวันเพ็ญเดือนหกเนี่ย วันที่ 28 เนี่ย จะมารอบอีกรอบนึง เป็นรอบที่ 2560 (หัวเราะ) จำไม่ได้ ปีมาแล้ว เราก็ได้มีโอกาส ได้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เราไม่รับรู้ เป็นเรื่องของเรา ซ้ำยังให้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสรู้ เอาสูตรเนี่ย เอาตัวอย่าง เอาศาสดาเป็นครู เรียนตามพ่อก่อตามครูไป ทำให้มันเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องของเรา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อย่าไปสละสิทธิ์ ถ้าไม่ใช่เอามาเป็นเรื่องของเรา เกิดแก่เจ็บตาย
ในโลกนี้ขอเสนอตัวเรา เราสักคนหนึ่ง ที่จะให้ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ ไม่ให้ความโกรธเป็นความโกรธ เราทำเรื่องนี้ ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว จำเลย ตัดสินมาแล้วตั้งแต่วันเกิด ถ้าได้ชีวิตมา ก็มีแก่เจ็บตายในตัวเสร็จ หนีไม่พ้น อะไรที่มันจะเกิด เราใช้ชีวิตยังไง รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเรื่องนี้หรือ ทำไมจะเป็นทุกข์เพราะตัวเอง รูปจะต้องเป็นทุกข์หรือ เวทนาต้องเป็นทุกข์หรือ สัญญาต้องเป็นทุกข์หรือ สังขารต้องเป็นทุกข์ วิญญาณต้องเป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ไม่ได้หรือ ใช้ประโยชน์ไม่ได้หรือ รูปมาทำประโยชน์ เหมือนพ่วงแพขี่ข้ามฟาก ดี มันมีรูปจะได้ใช้มัน จะได้ใช้มัน ให้มันข้ามฝั่ง ขี่ไปข้ามฝั่ง อย่างโบราณท่านว่า จิตเหมือนนาย กายเหมือนเรือ สติเหมือนหางเสือ ปัญญาเหมือนไม้พาย พายไป ให้มันขึ้นฝั่ง มันก็มีมาให้เราใช้แท้ ๆ ใช้ให้มันขึ้นฝั่ง ถ้าไม่มีรูปไม่มีนาม มันก็ไม่มีอะไรใช้ มันจึงมาให้เราใช้โดยตรง พ่อแม่เราอาจจะทำไม่ได้ บรรพบุรุษบางคนอาจจะทำไม่ได้ เรานี่มาแล้วเนี่ย เรามาทำเรื่องนี้ดู มาทำให้มันสมกับกำเนิดที่เกิดขึ้นมาจากพ่อจากแม่ ให้มันคุ้ม มันเพื่อการนี้โดยตรง ชีวิตเราเนี่ย ไม่ใช่เพื่ออื่น ๆ เลย จึงจะคุ้มค่าที่ได้ชีวิตมา เป็นเรื่องเดียวกันแท้ ๆ นั่งอยู่นี่ ทุกชีวิตในโลกนี้ อันเดียวกันเนี่ย ไม่น่าจะให้มีปัญหาอะไร ต่างคนต่างศึกษาดู ก็ไม่มีปัญหา มีแต่ปัญญา อยู่กันเป็นสงบร่มเย็นได้ ต่างคนต่างมาดูแลตัวเราเนี่ย ให้ดี ๆ เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม”
ปฏิบัติธรรมคือ ดูแลกายใจให้มันดี ปลอดภัย อย่าให้มันเกิดทุกข์เกิดโทษ อย่าปล่อยทิ้ง เราจึงมาดู อย่าปล่อยให้มันหมกมุ่นครุ่นคิดไป เห็นไหมเวลามันคิดไป เวลามันสุขเห็นไหม เวลามันทุกข์เห็นไหม ที่มันทุกข์จากอะไร มันอยู่ตรงไหน เหตุมันมี ไม่ใช่ไม่มีเหตุ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้เท่านั้น
เหมือนพระสารีบุตรพบกับพระอัสสชิ พระอัสสชิพึ่งบวชใหม่ พระสารีบุตรกำลังแสวงหาครูอาจารย์ เห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาต เกิดชอบ เอ้! สมณะรูปนี้มาจากไหนหนอ ทำไมท่านจึงสงบเสงี่ยม ต้องมีสิ่งที่ดีอยู่กับสมณะรูปนี้ เราจะขอถามท่านดู ขณะนั้นยังบิณฑบาตอยู่ ไม่ควรจะไปถามขณะที่บิณฑบาต พระสารีบุตรเลยค่อย ๆ ตามไป พอบิณฑบาตพ้นหมู่บ้าน ก็ไปรับบาตร “พระคุณเจ้าประสงค์ฉันที่ใด บอกข้าพเจ้าด้วย จะจัดที่ให้ฉัน” ก็ไปได้ที่ฉัน ไม่มีบ้าน ไม่มีกุฏิ สมัยก่อน เห็นป่าเห็นดงอยู่ที่ไหน ก็แวะเข้าไป พระสารีบุตรเป็นมานพชื่อว่าอุปติสสะ เลยจัดที่ให้นั่งฉัน ฉันเสร็จแล้วพระสารีบุตรเข้าไปหา ถาม “พระคุณเจ้า ท่านมาจากไหน ท่านเป็นใคร ท่านรู้ธรรมอะไร ใครเป็นครูของท่าน” พระสารีบุตรขอว่า “พูดให้ฟังสักหน่อย แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าสักหน่อย”
พระอัสสชิตอบว่า “อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ยังไม่แสดงอะไรได้ เพียงศึกษาใหม่”
“เอาได้น้อย ๆ ก็ดี เฉพาะน้อย ๆ ไม่ต้องมาก”
พระอัสสชิก็พูดขึ้นว่า “เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจโย นิโรโธ จ เอวัง วาทีมหาสมโณ” แปลว่า ทุกสิ่ง ๆ เกิดแต่เหตุ จะดับก็ดับที่เหตุ พระศาสดาของเราสอนอย่างนี้ เรามารู้เรื่องนี้ ได้เท่านี้
พระสารีบุตร ดวงตาเห็นธรรม ว่ามันเกิดแต่เหตุจริง ๆ จะกราบพระอัสสชิ ขอเป็นสรณะอันเกษม พระอัสสชิบอกว่า “อย่ามากราบข้าพเจ้า ศาสดาของเรามีอยู่ คือ พระพุทธเจ้า” ให้ไปกราบพระพุทธเจ้า เป็นครูอาจารย์ศาสดาของเรา
พระสารีบุตรถามว่า “เดี๋ยวนี้ ศาสดาอยู่ ณ ที่ใด”
“โน่น อยู่ราชคฤห์โน่น”
ตั้งแต่นั้น พระสารีบุตรก็เลยแยกย้ายพระอัสสชิ ตามหาพระพุทธเจ้าที่กรุงราชคฤห์ ไปที่โน่นเลย จนได้บวชเป็นพระอัครสาวกซ้ายขวา ยืนอยู่เนี่ย (หัวเราะ) ยืนอยู่เนี่ย เรียกว่าสาวก เสนาบดี ไปชวนโมคคัลลานะเพื่อนกัน แต่ก่อนเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ เพลิดเพลินที่ใดไปที่นั่น ดีดสีตีเป่า เพลงที่ไหนไปที่นั่น รำที่ไหนไปที่นั่น อยู่แถวนาลันทา เป็นลูกเศรษฐีอู่ข้าวอู่น้ำ ไปสืบประวัติ ไปตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา วัดใหญ่ที่สุด จนวัดนั้นมีพระมาก ในแคว้นนั้นรัฐบาลไม่ให้เสียภาษีอากรเลย ให้บำรุงวัด วัดมันใหญ่ บำรุงพระสงฆ์ ไม่เก็บภาษีอากร จีวรที่เป็นตาอยู่เนี่ย มาจากนาลันทา นาของพระสารีบุตร เอาแบบคันนา จีวรที่ตัดเป็นกระดูก เป็นร่องน้ำ น้ำไหลบนคันนานะ ประเทศอินเดียเนี่ย เอาไว้ขุดคลอง เอาคันนาเป็นร่องน้ำ ไหลไปทั่ว
พระสารีบุตรก็เลยเคารพพระอัสสชิ เพราะเรื่องนี้ เหตุและผลเท่านั้น ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ จะดับก็ดับที่เหตุนั้น เวลาได้ยินว่าพระอัสสชิอยู่ ณ ที่ใด พระสารีบุตรจะนอนหันศีรษะไปทางนั้น จะสอบประวัติอยู่เสมอ เวลานี้พระอัสสชิอยู่ทางทิศไหน ถ้าอยู่ทางทิศเหนือ พระสารีบุตรก็หันหัวไปทางทิศเหนือ อยู่ทิศใต้ก็หันหัวไปทางทิศใต้ เคารพ
มีเท่านี้ มันมีเหตุเท่านี้ มันหลงเพราะไม่รู้ เห็นไหม ถ้าหลงเป็นหลง ไม่ได้แก้ที่เหตุ แต่ไปคุมที่ผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ เห็น เรียกว่า มันทุกข์เห็นมันทุกข์ เรียกว่า เห็น ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ เรียกเป็นผล ทุกข์เป็นผล เหตุมันหลง มีสติเห็น ก็ดับ ดับทุกข์ไม่ให้ทุกข์ ดับหลงไม่ให้หลง เปลี่ยนหลงไม่หลง เปลี่ยนทุกข์ไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่เปลี่ยน ถ้าหลงไม่เปลี่ยน โกรธไม่เปลี่ยน ก็ไปไม่ได้ โซ่ไม่แก้ กุญแจไม่ไข ไม่ได้หลุด
ถ้าหลุดออกไป ตั้งแต่กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เนี่ย! สูตรมันอยู่ตรงนี้ แก้ตรงนี้ เวทนาสักเวทนา เวทนาคือสุขคือทุกข์ อย่าให้สุขเป็นสุข อย่าให้ทุกข์เป็นทุกข์ สักแต่ว่าสุข สักแต่ว่าทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ใส่ใจตรงนี้สักหน่อย อย่าพึ่งหน้าบูดหน้าบึ้ง อย่าไปเอายากเอาง่าย พอมันยาก อุ้ย! ไม่ชอบ ไม่ใช่ ถ้ามันง่าย เออ! ดี ๆ ไม่มีสติ ถ้าสติเห็น มันก็ไม่ว่าดีไม่ดี สติมันเห็น ก็เห็นเท่านั้นเอง อันเดียว ไม่มีค่า นี่มันง่าย ๆ อย่างเนี้ย จึงปฏิบัติได้ทุกคน ทุกชีวิต ไม่ยาก ถ้าหลงเป็นหลง รู้เป็นรู้ ถ้าหลงก็ไม่ชอบ ถ้ารู้ ชอบ ถ้าสงบก็ชอบ ไม่สงบไม่ชอบ ไม่ใช่ ไม่ใช่เห็นเหตุ ไม่ใช่เห็นเป็นมรรค เป็นแค่ตรงนี้ให้ได้ ใส่ใจสักหน่อย อย่าพึ่งไปให้พอใจไม่พอใจ อย่าไปเอาเหตุเอาผลมาเกี่ยวข้อง ให้สัมผัส
หลักปฏิบัตินี่ ต้องสัมผัส ไม่ใช่เหตุผล เหตุผลใครก็มี อย่างพระสิทธัตถะเนี่ย นั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เคยอยู่ปราสาท ๓ ฤดู ทำไมเรามานั่งอยู่นี่ มันบ้าหรือมันอะไรกันเนี่ย ไปอยู่ปราสาท ๓ ฤดู มาอยู่นี่ยุงมันกัด ฝนตกก็เปียก เราเป็นบ้าหรือเป็นอะไรเนี่ย ใช้เหตุผลก็กลับกรุงกบิลพัสดุ์เลย ไม่อยู่แล้ว แล้วเวลานี้ เรามาคิดเอาเหตุเอาผล เรามาทำ มันสุขรู้มัน มันทุกข์รู้มันเนี่ย เกี่ยวกับตรงนี้ ตั้งต้นอยู่ตรงนี้ เรียกว่า “ทวนกระแส”
มันต้องทวนสักหน่อย อย่าให้สุขเป็นสุข เห็นมันสุข ทวนแล้ว มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ทวนแล้ว มันเกลียด มันอะไรก็ตาม ไม่เป็น ไม่เป็น ไม่เป็น เลยง่าย ๆ มันจบง่าย ๆ ถ้ามันเป็น มันยากกว่า ให้โกรธเป็นโกรธดู มันก็ยาก ไปไกลเหลือเกิน ถ้าให้ความโกรธเป็นไม่โกรธดู มันก็จบ ลองสัมผัสโลกแบบนี้ ลองดู สัมผัสลองดู ไม่ใช่รู้ ใครก็รู้ว่าโกรธไม่ดี ทุกข์ไม่ดี แต่ไม่หัด มันก็ยังโกรธอยู่ มันรู้ มันใช้ไม่ได้
มาหัดให้มีสติซะ วิธีหัดเราก็ง่ายอยู่แล้ว อุปกรณ์ครบถ้วน เครื่องทุ่นแรง เคลื่อนไหว มีสติ ตั้งไว้ เรื่องกรรมฐาน กรรมคือการกระทำ ฐานคือที่ตั้ง ตั้งไว้ มันหลุดออกไป กลับมาตั้งไว้ เหมือนแม่หัดลูกให้นั่ง ตั้งไข่ ตั้งไข่ ตั้งไข่ จับลูกนั่ง ตั้งไข่ ตั้งไข่ ตั้งไข่ เมื่อลูกนั่นได้นาน แม่ก็ตบมือ จูบแก้ม ลูกก็สนุก ลูกก็นั่ง ตั้งไข่ ตั้งไข่ ตั้งไข่ บางทีลูกไม่คลาน เต่าบ่หย่างเอาไฟจุดก้น เต่าบ่หม่นเอาหอกไล่แทง ใช่ไหม (หัวเราะ) ให้ลูกคลาน เต่าบ่หย่างเอาไฟจุดก้น เต่าบ่หม่นเอาหอกไล่แทง บางทีบางแม่ แม่นั่งอยู่เนี่ย ลูก...มาๆๆๆ
หัด ทวนกระแส ถ้าเราไม่หัดก็อ่อนแอนะ อ่อนแอ เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” ไปไม่ถึงมรรคถึงผล มันมีอยู่สองอย่าง กามสุขัลลิกานุโยค, อัตตกิลมถานุโยค
- กามสุขัลลิกานุโยค คืออะไร มันโกรธ โกรธไปเลย อ่อนแอไป ให้ความโกรธเป็นความโกรธ ให้ความทุกข์เป็นความทุกข์ อ่อนแอไปเลย กาม คืออ่อนแอ ไหวไปตาม
- “อัตตกิลมถานุโยค” ตึงเครียด มันผิด ไม่ชอบ มันถูกชอบ อัตตะ มันเอาผิดเอาถูก อยากให้มันสงบ มันฟุ้งซ่าน วันนี้ฟุ้งซ่านหน้าดำคร่ำเครียด แต่วันไหนไม่ฟุ้งซ่าน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ใช่ อันนั้นเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค เป็นไปตามอาการต่าง ๆ ใช่ไหมล่ะ เป็นทาง ไม่ถูกทิศถูกทาง ไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
ที่เป็นกลาง เป็นมรรค คือ “เห็น” เนี่ย มันยากไหมเนี่ย ไม่ได้เดินสักก้าวนะมรรคน่ะ ไม่ไปท่องหนังสือ ไม่ต้องไปท่องหนังสือ นั่งยิ้ม ๆ หัวเราะ มันก็ได้ มันสุขเห็นมันสุขเนี่ย ง่ายที่สุดเลย มันทุกข์เห็นมันทุกข์ มันหลงเห็นมันหลงเนี่ย นอนอยู่ก็รู้ได้ นั่งอยู่ เดินอยู่ อะไรก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้นะ ถ้าทำถูกแล้ว นั่งอยู่ นอนอยู่ เวลามันหลงก็ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถเดิน อยู่โน่น นั่งสร้างจังหวะ มันหลงได้ทุกโอกาส ถ้าเราไม่หัดมัน ถ้าหัดมัน ก็รู้ทุกโอกาสเหมือนกัน ไม่ใช่จะมานั่ง มาทำ ไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ใช่ คอยดูมันดี ๆ เนี่ย ว่าแต่เรามีสติเป็นเจ้าของ ตั้งไว้ก่อน หายใจก็รู้ได้นี่นา ความรู้สึกตัวเนี่ย มันไม่ได้ยากอะไร จับมาใช้ได้ทุกอย่าง กายนี้เป็นวัสดุอุปกรณ์อย่างดี หลายอย่างอันเกี่ยวกับกาย หายใจก็เป็นกาย เดินก็เป็นกาย ตาเห็นรูปก็เป็นกาย หูได้ยินเสียงก็เป็นกาย ให้มันรอบ ให้มันรู้ไว้ ให้ใช้เถอะ ใช้ความรู้สึกตัวเนี่ย อย่าไปไม่ใช้ ถ้าใช้ยิ่งมาก โบราณท่านว่า “รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ” ต่อไว้ มันจะสั้น ความหลงจะสั้นลง รักยาวก็ให้บั่น บั่นตัวหลงลงไป ใช้สติปัญญาเอา รักสั้นให้ต่อ ต่อความรู้ไว้ ให้ความหลงมันสั้นลง ความทุกข์มันสั้นลง
เนี่ย! ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้ อย่าไปอ้างว่าแก่ว่าหนุ่ม อ้างว่านักบวช ไม่ใช่ อ้างว่าเป็นฆราวาส ไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกับแก่กับหนุ่ม ไม่เกี่ยวกับเพศกับวัย มันอยู่กับการกระทำของเรานี่เอง ใครก็หลงเป็น ใครก็โกรธเป็น ทุกข์เป็น ความโกรธไม่ได้อยู่ที่ความแก่ความหนุ่ม กิเลสตัณหาไม่ได้อยู่ที่ความแก่ความหนุ่ม อยู่กับทุกชีวิต การมีรูปมีนามนี้ จะปฏิเสธยังไง ถ้าเราปฏิเสธเรื่องนี้ ก็เท่ากับปฏิเสธตัวเอง มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแน่นอน ถูกความทุกข์หยั่งเอาแน่นอน โกรธจนตาย หลงจนตาย ทุกข์จนตายแน่นอน ถ้าไม่เปลี่ยน มันจะมีค่าอะไรชีวิตเรา
นี่คือการศึกษา แหล่งศึกษา เราจะเป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน ไม่ทอดไม่ทิ้งกัน มีพระเป็นเพื่อนอยู่ที่นี่ มีอยู่ พระสงฆ์ก็เป็นตัวเป็นตนอยู่ มีคำสอนก็มีอยู่ สติก็มีอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่มีแต่พระพุทธเจ้า ตั้งหลายพันปีมาแล้ว ก็อยู่กับโลกอันเดียวกันแท้ ๆ เนี่ย ไม่ใช่คนละอย่าง คนละพันธ์ อันเดียว สติ คือ รู้สึกระลึกได้อันเดียว มารู้สึกก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด มาอยู่ที่กายที่ใจนี่ การพูด การทำ การคิด ก็มีรูปมีนามนี่ ไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่ใช่ภูตผีปีศาจ มีที่เกิด มีที่ดับ มีเหตุมีผลอยู่ มีเหตุมีปัจจัยอยู่ มันต้องทำได้แน่นอน จึงพยายามที่จะชักชวน ให้มีสถานที่แบบนี้ มาฝึกหัด มันช่วยกันไม่ได้ มีแต่เป็นเพื่อนกัน ไม่ต้องเรียกว่าครูบาอาจารย์ เรียกว่า เพื่อนมิตร กัลยาณมิตร สหาย อย่าไปกลัว เป็นเพื่อนกันแท้ ๆ เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เราทำยังไง สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน พออยู่กันได้ใช่ไหม 40 วันเนี่ย วันที่ 20 เนี่ย อย่าไปเอา 40 วันนู้น เอาเดี๋ยวนี้ดีกว่า (หัวเราะ) อย่าไปรอ 40 วันถึงจะเอาจริง
ทุกวัน ชีวิตของเรา เอาทุกวันเลย รู้ทุกวันไป ให้มันมีสติไป อย่าไปต่อรองอะไร กำหนดผลัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ กระชับเข้าไป รู้เข้าไป ให้มันลำดับลำนำไป อย่าให้มันห่าง ติดตามไป อะไรที่เราติดตามมัน มันทันงาน เหมือนเราไปเรียนหนังสือ ถ้าติดตาม-มันก็ทัน ก็เรียนทัน ถ้าไม่ติดตาม-เรียนไม่ทัน ต้องซ่อม ต้องอะไรใหม่ การงานก็เหมือนกัน ทำอะไรที่ติดตาม การงานมันก็ชำนาญได้ ทำไร่ทำนาก็ชำนาญ นั่งอยู่บ้านก็เห็นแล้ว เห็นนาแล้ว ตอนนี้จะไปปิดน้ำตรงนั้น เดินผ่านไป รู้แล้วว่าน้ำมันรั่วตรงไหน ไปดูบางแปลง น้ำมันล้นขึ้นมา เต็มขึ้นมา ต้องรั่วจากตรงนั้น ไปดู มันก็เห็นจุดอ่อน เราก็รู้ ที่นาของเรา ชำนาญที่นาของเรา ทำนาได้สำเร็จ ปลูกข้าวได้สำเร็จ ได้ผลสำเร็จ
ในที่กายที่ใจของเรานี่ ก็เหมือนกับนา ศรัทธาเหมือนนา ความเพียรที่ใส่ใจให้รู้อยู่เสมอเหมือนน้ำฝน ถ้านามีน้ำฝน ก็มีโอกาสคราดไถปลูกได้ สติก็ปลูกลงไปที่เนื้อนาที่มีน้ำฝนมีความเพียร มีศรัทธา ไม่ท้อถอย สมาธิก็คือคราดไถ เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เรียกว่าสมาธิ ให้มันเฉพาะเรื่อง อย่าปล่อยทิ้ง ตรงไหนที่มันไม่เหมาะ ก็เปลี่ยนให้มันดี อย่าพะรุงพะรัง บางทีทำความเพียรเนี่ย หมกหมุ่นครุ่นคิด เอายากเอาง่าย ต่อรอง ไม่ใช่ มันยังรกรุงรังอยู่ เปลี่ยนซะ ให้มันรู้ซะ มีปัญญา เวลามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เรียกว่า “ปัญญา” ไปในตัวเสร็จ มันจะยากอะไร
พระพุทธเจ้าจึงว่าปฏิบัติได้ให้ผลได้ ตะโกนอยู่ ไม่จำกัดกาล ถ้าทำเนี่ย ผู้ปฏิบัติรู้ได้ด้วยตนเอง เราหลงก็รู้เอง เราไม่หลงก็รู้เอง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้เฉพาะตน ชวนให้มาดู มาดู มาดู ชวนให้มาดู ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า น้อมมาใส่เรามาดูซิ เวลามันหลง น้อมรู้ไปใส่ น้อมมาใส่ตัว ว่าอะไร ทุกเช้าทุกเย็น เคยทำตามที่เราว่าไหม หรือว่าเป็นภาษานกแก้วนกขุนทองไป มันก็ไม่มีค่าอะไร ก่อนที่เราจะเล่าออกมาจากปาก มันเกิดจากใจเราเนี่ย จิตใส่ใจตามออกไป เหมือนกับสมัยก่อนเนี่ย ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า มันซึมซับเข้าไปแล้วจึงว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” มันซึมมาจากใจก่อน ใจสัมผัสแล้ว จึงอุทานออกมาเป็นภาษาพูด ถ้าเป็นภาษานกแก้ว ว่าตามเขาไป บอกให้ว่า พุธโธ พุทโธ ไป ใจไม่ได้ว่าพุทโธเลย ไม่รู้ ไม่ตื่น ไม่เบิกบาน อะระหัง อะระหังไป เหมือนก่อนตายบอกให้ อะระหัง ก็ว่า อะระหัง อะระหัง ไปหาแต่หอย พอลูกบอกว่าแม่ ๆ มา อะระหัง อะระหัง อะระหัง แม่ไปหาแต่หอย อะระหอย อะระหอย (หัวเราะ) เป็นอย่างนี้ มันไม่เคย มันไม่ฝึกหัด ถ้าไม่ฝึกหัด มันไม่เป็นงาน ไม่ว่าอะไรนะ เรียกว่ากรรมฐาน ที่ตั้งของการกระทำแท้ ๆ
เรามาอยู่เนี่ย อย่าไปทำอันอื่น จะกินอะไร จะนอนยังไง ไม่ต้องกลัวหรอก โสตายเลย พวกเราเนาะ อาจารย์โน้สเจ้าอาวาสคงไม่ปล่อย ปีนี้อาจารย์โน้สบอกว่าจะเข้ากรรมฐานไม่ทำอะไร ต้องมอบให้คนอื่นทำ เราก็เป็นเจ้าหน้าที่ทุกชีวิต ช่วยกัน อย่างมีอาสาสมัคร ทำงานทางโรงทาน ทำงานทางสำนักงานบ้าง พระสงฆ์ก็ช่วยกันบ้าง อย่าให้แต่ผู้หญิง ให้ผู้หญิงก็มีโอกาสปฏิบัติธรรมบ้าง อย่าไปใช้ใครเป็นผู้รับใช้เรา ให้เรารับใช้เขาบ้างก็ดี เรียกว่าเสนอตัวเรา เหมือนสมัยก่อน พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ พระอรหันต์ทั้งหลาย เสนอตัวเอง อาสาสมัคร ว่าพระคุณเจ้า ถ้าผ้าจีวรของท่านประสงค์จะย้อม บอกข้าพเจ้าจะย้อมให้ ถ้าผ้ามันขาด บอกข้าพเจ้าจะปะให้ ถ้ากุฏิมันรั่ว มันทรุดโทรม บอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะซ่อมแซมให้ พระสงฆ์บางรูปเสนอ งานการของสงฆ์ บางรูปเสนอเป็นภัตตุเทสก์แจกอาหาร บางรูปเสนอภัตตุเทสก์แจกเสนาสนะ บางรูปเสนอภัตตุเทสก์รักษาคลัง แจกสิ่งของ เจ้าอธิการคลัง เจ้าอธิการเสนาสนะ เจ้าอธิการอาหาร เจ้าอธิการจีวร มีเหมือนกัน สมัยก่อน เสียสละ พวกเราต้องใจกว้าง ๆ อย่าเห็นแก่ตัว ที่อยู่ที่นี่ต้องช่วยกันอันใดอันหนึ่ง หลวงตานี่ช่วยไม่ได้แล้ว อย่างดีก็รดน้ำต้นไม้ให้ ตรงไหนปลูกก็ตามไปรด เห็นท่ามันเหี่ยวมันแห้ง แต่ตัวเองไม่ได้ปลูกแล้ว มีแต่เพื่อนปลูกไว้ ก็ไปรดให้ นี่ก็ทำได้อยู่ มีความสุข บางวันไปรดทางนี้ บางวันไปรดทางนี้ วานแม่สุกัญญา หลวงพ่อไม่เห็นออกเดิน... เมื่อเช้าไปเดินรดต้นไม้ทางนี้ (หัวเราะ) วันนี้จะไปทางนี้