แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จากที่เราได้สาธยายพระสูตรบทต่าง ๆ ตอนเช้าตอนเย็น เราก็ให้มีส่วนประกอบหลาย ๆ อย่างเพื่อให้เกิดสติปัญญาพัฒนาก้าวหน้า เรามีอาชีพ ต้องประกอบอาชีพ มีสิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของเรา เรียกว่า บรรพชิตในธรรมวินัยนี้
บรรพชิต คือ ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่ใช่นักบวชที่มีรูปแบบ ว่าบรรพชิตคือผู้ที่เห็นภัยในชีวิตของเรา เหมือนเรามีอาชีพ พ่อแม่สอนลูกให้ประกอบอาชีพการงาน ถ้าไม่ทำไม่มีอาชีพ มันก็จะมีภัย ความยากจน ความลำบาก ความอดอยาก ต้องมีอาชีพกันทุกคน มีงานมีการทำ อย่างที่เรามีกันอยู่ชาวไร่ชาวนา พ่อค้า ราชการ ก็มีอาชีพ อาชีพของเขา เขาก็มั่นใจ พ่อค้าเค้าก็มั่นใจว่าเค้าจะไม่อดไม่อยาก ไม่ทุกข์ไม่ยาก แล้วก็ลำดับลำนำการทำมาค้าขาย มีความเพียรตลอดเวลา ชาวนาก็ขยันหมั่นเพียร ตื่นขึ้นมาก็คิดที่จะไปทำนา คิดจะไปทำไร่ วันหนึ่งวันหนึ่งก็คิดจะไปทำนาทำไร่ แล้วก็ไปจริง ๆ ไปแล้วก็ประกอบการงานจริง ๆ ด้วยการกระทำ การกระทำมันจึงสำเร็จ ถ้าไม่มีการกระทำ มัวแต่คิดอยู่ก็ไม่สำเร็จ พ่อค้าแม่ค้า ข้าราชการ ลำดับลำนำการทำงานของตน งานก็ไม่ค้างคา สำเร็จ
นี่เราก็มีงานธรรมทูต เราได้ทำอะไรบ้าง ทางเถระสมาคมเขาอยากทราบ ก็ต้องรายงานให้เขาทราบในช่วงนี้ ปีหนึ่งเนี่ย งานที่มีความเป็นจริงยังไง เราทำอะไร อยู่ที่ไหน ใครทำอะไร เขาอยากจะรู้ แล้วก็เราเป็นอุปัชฌาย์ เขาก็อยากจะรู้ว่าบวชกุลบุตร ปีหนึ่งมีกี่คน กี่รูป มีกี่เณร แจ้งเขาทราบ เขาจะได้ทำสถิติ ว่าพระสงฆ์เกิดขึ้นรวบรวมแล้วในพรรษากี่รูป เพื่อเป็นตัวเลข เอาไปกำหนด ไปวิจัย ว่ามันเสื่อมหรือมันเจริญขึ้น คนมีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา กุลบุตรออกบวชปีหนึ่งเท่าไร เรียกว่างาน ทำไปแล้ว สัทธิวิหาริก เอาไปส่งแล้ว แต่ยังธรรมทูตอาจารย์ทรงศิลป์ เป็นผู้ที่จับงานด้านนี้ต่อเนื่อง และก็มีกันทุกรูป เราก็เห็นกันอยู่ สำนักเดียวกัน แล้วก็พยายามเป็นหูเป็นตา เป็นขาเป็นแขน เป็นสติปัญญาแทนกัน งานส่วนรวม มีส่วนร่วม
นอกจากนั้นก็งานปฏิบัติธรรม เป็นสิกขาและธรรมเนี่ย เรียกว่าภิกษุผู้เห็นภัย มีแน่นอน ภัย กับชีวิตของเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย แน่นอน ความหลงมีอยู่แน่นอน ความทุกข์ก็มีอยู่ ความรัก ความชัง ก็มีอยู่ ถ้าว่ามีความหลงอยู่ งานก็ค้าง ไม่สำเร็จ เราก็ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ ใส่ใจ เพียรประกอบ อย่าถดถอย เห็นความหลงว่าเป็นงานของเรา ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นก็ถือว่างานของเรา เหมือนกับเราจน จะยอมจนอยู่ไม่ได้ จนต่อความทุกข์ จนต่อความโกรธ จนต่อความโลภ ความหลง ไม่ใช่ เราจะเป็นอย่างนั้น เราเป็นมนุษย์สมบัติ พัฒนาให้เจริญขึ้น จากปุถุชนกลายเป็นกัลยาณปุถุชน จากกัลยาณปุถุชนกลายเป็นมนุษย์ ออกจากมนุษย์กลายเป็นอริยะบุคคล จนที่สุดถึงมรรคถึงผล เหมือนการเกิดแก่เจ็บตายโน่น ทางที่เราจะเดินไป อย่าไปประมาท ในความหลง อย่าประมาทในความทุกข์ อย่าประมาทในความโกรธ นั่นแหละงานของเรา เหมือนคนอดอยาก งอมืองอเท้า ไม่ได้ ตื่นขึ้นมาจะกินอะไร มีอะไรกิน จะได้มาจากไหน ต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ชีวิตของสัตว์โลก ไม่ว่ามนุษย์ ไม่ว่าสัตว์ รู้จักทำมาหากิน
ชีวิตของเราก็มี 2 ส่วน ส่วนกาย ส่วนจิตใจ มันไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มันก็ต้องมีงานทำปรารภความเพียร ต่อไปถึงสติ สัมปชัญญะ เพราะเรามีกายมีใจ กายนี่ก็มีปัญหา ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษต่อเราได้ มีใจก็มีปัญหาทำให้เกิดภัยต่อเราได้ เราจึงมาดู เรียกว่าพระสูตร
“สติปัฏฐานสูตร” มีสติ เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ นี่งานของเรา อย่าให้มันหลงกาย อย่าเอากายมาเป็นสุขเป็นทุกข์ ถ้าเอากายมาเป็นสุขเป็นทุกข์ เรียกว่าหลงแล้ว ถ้าเห็นว่ากายสักว่ากาย ไม่ใช่เป็นสุขเป็นทุกข์ เวลาใดมันเป็นสุขเป็นทุกข์ มันพอใจไม่พอใจเกี่ยวกับกายที่มันแสดงออก ถอนออก มีสติ มีสัมปชัญญะ ตั้งไว้ เวลาใดมันหลง มันสุข มันทุกข์ ตั้งสติลงไปตรงนั้น มันมีอยู่ทุกชีวิต นั่นแหละภัยเล็กภัยน้อย เมื่อมีภัยอย่างนี้ มันก็มีภัยต่อไปเรื่อย ๆ อกุศลธรรมเมื่อเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีความหลง เป็นสุขเป็นทุกข์ จึงพยายามละอกุศลธรรม คือมีสติไม่ให้เกิดขึ้นอีก ความหลงทำให้เกิดความรู้แล้ว ความทุกข์ทำให้เกิดความรู้แล้ว อย่างเนี้ย ละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น ยังกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้งอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น มันก็งามได้ ความหลงงาม เป็นความรู้ ไพบูลย์ขึ้นเป็นความรู้ ความทุกข์งาม เป็นความรู้ พ้นจากความทุกข์ความหลง เรียกว่า “พรหมจรรย์”
พรหมจรรย์ของเรา ให้เป็นไปเพื่อการถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ พ้นจากความหลง พ้นจากความทุกข์ พ้นจากความวิตกกังวลอะไรต่าง ๆ ให้มันพ้นไป อย่างเนี่ยะ ดังที่เราทำกันอยู่ มีความเพียร คือกล้า กล้าลงไป อย่าเกียจคร้าน ปรารภความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัว เรียกว่า “ความเพียร”
ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่ใช่ความเพียร มีสติถอนความพอใจและความไม่พอใจ เรียกว่าความเพียรแล้ว ไปเกี่ยวข้องแล้ว ไม่ปล่อยทิ้งแล้ว ไม่ประมาทในกาย ไม่ประมาทในเวทนา ในสุขในทุกข์ ไม่ประมาทในจิตที่มันหลง มันคิด มันสุขมันทุกข์ มันมีเกิดขึ้นหลายอย่างเหลือเกิน ทั้งกายทั้งจิตและก็มีธรรม อย่าประมาทในธรรม บางทีมันเป็นอกุศล ถ้าธรรมจริง ๆ มันเป็นกลาง ๆ และมันพร้อมจะเป็นอกุศล และกุศล ความเป็นกลางอย่างนี้ เหมือนอัพยากตาธรรม สุขเวทนา มันก็เป็นสุข ทุกข์เวทนาก็เป็นทุกข์ อัพยากตาธรรม มันทั้งไม่ทุกข์และไม่สุข อย่าไปมั่น อย่าไปเชื่อ อย่าไปเฉย ให้มีสติไปเกี่ยวข้อง ตั้งไว้ ตั้งไว้ เวลามันสุขก็ถอนออกมา เวลามันทุกข์ก็ถอนออกมา ทำอย่างนี้เรียกว่าอาชีพ มันก็จบได้ มันก็มั่งมีได้ ในความเจริญ ไพบูลย์ งอกงาม ในธรรม ที่เป็นกุศล ที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเจริญมากขึ้น จนถึงมรรคถึงผล อย่างเนี่ย มันก็มีงานกันทุกชีวิต อยู่ที่ไหนก็งานอันนี้แหละ แต่เราก็มาอยู่ร่วมกันเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนกันอบอุ่นใจ คนเขาเดินจงกรม เขานั่งทำความเพียร เราจะนอนอยู่มันก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งได้ยินได้ฟังเป็นส่วนประกอบ เอาพระสูตรต่าง ๆ มาสวด ตอนเช้าตอนเย็นส่วนรวม ส่วนตัว รวมกันปฏิบัติ ปฏิบัติส่วนตัว ได้ทั้งนั้น ลำดับลำนำ ให้เห็นแจ้งในกายในใจ ให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นนามธรรม
อย่ามัวแต่ปฏิเสธนั่งสงบ ไม่รับรู้อะไร ถ้าไม่รับรู้อะไรมันจะเป็นสมถะ สมถะนี่เกิดก่อนวิปัสสนาหลายพันปี อุทกดาบส อาฬารดาบส ได้ฌานสมาบัติ 8 โน่น พอสิทธัตถะไปศึกษาสำนักนี้ก่อน เห็นว่าแค่นี้ ก็ยังไม่พอใจ ท่านศึกษาด้วยตนเอง หลงทิศหลงทางไป มากมาย จึงมาเห็นเนี่ย มาเห็นที่พระสูตรเนี่ย อริยมรรคเนี่ย สติปัฏฐานเนี่ย มีสติเนี่ย ได้หลักนี้ มันก็เข้ามาเห็นกายเห็นใจแน่นอน มองกลับ แต่ก่อนมันไปข้างนอก ตอนนี้มามองกลับ บางทีปฏิเสธ บางทีก็ยอมรับ เป็นศีลพรตไป สำคัญมั่นหมาย เป็นศีลพรต เป็นสักกายทิฐิ เป็นวิจิกิจฉา สงสัยอยู่เรื่อย สีลัพพตปรามาส ลองมามีสติดู สักกายทิฐิ ไม่เห็นกายตามความเป็นจริง อะไรที่เกี่ยวกับกายนึกว่าตัวว่าตน พอดูเข้าจริง ๆ มันไม่ใช่ตัวใช่ตน หลงกล หลงเล่ห์ของกาย พาให้สุขพาให้ทุกข์ ที่จริงเขาเป็นธรรมชาติ เขาเป็นอาการของเขาอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครเป็นใหญ่ได้ เรื่องของกาย ความร้อนก็เป็นเรื่องของเขา ความหนาวเป็นเรื่องของเขา ความหิวเป็นเรื่องของเขา ความเจ็บปวดเป็นเรื่องของเขา เราเข้าไปเอามาเป็นตัวเป็นตน เรียกว่า “สักกายทิฐิ”
เนี่ย! เห็นบ่อย ๆ เห็นเป็นรูป นี่คือรูป เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปที่เขามีความเป็นปรมัตถสภาวธรรม ร้อนเป็น หนาวเป็น ทุกข์เป็น สุขเป็น หิวเป็น ปวดเป็น ไม่ใช่เรา เป็นตัว เป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่เกิดกับรูป แต่ก่อนเราก็หลงตรงนี้กัน พอมาเห็นแจ้ง เห็นเป็นรูปธรรม เป็นธรรมชาติ เป็นอาการ สิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปมีแต่ธรรมชาติ ลงตัว มีแต่อาการที่ตามความเป็นจริง มันหิวไม่เป็น มันก็ไม่ใช่รูป เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป มันร้อนหนาวไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป แสดงว่าเขาทำหน้าที่ตามสัจจะของเขา ถ้าเขาไม่มีสิ่งเหล่านี้ เขาอยู่ไม่รอด เขาก็ฉิบหาย ตั้งแต่มันรู้อย่างนี้มันก็ยังฉิบหายอยู่ เขาก็รู้สิ่งธรรมชาติอาการเพื่อความอยู่รอดของเขาตามที่พอจะพ้นไปได้ ไม่เกินร้อยปี การที่มันเป็นเช่นนั้น ไม่มีใครต้านทานได้ รูปเนี่ย จะให้มันเที่ยง ให้เป็นตัวเป็นตนเป็นใหญ่ของมันไม่ได้ เห็นธรรมชาติเห็นอาการของเขา เรียกว่า เห็นธรรมตามความเป็นจริง กายสักว่ากายเนี่ย วางลงแล้ว เบาลงแล้ว วางลงแล้ว เวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์ บัง เป็นด่านที่บัง ทำให้เข้าไม่ถึงธรรม ไม่เห็น ทำลายสักกายะทิฐิไม่ได้ ทำลายสีลัพพตปรามาสไม่ได้ ทำลายความลังเลสงสัยไม่ได้ เป็นการบ้านตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น พอมาเห็นแจ้งเข้าไป ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันก็วนเวียนอยู่นี่ กระบวนการ สลับซับซ้อน มันก็ปิดบังปัญญาที่รู้แจ้ง แต่ถ้าเราเพียรพยายามศึกษา ถลุงย่อยออก มันก็ทะลุทะลวง สิ่งที่ยังไม่รู้ก็รู้ได้ สิ่งที่ยังไม่เข้าใจก็เข้าใจได้ สิ่งที่ทำให้แจ้งยังไม่แจ้งก็ทำให้แจ้งได้ การแจ้งในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เรียกว่าเข้าสู่ “วิปัสสนา” รู้แจ้ง
วิปัสสนา เกิดจากการเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นธรรมชาติ เห็นอาการ เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตนของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม นั่นแหละวิปัสสนา ไม่หลงแล้วตรงนี้ ผ่านไปได้แล้ว ไขกุญแจแก้โซ่ หลุดออกไป ไม่เอากายมาเป็นสุข ไม่เอากายมาเป็นทุกข์ ไม่เอาเวทนามาเป็นสุข ไม่เอาเวทนามาเป็นทุกข์ ไม่เอาจิตมาเป็นสุข ไม่เอาจิตมาเป็นทุกข์ ไม่เอาธรรมมาเป็นสุขเป็นทุกข์ แม้มันจะมีกุศล มีอกุศล ก็รู้แล้ว กุศลคือความฉลาด ความสงบ อกุศลคือความโง่ ความฟุ้งซ่าน มันก็เป็นใหญ่ เราก็พ้นไป
เมื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไป ก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ความหลงกลายเป็นปัญญา ปัญหากลายเป็นปัญญาไปเรื่อย ๆ อย่างเนี่ย มันก็เกิดจากการรอบรู้ในกองสังขาร คือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรมเนี่ย มันไปกองอยู่เนี่ย มีธาตุมีขันธ์อยู่เนี่ย เขาเรียกว่า “ปัญญา”
ความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่า “ปัญญา” ไม่ใช่ไปรู้ที่ใด ปัญญาพุทธะเกิดอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อนิพพาน “นิพพาน” คือ มันหมดไปแล้ว มันไม่มีปัญหาแล้ว เนี่ย! มันก็เป็นไปทำนองนี้ อันกรรมฐานเนี่ย มันก็ส่งไปจนขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนาก็รู้แจ้งไป เห็นอะไรตามความเป็นจริง
จึงช่วยลัด ๆ หน่อย ก็เลยบอกว่า “ให้เป็นผู้เห็น อย่าเป็นผู้เป็น” ไปก่อน เป็นพลังแรงเสริมเข้าไป เห็นกายน่ะ เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก็มีหลง มีรู้ มันรู้ก็เห็น มันหลงก็เห็นนั่นน่ะ มันสุขก็เห็นนั่นน่ะ มันทุกข์ก็เห็นนั่นน่ะ ง่าย ๆ ดี ถ้าไปเป็นล่ะ มันเสียเวลา จึงบอกทัศนะ วิธี เอาไปใช้ ให้มันแตกฉาน เหมือนเราเรียนคณิตศาสตร์มีโจทย์เกิดขึ้น พอเราอ่านโจทย์เราก็ตอบได้แล้ว เหมือนเราเรียนปริยัติ คันถธุระ มันก็ต้องมีโจทย์ เพื่อให้เรามีปัญญาในโจทย์นั่น ไม่ใช่โง่เวลาโจทย์เกิดขึ้น ก็เป็นปัญญา ในกายในใจเรานี่ก็มีโจทย์ บางทีเราก็มีจำเลยของเขาอยู่ เรื่องความหลงเป็นโจทย์ชีวิตเรา เราเป็นจำเลยต่อความหลง ยอมรับ ถ้าเราเรียนรู้ ก็เฉลยได้ ไม่ต้องไปจำนน ไม่ต้องยอมรับ ก็เลยเป็นอิสระ เหมือนพิพากษาตุลาการ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นโจทย์ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน เป็นโจทย์ของชีวิตเรา เราต้องไม่เป็นอิสระเพราะเรื่องนี้ กาลไม่ยกเว้นใคร เราจึงมาพิพากษา ให้มันเป็นธรรมขึ้นมา ความหลงไม่เป็นธรรมเลย ความรู้เป็นธรรมกว่า ความทุกข์ก็ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรมกว่า ความโกรธก็ไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธนี่เป็นธรรม เรียกว่า “มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับชีวิตเรา”
ถ้าเราไม่มีความเป็นธรรมในชีวิตของเราแล้ว จะหาความเป็นธรรมที่ใดก็ไม่พบดอกในชาตินี้ ถ้าเรายังเบียดเบียนตนเองอยู่ หาความสงบร่มเย็นต่อสังคมประเทศชาติก็หาได้ยาก ก็ตั้งต้นที่เรานี่แหละ จึงเป็นหน้าที่ของเรา เป็นงานบุญ ศึกษาธรรมะเนี่ย ปฏิบัติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์เนี่ย มันเป็นงานบุญ มันก็ละความชั่ว ทำความดีอยู่แล้ว ให้เข้าสู่ทางศีล ทางธรรมไป ดำเนินชีวิตไปตั้งแต่หนุ่มน้อย ๆ เนี่ย จะมีความสงบ เป็นอิสรภาพไปนาน ถ้าเราไม่ศึกษา มันก็จะเป็นภาระไปยาวนาน พอกพูนไปเรื่อย ๆ จนเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ไปโน่น มันเจริญในอกุศล มีเหมือนกัน ทำดีได้ยากทำชั่วได้ง่าย ถ้ามันเจริญในอกุศลแล้ว ทำชั่วได้ง่าย แต่ทำดีได้ยาก ถ้ามันเจริญในกุศล ทำดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยากมันก็กลับกันอย่างนี้ การใช้ชีวิตของเรา เป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนตน และเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนคนอื่น ก็เป็นเช่นนั้น เราอยู่ร่วมกัน สันติภาพสงบร่มเย็น เราก็เป็นสัตว์สังคม มีพ่อมีแม่ พ่อแม่ก็มีลูกมีเต้า มีหลานเหลน มีพี่มีน้อง มันก็มีผลกระทบในทางดีได้ ในชีวิตของเราเกี่ยวข้องกันอยู่ เป็นสายเลือด บางทีเราอยู่วัด เรามีลูกมีหลาน ภรรยาสามีอยู่บ้านเขาก็หวังพึ่งเราอยู่ ได้ข่าวว่าเราเป็นลูกชายของพ่อของแม่มาบวชแล้ว หมายความว่าพ่อแม่หว่านเมล็ดพืชลงไป หวังความงอกงามไพบูลย์ของลูก ลูกจะเป็นคนดี ภรรยาสามีมาปฏิบัติ ลูกอยู่บ้านก็หวังพึ่งคงจะเป็นคนดี สุขใจไม่ใช่ไปเที่ยวเตร่เร่รอน ฐานความคิดก็ต่างกัน ก็เย็นใจตั้งแต่เราบอกว่าจะมาปฏิบัติธรรม แล้วก็ มันก็เป็นอย่างนี้ชีวิตของสัตว์สังคม
มนุษย์คนเราเนี่ย มันแยกกันไม่ได้ ไม่ใช่เราคนเดียว โบราณท่านจึงว่า ภาษาอีสานนะ จะฟังรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ (หัวเราะ) ภาษาอีสาน ฟานกินหมากขามป้อมไปคาคอมั่ง มั่งบ่ขี้สามมื้อกระต่ายตาย กระต่ายตายแล้วเหนอ้มผั่นเน่านำ รู้เรื่องไหม ไม่รู้ (หัวเราะ) ฟานกินมะขามป้อม ฟานคือสัตว์อยู่ในนี้ .กินหมากอยู่ ลงจากหอไตรมา มีต้นมะขามป้อม มันกินมะขามป้อมอยู่ ...ไปคาคอมั่ง มั่งใช่กวางนะ เป็นกวางที่ไม่มีเขา เรียกว่ามั่ง ...ไปคาคอมั่ง มั่งมันไม่ขี้ ไม่ถ่ายเลย ... กระต่ายตายแล้ว แทนที่กระต่ายมันจะเน่า ... มันมีกลิ่นหอม แต่มันจะเน่าอยู่แล้ว ทำไม ตอนนี้ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ตอนนี้ทำไม 4 ตัวทำไมจึงเป็นอย่างนี้ หา! รู้เรื่องไหม (หัวเราะ) ภาษาอีสาน
ฟานกินมะขามป้อม ถ้าจะเปรียบเทียบ เหมือนเราเนี่ย เป็นลูกของพ่อของแม่ ไปทำชั่ว ไปเจ็บใจใครหา! ถ้าลูกทำความชั่วใครเป็นคนทุกข์ พ่อแม่เป็นคนทุกข์ ไปคาที่ไหนล่ะ ตัวลูกเป็นคนทำ ไปคากับใคร หา! ไปคาอยู่กับพ่อแม่ คิด ทุกข์ใด ๆ ไม่ทรมานจิตใจพ่อแม่เท่ากับลูกประพฤติชั่วเสียหาย แม่นบ่ ผู้มีลูกมีเต้า คาไหม คาคอไหม ลูกเป็นคนชั่ว คาคอนั่นแล้ว ทุกข์ใด ๆ ไม่ทรมานจิตใจพ่อแม่ เท่ากับลูกประพฤติชั่วเสียหาย ทุกข์ใด ๆ ไม่ทำร้ายจิตใจของสามีภรรยา เท่ากับสามีภรรยาเป็นคนชั่วเสียหาย อะไรก็ตามต้องเป็นอย่างนี้ในโลกนี้ ฟานบ่ขี้สามมื้อกระต่ายตาย กวางตัวนั้น ถ้ามันไม่ขี้ออก มันกินแล้วมันต้องขี้ มันทำชั่วแล้วมันต้องละ อย่าไปทำอีกต่อไป ยอมรับ เอาล่ะพ่อจ๋าแม่จ๋า ลูกชายลูกสาวของพ่อของแม่คนนี้ จะไม่ชั่วอีกต่อไป อย่างนี้ ถ้าไม่ขี้ออกก็ตาย กระต่ายก็หมู่ญาติทั้งหลาย กระทบกระเทือนไปหมด เสมือนว่าจิ้งจกตัวหนึ่ง ไต่ลงไปในโอ่งน้ำ โอ่งน้ำใหญ่ ๆ แท็งก์น้ำใหญ่ ๆ จิ้งจกตัวเล็กแค่นี้ ไปแช่อยู่ในน้ำ มันตาย น้ำในโอ่งในแท็งก์ก็เน่าไปเลย ตระกูลนั้นเน่าไปเลย เสียหายไปเลย เป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลาย แม่นบ่ บางทีมีประวัติด้วย เขาสอบประวัติ มันมีอะไร คนตระกูลนี้ ก็มีเป็นอย่างนั้นมา อย่างตำรวจสอบสวนอยู่ คดีต่าง ๆ แล้วก็ อย่างหลวงตาพาผีบ้าไปรักษาไอ้หมายเนี่ย ก็สอบประวัติ เราก็รู้ประวัติเขา เขาว่ามีแต่เห็นแต่น้องชายมันก็เหมือนเนี่ยตระกูลเนี่ย เรียกว่าบ้าเลือด (หัวเราะ) รักษาไม่ได้ (หัวเราะ) บ้าที่มันเป็นประสาทเนี่ยรักษาได้อยู่ ใครเป็นโรคประสาทเอามานี่ เอามาสุคะโตนี่ (หัวเราะ) แต่บ้าเลือดรักษาไม่ได้ เช่น ไอ้หมายไอ้หลายอยู่นี่ ... ตระกูลมันเป็นสายเลือด เราเนี่ยจะตัดออกไปเลย สิ้นกรรมไปเลย ให้มั่นใจ
อย่างตระกูลของลัทธิ ของกษัตริย์สุทโธทนะ เขาก็มีการถือกัน หลายอย่าง สิทธัตถะปฏิวัติเลย ปฏิวัติในวรรณะต่าง ๆ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร สิทธัตถะพอมาเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เอ้า! กษัตริย์ก็ตายเป็น พราหมณ์ก็ตายเป็น แพทย์ก็ตายเป็น จัณฑาล ศูทร ก็ตายเป็น มันเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ปฏิวัติ ออกบวช กษัตริย์เขาจะเกล้าผม สิทธัตถะโกนผมทิ้งเลย (หัวเราะ) เคยใส่ชฎา เคยใส่เกือกแก้ว ถอดทิ้ง ห่มผ้าสีฝาด ปฏิวัติเลย ขอกิน จนพระเจ้าสุทโธทนะโกรธ อายคนทั้งโลกเลย ขอร้องไม่ให้อุ้มบาตรขอทาน มันจะเป็นจัณฑาลไป ปฏิวัติแล้ว
เรานี่ปฏิวัติ ยกนิ้ว เราเนี่ย! ลูกพ่อนี้แม่นี้ เราละคนหนึ่ง ให้คิดอย่างนี้กัน รับผิดชอบ เชิดชู ตระกูลของเราให้ดี เหมือนดอกมะลิ ดอกเดียวใช้ได้ เวลาแช่น้ำนี่ หอมไหม น้ำหอมไหม หอมไปเลย เนี่ย! เราเปรียบเทียบกัน กระต่ายก็เน่าไป กระต่ายตายแล้วเห็นรูปเน่า ตายจากความดี ก็เน่าไปเลย
เหมือนคนอินเดีย คนอินเดียเนี่ย ผู้หญิงต้องไปแต่งผู้ชายนะ ผู้ชายนี่ ต้องสงบเสงี่ยมมากที่สุดเลย พ่อแม่ต้องดูแลรักษาอย่างดี แล้วก็มีตระกูลด้วย ถ้าตระกูลนี้มีสาว ๆ ไปแต่งเอา เขาก็ดูสิ่งแวดล้อม ถ้าหญิงสาวคนไหนได้สามีที่ดี เขาจะโชว์ท้องหน่อย ๆ เห็นเขาใส่ชุดส่าหรีไหม โชว์ท้อง ถ้ามีก้อนเนื้อ...โชว์ไว้ ให้มีความสมบูรณ์พูนสุข มีความสุข มีอยู่มีกิน ไม่อดไม่อยาก แสดงว่าถ้าหญิงใดมีสามีแล้ว จะรู้สึกว่าอ้วนท้วนสมบูรณ์ สามีเขาดูแลรักษาดี ตระกูลนั้น ถ้าเขาดูผู้หญิงภรรยาของตระกูลนั้น มีลูกชายกี่คน จะไปขอมาหมดเลย ...หวังพึ่ง (หัวเราะ) อีกอันหนึ่ง สามีคนใดที่ออกจากบ้าน ไม่มีห่อข้าว ไม่มีน้ำไปกิน แสดงว่าตระกูลของหญิงคนนั้นไม่ดี ดูแลสามีไม่ดี (หัวเราะ) ก็ไม่มีใครต้องการ มาขอเขาก็ไม่เอา เขาดูไป เขาดูไปถึงพงศ์เผ่าเหล่ากอ ถ้าสามีคนใดออกจากบ้านไป ไม่มีห่อข้าว ไม่มีข้าวกิน แสดงว่าภรรยาไม่เอาไหนเลย เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ทำหน้าที่อะไรเลย นี่เขาก็ดูไป ... ตระกูลที่ดีก็หอมไปเหมือนดอกมะลิ ตระกูลใดที่ไม่ดีก็เหม็นไป เหมือนซากจิ้งจกลอยอยู่ในคูน้ำ ฟานกินหมากขามป้อม อันนี้คำโบราณท่าน ท่านพูดอะไรไม่รู้ แต่ว่าเรามาปริศนา มาปริทัศน์ ลองดู มันก็ได้ความอย่างนี้ แน่นอนที่สุดเลย แล้ววันนี้ก็ไม่อยู่คนเดียว อยู่ร่วมกัน เราอยู่ในอาวาสนี้ ๓ เดือน ไม่ใช่ ๓ เดือนเลย ตลอดชีวิต อย่างหลวงตาอยู่กับหลวงพ่อเทียน 40 กว่าปี ยังเป็นสัญญาลึก ๆ ในหัวใจเรา เป็นภาพที่เรายกมือไหว้ตัวเองได้ บางโอกาส เดินจงกรมใต้ต้นข่าขี้หมู ต้นข่าขี้หมูต้นเย็น ๆ เดินจงกรมกลับไปกลับมา มีการเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา นอกจากนั้นก็ไปนั่งทำความเพียรอยู่กุฏิหลังหนึ่ง ทิศเหนือของกุฏิหลวงพ่อเทียนไป กุฏิหลังนั้นน่ะ เอาหีบศพมาปูนอน เอามาเป็นฝา เวลาเขาเอาหีบศพมาเผา ไปขอเขา กระดานหีบศพไปขอเขา กระดาษที่เขาติดไว้ ลาย ๆ เลย ไม่แกะออกเลยมาตีฝา เจอกุฏิหลังนั้น ไม้พื้นก็เอาหีบศพมาปูนอน เขาก็ทำแปลก ๆ นะ ถ้าไม่คิดอะไร เปลี่ยนแปลงซะ กุฏิหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าไปทำความเพียรแล้ว ทำให้มีสัญญาเล็ก ๆ อยู่ เดี๋ยวนี้ป่าพุทธญาณกลายเป็นราชภัฎเมืองเลย แล้วก็ยกมาสร้างใหม่ แล้วก็มีสัญญากับหลวงพ่อเทียน 40 กว่าปี สัญญานี้ยังไปอยู่กับเรา ตามมาถึงโรงพยาบาลจุฬา ตอนเราใจจะขาดหายใจไม่ได้ เรามีสัญญากับหลวงพ่อเทียน มันไม่ใช่อยู่ร่วมกันเพียงแค่ ๓ เดือนนะ เราอยู่กันไปเลย