แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน ให้ได้ยินได้ฟังเรื่องที่เราทำ เรื่องที่เราทำเราได้ยินมา เราก็ทำตามสิ่งที่เราได้ยินมาเรียกว่าปฏิบัติธรรม ปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ ชีวิตของเรามีภาระ เราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว เพราะต้องเกิดแก่เจ็บตาย สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นภาระต่อชีวิตเรา เราต้องใช้ชีวิตเราเพื่อให้รู้แจ้งในเรื่องนี้ มันคืออะไรกัน เราได้ชีวิตได้ร่างกายจิตใจซึ่งเป็นรูปธรรมนามธรรม มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป มันเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วหายไป มีแล้วหายไป ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ควรถือว่าเราว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้าหายใจออก เมื่อหายใจไม่เข้าหายใจไม่ออกมันก็หมดแล้ว ชีวิตเหมือนน้ำค้างอยู่บนยอดหญ้า มันนิดหน่อย เหมือนกับเรามีพ่วงมีแพเพื่อขี่ข้ามฟาก เรียกว่ารูปธรรมนามธรรมเป็นมหาภูตรูป เป็นรูปที่เราต้องอาศัยเพื่อข้ามฟาก เพื่อละความชั่ว เพื่อทำความดี เพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ใช้ให้ถูกต้องก็เป็นโทษเป็นภัยต่อเราและคนอื่น เพราะชีวิตของมนุษย์มีมันสมอง ถ้าพยาบาทโทสะโมหะก็ร้ายกาจทำลายตัวเองได้ ทำลายคนอื่นได้ ให้ฉิบหายวายวอดได้ ทำลายได้ทุกอย่าง ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เมื่อมีภัยแก่ตัวเองและคนอื่นเราจึงมาทำให้แจ้งเรื่องนี้ ให้มันเป็นสังขารเกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป อันสังขารที่มันเป็นอย่างนี้มันก็เปลี่ยนได้เปลี่ยนเป็นวิสังขาร เรียกว่าปฏิบัติได้ ธรรมะคือปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงตามความเป็นเท็จเป็นจริงยังไง ควรน้อมมาใส่ตัว ควรชวนคนอื่นมาดู พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาของเราประกาศอยู่อย่างนี้ ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันวิจิตรการดุจราชรถที่คนเขลาคนหลงพากันหมกอยู่ แต่ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่ มาดูโลก กายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้เป็นโลก มีรูปมีรสมีกลิ่นมีเสียงมีรสชาติ ในรูปก็มีรส ในเสียงก็มีรส ในกลิ่นมันก็มีรส ในรสก็มีรส ในกายก็มีรส ในใจก็มีรสชาติ เราต้องหาเลี้ยงรสตั้ง ๖ รส ตาก็กินอาหาร ใจก็กินอาหาร จมูกลิ้นกายใจกินอาหาร บางคนก็หาสิ่งมาป้อนอาหารให้ทั้ง ๖ อาหาร เพิ่งไปเห็น เคยนั่งรอรถโดยสาร ก็มีห้องอาหาร มีตู้เพลง คนไปนั่งกินอาหาร สั่งกินอาหาร ทางปากก็กินอาหาร ทางหูก็กินอาหารเปิดเพลงฟัง กายก็กระดุกกระดิกกระตุ๊กกระติ๊กสั่นขาสั่นแขนไปกับเสียงเพลง กินข้าวไปด้วย กินกอมๆ ผอมจ่อกก้อก กินเท่าไรก็ผอมก็มี นอกจากนั้นกิเลสตัณหากิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด โอ๊ย! เป็นภาระเหลือเกินเมื่อไรเราจะหมดภาระ เราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์นี้จะพึงปรากฏชัดแก่เรา เราก็ต้องอุทิศต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ปรินิพพานนานไปแล้วพระองค์นั้น เราก็ต้องมีศรัทธา มีความเพียร เดินตามรอยพระยุคลบาท พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรจึงเป็นพระพุทธเจ้า ทำไมจึงเป็นพระพุทธเจ้าแต่ก่อนก็เป็นสิทธัตถะเป็นสามัญชน พระองค์ก็ศึกษาเราก็ทำตาม อุทิศเรียกว่าทำตาม อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรมคืออย่างไร ในพระสูตรก็มีแต่บอกว่าการคู้แขนเข้าการเหยียดแขนออกให้มีสติ เดินไปข้างหน้ามีสติ จะฉันข้าวมีสติ การหายใจเข้าหายใจออกมีสติ เรามีใครฝึกเรื่องนี้แล้วหรือยัง เราเดินมาเท่าไรฟรีทั้งหมด หายใจเข้าหายใจออกฟรีทั้งหมดไม่รู้สึกตัวเลย เราจึงมาหัดกันซะ ให้ประสบการณ์ สัมผัสดู เอากายมาตั้งไว้ที่ความรู้สึก ยกมือไปเคลื่อนมือมาให้รู้สึกตัว อย่าให้มันเคลื่อนไหวฟรี มีเจตนา เจตนาให้มันรู้ไปในกาย กายไม่มีอยู่จริง ให้มันรู้มันก็รู้ได้ ถ้าไม่รู้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนความหลงก็มาครอง เราแสดงออกทางกายมีความหลงความรู้ แม้แต่ใจที่มันคิดก็อย่าให้มันคิดแบบหลง อะไรมาสั่งให้คิด สังขารทั้งหลายสั่งให้คิดปรุงแต่งไป นั่งอยู่นี้มันคิดไปไหน นอนอยู่นี้มันคิดไปไหน มันอยู่กับเนื้อกับตัวไหม เคยฝึกฝนตนเองไหม ปฏิบัติคือกลับมาอยู่กับตัวเอง เรียกว่าปฏิบัติ สอนเวลามันหลงคิดไป คิดนั้นมี ๒ ลักษณะ คิดที่ได้ตั้งใจคิด อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง คิดที่ไม่ได้ตั้งใจ ไม่อยากคิดมันก็คิดมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรียกว่าสังขารมันปรุง มันอยู่นิ่งไม่เป็น ถ้าเราไม่หัดมันก็ซุกซนมาก สำส่อนโสเภณี จิตใจก็เป็นโสเภณีจิต สำส่อนคิดอะไรก็ได้ กายก็เป็นโสเภณีกาย สำส่อนรับอะไรทั้งหมด กินเหล้า สูบบุหรี่ อะไรต่างๆสารพัดอย่างจนมีโรคมีภัยเกิดขึ้น เพราะมันสำส่อนในกายในใจ มีกายก็พึ่งไม่ได้ มีใจก็พึ่งไม่ได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นภาระหรือเปล่า ทำไมต้องมาปฏิบัติธรรม เพราะเราไม่ได้มองตัวเองก็ประมาทมาก เวลาเรามาดูมีสตินี้ โอ๊ย! มันหลงมามากเหลือเกินกว่าจะรู้ มากำหนดมือเคลื่อนไหวไปมานี้มันก็พอสมควร ทวนกระแสมันเคยไหล จิตใจของเรามันเคยไหล กายมันเคยไหล บางคนติดบุหรี่มา ให้มาสร้างจังหวะไม่ให้สูบบุหรี่ เวลามันหิวขึ้นมาก็คว้าหน้าคว้าหลังลืมจังหวะไป มันคว้าไป นั่งอยู่ด้วยกัน “อ้าว! ทำไมละ” โอ๊ย! ‘มันหิวบุหรี่” มันคิดว่าจะไปเอาบุหรี่มาสูบ เอามือมันไป มันก็ปรุงแต่งไปทั้งกายทั้งใจไปด้วยกัน สั่งให้อำนาจ สั่งให้สูบบุหรี่ก็เอาบุหรี่มาคาบที่ปาก เอาไม้ขีดมาจุด ให้ดูดควันไป คนกินหมากก็เคี้ยวหมาก เคี้ยวตลอดเวลาไม่อยู่เฉยๆ ใช้กายผิดประเภทใช้ใจผิดประเภทไปเป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคตับเป็นโรคอะไรต่างๆสารพัดอย่าง
เรามาปฏิบัติดูสิ สัมผัสดู สัมผัสดูกับกาย เอาสติมาต่อไว้กับกาย หัดให้กายมีสติ ยกมือเคลื่อนไหวไปมามันก็ติดได้ มันเป็นการท่องจำ เหมือนกับเลนส์ชีวิตเรา ไปถ่ายเอาความรู้สึกตัวกาย จิตใจไปถ่ายเอาความรู้สึกตัว เวลามันคิดรู้สึกตัว สอนใจ เวลากายเคลื่อนไหวรู้สึกตัว สอนกาย มันก็อยู่ตรงนี้ กายถูกสอนจิตใจถูกสอนบ่อยๆ รู้สึกตัวบ่อยๆ มันก็เป็นได้ มันก็ติดได้ ปฏิบัติได้สัมผัสได้ทุกคน ความรู้สึกตัวที่เรากำหนดรู้อยู่นี้ นี่แหละคือการศึกษาเบื้องต้นของพุทธศาสนาเราเกิดขึ้นที่ตรงนี้ มีสติ สติตั้งแต่อยู่กับพระพุทธเจ้ากับสติที่เกิดอยู่กับเราอันเดียวกัน ตั้งต้นจากที่นี่ไม่ได้ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่ใด เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา เอาสติเป็นนักศึกษา ดูไป เห็นไป ดูไป ดูไป รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ จังหวะหนึ่งรู้ทีหนึ่ง ยกมือทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง ๑๔ จังหวะ ๑๔ รู้ รู้กลับไป รู้กลับมา ชั่วโมงหนึ่งถ้ารู้ทุกจังหวะ ก็วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง ชั่วโมงหนึ่ง ๓๖๕ วินาทีก็รู้ตั้ง ๓๖๐๐ วินาที ๓๖๐๐ ครั้ง มันปฏิบัติได้ มันทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ อันสติที่อยู่กับพระสงฆ์นี้ก็อันเดียวกับสติที่อยู่กับฆราวาสญาติโยม อันเดียวกัน ความรู้สึกตัวในลักษณะนี้ไม่มีกาล ไม่มีเวลา อยากรู้เมื่อใดไม่มีกลางค่ำกลางคืน ไม่มีความเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนเฒ่าคนแก่ เพศ ลัทธินิกายใดๆทั้งสิ้น เป็นสากล ความรู้สึกตัวนี้ ของจริงต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอย่าง พิสูจน์กัน มาพิสูจน์นี้เรียกว่าปฏิบัติทดลองดูเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นทฤษฎีที่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องไปเรียนทฤษฎี เมืองใดประเทศใด ถ้าจะศึกษาเรื่องธรรมะชีวิตที่เป็นการหลุดพ้นเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขารคือกายใจนี้ ให้ทำ ให้ดู ทำแบบดูอย่าไปทำแบบอยู่ เหมือนเรามีตาดูให้เห็นกับตาเรา ได้ยินทางหูเรายังไม่เอา ให้เห็นกับตา หลวงตาพูดนี้เป็นการได้ยินทางหู เมื่อเราได้เห็นได้เป็นผู้ดูมันก็เห็นกับตาใน ไม่ใช่ตาเนื้อ ฝึกหัดลองดู พิสูจน์ลองดู ๕ วัน ๗ วัน ถ้าผู้ที่ตั้งใจจริงมีสติต่อเนื่อง พระพุทธเจ้าท้าทายไว้ ถ้าผู้มีสติต่อเนื่องจริงๆ ๑ วัน - ๗ วันมีอานิสงค์เกิดขึ้นแน่นอน อย่างกลาง ๑ เดือน - ๗ เดือน อย่างช้าที่สุด ๑ ปี – ๗ ปี
เรามีใครบ้างที่พิสูจน์เรื่องนี้ มันอยู่ที่ใด มันก็อยู่ที่เรานี้กายอยู่นี่ใจอยู่นี่ มันก็หลงอยู่นี่ มันก็รู้อยู่นี่ เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ก็ทำได้อยู่นี่ ไม่ต้องไปเชื่อใคร ไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ คนอื่นตอบให้ไม่ได้ เวลาเราหลงเราไปถามใครไหม “ผมหลงไหม หลวงตา” “หนูหลงไหม หลวงตา” ไม่มีคำถาม เวลาหลงเราก็รู้ รู้ว่ามันหลง เวลาเรารู้สึกตัวความหลงหมดไปหรือเปล่า เราก็ไม่ต้องไปถามใคร เวลารู้สึกตัวนี้เราต้องไปขอใคร มันก็อยู่กับเรา เวลามันหลงก็ยกมือสร้างจังหวะดูสิ มันคิดตรงโน่น รู้สึกตัว อาศัยนิมิต เกาะไว้ถ้ายังไม่เก่ง ฝึกใหม่ๆ อาศัยกายเป็นนิมิต ไม่ใช่ไปท่องจำ นึกรู้เอา นึกรู้เอา ไม่ใช่ ถ้านึกรู้เอาเป็นจินตญาณไป ใครก็รู้ได้แต่ไม่สัมผัสได้ด้วยชีวิตจิตใจจริงๆ จะบอกก็ได้สติมันคืออะไร สัมปชัญญะคืออะไร หลวงตาก็เรียนมาตั้งแต่เป็นสามเณร สอบได้นักธรรมชั้นตรี ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง ๑) สติ ความระลึกได้ ๒) สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ท่องได้ อุปการะคืออะไร คือพ่อคือแม่ของชีวิต อุปการคุณ ไม่ใช่ท่องจำแบบนั้น สติจริงๆ มันต้องมีอยู่ที่กาย เอากายไปต่อเอาไปจุ่มเอาให้มันติดอยู่ที่จิตใจ ให้มันติด ลองดูสิ เดี๋ยวนี้กายกับจิตใจอะไรเป็นเจ้าของ ความหลงเป็นเจ้าของมากกว่าความรู้สึกตัว จึงเพียรพยายามให้มันรู้มากๆขึ้นดู รู้ มันหลง-รู้ มีแต่สภาวะที่หลง มีแต่สภาวะที่รู้ เท่านี้ไม่มาก ไม่เหมือนจับปูใส่กระด้งดังที่เขาสอนกัน เวลามันหลง รู้สึกตัว ความหลงแท้ๆ เป็นเหตุให้รู้สึกตัวได้ ไม่ต้องไปหาเหตุปัจจัยอะไรที่ใดมาแก้ไข หาทฤษฎีที่ใดมาแก้ เวลามันหลง รู้ ได้ความรู้จากความหลง ได้ความรู้จากความทุกข์ ได้ความรู้จากความโกรธ ถ้าเราศึกษาเรื่องนี้มันก็ตรงกันข้ามพอดี แต่ก่อนหลงเป็นหลง ทุกข์เป็นทุกข์ โกรธก็เป็นโกรธ ความหลงสร้างความหลงเรื่อยไป ความทุกข์สร้างความทุกข์เรื่อยไป ความโกรธสร้างความโกรธเรื่อยไป จนเคยชินจนเป็นจริตนิสัย โทสะจริต ราคะจริต โมหะจริต เป็นเจ้าเรือน ง่าย ง่ายที่จะหลง บัดนี้ให้มันง่ายที่จะรู้ ฝึกใหม่ ๆ มันง่ายที่จะหลงนะ พอทำไป ทำไป มันง่ายที่จะรู้ มันก็เป็นไปได้อย่างนี้ อยากให้มันหลง ท้าทายเลย ทำให้เป็นนะ เวลามันหลง รู้ เบื้องต้นก็อาศัยกายเคลื่อนไหวเพื่อเป็นที่ตั้งเป็นนิมิตเกาะไว้ เหมือนเราเดินไต่สะพานมีราวจับก็จับไว้ก่อน หรือเหมือนเราเขียนหนังสือมีเส้นบรรทัดถ้ายังไม่เก่ง ถ้าเก่งแล้วไม่ต้องมีเส้นบรรทัด เดินไต่สะพานไม่ต้องอาศัยราวถ้าเก่งแล้ว
แต่ก่อนสะพานข้ามสระวัดป่าสุคะโตเป็นไม้ท่อนเดียวพาดไป ไต่ไม้ท่อนเดียว ถ้าคนไม่เคยเดินก็เกาะราวไป เกาะราวไป ถ้าคนเคยเดินก็ฉับๆไปเลย เดินให้คนดูได้ สมัยก่อนคนที่ไม่เคยไต่มันก็ตกสะพาน มีหมอคนหนึ่งจากจังหวัดสมุทรสาครมาอยู่ด้วย ตกสะพานลงไป ตอนนั้นเป็นขี้โคลน ยืนลงไปในขี้โคลน เราก็ลงไปเอาขึ้นมา ต่อมาเราก็เลยทำเป็นสะพานแบบนี้ คนทั้งหลายจึงเหมือนเราหมด นี่ก็คือรูปแบบของการฝึกกรรมฐานเบื้องต้น ต้องยกมือสร้างจังหวะ เหมือนเราไปเรียนหนังสือ ก ไก่ อยู่กระดาษ ดู ก ไก่ ข ไข่ แล้วก็มาหัดเขียน หัดท่องให้ติดปาก ดู ก ไก่ แล้วติดตา ก ไก่ ตัวอักษรทุกภาษาอยู่ในเลนส์ของชีวิตเรา มันก็บันทึกเหมือนคอมพิวเตอร์ได้ อันบันทึกความทุกข์ก็ติดความทุกข์ บันทึกความไม่ทุกข์ก็ติดความไม่ทุกข์ได้ เก็บข้อมูลให้เป็น ต้องมีสติเก็บข้อมูล รู้เอา รู้เอา รู้เอา ความรู้ที่มีที่อยู่ในกายในใจมันไม่ใช่ความรู้ธรรมดา เป็นปัญญา ปัญหากลายเป็นปัญญาได้ นี่คือของจริง ปุถุชนกลายเป็นพระอริยบุคคลได้ ธรรมะไม่ใช่เป็นการท่องจำหรือเป็นพิธีรีตอง ให้สัมผัสเอาจริงๆ เมื่อสัมผัสรู้มากๆ มันไม่ใช่อยู่ที่ตัวรู้อันเดียว เป็นญาณ เป็นปัญญา ในที่สุดเหนือการเกิดแก่เจ็บตาย เห็นหมด กายใจของเรา อะไรที่มันเกิดกับกายกับใจ รู้แจ้ง ล่วงพ้นภาวะเก่าไปเลย นี่คือกรรมฐาน ที่ตั้งของการกระทำจนเกิดวิปัสสนาญาณพ้นภาวะเดิมๆ ความหลงกลายเป็นความรู้ เป็นปัญญา ปัญหากลายเป็นปัญญาเรียกว่าพ้น ความทุกข์กลายเป็นความไม่ทุกข์ ความเกิดแก่เจ็บตายเป็นความไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย ที่สุดของการศึกษา เราจะต้องเกิดแก่เจ็บตาย เราจะต้องไปร้องไห้อยู่ตรงนั้นเหรอ การปฏิบัติกรรมฐานไม่ใช่ทำเป็นพิธี นั่งหลับหูหลับตา หนีผู้หนีคน มันต้องช่วยคน คนเจ็บเราจะไปสอนเขาอย่างไรคนเจ็บ เมื่อมีเจ็บก็ต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีแก่ก็ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีตายก็ต้องมีไม่ตาย นี่คือชีวิตเราเป็นสัตว์ประเสริฐอย่างนี้ เราต้องไปยอมรับ ไปร้องไห้ คอยเป็นทุกข์ เอาทุกข์บ้างเอาสุขบ้าง มันไม่ใช่ชีวิตตรงนั้น ชีวิตไม่ใช่รับใช้ความสุขความทุกข์ ชีวิตมันต้องเหนือสุขเหนือทุกข์จึงจะเป็นชีวิต ถ้ายังสุขยังทุกข์อยู่ไม่ใช่ชีวิตเลย เป็นชีวิตที่เสาหลักปักขี้โคลน มันก็ไม่ยั่งยืน เราจะต้องฝึกหัด
เราก็ขอรับผิดชอบตรงนี้ เป็นเพื่อนเป็นมิตร แต่ช่วยไม่ได้ต้องทำเอาเอง รู้สึกตัวก็รู้เอง ท่านหลงก็หลงเอง ท่านรู้ท่านก็รู้เอง ท่านสุขท่านก็สุขเอง ท่านทุกข์ท่านก็ทุกข์เอง ท่านไม่สุขไม่ทุกข์ท่านก็ทำเอาเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอกส่วนการทำเป็นหน้าที่ของเรา ทุกชีวิตเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกตัวอันนี้มันเป็นของใคร เป็นของผู้รู้ ใครรู้ก็เป็นของคนนั้น ไม่ใช่เป็นของพระพุทธเจ้า ไม่หนีไปไหน อยู่กับเรา แม้พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานไปนานแล้วก็ไม่ใช่เอามรรคปรินิพพานหนีไป มันอยู่กับชีวิตทุกชีวิตเลยทีเดียว เราจึงไม่ควรประมาท อย่ารอให้เฒ่าให้แก่ ตื่นแต่ดึกสึกแต่หนุ่ม ถ้ายังหลงอยู่ ยังทุกข์อยู่ ยังโกรธอยู่ ถือว่าล้าสมัยที่สุด ทุกวันนี้ชีวิตเขาฝึกฝนกันมามากแล้ว คนโกรธ คนทุกข์ คนโลภ คนหลง ถือว่าเป็นคนล้าสมัย เดี๋ยวนี้เขาไม่ทุกข์ ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลงกันแล้ว จิตใจบริสุทธิ์แล้ว นี่คือสุดยอดของชีวิต เรามีอะไรที่เราพึ่งพาอาศัยได้ ความร้ายความดีฟูๆแฟ่บๆ จิตใจเรา การบรรลุธรรมอยู่ที่ใด อยู่ที่กายที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่สุคะโต อยู่ที่ถ้ำ ที่ผา ที่สำนักลัทธินิกายใด ไม่มีลัทธิ ไม่มีนิกาย ไม่มีเพศมีวัย ไม่มีกาลเวลา เพราะมันอยู่ต่อหน้าเรานี้ กายมันละความชั่วก็ละได้ ใจมันละความชั่วก็ละได้ กายให้มันทำความดีก็ทำได้ กายทำความชั่วก็ทำได้ กรรมฐานเป็นวิชาศักดิ์สิทธิ์ มันก็รู้ได้จริงๆ ไม่มีใครยกมือขึ้นไม่รู้ รู้ได้ทุกคน เว้นแต่คนใบ้บ้าอันนั้นรู้ยาก บางคนก็หลงมากจนเรากู่ไม่กลับเลย เคยไปสอนคนแก่เศรษฐีคนหนึ่งอยู่แถวมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ลูกสาวเขามาเอาไปสอนแม่ แม่เขาร่ำรวยมากแต่ว่าหลงมาก เงินให้ไปสร้างกฐินไปทอดผ้าป่าวัดโน้นวัดนี้เท่านี้ล้านเท่านั้นล้านก็ทำยังไม่เสร็จ ไปหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ให้ไปแล้ว ๑๕ ล้านก็ยังไม่เสร็จ บ่นอยู่ เดี๋ยวก็มาเอาไปอีก ว่าจะเสร็จก็ให้ไปไม่เสร็จสักที เวลาหลวงตาพูดเขาเอามือจับตะกร้ามาลูบๆคลำๆ เอามือมาวางไว้ หลวงตาพูดเท่าไร เขาพูดเรื่องนี้เรื่องทำบุญเรื่องทำทานเท่านั้นล้านเท่านี้ล้านไป กู่เท่าไรก็เรียกไม่กลับเลย ร้องไปโน่น ไหลไปโน่น เวลามันเฒ่ามันแก่มา มันติดอะไร บางทีก็น่าสงสารลูกหลานเอาโซ่ล่ามไว้ ไม่มีสติสตางค์อะไร มือไปคว้าอะไรก็เอาเคี้ยวกิน อยู่นิ่งไม่เป็น ต้องโน่นต้องนี่ อยู่หนองบัวแดงไปดูมาแล้ว อ๋อ! มีปล่องก็แกะๆ ต้องราดปูนให้อยู่ แกะปูนมันแกะไม่ได้ ถ้ามีปล่องแกะไปแกะมามันก็แกะได้นะกระดานนี้ เสร็จแล้วก็เอามาเคี้ยว นี่ความแก่ของคน แก่ไม่เป็น ความหลงไม่เคยรู้ ปล่อยไปไหลไป
มีบ้างไหมเราเวลานอนเอาเรื่องมาคิดจนนอนไม่หลับ ไหลไป นอนอยู่นี่แต่ใจมันไหลไป ไหลไปกับความหลง คิดไปกับความหลง พอหลับไปก็ฝันทั้งคืนเลย ๘ ชั่วโมงนอนไม่อิ่มเลยมัวแต่ฝัน มัวแต่คิด สิ้นเปลืองพลังงาน เราจะหัดเราไหมหรือจะปล่อยให้ตัวเราเป็นเช่นนั้น ความหลงมันไม่ใช่อยู่เหมือนเดิม มันหลงไปมากนะ ความโกรธก็ไม่ใช่เหมือนเดิม โกรธไปมากขึ้นๆ เป็นนิสัยเป็นจริตไปเลยก็มี เราจึงฝึกฝนตนเอง ยิ่งเราไม่ใช่อยู่คนเดียว ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์สังคม มีลูกมีเต้า มีพ่อมีแม่ มีปู่ย่าตายาย บุตร ภรรยา สามี ทำยังไงพวกเราจะอยู่ด้วยกันอย่างสงบร่มเย็นตามแบบพุทธศาสนา ตายก็ตายอย่างมีความสุข ความสุขนี้สุขอะไร สุขที่ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เกิดจากการฝึกหัดกรรมฐานนี้ อย่าปฏิเสธกันเถอะ ขอมีส่วนร่วมในเรื่องนี้กัน เราปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้เลยชีวิตของเรา ๔๐ กว่าปีกับหลวงปู่เทียน สอนให้เรามารู้เรื่องชีวิต โอ๊ย! เป็นพ่อของเราคนที่สอง แม่ของเราพ่อของเราไม่เคยสอนให้เรามายกมือให้รู้จักรูปธรรมนามธรรม หลวงพ่อเทียนสอนให้เรามารู้จักรูปธรรมนามธรรม รูปมันทำชั่ว นามมันทำชั่ว รูปมันทำดี นามมันทำดี เรามีสตินี้ รู้สึกตัว รูปมันทำอะไร มันทำชั่ว มันทำดีไหม รู้สึกตัว รู้สึกตัว รูปมันทำดีอยู่ เมื่อมีสติก็ทำความดี เมื่อมีสติก็ละความชั่ว เมื่อมีสติจิตบริสุทธิ์ไปกันเป็นพวงเลยทำเท่านี้ มีสติอยู่ก็ถือว่าละความชั่วเป็นศีลแล้ว รักษาศีลแล้ว ทำบุญแล้ว มีสติก็ทำความดี มีสติเวลาใดมันคิดหลงไปรู้สึกตัว จิตบริสุทธิ์แล้ว พระพุทธศาสนาสรุปลงที่โอวาทปาติโมกข์ สอนให้ละความชั่ว สอนให้ทำความดี สอนให้จิตบริสุทธิ์ เมื่อตนเองทำได้แล้วก็ไปสอนคนอื่นให้รู้ตาม เรียกว่าสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่เรามีสติอยู่นี่ ใครไปผิดอะไร เวลามันคิดไปก็รู้สึกตัว ไม่ใช่ผิดศีลเลย รักษาศีลทำบุญ ใจมันก็จะดีขึ้นๆ จากเคยหลงก็จะรู้ เป็นบุญแล้ว บุญคือรู้ หลงคือบาป เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เรียกว่าฉลาดเป็นปัญญา มันหลงก็ทำให้รู้ มันทุกข์ก็ทำให้รู้ แต่ก่อนความทุกข์เป็นความทุกข์ เก่งไปมามาก เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด ทุกข์แท้ๆเป็นพระนิพพานเลย เราร้ายเปลี่ยนเป็นดีเรียกว่าปฏิบัติ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด มันก็ต่างกันอย่างนี้คนที่ฝึกกับคนที่ไม่ฝึก คนที่ไม่ฝึกความทุกข์ก็เป็นความทุกข์เรื่อยไป เอาความไม่เที่ยงมาเป็นทุกข์เรื่อยไป ร้องไห้เสียใจเพราะความไม่เที่ยง พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์ไปเลยคนไม่เคยฝึกหัด คนที่เคยฝึกหัดเป็นธรรมดา วาง เย็น วางเป็นเย็นได้ รู้จักปล่อยรู้จักวาง มันร้อน เย็น ในใจของเรามันเปลี่ยนได้ เวลามันทุกข์ไม่ทุกข์ได้ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ หัดเปลี่ยนอย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติ ต้องโต้ตอบทักท้วงดูแลตัวเราให้มันคุ้ม อย่าปล่อยปละละเลย มันมีอยู่ มันหลงก็มี มันทุกข์ก็มี มันโกรธก็มี มันโลภก็มี มันรักมันชังมีความสุขความทุกข์ แต่ความสุขความทุกข์ล้มเหลวอยู่เรื่อย เป็นสังขาร ความสุขก็เป็นสังขาร ความทุกข์เป็นสังขาร มันเกิดจากสังขาร สมมติเอาบัญญัติเอา บางคนได้ยินแล้วก็ว่าสุขเหมือนได้สูบบุหรี่ก็ว่าสุข มันบัญญัติเอา สมมติบัญญัติเอาเอง อดหลับอดนอนทั้งคืนก็ว่าสุข ไปเที่ยวสุขสนุกเกือบตายไม่ได้หลับได้นอนเลย ยังว่าความสุข นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนไม่เห็นดิน หนอนไม่เห็นคูถที่ดูดกิน ปุถุชนก็เป็นเช่นนี้ หลงก็เอา ไม่หลงก็หาเรื่องให้มันหลง กินเหล้าเมายาติดยาเสพติด ชอบความหลง ไม่รู้จักอาย ไม่ดีก็ชอบ เป็นได้
บางคนสมมติบัญญัติต่างกัน เมื่อสมมติบัญญัติเอาตามความเคยชินของตน ก็แย่งกับคนอื่น สำคัญว่าดีกว่าคนอื่น สำคัญว่าเลวกว่าคนอื่น เป็นทิฐิมานะไป ขัดแย้งกันไป ทะเลาะวิวาทกันไป เช่นบ้านเมืองเราเวลานี้สมมติบัญญัติจริงจังอะไรต่างๆ ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักเย็น อยู่ด้วยกันลำบาก ต่างทิฐิมานะ ลองมาเป็นอันเดียวกันดูสิมันจะเป็นยังไง เวลานี้เรานั่งอยู่ตรงนี้เกือบร้อยคนนะหรือเป็นร้อยคนทั้งพระทั้งโยมนะ ถ้าเรามีสติเป็นคนคนเดียวกันเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเรามีความหลงเป็นคนละคนกันเลย ต่างคนต่างหลงก็พึ่งกันได้ยาก ถ้าเรามีสติอยู่มันก็พึ่งกันได้ เคยสอนสามีภรรยาคู่หนึ่ง เวลาหลงก็เตือนกัน “เนี่ย เนี่ย หลงแล้วเนี่ย” จะด่าลูก “เออๆ หลงแล้ว หลงแล้ว กลับมา กลับมา” จากหน้าบูดหน้าบึ้งพอเตือนกันก็ยิ้มขึ้นมา โอ๊ย ข้อยหลงจริงๆนะ บางทีก็สอนกันในห้องนอน “คิดถึงลูกนอนไม่ค่อยหลับ” “อ้าว! คิดถึงลูกก็นอนให้มันหลับสิแม่ พอนอนไม่หลับมันก็ไม่ค่อยดี สุขภาพไม่ดี เดี๋ยวเจ็บป่วยลูกก็ยากลำบาก คิดถึงลูกต้องนอนให้มันหลับ” ไม่ใช่คิดหรือความคิด เอาความคิดมาเป็นความรัก ไม่ใช่ รักลูกก็คือรักตัวเราให้อยู่ในความสงบร่มเย็น รักภรรยาสามีเราก็ต้องเป็นคนดีต่อกันและกัน นี่คือความรัก ไม่ใช่ความรักในอาลัยอาวรณ์ ยึดมั่นถือมั่น เป็นทุกข์เป็นโทษ หลวงตาก็พูดให้ฟัง จะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องของเรา เวลานี้เรามาสร้างกุฏิ รูปมันกำลังทำดี รูปทำดี นามทำดี เรียกว่ารูปธรรมนามธรรม มันสำเร็จอย่างนี้ ถ้าไปทำชั่วก็เป็นคนชั่วไป มันก็ต่างกัน รูปแล้วแต่เราจะใช้มัน มันก็เป็นทาสของนาม นามป่าเถื่อนมันใช้รูปผิดประเภท เราจึงมาสอนตัวเองให้รู้อยู่ รู้อยู่สัก ๗ วันดู รู้ไปเรื่อยๆ ไป ขยันรู้เรียกว่าภาวนา ถ้าขยันหลงเรียกว่าสังขาร ปรุงแต่งเรื่อยไป