แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการศึกษาปฏิบัติ ซึ่งเรากำลังศึกษาอยู่ ให้ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งใดที่เคยฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็ให้เข้าใจได้ ทำลายความสงสัยให้หมดไป ทำความเห็นให้ถูกต้อง กับการศึกษาในสิ่งที่ยังไม่รู้แจ้งให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง แล้วมาศึกษาพระสูตรเรียกว่าสติปัฏฐานสูตร เป็นสูตรที่ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ ได้ประกาศพระธรรม จนเกิดเป็นหมู่สงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา มีวัดวาอาราม มีศาสนาเป็นพุทธศาสนามาถึงพวกเรา เรียกว่าสูตรสติปัฏฐานสูตรนี้ไปไกลจนปฏิเสธไม่ได้ สติปัฏฐานสูตรเป็นสูตรของชีวิตเรา ไม่ใช่สูตรนอกจากชีวิตเลย ชีวิตของเราก็มีกายมีใจ นอกจากกายจากใจแล้วยังไม่พอ มีอะไรเกิดอยู่ที่นี่ มีผิดมีถูก มีสุขมีทุกข์ มีอะไรอยู่ที่กายที่ใจนี่มากมายแปดหมื่นสี่พันเรื่อง เราจึงมาเรียนให้รู้แจ้งซะเรียกว่าปฏิบัติธรรม กรรมฐานภาวนา จึงมีการกระทำ จึงมีการฝึกหัด สอนตัวเอง ดูตัวเอง ดูแลตัวเอง รักษาตัวเอง แก้ไขตัวเอง ในสิ่งที่เราศึกษามันจะไม่ค่อยมีคำถาม มันจะมีแต่คำตอบ ทำให้เห็นไม่ใช่รู้ ทำให้เป็นไม่ใช่รู้ แล้วมันเห็น เป็นสูตรที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ ทุกคนมีกายมีใจ เมื่อศึกษาเมื่อฝึกหัดก็ต้องมีสติไปในกาย อย่างที่เราพูดกันทำกันอยู่ มันก็เป็นสูตรไป เมื่อเห็นกายมันก็จะได้คำตอบจากกาย กายเป็นตำรา สติเป็นนักศึกษา ได้คำตอบ สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกาย ตอบได้หมด รู้แจ้ง เกิดญาณ เกิดปัญญา เพราะเรื่องกาย สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับจิตใจก็รู้แจ้ง จึงเห็นเป็นคำพูด เป็นสูตรเป็นวิชาการว่ากายสักว่ากายเนี่ย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาเนี่ย เราก็ได้เรียนกันมาได้รู้กันมา เอาความรู้ที่เราได้เรียนมากระทำ จึงเรียกว่ากรรมฐาน คือที่ตั้ง ภาวนาคือทำให้มาก ให้รู้ให้มาก ความรู้สึกตัวนี่มันมีอยู่ แต่เมื่อไม่ประกอบมันก็ไม่มี เราจึงประกอบ สติเกิดขึ้นจากการประกอบ ถ้าไม่ประกอบมันก็ไม่มี อาจจะมีความหลง ความสุขความทุกข์ไปโน่น ความผิดความถูกไปโน่น ความผิดก็เป็นความผิดเรื่อยไป ความถูกก็เป็นความถูกเรื่อยไป ความทุกข์ก็เป็นความทุกข์เรื่อยไป ความโกรธก็เป็นความโกรธเรื่อยไป มันไม่จบไม่สิ้น เรียกว่าเรียนไม่จบ
อ่านไม่ออก ไม่ผ่าน ถ้ายังมีสุขมีทุกข์อยู่เรียกว่ายังไม่ผ่าน ยังมีโกรธมีโลภมีหลงอยู่ เรียกว่าเรียนยังไม่ผ่าน ยังไม่จบ ยังจะต้องเป็นปัญหาจากความหลงก็ไปไกล เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉานได้ เป็นสิ่งที่เกิดจากความหลงหนะ ชีวิตของเราไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน มันจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันเป็นไปได้ มันเป็นสี่แพร่ง ชีวิตของคนเรานี่ ทางสี่แพร่งไปสู่อบายภูมิทางหนึ่ง เปรต อสูรกาย สัตว์นรก เดรัจฉาน ไปสู่พรหมโลก ไปสู่มนุษย์ ไปสู่พรหมโลก ไปสู่มรรคผลไปโน่น เดี๋ยวนี้ถ้าเราจะดูตามสภาวะธรรมยังไม่เป็นมนุษย์ ยังเป็นคนอยู่ ถ้ายังเป็นคนอยู่ต้องศึกษา ถ้าเป็นมนุษย์แล้วก็พอที่จะอ่านออกเขียนได้ เป็นคนนี่มันปนเปกันหลายอย่าง มีความรักมีความชัง มีจิตใจฟูๆแฟบๆ คุ้มร้ายคุ้มดีเรียกว่าเป็นคน บางทีเรามีกายก็เอากายไปทำชั่ว เป็นโทษเพราะกาย มีใจก็เอาใจไปทำชั่ว เป็นโทษเพราะจิตใจ ยังพึ่งมันไม่ได้ คุ้มร้ายคุ้มดี ฟูๆแฟบๆ มีกาย กายมันใช้เรา มีใจ ใจมันใช้เรา เราไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งเลย เรียกว่าคนคุ้มร้ายคุ้มดี กลางคืนว่าฝัน กลางวันว่าคิด เรียกว่าคน มีใจก็ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร นี่คือคน ถ้าเราศึกษาไปก็เห็นความเป็นคน ตกใจขึ้นมา ตื่นขึ้นมาจากความเป็นคน เห็นความหลงเห็นความทุกข์ เห็นความโกรธ ไม่ใช่เป็นผู้โกรธ ไม่ใช่เป็นผู้หลง ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เห็นกายสักว่ากาย เห็นเสร็จแล้ว เห็นเวทนาสักว่าเวทนา เห็นจิตสักว่าจิต เห็นธรรมสักว่าธรรม แล้วก็เห็นรูปเห็นนามไปตามความเป็นจริง เห็นธรรมชาติของรูป เห็นธรรมชาติของนาม เห็นอาการของรูปเห็นอาการของนาม นั่นก็พอที่จะอ่านออกเขียนได้ เหมือนเราเรียนภาษาเรียนตัวอักษรเรียนวิชาการต่างๆ มันก็พอที่จะอ่านออกเขียนได้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เราได้เรียนมาตามสถาบันที่เรียนมา
สถาบันชีวิตของเราคือเนี่ย คือกายคือใจเนี่ย เห็นแจ้งทะลุตรงนี้ รู้ภายในตัวชีวิตเรานี่ คือกายคือใจเนี่ย จนเห็นรูปธรรมเห็นนามธรรม เห็นรูปทุกข์เห็นนามทุกข์ เห็นรูปโลกเห็นนามโลก ที่มันเกิดอยู่กับกายกับใจเนี่ย มันเป็นรูปเป็นนามเสียแล้ว ไม่ใช่เป็นดุ้นเป็นก้อน เป็นที่ย่อลงมา เหมือนเราเรียนจบศาสตร์ต่างๆ มันย่อลงมาไว้ในชีวิตเรา เราก็ใช้ได้ในศาสตร์นั้นๆ แสดงได้ ทำได้ ให้เห็นรูปเห็นนาม ก็ใช้รูปใช้นาม รูปมันบอก นามมันบอก อันนี้คือรูปธรรม คือนามธรรม เวลามันทำดี มันทำชั่ว เราก็ไม่ให้มันทำชั่ว ให้มันทำดี อันนี้ก็ใช้ได้ เหมือนกับเราใช้วิชาการเรียนรู้ เอาใช้ได้ รูปทุกข์นามทุกข์ สิ่งใดที่เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของรูปของนามก็ไม่ปนเปกับทุกข์ที่เป็นการปรุงแต่ง เรียกว่าทุกข์อริยสัจ สภาวะทุกข์ ทุกข์ตามธรรมชาติ มีร้อนมีหนาวมีปวด มีเมื่อย หายใจกินข้าวขับถ่าย อันนี้เป็นสภาวะทุกข์ต้องหายใจเข้าหายใจออก อันทุกข์ที่เป็นนิสสรณะทุกข์ อันทุกข์เนืองนิตย์คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกข์ที่เป็นทุกข์สามัญลักษณะนี่ เรียกว่าทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เสมอกันหมด อันทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยนั่น ไม่เหมือนกัน อันทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยนั้นจึงเห็นแจ้งละมันได้ หรือว่าเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเราจึงมาเห็นตัวนี้ รูปทุกข์นามทุกข์ รูปโลกนามโลก โลกที่มันเกิดโกรธเกิดหลง เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี เกิดทางนาม เกิดทางรูป เจ็บไข้ได้ป่วย เกิดทางนาม โกรธโลภหลง ทุกข์ วิตกกังวล รูปสมมติ นามสมมติ ก็มีอยู่ในรูปในนามนี้ ชื่อเสียงเรียงนาม ที่เป็นรูปสมมติ บางทีเราก็ไปยึดเอาสมมติว่าเป็นตัวเป็นตน ออกชื่อออกเสียง พอใจไม่พอใจ ชอบไม่ชอบ เพราะเอาสมมติชื่อเรา ไปพูดยกย่องสรรเสริญ เอาสมมติชื่อเราไปพูดนินทากล่าวร้าย คำพูดก็เป็นสมมติ บัญญัติมาพูดกัน ว่าพูดผิดพูดถูก มีตัวบทกฏหมายคุ้มครอง ผิดศีลผิดธรรมเพราะคำพูด ติดคุกติดตาราง เสียเงินเสียทองเพราะคำพูดได้ เพราะกายได้ มีโทษมีภัย สมมติบัญญัติ วัตถุอาการคือตามความเป็นจริง เห็นไปมันก็เป็นสูตรไป เมื่อเห็นอย่างนี้ก็กลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา รู้แจ้ง สิ่งที่ไม่เข้าใจ เข้าใจแล้ว สิ่งที่ยังไม่รู้ รู้แล้ว สิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง แจ้งขึ้นมาบ้างแล้ว เสิงสางแสงเงินแสงทองขึ้นมาบ้าง เห็นทิศเห็นทางบ้าง ไม่ลังเลสงสัย เมื่อเวลามันหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เวลามันโกรธ เปลี่ยนโกรธเป็นรู้ เวลามันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ นี่เราก็ศึกษาไปอย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติ
คนอื่นสอนเรา อย่าสูบบุหรี่หรือว่าอย่ากินเหล้า อย่าโกรธอย่าเบียดเบียนกันนะ แต่เรามาสอนตัวเอง เราก็ต้องไม่สูบบุหรี่แล้วก็ไม่ดื่มเหล้า เวลามันหลงเราต้องไม่หลง เวลามันโกรธเราต้องไม่โกรธ คนอื่นสอนเราเมื่อเวลาเราสอนเราต้องไม่เลยทีเดียว เปลี่ยนไปเลย มันมี เวลามันหลงมี เราต้องไม่หลง รู้สึกตัว ทำอย่างนี้ให้มันเป็น เวลามันหลง ไม่หลง หลงไปตามอะไร ไม่หลง รู้ตรงที่มันหลง เรียกว่าปฏิบัติธรรม ที่เรานั่งอยู่ มันหลง ในท่านั่งเป็นการปวดการเมื่อย มันคิดขึ้นมา เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะการนั่งการเดินยืน นั่งนอนมันปวดมันเมื่อย เอาอาการต่างๆ มาเป็นตัวเป็นตน ถ้ายังไม่เห็นรูปเห็นนามเป็นตัวเป็นตนหมด ในกายก็มีตัวมีตน เกิดสุขเกิดทุกข์เพราะกาย ในใจก็มีตัวมีตน เกิดสุขเกิดทุกข์เพราะใจ ในเวทนาก็เป็นตัวเป็นตน เกิดสุขเกิดทุกข์ในเวทนา ในธรรมก็เป็นตัวเป็นตน เกิดพอใจไม่พอใจ พาให้ทำชั่วได้ พาให้ทำความดี ในธรรมที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศล ทำให้หลงตรงนั้นได้ เราจึงมารู้ เราจึงเปลี่ยนมัน รู้แล้วอย่างนี้ ถ้าหลงก็สักว่าหลง ไม่มีค่า ถ้าทุกข์ก็สักว่าทุกข์ ไม่มีค่า ถ้าสุขก็สักว่าสุข ไม่มีค่า ไม่มีค่า ให้เป็นสักแต่ว่า เรียกว่าญาณ ถ้าสงบเรียกว่าฌาน สงบก็ทำให้หลงได้ ฟุ้งซ่านก็ทำให้หลงได้ ถ้าเป็นฌานก็ชอบความสงบ นั่งหลับอยู่เป็นวันก็ได้ เรียกว่าฌาน ถ้าญาณนั้นไม่หลงมันไม่หลับมันจะรู้ ฌานอยู่ในความหลง มันเกิดญาณรู้แล้ว กายสักว่ากายนี่เรียกว่าญาณปัญญาขึ้นมาบ้างเรียกว่ากระแส กระแสแห่งปัญญา กระแสแห่งมรรคผลนิพพานน้อยๆไปอย่างนี้ มันก็มีแน่นอน เวลามันหลง ความไม่หลงก็มีแน่นอน อย่าไปจน เวลาทุกข์ ความไม่ทุกข์ มันมีแน่นอน อย่าไปทุกข์ เวลามันโกรธ ความไม่โกรธก็มีแน่นอนอย่าไปหลงในความโกรธ สิ่งใดเป็นหลง เกิดญาณขึ้นมา รู้แจ้งอันนี้ จนกลายมาเป็นวิปัสสนาญาณ วิปัสสนา วิ คือ วิเศษ ญาณ คือ นำไปสู่การรู้แจ้ง เรียกว่าวิปัสสนา กรรมฐานคือการกระทำ การกระทำคือเจริญสติ อย่างที่เราเดินจงกรม สร้างจังหวะ มีสตินั่นแหละ การกระทำ สิ่งใดไม่มีสติสิ่งนั้นไม่มีกรรม เป็นฟรี ทำดีทำชั่ว มันอยู่ตรงนั้น ถ้ามีกรรมฐานมันจะไม่ฟรี มีด้วยสติสัมปชัญญะ กรรมฐานคือมีสติสัมปชัญญะเป็นกรรมที่จำแนกให้มีผลได้ มีสติก็เป็นกรรมดี หลงก็เป็นกรรมชั่ว
เราศึกษาเบื้องต้นก็เห็นแต่สองอย่างนี้ มีความหลงมีความรู้สึกตัวนี่ มันจะไม่เป็นญาณได้อย่างไร ญาณแปลว่ามันขนส่งต้องรู้แจ้ง ต้องพ้นในสิ่งที่มันไม่แจ้ง ความมืด พ้นไปจากความมืด ขนส่งเรียกว่าญาณ นี่เรียกว่าเรามาศึกษา มีเหตุมีปัจจัย มีเหตุมีผล มีหลักมีฐานอยู่ เป็นสถาบันอยู่ ก็ต้องศึกษาช่วยตัวเอง แก้ไขตัวเอง ดูแลตัวเอง เห็นมันทุกแง่ทุกมุม มันก็อยู่กับเรานั่นแล้ว กายก็อยู่กับเราใจก็อยู่กับเรา สติก็อยู่กับเรา ความหลงก็อยู่กับเรา เราก็ใช้ เวลามันหลงก็รู้ อย่างนี้เขาเรียกว่าทำให้มันเป็น เรียกว่าฝึกหัด ไม่ใช่รู้ ความรู้นี้คนอื่นสอนเรา แต่ความเป็นนี่เราสอนเรา ทำให้มันเป็นอย่างนี้ เรียกว่าสถาบันก็ได้ จึงมาทำอันเป็นสาระ ไม่เป็นหมันเปล่า สร้างความรู้ก็มีความรู้ได้ทันที ทันทีเป็นปัจจัตตังทันที เวลามันหลงก็รู้เป็นปัจจัตตัง เปลี่ยนร้ายเป็นดีเรียกว่าภาวนา เปลี่ยนผิดเป็นถูกเรียกว่าภาวนา เปลี่ยนหลงเป็นรู้เรียกว่าภาวนา เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์เรียกว่าภาวนา เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธเรียกว่าภาวนา ให้เป็นนักภาวนา ให้มันเต็มบ้านเต็มเมือง ทุกคนเป็นนักภาวนา นักเปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ ภาวนาไม่ใช่กริยาท่าทาง แต่ว่าเราหัดนี่ก็หัดขีดหัดเขียนไปก่อน ถ้ามันเป็นแล้วก็ไม่ต้องหัด มันรู้แล้วอย่างนี้ จึงมาหัดตัวเองแท้ๆ นี่ล่ะ นี่เรียกว่าพระสูตร สูตรนี้เป็นสูตรของชีวิตทุกชีวิตปฏิเสธไม่ได้ เรามีหลงมีรู้ มีทุกข์มีรู้ มีสุขมีรู้ อะไรต่างๆอยู่ มันตรงกันข้ามอยู่จนถึงว่า มีเกิดมันก็มีไม่เกิด มีแก่ก็มีไม่แก่ มีเจ็บก็มีไม่เจ็บ มีตายก็มีไม่ตาย จุดหมายปลายทางถึงที่โน่น จบตรงโน้นก็เริ่มต้นจากผ่านตรงนี้ไปก่อน เหมือนเราเรียนเกรดดีมันก็ผ่านไปชั้นสูงๆได้ ตามการศึกษาใส่ใจของเรา แต่ว่าการศึกษาวิชาออกไปข้างนอกต้องอาศัยหัวคิด ปัญญาจึงเรียนได้ แต่การศึกษาชีวิตของเรา ไม่ต้องอาศัยปัญญาหัวคิดอะไร เหตุผลอะไร ใช้การสัมผัสตรงๆเข้าไป เช่นความหลงเนี่ย ความรู้เนี่ยไม่ใช้หัวคิดเหตุผล การกระทำลงไปเลย เอาการกระทำลงไป ไม่ใช้เหตุผล ทำไม ทำไม ทำไมจึงหลง ทำไมจึงไม่รู้ ไม่ต้องมีตรงนั้น ไม่ต้องหาคำตอบ ไม่ต้องมีคำถาม ทำลงไป แค่ว่าหลงก็รู้ลงไปง่ายๆ ง่ายๆ หลงเป็นรู้อยู่ด้วยกัน ที่ใดมีตัวหลงมีตัวรู้อยู่ที่นั่น ทำไม่ยาก อย่าไปทำไม ถ้าทำไมอยู่มันก็เสียเวลา คนอื่นเขาทำได้ เราทำไม่ได้ ไปอีกเสียแล้วยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมาย คนอื่นเขาดีกว่าเรา เราเลวกว่าเขา เขาเลิศกว่าเรา เราเลวกว่าเขา มันก็ไปเสียเวลาอยู่ เขาเป็นนักบวชเราเป็นโยม เขามีกิเลสน้อย เรามีกิเลสมาก ไปกันใหญ่เลย บางคนเอากิเลสมาตะลอม ผองกิเลสมันมากไปพอกพูนเหมือนดินพอกหางหมูเข้าไป ใส่โทษตัวเอง
บางทีถึงกับกล่าวตู่พุทธพจน์ สมัยทุกวันนี้มรรคผลนิพพานไม่มี พระอรหันต์ไม่มี ไปเสียแล้ว เป็นมิจฉาทิฐิไป ไม่มีศรัทธาในการทำความดี ทำชั่วได้ง่ายไป ทำดีได้ยาก ทำไม่ได้เลยทำดี มีเหมือนกันในโลกนี้ ถ้าเราไม่ศึกษาชีวิตของคนมันเป็นอย่างนั้น ให้มารู้แจ้งเรื่องนี้ให้เป็นมนุษย์ สูงขึ้นมา ให้มันสูง อะไรสูง สติมันสูง สติมันมาก จิตใจมันสูงไม่ต่ำ ว่าเห็นอะไรไม่เป็น มันสูงแล้ว มันหลง ไม่สยบอยู่กับความหลง รู้จักความหลงขึ้นมา สูงกว่าความหลง ตัวรู้นี่ มันทุกข์สูงกว่าความทุกข์ ความรู้สึกตัวเนี่ย รู้สึกตัวนี่มันสูงกว่า ต่ำไม่ได้ ถ้าโกรธ ถ้าทุกข์ ถ้าหลงก็เปื้อน ข่มขืนตัวเอง ต่ำต้อย ถ้าเราไม่หลง เวลามันหลงนี่มันสูงขึ้นมา ภูมิใจยกมือไหว้ตัวเอง เนี่ย มนุษย์ แปลว่าผู้ใจสูง เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง จิตใจมันสูง เหมือนดั่งยูงมีดีที่แววขน ยูงมันบินได้เพราะปีกมัน ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน เป็นคนมันก็ต่ำ อะไรมามันก็สุข สุขไปเลย ทุกข์ ทุกข์ไปเลย มันต่ำ มันครอบงำได้ เหมือนบ้านหลังต่ำ น้ำมาก็ท่วมไปเลย แต่ว่าอยู่ที่สูงน้ำมันไม่ท่วมถึง จิตใจของเรานี่มันสูง ไม่มีอะไรท่วมได้ นี่มนุษย์ พรหมโลกก็มีแต่เมตตากรุณา อยู่เป็นสุข เป็นสุข มีเหมือนกัน พรหมโลกแต่พรหมโลกที่เป็นสุข สัคคะสวรรค์นี่ ไปถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ต้องกลับมาเป็นมนุษย์นี่อีก มีใจสูงนี่อีก อย่าไปหลง บางทีหลงในความสุข เป็นฌานเรียกว่าไม่รู้จักกลางวันกลางคืน ไม่รู้จักอะไรเลย อยู่ในฌานนี่ นี่เหมือนกันบางทีก็อยู่เช่นนั้น ต้องเป็นญาณ ปัญญาญาณจนถึงความเป็นพระ บริสุทธิ์ พระแปลว่าผู้บริสุทธิ์ ไม่เปรอะเปื้อนจิตใจบริสุทธิ์ ไม่เปรอะเปื้อน ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก ความชัง มีแต่เห็นมัน แม้มันมีอยู่ก็เห็นมัน มันต้องมีแน่นอนในโลกนี้ เพราะมีตามีหูมีจมูกลิ้นกายใจ ก็ใช้มันให้มันเกิดญาณขึ้นมา มันรู้แจ้ง เห็นอะไรผิดเห็นถูก หัดมันรู้อย่างนี้เรียกว่าญาณ ปัญญาญาณ ใจก็บริสุทธิ์ เช่นเห็นนี่ เห็น มันบริสุทธิ์นะ เป็นนี่ เป็นเปรอะเปื้อนนะ เห็นกาย บริสุทธิ์แล้ว เห็นเวทนา ไม่ใช่เป็น เห็นมันโกรธ บริสุทธิ์แล้ว เห็นมันทุกข์ บริสุทธิ์แล้ว มันก็เริ่มเป็น ไปในตัวทันทีเลยตัวนี้ มันมีผลไปในตัวอย่างนี้ ปฏิบัติธรรมน่ะ เอาอะไรมาต่อรอง ไม่มีอันต่อรองเลย ไม่มีเหตุผล ไม่มีคำอธิบาย เหนือคำอธิบาย สภาวะธรรมจริงๆ อธิบายความรู้เป็นไง อธิบายความหลงเป็นไง อธิบายความโกรธเป็นไง อธิบายความไม่โกรธเป็นไง มันต้องเห็นซะก่อน แม้แต่เห็นความแก่ความเจ็บความตาย
ทำไมต้องอธิบาย ก็เป็นสามัญลักษณะ ถ้าเป็นอริยสัจนี่ก็ง่ายๆ ถ้าเป็นอริยสัจ เพราะเหตุ เพราะผล เพราะเหตุมันจึงมีผล ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล อะไรมันเกิดที่เหตุ มันมีแค่นี้อริยสัจ เป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยม ถ้าเป็นทฤษฏี ถ้าเป็นหลักก็เป็นหลักตายตัว เช่นหลง เช่นทุกข์หนะ ไม่ใช่ทุกข์ที่จะเป็นเหตุ ตัวที่มันทุกข์เกิดทุกข์หนะเป็นเหตุ เรียกว่าตัวหลงนี่แหละ สมุทัยคือสภาวะที่หลง เนี่ย เอาอย่างนี้เลยง่ายๆอย่างนี้ มันหลงนี่แหละคือตัวสมุทัย เมื่อมันหลงก็ไปไกล เกิดทุกข์ เกิดสุขอะไรได้ สมุทัยต้องดับ ดับยังไงสมุทัยเห็นเหตุมันคือสมุทัย ก็ต้องเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เรียกว่าละ เรียกว่าละสมุทัย การละสมุทัยทำยังไง เรียกว่ามรรค มรรคคืออะไร มรรคคือดูนี่หละอีกหละ ไม่ใช่มรรคคือเดินสัมมาทิฐิ สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แปดอย่าง ต้องไปเรียนเอา สัมมาสติเป็นยังไงเล่า กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มีสติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก ถอนความพอใจนั่นแหละ เราสวดกันอยู่ ว่านั่นเป็นวิชาการ แต่ปฏิบัติธรรมมันได้น้อย มรรคคือดูนี่แหละ เอา ถ้าดูเราก็ต้องเห็นแน่นอน ถ้าเห็นแล้ว ไม่เป็นนี่แหละ เรียกว่ามันอยู่ในตัวแล้ว เป็นมรรคเป็นผลแล้ว นิโรธคือทำยังไง คือทำให้แจ้ง แจ้งจริงๆ นี่คือหลง นี่คือไม่หลง ไม่มีคำถามใคร แจ้ง เช่นหลงเนี่ยจะไปถามใครไหม แม่ชีน้อย โกรธไปถามใครไหม ฉันโกรธหรือยังเนี่ย ฉันหลงหรือยัง ฉันทุกข์หรือยัง จนให้คนอื่นบอก ในรูปแบบของอบายภูมิอะ เอามือจับขนหัวตัวเอง ยังยิ้มอยู่ พอใจในความโกรธ คนอื่นบอก มันไม่ใช่นะ มันโกรธนะ พอใจในความโกรธ หลงเห็นกงจักรเป็นดอกบัว บอกมันก็ไม่รู้ พวกอบายภูมิเนี่ย มันอาหารคนละอย่างกัน ถ้าจะโกรธ พวกอบายสัตว์นรกเนี่ย มันโปรดไม่ได้ ตราบใดที่มันต้องขึ้นมาเป็นมนุษย์เสียก่อนจึงโปรดมันได้ เช่นความโกรธเราไปอธิบายความโกรธ ให้คนที่มีความโกรธฟังไม่ได้หรอก ก็หลบหลีกไปก่อน เอาชนะเขาด้วยความไม่โกรธ ไม่ใช่ชนะความโกรธด้วยความโกรธ หลบหลีกให้เป็น หลีกช้างสิบวาหลีกคนบ้าร้อยเส้น รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ให้ไปเสียก่อน เรียกว่าเกี่ยวข้องกับภูมิของคนให้เป็น โบราณท่านถึงว่าการทำบุญอุทิศให้ถึงผู้ตายหรือยังน่ะได้ไหม ถ้าเราอธิบายตามความจริง ถ้าคนที่ตาย เขาเป็นภูมิอะไร ถ้าเป็นสัตว์นรกก็ยังไม่ถึงเขา พวกสัตว์นรกเขาเสวยวิบากกรรมของเขา เป็นทุกข์เป็นโทษ ถ้าเมื่อใดเขาเป็นปรทัตตูปชีวีกำลังแสวงหาที่เกิด สิ้นกรรมมาแล้ว สิ้นกรรมมาแล้ว พ้นแล้ว จะแสวงหาที่เกิด รอผลทานของญาติพี่น้องอุทิศให้ อันอย่างนี้ก็ได้ เหมือนคนหิว คนหิวถ้าไม่มีข้าวกินก็หิวอยู่ เขาช่วยตนเองไม่ได้ เพราะกรรม เรียกว่าภูมิของเขา เราจะอธิบายให้เขาไม่ได้ คนที่โกรธนี่ ระงับความโกรธด้วยความโกรธไม่ได้ จึงเป็นหลักอย่างนี้ชีวิตของเราเห็นอย่างนี้ เห็นมันทุกข์เนี่ย มันจะไปทุกข์ได้ไง เห็นมันโกรธจะไปโกรธได้ไง ถ้าเป็นแล้วมันก็ไม่เห็น ต้องโกรธอยู่อย่างนั้น ก็จนตาย
ฉะนั้นญาติจึงอุทิศให้ไม่ได้ ต้องตัวของเราเองนี่แหละ มนุษย์คือใจมันสูงขึ้นมา จะไปโกรธได้อย่างไร มันเปรอะเปื้อนมากเห็นมันแล้ว ความทุกข์เป็นไง ความไม่ทุกข์เป็นอย่างไร ดูสองทาง สัมผัสความทุกข์ความไม่ทุกข์ สัมผัสความโกรธความไม่โกรธ นี่มันจะเป็นยังไง คำถามนี่ต้องถามใคร ต้องเป็นปัจจัตตังของเราเอง นี่เรียกว่าศึกษาธรรมะ นี่เป็นทางประเสริฐตรงนี้ ไม่ใช่พระในรูปแบบ พระในพระรัตนตรัย พระสงฆ์ในพระรัตนตรัย ไม่ใช่พระสงฆ์สมมติตามพระธรรมวินัย พระสงฆ์ในพระรัตนตรัยคือ ว่ายังไง ก็ดูสิ ปฏิบัติดีแล้ว สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น หมู่ใดปฏิบัติดีแล้วหนึ่ง ปฏิบัติตรงแล้วสอง มันหลงตรงไปเข้ากับความรู้ มันตรงกันข้าม ปฏิบัติออกจากทุกข์แล้ว มันโกรธเปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ พ้นแล้วจากความโกรธ ทำเป็นไหม หรือจะพอใจในความโกรธ เดี๋ยวจะเป็นหนอนนะ กินความโกรธน่ะ นี่ปฏิบัติออกจากทุกข์ ให้รู้จักวาง กายมันรู้อยู่ ร้อนมันเข้าร่ม หนาวมันห่มผ้า หิวก็กิน แต่ว่าใจนี่ไม่รู้เลย ซุกซนหลงก็เอาโกรธก็เอา บางทีพอใจ พอใจในความโกรธ ถ้ากูได้โกรธ ตายกูก็ไม่ลืม เรียกว่า เปลี่ยน ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร เป็นสามัญ ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่ฟูไม่แฟบสมควรแล้ว มาตรฐานเป็นสถาบัน นับอย่างไรสงฆ์พวกนี้ นับเป็นบุรุษสี่คู่ สี่คู่คือใคร นับเรียงตัวบุรษได้แปดบุรุษ คือใคร สี่คู่คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ สี่คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี่คู่หนึ่ง สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล คู่หนึ่ง อนาคามิมรรคอนาคามิผลคู่หนึ่ง อรหันตมรรค อรหันตผลคู่หนึ่ง อันนี้เป็นภาษาวัดสักหน่อยอาจจะไม่คุ้น โสดาปัตติมรรคคือใคร กำลังละสังโยชน์ 3 ได้โสดาบัน สังโยชน์ 3 คืออะไร สักกายะทิฐิ พอศึกษาเข้าไปเจอตัวนี้เลยใช่ไหม เห็นกาย สักกายะทิฐิ มีกายไหม นั่งอยู่นี่ มีไหม มีสุขมีทุกข์เพราะกายไหม
สำคัญเป็นยังไงกายนี่ ร้อนเป็นกู หนาวเป็นกู ทุกข์เป็นกูหรือ ถ้าเห็นรูปธรรมนามธรรมมันจะไม่เป็นกู เห็นกายสักว่ากาย สักกายะทิฐิไม่เอากายมาเป็นตัวเป็นตนเป็นกูเป็นสักแต่ว่า สักกายะทิฐินี่ ไม่เอากายมาเป็นตัวเป็นตน กายในกาย กายในกายคือความสุขที่มันมีสุขเพราะกาย มีทุกข์เพราะกาย จนกายในกายนั้นเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ใช่เลย กายล้วนๆก็เป็นธาตุสี่ขันธ์ห้าธรรมดา แต่กายในกายนี่มันเกิดบ่อยๆ อันกายที่เป็นมหาภูตรูป มันเกิดทีเดียวนะ อันกายในกายสำคัญกว่า เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกายนั้นน่ะ เรียกว่าสักกายทิฐิ ละได้ วิจิกิจฉา ละได้ ไม่สงสัยแล้ว มันหลงมีแต่รู้เท่านั้น ทำไมจึงหลงทำไมจึงหลง ไม่มีคำว่าทำไม เปลี่ยนหลงเป็นรู้เลย เรียกว่าไม่สงสัยแล้ว มีทางอย่างนี้ สีลัพพตปรามาสถือความพรตศักดิ์สิทธิ์เอาจริงเอาจังกับพิธีรีตอง ไม่มีแล้ว เอาการกระทำจากตัวปฏิบัติ มันหลงก็รู้ทันที มันทุกข์ก็รู้ทันที สีลัพพตปรามาสไปทำพิธี เสี่ยงเคราะห์สะเดาะโชค ศีลและพรตไป เอาจริงแบบพิธีรีตองไป ออกจากอาบัติก็ต้องไปปลงอาบัติ ต้องไปปลงอาบัติ อาบัติจางเบาห้าอย่างต้องแสดงต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึงพ้นได้ อาบัติสังฆาทิเสสต้องอยู่ปริวาสกรรมจึงพ้นได้ อาบัติหนักต้องขาดจากความเป็นภิกษุ นี้ธรรมวินัย สงฆ์ในพระรัตนตรัยนี้ มันไม่ใช่อันนี่ มันเป็นตัวที่พ้นไปนี่ ใครก็พ้นได้ นุ่งผ้าสีใด ห่มผ้าสีใด ชาติใดภาษาใดเป็นพระได้ เป็นสงฆ์ได้ นี่สงฆ์ในพระรัตนตรัย ถ้าสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ต้องเป็นอย่างนี้ อาบัติคืออะไร อาบัติคือมันขวางเอาไว้ มันเปรอะเปื้อนหน่อย อาบัติชั่วหยาบ มันขวางเอาไว้ ไปทางขวางไว้ เวลามันจะรู้ทีไร ความหลงมาขวางไว้ เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เรียกว่าพ้นอาบัติแล้ว เปลี่ยนความโกรธเป็นความรู้เรียกว่าพ้นอาบัติ ปาราชิกมันคือปราชัย มีแต่พ่ายแพ้ พ่ายแพ้ต่ออารมณ์ เวลาใดความโกรธขึ้น ยอมทำตามความโกรธ เรียกปาราชิกน่ะ พวกผู้นี้ไม่มีการเปลี่ยนร้ายเป็นดี เรียกว่าไม่ถึงมรรคผลนิพพานเลย ด้านไปเลย เรียกว่าขาดจากความเป็นพระ ถ้าเวลามันโกรธ ให้ความโกรธเป็นใหญ่ เวลามันทุกข์ก็ให้ความทุกข์เป็นใหญ่ ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร ออกจากอาบัติชั่วหยาบไม่เป็น เป็นปราชัยไม่ถึงมรรคถึงผลเลย เป็นบาปตลอดภพตลอดชาติ เราจะต้องเป็นมนุษย์ มาเปลี่ยนร้ายเป็นดี ปฏิบัติธรรมนี่มันเปลี่ยนได้อย่างนี้ นี่บุญมันรู้แจ้งมันพ้นจากบาป บาปคือไม่รู้นะ