แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน หลวงตาจะพูดกับทุกท่านทุกคน เวลานี้โอกาสนี้เป็นโอกาสพิเศษกว่าโอกาสอื่น ใช้ชีวิตให้พิเศษสักหน่อย ชีวิตพิเศษคือวินัยยะ นำไปสู่ความวิเศษคือมีสติสัมปชัญญะ วิเศษอย่างไร ให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ อะไรที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัว ก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวจึงจะพิเศษได้ การบรรลุธรรมก็บรรลุตรงนี้ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรา จะเป็นความสุข ความทุกข์ ความหลง ความรัก ความชัง พอใจ ไม่พอใจ ก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตัวทั้งนั้น
ถ้าเราเปลี่ยนอะไรเป็นความรู้สึกตัว โอกาสที่จะบรรลุธรรมก็อยู่เฉพาะหน้านี้ ไม่ใช่อยู่ไกลอะไรเลย จึงใช้ชีวิตให้พิเศษสักหน่อย เราก็มีโอกาสพิเศษอย่างนี้ เราก็ช่วยกันให้พิเศษอย่างนี้ อย่าแสดงอะไรที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ใช่พิเศษ จึงจะนำไปสู่ความหลุดพ้นอย่างงดงาม เตือนตนสอนตน ไม่มีใครเห็นเราเท่ากับตัวเรา เอาให้สุดฝีมือ ลองดู ทำอะไรให้สุดฝีมือ มันก็สำเร็จได้
ความตั้งใจอยู่ที่ใด ความสำเร็จก็อยู่ ณ ที่นั้น มันเป็นกรรม กรรมมันลิขิตได้ กรรมศักดิ์สิทธิ์ กรรมฐานนี้ แล้วก็เปลี่ยนได้ ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนเป็นความรู้สึกไม่ได้ในกายในใจเรานี้ เราไม่ค่อยใช้ชีวิตให้เป็นกรรมฐานเท่าที่ควร มีค่ามากชีวิตเรานี้ เป็นสัตว์ประเสริฐ มีมันสมอง ก็หัดตนสอนตน ไม่ใช่จะรับอะไรทุกอย่าง ปฏิเสธบ้าง ทอดสะพานบ้าง บอกกลับบ้าง อะไรที่ไม่ใช่ควรรับควรรู้ก็อย่าไปใส่ใจมัน ชักสะพานหรือบอกกลับเหมือนเราเป็นเจ้าของชีวิต เจ้าของบ้าน เหมือนเราเปิดดูโทรทัศน์ช่องไหนที่ไม่มีสาระประโยชน์ก็ปิดได้ เลือกได้
ชีวิตนี้มันเลือกได้ บุญวาสนามันแข่งขันกันได้ ไม่ใช่จะปล่อยตามปล่อย ให้มีความเพียร ให้มีศรัทธา ให้มีความอดทน ให้มีศีลสำรวม มีสมาธิมั่นคง อย่าง่อนแง่นคลอนแคลน อ่อนแออยู่ที่ไหน มีความเข้มแข็งอยู่ที่นั่น ผิดอยู่ที่ไหน มีความถูกต้องอยู่ที่นั่น ปัญหาอยู่ ณ ที่ใด มันมีปัญญาอยู่ ณ ที่นั่น นี่คือการศึกษา อย่าจน เราต้องไม่จน เป็นชีวิตที่ไม่จน ความหลงทำให้เราจน ความรู้สึกตัวทำให้เรามั่งมี เราจึงสนุก เป็นเรื่องของความสนุก
การมาเห็นตัวเองเป็นการเจริญเป็นการชอบ เวลามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้ มันเป็นความชอบอย่างยิ่ง อยู่โดยชอบอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธออยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ อยู่ที่ลุ่มก็ดี อยู่ที่บ้านก็ดี อยู่ที่ดอนก็ดี อยู่ที่ป่าก็ดี อยู่ที่เมืองก็ดี มันมีความชอบอยู่ในชีวิตเรา การอยู่โดยชอบก็มีสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติสัมปชัญญะ อะไรที่ไม่ใช่ความไม่ชอบก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว ไม่พิเศษ ความไม่ชอบก็เกิดขึ้น เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะดี
เราจึงเลือกฝึกตน สอนตน แก้ไขตน เตือนตน มองตน ดูแลตัวเองให้อยู่ในความพิเศษให้ได้ รักนวลสงวนตัว มันจะเห็นเหตุเห็นปัจจัย ไม่ยากการบรรลุธรรมนี้ เหมือนกับเราไล่ยุง ไม่ยากเหมือนเราไล่ยุงด้วยซ้ำไป ถ้าเราปฏิบัติดีแล้วเหมือนนอนอยู่ในมุ้ง ฟังเสียงยุงมันบินอยู่ข้างนอก ไม่มีโอกาสที่จะทำลายใจเราได้
เหมือนหลวงตาไปอยู่ภูเวียง สองสามวันที่ผ่านมา เพื่อนเขากวาดใบไม้เตียนหมด เขาที่อยู่ที่ใด เขาจับคราดจับจอบมาถากมาถาง หลวงตาก็ไม่ต้องกลัวอะไร ไปก็ปูเสื่อทับใบตอง ใบตองก็หนามาก ป่าสัก ป่ายาง ป่าอะไรมันหล่นหน้าแล้ง ก็ทับแล้วนอน พอนอนอยู่ อะไรมันยุกยักยุกยักอยู่ใต้เสื่อ ก็เลยลุกขึ้นนั่ง มันก็ออกไปนอกเสื่อ มันเป็นงูตัวหนึ่ง มันคงตกใจมาก ก็ชูคอขึ้น มองหาเห็นหลวงตาก็แลบลิ้นใส่ เราก็ดูมัน “ก็ขออภัยนะ เราไม่รู้ว่าเธออยู่นี่ เราไม่รู้จริง ๆ ขออภัย ไป ไปทางอื่น” มันก็วิ่งหนีไปทางอื่นเลย ก็เราเห็นเนี่ย แต่ถ้าเราไม่เห็นเนี่ยอันตรายเหมือนกัน
เราเห็นงู งูจึงไม่ได้กัดเรา เราเห็นหลง ความชั่วก็เกิดขึ้นได้ยาก เราเห็นทุกข์ ความทุกข์ก็ทำอะไรให้เราไม่ได้ เหมือนเราเห็นงู เราจึงสร้างความเห็น ให้มันเห็น ให้มันเห็น ให้มันเห็น อย่าเข้าไปเป็น ภาษาปฏิบัติเป็นภาษาง่าย ๆ อย่าเป็น ให้เห็น เป็นผู้ดู อย่าเป็นผู้อยู่ อะไรก็ตาม มันร้อน เห็นมันร้อน มันเหนื่อย เห็นมันเหนื่อย มันรู้ เห็นมันรู้ มันหลง เห็นมันหลง มันสุข เห็นมันสุข มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ อย่างเดียวเท่านั้นเอง สะดวกไม่มีอะไรขวางกั้นได้ นี่แหละมรรค มรรคคือดู ไม่ใช่ไปท่องจำ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไปโน่น อันนั้นมันเป็นภาษา
ถ้าจะพูดคือเห็นถูก เห็นถูกคือเห็นสุขเห็นทุกข์ ไม่ใช่เข้าไปเป็น เรียกว่าเห็นถูก ถ้าเห็นสุข เป็นผู้สุข เห็นไม่ถูก เห็นทุกข์ เป็นผู้ทุกข์ ไม่เห็นถูก เห็นหิว เป็นผู้หิว ไม่เห็นถูก เห็นร้อน เป็นผู้ร้อน ไม่เห็นถูก เป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วมันก็ไม่จบ ถ้าเห็นแล้วไม่เป็น ก็จบทันที จบทันที จบทันที เห็นตรงไหนจบตรงนั้น จบไปเรื่อย ๆ จบจนไม่มีอะไรทำ อะไรเกิดขึ้น รู้แล้ว สุข รู้แล้ว ทุกข์ รู้แล้ว หลง รู้แล้ว โกรธ รู้แล้ว เจ็บ รู้แล้ว ปวด รู้แล้ว
เมื่อวาน ไปพูดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รู้แล้ว ก้อนเนื้อในตับอ่อน มันปวด ตรวจท้องหาสมมติฐานในเหตุที่มันปวด หมอหาด้วยการเอกซเรย์ ทำซีทีสแกน ไปเห็นก้อนเนื้อในตับอ่อน มันก็ต้องปวด เห็นมันปวด เวลามันปวด รู้แล้ว ก็จบ ไม่ใช่ไป โอ๊ย! โอ๊ย! คุณหมอช่วยด้วย ไม่ไปถึงอย่างนั้น รู้แล้ว ถ้าจะมีการออกเสียงสักหน่อยก็ อือ! รู้แล้ว มันปวดมากหน่อยก็ อือ! คำว่า อือ! คือวิปัสสนา วิปัสสนาถึงบางอ้อ อะไรก็อือ! สุขก็อือ! ทุกข์ก็อือ! อันเดียวคือเห็น รส ๆ เดียว พระธรรมคือรสอันเดียว ถ้าสุขทุกข์ มันสองรสแล้ว ถ้า อือ! อือ! ถ้าสุขก็อือ! ทุกข์ก็อือ! อันเดียวเท่านั้น สัพพะระสัง ธัมมะระโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง มีรสเดียว ถ้ารสของโลกมีหลายรส สุขก็อันหนึ่ง ทุกข์ก็อันหนึ่ง ถึงบางอ้อ อือ! อือ!
อันนี้เกิดขึ้นกับอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก พระพุทธเจ้าแสดงธรรมไป อัญญาโกณฑัญญะก็ อือ! อือ! ลักษณะบอก พระพุทธเจ้าก็ดู ดูท่าทาง เหมือนเราไปเรียนอะไรที่เราเข้าใจ เห็นด้วย ชัดเจน ไม่ลังเลสงสัย เรียกว่ารู้แล้ว รู้แล้ว รูปไม่เที่ยง รู้แล้ว เวทนาไม่เที่ยง รู้แล้ว สัญญา ไม่เที่ยง รู้แล้ว สังขารไม่เที่ยง รู้แล้ว วิญญาณไม่เที่ยง รู้แล้ว สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นสิ่งนั้นเป็นทุกข์ รู้แล้ว สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรไปถือว่าตัวว่าตน รู้แล้ว ทำเป็นแล้ว ทำได้แล้ว เราเห็นงู เห็นแล้ว ไม่เข้าไปใกล้งู ได้ออกไปแล้ว ออกไปไกลแล้ว พ้นแล้ว นี่เรียกว่าอริยสัจ ไม่ใช่ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ใช่ ไม่ไป เหมือนงู เรายืน งูอยู่ใกล้หน้าแข้ง แล้วไปวิ่งหาฆ้อน มันก็ไม่ทันเสียแล้ว งูกัดเราแล้ว เจียนตายไปแล้ว
พอเราเห็นแล้ว อันเห็นนี้มันไม่มีคำถาม นี่สุข นี่ทุกข์ นี่ความหลง นี่ความรู้ นี่ความโกรธ นี่ความโลภ ความหลง ความรัก ความชัง ไม่ใช่ ไม่เป็นธรรม ความหลงไม่เป็นธรรม ความรู้สึกตัวเป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความรู้สึกตัวเป็นธรรม สัมผัส สัมผัส การสัมผัสนี้เป็นสัจจะ ไม่มีคำถาม การเห็น พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น การพบเห็นมันเดี๋ยวนี้ เห็นบุญ เดี๋ยวนี้ เห็นบาป เดี๋ยวนี้ ละบุญ ละบาป ละเดี๋ยวนี้ ทำบุญ ทำเดี๋ยวนี้ ทำดี ทำเดี๋ยวนี้ ละความชั่ว ทำเดี๋ยวนี้ นี่เรียกว่าปัจจัตตัง พรุ่งนี้ไม่มี เมื่อวานไม่มี มี แต่ไม่เห็น พรุ่งนี้มีอยู่ แต่ไม่เห็น ทำอะไรไม่ได้ เมื่อวานก็มีอยู่ ก็ไม่เห็น ทำอะไรอีกไม่ได้ แต่ที่เห็นจริง ๆ คือเดี๋ยวนี้ ทำได้ มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ทำได้เดี๋ยวนี้
นี่คือปฏิบัติธรรม เราจะไปเชื่อใคร เราจะไปอ้อนวอนที่ไหน พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอน เป็นศาสนาแห่งการกระทำ กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเป็นของจำแนกสัตว์ เพราะฉะนั้น เราจึงมาฝึกกรรมฐานกัน เราจะดีเพราะมีกรรมดี เราจะชั่วเพราะมีกรรมชั่ว ไม่ใช่คอยวาสนา บางทีเอาไปมอบให้วาสนาลิขิต ไม่มีการกระทำ เชื่อฤกษ์งามยามดี เสียเวลา
อย่างภาษาถ้าจะปลูกมันเอาหัวต้องปลูกวันอาทิตย์ ถ้าปลูกปอเอาต้นต้องวันจันทร์ ถ้าจะปลูกหม่อนเอาใบให้ปลูกวันอังคาร อาทิตย์หัว จันทร์ต้น อังคารใบ พุธหมาก พฤหัส ดอก ถ้าจะเอาดอกก็ปลูกวันพฤหัสบดี ปลูกฝ้าย ฝนตกตั้งแต่วันอาทิตย์โน่น ต้องรอให้ถึงวันพฤหัสบดีก่อนถึงจะปลูกฝ้าย ดินมันแห้งไปแล้ว อะไรที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย มันอยู่ที่การกระทำของเรา ทิตย์พุธเช้า ศุกเสาร์ง่ายแก่ จันทร์อังคารฯ เที่ยงแท่ พฤหัสคอยค่ำลง เอ้อ เอากาลเวลา นักขัตตัง ปฏิมาเนนตัง อัตโถ พาลัง อุปัจจคา กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสิ่งกับทั้งตัวมันเอง อะไรก็คอยวาสนาคอยเวลา ไม่มีการกระทำให้เกิดขึ้น
การบรรลุธรรมก็รู้อยู่นี่ รู้เดี๋ยวนี้ ตัวรู้เดี๋ยวนี้ก็ต่อไป ถ้ารู้เดี๋ยวนี้ ชั่วโมงหน้าก็รู้ ถ้าชั่วโมงหน้ารู้ ก็รู้ไป ๆ ก็รู้ไป ถ้ารู้เดี๋ยวนี้ ตอนตีห้าก็รู้ ตีห้าครึ่งก็รู้ หกโมงก็รู้ เจ็ดก็รู้ แปดก็รู้ ก็รู้ไป ๆ มากรู้ ๆ ไป รู้ก็ต่อเรื่อย ๆ ไป พรุ่งนี้ก็มีความรู้เรื่อยไป เดือนหน้าก็มีความรู้เรื่อยไป ปีหน้าก็มีความรู้เรื่อยไป ถ้าไม่ตกนรก ไม่มีทุกข์ ไม่มีหลงก็ไม่ตกนรก ไม่ต้องตายแล้วจึงตกนรก ถ้าจะมีความรู้สึกตัว เห็นทุกอย่างไม่เป็นกับอะไร จนไม่เป็นอะไรกับอะไร ก็มีมรรคผลนิพพานเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องนั่งสอนนิพพานต่อเมื่อตายไปแล้ว เดี๋ยวนี้ ถ้าได้นิพพานต่อเมื่อตายไป ก็ให้พากันตายไว ๆ จะได้ไปนิพพาน มันต้องเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นจึงปฏิบัติเป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ
หลวงตาเคยไปสวดให้คนป่วยฟัง มันไม่รู้อะไร กูก็ไม่รู้อะไร มันดิ่งเข้าไป ดิ่งเข้าไป จมูกหยิกขึ้น ใบหูแข็งขึ้น หน้าซีดขึ้น ไม่หย่อนลงสักหน่อย แสดงว่ามันตึง ไม่รู้สึกตัว เรียกก็ไม่รู้ จับมือก็ไม่รู้ ให้ลูกมาจับมือ ก็เลยสวด ตีเกราะ อาจารย์ครรชิตเอากระดิ่งทองเหลืองไปตี พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เรียกคืนมาให้รู้สึกตัว ข้าพเจ้าอาศัยพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ สวดช่วยกัน
ก็เคยไปทำอยู่ที่บอสตัน สหรัฐฯ ไปอยู่กับพระนิกายมหายาน วัด Kuan Yin เขานิมนต์ไปดูคนป่วยที่โรงพยาบาลบอสตัน มหาวิทยาลัยทางฮาวายไปสอนอยู่ที่นั่น เขาพาไปดูคนป่วย เขาช่วยกันดีนะมหายาน ดีกว่าเถรวาท ช่วยคนมากเวลานี้ดังทั่วโลก หลวงตาไปดูคนดังคนเก่งชาวไต้หวันเป็นภิกษุณี เกิดรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงตา เก่งมาก เขาช่วยคน อันนี้เขาก็ช่วยกันจริง ๆ มีฆราวาสญาติโยมใส่ชุดเซน นุ่งกางเกง เสื้อแขนยาว ใส่โบว์ที่หน้าอก แต่งตัวเหมือนกัน ไปยืนข้างเตียง อามีทอฝอ อามีทอฝอ ตีเกราะ ตีกระดิ่ง เรียกคืนมา
เขาให้หลวงตาไปสวดเหมือนกัน หลวงตาก็ไปกับพระยูกิเป็นพระชาวญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้ก็ไปญี่ปุ่นยังไม่กลับมา เขาเป็นล่าม พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ สวดพระสูตร แล้วก็สวดพระสูตรอีกพระสูตรหนึ่ง คือติลักขณาทิคาถา เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สวดไปแปลไป แล้วก็แปลให้เขาฟัง เขาก็ชอบนะ มหายานเขาจะมีอามีทอฝอ พระพุทธเจ้าอมิตตาพุทธ เข้าให้ถึงอมิตตาพุทธให้ได้ เขามีเครื่องเสียงเล็ก ๆ เท่าหัวแม่มือนี้ติดกระเป๋า เวลาขับรถเขาจะเปิดอามีทอฝอ อามีทอฝอ ๆ ทำงานก็อามีทอฝอ อามีทอฝอ
ไปตีระฆังทำวัตรตอนเช้าก็ โอม อามีทอฝอ อามีทอฝอ ๆ จนเสียงระฆังจบลง ก็นั่งอีก โอม อามีทอฝอ อามีทอฝอ ๆ เกือบ 30 นาทีนะ ถ้าเวลาเร่งระฆังก็เร่งสวด อามีทอฝอ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ (หัวเราะ) โอ๊ย! ไปนั่งไปศึกษากับเขานะ ไปดู ให้อมิตตาพุทธอยู่ใกล้ที่สุดเลย ชาวพุทธเถรวาทเราไปอยู่ที่ไหนหนอ เราไม่ต้องไปพูดก็ได้ เพียงรู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัวนี้เป็นภาวะรู้ เป็นพุทธะ รู้ตื่น เบิกบาน พุทโธเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภะคะวา ไม่ใช่เป็นภาษาคำพูด แต่เป็นการสัมผัสในหัวใจเราลึก ๆ แต่เป็นคำพูดก็ดี เป็นนิมิตเรียกให้คืนมากลับมา ไปสวดให้คนป่วยฟัง
เมื่อวานก็พาพระไปด้วยกัน พูดไปก็ร้องเพลงไป ชวนพระร้องเพลงให้คนฟัง มีเพลงสองบท “สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารคือร่างกายจิตใจ แลรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารคือร่างกายจิตใจ แลรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันเป็นทุกข์ทนยาก เพราะเกิดขึ้นแล้ว แก่เจ็บตายไป สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่เป็นสังขารและมิใช่สังขาร ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเราว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา”
เขาถาม “เวลาหลวงพ่อเจ็บปวดนะ หลวงพ่อทำยังไง” หลวงพ่อก็บอกว่า หลวงพ่อเห็นมัน มันร้องเพลงแบบนี้ “ความเจ็บไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรถือว่าเราว่าของเรา สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
ตะขาบมันกัดเอา เมื่อวันเพ็ญเดือน 12 ลอยกระทง ที่ศาลาหน้า กัดจนพอใจ ยกขาขึ้น มันยังแขวนอยู่ เอ้า ลองดูสิ เราไปเหยียบมันนะ มันก็กัด พอรู้เลยยกขาขึ้น เห็นเป็นตะขาบก็ให้มันวางเอง มันก็ตกลง ก็รีบไปล้างแผล ล้างแผลแล้วก็นอนที่ศาลาหน้า ศาลาริมน้ำ เคยโดนตะขาบกัด มันปวดไหม ปวด มันจะปวดตุบ ๆ ตุ้บ ๆ ๆ ตุ๊บ ๆ ๆ ๆ คนจะร้องตรงนี้มาก เดี๋ยวก็ตุบ ๆ ตุ้บ ๆ ๆ ตุ๊บ ๆ ๆ ๆ เราก็ร้องเพลง “เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นไม่ใช่ตัวใช่ตน สิ่งใดไม่ใช่ตัวใช่ตน สิ่งนั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ร้องเพลงนี้ มันก็ไม่เป็นผู้ปวด เบา...เบา แล้วก็เอาผ้าผูกขาแขวนไว้ สนุก...สนุก สนุกดี สนุกปวดเลยทีเดียว
ไปนอนอยู่โรงพยาบาล 2 ปี มีคนมาถาม บอกว่าสนุกป่วย 2 ปีแล้ว ไม่มีจริง ๆ คำว่าทุกข์นี้ ขอรับผิดชอบเรื่องนี้ เขาถามเมื่อวานนี้ว่า “เวลาหลวงตาปวดท้องทำยังไง หายใจไม่ได้ทำยังไง” “หายใจไม่ได้ ก็ไม่ต้องหายหัวมันละ” “อยู่ตรงไหนละ” “อยู่เฉย ๆ ไม่เป็นอะไรกับอะไร” หลวงตาพูดไว้ “ไม่เป็นอะไรกับอะไรเลย”
แม่ชีน้อยป่านนี้อยู่ประเทศเขมร ยืนอยู่ที่ประเทศเขมร ไม่เป็นอะไรกับอะไร อยู่ตรงไม่เป็นอะไรกับอะไร เพราะเห็นมีแต่ไม่เป็น มันก็แยกไปตั้งแต่นี้แล้ว แน่นอนชีวิตเราต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย วันนั้นเวลานั้นจะมีความทุกข์ที่สุด คนดูก็ทุกข์ ญาติก็ทุกข์ คนเจ็บก็ทุกข์ มันไม่ทุกข์เนี่ย จะไม่ให้พูดยังไงธรรมะนี้ ความไม่ทุกข์ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ มันก็เริ่มเห็นเดี๋ยวนี้ มีสติไป มีสติไป มีสติไป สติมันไม่ใช่สติแค่นี้ มันเป็นมรรคเป็นผล
ความรู้สึกตัวนี้มันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่กับเรานี้ เราจะสละสิทธิ์ได้อย่างไร จะไปหลงเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน จะไปคอยทุกข์คอยร้องไห้คอยหัวเราะ มันไม่ใช่ชีวิตเรา ชีวิตเรามันต้องไม่เป็นอะไร มีสิทธิ 100 เปอร์เซ็นต์ หัด ถ้าไม่หัด มันเป็นไม่ได้ ขอกันก็ไม่ได้ แจกกันก็ไม่ได้ พ่อแม่รักลูกก็ให้ลูกไม่ได้ ลูกรักพ่อแม่ เอาให้พ่อแม่ก็ไม่ได้ สามีภรรยารักกันก็ให้กันไม่ได้ ต้องเป็นสมบัติของใครของมัน ต้องทำเอา นี่คืออริยทรัพย์ภายในชีวิตของเรา
มันจึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมอย่างนี้ มาฝึกตนสอนตนอย่างนี้ พิสูจน์กันดู พระพุทธเจ้าท้าทาย 1 วัน 7 วัน 1 เดือน 7 เดือน มันไม่มากขนาดนั้นถ้าเอาจริงเอาจัง เอาจริงเอาจังไม่เหมือนอยากรู้อยากเห็นนะ ทำซื่อ ๆ ทำซื่อ ๆ มันหลงก็รู้ มันรู้ก็รู้ มันผิดก็รู้ มันถูกก็รู้ มันสุขก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ รู้นี้ สุขรู้ ทุกข์รู้ ตัวรู้ตัวเดียว ไม่เปรอะเปื้อนกับอะไรเลย มันผิด รู้มัน ถูก รู้มัน ทุกข์ รู้มัน มันทำหน้าที่นี้ เรียกว่ารู้อย่างนี้ ไม่ใช่ไปรู้กำนี้ รู้ไป เอาต่างไปเหมือนขีดเส้น วางลง มีเส้น รู้...รู้ ตายแล้วแบบนี้ใช้ไม่ได้เลย เครียดไปเลย ง่วงไปเลย มันรู้อย่างนี้ รู้อย่างนี้
สมถะนี้เกิดก่อนวิปัสสนานานเป็นหลายพันปี พวกฤาษีมุณี สมณะนักบวชมีก่อนพระพุทธเจ้าแล้ว เขาฝึกสมถะอย่างไร นั่งตัวแข็ง เดี๋ยวนี้ยังมีนะ หลวงตาไปเที่ยวอินเดีย ยืนจนเถาไม้พันขาเลย มีคนเอาข้าวมาให้ใส่มือให้ เอาข้าวมาให้ก็กินข้าว ไม่นุ่งผ้าด้วย มีอยู่
อย่ามาเชื่อหลวงตา เราทำไง ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ให้รู้เดี๋ยวนี้ ความไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายมีอยู่ ฝึกไว้เดี๋ยวนี้ เป็นศิลปะ เป็นกีฬา ชีวิตของเราต้องถึงจุดหมายปลายทาง อย่าจม อย่าสะดุด มันเรียบ มิตรภาพ ฝึกตนสอนตน เห็นถนนมิตรภาพไหม ถือแก้วน้ำดื่มไม่กระเพื่อมเลย จากบ้านไผ่เมืองพล ก่อนที่ถนนมิตรภาพเกิดขึ้น เขาทำอย่างไร อัด ปล่อย วาง ตรงไหนที่เป็นร่องน้ำ ก็ฝั่งท่อทำสะพานให้น้ำไหลผ่าน ตรงไหนที่อ่อนก็อัดขึ้นสูงขึ้นให้ไหลที่ไปที่เดียว ชีวิตของเราตรงที่เข้มแข็งก็เข้มแข็ง ตรงที่ปล่อยวางก็ปล่อยวาง ไม่ใช่ไปเอาทั้งหมด ยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด ให้อภัย ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน
อาจารย์พุทธทาสบอก ยาอายุวัฒนะมีอยู่ 4 ราก ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน เป็นเช่นนั้นเอง ในตัวเรา คนอื่นบ้าง ใช้แบบนี้บ้าง อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่เป็นไร จำไว้ ใจน่ะ อย่า หืม! ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น หืม! ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงทำอย่างนี้กับเรา ทำไมจึงพูดอย่างนี้กับเรา เราไม่ยอม มันมาก็ขังไว้ ไม่ปล่อย ไม่เป็นถนนมิตรภาพไว้ เดี๋ยวก็พังไปเลย อกหักเสียอกเสียใจ วางมัน ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน
หลวงตาสอนเรื่อย เอาเณรสองรูปเดินมา ชนกัน ล้มลงคนละข้าง ลุกขึ้น “ขอโทษ ขอโทษครับ เจ็บไหมครับ” “ไม่เป็นไร พอทนได้” “ผมผิดครับ ผมผิด” “ไม่ใช่” เณรอีกองค์หนึ่งว่า “ไม่ใช่ ผมผิดครับ ผมผิด ผมขอโทษครับ” ต่างคนขออภัยกัน ดีกันไป เณรสองรูปมา เดินมาชนกันเข้า ลุกขึ้นต่อยกันเลย (หัวเราะ) ไม่ยอมกัน ต่อยกัน “เป็นไรล่ะ” “มันชนผม” “ผมเดินมาดี ๆ มันมาชนผมเนี่ย มันไม่เป็นพ่อผมน่ะ” เหยียบขากันนิดหน่อยก็ไม่ได้ ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง
สมัยก่อน หลวงตานั่งรถประจำทางไปจอดที่สระบุรี แวะไปจอดที่นั่น “น้ำลำไยหวาน ถุงละ 2 บาท น้ำลำไยถุงละ 2 บาท ถุงละ 2 บาท” เขายื่นขึ้นหน้าต่างรถ คนรถคนอีสานบ้านเรา “ถุงละบาทได้ไหม” “ถุงละบาท เอาน้ำเยี่ยวแม่มึงโน้น” (หัวเราะ) โอ๊ย! คนเราเอ๊ย ว่าเท่านี้ก็โกรธแล้ว ไม่พอใจ มันจะอยู่กันได้อย่างไรคนเรานี้ ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน เป็นเช่นนั้นเอง ให้อภัยเขา เขาไม่รู้ คนที่ไม่รู้เป็นคนที่ควรให้อภัยอย่างยิ่ง
บางทีสามีภรรยากันนี้ให้มองกันหลายลักษณะ มองภรรยาเหมือนน้องสาว มองภรรยาเหมือนภรรยา มองภรรยาเหมือนเพื่อน มองภรรยาตัวเองเหมือนแม่ อย่ามองภรรยาเป็นภรรยา อย่ามองสามีเป็นสามี ให้มองเป็นพี่เป็นน้อง บางทีแม่บ้านหน้าเง้าหน้างอมีไหม มีไหม น้องสาวมันไม่รู้อะไรหนอ (หัวเราะ) น้องสาวเราเอ๊ย ไม่เป็นไร น้องสาวเราไม่รู้อะไร เรารู้กว่าเขา อย่าไปถือสาหาเรื่องเขา บางทีก็เป็นเพื่อนกันสุขทุกข์ด้วยกัน บางทีก็เป็นแม่เรา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเช็ดน้ำมูกน้ำลาย หลวงตาไปเห็นผัวเมียกัน สามีเขาป่วย ภรรยาก็เช็ดน้ำลายให้สามี เอาผ้าเช็ดให้ ผ้าที่เช็ดน้ำลายจากสามี ตัวเองก็นั่งน้ำตาไหล เอามาเช็ดหน้าด้วย ไม่รังเกียจเลย ใช่ไหม นี่แม่เรา ภรรยาเหมือนแม่ สามีเหมือนพ่อ อย่าไปมองแค่อะไรนิดหน่อยแล้วตัดสินใจ ไม่ได้นะ ต้องมองยาว ๆ ไว้ อยู่ด้วยกันอย่าใจสั้น ๆ ให้ใจยาว ๆ
ไม่เป็นไร ช่างหัวมัน อย่าถือสาหาเรื่องกันไป ฝึกอย่างนี้มันจะใจดี ใจดีแบบนี้ได้บุญนะ ใจดีอย่างนี้ได้สวรรค์ ใจดีอย่างนี้ได้นิพพาน