แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมตามกาลตามเวลาเป็นมงคลอันสูงสุด ปฏิบัติธรรมก็เป็นมงคลอันสูงสุด หลาย ๆ อย่างที่เป็นมงคลแก่ชีวิตของเรา หาไม่ยากในกายในใจเรา หาที่พึ่งอันเกิดจากกายจากใจเรา ในยามที่เราอาภัพอับจนจะได้มีที่พึ่ง เรียกว่ามีสติอยู่ที่กาย มีสติอยู่ที่จิตใจ อย่าให้กายมีสิ่งอื่นมาใช้ สิ่งอื่นมาใช้กาย สิ่งอื่นมาใช้ใจ หัดให้มีสติ เวลาอะไรเกิดขึ้นที่กายที่ใจก็ให้มีสติ หัดเอาไว้ ฝึกเอาไว้ อย่าประมาทในสิ่งอื่น ให้สิ่งอื่นมาอยู่ในกายในใจ จะได้ไม่จน
เหมือนชาวนาชาวไร่ที่มีอาชีพทำไร่ทำนา ก็ต้องขยันทำนาทำไร่ เพื่อจะได้ปัจจัยมาใช้ในยามทุกข์เข็ญ ขาดแคลน จะได้มีกินมีใช้ ถ้ารักแต่ความสะดวกสบายขี้เกียจขี้คร้าน ก็จะลำบากมากขึ้น ให้ความเกียจคร้านพาไปให้เกิดความลำบาก ความประมาททางกายทางใจ ไม่มีสติ ปล่อยกายปล่อยใจทิ้ง ให้สิ่งอื่นมาใช้ หอบหิ้วไป ก็จะลำบาก เมื่อเกิดทุกข์เกิดโทษจะไม่มีที่พึ่งที่อาศัย
เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้เสียก่อน พึ่งกายพึ่งใจ เอากายมาทำความดี เอาใจมาทำความดี ตื่นแต่ดึก สึกแต่หนุ่ม โบราณท่านว่า อย่ารอให้เฒ่าให้แก่ เช่น หลวงพ่อ หลวงตา ในยามแก่เฒ่า ความทุกข์ความโกรธโลภหลงเกิดกับกายกับใจ เป็นส่วนตัวไม่มีใครมาทำให้ ก็ต้องรู้จักป้องกันรักษา พึ่งตัวเองได้แล้ว แล้วก็ค่อยพึ่งผู้อื่น เพื่อเป็นแรงสนับสนุน เมื่อพึ่งตัวเองไม่ได้ก่อน พึ่งคนอื่นก็ลำบาก เจ็บคนเดียว ทุกข์คนเดียว ตายคนเดียว ไม่มีใครมาเจ็บแทนเรา คนอื่นนั้นก็ช่วยเหลือส่วนอื่น ส่วนความทุกข์ความเจ็บเราต้องช่วยตัวเอง ถ้าไม่ช่วยตัวเองเป็นที่ตั้งเอาไว้ คนอื่นก็ช่วยได้ไม่มาก เป็นไม่มากก็จะเป็นมาก ถ้าไม่มีหลักในการใช้ชีวิตจริง ๆ เราจึงต้องฝึกเอาไว้ มีสติเอาไว้ เราต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไร เหมือนกับเราจะต้องหิวข้าว ต้องมีผ้านุ่งผ้าห่ม เราต้องกินข้าว มีข้าวที่ไหนมาไว้กิน มีผ้าที่ไหนมานุ่งห่ม มีที่อาศัยอยู่ที่ใดยามฝนตกแดดออก
ฉันใดก็ดี การไม่ประมาทในทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ในสิ่งทุกสิ่งนี้ มันต้องจำเป็นที่สุด จำเป็นมาก ๆ เวลาเป็นหนุ่มเป็นน้อยเป็นผู้มีกำลังวังชาก็อย่าประมาท อาศัยเมื่อแข็งแรงหนุ่มนี้สร้างความดีไว้ให้ได้ ยามแก่เฒ่าจะได้เป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อแข็งแรงมากไม่ทำความดี เราไปใช้ทำอย่างอื่น เมื่อเวลาเกิดความทุกข์ยากปัญหาต่าง ๆ ที่กายที่ใจ ไม่มีความดี ก็ทำไม่เป็น เกิดอาภัพอับจน
เมื่อทุกข์ก็เป็นทุกข์ เมื่อโกรธก็เป็นโกรธ เมื่อเจ็บก็เป็นเจ็บ เมื่อแก่ก็เป็นแก่ เมื่อตายก็เป็นตาย ตายเพราะความตาย เจ็บเพราะความเจ็บ เพราะมันเคยเป็นอย่างนั้น เหมือนกับหลงก็เป็นหลง ทุกข์ก็เป็นทุกข์ โกรธก็เป็นโกรธ เมื่อเราฝึกเอาไว้ หลงให้มันเป็นรู้ซะ มีให้เราฝึกอยู่ หลงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลายอย่างที่เป็นวัตถุอุปกรณ์ให้เกิดความหลงทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ เมื่อเราไม่มีสติฝึกตนสอนตน ก็รักใคร่ต้อนรับให้เกิดความไม่ถูกไม่ต้องกับกายกับใจ อย่าถือว่าไม่มีความผิด
แม้แต่ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลงเกิดขึ้นที่กายที่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อย่าประมาท เหมือนกับบาปเมื่อทีละน้อยก็จะมากขึ้นได้ เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ตุ่มทีละหยดก็เต็มตุ่มได้ บาปที่เกิดขึ้นที่กายที่ใจ ไม่รู้จักแก้ไขป้องกัน ปล่อยให้เกิดขึ้น ความโกรธโลภหลงที่กายที่ใจ ความสุขความทุกข์ที่กายที่ใจ มันก็จะมากขึ้น จนมันเป็นเจ้าของกายเจ้าของจิตใจ เงินทองการใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พาให้ยากจนได้ถ้าไม่รู้จักใช้จ่าย การใช้ทีละมาก ๆ อาจจะคิดหน้าคิดหลัง แต่มีไม่มากเท่าการใช้ทีละเล็กละน้อยซึ่งไม่ค่อยคิดกัน แต่ทำให้คนยากจนจำนวนมาก เหมือนกับเก็บเงินทีละเล็กละน้อย มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อาจจะมีเงินหมื่นเงินพันจากเงินหนึ่งบาทสองบาทได้เช่นกัน
ความดีมีสติที่เคลื่อนไปในกายในใจ แม้ไม่มากแต่ก็อาจจะมีโอกาสมากขึ้นถ้าทำบ่อย ๆ หัดรู้สึกตัวไปกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ายังไม่มีโอกาส ก็เพิ่มเติมไปกับการใช้ชีวิต ถ้ามีโอกาสเหมือนพวกเราที่อยู่ในวัดวาอาราม เป็นนักบวช ก็อย่าไปทำอย่างอื่น ให้เอาชีวิตของนักบวชอยู่วัดวาอารามนี้มาเป็นอาชีพ สิกขาธรรม เป็นหน้าที่โดยตรง ฝึกตนสอนตน ให้เวลาเป็นส่วนตัว ไม่มีใครมาแบ่ง เมื่อมันมาเกิดที่กายที่ใจตัวเอง ก็จะได้แก้เฉพาะเรื่องเกิดที่กายที่ใจ เห็นอะไรที่มันเกิดขึ้นไม่ดีที่กายที่ใจ ก็จะได้แก้ เปลี่ยนให้รู้ มีกรรมฐานเป็นเกณฑ์ชี้วัดเจ้าของอยู่ที่กายที่ใจอยู่แล้ว ก็สะดวกในการใช้สิ่งที่มันเกิดขึ้นมากับกายกับใจที่ไม่ใช่สติ ใคร ๆ ก็รู้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่ใช่สติ ถ้ามีสติจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ให้หัดเปลี่ยนอะไรที่มันเกิดกับกายกับใจให้เป็นความรู้สึกตัว ก็ให้หัดไว้ฝึกไว้อย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม
เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนอะไรที่ไม่ดีเป็นรู้ เป็นรู้ ก็จะชำนิชำนาญ การชำนาญในทางนี้ก็เป็นผลขึ้นมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นมา การทำความดีที่เกิดกับกายกับใจ อันเป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน จุดหมายปลายทางมันเป็นแล้ว ถ้าปล่อยให้กายให้ใจเกิดความไม่ดี เป็นบาปอกุศล เป็นทางไปสู่อบาย เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นอสุรกาย มันมีสมองคิดของรูปของนามนี้ ของกายของใจนี้ คือคนเป็นเป็นนี้ไม่เหมือนสัตว์อันอื่น มีวิชชา
อวิชชาเหมือนป่าเหมือนดง ทำให้หลงทุกเรื่องทุกราว วิชชาคือทำให้รู้ ไม่ให้หลงทุกเรื่องทุกราว มันมีอยู่ที่คน มีรูปมีนาม มันจึงมีศาสนามีคำสอนของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น มีวิธีปฏิบัติที่เรียกว่าธรรมะ มีการปฏิบัติตามธรรมแล้วได้ผลขึ้นมาเรียกว่ามีพระสงฆ์ เป็นหลักเกณฑ์ชี้วัดเอาไว้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา ไม่มีธรรมะ ไม่มีพระสงฆ์ ไม่มีพระรัตนตรัย มันก็จะป่าเถื่อน ก็อยู่กันลำบาก จึงมีวิธีปฏิบัติต่อกายต่อใจเรียกว่าธรรมวินัย ระเบียบวินัย เพื่อจะได้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ มีวิญญาณ มีจิตวิญญาณ ถ้าไม่ฝึกมันก็จะทุกข์เกิดโทษต่อกันและกัน ต่อตนเองด้วย ต่อผู้อื่นด้วย มันมีจิตวิญญาณ ความโกรธเกิดขึ้นที่จิตใจ มันก็มีผลกระทบต่อสิ่งอื่นวัตถุอื่น ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เป็นทุกข์เป็นโทษ คนชั่วเกิดขึ้นในคนหนึ่งในร้อยคนพันคน คนร้อยคนพันคนก็ลำบากเดือดร้อน จึงมีศาสนาขึ้น มีวิธีปฏิบัติต่อกายต่อใจ มีสติ เป็นสภาวะที่รู้กายใจนี้ ศึกษาตามสภาวะที่รู้ ศึกษาตามท่านผู้รู้ สิ่งที่รู้คือสติ
คนอื่นสอนก็ไม่ถึงกายถึงใจจริง ๆ เพียงแต่เป็นสัญญาจำได้เฉย ๆ เป็นความรู้ที่เป็นสัญญา ไม่ใช่รู้แบบรู้แจ้งรู้จริง คนอื่นสอนเพียงรู้จำ มันใช้ไม่ค่อยได้ ใครก็รู้ว่าความทุกข์ไม่ดี ความโกรธไม่ดี แต่ยังโกรธยังทุกข์อยู่ ไม่ถึงธรรมจริง ๆ ความรู้ที่คนอื่นสอน ส่วนความรู้ที่เกิดจากตัวเราเองคือความรู้สึกระลึกได้นี้ เราต้องสอนตัวเรา ไม่มีใครสอนตัวเราได้ในเรื่องความรู้สึกตัวนี้ เราหลงเองเราก็ต้องรู้เอง เราโกรธเองเราก็ต้องรู้เอง เราทุกข์เองเราก็ต้องรู้เอง ตัวใครตัวมัน จึงต้องจำเป็นมากในเรื่องนี้ ปล่อยทิ้งไม่ได้ ถ้าปล่อยทิ้งความชั่วความผิด อวิชชาให้เกิดขึ้นที่กายที่ใจ มันก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น ไม่ได้ประโยชน์กับกายกับใจเลย
กายใจถ้าเราไม่ศึกษา เห็นเป็นกายเป็นใจ เอามาเป็นตัวเป็นตน ถ้าเรามีสติจะเห็นเป็นรูปเป็นนาม ความเห็นมันต่างกัน ระหว่างเห็นกายกับเห็นใจว่ามีกายมีใจ มีกายมีใจมันเป็นตัวเป็นตนได้ง่าย ร้อนก็คือตัวเราร้อน หนาวก็คือตัวเราหนาว ทุกข์คือตัวเราทุกข์ หิวคือตัวเราหิว เกิดแก่เจ็บตายคือตัวเรา เมื่อไม่รู้จักแยก จนง่ายไม่มีทางออก ถ้าเรามีสติศึกษาดูรูปแบบของกรรมฐาน ดูกายเคลื่อนไหวเห็นใจคิดนึก มันจะต่างกันนะ ดูกายเคลื่อนไหว เห็นใจมันคิด ก็เห็นเป็นรูปเป็นนาม ได้สอนกายได้สอนใจ เมื่อเห็นเป็นรูปเป็นนาม มันก็แตกฉานไปไกล มีทาง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามมันเป็นอาการ ไม่ใช่ตัวใช่ตน เห็นตามความเท็จความจริง สามารถเรียกได้ ความหลงไม่ถูกต้องจริง ๆ ถ้ามีความรู้เป็นเกณฑ์ชี้วัดเอาไว้ แล้วไม่ได้ปล่อยความหลงทิ้งไว้ที่กายที่ใจ แต่รู้จักแก้ ปล่อยทิ้งไม่เป็น จำเป็นมาก ๆ เวลาหลง จำเป็นต้องรู้ มันก็เกิดปฏิบัติธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมาต่อกายต่อใจ ต้องรู้จัก ทีแรกก็หัดให้รู้ เวลามันไม่รู้ มันทุกข์มันไม่ทุกข์ มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากความทุกข์ เวลามันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง พ้นจากความหลง มันก็ชิน มันก็ชำนาญทางขึ้นมา การชำนาญทางนี้ มันก็ล่วงพ้นภาวะเก่าได้ เรียกว่าวิปัสสนา เห็นความเท็จความจริงที่เกิดกับกายกับใจ รู้จักเลือก ไม่ต้องมีใครมาบอก เป็นปัจจัตตังของผู้ปฏิบัติ อย่าปล่อย ถ้าเราไม่รู้อะไร ปล่อยให้อะไรเกิดขึ้นที่กายที่ใจ เป็นกายเถื่อนใจเถื่อนมากมาย แล้วแต่อะไรจะหอบหิ้วไป
เมื่อเราได้ศึกษาเห็นทิศเห็นทาง ก็มีความกระตือรือร้นที่มาช่วยดูแลกายใจ กายใจก็มีความเป็นธรรมเกิดขึ้น เมื่อกายเมื่อใจได้รับความเป็นธรรม ความเป็นธรรมที่เกิดกับกายกับใจมันเป็นมรรคเป็นผล เรียกว่าธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้มันเป็นมรรคเป็นผล มันเกิดขึ้นที่กายที่ใจของคน ไม่ใช่เกิดจากตัวหนังสือ มันก็เป็นทิศเป็นทางไม่จนง่าย เห็นรูปเห็นนามเห็นอาการที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม เห็นรูปธรรมเห็นนามธรรม มันทำดีมันทำชั่วในรูปนี้ นามนี้มันทำชั่วเป็น นามนี้มันทำดีเป็น รูปนี้ก็ทำดีเป็น ทำชั่วเป็น ทำดีมันก็มีคุณมีประโยชน์ ทำชั่วมันก็มีทุกข์มีโทษ เห็นอย่างนี้แจ้งชัดเจน ก็แก้ไขได้ เปลี่ยนได้ รูปมันทุกข์ นามมันทุกข์ ไม่เห็นความทุกข์ เลยปล่อยให้รูปให้นามทิ้งไป ไม่รู้จักช่วยเหลือ ปล่อยทิ้ง จมไปกับอะไรต่าง ๆ
พอมาเห็นรูปมันทุกข์นามมันทุกข์ ก็กระตือรือร้นช่วยรูปช่วยนาม เป็นรูปโรค นามโรค รูปทุกข์ นามทุกข์ มันยังพอเห็นโรคที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนาม โรคเจ็บไข้ได้ป่วย โรคที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามเป็นอาการเป็นอารมณ์ เป็นความโกรธความโลภความหลง ความวิตกกังวล เศร้าหมอง พวกเคียดแค้นชิงชัง โรคที่เกิดขึ้นกับนามมี 2 อย่าง คือ โรคอันหนึ่งที่ต้องอาศัยหมอ กับโรคอีกอันหนึ่งที่อาศัยหมอไม่ได้ ต้องอาศัยตัวเอง
ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความอะไรต่าง ๆ ที่มันเคยไม่เป็นธรรม เกิดความโกรธก็โกรธไปเลย เกิดความทุกข์ก็ทุกข์ไปเลย นี่แหละโรค รูปโรค นามโรค ใช้ชีวิตไม่เป็น ใช้กายไม่เป็น ใช้ใจไม่เป็น มันก็เปรอะเปื้อนด้วยโรคชนิดนี้มากมาย กินเหล้า สูบบุหรี่ กิเลส ตัณหา ราคะ จริตนิสัยไปต่าง ๆ จริตนิสัย ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต เกิดขึ้นกับรูปกับนามเรียกว่ารูปโรคนามโรค เมื่อมันเกิดรูปโรคนามโรคขึ้นมาก็เป็นสมมติบัญญัติ ว่าตัวว่าตนตาม ๆ มัน
โกรธก็นึกว่าตัวเองโกรธ ถ้ากูได้โกรธ ตายไม่ลืม เอาโรคนี้ เอาสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษมารับใช้สิ่งเหล่านั้น ถ้ากูได้โกรธ กูต้องด่ามัน ต้องฆ่ามัน ทำลายมัน กูต้องทอดทิ้งมัน ทำตามความโกรธ พี่น้องพ่อแม่ลูกเต้า ถ้าทำตามความโกรธก็ทะเลาะฆ่ากันเข่นฆ่ากันได้ ถ้าทำตามความรักมันก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง ก็เสียผู้เสียคน จึงมาเห็นอันตรายที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามนี้ เป็นรูปทุกข์ นามทุกข์ รูปโรค นามโรค รูปสมมติ นามสมมติ บัญญัติขึ้นมา ทำตามมันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เสียใจ น้ำตาร่วงน้ำตาไหล ไม่เคยช่วยกายช่วยใจ น้ำตาซึมเลยละ เปลี่ยนแปลง เกิดเมตตากรุณาสงสารอะไรต่าง ๆ เห็นบุญคุณของคุณพ่อคุณแม่ เห็นบุญคุณของแผ่นดิน เห็นบุญคุณของอะไรต่าง ๆ เกิดรักแผ่นดินมาก แผ่นดิน แม่น้ำ อากาศ เราอาศัยสิ่งเหล่านี้แต่ไม่เคยช่วยสิ่งเหล่านี้เลย ตัดไม้ทำลายป่า ทำความชั่วไม่รู้สึกตัว ทำความดีมีไม่มาก เท่ากับความชั่ว ใช้กายใช้ใจ
ทำความดีก็เป็นประเพณีไปเฉย ๆ ไม่ได้ถึงจิตถึงใจ ไม่ได้ละที่จิตที่ใจ พาไปทำบุญก็ไปทำ พาไปสร้างวัดสร้างวาก็ทำ ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ทำ ใส่บาตรก็ใส่ แต่เป็นการกระทำตามประเพณี ไม่ถึงใจ ใจไม่ได้มาก่อน เอาพิธีไปก่อน เป็นศาสนพิธี ส่วนมากไม่ถึงศาสนธรรม ที่เป็นธรรมที่เป็นกุศลมาถึงใจ ถ้าเป็นความอาศัยก็อาศัยบุญอาศัยพระ ที่ว่าไปใส่บาตรก็จะได้บุญ ไปสร้างกุฏิสร้างโบสถ์ไปสร้างวิหารก็จะได้บุญ เอาบุญจากคนอื่น
พอมาเห็นรูปทุกข์นามทุกข์ เห็นรูปสมมตินามสมมติ เห็นรูปโรคนามโรค ก็ช่วยเหลือรูป ช่วยเหลือนาม กว่าจะรู้จะเห็นเช่นนี้ ก็เป็นบุญจริง ๆ แล้วจิตใจก็ใจมันดีกว่าเก่า มันฉลาดกว่าเก่า ฉลาดในความไม่ดี ออกจากความไม่ดีเป็น เป็นความฉลาดที่นำหน้าการใช้ชีวิต ธรรมก็พาไปแบบนี้ ปฏิบัติมันพาไป ความถูกต้องมันพาไป ไกลจากความชั่วไปเรื่อย ๆ ไกลจากข้าศึกไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนร้ายเป็นดีไปเรื่อย ๆ
รูปสมมติ นามสมมติ เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่ใช่ตัวตน เห็นความเป็นทุกข์เกิดขึ้นที่รูปที่นาม คุ้มหัวมันอยู่รูปนามนี้ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน ยิ่งใหญ่ในโลก โลกที่อยู่กับรูปกับนามนี้ ยิ่งใหญ่มาก ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่ครอบงำรูปนามไว้ทั้งหมด ในโลกทั้งหมด แผ่นดิน แผ่นฟ้า อากาศ ในตัวนอกตัวเราด้วย เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตน เป็นสามัญลักษณะเสมอกันหมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลก
เมื่อใดถูกความไม่เที่ยงมาถึงตัว ก็เป็นทุกข์ เมื่อใดเกิดความเป็นทุกข์มาถึงรูปถึงนาม ก็เป็นทุกข์ เมื่อก่อนไม่รู้ก็เป็นเช่นนั้น ทุกข์ก็เป็นทุกข์ พอมาเห็นความเท็จความจริง มันเห็นแจ้ง ความไม่เที่ยงจะให้มันเที่ยงได้อย่างไร ก็เป็นวิชชาเกิดขึ้นตรงนี้ เมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้นจะให้มันเที่ยงได้อย่างไร มีปัญญาเกิดขึ้นตรงนี้ ทะลุทะลวงได้ มันควบคุมเรา เราก็ควบคุมมันได้ตรงนี้ รู้เรื่องนี้ มันก็เหมือนกับรู้ทุกอย่าง หลุดไปเลยบางอย่าง เมื่อมันทุกข์จะให้เป็นสุขได้อย่างไร เพราะความทุกข์มันก็ต้องเป็นทุกข์ มันจะไม่เป็นสุขเด็ดขาด จะให้ทุกข์เป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นหน้าที่ของทุกข์ มันก็ทุกข์อย่างนั้น เราไม่เป็นทุกข์เพราะความทุกข์ เราไม่เป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ตรงนี้มันโดดได้ เรียกว่าพ้นโลกก็ว่าได้นะ ตรงนี้มันพ้นโลก เหมือนกับเพียงพอ
เมื่อมันผ่านพ้นไป หลุดพ้นไป หลาย ๆ อย่างที่เห็นความเท็จความจริงที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามนี้ มันก็บอกเราสอนเรา บอกผิด บอกถูก ความเท็จ ความจริง อย่างไร มันก็มีปัญญาฉลาดแตกฉานในความผิดความถูกที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม ไม่ใช่ไปเห็นคนอื่นสิ่งอื่น เห็นตัวเองชัดเจนแม่นยำ ผิดอะไรถูกอะไร อะไรผิดอะไรถูกอย่างไร ไม่โง่ เปลี่ยนแปลงไปทางด้านจิตใจ เห็นวัตถุปรมัตถ์อาการ ความจริงต้องมีความจริงอยู่เสมอ ความไม่จริงต้องเป็นความไม่จริงเสมอไป ความโกรธไม่จริง ความไม่โกรธมันจริง ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง เมื่อความไม่จริงอยู่ที่ใด ความจริงเกิดขึ้นที่นั้น ความแก่เกิดที่ใด ความไม่แก่เกิดขึ้นที่นั้น ความเจ็บเกิดขึ้นที่ไหน ความไม่เจ็บเกิดขึ้นที่นั้น ความตายเกิดขึ้นที่ไหน ความไม่ตายเกิดขึ้นที่นั้น มันก็โดดได้ มันก็พาไป ธรรมพาไป
ทีแรกก็ฝึกปรือเสียหน่อย เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ก็ยาก มันก็หลงมากที่สุด เดินจงกรมก็หลงมากที่สุด สร้างจังหวะก็หลงมากที่สุด แต่พอถึงโอกาสมันก็ไม่มี มีแต่มาช่วยเรา ศีลมาช่วย สมาธิมาช่วย ปัญญามาช่วย ตรงไหนที่บาปก็มีบุญมาช่วย ตรงไหนที่โง่ก็มีความฉลาดมาช่วย ช่วยกายช่วยใจ ความเท็จ ความจริง ปรมัตถสัจจะ สมมติบัญญัติ วัตถุอาการต่าง ๆ ในโลก ในตัวเราก็เป็นวัตถุอาการต่าง ๆ ในโลกก็มีวัตถุอาการต่าง ๆ ในโลกเต็มไปด้วยสมมติ เต็มไปหมดเลย ชื่อเสียงต่าง ๆ ของเราก็เป็นสมมติ
สมมติบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ หลวงพ่อคำเขียนก็เป็นสมมติ ถ้าพูดให้ถูกต้องก็คือเป็นรูปเป็นนาม ถ้าใช้สรรพนามแทนตัวก็บอกว่ารูปนาม รูปนามขอลาไปโน้นไปนี่ ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อขอลา นี่เป็นสมมติใช้กัน ภาษาปรมัตถ์ไม่มีสมมติ ไม่มีคำพูดที่พูดถูก เช่น ความโกรธก็พูดไม่ถูก ความทุกข์ก็พูดไม่ถูก เป็นภาษาปรมัตถ์ คนที่โกรธเองก็ต้องรู้เอง คนที่ไม่โกรธเองก็ต้องรู้เอง ปรมัตถสัจจะไม่มีภาษาพูด มันเป็นการสัมผัสของผู้ปฏิบัติธรรม จิตใจมันก็เปลี่ยนแปลงไป ธรรมพาไป เหมือนผ้าที่สกปรกเมื่อถูกซักฟอกออกก็สะอาด ความสะอาดหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองเกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ มันก็เรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง เกิดจากการปฏิบัติกับตัวเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไปคิดถึงคนอื่น มันเพื่อคนอื่นโดยตรง โง่ของใคร โง่ของเรา โง่ของคนอื่น เหมือนกันหมด เกิดแก่เจ็บตาย ถ้าเขาไม่รู้เรื่องเหล่านี้ เขาจะเป็นอย่างไร เวลาเขาเจ็บเขาไม่รู้ก็ต้องทุกข์แน่นอน เวลาเขาตายเขาไม่รู้ก็ต้องทุกข์แน่นอน เพียงแต่ความหลงก็ทุกข์แล้ว เพียงแต่ความโกรธก็ทุกข์แล้ว (จึง)กระตือรือร้นที่จะช่วย จะบอกจะสอนคนอื่น ลำดับลำนำตั้งแต่ต้น เบื้องต้นท่ามกลางที่สุด ตั้งต้นก็คือสติ ท่ามกลางคือสติ ที่สุดคือสติ จะทำท่าหลงขนาดไหนมันก็ไม่หลง เหมือนคนชำนาญทาง บางทีเหมือนกับเราหัดขับรถ ขี่รถจักรยาน ทางลดทางเลี้ยวที่ไหนจะหัดอย่างไร ตั้งใจจะเลี้ยวมันก็เลี้ยวไม่เป็น พอมันเป็นแล้ว มันพาไปเอง ธรรมพาไปเอง มันทำได้อย่างนี้ มันปฏิบัติได้อย่างนี้ ทุกคนก็ทำได้อย่างนี้ ก็เลยต้องพูดต้องสอนกัน เวลามันหลง ไม่หลงก็ได้ เวลามันทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ เปลี่ยนได้อยู่
เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำส่วนตัวเรานี้ มันก็เป็นส่วนรวม มันไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้ใครลำบาก แม้แต่อะไรต่าง ๆ ในโลกนี้จะไม่ทำให้ลำบากเดือดร้อน เราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติ ถ้าไม่จำเป็นอะไรก็อย่าห่วงหน้าห่วงหลัง ให้ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกันไป บางทีก็น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ให้หัดตัวเองที่มีครูอาจารย์ หัดตัวเองให้มีครูอาจารย์เสียก่อน มีจริง ๆ ครูอาจารย์ พระพุทธเจ้าเป็นบรมครู เลียนแบบ มีบรรพบุรุษ มีบูรพาจารย์เกิดขึ้นในโลกนี้
เห็นพระผ่าฟืนเมื่อวาน เออ! เว่ยหล่าง เว่ยหล่างผ่าฟืนก็ผ่าแบบนี้ละมั้ง ตำข้าว เว่ยหล่างตำแต่ข้าวผ่าฟืน โอ! นี่ผู้ผ่าฝืนผู้ตำข้าวได้เป็นสังฆราช โศลกธรรม ไม่งั้นก็ทำไป มีสติได้ทุกรูปแบบ ผ่าฟืนก็มีสติ ตำข้าวก็มีสติ หุงข้าวหุงปลาก็มีสติ ทำดี ที่ผ่าฟืนก็เป็นประโยชน์ต่อคนอีก หลวงพ่อไม่ได้ผ่าก็เป็นคุณต่อหลวงพ่อด้วย จะได้ไปนึ่งไปหุง หุงข้าว ลวกผัก ต้มแกง ต้มข้าว ก็มาจากผ่าฟืน มีฟืนมีพลังงานใช้ เราก็กินข้าวต้ม แล้วคนที่ต้มข้าวดีที่สุดคือคุณหมู ต้มข้าวแซ่บที่สุดเลย ถ้าจะไปไหนก็หัดสอนคนอื่นให้ต้มข้าวด้วย (หัวเราะ) ให้ต้มอย่างนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้ไปไหน ทุกคนอยู่ด้วยกันนี้ ถ้าไม่จำเป็นหนักหนาสาโหด พระเราก็อยากให้อยู่ในเพศนักบวชอย่างนี้ อาศัยหนุ่มเพื่อสร้างความดี แม่ชีหนุ่ม ๆ ก็ให้อาศัยความหนุ่มเพื่อสร้างฐานะทางจิตวิญญาณของเรา ให้พึ่งพาอาศัยกัน
เราอยู่ด้วยกันมันก็ยังมีคนหวังพึ่งเราอยู่ อุ่นอกอุ่นใจ เป็นที่พึ่งพาอาศัย เห็นเพื่อนผ่าฟืน เออ! เราก็พึ่งได้ เห็นคนหุงข้าว เออ! เราก็พึ่งได้ เรามีคนที่หวังพึ่งพาอาศัยเราอยู่เท่าไร แม้แต่สัตว์สาราสิ่งป่าไม้อากาศก็ยังพึ่งเราอยู่ มันไม่คับแคบเป็นนักบวชนี้ กว้างใหญ่ไพศาล ถ้าจะไปอยู่กับลูกกับหลานก็ได้ แต่มันคับแคบ อันนี้ใจมันกว้างขวาง คล้ายเป็นเมตตากับเป็นอัปปมัญญาไม่มีขอบเขต ถ้ามีความสงสารก็มีขอบเขต มีมุทิตามีอุเบกขาก็ไม่มีขอบเขต ไม่มีศัตรูคู่อริ อุเบกขาได้ทั้งหมด เมตตาได้ทั้งหมด สัตว์สาราสิ่งอะไรต่าง ๆ ... เกิดที่ใจของคนปฏิบัติธรรมนี้
ไม่มีวิธีอื่นหรอก มีแต่สติไปในกายตามที่พระพุทธเจ้าสอนนี่แหละ อย่าไปคิดอย่างอื่น แต่บางคนก็หลงไป ไปเป็นอันอื่นไป ปรุงแต่งไปเป็นอะไรต่าง ๆ ก็มีสตินั่นแหละดีที่สุด