แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน หลวงตาเป็นผู้พูด ท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟัง ฟังแล้วเอาไปท ตามคำที่ได้ยิน ถ้าฟังแล้วไม่มีการกระทำเกิดขึ้น ก็ไม่มีประโยชน์ เพื่อเอาไปเป็นการประกอบกัน สิ่งที่เราได้ฟังเป็นสิ่งที่เราได้ทำ สิ่งที่เราได้ทำเป็นสิ่งที่เราได้ฟังมา มันก็เป็นการกระทำเกิดขึ้นที่เป็นกรรม ถ้าสิ่งใดที่ทำลงไป ไม่มีเจตนา การกระทำนั้นก็ไม่มีประโยชน์ เช่น เรายกมือสร้างจังหวะ ไม่มีเจตนา การกระทำนั้นก็เป็นกตัตตากรรม เป็นกรรมที่ไม่มีผล ตอนนั่งหลับตาว่าตัวเองทำสมาธิ ปล่อยให้หลับ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องนั่งทำสมาธิในรูปแบบ ปล่อยให้จิตใจคิดฟุ้งซ่านไหลไป อดีตบ้าง อนาคตบ้าง อันนั้นก็ไม่มีประโยชน์ นั่ง 8 ชั่วโมงก็ไม่มีประโยชน์ บางทีเราง่วงหงาวหาวนอน สัปหงก นั่งอยู่สัปหงก เวลาเราง่วง เราก็หลับตาปรี่เข้าไป อ่อนแอไป คอตก สัปหงก นั่งอยู่เท่าไร ก็นั่งสัปหงกอยู่อย่างนั้นไม่ใช่ทำความเพียร ไม่ใช่ฝึกสมาธิ
สมาธิคือมีที่ตั้ง มีที่เกาะ มีหนึ่งเดียว เช่น เรานั่งสร้างจังหวะ ใส่ใจที่รู้การเคลื่อนไหวของกาย การรู้สึกตัวเป็นการฝึกจิตไปพร้อมๆ กัน ขณะที่มือเคลื่อนไหว หรือขณะที่เดินจงกรม ขณะที่ดูลมหายใจ จะจับจุดใดจุดหนึ่งเป็นที่ตั้ง มีสติรู้สึกตัวกับที่ตั้งนั้น เป็นปัจจุบัน เป็นปัจจัตตัง นั่นเรียกว่าฝึกสมาธิ ตั้งเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่าสมาธิ ใส่ใจรู้อยู่ การฝึกสมาธิที่ใส่ใจที่รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวก็มากขึ้น การฝึกสมาธิไปใช้กับงานกับการก็ได้ การงานก็สำเร็จ ไม่ทอดทิ้ง อันนั้นแปลว่าฝึกสมาธิ อ่านหนังสือก็ติดง่าย อัตตาหะ เวชิตัง เสยโย ชนะตนนั่นแล เป็นสิ่งประเสริฐ อ่านรอบเดียวก็ติดแล้ว ถ้าคนใจลอย ว่าแต่ปาก อ่านหนังสือไม่ใส่ใจ ว่าสิบเที่ยวก็ไม่ติด เพราะไม่มีสมาธิ ทำอะไรก็ตามถ้ามีสมาธิมักจะสำเร็จประโยชน์ ชัดเจน แม่นยำ เป็นการพัฒนาชีวิตในด้านดีขึ้น ถ้าทำสิ่งใด ไม่ใส่ใจ เป็นการเลวลง เขาเรียกว่าหายนะ เสื่อม ถ้าทำสิ่งใดด้วยความตั้งใจ เรียกว่าวัฒนะ ดีขึ้น
เรามาฝึกสติ ใส่ใจที่รู้สึกตัว ฟังนิดหน่อยก็ได้ เอาไปทำ ไปทำเอง ไม่มีใครพูด ก็อย่าไปเอาความเข้าใจที่เป็นคำอธิบาย ด้วยเหตุด้วยผลเพียงพอ ก็อย่าด่วนไปเอาของเขามาเป็นของเรา เราต้องทำให้เกิดขึ้น สมัยที่ปฏิบัติใหม่ๆ ก็เคยไปปฏิเสธ เราก็ทำอยู่ แต่มันไม่รู้ ไม่เข้าใจ เหมือนที่หลวงพ่อเทียนพูด ลองมาทำให้มันรู้เอา เพราะว่าผมจะทำเอาเอง ไปทำเองดอก มันรู้ไม่รู้ ขอให้ทำเอง ถ้าจะเอาความเข้าใจมันง่ายนิดเดียว ฟังเข้าใจ ก็เป็นการจินตญาณไป ไม่ลงตัว แต่ความเข้าใจมีอยู่ เหตุผลมีอยู่ แต่ยังมีความโกรธ กิเลส ตัณหา มีอยู่ รู้อยู่ อันนั้นเป็นความเข้าใจ มันไม่เป็น ทำไม่เป็น มีแต่ความรู้
กรรมฐานต้องฝึกให้มันเป็น ไม่ใช่เอาความรู้ ฝึกเป็นตรงไหน ฝึกเป็นตรงที่มันหลง เรารู้สึกตัว แต่ก่อนเวลาหลง ตั้งใจที่รู้กับการเคลื่อนไหว อาศัยนิมิตรนี่ไปก่อน กลับมาหาที่ตั้ง พอทำไปๆ ไม่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวเลย พอมันหลงก็เป็นเหตุให้รู้ อยากให้มันหลง มันจะได้มีความรู้ ท้าทายเลยทีเดียว เหมือนคนชำนาญในการงาน ท้าทาย ตีตะปูมือเดียว ไม่ต้องจับ เอาค้อนจับตะปูเลย เอาค้อนจับตะปู เอาค้อนตีตะปูอันเดียว มือหนึ่งห้อย ห้อยตัวไว้ มือหนึ่งก็เอาตะปู เอาใส่ค้อน เอาค้อนตอก ก็ทำได้ถ้ามันชำนาญในการงาน
เหมือนอาจารย์ทรงศิลป์ อาจารย์ตุ้ม สำเร็จสถาปัตย์ จะเขียนอะไรมาทำเล่น เหมือนอาจารย์ไพศาลเล่นคอมพิวเตอร์ อาจารย์ไพศาลพิมพ์ดีด ไม่ต้องไปดูพิมพ์ดีด มือมันไปเอง แต่เราไปหัดนี่ ต้องดูอักษร ค่อยๆ เต้นไป เวลามันผิด อาจารย์ไพศาลก็รู้ ไม่ได้ดู ตาไปอ่านหนังสือ หลวงพ่อเล่นดนตรี มือมันเต้นไปเองในโน้ตต่างๆ ไม่ต้องไปคลำหา เสียงมันอยู่ที่ใด โน้ตอยู่ที่ใด มือมันเต้นไปเอง เพราะมันเป็น อันนี้คือฝึกให้เป็น ไม่ใช่เรียนให้รู้
การฝึกสมาธิเนี่ย คือการฝึกให้มันเป็น เอาไปทำเอา เหมือนเด็กน้อย มันจะกินนมกล่อง พ่อแม่เอาหลอดสอดให้ มันร้องไห้ ไม่เอาๆ ทำเองๆ ถ้าเด็กคนใดคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น แสดงว่าเจริญ ถ้าเด็กคนไหนไม่อยากทำอะไร อันนั้นอ่อนแอ ไม่พัฒนาชีวิต เหมือนเด็กบางคน มันทำเอง ทำเองกับมือ จับหลอดแทงตรงที่มันมีรอย แทงแล้วแทงอีกมันก็ไม่ถูก แทงแล้วแทงอีก แม่จะไปแทงให้ มันไม่เอา ไม่เอาๆ ทำเองๆ อย่างนั้นเรียกว่าเจริญ
การกระทำของเราก็เหมือนกัน เวลาใดมันหลง กระตือรือร้น กระหึ่มไว้ในใจ เวลามันผิดอะไรต่างๆ นอกจากมีความรู้สึกตัว เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวให้ได้ทุกครั้ง เรียกว่าปฏิบัติธรรม ไม่นาน ถ้าทำอย่างนี้ มันเห็นต่อหน้าต่อตาแท้ๆ ไม่ได้คิดหา ไม่ได้มโนภาพ ความหลงก็เกิดขึ้นมาเอง สอนจริงๆ ตรงจริงๆ จ๊ะเอ๋กันจริงๆ ความรู้กับความหลง มันจ๊ะเอ๋กัน เห็นบ่อย เห็นบ่อยๆ เข้า ชี้หน้ามันได้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม สัมผัสกับความรู้บ่อยๆ สัมผัสความหลงบ่อยๆ ก็ได้บทเรียนตรงนั้นที่มีค่ามาก
เวลาใดเราหลงเฉยเมย น้อมไปในความหลง มันก็อาจจะด้านได้ในความหลง ความหลงทำให้หน้าด้านได้ ไม่อาย ความโกรธทำให้คนหน้าด้านได้ ไม่รู้จักอาย ความทุกข์ทำให้คนหน้าด้านได้ ไม่รู้จักอาย หยาบคาย ไม่ใช่ดื้อ มันด้าน ล้มหมอนนอนอยู่เนี่ย เวลาใดมันง่วงขึ้นมา หาวอ้าปาก ตาก็หลับ อ่อนแอไปเลย ไม่สู้ มันก็อ่อนแอนะ 10 ปี 20 ปีก็นั่งง่วงอยู่ มันด้าน พอมันเกิดอะไรขึ้นที่ไม่ใช่สติ เปลี่ยนทันที กระตือรือร้นสักหน่อย
การฝึกตน สอนตนก็ต้องพอสมควร อย่าอ่อนแอ เรียกว่าฮึดสู้ ถ้าอ่อนแอมันก็พ่ายแพ้ ปราชัย ปราชัย คนมีแต่พ่ายแพ้ เรียกปาราชิก ไม่บรรลุธรรมกับเขาเลย ปราชัย คือ ปาราชิก ต้องมีการชนะบ้าง ชิตังเมบ้าง ชิตังเม ชนะแล้ว ชนะความหลง ชนะความทุกข์ ชนะความโกรธ ชนะกิเลสตัณหา ชนะแล้ว ชิตังเมๆ มีเหลี่ยมที่จะต้องมองตนอย่างสง่างามบ้าง อะไรก็อ่อนแอไปเลยไม่ได้ การฝึกตนสอนตนมันเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้า งมๆ ซาวๆ มันทำได้กับมือกับตากับใจของเรา ยกมือสร้างจังหวะเคลื่อนไหวไปมา เป็นของเท็จของจริงกับใจ อย่าไปเชื่อใคร ต้องเชื่อตัวเอง อาศัยตัวเอง
สิ่งใดที่เราทำเอง มันหลุดพ้นจากความผิดมาเป็นความถูก หลุดพ้นจากความทุกข์มาเป็นความไม่ทุกข์ นั่นแหละถือว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง สิ่งใดอ้อนวอนขอ อันนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สัจธรรม เวลาเราปฏิบัติธรรม มันพบทุกอย่าง แต่ไปตั้งเป้า เมื่อไหร่มันจะรู้ รู้ธรรมะจะเป็นยังไง มัวแต่ไปยังไงๆ ทำไมๆ อยู่ มันเนิ่นช้า เอาการกระทำบุกเบิกเข้าไป
ผู้ปฏิบัติธรรมไม่มีคำว่าทำไม ไม่มีคำว่าทำไม ภาษาไทยสั่งให้ตัดออกได้สำหรับนักกรรมฐาน ถ้านักทำงานทั่วไป ภาษาโลกต้องทำไมกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ กรรมฐานไม่มีคำว่าทำไม เวลามันหลง ทำไมจึงหลง เหตุที่มันหลง มันเกิดอะไร เรียก อิทัปปัจจยตา ไม่ใช่เป็นอะไรไปโทษอะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นอิทัปปัจจยตา เพราะมันหลง มันจึงทุกข์ เพราะมันหลง มันจึงโกรธ เพราะมันหลง มันจึงปรุงแต่ง ถ้ามันรู้สึกตัว มันก็ไม่ปรุงแต่ง อิทัปปัจจยตา อันความหลง ความรู้ ใครทำให้เรา มันอยู่กับเราแท้ๆ ต้นเหตุมัน เหตุปัจจะโย สิ่งใดเกิดที่เหตุ ดับที่เหตุ คาถาพระอัสสชิ คำนี้ได้บรรลุธรรมแล้ว สอนพระสารีบุตร สิ่งใดเกิดแต่เหตุก็ดับที่เหตุ พระตถาคตสอนอย่างนี้ พระตถาคตเป็นครูของเรา ครูของเราสอนอย่างนี้ เท่านี้เอง สารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมทันที
การเกิดที่เหตุ ดับที่เหตุ ใครเป็นคนสร้าง ก็เรานี่แหละ มันหลง ทำไมเล่ามันจึงหลง เพราะไม่มีสติ ทำไมไม่มีสติ เพราะไม่ประกอบ สติมันจะเกิดเพราะมีการประกอบ ถ้าไม่ประกอบมันก็ไม่เกิด มีอยู่ สติ ไม่ใช่หา ไม่ได้ไปหา ประกอบขึ้นมา ใช้ให้มาก ยิ่งใช้ยิ่งมาก โบราณท่านว่า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ รักยาวบั่นตัวหลง ให้รู้มากๆ ความรู้ก็ยาวไป รักสั้นให้ต่อ เวลามันหลง ต่อความรู้ ความหลงก็สั้นลง ไวๆ สักหน่อย เวลามันหลง อย่าหาเหตุหาปัจจัย มันเนิ่นช้า ความรู้สึกตัวมันมาไว หัดให้ไวๆ สติขึ้นมาไว สัมปชัญญะขึ้นมาไวก่อนอื่นเลย เรียกว่า จึงจะเป็นเรื่องของสติ ถ้ามาช้า ไม่ใช่สติ
แม้ว่ามันคิด ความคิดเกิดขึ้นก็อย่าทำตามความคิด การฝึกตนเนี่ย นั่งอยู่ มันคิดจะลุกก็อย่าลุกเลย ให้รู้สึกตัว อย่าให้ความคิดสั่ง เรามาให้สติเป็นใหญ่ เวลาเราเคลื่อนไหวไปมา ให้มีสติ เป็นเจ้าของกาย เวลาใดมันคิด ให้มีสติ เป็นเจ้าของจิตใจ เรียกว่าสมรสกับพระธรรม แต่งงานกับพระธรรม พระธรรมเป็นคู่ชีวิต ไปไหนอย่าไปคนเดียว ให้มีคู่ป้อง ไปกับสติสัมปชัญญะ
หัดเสียก่อน จึงจะเป็น ถ้าไม่หัด มันไม่เป็น ชีวิตเราเป็นสัตว์ประเสริฐ หัดได้ ถ้าไม่หัด ก็เลวที่สุด ตกนรกเป็นเปรต เป็นอสูรกายได้ ในภพภูมิต่างๆ เราจึงต้องฝึกตน สอนตน เราหัดแล้วมันใช้ได้จริงๆ เป็นผลเป็นมรรค เป็นผลเป็นนิพพาน ถึงที่สุดของชีวิต สุดยอดของชีวิต เรียกว่าไม่เสียชาติ คุ้มค่าน้ำนม ทำประโยชน์ได้มาก ถ้าไม่สร้างสรรค์ชีวิตเราในด้านนี้ก็เป็นโทษต่อตัวเอง เป็นโทษต่อคนอื่น เป็นโทษต่อสิ่งอื่น วัตถุอื่น ยุ่งยากมากขึ้น ไม่ยากขนาดที่ต้องไปสร้างคุกสร้างตะราง ชีวิตของคนเราเนี่ย เดี๋ยวนี้ต้องมีคุกมีตะราง มีศาสตราอาวุธ มีตำรวจ มีทหาร มีระเบิด มีรถถัง เพื่อไปเข่นฆ่ากัน ทำไมมนุษย์จึงเป็นอย่างนั้น ไม่สมควรเป็นอย่างนั้นเลย เป็นความผาสุกเกิดอยู่ในมนุษย์นี้ เป็นสัตว์ประเสริฐ
เราจึงมาฝึกตนนี้ ใช้สิทธิของเรา มันหลง เรามีสิทธิไม่หลง มีสิทธิของมนุษย์ มันโกรธ เรามีสิทธิไม่โกรธ มันทุกข์ เรามีสิทธิไม่ทุกข์ เราต้องใช้สิทธิให้ได้ อย่าเพิ่งยอม บางคนทำตามความโกรธ ทำตามความหลง ทำตามความทุกข์ อันนั้นไม่ใช่สิทธิ เป็นคนป่าเถื่อน เป็นธรรมาธิปไตย อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นการกระทำ ลิขิตชีวิตของตนเอง โลกาธิปไตย ไปช่วยโลก แผ่นดิน ท้องฟ้า อากาศ แม่น้ำ ต้นไม้ สัตว์สารสิ่ง ธรรมาธิปไตยให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดได้จากมนุษย์นี้ ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ก็เป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตราย
เดี๋ยวนี้แผ่นดินเกือบจะเหยียบไม่ได้แล้ว น้ำลอยวัวลอยควาย บ่อวัวบ่อควาย ใช้ไม่ได้ น้ำห้วยหนองคลองบึงก็ใช้ไม่ได้ ฝีมือของมนุษย์ ฝีมือของคน แต่ก่อนพระใส่รองเท้าแตะ เอาใบหญ้าเอาฟางถัก ต่อมาต้องสวมรองเท้าห่อนิ้ว ต่อมาอาจจะใส่บูท ทำไมล่ะ เพราะว่าแผ่นดินมีพิษมีภัย พวกเราเดินธรรมยาตราผ่านสิบยี่สิบหมู่บ้าน เอาสาธารณสุขไปด้วย ไปตรวจเลือด เดินไปบ้านใด ตรวจเลือดให้ชาวบ้าน ปรากฏว่าเลือดบวกเกือบ 80% ในบ้านแถวนี้ เขาก็โวยวายทำไมจึงเลือดบวก ผักก็ปลูกกินเอง น้ำก็รองน้ำฝนกิน อาหารก็ไม่ค่อยได้ซื้อ ระวังที่สุดแล้ว ทำไมมีเลือดบวก เขาก็เถียงเรา เถียงหมอ
หมอก็ถามว่า เดินไปไร่ไปนาไหม ก็ไปทุกวันนั่นแหละ ไปนาไปไร่ ที่นาที่ไร่เขาฉีดยาฆ่าหญ้า เขาใช้สารเคมีไหม ก็มีทั่วไป ที่ไร่ของตัวเองก็ฉีดว่างั้น แล้วก็ใช้น้ำห้วยหนองคลองบึงไหม ก็ใช้ ล้างขาล้างหน้า บางทีน้ำแช่ข้าว หุงข้าวก็เป็นน้ำห้วยน้ำหนอง มีน้ำบาดาลก็ไม่ค่อยสะอาด ก็นั่นแหละ หายใจอยู่ที่ไหน หายใจอยู่ที่กรัมม็อกโซนนี่ฉีดลงไป ฆ่าหญ้า 20% ความแรง 100% แต่ไปฆ่าหญ้า มันฆ่าหญ้า 20% มันไปตามอากาศ 20% มันลงไปในดิน 20% มันลงไปในน้ำ 20% เป็น 100% พอดี นั่นไปที่ไหนล่ะ ไปในดิน ไปในอากาศ ไปน้ำ ไปฆ่าก่อน ก็นั่นแหละ
แผ่นดินนี้เราจะอยู่กันยังไง ถ้าเราไม่ช่วยกันนะ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ปฏิเสธการรับผิดชอบ ร่วมกันคือมาตั้งต้นจากเราเนี่ย ทุกคนมาตั้งต้นจากชีวิตของคนคนหนึ่ง นับหนึ่งก่อน เราเนี่ย หนึ่งเนี่ย จะเพียรพยายามที่สุด ไม่ทำสิ่งใดที่เป็นไปเบียดเบียนตน บุหรี่ก็จะไม่สูบ เหล้าก็จะไม่กิน ไม่เบียดเบียนคนอื่น สิ่งใดเบียดเบียนตนจะไม่ทำ สิ่งใดเบียดเบียนคนอื่นจะไม่ทำ ด้วยการพูดการทำความคิด สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขีอัตตานัง ทำไว้ในใจเสมอ เพราะฉะนั้น ต้องตั้งต้นจากหนึ่งเสียก่อน นับหนึ่งจากทุกคน
อาจารย์ทรงศิลป์เขียนไว้ที่โรงทาน อ่านว่าไง ได้อ่านสักทีไหม ตัวเท่าเสาเนี่ย (หัวเราะ) เขียนว่าไง เจ้าของวัดไม่เคยอ่าน ไปดูอะไร ป่าดีอยู่ที่คน ป่า ดิน น้ำ อากาศดีอยู่ที่คน คนดีต้องอยู่ที่เรา ตั้งต้นตรงนี้ก็สำเร็จเลย คนไทยหกสิบกว่าล้านคน หนึ่งเรา แป๊บเดียว ทำไมต้องยุ่งยากเหลือเกิน นั่งอยู่นี่ อย่างน้อยตั้งร้อยคน คิดซะวันนี้ รู้สึกตัวซะ มันก็ทำง่ายนิดเดียวเท่านั้นเอง มีประโยชน์ต่อใคร
เราเป็นสัตว์สังคม มีใครล่ะ สามีก็มา ภรรยาก็มา นั่งอยู่ตรงนี้ มาทั้ง 2 คน ลูกชาย 2 คนมาบวช 4 คนแล้ว เอาล่ะลูก นั่งคุยกัน ต่อไปนี้มีเรานี้ มีพ่อมีแม่มีลูก มาช่วยกันพวกเรา อะไรที่มันดี เตือนกันนะ เวลาเตือนกันอย่าโกรธนะ ดูแลกัน จะทุกข์จะดีจะยากจะจนอยู่ที่เรา พ่อแม่ลูก พูดกัน ปวารณาต่อกัน มันจะต้องสำเร็จแน่นอน อะไรที่มันไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น ระมัดระวัง ตั้งต้นชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่ต้องตั้งต้นใหม่เสมอ มันเก่าเป็น
เหมือนหลวงตานี่ เขาให้มาเพราะเพื่อนป่วยอยู่ 2 ปี รพ.จุฬาฯ มากับ อาจารย์ตุ้ม อาจารย์โน้ส เขาให้เลือกบ้าน จะไปอยู่วัด เสนอวัด ไปดูวัดโน้นก็โอย มันอยู่ใกล้ทางรถไฟ เพราะอยู่ที่โน่นก็อยู่วุ่นวาย อากาศไม่ดี เราก็ใจเส้นฝ้าย ชีวิตเหมือนเส้นฝ้าย คอยจะขาด (หัวเราะ) ต้องถนอม เขาก็ให้เลือก แต่ถ้าจะให้มาอยู่วัดนี่ก็ไกลเกินไป นั่งรถไม่ไหว ก็เลือกที่ศาลายา เขาเสนอบ้านหลังหนึ่ง เขาเคยมาดู เออ อยู่บ้านหลังนั้น อยู่ได้ เขาก็มอบบ้านหลังหนึ่งมาอยู่ ก็เลยตั้งต้นชีวิตใหม่ที่นั่น คอยหายใจ คอยหัดเดิน หัดยืน หัดนอน ก็เรียกว่าชีวิตใหม่อยู่ที่นี่ เลยตั้งชื่อบ้านหลังนั้น ไม่ได้ตั้งหรอก นวชีวัน ชีวิตใหม่อยู่ที่นี่ เจ้าของบ้านเลยเขียนไว้เลย บ้านนวชีวัน ไว้เลย (หัวเราะ) ดีเหลือเกินเนี่ย ใหม่จริงๆ นะ
มันหลง ตั้งต้นใหม่ เวลาโกรธ เปลี่ยนใหม่ ความโกรธเหมือนหน้ามือ เปลี่ยนใหม่ มันจะได้ใหม่ พรหมจรรย์คือใหม่ ไม่เปรอะเปื้อน บริสุทธิ์ อาศรมพรหมจารีย์ ตั้งต้นจากความรู้สึกตัวเป็นพรหมจารีย์ บริสุทธิ์ ถ้าตั้งต้นจากความบริสุทธิ์ไป รู้สึกตัวไป รู้สึกตัวไป ต่อไปคฤหัสถ์จะต้องอานิสงส์จากพรหมจารีย์ไป เหมือนต้นไม้ที่ปลูกตรงๆ ขึ้นงาม ออกดอกออกกิ่งก้านสาขา คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ ต่อไปอีก สัณยาสีต่อไปอีก อาศรมพรหมจารีย์ 1 ปีถึง 20 ปี อาศรมคฤหัสถ์ 20 ปีถึง 40 ปี วานปรัสถ์ 40 ปีถึง 60 ปี สัณยาสี 60 ปีถึง 80 ปี สัณยาสี กินอานิสงส์ตั้งแต่ตั้งต้นมา ปีไป ถ้าไม่ตั้งต้นใหม่ มันก็เร็วไปเลย
บางทีเกิดมาสว่าง ไปมืด อาศรมทีแรกก็ดี พ่อดีแม่ดี สั่งสอนลูกเต้าเหล่ากอดี ลูกของคนมีอยู่ 3 ระดับ อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อกว่าแม่ พัฒนาสูงขึ้นไป หินชาตบุตร บุตรที่เลวที่สุด อวชาตบุตร บุตรเสมอพ่อเสมอแม่ มันเป็นไปได้ บุญเกิด พ่อแม่เป็นคนดี พ่อแม่เป็นครู เป็นหมอ เรียกว่าบุญเกิด ถ้ามีลูก ลูกเป็นคนดี ไม่ต้องมารับจ้าง ขุดมันตัดอ้อย จะกินอะไร ใช้อะไร พ่อแม่ให้โอกาส ให้เรียนหนังสือ ให้ทำงานอะไรต่างๆ นี่เรียกว่าบุญเกิดดีแล้ว ไม่ลำบาก ไม่ขี้ทุกข์ขี้ยากเหมือนหลวงตา
หลวงตาเป็นลูกกำพร้า เป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก หาคนอื่นทุกข์ยากเสมอเราไม่มีหรอก สมัยก่อนนะ (หัวเราะ) จริงๆ นะ ขอบคุณความทุกข์ยาก ทำให้เรามีความอดทน ไม่ย่อท้อ ขอบคุณความทุกข์ความยาก ไม่ประมาทเหมือนเขา เวลาไปเที่ยวงานเป็นหนุ่ม แอบยืนบังร่มเงาไม่กล้าไปประเจิดประเจ้อ เราเป็นลูกกำพร้า เราจะไปเกเรเหมือนเขาไม่ได้ เขาจะรังเกียจ สงบเสงี่ยมเจียมตัว ระมัดระวัง ขอบคุณความจน แต่บางคนให้ความจนพาทำความชั่ว กินเหล้าเมายา เกเร บุญเกิด บุญสอน บุญสร้าง
บุญสร้างต้องทำเอง แม้พ่อแม่ให้เกิดมาดี แต่ไม่มีบุญสร้างส่วนตัว ประมาทก็เลวทรามได้ ใช่ไหม ต้องสร้างเอาเอง ต่อไปต้องสร้างไม่มีใครให้กันได้ เรารู้ เราสร้างเอง พ่อแม่ให้ได้ไหม หลวงพ่อๆ ขอความรู้สึกตัวด้วย โอ๋ สาธุ ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มาช่วยด้วย ไม่มีทาง (หัวเราะ) ต้องสร้างเอา บุญสร้าง ให้ไม่ได้ รักขนาดไหนก็ให้ไม่ได้ นี่บุญสร้าง เป็นกรรมของเรา กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม อันนี้แน่นอน
บุญสอน บุญสอน พวกเราก็มีครูอาจารย์ทุกคน ได้เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นครู นี่ก็เป็นครู อาจารย์ เมื่อวานก็มีพ่อเป็นครูใหญ่ที่เคยเป็น ผอ. ที่นี่ เอาลูกสาวมาฝากปฏิบัติธรรมที่นี่ บุญเกิด บุญสอน ชวนลูกสาวเข้าวัด เนี่ยบุญสอนไป หลวงพ่อก็สอน อาจารย์ทรงศิลป์ก็สอน พระพุทธเจ้าก็สอน สวดสาธยาย บุญสอน บุญสร้าง ต้องทำเอา สอนเท่าไหร่ เหมือนเป่าปี่ใส่หูควาย มันก็ไม่ได้ ใช่ไหม (หัวเราะ) ต้องว่างๆ รับเอา โอ ความหลงเป็นอย่างนี้ ความรู้เป็นอย่างนี้ รับไปทำเอา เอาไปทำดูนะ