แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จำเป็นนะ การได้ยินได้ฟัง เป็นมงคล เป็นพหูสูตร ฟังก็ฟังเรื่องของเรานี่แหละ เรื่องของเราคือเรื่องของกายของใจ เราใช้กายใช้ใจผิด เราหลง มันจะมีความหลง เราโกรธ เราจะมีความโกรธ เราโลภก็มีความโลภ เราทุกข์ก็มีความทุกข์ ฉะนั้นเรียกว่าผิด ต้องแก้กรรม เรียกว่ากัมมัฏฐาน เคยหลงมันจึงหลง เคยทุกข์มันจึงทุกข์ เราจึงมาฝึกกรรมฐานกัน
ฐานคือที่ตั้ง กรรมคือการกระทำ กัมมัฏฐานแก้กรรมที่ทำมาได้ เวลามันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง เพราะเราเห็นมัน เรามีสติ มีที่ตั้งการกระทำไปในกาย มีสติไปในกาย อะไรเกิดขึ้นกับกาย เราก็จะต้องเห็น ไม่ได้ตั้งใจมันมาเอง บางอย่างก็ตั้งใจเพราะไม่รู้ มันยังเกิดอะไรต่างๆ ขึ้นมา เราจึงให้มีสติ เฝ้าดู ให้มันเห็นอาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น พอเห็นอะไรที่มันเกิดขึ้น มีสติโต้ตอบทักท้วง เวลานี้ไม่ใช่มานั่งสุขนั่งทุกข์นั่งคิด เข้ามามีสติ มีการกระทำ มีที่ตั้งเอาไว้ ให้มันเป็นปัจจุบัน ถ้าไม่มีที่ตั้ง มันไม่เป็นปัจจุบัน มันไปทางหน้า มันคืนข้างหลัง มันเคยมีสัญญา มันติดมา มันยังแสดงออกมา เคยหลงก็แสดงความหลง เคยโกรธมันก็แสดงความโกรธ เคยทุกข์ก็แสดงความทุกข์ออกมา มันติด มันเป็นกรรม อย่างเวลาใดที่มันหลง ให้มันรู้ ถ้าหลง มันรู้ แก้กรรม มันหลงทีใดรู้ทีนั้น เพราะเราปฏิบัติ
ปฏิบัติคือเปลี่ยน เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ อันนี้ต้องหัด ทำให้มันเป็น เราต้องหัดให้มีภาวะที่รู้ไว้ก่อน เพื่อจะได้ใช้ ถ้าไม่มีภาวะที่รู้ไว้ก่อน ก็ไม่มีความรู้ใช้ ถ้าหลงก็เป็นหลงไปเลย เหมือนเราไม่มีเงินไม่มีทรัพย์ เวลาหิวข้าวก็ไม่มีข้าวกิน เพราะไม่มีอะไรใช้ไปซื้อข้าวมา บางอย่างก็ทำไม่ได้ ต้องหาไว้ เพราะไม่เคยหัด หัดไม่เป็น เราจะมาหัดกัน ให้มันรู้ไว้เป็นฐานเป็นที่ตั้งไว้ก่อน เพื่อจะได้ใช้
ความหลงอันหนึ่ง ความรู้อันหนึ่ง คนละอย่าง ความทุกข์อันหนึ่ง ความรู้อันหนึ่ง ความสุขอันหนึ่ง ความรู้อันหนึ่ง ความโกรธอันหนึ่ง ความรู้อันหนึ่ง มันมีคนละอย่าง ที่ว่ากรรมดำกรรมขาว ความหลงเป็นกรรมดำ ความรู้เป็นกรรมขาว เปลี่ยนกรรมดำเป็นกรรมขาว ให้มันคนละอย่าง สัมผัสดู หัดสัมผัสไม่ใช่คิด หลงเป็นยังไง รู้เป็นยังไง ทุกข์เป็นยังไง ไม่ทุกข์เป็นยังไง โกรธเป็นยังไง ไม่โกรธเป็นยังไง ให้สัมผัสดู จะได้คำตอบเอาเอง เวลามันหลง-รู้ ทีแรกอาจจะไม่รู้ ไม่สัมผัสเท่าไหร่ ผิวเผิน ถ้ามันหลงที่ใด รู้ที่นั่นไปเรื่อยๆ มันจะต่างกันมาก คนละมุม เหมือนหลังมือหน้ามือ เหมือนอันหนึ่งมืดอันหนึ่งสว่าง มันใช้ได้ มันเป็นธรรม
ความหลงไม่เป็นธรรม ความรู้สึกตัวเป็นธรรมกว่า จะรู้จักเลือก ชีวิตเราถ้าหัด เราเลือกได้ ถ้าไม่หัดไม่รู้จักเลือกปนเปกันไป เราจึงมาหัด เรียกว่าวิชากัมมัฏฐาน แม้จะรู้อะไรมาก็ต้องหัดเอาไว้ก่อน เหมือนพระสิทธัตถะ รู้มาทั้งสิบเจ็ดศาสตร์ ยังทำอะไรไม่เป็นกับกายกับใจ มีแต่ความรู้ออกไปข้างนอก เศษฐศาสตร์อะไรต่างๆ รัฐศาสตร์ อะไรต่างๆไปโน่น ไม่ได้มาหัด มันก็แก้ไม่ได้ ความทุกข์ไม่มีอะไรมาแก้นอกจากสติปัญญา เอาเงินมาใช้แก้ก็ไม่ได้ เวลามันโกรธ เอาเงินมาจ้างก็ไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องการฝึกหัดให้มีสติ จึงจำเป็น จึงมีวิชากัมฐานเรียนตามพ่อก่อตามครู พระสิทธัตถะฝึกอย่างนี้ มีสูตรไปอย่างนี้ สูตรชีวิต เรียนให้มันจบให้มันรู้แจ้ง มีความรู้กับความคิดไม่ต้องใช้สมอง เป็นการกระทำลงไปให้มันจ๊ะเอ๋กัน
หลงอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง ทุกข์อันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง มันมาพร้อมกัน เราก็เปลี่ยนมันพร้อมกัน อย่าให้หลงเป็นหลง อย่าให้ทุกข์เป็นทุกข์ อย่าให้โกรธเป็นโกรธ ให้มันเป็นภาวะที่รู้ มันจึงจะเป็น มันจึงใช้ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนขณะที่มันไม่ถูกให้เป็นถูก มันก็ใช้ไม่ได้ มันก็ผิดเรื่อยไป ผิดก็ผิดไปตะพึดตะพือ ไปไกล ผิดที่การกระทำของเราก็ผิดอีก หลายอย่างไป เป็นผลกระทบไปเรื่อยๆไป เราจึงมาหัด หัดเอาเองด้วย ไม่มีใครช่วยเราได้ ความรู้เราก็มีความรู้เอง เอากายเอาใจเรานี้มาเป็นวัสดุอุปกรณ์ผลิตความรู้ เคลื่อนไหวหายใจเข้าหายใจออก ให้มีความรู้ ให้มีที่ตั้ง อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ จับจุดใดจุดหนึ่งให้มีความรู้สึกตัว ไปกับบริบทที่เกิดกับกายกับใจ จึงจะเป็นการสิ้นกรรม
เปลี่ยนบ่อยๆ เปลี่ยนบ่อยๆ เปลี่ยนผิดเป็นถูกบ่อยๆ เปลี่ยนหลงเป็นรู้บ่อยๆ มันก็จบเป็น มันไม่งอกงามเหมือนกับอะไรที่มันแก้ไม่ได้ มันมีคู่อยู่ บางอย่างมันก็แก้ไม่ได้ เพียงแต่เรารู้ ได้ปัญญาจากมัน เช่น ความไม่เที่ยง มันแก้ไม่ได้ ความเป็นทุกข์ที่มันเป็นธรรมชาติ มันก็แก้ไม่ได้ ไม่ให้ร้อนมันก็ร้อน ไม่ให้หนาวมันก็หนาว นั่นก็เป็นส่วนที่เราจะต้องบรรเทาได้อยู่ อันความโกรธนี้ เอาอะไรมาแก้ก็ไม่ได้ นอกจากสติปัญญา ต้องหัด ไม่ต้องใช้หัวคิดสมองเหตุผลอันใด
เวลาฝึกหัด ให้เฉพาะเรื่องไว้ก่อน อย่าให้มาก เอาอันนี้มาต่อรอง เอาอันนั้นมาต่อรอง มันก็ไม่เข้าถึงเนื้อถึงตัว ให้มันเข้าถึงตัว เหมือนห็นงูจึงหลบงูได้ เห็นหนามจึงพ้นจากหนาม เราจึงมาฝึกหัดกัน ถ้าหัดให้มีภาวะที่รู้แล้ว มันก็ไปเรื่อยไป ถ้าหลงเป็นรู้ ถ้าทุกข์เป็นรู้ มันไม่ใช่อยู่แค่นี้ เมื่อเราเปลี่ยนเรื่อยๆ มันก็เป็นอะไรดีต่อไป เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นญาณสะดวก อะไรที่มันเกิดขึ้น-เห็นอันหนึ่ง เห็นอันหนึ่ง เป็นหมวดเป็นหมู่ไป ฝ่ายผิดฝ่ายถูก บางอย่างรู้อย่างเดียวไปไกล ถ้ามันมีญาณมีปัญญา เหมือนมีแสงสว่าง แสงสว่างน้อยๆ ก็เห็นแค่เล็กน้อย สว่างใหญ่ๆ เช่น ดวงอาทิตย์ ก็รู้แจ้งโลก
สติปัญญาของเรานี้ก็เช่นกัน ถ้ามีมาก มันก็เป็นแสงสว่าง เป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ ปัญญาก็กำจัดความมืดไป สมาธิก็หนักแน่นไป มีพลัง ศีลก็รอบคอบเหมือนรั้วเหมือนกำแพง อะไรจะทะลุเข้ามาไม่ได้ เพราะ ศีลรักษา สมาธิรักษา ปัญญารักษา ไม่เกิดทุกข์เกิดโทษ มันจึงจะไปถึงมรรคถึงผล มันไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ต้องมีต้น มีท่ามกลาง มีที่สุด เราจึงมาหัดให้มันเริ่มต้นด้วยการมีสติไปก่อน ถ้าหัดแล้วก็ต้องทำ ไม่ต้องหัดอีกเพราะมันเป็น เหมือนพระอรหันต์ พระพุทธเจ้า พระเหล่าสาวก ถ้าหัดแล้วเป็นแล้ว ไม่ใช่ขวนขวายเพื่อเรื่องตัวเอง ไม่ได้ขวนขวายให้กับตัวเอง อะไรก็ตาม ขวนขวายเพื่อสิ่งอื่นวัตถุอื่น จึงเกิดประโยชน์ จึงเกิดมีศาสนามาถึงพวกเรา เพราะพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นพร้อมทั้งพระธรรมคำสอน ได้แสดงได้ประกาศ มีผู้รู้ตามเห็นตาม แล้วก็มีหลักฐานอยู่ มีตำรามีแผนที่ ไม่ใช่เราสุ่มสี่สุ่มห้าด้นเดาหาไป จับหลักได้เลย มีกายอยู่มีใจอยู่ ก็มีสติลงไปที่กายลงไป
เริ่มต้นตรงนี้กัน ตรงนี้เป็นที่เริ่มต้น ถ้าไม่เริ่มต้นตรงนี้ก็ไปไม่ได้ โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไข มันไม่หลุด มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม กายก็คือร่างกายนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้นก็เกิดที่นี่ ให้หัดตรงนี้ก่อน อย่าเอากายมาเป็นตัวเป็นตน สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกาย ให้เห็น มันก็มีอาการต่างๆ เวลาเราดู ก็เห็นแน่นอน อย่างน้อยเห็นความหลง นอกจากความหลงที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราเคยใช้ หลงคิดหลงทางกายก็เรียกว่าหลง ถ้าสุขถ้าทุกข์ก็เรียกว่าหลง ถ้าเป็นผู้ร้อนผู้หนาวก็เรียกว่าหลง ถ้าเห็นแล้วมันไม่หลง ร้อนคือร้อน หนาวคือหนาว หิวคือหิว ไม่หลง ไม่ไปถึงโกรธ ไม่ไปถึงโลภ ไม่ไปถึงทุกข์ ถ้าไม่เห็นก็ไปไกล ความหลงไปไกล เป็นกิเลส ตัณหา ราคะ เป็นทุกข์เป็นโทษไป อยู่กับตัวเองแล้วไม่พอ ไปถึงคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่น
ถ้าเราเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้น ถ้ามันหลงทีไร เห็นมันหลง รู้ขึ้นมา ความหลงไปไม่ไกล ถ้ารู้ก็กลายเป็นปัญญา ถ้าไม่รู้ก็กลายเป็นปัญหาจากความหลงนี้ ทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้ไม่เห็นกลายเป็นปัญหา ถ้ารู้ถ้าเห็นกลายเป็นปัญญา โกรธก็เหมือนกัน โลภก็เหมือนกัน มันก็แก้ไม่ยาก ไม่มีบุคคลที่หนึ่งที่สอง วัตถุอันหนึ่งอันสอง มันเป็นเรื่องอันเดียว คือมันอยู่กับเราเท่านั้นเอง ถ้าเปลี่ยนไปแล้ว ความหลงครั้งสุดท้าย ความทุกข์ครั้งสุดท้าย ความโกรธครั้งสุดท้าย มันก็ไปไกลเป็นมรรคเป็นผล เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย
เหนือการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายได้ เพราะเราก็เป็นทุกข์ ตามที่เราได้สาธยายพระสูตร จำแนกออก รูป เวทนา รูปก็เป็นทุกข์ เวทนาก็เป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ กระทั่งรูปมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยงของรูป เป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยงของทุกข์อะไรต่างๆ ในความไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ ในความเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราเคยทุกข์เพราะความไม่เที่ยง เคยทุกข์เพราะความเป็นทุกข์ เคยทุกข์เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เคยทุกข์เพราะปารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เคยทุกข์เพราะความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เอามาเป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่มันไม่มี เรามาเห็นผิดไปเอง
อันความเป็นทุกข์ไม่ใช่เป็นทุกข์ มันเป็นปัญญา ถ้าเราเห็นตั้งแต่เห็นมันหลงไปเบื้องต้นไป เอาปัญหามาเป็นปัญญาไป เห็นความไม่เที่ยงก็เป็นนิพพานได้ เห็นความเป็นทุกข์ก็เป็นนิพพานได้ มันมีแต่เหนือการเกิดแต่เจ็บตาย มันต้องมีแน่นอน การแก่ การเจ็บ การตาย เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เห็นแล้ว รู้แล้ว เรามีความเจ็บไข้ธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ รู้แล้วไม่เอามาเป็นทุกข์ เวลาเห็นทีไรก็เราเฉลยไว้ก่อนแล้ว อันนี้ไม่เที่ยง อันนี้ไม่ใช่ตัวตน อันนี้มันเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน สิ่งไหนไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ควรยึดว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา เราทำนายไว้ก่อนแล้ว มีอะไรขึ้นมาเราทำนายไว้ก่อนแล้ว ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ตกอยู่ในความเป็นทุกข์ ตกอยู่ความไม่ใช่ตัวตน หมดทุกอย่างในโลกนี้ มันเป็นสามัญลักษณะเสมอกันหมด
ถ้าจะมองถึงอดีตที่ผ่านมา อย่างที่นี่ อะไรที่มันหมดไป มันก็หมดไปแล้วไม่คืนมาแล้ว เสียงเสือโคร่งร้องก็หมดไปแล้ว เสียงเก้งกวางร้องก็หมดไปแล้ว เสียงช้างหยอกล้อกันก็หมดไปแล้ว เสียงเรไรก็หมดไปแล้ว โซปราโนก็หมดไปแล้ว จักจั่นก็หมดไปแล้ว แต่ก่อนฤดูฝนนี้ระงมไปหมดเลยในป่านี้ โซปราโนบอกเวลาเราด้วย มันร้องเป็นเวลา พญาลอก็ร้อง ไก่ฟ้าพญาลอก็ร้อง ก่อนจะนอนเสียงมันคุยกัน ด๊อแด๊ ด๊อแด๊ ดังไปทั่ว ทั่วไป มันเลยฉิบหายเพราะมันไม่รู้จักรักษาตัวมัน พวกล่าสัตว์ก็มาดักฟังเวลามันร้องที่ไหน เขาก็จำที่หมายไว้ ดักฟังตอนเย็นตอนค่ำ แล้วก็ค่อยๆไป เห็นมันนอนเป็นหมู่ ก็นอนเป็นหมู่ ค่ำมาเวลามันนอนหลับ เขาก็มาคล้องเอา ดึงตัวลงมา ดึงตัวนี้ลงมามันไม่หนี มันไม่ตื่นถ้ามันได้นอนแล้ว มีสิบได้สิบ มีเท่าไหร่ได้เท่านั้น เอามาหมด บางทีเอาเป็นตัวตาย เขาถือคนเดียวไม่ไหว ต้องบิดคอ หรือปาดคอ ตอนเช้าก็หาบไปขาย พญาลอ หลวงตาบิณฑบาตยังเห็นเขาหาบพญาลอไปขาย เสียดาย เขาขายตัวเท่าไหร่ ตัวละยี่สิบสามสิบบาท โอ๊ย เลยบอกว่าถ้าเอาตัวเป็นๆ มาให้ จะซื้อให้ตัวละห้าสิบบาท เขาว่าเอาไม่ไหว
นี่ก็หมดไป โซปราโนก็หมดไป เรไรก็หมดไป เป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบ เป็นเพราะนกแซงแซว แซงแซวมันชอบเวลาเรไรบินนะ มันโฉบขึ้นไปบนอากาศ มันก็บินโฉบกินบนอากาศ บางทีก็กิ้งก่า เวลามันร้องอยู่ กิ้งก่าขึ้นไปกิน ตะกวดก็คลานขึ้นไปกิน สัตว์ที่อยู่ในดิน เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ถ้ามีตะขาบก็ไปกิน มีแต่ศัตรู มันก็เลยไม่เหลือ สัตว์ประเภทใดที่โง่ก็หมดไปแล้ว ไอ้โงด ไอ้เขียด ไอ้เหลือง ไอ้อึ่ง นกอีรุมอยู่ในสระ แต่ก่อนร้อง ตุ่มต่ำ ตุ่มต่ำ นกกระเต็น แซงแซว (นก)กระบาลง แจ้งแล้ว หลวงตาแจ้งแล้ว หลวงพ่อแจ้งแล้ว หลวงพ่อแจ้งแล้ว นกกระบา เดี๋ยวนี้ก็หมดไปแล้ว ไม่รู้เหตุอันใด นกอีกอันก็พญาดง ร้องเสียงดังแบบลำโพงหลายตู้ โฮ่ก โฮ่ก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว หมดไปแล้ว
ชีวิตเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสามสิบ สี่สิบปีก่อน แม้แต่เราก็เหมือนกัน มีตาก็ใช้ตาไม่ได้ มีหูก็ใช้หูไม่ได้ แต่ก่อนแข็งแรงมาก เดี๋ยวนี้อ่อนแอ ต้องหมดไปแน่นอน เรารู้แล้ว ทำนายไว้ก่อนแล้ว ทำนายไว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่เห็นแจ้ง ตั้งแต่อายุสามสิบปี สามสิบกว่าปี มันตอบไว้แล้ว อันนี้ความไม่เที่ยง ตอบได้แล้ว ไม่เอามาเป็นทุกข์เป็นโทษ ไม่ให้ความเป็นทุกข์ ตอบได้แล้ว นี่การแก่ นี่การเจ็บ นี่การตาย ตอบได้แล้ว เวลามันเกิดขึ้นมา ก็บอกว่ารู้แล้ว รู้แล้ว เวลาเป็นโรคก้อนเนื้อในตับ หมอบอกว่าไม่มียารักษา-รู้แล้ว โรคบางอย่างรักษาได้ โรคบางอย่างรักษาไม่ได้ หมอเอกบอกอีกทีหนึ่งว่ามันน่าเกิดจากก้อนเนื้อโตเร็วในลำคอ ย้ายไปสู่ตับ รักษาได้ รักษาได้ ก็รู้แล้ว
โรคบางอย่างรักษาได้ โรคบางอย่างรักษาไม่ได้ ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนทางจิตใจ จิตใจยิ่งเข้มแข็งมาก ถึงคราวที่มันเห็นของจริงที่มันเกิดขึ้น มันเฉลยไว้ก่อนแล้ว นี่เราทำนายไว้ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าพารู้เรื่องนี้หมดแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานเพราะเรื่องนี้ ใครๆ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราจึงไม่มีคำว่าเกิด ว่าแก่ ว่าเจ็บ ว่าตาย เพราะเห็นมันเป็นธรรมชาติ เราไม่ตายเพราะความตาย เราไม่เจ็บเพราะความเจ็บ เราไม่ทุกข์เพราะความทุกข์ เราไม่สุขเพราะความสุข ไม่เอาชีวิตไปใช้ให้เป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ใช้ชีวิตให้โกรธให้โลภให้หลง นี่คือชีวิต ถ้ายังหลงอยู่ไม่ใช่ชีวิต ถ้ายังทุกข์อยู่ ไม่ใช่ชีวิต ชีวิตมันต้องไม่เป็นอะไร จึงจะเรียกว่าชีวิต จึงจะเรียกว่าพรหมจรรย์ หลุดพ้นจากทุกอย่างที่มีในกายในใจนี้
ถ้าเราไม่ศึกษาก็มีแต่บ่วง มีแต่ภาระหนัก ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก เพราะเราไม่รู้ มันร้อนก็ไม่รู้-เราร้อน หนาวก็ไม่รู้-ว่าเราหนาว ทุกข์ก็ไม่รู้-เราทุกข์ สุขก็ไม่รู้-เราสุข เราเป็นผู้สุข เราเป็นผู้ทุกข์ เราเป็นผู้ร้อน เราเป็นผู้หนาว เราเป็นผู้เจ็บ เราเป็นผู้ได้ เราเป็นผู้เสีย ก็เลยเอามาเป็นทุกข์ อุปาทานยึด ถ้าเราเห็นแล้วก็ มันก็ไม่ใช่เป็น มันก็ต่างกันอยู่ คำว่าเห็นเนี่ยะ ไม่ใช่เป็น เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง เห็นมันสุขไม่เป็นผู้สุข เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ สักแต่ว่ากาย มันก็แยกไปแล้ว อะไรที่มันเกิดกับกาย เห็นสักแต่ว่า อะไรที่มันเกิดกับจิต สักแต่ว่า อะไรที่เป็นธรรม เป็นความง่วงหงาวหาวนอน เป็นความคิดฟุ้งซ่าน เป็นความสงบ เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เพราะเกิดจากธรรม ก็รู้แล้ว เป็นสักแต่ว่าธรรม
มันไม่มีอะไรติด มีแต่เรื่องปลดปล่อยไป มันจะไม่เหนือเกิดแก่เจ็บตายได้ยังไง เรื่องเล็กน้อย เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องศิลปะ เป็นเรื่องกีฬาของชีวิตของเรา ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ได้ไหม เหมือนหน้ามือหลังมือ อันไหนที่เป็นเรื่องทุกข์ไม่ทุกข์ ไม่ว่าเรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องไหนๆในโลกนี้ที่ว่าเป็นทุกข์นะ มันขยันตรงนี้ มันใส่ใจตรงนี้ มันไม่ทำ ไม่ให้เฉยตรงนี้ มันแค่กรรม ให้ความทุกข์เป็นทุกข์แน่นอน มันแก้กรรมได้เด็ดขาด ตัดกรรมตัวนี้ได้เด็ดขาด มันจึงศักดิ์สิทธิ์ เห็นคุณค่าของกรรมฐาน
เราจึงมาเปลี่ยนกรรมร้ายเป็นกรรมดีนี้ จะต้องรับกรรมไปเช่นนั้นหรือชีวิตเรา เวลาหลงก็ให้หลงอยู่นั่น เวลาทุกข์ก็ให้ทุกข์อยู่นั่น เวลาโกรธก็ให้โกรธอยู่นั่น เวลารักก็รักอยู่นั่น เวลาสุขก็สุขอย่างนั้นหรือ ความสุขมันก็เป็นสังขาร ความทุกข์มันก็เป็นสังขาร ปุญญาภิสังขาร สังขารคือบุญ บุญคือความสุข อปุญญาภิสังขาร สังขารคือบาป บาปก็เป็นสังขาร คือทุกข์ อเนญชาภิสังขาร สังขารคืออเนญชา ยังไม่สุข ยังไม่ทุกข์ มันที่จะเป็นสุขเป็นทุกข์ได้อยู่ อยู่ตรงที่พร้อมจะเป็น เรียกว่าอเนญชา มันพร้อมจะสุขได้ มันพร้อมที่จะทุกข์ได้
อย่าพึงประมาทในตอนนี้ เหมือนงู มันล่าสัตว์มันทำท่านอนไม่กระดุกกระดิก นั่นอย่าประมาท มันไล่ล่าสัตว์ไม่ได้กินอาหารเพราะมันมารยาสาไถย ชีวิตเรานี่ อเนญชาภิสังขารยังมีมายาอยู่ อย่าหลง อย่าประมาท ถ้ามันโอกาส ก็เอา บางทีทำผิดไปแล้ว โอ..ไม่น่าจะทำนะเรา มันมีได้บางคน ท่านจงมีสติไว้ก่อน เห็นมันอีก อเนญชาก็เห็น สุขก็เห็น ทุกข์ก็เห็น แม้แต่อุเบกขายังสั้นไปนะ ในฌานสมาบัติ อุเบกขาเอกัคคตา อุเบกขายังละไปเอง จนไม่มีอะไรเหลือ สุขก็ละ ทุกข์ก็ละ มีแต่สติล้วนๆ
สิ่งเหล่านี้ต้องหัดเอง เราก็เป็นเพียงแต่เป็นมิตร เป็นเพื่อนกัน บอกกันว่า นี่มันเป็นอย่างนี้ชีวิตเรา มาดูสิ มาดู ต้องแสดงมาให้เราเห็น มีสติดีๆ จะเกิดความหลงขึ้นมา นั่งอยู่ดีๆ ก็เกิดความสุข นั่งอยู่ดีๆ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันจะแสดง เราจะได้เห็นมัน มาดูมัน มันแสดงหลายอย่าง แปดหมื่นสี่พันอย่าง อันเกิดจากกายจากใจเรานี้ เราจึงมาศึกษาถลุง ศึกษาคือถลุง ย่อยออก อันสุขก็ย่อยออก อย่าให้เป็นดุ้นเป็นก้อน ทุกข์ก็ย่อยออก อย่าให้เป็นดุ้นเป็นก้อน ถลุงย่อยออก เอาไปเอามาก็ไม่มี สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี มันเป็นอุปาทานที่มันหลงเข้าไปต่างหาก ของอันหนึ่งเราสุข คนอื่นเขาก็อยู่เฉยๆ ของบางอย่างเราทุกข์ คนอื่นเขาก็อยู่เฉยๆ มันสมมุติบัญญัติเป็นอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเราศึกษาไปจะเห็นหมด
เห็นรูป เห็นนาม เห็นรูปทำ เห็นนามทำ เห็นรูปทุกข์ เห็นนามทุกข์ เห็นรูปโรค เห็นนามโรค เห็นสมมุติ เห็นบัญญัติ เห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุอาการ เห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา เห็นกุศล เห็นอกุศล เห็นองค์มรรคเป็นทางไป สะดวกไป เหมือนเราเดินทาง เหมือนกับรถทางเปลี่ยว เหมือนขับรถทางจราจรคับคั่ง ติดขัด ถ้าได้โอกาสก็วิ่งเอา วิ่งเอาได้ สะดวกได้ ฝึกกรรมฐานเหมือนเป็นเช่นนั้น ถึงคราวสะดวกก็สะดวกจริงๆ เพราะเคยพูดว่าเหมือนกับเราเดินเข้าไปในที่ประตูไฟฟ้ารีโมทที่สนามบิน ก็เดินเข้าไป มันก็เปิดประตูให้ ไม่ต้องไปใช้แรงเปิด มันเปิดเอง เช่น ถนนไหล ทางไหล เวลาเราขึ้นเหยียบมันไหลไปเอง ถ้าเราลง มันก็หยุด ถ้าเราขึ้นเหยียบ มันไหลไปเอง มันสะดวก
ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้สะดวก ศีลช่วย สมาธิช่วย ปัญญาช่วย เป็นธรรมรักษาไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ไม่ได้รักษาเรา ศีลธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมอยู่เป็นนิจ เป็นอย่างนั้น ถึงโอกาสมาก็สะดวก คำว่าทุกข์ ทำยังไงก็ไม่มีแน่นอน คำว่าหลง ทำไงก็ไม่มีแน่นอน จะให้หลงเป็นไปไม่ได้ ข่มขืนเกินไป จะให้สุขให้ทุกข์มันข่มขืน เป็นไปไม่ได้เลย แต่ก่อนกระโจนมันใส่ บัดนี้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ก่อนเป็นเด็กกระโจนลงใส่ขี้โคลน เห็นขี้โคลนตรงไหน อยากลงไปเหยียบไปลุยแล้ว แต่นี่เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ลงไปเหยียบ มันสกปรก เป็นพรหมจรรย์บริสุทธิ์ นี่เรียกว่า ประพฤติธรรม
มาพิสูจน์คำสอนพระพุทธเจ้า ลองดูพวกเรา เราก็เป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน มีประโยชน์ พ้นโทษ พ้นทุกข์ แก้กรรมได้จริงกรรมฐานนี้ ต้องแก้กันทุกคน ต่างคนต่างแก้ เวลามันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง นั่นเท่ากับเราช่วยคนอื่นทั้งโลก ช่วยหลายอย่าง เวลาเราโกรธ เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ เวลาเราทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เราเปลี่ยนตัวเราก็เท่ากับช่วยคนอื่น ทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเรา นับหนึ่งจากตัวเรา ต่างคนต่างเริ่มต้น ต่างคนต่างนับหนึ่ง ปัญหามันก็จบทันที แม้แต่เบียดเบียนตนก็ไม่ทำ คิดก็ไม่คิด จะเกิดอะไรขึ้น เพราะมีสติเป็นเจ้าของชีวิต ไม่เป็นไรกับอะไร มีแต่ทำหน้าที่ขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อโลก อะไรผิดอยากจะบอก อะไรถูกก็อยากจะบอก ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง เปลี่ยนได้อยู่ ความโกรธไม่ถูกต้อง ความไม่โกรธถูกต้อง ความทุกข์ไม่ถูกต้อง ความไม่ทุกข์ถูกต้อง ให้รู้เอาไว้ ไม่ใช่บ่าแบกหาม เวลาใดที่มันทุกข์นั้น ความไม่ทุกข์ก็มี อย่าหมดเนื้อหมดตัวกับความทุกข์ ให้ได้ยินเอาไว้ นำไปทำลองดู
มีกำลังสักหน่อย มีความเพียรสักหน่อย มีศรัทธาสักหน่อย แก่กล้าสักหน่อย ในเวลามันทุกข์ ปัดโธ่ ตื่น ลองดูแก่กล้า อยู่ดีๆ จะทุกข์ได้รึ อยู่ดีๆ จะมาทะเลาะกันรึ อยู่ดีๆ จะมาโกรธกันหรือนี่ ยิ่งเรามีครอบมีครัว จะโกรธทะเลาะกัน โอ๊ย อยู่ดีๆ เราจะโกรธกัน ทะเลาะกันหรือนี่ เป็นไปได้อย่างไร ลองพูดความจริงออกมาสิ ชวนกันคิดแล้วนี่ลองดูสิ สมมุติผัวเมียจะทะเลาะกัน อ้าว เราก็อยู่ดีๆ ทำไมเรื่องอะไรจะทะเลาะกันหรือ เรื่องแค่นี้แหละ เป็นไปไม่ได้หรอก หยุด จะให้ทิ้งกัน ทิ้งลูกทิ้งเมีย เป็นไปไม่ได้หรอก หยุด ลองฉุกคิดอย่างนี้ดู ต่อไปก็เย็นลง เย็นลง อาจจะเป็นบทเรียนที่ดี อาจจะปัดโถ พุทโธ่ เห็นโทษเห็นภัย "หยุด" มันก็ไม่เหมือนเมื่อไม่หยุด เหมือนกับรถที่วิ่ง รถวิ่งก็ต้องหยุดเป็น
ชีวิตเราที่มันหลงก็ต้องหยุดเป็น มันทุกข์ต้องหยุดเป็น มันโกรธต้องหยุดเป็น ถ้าหยุดไม่เป็นมันก็อันตราย เหมือนรถถ้ามันหยุดไม่เป็น มันอันตราย ต้องซ่อม นี่เรามาหัดซ่อม หัดเข้าอู่ เวลามันหลง ให้มันรู้ ซ่อมแล้ว เวลามันทุกข์ ให้มันรู้ ซ่อมแล้ว ซ่อมได้ตรงนี้ ดีได้ ถ้าตัวนี้ดีแล้ว อันอื่นก็ค่อยดีไป อาศัยได้ เราก็อาศัยชีวิตเราได้ คนอื่นก็อาศัยได้
นี่ก็หลวงตาจะไปอยู่ภูเขาทองสองคืน ญาติโยมมาจำศีลหลาย ชาวบ้านก็มาก นี่ก็สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน