แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน ฟังธรรมก็คือฟังเรื่องของคนเรานี่แหละ คนเราก็มีกายมีใจ กายใจมันก็อยู่กับเรา กายใจนี้ก็เป็นสังขาร เปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขารก็คือเปลี่ยนกายเปลี่ยนใจ ถ้าเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขารเรียกว่าปฏิบัติธรรม ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ปล่อยปละละเลยตัวเอง พึงมีสติเพื่อดูแลกายใจ สติก็อยู่ที่กายที่ใจอยู่แล้ว ประกอบขึ้นมาให้ใช้ได้ ถ้าไม่ประกอบก็ใช้ไม่ได้ บางคนหลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย ปล่อยปละละเลยตัวเอง มีสติเหมือนมีเครื่องผูกเครื่องพัน มีความเพียรเหมือนมีน้ำฝน มีสมาธิใส่ใจที่รู้อยู่เสมอเหมือนมีคราดมีไถ ทำนาสำเร็จ ที่จะไขน้ำเข้าปล่อยน้ำออก เวลามันอ่อนแอเข้มแข็งขึ้นมา เวลามันเพ่งเล็งกันไปปล่อยออกไป ให้มันพอดี ๆ มีความพอดี เรียกว่า อริยมรรค
เราจึงให้ชำนิชำนาญในเรื่องนี้ ชีวิตของเราถ้าไม่ชำนาญเรื่องนี้ มันก็เกิดสังขารสารพัดอย่าง ควบคุมตัวเองไม่ได้ สังขารคือจิตใจ รูปร่างกายมันไม่เที่ยง ทนยาก สิ่งไหนมันไม่เที่ยง อย่าคิดว่าตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงทำให้เป็นนิพพานได้ ถ้าเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง เราหลงในความไม่เที่ยง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน ตรงที่มันหลง-ไม่หลง-รู้แล้ว ดับความหลงเป็นความรู้ได้ เป็นนิพพานได้ เย็นแล้ว เมื่อใดเห็นความทุกข์ สังขารคือความทุกข์ ความทุกข์เป็นความทุกข์ ถ้าเป็นสังขาร ถ้าเรามีสติ เห็นสังขารเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร เมื่อนั้นก็เห็นความทุกข์ เป็นนิพพานเลยทีเดียว มันทุกข์แท้ ๆ ทำไมไม่มีทุกข์ ก็มันมีสติ ถ้าปล่อยตรงนี้ก็พลาดโอกาส แทนที่จะได้ประโยชน์จากความไม่เที่ยง ได้ประโยชน์จากความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ร่ำไป เมื่อเราเปลี่ยนได้ มันก็เป็นประโยชน์
ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเห็นทุกข์เนี่ย เห็นสมุทัยเนี่ย เห็นวิธีดับทุกข์เนี่ย เห็นความหลุดพ้นจากทุกข์เนี่ย เปลี่ยนทุกข์เป็นวิสังขารเนี่ย เห็นการเปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ได้เนี่ย เรียกว่าอริยสัจ เป็นทฤษฎีของชีวิตเรา เราจึงมาหัดแต่ไม่ต้องไปคิด อาศัยการกระทำ เราจึงมีการกระทำเรียกว่ากรรมฐานภาวนา เป็นปัญญา เป็นการทำบุญอันสูงสุด เพราะการกระทำนี้ การภาวนานี้ไม่ได้คิด เอาการกระทำ ถ้าสิ่งใดที่เกิดปัญญาจากความคิด เรียกว่าจินตญาณ จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากความคิด สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา อ่าน ดู เห็น
ส่วนภาวนามยปัญญานี้ เกิดจากการกระทำแท้ ๆ ไม่ต้องเปลืองสมอง ไม่ต้องไปเปลืองความคิดเหตุผลใด ๆ เอาเหตุเอาผลมาประกอบ เอาการกระทำบุกเบิกไปก่อน การกระทำก็มีรูปแบบคือกายคือใจนี้ มีสติไปกับกาย ในพระสูตรพระพุทธเจ้าศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่พระองค์ในสมัยเป็นเจ้าฟ้าชายเรียนจบ 17 ศาสตร์ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าเลย พระองค์มาศึกษาภาวนากรรมฐานนี้ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา โดยการคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก รู้สึกระลึกได้ เราจึงมาทำตรงนี้กัน เป็นต้นตอการศึกษาที่แท้จริงจริงคือศึกษาไตรสิกขา ไตรสิกขาคือไตรลักษณ์ ไตรสิกขาบวกกับไตรลักษณ์เข้าไป
พอศึกษาก็เห็นความไม่เที่ยงคือความเป็นทุกข์ เห็นสังขาร เห็นวิสังขาร สังขารคือขยันปรุง เหมือนนายช่างปั้นหม้อ สิ่งใดที่ปรุงขึ้นสิ่งนั้นไม่เที่ยงเป็นทุกข์ นายช่างปั้นหม้อ ปั้นลูกใหญ่ลูกโตลูกสวยลูกไม่สวยก็แตกทั้งนั้น อะไรที่เกิดจากสังขารการปรุงแต่งความรักความชังไม่เที่ยงทั้งนั้น แตก ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่ของจริง อย่าไปเชื่อมัน การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเห็นเรื่องนี้ เรียกว่าแต่ก่อนนี้เราไม่รู้ เลยแล่นท่องเที่ยวไปในความคิดเป็นอเนกชาตินับไม่ถ้วน เกิดทุกข์ใดคิดที่ใด เกิดอุปาทานขึ้นมาเป็นทุกข์ทุกที เกิดดับ ๆ เป็นภพเป็นชาติ บัดนี้เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักแล้ว ยอดเรือนเรารื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป นี่เป็นอุทานออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าในครั้งแรก เรียกว่าปฐมภาษิต ก็เพราะมาเห็นกายเห็นใจนี้ตามความเป็นจริง
เรามาตรง ๆ กัน สายตรง ปฏิบัติตรง มาเห็นกายเคลื่อนไหวไปมา เห็นใจเคลื่อนไหวที่มันคิด เกี่ยวกับกายเคลื่อนไหวให้รู้ เกี่ยวกับใจที่มันเคลื่อนไหว มันคิดก็ให้รู้ อย่าปล่อยปละละเลยตรงนี้ มันจะได้ปัญญาได้ประสบการณ์ตรงนี้ ไม่มีใครไม่เห็นตรงนี้ เราก็เห็นเป็นส่วนตัวเอง ไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องมีคนอื่นตอบให้ เราตอบเอาเอง นี่คือของจริง นี่คือของไม่จริง ของจริงคือรู้สึกตัว ความหลงไม่จริง ความหลงคือความไม่รู้สึกตัว ไม่จริง สัมผัสดู ถามคนอื่นไหม เวลามันหลงอ่ะ นั่งอยู่สุคะโต มันคิดไปที่ไหน นอนอยู่ที่นอน มันคิดไปที่ไหน อันคิดที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นเรียกว่าสังขาร การคิดที่ตั้งใจอันนี้เป็นวิชชา อันคิดที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นอวิชชา วิชชา อวิชชา เมื่อคิด ไม่ได้ตั้งใจคิด มันไหลไปน่ะเรียกอวิชชา เหมือนป่าเหมือนดง อยู่ในดงในป่า แม้นว่านอนอยู่ในตึกอาคารบ้านเรือน ถนนคอนกรีตก็ยังเป็นป่า อวิชชานั่นก็เรียกว่าอยู่ในที่โล่ง เป็นมิตรภาพ
สิ่งเหล่านี้เราสร้างขึ้นมา เหมือนเขาสร้างถนนมิตรภาพ กว่าจะเป็นมิตรภาพได้ก็ต้องอัดต้องปล่อย ควรเข้มแข็งเข้มแข็ง ควรปล่อยวางก็ปล่อยวาง เข้มแข็งตอนที่มันอ่อนแอ มันง่วงเหงาหาวนอน เข้มแข็งตรงนี้ มันโกรธมันโลภมันหลงมันทุกข์น่ะ เข้มแข็งตรงนี้ ไม่โกรธไม่โลภไม่หลงไม่ทุกข์ มีสติอัดเข้าไป เหมือนสร้างถนน ตรงไหนอัดก็อัดเข้าไป ตรงไหนขุดคลองก็ขุดวางท่อสร้างสะพานไป ปล่อยไปวางไป อย่ายึดมันจึงเป็นมิตรภาพได้ รู้จักปล่อยรู้จักวาง รู้จักหยุดรู้จักเย็น ไม่ใช่ว่าจะกักขังเอาตะพึดตะพือ กูชอบกูไม่ชอบ เอากู กูสุขกูทุกข์ เอากู อัดพังเลยทีเดียว อกหักเสียใจ พลัดพรากจากของรักของเศร้าใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์ ความไม่สบายกายก็เป็นทุกข์ ความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์ ไม่ต้องทุกข์ ขอบคุณที่มันไม่สบายกาย ขอบคุณมันที่มันไม่สบายใจ จะได้ช่วยกายจะได้ช่วยใจ สัญญานภัยมันบอกเพื่อให้เราช่วย ไม่ใช่เอามาเป็นทุกข์ เป็นปัญญาไปเลย เรียกว่านักภาวนา
ถ้าเราชำนาญตรงนี้ก็เหมาะจะไปใช้ชีวิตอยู่ในโลก ไม่ถูกโลกทับถม ฝึกฝนตนเองไป ยิ่งพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มากมาย ร่วมกันทำงาน ๆ เหมือนทีมกีฬา คนหนึ่งทำอันหนึ่ง คนหนึ่งทำอันหนึ่ง สนุกไปกับการงาน สนุกป่วย สนุกเจ็บเอาเลยทีเดียว หลวงตานอนอยู่โรงพยาบาลสองปี คนมาถามสนุกป่วย สนุกเจ็บ มันไม่มีจริง ๆ ล่ะความทุกข์น่ะ หายใจไม่ได้ก็ไม่มีทุกข์เลย อ้าว เขาว่ามันทุกข์มันอยู่ไง คนดูเราน้ำตาร่วงน้ำตาไหล ทำไมมาร้องไห้เสียใจคนไม่มีทุกข์เนี่ย มันก็เป็นอย่างนี้
มันมีจริง ๆ ความไม่ทุกข์เนี่ย เอ๊า เกิดแก่เจ็บตายลงไปไม่มีทุกข์เลย แต่บางคนพอคิดถึงความตายก็เอาแล้วเศร้าหมอง อะไรนิดหน่อย ไม่ใช่ มันต้องเข้มแข็งตรงนี้จึงจะอยู่เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย อะไรคือเจ็บ อะไรคือแก่ อะไรคือเจ็บ อะไรคือตาย มันไม่ใช่เรื่องของชีวิตเรา ชีวิตของเราคือภาวะไม่เป็นอะไร พูดถึงภาวะความไม่เป็นอะไร นี่คือมิตรภาพ มาตรฐานของชีวิต ถ้ายังเป็นอะไรอยู่ หรือว่าอ่อนแอ ไม่ใช่ได้ชีวิตเลย ชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้กับสิ่งต่าง ๆ สมมติบัญญัติ ไม่ใช่ ของเราต้องเป็นเราเอง เราอยู่ตรงนี้ มีสติอยู่นี่ สติไม่ใช่สติ มันจะเป็นปัญญา เป็นมรรคเป็นผลไปเลย
ถ้าเราไม่ฝึกมันก็ไม่เกิด จึงฝึกฝนตนเองอย่าประมาท ประมาทในความสุข ประมาทในความทุกข์ ประมาทในความหลง อย่าให้ความสุขมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน อย่าให้ความทุกข์มาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน เราเป็นเจ้าของ เราเป็นคนที่เห็น อะไรเกิดขึ้นกับเราไม่มีที่ปิดที่ลับอะไร เห็นมัน ไม่มีที่ลับ เห็น รู้สึก ระลึกได้ มีสติเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน เป็นเจ้าของ ชีวิตมีเจ้าของ ชีวิตไม่ใช่เถื่อนปล่อยให้คิดอะไรก็ได้ ไม่ได้ หัด ปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้ จึงดูมันทุกอย่าง มันเคลื่อนมันไหว รู้มัน มันเดิน รู้มัน อยู่ตรงนี้ก่อน หัดอยู่ตรงนี้ก่อน ทำให้มันเป็น ไม่ใช่ไม่ให้รู้ ทำให้เป็น มันหลง-รู้ ทำเป็นแล้ว
ทีแรกก็หัด พอมันหลง หัดให้รู้ เหมือนกับดึงความรู้เข้ามา มันคิดไปโน่นเหมือนกับดึงความคิดกลับขึ้นมาให้รู้สึกตัว เหมือนกับอย่างนั้นทำใหม่ ๆ ใหม่ ๆ ก็เหนื่อยเมื่อยล้า ง่วงเหงาหาวนอนคร่ำเครียดไป บางทีก็ไม่ต้องไปยากปานนั้น พอมันหลงก็รู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวไม่ได้ออกแรง ง่าย ๆ เบา ๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส ความรู้สึกตัวเนี่ยมันพอดี ๆ อย่าเอาผิดเอาถูก เอาผิดแล้ว เอาเดี๋ยวนี้ถูก อันนี้สงบดี อันนี้ไม่สงบฟุ้งซ่าน ไม่ดี เอาไม่ดีเอาดี ไม่ใช่นักปฏิบัติ เอาผิดเอาถูกไม่ใช่นักปฏิบัติ เอาเหตุเอาผลไม่ใช่นักปฏิบัติ นักปฏิบัตินักปัญญาต้องเหนือเหตุเหนือผล ความหลงไปอธิบายความหลง ความรู้สึกตัวไปอธิบายความรู้สึกตัวได้ยังไง อธิบายความเค็ม อธิบายว่าไงความเค็ม เค็มมันเป็นอย่างนั้น เค็มมันเป็นอย่างนี้ เผ็ดมันเป็นอย่างนั้น เผ็ดมันเป็นอย่างนี้ มันอธิบายไม่ได้ ต้องสัมผัส ได้ชิม ๆ ลองดู อ้อ เผ็ดก็ชิมลองดู อ๋อ ไม่มีคำอธิบาย
ปฏิบัติธรรมมันต้องเป็นอย่างนี้ หลง อือ รู้ อือ รสเดียว หลงก็อันเดียว รู้ก็อันเดียว คำว่า “อือ” มันเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือบางอ้อ ถึงบางอ้อ ถ้า “อือ” ตัวเดียว หมดเลย เข้าใจรู้แล้ว เหมือนอัญญาโกณฑัญญา รู้ พระพุทธเจ้าเทศนาไป อือ เข้าใจไป จนพระพุทธเจ้าว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” อัญญารู้แล้วหรือ รู้แล้วพระเจ้าข้า นั่นเรียกว่าได้สมัญญานำหน้าอัญญา แต่ก่อนชื่อโกณฑัญญา พอมารู้ก่อน รู้แล้ว ๆ เหรอ เลยอัญญาโกณฑัญญา รู้แล้ว รู้ก่อนหมู่ “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ" โกณฑัญโญได้รู้แล้วหนอ อญฺญาสิ อญฺญาสิ อญฺญาสิ สาวกก็ควรจะเป็นอย่างนั้น รู้แล้ว ความหลงก็รู้แล้ว สมน้ำหน้าความหลง ความไม่หลงก็รู้แล้ว ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสิ่งใดเป็นพรหมจรรย์ไปเลย
ประพฤติพรหมจรรย์คือภาวะที่รู้สึกตัวนี้ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมถึงอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อนิพพานเลยทีเดียว เพราะว่ารู้แล้วตรงนี้ เอียงไปไหลไปสู่มรรคผลนิพพานเลย ถ้าเป็นแล้วก็ไม่ถึงไหน เป็นสุขก็เป็นสุขอยู่นั่นแล้ว เป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่นั่นแล้ว โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไขก็หลุดไม่ได้ หลุดพ้นต้องไม่เป็นอะไร มีแต่เห็นเข้าไป รู้เข้าไปรู้เข้าไป เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นจิตใจมันคิด เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ เห็นทุกอย่าง เห็นกาย กายสักว่ากายไปเลย
แต่ก่อน กายเป็นตัวเป็นตน ร้อนก็กู หนาวก็กู เจ็บปวดก็กู ผิดก็กู ถูกก็กู มีตัวมีตนเต็มไปในกาย กี่ภพกี่ชาติในตัวตนอยู่ในกายนี่ เกิดแก่เจ็บตายทั้งนั้น ตนก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็แก่นาน แล้วก็แก่แล้วก็ตายไป เจ็บไปเพราะความแก่ เจ็บไปเพราะรัก เจ็บไปเพราะความชัง ความรักแท้ ๆ กลายเป็นความเจ็บปวด ความชังก็กลายเป็นการเจ็บปวดแก่ตายไป กี่ภพกี่ชาติเราอยู่ตรงนี้กัน ก็เห็นอย่างนี้ก็ไม่เปรอะเปื้อนแล้ว เหนือภพเหนือชาติ สิ้นภพสิ้นชาติ ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว ไม่ใช่จะหลงจนตาย ทุกข์จนตาย โกรธจนตาย มันเป็นครั้งสุดท้ายได้
ถ้าไม่มีครั้งสุดท้าย เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ เรื่องเดียวเอามาคิด เรื่องเดียวเอามาสุข เรื่องเดียวเอาทุกข์ หาความทุกข์ หาเหาใส่หัวตัวเอง หาความสุข หาเหาใส่หัวตัวเอง บางทีก็ทุกข์ พอใจในความทุกข์ พอใจในความโกรธ ยึดมั่น ดีกว่าความสุขด้วย สิ่งใดที่เป็นทุกข์มักจะยึดมั่นมาก ๆ คิดแล้วคิดอีก เขาว่ากับเรา เขาว่ากับเรา เขาว่ากับเรา เราไม่ยอม กูจะต้องทำแบบนั้น กูจะต้องทำแบบนี้ มันก็หลงไป ยึดมั่นถือมั่น จึงเห็นกายสักว่ากาย สติเห็นไป แก่กล้าไป กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความร้อนก็เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของกาย ไม่ใช่เราเลยทีเดียว ความปวดความเมื่อยเป็นอาการของกาย ธรรมชาติของกาย ความหิว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นอาการของกาย ขอบคุณอาการของกาย มันต้องมี ถ้ามันไม่มีอย่างนี้ มันก็ไม่รอด มันอยู่ร้อนพอมันร้อน มันหนาว พอมันหิว มันเจ็บมันปวด แล้วก็รู้จักใช้อาการเหล่านี้เป็นประโยชน์
บางอย่างเกิดเป็นทุกข์ ๆ ๆ อะไรก็ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ แม้จะเป็นทุกข์ ทุกข์บางอย่างก็ควรที่จะบรรเทา ถ้ามันปวดก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันหิวก็กินข้าว ไม่ใช่มาทุกข์เลย ความหิวน่ะขอบคุณมัน เอามือตบอกเลย อายุ 70 ปีแล้วยังหิวข้าวเหมือนเด็กน้อย ดีใจ๊ดีใจเวลาหิวข้าว แต่บางคนไม่ดีใจ เสียใจเป็นทุกข์ ใจห่อใจเหี่ยว ใจเปราะใจบาง อะไรก็ง่ายขี้โกรธไปเลย เวลาหิวข้าวนี่โกรธง่าย เอ๊ะ มาโกรธทำไม มันดี หิวข้าว โอ๊ย ชื่นใจ เวลามันโกรธ โอ้ กระตือรือร้น จะได้ช่วย เหมือนเราช่วยลูกเรา
สติตัวนี้เหมือนบุพการคุณ เหมือนพ่อเหมือนแม่ของกายของใจ อันพ่อแม่ของกายของใจเราก็ไม่ให้อยู่ด้วยกันตลอดไปหรอก อันสติสัมปชัญญะนี้พระพุทธเจ้าว่า อุปการคุณเหมือนพ่อเหมือนแม่ ช่วยกายช่วยใจอย่างกระตือรือล้น ไม่ปล่อยทอดทิ้งจริง ๆ ช่วยให้เหนือสุขเหนือทุกข์ได้ จึงฝึกให้มีเป็นอริยทรัพย์ เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันสูงสุด ไม่ใช่ไปพึ่งไปห้อยไปแขวนกับอะไร เจ้าจึงชื่อว่าอุปการคุณ ถ้ามีอุปการะมากสองอย่าง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว เหมือนพ่อเหมือนแม่เลยทีเดียว พ่อแม่ของกายของใจอยู่กับตัวเราตลอดเวลา ถ้ามีแล้วมันไม่ไปไหน ถ้ามันไม่มีก็ต้องสร้างต้องประกอบ หัดให้รู้ ๆ ๆ ต่อไปความรู้สึกตัวจะเป็นเจ้าของไม่ต้องสร้าง รู้แล้วเลยทีเดียว
ทำใหม่ ๆ ต้องสร้าง เหมือนเราไปเรียนหนังสือ หัดดูกระดาน หัดเขียนก.ไก่ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเรียนแล้ว อ่านออกเขียนได้รู้ความหมาย เหมือนเราเดินทาง ถนนหนทางตรงป้ายจราจรบอก มันสนุก เดินทางก็สนุก เป็นมรรคเป็นผลเลยเขาบอก สี่แยกห้าแยกไฟแดงไฟเขียวมีอะไรที่ไหน บอก รู้ความหมาย อ่านหนังสือเดี๋ยวรู้ซึ้ง ๆ
หลวงตาเคยไปเที่ยวต่างประเทศ ไปเที่ยวสหรัฐอเมริกา ไปเที่ยวอย่างโชกโชน ไปถึงแกรนด์แคนยอน ไปถึงที่ไหนต่าง ๆ เขาก็ถามเรา เป็นไงหลวงพ่อ มาเที่ยวสหรัฐฯ อ้าว ก็เหมือนกันละ นั่งรถหมือนกัน สองข้างทางมีบ้านผู้บ้านคน มีป่าไม้ ถนนหนทางมันก็มีรถวิ่งไปวิ่งมาเหมือนกัน ไม่เห็นแปลกอะไร ๆ ก็เหมือนอยู่บ้านเรานั่นละ เที่ยวเดินนั่งรถตามถนนทางก็เหมือนกัน เหมือนบ้านเราน่ะ มีถนนหนทาง แต่ว่าถนนของเขาดีกว่าบ้านเรา ฟรีเวย์ ไม่มีรถบรรทุกไม่มีรถโดยสาร มีแต่รถนั่งส่วนตัว ฟรีเวย์ไม่มีไฟแดงไฟเขียว บ้านเขาน่ะ เขาไม่อยู่ในเมืองหรอก 5 นาทีก็ 5 นาที 10 นาทีก็ 10 นาที 20 นาทีก็ 20 นาที ตามไมล์ของความเร็ว กำหนดได้เลย ถึงที่หมายที่ทำงานได้เลย ของเราน่ะรถติดเพราะมันไม่ใช่ฟรีเวย์ มันมีรถบรรทุกอะไรต่าง ๆ ก็เหมือนกันหมด
ในโลกนี้เหมือนกันหมด อันเดียวกันหมด ไม่มีอะไรแปลกหรอก เพราะอยู่ในกายในใจเรานี่ ถ้ากายเรามันเป็นสมมติบัญญัติ มันก็มากมายเลย สมมติอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้เราชอบ อันนี้ไม่ชอบ สมมติบัญญัติมากมาย อันความดีไม่ดีไม่ใช่สมมติบัญญัติ มันเป็นของมันเอง เราจะเอาสมมติบัญญัติเหนือชีวิตเราไม่ได้ สมมตินี่มันก็ยิ่งใหญ่นะ สมมติว่าชอบ สมมติไม่ชอบ ในรูปธรรมในนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปวัตถุสิ่งของว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ไปสมมติให้เขา สมมติให้ผู้ให้คน แล้วรูปธรรม นามธรรมเกิดจากสมมติขึ้นมาเอง ไม่มีอะไร ไม่มีรูปสมมติ คิดขึ้นมาก็ชอบ คิดขึ้นมาไม่ชอบ เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะความคิด สมมติบัญญัติมันยิ่งใหญ่
เรามารื้อถอนตรงนี้ ปฏิบัติธรรมเห็นสมมติบัญญัติ เห็นปรมัตถสัจจะ สมมติก็จริงแค่สมมติ บัญญัติก็จริงแค่บัญญัติ ปรมัตถ์ไม่มีคำว่าสมมติ เหนือสมมติบัญญัติคือจริงไปเลย ความหลงก็จริงแบบนั้น ความไม่หลงก็จริง ปรมัตถสัจจะ ความโกรธเป็นสมมติบัญญัติ ความไม่โกรธเป็นปรมัตถสัจจะ ความหลงเป็นสมมติ ความรู้สึกตัวเป็นปรมัตถ์ ความทุกข์เป็นสมมติ ความไม่ทุกข์เป็นปรมัตถสัจจะ มันจริงกว่ากันนั่นแหละ สัมผัสดูนะ เวลามันหลงกับความไม่หลงน่ะอะไรจริงกว่ากัน เราก็หลงอยู่แล้ว เราก็ไม่หลงอยู่แล้ว ดูดี ๆ สมมติมันจริงยังไงไม่จริงยังไง ของจริงอริยเจ้า ของจริงอย่างประเสริฐ อันทุกข์มันก็ทุกข์จริง ๆ อันสุขมันก็สุขจริง ๆ แต่เราอย่าไปหลงตรงนั้น แล้วปรมัตถสัจจะ สุขก็หัวเราะมันได้ ทุกข์ก็หัวเราะมันได้
จะว่าไงถ้าไม่ฝึกตรงนี้ หรือต้องเกิดแก่เจ็บตายแน่นอน ไม่มีใครไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย อันชีวิตนี้ รูปนามนี้ได้ไปอาศัยให้ไปเป็นปัญญาเหมือนพ่วงแพเรา หายใจไม่ได้จะทำไง ปวดจังจะทำยังไง เราจะทำยังไงตรงนี้ แต่วันนี้เราหัดวันนี้ มันจะไปเป็นวันนั้น เรียกว่าเหนือการเกิดแก่เจ็บตายได้ ทำแค่นี้หรือ ทำแค่นี้แหละ ๆ พระพุทธเจ้าไม่มีหนังสือตำรับตำราเรียนอะไรหรอก เอากายเคลื่อนไหว คู้แขนเข้าเหยียดแขนออก มีสติ เดินจงกรม มีสติกับการไปการเข้ามา มีสติ
อยู่ในพุทธคยายังมีรอยเดินจงกรมของพระพุทธเจ้าอยู่ มีไปกราบไปไหว้กันอยู่ หลวงตาก็ไปมา 6 – 7 เที่ยวแล้ว อยู่ที่สารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขามีรอยเดินจงกรมของพระพุทธเจ้า ของพระยสะกุลบุตร ของพระโมคคัลลา ของโกณฑัญญา วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ เป็นวัดใหญ่ อาจารย์ทรงศิลป์ทำทางเดินจงกรมไว้ให้อย่างดี เพื่อการนี้โดยตรง ชีวิตสุคะโตเพื่อการนี้โดยตรง อันอื่นอย่าเอามาต่อรอง ให้เป็นไปเพื่อการนี้ มีสติรู้สึกตัว พวกเราคือเพื่อนกันอย่างนี้ พูดตรง ๆ กันอย่างนี้ ไม่ต้องมีแล้ว อะไรลำบากไหม ยากไหม ไม่ต้องไปเอาตรงนั้นมาเป็นการบ้าน เอาความรู้สึกตัวเป็นการบ้านไปก่อน
รู้สึกตัว ๆ ไป อาศัยตัวเองร้อยเปอร์เซนต์ อย่าอาศัยคนอื่น เราหลงก็หลงเอง เราก็รู้เอาเอง อย่าไปหาแต่คำถาม บางทีสิ่งที่คิด หลงขึ้นมา หาคำถาม ไม่ต้องถามก็ได้ บางทีทำไปก่อน บางทีมันตอบทีหลัง บุกเบิกไปก่อน สมัยก่อนหลวงตาก็อยู่กับหลวงปู่เทียน อาศัยหลวงปู่เทียนร้อยเปอร์เซนต์ หลวงปู่เทียนก็ไม่ค่อยอยู่ พวกเราฮึดสู้เข้มแข็งขึ้นมา เราเองว่าอย่างนี้ ก็อยู่อุดรน่ะ เคลื่อนไหวไปมา ให้เป็นวัตรของเรา