แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ้า ฟังธรรมต่อ
ใช้ชีวิตแบบวิถีพุทธ ตื่นขึ้นมาก็สาธยายพระสูตร บทสวดบางบทยาว ต้องหายใจออกยาวๆ บทสวดบางบทสั้น สบกับจังหวะหายใจเข้าออก บทสวดบางบทยาวสบกับจังหวะหายใจเข้า สูดเข้าลึกๆ เป็นการบริหารปอด เราสาธยายธรรมทั้งหายใจทั้งมีเสียง เราไม่จุดธูปจุดเทียนให้มีคาร์บอนในที่นี่ อากาศบริสุทธิ์มีต้นไม้ไม่มาก ก็บรรยากาศวิถีพุทธ
เรามาสร้างจังหวะการเคลื่อนไหว ได้พลังงาน ได้สติ โดยเฉพาะการสร้างจังหวะตามรูปแบบของสติปัฏฐาน เป็นการบริหารร่างกายให้พลังงานระหว่างหัวใจ หน้าอก ต้นคอ ใบหน้าด้วย และเดินจงกรมได้ทุกส่วนของร่างกาย บริหารทั้งกายทั้งใจ มีสติเข้าไปวิ่งเสมอในชีวิต ไม่ได้หมักหมมเหมือนก้อนหินที่อยู่ธารน้ำไหล ไม่ขึ้นสนิม ก้อนหินก้อนใดที่อยู่ในน้ำที่นิ่งมักเป็นสนิมไม่เกลี้ยงเกลา ชีวิตของเราต้องเกลี้ยงเกลาไม่ใช่หมักหมม อยู่แต่ในร่มไม่อาจมีแสงแดด ไม่มีละอองฝนก็อ่อนแอ ให้ถูกแดดบ้างถูกฝนบ้าง
ทางเดินจงกรม ถ้าเหยียบดินได้ก็ดี อย่าไปเทปูน ไม่ค่อยดี ถ้าฝ่าเท้าของเราไม่สวมรองเท้า เดินอยู่บนแผ่นปูน มันก็ไม่ดี ไม่เหมือนแผ่นดิน เราเหยียบดินนี่ มันไม่ใช่เสียหาย แต่เป็นประโยชน์ ให้เราว่ายน้ำลองดู ขณะที่เราว่ายน้ำไม่มีแผ่นดินเหยียบ เวลาถึงฝั่งแล้วเหยียบดินเนี่ย มันรู้สึกว่ามันมั่น มันมีความสุข มันมีสุขภาพ เหนื่อยๆ ก็หายเหนื่อยได้ หรือเราจมน้ำลงไปลึกๆ ไปเหยียบดิน พอเหยียบดินแล้วก็จะมีกำลัง ยันดินขึ้นมาพ้นน้ำได้ ซัดตัวไปหาฝั่งได้ เคยเป็นเด็กสมัยไปตกน้ำ จมลงไป ขาไปถูกดินก็ยันขึ้นมา ลอยตัวไปหาฝั่ง คว้าได้ไม้ ขึ้นได้เลย นี่แผ่นดินก็ดี ธรรมชาติ
ต้องหัดต้นไม้ในร่ม พยายามเคลื่อนออกไป เลือนรางรำไรๆ ระหว่างมีแสงแดด ถูกแดดบ้าง ค่อยเลื่อนออกไป แดดเพิ่มขึ้น เลื่อนออกไปจนอยู่กลางแดดได้ เพราะถ้าไม่เห็นแดด เราจะเอามาอยู่ในร่ม หัดเข้ามาให้อยู่ในร่ม จัดเข้ามาตั้งไว้ๆ ใกล้ร่มเข้าไป ผลที่สุดต้นไม้ก็อยู่ในร่มได้ ลูกชาวนากรำแดดกรำฝน อยู่กลางทุ่งไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ฝนตกก็เปียก แดดออกก็ร้อน แสงแรง
บ้านเราก็... วิถีพุทธนี่มันลุยๆ ซักหน่อย เวลามันหลง รู้ขึ้นมาทำให้แข็งแรง ถ้าหลงเป็นหลง แล้วก็หมักหมมอ่อนแอ สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ก็ต้องเตือนตนสอนตน ดูแลตน พิพากษาตน โจทก์ตน บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ เราต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย นี่เรียกว่าเตือนตน เพ่งตน บัณฑิตต้องเพ่งตน มองตน วิสัยบัณฑิตมองตนชี้โทษตน วิสัยคนพาลมองคนอื่นชี้โทษคนอื่น เราจึงมามีสติมองทั้งกาย มองทั้งใจ จะได้เห็นตัวเอง กล้ามองตน รักษาตน เตือนตนได้ จะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเกิดขึ้น
วันนี้ก็เป็นวันสมาทานศีลสำหรับผู้ฆราวาสครองเรือน 7 วันอาบน้ำครั้งหนึ่ง ศีลสมาทาน ศีลสิกขา มันต่างกัน ศีลสมาทานต้องเจตนา ต้องรักษา ศีลสิกขาศีลรักษาเรา สมาธิรักษา ปัญญารักษา มันเกิดจากการเจริญสติ มันจึงมีศีล เหมือนหลวงตาพูดในวันก่อนว่า จะให้มีศีล ถ้าอยากจะมีศีล หรืออยากจะมีบุญต้องล้างบาปออก เอาบาปออก ถ้าอยากมีความดี ต้องเอาความชั่วออก เหมือนเราอาบน้ำ อยากได้ร่างกายสะอาดต้องอาบน้ำ น้ำเป็นเหตุทำให้สะอาด อยากได้เสื้อผ้าสะอาดต้องซักน้ำ น้ำเป็นเหตุทำให้เสื้อผ้าสะอาด ชีวิตของเรามีสิ่งที่ทำให้สะอาด ความชั่วออกไป ความสะอาดก็เกิดขึ้น บาปออกไป บุญก็เกิดขึ้น เพราะเหตุของบาป ก็คือ “ตัวหลง” ตัวเหตุของบุญก็คือ “ไม่หลง” ถ้าไม่หลง บุญก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหลง บาปก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เหตุมันอยู่ที่นี่ พุทธเจ้าก็สอนไว้อย่างนี้ ไม่ใช่เราพูดเอง
เรามาเดินตามดูก็จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ สัมผัสกับความรู้ สัมผัสกับความหลง กุศล อกุศล เราจึงมาจับต้นเหตุมัน โดยวิชากรรมฐานนี่ เนี่ยวิถีพุทธที่จะก้าวไป ทั้งทำบุญ ทั้งละบาป ทั้งทำชั่ว ต้องละความทำดีไปในตัวเสร็จ (หลวงพ่ออาจจะพูดผิดสลับไป) เรามีสติ ก็ละความชั่ว เรามีสติมันก็ทำความดี เรามีสติจิตก็บริสุทธิ์ เมื่อละความชั่วคือศีลแล้ว การทำดีคือสมาธิแล้ว เวลามันผิด เปลี่ยนเป็นถูกเป็นปัญญาแล้ว เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ศีลกำจัดความชั่วอย่างหยาบ ในกายในวาจา ก่อนที่เราจะเคลื่อนไหวใช้กายก็รู้สึกตัว ก่อนที่จะเคลื่อนไหวจิตใจก็รู้สึกตัว สมาธิละบาป อันนี้เป็นส่วนกลางๆ ในความคิด เป็นปัญญารอบทั้งหมด ดูแลทั้งกายและใจ เป็นนาย
สติเป็นไม้พาย ร่างกายเป็นเรือ สติเป็นหางเสือ ปัญญาเป็นไม้พาย ถึงฝั่งได้ ถ้าเรือขาดหางเสือไปไม่ถูกทิศทาง จะพูดจะทำจะคิดรู้สึกก่อน ก่อนพูดก่อนทำก่อนคิด หัดใช้สติ เรียกว่าเรือมีหางเสือ ไปได้ เราจึงมาฝึกแบบนี้กัน ศีล สติ ศีลกำจัดความชั่วอย่างหยาบๆ สมาธิกำจัดความชั่วอย่างกลาง เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจมันคิด ยังไม่ทำอะไร สติ ศีลมันอยู่ตรงนี้ ดูอยู่เฉยๆ ส่วนสมาธิหนักแน่นเข้าไปอีก ปัญญาเห็นแม้กระทั่งความคิด
การรู้ธรรมเบื้องต้นมีกระแสแห่งมรรคผลนิพพาน เห็นรู้ รู้เห็น พบเห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง เห็นอาการของรูปของนามตามความเป็นจริง ได้หลักได้ฐาน ส่วนสมาธิปัญญาน่ะเห็นความคิด อันเห็นรูปเห็นนามเห็นธรรมชาติได้หลักฐาน เห็นแผนที่เนี่ย มันพร้อมที่จะไปอย่างไม่ผิดพลาด อะไรหลง อะไรไม่หลง มั่นใจ อะไรทุกข์ อะไรไม่ทุกข์ มั่นใจ แต่พอเล่นกับมันเรื่อยๆ ชำนาญเรื่อยๆ ก็เรียกว่าไปบรรลุธรรมตอนที่เห็นมันคิดโดยที่ไม่ตั้งใจ คิดทีไรรู้ขึ้นมา ทีแรกก็รู้เฉยๆ เมื่อมันคิดทีไรก็รู้
ภาวะที่รู้ทุกครั้งที่มันหลงคิด มันไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องที่เตรียมพร้อมชำนาญ เหมือนงานผ่านมืออยู่บ่อยๆ หัดอะไรก็เรียกว่าเป็นงาน หัดพิมพ์ดีดก็เก่งในพิมพ์ดีด หัดลูกคิดก็เก่งในลูกคิด หัดทำอะไรก็ชำนาญเรื่องนั้น เหมือนนายช่าง ทีแรกก็มีด สิ่ว ขวาน กบ เลื่อย ดินสอ ไม้ฉาก ทีแรกก็ไม่ค่อยมีฝีมือ ถ้าทำบ่อยๆ ก็มีฝีมือขึ้นมา เป็นฝีมือประณีต ทำใหม่ๆ ก็หยาบ พอชำนาญก็ประณีต การมีสติไปเห็นความคิดเนี่ย มันหยาบ ถ้าเห็นเข้าไปนานๆ ก็ประณีตขึ้น จ๊ะเอ๋ เรียกว่า จ๊ะเอ๋กัน ตื่น! แต่ก่อนไม่ตื่นนะ ธรรมดาๆ
บางทีก็โง่ในความคิด ด้านไปในความคิด ไม่อายเลย พอมาเห็นบ่อยๆ มันก็จ๊ะเอ๋กัน ตื่น! อยากจะร้องออกมาเลย “โอ๊ย..ต่อไปนี้ การทุกข์ การโศกที่จากความคิดจะไม่มีอีกแล้ว” เรียกว่าปัญญาญาณ ยิ่งใหญ่ทะลุทะลวงเลย จิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป ทิฐิก็เปลี่ยนแปลงไป กระโดดออกไปได้ มันก็เป็นอย่างนี้ มันมีทางไปแบบนี้ ชำนาญไปแบบนี้
ปฏิบัติธรรมไม่ใช่จะ ก.ไก่ ข.ไข่ อยู่เสมอ ตัวอะไรมันพร้อม อะไรที่อยู่ในกายในใจเนี่ยผ่านตาหมด อะไรเกิดขึ้นรู้แล้วๆ หมด รู้จนจบ ไม่มีอะไรที่ปิดบังอำพราง อันชื่อว่า“หลง” อันชื่อว่า “ทุกข์” เนี่ย ส่วนอาการต่างๆ ยังมี ต้องกินข้าว ต้องขับต้องถ่าย ต้องหลับต้องนอน เป็นธรรมชาติ มันร้อน-ธรรมชาติ มันหนาว-ธรรมชาติ มันหิว-ธรรมชาติ มันปวดมันเมื่อย-ธรรมชาติ ไม่ใช่เรา แล้วจะขอบคุณมันก็ขอบคุณมันได้ ยุงกัด มันเจ็บ ก็ขอบคุณมันเจ็บ ถ้าไม่เจ็บ มันอันตราย มันหิวข้าว ขอบคุณที่มันหิว มีประโยชน์ มันปวดมันเมื่อยอะไรต่างๆ มันเป็นธรรมชาติเพื่อเขาอยู่รอด สัญญาณภัยของเขา เราก็ไม่ต้องไปมีปัญหาอะไร จบทันที อะไรที่มันเกิดขึ้น มันก็จบไปๆ
เราก็มีปัญญาเกี่ยวกับมันอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นความทุกข์ก็กำหนดรู้ ถ้าเป็นทุกข์บางอย่างบรรเทา ทุกข์บางอย่างต้องละ ตามขั้นตอน ไม่ใช่ทุกข์ทั้งหมด เกี่ยวกับทุกข์อย่างแม่นยำถูกต้อง หิวข้าว ต้องกินข้าวหรือว่าบรรเทา ถ้าหายใจกัน เคลื่อนไหวกัน ทุกขเวทนา นี่ก็กำหนดรู้เฉยๆ ต้องหายใจ ต้องกลืนน้ำลาย ต้องกระพริบตา อันทุกข์โสกะปริเทวะนั่นต้องละ ความโกรธบรรเทาไม่ได้ อันหนึ่งบรรเทา อันหนึ่งละ อย่างมีระเบียบ เพราะมันบอกผิดบอกถูก มันก็เป็นไปได้ มันมีสูตร สูตรขนมก็มีสูตร สูตรแกงสูตรอาหารก็มีสูตร ถ้าไม่ถูกสูตร มันก็ไม่ดี ใช้ไม่ได้
ชีวิตเราก็มีสูตร สูตรที่ทำให้มันจบในชีวิตนี้ สติปัฏฐานสูตร ดังที่เราสาธยายในพระสูตรเนี่ย จนถึงสัมมาสติ สัมมาสมาธิคืออะไร พอถึงสัมมาสมาธิถึงไหน สัมมาทิฐิไปถึงไหน อาจจะก้าวไปไม่มาก มันก็ไปไม่ไกล สัมมากัมมันตาไปไม่ไกล สัมมาวาจาไปไม่ไกลเท่าไร ส่งไปครึ่งๆ กลางๆ พอถึงสัมมาสติ ออกไปแล้วล่ะ มีสติไปในกาย เห็นกายอยู่เป็นประจำแล้ว ไปแล้วบัดนี้ ถอนความพอใจ และความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ไปแล้วนั่น ด่านมี 4 ด่าน ออกจากด่านได้เลย กายเป็นด่านหนึ่ง สุขทุกข์เป็นด่านหนึ่ง ความคิดเป็นด่านหนึ่ง ธรรมที่เป็นส่วนรวมทั้งกายทั้งใจเป็นอีกด่านหนึ่ง ผ่านได้ละบัดนี้ ออกไปแล้ว พอสัมมาสติก็ออกไปแล้ว ออกจากโลกก็ว่าได้
แล้วถึงสัมมาสมาธิ ทิ้งขวาง รู้จักทิ้งขวางไหม เคยไปดูบั้งไฟไหม บั้งไฟที่เขาแข่งขันกันน่ะ ขวางมันหมดแต่ว่ามันพุ่งขึ้นไป บั้งไฟพุ่งขึ้นไปขวางอยู่ข้างบน จะลงก็ไม่ลง ก็ไปขวางอยู่ เมื่อมันขวาง มันจะไม่ลงง่าย เขาตั้งนาฬิกาไว้ ของใครจะได้กี่นาที ถ้ามันทิ้งขวางสูงจนขวางตัวลอยอยู่ มันก็เบา ที่สูงอยู่มันจะเบาไม่มีน้ำหนัก ก็อยู่ได้นาน ไม่รู้จะลงตรงไหน บางคนก็หวั่นไหว พวกอยู่ข้างล่าง มันจะลงมาตรงไหน ก็วิ่งเข้าไปหลบในที่ปลอดภัย ดูใครก็ถูกหัวของใครของมัน ถ้ามันไปยาวๆ มันก็ระวังยาก บั้งไฟทิ้งขวางสูง นั่นว่าออกไปแล้ว ไม่อาศัยขวางแล้ว ขวางมันส่งไปให้ ถ้าเป็นทุกข์ก็ส่งไปไม่ทุกข์ ถ้าเป็นหลงก็ส่งไปให้ถึงความไม่หลง ถ้าเป็นความโกรธ็ส่งให้ไปถึงความไม่โกรธ
เหมือนเราไปยืนบนหลังเขาเมื่อวานนี้ หลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อกรม มีอาจารย์ตุ้ม แม่ชีน้อยก็ไป ยอดเขา เบาเลยตัวเรา แม่นบ่ หลวงพ่อ เบาบ๊อ จนจะเดินไม่เป็น (หัวเราะ) ต้องถือไม้เท้า มันเบา มันสูง มันเบา ต้องถือไม้เท้าเดิน แล้วจะก้าวไม่เป็น มันสูง หมดหวังประเทศไทย มีแต่ภูเขาหัวโล้น ต้นไม้หมดแล้ว เสียดาย อันนี้เรียกว่า โลกมี 2 โอกาสโลก โลกคือแผ่นดินท้องฟ้า เสื่อมได้ไม่เที่ยง สังขารโลก โลกคือการปรุงแต่งในชีวิตเรา เสื่อมได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นจากความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นจากความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นจากความตายไปไม่ได้ นี่คือสังขารโลก ไม่ใช่ชีวิตเรา เป็นสังขารโลก เราต้องไม่อยู่ตรงนี้ ทิ้งขวางไปแล้ว
ตายก่อนตาย เจ็บก่อนเจ็บ เพราะไม่ชำนาญเรื่องนี้ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำอะไร ร้องไห้เพราะความทุกข์ เสียใจเพราะความทุกข์ ให้ทุกข์เป็นทุกข์เหรอ ให้สุขเป็นสุข ให้หลงเป็นหลง ให้รักเป็นรัก ให้เกลียดชังเป็นเกลียดชัง เช่นนั้นหรือ ตายแน่นอน ตาย ไม่ใช่ตายเข้าโลง ตายอยู่ตลอด เรียกว่าเกิดดับ เกิดดับ ถ้าเราออกไปได้ ก็หยุดแล้ว ปริญญา
เหมือนหลวงตาไปอยู่สวนโมกข์ตอนปี 2514 ปริญญาที่นั่น ตายก่อนตาย ปริญญาสวนโมกข์ ก็อยากจะพูดเรื่องนี้ แต่อาจารย์พุทธทาสพูดก่อนแล้ว ไม่ได้พูดเลย ขอใช้คำพูดของท่านมาพูดอย่างนี้ “ตายก่อนตาย” นิพพานคือตายก่อนตาย ที่นี้มาตั้งสวนโมกข์ที่กรุงเทพฯ “ชิมลองนิพพาน นิพพานชิมลอง” ตั้งแต่หลงเป็นไม่หลง ชิมลองไปแล้ว ทุกข์เป็นไม่ทุกข์ โกรธเป็นไม่โกรธ ชิมลอง เย็นแล้ว มันหมดไปแล้ว เคยติดบุหรี่ บุหรี่หมดไปแล้ว ติดเหล้า เหล้าหมดไปแล้ว มันตายก่อนตาย นิพพานชิมลอง มันเย็นไปแล้ว มันไม่มีเชื้ออีกแล้ว แต่ก่อนมันมีเชื้อ ยังมีเชื้ออยู่ บัดนี้มันตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว สัตว์มันดุร้าย มันนิพพานไปแล้ว สามีดุร้าย หมดความดุร้ายไปแล้ว ภรรยาดุร้าย หมดความดุร้ายไปแล้ว อาศัยกันได้ พึ่งพาอาศัยกันได้ ประเทศไทยมีแต่นิพพาน ทุกคนก็เย็น เป็นแผ่นดินราบเหมือนหน้ากองไซ ศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้ ทันได้เห็นอยู่ เพราะอะไร เพราะเอาธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนต่อจากสมณโคดม มาปฏิบัติไป ถึงแน่นอนพระศรีอริยเมตไตรย คนที่เป็นคนคนเดียวกัน แผ่นดินราบหมายถึงคนคนเดียวกัน
เริ่มตั้งแต่เรามีสตินี่แหละ เรามีสติเวลานี้ เราอยู่นี่เป็นร้อยกว่าคน ร้อยกว่าชีวิต ถ้ามีสติจะเป็นอันเดียวกันเลย เป็นคนคนเดียว ใครก็ละความชั่ว ก็ทำความดี ตั้งแต่มันหลง เห็นมันหลง มันจะทำอะไรได้ พอมันหลงก็เห็น พอมันคิดก็เห็นแล้ว มันจะพูดผิด ทำผิดได้อย่างไร ต้นเหตุมันอยู่ที่ เราก็เห็นอยู่เนี่ย ทุกคนมีเหมือนกัน ต่างคนต่างดูแลตัวเองอย่างนี้ มันจะยากอะไร ไม่ต้องมีคุก ไม่ต้องมีตะราง ไม่ต้องมีตำรวจทหาร มีแต่แผ่นดินราบไปเลย ทำมาหากินกันไป มันมีแต่พี่แต่น้องปรองดองกันไป พัฒนากายใจถึงมรรคผลนิพพาน แม้จะอยู่ที่ไหน เรามีรูปมีนาม เอามาเป็นพ่วงแพขี่ข้ามฟาก มีสิทธิ มันหลง ข้ามไปซะ อย่าให้หลงเป็นหลงซะ ข้ามไปแล้ว
พวกเราสุคะโตขอเป็นสะพานให้คนข้าม ถ้าข้ามไป เขาเรียกว่าสะพาน เหมือนวัดเรา แต่ก่อนมี 2 เขต เขตคามวาสี เขตบ้าน อรัญวาสีเขตป่า ต้องเดินข้ามสะพานเท่านั้นเอง แต่เดี๋ยวนี้ก็เลยมาจัดสรร มาทางน้ำใหม่ ป้องกันโค จากโรงทานมานี่ แต่ก่อนมันเป็นห้วยขวางไว้ มาไม่ได้ หลวงตาเลยมาทำคันคู เราก็ขวางน้ำ ไม่ให้หันเข้ามาในสระ เพราะน้ำในป่าในไร่ชาวบ้านมีสารพิษ ให้มันไหลออกไปเลย แต่งทางน้ำใหม่ นั่นเราแต่งได้ ความไม่ดีไม่ต้องให้มันเข้าไปในสระ เพราะเราจะต้องใช้น้ำ ให้ไหลออกไปข้างนอก
อันชีวิตเราก็แต่งได้นะ วาสนาก็แต่งได้เขียนได้ บุญแต่งได้ วาสนาแข่งขันกันได้ อย่าพูดเลยว่า บุญวาสนาแข่งขันกันไม่ได้ ไม่ใช่แน่นอน แข่งขันกันได้ บุญวาสนาเนี่ย เขียนเอาสิ อยากเป็นคนดีก็แต่งเอา มันก็ไม่มีมากนะ มันแต่งได้ มันหลง เปลี่ยนไม่หลง มีวาสนาแล้ว มันทุกข์ เปลี่ยนไม่ทุกข์ มันโกรธ เปลี่ยนไม่โกรธ วาสนาเหรอ วาดใหม่แล้ว อันเก่า ลบออก วาดใหม่ เนี่ย บุญวาสนา อยากให้งามก็เขียนเอา ขอให้งามก็เขียนเอา ศาสนามีวินัย มีธรรมวินัยเป็นเครื่องมือ “วิ” ก็วิเศษแล้ว “นัยยะ” นำไปสู่ความวิเศษได้ นำไปได้ ถ้าศาสนามีธรรมวินัย ก็มีมรรคผลนิพพานได้ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในกำมือเราแท้ๆ มั่นใจเถอะ
อย่าอ้อนวอน มีการทำลงไป ได้ประโยชน์ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มันไม่ใช่แค่นี้ ไปไกลนะ พอหลง-ไม่หลง ไปไกลมาก ทำไม่หยุดไม่หย่อน ถึงมรรคผลนิพพานเลย ถ้าหลงเป็นหลง ไปทางหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราเป็นมนุษย์ อยู่ในทาง 4 แพร่ง เหมือนเรามายืนบนทาง 4 แพร่ง ทางหนึ่งไปสู่อบายภูมิ ทางหนึ่งไปสู่สวรรค์ ทางหนึ่งไปสู่พรหมโลก ทางหนึ่งไปสู่มรรคผลนิพพาน สิทธิจะไปทางไหน เรายืนอยู่ 4 แพร่ง เวลานี้ สิทธิจะไปทางไหน เราก็เลือกได้ ถ้าเป็นสัตว์อื่นไม่มีสิทธิ มนุษย์เท่านั้นที่มีสิทธิ “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ” การเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะมีสิทธิใช้อะไรก็ได้ อันอื่นไม่ประเสริฐ แม้แต่เทวดาก็ต้องกลับมาเป็นมนุษย์จึงจะไปสู่นิพพานได้ มนุษย์เท่านั้น
เรามาจากไหน อะไรพามา เหมือนลูกสาวช่างหม้อ พระพุทธเจ้าถาม “มาจากไหน”
“ไม่รู้”
“จะไปไหน”
“ไม่รู้”
“เธอไม่รู้จริงๆ หรือว่า เธอมาจากไหน”
“รู้”
“เธอจะไปไหน ไม่รู้จริงๆ หรือ”
“รู้”
เล่น เล่นกับพระพุทธเจ้า หญิงสาวคนนั้น ถือว่าเธอไม่รู้ ไม่รู้อะไร ที่ว่ารู้ รู้อะไร มาจากบ้าน เธอมาจากไหน มาจากบ้าน เธอจะไปไหน จะไปส่งข้าวพ่อ ลูกสาวช่างหม้อ ลูกสาวนายช่างปั้นหม้อจะเอาข้าวไปส่งพ่อ เห็นคนเดินเข้าเชตวันมาก เห็นคนเดินไปแต่งตัวขาวๆ เหมือนพวกเรา เรียบร้อย ก็เลยเดินไปตามเขา ว่าจะไปส่งข้าวพ่อ ก็เลยไม่แยกทาง ไปกับผู้คน
พอไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เทศน์แสดงธรรมอยู่ ลูกสาวช่างหม้อพะว้าพะวง คิดถึงพ่อ ป่านนี้พ่อคงหิวข้าว แต่จะไปก็เสียดาย พระพุทธเจ้าเทศน์แสดงธรรมถึงจิตถึงใจจริงๆ พระพุทธเจ้าเทศน์จบลง พระพุทธเจ้าเห็น ก็ถามเธอ “เธอว่าเธอไม่รู้ ไม่รู้อะไร เธอว่าเธอรู้ รู้อะไร” เธอว่า “มาจากบ้านจะไปส่งข้าวพ่อ “รู้ ที่ว่าไม่รู้ เธอไม่รู้อะไร เธอมาจากไหน” “ไม่รู้” “เธอจะไปไหน” “ไม่รู้” พระพุทธเจ้าแสดงธรรม พระพุทธเจ้าเลยบอกทาง ถ้าจะมา เรียกว่าบุญพามา
พวกเราที่มาเกิดอยู่นี่ มันพร้อมทาง 4 แพร่ง บุญพาเรามา มีสิทธิที่จะเลือกได้ ถ้าบาป มาตรงนี้ไม่ได้นะ “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ” บุญพามาเป็นมนุษย์ มีกายกว้างศอก ยาววา หนาคืบ มีสัญญาจิตใจ มีตู้ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ อยู่ที่นี่ เราจึงไม่ปิดบัง มาเปิดตำราอ่าน มีสติเป็นนักศึกษา มีกายใจเป็นตำรา อ่านลงไปให้เห็น ให้มันรู้ขึ้นมา แต่เลือกได้นะ ไปอบายภูมิคืออะไร สัมผัสดู มันหลงเป็นหลง มันทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ แน่นอน ถ้าหลงเป็นไม่หลง ทุกข์เป็นไม่ทุกข์ โกรธเป็นไม่โกรธ แน่นอน คนละทางกันแล้ว จะเลือกเอาไหม จะเลือกหรือไม่เลือก มีสิทธิได้ตรงนี้ ถ้าเลือกเป็นอะไรก็ได้นะ แต่ให้มันปราณีตเสียหน่อย ตาคมๆ สัมผัสดูเหมือนเราตาคม
ตาไม่ดี ก็ไม่ทันนะ ไปซื้อส้มเขียวหวาน มัวแต่ยืนจกกระเป๋า แม่ค้าเขาก็เอาส้มลูกดีๆ กองไว้ข้างหน้า เอาลูกไม่ดีไว้ข้างหลัง แล้วเขียนไว้ว่า ครึ่งโล 10 บาท คำว่า “ครึ่ง” ทำตัวเล็กๆ นะ ตัวหนังสือ โลละ 10 บาททำตัวใหญ่ ลืมอ่านไป อันครึ่งน่ะ นึกว่าโลละ 10 บาท แล้วเขาเอาข้างหลังให้ ข้างหน้าก็ลูกสวยๆ ข้างหลังก็ช้ำหมดแล้ว เอาใส่ให้เขาไปชั่งให้ กิโลหนึ่งอะไร คื่อน้อยแท้ ไม่ใช่กิโลหนึ่ง ครึ่งกิโล โอย เสียเปรียบแล้ว นึกว่ากิโลนึง ที่แท้ครึ่งกิโล ตาไม่คม ต้องเลือกดูซิ พอไปซื้อส้มที่เขากองไว้ เอาถุงมา ไปเลือกเอาใส่ส้ม ป่านนั้นก็ยังแย่งมา เอาลูกไม่ดีมาให้อีก นี่แม่ค้า
ต้องฉลาด ตาคมๆ มันจะยื่นความสุขมาให้ มันจะยื่นความทุกข์มาให้ เอาไหม ถ้ามีตา ดูแล้วเห็น เลือกได้ เลือกได้ เลือกได้ จะเลือกทางไปไหน จะเลือกไปสวรรค์ จะเลือกไปพรหมโลก ใจดีเป็นบุญไปสวรรค์ ใจร้ายเป็นบาปไปนรก มีไหมในหัวใจเราเนี่ย สัมผัสดู เป็นไง ใจเย็น ไปนิพพานได้เลย มันอยู่ที่ใจ มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จอยู่ที่ใจ ปล่อยทิ้งไหมเรา ปล่อยใจทิ้งไหม อะไรเป็นใหญ่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็รับใช้
ตามที่หลวงตาพูดว่า ถ้าเห็นรูปอะไรโชว์ก่อน ความพอใจ ความไม่พอใจมาโชว์ นี่เรียกว่าเขาโชว์นะ เหมือนแม่ค้าขายส้มเขียวหวาน ครึ่งโล 10 บาท เอามาโชว์ไว้ เราก็หลง ถูกหลอก หลอกให้เราก็เลยด้านไปเลย อะไรก็ง่ายที่จะหลง ง่ายที่จะรัก ง่ายที่จะพอใจ ไม่พอใจ อันระหว่างตรงกลางไม่ค่อยอยู่ พอใจมันไปฝั่งขวา ไม่พอใจไปฝั่งซ้าย ไปไม่ถึงไหน ติดฝั่ง ชีวิตติดฝั่ง ถ้าไปกลางๆ เห็นเนี่ย ถอนออกมา อันความพอใจ ความไม่พอใจเป็นรสของโลก รสของโลกมันมีรสชาติ สัตว์โลกย่อมติด ติดความพอใจ ติดความไม่พอใจ
มามีสติดูซิ จะช่วยได้เยอะเลย ถอนออกมา มีสติ อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ มีสติสัมปชัญญะ ถอนออกมา ถอนออกมา ทวนกระแสมันสักหน่อย มันเคยพอใจ มันเคยไม่พอใจ ถอนออกมา มีสติสักหน่อย ทวนกระแส พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ต้องทวนกระแส เสี่ยงถาด ถาดทองคือใจ อย่าให้ไหลไปตามน้ำ ทวนเอาไว้ คิดถึงพิมพา กลับมา คิดถึงราหุล กลับมา คิดถึงปราสาทสามฤดู กลับมา คิดถึงทรัพย์สินสฤงคาร กลับมา คิดถึงพระเจ้าจักรพรรดิกลับมา ทวนกระแสกลับมา ทวนกระแสกลับมา
ทีแรกก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ยากเกินไป ไม่ใช่ง่ายเกินไป ก็มีพอสมควร ผู้มีความเพียรมั่นคง ผู้มีความเพียรต่ำ ตามควรแก่ผู้ปฏิบัติ พระธรรมอันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว ผู้ศึกษาจะต้องทำด้วยตนเอง ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นชวนมาดู
อยากจะชวนมา มาลองดู มาสัมผัสความรู้ลองดู อย่าไปอยู่ในความหลง ความสุข พอใจ ไม่พอใจ กลับมารู้ซะ ชวนมา ชวนมา มาดูนี่ สูทั้งหลายมาดูโลกนี้ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ ถ้าหลงมากกว่ารู้ มันก็ไม่สมควร ถ้ารู้มากกว่าหลงก็สมควร ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ วันหนึ่ง 12 ชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง 60 นาที นาทีหนึ่งหลงเท่าไหร่ รู้ รู้ ชั่วโมงหนึ่งหลงไปเท่าไหร่ เดินไปชั่วโมงหนึ่งได้กี่ก้าว รู้ไหม หัดใส่ใจลองดู หลวงตาก็หัดนับ เมื่อเช้าที่ผ่านมาแกว่งแขนได้ 3,000 ครั้งนะ แกว่งแขวนหลังทำวัตรเสร็จไปแกว่งแขนได้ 3,000 ครั้ง แล้วก็เดินจ็อกๆ ตั้งหลายพันก้าว เป็นชั่วโมงครึ่ง ดูแลตัวเองส่วนนี้ เอาเวลานี้ไปดูแลตัวเองจนถึงเวลาฉันเช้านะ
วันนี้เป็นวันอุโบสถศีล ญาติโยมชาวบ้านมาสมาทานศีล เอ้า สมาทานศีล ประกาศศีล พ่อทายก