แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดกับทุกท่านทุกชีวิต อย่ามัวแต่หลับอยู่ สิ่งพูดนี่คือพูดเรื่องของเรา ทุกคนก็เหมือนกันหมด ทุกคนไม่เหมือนกันหมด ถ้าเราหัด เหมือนกันหมด ถ้าเราไม่หัด ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกัน ความหลงก็เหมือนกัน ความโกรธเหมือนกัน ความทุกข์เหมือนกัน เกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน ถ้าเราหัด ความทุกข์ไม่เหมือนกัน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความหลง ความโกรธไม่เหมือนกัน คนละอย่าง เราควรใส่ใจ หัดตน สอนตน เตือนตน
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีอะไรที่ไม่เหมือนกันอีก ตาเห็นรูป พอใจไม่พอใจ หูได้ยินเสียง พอใจไม่พอใจ จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจคิดนึก พอใจไม่พอใจ นี่ก็ไม่เหมือนกัน บางชีวิตถ้าฝึกหัดแล้ว ไม่มีในความพอใจ ไม่มีในความไม่พอใจ เป็นธรรม ถ้าเราพอใจในคนนี้ ไม่พอใจในคนนั้น ไม่เป็นธรรม เราอาจจะช่วยคนที่เราไม่พอใจ อาจจะช่วยคนที่เราพอใจ ไม่เป็นธรรมเลย ถ้าเราอยู่ตรงกลางช่วยทั้งสองคน คนที่ไม่มีคนพอใจ ไม่มีคนที่ไม่พอใจ ถือว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ถ้าเขามีความไม่ดีก็สงสารเขาคิดช่วยเขา
เดี๋ยวนี้คนเรามันถูกสิ่งเหล่านี้แบ่งแยกความพอใจ ความไม่พอใจ มันเป็นรสของโลก เกิดเสื้อแดง เสื้อขาว เสื้อเหลืองขึ้นทั่วประเทศ ถ้าใครเป็นพวกเสื้อแดงเป็นพวกของเรา ถ้าใครเป็นเสื้อเหลืองเป็นพวกของเขา มันก็เลยไม่เป็นธรรม อะไรที่คนเสื้อแดงทำก็ผิด อะไรที่คนเสื้อเหลือง เสื้ออะไร พรรคนั้นพรรคนี้ ทำก็ผิด ความเห็นไม่เหมือนกันแต่ความพอใจไม่พอใจเกิดขึ้น ความเห็นมันไม่เป็นไร แต่ว่าการกระทำลงไปที่มันซ้ำลงไปมันอันตราย เราจึงมาฝึกตนสอนตน
พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สอนนักสอนหนา มีสติถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เราสอนไหม เวลามันเกิดความพอใจ ไม่พอใจในภายนอก พอใจไม่พอใจในภายใน เราเจริญสติพอใจในความสงบ ไม่พอใจในความไม่สงบ คราวใดมันฟุ้งซ่านไม่พอใจ เกิดความคร่ำเครียดขึ้นมา มันไม่ใช่ พอเริ่มต้นก็ปฏิบัติไปเลย ไม่ใช่จะไปรอ ทำมาแล้วเท่านั้นไม่ค่อยได้ผล ทำมาแล้วเท่านี้ไม่ค่อยได้ผล ไม่ใช่แบบนั้น ได้ผลคืออะไร ผลคืออะไร ได้ผลคือ “ไม่เป็นอะไร” ความพอใจก็ไม่เป็น ความไม่พอใจก็ไม่เป็น เห็นความหลง เห็นความรู้ เห็นความยาก เห็นความง่าย อยู่ตรงนี้ เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม”
ผิดก็เห็น ถูกก็เห็น สุขก็เห็น ทุกข์ก็เห็นเนี่ย ให้ทำให้เป็นตรงนี้ ไม่ใช่จะได้ประโยชน์ตรงไหน รอวันนั้น รอวันนี้ ๑ วัน ๗ วัน ๑ เดือน ๗ เดือน ๑ ปี ๗ ปี ไม่ใช่ มันได้ผลแล้ว ถ้าเรามีสติ มาละความชั่ว ทำความดี จิตบริสุทธิ์แล้ว ปัจจัตตัง ปัจจุบัน ไม่ใช่รอ คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ ความคิดไม่จริง หาคำตอบจากความคิดไม่จริง มันตอบไม่ได้เสมอไป ความคิดไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่สิ่งที่ถูกต้องคือการกระทำลงไป มันเป็นโอกาสดีนาทีทอง เวลามันหลงมีโอกาสดีนาทีทองที่จะไม่หลง เวลามันทุกข์มีโอกาสดีนาทีทองที่จะไม่ทุกข์ หลายอย่างที่เรามีโอกาสประสบการณ์ มีบทเรียน มันบอกมันสอน นี่ “ความไม่เที่ยงนะ” อย่ามาถือเราว่า “ตัวตน” นะ นี่ความไม่ทุกข์นะ อย่ามาถือนะว่าเป็นตัวของท่าน มันเป็นอย่างนี้ คล้ายๆ มันประกาศบอก นี่คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโกรธ ความโลภ ความหลง ถ้าตามไปก็จะเดือนร้อน วางซะ ต้องให้มันบอก
จึงมามีสติกัน เพื่อคุ้มครองวิธีที่จะมองตนให้มันปลอดภัยเรื่องนี้ มีเรื่องเดียวคือ “สติ” เหมือนเรามีตาพาให้เราเดินทาง เราเดินไปไหนมาไหนมีตาพาไป มีกายตามไป มีจิตใจที่เราเดินทาง มันก็เหนื่อยไม่ใช่เดินเฉยๆ แดดก็แดด ร้อนก็ร้อน ปวดขาปวดขา เหน็ดเหนื่อยหิวน้ำ กระหายน้ำ อันนั้นไม่ใช่เป็นอุปสรรคการเดินทาง คนเดินทางไม่ข้องแวะสิ่งเหล่านั้น ผ่านความร้อน ผ่านความเหนื่อย ผ่านความหิว อะไรต่าง ๆ มันจึงสุดถึงจุดหมาย ถ้าอะไรมันเกิดขึ้น ไม่ไป มันก็ไปไม่ถึงไหน ผ่านตัวหลง ผ่านทุกข์ ผ่านโกรธ ผ่านโลภ ผ่านดี ผ่านชั่ว ผ่านผิด ผ่านถูก ผ่านยาก ผ่านง่าย ไปเรื่อย ๆ
ครั้งแรกอาจจะยาก ทำไป ๆ ง่ายนิดเดียว ลัดนิ้วมือเดียว เช่น มันคิด ปรากฏว่าดึงกลับมา กลับมาหาการเคลื่อนไหว มันคิดทีไร ดึงกลับมามันอาจะยาก ทำไป ทำมา ก็ชำนาญ ไม่ได้ดึงอะไร มันกลับมาเอง ไม่ต้องกำหนดกายเคลื่อนไหว ในความคิดมันก็มีความไม่คิด จิตมันสอนจิต ผิดมันสอนผิด ถูกมันสอนถูก สิ่งที่มันไม่ถูก มันก็ไม่ถูกอยู่เช่นนั้น สิ่งที่มันถูกมันก็ถูกอยู่เสมอไป เช่นความโกรธเป็นสมมุติบัญญัติ ไม่ถูก ความไม่โกรธเป็นปรมัตถสัจจะ ถูก ไม่มีใครไปเอาสิ่งที่ผิดน่ะ ถ้าเราเห็นอยู่ “ผ่าน” ว่าเราผ่านมันแท้ๆ มันอันเดียวกัน
อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป สัมผัสเอา ไม่ได้คิด บางทีปฏิบัติเกิดนิมิตอะไรขึ้นมา ก็อย่าไปหลง มันจะต้องเห็นเหมือนกันหมด เบากาย เบาจิต มีความรู้ มีความสงบ ปัสสัทธิ อย่าไปหลงในความรู้ อย่าไปหลงในความสุข ให้เห็นเหมือนกัน พอเห็น สภาวะที่เห็นเป็นที่ตั้งเอาไว้ เป็นการด่วน ถ้าเป็น-ไม่ค่อยด่วน หวานเย็นเสียแล้ว รถแม่ค้าต้องเห็นด่วนที่สุด เหมือนรถไฟของจีน (หัวเราะ) ด่วนที่สุด ๒๕๐ กม./ ๑ ชม. แต่เครื่องบินด่วนกว่านั้น นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพถึงเมืองจีนแถวตอนใต้ ๓ ชั่วโมงกว่า นั่งรถจากกรุงเทพถึงสุคะโต ๗ ชั่วโมง มันหวาน แต่ถ้าด่วนมันไวกว่านี้ สตินี้พาให้ไว พาให้ไว ของยากเป็นของง่าย ของหนักเป็นของเบา
ถ้ามีสติจริง ๆ “สติปัฏฐาน” กายก็ถอนได้ เวทนาก็ถอนได้ จิตก็ถอนได้ ธรรมก็ถอนได้ แต่ถ้าเราไม่หัด-ยาก เป็นด่านภูเขาขวางกั้น เรื่องของกายก็เป็นตัวเป็นตนอยู่กี่ภพ กี่ชาติ เวทนาก็เป็นตัวเป็นตนอยู่กี่ภพ กี่ชาติ จิตก็เป็นตัวเป็นตนอยู่กับความคิดกี่ภพ กี่ชาติ เป็นสุข เป็นทุกข์ ความคิดกี่ชาติ เป็นความโกรธเพราะความคิดกี่ชาติ ความรัก ความชังเพราะความคิดกี่ชาติ ธรรมก็เหมือนกัน ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัยกี่ครั้ง พยาบาท ราคะ มานะทิฐิกี่ครั้ง อยู่ดี ๆ มีความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา สำคัญมั่นหมายเราดีกว่าเขา เขาเลวกว่าเรา เราเลวกว่าเขา เขาดีกว่าเรา กี่ครั้ง อยู่เฉยๆ เปรียบเทียบขึ้นมา เรียกว่า “ชาติอยู่ตรงนี้ นับไม่ถ้วน เกิดดับ ๆ”
โกรธตั้งแต่ปีกลาย เดี๋ยวนี้ยังโกรธอยู่ ทุกข์ตั้งแต่ปีที่แล้ว วันนี้ก็ยังทุกข์อยู่ มันกี่ครั้ง แต่ไม่มีประโยชน์อะไร ความไม่สุข ความไม่ทุกข์ก็มี ทำไมไม่ฝึกตนสอนตน สัมผัส อย่างนี้เรียกว่า “ผ่าน” ถ้าไม่ผ่านก็ไปไม่ถึงไหน การผ่านเป็นมรรค มรรคคือเป็นกลางระหว่างตาเห็นรูป ไม่มีความพอใจ ไม่มีความไม่พอใจอยู่ตรงกลาง บริสุทธิ์ นี่คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีความบริสุทธิคุณ เมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ บริสุทธิคุณ ปัญญาธิคุณ ถ้าจะเดินตามพระพุทธเจ้าต้องเป็นคนแบบนี้ อย่าไปพอใจไม่พอใจ ทำอะไรลงไปบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เรียกร้อง ไม่ใช่ลงทุน สละ เสียสละ เมตตาธิคุณเกิดขึ้นแล้ว ตั้งไว้แล้ว คิดสิ่งใด ทำสิ่งใด พูดสิ่งใดมีเมตตาออกหน้า เมื่อเมตตาเกิดขึ้นก็มีกรุณาเข้าช่วยเหลือ คิดจะช่วยเหลือแล้วก็ทำลงไป อะไรที่เป็นส่วนที่ทำให้หนักเป็นเบา ทำ จะเป็นอะไรก็ตาม
เดินไปในป่าเห็นกิ่งไม้หักทับต้นไม้เล็ก ๆ ถ้ายกออก อะไรที่มันเบียดเบียนกัน เราก็ขอความเป็นกลางไม่ให้เบียดเบียนกัน เช่น ไปเห็นงูคาบเขียดอยู่ ทำไง หรือจะให้งูมันกินเขียดหรือ งูมันก็หาอาหาร มันก็กินอาหาร ไปทำอย่างไรจะเป็นกลาง เอาไม้ไปเขี่ย เอ้า! คาบให้มั่นยันให้แรง บอกเขียดยันออก บอกงูคาบให้มั่น เอาไม้ไปแหย่ (หัวเราะ) แล้วมันก็วางน่ะซี อันนี้เป็นกลางที่สุด ช่วยทั้งสองอย่าง เอ้า! เคลียร์เธอนะ เอ้า!งูคาบให้แน่น เอ้า! เขียดยันให้แรง เอาไม้ไปเขี่ยมันก็ เขียดก็ยันแรง งูคาบไม่มั่นเสียแล้ว เขียดก็หลุดปากไป เอ้า! บอกให้คาบให้มั่นยันให้แรงไง ไม่ทันเขียดเลยนะ
ครั้งหนึ่ง เรานั่งเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะ ที่ครุสติ งูมันคาบเขียดเอามาเลื้อยตามลอดขาเราไป เราไม่ได้ดู มัวแต่ดูหนังสือ ไปเห็นมันคาบเขียด เลยไปเอาไม้กวาดมา เลยบอก เอ้า! บอกคาบให้มั่นนะ ยันให้แรงนะ เราก็เอาไม้ไปเขี่ยงู งูก็วางนะ เขียดก็วิ่งหนี เอ้า! บอกว่าคาบให้มั่นนะ แสดงว่าเป็นความผิดของเธอนะ ใจเราก็ดีเป็นกลาง เป็นกลาง อะไรตามลองทำเป็นกลาง ลองดู สติพาให้เป็นกลาง “เห็น” เลยพูดว่า “เห็น อย่าเป็น” กลางที่สุด มันสุข เห็นมันสุขอย่าเป็นผู้สุข มันทุกข์ เห็นมันทุกข์อย่าเป็นทุกข์ นี่แหละ! คือ “ตัวปฏิบัติ” ตัวเคลื่อนย้าย ตัวล่วงพ้น อะไรก็ตามพ้นได้ ผ่านได้
ศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาลาภสักการะ สรรเสริญ เยินยอ ไม่ใช่ลัทธิพวกพ้องบริวาร เป็นศาสนาแห่งการกระทำเพื่อความหลุดพ้น พ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป มันหลง พ้นความหลง มันทุกข์ พ้นความทุกข์ เอาสติเป็นพลังงานให้เราได้พ้น ช่วยได้ ยิ่งเรามีวิชากรรมฐาน กายานุปัสสนา กลับมาตั้งไว้ที่กายมีการกระทำทีนี้ มันอะไรดึงไปก็กลับมาก่อน เราหัดใหม่ อาศัยนิมิตเป็นเครื่องหมาย เหมือนเด็กน้อย อาศัยนิมิตเกาะเวลาจะหัดเดิน หัดคลาน พ่อแม่ช่วย ก็เดินได้ อันนี้ก็หัดจับหัดเกาะไปก่อน อันนี้เรียกว่า “วิชากรรมฐาน” ลมหายใจบ้าง อย่าเอาไว้ที่เดียว ถ้าตั้งไว้ที่เดียวมันพลาดได้ ถ้าไปตั้งกับลมหายใจ ทำไปนาน ๆ มันจะพร่าไม่ชัดเจน ไม่รู้ก็มาเคลื่อนไหวตั้งตัวใหม่
ชีวิตใหม่ต้องตั้งตัวใหม่ ถ้าไม่ตั้งตัวใหม่มันเก่า สติให้มันใหม่มันจะมีพลัง เช่น เรานั่งไปนาน ๆ หลังจะโก่งขึ้น ยืดตัวขึ้น หน้าอก ต้นคอ ใบหน้า วางให้ดี ๆ ให้มันองอาจ เหมือนเราอยู่เฉพาะหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เวลาเราหลง พระพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้านี้แล้ว เวลาเราโกรธ เราทุกข์ พระพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้าเรานี้แล้ว พระพุทธเจ้าเคยหลง พระพุทธเจ้าไม่หลง ก็ต้องเอาอย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเคยทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าเคยคิด พระพุทธเจ้าก็หยุดคิดได้ คิดถึงพิมพา ราหุล คิดถึงอะไรเยอะแยะไปหมดเลย เปรียบเทียบ
กลับมาก่อน เวลานี้ไม่ใช่เวลามานั่งคิด ให้มีนิมิตเป็นที่ตั้งเป็นปัจจุบัน ถ้าไม่มีปัจจุบันไม่มีที่ตั้ง มันก็ไหลไปข้างหน้า ไหลไปข้างหลัง โดยเฉพาะความคิดเนี่ย มันมีสัญญามันติดมา มีวิญญาณมันติดมา หลายเรื่อง เหมือนคอมพิวเตอร์ในสมอง มันเก็บข้อมูลอะไรต่าง ๆ ไว้ เราให้ข้อมูลชีวิตเราไม่ค่อยเป็น บัดนี้ คล้ายกับว่าให้ข้อมูลชีวิตเราใหม่ ให้ข้อมูลใหม่ ข้อมูลอันเก่ารื้อออกก่อน เหมือนเราให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ดี ๆ เวลาเราจะให้คอมพิวเตอร์คนอื่นต้องเอาข้อมูลคืนไว้ก่อน ถอนข้อมูลมาไว้ก่อน ค่อยให้เครื่องเขา ให้เหลือแต่เครื่องเปล่าๆ ไป
ชีวิตเราก็เหมือนกัน มาปฏิบัติธรรมนี่ให้ข้อมูล มีความรู้เป็นข้อมูลที่ดีที่สุด มันจะไม่หนีไปไหน ไม่ใช่แบบจำเอาอันรู้จำมันลืม การรู้ที่เป็นการสัมผัสพบเห็นนี่ไม่ลืม ยิ่งเห็นรูปเห็นนามยิ่งไม่ลืม รูปมันจะบอก นามมันจะบอก จะหลงอย่างไรก็หลงไม่ได้ อันรูปนี้นามนี้ก็เหมือนกัน ถ้าได้เห็นแล้วไม่มีเวลาลืม วันลืม ถ้าเห็นรูป เห็นนามมีหลักฐาน ฟ้องได้พิพากษาได้ เห็นสมมุติยิ่งฟ้องได้ปราณีต ศาลธรรมนูญรัฐธรรมนูญเลย ขี้ขลาด
ถ้าเห็นสมมุติเห็นบัญญัติเห็นปรมัติ สมมุติคือความโกรธ ปรมัติคือความไม่โกรธ สมมุติความทุกข์ ปรมัติความไม่ทุกข์ มันเก่งนะ สมมุติบัญญัติเนี่ย ออกหน้าออกตา พอใจก็เป็นสมมุติบัญญัติ ไม่พอใจเป็นสมมุติบัญญัติ เอาวัตถุมาเป็นเครื่องสมมุติ เอานามธรรมเป็นเครื่องสมมุติ อารมณ์ก็สมมุติเอาว่าชอบ ว่าไม่ชอบ ไม่เห็นอะไรก็บัญญัติว่าชอบไม่ชอบ นอนอยู่ก็บัญญัติ ให้ความคิดบัญญัติขึ้นมาจนนอนไม่หลับ จนโกรธ จนทุกข์กินไม่ได้ บัญญัตินั่นแหละมันเก่ง พอมาเห็นแล้วมันรื้อถอน เห็นสมมุติบัญญัติ เห็นวัตถุอาการ เห็นปรมัติ มันรื้อถอน พังออก พังออก พังออก เหมือนยารักษาโรค
หลวงตาเป็นโรคมะเร็งก้อนเนื้อโตในลำคอ พอให้คีโมไป มันพังออก พังออก ก้อนเนื้อยุบลง ยุบลง ก้อนเนื้อในตับก็ยุบลง พอมันยุบลงก็คัน คันคอ คันปอด คันตับ บอกอาจารย์โน้สว่าคันคอ คันที่ตับ มันคันภายใน มันเกาไม่ได้ คล้าย ๆ ว่า มีแผลมันดีมั้ง มันอยู่ที่คอ แผลมะเร็งมันดีละมั้ง มันคันๆ แบบนี้ คงไม่เสียแรงหรอก คงจะหายล่ะ ก็เลยบอกได้ มันพังออก อโร คยา ปรมาลาภา โรคมันพังออก ดูมันพัง หลวงตาบอกว่า “จ๊ะเอ๋” ดูมันพัง มันฉิบหาย ไม่ทำอะไรมัน มันก็แพ้ปราชัยไปเลย พ่ายแพ้ไปเลย ดูความพ่ายแพ้ของอธรรม
เมื่อเราไปเห็น เห็นความคิด มีสติเห็นมันคิด ตอนนี้เป็นการบรรลุธรรมนะ เห็นจริง ๆ นะเนี่ย ตอนเห็นรูปเห็นนามเป็นกระแสได้ทาง ได้ทางเหยียบเส้นทางได้โดยมั่นใจ ไม่เคยพบเห็นเรื่องนี้ นี่แหละทาง ภูมิใจ หลวงพ่อเทียนสอนให้เราได้รู้ธรรมะ เราก็มีศรัทธามาแต่เดิมแต่ไม่ค่อยรู้ พอมาทำอย่างนี้มันเกิดรู้ขึ้นมา เห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นรูปทุกข์ นามทุกข์ เห็นรูปโรค นามโรค ได้หลักได้ฐาน กระตือรือร้นช่วยรูป ช่วยนาม แต่ก่อนไม่ค่อยช่วยรูป ช่วยนาม ปล่อยให้เป็นทุกข์ ไม่เคยช่วยเหลือ ไม่เคยช่วยรูป ตากตรำเท่าไหร่ นามก็ทุกข์ ไม่เคยช่วย พอมาเห็นแล้ว โอ๊ย! กระตือรือร้นช่วย ดีใจได้โอกาสช่วยรูป ช่วยนาม ช่วยกาย ช่วยใจ ช่วยในสิ่งใดก็หลุดไปในสิ่งนั้น ขยันกระตือรือร้น กระโจนใส่ปัญหาที่ไหนที่เกิดจากรูปจากนาม จากกายจากใจ กระโจนใส่ ไม่กักขัง ลุยได้ เคยร้องไห้เกิดเป็นการหัวเราะ เคยทุกข์เกิดเป็นการไม่ทุกข์ แล้วก็กระตือรือร้น ได้หลักได้ฐาน นี่แหละ! นี่แหละ!
เหมือนหมอวินิจฉัยโรค เห็นโรคหมอก็มีหวังให้ยา การให้ยาก็เหมือนๆ กันแหละ การเก่งอยู่ที่วินิจฉัยโรค หลวงตานอนอยู่ที่ห้องไอซียู ยังมีหมอมาบอกว่าก้อนเนื้อในตับรักษาได้ ต้องให้คีโมตัวใหม่เข้าไป ข้าพเจ้าปฏิเสธวิธีการรักษาอื่นใดทั้งสิ้น ให้คีโมโดยเร่งด่วนเพื่อให้หลวงพ่อหายใจได้ อันนี้หมอทางสหรัฐ หมอทางไทย หมออุดมศักดิ์ หมอหลายคนก็แน่นอนที่สุด ไม่มีอะไรอีกแล้ว ต้องมีคีโมเท่านั้น นี่วินิจฉัยโรค
ตอนนี้ปัญหาเรื่องการกายและใจ แน่นอนต้องมีสติ อะไรไม่ใช่ รู้สึกตัวเข้าไว้ มีสติเป็นยามเป็นวิปัสสนา ล่วงพ้นได้ขนส่งได้ ศาสนานี่คือขนส่ง ศาสนาของกายหิวข้าว-กินข้าว ขนส่งพ้นจากความหิว ศาสนาของกายมันร้อน-อาบน้ำ ขนส่งพ้นจากความร้อน ใจก็เหมือนกัน การขนส่งหายเหมือนกัน มันรักษาหาย อันความหลงเป็นครั้งสุดท้ายได้ ความทุกข์เป็นครั้งสุดท้ายได้ ความโกรธ ความโลภเป็นครั้งสุดท้ายได้ มันหายจริง ๆ จนพระพุทธเจ้าว่า “ชาติสิ้นแล้ว จบกันแล้ว แผ่นดินสุด” เห็นรูป เห็นนาม เห็นสมมุติ เห็นบัญญัติ เห็นปรมัตินี่ จืด ความโกรธ ความทุกข์ ความโลภ ความหลง จืด ไม่มีค่า ก็จะให้โกรธมันข่มขืนมากเหมือนจะให้เราไปลุยคูถ ให้ไปลอยอยู่ในคูถ ไม่เหมือนสัตว์นรกนะ สัตว์นรกมันพอใจลอยอยู่ในคูถ เทวดาเขาไม่ไปหรอก พระอินทร์ พระพรหมเขาไม่ไปหรอก
ขอเล่านิทานชาดกได้ไหม เล่าแล้ว เล่าอีก (หัวเราะ) ฟังไหม มีเพื่อน ๒ คนนะ รักกัน เพื่อนคนหนึ่งชวนกันไปฟังเทศน์ ๒ คนชวนกันไปฟังเทศน์ อันนี้ไม่ใช่เทศน์ที่สุคะโตนะ (หัวเราะ) แมนบ่ หลวงพ่อ ไปฟังเทศน์ที่ไหนไม่ทราบนะ เพื่อนสองคนชวนกันไปฟังเทศน์ พอดีเพื่อนคนหนึ่งเกิดลูกป่วยไม่มีอาหารกิน แม่ก็บอกว่าไม่มีอาหารให้ลูก ลูกป่วยไปหาอาหารมาให้ลูกกิน ก็เสียดายจะไปฟังเทศน์ ก็เลยไปไม่ได้ เลยไปหาปลา หาปลามันก็ไม่ไกลวัดเท่าไหร่ เพื่อนคนที่ไปฟังเทศน์ก็ไปฟังเทศน์ ไม่เห็นเพื่อนคนที่ไปหาปลา ก็เลยถามว่าไปไหน ไปหาปลามาให้ลูก ลูกไม่สบาย แต่คนที่ไปฟังเทศน์ก็ยังห่วงคนที่ไปหาปลา โอ้! ป่านนี้เพื่อนกูคงจะจับปลาได้เยอะนะ อันคนที่ไม่ได้ไปฟังเทศน์พอได้ยินเสียงฆ้อง ก็สาธุ สาธุในใจ พอเทศน์จบทีไร เขาก็ตีทุ่ม ทุ่ม ก็สาธุอยู่ในน้ำ อันใจที่จะจับปลาไม่มีเลย คิดจะไปฟังเทศน์ เสียด๊าย เสียดาย แต่คนที่ไปฟังเทศน์คิดถึงเพื่อนที่ไปจับปลา เสียเปรียบเพื่อนแล้ววันนี้ กูไม่ได้ปลาอะไร คิดแต่เนี่ย
ในที่สุดเพื่อนก็ตายจากกันไป ยังรักกันอยู่ พอตายไปเพื่อนที่ไปจับปลาได้เป็นเทวดาเสียแล้ว ใจน้อมไป เพื่อนที่ไปฟังเทศน์ตกนรกเป็นหนอน เพื่อนที่เป็นเทวดาก็ยังคิดถึงเพื่อน ถามหาเพื่อน ไปอยู่ที่ไหน พอหาไปในภพภูมิต่าง ๆ พวกเทวดาพวกมาลัยเขาลุยนรก ลุยสวรรค์ เช่น พระมาลัยเนี่ย เยี่ยมสัตว์นรก เยี่ยมสวรรค์ เอาเรื่องนรกมาเล่าให้เทวดาฟัง เอาเรื่องเทวดามาเล่าให้พวกนรกฟัง เรียกว่าพระมาลัย ผู้ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไร ก็เลยไปเห็นเป็นหนอนอยู่ในคูถในส้วมพระ ไปเจอเข้าก็เลยเรียกว่า “เพื่อนทำไมมาอยู่ตรงนี้ ไปอยู่ด้วยกันโน่นนะ อยู่ในเมืองเทวดาโน่นน่ะ”
ไอ้เพื่อนที่เป็นหนอนก็ว่า “เมืองเทวดามันดีอะไร”
“ไม่ต้องมามุดอยู่ในคูถแบบนี้”
“งั้นมีอะไรให้กินล่ะ”
“โอ๊ย! มีแต่อาหารทิพย์ กินอะไรก็มาเลย ว่าแต่คิด คิดอยากอะไร ก็มีให้กิน วันนี้จะกินอะไร”
ถ้าเมืองเทวดาเขาพูดกันแบบนี้ ถ้าคนเขาพูดว่าวันนี้จะได้อะไรให้กิน เพราะมันไม่มี
คนที่เป็นหนอนก็บอกว่า “เทวดามันดีอะไร”
เพื่อนก็เล่าเรื่องที่มันดี แล้วจะกินอะไร จะคิดอะไรก็ได้กินน่ะ
ไอ้คนที่เป็นหนอนก็ว่า “โอ๊ย ถ้าคิดอยู่ก็เสียเวลาน่ะ นี่ไม่ต้องคิดเลย ถึงเวลามันก็หล่นลง หล่นลงมา กินมันอยู่ตลอด (หัวเราะ) อ้าว เมืองเทวดามีให้กินอย่างนี้ไหม”
“อันนี้ไม่มันไม่ใช่อาหารทิพย์ มันเป็นคูถ”
“เทวดามีคูถอย่างนี้กินไหม”
“มันไม่มี”
“อ้าว ถ้าไม่มีคูถอย่างนี้ไปไม่หรอก อยู่นี่แหละ ดีที่สุดแล้ว”
มันเอายาก (หัวเราะ) ให้เป็นอย่างนี้ซะ เป็นหนอนก็ติดนะ ไปห้ามคนโกรธดูสิ อย่าโกรธเลยเพื่อน ไม่โกรธไม่ได้ ไม่โกรธก็เหมือนหมาล่ะ พอใจในความโกรธ พอใจในความทุกข์ กูได้โกรธ ตายไม่ลืมนะ ปานนั้นก็มี ปานนั้นก็มี นี่มันภูมิมันต่ำ มันก็ติดได้ เพราะฉะนั้น เราจึงมาเห็นนั่น มันลุยแหลกไปเลยเนี่ย เห็นสมมุติบัญญัติ เห็นวัตถุอาการ เห็นปัญหาเป็นปัญญาไปในตัวแล้ว นี่ปฏิบัติธรรมมันไปแบบนี้นะ มันขนส่งหลุดพ้นไปจริง ๆ วิมุตติ หลุดพ้น ไม่ใช่ลาภสักการะนะ สรรเสริญเยินยอก็ไม่ใช่ มันเป็นความหลุดพ้น
วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเรียกพระภิกษุ ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายมากที่สุดในพระสูตร พระพุทธเจ้ากระตือรือร้นมากที่สุดแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาโปรดสัตว์ สายๆ สอนธรรมะ ค่ำๆ เย็น ๆ ให้โอวาทแก่เหล่าภิกษุรวมกัน ดึกๆ ตอบปัญหาเทวธรรม พวกขุนนางทั้งหลายตอนกลางวันไม่มีเวลา ตอนเย็นจะมากัน พระพุทธเจ้าแสดงตอบปัญหาเทวธรรม ใกล้รุ่งตรวจดูว่าใครจะเป็นผู้ที่พอฟังธรรมได้ มองหา มองหาคนที่พอฟังธรรม คิดจะช่วยคนนั้น ช่วยคนนี้เสมอ คนที่ไม่มีอะไรก็คิดจะช่วยแต่คน ช่วยทุกอย่าง นี่คือพระ ทำอะไรไม่เป็นของตัวเอง ทำแล้วเป็นสมบัติของโลก ช่วย เนี่ย พระพุทธเจ้า ๔๕ พรรษา อยู่ในสภาพแบบนี้
พวกเราเนี่ยทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ปฏิบัติธรรมบูชาทำตามลองดู เหยียบเป็นรอยไว้ ให้มันเป็นรอยสักหน่อยในหัวใจเรา เป็นตราไว้สักหน่อย เคยรู้อย่างนี้ เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เคยรู้อย่างนี้ มันจะมีพลัง เมื่อจนมา แม้นิดหน่อยก็ยังจะช่วยได้ ถ้าน้อมใจไป น้อมใจไป อาจจะเป็นทางไป จะไปสอนกันเวลามันไม่รู้สึกแล้ว มันสอนไม่ได้เพราะว่าไม่ได้หัดสติ ยามสงบเราต้องฝึก ยามศึกเรารบได้ เหมือนนักกีฬาก่อนที่เขาจะลงสนามก็ต้องหัดพอสมควร สนามของเราไม่แน่นอนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำยังไง ต้องหัดไว้เสียก่อนเพื่อเป็นศาสตร์เป็นศิลป์ เป็นมรรคเป็นผลในเรื่องนี้แน่นอน ไม่ใช่เรื่องอื่น
คำว่าทุกข์ไม่มีหรอก คือปัญหาเรื่องทุกข์นั่นแหละ สำคัญ! ทุกข์คืออะไร เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่แหละโจทก์ของเรา เราพิพากษาเรื่องนี้ให้ได้ ให้มันเหนือการเกิดแก่เจ็บตายขณะที่ชีวิตเรายังอยู่เนี่ย เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” เหยียบทางไว้ ให้เห็นทางไว้ เคยรู้ เคยรู้แบบนี้
หลวงตาเคยไปตีเกราะเรียกคนป่วยในห้องไอซียู บางคนเรียกเท่าไหร่ก็ไม่คืน พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ไม่รู้เรื่องเลย นอนอ้าปากหวอ เพราะไม่ค่อยรู้เรื่อง บางคนก็พอสวดไป ก็พนมมือขึ้นมา นอนพนมมือขึ้นมา บางคนก็สำนึกขึ้นมา บางทีเวลาเจ็บ เวลาป่วย ความคิดจิตใจก็มีอะไรรุมโถมเข้ามา กลายเป็นเจ็บปวดไปทั้งกายทั้งใจ แย่ไปเลย ถ้าเราไม่สอนตนเอาไว้ ให้มีที่ตั้ง ให้มีที่พึ่งได้ หมดตัวไปเลยนะ
วันนี้ก็เลยพูดให้ฟังกันทุกคน สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน ...