แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เรามีหน้าที่ เรามีการศึกษา ได้ยินได้ฟังเอาไว้ เพื่อเป็นส่วนประกอบกับงานของเรา เรามาศึกษาให้มันจบ เราศึกษาวิชาการต่างๆ ทำให้เป็น แล้วก็มีหลักสูตร จะสร้างบ้านต้องมีสูตร วัดจัตุรัสให้ดี 4 มุม ให้มันได้ฉากจึงจะได้แผนได้ที่ได้แบบ ถ้าไม่ได้แบบก็ทำไม่ได้ เขียนลายไทยต้องจับสามมุมสามเหลี่ยม ตั้งต้นเสียก่อน จะทำหัตถกรรมจักสาน ต้องมีสูตรตั้งต้นนับเส้นตอก ช่างตัดช่างเย็บต้องมีสูตร อันนี้เรียกว่าสูตรเป็นไปตามหลักฐาน
เรามาศึกษาเรื่องชีวิตของเรา เป็นการสิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ชีวิตของเราก็มีอยู่คือกายคือใจ ตัวศึกษาคือสติเข้าไปดู ให้เป็นนักศึกษา อะไรที่มันเกิดกับกายกับใจให้รู้หมดรู้ครบรู้ถ้วน ให้ได้หลักได้ฐาน ให้เห็นเป็นกายเป็นใจ มันจน มันจนง่าย มันไปไม่ได้ถ้าเห็นเป็นกายเป็นกายเป็นใจ ถ้าเจ็บก็คือเจ็บ ถ้าหิวก็คือหิว ถ้าทุกข์ก็คือทุกข์ ถ้าโกรธก็คือโกรธ ถ้าหลงก็คือหลง ถ้าเห็นเป็นกายเป็นใจ หมดไปกับอาการต่างๆ มากมาย 84,000 อย่าง กิเลสก็พันห้าตัณหาก็ร้อยแปด เกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ แล้วเราก็ไม่ได้ใช้มัน มันใช้เรา มีกายเพื่อรับใช้อาการต่างๆ ก็เลยเป็นจำเลยของกายของใจ กายจะเป็นโจทย์สั่งงานสั่งการให้เป็นไปตามเหตุต่างๆ อยู่เสมอ
พอเราศึกษาไปจะได้หลักฐาน เห็นรูปเห็นนาม ไม่ใช่กายไม่ใช่ใจ เป็นรูปเป็นนาม กายใจจบไป ถ้ามีสติเห็นแล้วจบไปแล้วเรื่องกายเรื่องใจ เห็นเป็นรูปเห็นเป็นนาม ได้หลักได้ฐานอ้างอิง เพื่อจะให้พิพากษาจะได้หลุดจากการรับใช้ของกายของใจมาเป็นผู้ที่เห็น เหมือนเราได้วิชาการเอาไว้ใช้ มันก็แตกฉาน ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นนามมันแตกฉาน แปรสภาพได้ อะไรที่เป็นบุญ เป็นบาป เป็นกุศล เป็นมรรคผล เป็นสวรรค์ เป็นนิพพาน เป็นอะไรๆ มันจะแตกฉาน เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม มันมีกรรม มีการกระทำอะไรเกิดขึ้นกับรูปกับนามนี้
รูปทำ นามทำ มันทำอะไร เหตุมันอยู่ที่ไหน มันก็สำเร็จ ทำชั่วก็สำเร็จ ทำดีก็สำเร็จได้ รูปทำ นามทำ เป็นความยิ่งใหญ่ ธรรมชาติสู่ธรรมชาติ เราก็ต้องมีสติเห็น แต่ก่อนเราเรียกว่าสุข ว่าทุกข์ ที่เห็นเป็นกายเป็นใจ ก็เห็นเป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ เป็นอาการของกายของใจ แตกฉานเป็นอาการ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่หนาว ไม่ใช่หิว ไม่ใช่เจ็บใช่ปวด เป็นอาการตามธรรมชาติ
ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ธรรมชาติ ร่างกายมันร้อนไม่เป็น มันก็ไม่ใช่กาย ไม่ใช่รูป มันเป็นอันตราย ถ้ามันหนาว มันหิว มันเจ็บไม่เป็น มันก็อันตราย เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของรูป ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่หนาว เห็นเป็นอาการมีรสเดียว แต่ก่อนสุขก็เป็นรสหนึ่ง ทุกข์เป็นรสหนึ่ง ความโกรธ ความโลภ ความหลงเป็นรสหนึ่ง ความพอใจ ความไม่พอใจเป็นรสอันหนึ่ง คนละรส คัดเราไปฝั่งซ้ายฝั่งขวา ฟูฟูแฟบแฟบ พอเห็นเป็นรูป เห็นเป็นนามมันเป็นอาการ มันเป็นรสเดียวคือเห็น ได้แต่ตอบว่าเป็นอาการ มันก็แตกฉานไปถึงความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นทุกข์
อันรูปอันนามนี้ตกอยู่ในไตรลักษณ์เสมอกัน สามัญลักษณะ ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ มันแตกฉานไป อาศัยให้มันเห็นตามธรรมชาติของเขา เราจึงจะได้เหนือมัน ไม่ใช่มันเหนือเรา เห็นรูปทุกข์เห็นนามทุกข์ยิ่งดี กระตือรือร้นขนส่ง เห็นอะไรพ้นไป เห็นอะไรพ้นไปได้ เมื่อเกิดการเห็นเป็นอาการแล้วง่าย เห็นแล้วไม่เป็นนี่มันง่าย ถ้าเห็นเป็นกายเป็นใจ มันหลีกไม่ได้ มันจน เหมือนคนไม่มีเงิน ถ้าหิวก็ต้องจนไม่ได้กินข้าว เพราะไม่มีข้าว ถ้าคนไม่มีสติ ไม่มีปัญญาไม่เห็น ทุกข์ก็เป็นทุกข์ ถ้าสมมุติคนหิวข้าว เขามีเงินซื้อข้าวกิน ไม่ได้ต้องหาเงิน เอามาจ่ายเลย บรรเทาความหิวไปได้ ถ้าคนหิวไม่มีอะไรจ่าย ก็ไม่ได้กิน เหตุปัจจัยมันไม่มี นี่คือจน คนหลงคือจน คนโกรธคือจน คนทุกข์คือจน เขาไม่มีทาง เขาไม่เห็นทาง
ถ้าเรามาเห็นรูปทำ นามทำ เห็นรูปทุกข์ นามทุกข์ มันไม่จน มันเป็นทางไป ภาวะที่ไม่จนต่ออาการต่างๆ เรียกว่าชีวิต มีชีวิต สิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ได้ชีวิต ได้ความเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นใหญ่ ภาวะที่เห็นนี่เป็นใหญ่ เห็นแล้วไม่เป็นนี่ใหญ่ที่สุด มีอำนาจ เป็นธรรมาธิปไตย ใหญ่ในชีวิต มีสิทธิ อะไรที่ไม่ใช่ความรู้ ภาวะที่เป็นนั่นมันไม่ใช่ ภาวะที่ไม่เป็นนี่มันยิ่งใหญ่มีสิทธิ เวลามันโกรธเปลี่ยนเป็นไม่โกรธ มีสิทธิได้ ความโกรธไม่ใช่ชีวิตเรา ความไม่โกรธคือชีวิตต่างหาก ความไม่ทุกข์คือชีวิตเรา ความไม่หลงคือชีวิตเรา เรามีสิทธิ นี่ความเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นใหญ่ ถ้าเราได้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ความเท็จความจริงมันบอก ไม่มีคำถาม ได้สัมผัสดู ได้เห็น ได้หลง เวลามันหลงเห็นมัน สัมผัสความหลง สัมผัสความไม่หลง มันทุกข์ สัมผัสความทุกข์ สัมผัสความไม่ทุกข์ สภาพเช่นนี้ไม่มีคำถามมีแต่คำตอบ ใครก็ตอบได้ ตอบเอาเอง คนอื่นตอบให้ไม่ได้
กระบวนการรื้อถอน เห็นรูปทุกข์นามทุกข์ รื้อสนุก รื้อถอนตรงนี้ อะไรที่รื้อออก ก็เอาออกไปจริงๆ หักลงมา ไม่ยิ่งใหญ่ เหมือนเถาวัลย์คลุมต้นไม้ ต้นไม้ก็ขึ้นไม่ได้ ถ้าเราเห็นเหตุมัน มันขึ้นตรงนี้ ตัดมันซะ มันก็ง่าย ไม่ใช่ไปบิดใบมัน เราตัดตรงนี้ ต้นเหตุมันอยู่ตรงนี้ เช่น เครือเถามวก อยู่ในวัดเรามีเครือเถามวกเยอะ ถ้ามองเห็นเครือเถามวก ต้นไม้ก็ขึ้นไม่ได้ มันคลุมหมด ต้นไม้ก็ตาย ถ้าต้นไม้ไม่ตาย มันก็หนัก ฤดูฝนเช่นนี้ มันหนักก็โค่นลงมา อยู่ไม่ได้ แล้วก็ไม่มีประโยชน์ ต้นไม้ใหญ่ๆ ก็ตายเพราะเถาวัลย์น้อยๆ เกิดขึ้นน้อยๆ ไม่ใหญ่ เล็กกว่าต้นไม้แต่มันมีอำนาจควบคุมได้ ตัดมันซะ
ธรรมทั้งหลายย่อมชนะอธรรม ก็เหมือนกับว่า ความรู้สึกตัว ความหลงตัว เหมือนกับ วิชชา อวิชชา อวิชชานี่เหมือนกับป่าในชีวิตเรา ป่าดงพงไพร ที่ใดมีป่าที่นั่นก็มีสัตว์ร้าย เพราะอวิชชาไม่รู้ เพราะไม่รู้ ถ้าวิชชาก็มันรู้ มันโล่ง มันมองทะลุทะลวง มันเห็น อะไรที่มันเป็นทุกข์ รูปมันทุกข์ตรงไหนเห็นหมด คุ้ยเขี่ยออกหมดไม่ให้เหลือ ถึงกระบวนการที่มันรื้อถอน มันไม่ยอม เหมือนกับเครื่องมือตรวจโรค เหมือนกับอะไรต่างๆ มีอยู่ในหลักวิทยาศาสตร์ ในชีวิตเราก็เป็นวิทยาศาสตร์ มันพิสูจน์ได้ สิ่งใดมี สิ่งใดไม่มี สิ่งนั้นหมดไป มันก็พิสูจน์ได้ ต่างกับภาวะเดิม
พอถึงกระบวนการรื้อถอน เห็นรูปทุกข์เห็นนามทุกข์เนี่ย อะไรที่หมดไป ความทุกข์บางอย่างไม่ต้องแตะต้อง มันหล่นไปเอง ไม่มีที่ตั้งให้ อยู่ไม่ได้ ความทุกข์บางอย่างต้องเกี่ยวข้องกับมันบ้าง ความทุกข์บางอย่างกำหนดรู้โดยการรู้ก็หมดไปแล้ว ความทุกข์บางกำหนดรู้โดยการบรรเทาก็หมดไปแล้ว ไม่ใช่เป็นทุกข์ ความทุกข์บางอย่างก็ละ สิ่งที่ละนี่เหมือนกับเหนียวนิดหน่อย เหมือนลูกมาให้ พอเราไปเขย่า บางลูกก็หล่นลง แต่บางลูกไม่หล่น บางลูกก็แห้งติดไม่หล่น
หลวงพ่อเคยพูดว่า ความทุกข์บางอย่างเหมือนบักเขียบหลอด พูดภาษาอีสานนะ รู้จักบักเขียบหลอดไหม น้อยหน่า น้อยหน่าที่มันหลอดๆ มันติดต้นนั่นน่ะ มันไม่หล่นหรอก แต่มันไม่ดูดซึมน้ำเลี้ยงจากต้นมัน ไม่มีผลกระทบกระเทือน ความทุกข์บางอย่างมันหลอด ใช้ไม่ได้ เหมือนกับบักเขียบหลอด (หัวเราะ) เหมือนกับเชื้อโรค เชื้อโรคบางอย่างมันหลอด ก้อนในตับอ่อนมันหลอด ก้อนเนื้อลำคอมันหลอด เพราะฤทธิ์ของยา บางอย่างเป็นอย่างนั้น คำว่าทุกข์เนี่ย หลอดแล้วใช้ไม่ได้ บอดไปเลย เอามาโกรธได้ไหม ไม่ได้เด็ดขาด เอามาทุกข์ได้ไหม ไม่ได้เด็ดขาด มันใช้ไม่ได้เลย ถ้าขืนไปโกรธขืนไปทุกข์ แล้วก็ข่มขืนมาก มันไม่ยอม นี่ก็คือภาวะที่กฎธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน กระบวนการรื้อทุกข์
นอกจากกระบวนการรื้อทุกข์ เห็นรูปทุกข์นามทุกข์ แล้วเห็นสมมุติ เห็นสภาพสมมุตินี่ จืดไปเลย เห็นแล้วไม่พอ ทำให้จืดไป มันไม่มีรสชาติแล้ว เราเห็นสมมุติบัญญัติ ความโง่หลงงมงาย หมดเลย การเชื่ออะไรที่ไม่ใช่หลักใช่ฐานใช่เกณฑ์ ไม่มีเลย มีดีก็ทำลงไป ชั่วก็ละลงไป ชั่วละตะพึดตะพือ ดีทำไปใจไม่ติด นี่คือปรมัตถ์ สมมุติต้องอ้อนวอน คิดว่านั่นจะช่วยเรา นี่จะช่วยเรา ผู้ที่เห็นสมมุติบัญญัติ ต้องเห็นรูปทุกข์ นามทุกข์ เห็นสมมุติบัญญัติ มันล้างบาง อะไรที่เป็นทุกข์ในรูปในนามนี้ล้างบาง ความโง่หลงงมงายหมดไป เห็นปรมัตถ์วัตถุอาการต่างๆ ล้างไปอีก ล้างเข้าไปอีก เหมือนกับรักษาโรคซ้ำลงไป ให้คีโมยังไม่พอ เอารังสีฆ่ามันลงไป ล้างบางมัน อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ได้เชื้อโรค อันนี้ก็ อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรค
ธรรมะเนี่ย มันก็หมือนเช่นนั้นแหละ ถ้ามีสติความหลงก็หมดไป ถ้าไม่มีสติความหลงก็มีอยู่ ถ้าเห็นรูปเห็นนามเป็นฐานตั้งของเชื้อโรค มันอยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ให้ตั้ง เมื่อไม่มีที่ให้ตั้ง มันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าหลงเป็นหลง ให้มีที่ตั้ง ให้อาหารมัน หลงทีใดก็เป็นหลง ทุกข์ทีใดก็เป็นทุกข์ โกรธทีใดก็เป็นโกรธ ถ้าเห็นแล้วไม่มีที่นั่งมันไม่ได้เหยื่อ มันแห้ง มันอยู่ไม่ได้ เหมือนเก้าอี้ใบเดียวเรานั่งอยู่แล้ว มันจะมาอีกไม่ได้ เรามีสิทธิ มันหลงเรามีสิทธิไม่หลง เก้าอี้ใบเดียว มันโกรธเรามีสิทธิไม่โกรธ มันทุกข์เรามีสิทธิไม่ทุกข์ นี่คือสิทธิของเรา เรามีสิทธิจริงๆ ชีวิตนี้
เมื่อมีสิทธิ 100% เห็นสมมุติ เห็นบัญญัติ เห็นปรมัตถ์ ซ้ำลงไปอีก มันจริงตามสมมุติ มันไม่จริงตามปรมัตถ์ เวียนอยู่ตรงนี้ เช่น เห็นไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนหลายรอบ เห็นทีไรมันผ่านไป มันเกลี้ยงไปเกลี้ยงไป เหมือนเรากวาดบ้านหรือถูเรือน ถูรอบเดียวไม่สะอาด รอบที่ 2, 3, 4, 5 รอบ มันก็สะอาดได้ ล้างหน้าแปรงฟันเหมือนกัน ใส่ใจสักหน่อย ทำอะไรก็ต้องให้มันประณีตสักหน่อย นี่ก็คือการงาน
การศึกษาชีวิตของเราก็ต้องประณีต กาย ใจ เห็นไตรลักษณ์หลายรอบ เห็นทีไรก็เกลี้ยงไปทุกที กวาดไปทุกที หลวงพ่อเทียนเปรียบเทียบเหมือนขุดน้ำบ่อไปเจอน้ำแล้ว แต่เจอใหม่ๆ มันยังใช้ไม่ได้ มันยังขุ่นอยู่ เพราะมันมีโคลนตม เราไปเกี่ยวข้องกับมันทำให้มีโคลนตม มันก็ออกมา เราตักออก มันออกมา เราตักออก ตักออกทีไรมันไม่ใช่เหมือนน้ำเก่า มันเป็นน้ำใหม่ น้ำที่ออกมาก็ใส อาบได้ ดื่มได้ เราใช้ได้ ชีวิตที่ใช้ได้ รูปนามที่ใช้ได้อาศัยเป็นพ่วงแพ นี่คือการเห็นเป็นรอบ เป็นรอบ เป็นรอบ สุขทุกข์ก็เห็นเป็นรอบ เป็นรอบ เห็นเป็นรอบ เป็นรอบ จนไม่มีเหลือ สุขไม่เหลือ ทุกข์ไม่เหลือ ไม่มีอะไรเหลือ ดับไม่เหลือ อาจารย์พุทธทาสว่าดับไม่เหลือ คำว่าทุกข์ คำว่าโทษ ไม่มี เห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุอาการต่างๆ เวียนอยู่ตรงนี้จึงไม่มีอะไรเหลือ ปัดก้นไปเลย หมดแล้ว หมดงานแล้ว ให้ว่าอย่างนี้ๆ
นี่คือปฏิบัติธรรม ไม่ใช่มาคิดด้นเดา คาดคะเนเอา จึงมามีสติเห็นเนี่ย มีกายก็มีกันทุกคน ใจก็มีกันทุกคน นี่แหละหลักสูตร มันจะแสดงออกมา ให้เราศึกษามัน ให้เราเห็น อย่าหลบหลีก อย่าหลบลี้ อย่าทำให้ไม่ชัดแจ้ง ทำให้มันแจ้ง เห็นมันหลง เห็นมันรู้ตรงนี้ ทำให้แจ้งสักหน่อย ให้มันเห็นแจ้งแล้วก็อย่าทิ้งไว้ เป็นงานแล้ว ถ้ามันหลงมีงานทำแล้ว เปลี่ยนเป็นไม่หลง ให้มันเห็นแจ้ง ให้มันรู้ว่ามันหลงกับไม่หลงเป็นยังไง ทุกข์กับไม่ทุกข์เป็นยังไง เป็นงานแล้ว โดยเฉพาะงานที่มันไปช้าหน่อยก็คือมันหลงในความคิดเนี่ย การหลงในกายในตาในหูมันก็มีเวลาอยู่หรอก แต่ว่าใจมันไม่มีเวลา อันนี้ต้องชำนาญ หัดที่กายที่ใจไปก่อน เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา ดูไปก่อน
พอมันชำนาญในกายในใจ มันก็เห็นกาย แล้วมันก็เห็นใจ เห็นจิตใจที่มันคิดนั่นแหละ ใจไม่ใช่หัวใจ จิตใจที่มันรู้จักอะไรได้นั่นแหละ เห็นมันนั่นแหละ เป็นธาตุรู้ วิญญาณธาตุเป็นธาตุรู้ รู้อะไรได้ นั่นแหละตัวนั้นแหละ และจะได้เห็นอีก จะทำให้งานประณีตขึ้น สติจะชำนาญขึ้นมีฝีมือขึ้น ก็ไต่เต้าไปจากกายเคลื่อนไหว เดินจงกรม ยกมือสร้างจังหวะ หายใจเข้า หายใจออก ต่อไปมันก็ไม่ต้องอาศัยอันนี้แล้ว ไปเห็นเอาเลย ภาวะที่ดูที่เห็นนี่ มันก็เป็นตรงเข้าไปเลยต่อหน้าต่อตา มันโชว์ อาการที่เกิดขึ้นกับจิตนี่ มันโชว์มาก
ถ้าภาษาธรรมะเรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นนาม ตามตำราว่าอย่างนั้น รูปก็เป็นรูป ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม อันนี้ก็ไปโชว์กว่ารูป เราก็เห็นมันซะ มันจะพาให้เราแตกฉานได้ ถึงที่สุดมันก็โชว์สุดท้ายนะ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โชว์จนนาทีสุดท้ายนะ งานชิ้นสุดท้ายเลยล่ะ ขันธ์ 5 น่ะ อะไรก็จบไปแล้วๆ แต่ยังเหลืออยู่ในขันธ์5 เนี่ย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปไม่ใช่ร่างกายทั้งหมดนะ อะไรที่มันเกิดขึ้น ที่มันสัมผัสได้ก็เป็นรูปทั้งนั้น เสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป อารมณ์ก็เป็นรูป ความคิดก็เป็นรูป สัมผัสเจ็บปวดได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้นะ มันโชว์ตรงนี้ อะไรก็หมดแล้วเหลือตรงนี้ มันโชว์ โชว์เบาๆ ไม่ใช่โชว์หนัก คอยดู คนมีสติดู สติประณีต เป็นญาณนะ วิปัสสนาญาณนะ เป็นไปได้ผู้ปฏิบัตินะ ถ้ามีสตินะ ถ้ามีหลักสูตรตามสูตรจริงๆ นะ เรียกว่าญาณ วิปัสสนาญาณ
เหมือนพระพุทธเจ้า ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เบื้องต้นเกิดอะไร ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเก่า พ้นภาวะเดิม แต่ก่อนเป็นอย่างนั้น บัดนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ใครก็เป็นได้ เคยหลง ความหลงเป็นหลง บัดนี้ไม่หลงแล้ว เป็นความรู้แล้ว ความทุกข์เป็นทุกข์ สภาพก่อนเป็นยังไง ชีวิตเราใช้ยังไง เดี๋ยวนี้มันก็ต่างเก่า ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติได้ เคยสูบบุหรี่ มันเอาไม่ได้ เคยกินเหล้าอาจจะกินไม่ได้ เพราะมันพ้นภาวะเก่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
จุตูปปาตญาณ เวลานี้กับเมื่อวานนี้เป็นอย่างไร ปีนี้กับปีก่อนเป็นอย่างไร 10 ปีก่อน 30 ปีก่อนเป็นอย่างไร ปีนี้เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร จุตูปเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน จะรู้จัก จุตูปปาตญาณนี่ มองตัวเองออก พ้นมายังไง อะไรมันเปลี่ยนแปลงไป อยู่ที่ไหน แต่ก่อนอยู่ยังไง ปล่อยกายปล่อยใจยังไง เคยช่วยเหลือกายใจไหม เช่น เห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงไหม บัดนี้ มันเห็นตามความเป็นจริง จุตูปปาตญาณมีที่ตั้ง ย่อมเกิดแก่ผู้ปฏิบัติ พ้นจากการเก่า ล่วงพ้นจากภาวะเก่าสู่ภาวะใหม่ เรียกว่าวิปัสสนา
อาสวักขญาณ อะไรมันพ้นไป ก็คงรู้ ผู้ปฏิบัติแม้มันมีอยู่ก็ไม่มาก มันมีน้ำหนักลดลง แต่ก่อนเคยโกรธ 100% ต่อมาอาจจะสัก 75% ต่อมาอีกสัก 50% ต่อมาสัก 25% นิดหน่อย ไม่กระทบกระเทือน พอกระเพื่อมนิดหน่อย ความพอใจความไม่พอใจก็เหมือนกัน น่าพอใจ 100% พอใจสัก 75% พอใจสัก 50%, 25% นิดหน่อย แล้วก็ต่างเก่า เรียกว่า อาสวักขญาณ ทำให้อะไรเกิดขึ้น หมดไป เหลือเท่าไหร่ เหมือนเราทำงาน ชาวนาปักดำนาเดือนสองเดือนแล้ว มีผลงาน มีคนถามว่า ใกล้เสร็จหรือยัง ใกล้แล้ว อีก 2-3 วันเสร็จ อีกวันเดียวก็เสร็จ วันนี้ก็เสร็จ เตรียมแล้ว เตรียมโศลก เตรียมเก็บข้าวเก็บของ นี่คืองานที่ทำ ต้องรู้
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันนะ ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติได้ มีผลงานบ้าง อะไรที่มันหมดไป อะไรที่มันเหลือย่อมรู้จัก เห็นตรงที่หมดไป มันแล้วๆ ตรงที่ยังเหลืออยู่ก็ยังไม่เท่าไหร่ นิดหน่อย เหมือนพระอานนท์เป็นปุถุชน แต่เป็นพหูสูต ทำสังคายนา พระอรหันต์ทั้งหลายขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์จำได้มาก เพราะเป็นพระอุปัฏฐาก ขอพรจากพระพุทธเจ้า ถ้าจะให้เป็นอุปัฏฐากขอพรจากพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระองค์ไปแสดงธรรมที่ใดขอให้ติดตามไปด้วย พระสงฆ์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงถามว่าทำไมจึงขออย่างนั้น ถ้าเป็นอุปัฏฐากแล้วพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอะไรไม่รู้ ไม่รู้เป็นพระอุปัฏฐากไปทำไม เพื่อแก้เก้อ เวลามีคนถาม พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่นั่นเรื่องอะไร ก็ตอบไม่ได้ ก็เสียหน้าอุปัฏฐาก ก็ขอพรจากพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็เห็นดีด้วย จึงจำได้เยอะ เมื่อทำสังคายนาขาดพระอานนท์ไม่ได้ พระอรหันต์ทั้งหลายเลยให้พระอานนท์ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด เหมือนกับว่าเข้มสักหน่อย
พระอานนท์ก็ตามสัญญารับผิดชอบ มาปฏิบัติธรรมแบบเข้ม 1 วัน 2 วัน 3 วันผ่านไป พระอรหันต์ก็ “เป็นไงอานนท์” พระอานนท์ก็บอก “ก็พอที่จะเห็นช่องเห็นทางบ้าง กำลังพยายามตามอยู่” “เอานะเร่งไปนะ ตามไปนะ” “เออ ดีขึ้นๆ เดี๋ยวๆๆ ว่าจะนัดวันได้” เร่งจนสุดฝีมือ ก็ขยันนะ เร่งจนสุด จนวันหนึ่งนั่งตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงแสงเงินแสงทองขึ้น ก็เลยมองไปเห็นแสงเงินขึ้น วันนี้เรายังไม่ได้นอนเลยนะ สนุกกับความเพียรมาก เลยของีบสักหน่อย เพื่อจะเอาแรงในวันต่อไป ลักษณะนี้ไม่ใช่ง่วงนะ ขอพักสักหน่อย งีบสักหน่อย เพื่อที่จะเอาแรงสักหน่อย เพื่อที่จะต่อสู้กับงานวันใหม่ ไม่ใช่แพ้นะ เป็นความชัยชนะ เพื่อจะเอาแรงสู้ต่อไป พักสักหน่อย
พอเอนหลังลงจะพัก ขณะที่เอนหลังลง หัวยังไม่ถึงหมอนเลย เกิดบรรลุธรรมขณะนั้น อยู่ในอริยาบทใดไม่รู้ เรียกว่าเวลามันพร้อมแล้ว คล้ายๆ ว่า อีกนิดหน่อย อีกสักหน่อย เป็นอย่างนั้นก็มีนะ มันก็มีอารมณ์ คำว่าอารมณ์คือได้หลักฐาน เหมือนพิพากษาตุลาการจับจำเลยได้ ได้หลักฐานมัดเข้าไปๆๆ มันก็รับสารภาพ หมดท่าๆๆ จำเลยหมดท่า โจทก์ชนะ พิพากษาชนะ ตัดสินด้วยความเป็นธรรม ความหลงไม่เป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นอะไรอิสระที่สุด เรียกว่านิพพาน
นิพพาน คือหมดพิษหมดภัย ชีวิตของเรานี่หมดพิษ หมดภัย หมดทุกข์ หมดโทษ เมื่อตัวเราหมดพิษ หมดภัย หมดทุกข์ หมดโทษ ทำอะไร ทำเพื่ออันอื่นสิ่งอื่นวัตถุอื่น เห็นไหมพระพุทธเจ้าได้นิพพานไปแล้วเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา อีกถึง 80 พรรษา 45 ปีเนี่ย ใช้ชีวิตยังไง นี่คือคนนิพพานไม่ใช่นอนเฉยๆ เห็นประโยชน์ส่วนตัว ทำแต่เรื่องอื่น พรรษาแรก อิสิปตนมฤคทายวัน พรรษาที่ 2, 3, 4 เวฬุวัน นอกนั้นก็ไปตะพึดตะพือ ก็ไปสอนคนแล้วกลับไปเวฬุวันอีก รวมแล้วประมาณ 4-5 ปี นอกนั้นก็ไปสอนคน ไม่มีรถเหมือนพวกเรานะ มีแต่เดินเท้าเปล่า ไปทางไหนกับหมู่สงฆ์ก็ไป เดินเท้าเปล่า พวกเรายังมีรถนะ ไปไหนก็นั่งรถไปนั่งเครื่องบินไป สมัยนั้นเขาไม่มีอะไรเลยนะ 45 ปี
จนมาเชตวันนี่นานหน่อย 19 พรรษา บุปผาราม 6 พรรษา อยู่นานหน่อย ทำไมจึงอยู่ที่นี่นาน สันนิษฐานได้หลายอย่าง ที่นี่น้ำดี มีบ่อน้ำดีมาก เป็นน้ำทิพย์ทุกวันนี้ ใกล้ๆ คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า น้ำดี ที่อื่นไม่ค่อยดีนะ แล้วก็มีบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นหมู่อุปัฏฐาก นางวิสาขามหาอุบาสิกา ใช่ไหมๆ นางวิสาขามหาอุบาสิกาอยู่ที่ไหน สาวัตถีหรือ เนี่ยสร้างให้ บุปผาราม วิสาขานี่ไปงานเพื่อนมา ประดับเพชรนิลจินดาใหญ่ที่สุด มาก ขากลับก็มา ชวนบริวารเข้าไปพบพระพุทธเจ้า
ก่อนที่จะพบพระพุทธเจ้าก็เลยมาถอดเครื่องประดับออกใส่กระเป๋าถือเอา ถ้าจะใส่เครื่องประดับไปอย่างนี้นะ มันไม่เหมาะ เลยเคารพพระพุทธเจ้าถอดเครื่องประดับออกใส่กระเป๋าไป ถือไปเวลาจะกลับลืมกระเป๋าเสียแล้ว ลืมเครื่องประดับ ก็เลยให้คนใช้ตามไปดู ถ้ายังมีกระเป๋าอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าเก็บไว้ ไม่ต้องเอามา เอาไว้ที่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าก็ให้เอามา นางวิสาขาก็บอกไม่ให้เอาก็ไม่เอามา นางวิสาขาก็ขายเครื่องประดับนั้น ได้เงินเท่าไหร่ (หัวเราะ) เลยสร้างวัดบุปผาราม บุปผาคือเครื่องประดับ พระพุทธเจ้าจำพรรษาที่นั่น 6 พรรษา สาวัตถี เชตวัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย นี่เรียกว่าเป็นเมืองที่ตั้งหลักฐาน พระพุทธศาสนามั่นคงมากที่นี่ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่แถวนี้นานที่สุด ส่วนมากจะรวมกันที่นี่ เป็นสถาบันยิ่งใหญ่
นะ วันนี้ก็จบแค่นี้นะ กราบพระพร้อมกัน