แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน หลังจากเราได้สรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณว่าดีประเสริฐอย่างไร เราก็มีความเชื่อ ไม่ต้องสงสัย ถ้าทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว มีศรัทธาในเรื่องนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วต่อมาก็สาธยายเรื่องคำสอนว่ามีเท็จจริงอย่างไร มีความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เห็นด้วยไหม ทำดูหรือเปล่า ผู้มีปัญญาชนทั้งหลาย ให้มีสติปัญญาศรัทธาความเชื่ออย่างชัดเจนแม่นยำ ไม่ใช่ศรัทธาแบบเข้า ๆ ออก ๆ เป็นศรัทธาก้าวหน้า ศรัทธาเป็นทุนเพื่อทำความดี เพื่อละความชั่ว เพื่อปฏิบัติตามสิ่งที่ถูก สิ่งใดผิดก็ไม่ทำ สิ่งใดถูกก็ทำ
เราก็มาสัมผัส บอกชัดเจนเหลือเกิน รูปนามทั้งหมดทั้งสิ้นมันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป สังขารคือร่างกายจิตใจ แลรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันเป็นทุกข์ทนยาก เกิดขึ้นแล้วแก่เจ็บตายไป เป็นจริง ๆ พ่อแม่เราก็ตายไปแล้ว ปู่ย่าตายายตายไปหมดแล้ว คนหนุ่มคนเด็กก็ตายไปหลายแล้ว สิ่งใดเป็นสังขารทั้งที่เป็นสังขารและไม่ใช่สังขารทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา เห็นด้วยไหม มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ไหม
อันสังขารคือร่างกายจิตใจนี้ บางทีมันอาศัยได้ไหม ร่างกายบางทีเอาใจอาศัยได้ไหม อยู่นี่ อย่าทำอย่างนี้ บางทีมันก็อาศัยไม่ได้ คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟ่บ ๆ ไม่มั่นใจ มีใจก็ไม่มั่นใจตัวเอง คิดอย่างนี้บ้างไหม บางทีคนรักก็กลายเป็นคนเกลียดชัง มีบ้างไหม หรือว่าไม่เข็ดไม่หลาบ ดูจริง ๆ ไหม มาดู มาดู มาดู สูทั้งหลายมาดูโลกนี้ วิกฤตการณ์มากเหลือเกิน หลากหลาย ถ้าจะเป็นอาคันตุกะก็จรมาในกายในใจเรานี้นับไม่ถ้วน ความรักก็จรมา รับเอาความรักนั้นไว้ ความโกรธก็จรมา รับเอาความโกรธนั้นไว้ ต้อนรับอย่างดี บางทีต้อนรับความโกรธดีกว่าความรัก ถ้าได้โกรธแม้ตายก็ไม่ลืม บางคนลืมความรักไปเสียเลย เป็นอย่างนี้บ้างไหม ทำตามความโกรธมีไหม เสียเปรียบความโกรธมีไหม เคยเข็ดหลาบบ้างไหม
เคยทุกข์ไหม เคยร้องไห้เสียใจไหม กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะความทุกข์มีบ้างไหม มีความโกรธข้ามวันข้ามคืนมีบ้างไหม มีความทุกข์เพราะความคิดของตัวเองมีบ้างไหม มีความทุกข์เพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจคิดนึก เป็นอย่างนั้นบ้างไหม ของอย่างเดียวโกรธแล้วโกรธอีกมีบ้างไหม ของอย่างเดียวทุกข์แล้วทุกข์อีก จรมาหลายครั้งหลายคราวก็ต้อนรับไว้ อย่างนี้มันเน่าเหลือเกิน เรียกว่าวิกฤตการณ์ดุจราชรถ บางทีก็มาในรูปพอใจ บางทีก็มาในรูปไม่พอใจ มีสมมติบัญญัติต้อนรับ อันนี้เราชอบ อันนี้เราไม่ชอบ สิ่งใดชอบเอามามันได้ไหม สิ่งใดไม่ชอบให้หนีไปมันมีบ้างไหม เราจะทำอย่างไร โลกนี้ ให้มันเห็น ลองดูสิ เราก็ประสบเห็นมาบ้างแล้ว เราก็เลยไม่ค่อยจะมีทรัพย์คืออริยทรัพย์เพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนี้ แก้ความทุกข์ แก้ความโกรธ แก้ความโลภ แก้ความหลง แก้ความเกลียด ความรัก ความพอใจไม่พอใจ มันควรจะมี ถ้าไม่มีก็เหมือนกับว่าเป็นเวรเป็นกรรม
นอกจากนั้น ก็ยังมีการเกิดแก่เจ็บตายที่มันยิ่งใหญ่ คอยแต่ร้องไห้เสียใจในเวลานั้น ยังไม่ถึงเวลานั้นก็ยังกลัวยังสะดุ้งผวา กลัวจะถึงเมื่อไหร่ จะเป็นอย่างไร เราทำอย่างไร ชีวิตเรานี้ถ้าเกิดมาอยู่ในสภาพวิบากกรรมเช่นนี้ มีค่าอะไร จึงมีศาสนา จึงมีคำสอน จึงมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น แล้วก็พระธรรมคำสอนเป็นไปเพื่อทางออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน มีจริงหรือ มีคำสอนท้าทายไว้ ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างต่อเนื่อง มีอานิสงส์อย่างไว 1 วัน 7 วัน อย่างกลาง 1 เดือน 7 เดือน อย่างช้า 1 ปี 7 ปี ถึงมรรคถึงผล มีอานิสงส์ 2 ประการ เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์
อนาคามีเป็นอย่างไร อรหันต์เป็นอย่างไร เป็นการเล่านิยายเล่านิทานสู่กันฟังหรือ มันอยู่ที่ไหน สติปัฏฐานมันอยู่ที่ไหน มีใครกล้าพิสูจน์กล้าท้าทายเรื่องนี้ เอาจริง ๆ ลองดูไหม ถ้าเราเอาจริงจังนะ ขอเป็นเพื่อนเป็นมิตรในเรื่องนี้ จะไม่พาหลงทิศหลงทางในเรื่องนี้ มีได้เป็นได้ในชีวิตในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าไม่มีรูปไม่มีนามทำไม่ได้ มันมีรูปมีนาม มีกายมีใจทำได้ทุกชีวิต มีการกระทำเกิดขึ้น มีที่ตั้งเกิดขึ้น ไม่ใช่คิด ไม่ใช่สมอง ไม่ต้องไปใช้สมองเหตุผลอะไร ให้มีการกระทำให้มีที่ตั้งเรียกว่ากรรมฐาน
กรรมฐาน ฐานคือที่ตั้ง กรรมคือการกระทำ ตั้งไว้ที่ไหน ตั้งไว้ที่กายนี่แหละ มันมีกาย มันเป็นรูป ตั้งไว้แล้วทำอย่างไร มีสติไปในกาย สติไปในกายอย่างไร เราก็สาธิต ดูทำอย่างไร พระพุทธเจ้าก็สาธิต คู้แขนเข้ามีสติ เหยียดแขนออกมีสติ ในพระสูตรต้น ๆ ในวันเพ็ญเดือน 6 ทำอย่างนี้ คู้แขนเข้ารู้สึกตัว เหยียดแขนออกรู้สึกตัว ในวันเพ็ญเดือน 6 นานมาแล้ว เกือบ 2,590 กว่าปีแล้ว ใช่ไหม ปีนี้ปี พ.ศ. 2553 บวก 45 เข้าไปเป็นเท่าไร เกือบ 2,590 ปีแล้ว (หัวเราะ) ไม่มีหัวคณิตศาสตร์ มันเสื่อม
คู้แขนเข้า รู้สึกตัว เหยียดแขนออก รู้สึกตัว ทำได้ไหมทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ไหนมือข้างซ้ายข้างขวาอยู่ที่ไหน ถ้ามีก็เอาวางไว้ที่เข่า มีหัวเข่าไหม สองขานี้มีไหม เอาวางไว้ที่เข่านี้ เราจะเป็นคำถามเป็นโจทย์ว่ามือของท่านอยู่ที่ไหน มือสองข้างอยู่ที่ไหน ทุกคนตอบได้ไหม ตอบได้ไหมมืออยู่ที่ไหนเดี๋ยวนี้ ตอบดัง ๆ ดูซิ (หัวเราะ) อยู่ที่เข่าหรือ อะไรรู้ว่ามืออยู่ที่เข่าน่ะ อะไรเห็น หลับตาดูเห็นไหม ลืมตาดูเห็นไหม ไม่ต้องดูเห็นไหม นั่นละ ภาวะที่เห็นว่ามืออยู่บนเข่า นั่นแหละคือสติ มีไหมอย่างนี้ ถ้าเห็นว่ามืออยู่บนเข่าแล้วต้องถามใครไหม มีคำถามไหม คนอื่นตอบให้ได้ไหม ถ้าคนอื่นตอบให้ ไม่จริง ถ้าเราตอบเองมันจริง ว่ามือของฉันอยู่บนเข่า
นี่แหละ สติเป็นอย่างนี้ คู้แขนเข้าดูสิ ตั้งมือข้างขวาไว้ ตั้งไว้ รู้ไหม ยกขึ้น รู้ไหม วางลงสะดือ รู้ไหม ตะแคงข้างซ้าย ตั้งไว้ รู้ ยกข้างซ้ายขึ้น รู้ มาประกบมือข้างขวา รู้ เลื่อนมือข้างขวาเหนือขึ้นมาสักหน่อยรู้ ยกออกไปตั้งไว้ข้าง ๆ รู้ วางลงเข่า รู้ ตั้งไว้ คว่ำลง รู้ ยกขึ้นมานี่ก็รู้ ให้รู้ รู้ไม่ใช่คำพูดนะ รู้ รู้เป็นครั้ง เป็นครั้ง เป็นครั้ง อย่ารู้แบบอยู่ ให้รู้แบบดู ให้เห็นกาย ถ้าอยู่ไม่เห็น ถ้าดูจึงจะเห็น ถ้ามันสุขอยู่ในความสุข ไม่เห็นสุข ถ้ามันทุกข์อยู่ในความทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ ให้ดู ให้ออกมาดู พระพุทธเจ้าตรัสว่าสูทั้งหลายออกมาดูโลกนี้ ให้มาดูอย่างนี้ เรียกว่าหัดมีสติไปในกาย
ถ้าทำได้เรียกว่ามีหน่อโพธิ ปฏิบัติได้ไหม รู้ได้ไหม มันทำได้ เคยมาตั้งไว้ที่นี่สัก 1 วันถึง 7 วันไหม ให้เห็นกาย ให้เห็นไปในกายอยู่อย่างนี้ ถ้ามันไปที่อื่นก็เอามาตั้งไว้ เรียกว่าที่ตั้ง เมื่อมีความรู้เรียกว่ามีการกระทำ ถ้าไม่มีความรู้ไม่มีกรรม กรรมไม่ได้ผล เราหลงมาเท่าไหร่ กายมันเคลื่อนไหวเท่าไหร่ เราไม่รู้ บัดนี้เรามาหัดใช้ให้เป็นประโยชน์ มันฟรี แต่ก่อนใช้ชีวิตฟรี เคลื่อนไหวก็ฟรี เคลื่อนไหวทางกายก็ฟรี ไม่รู้อะไร เคลื่อนไหวทางจิตใจมันคิดก็ไม่รู้ มันเลยไม่มีประโยชน์เรียกว่ากตัตตากรรม กรรมที่ไม่มีผล บัดนี้เจตนาให้มันรู้อย่างนี้ ลองดูนะ
ใครจะพิสูจน์เรื่องนี้ ขอเป็นมิตรเป็นเพื่อน ใช้ชีวิตแบบนี้ ให้มีศรัทธาเป็นทุนมาก ๆ ไม่มีอะไรขวางกั้น ถ้ามีศรัทธาแล้ว ไม่มีความยากไม่มีความง่าย ถ้ามีศรัทธาว่าจะทำเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ ให้มีศรัทธาเป็นทุนแล้วก็มีความเพียรต่อเข้าไปอีก ใส่ใจเข้าไปอีก เมื่อมันหลงก็รู้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ไปเรื่อย ๆ ไป เรียกว่าสำเร็จได้สัก 4 อย่าง
1) ศรัทธา ความเชื่อ
2) ความเพียร ขยันรู้ เพียรภาวนาคือขยัน คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ คนเกียจคร้านย่อมนอนเป็นทุกข์ ความขยันไม่ใช่ว่าขยันด้วยการกระทำอันอื่น ขยันในความเพียร ขยันในการทำอริยทรัพย์ ไม่ใช่ขยันแบบทรัพย์ภายนอก อริยทรัพย์ภายในคือขยันแบบคุณธรรม มีศรัทธา มีความเชื่อ มีวิริยะ มีความพากเพียร
3) มีจิตตะ เอาใจใส่อยู่เสมอ
4) มีวิมังสา คือ รู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ถูก เมื่อมันหลงก็เปลี่ยนเป็นรู้ เมื่อมันทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นรู้ เมื่อมันสุขก็เปลี่ยนเป็นรู้ อะไรที่มันเกิดกับกายกับใจนี้เปลี่ยนเป็นภาวะที่รู้ทั้งหมด เปลี่ยนได้ มันสุขเห็นมันสุข รู้แล้ว ไม่เป็นผู้สุข มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ เคยเห็นอย่างนี้ไหม หรือว่าเป็น ถ้าเป็นแล้วมันไม่เปลี่ยน มันก็เป็นอยู่เช่นนั้น ถ้าหลงก็หลงไปกับความหลง รอยแห่งความหลงก็มี ในชีวิตเรานี้มีแต่รอย เปรอะเปื้อนไปหมด รอยรัก รอยแค้น รอยผิด รอยถูก รอยได้ รอยเสีย รอยโกรธ รอยโลภ รอยหลง เปื้อนไปหมดเพราะไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยลบออก เมื่อมันหลงเห็นมันหลง ไม่ให้หลงเป็นหลง ให้หลงเป็นรู้ เรียกว่าไม่เปื้อน ถ้ามันทุกข์ ให้ทุกข์เป็นรู้ ไม่เปื้อนทุกข์ ถ้ามันโกรธ ให้โกรธเป็นรู้ ไม่เปื้อนโกรธ ถ้าพอใจไม่พอใจอะไรมาก ๆ 84,000 อย่าง ให้เปลี่ยนมาเป็นภาวะที่รู้ จะไม่เปื้อน เรียกว่าวิมังสา
4 อย่างนี้ทำให้สำเร็จ ไปใช้กับอะไรก็สำเร็จ หาทรัพย์ภายนอกก็สำเร็จ มีผัวมีเมียก็สำเร็จ ถ้าศรัทธาใช้ความรักนะ ศรัทธาต่อกันและกัน แล้วก็มีความเพียรประกอบให้เกิดความดี ไม่เกียจคร้าน ถ้าศรัทธาต้องเสียสละ ขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน จิตตะเอาใจใส่ ไม่ทอดไม่ทิ้ง ไม่ทำเรื่องอื่นให้เป็นเรื่องผิดไป มีแต่ใส่จิตใส่ใจอยู่เสมอ เปลี่ยนร้ายเป็นดีอยู่เสมอ แก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ ถ้าเป็นครอบครัวก็สำเร็จ การศึกษาก็สำเร็จ การงานก็สำเร็จ มาทำความเพียรมาทำอริยทรัพย์ก็สำเร็จได้
นี่หัวข้อเครื่องมือ ไม่ยาก มีอยู่แล้วในชีวิตเรานี้ พร้อมทั้งหมด ศรัทธาก็ไม่ต้องขอใคร เกิดขึ้นแล้ว ความเพียรก็ไม่ต้องใคร จิตใจที่ฝักใฝ่อยู่เสมอก็ไม่ต้องขอใคร การผิดการถูกก็ไม่ต้องถามใคร เวลาโกรธเป็นไง ฉันโกรธไหม ช่วยฉันได้ไหม ถ้าเราเปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ ฉันหายโกรธหรือยัง อันนี้เรียกว่าวิมังสา ไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ น่าจะชัดเจนในเรื่องนี้ สำเร็จไป สำเร็จไป มันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ภาวะที่เป็นกับภาวะที่เห็น มันต่างกันแบบนี้ ถ้าสุขเป็นสุข มันเป็นอย่างนี้ ถ้าสุขเห็นมันสุข มันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันหิวข้าว มันเป็นอย่างนี้ ถ้าเห็นมันหิว มันเป็นอย่างนี้ เห็นมันหิวหรือเป็นผู้หิว เห็นมันโกรธหรือเป็นผู้โกรธ ต่างกันไหม สัมผัสดูโลกแบบนี้ ลองดู มาดูโลก ลองดู จึงจะรู้แจ้งเรื่องโลก โลกะวิทู รู้แจ้ง
อย่างนี้นะ ปฏิบัติธรรม มันเป็นกรรมฐาน เป็นกรรมศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนได้ เคยโกรธเปลี่ยนเป็นไม่โกรธได้ ภาวะที่รู้นี้มันลบ มันซ่อม มันทำให้ดีขึ้น เรียกว่าวัฒนะ ดีขึ้น ถ้าไม่เปลี่ยน มันหายนะ มันเสื่อมลง แล้วก็ถ้าเปลี่ยนก็จะเหนือไปเรื่อย ๆ ไป ถ้าไม่เปลี่ยนก็เกิดแก่เจ็บตายแน่นอน ถ้าเจ็บเห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ เห็นมันเจ็บ การเห็นกับการเป็นมันต่างกัน ทีแรกก็เป็นกระแส หัดใหม่ ๆ เป็นกระแส เหมือนกับเห็นแสงทองแสงเงิน ทางนี้แหละ ทางทิศตะวันออก กระแส ตามไป ตามไป จะรู้ว่าสว่างไป สว่างไป เห็นกับไม่เป็นมันก็มีกระแสต่างแบบนี้ ไม่ให้หลงเป็นหลง พยายามที่จะพูดเรื่องนี้อยู่เสมอ ให้หลงเป็นรู้ ไม่ให้ทุกข์เป็นทุกข์ ให้ทุกข์เป็นรู้
อะไรก็ตามให้มันเป็นภาวะที่รู้ ให้มันมากรู้ เรียกว่ามหาสติ มาก ถ้ามันมีความรู้มาก ความหลงก็น้อยลง ๆ มันก็มีความรู้มีความหลงเท่านี้ชีวิตเรา เราเกิดมาถึงปูนนี้วันนี้ ระหว่างรู้กับระหว่างหลงอันไหนมันมากกว่ากัน ถ้ามันหลงก็ไม่เป็นธรรม ถ้ามันไม่หลงก็เป็นธรรม ความเป็นธรรมมันควรที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราก่อน ไม่ใช่หาความเป็นธรรมจากสิ่งอื่น วัตถุอื่น คนอื่น ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม ธรรมเป็นอย่างนี้ อธรรมเป็นอย่างนี้ จงละธรรมดำเสีย เจริญธรรมขาวคือเจริญแบบนี้ เราก็สวดกันดีเหลือเกิน อ้อนวอน
โอกา อะโนกะมาคัมมะ วิเวเก ยัตถะ ทูระมัง อะไร จำไม่ได้ หลวงพ่อกรม (หัวเราะ) จงละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว มาถึงที่ไม่มีน้ำจากที่มีน้ำ มีไหมที่ไม่มีน้ำ ที่มีน้ำมีไหม ขึ้นฝั่งขึ้นบกไม่เปียก สัมผัสกับความไม่เปียก สัมผัสกับความเปียก คนลอยน้ำกับคนขึ้นอยู่บนฝั่ง มันต่างกัน ถ้าเป็นล่ะเหมือนคนลอยน้ำ ถ้าไม่เป็นก็ขึ้นฝั่ง เห็นคือขึ้นฝั่งง่าย ถ้าเป็นแล้วขึ้นฝั่งไม่ได้ เหมือนมันลอยคอ ถ้าเป็นสุขก็ขึ้นฝั่งยาก ถ้าเป็นทุกข์ก็ขึ้นฝั่งยาก ถ้าเห็นแล้วขึ้นง่าย เป็นท่าเทียบเรือก็ว่าได้ ฝั่งพระนิพพาน ผู้ที่ถึงฝั่งพระนิพพานมีน้อยนัก มักจะลอยคอ โอฆา อโนคา เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจงมาถึงที่ไม่มีน้ำเหมือนยืนกวักมือเรียกพวกเราอยู่ ถ้ามันหลง ขึ้นมา ๆ เปลี่ยนขึ้นมา ถ้ามันทุกข์ ขึ้นมา พระพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้านั่นแล้ว
ถ้ามันโกรธขึ้นมา ไม่โกรธก็ได้ มีสิทธิ เวลามันหลงไม่หลงก็ได้ เรามีสิทธิ สิทธิไม่หลง สิทธิไม่ทุกข์ สิทธิไม่โกรธ ใช้สิทธิของเรา แต่นี่เราไม่ใช้สิทธิ ยอม ง่ายที่จะหลง ง่ายที่จะโกรธ ง่ายที่จะทุกข์ ง่ายที่จะพอใจไม่พอใจ ซ้ายขวา อารมณ์ของเรามีซ้ายมีขวา มีบวกมีลบ พอใจไปทางขวา ไม่พอใจไปทางซ้าย อยู่ตรงกลางไม่ค่อยมี ตาเห็นรูปก็พอใจ ตาเห็นรูปก็ไม่พอใจ หูได้ยินเสียงก็พอใจ หูได้ยินเสียงก็ไม่พอใจ มันอยู่แบบนี้ ถ้าเห็นมันรู้อย่างนี้ มันจะเป็นกลาง ภาวะที่รู้ที่ดูเป็นกลางเป็นมรรค
ทำอย่างไรเราจะสร้างตรงนี้ได้ จึงมามีสติเป็นที่ตั้ง ทำไมจึงมีที่ตั้งเพราะถ้าไม่ตั้งมันไหล ไหลไปข้างหน้ามีบ้างไหม ไหลไปข้างหลังมีบ้างไหม เรามาอยู่ที่นี่กี่วัน มันไหลไปข้างหลังมีบ้างไหม อดีตที่ผ่านมา ไหลกลับไป มีไหม มีรอยไหม อนาคตยังไม่มา มันไปไหม ถ้าไม่ตั้งมันไปข้างหน้า ไปข้างหลัง จึงตั้งไว้ให้มันอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ณ ที่นั้นอย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้
ไม่มีเสียงนะ น่าฟังไหม (หัวเราะ) น่าสงสารนะ คนไม่มีไทรอยด์นะ คุณหมอ ลมไปไม่มีนะ ดันจนเต็มที่เลยนะ (หัวเราะ) หมดสภาพแล้ว อันไม่หมดมันก็มีอยู่ แต่ว่ามันใช้ไม่ได้แล้ว ต่อไปตาก็ใช้ไม่ได้แล้ว หูก็ใช้ไม่ได้แล้ว มีปากมีลิ้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว มันเป็นอย่างนั้นไหม พระพุทธเจ้าตอนปรินิพพานได้เตือนไหม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สังขารนี้มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงอย่าทำความประมาทเถิด ตื่นแต่ดึกสึกแต่หนุ่มสักหน่อย อย่ารอให้เฒ่าให้แก่ เป็นจริง ๆ จึงน่าจะกระตือรือร้นสักหน่อย ไปทำอะไรกันอยู่ ให้สนใจเรื่องนี้บ้าง ประเทศไทยพอจะทำเรื่องนี้ได้ สำเร็จก็ว่าได้นะ หนึ่งคนไทยมีศรัทธา มีวัดวาอาราม มีพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็มี วัดอย่างนี้ก็มี มีมิตรมีเพื่อน ก็พออยู่กันได้ ก็มีเมืองไทยนี้แหละ
เห็นคนมานั่ง ขอบคุณพวกท่านทั้งหลายที่มา เป็นความประสงค์ของพวกเรา ธรรมวินัยเป็นอย่างนี้ ธรรมวินัยพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ท่านทั้งหลายจงมาสู่อาวาสของเรา ผู้ยังไม่มาขอให้มา เป็นความคิดของพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยเป็นแบบนี้ ผู้ยังไม่มาขอให้มา มาสู่อาวาสของเรา ผู้ที่มาแล้วอยู่เป็นสุข ๆ ปฏิบัติธรรม ทำตามธรรมนั่นเถิด เคารพพระธรรมนั่นเถิด อย่าไปเคารพความหลงความโกรธความทุกข์ เคารพความไม่หลงความไม่โกรธความไม่ทุกข์ ถ้ามันมาก็อย่าไปเคารพมัน อย่าต้อนรับมัน บอกมันคืน บอกกลับ วิธีบอกกลับก็ไม่ใช่เรื่องอื่น มีสติ รู้สึกตัว ไม่เป็นอะไร เรียกว่าบอกกลับ มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ คือบอกกลับ ไม่รับ อิสระ มันโกรธเห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ บอกกลับไป อะไรก็ตามที่มันเกิดกับกายกับใจนี้บอกกลับ ไม่เป็นอะไร สิทธิ ขอต้อนรับด้วยอาคันตุกะที่เป็นข้าศึกในโลกนี้ ไม่เป็นอะไรกับอะไร คือต้อนรับ จะมีอะไรก็ตามในโลกนี้ขอต้อนรับด้วยลักษณะแบบนี้ ไม่เป็นอะไรกับอะไรชีวิตเรา สูงสุด แต่เดี๋ยวนี้เราเป็นนะ มันร้อนเป็นผู้ร้อน มันหนาวเป็นผู้หนาว มันหิวเป็นผู้หิว มันเจ็บเป็นผู้เจ็บ ถ้าหัดก็เห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ
อย่างเราสวดธรรมจักร อริยมรรคมีองค์ 8 สัมมาทิฏฐิเป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นทุกข์ นี่คือสัมมาทิฏฐิ “เห็น” ไม่ใช่ “เป็น” นะ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นหนทางแห่งความดับทุกข์ เห็นวิธีดับทุกข์ได้ มี 4 อย่างของจริง นั่นเรียกว่าเห็น เห็นสัมมาทิฏฐิ ถ้ามันหลงเห็นมันหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่หลง ถ้ามีความรู้นะ ธรรมทั้งหมดคือของจริงอันประเสริฐ 4 อย่าง มีสติมันก็ละความชั่ว มีสติมันก็ทำความดี มีสติจิตก็บริสุทธิ์ เป็นอย่างนี้จริง ๆ
ปฏิบัติธรรมก็ทำอย่างนี้จริง ๆ ไม่ใช่อ้อนวอน ทำลงไป สัมผัสลงไป เอากายเราสัมผัส เอาใจเราสัมผัส ต่อเอา ให้กายกับสติเป็นอันเดียวกัน ทีแรกก็คนละอย่าง ฝึกไป ฝึกไป จะเป็นอันเดียวกัน ใจกับสติก็เป็นอันเดียวกัน มีแต่สติเป็นหน้ารอบ เหมือนพระขีณาสพผู้มีสติเป็นหน้ารอบ ขีณาสพคือพระอรหันต์ หน้ารอบเรียกว่าสติ ไม่ใช่ตา สติเป็นดวงตาภายใน มันรอบ มาทางไหนก็รู้ ถ้าตาเนื้อมันไปทางเดียวคือไปข้างหน้า มองข้างหลังไม่เห็น หน้ารอบ ถ้าฝึกให้มันมีแล้ว มันไม่ไปไหน มันเป็น ไม่ใช่รู้ ทำให้เป็น ทำให้มันเป็น ไม่ใช่เรียนรู้ มาหัดให้เป็น สนามฝึก
มาเรียนรู้ ท่านทั้งหลายรู้มาแล้ว แต่ยังทำไม่เป็น เวลามันหลง รู้เป็นไหม เวลามันโกรธ รู้เป็นไหม เวลามันทุกข์ รู้เป็นไหม ถ้าให้ทุกข์เป็นทุกข์ ให้หลงเป็นหลง ให้โกรธเป็นโกรธ เรียกว่าทำไม่เป็น จึงต้องหัด ดีที่มันหลง จะได้รู้ หัดแล้ว รักษาแล้ว ดีที่มันโกรธ จะได้รู้ ดีที่มันทุกข์ จะได้รู้ ให้มันออกมาเถอะ เวลามีสติ มันจะเห็นเรื่องเหล่านี้ สนุกดี มันหลงนั่นแหละดี จะได้รู้ หลงเป็นเหตุให้เกิดความรู้ จึงเห็นทุกข์นั่นแหละ เหตุให้เกิดทุกข์นั่นแหละ ไม่ใช่ผิด ถ้าเห็นแล้วไม่เป็นนะ มันไม่ได้ยาก ถ้ามันหลงก็เห็นมันหลง ถ้ามันผิดก็เห็นมันผิด ถ้ามันทุกข์ก็เห็นมันทุกข์ มีแต่เห็นเนี่ย นี่ตัวเฉลยชีวิตทั้งหมด เป็นอย่างนี้จริง ๆ นะ เฉลยได้ทั้งหมด ทำได้ทุกชีวิต ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล นี่คือปฏิบัติธรรม
เราสวดธรรมคุณ สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก ผู้ศึกษาจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง อกาลิโก ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรเรียกคนอื่นมาดู โอปะนะยิโก น้อมมาใส่ตัวเรา ปัจจัตตัง เว (ทิตัพโพ วิญญูหิ) เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติเป็นอัศจรรย์ ธรรมะเป็นของอัศจรรย์ สมควรแก่ผู้ปฏิบัติ
ขยันรู้ก็ได้ความรู้ ขยันหลงก็ได้ความหลง เวลามันหลงเปลี่ยนเป็นรู้ ก็ได้ประโยชน์ ถ้ามันหลงแล้วไม่เปลี่ยนเป็นรู้ก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้บทเรียน บทเรียนอยู่ที่นี่ในการปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนรู้ในเทคนิควิชาการต่าง ๆ แต่เป็นประสบการณ์ เห็นผิดจึงพ้นผิด เห็นทุกข์จึงพ้นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมกรรมฐาน มันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีที่ไหนที่ทำแบบนี้ แล้วก็ช่วยกันไม่ได้ ต้องมาทำเอาเอง ตัวใครตัวมัน เรารักพ่อรักแม่ก็ช่วยไม่ได้ เรารักภรรยารักสามีก็ช่วยไม่ได้ รักลูกรักใครก็ช่วยไม่ได้ ต้องทำเอง นี่คือของจริง
สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน