แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ้า ฟังธรรมต่ออีกสัก 30 นาที เพื่อย้ำเตือนกัน
ขอมีส่วนร่วมในการปฏิบัติธรรมกับทุกท่าน ทุกรูปทุกนาม ชีวิตเราก็เหมือนกันนั่นแหละ มีกายมีใจ มีรูปมีนาม ปัญหาก็เหมือนกัน เกิดขึ้นที่กายที่ใจ เกิดขึ้นที่รูปที่นาม การแก้ปัญหาก็แก้ที่กายที่ใจที่รูปที่นาม เริ่มต้นปัญหาคือภาวะที่หลง ถ้าหลงก็พาไปให้เกิดการทำผิดๆ เป็นทุกข์เป็นโทษ ภาวะที่แก้ต้นเหตุก็คือไม่หลง มีสติก็พาให้ไม่มีทุกข์มีโทษ จะต่างกันตรงนี้ชีวิตเรา ถ้าอันอื่นเหมือนกันหมดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เหมือนกันสามัญลักษณะ แต่มันจะไม่เหมือนกันตรงที่มีภาวะที่หลง มีภาวะที่รู้ ถ้าหลงเป็นหลง บางคนก็หลงเป็นหลง บางคนหลงเป็นรู้ บางคนทุกข์เป็นทุกข์ บางคนก็ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ มันเปลี่ยนได้ บางคนโกรธเป็นโกรธ ไม่ต้องโกรธในเวลามันโกรธ มันเปลี่ยนร้ายเป็นดีได้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม
ถ้าไม่เปลี่ยนสักทีก็อยู่เช่นนั้น เป็นการบ้าน เป็นจำเลย ตัวเองเป็นโจทก์ตัวเอง ตัวเองเป็นจำเลยตัวเอง เป็นความทุกข์เพราะความคิดของตนเอง เป็นความทุกข์เพราะกายของเราเอง เพราะไม่เคยมีสติ ไม่เห็นความคิด ปล่อยให้ความคิดไหลไป เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะความคิด มีมาก แต่ถ้าเรามีสติดี ไม่ยาก เปลี่ยน เวลามันคิดก็รู้สึกตัว ยังไม่เป็นสุข ยังไม่เป็นทุกข์ ไม่ถึงสุข ไม่ถึงทุกข์ พอมันจะสุขจะทุกข์ พอใจไม่พอใจ ก็ถอนออกมา มีสติถอนความพอใจและความไม่พอใจออกมา อย่าให้มันมีราก ถ้าไม่ถอนมันจะมีราก มันจะงอกงาม เมื่อมันงอกงามก็ยึดชีวิตเราได้ เป็นจริตนิสัย โทสะจริต โมหะจริต ราคะจริต
เราจึงมีหน้าที่ปฏิบัติธรรม ดูแลตัวเอง ปฏิบัติธรรมคือดูแลตัวเองให้มันคุ้ม มันก็มีไม่มาก มีกายมีใจเกิดขึ้นที่นี่เท่านั้น ถ้ามีสติก็รอบรู้ได้ ไม่เอาตาเนื้อ มันสามารถที่จะเห็นได้ แต่ถ้ามีสติมันรู้รอบได้ มาทางตาก็รู้ได้ มาทางหูก็รู้ได้ มาทางจมูกก็รู้ได้ มาทางลิ้นทางกายทางใจก็รู้ได้ แต่คนส่วนมากไม่ค่อยมีภาวะอันนี้ ปล่อยให้มันเป็นเถื่อน ๆ กายก็เถื่อน ใจก็เถื่อน สำส่อน อะไรจรมาก็รับเป็นไปกับมัน ถ้าสุขก็มาเป็นสุข สำส่อนแล้ว รับใช้แล้ว ถ้าเป็นทุกข์เอามาเป็นทุกข์ เรียกว่ารับใช้อาคันตุกะ ต้อนรับ
เรามีสิทธิเป็นเจ้าของ ไม่ต้องต้อนรับก็ได้ ถ้าต้อนรับ มันก็มาบ่อย ต้อนรับไม่มีสติ ถ้ารู้สึกระลึกได้ มันก็หยุดแค่นั้น บอกคืนแค่นั้น ไม่ก้าวล่วง เห็นคนละอันกัน อันสุขอันหนึ่ง อันไม่สุขอันหนึ่ง เห็นอันสุขแต่ไม่เป็นผู้สุข พ้นจากความสุข เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากความทุกข์ เห็นมันโกรธไม่เป็นผู้โกรธ พ้นจากความโกรธ นี่คือเจ้าของ มีสิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลามันโกรธ มีสิทธิไม่โกรธ เวลามันทุกข์ มีสิทธิไม่ทุกข์ ใช้สิทธิของเรา เรียกว่าดูแล ดูแลตัวเองจนไม่มีภัย
ชีวิตที่ไม่มีภัย เรียกว่าอริยบุคคล อริยะ ถ้าเป็นคนอริยบุคคล ถ้าเป็นฆราวาสญาติโยม ถ้าเป็นพระสงฆ์ พระอริยเจ้า ถ้าเป็นเจ้าอาวาสก็เรียกว่าพระอธิการ ถ้าเป็นเจ้าคณะผู้ปกครองตำบลเรียกว่าเจ้าคณะตำบล หรือว่าเจ้าอธิการ แต่ถ้าเป็นพระ เรียกว่าพระธรรมดา ถ้าเป็นผู้รับผิดชอบเรียกเจ้าอธิการ เจ้าอาวาส เจ้าอธิการ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าอธิการ พระอธิการ เจ้าอาวาสแปลว่าพระอธิการ เจ้าคณะตำบลเรียกว่าเจ้าอธิการ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด
ชีวิตเราก็ควรจะเปลี่ยนให้มีสิทธิชี้ขาด ปกครองตัวเอง ให้อยู่ในความสงบร่มเย็น จึงมาฝึกหัดกัน ตรงที่มันหลงไม่หลง นี่แหละตัวการมัน ก้าวแรก ก่อนที่จะเห็นภาวะที่หลงต้องมีภาวะที่รู้เป็นหลักเสียก่อน มีสติสัมปชัญญะเป็นหลัก เหมือนเรามีตา ลืมไว้ก่อน อะไรผ่านมา-เห็น เราเดินไปไหน-เห็น เห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้า สิ่งอยู่ข้างหน้าที่เราเดินไปแล้ว ไม่ใช่เขาโรยดอกกุหลาบเสมอไป ใส่ภาพปูเสื่อไว้ ไม่มีในโลกนี้ มีภาวะที่ตาก็เห็นนั้น ล่วงข้ามเอาอะไรที่ไม่ดี เราก็หลุดพ้นไม่มีภัยเพราะตา สติมันยิ่งไกลกว่านั้น เห็น อะไรที่มันมาทางใดก็เห็น ถ้ามีสติมันจะเป็นคนละอัน ถ้าเห็น มันจะใช้ได้ ถ้าเป็นล่ะ ใช้ไม่ได้ มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ใช้ได้ ถ้าทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ ยังใช้ไม่ได้ เหมือนไม่มีตา ไม่สำเร็จประโยชน์
“เห็นหลง” “เป็นหลง” เห็นกับเป็นคนละอันกัน ถ้าเห็นก็มีทางหลุดพ้น เห็นงูก็พ้นจากงู ถ้าไม่เห็นก็ถูกงูกัด คนเห็นทุกข์ก็พ้นจากทุกข์ เพราะทุกข์มันไม่ใช่ชีวิตเรา ภาวะที่เห็นนี่เป็นชีวิตเรา เราดูแลมีสิทธิ เราพ้นไป จนชำนิชำนาญ นี่คือหลักปฏิบัติ อย่าไปเอาความเชื่อทำตามกันมา อย่างที่เราสวด กาลามสูตร ให้เชื่อว่าสิ่งนี้ เมื่อมีแล้วเป็นทุกข์เป็นโทษ เมื่อคิดเรื่องนี้ มีทุกข์มีโทษ เมื่อพูดเรื่องนี้ มีทุกข์มีโทษ เมื่อทำเรื่องนี้ มีทุกข์มีโทษ แบบนี้ก็ควรไม่ทำ ควรไม่คิด ควรไม่พูด ถ้าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ก็ควรทำ สิ่งนี้ไม่มีโทษก็ควรพูด ควรบอกกัน อย่าชวนกันผิด นี่ให้เชื่อแบบนี้
ความหลงอย่าไปเชื่อ ให้เชื่อความไม่หลง ความทุกข์ก็อย่าไปเชื่อมัน ให้เชื่อความไม่ทุกข์ ความโกรธก็อย่าไปเชื่อมัน ให้เชื่อความไม่โกรธ อย่าจนตรงนี้ ถ้าไม่จนตรงนี้ก็ไปได้ สัมผัสดู การเชื่อมันต้องสัมผัส พระพุทธเจ้าเคารพพระธรรม พระธรรมคืออะไร ความหลงเป็นอธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ความโกรธเป็นอธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม พระพุทธเจ้าเคารพอย่างนี้ ปุถุชนไม่เคารพ ไม่หลงก็หาเรื่องให้มันหลง มันก็หลงอยู่แล้ว วัตถุกามคุณ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นคู่กัน มันก็มีวัตถุ มีอาการในรูปในนามนี้ วัตถุคือแผ่นดิน ในแผ่นดินนี้มีต้นหมากรากไม้ มีสิ่งที่มีพิษมีโทษเกิดขึ้นบนแผ่นดิน เราก็รู้จักเอาประโยชน์จากแผ่นดินที่มันมีคุณมีประโยชน์
ชีวิตเราก็มีวัตถุเช่นนี้ เราก็ได้วัตถุนี้แหละเป็นที่เรียนรู้ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีรูป มีรส มีกลิ่น มีเสียง สัมผัสดูแล้ว มันบอกเรา ความเท็จความจริงอย่างไร ความหลงความไม่หลงต่างกันอย่างไร ความทุกข์กับความไม่ทุกข์มันต่างกันอย่างไร ไม่ต้องถามใคร หลงเป็นยังไง ไม่หลงเป็นยังไง ตรงนี้ต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษาก็มืด เรียกว่า ปุถุ แปลว่า หนา ปุถุชน ผู้ศึกษาเรียกว่า กัลยาณปุถุชน ถ้าศึกษาไปอีก อริยะชน อริยะบุคคล เลื่อนฐานะจากความเป็นคน เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นอริยะชน เป็นอริยบุคคล ทุกคนต้องเริ่มต้นเอาเอง นับหนึ่งจากตัวเรานี้ก่อน
ถ้าหลงเป็นหลง มันไม่ประเสริฐอะไรเลยชีวิตของเรานี่ ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ประเสริฐ ประเสริฐตอนที่หลงไม่หลงนี่แหละ กำลังจะเป็นมนุษย์ ทุกข์ไม่เป็นทุกข์นี่แหละ มันจึงจะเป็นสัตว์ประเสริฐ เราให้ใส่ใจตรงนี้ อยากให้เป็นการบ้านเอาไว้ มันมีอยู่ในความหลง เป็นงานของเราอยู่ นั่นแหละได้ศึกษาตรงนั้น ได้บทเรียนตรงนั้น เอามาเป็นการบ้าน ไม่ต้องถือตำรับตำรา มีอยู่ในชีวิตเราแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ก็มี เหตุให้เกิดทุกข์ก็มี ความดับทุกข์ก็มี วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็มี มีอยู่ในที่เดียวกัน มาพร้อมกัน ความหลงมาพร้อมกันกับความไม่หลง ความทุกข์มาพร้อมกันกับความไม่ทุกข์ ความโกรธมาพร้อมกันกับความไม่โกรธ อย่าจน ถ้าเราไม่หัดมันจะจน ถ้าหัดแล้วไม่ต้องกลัว ต้อนรับอย่างสง่างาม
เหมือนคนมีความรู้ เดินเข้าศึกษาที่ไหนก็โชว์ได้ เกรดมันดี คนที่ไม่มีความรู้ก็เป็นปมด้อย อันนั้นก็เป็นวิชาการ แต่ปัญญาที่มีอยู่ในชีวิตเรานี้ มันเรียนรู้จากกองสังขาร คือกายสังขารจิตสังขารนี้รอบรู้ทั้งหมด มันคืออะไร เกี่ยวข้องกับมันอย่างไร เกิดแก่เจ็บตายเป็นอะไร อันไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายคืออะไร ความไม่ทุกข์มันยังไง ความทุกข์เป็นอย่างไร จบหมด เรียนให้มันจบ เรียกว่าสถาบันชีวิต ถ้าไม่จบ มันก็ไม่มีค่าอะไรเกิดมานี่ พ่อแม่เราอาจจะเรียนไม่จบ มอบให้ลูกหญิงลูกชายอยู่ต่อไปให้มาเรียนเรื่องนี้ เป็นการนี้จริงๆ ชีวิตเราเพื่อการนี้โดยตรง ไม่ใช่อย่างอื่น
เมื่อเราทำผิด เราจึงรู้ว่า โอ้ นี้นะ เป็นธรรมชาติที่สร้างมนุษย์ไว้แล้ว พ่อแม่เราก็มีลูกมีเต้าสร้างไว้ให้ต่อกันมา พ่อแม่เราอาจจะทำไม่ได้ เรานี่แหละจะต้องเป็นผู้สืบสกุลเรื่องนี้ให้ได้ ให้ถึงที่สุด มันจบ ชีวิตเรามันจบ จะมีคุณมีค่า สมกับพ่อแม่เลี้ยงเรามา ให้มารู้เรื่องนี้ ให้มันจบจริงๆ ซะ สิ่งที่เขาทุกข์ ก็ไม่ต้องทุกข์ สิ่งที่เขาโกรธ เราไม่ต้องโกรธ สิ่งที่เขาหลง เราไม่ต้องหลง มันจะต่างกันตรงนี้ชีวิตเรา
ก็อยากจะบอกกันตรงนี้ ขอมีส่วนร่วมตรงนี้ ถ้าเราทุกข์ คนอื่นในโลกนี้ไม่ทุกข์เหมือนเราทุกข์ก็มี สิ่งที่เราทุกข์ คนอื่นเขาไม่ทุกข์ สิ่งที่เราหลง คนอื่นเขาไม่หลง ไม่ใช่หลง ไม่ใช่คนทั้งโลกหลงเหมือนเรา ทุกข์เหมือนเรา โกรธเหมือนเรา หลายคนอาจจะไม่หลง อาจจะไม่โกรธ อาจจะไม่ทุกข์แล้ว
ตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน้นมา สองพันกว่าปีมาแล้วเรื่องนี้ พิสูจน์ได้ สัมผัสดู ไม่ลบเลือนไปไหน ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นพระธรรม คือคุณภาพชีวิต พุทธะคือคุณภาพ ชีวิตที่ประเสริฐมีอยู่กับทุกคน นักสอนศาสนา ตามคำสอนเขายังบอก ฟังเสียงทุกเสียงเหมือนเสียงพระสวดมนต์ ดูคนทุกคนเหมือนพระพุทธเจ้า อยู่ที่ไหนมีนิพพานอยู่ที่นั่น ง่าย ๆ แบบนี้ มันจะยากอะไร ตอนนี้เขายังไม่เป็นพระพุทธเจ้า พรุ่งนี้เขาอาจจะเป็นพระพุทธเจ้า เราจึงไม่ควรเบียดเบียนกัน เคารพกัน พรุ่งนี้ไม่เป็นก็เดือนหน้า เดือนหน้าไม่เป็นก็ปีหน้า ถ้าปีหน้าไม่เป็นก็อาจจะชาติหน้า (หัวเราะ) ก็เป็นได้ มองไปไกลๆ แบบนี้ ไม่เบียดเบียนกันได้
ถ้าเรามองคนทุกคนเป็นพระพุทธเจ้า เสียงทุกเสียงเหมือนเสียงพระสวดมนต์ พระอรหันต์บางรูปได้ยินโสเภณีร้องเพราะโรค โรคโสเภณี โสเภณีเกิดโรค ร้องห่มร้องไห้ พระกำลังปฏิบัติอยู่ในป่าได้ยินเสียง ก็เลยใส่ใจ อา... เป็นทุกข์เป็นโทษ ได้บรรลุธรรมเลย เสียงทุกเสียงเหมือนเสียงพระสวดมนต์ เขาเป็นทุกข์เพราะการเจ็บ เราจะต้องเป็นทุกข์เพราะเจ็บเหมือนเขาหรือ มันทำได้ไหม หัดตน สอนตน เตือนตน แน่นอนที่สุด เกิดแก่เจ็บตายมีอยู่ในทุกคน หัดข้ามตั้งแต่มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์
“เห็น” เอาง่ายๆ “เห็น” “ไม่เป็น” นั่นแหละทางไปนี้ มันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง อันความหลงเป็นอันหนึ่ง อันภาวะที่เห็นเป็นอันหนึ่ง สัมผัสดูดีๆ ภาวะไม่เป็นนี่ มันก็เลยใหญ่โตไปเรื่อยๆ ยิ่งใหญ่ อำนาจ สู่ธรรมชาติ คืนสู่ธรรมชาติ ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับธรรมชาติ ก้าวไปตั้งแต่นี้ หลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง ทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ ถ้าไม่เป็นผู้ทุกข์ ก็พ้นจากทุกข์ ต้อนรับได้ทุกอย่างในโลก โลกมันจะมีรสกี่รสกี่ชาติเกิดขึ้นกับชีวิตเราหรือ ต้อนรับด้วยภาวะเช่นนี้ อย่างเรียบๆ เหมือนมิตรภาพ
ทางมิตรภาพจากขอนแก่นบ้านไผ่ ถือแก้วน้ำเวลารถวิ่งไม่กระเพื่อมเลย เหมือนนั่งรถไฟประเทศจีน รถไฟ เหมือนกับนั่งอยู่เฉยๆ มันเรียบ รถไฟบ้านเรากึกกัก กึกกัก (หัวเราะ) รถไฟประเทศจีนนี่เรียบ ไหลไปเลย อาจารย์โน้สพาไป ชั่วโมงละสองร้อยกว่ากม. วิ่งเร็วมาก บ้านเราชั่วโมงละ 70-80 กม.อย่างมาก ชีวิตเหมือนมันเรียบ เห็น ไม่เป็น เรียบที่สุดเลย ไม่กระทบกระเทือน มันต้องเป็นชีวิตแบบนี้ ไม่ใช่อยู่ในชีวิตเรา ไม่ใช่คลื่น ชีวิตควรจะเรียบ อะไรที่มันเรียบ มันชอบ เหมือนเราส่องเงาในน้ำเวลาโกนผม ไปนั่งอยู่บนกระดานในน้ำ น้ำนิ่ง ส่องดู ถ้าน้ำกระเพื่อม มันก็ไม่เห็น ชีวิตที่มันเรียบๆ นี่ มันเห็น
เราจึงมาดูเนี่ย ทำให้ชีวิตเรียบ มีสติ หัด ต้องหัดแล้วจะเป็นนะ ไม่ใช่เรียนรู้นะ ฝึกหัด หัดได้ทุกคน เป็นได้ทุกคน มีสิ่งที่ให้เราหัดเกิดขึ้นที่กายที่ใจนี้ บทเรียนจากนี้ ปัญหาอยู่นี่ แก้ปัญหาตรงนี้ จบก็จบตรงนี้ เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสว่าเห็นเรื่องนี้จนออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ แต่ก่อนเราไม่มีความรู้ หยั่งรู้ เราได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสาร เป็นอเนกชาติ นับไม่ถ้วน แล่นไปทางจิตทางวิญญาณ มันเคยติดมาเรื่องใดมาก็ไปกับเรื่องนั้น อดีตก็ไป อนาคตก็ไป แล่นไป ในอารมณ์ต่างๆ ความรัก ความไม่พอใจ ความพอใจ แล่นไป บัดนี้เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำอะไรให้เราไม่ได้อีกแล้ว สังขารของเจ้าเรารื้อเสียแล้ว ยอดเรือนเราหักเสียแล้ว ไม่มีอะไรปรุงแต่งเราได้อีกแล้ว สิ้นแล้ว สิ้นภพ สิ้นชาติแล้ว ถึงที่สุดหมายปลายทางแล้ว เนี่ย ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ครั้งแรกที่สุดในวันตรัสรู้ ก็มาคิดจะสอนใคร จะสอนใคร มันเป็นอย่างนี้ ชีวิตจริงๆ มันเป็นอย่างนี้
นี่คือสัจธรรม ธรรมะอยู่ในคนที่มีกายมีใจ คนยังไม่ตายนี่ ถ้าพลิกมือขึ้นรู้สึกก็ใช้ได้ ยกมือขึ้นรู้สึก ใช้ได้ วางมือลง รู้สึก คว่ำมือลงรู้สึก ใช้ได้ ต้องประกอบ ไม่ใช่คิดรู้เอา เอาอะไรมาประกอบให้เกิดความรู้ หัดใหม่ๆ หัดขีดหัดเขียน หัดลำนำ หัดท่องจำภาษาธรรมะ ไม่ใช่หัดท่องจำภาษาหนังสือ ขยันรู้ เรียกว่าภาวนา
ขอใช้ชีวิตที่นี่เรื่องนี้ เรื่องอื่นให้คนอื่นทำไป วัดในประเทศไทยสามหมื่นกว่าวัด ที่เป็นวัดป่า เก้าพันกว่าวัด ชีวิตเรา พระสงฆ์เข้าพรรษาสามแสนรูป เสนอเราสักชีวิตหนึ่ง ชีวิตที่นี่ คนอื่นอาจจะพูดเรื่องอื่นไป พวกเราขอพูดเรื่องนี้ ตอนเช้าตอนเย็น ช่วยกัน มาหัดร่วมกัน โสตายร่วมกัน ลองดูจะเป็นอย่างไร พิสูจน์ลองดู นานเหลือเกิน คำสอนพระพุทธเจ้า เอาชีวิตเราแลกเข้าเลยจะดีไหม ชาตินี้ เจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปี พระพุทธเจ้า ผู้ใดเจริญสติปัฎฐานอย่างต่อเนื่อง มีความรู้อย่างต่อเนื่อง เจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปี ขอใช้ที่นี่ ให้เป็นเรื่องจริงจัง ลองดู ผู้ที่ยังไม่มา ขอให้มาลองดู พิสูจน์ลองดู อย่าไปเชื่อใคร เอาชีวิตมาสัมผัสเอา เจ็ดเดือน เจ็ดวัน เจ็ดปี ลองดู จะเป็นอย่างไร แต่ต้องทำจริงๆ ทำจริงๆ ไม่ใช่ไม่หลับไม่นอนนะ ความรู้อยู่ในทุกอริยาบถ นอนอยู่ก็รู้ได้ หายใจก็รู้ได้
ท่องจำเหมือนเราท่องหนังสือ ท่อง เรียนนักธรรม ท่องธรรมจักร ท่องปาติโมกข์ ทำใหม่ๆ มันไม่ติดน่ะ เอวัมเม สุตัง ฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ เมื่อทีแรกว่าไม่ติด มันไม่ชิน มันยังไม่ชำนาญ ว่าไปๆๆ มันติดปาก เคยท่องหลักสูตรนักธรรมตั้งแต่เป็นเณร นวโกวาทวินัยบัญญัติ คล่อง เดี๋ยวนี้ยังติดอยู่ ไม่ลืม วินัยมันเกิดจากอะไรบ้าง ผิดตรงไหน รู้อยู่ จำได้ ไม่ลืม พอเห็น พอมันจะผิด รู้ ข้อไหน มันผิดอะไร รู้ ข้อไหน เมื่อวานนี้ไปบวชภูเขาทอง เห็นล้อเกวียนตากฝนอยู่ ผิดไหมนี่ ผิดวินัย (หัวเราะ) ภิกษุเอาเตียงตั่งตั้งไว้กลางแจ้ง ไม่เก็บเองก็ดี ไม่มอบหมายเพื่อนก็ดี ต้องอาบัติ พอไปเห็นกับหลวงพ่อกรม เอ้า หลวงพ่อกรมเป็นวัวเป็นควายสักหน่อยได้ไหม หลวงพ่อกรมยกแอกขึ้นเอาเข้าร่ม (หัวเราะ) เรารู้วินัย เราจึงรักษาสิ่งของสงฆ์ให้ปลอดภัย อะไรที่ไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าวางวินัยไว้ เราท่องจำ เอามาทำดูเถอะ ท่องจำได้ เอามาทำ มารักษา ไม่ใช่ท่องจำได้ ไม่ดูไม่แลอะไร
ชีวิตเราที่เราได้ปฏิบัติ ท่องจำกับความรู้สึกได้น่ะ มันจะลืมได้ไง ถ้าจะให้ลืมให้โกรธ ข่มขืนตัวเอง ทำไม่ลง แต่ให้สุขให้ทุกข์ข่มขืนตัวเรา มันทำไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง เห็นอะไรที่มันผิด ไม่ทำเด็ดขาด ชั่วไม่ทำ ลี้ทางไป ใจไม่คิด ขอใช้ชีวิตแบบนี้ ถ้าชั่วไม่ทำ แต่ดีทำไป แต่ใจไม่ยึดติด ก็หมดแค่นี้ชีวิตเรา ขอทำความดี มันก็สั้นๆ ชีวิตนี้ไม่มาก ให้คนอื่นทำไปนะ
ขอสนับสนุนทุกท่านที่สนใจเรื่องนี้ พวกเราที่นี่สุคะโตขอเป็นมิตรเป็นเพื่อน ฝากผีฝากไข้ดูแลกันตามสภาพ ไม่ทอดไม่ทิ้งกัน ใครเป็นอะไร เดือดร้อนอะไร บอก นี่มีเจ้าอาวาสอาจารย์ไพศาล รองเจ้าอาวาสอาจารย์โน้ส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณตุ้ย อาจารย์ตุ้มผู้จัดการใหญ่ๆ ทั่วๆ ไป
เวลานี้หลวงตาก็อาศัยเพื่อนมิตรอยู่ อาศัยได้จริงๆ มีกัลยาณมิตรนี่ โอ๊ย ประเสริฐจริงๆ พึ่งพาอาศัย อุ่นอกอุ่นใจ ถึงคราวเจ็บป่วยก็พึ่งได้ อาจารย์โน้ส อาจารย์ตุ้มจับมือไม่วาง นอนอยู่โรงพยาบาล (หัวเราะ) เวลามันจะขาดไปแล้ว หมดแรงแล้ว เอามือเกากระดาน อาจารย์ตุ้มขึ้นมา คิดอยากดื่มน้ำ อยากมีน้ำสักหน่อยมาหยอดคอ มันหมดแล้ว มันแห้งหมด คีโมมันฆ่า รังสีมันฆ่า แห้งหมด ไหม้หมด โอ๊ย ถ้าได้น้ำมาหยอดคอสักหน่อยคงจะดีนะ พูดไม่ออก เอาน้ำหยอดคอ หยอดก็ไม่ได้ คิดว่าถ้าหยอดมากก็ไม่ไหว มีความรู้สึกว่าน่าจะมีหลอดน้อยๆ สักหน่อย อะไรที่มันดูดได้ อาจารย์ตุ้มเอารังนกให้ดูด ดูดก็ไม่มีลมนะ มันหมดแล้ว (หัวเราะ) ไม่มีลมดูด พยายามตั้งใจ อาจารย์ตุ้มก็จะเทใส่แก้ว ไม่ได้ มีหลอดแล้วหยอด จะเอาช้อนตัก นั่นแหละตายแล้วนะตอนนั้นน่ะ อาศัยหยอดน้อยๆ กว่าจะหมดกล่องหนึ่ง นานที่สุด ค่อยๆ หยอด เพื่อนก็จับใส่ปาก สนุกนะ โอ๊ย สนุกสนาน (หัวเราะ) สนุกป่วยจริงๆ น้า เอ้า จบเท่านี้แหละนะ