แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมต่ออีก ให้มันอุ่นอยู่เสมอ ชีวิตของเรามันต้องมีกรรมที่จะมีผล ชาวสวนชาวไร่ปลูกอ้อยก็ได้อ้อย ชาวนาปลูกข้าวก็ได้ข้าว กรรมคือการกระทำ พวกเราก็ปลูกสติ มีสติก็มีธรรม การกระทำกับการเจริญสติเรียกว่ากรรมฐานนี้ มันก็ได้ผล เราเคลื่อนไหวมือ พลิกมือ รู้สึก มันก็มีความรู้สึกเมื่อได้ทำลงไป หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก ใช้กายเพื่อสร้างความรู้สึกให้มันมี อย่าให้มันฟรี ถ้าใช้ฟรีมันก็ไม่มีประโยชน์ กรรมไม่มี เป็นกตัตตาธรรม เป็นกรรมที่ไม่มีผล ชีวิตก็ฟรีไปทั้งชาติ เราก็มีอาชีพ สิกขาธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ชีวิตของเราได้จากธรรม ชีวิตอันหนึ่งได้จากข้าวปลาอาหาร ได้เลือด ได้เนื้อ ได้มีชีวิต ทำดีได้ทำชั่วได้ เกิดแก่เจ็บตาย ชีวิตที่ได้จากธรรม หากสติมันได้ชีวิต มันจะไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เราเอาชีวิตที่ได้จากเลือดเนื้อ เอามาต่อชีวิตอีกอันหนึ่ง ถ้าชีวิตเป็นกายเป็นใจมันเกิดแก่เจ็บตาย ชีวิตที่มันมาเห็นตามความเป็นจริงอันนั้นน่ะ จะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย มันจะเห็น ได้ประโยชน์จากกายจากใจ ใช้กายใช้ใจเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่ใช่มัน มันก็มีทุกข์มีโทษได้ เพราะกายเป็นวัตถุอันหนึ่ง ที่เกิดที่ตั้งแห่งกามคุณ มีตามีหูจมูกลิ้นกายใจ วัตถุแห่งที่เกิดกามคุณ ถ้าเราไม่ใช้ให้ถูกมันก็ผิดได้ ใจก็เหมือนกัน ที่ตั้งแห่งอารมณ์ รับอาคันตุกะ จรมา ทั้งดีทั้งชั่วทั้งสุขทั้งทุกข์ โกรธโลภหลงอยู่ในอาการเกิดดับอยู่เรื่อย เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา อาศัยไม่ได้ ถ้าเราไม่ฝึกตนสอนตน เมื่อเรามีสติจะได้เห็นความเท็จความจริงที่มันเกิดกับกายกับใจเรานี้ เราจะใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ขอบคุณที่มันหลงจะได้ไม่หลง ขอบคุณที่มันโกรธจะได้ไม่โกรธ มันทุกข์จะได้ไม่ทุกข์ มันมีปัญหาจะได้เป็นปัญญา มันต่อยอดจากเหตุร้าย มาเป็นเหตุดี ผลดี แต่ว่าจะมีเหตุมีผลต้องมีการกระทำ ถ้ามันหลงไม่รู้ ก็ฟรีไปแล้ว พลาด เราจึงมามีงานทำแบบนี้เรียกว่า กรรม เป็นชีวิตที่มาต่อเอาชีวิตอันประเสริฐ ชีวิตพรหมจรรย์
พรหมจรรย์เกิดจาก เปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เปลี่ยนความผิดเป็นความถูก เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ นี่คือชีวิตพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ ไม่เปรอะเปื้อน ถ้าสุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ เปรอะเปื้อน มันน่าจะขยันเป็นกอบเป็นกำขึ้นมาจริง ๆ ไม่ฟรี ไม่เป็นหมัน ถ้าเราใช้เป็นไม่เป็นหมัน ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นหมัน เสียชาติไปเปล่า ๆ มาให้เราศึกษา กายใจนี้มันเกิดให้เราศึกษา เป็นตำราเล่มใหญ่ พอมีสติเข้าไปดูจะเป็นอุทยานแห่งการศึกษา เลือกดูได้ ในกายก็เลือกดูได้ กายทุจริตมีความไม่ดี ในกายก็มีกายเลือกได้ กายสุจริตมีความดีอยู่ที่นั่น เอามาเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น และสรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะมันมีเหมือนกับเครื่องมือของเรา เอามาทำความดี เอามาละความชั่ว เอามาทำให้เกิดประโยชน์ได้ ถ้าเราไม่ดูมันก็เป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเองและคนอื่น นี่ชีวิตเราได้แบบนี้ เรียกว่ามีชีวิต
ถ้าเราไม่ศึกษาก็ไปทางต่ำ ธรรมไปทางสูง ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเป็นนิจ ธรรมย่อมรักษาไม่ให้ผู้ประพฤติธรรมตกไปในที่ชั่ว อธรรมย่อมนำไปสู่นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน อธรรมมีอยู่ในชีวิตเหล่านี้ มันเกิดดับ มันเกิดดับ หลายภพหลายชาติ สังคันทะชะเกิดในครรภ์ สังเสทชะเกิดในเถ้าไคร ชลาพุชะเกิดในน้ำเมือก อ้าผิดแล้วนะ [ที่ถูกคือ 1. อัณฑะชะ สัตว์ที่เกิดในไข่ 2. ชลาพุชะ สัตว์ที่เกิดในมดลูก 3. สังเสชะ สัตว์ที่เกิดในเถ้าไคร (ของสกปรก) 4. โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดขึ้นโตทันที] ไม่รู้ ภาษาบาลี(หัวเราะ) ฉะนั้นการเกิดเหล่านี้ โอปปาติกะเกิดผุดขึ้น มันเกิดที่ไหน มันเกิดที่กายที่ใจเรานี้ในภพในชาติต่าง ๆ โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นมาแบบไหนก็ได้ เกิดแบบนี้ไม่ได้เลี้ยงไม่ได้ดู ไม่มีซากศพ ไม่มีซากศพ แต่มันเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เป็นภพเป็นชาติ เราก็รับใช้ภพชาติ เสวยมีกรรมมีวิบาก มีกิเลสอยู่ในภพชาตินี้ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ คนโกรธก็ไม่รู้จักอิ่ม โกรธจนตาย คนหลงก็ไม่รู้จักอิ่ม คนทุกข์ก็ไม่รู้จักอิ่ม ไม่เห็นภัย ถ้าไม่มีสติมันก็จะหลงมากตรงเนี้ย มืดมน
ถ้าเกิดแบบหนึ่งหนึ่ง สมมติเทพ เกิดเป็นเทพขึ้นมา อุปปัตติเทพเกิดเป็นเทพขึ้นมา บริสุทธิเทพเกิดเป็นเทพขึ้นมา มันเกิดแบบนี้ก็มี เทพหมายถึงความดี เป็นเทวธรรม เทวดา ที่เป็นเทพมันสะดวก มันสงบ มันเป็นความสุข บริสุทธิเทพนี้ เกิดจากเอากายเอาใจนี้มาต่อยอดไปเป็นบริสุทธิเทพ เป็นเทพได้ ไม่เปรอะไม่เปื้อนในความสุขในความทุกข์ ถ้าสมมติเทพมันก็มีในโลกนี้ เช่น ถ้าเป็นสมมติก็เช่น เจ้าฟ้า มหากษัตริย์ นี่เป็นสมมติเทพ เป็นเทพโดยสมมติบัญญัติขึ้นมา อุปปัตติเทพเกิดขึ้นในหัวใจของทุกคนได้ ทุกคนอยู่ในเพศใดภาวะใด เกิดเป็นอุปปัตติเทพได้เป็นครั้งเป็นคราว เป็นความผาสุกเป็นความเบิกบานเจริญใจเจริญธรรมได้ ตามธรรมที่พอเพียงให้เกิดเทพขึ้นมา มีหิริมีความละอายต่อความชั่วกลัวต่อความบาป ถ้าบริสุทธิเทพหมายถึงพระอรหันต์ที่ปฏิบัติธรรมขึ้นมา บริสุทธิเทพเนี่ย พระอรหันต์เป็นเทพถาวร ไม่มีสมมติ ไม่มีบัญญัติ ไม่ใช่เกิดเป็นครั้งเป็นคราว เป็นเทพแบบหนึ่ง พระพุทธเจ้าเคยบอกว่าเทพ เราก็เป็นเทพเหมือนกัน
สมัยก่อนคนอ้างตระกูลอ้างอะไรกันไป เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นเทพ เราเป็นพรหม มาจากพระศิวะ มาจากอะไรต่าง ๆ สมัยก่อนคนโบราณเขาถือผี เอาผีอ้างกัน ใครผีของใครใหญ่ ถ้าผีไม่ใหญ่ สู้ผีอื่นไม่ได้ ผีอื่นมารบกวน ผีตาปู่ ผีตาย่า ผีตายาย ผีมเหศักดิ์หลักเมือง ยิ่งใหญ่ เขาเลี้ยงด้วยหัวหมู อันนั้นก็อ้างกันเป็นผีของใคร เวลาวันปีใหม่ของเขาวันตรุษสงกรานต์เขาจะเอาผีมาอ้างกัน ลงข่วง ลงเล่น ฟ้อนรำ ถามกันมาจากไหน เวลามาสิงห์ผีสิงเข้ามา เคยเห็นไหมแม่ชีน้อย หือ เคยเห็นไหม (หัวเราะ)เขารำกันนะ มาจากไหน มาจากไหน มาจากโน่น มาจากนี่ มาแล้วมาฟ้อนเกี้ยวกัน บางทีเอาเหล้าให้กันกิน ฟ้อนเกี้ยวกัน เคารพกันรักกัน ผีรักกัน ก็มีนะ ผีรักกันก็มีเหมือนกัน เสียผู้เสียคนไปเลย เพราะผี อันนั้นก็เป็นอันหนึ่ง
ที่นี้พระพุทธเจ้า มีคนเขาอวดว่าเราเป็นพรหม เราเป็นเทพ พระพุทธเจ้าก็ว่า เราก็เป็นเทพเหมือนกัน เทพของคุณมาจากไหน มาจากศิวลึงค์ มาจากอะไรต่าง ๆ ตามตำรานะ ไปอ่านดูเอา พระพุทธเจ้าว่าเราก็เป็นเทพเหมือนกัน เทพของเราคือบริสุทธิเทพ ไม่เปรอะเปื้อนกับเรื่องใด พวกคุณเป็นเทพ ยังมีกิเลสตัณหาราคะโทสะโมหะ เทพโดยสมมติบัญญัติ ยกกันขึ้นมา ที่จริงภายในชีวิตมันไม่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็เรียกว่าพระองค์เป็นเทพ บริสุทธิเทพ สูงสุดกว่าเทพทั้งหลาย เขาก็ยอมรับด้วยคุณธรรม คืออะไร เป็นเทพด้วยวิธีใด ไม่เปรอะเปื้อนกับสิ่งใด พวกเทพเหล่านั้น สมมติเทพและอุปัตติเทพยังมีความเปรอะเปื้อน เกิดจากอะไร เกิดจากพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เกิดตรงไหน มันหลงเห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง มันทุกข์เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ มันโกรธเห็นมันโกรธไม่เป็นผู้โกรธ มันอะไรก็ตามไม่เป็น เรียกว่าบริสุทธิเทพ มีอยู่ในหัวใจ เอากายเอาใจนี้มาต่อยอด มันมี ทำให้เราบริสุทธิ์ มีสิ่งสกปรกทำให้เราสะอาด มีสิ่งที่ผิดทำให้เราเป็นสิ่งที่ถูก ใช้ได้ประโยชน์ ไม่เป็นหมัน พรหมจรรย์นี้ไม่เป็นหมัน เอาความบริสุทธิ์อยู่ในความสกปรก สกปรกที่ไหนบริสุทธิ์อยู่ที่นั่น เรื่องกายเรื่องใจเนี่ย ที่สุดจนบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เหนือการเกิดแก่เจ็บตายไปเลย นี่คือธรรม ไม่น่าจะยาก
ภาวะที่รู้ไม่น่าจะยาก ไม่ต้องคร่ำเครียด ไม่ต้องมาจ้ำจี้อะไรมากมาย เบา ๆ ของมันเบา ไปโหมเสียให้แรง มันก็เสียแรงไปเปล่า เหมือนของเรา แต่มันเป็นรูปใหญ่ก็นึกว่ามันจะหนัก ก็ไปโหมแรง มันก็ไม่สมกับการโหมกำลังลงไป เหมือนเส้นผมบังภูเขา สมัยหนึ่งหลวงพ่อเทียนร่วมกับหลวงตาเนี่ยไปรื้อบ้าน โยมบ้านนาอ้อเขาให้บ้านหลังหนึ่งมาปลูกกุฏิ แต่เป็นโรงครัวของเขา เขาก็มีลูกคนเดียว ลูกคนเดียวเขาตาย เขาเป็นครู เขาเรียกว่าพ่อครูเกด ถูกกันดี เขาให้บ้านเป็นโรงครัวของเขา แต่ว่าต้องไปรื้อเอา เราก็พาพระไปรื้อเอา ก็เอาล้อน้ำเข็นมา เอาเข็นมาปลูก หลวงพ่อเทียนก็ไปดู หลวงพ่อไปแบกเสาต้นหนึ่งใหญ่ หลวงพ่อเทียนร้องกลัวเอวจะหัก “มันไม่หนัก (หลวงพ่อคำเขียนตอบ)” “มันไม่หนักมากอะไร เสาขนาดนี้เหรอ(หลวงพ่อเทียนถาม)” (หัวเราะ) หลวงพ่อเทียนก็ไม่เชื่อ “ไม่หนักจริง ๆ หลวงพ่อ มันเบา” เอาวางลง หลวงพ่อเทียนว่า “มันเบายังไง มันหนัก ใหญ่ขนาดนี้” หลวงพ่อเทียนว่า “โอ้ เป็นไปได้ยังไง” เป็นไม้อะไร เป็นไม้ซ้อๆ เคยรู้จักไม้ซ้อไหม แถวเมืองเลยหรือภาคเหนือมีไม้ซ้อ มันใหญ่แต่ว่ามันไม่หนัก มันก็มีคุณภาพเป็นบ้านโรงครัวเก่าเกือบจะเป็นร้อยปี ของคนเฒ่าคนแก่ยังฝังดินยังไม่มีรอยขาดเลย แล้วก็แปลกที่วัดเราก็เอามาปลูกไม้ซ้อนี้ แต่ไม่งาม นั่นของเบาไปโหมเสียหนัก เปลี่ยนหลงเป็นรู้ไม่ใช่อดหลับอดนอน เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ไม่ต้องนั่งหลังขดหลังงอ ง่าย ๆ (กระแอม) ปฏิบัติได้ (กระแอม)ไม่ใช่ทำไม่ได้ ไม่ไหว ไม่ไหว การทำความหลงเป็นความรู้ ไม่ต้องพูดคำนั้นเลย เป็นของสะดวกที่สุด มาเท่าไหร่เปลี่ยนได้ นี่คือธรรม
น่าจะกระตือรือร้นไม่ควรที่จะปล่อยทิ้งไปเปล่า ๆ ขณะที่มันหลง อันหลงมันยากกว่า หนัก เป็นภาระ อันรู้นี้มันหมดภาระลง มันแล้วไป มันแล้วไปแล้ว ความทุกข์ก็แล้วไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ความโกรธก็ผ่านไปแล้ว ไม่มีภาระอีก เหมือนกับเราอาบน้ำแปรงฟันซักผ้า สวมใส่ สัมผัสความสะอาดความบริสุทธิ์ มันก็ต่างกันกับความสกปรก มันผิดกันอยู่ สัมผัสให้แนบแน่นดี ๆ ความหลงความไม่หลง ความทุกข์ความไม่ทุกข์เนี่ย มันประเสริฐจริง ๆ พระพุทธเจ้าจึงเคารพพระธรรม ได้เป็นมานานแล้ว และจะเป็นไปต่อข้างหน้า และเดี๋ยวนี้ เวลานี้เราเคารพพระธรรมอยู่เสมอ จะให้หลงได้อย่างไร ความไม่หลงมันมี จะให้ทุกข์ได้อย่างไร ความไม่ทุกข์มันมี เปลี่ยนไป จากหลักจากตอ นี้ก็สะดวกไป ไม่ยาก เรียกว่าไขกุญแจแก้โซ่ โดยเฉพาะการมีสตินี้ก็ตรงกันข้ามกับความหลง เจอกันทันทีละ ไม่ใช่งม ๆ ซาว ๆ หา
เรากำหนดกายเคลื่อนไหว อะไรที่ทำให้หลงเรื่องกายมีมากมายทั้งสุขทั้งทุกข์ เอามาเป็นความยากความง่าย เอามาเป็นความพอใจไม่พอใจ มันเกิดจากความหลง ถ้ามีหลงก็เป็นไปได้ เป็นยากเสียแล้ว เป็นผิดเสียแล้ว เป็นถูกเสียแล้ว เป็นได้ เป็นไม่ได้ ถ้าเรามีความรู้มันก็ไม่มียาก ไม่มีง่าย ไม่มีผิด ไม่มีถูก มีแต่เห็น เนี่ย มันจะยากอย่างไร ถ้ามันผิดก็เห็น ผิดไม่มีรสชาติ ถ้าผิดเป็นผิด มีรสชาติ ก็ยาก ไปแก้ซะ แก้ให้มันถูก ถ้าไม่อยากให้มันผิด ไปต่อไปอีกเป็นดับเบิ้ลผิดเข้าไปอีก เป็นซ้อนเข้าไป มันผิดเห็นมันผิด มันถูกเห็นมันถูก ภาวะที่เห็นนี้มันเหนือ ไปเหนือ ๆ เหนือรสของโลก ดูดี ๆ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้จะนั่งอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา เวลาทำความเพียร ไม่คร่ำเครียด ไม่ระวัง เปิดตัวออกอย่างองอาจ เขาจะดูเนี่ยมันอะไรจะเกิดขึ้นมา เหมือนคนมีความรู้ดูงานตรวจงาน มันก็มีเกณฑ์ชี้วัด อันผิดอันถูก ทำอย่างนี้มันได้ไหมเนี่ย การทำให้ง่ายกว่านี้มีไหม มันก็มี ก็ได้บทเรียนไปเรื่อย ๆ เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดไปเรื่อย ๆ
นี่ การปฏิบัติธรรมมันสัมผัสกับรสพระธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง สัพพะระสัง ธัมมะระโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวงเพราะเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมสัมผัสกับรสพระธรรม พระธรรม รสพระธรรมเป็นอย่างไร มันหลงไม่หลงเนี่ย ความหลงไม่ใช่รสพระธรรม เป็นรสของโลก ความไม่หลงรู้ขึ้นมาเนี่ย ภาวะเช่นนี้ต้องยากหรือ ต้องไม่หลับไม่นอนกันหรือ ต้องไม่กินข้าวกินน้ำกันหรือ ต้องกินเจหรือ ต้องไม่สวมรองเท้าหรือ ต้องป่วยกายหรือ ต้องเห็นอะไรที่มันพะรุงพะรังมากมายหรือ ไม่ใช่แบบนั้น อยู่ในท่าไหนก็ได้ เช่น พระอรหันต์สมัยก่อนเห็นโสเภณีร้องไห้ก็ยังบรรลุธรรม ปลงผมเห็นผมตกลงก็บรรลุธรรมก็มี เพราะมันสะดวก เห็นผมเป็นสีขาว ๆ ตกลง เห็นใบไม้ร่วงตกลงมา ก็ยังได้บรรลุธรรมได้ เพราะอะไร เพราะอุคฆฏิตัญญู มันพร้อม มันไม่หนา
แต่ไม่เป็นไรชีวิตของเรามันใช้ผิดพลาด สกปรกมา มีรอยมา ก็ซ่อมยากหน่อยเพราะอาจจะมี เช่นรถมือสองถูกชนมามาก เหมือนรถจิ๊บไปซ่อม นายช่างก็ว่าหนักมาก มันหนักมากทั้งเครื่องทั้งตัวถังข้างนอกว่าจะให้เสร็จภายในเดือนเดียวก็ไม่เสร็จเลยเพราะว่ามันหนักมาก นี่ก็คือการใช้ไม่ระมัดระวัง เมื่อใช้ไม่ระมัดระวังก็เสียหาย ชีวิตของเราก็เช่นกัน ใช้สุรุ่ยสุร่ายมามาก อะไร ๆ ออกหน้าออกตา เป็นอคติ เป็นจริต โทสจริตเคยใช้ไหม โมหจริตเคยใช้ไหม ราคะจริตเคยใช้ไหม เท่าไร พุทธิจริตเคยใช้ไหม ไม่เคยใช้เลย พุทธิจริตรู้ตื่นเบิกบานไม่เคยใช้ มาใช้โทสจริตปิดครอบเอาไว้ โมหจริตปิดเอาไว้ ราคจริตปิดเอาไว้ อ้าว ทำไมมันเงียบไปเนี่ย (หัวเราะ) มันไม่สะดวกนะชีวิต รูปธรรมนี่ไม่ค่อยสะดวก ของที่ปิดไม่เปิด ของที่คว่ำไม่หงายมันก็ไม่เห็น
ดังนั้น การเจริญสติมันเหมือนของที่เปิดออก มันจึงจะเห็น เปิดได้ทุกอย่าง หลง เปิดออกมาไม่หลงก็มี โกรธ เปิดออกมาไม่โกรธก็มีอยู่ ทุกข์ เปิดออกมาไม่ทุกข์ก็มีอยู่ โกรธ เปิดออกมาไม่โกรธก็มีอยู่ ทุกข์ เปิดออกมาไม่ทุกข์ก็มีอยู่ สุข เปิดออกมาไม่สุขก็มีอยู่ เปิดไป เปิดไป เปิดไปให้มันหงายออกมา ให้ดูสิว่ามันคืออะไร เลือกได้ ชีวิตของเรามันเลือกได้ เลือกได้เรียกว่าวาสนาบารมีพร้อม ถ้าไม่รู้จักเลือก ไม่มีวาสนาไม่มีบารมีเพราะไม่รู้ ทุกข์ก็ไม่มี วาสนา ก็เลยจนอยู่ในสภาพเช่นนั้น ผู้ที่มีความพยายามเลือกเป็นก็จะมีวาสนา เป็นคนมักง่าย ไม่ค่อยรู้จักเลือกสุรุ่ยสุร่ายไม่มีปัญญา เช่นไปซื้อของ บักเขียบ(น้อยหน่า)กองเป็นภูเขาข้างทางแถวปากช่อง เอาลูกสวย ๆ ตั้งเป็นหน้าผาไว้ แต่ลูกไม่สวยเอาตั้งไว้ข้างหลัง เขาเขียนครึ่งกิโล 10 บาท แต่ครึ่งน่ะ เขาเขียนตัวเล็ก ๆ นะ ครึ่ง กก. 10 บาท กก.ตัวใหญ่นะ กก.ละ 10 บาท โอ้! ถูกเหลือเกินนะ เราไม่ได้อ่านตัวครึ่งนั่นไปคิดว่าตัวเองจะได้กิโลละ 10 บาท ที่ไหนได้ครึ่งกิโล ไปยืนจกกระเป๋า แล้วก็เลือกเอาลูกข้างหลังนะใส่ถุงให้ ข้างหน้าก็ไม่เอาให้ อันลูกงาม ๆ ข้างหน้าเขาไม่เอาให้ เขาไปควักเอาข้างหลัง เงาะก็เหมือนกัน ส้มก็เหมือนกัน เอาสักผลไม่มีเลยดำปี๋ เสร็จ ซื้อมาบ้านเรา (หัวเราะ) ไม่รู้จักเลือก ทำอย่างไร ไม่มีสิทธิหรือ ควรจะใช้สิทธิแบบนั้น เราไปซื้อเราจะเลือกเอาเนี่ย เลือกเอา ใส่ถุงไปชั่งเอา บางทีมันก็ยังแย่งเอาไปใส่ให้อีกนะ แม่ค้าถ้าไม่ทำอย่างนั้นเขาก็ไม่มีกำไร ความหลงก็มีอาชีพ มีรสชาตินะ เขาไม่อยากหนีไปไหนหรอก เรียกว่ามาร สังขารมาร พยายามให้มันมี ให้มันติดรส ให้มันหลง นะเพียรสักหน่อย
เช่น สินไซตามเอาสุมณฑาคืนมา ถูกยักษ์ลักเอาไป ตามถึงสุมณฑาแล้ว เห็นอยู่ในถ้ำ สินไซบังคับให้กลับบ้าน สุมณฑายังรอ “ให้พี่ยักษ์มาก่อน พี่ยักษ์ไปหากินยังไม่กลับ” สินไซก็บอกว่า “ไม่ได้ รอไม่ได้ ไปเดี๋ยวนี้ ไม่ไปเดี๋ยวฟันคอขาดนะ” สุมณฑาก็ยอมไป ไปได้ไม่กี่เส้นกี่วา คืน“ลืมเอาอันนั้น คืนไปเอาซะหน่อยก่อน” สินไซต้องพาคืนมา เก็บโน่นเก็บนี่ “ไป ไป” เหมือนสุมณฑาจะห่วงยักษ์กุมภัณฑ์อยู่ “พี่ยักษ์เขาอยู่ รอให้พี่ยักษ์กลับมา ยังไม่ได้สั่งอะไร” สินไซบอกว่า “ไม่ได้ ไป” บังคับไป ยังลืมกลับมาอีกสองเที่ยวสามเที่ยว จนชี้ขาด สินไซจะฟันคอขาดจริง ๆ ไป เอาคอไปหิ้วไป เอาหิ้วหัวไป นี่คือสุมณฑา “จะไปหรือไม่ไป” จึงไป เนี่ย
ความหลงก็มีความอาลัยในความหลง อาลัย ความสุขความทุกข์อาลัย กิเลสตัณหาก็อาลัย มันเหนียว เด็ดขาดสักหน่อยสิ เลือกทวนกระแสสักหน่อย แม้มามันรู้ก็รู้ไปก่อน มีวัตถุอุปกรณ์กรรมฐานช่วยยกมือ เอากระดิ่งสั่นดึ่ก ๆ ๆ ถังสีแต๊ก ๆ ๆ เคยทำแบบนั้นเหมือนกัน ถ้ามันขนาดนั้นนะ ลุกก็ไม่ใช่ลุกธรรมดา ดีดดึ๋งขึ้นมาเลยนะ มันอย่างนั้นเลย บางทีก็แรงกับมัน เรียกว่าขูดเกลา ขูดเกลาคืออะไร ธุดงค์ ถ้ามันดื้อด้านเอาธุดงค์มาขูดเกลา ช่วยได้ ถ้ามันไม่ดื้อก็ไม่ต้องทำขนาดนั้น มันจะเข็ดหลาบได้ เหมือนฝึกวัวเทียมเกวียน ฝึกม้าวิ่งเก็บลูกเล็กลูกใหญ่ ถ้ามันเก็บดีอยู่ก็ไม่ต้องไปขนาบมัน นั่งไป เฉย ๆ ถ้ามันผิดนิดหน่อยก็เอาต้นขาขนาบมันสักหน่อย กริยาที่เราบอกมัน มันรู้ เอาน่องสอนมันสักหน่อย บางทีเอาเข่าซ้ายบ้างเข่าขวาบ้าง ถ้ามันวิ่งซอกแซก ๆ เอาเข่าซ้ายดันมัน เข่าสอนมัน บางทีก็ใช้บังเหียน บางทีก็ใช้ไม้เรียว ก็มีนะม้าบางตัว พระพุทธเจ้ายังเคยเปรียบเทียบ ม้าบางตัว พอเอาเข่าเอากริยาพูด ไปได้ แต่ม้าบางตัวหยาบต้องยกไม้เรียวขึ้นจึงไป ม้าบางตัวยกไม้เรียวขึ้นยังไม่ไป ไม้เรียวถูกหลังจึงไป บางตัวไม้เรียวถูกหลังก็ยังไม่ไป ให้เลือดไหลออกเสียก่อน ปานนั้นก็มีนะม้าบางตัว สอนยาก (หัวเราะ) เป็นวัวดื้อสอนยาก ที่นี่ถ้าตัวไหนมันสอนง่ายก็ไม่ต้องปานนั้น ไม่ต้องไปเฆี่ยนมัน ไปเฆี่ยนมันมันก็ไม่เอา ไปอยู่ป่านนี้แล้วจะให้ไปยังไงอีก มันจะเอาอะไรอีก ทิ้งไปเลย เรียกว่าพยศไปเลยนะ ก็มีเหมือนกัน
เราก็รู้อยู่นี่หนาไปทำอะไร ยิ้มแย้มแจ่มใส หายใจเข้ารู้สึกตัว ให้ความรู้ไปอยู่กับอิริยาบถการใช้ชีวิตประจำวัน มันจะสนุกสนานการประพฤติธรรมเนี่ย ไม่ใช่ไปนั่งเคร่งขรึม เก็บอารมณ์ ไม่พูดไม่จา ไม่ดูไม่แล ไม่ใช่ ไปเถอะ ไป ลงสนาม ดู มันจะเป็นนักรบไหม นักรบมี 3 ประเภท พระพุทธเจ้าเคยเปรียบเทียบ นักบวชก็ถือว่าเป็นนักรบ ภิกษุทั้งหลายตายในสนาม ตายนอกสนาม ภิกษุบางรูปนักรบบางประเภท พอเห็นผงฝุ่นธุลีในสนามรบก็กลัวแล้ว ไม่สู้แล้ว กลับบ้าน ตายนอกสนาม นักรบบางคนได้ยินเสียงดาบเสียงลูกศรก็กลัวแล้ว กลับบ้าน นักรบบางประเภทเข้าสนามก่อน ลูกศรถูกนิดหน่อย สู้ บางทีลูกศรถูกนิดหน่อยไม่สู้ กลัวแล้วกลับบ้าน นักรบบางประเภทลูกศรถูกไม่กลัวจนตายในสนาม นี่ก็มีนักรบเหมือนกัน ภิกษุบางรูปพอได้ยินว่าสาวงามบ้านนั้นบ้านนี้หวั่นไหวเสียแล้ว ไม่เอาแล้ว กลับบ้าน ภิกษุบางรูปมีอย่างนั้น ภิกษุบางรูปพอเห็นสาวงาม เห็นเธอ ไม่ใช่ได้ยินนะ เห็นนะ ได้เห็นแล้ว รู้สึกว่าชอบน่าตาอะไรดี แพ้ก็มี นักรบบางประเภทเห็นสาวงาม ได้เกี้ยวพาราสี ได้ยิ้มแย้มแจ่มใส แพ้แล้ว เลิก ภิกษุบางรูป สู้ตายเป็นตาย จนเห็นสาวงามนุ่งน้อยห่มน้อย สู้ตะพึดตะพือ อันนี้ก็มีเหมือนกันภิกษุบางรูป ไปอ่านดูในพระสูตรเนี่ย สนุกสนานนะ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กเท่าไหร่ถ้าประเภทนี้นะ มันก็อยู่ที่เรานี่แหละ
ลองดูสิ มีอะไรสู้สักหน่อย ไม่ใช่ไม่สู้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ก็คือสู้ หัดไปให้มีพลังขึ้นมา ชนะความหลงด้วยมีความรู้สึกตัว เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนโกรธเป็นรู้ไป มันจะง่ายไป ง่ายไป ไม่ใช่ไปโหมเอาเลย เอาความรู้เป็นพื้นฐานก่อน รู้สึกตัวไปก่อน ทำเล่น ๆ ไปก่อน หัดตนสอนตนไปก่อน ถ้าไม่หัดมันก็ไม่เก่ง มันเก่งเพราะการหัด เหมือนช่างทำอะไร เหมือนอาจารย์ตุ้ม อาจารย์ทรงศิลป์เป็นสถาปัตย์ ไปหัด มันก็มาเป็น ดูกันพูดกันสองสามคำแล้ว ออกรูปแบบขึ้นมา ถ้าไม่หัดมัน ฟังเขาพูดมันก็ไม่รู้ เลื่อยเล่มเก่า มีดเล่มเก่า ขวานเล่มเก่า สิ่วเล่มเก่า กบอันเก่า เขาเคยใช้ มันก็มีฝีมือมันงามขึ้นมา เป็นตู้เป็นโต๊ะเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ถ้าเราไม่เคยใช้เพียงแต่เลื่อยก็ปาดไม่ถูก ไม่ตรง ไม่ได้ฉาก เข้าก็ไม่สนิท ก็ดูยากดูไม่เป็น ต้องหัดต้องให้เป็น ทำให้มันเป็น ไม่ใช่ทำให้มันรู้
กรรมฐานทำให้มันเป็นน่ะ ถ้ามันเป็นแล้วไม่ต้องเรียน กรรมฐานก็เช่นกันถ้ามันเป็นแล้วก็ใช้ไปเลย บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงไป เหนือการเกิดแก่เจ็บตายไปเลย ใช้ไปเลย ไม่ต้องไปหัด ยามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบ อย่างเนี้ย จึงไม่ควรประมาท ถ้าเราเป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน ไม่ต้องไปคิดเรื่องใด กังวลอะไร มาอยู่ที่นี่ มีอะไรก็ให้ ๆ เหมือนกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร ๆ อยู่กันฉันพี่ฉันน้อง มีอะไรก็ช่วยกันหาบช่วยกันดึง มีคนหนุ่ม มีคนสาวมี คนเฒ่าคนแก่ปานกลางก็ดูแลกันไป เจ็บไข้ได้ป่วยก็อย่าทอดอย่าทิ้งกัน กอดคอกันตาย
เคยกอดคอกันตายนะ หลวงพ่อเคยกอดคอหลวงพ่อจรัลตายจริง ๆ นะ ก็ว่าจะขอกอดคอหลวงพ่อจรัลตาย กอดคอหลวงพ่อจรัล พูดกันอ่ะนะ “อันที่มันเจ็บมันปวดมันเป็นอาการของรูปนะ หลวงพ่อจรัลไม่เจ็บไม่ปวดนะ หลวงพ่อจรัลรู้แล้วนะ” แล้วก็ รู้แล้ว (หลวงพ่อจรัลพยักหน้า รู้แล้ว) “รู้แล้วนะ” “อืม” “นี่คือรูปที่มันเป็นอาการ เราเห็นเป็นอาการไม่ใช่เป็นสุขเป็นทุกข์นะ” พระเณรพระนั่งเฝ้าดู ก็ร้องห่มร้องไห้กังวล “ไม่ใช่เสียงของหลวงพ่อจรัลนะ นี่ เป็นอาการของกายของรูป หลวงพ่อจรัลไม่อยู่ตรงนี้นะ” จูงหลวงพ่อจรัลไป กอดคอกันตายไป พอพูดไปพูดมา ก็อ้อแอ้ แล้วก็ตาเหลือกขึ้นมา หลวงพ่อก็เอามือไปลูบตาลง “ตั้งสติให้ดีนะ หลวงพ่อนะ” เงียบไป “นะ” ตาเหลือกขึ้นมาอีก หลวงพ่อก็เอามือลูบลง “ไป.. สุดเท่านี้หนอชีวิตนะ” พูดใส่หูกอดคอเนี่ยนะ(หัวเราะ) ผลที่สุดก็ “สิ้นสุดเท่านี้น่ะ ชีวิตเรานะ” ห้ามพระห้ามโยมร้องไห้เด็ดขาด หลวงพ่อจรัลสอนเราไม่ให้ร้องไห้นะ” อยู่นิ่ง ๆ แล้วก็ช่วยกัน อ้าว แล้วก็ปิดตาปิดปากเรียบร้อย แต่งหน้าแต่งตาประมาณ 5 นาที ถ้าคนใจขาดแล้วแต่งหน้า ลูบไปตรงไหนจะอยู่ตรงนั้น เคยขมวดหน้ามันนิ่วลบออก ลบออก ปิดตาลง ปิดปากให้ยิ้ม ๆ เสียหน่อย สัก 5 นาทีมันก็หยุดอยู่ แต่บางคนนี้ปล่อยกัน แต่บางคนให้อ้าปาก (หัวเราะ) ลูกมันไปไหนหมด หา พ่อแม่ ไปไหนหมด ทำไมจึงปล่อยกันให้ตายแบบนั้นอ่ะ มันทำได้ มันอยู่นะ แต่งหน้าเวลาคนใจขาดมันจะสวยนะ (หัวเราะ) เอ้า เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้