แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรม ตอนเช้าตอนเย็น มีผู้พูดมีผู้ฟัง
การฟังธรรมก็คือการฟังเรื่องของกายของใจเรานี่ ให้เราได้รู้จักตัวเองทุกแง่ทุกมุม ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ค้นพบ ชีวิตอันได้จากกายจากใจนี้ เห็นเท็จเห็นจริงอย่างไร เราจะได้ใช้มันให้ถูกต้องสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่รู้ก็เป็นทุกข์เป็นโทษต่อเรา จนเกิดปัญหา มีคุกมีตารางมีตำรวจทหารมีรัฐธรรมนูญ ถ้าเรารู้แล้วมันก็ต้องไม่มีอะไร คุกตารางก็ไม่ต้องมี เป็นมิตรภาพราบเรียบ มาตรฐานของชีวิต มันได้มาตรฐาน
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองในเรื่องนี้ สอนผู้อื่นให้รู้ตาม พระธรรมมีอยู่จริง ที่ทำให้เกิดพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง ในชีวิตเรานี้ปฏิบัติได้ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติตามธรรมย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นตามสมควรแก่ผู้ปฎิบัติ นี่คือพระธรรม มีอยู่ในกายในใจเรานี้ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าได้ อย่างต่ำลงมาก็เป็นพระอริยบุคคลเช่นหนึ่งเช่นใดตามฐานะของผู้ปฏิบัติ ต่ำที่สุดคือเป็นพระโสดาบัน ตามฐานะ เหมือนกับเราทำมาหากิน ถ้ามีความสามารถก็สร้างฐานะได้ดี ถ้าไม่มีความสามารถก็ยากจน
พระสงฆ์คือพวกเราเนี่ย หมู่ชน หมู่ชนทั้งหมดหรือว่าคนทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายคือหมู่ชนผู้เชื่อฟังคำสอนแล้วพากันปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยอันเป็นคำสอนเป็นสัจธรรม ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย ก็เกิดความรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมนั้น แล้วก็ไปสอนคนอื่นให้รู้ตาม ชื่อว่าพระสงฆ์ มีอยู่ในชีวิตเรานี้ พระสงฆ์ พระธรรม พระพุทธเจ้ามีอยู่ในกายในใจเรานี้ ไม่ใช่อยู่ที่อื่น
การศึกษาเรื่องนี้มักมีสูตร เป็นสูตร อย่างที่เราสาธยายสูตร ในหนทางวิธีศึกษามีอยู่แปดลักษณะ เรียกว่ามรรคมีองค์แปด เป็นทางดำเนินให้ถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำเร็จทั้งแปดอย่างนี้รวมกันเป็นหนทาง อยู่ในกายในใจเรานี้ มีสัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ มาดูที่ไหน ไปท่องหนังสือไปท่องตำราหรือ ไม่ใช่ จะเป็นสัมมาทิฐิ สัมมาสมาธิ จนถึงอันสุดท้าย มันก็คืออยู่ในชีวิตเรา เช่น เรามีสติมันก็ละความชั่ว ทำความดี จิตบริสุทธิ์ เสร็จไปเลย ไปเป็นพวงเลย เรามีสติมันก็ป้องกัน แก้ไข แก้ไขสิ่งที่ทำมา ป้องกันสิ่งที่ยังไม่เกิด อันความชั่วในปัจจุบันมันก็มั่นคง (มีเสียงไหม ทำไมมันหมดไป หมดไป)
เนี่ย มันปฏิบัติได้ให้ผลได้ ถ้ามีสติ มันก็ละความชั่วแล้ว มีสติ มันก็ทำความดี มีสติ จิตมันก็บริสุทธิ์ การละความชั่ว การทำความดี การทำจิตให้บริสุทธิ์คืออะไร ก็คือศีล เป็นการรักษาศีล ทำความดีเป็นสมาธิ จิตบริสุทธิ์เป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา มันคืออะไร มันคือเป็นองค์มรรค มันเป็นทาง ดังที่เราสาธยาย สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา เป็นศีล นั่นแหละมันก็ชอบอยู่แล้ว ไม่ต้องไปท่อง การเลี้ยงชีวิตชอบ การพูดจาชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ การงานชอบ เป็นสมาธิอยู่แล้ว ความพากเพียรชอบเป็นสติ เป็นศีล เป็นสมาธิ การพากเพียรชอบ การมีสติ การมีสมาธินั่นมันคือปัญญาแล้ว เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปในตัวแล้ว มันก็ละอกุศลที่ยังไม่เกิด มันก็ละอกุศลป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น กุศลที่เกิดขึ้นมันก็ละแล้วความมีสติเนี่ย
มีสติมันก็สร้างกุศลที่เกิดขึ้น มีสติแล้วก็สร้างกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น มีสติ กุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น เป็นความเพียรชอบแล้ว แต่ก่อนไม่ค่อยมีสติ มักจะหลง ทำใหม่ๆ ง่ายที่จะหลง ทำไปทำมาง่ายที่จะรู้ว่ามันมากขึ้น ในที่สุดมีแต่ภาวะที่รู้ เวลาที่หลงก็หมดไป มันก็มันก็เป็นธรรมชาติแบบนั้น จึงละความชั่ว ทำความดีไปในตัวเสร็จ
วิชากรรมฐานนี่เป็นวิชาที่ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์สำเร็จประโยชน์ ไม่มีอะไรที่จะสำเร็จประโยชน์เท่ากับวิชากรรมฐาน แล้วก็เป็นปัจจัตตัง สัมผัสได้ ไม่ต้องรอ เรายกมือพลิกมือก็รู้ได้ทันที น่าจะขยัน ภาวะที่รู้เป็นอย่างไร ใช้ได้ไหม ภาวะที่หลงเป็นอย่างไร ใช้ได้ไหม นี่มันก็เป็นปัจจัตตังของผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติต้องทำเอาเอง เราก็มีกาย มีใจ ทำได้ เอากายมาทำดี เอาใจมาทำดี รวมกันเข้า มันก็ทำได้สำเร็จ ถ้าเป็นทรัพย์ก็เก็บเอา เก็บเอา มีทั้งเก็บมีทั้งรักษาไปในตัวเสร็จ มีสติก็ป้องกันแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาในความไม่ดี มีสติก็ป้องกันสิ่งที่ไม่ดีที่ผ่านมา ทั้งแก้ไข ทั้งป้องกัน มีสติมันก็มั่นคง มันก็เป็นทั้งอดีต เป็นทั้งอนาคต เป็นทั้งปัจจุบัน
นี่คือของจริง เราก็จะเห็นในสิ่งที่มันเท็จมันจริง เห็นมันหลง มันไม่ใช่ไม่ถูกต้อง เห็นไม่หลงในคราวเดียวกัน มันมีคราวเดียวกัน มันมีสองลักษณะ มันเป็นคู่ เรียกว่า ยมก ว่าอะไรภาษาบาลีนะ ภาษาไทยเราว่าคู่ มันก็เห็นอย่างนี้ เช่น เห็นเกิดต้องมีไม่เกิด เห็นแก่ต้องมีไม่แก่ เห็นเจ็บต้องมีไม่เจ็บ เห็นตายต้องมีไม่ตาย เห็นความหลงต้องมีไม่หลง เห็นความโกรธต้องมีไม่โกรธ เห็นความทุกข์ต้องมีไม่ทุกข์ เห็นอะไรมันมีคู่แบบเนี้ย จะเลือกได้แท้ๆ อย่างนี้ เลือกเป็นอย่างนี้เรียกว่าวาสนา มีวาสนาไหม
ชีวิตเราน่ะ มัวแต่ยกมือไหว้ไม่รู้จักเลือก มันหลง เลือกไม่หลงน่ะ วาสนาทำลงไป ไม่ใช่อ้อนวอน เป็นการกระทำจริงๆ หัดอย่างนี้ก็พร้อม บารมีที่เกิดขึ้นก็พร้อม วาสนาบารมีพร้อมเพราะหัด เหมือนเรามีวิชาความรู้ มีความรู้มันเรียนมามันก็พร้อมที่จะใช้ ท่านทั้งหลายมีปัญญาเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียนมา ทำงานได้สำเร็จ มีบุญมีวาสนา บารมี หัดมาแล้ว มันก็ทำเป็นสิ่งที่เราหัดมา หัดชีวิตมาด้วยมือ ด้วยกาย ด้วยใจ ของเรานี่ มันทำไมจะไม่เป็น หัดให้มันเป็น เวลามันหลง-ไม่หลง ทำให้เป็น
ถ้ามันหลงเป็นหลงเรียกว่าทำไม่เป็น มันทุกข์เป็นทุกข์ทำไม่เป็น มันทุกข์ต้องไม่ทุกข์ ทำเป็น มันโกรธต้องไม่โกรธ ทำเป็น มันคืออะไร ปล่อยทิ้งเป็นการบ้าน เป็นการด้านไปน่ะ มันไม่ใช่ ไม่ได้ใช้ชีวิต หัดจนมันได้ชีวิต ไม่เป็นอะไร เพราะมันเห็นมาแล้ว มันก็ไม่เป็นอะไร ชีวิตจริงๆ นั้นไม่เป็นอะไร ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ เห็นไหมเราสวดสาธยายพระสูตร สัมมาสมาธิ สุดท้ายจะถึงมรรคถึงผลคืออะไร เพราะละสุขละทุกข์ มีแต่สติแล้วแลอยู่ ทำเป็นไหม เป็นฌานองค์ที่ 4 ฌานองค์ที่ 4 ที่จะเข้าถึงผลนิพพาน พระพุทธเจ้านิพพานที่นี่ ไม่ใช่นิพพานที่กุสินารา สวนมัลลกษัตริย์ ระหว่างต้นรังทั้งคู่ ไม่ใช่ อันนั้นเป็นรูปธรรม นามธรรมจริงๆ มันคือนี่ เราก็หัดเปลี่ยนไป
มันมีอะไรบ้าง มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม เราก็เห็นอยู่ด้วยการสัมผัส เวลาเราฝึกกรรมฐานนี่กายมันแสดงอะไรบ้าง มันออกมายังไงบ้าง เป็นตัวเป็นตนในกายมีไหม หรือว่าเห็นเฉยๆ มันร้อนเป็นผู้ร้อน มันปวดเป็นผู้ปวด มันสุขเป็นผู้สุข มันทุกข์เป็นผู้ทุกข์ มันไม่เห็น มันยังเป็นอยู่ ถ้าเห็น มันไม่เป็น ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ เห็นงูยังให้งูกัด ก็ไม่ใช่ เห็น ถ้าเห็นแล้วก็ดี มักจะปลอดภัย เห็นแล้วออกไป ไป มันก็พ้น
ลักษณะของอริยสัจ 4 ใช่ไหม เห็น ไม่เป็น เห็น เห็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์พ้นจากทุกข์ นี่อริยสัจ 4 เห็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ พ้นจากทุกข์ มันเห็นแล้วมันไป ถ้าเห็นด้วยสติไม่ใช่เห็นเหมือนตา เห็นความโกรธพ้นจากความโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธพ้นจากความโกรธ เห็นกายไม่เอากายมาเป็นตัวเป็นตน มาเป็นสุขมาเป็นทุกข์ เห็น มันต้องเป็น มันต้องมี แสงแดดมันต้องร้อน ละอองฝนมันต้องหนาว กายนี้ เห็นมันร้อน เห็นมันหนาว ไม่เป็นผู้ร้อน ไม่เป็นผู้หนาว เราใหญ่กว่า ถ้าเป็นผู้ร้อนเป็นผู้หนาว เราด้อยที่สุดกว่ากาย ให้กายบังคับไม่ใช่ ไม่ใช่ได้ชีวิต ชีวิตไม่ใช่ได้จากลักษณะนั้น ชีวิตได้จากการเห็นผ่านได้ เห็นแล้วไม่เป็น เห็นกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี่พระพุทธเจ้าเฉลยไว้ให้แล้ว สะดวกแล้ว
แม้นว่าเรายังไม่ลงตัวก็ให้ให้เห็นกระแสไว้ ผู้ฝึกสติมักจะเห็นกระแส เห็นเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์นั่นน่ะ มันเกิดจากกายจากใจนี่ ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่ไปยอมมัน มันต้องมีแน่นอน มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีเจ็บเป็นเจ็บ มีตายเป็นตาย ไม่ใช่เห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ ก็จากความเจ็บอันหนึ่ง เห็น เราก็เลยยิ่งใหญ่ มีชีวิต ถ้ามีการเกิดแก่เจ็บตายไม่มีชีวิต ชีวิตเพื่อไปรับใช้ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนั้นเรียกว่าไม่ใช่ชีวิต เราจึงมาหัดเนี่ย มันต้องมีแน่นอนที่เป็นคู่แบบนี้ พระสิทธัตถะเห็นเรื่องนี้ เป็นการบ้านดังที่พูดให้ฟังเมื่อวานนี้
เมื่อวานหลวงตาก็ไปดู เจ้าคณะอำเภอแก่งคร้อมรณภาพ ไม่ค่อยเป็นอะไร ไปสอบถามดูแล้ว เพียงเป็นสองวันเท่านั้นเอง ก็มรณภาพไปแล้ว ยังไม่ได้รักษาอะไรเลย นี่มันพร้อมแบบนั้นชีวิตน่ะ อันมีกายมีใจ มันพร้อมแบบนั้น หายใจไม่เข้ามันก็ตาย หายใจเข้าแล้วไม่ออก มันก็ตายเท่านั้น เราต่างเคยตายลักษณะแบบนั้นมา ชีวิตมันเหมือนกับน้ำค้างบนยอดหญ้า นิดหน่อยเราจะประมาทได้อย่างไร เตรียมตัวนะ เตรียมตัวฝึกหัดเอาไว้ ให้มันเห็นทิศเห็นทาง ถ้าเวลามันหลง มองเห็นความไม่หลง มันสุขมันทุกข์ มองเห็นถึงความไม่สุขไม่ทุกข์ มันมีอยู่ในชีวิตเราเนี่ย
เวลาเราปฏิบัติถ้าจะให้ได้ผล มันเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จับเอาข้อมูลนั้นมาใช้ มาเป็นเกณฑ์ชี้วัดในการกระทำ อะไรมันก็มีเกณฑ์ชี้วัด มีผิดมีถูก เช่น พระสิทธัตถะ ในคืนวันเพ็ญเดือนหก เกณฑ์ชี้วัดได้จากอะไร พระองค์ก็เห็นว่า ชีวิตนี้เปรียบเหมือนไม้ไผ่ที่แช่น้ำ เอามาสีไฟ ไฟเกิดไม่ได้ รู้จักไหม เอาไม้ไผ่มาสีไฟ เคยเห็นไหม แต่ก่อนโบราณเขาไม่มีไม้ขีดนะ เอาไม้ไผ่มาสีไฟแห้งๆ แต่ไม้ไผ่ที่สีไฟให้มันเกิดไฟ ต้องใช้ไผ่แห้ง เอาไม้ไผ่ที่ไม่เปียก ชีวิตของเราเนี่ยเป็นอย่างไง เหมือนไม้ไผ่ที่แช่น้ำ ย่อมสีไฟไม่เกิด ไม้ไผ่ที่เอาขึ้นจากน้ำแล้ว เอามาไว้บนบกแต่ยังไม่แห้ง สีไฟก็ไม่เกิด ไม้ไผ่ที่เอาขึ้นมาบนบกแล้ว เอาไว้ให้มันแห้งแล้วสี ไฟย่อมเกิด
เกณฑ์ชี้วัดครั้งแรกที่พระสิทธัตถะได้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง เหมือนกับพระองค์แต่ก่อนอยู่ในน้ำ เปียกด้วยความหลง ความโกรธ ความทุกข์ ความรัก ความชัง เรียกว่ามันเปียกอยู่ กายก็อยู่ในภาวะเช่นนั้น ใจก็อยู่ในภาวะเช่นนั้น อะไรมาก็ถูกเลย เป็นไปเลย ความสุขก็สุขทั้งกายทั้งใจ ความทุกข์ก็ทุกข์ทั้งกายทั้งใจเหมือนไม้แช่น้ำ เหมือนไม้ไผ่ที่แช่น้ำ อยู่ในลักษณะแบบไหน นั่งอยู่ที่ต้นโพธิ์นี่ ถ้าเปรียบ พระองค์ก็ออกจากขึ้นมาบนบกแล้ว แต่ยังเปียกอยู่ เพราะอะไร ยังสุข ยังทุกข์ ยังคิดถึงพิมพา ราหุล ยังคิดถึงทรัพย์สินศฤงคารยังเป็นห่วงนั่นห่วงนี่ กลัวตายบ้าง เรียกว่าไม้ไผ่ขึ้นมาบนบกแล้วยังเปียกอยู่ ยังไม่แห้ง ยังคิดไปอยู่
กายออกมาอยู่นี่แล้ว แต่ใจมันยังคิดอยู่ ขึ้นมาบนบกแล้ว ยังเปียก ยังคิด ยังอะไรที่มันพาไปอยู่แล้วก็ความคิดนะเห็นไหม ตั้งใจจะยกมือ มันก็คิดไปทางโน้น หลงไป คิดสุขก็เป็นสุข คิดทุกข์ก็เป็นทุกข์ คิดรักก็เป็นรัก คิดโกรธก็เป็นโกรธ เรียกว่ายังเปียก แต่กายอยู่นี้ สุคะโตนี่ ใจมันอยู่ที่ไหน ยังเปียกไหม ยังมีไหม นี่เกณฑ์ชี้วัดของพระองค์ ก็พรากออกมา อะไรที่มันจะไปสุขไปทุกข์ ไปคิดไปโกรธ ไปรักไปชัง ก็ย่อมคิดถึง เช่น คนมีลูกก็คิดถึงลูก คนมีเมียก็คิดถึงเมีย คนมีแฟนก็คิดถึงแฟน คิดถึงอดีตที่ผ่านมาในกาลเก่า ไม่รู้จักสละอารมณ์นั้นออก ไม่มีสติ ถือว่าศีลของเราก็ทะลุแล้ว ด่างพร้อยแล้ว ไม่ได้ เป็นเกณฑ์บอกเรา หยุดนะ
หลงทีไร กลับมาขึ้นบก มันสุขมันทุกข์ทีไร กลับมาขึ้นบก ให้มันคล่องแคล่ว เหมือนกับสิ่งสกปรกติดตัวติดกาย เราเช็ดออกถูออก มันทำได้แบบนี้นะสติเนี่ย มันหลง-ไม่หลง มันทุกข์-ไม่ทุกข์ มันโกรธ-ไม่โกรธ กลับมาอย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติ
ในที่สุดก็แห้งได้ ง่าย มันอยู่มันตั้งมั่น มันตั้งมั่น เห็น ในที่สุดก็แห้ง เป็นอย่างไร ตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง สักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่น สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รส สักแต่ว่าได้รส กายสัมผัส สักแต่ว่าสัมผัส จิตใจมันคิด สักแต่ว่าคิด สักแต่ว่าเสียแล้ว แห้งแล้ว แห้งแล้ว
แต่ก่อนมันไม่เป็นอย่างนั้น เสียงก็เป็นรสไปเลย ตาก็เกิดรสไปเลย ชอบไม่ชอบ หูก็เกิดรสไปเลย จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดรสไปเลย บัดนี้มันจืด มันแห้ง มันแห้งไม่มีรส ไฟย่อมเกิดได้ถ้าเป็นเช่นนั้น พระองค์ก็รู้จักเกณฑ์ชี้วัดเรื่องนี้ ไม่นานก็เกิดจางขึ้นมาอีก มันเป็นยังไง อดีตชั่วโมงก่อนนาทีก่อนเป็นยังไง เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร มันเกิดอะไรขึ้น ต่างเก่าไหม เห็นอะไรที่เป็นเกณฑ์ อย่างปฏิบัติธรรมก็เห็นนะ ทีแรกก็เป็นกาย เป็นใจ มันเห็นบ่อยๆ ให้เห็นเป็นรูป เป็นนาม เมื่อเห็นเป็นรูป เป็นนาม แตกฉานทะลุทะลวงได้ ได้ข้อมูลเยอะแยะ มันพิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์ เท็จจริงอย่างไงในรูปในนามนี่ มันก็ได้ข้อมูลได้หลักสูตร ได้โครงสร้าง
เหมือนผู้ที่เรียนรู้วิชาการอะไรมา ศาสตร์ไหนบ้าง อย่างอาจารย์ตุ้มจบสถาปัตย์ก็มองอะไรเนี่ย อาจารย์ทรงศิลป์ก็ทำโน่นทำนี่นะ เรียกว่าเป็นศาสตร์เหมือนกัน แต่บางคนทำไม่เป็น ท่านทั้งหลายที่เรียนแพทย์เรียนหมอทำเป็น ได้ข้อมูลจากคนป่วย พอได้ข้อมูลก็รู้จักเชื้อโรค ให้ยาถูก การวินิจฉัยโรค การให้ยาอาจจะเหมือนกัน แต่ว่ามันเก่งอยู่กับการวินิจฉัยโรค เพราะหมอเรียนมา ถ้าวินิจฉัยโรคถูกก็ให้ยาถูก
อย่างหลวงตาเนี่ย เขาตัดก้อนเนื้อในคอไปตรวจ เขาว่าเป็นโรคก้อนเนื้อโตเร็วในน้ำเหลือง เกิดก้อนเนื้อในตับฉายเอ็กซเรย์ ซีทีสแกนดูเป็นก้อนเนื้อในตับ ปวดอย่างแรง หมอบอกว่าถ้าก้อนเนื้อในตับต้องให้คีโมตัวใหม่ ข้าพเจ้าปฏิเสธวิธีการรักษาอื่นใด ต้องให้คีโมตัวใหม่เข้าไปให้หายใจได้ ได้ยินกับหูหมอพูดให้ฟัง นี่การวินิจฉัยโรค มันก็หาย ถ้าวินิจฉัยโรคไม่เป็นก็ไม่หาย ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ในชีวิตเราเนี่ย อยู่เฉยๆเราจะมาสุข ไม่ใช่ อยู่เฉยๆ เราจะมาทุกข์ มันไม่ใช่ มันมีเหตุก่อนจึงสุขจึงทุกข์ จึงโกรธ จึงโลภ จึงหลง จึงรัก จึงชัง อะไรเป็นเหตุ
เห็น สัมมาทิฐิ เห็นชอบเป็นอย่างไรเล่า เห็นทุกข์นั่นนะ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นวิธีดับทุกข์ เห็นหนทางที่ดำเนินออกจากทุกข์ มีเท่านี้ ทฤษฎีชีวิตเราได้จากพระพุทธเจ้าในหลักอริยสัจ 4 เป็นทฤษฎีที่สำเร็จมานานแล้ว สองพันกว่าปีแล้ว สามารถพิสูจน์ได้ ทฤษฎีอย่างอื่นเราก็มี เป็นหมอเขาก็มีทฤษฎีอย่างนี้ รักษาคนหาย อันตัวชีวิตเราที่จะได้ชีวิตนี่ทฤษฎีชีวิต เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับ เห็นวิธีที่ทำให้ถึงการดับทุกข์ เห็นวิธีดำเนินออกไปจากทุกข์ สี่อย่างนี้เป็นทฤษฎี มีอยู่ในชีวิตของเราเนี่ย
เราต้องเก่งบ้างจึงจะคุ้มค่าในที่เราได้มีชีวิตมา ไม่ใช่เกิดมาแก่ มาเจ็บ มาตาย เป็นทุกข์ก็ทุกข์ เป็นโกรธก็โกรธ เจ็บก็เพราะเจ็บ ตายก็เพราะตาย แน่นอนที่สุดเราจะต้องได้หลักตรงนี้ ยามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบ ทำให้มันคล่อง เหมือนทางที่เราเดินไปถึงไหน เราเคยเดินคล่องแคล่ว ตรงที่มันหลงมันจะยิ่งชำนาญ ทางเส้นใดที่มันหลง ตรงไหนที่มันหลงชำนาญ เหมือนกับเดินทางขับรถ เดินทางตรงไหนที่จราจรแออัดยิ่งมีศิลปะ ตรงไหนที่ว่างเปลี่ยวก็ไม่ต้องใช้ศิลปะอะไรใช่ไหม มีศิลปะอะไรไหม ตรงไหนที่มันแออัด มันก็เก่งตรงนั้น ไม่ใช่ขับรถเก่งตรงทางเปลี่ยว มันเก่งตรงที่จะเกิดอุบัติเหตุ มันแก้ไข รถวิ่งตัดหน้ามันเบรก มันหลบ
หลวงตาเคยนั่งรถสมัยไปอยู่กรุงเทพ มาสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปากช่อง สมัย 2518 ในปีนั้นจำพรรษาที่กรุงเทพ ไปนิมนต์มา คุณจักรพันธ์เป็นคนขับนะ เดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณวิโรจน์ ศรีอรรถนั่งมาด้วย กับหลวงตา นั่งมาด้วยกันสามชีวิต พอมาถึงทับกวาง มีรถวิ่งตัดหน้า เราก็วิ่งเร็วเพื่อจะให้มันทันเวลา คุณจักรพันธ์วิ่งรถไว มีรถเล็กอยู่ทับกวาง คุณวิโรจน์นั่งอยู่ข้างหน้าไม่ได้ขับรถ หลวงตานั่งอยู่ด้านหลังคุณวิโรจน์ คุณจักรพันธ์เป็นคนขับรถ คุณวิโรจน์นี่เหยียบเบรก ทั้งๆ ตัวเองไม่ได้ขับรถ (หัวเราะ) ขาเหยียบเบรก เหยียบเบรก นั่งอยู่เฉยๆ นะ แต่เราก็รอดได้ไม่ชน คุณจักรพันธ์ก็เหยียบเบรก ไปถามว่าคุณวิโรจน์ทำอะไรดิ้นอะไร ผมนึกว่าผมขับรถ ผมเหยียบเบรก ได้คิดไหม ไม่ได้คิด มันเป็นแล้ว พอวิ่งรถมันเหยียบเบรก ใช่ไหม คนขับรถเป็นแล้วแท้ๆ มันเป็น ไม่ได้หัด
เวลามันเจ็บมันเป็นเนี่ย จะเอายังไง จะต้องทำให้เป็นหรือ ชีวิตของเราให้มันอยู่ในกำมือของเราเนี่ย ในที่สุดเราก็ไม่ต้องเป็นอะไรเนี่ย มันไม่ยาก เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง ง่ายๆ ไม่ใช่ไปโหมอะไร ไม่หลับ ไม่นอน ไม่กินข้าวกินน้ำ ไม่ใช่ มันหลงไม่ได้อยู่ในลักษณะนั้น เกิดจากกาย จากใจเรานี้ ไม่มีอิริยาบถตาย ตายวันไหนก็สู้มันไม่ได้ มีแต่สติเท่านั้นแหละ เห็น มันมาทางไหนก็เห็นมัน มีสติก็ไม่ยาก ไม่ใช่อดหลับอดนอน ไม่ใช่หนีเข้าดงเข้าป่าที่ไหน หัดให้มันลุยสักหน่อยก็ดีนะ ท้าทายมันดูสักหน่อยนะ ท้าท้ายดูสักหน่อย ยั่วยวนมันดูสักหน่อย เย้ยมันดูสักหน่อยก็ดีนะ เล่นกับมันดู มันจะเอาไหม
คนนี้น่ารักนะ สวยดี รักนะ บอกให้มันรัก ถ้ามันเป็น โอ๊ย ข่มขืนตัวเอง ไม่เป็นไรหรอก อันความไม่รัก ไม่มีความสุขเพราะความรัก ไม่มีความทุกข์เพราะความทุกข์ มันจะไม่เป็นหรอก เยาะเย้ยขนาดไหนก็ไม่เป็นหรอก อินทรีย์มันแก่กล้า มันมีศรัทธาในตัวนี้ มันทำอย่างนี้ มันมีมาแล้ว มีความเพียรที่จะดำริออกจากนี้ มีแล้ว ถ้าบังคับกันมันก็ไม่เอา มันข่มขืน ข่มขืนให้รักมันก็ไม่เอา ข่มขืนให้โกรธมันก็ไม่เอา ข่มขืนให้สุขมันก็ไม่เอา ข่มขืนให้ทุกข์มันก็ไม่เอา มันเป็นอิสระมันไม่เป็นอะไร มันบริสุทธิ์อยู่แล้ว นี่ไม่ต้องไปหัด ไม่ต้องไปหลับหูหลับตานั่งเดินย่องๆ แย่งๆ ไป ให้เขาด่าดูซิ ไอ้อูฐ ไอ้โค ไอ้แกะ ไอ้แพะ เขาด่าพระพุทธเจ้ามาก เขามาด่า จ้างคนตามด่า เรายังไม่มีใครมาด่า ยังไม่มีใครเลย ยังคิดในใจ นอนอยู่ก็ยังคิด เปราะบางเกินไป นอนอยู่ คิดจนนอนไม่หลับ แค่นี้หรือชีวิตเรา เราเก่งตรงไหน คิดขึ้นมา กินไม่ได้น้ำตาไหล เป็นสุขเป็นทุกข์ ชีวิตมันเปราะบางเสาะเกินไป ชีวิตเหมือนปลาทะเล
เห็นไหมปลาทะเล หลวงตานั่งเรือจากเกาะสมุยไปนครศรีธรรมราช เรือโดยสารใหญ่ แล้วก็มีเรือประมงกลางคืนเขาหาปลา แล้วมาอาศัยเรือเกาะเรือโดยสาร เขามาอาศัยด้วย เขาจับปลาตัวใหญ่ พอยกจากน้ำขึ้นมาวางหัวเรือ หางกระดิกแต๊บ ตายไปแล้ว ใจเสาะปลาน้ำเค็ม ถ้าปลาน้ำจืดนี่เอามาวางกระดานในนี้หัวเรือเคลง กระโดดลงน้ำไปเลย (หัวเราะ) มันก็ต่างกันนะ ชีวิตเราจะเป็นปลาทะเลเหรอ คิดก็สุข คิดก็ทุกข์นะ คิดก็นอนไม่หลับมีบ้างไหม บางทีมีความทุกข์ความคิดน่ะ มันมีอาวุธมาไหม มันมีปืนมาไหม มันมีโซ่มีตรวนมาไหม เราจะไปหัวเราะเพราะความคิด ร้องไห้เพราะความคิด นอนอยู่ก็นอนไม่หลับ น้ำตาไหล เสียเปรียบความคิด ที่มันเป็นความทุกข์ ตัวนี้ร้ายที่สุด ไม่มีอะไรที่จะรู้ทันความคิดนอกจากสติ
เราจึงมีการฝึกสติกันแบบนี้ เลือกมาให้แล้ว พระพุทธเจ้าเลือกให้เราแล้ว สะดวกที่สุดแล้ว พร้อมทำแบบนี้ นี่หลวงตาก็มั่นใจ เรามีเพื่อนมีมิตร ไม่ใช่อยู่ลอยๆ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ มีธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า มีธรรมที่เกิดเป็นธรรม มีธรรมที่ทำให้เกิดพระสงฆ์ขึ้นมา ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย เราอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่โจรผู้ร้าย ไม่ใช่ขี้เกียจขี้คร้านนะ ไม่หลบลี้ เพราะโง่จึงมาอยู่ป่า อยู่ป่าเพราะโง่เหรอ เพราะขี้เกียจหรือ หนีมาบวช ไม่ใช่เลย จนจะตายแล้วนะ
ในข่าว เจ้าคณะอำเภอมาสอบข้อมูล มันอะไร ถามไปถามมา เจ้าคณะอำเภอไปยกก้อนหิน ก้อนหินหนักได้สามก้อน หมดแรงเลย อาจจะตับแตกนะ เนี่ยดูแล้วไม่ใช่อะไร เจ้าคณะอำเภอมรณภาพอาจจะตับแตกนะ อันนี้ได้ข้อมูลคิดไปเองนะ ก็ลักษณะที่ตายมันตับแตกใช่ไหมคุณหมอ มันแน่น ปวดท้อง เนื้อเน่า หายใจไม่ได้ หลวงตาไปดูคนรถชน พอไปโรงพยาบาลก็พูดดี ไม่มีตรงไหนหัก ขาไม่หัก พอนอนคุยไปคุยมา ปวดท้อง พ่อรู้สึกปวดท้อง พ่อ แป๊บเดียวแน่นหน้าอก พ่อ หายใจไม่ได้แล้วพ่อ แป๊บเดียวตาย เอ้อมาพิสูจน์ ตับแตก น่าจะแตกนะ คนอ่อนแออย่างหลวงตาไปยกก้อนหินไปวางนะ ยกได้สามก้อน โอ๊ย ไม่ไหว ก็เลยไม่ทำนะ
เนี่ย ก็อย่าไปโหมเกินไป ทำงานทำการนะ รู้จักหลับจักนอน อย่าไปคร่ำเครียดเกินไป จะคลายใจนะ วางไม่เป็นอะไร เอาจริงเอาจังกับโลกเกินไป วางซะ เอ้า สมควรแก่เวลา