แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอใช้เวลานี้เพื่อบอกงานบอกการของพวกเรา พวกเรามีศรัทธาออกจากบ้านจากเรือนมา มาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร ก็มีงานให้ทำตามคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ดำเนินที่ได้ใช้ชีวิตมา ถ้าไม่ทำงานก็ทำไม่เป็น งานของเราก็คืองานกรรมฐาน ถ้าทำงานแล้วมันผิดคือคนทำงาน มันถูกคือคนทำงาน ไม่เห็นผิดก็เห็นถูก ได้แก้ความผิดเป็นความถูก จะได้มีความชำนาญในความผิดความถูก แล้วก็พ้นจากความผิดทำให้ถูกไป เรียกว่าทำงานเป็น ชำนาญ ชำนาญในการงาน
งานของเราที่มันเกิดกับกายกับใจ เมื่อเวลามันหลง มีความรู้สึกตัวไหม ถ้ายังไม่มีความรู้สึกตัวก็พยามประกอบขึ้นมา สติจะเกิดขึ้นก็เพราะการประกอบ ไม่ใช่เอาเป็นการท่องจำ ประกอบ เอากายมาประกอบ เอาจิตใจมาประกอบให้มันเป็นอุปกรณ์บุพพกิจเบื้องต้น เพื่อเป็นงานที่ทำ เรียกว่าวิชากรรมฐาน ดังพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้น หรือว่าดังพระสิทธัทธะได้อุบัติเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเพราะงานแบบนี้ วันพ็ญเดือน ๖ นั่นน่ะ นั่งอยู่ต้นศรีมหาโพธิ์นั่นน่ะ คู้แขนเข้ามีสติ เหยียดแขนออกมีสติ ทำแล้วทำอีก ทำแล้วทำอีก บางทีก็จงกรม เดินกลับไปกลับมา ก็รู้สึกตัวกับการเดิน เรียกว่า กายานุปัสนา
เอากายมาประกอบให้มันรู้สึกตัวไปในกาย อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายนี้ให้เห็น มันจะมีอะไรหลายๆ อย่าง มีสติเข้าไปดูไปเห็นความเท็จความจริง ถ้ามันทำให้หลงก็รู้ มันทำให้สุขก็รู้ มันทำให้ทุกข์ก็รู้ มันจะทำอะไรต่างๆ ที่มันเกิดจากกายจากใจ ให้เป็นภาวะที่รู้ไป ให้มันชำนาญแบบนี้ ทำให้มันเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เรียนรู้ ชำนาญในการเห็น ชำนาญในการไม่เป็น เปลี่ยนการเป็น เป็นการเห็น ถ้าเห็นแล้วก็หลุดพ้นเหมือนกับเฉือนออก เป็นสุขก็เฉือนออก ให้เห็น เป็นทุกข์ก็เฉือนออก ให้เห็น ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ มันหลงก็เฉือนออกให้มันรู้ ให้ถึงภาวะตัวรู้ อะไรเกิดกับกายกับใจให้ถึงภาวะตัวรู้ อย่าให้ไปจนกับภาวะที่เป็น
ภาวะที่รู้ ถ้าไม่มีก็ประกอบขึ้นมา ขณะที่มันเป็น ก็พยายามมีสติกำหนดที่ตั้งเอาไว้ เลือกกรรมฐานตั้งไว้ ทำไว้ ประกอบไว้ ช่วยได้ เป็นนิมิตรที่อาศัยได้ เอากายเป็นนิมิตรที่ตั้ง ที่ทำ เหมือนเราจะยืน ทำงาน จับมีดจับขวานเพื่อฟันต้นไม้ใหญ่ มันก็มีมีด มีขวาน มีที่ยืน มีแรง แล้วก็ฟันต้นไม้ใหญ่ก็โค่นได้ เมื่อมีที่ตั้ง มีเครื่องมือ สติเป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องมือ ความเพียร ความมั่นคง การตั้งใจ เหมือนมีที่ยืน แล้วก็มีสติได้ สติไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ใช่คิดท่องจำเอามา
การท่องจำมันไม่สำเร็จ ให้มันเห็นเข้าจึงจะเป็นการศึกษา จึงจะเป็นการถลุง เหมือนพระปาอะไรนะ จำไม่ได้ พระปานะ มหาปานะ (พระจูฬปันถก และพระมหาปันถก) บวชมาพี่กับน้อง ผู้น้องชายเรียนอะไรไม่ได้ เพราะบวชท่องจำ จำไม่ได้ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง พี่ชายบอก รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน ท่องยังไงก็ไม่ได้ พี่ชายก็ด่า ปึกหนาสาโหด บอกอะไรก็ไม่ค่อยจำ เวลาไปที่ไหนอายเพื่อน น้องชายเป็นคนผู้ปึกหนา อาย ไม่อยากให้ไปด้วย จนถึงกับไล่สึกไปซะ มันเรียนไม่รู้อะไร
น้องชายก็ไม่อยากสึก ร้องห่มร้องไห้ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ว่าพี่ชายไล่สึก เพราะอะไรล่ะ พระพุทธเจ้าถาม เพราะท่องหนังสือไม่ได้ พี่ชายสอนเท่าไหร่ก็จำไม่ได้ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน มันไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ ธรรมา อนัตตา ท่องไม่ได้ บอกตรงไหนข้อใดตอนไหนวรรคไหนก็ท่องไม่ได้ ก็เลยพี่ชายไล่สึก ไม่อยากสึก พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ไม่ต้องเรียนอะไรหรอก เอาผ้าชิ้นนี้ไป ผ้าขาวๆ เท่าฝ่ามือนี่ เอาไปลูบ รโช หรณํ รโช หรณํ ลูบไปอยู่บ่อยๆ รโช หรณํ ลูบไปๆ
ลูบหลายครั้งหลายหน ผ้าสีขาวๆ ก็เปื้อนขึ้นๆ ดำขึ้นเปลี่ยนสีเป็นสีใหม่ เป็นผ้าที่มีสีดำ เปรอะเปื้อนไปหมดเลย ก็เลยเห็นผ้ามันต่างเก่า เหตุที่มันต่างเก่าเพราะอะไร เพราะการสัมผัส ก็มองทะลุทะลวงไปถึงกายถึงใจ ที่มันเป็นสุขที่มันเป็นทุกข์ เพราะมันสัมผัส มันเป็น หลงก็เป็นผู้หลง สุขเป็นผู้สุข ทุกข์เป็นผู้ทุกข์ มันเลยเปื้อนซะ ในภาวะเป็นเช่นนี้มันไม่ใช่ตัวใช่ตน อย่าไปเอาความหลงความโกรธความทุกข์ว่าเป็นตัวเป็นตน ทะลุทะลวงไป แตกฉานไปในธรรม เกิดวิปัสนาญาณขึ้นมา ได้เป็นพระอรหันต์
นี่คือกรรมฐาน ทำให้เป็น ไม่ใช่เรียนรู้ ไม่ใช่ท่องจำ เวลามันหลง รู้ อย่าให้หลงเป็นหลง อย่าให้ทุกข์เป็นทุกข์ ให้ชำนาญเรื่องนี้ มันไม่มีอะไรหรอก ปัญหาต่างๆ มันเกิดที่กายที่ใจเพราะเราไปเป็นกับมัน ให้มันเห็น ให้มันคล่องแคล่ว ชำนาญเฉพาะเรื่องนี้ไปก่อน มันหลง รู้ เฉือนความหลงออกไปแล้ว มันสุข รู้ เฉือนความสุขออกไปแล้ว มันทุกข์ รู้ เฉือนความทุกข์ออกไปแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น พันห้าร้อยแปด กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เกิดอะไรขึ้นมากับกายกับใจ เฉือนไป เฉือนไป ให้เข้าถึงภาวะตัวรู้ ภาวะที่รู้ นี้คืองานของเรา ไม่ใช่จะมาทำอันอื่น
ถ้ายังมีความหลงอยู่ นั่นแหละงาน ถ้ายังมีความสุขความทุกข์ นั่นแหละงาน งานแบบนี้ไม่มีใครช่วยเราได้ ต้องตัวใครตัวมัน ความหลงก็ต่างกัน แต่ชีวิตเท่ากัน เวลาเท่ากัน เราใช้ชีวิตอย่างไร วันหนึ่งเวลาวินาทีหนึ่ง มีอะไรที่มันจะชำนาญในการที่มันเกิดกับกายกับใจเราเนี่ย ชำนาญเรื่องใด โดยเฉพาะกรรมฐาน ตามรูปแบบของการเคลื่อนไหว มันก็พอดี วินาทีๆ ถ้าเป็นเวลา หรือหายใจเข้าหายใจออก ใช้เวลาให้มันรู้เข้าไปดูสิ ให้เต็มทีดูสิ ยังไงๆ เราก็มาถึงที่นี่แล้ว มามีศรัทธามาออกบวช เป็นอนาคาริก ไม่ได้บวชก็มี ไม่เกี่ยวข้องด้วยบ้านด้วยเรือน เราบริโภคจีวรจากคนอื่น เราฉันอาหารจากคนอื่น เราใช้เสนาสนะจากคนอื่นที่ทำให้เรา เราเจ็บไข้ได้ป่วยไปใช้เภสัชที่คนอื่นให้เรา
พวกเราโสตายกัน ไม่กลัวความยากความจน ไม่กลัวความยากลำบาก เราจะทำแบบนี้ ประโยชน์อันใดที่เราจะมาให้หลงเป็นหลงอยู่ ควรย้ายตัวเอง ให้มันหลุดมันพ้นไป มันหลง พ้นหลง มันทุกข์ พ้นทุกข์ ่มันโกรธ พ้นโกรธ มันรักมันชัง มันพอใจมันไม่พอใจ ให้มันพ้นไป ให้ชำนาญในการหลุดพ้น นี่คืองานของเรา ไม่ใช่ลาภสักการะสรรเสริญเยินยอ อยู่ที่นี่ก็ไม่มีอะไรแล้ว ไม่ได้มีลาภสักการะอะไร โสตาย มันจะขนาดไหน ดูศาลาหอไตรเราซิ บังสุกุลต่อมาแล้ว สี่ครั้งแล้ว เสาก็มีแต่รอยต่อ คนให้เรามา นี่คนให้เรามา บังสุกุล ต่อครั้งที่หนึ่ง ต่อครั้งที่สอง บังสุกุลมาจากบ้านค่ายชายพรมขนไม้มาให้ ต่อครั้งที่สี่นี่ ที่สองที่สามนี่ อันที่สี่นี่มาจากมหาสารคามขนต้นเสามาให้ จึงเป็นแบบนี้ เราก็ภูมิใจ ไม่ใช่วิเศษวิโส จีวรของเราก็ตัดเป็นชิ้นเป็นชิ้นมาให้เรา ใครเป็นคนให้เรา เราจะประมาทได้ไง
เราจะได้ประโยชน์หลายจากการใช้ชีวิตแบบนี้ จึงมีความบากบั่น มีความเพียร ถ้าหลงเป็นหลง ประพฤติธรรมอันเลว ปฏิบัติธรรมอันเลวจะบรรลุธรรมอันเลิศเป็นไปไม่ได้ ถ้าหลงเป็นรู้ ปฏิบัติอันเลิศย่อมได้ผลอันเลิศ ย่อมมีได้ แม้เลือดเนื้อจะเป็นยังไง จะเปลี่ยนความหลงเป็นไม่หลง จะหิวจะร้อนจะอยู่ยังไงก็จะเปลี่ยนมัน ให้มันรู้เข้าไป มีแน่นอน ชีวิตของเราต้องมีปัญหา มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย จะชำนาญไหม ทำได้ไหม ทำเป็นไหม เวลามันเจ็บทำยังไง เวลามันจะตายทำยังไง หายใจไม่ได้จะทำยังไง มันปวดเป็นทุกข์หรือ จะทำชำนาญยังไง ถ้าทำไม่เป็นก็ยังไปไม่ถึงไหน ปฏิบัติอันเลวได้ผลอันเลว เป็นบาปเป็นกรรมเรื่อยไป เป็นทุกข์เป็นโทษเรื่อยไป
เราจึงไม่ควรประมาท มองทั้งสองสามฝ่าย น่าจะกระตือรือร้น ชีวิตของพวกเราสะดวกในการนี้ สะดวกในการสิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต เพื่อให้ได้ชีวิตขึ้นมา ให้มันได้จบไปซะ มันเป็นความชำนาญนะ ไม่ใช่ความรู้ เหมือนเราเรียนชำนาญวิชาการอะไรมา แล้วก็ทำได้อย่างคุณหมอดูโรค เมื่อสองวันนี้มีคนไข้มาหา เป็นโรคอะไรก็ไม่รู้ ดูขาเป็นโรคให้หมอมาดู พอดีคุณหมอบรรจบเดินมากำลังพูดกันเรื่องโรค ก็มีเชื้อราอยู่บนขาเขา คุณหมอบรรจบบอกว่า เชื้อราแน่ แล้วก็ถามคนที่ป่วย เขาก็บอกไปหาโรงพยาบาลศิริราช เขาว่าเชื้อรา หาหมอคนไหนก็ว่าเชื้อรา
อย่างหลวงตาเป็นโรค เป็นปานดำๆ คัน คันแล้วก็เกา เกาก็ไม่ค่อยหาย มันหลงเกา เวลามันคันตอนกลางคืน เป็นปานขึ้นมา ไปหาหมอ นึกว่าเป็นอะไร นึกว่าเป็นโรคมะเร็งอีก หมอบอกว่ามันผิวแห้งไม่ใช่เชื้อโรค ผิวมันแห้ง ต้องเอายาไปทา หรือทาโลชั่นเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีมันผิวมันแห้ง คัน พอคุณหมอเอายามาทาให้ หาย ปานดำๆ ก็หายไปแล้ว นึกว่าเป็นโรคมะเร็งหรือเป็นโรคเอดส์ (หัวเราะ) ไปเห็นคนเป็นโรคเอดส์ คล้ายๆ กัน ดำๆ เป็นจุดดำ จุดอ่อนๆ ตามท้องตามขา ตรงที่มันเนื้อแข็งๆ ไม่เป็น มันเป็นตามจุด เอายามาทาก็หาย ผิวมันแห้ง คนแก่ไม่มีมัน แต่ว่าไขมันอยู่ในเลือดมีมาก ไขมันในผิวหนังไม่มี นี่ความชำนาญของคุณหมอ
เราก็ชำนาญ ชำนาญในการชีวิตของเรา ให้มันหลุดพ้น ชำนาญในความหลุดพ้นคือหน้าที่ของเรา ไม่ใช่เรื่องอื่น ทำไมจะไม่ชำนาญ ทำแต่เรื่องอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เห็นแต่เรื่องอย่างนี้ มันก็มีเรื่องอย่างนี้ ชำนาญ มันบอก ยิ่งถ้าเราศึกษา มันก็ยิ่งบอก ความจริงมันบอก ความไม่จริงมันบอก ความหลงไม่จริง ความไม่หลงมันจริง ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง ความโกรธอะไรต่างๆ ปัญหาต่างๆ ไม่จริง ความไม่เป็นอะไรน่ะมันจริง สัมผัสดูแล้วได้ผล หาย หายจากภาวะเช่นนี้ หลุดพ้นไปได้ มันก็เรื่องเก่าๆ
ปัญหาที่เกิดกับกายกับใจเรื่องเก่าๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่งอกงามขึ้นมา เหมือนเชื้อโรค น่าจะจบ ถ้ามันจบซะตั้งแต่หนุ่มๆ น้อยๆ ก็ดี ถ้ามันไม่จบ จะต้องเป็นภาระมีปัญหาเรื่อยไป ความหลงก็หลงเรื่อยไป ไปไกล ความหลงเนี่ย เป็นเปรตก็ได้ เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน เป็นอสุรกายก็ได้ ความไม่หลง ก็ไปไกล เป็นเทวดา เป็นพระอินทร์ พระพรหม เป็นพระ เป็นมนุษย์ เป็นพระได้ ถ้ารู้นะ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า สอนมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ให้รู้ตาม เป็นครู โลกวิทู สอนได้เพราะว่ามันเรื่องเดียวกัน มันก็มีอันเดียวกัน
เราจึงตัดสินใจตกลงว่าจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้เลือดเนื้อกระดูกจะผุพังไปก็ตาม จะไม่เลิกทำความเพียรในเรื่องนี้ ในความหลงไม่ได้อยู่ในความเฒ่าความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ในความไม่หลงก็ไม่อยู่ในกาลเวลาใด เปลี่ยนได้ทันที ไม่มีสิ่งที่อ้าง อย่าด้านตรงนี้ อย่าจน อย่ามักง่าย ให้ใส่ใจซะหน่อย อย่างเราไปขอปฏิบัติกรรมฐาน อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง อัมหากัง ปะริจจัชชามิ อิมาหัง อาจะริยัง อัตตะภาวัง อัมหากัง ปะริจจัชชามิ แต่ก่อนก็ว่ากัน เวลาจะปฏิบัติธรรม มีแต่ภาวะที่ว่า อิมาหัง ภะคะวา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ อัตตะภาวัง อัมหากัง ปะริจจัชชามิ ไม่อยากแปลหรอก มันไม่รู้ภาษา แม้เลือดเนื้อ เอ็น กระดูก จะผุพังไปก็ตาม จะปฏิบัติธรรมกรรมฐาน อิมาหัง อาจาริยัง ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปฏิบัติกรรมฐาน เอาเลือดเอาเนื้อต่อรอง ไม่ใช่เอาความหลง เอาความสะดวก เอาความอะไรต่างๆ เอาได้เอาไม่ได้ แต่ทำได้รึเปล่า ถ้าทำได้ แล้วมันชอบก็จะเอา ถ้าไม่ชอบก็จะหนี ไม่ใช่เอาสิ่งเหล่านั้นมาต่อรอง เคยมีชีวิตบางคนน่ะเป็นนักบวช อยากลองปฏิบัติให้เข้มสักสามเดือน ถ้าไม่ได้บรรลุธรรม ขอลาสึก อย่างนี้เหรอต่อรองเอากับการกระทำแบบนี้
สมัยนั้นก็อยู่นี่ หมูป่ายังมีเยอะ อันนี้กลัวหมูป่า วิ่งมาอย่างแรง กลางคืน บางทีนอนอยู่ในป่า หมูป่าวิ่งมาจะชนเข้าก็มี ปัญหาเยอะแยะ เห็บก็มีเยอะแยะ ไม่สะดวก เอาความไม่สะดวกเป็นความไม่สะดวก ต่อรอง เอาความไม่ได้มาเป็นความได้มา ต่อรอง เอาความยากมาเป็นความยากมาต่อรอง ไม่ใช่ กรรมฐานไม่ใช่เอาเรื่องนั้นมาต่อรอง มันยากก็ไม่ใช่เอามาต่อรอง มันง่ายก็ไม่ใช่เอามาต่อรอง ให้มันเห็นเนี่ย ภาวะที่เห็น มันหลง เห็นมัน มันผิด เห็นมัน ถ้ามันผิด อยากให้มันถูก ไม่ใช่แบบนั้น มันผิดก็รู้เนี่ย ในความผิดในความไม่ผิดไม่มีอะไรต่อรอง ไม่มีอะไรยาก ไม่มีอะไรง่าย ไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย ไม่มีอะไรเป็นหนุ่มเป็นแก่ ไม่มีอะไรเป็นเพศเป็นวัย ไม่มีเลย มีแต่ธรรม ๒ อัน กุศล อกุศล ให้เห็นมัน เจ็บ อะไรมาต่อรอง ตาย เอาอะไรมาต่อรอง ไม่มี มีแต่ภาวะที่เห็น ไม่เป็น ที่เอาเป็นการกระทำ ไม่ใช่มีอะไรมาเปรียบเทียบ ว่านั่นดี อันนั้นไม่ดี ไม่ใช่ มันเห็นแจ้งเนี่ย
ภาวะเช่นนี้ไม่มีอะไรอ้างทั้งสิ้นเลย ไม่มีอะไรต่อรอง เป็นความชำนาญ หัดตนสอนตน ไปซะให้ได้ มันหลง รู้ เคยพูดอยู่เสมอ มันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง ไม่มีคำว่าแก่ ว่าหญิง ว่าชาย ว่าเพศ ว่าวัย กลางค่ำกลางคืน เวลาไหนไม่มี กาลใดไม่มี มันปวด เห็นมันปวด ไม่เป็นผู้ปวด มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ ไม่มีเพศ ไม่มีวัย ไม่มีสถานที่ มันเรื่องของปฏิบัติ มันเรื่องของการศึกษา หรือประสบการณ์อย่างความชำนิชำนาญ ประสบการณ์อย่างความชำนิชำนาญทำเป็นๆ มันก็เรื่องเก่าๆ เนี่ย
เราจึงหัด ไม่ใช่เปรียบเทียบ เปรียบเทียบอันนั้นอุปมัยอุปมา ไม่ใช่แล้ว เป็นการที่เห็น ชนเข้าจริงๆ เหมือนพระปานะ (พระจูฬปันถก) รโช หรณํ เห็น สัมผัสความขาว สัมผัสความเปื้อน ในความขาวความเปื้อน มันเกิดอะไรขึ้น เห็นเหตุที่มันสัมผัส ของที่มันสะอาดมาแต่เดิม เมื่อมาสัมผัสเข้าก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เราบริโภคอาหาร บิณฑบาต เสนาสนะ จีวร ทั้งหมดนี้ไม่เป็นของน่าเกลียดมาแต่เดิม ก็มาถูกเข้ากับกายอันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจไปด้วยกัน อาหารเป็นของบริสุทธิ์สะอาดมาแต่เดิม ก็มาถูกเข้ากับกายอันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว ย่อมกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจไปด้วยกัน
ใจของเราแต่เดิมบริสุทธิ์ แต่อารมณ์มันจรมาทำให้เศร้าหมอง ไม่ใช่ใจมันเศร้าหมอง ความเศร้าหมอง ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ ไม่ใช่ใจ มันเป็นการ รโช หรณํ มันสัมผัส มันมาเปื้อนเฉยๆ เราไปเอามาว่าเป็นเรา ความสุขก็เป็นเรา ความทุกข์ก็เป็นเรา เราสมมติเราบัญญัติสองชั้นสามชั้น เป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นเราเป็นตัวเป็นตน เป็นภพเป็นชาติ ในความสุขเป็นภพเป็นชาติ ในความทุกข์เป็นภพเป็นชาติ ในความรักความชัง ก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายในชาตินั้นๆ เรียกว่าวัฏสงสาร
โกรธแล้วโกรธอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก ดีใจเสียใจ ฟูๆ แฟบๆ คุ้มร้ายคุ้มดี อันนั้นน่ะ มันเกิดดับ เกิดดับ วิชากรรมฐานจะเห็นอาการเกิดดับของรูปนาม ของนามรูป นั่งอยู่นี่ ทีแรกก็ว่านั่งอยู่สบาย ไปมาก็เกิดดับ มีอะไรเกิดขึ้น มันเที่ยงไหม นอนว่ามันดี นอนดูสักเจ็ดวันได้ไหม ยืนว่ามันดี นั่งว่ามันดี เดินว่ามันดี มันอยู่ในภาวะความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น เราไปยึดว่าเราสุข เราทุกข์ ว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ค่อยดี การมาสร้างความปฏิบัติธรรมแบบเดินจงกรมไม่ดี มาสร้างจังหวะยกมือเคลื่อนไหวก็ไม่ดี สิ่งที่มันดีกว่าคือมานั่งตั้งกายให้ตรง มีสติรู้ เฉพาะมีสตินั่งก็ใช้ได้แล้ว หายใจเข้าหายใจออกก็ใช้ได้แล้ว ทำไมจะต้องมายกมือเคลื่อนไหว ทำไมต้องมาเดินจงกรมอยู่เช่นนี้ เป็นทุกขาปฏิปทา สู้ทำไม่ได้ ปฏิบัติลำบาก
เอาอะไรเป็นทุกขาปฏิปทา เอาอะไรเป็นสุขาปฏิปทา เอากายหรือเป็นเรื่องกำหนด เห็นแล้วก็ไม่ชอบ เห็นแบบนี้เราชอบ นั่นไม่ใช่ ทุกขาปฏิปทา ความหลงเป็นหลง ทุกขาปฏิปทา ความสุขเป็นสุข ทุกขาปฏิปทา ความทุกข์เป็นทุกข์ ทุกขาปฏิปทา อะไรที่มันเป็นๆ น่ะ ทุกขาปฏิปทาทั้งนั้น ไม่ใช่สุขาปฏิปทา ถ้ามันสุข เห็นมันสุข นี่แหละ สุขาปฏิปทา มันจะพ้นไปได้ มันหลงเห็นมันหลง เป็นสุขาปฏิปทา ไม่เอารูปแบบมาเป็นเกณฑ์ชี้วัด เอาตัวปฏิบัติ เอาหลักปฏิบัติเข้าไป เอาตัวการกระทำเข้าไปจึงจะเป็นกรรม
กรรมคือการกระทำ เมื่อมีการกระทำก็พ้นกรรม ไม่ใช่กรรมคืออะไร กรรมคือหลงบ่อยๆ ถ้าหลงบ่อยๆ ก็ยังเป็นกรรมอยู่ ทุกข์บ่อยๆ โกรธบ่อยๆ รักบ่อยๆ เกลียดชังบ่อยๆ สุขทุกข์บ่อยๆ ดีใจเสียใจบ่อยๆ นั่นไม่พ้นกรรม ยังมีกรรม ถ้ามันสุข เห็นมันสุข นั่นคุมกำเนิดของกรรมได้บ้างแล้ว มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ คุมกำเนิดของความทุกข์ได้บ้างแล้ว มันโกรธ เห็นมันโกรธ คุมกำเนิดของความโกรธได้บ้างแล้ว กำเนิดของการเกิด แก่ เจ็บ ตายมันอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ไปเห็นคนแก่ เช่น หลวงพ่อกับหลวงพ่อกรมถือไม้เท้าสักไป โอ๊ย คนแก่ เห็นคนหนุ่มคือคนหนุ่มน้อยๆ เนื้อหนัง เนื้อตึง หนังเนื้อแข็งแรงมาก เห็นคนเกิด เกิดแบบนั้นมันไม่ได้ประโยชน์ เกิดความหลง เกิดความทุกข์ เกิดความสุข เกิดความรักความชัง นั่นคือการเกิดดับๆ ถ้ามีอย่างนี้ก็มีเกิดแบบนั้นเรื่อยไป ดังคนจะเกิดในครรภ์ มันก็เกิดอันนี้ก่อน เกิดความไม่รู้ เกิดการภาวะที่เป็นขึ้นมา มันก็ไปไกล เกิดอันนั้นอันหนึ่ง เกิดดับ มันเกิดดับเนี่ย เมื่อเราปฏิบัติธรรมจะเห็นชัดเจน อาการเกิดดับของนามรูป
พระพุทธเจ้าเกิดตรงนี้ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือนหก พระชนมายุ ๓๕ ปี หยุดเกิด เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นิพพาน จนพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ยังไปสอนธรรม นิพพานไปแล้ว นิพพานแล้วมันดับหมดแล้ว ภาวะเกิดแบบนี้ดับหมดแล้ว เราไม่มีภพอีกแล้ว นี่เราสวดธรรมจักร ไม่มีภพอีกแล้ว ไม่มีชาติอีกแล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเรื่องนี้ไม่มีอีกแล้ว
นี่ คือปฏิบัติธรรม มันทำได้เดี๋ยวนี้ ไปเดี๋ยวนี้ ชำนาญเดี๋ยวนี้ ถ้าหากมีหลง ชำนาญในความไม่หลง นี่งานของเรา ถ้ามันสุข ชำนาญในความไม่สุข ถ้ามันทุกข์ ชำนาญในความไม่ทุกข์ ว่าง่ายๆ เห็นทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ทำเหตุ พ้นจากเหตุ เห็นมรรคเห็นวิธีที่ทำให้พ้นทุกข์ ทำแล้ว พ้นได้แล้ว มันก็หลุดพ้นๆ นิโรธ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รวมแล้วคือ เห็น ไม่เป็น เป็นทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากทุกข์ มันโกรธเห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ พ้นจากโกรธ สามครั้ง สามครั้งเกลี้ยงเกลาไปเลย เหมือนเห็นงู ออกจากงู พ้นจากงู
ถ้าเห็นนี่มันดี ภาวะที่เห็นนี่ นี่แหละคือสติ ภาวะที่เป็นเรียกว่าไม่มีสติ เราจะมีเกณฑ์ชี้วัดชีวิตของเราแบบนี้ ภาวะที่เห็นนี่แหละสติปัฏฐาน ภาวะที่เป็นไม่มีสติปัฏฐาน มีสติธรรมดา สัตว์เดรัจฉานก็มีสติธรรมดา หมูหมาเป็ดไก่ก็มีสติ สติปัฏฐานก็คือเรื่องนี้ เห็น ไม่เป็น พ้นไป นี่มันต้องประเสริฐอย่างนี้ชีวิตของมนุษย์ ถ้าสุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐเลย ไม่ต่างกันกับสัตว์เดรัจฉานนะ
เราจึงมีคำสอนมีวิธีปฏิบัติ เป็นอย่างนี้ ลองดูสิ พิสูจน์ดูสิว่าคำสอนพระพุทธเจ้าเท็จจริงอย่างไร เอามาทำดู มาประกอบดู มันหลง เห็นมันหลง ทำให้เป็น หลงทีไร เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง พ้นจากหลง ชำนาญมากเรื่องนี้ ผลที่สุด พอถึงภาวะมันเกิด เห็นมันเกิด ไม่เป็นผู้เกิด พ้นจากความเกิด มันแก่ เห็นมันแก่ ไม่เป็นผู้แก่ พ้นจากความแก่ มันเจ็บ เห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ พ้นจากความเจ็บ มันตาย เห็นมันตาย พ้นจากความตาย เรียกว่าเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ชาติหน้า พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ไม่มี มี แต่มันทำอะไรไม่ได้ ทำได้เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ทำเดี๋ยวนี้ให้มันได้ พรุ่งนี้ก็ยังจะมีอีก ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ เนาะได้ยินไหม (หัวเราะ)
เอาล่ะ กราบพระพร้อมกัน