แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมนะ หลังจากเราได้สาธยายพระสูตร เรื่องบทสวดมนต์ไหว้พระ ระลึกถึงพระรัตนตรัย เกี่ยวกับชีวิตเราอย่างไร มันแยกไม่ออก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็เป็นเรื่องของเรา พระธรรมที่ให้เกิดการตรัสรู้ ก็เป็นเรื่องของเรา พระสงฆ์ผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม ก็เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่คนละเรื่อง พระพุทธองค์พูดถึงเรื่องบาป เรื่องบุญ ก็เป็นเรื่องของเราด้วย ไม่ใช่เราจะปฏิเสธ มันถูก เราจึงควรเอาตัวเราเป็นที่ตั้ง เป็นการบ้าน เป็นโจทย์ เป็นจำเลยไปด้วย ถ้าเราถือว่าเป็นการบ้าน เป็นโจทย์ ตกเป็นจำเลยของปัญหา เราก็ต้องแก้ไข พิพากษาตัวเราให้พ้นภัย เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลาย
พระอรหันต์ทั้งหลายก็เป็นปุถุชนมาก่อน เหมือนพวกเรา ทุกข์ก็เป็นทุกข์ หลงก็เป็นหลง โกรธก็เป็นโกรธ เมื่อน้อมเอาธรรมมาใช้ พิพากษาลองดู เวลามันหลง ไม่หลง ต้องทำเอา อย่างภาวะที่หลง ภาวะที่ไม่หลง เกิดจากการกระทำของตัวเราโดยแท้ ถ้าหลงทำไมยังทำได้ ไม่หลงทำไม่ได้หรือ ทำไมจึงทุกข์ ยังทำได้ ไม่ทุกข์ไม่ได้หรือ ทำไมจึงต้องโกรธ ไม่โกรธไม่ได้หรือ เราก็ต้องไม่จนในเรื่องนี้ คือ เรื่องตัวเอง ตัวเราเองจน เราก็จน ตัวเรามีปัญหา เราก็มีปัญหา มันไม่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องของเราแท้ ๆ การศึกษาพระธรรม ปรารภตน ปรารภโลก ปรารภธรรม เราก็เห็นอยู่ ในตัวเราก็มี ในโลกนี้ก็มี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้มีการรับผิดชอบแบบนี้
ยิ่งพวกเราเป็นสังคม มีครอบครัว ผัวเมีย พ่อแม่ ลูกหลาน แผ่นดินเดียวกัน อากาศเดียวกัน อาหาร ความเป็นอยู่ ก็ได้มาจากแผ่นดินนี้ หายใจอยู่บนโลกนี้ด้วยกันหมด จึงเป็นส่วนรวม ถ้าปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบ มันก็ไปไม่รอด จึงเสนอตัวเรานี้เข้าไปอีกแรงหนึ่ง เพื่อให้เป็นการงานของเราด้วย
โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมนี้ มันครบวงจรนะ มันก็เป็นคน ๆ เดียวกัน ถ้าเรามีสติ ที่นั่งอยู่ที่นี่ ทุกคนมีสติ ย่อมกลายเป็นคน ๆ เดียวกัน แต่ถ้าทุกคนหลง ต่างคนต่างหลง ก็เป็นคนละคนกันไป ปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้ ทำไม เราจึงต้องปล่อยการงานเช่นนี้ให้เกิดขึ้น บางทีเราก็ต้องทะเลาะวิวาทกับครอบครัวเดียวกัน ผัวเมียทะเลาะกัน ลูกหลานพี่น้องทะเลาะกัน ไม่ทะเลาะไม่ได้หรือ มันต้องเป็นไปได้แน่นอน ลองใส่ใจ ลองมีความเพียร ลองมีสติปัญญา ลองดู มันเป็นไปได้จริง ๆ เช่น เรารู้สึกตัว ก็เป็นคน ๆ เดียวกันทันที เหมือนกันหมด ถ้าหลงก็เหมือนกันหมด เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงก็เหมือนกันหมด เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์เหมือนกันหมด เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธเหมือนกันหมด แต่ต้องยอมแพ้อย่างนี้หรือ ปล่อยให้ความหลงเกิดจากตัวเรา ก็ไปกระทบกับคนอื่น ปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นกับเราก็กระทบกับคนอื่น ไม่ต้องสงสัย เราเคยเสียเปรียบความโกรธ เสียเปรียบความหลง เสียเปรียบความทุกข์ มาบ้างหรือไม่ สิ่งที่เราหลง บางคนเขาไม่หลง สิ่งที่เราโกรธ บางคนเขาไม่โกรธ สิ่งที่เราทุกข์ บางคนเขาไม่ทุกข์ ทำไมเราจะต้องเป็นอย่างนั้น มันถูกต้องหรือไม่
เอาอย่างพระพุทธเจ้า ให้ทำตามพระธรรม พระพุทธเจ้าก็บอกว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรม ได้เป็นมาแล้ว เป็นอยู่ด้วยเดี๋ยวนี้ และจะเป็นไปด้วยอีก ไม่มีหยุด ความหลงไม่จริง ความไม่หลงมันจริง ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง ความโกรธไม่จริง ความไม่โกรธมันจริง จะเป็นไปแบบนี้ ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม มันจริงแบบนี้ ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม จริงแบบนี้ เป็นปัจจัตตัง ของใครของเรา ถ้าใครได้พบเห็นก็เป็นของคนนั้น
บางทีไม่ต้องมีคำถาม นั่นก็คือปฏิบัติธรรม ต้องทำด้วยตัวเอง ความรู้จะคิดเอาไม่ได้ ต้องประกอบ ต้องมีความเพียร ตามพระยุคลบาท พระพุทธเจ้าตรัสรู้จะทำอย่างไร ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ได้นั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ คู้แขนเข้ารู้สึกตัว เหยียดแขนออกรู้สึกตัว คู้แขนเข้ารู้สึกตัว เหยียดแขนออกรู้สึกตัว ไปตรัสเป็นสากลไปเลย มีสติไปในกาย แต่สติต้องมีส่วนประกอบ จึงจะเป็นสติปัฏฐาน ถ้าสติธรรมดา สัตว์เดรัจฉานมันก็มีสติ หมา หมู แมวมีสติกันทั้งนั้น สติธรรมดา บางทีมันไม่คุ้ม รักษาไม่รอด
การมีสติปัฏฐาน กำหนดเห็นกายสักว่ากายเข้าไป อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกาย โต้ตอบทักท้วง ไม่ใช่ตัวตนเด็ดขาด ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อยไม่ใช่ตัวตน มันเกิดซ้อน เป็นตัวตนอยู่ในกาย “ให้เห็น อย่าเข้าไปเป็น” โต้ตอบทักท้วงแบบนี้ เรียกว่า “ปฏิบัติ”
เวลานี้ เรามาปฏิบัติเข้ม ให้เข้มแบบนี้ มันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง นี่คือ “เข้ม” หลงที่ใด พ้นที่นั่น ไม่ใช่นั่งหลังขดหลังงอ ไม่ใช่เดินไม่หยุดไม่หย่อน ไม่หลับไม่นอน ความหลงมันเกิดได้ทุกอิริยาบถ แม้แต่นั่งอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ก็หลงได้ นั่นแหละ มีโอกาสเราปฏิบัติเข้ม อย่าปล่อยทิ้ง เป็นงานของเรา มันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง จบไปแล้ว มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ จบไปแล้ว นี่คือเข้ม อะไรที่ไม่ใช่ความรู้ เข้มกับมัน นี่คือการฝึกหัด คือการรักษา การแก้ไข การป้องกัน ถ้าไม่รู้จักหัด ก็ทำไม่เป็น มันหลง ก็หลงไป เรียกว่าทำไม่เป็น ถ้าฝึกหัดมันจะเป็น ไม่ใช่ความรู้ พอมันหลง มันก็ไม่หลงทันที พอมันทุกข์ มันก็ไม่ทุกข์ทันที พอมันโกรธ มันก็ไม่โกรธทันที เพราะมันทำเป็น
เวลานี้ เราทำเป็นไหม เวลามันหลง หลงไปเลย กี่ครั้งกี่หนแล้ว จะหลงไปจนตายหรือ จะทุกข์จนตายหรือ จะโกรธจนตายหรือ เรียกว่า “ทำไม่เป็น” มีแต่ความรู้ ทำไม่เป็น การฝึกหัดแบบนี้ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ไปเรียน ไม่ใช่เรียนรู้ เป็นการฝึกหัด ถ้าไม่หัดมันก็ไม่เป็น ถ้ามันเป็นแล้วมันไม่ลืม มันไม่ลืม จะต้องเข้มกับเรื่องนี้ ลองดู ให้มันต่อเนื่อง ให้ชำนิชำนาญ ต่อไปก็จะสะดวกจะง่าย
ถ้าเราฝึกตั้งแต่หนุ่มแต่น้อย ชีวิตเราก็สะดวกไปยาวนาน แต่ถ้าไม่ฝึกก็ไม่สะดวก อะไรก็ไปเป็นทั้งหมด หลายภพหลายชาติ มันงอกงามเหมือนกันความหลงเนี่ย ถ้าหลงก็ไปไกล ความไม่หลงก็ไปไกล ไปคนละทาง ความหลงไปสู่ทุคติ..ลำบาก ความไม่หลงไปสู่สุคติ..สะดวก เหมือนคนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ คนเกียจคร้านย่อมนอนเป็นทุกข์ นี่! กรรมฐานเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องของชีวิตเราโดยแท้ ไม่ใช่เราจะปฏิเสธได้
สิทธิหน้าที่ของเราโดยตรง เรามีสิทธิไม่หลง เรามีสิทธิไม่โกรธ เรามีสิทธิไม่ทุกข์ ต้องใช้สิทธิให้เต็มที่ เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” เอกราชของชีวิตสักช่วงหนึ่ง พิพากษาตัวเองให้พ้นภัย เป็นอิสระ ไม่ต้องตกเป็นทาสของปัญหา เอาปัญหาเป็นปัญญาไปได้เลยเนี่ย
“ปฏิบัติเข้ม” ตามที่เรากำหนดกัน ยาวนานมาแล้ว เข้มช่วงนี้ตอนปลายปี เข้มช่วงหนึ่งตอนกลางปี วันที่ 20 พฤษภา ถึงวันที่ 30 มิถุนา 40 วัน ที่นี่ก็ทำกันเป็นประจำ หาโอกาส ให้ผู้ที่แสวงหาได้พิสูจน์ว่า หลักปฏิบัติธรรมตามพระพุทธเจ้า มันเท็จจริงขนาดไหน แล้วพระพุทธเจ้าท้าทาย ก็ลองพิสูจน์ ลองดู ผู้ที่เจริญสติต่อเนื่อง 1 วันถึง 7 วัน เป็นพระอริยบุคคล โสดาฯ อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตตผล มีอานิสงส์ ๒ ประการนี้แน่นอน อย่างไวก็ 1 วัน 7 วัน อย่างกลาง 1 เดือน 7 เดือน อย่างช้า 1 ปี 7 ปีเนี่ย มีใครจะพิสูจน์เรื่องนี้กันบ้าง ขอให้ที่นี่เป็นเวทีกัน เป็นสนามฝึกกัน พอจะอยู่ได้สะดวกตามสมควรแก่ฐานะของพวกเรา พวกเราก็จะขอเป็นมิตรเป็นเพื่อน ไม่ทอดไม่ทิ้ง มารับผิดชอบคำสอนพระพุทธเจ้า 100 % ว่ามีจริง บาปมีจริง บุญมีจริง มรรค ผล นิพพานมีจริง หาได้ในชีวิตเรานี้ ให้เป็นเรื่องรีบด่วนสักหน่อย รีบทำซะ อะไรที่มันเป็นงานชอบ อย่าปล่อยทิ้งไว้ บางที แม้แต่วันพรุ่งนี้ก็ไม่จริง ไม่มีใครเห็นพรุ่งนี้ เราเห็นคือเดี๋ยวนี้ เราจะทำอย่างไร แล้วไปทำเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นที่ป้องกันชีวิตเราได้ เมื่อวานก็ไม่มี ไม่เห็น เราเห็นคือเห็นเดี๋ยวนี้ เวลานี้ วินาทีนี้ ทำอะไรก็ทำซะ หายใจไม่เข้าก็ตายไปแล้ว หายใจเข้าไม่ออกก็ตายไปแล้ว
ชีวิตของเรานิดหน่อย เหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้า ไม่ควรจะประมาท ให้กระตือรือร้นสักหน่อย เดิมทีเราคิดไม่ถึงนะ อย่างไม่นานมานี้ พูดกันกับเจ้าคณะอำเภอ นั่งโซฟาเดียวกัน จับแขนกัน ตอนที่เราป่วย เจ้าคณะอำเภอก็มาจับแขน “ปกติแล้วนะ” เราก็จับแขนเจ้าคณะอำเภอ “ทำไมผอมเหลือเกิน” แขนไปเทียบกัน แบมือใส่กันดู เจ้าคณะอำเภอบอกว่า “แข็งแรงนะ ๆ” (หัวเราะ) “แข็งแรงนะ ผอม ๆ ก็แข็งแรงนะ” พูดกันได้ไม่กี่วัน ตายไปแล้ว (หัวเราะ) ยังว่าตัวเองแข็งแรง ๆ ๆ ที่สุดก็ตาย... แป๊บเดียวคืนเดียวก็ตายเลย (หัวเราะ) มรณภาพ ไม่ควรประมาทนะ ไม่ใช่..กลัวความตาย
เราจะใช้ชีวิตของเราให้มันสำเร็จ ที่มันได้มามีรูปมีนามเนี่ย จะใช้ให้มันสำเร็จที่มันเกิดมาเนี่ย อะไรที่มันเป็นผลสำเร็จ มันก็มีอยู่ว่า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือทำอย่างไร นี่สำคัญที่สุดนะ ศาสนานี้ ไม่ใช่จะมาเพียงกราบไหว้ ทำพิธี ทำบุญทำทาน ศาสนานี้คือเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงจะเรียกว่าพระพุทธเจ้า พอไปสอนคนให้รู้ตาม ทำได้ ก็เลยได้ชื่อว่า สัมมาสัมพุทโธ เพราะเอาชนะเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ได้ แล้วเราจะทำยังไง มีใครจะแก่ไหม มีใครจะเจ็บไหม มีใครจะตายไหม ทุกคน ไม่งดเว้นเลยทีเดียว ปฏิเสธไม่ได้เลย มันเป็นการตัดสินใจ ถูกพิพากษามาแล้วเรื่องนี้ เราจึงต้อง.. ให้มันเหนือเรื่องนี้ไป
คือ “เห็น ไม่เป็น” ยิ่งใหญ่นะ เห็นหลง ไม่เป็นผู้หลง ยิ่งใหญ่นะ พูดอย่างนี้ ไม่ให้ความสำคัญนะ บางคนน่ะ คำว่าหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง ยิ่งใหญ่มาก ก็เริ่มไปจากจุดนี้นะ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ พ้นจากความทุกข์ ยิ่งใหญ่ มันจึงจะไปเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ พ้นจากความเจ็บ มันไปแบบนี้นะ เดินไปอย่างนี้แท้ ๆ นะ ไม่ใช่ไปคิดเอา ไม่ใช่นะ ทำเป็น มันหลงทำเป็นไหม มันทุกข์ทำเป็นไหม มันโกรธทำเป็นไหม ต้องหัด ถ้าไม่หัด ทำไม่เป็นน่ะ เวลามันตาย เห็นมันจะตาย ไม่เป็นผู้ตาย พ้นจากความตาย เราไม่ได้อยู่...ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราอยู่อีกอัน... ไม่เอากายเอาใจมาเป็นสุขเป็นทุกข์ มันอาศัยกายอาศัยใจนี่มาหัดจนเป็นศิลปะ เหมือนกีฬาเป็นศิลปะของชีวิตเลยก็มี... มันหัด หัดได้ เป็นสัตว์ประเสริฐ
เริ่มต้นจากมันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง ก้าวแรก มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ ถ้ามันมีนะ ต้องมี เจอเรื่องนี้แน่นอน มีสภาวะที่รู้ มีสภาวะที่หลง โชว์ให้เห็นเลยทีเดียว เหมือนเรามีตาเดินดูก็เห็นสิ่งที่ผ่านมา สติเป็นดวงตาภายใน ไม่ใช่เห็นเฉพาะรูป เห็นนามธรรม ที่มันเกิดซ้อนขึ้นมา ความหลงเป็นนามรูป ความทุกข์เป็นนามรูป ความโกรธเป็นนามรูป สัมผัสได้ ไม่ใช่สัมผัสเหมือนกายนะ มีรสชาติ ทุกข์ก็มีรสนะ โกรธก็มีรสนะ โลภก็มีรสนะ หลงก็มีรสชาตินะ ถ้าเห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง จืดนะ รสอันนี้จืดนะ ทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ รสของทุกข์นี่จืดนะ โกรธ เห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธนี่ จืดนะ ทำมันจืดไปเลย มันสิ้นภพสิ้นชาติ ไม่มีค่า ถ้าเราหัดน่ะ
แรก ๆ อาจจะทวนกระแสสักหน่อย เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ไม่หนัก ไม่ยากเหมือนไล่ยุง ง่าย ๆ ยิ้ม ๆ ก็ได้ อมยิ้มไว้ก็ได้ หัวเราะความหลง หัวเราะความทุกข์ได้ หัวเราะความโกรธได้ ถ้าเราไม่ฝึกก็มีแต่หน้าบูดหน้าบึ้งไป เวลามันโกรธ ไปส่องกระจกดูเป็นอย่างไร มันมีรสชาติ ถ้าเราได้ฝึกหัดสักรอบ สองรอบ จะชำนาญขึ้น ยิ้มได้เมื่อภัยมี เป็นอย่างนั้นจริง ๆ นะ
นี่ก็ขอโชว์คำสอนพระพุทธเจ้า ให้ฟัง เอาไปสัมผัส เอาไปชิมดู มันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง สองสามรอบ ก็จะง่าย ถ้าไม่ผ่านรอบที่ 1 รอบที่ 2 ก็ผ่านได้ ต้องหัดให้ได้ เวลามันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง ยากสักหน่อย ต่อไปจะง่ายที่จะไม่หลง ทำใหม่ ๆ ง่ายที่จะหลง ก็อย่าหมดหวัง ทำไป ๆ ง่ายที่จะไม่หลง มันฝึกได้อย่างนี้ชีวิตของเรา วิชากรรมฐานเป็นอย่างนี้นะ เราก็จะขอเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับทุกท่าน มีอาจารย์ทรงศิลป์..วุฒิชัย..หลายรูปอยู่นี่ เป็นอาจารย์แม่ไก่ ไม่ทอดไม่ทิ้ง มีปัญหาเรื่องใด เรามีเพื่อนมีมิตรนะ สมควรนะ วันนี้นะ วันนี้พูดทั้งวันเลย (หัวเราะ) เอาล่ะนะ กราบพระพร้อมกัน