แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จากที่เราได้ฟัง พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ในวันที่แสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ หลังจากการตรัสรู้ได้ ๒ เดือน ตรัสรู้วันเพ็ญเดือน 6 มาแสดงธรรมในวันเพ็ญเดือน 8 ธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เรายังได้ฟังอยู่ขณะนี้ นานมาแล้ว 2,590 กว่าปี นับจากวันตรัสรู้ ๔๕ ปี เรามีพุทธศักราชนับตั้งแต่วันปรินิพพาน ก็ได้ 2,553 บวกเข้าไปอีก 45 เป็น 2,590 กว่าปีแล้ว บรรพบุรุษของเรา พระอรหันต์ทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ได้พากันร้อยกรองขึ้นไว้ เป็นพระไตรปิฎก เราก็ได้หลักได้ฐานสมบูรณ์แบบ ก็นำหลักฐานนั้นมาใช้กระทำปฏิบัติตามรอยยุคลบาท มันก็เกิดเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา จนถึงปัจจุบันนี้
ก่อนที่พระพุทธองค์จะไปแสดงธรรมกัณฑ์นี้ ได้ทำอะไร เรามาจับตรงนี้ก่อน ทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ก่อนนี้ไม่มี เกิดมาจากการกระทำ คือกรรมฐาน ในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นน่ะ พระองค์ได้ทำทดลองมา ตั้งแต่แสวงหาโมกขธรรม ตั้ง 6 ปีหลังจากการออกบวช ได้ทดลองหลายรูปหลายแบบจากครูอาจารย์สมัยนั้น มีอุทกดาบส อาฬารดาบส ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง นอกจากนั้นก็มีใครต่อใคร ครูทั้ง 6 เคียงบ่าเคียงไหล่กัน เป็นการพิสูจน์มาแล้ว ว่ามันเท็จจริงอย่างไร จนมาแสวงหาด้วยตัวเอง ในวันเพ็ญเดือน 6 นั้น 6 ปี แล้วทำอย่างไรในคืนวันนั้น เราก็ได้ทราบแล้ว แต่ควรที่จะทบทวนให้มันชัดเจนขึ้นมา มีหลักมีฐานมาเช่นไร พระองค์ได้มานั่งอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ศรีมหาโพธิ์ก็ยังมีอยู่ ตรงที่ฝั่งเนรัญชราตะวันออก ที่ฉันข้าวนางสุชาดาก็ยังมีอยู่ แต่ว่าที่นั่น พวกฮินดูเขาทำเป็นเอกลักษณ์ของฮินดูไว้ที่นั่น ไม่เหมือนศรีมหาโพธิ์ มีต้นโพธิ์ มีแท่นศิลาอาสน์ มีสถูป ที่เป็นหลักฐาน พระองค์ได้ทำอย่างไร พระองค์ได้นั่งขัดสมาธิลง คู้บัลลังก์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ได้ยกมือขึ้น ยกมือเข้า ยกมือออก คู้แขนเข้า คู้แขนออก มีสติ เริ่มต้นตรงนี้ เป็นกรรมฐานเกิดขึ้นในวันนั้น เอากายเอาใจเป็นตำราจากศึกษามาหลายรูปแบบ ในพิธีกรรม บัดนี้เอากายเอาใจเนี่ย เป็นหลักสูตรเข้าไปเลย ดูมัน มันจะเกิดอะไรขึ้นในกายในใจนี้ แล้วก็ได้เห็น จนเกิด..ได้แสดงเรื่องนี้โดยตรง เรียกว่า “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” เรื่องที่พบเห็น ไม่ใช่เรื่องคิดเห็น ได้ทำกับมือ ได้เห็นกับตา ที่มันเกิดกับกายกับใจว่ามันเป็นเท็จเป็นจริงอย่างไร
เราก็มาทำตรงนี้ มาศึกษาตรงนี้กัน ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเวลาเราทำอย่างนี้ มีสติไปในกาย มันเห็นอะไรในกายนี้ ที่มันเกิดขึ้นกับกาย มันเกิดขึ้นกับใจมันมีอะไร เราก็ได้เห็นว่ามันเป็นอย่างไร มีสติมันไปเกี่ยวข้องกับอาการที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น มันหลง เห็นหลงหรือเป็นผู้หลง นี่แหละตรงนี้จะเป็นการเล่นกับอริยสัจ 4 อย่างแหลกลาญไปเลยนะ ทุกขปฏิปทา มันผิดทางอย่างไร มันมีทางอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ทางมันอยู่ตรงไหน “กามสุขัลลิกานุโยโค, อัตตกิลมถานุโยโค, มัชฌิมาปฏิปทา” มันมีทางอยู่อย่างนี้ มันเป็นอย่างไร ในเรื่องที่มันเกิดขึ้นกับเรา
“กามสุขัลลิกานุโยโค” มันหลง เห็นมันหลง เป็นผู้หลง เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยโค อ่อนแอเกินไป มันเกิดอะไรขึ้นก็เป็นไปตามมัน ไม่ค่อยจะเกิดผล ถ้าหลงเป็นหลง เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยโค ไม่ถูกทิศถูกทาง ทดลองดูแล้ว หลงครั้งที่ 1 เกิดขึ้นก็..เป็นหลงอีก ที่ 2 ก็เป็นหลง ที่ 3 ก็เป็นหลง หลง..เป็นหลงอยู่ ไปไม่ถึงไหน นี่ก็ไม่ใช่แล้ว ทีนี้ทำยังไงตรงนี้ ถ้ามันหลงเกิดขึ้นน่ะ หลง อ้าวอันหลงอันเดียวกัน เกี่ยวข้องกับความหลงอย่างไร
เวลามันหลง..เห็นมันหลง ต่างกันแล้วบัดนี้ อันหนึ่งเป็นผู้หลง อันหนึ่งเห็นมันหลง พอเห็นหลง..ไม่เป็นผู้หลง ง่าย ๆ พ้นจากความหลง อันนี้เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”
ถ้าหลง เป็นเรื่องของความหลง ให้หลงเป็นหลง เอาจริงเอาจัง ถ้าไม่ชอบ ความสงบ..ดี ความฟุ้งซ่าน..ไม่ดี เอาดีเอาไม่ดี อันเกิดขึ้น เช่น เราทำไป นอกจากความหลง นอกจากความคิด นอกจากความฟุ้งซ่าน มันก็มีความสงบ มันต้องการความสงบ ไม่ต้องการความฟุ้งซ่าน ชอบความสงบ เวลาเห็นผิด..ไม่ชอบ เวลามันถูก..ชอบ นี่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยโค” มันตึงเครียด เอาผิด เอาถูก เอายาก เอาง่าย ให้ยากเป็นยาก ให้ง่ายเป็นง่าย เป็นทางอันสุด เป็นทางอันหนึ่งอีกเหมือนกัน ไม่ยากถ้าปฏิบัติแบบนี้ ถ้าไปเอาผิด เอาถูก เอาได้ เอาไม่ได้ ไปให้ได้เป็นไม่ได้ ไปให้ไม่ได้เป็นไปไม่ได้ เอาความได้ความไม่ได้ เป็นสิ่งเป็นเกณฑ์ชี้วัด เอาผิดเอาถูกเป็นเกณฑ์ชี้วัด ไม่อยากให้มันผิด มันอยากให้มันถูก อย่างนี้เป็นเกณฑ์ชี้วัด ก็ไปไม่ถึงไหน
เราจึงมาเห็นมัน มันผิด..เห็นมันผิด มันถูก..เห็นมันถูก มันทุกข์..เห็นมันทุกข์ มันสุข..เห็นมันสุข นี่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อะไรมันสะดวก อะไรมันไม่สะดวก อะไรมันสุดโต่ง อะไรเป็นทางตัน พระองค์เล่นอยู่เนี่ย
เราก็ได้เห็นเรื่องนี้เหมือนกัน เป็นร่องรอย เป็นทางฝ่าพระบาทของพระองค์ เราทำไปก็เห็นแบบนี้ อาจจะยากกว่าเรานะ สมัยนั้นพระสิทธัตถะน่ะ ไม่มีมิตรไม่มีเพื่อน แล้วพระองค์ก็เป็นสุขุมาลชาติ เคยอยู่ปราสาทราชวัง 3 ฤดู ฤดูร้อนหลังหนึ่ง ฤดูหนาวหลังหนึ่ง ฤดูฝนหลังหนึ่ง มีบริวาร เมื่อมาอยู่ในป่าในดงคนเดียวเนี่ย ผู้เดียว ชีวิตเดียวเนี่ย มานั่งอยู่ใต้ร่มต้นไม้ด้วย ก็คงจะเปรียบเทียบกับปราสาท 3 ฤดู เคยมีลูกมีเมีย เคยมีทรัพย์สินศฤงคาร เมื่ออยู่ลำพังอย่างนี้ จะเป็นอย่างไร ก็ย่อมมีร่องรอยแห่งความเคยชิน ที่ใช้ชีวิตมา 35 ปี ก็เลยคงจะยากกว่าเรา คิดถึงราหุลบ้าง คิดถึงพิมพาบ้าง คิดถึงปราสาท 3 ฤดูบ้าง คิดถึงราชสมบัติทรัพย์สินศฤงคาร บางทีอาจจะคิดถึงพระเจ้าจักรพรรดิด้วย ซึ่งมีกระแสที่จะเป็นไปได้ในสมัยนั้น เพราะเป็นเจ้าฟ้าชายที่มีคุณธรรม คุณภาพสูงสุด เป็นความหวังของพระญาติวงศานุวงศ์ทั้ง ๒ ตระกูล ศากยวงศ์, โกลิยวงศ์ อาจจะคิดถึงไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น กลับมา เล่นมันแหลกอยู่เนี่ย มันคิดไป..กลับมา มันจะทุกข์..กลับมา มันจะสุข..กลับมา มันจะฟุ้งซ่าน..กลับมา มันจะสงบ..กลับมา มารู้มาเห็น ให้รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัว ภาวะที่รู้สึกตัว มันรู้ซื่อ ๆ เนี่ย รู้ซื่อ ๆ ไม่มีรสชาติ ตรงนี้... ทำมาจนแหลกแล้ว แต่ก่อนมันก็มีรสชาตินะ ทุกข์ก็มีรส สุขก็มีรส ผิดก็มีรส ถูกก็มีรส จนมันรู้ซื่อ ๆ เข้าไปเนี่ย มันไม่มีรสชาติ
ภาวะที่ซื่อ ๆ มันคืออย่างไร ก็เลยมาเป็นคำบอกคำพูดว่า รู้ซื่อ ๆ “ให้เห็น อย่าเป็น”
มันทุกข์..เห็นมันทุกข์..ไม่เป็นผู้ทุกข์..พ้นจากทุกข์ นี่คือรู้ซื่อ ๆ
มันผิด..เห็นมันผิด..ไม่เป็นผู้ผิด..พ้นจากความผิด คือรู้ซื่อ ๆ
มันเกิดอะไรขึ้นก็ตามกับกายกับใจ ไม่เป็นไปกับมัน แต่ก่อนเมื่อกายมันเกิดอะไรขึ้นมาก็มักจะไปร่วมกัน สังขาร..ปรุงไปจนถึงการเกิดดับ เกิดดับ ถ้าเป็นสังขาร มันก็มีคู่เป็นวิสังขาร สังขารคือปรุง วิสังขารคือไม่ปรุง มันเป็นคู่กันแบบนี้ ก็เห็น ทดลองไป ทดลองไป
เหมือนกับเราปฏิบัตินี่แหละ ไม่ใช่ว่ามันจะยาก ไม่ใช่ว่ามันจะง่าย ถ้าทำถูก มันเห็น มันปรุงมันก็เห็นอันไม่ปรุง มันทุกข์มันก็เห็นอันไม่ทุกข์ มันสุขมันก็เห็นอันไม่สุข เนี่ย! มันมีทางแบบนี้ เห็นทางไป ทางมันบอก ถ้าสุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ มันลำบาก มันไม่ค่อยง่าย ถ้าโกรธเป็นโกรธ ผิดเป็นผิด นี่ก็ มันก็ไม่ไปถึงไหน มันตัน ถ้าเห็นเนี่ย..มันโล่ง ๆ ไม่เป็นนี่..โล่งไป ไม่มีที่ให้ตั้ง ชักสะพานที่ให้มันเป็นรสชาติ มี มันก็มีมา แต่ว่าไม่รับมัน มันคิด ก็ได้ประโยชน์จากความคิดหลงไป ความหลงแท้ ๆ ทำให้เกิดความรู้ขึ้นมา ความทุกข์แท้ ๆ ทำให้เกิดความรู้ขึ้นมา ความสุขก็ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา อันเดียวเนี่ยเป็นหลัก จะเกิดอะไรขึ้น มันหลง..เห็นหลงครั้งที่ ๑ มันได้อะไร มันทุกข์..เห็นทุกข์..ไม่เป็นทุกข์ ไปถึงไหน มันอะไรก็ตามเกิดขึ้น เห็นมัน มันไม่เป็นอะไรกับอะไรทุกอย่าง มันก็หมดแรง หมดเชื้อ หมดโอกาส ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีต้อนรับ เพราะเห็น..ไม่เป็น ยิ่งใหญ่เสีย... เป็นความยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าของ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ อันภาวะที่เห็น ภาวะที่ไม่เป็นเนี่ย ลัด ๆ ไปตรงนี้แหละ ปฏิบัติธรรม แค่นี้มันมีอะไรบ้าง คำว่าเห็นไม่เป็นมันคือเรื่องอะไร มันทุกข์..เห็นมันทุกข์..ไม่เป็นผู้ทุกข์..พ้นจากความทุกข์ มันคืออะไร มันก็ละความชั่ว มันก็ทำความดี มันก็ทำให้จิตบริสุทธิ์ เป็นอะไร ละความชั่วคืออะไร ละความชั่วเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ความหลงไปถึงไหน ไปถึงปัญญา...
แต่ก่อนความหลงไปถึงปัญหา มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรามาดูดี ๆ แล้ว มันมีการกระทำเกิดขึ้นหลายอย่าง พรหมจรรย์ก็บริสุทธิ์แล้ว ไม่เป็นอะไรนี่มันบริสุทธิ์ มันก็เป็นนักบวชหรือว่ามีบารมีแล้ว ให้เห็น ไม่เป็น พ้นจากภาวะที่เป็นนั้นมา มันก็เป็นอะไร มันบริสุทธิ์ เราจะเป็นนักบวช หรือเราจะเป็นผู้ถือศีล ก็ศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นพอใจไม่พอใจ มันด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์ ไม่บริบูรณ์ ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีท่ามกลาง ไม่มีที่สุด
เหมือน ๆ กับพระพุทธเจ้าเล่นอยู่แถวนี้ แหลกลาญไปเลย เรียกว่าอริยสัจ 4 เจอเข้าไปเลย ไม่ได้เนิ่นช้าเลย เข้าวงในไปเลย ของเท็จของจริงไปเลย แหลกลาญไปเลย มันก็สนุก เมื่อมาเห็นอย่างนี้ก็เห็นเกิดเป็นยานขนส่ง ยานข้ามล่วงไป มันพาให้ไปเอง เหมือนกับเราทำงาน งานพาไป ไม่ใช่เรามาคิดให้มันเกิดอะไรขึ้น เวลาเราทำอะไรมันถูก มันชอบ งานจะพาไป ปฏิบัติธรรมก็ธรรมนำไป มันง่าย ถ้าเราใช้มัน มันก็นำไป ทีแรกก็ง่ายที่จะหลง เพราะไม่เคยหัด พอหัดไปหัดมา มันง่ายที่จะไม่หลง สะดวกเลย พาไปเอง ธรรมนำพาไป เป็นทางไป สัมผัสไป มันต่างกัน ความหลงเป็นยังไง ความไม่หลงเป็นยังไง ความทุกข์เป็นยังไง ความไม่ทุกข์เป็นยังไง ความโกรธเป็นยังไง ความไม่โกรธเป็นอย่างไร มันก็ต่างกัน ไม่ต้องมีใครบอก เป็นปัจจัตตัง ของเท็จของจริง เป็นสมมติ เป็นบัญญัติ เป็นปรมัตถ์อย่างไร เรื่องที่เกิดขึ้นกับกายกับใจมันเป็นเรื่องอะไร มันก็ไม่มาก มันรวมลงเหมือนกับตลาดนัด เป็นศูนย์รวมของการศึกษา มาเข้าแถวให้เรารู้เราเห็นหมด ไม่มีตรงไหนปิดบังอำพราง ถ้าเราได้หลักดี ๆ เหมือนกับคอมพิวเตอร์ ข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา เรามีสติ เป็นการให้ข้อมูลที่ถูก มันก็ไปถึงความถูกต้อง มันง่าย ๆ ถ้าทำถูกมันง่าย ถ้าทำผิดมันก็ยากนะ สะดวกนะ
ภาวะที่เห็น ภาวะไม่เป็นนี่ มันสะดวก ไม่ได้ออกแรง ถ้าภาวะที่สู้ ยากนะ ถ้าผิด..ไม่อยากให้มันผิด มันจะยาก จะหมดแรง อาจจะเกิดง่วงเหงาหาวนอน เกิดความเครียดขึ้นมา อย่าเป็น เอาตรงนี้ให้ได้ จึงจะเป็นจักรแห่งธรรมเกิดขึ้น กลิ้งไป ถ้าเห็น..ไม่เป็นเนี่ย มันแหลกไปแล้ว ภาวะที่เป็นต่าง ๆ มันแหลกไปเลย เหมือนกับธรรมจักรที่มันกลิ้งไป กลิ้งไปตรงไหนก็แหลกไปตรงนั้น เป็นธรรมชาติ เหมือนกับศีลกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญากำจัดกิเลสอย่างละเอียด เรามีการกระทำเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการกระทำ ก็ไม่มีผลของการกระทำเกิดขึ้นมา เราจึงมีกรรม
กรรมฐานคือมันก็ศักดิ์สิทธิ์ คือที่ตั้งของการกระทำ มีสติ ประกอบขึ้นมา ตั้งขึ้นมา อะไรมันจะเกิดขึ้น ต้องประกอบ ไม่ใช่ของได้มาเฉย ๆ ไม่ใช่ว่าจะได้มาโดยความคิด เป็นการกระทำ ทำทางกาย ทำทางใจ มันจะหลงกันไปถึงไหน มันมีไหมหลงน่ะ ความไม่หลงนี่มีไหม ไม่น่าจะจน ใช้ชีวิตให้มันชอบ ลองดู อยู่โดยชอบลองดู ถ้าหลง..ไม่หลง ก็หมดแรง หมดเชื้อได้ ถ้าหลงเป็นหลง สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ น่าจะสนใจเรื่องนี้ให้ได้ มันนานเท่าไหร่แล้ว จะหลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย เช่นนั้นหรือชีวิตเรา ถ้าไม่มีหลง มันก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโกรธ ไม่มีโลภ ไม่มีอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้น มันก็ตั้งต้นตรงนี้ เป็นการได้ความถูกมาเป็นพวง ๆ ถ้าเริ่มต้นถูก วิชากรรมฐานศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการกระทำ เราก็มีชีวิตเพื่อการนี้โดยตรง ใช้รูป ใช้นาม มันก็เห็น
เมื่อมันเห็นแล้วอันความหลง ความสุข ความทุกข์เกิดกับกายกับใจนั่นน่ะ ทีแรกก็เป็นกายเป็นใจ ถ้าเป็นกายเป็นใจนี้ ยังใช้การไม่ค่อยได้เท่าไร ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ ถ้าเห็นว่ากายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เห็นผิด เห็นธรรมต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นก็เห็น ไม่ใช่เป็น ก็เป็นสักแต่ว่าไป ก็เห็นเป็นรูปเป็นนาม กายมันก็เป็นรูปจริง ๆ นามมันคือมันรู้อะไรได้ จับมาใช้ได้ จะยกมือก็ยกมือเป็น จะเคลื่อนไหว จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ทำเป็น ใช้รูปใช้นามให้มันทำกรรม
ถ้าเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วแตกฉาน แต่ก่อนเรียกว่าสุข เรียกว่าทุกข์ ผิดถูก พอเห็นเป็นรูป เป็นนาม ไม่ต้องเรียกว่าผิด ว่าถูก ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าพอใจ ไม่พอใจ ไม่มีคำเรียกแบบนั้น ถ้าเห็นรูปเห็นนามแล้ว เรียกมันว่า “เป็นอาการ”
แต่ก่อนคือเป็นตัวเป็นตน เราร้อน เราหนาว เราหิว เราปวด เราเมื่อย มันเป็นกาย ต่อไปเราจะเห็นเป็นรูป ความร้อน ความหนาว ความปวด ความเมื่อย เป็นอาการ ไม่ใช่กาย เป็นอาการ
อาการไม่ใช่ตัวใช่ตน อาจจะขอบคุณมัน ถ้ามันหิวก็ขอบคุณความหิวว่ามันเป็นรูป ถ้ารูปมันหิวไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป ร้อนหนาวไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป ปวดเมื่อยไม่เป็นมันก็ไม่ใช่รูป ที่มันแสดงออกตามความเป็นจริงของมัน เราได้ประโยชน์จากมัน นี่คือเป็นอาการธรรมดา ผิว ๆ เผิน ๆ ไม่มาเป็นตัวเป็นตน แต่ก่อนเรามาเป็นตัวเป็นตนอยู่ในภาวะที่มันเกิดขึ้นมากับกายกับใจมากมาย เป็นภพเป็นชาติ ถ้าเรามาเห็นเนี่ย เห็นรูปเห็นนาม รูปนามมันบอก มันเป็นหลักสูตรไป ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นทุกข์ มันมีอยู่ในรูปในนามนี้ มันก็แสดงออก เราก็ได้ผลจากมัน ได้ประโยชน์จากมัน แต่ก่อนถ้าเราไม่เห็น ความไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
พอมาเห็นแล้ว มันไม่ใช่ตัวตนที่มาเป็นทุกข์ มันเป็นอาการ ไม่ใช่ความจริง เห็นความโกรธ ความโลภ ความหลง มันเป็นสมมติบัญญัติ ที่มันบัญญัติขึ้นมา ไม่ใช่ปรมัตถ์สัจจะ ความไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง เป็นปรมัตถ์สัจจะ ในความโกรธมันมีความไม่โกรธ ในความทุกข์มันมีความไม่ทุกข์ ในความหลงมันมีความไม่หลง มันก็เห็นไป เป็นกระแสไป ในความเกิดก็มีความไม่เกิด ในความแก่ก็มีความไม่แก่ ในความเจ็บก็มีความไม่เจ็บ ในความตายก็มีความไม่ตาย มองเห็นกระแส ไม่จน กระแส หนทางไป ไม่จน เป็นทางไป เห็นมันเกิดก็เห็นความไม่เกิด อะไรมันเกิด เกิดภาษาคน เกิดภาษาธรรม เกิดโกรธ ความโกรธก็แก่เจ็บตายไปในความโกรธ ความหลงก็เกิด เกิดหลงขึ้นมามันก็แก่ทั้งความหลง มันไม่มีตัวมีตน เราหลงไปกี่ครั้งกี่หน เราโกรธกี่ครั้งกี่หน เราไปยึดว่าตัวว่าตน ก็เลยเสียเปรียบมัน พอมาเห็นมันเป็นอาการ เป็นอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันแสดงออก มันบอกความเท็จความจริงต่อเรา ความโกรธมันก็ไม่เที่ยง คล้าย ๆ ว่าอย่างนั้น ความโกรธไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา ในความสุขความทุกข์ก็เช่นกัน เราจึงเห็น มันจะเป็นอย่างไรถ้าเรามีสติอย่างนี้ ให้เห็นอย่างนี้ เกิดกระแส เกิดญาณรู้แจ้งอย่างนี้ มันจะเอาได้หรือ มันข่มขืนตัวเองไม่ได้ บังคับให้หลง บังคับให้รัก บังคับให้พอใจ ไม่พอใจ มันไม่มี รูปนามมันบอก อะไรที่มันเกิดกับรูปกับนาม มันบอกหมด ความไม่เที่ยงเป็นยังไง ความเป็นทุกข์เป็นยังไง ความไม่ใช่ตัวตนเป็นอย่างไร ดังที่เราได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
ถ้าฟังดี ๆ มันเป็นเหมือนกับการขนส่ง มันก็ทุ่นแรง ถ้ามาทำยิ่งเกิดความชัดเจนขึ้นมา อย่างนี้ เกิดจากการกระทำของเรานี้ ถ้ามันหลง..เห็นมันหลงนั่นล่ะใช้ได้แล้ว ถ้าหลงมีอยู่ ก็เรียกว่าใช้ได้ ความทุกข์มีอยู่ก็ทำให้เราใช้ได้ ความทุกข์ทำให้เราไม่ทุกข์ ทำให้เราเข้มแข็ง ความทุกข์ทำให้เรามีความเข้มแข็ง ความยากลำบากทำให้เราเข้มแข้ง ถ้าความสะดวกสบายทำให้เราอ่อนแอได้ มันหลง เข้มแข็งตรงไหน ถ้าความหลงเป็นหลงมันอ่อนแอ มันเข้มแข็งตรงนี้มากนะ มันจะเกิดอะไรขึ้น ความทุกข์กลายเป็นความไม่ทุกข์นี่ มันจะเป็นอย่างไร ความหลงกลายเป็นความไม่หลง สังขารกลายเป็นวิสังขาร มันเปลี่ยนอย่างนี้น่ะ เรียกว่า “ปฏิบัติ”
ปฏิบัติ คือ เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนได้หมด เรียกว่าปฏิบัติ มาร้ายเป็นดีหมด อะไรที่มันเกิดกับกายกับใจนี้ มันเปลี่ยนได้ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่ควรจะไปยอมจำนนต่อมัน กระตือรือร้น ช่วยกัน บอกกัน ช่วยตัวเอง อย่าปล่อยให้ตัวเองหลง จะหลงไปนานเท่าไร น่าจะไม่นานนะ เพราะมันไม่ถูกจริง ๆ ทุกข์มันก็จะทุกข์ไปนานเท่าไร มันมีอย่างนี้ ชีวิตของเรา มันทำได้
ผู้ที่ฟังธรรมเทศนาคือปัญจวัคคีย์ โดยเฉพาะโกณฑัญญะ ใส่ใจติดตามไป พระพุทธเจ้าแสดงไปเป็นเรื่องของตัวเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า เอามาเป็นเรื่องของตัวเอง พระพุทธเจ้าก็แสดงเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องชีวิตของเรานี้ เราก็มีชีวิตเหมือนกัน อะไรที่พระพุทธเจ้าแสดง มันก็มีอยู่กับเรา ความไม่เที่ยงก็มีอยู่กับเรา ความไม่ใช่ตัวตนก็มีอยู่กับเรา ความเป็นทุกข์ก็มีอยู่กับเรา เราก็ทำไปพร้อม ๆ กัน โกณฑัญญะใส่ใจทำไปพร้อม ๆ กัน สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน แล้วสิ่งใดไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา พระพุทธเจ้าแสดงอย่างนี้ โกณฑัญญะก็ทำไปในใจ ปฏิบัติตามอยู่ ทำในใจอยู่ เห็นด้วย เห็นด้วย ตอบรับ ตอบสนอง เหมือนกับให้ยารักษาโรค เรามีโรคคือความหลง พระพุทธเจ้าให้ยา เห็นความไม่หลง เห็นมันหลง ก็สัมผัสไป ตอบสนอง เหมือนคนป่วยตอบสนองยาที่หมอให้
แต่ว่าการกระทำปฏิบัติธรรมนี่ ง่ายกว่านั้น มันไม่มีวัตถุอะไร มันเป็นนามธรรม ทำได้ ใครเคยหลง พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ถ้าใครเคยหลง พระพุทธเจ้าบอกว่า “เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง เรียกว่าอริยสัจ 4”
ทุกข์เป็นเรื่องกำหนดรู้ ทุกข์บางอย่าง “กำหนดรู้ด้วยการรู้” “... ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิฯ...” ทุกข์ “ปะริญเญยยันติ” เป็นการกำหนดรู้ ไม่ใช่ทุกข์ให้เป็นทุกข์ กำหนดรู้ด้วยการรู้ รู้แล้ว นี่คือทุกข์ ต่อไปอีก ทุกข์กำหนดรู้โดยการละ ทุกข์กำหนดรู้โดยการทำให้หมดไป มันมี ๓ ลักษณะ เหมือนกับเราเห็นงู เห็นแล้ว เห็นงูพิษแผ่แม่เบี้ย เห็นนี่มันดีแล้วบัดนี้ ถ้าเห็นงูทำยังไง คนเห็นทุกข์เหมือนคนเห็นงู เมื่อเห็นงูก็ถอยออก ไม่เข้าไปหางู เรียกว่า “กำหนดรู้โดยการละ” ออกไปก่อน ไม่เข้าไป ต่อไปอีกก้าวที่ ๓ พ้นจากงู มันมีอยู่อย่างนี้ ทุกข์..เห็นมันทุกข์..ออกจากทุกข์..พ้นจากทุกข์ เรียกว่า “ปริวัตร ๓ อาการ ๑๒” ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค ทำอย่างเดียวกันหมด เป็นทฤษฎีที่ใช้ได้สำหรับวัฒนะพัฒนาตัวเอง จะเอาไปใช้กับสิ่งใดก็ได้ในทฤษฎีแบบนี้ เอามาใช้กับกายกับใจนี่ ยิ่งเหมาะสม ใช้กับการศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากิน ก็เหมาะสม เป็นธรรมแห่งการทำให้เกิดการตรัสรู้ ของจริงอันประเสริฐ
สมุทัยก็เช่นกัน เหตุที่มันทำให้เกิดหลงเกิดทุกข์มันคืออะไร รู้แล้ว มาจากอันนี้ แล้วก็พยายามละ พยายามไม่ทำอีก ไม่คิดอีก ไม่ต้อนรับมันอีก เหมือนกันหมด
มรรคก็คือเห็นแล้ว เห็นแล้ว มรรคคือดู คือเห็น เรียกว่าทาง สติที่เราสร้างอยู่นี่ มันเป็นการดูนะ ไม่ใช่การรู้นะ รู้เห็น พบเห็นเนี่ย สุดท้ายมันคือเห็น
สติปัฏฐานไม่ใช่สติธรรมดา สติปัฏฐานมันพบเห็น มันถึงเห็น ถ้ามันเห็นก็ง่าย ๆ คือมันไม่เป็นเนี่ย มันพบเห็นแบบนี้ “สติปัฏฐาน” สติธรรมดามันเป็นได้ ใครก็มีสติได้ สัตว์เดรัจฉานก็มีสติ แต่สติปัฏฐานเป็นสติที่โต้ตอบทักท้วง ไม่ใช่สติไปตามมัน ใคร ๆ ก็รู้แบบนั้นสติน่ะ ในโจรผู้ร้ายก็มีสติ มันจะไปลักไปขโมยจะออกทางไหนเวลาไหน เจ้าของนอนหลับ เจ้าของประมาทในเวลาใด จะวิ่งออกไปทางไหน มันก็วางแผนได้ มันทำให้ชั่วได้สำเร็จ เขาก็มีสติ เมื่อนั้นมันไม่ใช่สติ มันไม่ใช่สติโต้ตอบไปกับอาการ ไปกับอารมณ์ที่ทำผิด ร่วมกันทำผิด แต่สติปัฏฐานมันโต้ตอบ มันเห็นเนี่ย ถ้ามันเห็นแล้วมันจะทำยังไงบัดนี้ มันก็หลุดพ้นไปในตัวเสร็จ ถ้าเห็นนี่หลุดพ้นแล้ว ถ้าเป็นนี่ไม่ค่อยจะหลุดพ้น
สติปัฏฐาน..ภาวะที่เห็น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมเนี่ย มันก็หลุดพ้นแล้ว ถ้าเห็นน่ะ ทั้งหมด ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค คือมันเห็นอย่างนี้ มรรคคือมันเห็นเป็นทางไป ไม่ใช่มรรคไปท่องจำ ว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๘ อย่าง มันเกิดอยู่ที่เห็น เมื่อเห็นมันก็ทำถูก พูดถูกทำถูก เกี่ยวข้องกับสิ่งใดถูกหมด หลงไม่ถูกต้อง ไม่หลงถูกต้อง นี่คือเห็นอย่างนี้ ทุกข์ไม่ถูกต้อง ไม่ทุกข์มันถูกต้อง โกรธไม่ถูกต้อง ไม่โกรธถูกต้อง มันก็เห็นไปอย่างนี้ มันก็เลยเป็นการชอบไป ชอบไปหมด บทธรรมบทเรื่องที่มันเกิดขึ้นถูกต้อง ความหลงเปลี่ยนไม่หลง ถูกต้องที่สุด ความทุกข์เปลี่ยนไม่ทุกข์ ถูกต้องที่สุด นี่! จนเกิดเป็นธรรมจักรขึ้นมา ในอริยสัจ 4 ปริวัตร 3 อาการ 12 แต่ละ 4 อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันไปรวมอยู่ที่อย่างละ 3 มันก็เป็น 12 ธรรมจักรจึงมี 12ซี่ ธรรมจักรเกิดขึ้นแล้ว หมุนไปแล้ว
เราจะทำยังไงที่นี่ วัดป่าสุคะโต กำลังจะทำธรรมจักรให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ในครบรอบรำลึกครบ 100 ปี หลวงพ่อเทียน กำลังทำฐานไว้ที่ลานธรรม จะเอาธรรมจักรมาตั้งที่นั่น ให้หมุนไป ให้เป็นรูปธรรม ในการครบรอบหลวงปู่เทียนที่เป็นชีวิตหนึ่งที่ร่วม ได้สอนเราในเรื่องนี้ ให้เราได้เห็นเรื่องนี้ อย่างน้อยในธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในกัณฑ์นี้ ก็เป็นผงธุลีเล็กน้อยอยู่ในหัวใจของเรา ในฝ่าพระบาทของพระองค์ มาคิดอยู่ในหัวใจของเรา เห็นด้วย ไม่มีอะไรขัดแย้งเลย ขอตื่นขึ้นมาสักชีวิตหนึ่ง จะไม่ใช้กายใช้ใจ หรือใช้รูปใช้นามให้เป็นสุขเป็นทุกข์เด็ดขาด ไม่มีที่ให้สุขหรือทุกข์มาตั้งไว้ จะขอพูดว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร”
คำว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ในโลกทั้งหลายนี้ เป็นอิสรภาพ เป็นชีวิตที่มีมาตรฐาน เป็นชีวิตที่..อะไรมาทำให้เป็นไม่ได้ ความไม่เป็นอะไรนี้ สุขก็ทำให้เป็นสุขไม่ได้ ทุกข์ก็ทำให้เป็นทุกข์ไม่ได้ ชีวิตนี้ จะเป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะมาทำอะไรกับชีวิตที่ไม่เป็นอะไรไม่ได้ ขอใช้ชีวิตที่ไม่เป็นอะไร ๆ แม้แต่วินาทีเดียว ก็จะขอชีวิตอยู่แบบไม่เป็นอะไร ๆ กับอะไรเลย นี่คือธรรมจักรน้อย ๆ เกิดในหัวใจของชีวิตของพวกเรา ไม่รู้จะพูดคำใดแล้ว
ขอพูดให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายได้พิสูจน์ดูว่ามันเป็นยังไง ไม่ต้องไปเชื่อ ทำดู สัมผัสดู เวลามันหลง..เห็นมันหลง..ไม่เป็นผู้หลง เวลามันทุกข์..เห็นมันทุกข์..ไม่เป็นผู้ทุกข์ เวลามันโกรธ..เห็นมันโกรธ..ไม่เป็นผู้โกรธ หากมีหลง มีทุกข์ มีโกรธ มีโลภ มีพอใจ ไม่พอใจ ขอให้เห็น อย่าเป็นไปกับมัน ลองดู มันไม่ไปถึงไหน มันหมดเชื้อได้ หมดแรงได้ จืดได้ ไม่มีรสชาติเรื่องนั้น รสพระธรรม คือไม่เป็นอะไร ชนะรสทั้งปวง ยิ่งใหญ่นะ ไม่มีอะไรที่จะทำให้กลายเป็นอื่นได้ ภาวะที่ไม่เป็นอะไรนี้ จะเป็นยังไงให้พิสูจน์กันดู ทำดู อย่าไปเชื่อ เอาไปทำดูก่อนนะ
นี่ก็เป็นวันที่เราได้ทำกรรมฐานเข้มกันมา ได้มาฟังเทศน์พระพุทธเจ้ากัณฑ์แรก ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นส่วนประกอบให้เรา คล้าย ๆ กับท้าทาย ถ้ามีเกิดก็มีความไม่เกิด มีแก่ก็มีความไม่แก่ มีเจ็บมีความไม่เจ็บ มีตายก็มีความไม่ตายอยู่แน่นอน ชีวิตเรานี้ ไม่ใช่เรามาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ถ้าไม่อยู่ตรงนี้ ถ้าไม่เหนือตรงนี้ ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ต้องเรียกว่าพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า เพราะอยู่เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นพิธีกรรมอันอื่น ถ้าถึงที่สุดคือไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายแล้ว อันอื่นก็เกิดขึ้นเป็นศาสนพิธี เป็นศาสนบุคคล เป็นศาสนวัตถุ เป็นศาสนธรรม เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราได้ใช้ ให้เราได้อยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ต่อจากนี้มันก็เป็นอย่างนี้ ทีแรกก็เกิดจากการตรัสรู้เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราจึงสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา ในคำสอน ในรูปแบบ ภิกษุสงฆ์ก็มีอยู่จริง ๆ ภิกษุณีก็มีอยู่ อุบาสกก็มีอยู่ อุบาสิกาก็มีอยู่ บัดนี้ก็เป็นศาสนสถานของศาสนา เราก็มีสิทธิ์มาใช้ได้ ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เป็นสมบัติของเรา เราก็อยู่ได้ ไม่มีข้อปฏิบัติ เหมือนกันหมด จึงให้อย่าจนเถอะเรื่องนี้ อย่าจนในความหลง ในความทุกข์ ในความโกรธ มันก็ยังมีเรี่ยวมีแรง ไม่รู้จะพูดยังไงนะ ก็สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน