แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมต่ออีก คงไม่เบื่อหน่ายนะ เพราะจำเป็นที่เราจะต้องศึกษามัน เรื่องกายเรื่องใจ เรามีกายมีใจ กายนี้ก็มีปัญหาเยอะแยะ..ถ้าเราไม่ศึกษา ถ้าเราศึกษาก็ได้ปัญญาเยอะแยะ ปัญหาที่เกิดจากกาย..ถ้าศึกษา..เกิดปัญญา..ก็เป็นมรรคเป็นผล ปัญหาที่เกิดจากกายจากใจ ถ้าไม่ศึกษา ก็เป็นทุกข์เป็นโทษ เป็นนรก เป็นเปรต เราจะปล่อยให้เป็นอย่างไร ต้องใช้มันให้สำเร็จประโยชน์ เหมือนเราใช้สิ่งของต่าง ๆ ให้สำเร็จประโยชน์ ของบางอย่าง ปัจจัยสิ่งของต่าง ๆ ใช้ได้สำเร็จ มีข้าว กินข้าว อิ่ม ได้เลือดได้เนื้อ ได้กำลัง เพื่อทำความดี นี่เราจึงต้องศึกษามัน
ใคร ๆ ก็มีกายมีใจ เป็นหญิงเป็นชายก็กายใจ เป็นพระ เป็นฆราวาส ญาติโยม คือกายคือใจ เพศใด วัยใด ก็มีกายมีใจ ลัทธิใด ศาสนาไหน ก็มีกายมีใจ เราเอาประโยชน์จากมัน ให้มันได้วันนี้เดี๋ยวนี้ ให้มันจบง่าย ๆ ไป เช่น ปัญหาเกิดจากกาย เป็นสุข เป็นทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ ต้องมีเดี๋ยวนี้ ปัญหาเกิดจากใจ ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ ก็ต้องหมดเดี๋ยวนี้ ต้องมีความไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่ทุกข์ เดี๋ยวนี้ เพื่อจะได้ใช้ให้เกิดความสะดวกในการมีชีวิต
การศึกษาที่มันเกิดประโยชน์จากกายจากใจนี้ มันคือชีวิต ชีวิตที่เหนือเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันได้จากกายจากใจนี้ กายใจที่มันได้มานี้ เอามาต่อยอดให้ได้ชีวิต ถ้าสุข ถ้าทุกข์ มันไม่ใช่ชีวิต ถ้าโกรธ ถ้าโลภ ถ้าหลง มันไม่ใช่ชีวิต
ชีวิต..มันไม่เป็นอะไร มันจบได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ มันจบได้ มันคือชีวิต ถ้าหากว่าเรามีหลงมีโกรธอยู่..ยังไม่มีชีวิตเลย ชีวิตอันเกิดจากกายจากใจ เอามาเป็นความแก่ความเจ็บ ความตาย ถ้าไม่ศึกษา ถ้าศึกษา..ก็ชีวิตที่มันได้จากกายจากใจนี้ มาเป็นมรรคเป็นผล เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เหนือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็เห็นอยู่ การเกิดมาจากครรภ์มารดา เราไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร คงจะยากลำบาก มีคนสองคน ชีวิตสองชีวิต ในวันเกิดของเรา เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทั้งสองคน คนอื่น ๆ จะมีความวิตกกังวลมากน้อยแค่ไร ต้องมีแน่ ๆ อันนั้นเราไม่รู้ แต่เรามารู้ มันเกิดอีกอันหนึ่งที่มันมีอยู่เดี๋ยวนี้ เกิดความหลง..เรามีเดี๋ยวนี้ ตัวใครตัวมัน ต้องรับผิดชอบ เกิดความทุกข์..เรามีเดี๋ยวนี้ ต้องรับผิดชอบ เกิดตัณหาต่าง ๆ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เป็นการเกิดของตัวใครตัวมัน ต้องรับผิดชอบตัวใครตัวมัน นี่คือ “การเกิด”
ในความเกิดที่มันเป็นความโกรธ มันก็มีความแก่ มันก็มีความเจ็บ มันก็มีความตายในความโกรธนั้น ในความทุกข์เกิดทุกข์ เกิดความทุกข์ก็มีการแก่ การเจ็บ การตาย ในความทุกข์ เกิดความรักก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตายในความรัก เกิดความเกลียดชังก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตายในความเกลียดชัง อันนี้มันเกิดดับแบบนี้ ถ้าไม่เกิดแบบนี้ คือมันจบไปแล้วซะ มันก็ต้องไม่มีการเกิด แก่เจ็บ ตาย ถ้ามีการแก่เกิดในความโกรธ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีปัญหาสำหรับผู้มีชีวิต ก็มันเห็นแล้ว มันจบแล้ว มันจบแล้ว ก็อยู่อย่างอิสระ
จะทำอย่างไร เรื่องนี้ ดังที่เราสาธยายพระสูตรว่า “ความเพียร” เพียรอะไร “เพียรเพื่อจะไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น” อกุศลคืออะไร คือความหลง ความโกรธ ความโลภ ความทุกข์ ตัณหาต่าง ๆ เป็นอกุศล มีไหม วันหนึ่งเราหลง..มีไหม เราทุกข์..มีไหม เราวิตกกังวล..มีไหม มันเกิดแล้วจึงรู้ บางทีก็แก้ได้ บางทีก็แก้ไม่ได้ เหมือนโรคภัยไข้เจ็บที่มันเกิดขึ้นแล้ว บางทีก็รักษาได้ โรคบางอย่างรักษาได้ โรคบางอย่างรักษาไม่ได้ การเกิดโรคเกิดจากอะไร เกิดจากการใช้ชีวิต ใช้กายใช้ใจผิด มันก็เลยเกิดโรค ก็แก้ได้ กว่าจะแก้ก็เป็นภาระ มีวัตถุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย จึงมีความเพียร เพื่อไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ตัวใครตัวมันอีกเหมือนกัน
“ความพากเพียรที่ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นอีก”
2 อย่าง..อกุศล หนึ่งป้องกัน อันหนึ่งต้องละ เช่น ความโกรธ ต้องละ ถ้ามันเกิดขึ้น เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ ความหลงเกิดขึ้น ต้องเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ความทุกข์เกิดขึ้น ต้องเปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ นี่อกุศลต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างอื่นไม่ได้ เราทำเป็นไหม ป้องกันเป็นไหม แก้ไขเป็นไหม หรือปล่อยทิ้งไว้ นานเท่าไร เช่น ความโกรธ กี่วัน กี่นาที กี่เดือน กี่ปี ยังมีไหม ความทุกข์ มีไหม นานไหม มีประโยชน์อะไร รู้ไหม แล้วมันมีตัวมีตนไหม ได้สัมผัสกับมันลองดูไหม..ความทุกข์ ความโกรธ แล้วเราเปลี่ยนมันล่ะ มันจะเป็นอย่างไร เคยสัมผัสไหม เคยทำไหม นี่คือป้องกันอกุศล ละอกุศล
เมื่อมันทำได้อย่างนี้ ก็มีอันหนึ่งต่อไปอีก คิด ใจของเรา มันก็มีอารมณ์เป็นคู่ เป็นคู่ของจิต มันย้อม ย้อมอารมณ์ กลายเป็นคู่ของความสุขความทุกข์ที่เป็นเวทนา จิตใจกลายเป็นคู่อารมณ์ อารมณ์คืออาการที่เกิดกับจิตใจ มีอะไรมากมายหลายอย่าง ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ เป็นตัวเป็นตน เป็นภพเป็นชาติ จนทำตามมัน รับใช้มัน มีกายมีใจเพื่อรับใช้อารมณ์ เอาอารมณ์เป็นตัวเป็นตน ตัดสินใจทำตามอารมณ์ เรียกว่า “ธรรมารมณ์”
ธรรมารมณ์นี้มี 2 อย่าง กุศล อกุศล ความพอใจ ความไม่พอใจ มันมีบวก มันมีลบ ชีวิตที่บวกที่ลบ
พอใจ..ก็จะเอามาเป็นของตน เกิดความขัดแย้ง สวนทางกับคนอื่น ชีวิตอื่น
ความไม่พอใจ..ที่จะผลักออกไป ก็เป็นความขัดแย้งในตัวเองและคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่น สวนทางกับคนอื่น ใครมีปัญหาต่อส่วนรวม ต้องมีตัวบทกฎหมาย ต้องมีคุก มีตาราง หรือจนต้องมีแพทย์ มียา มีโรงพยาบาล เพราะมันใช้กายใช้ใจผิดไปไกล
ถ้าเราศึกษาเรื่องนี้ดู ต่างคนต่างแก้ ตั้งแต่อวิชชา..คือหลง วิชชา..คือไม่หลง ตั้งต้น ๒ ลักษณะ วิชชาคือความรู้ อวิชชา..ความไม่รู้ ไม่ใช่ไปท่องเอา วิชชาคือความรู้ ก็ไม่ใช่ไปท่องเอา ต้องมีการกระทำ วิชชาอวิชชามันเกิดที่ใด ที่กายที่ใจเรานี้ แล้วเราจะเห็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไร ดังที่เราสาธยายพระสูตร มีความเพียร มีสติ ทำอย่างไร มันเป็นสูตรอยู่ สูตรนี้ให้มันเด่นขึ้นมาอีก คือวิชานี้เรียกว่าวิชาอะไร “วิชากรรมฐาน”
กรรมฐานคืออะไร กรรมฐานคือที่ตั้งของการกระทำ ทำอย่างไร “กาเย กายานุปัสฺสี วิหรติ” มีสติเห็นกายอยู่เป็นประจำ เอากายมาเห็น จับมันมาตั้งไว้ ดูมัน มันจะเกิดอะไรขึ้นที่กาย เห็นหรือเป็นบัดนี้ ศึกษาตอนนี้ ถ้าเห็น..ใช้ได้ ถ้าเป็น..ยังใช้ไม่ได้ อ่านไม่ออก มันหลง..เห็นมันหลง อ่านออกแล้ว พบเห็นแล้ว ถ้าหลงเป็นหลง อ่านยังไม่ออก ยังปึก เป็นปุถุชน ถ้าหลง..เห็นมันหลง เป็นกัลยาณปุถุชน ได้หลัก นี่คือเป็นหลักสูตร มันมีอะไรต่อไป เป็นสุขเป็นทุกข์ เห็นอีก มีอะไรอีกที่มันเกิด เราเอากายมาตั้งไว้ มันเป็นศูนย์รวมของการศึกษา มาให้เห็น บางทีมันคิด มันคิด..เห็นมันอีก เราดูกายอย่างเดียว เห็นจิต เราเห็นความคิดก็เห็นธรรมขึ้นมา ธรรมารมณ์ขึ้นมา ก็มาศึกษาแบบนี้
การศึกษาแบบนี้เรียกว่า “ความเพียร” มันมีทั้งละความชั่ว มีทั้งทำความดี มีทั้งทำจิตใจให้บริสุทธิ์ขณะเดียวกัน มีสติ..มันก็ละความชั่ว มีสติ..ก็ทำความดี มีสติ..จิตใจก็บริสุทธิ์ ไปพร้อม ๆ กัน ละความชั่วก็เป็นศีล ทำความดีเป็นสมาธิ เปลี่ยนร้ายเป็นถูก..เป็นปัญญา มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มันเป็นปัญญาแล้ว มันโกรธ เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ เป็นปัญญาแล้ว ปัญญาแล้ว มันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ มันเปลี่ยนได้ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ มันต่างกันอยู่ หลงมันเป็นยังไง ไม่หลงเป็นไง โกรธเป็นยังไง ไม่โกรธเป็นยังไง ทุกข์เป็นยังไง ไม่ทุกข์เป็นยังไง บอกทิศบอกทาง ได้กระแสทาง ได้ใช้ชีวิตชอบขึ้นมา เป็นความเพียรชอบ เป็นความตั้งใจไว้ชอบ เป็นการกระทำที่ชอบ เป็นความดำริที่ชอบ เป็นความคิดที่ชอบ เกิดเคารพความถูกต้อง ความหลงไม่ต้องเคารพมัน เคารพความไม่หลง ความโกรธไม่ต้องเคารพมัน เคารพความไม่โกรธ ความทุกข์ไม่ต้องเคารพมัน ไม่ต้องทำตามมัน ความไม่ทุกข์ควรทำดำเนินไป
ขยัน ขยันเรียกว่า “ภาวนา” ขยันรู้ เรียกว่า “ภาวนา” ภาวนาไม่ใช่พุทโธ พุทโธ สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง ภาวนาคือขยันรู้ เอาอะไรมาเป็นภาวะที่รู้ เอากายเป็นอุปกรณ์ เอาลมหายใจก็ได้ ส่วนไหนที่เป็นกายเป็นรูป กายก็เป็นรูป ลมหายใจก็เป็นรูป การเคลื่อนไหวมือก็เป็นรูป เดินก็เป็นรูป กลืนน้ำลายก็เป็นรูป คิดก็เป็นรูป สัมผัสได้ เอามาเป็นอุปกรณ์การศึกษาได้ ...ใช้กายใช้ใจเป็นอุปกรณ์การศึกษาเหมือนกับตำรา การศึกษาก็เหมือนกับสติ เหมือนสติ เหมือนนักศึกษา เห็นอะไรก็ศึกษา ถลุง ย่อย อย่าให้เป็นดุ้นเป็นก้อน อย่าให้หลงเป็นหลง อย่าให้โกรธเป็นโกรธ อย่าให้ทุกข์เป็นทุกข์ ในความโกรธมันก็ไม่เที่ยง เป็นธรรม ในความทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ย่อยออกมา จนมันไม่มี สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ควรยึดว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา ทิ้ง ไม่เอา ง่าย ๆ แต่ถ้าเราไม่หัด ไม่ง่าย ยึดไว้เป็นตัวเป็นตน กู กูโกรธ กูพอใจ กูไม่พอใจ ทำตามความโกรธ ทำตามความพอใจ ทำตามความไม่พอใจ บางทีมันกูได้โกรธ ตายก็ไม่ลืม ทำไม่เป็นเลย ให้ความโกรธครอบงำชีวิตจิตใจเรา ตัดสินใจทำตามความโกรธ เหตุผลเต็มไปหมดเลย เมื่อโกรธ มีเหตุมีผลเหมือนกัน ทำตามเหตุตามผล ฆ่าตัวตาย ฆ่าคนอื่นตาย ทำอะไร ๆ ก็ได้..เหตุผล เหตุผลแบบนั้นไม่ใช่สัจธรรม
ในหลักอริยสัจ 4 เหตุผล..มันเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ ทุกข์เป็นเหตุ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์เป็นผล นี่มันจึงเป็นเหตุผล ทุกข์เป็นธรรมไหม ความไม่ทุกข์เป็นธรรมไหม เหตุผล ความทุกข์ถูกต้องไหม ความไม่ทุกข์ถูกต้องไหม นี่เหตุผล ถามเรานี้เราก็ตอบได้ ความโกรธดีไหม..ไม่ดี ความไม่โกรธดีไหม..ดี อันนี้เหตุผล ตอบได้เฉย ๆ ไม่ใช่ ต้องทำเป็น ๆ การเป็นไม่ใช่จำ ต้องประกอบ
ประกอบอย่างไร คือวิชากรรมฐานนี่ เจอทันที 1. รู้ รู้เป็นอันดับหนึ่ง 2. จะมีหลง เมื่อมีหลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ทำเป็นแล้ว รู้อยู่นี่เป็นเจ้าเรือนเป็นเจ้าของ เสมือนว่ากายใจ แต่ก่อนมันเถื่อน บัดนี้ขอครองมันเถอะ 30 ปี มันเถื่อนมาก หลวงพ่อเทียนบอกว่าให้เห็น ดูมันซิ ดูมันอยู่ รู้อยู่ พระพุทธเจ้าก็ทำแบบนี้ ที่เกิดพระพุทธเจ้า คู้แขนเข้ารู้สึก เหยียดแขนออกรู้สึก เห็นอยู่เนี่ย เหมือนกับเป็นเจ้าของ ขอครองมัน เป็นเจ้าของที่จะดูแลมัน การเป็นเจ้าของดูแลกายใจ นั่นแหละคือตัวปฏิบัติ อะไรมันจะเกิดขึ้นจากกายจากใจ ป้องกัน รักษา แก้ไข ทันที นี่เรียกว่าเจ้าของ แต่ก่อนมันเถื่อน ใจก็สำส่อน คิดอะไรได้ทุกอย่าง เกิดจากความคิด เป็นสุขก็มี ก็เอามัน เป็นทุกข์ก็มี คิดขึ้นมานอนไม่หลับ คิดขึ้นมา กินข้าวไม่ลง คิดขึ้นมาร้องไห้ คิดขึ้นมาพอใจ คิดขึ้นมาไม่พอใจ ทำไปกับมันทุกอย่าง บัดนี้จะครองมัน มันก็เป็นเช่นนั้น มา อะไรจะมา เราจะรู้มันอยู่นี่ บอกคืน ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่ให้วาง มีความรู้อยู่แล้ว มันหลง เปลี่ยนหลง..ไม่หลง มันสุข เปลี่ยนสุขเป็นไม่สุข มันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ นี่คือวิชากรรมฐาน ศักดิ์สิทธิ์ เดี๋ยวนี้ ไม่มีพรุ่งนี้ ไม่มีเมื่อวานนี้ ปัจจัตตัง เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ นี่คือชีวิต ต้องตั้งต้นแบบนี้ มันจึงจะไปถึงความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทำได้ทุกคนเรื่องนี้ ตัวใครตัวมัน ต้องทำด้วยตนเอง ช่วยกันไม่ได้ ความหลงเกิดคนละวาระ ต่างกัน บางทีเรื่องเราหลง คนอื่นเขาไม่หลงแล้ว บางทีเรื่องที่เราโกรธ คนอื่นเขาไม่โกรธแล้ว บางทีเรื่องที่เราทุกข์ คนอื่นเขาไม่ทุกข์แล้ว มีเหมือนกันในโลกนี้ คนในโลกนี้มี อย่าไปคิดว่าเหมือนกันตรงนี้นะ แต่เหมือนกันรูปร่างลักษณะ รูปนามคือกายใจเหมือนกัน เหมือนกันหมด ใครโกรธก็เหมือนกัน ใครทุกข์ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกัน... ความหลงก็เหมือนกันหมด แต่หลงคนละวาระ แต่ไม่หลงเหมือนกัน ไม่ทุกข์เหมือนกัน ไม่โกรธเหมือนกัน จะทำอย่างไรชีวิตเรานี้ เราต้องมีสติ มันก็ทำได้แบบนี้
พวกเราอยู่ที่นี่ จึงทุ่มเทเรื่องนี้ ให้คนมาพิสูจน์ดู พวกเราไม่เป็นครูอาจารย์ใคร เป็นมิตร เป็นเพื่อน สอนวิชากรรมฐานนี่ มันมีวิธีอื่นที่จะต้องช่วยกันได้ ให้ถึงจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางคืออะไร มันไม่เป็นอะไร มาได้ชีวิต จุดหมายปลายทางคือภาวะไม่เป็นอะไร เหนือโลก เป็นชีวิตอิสระมิตรภาพ มาตรฐาน ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นผิดเป็นถูกอยู่ ไม่มาตรฐาน ล้มลุกคลุกคลาน ไม่ได้ตั้งอยู่นาน ตั้งมั่นไม่ได้ มันไม่เป็นเช่นนั้นชีวิตเรา มันเป็นมนุษย์สมบัติ มันเป็นสวรรค์สมบัติ มันเป็นนิพพานสมบัติ ชีวิตนี้ มองแบบพระสิทธัตถะ ลองดูซิ เมื่อมีเกิดต้องมีไม่เกิด เมื่อมีแก่ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตายต้องมีไม่ตาย มีหลง..มีไม่หลง มีทุกข์..มีไม่ทุกข์ มีโกรธ..มีไม่โกรธ หัดก้าวข้ามไป
ก้าวแรก เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง เป็นก้าวแรก ก่อนที่จะมีเปลี่ยนได้ ต้องมีภาวะที่รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเป็นกุญแจ เป็นการไขกุญแจแก้โซ่ ปลดได้ ถ้าหลง..รู้สึกตัว นั่นแหละ กลับมารู้สึกตัว ความหลงก็จืดไป มันก็เปลี่ยน มันทุกข์..รู้สึกตัว กลับมา เวลานี้ไม่ใช่เรามาทุกข์ เรามารู้สึกตัวตามที่ตั้งเอาไว้ กลับมารู้สึกตัว มันก็ไปแก้ได้ สบาย ๆ เหมือนกับพลัง เครื่องทุ่นแรง เหมือนเขาขับรถแบ็คโฮ เขามาขุดสระ รถแบ็คโฮทั้งคัน เหมือนนิ้วมือสองนิ้ว จับต่อไปต่อมา เหมือนมือของเรา จะจับตรงไหนเหมือนมือของเขา จะยกขึ้นอย่างไรเหมือนมือที่ยก จะวางอย่างไรเหมือนมือของเขา มันง่าย ๆ ไม่หนัก สติ..เป็นเครื่องทุ่นแรง เหมือนกุญแจ ไขได้ เปิดได้ มันหลง..รู้ขึ้นมา กำลังหลงอยู่นี่..รู้ขึ้นมา มันไม่ยาก ไม่มีอะไรง่ายเท่ากับเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ไม่มีอะไรง่ายเหมือนกับเปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ สะดวก ถ้ามีสตินะ ถ้าทุกข์เป็นทุกข์..ไม่ง่ายเสียแล้ว หลงเป็นหลง..ไม่ง่ายเสียแล้ว โกรธเป็นโกรธ..ไม่ง่ายเสียแล้ว แล้วมันมีตัวมีตน
ทำไมทำไม่ได้ เสียดาย เสียดายชีวิตที่ผ่านมา 30 ปี ไม่ได้รู้เรื่องนี้เลย หลวงพ่อเทียนสอนพวกเรา ทำให้รู้เรื่องนี้ขึ้นมา โอ! กระตือรือร้นมาก กระตือรือร้น พออกพอใจ เปลี่ยนหลงเป็นรู้เนี่ย มันเป็นงานชอบที่สุด เป็นการทำอันชอบที่สุด เนี่ย! ลองมาพิสูจน์ดูสิ ขนหัวลุกนะ เห็นความทุกข์ เห็นความโกรธ ขนหัวลุก เราเคยเปรอะเปื้อนเรื่องนั้นมา บัดนี้เราเหมือนกับเราทราบ แต่ก่อนเราเป็นเด็ก เล่นขี้โคลนไม่รู้จักสกปรก บัดนี้เราเป็นผู้ใหญ่ อาบน้ำแต่งตัว เห็นเด็กเล่นขี้โคลน ไม่ได้ เห็นความทุกข์ เสียเวลากับความทุกข์ความโกรธ มันไม่มีตัวมีตน แต่มาเป็นภาระตัวเอง ความโกรธ ความทุกข์ ความโลภ ความหลง ความพอใจ ความไม่พอใจ ให้คิดของเราอย่างนี้เถอะ สักหนึ่งวัน หนึ่งชั่วโมง สัมผัสความรู้สึกตัวอยู่ เคยบ้างไหม มีความรู้ต่อเนื่องหนึ่งชั่วโมง เคยไหม มีความรู้ต่อเนื่องหนึ่งวัน เคยไหม มีความรู้สึกตัวต่อเนื่อง 7 วัน มีไหม
เคยไปโชว์เรื่องนี้ (หัวเราะ) เพราะเขาครอบงำเรา ไปอยู่บอสตัน มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามาครอบงำเรา เรานั่งสอนกรรมฐานอยู่ในห้อง มันหนาว ออกห้องไม่ได้ แล้วมีฝรั่ง 4 - 5 คนยืนอยู่ประตู ชี้หน้าเรา “ขอสัมภาษณ์ได้ไหม”
บอกว่า “ได้ มา เข้ามา” (หัวเราะ)
“คุณมาสอนอะไรที่นี่ คุณรู้อะไรมา มาสอนเรื่องอะไร” เป็นการแสดงแบบไม่ใช่เป็นมิตรเราแล้ว หน้าตาก็ไม่ค่อยดี
เราก็บอกว่า “นั่งลงก่อน เรานั่งอยู่ แสดงธรรมแก่คนยืนอยู่ไม่ได้ ตามวินัยของเรา” เราบอกนั่งลงก่อน มันก็นั่งไม่เป็นฝรั่ง เราก็นั่งแบบนี้ นั่งสอนกรรมฐานแบบนี้ เขามีเบาะ วัดเราน่าจะมีเบาะเหมือนเขา โต๊ะของเราก็นิดหน่อย ของเขามันสูง ๆ กลม ๆ เขาวางไว้ ... แล้วบอกให้เขานั่งลง เขานั่งไม่เป็นนะฝรั่ง ฝรั่งเขานั่งไม่เป็น นั่งแบบนี้ บอกนั่งแบบนี้ก็นั่งแบบนี้ ลุกไปเอามือกดหัวเข่าเขาลง โอ๊ย ๆ ฝรั่งมันเคยนั่งแบบนั่งเก้าอี้ แล้วก็นั่ง เอามือวางไว้เข่า มันทำแบบนี้ มันก็วาง (หัวเราะ) ... ทำอยู่ ๒-๓ รอบ “คุณรู้เรื่องนี้ไหม”
“No”
“หนึ่งวันเคยรู้เรื่องนี้ไหม”
“No”
“ชั่วโมงหนึ่งเคยรู้ไหม”
“No”
“สิบนาทีเคยรู้อย่างนี้ไหม”
“No”
“อ้าว! คุณไปรู้อะไร คุณไปรู้ ไปจำมาแล้ว ทำไมคุณไม่รู้เรื่องนี้ คนเอเชียเขารู้เรื่องนี้นะ นี่คนเอเชียนะ ประเทศไทย ศาสดาทั้งหลายเกิดอยู่เอเชีย ไม่ใช่เกิดอยู่ยุโรปอเมริกานะ คนเอเชียเขารู้เรื่องนี้” ทำท่าดู ใครเขาฟังงง ๆ ๕ คน เราก็พูดไปเลย เนี่ย! โชว์เรื่องนี้ขึ้นมา “หนึ่งวันคุณเคยรู้ไหม พิสูจน์ไหม เรารู้เรื่องนี้ เราสอนอย่างนี้ คนนั่งอยู่นี่เขาทำอย่างนี้ เรามาสอนเรื่องนี้ เรารู้เรื่องนี้” ถามเขาก็ไม่รู้อะไร “คุณจะพิสูจน์ไหม”
เขาถามว่า “คุณจะอยู่นี่กี่วัน”
“เราจะอยู่นี่ 5 วัน”
“อย่าหนีไปไหนนะ พรุ่งนี้เราจะมาใหม่ อย่าหนีไปไหนนะ”
“ไม่หนีไปไหน” เขาขอจับมือเชคแฮนด์
“No” ไม่ให้จับ “จับมือทำไม” เขาบอกว่า เขาได้พบบุคคลที่เขาคิดอยากจะพบ “เมื่อคุณพบแล้ว คุณจะทำยังไง”
“เราจะมาหาคุณพรุ่งนี้ จะพาพ่อมา” (หัวเราะ) แล้วก็มาจริง ๆ ขับรถมา เอาพ่อมาด้วย เอาเก้าอี้มาให้พ่อนั่งด้วย นั่งแบบนี้ไม่เป็น แล้วมาสร้าง…
อย่างนี้พิสูจน์ไหม รู้เดี๋ยวนี้ ๆ ๆ พระพุทธเจ้าเกิดที่นี่ พระพุทธเจ้าไม่ใช่เกิดแบบทำอะไร ทำหลายอย่าง จากทรมานร่างกาย ไม่กินข้าว ไม่หายใจ นอนเสี้ยนนอนหนาม ไม่เกิดพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทำอย่างนี้ คู้แขนเข้า คู้แขนออก ทำอย่างนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เห็นอยู่ประจำต่อเนื่อง นี่วิชากรรมฐาน ที่นี่ทำอย่างนี้ อันอื่นให้คนอื่นทำ เราที่นี่ทำอย่างนี้สอนอย่างนี้ จะให้สอนเรื่องอื่น สอนเรื่องอื่นก็สอนได้ แต่ไม่เอา จะเอาพุทโธ พุทโธ ก็เคยทำมา ทำมาเหมือนกัน หลวงพ่อเทียนสอนอย่างนี้ 30 ปีมาพบหลวงพ่อเทียน โอย! กระตือรือร้น พ่อก็ไม่สอน แม่ก็ไม่สอน หลวงพ่อเทียนสอนให้เรารู้ มันไปไกล ไปไกล ตั้งต้นจากนี้ ไปตะพึดตะพือ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม สะดวกไปเลย เป็นทาง เป็นสูตรไป ตามที่เราสาธยายพระสูตร ในอริยมรรคมีองค์แปด ทาง มันเป็นทางไป
กรรมฐานนี้อาจารย์ทรงศิลป์ เป็นกรรมฐานแม่ไก่คอยดูแลพวกเรา หลายรูปอยู่ที่นี่ แม่ชีก็จะสนับสนุน ผู้ทำอาหารให้เรากินก็มี ผู้สร้างกุฏิให้เราอยู่ก็มี นี่ก็มีเจ้าภาพมาจากเชียงราย กำลังสร้างกุฏิ 2 หลังให้เราอยู่ เพื่ออะไร อยู่เพื่ออะไร ก็เพื่อเรื่องนี้ คนทำอาหารก็ให้เรากิน เพื่อเรื่องนี้ เราสร้างวัดสร้างสถานที่มาก็เพื่อเรื่องนี้ เราก็อยากจะนั่งพูดอย่างนี้ อยากให้คนมานั่งอยู่อย่างนี้ อยากจะพูดเรื่องนี้ ความหลงมันไม่จริง ความไม่หลงมันจริง ได้ยินบ่ ความโกรธไม่จริง ความไม่โกรธมันจริง ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง อยากจะพูดอย่างนี้น่ะ
สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน