แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อยากบอก อยากสอน ผู้ที่ฟัง เขาอยากจะฟังบ้างไหมก็ไม่รู้นะ เรียกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คืออยากบอก อยากพูดความเท็จความจริง ให้คนได้ฟัง อยากให้มีผู้มาฟัง ให้ได้บอก ว่าผิดเป็นอย่างไร ถูกเป็นอย่างไร จึงจะคุ้มค่าข้าวสุกน้ำแกงของผู้ที่ให้อาหาร เพราะชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ขอตอบแทนโดยวิธีนี้ โดยเฉพาะเรื่องชีวิตของเรานี้ มันต้องเป็นเรื่องที่รีบด่วนพอสมควร จึงบอกกันเป็นเบื้องต้น ให้ได้ทราบเอาไว้ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้มันถูกต้อง เหมือนกับพระที่บวชใหม่ออกจากโบสถ์ ก่อนที่จะปล่อยออกจากโบสถ์ ต้องบอกอนุศาสน์ก่อน เพราะเป็นเรื่องรีบด่วน ถ้าผิด ถือว่าขาดจากความเป็นภิกษุไปเลย ถ้าได้บอกแล้วไปทำผิด ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา ได้บอกแล้ว ความผิดอยู่ที่ผู้ทำผิดเอง เราก็ไม่บกพร่อง
เหมือนกับว่า ถ้าใครหลง เราเคยบอกแล้วว่า ความไม่หลงก็มีอยู่ ถ้าใครเคยทุกข์ เราก็บอกแล้วว่าความไม่ทุกข์ก็มีอยู่ ถ้าใครเคยโกรธ ก็บอกแล้วว่าความไม่โกรธก็มีอยู่ ไม่ใช่เราบอก พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ ผ่านมาแล้วเกือบ ๒,๕๙๐ ปีแล้ว ใช่ไหม นับ ๒,๕๕๓ บวกเข้าไปอีก ๔๕ โน่นนะ (หัวเราะ) ถือว่าในโลกนี้มีคนที่ได้พูดไว้แล้ว แต่เราเกิดมา รุ่นนี้ยังไม่ได้ยิน ยังไม่มาทำดูก่อน ก็น่าเสียดาย
เหมือนกับสมัยหนึ่ง ก็มีญาติกันเป็นหลาน ๆ ถูกรถสิบล้อชน แหลกไปเลยทั้งคนทั้งรถ เพราะเมา เราก็ได้ทราบ สมัยนั้นเราก็อยู่ป่าช้า ได้ทราบว่าหลาน ญาติกันตายเพราะรถชน ก็เลยสั่งให้เอามาป่าช้าเลย ไม่ควรจะเอาไปในบ้าน ก็บอกพ่อแม่เขาว่าให้เอามา เอาศพมาไว้ป่าช้านี้ เอามา ก็มากองดู มาเห็นว่าไม่เป็นชิ้นเป็นส่วนคนเท่าใด แหลกไปหมดเลย พ่อมานั่งอยู่ นั่งใกล้ ๆ ศพลูก พ่อก็พูดแต่คำเดียว พ่อบอกแล้วไม่เชื่อพ่อ พ่อบอกแล้วไม่เชื่อพ่อ พูดคำเดียวเป็นชั่วโมง นั่งอยู่หน้าศพของลูกชาย พ่อบอกแล้วไม่เชื่อพ่อ พูดอันอื่นไม่เป็นเลย มันไม่มีอะไรที่จะผิด พ่อไม่มีความผิด บอกแล้ว แต่ลูกไม่เชื่อ เราก็เลยไม่ต้องทุกข์เดือดร้อนอะไร ถ้าเราไม่ได้บอก เขาทำผิดจนเสียชีวิต จนเสียหาย ก็ถือว่าเราบกพร่อง นี่คืออยากจะรับผิดชอบอย่างนี้ต่อคนทั้งโลก
ดังที่เราได้สาธยายพระสูตรในวันสองวันสามวันนี้ว่า “ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ, ทุกขัง สะมุทะโย อะริยะสัจจัง ตันติ เม ภิกขะเว, ทุกขัง นิโรธะ อะริยะสัจจัง ปหานะ ตัพพังติ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ” ว่าอริยสัจคือความจริงอันประเสริฐ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้มีอยู่ พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้แล้ว มีอยู่ ทุกขัง อะริยะสัจจัง ทุกข์มันดับได้อยู่ เหตุที่เกิดทุกข์มันก็ดับได้อยู่ นิโรธคือความดับทุกข์ได้สนิท ก็ได้ทำแล้ว มันเป็นอย่างนี้
กรรมฐานเป็นคู่มือของชีวิตเราล้วน ๆ ใช้ได้ ถ้าใช้ให้ชำนาญแล้ว เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้เลย นี่คือคู่มือของเรา เหมือนคู่มือการศึกษาเล่าเรียนวิชาการทางโลก ใช้ได้จริง ๆ เข้าถึง เชื่อโลก โดยเฉพาะวิชากรรมฐานนี้ เข้าถึงปั๊บทันทีเลย เห็น รู้ เข้าถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อมีความรู้..เห็นหลงเดี๋ยวนี้ เหมือนเรามีตา เห็น มองอะไรเห็นเดี๋ยวนี้ เรามีหู ฟังเสียงอะไร ก็ได้ยินเดี๋ยวนี้ นั่นคือทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอินทรีย์ใหญ่ ไม่มีอะไรที่จะเห็นได้นอกจากตา ไม่มีอะไรที่สัมผัสเสียงได้นอกจากหู ไม่มีอะไรสัมผัสความร้อนความหนาวได้นอกจากกาย ไม่มีอะไรที่สัมผัสได้อันเป็นสุขเป็นทุกข์นอกจากจิตใจ
แต่อันที่มันเป็นคู่มือคือสติ เป็นอินทรีย์ตัวใหญ่กว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใหญ่กว่า ผ่านมาทางนี้ มีสิทธิ มันหลง ถ้ามีสติ ไม่หลงก็ได้ มันทุกข์ ถ้ามีสติ ไม่ทุกข์ก็ได้ มันโกรธ มันอะไรก็ตาม ถ้ามีสติ เปลี่ยนได้ เป็นคู่มือที่ใช้ได้ เราควรใช้อย่างยิ่ง ให้มันได้ใช้ไปตลอดชีวิตที่มีอยู่แม้แต่วินาทีเดียว ถ้าใช้เป็นเราก็ใช้ได้ ใช้เป็น เหมือนกับการที่เป็นหมอ รู้สมมติฐานของโรค ให้ยาเข้าถึงเชื้อโรค ถ้าความหลงเป็นเชื้อโรค ความรู้สึกตัวนี่เป็นยา เป็นโอสถ รักษาได้เด็ดขาด อันโรคที่เกิดกับร่างกายของเรานี้บางทีก็รักษาได้ บางทีก็รักษาไม่ได้ แต่โรคอันที่เกิดกับชีวิตจิตใจนี้มันรักษาได้ เช่น อกุศล คือความไม่ดีทั้งหลาย รักษาได้ กุศล..ความดีทั้งหลาย ทำได้เดี๋ยวนี้ มันน่าเสียดายมาก ๆ ผู้คนในโลกนี้ ทำไมไปทะเลาะกัน ทำไมต้องเบียดเบียนตัวเอง ทำไมจึงเบียดเบียนคนอื่น มันเสียโอกาสมาก เพื่อนร่วมโลกเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ถ้าไม่บอกกันอย่างนี้ จะมีค่าอะไร ไม่สมกับชื่อว่ามนุษย์เลยทีเดียว ช่วยกันให้เป็น เราก็เห็นอยู่ ใครทุกข์ ใครโกรธ ใครหลง เราก็เห็นอยู่ คนที่อยู่ใกล้ชิดเราก็มี ที่มีทุกข์ มีโกรธ มีหลง มีโลภ ... มีอยู่ ทำไมไม่รู้จักช่วยกันบ้าง บางทีสามีภรรยาช่วยกันไม่เป็นแล้วนี่ มีแต่รบกันเลยเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา แตกร้าวสามัคคีกันเลย ให้ความโกรธพาให้ความแตกแยก ให้ความทุกข์พาให้ความแตกแยก มันไม่เป็นอย่างนั้น เปลี่ยนได้อย่างนี้นะ จึงว่าวิชากรรมฐานเป็นวิชาคู่มือที่ใช้ได้จริง ๆ
ตั้งต้นถูกต้อง อย่างที่เราสาธยายพระสูตร “ความเพียร” คืออะไร มีสติ..ก็ได้แก้ไขสิ่งที่ทำมา มีสติ..ก็ได้ป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น มีสติ..ก็ได้ใช้ให้มันถูกต้องต่อไป อย่างเช่นที่สาธยายในพระสูตร ในอริยมรรค เรียกว่า “สัมมาวายาโม” เพื่อป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ถ้ามีสตินะ ถ้ามีสติ..ก็เพื่อแก้ไขอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดขึ้นอีก มันเป็นอย่างนี้ ถ้ามีสติ..ก็สร้างกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ถ้ามีสติ..ก็สร้างกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญมากขึ้น อย่างเดียวกันนะ มันเป็นอย่างนี้นะ เรามีสติ..ละความชั่วทันที มีสติ..ทำความดีทันที มีสติ..จิตบริสุทธิ์ทันที เนี่ย! เป็นอย่างนี้จริง ๆ มีอยู่อย่างนี้จริง ๆ นะ หาที่อื่นไม่พบ มีอยู่กับตัวเราทุกคน เรียกว่ามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ใช้ได้เลย ไม่ควรที่จะไปเสียเวลาอย่างอื่น
เหมือนหลวงตาเป็นเชื้อโรค หมอที่ศึกษาเรื่องนี้ บอกเด็ดขาด เขาอยู่สหรัฐฯ โน่นแหละ “ได้ทราบว่าหลวงพ่อคำเขียนเป็นโรคก้อนเนื้อโตเร็ว...ในตับ ยังไม่มียารักษาเลย” แต่หมอทางจุฬาฯ แจ้งไปว่าอันก้อนเนื้อในตับ มันเกิดไปจากก้อนเนื้อโตเร็วในคอต่อมน้ำเหลืองไปสู่ตับ หมอที่นั่นเขาบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นรักษาได้ ให้คีโมตัวใหม่เข้าไปเลย” นั่น! ข้าพเจ้าปฏิเสธวิทยาการรักษาอื่นใดทั้งสิ้น ให้คีโม หมอทางนี้ก็บอกว่า “ใช่ ไม่มีวิธีอื่น โรคอย่างนี้” แต่หมอทางนี้ก็ต้องพูดอยู่กับพวกอาจารย์ตุ้มพวกหลวงตา ก็เคยได้ยิน ไม่มีทางอื่นแล้ว แต่ว่าอาจจะไม่ได้ผล ๑) หลวงพ่อก็อายุมาก ๒) น้ำหนักก็ไม่มี น้ำหนักลดมากที่สุดเลย เลือดก็ไม่ดี น้ำเหลืองก็ไม่ดี มะเร็งอันดับที่สี่ อันดับสุดท้ายแล้ว อาจจะไม่ได้ผล แต่ต้องแก้ ต้องทำไป นี่ก็ตกลงเอาอย่างนี้แหละ ผลที่สุดเมื่อยาไปเผชิญกับเชื้อโรค มันก็เป็นไปได้
แต่นี่ความหลงความไม่หลงเนี่ย มันอาจจะง่ายกว่าคีโมไปฆ่าเชื้อโรคในตับ ใช่ไหมคุณหมอ (หัวเราะ) อันนั้นต้องมีวัตถุอื่น ๆ มีอะไร มีหมอ มีเตียง มีดอะไรเนี่ย นอนอยู่ห้องไอซียูน่ะ อันนี้มันอยู่กับเราแท้ ๆ นี่ นะ! เห็นหลง เราก็เห็น ไม่หลงเราก็ทำได้แถวนี้แหละ เหมือนหน้ามือหลังมือ เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” เนี่ย! ขอให้กระตือรือร้นสักหน่อย ถ้ามีหลงแล้วก็เอาเลยละ..ยิ้ม เห็นสมมติฐาน “ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ... อิเมสุ จะตูสุ” ครบไปเลย ได้ทำแล้ว ว่าเหตุได้เกิดความทุกข์ ได้แก้แล้ว ทำแล้ว ทำเป็นแล้ว “ทุกขะนิโรธะ ... อะริยะสัจจัง ปหาตัพพันติ เม ภิกขะเว” เราละได้แล้ว เปลี่ยนได้แล้ว เมื่อกี้มันหลง เปลี่ยนไม่หลงแล้ว เมื่อกี้มันโกรธ เปลี่ยนไม่โกรธแล้ว เมื่อกี้มันทุกข์ เปลี่ยนไม่ทุกข์แล้ว เป็นอย่างไร
ทุกข์..กำหนดรู้ สมุทัย..ละได้ นิโรธ..ทำให้แจ้ง มรรค..เจริญให้มาก รู้ให้มาก ขยันรู้ มาก ๑๔ รู้
๑ รู้ ๒ รู้ ๓ รู้ ๔ รู้ ๕ รู้ ๖ รู้ ๗ รู้ ๘ รู้ ๙ รู้ ๑๐ รู้ ๑๑ รู้ ๑๒ รู้ ๑๓ รู้ ๑๔ รู้ วินาที..รู้ทีหนึ่งนะ มาก เรียกว่า “อริยมรรค” เจริญให้มาก มรรคคือรู้ให้มาก เนี่ย! ตำราอยู่ที่ไหน อยู่เนี่ย กายเราเป็นตำรา ใจเราเป็นตำรา จะไปขอจากใครไม่ได้ ถามใครก็ไม่ได้ หลงก็หลงเอง อาจารย์ทรงศิลป์หนูหลงไหม ไม่มีคำถาม อาจารย์ทรงศิลป์ก็บอกว่าไม่หลง ไม่มีคำตอบ ตัวเราต้องตอบเอาเอง รู้เอง เป็นปัจจัตตังอย่างนี้ น่าจะขยันหมั่นเพียร ใครจะรู้ลองดูสิ
เปลี่ยนอะไรที่ไม่ใช่ความรู้ เปลี่ยนมาเป็นความรู้ ลองดูสิ มันจะไปแค่ไหน อันความหลงทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งหลาย ความโกรธทั้งหลาย ความผิดทั้งหลาย มันไปไม่รอด ไปทีไรก็กลับทันที ไปทีไรกลับทันที หมดแรง เหมือนลมมาพัดภูเขาศิลาแท่งทึบ เหมือนคลื่นซัดฝั่งมหาสมุทร มันก็จบลงได้ง่าย ๆ ผู้ปฏิบัติ ผู้ฝึกตนดี เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ ไม่สะเทือน ผู้ฝึกตนดี นินทาสรรเสริญไม่หวั่นไหว เพราะเราฝึกไว้ดีแล้ว ทำเป็นแล้ว มันหลง..ไม่หลง อะไรต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำได้แล้ว มันก็น่าจะยกมือไหว้ตัวเอง ถ้าเรายกมือไหว้ตัวเอง คนอื่นไหว้ก็จะไม่กินแหนงแคลงใจ ไหว้อะไร ไหว้คุณธรรม ไม่ใช่ไหว้รูป ไหว้ร่างกาย ไหว้คุณธรรม ที่มีในคน
คุณธรรมอยู่ในภรรยา คุณธรรมอยู่ในสามี คุณธรรมอยู่ในลูก ในหลาน อยู่ในมนุษย์ทุกคน คุณธรรมอยู่ในครูบาอาจารย์ คุณธรรมอยู่ในคุณพ่อคุณแม่ มีอยู่ทุกคน เราไหว้คุณธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้าผู้นั้นเห็นธรรม เห็นความไม่หลง เคารพความไม่หลง เห็นความไม่ทุกข์ เคารพความไม่ทุกข์ เห็นความไม่โกรธ เคารพความไม่โกรธ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรม ได้เป็นมาแล้วทุกพระองค์ กำลังเป็นอยู่ด้วย กำลังจะเป็นไปข้างหน้า อย่างนี้ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม มันหลงไม่ต้องเคารพมัน เราเคารพความไม่หลง มันทุกข์เราไม่ต้องเคารพมัน เราเคารพความไม่ทุกข์ เนี่ย! เดี๋ยวนี้บางคนไม่รู้เลย ไปเคารพความหลง เอาความหลงมา หลงอยู่สองรอบ สามรอบ หลงอยู่ที่ไหน อยู่ไกลเท่าไร ก็ยังตามมาหลงที่นี่ หลงอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้าน ยังมานั่งหลงอยู่ที่นี่ โกรธอยู่ที่บ้านโน่น กี่วันแล้วยังมาโกรธอยู่ที่นี่ ทุกข์อยู่ที่โน่นแล้วยังมาทุกข์อยู่ที่นี่ ไม่เคารพพระธรรม เคารพความหลง ก็มีนะบางคน จนถึงกับว่าถ้ากูได้โกรธกูไม่ลืม ตายไม่ลืม บางคนเขาเข้าใจผิด มิจฉาทิฐิไป อย่างนี้ก็มีนะ
เราจึงต้องขอร้อง ขอให้เราได้ทำเรื่องนี้เถิด จะได้พึ่งกันได้ คล้าย ๆ เวลานี้หลวงตาขอพึ่งพวกเรา ได้ทำตรงนี้ ให้ได้ช่วยกันไปอีก หลวงตาก็อายุมากแล้ว มันจะหมดแล้ว ขอให้มีผู้ทำต่อไป เหมือนสมัยครั้งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้พูดรำพึงบ้างนะ สมัยพระสารีบุตรนิพพาน พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า สมัยก่อนสารีบุตรอยู่ที่ใด พุทธบริษัทมั่นคง เดี๋ยวนี้สารีบุตรไม่มีแล้ว พุทธบริษัทจะเป็นอย่างไร ได้พูดให้กับหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์ทั้งหลายที่ฟังก็มีความกระตือรือร้นขึ้นมา ให้มีหวัง ให้พระพุทธเจ้าได้อาศัยคล้าย ๆ ว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่เรื่องอะไร คนที่มีศีลมีธรรม อาศัยกันได้ อาศัยได้ ได้ปฏิบัติ ได้ละความชั่ว ได้ทำความดี ทำความดีให้มาก ๆ ความชั่วละให้หมด ความดีทำให้ได้
เหมือนหลวงตาสอนผู้ที่เข้าบวช ผู้ที่จะบวชห่มผ้ากาสาวพัสตร์ธงชัยของพระอรหันต์ อยู่ ๆ จะมาห่มเลยไม่ได้ ต้องเรียนกรรมฐาน พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ ให้เรียนกรรมฐานก่อน หายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว เคยมีความคิดอะไร มีอารมณ์อะไร เคยโกรธใคร หยุดเดี๋ยวนี้ เคยทุกข์เรื่องอะไร หยุดเดี๋ยวนี้ วินาทีนี้ เริ่มต้นวินาทีนี้ มีใครบังคับมา ไม่ใช่ ให้เรามีศรัทธาเดี๋ยวนี้ อาศัยผ้ากาสาวพัสตร์นี้ จึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เราก็ว่าอย่างนี้ ต้องตั้งต้นจากวิธีนี้ อยู่กับตัวไหม เดี๋ยวนี้อยู่ไหน ห่วงใคร จนเจ้านาคบอกว่าอยู่กับตัว ดูท่าทางหน้าตาก็หายใจเข้ารู้สึกหายใจ... หยุดเดี๋ยวนี้ ตั้งต้นวินาทีนี้ ละชั่ววินาทีนี้ ทำดีวินาทีนี้ พร้อมหรือยัง พร้อมจะนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์หรือยัง พร้อมแล้ว เอาผ้าให้ไปห่ม นี่คือตั้งต้นวินาทีนี้ ยิ่งเรามีวิชากรรมฐาน ต้องตั้งต้น ชีวิตใหม่ต้องตั้งต้นใหม่อยู่เสมอ มันหลง..ไม่หลง ตั้งต้นใหม่
แม้แต่เราทำกรรมฐานเนี่ย ต้องมีเทคนิค ฉลาดบ้าง ความฉลาด บางทีต้องหาเอง ไม่ใช่เอาจากคนอื่นเสมอไป ไม่ใช่เถรส่องบาตร เช่น เมื่อเราเดินอยู่นาน ๆ มันอาจจะพร่าได้ เปลี่ยนบ้าง นั่งอยู่นาน ๆ มันอาจจะพร่าได้ เปลี่ยนบ้าง สร้างจังหวะนาน ๆ อาจจะพร่าได้ เปลี่ยนท่าใหม่ไปบ้าง มีเยอะแยะ วัตถุอุปกรณ์ในกายในใจของเราเอามาใช้ได้ หายใจ กระพริบตา กลืนน้ำลาย กระดิกนิ้ว จากหยาบไปหาละเอียด หัดใช้มัน อย่าทำเป็นรูปเดียว นั่งสร้างจังหวะนาน ๆ บางทีก็เป็นกิริยาไม่เป็นกรรมอะไร อาจจะยกแต่มือ จิตใจไปไหนไม่รู้ ต้องตั้งต้นใหม่ เดินนาน ๆ อาจจะพร่าได้ บางทีเวทนาครอบงำ นั่งนาน ๆ เอาผิดเอาถูก อาจจะมีนิวรณ์ธรรมครอบงำ เกิดความง่วงเหงาหาวนอน เกิดความเครียด วางใหม่ เว้นวรรคสักหน่อย ออกฉากสักหน่อย เหมือนนักมวยที่เขาจะชกกัน ออกฉาก ถ้าไม่มีฉาก ก็ไม่มีวิชาที่จะออกไปต่อสู้กัน ออกฉาก ลบฉาก เต้นฉาก ท่าไหนอย่างไร เพื่อมีกำลัง มีพลัง มีปัญญา เห็นช่องทาง
นี่! กรรมฐานไม่ใช่จะเรียนตามรูปแบบ... นอกรูปแบบก็ดี บางทีบรรลุธรรมอาจจะนอกรูปแบบ ไม่ใช่อยู่ในอิริยาบถใดอริยาบถหนึ่งก็ได้ อย่างพระอานนท์เนี่ย จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ต้องเป็นพระอรหันต์จึงจะทำสังคายนาได้ แต่ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูตร จำคำสอนพระพุทธเจ้าได้ทุก ๆ อย่าง แต่พระอานนท์ยังไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ พระมหากัสสปะจึงบอกให้พระอานนท์ทำความเพียรอย่างรีบด่วน เพื่อทำสังคายนาในไม่นานนี้ต่อไป พระอานนท์ก็จริงจัง คนมีความรู้ มีความพร้อม ก็จะเอาให้ได้ จะทำให้ได้ จะทำให้ได้ เหมือนคนมีกำลัง เหมือนคนจะทำอะไร จะแข่งขันอะไร ต้องชนะแน่ ต้องชนะแน่ เหมือนนักมวยที่เขาจะชกกัน เขาก็ต้องบอกว่าชนะแน่ พระอานนท์ก็เช่นกัน นั่งทำความเพียร จนย่ำค่ำ จนเที่ยงคืน ก็ยังไม่มีอะไร ค่อนคืน จนเห็นแสงเงินแสงทองขึ้น ก็เลยมาเว้นวรรคสักหน่อย เออ! เรานั่งมาตั้งแต่หัวค่ำ จนแสงเงินแสงทองขึ้น ไม่ได้หลับสักหน่อย เราจะพักผ่อนสักหน่อยเพื่อเอาแรง เปลี่ยนฉากใหม่ จะงีบสักหน่อยเพื่อเอาแรง ยังมีนะ (หัวเราะ) ของีบสักหน่อย มันเหนื่อย (หัวเราะ) พระอานนท์ก็ทำอย่างนี้ ของีบสักหน่อย เอนหัวลง ขณะที่เอนหัวลง ยังไม่ถึงหมอนเนี่ย บรรลุธรรมได้ จะว่ายังไง มีรูปแบบไหน พระอานนท์บรรลุธรรมในรูปแบบใด ไม่มีรูปแบบเลย จะว่าอยู่ในท่านอนก็ไม่ใช่ อยู่ในท่านั่งก็ไม่ใช่ กำลังเอนลงนะ เกิดการเปลี่ยนแปลงทันทีเลย
นั่นละกรรมฐาน ไม่ใช่จะอยู่ในรูปแบบเสมอไป นอกรูปแบบก็ใช้ได้ บางทีอย่าประมาทนะ บางทีก็พลาดซะ ก็มี ถ้าเราติดตามดี ๆ มันใช้ได้นะ วิชากรรมฐานไม่ใช่รูปแบบเสมอไป สติมันมีในรูปแบบ ถ้าใช้นอกรูปแบบเป็นอะไร จะชำนิชำนาญ ... เหมือนเล่นดนตรีนะ ถ้าไปตามโน้ตนี่ ไม่เพราะนะ ใช่ไหม ใครเป็นดนตรี ใช่ไหม ต้องแยกไปสักหน่อย ใช่ไหม มี..สักหน่อย (หัวเราะ) มีเสียงแตก ๆ สักหน่อย เซ ๆ สักหน่อย หลวงตาก็เล่นดนตรีเป็นนะ (หัวเราะ) เซ ๆ สักหน่อย เล่นอยู่ในวงเนี่ย มีแคน มีขลุ่ย มีกลอง มีอะไรต่าง ๆ แล้วก็มันต้องมีแยกไปสักหน่อย ให้มันแตก คนจะใส่ใจตรงนั้น มันมีเสียงแทรกไปเนี่ย ไม่เสียหาย เป็นของประดับไปเลยล่ะ เหมือนกับหมอลำ ถ้าเขาเซ ไม่อยู่ในทำนองสักหน่อย จะไพเราะดีนะ เล่นดนตรีก็เหมือนกัน แยกไปสักหน่อย
นี่คือปฏิบัติธรรม มันก็เป็นดนตรีชีวิตของเรา สนุกนะ ทำท่าหลงบ้าง หัวเราะความหลงบ้าง แยกไปสักหน่อย ถ้ามันซื่อ ๆ มากเกินไป ลำดับดู อารมณ์ต่าง ๆ ลำดับดู หยอกล้ออารมณ์ที่เก่า ๆ ลองดู มันจะเป็นยังไง เหมือนเอางูพิษมาหยอกล้อ สมัยหนึ่งอาจารย์สุทัศน์จับงูจงอางได้ เอามาหยอกล้อ บางคนก็ชกมวยกับงูจงอาง งูจงอางสองตัว แต่คน ๆ เดียว ชกตัวนั้น ชกตัวนี้ งูจงอางก็ฉกเอา คนก็หลบหน้าหลบหลัง หยอกล้อ งูมันกลัวคน มันฉกทีไรก็ไม่ถูก กระโดดลงเวทีไป คนก็ตามไป ดึงมันขึ้นมาอีก มาชกกันอีก กรรมการตัดสิน งูจงอางยอมแพ้ วิ่งลงเวทีสองครั้งสามครั้ง ยกมือเชียร์ให้คนชนะเลย นี่เขาหยอกล้อกัน หยอกล้อกิเลสก็ได้นะ ทำท่าคิดไปดู มันจะเป็นยังไง มันจะมีเชื้อ มันจะอะไรเกิดขึ้น
เหมือนสมัยหนึ่ง พระสงฆ์ ๕ รูป ปลีกจากพระพุทธเจ้า ไปเข้ากรรมฐานอย่างเข้ม กลับมาดูความยิ้มแย้มแจ่มใส พระพุทธเจ้าทรงถามภิกษุทั้ง ๕ รูป ภิกษุทั้ง ๕ รูปก็คุย พระพุทธเจ้าก็ไม่ว่าอะไร สมัยนั้น เขาเอานางสิริมา ตายปัจจุบัน เอาไปทิ้งป่าช้า สิริมานี่เป็นหญิงที่งามที่สุด คนงามเมือง ภิกษุทั้งหลายเห็นเธอเนี่ย หวั่นไหว ถ้าภิกษุผู้ที่มีอารมณ์หวั่นไหว พระพุทธเจ้าจึงให้เอานางคนนี้ไปทิ้งป่าช้าโดยปัจจุบัน เปลือยทั้งหมดเลย ภิกษุทั้ง ๕ รูป พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า พวกเธอเดินไปทางนี้ลองดู เมื่อภิกษุไปเห็นนางงามคนนี้นอนเปลือยกายอยู่ ตายสด ๆ เกิดอะไรขึ้นกับภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปไม่หวั่นไหว ภิกษุบางรูปเกิดความหวั่นไหว รู้สึกว่าตัวเองเป็นยังไง โอ! ไม่ได้ กลับเข้ากรรมฐานอีก
เคยมีเพื่อนมาปรับทุกข์ให้ฟัง “อาจารย์ ผมปฏิบัติธรรมมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้อีก ผมโกรธโยม ผมทะเลาะกับโยม ผมเสียใจมาก ทำไมผมเป็นอย่างนี้ ผมไม่คิดว่าผมจะเป็นอย่างนี้ ผมทะเลาะกับโยม ผมโกรธโยม ผมเสียใจมาก ผมทำไปแล้ว เสียใจ”
หลวงตาเลยบอก “ไม่เป็นไร ถ้ารู้อย่างนี้ เรียกว่า กิเลสเหมือนหมาตัวหนึ่ง สติเหมือนช้าง หวั่นไหวอะไร นั่นแหละดีที่สุด จะได้ตั้งต้น จะได้เอาอีก ซ้อมอีก ให้มันได้ฟิตขึ้นมาอีก จะดีกว่าเก่า อย่าไปเสียใจ นั่นแหละ”
เหมือนพระกรรมฐานเห็นนางสิริมา เกิดหวั่นไหว เข้ากรรมฐานอีก เลิศกว่าเก่า อย่างนี้ก็มีนะ หยอกล้อมันอยู่
บางทีพระบางรูปเข้ากรรมฐาน “อาจารย์ ผมมันไม่รู้อะไรนะ มันซื่อ ๆ ไม่รู้อะไรนะ นั่งอยู่ก็ไม่มีอะไร เดินอยู่ก็ไม่มีอะไร นอนอยู่ก็ไม่มีอะไร มันซื่อ ๆ มันเป็นยังไง”
ก็บอกว่า ให้ลำดับอารมณ์ ลองดู จนเห็นความรู้สึกตัว เห็นรูปเห็นนาม รูปธรรมนามธรรม มันจะรู้มา มันทำดีมันทำชั่วรูปนี้ รูปทุกข์นามทุกข์ รูปมันเป็นทุกข์ นามเป็นทุกข์ ทุกข์บางอย่างกำหนดรู้ด้วยความรู้เฉย ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ทุกข์บางอย่างกำหนดรู้ด้วยการบรรเทา ทุกข์บางอย่างกำหนดรู้ด้วยการละ มันคืออะไร ทุกขังเป็นยังไง อนิจจังเป็นยังไง อนัตตาเป็นยังไง รูปนามนี้เป็นความไม่เที่ยงยังไง ความเป็นทุกข์ยังไง ไม่ใช่ตัวตนยังไง ลำดับดู มันเป็นสมมติอย่างใด รูปสมมติ นามสมมติ เป็นอย่างไร รูปโลกนามโลกเป็นยังไง สัจจะความจริงเป็นยังไง สมมติบัญญัติเป็นยังไง ปรมัตถ์สัจจะเป็นยังไง ลำดับดู ความหลงจริงไหม ความไม่หลงจริงไหม ความโกรธจริงไหม ความไม่โกรธจริงไหม ลำดับดูซิ กุศลคืออะไร อกุศลคืออะไร ลำดับดู เรียกว่า ถอย
เหมือนรถติดโคลน ทำยังไงรถติดโคลนน่ะ ถอยหลังบ้างก็มีใช่ไหม เพื่ออะไร ถอยหลังเพื่ออะไร (หัวเราะ) เพื่อออกไป พุ่งไป (หัวเราะ) นี่ก็เหมือนกันนะ คุณต้องทำอย่างนี้ดูซิ เขาก็ไปทำลำดับ โอ! ดี ดี ดี เนี่ย! มันเป็นอย่างนี้ บางทีก็ต้องฉลาดนะ ฝึกกรรมฐานเนี่ย เป็นเถรส่องบาตรไม่ได้ ทำอย่างงั้นมันก็ทำไป บางทีแยกไป เป็นของเรานะ ไม่ใช่ของอาจารย์นะ ไม่ใช่ copy นะ ใช่ไหม (หัวเราะ) มันเป็นของเรา คือปฏิบัติอย่างนี้เป็นของเราแล้ว หลวงพ่อเทียนพูดยังไงก็พูดตามหลวงพ่อเทียนเลย ไม่ใช่ เราต้องเป็นของเรานะ ก็อยากจะพูดเล่น ๆ อย่างนี้ สนุกดีใช่ไหม (หัวเราะ) ให้มี ให้มีอย่างนี้ ชีวิตเราเนี่ย
เอาละสมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน