แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราก็ได้สาธยายพระสูตร ให้ชื่นใจ เหมือนกับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เราสัมผัสในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ในความสำเร็จ เหมือนกับว่ามีหวัง น้อมนำมาใส่ตัวเรา น้อมตัวเราเข้าไปหาธรรม ด้วยความพอใจ
ในความสำเร็จนี้ ถ้าว่าโดยย่อก็ไม่มาก ดังที่เราสาธยายพระสูตร สรุปแล้วมีเพียงสี่ข้อ การกระทำที่ให้เกิดความสำเร็จ
มี “ฉันทะ”..พอใจ ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อยังอกุศลที่เป็นบาปไม่ให้เกิดขึ้น ทำยังไง ฉันทะ ประคองตั้งจิตไว้เนี่ย เพื่อยังอกุศลที่เป็นบาปไม่ให้เกิดขึ้น ฉันทะ..พอใจ ตั้งจิตไว้เพื่อทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้นอีก ฉันทะ..พอใจ ถ้าจะพูดแล้วคือ ละความชั่วด้วยความตั้งใจ ทำความดีด้วยความตั้งใจ เวลามันหลง ตั้งใจเปลี่ยนหลงไม่ให้เป็นหลง มาพร้อมกันเลย มีสติ..มันก็ละความชั่ว มีสติ..ก็ทำความดี มีสติ.. จิตก็บริสุทธิ์ ไม่ยาก เหมือนกับลัดแน่วเลยทีเดียว ทำได้จริงๆ ขอมีส่วนร่วมกับพวกเรา ที่กำลังทำอย่างนี้อยู่ ขอเป็นกองเชียร์ให้
“วิริยะ”..เพียรสิ อย่าทอดทิ้ง ประกอบ คำว่าเพียรคือประกอบ เหมือนกับเราประกอบการงานนั่นแหละ อย่าทอดทิ้ง อย่าทิ้งธุระ เพียรประกอบ
“จิตตะ”..เอาใจใส่ เอาใจใส่อยู่เสมอ ไม่หนีห่าง เหมือนกับเรารับผิดชอบซะ รับผิดชอบพ่อแม่ เอาใจใส่อยู่เสมอ ให้อยู่ข้างหน้าเราอยู่เสมอ พ่อแม่รับผิดชอบ เอาใจใส่อยู่เสมอต่อลูก ภรรยาสามีรับผิดชอบ เอาใจใส่ต่อกันอยู่เสมอ เพื่อนมิตรรับผิดชอบเอาใจใส่ อะไรที่ป้องกันแก้ไข ช่วยอยู่เสมอ เรียกว่า จิตตะ สิ่งที่ทำลงไปด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ
แล้วก็ดูซิว่า มันถูกหรือผิด ย่อย แยกอยู่ ความหลงถูกต้องไหม ความไม่หลงถูกต้องไหม นั่นเรียกว่า “วิมังสา” คือความขบเคี่ยว คือเคี่ยว คือแยกแยะ มันเป็นอย่างไร เป็นธรรมไหม ไม่เป็นธรรมไหม ระหว่างสิ่งที่เราได้สัมผัส ในกุศล ในอกุศล เรามีความเพียรไหม
นี่คือ มันคิดถึง คิดถึงคนอื่น สิ่งที่เราทำอย่างนี้ ทำให้เราเป็นงาน ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ไปในตัวเสร็จ เราทำอะไร เรามีอะไร มันก็รักษาสิ่งนั้น ป้องกันสิ่งนั้น แก้ไขสิ่งนั้น สิ่งที่เราทำกับสิ่งนั้นเป็นอย่างไร และเราทำกับความดี ความดีอาจจะช่วยเรา เรารักษาศีล ศีลจะช่วยเรา เรามีสมาธิ สมาธิจะช่วยเรา เรามีปัญญา ปัญญาจะช่วยเรา คุ้นเคยกัน เพราะมีคุณ เหมือนเราเลี้ยงหมา หมาก็รักเรา เราเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย วัวควายก็รักเรา เราเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เป็ดไก่ก็รู้จักเรา เราก็รับผิดชอบกัน ได้เกี่ยวหญ้ามาให้วัวให้ควายกิน มันก็เป็นความถูกต้อง เราก็ชื่นใจ สิ่งที่เราทำลงไป อันนี้เราช่วยเราแท้ ๆ เนี่ย เราช่วยคนอื่นแท้ ๆ เกี่ยวข้องคนอื่น มันมีชีวิตชีวานะ เอาเลย จนตั้งแต่มันเกิดขึ้นมานะ มันเจ็บก็จะช่วย มันเกิดก็จะช่วย มันเจ็บก็จะช่วย มันจะตายก็จะช่วย ตายแล้วก็ยังช่วย นี่คือน้ำใจ ขอน้ำใจ เรียกว่า “ฉันทะ” มีน้ำใจ อย่าเหือดแห้ง เรียกว่าไม่มีขอบเขต น้ำใจประเภทนี้ มันกระจายไปหลายอย่าง ถ้ามีฉันทะแล้ว ความพอใจแล้วเนี่ย มีความเพียรแล้วเนี่ย เห็นต้นไม้เหี่ยวก็มีน้ำใจ เห็นน้ำขุ่นก็มีน้ำใจ เห็นอะไรที่ไม่ดี มีน้ำใจอยากจะทำให้ดีเนี่ย อยากจะทำให้ดี ทำไมเราจึงมาทะเลาะกันเบียดเบียนกัน ปล่อยกันทิ้ง ทอดทิ้งกัน
ขอมีส่วนร่วม ผู้ที่หลง ว่าไม่หลงก็ได้อยู่นะ ขอบอก ถ้ามีทุกข์ ไม่ทุกข์ก็มีอยู่นะ ขอมีส่วนร่วม ขอช่วย ถ้าใครหลง ขอช่วยเถอะ ไม่หลงก็ได้ ถ้าใครทุกข์ ขอช่วยเถอะนะ ไม่ทุกข์ก็ได้ อะไรที่มีปัญหาไม่มีปัญหาก็ได้ เป็นปัญญาก็ได้ มันวางได้ มันหยุดได้อย่างนี้ ชีวิตเรามันประเสริฐแบบนี้จริง ๆ นะ กระตือรือร้น โอ! จะบอกใครหนอเนี่ย ไปบอกพ่อแม่นะ พอได้ยิน หลวงพ่อเทียนสอน เราก็ทำตาม โอ! อย่างนี้มันก็ทำได้นี่ จะไปบอกพ่อแม่เรา พ่อก็ตายแล้ว แม่ก็ยังไม่ตาย จะไปบอกแม่เราเนี่ย พอมาทำอย่างนี้ก็คิดถึงแม่ คิดถึงพี่น้อง คิดถึงอะไรคนหลายทิศ คนที่เราเคยโกรธก็คิดสงสารทันทีเลย โถ! เราเข้าใจผิดไป ขออภัยเด้อ มันก็ยกมือไหว้ในใจ มันลึกซึ้งนะ แล้วก็บอกจริง ๆ นะ อยากบอก
มันมีรสชาติ มันมีรสชาติ บอกให้คนรู้สึกตัว เวลาคนหลง..เปลี่ยนให้ไม่หลงนี่..มีรสชาติ ถ้าช่วยอย่างนี้ มันก็ทำหน้าที่มนุษย์คนหนึ่ง เราไม่ต้องทอดทิ้งกัน เหมือนเขาว่า แม่ห่วงใยลูกอยู่ตลอดเวลา ห่วงใยตลอดเวลา ได้อะไรมา คิดถึงลูกก่อน ได้อะไรมา คนที่เรารักเราต้องให้คนนั้น ทีนี้ธรรมะไม่รักแบบนั้น รักคนทั้งโลก รักทุกสิ่งทุกอย่าง รักเม็ดดิน เม็ดหิน เม็ดทราย รักทุกอย่าง รักก็ไม่ใช่รักเฉย ๆ ช่วยเหลือ ฉันทะ พอใจ ได้ช่วยแล้วรู้สึกว่ามันมีรสชาติ ได้ช่วยอะไรที่มันไม่ดีให้มันดีขึ้นมาเนี่ย เห็นไก่น้อยขึ้นต้นไม้ไม่ได้ แม่ก็ยังคิดช่วยอยู่ ช่วยยังไง หาไม้ไปพาดตรงใดตรงหนึ่งพอมันปีนขึ้นไปได้ มันก็ปีนขึ้นไปได้ ไม่ได้ทอดทิ้ง
บางที เรามีตา เรามีหู มีจมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอุปกรณ์เครื่องมือ ให้เราได้ทำความดี แต่ถ้าเราไม่ได้มีความเพียร มีตา มีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีรูป รส กลิ่น เสียง ก็เป็นวัตถุแห่งการเกิดกามคุณได้ ชีวิตเรามันก็เป็นอย่างนี้นะ เราจะใช้ชีวิตเราอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ถ้าใช้ผิดมันก็สำเร็จ ถ้าใช้ถูกมันก็สำเร็จ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรม สตินี่ เป็นคู่มือของการใช้ชีวิตที่ทำให้สำเร็จได้ เหมือนคู่มือการแพทย์ คู่มือการเกษตร คู่มือทำอาหาร อะไรต่าง ๆ เป็นสูตรสำเร็จได้ เราใช้ไหม ใช้ยังไง หรือฟรีไปเลยชีวิตนี้ เกิดมาก็ฟรีไปเลยหรือ แล้วแต่มันจะใช้เราหรือ เราใช้มันหรือมันใช้เรา ชีวิตเราเนี่ย ตาเห็นรูป พอใจไม่พอใจ มันใช้เราแล้ว ตาใช้เราแล้ว ถ้าเราใช้ตา เห็นรูป เห็นกาย เห็นอะไรก็ถูกต้อง ไม่ไปถึงความพอใจ ไม่ไปถึงความไม่พอใจ ตกลงที่นั่น สำเร็จแล้ว ได้ประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดความดี ไม่ให้ไปถึงอกุศล
โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมนี่ สั้น ๆ เหมือนจะก้าวไปทีละก้าว ทีละก้าว ก็เหมือนได้มา ก็เหมือนเก็บเอาเงิน เอาเงินทีละ ได้ทุกครั้งทุกครั้ง มันไม่ได้ฟรี ชีวิตที่เราฟรีมา มันน่าเสียดาย ใช้ตา ใช้หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้กายยังไง เดินยังไง ใช้ใจยังไง คิดอย่างไร ได้ประโยชน์จากความคิดไหม ได้ประโยชน์จากกายที่มันทำอะไรไหม เราก็ได้ แต่อาจจะได้แต่ความหลง ได้แต่ปัญหา ไม่ค่อยเกิดปัญญา
วิชากรรมฐานเป็นวิชาที่ลิขิตชีวิตของเรา ถึงจุดหมายปลายทาง ปลายทางของชีวิต ... วิมุตติหลุดพ้น ปลายทาง อะไรก็หลุดพ้น พ้นอะไร พ้นจากปัญหา คือปัญญา อาการหลุดพ้นนี้ ระหว่างที่จะทำให้เกิดการหลุดพ้นนี้ ไม่ได้เอาความยาก ความสะดวก มาต่อรอง ความยากหรือความตายไม่มีความหมาย ปลายทางเป็นจุดหมาย ความตายไม่มีค่าอะไร ความยากไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา ความทุกข์ความลำบากไม่มีค่าอะไร บางคนก็เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธอย่างนี้ ลำบาก เอาความลำบาก ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ให้การทำไม่ได้มันมาขวางกั้น มันต้องได้ นี่คือความยากลำบาก มันมีค่า สำหรับผู้ที่จะไปสู่จุดหมายปลายทาง มันหลง..เปลี่ยนไม่หลง มันโกรธ..เปลี่ยนไม่โกรธ บางคนก็พอใจในความโกรธ ไม่อยากวาง ไม่อยากทิ้ง ทำไม่ได้ ตามใจไม่ได้ ของง่ายกลายเป็นของยาก
ผู้ที่มีความเพียร มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ วิมังสาเนี่ย มันเป็นของง่าย ๆ ความดีทำได้ง่าย ความชั่วทำได้ยาก เป็นการกระตือรือร้น ความขยัน ขยัน..คือความเพียร ภาวนา..คือใส่ใจ คือเพียรอยู่เสมอ ไม่ใช่ความเพียรคือค่อย ๆ เดินย่อง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น ความเพียรมันต้ององอาจ มองอะไรด้วยความองอาจ เห็นผิด..เป็นบัณฑิต ถ้าเห็นมันผิด เห็นทุกข์..เป็นบัณฑิต ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์ อาจจะเป็นคนพาลได้ ถ้าเราฝึกดีเนี่ย ไม่ทิ้งลีลา ในการเปลี่ยนร้ายเป็นดี ไม่ทิ้งลีลาเลย สง่างามอยู่เสมอ ในโลก สง่างามในโลก โลกคือมีรสชาติ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ คนที่ฝึกชีวิตมาดีนี่ สง่างามอยู่ตรงนี้ ไม่หวั่นไหวต่อโลก ง่าย ๆ จึงจะถึงความหลุดพ้น เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องไปแบบนี้นะ ทางที่จะไปสู่เหนือ เกิด แก่ เจ็บ ตายได้ มันต้องเปลี่ยนอะไรทั้งหลายทั้งหลาย
ดังที่เราสาธยายพระสูตร ในฉันทะ ในวิริยะ ในจิตตะ ในวิมังสา มันเป็นตัวปฏิบัติ สรุปแล้วมันคือตัวปฏิบัติ คือโต้ตอบ ทักท้วง ตรวจสอบ ไม่เป็นอะไร มีแต่เห็น ไม่เป็นอะไรกับอะไร เรียกว่า เป็นมรรคเป็นผลทันที เป็นเหตุเป็นผลทันที หลงเป็นเหตุ ไม่หลงเป็นผลทันที ทุกข์เป็นเหตุ ไม่ทุกข์เป็นผล อะไรก็ตามที่มันเป็นเหตุ เป็นเหตุทั้งหลาย เปลี่ยนร้ายเป็นดีทั้งหลาย
ย่อ ๆ “ทุกสิ่งทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ จะดับก็ดับที่เหตุ” คาถาพระอัสสะชิสอนพระสารีบุตร ว่าเท่านี้..ดวงตาเห็นธรรมแล้ว กระตือรือร้นแล้ว มองทะลุทะลวงแล้ว โอ้! อะไรอะไรก็ตาม มันเกิดที่เหตุดับที่เหตุ พอแล้วบัดนี้ เป็นคู่มือแล้วบัดนี้ เป็นคู่มือใช้ชีวิตได้อย่างดีที่สุดแล้ว
“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต” พระตถาคตสอนอย่างนี้ เรารู้อย่างนี้ ได้ฟังอย่างนี้ก็พอใจแล้ว เอามาทำดู เป็นเรื่องของเราอยู่เนี่ย หลงเป็นเหตุ..ไม่หลงเป็นผล ทุกข์เป็นเหตุ..ไม่ทุกข์เป็นผล ที่ทำเหตุทำผลอย่างนี้ ประกอบด้วยอะไร ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ทำให้สำเร็จ เปลี่ยนความหลง..ไม่หลง สำเร็จทุกที ไม่มีการบ้าน ไม่มีค้างคา เปลี่ยนโกรธ..ไม่โกรธ ไม่ผิดสักที เปลี่ยนได้ทุกที ๆ หลุดพ้นทุกที นี่คือหลุดพ้น วิมุตติ จุดหมายปลายทางคือ วิมุตติ
ศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ไม่ใช่ลาภสักการะ สรรเสริญเยินยอ ไม่ใช่เจ้าลัทธิ พวกพ้องบริวาร แต่เป็นความหลุดพ้น นี่คือธรรมวินัย นี่คือวิเศษ นัยยะ..นำไปสู่ความหลุดพ้นอย่างวิเศษ จนเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอไปถึง เมื่อมีเกิดต้องมีความไม่เกิด ทำเป็นแล้ว เมื่อมีแก่ต้องมีความไม่แก่ เมื่อมีเจ็บก็มีความไม่เจ็บ เมื่อมีตายก็มีความไม่ตาย มันจะชำนาญที่ตรงนั้นละบัดนี้ มุ่งไปสู่ตรงนั้นเลย จุดหมายปลายทางคือตรงนั้น จบละชีวิตบัดนี้ ทำยังไงก็ไม่มีภพอีก ในเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีภพตรงนี้แล้ว จึงได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้า ศาสนานี้ศาสนาแห่งชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าไม่เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องเรียกว่าพระพุทธเจ้า เรียกว่าพระเจ้าอะไรก็ได้ เรียกว่าอะไรก็ได้ เหมือนกับมีศาสดาทั่ว ๆ ไป ศาสนาทั่วไป เพราะว่าพระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่อยู่เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีเท่านี้ชีวิตเรา อะไรที่มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันเกี่ยวข้องกับอะไร
เริ่มต้นจากการปฏิบัติในก้าวแรก เหมือนกับก้าวไป ก้าวไป ถึงจุดหมายปลายทาง มีสิ่งที่เราได้ก้าวข้ามไป อะไรบ้าง ข้ามอะไรบ้าง เปลี่ยนอะไรบ้าง ในโลกนี้ เรื่องกายมีอะไรบ้าง เอากายมาเป็นภพ เป็นชาติมีไหม เป็นภพเป็นชาติในกาย เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ ว่าอย่างไรต่อไป กายนี้มีตัวมีตนไหม หรือสักว่ากาย กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เมื่อกายมันแสดงออก ข้ามไปแล้วจนถึงความสักว่ากาย กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา นั่นข้ามไปแล้ว กายมีกายเดียว แต่กายในกายมีหลายกาย กายนี้เป็นกาย เรียกว่า “มหาภูตรูป” เป็นกาย เป็นรูปที่อาศัย ให้ละความชั่ว ให้ทำความดี เรียกว่ามหาภูตรูป ทีนี้กายในกายเรียกว่า “อุปทายรูป” อุปทายรูปมันมีเกิดอีกในกาย เห็นกายในกายทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เรียกว่า อุปทายรูป
อุปทายรูป คืออะไร คือ กู เกิดซ้อนอีกทีนึง กูเจ็บ กูร้อน กูหนาว กูปวด กูเมื่อย กูหิว กูอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกในกาย เป็นภพเป็นชาติ ไม่ใช่แบบนั้น ถ้าเห็นสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียกว่า “ก้าวไปแล้ว” ถ้าเอากายมาเป็นภพเป็นชาติ เป็นมหาภูตรูป มันไม่จบ มันก็มีภพมีชาติอยู่ในกาย ในเวทนา คือสุขทุกข์ทั้งหลาย เวทนาทั้งหลาย เป็นสุขก็มี เป็นทุกข์ก็มี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มี ในความพอใจ ในความชอบ ในความไม่ชอบก็มี อย่าไป อย่าให้มันเกิดภพนี้อีก เห็นสักว่าเวทนา จนไปเห็นรูปเห็นนาม ง่าย ๆ ละบัดนี้ ไม่ต้องเรียกว่าสุข ไม่ต้องเรียกว่าทุกข์ เรียกว่า “อาการ” ที่มันเกิดจากกายจากจิต เรียกว่า “เป็นธรรม” “เป็นอาการ” ไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ ไม่ต้องเรียกว่าสุขว่าทุกข์บัดนี้
เรียกเป็น “อาการ..เกิดกับกายกับจิต” กายก็ว่าสักว่ากายเท่านั้น จิตก็สักว่าจิตเท่านั้น ที่มันเกิดเป็นอาการ มีมาก เป็นภพเป็นชาติ นี่เรียกว่าง่าย ๆ บัดนี้ ถ้าเรียกว่าอาการแล้วง่าย ง่าย ๆ เหมือนของหนักเป็นของเบา
แต่ถ้าเรียกว่าสุข ว่าทุกข์ มันหนัก “อุปทายรูป” ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์แล้วก็..เป็นอุปาทาน ถ้ามีสุขมีทุกข์แล้ว..มีภพมีชาติ เป็นภพเป็นชาติ
ถ้าไม่มีภพมีชาติ ก็ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ที่เรียกว่าธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่มีสุขไม่มีทุกข์ อย่างพระพุทธเจ้า ตอนจะปรินิพพานเคยทำอย่างไรในฌานสมาบัติ พอละสุขละทุกข์เสียได้ มีอะไรอีกต่อไป มีสติแล้วแลอยู่ มีสติแล้วแลอยู่ สติไม่ใช่สติธรรมดา เป็นสติปัฏฐาน สติคุมกำเนิดของภพของชาติ กำเนิดของภพของชาติ คือตัวคือตน ไม่มีภพในแบบนี้ เรียกว่า “สิ้นภพ สิ้นชาติ” นี่เป็นจุดหมายปลายทาง
เมื่อเอาเรื่องนี้ไปสอนคนอื่น โอ้! จะไปบอกใครหนอเนี่ย มันน่าจะบอกใคร จะบอกคนนะเนี่ย เรื่องของคนจริง ๆ นะเนี่ย จะบอกใคร เหมือนเราได้อะไรดี ๆ มา คิดถึงคนที่เรารัก คิดถึงเพื่อน ถึงมิตร ถึงใคร คนที่จะพอฟังเรื่องนี้ได้คือใครหนอเนี่ย มันก็ไปเองบัดนี้ เป็นประโยชน์ต่อโลก เรียกว่าโลกาธิปไตย ไปเลย อธิปไตยต่อโลก เพื่อธรรมาธิปไตย เพื่อเป็นธรรม ให้เกิดความเป็นธรรมต่อโลกขึ้นมาทันที ไปเลยทีเดียว ไม่มีคำสั่งอะไรที่ไหน มันเป็นหน้าที่
มันเป็นหน้าที่ มันเป็นงานของชีวิต เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มันเปลี่ยน มันเป็นชีวิตชีวา เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ จนอยู่เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ “ชีวิต” ชีวิต..ไม่ต้องเป็นอะไร ถ้าเป็นอะไร เป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ใช่ชีวิต ชีวิตไม่มีในสุขไม่มีทุกข์ เรียกว่าชีวิต ไม่มีอะไรแตะต้องได้ ยิ่งใหญ่ คำว่าไม่เป็นอะไร เหนือสุขเหนือทุกข์ ยิ่งใหญ่มาก เป็นความยิ่งใหญ่ในชีวิต มีแต่เห็น เห็นโลกอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในโลก เพราะอะไร เพราะเราฝึกมาดี ทำให้สำเร็จ ในความเพียรชอบ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เอาไปใช้กับอะไรก็ได้ สำเร็จ
ผัวเมียทำต่อกัน ถ้าใช้ธรรมะอย่างนี้ หลักการนี้ ก็มีความสำเร็จ ฉันทะ..พอใจ ผัวเดียวเมียเดียว วิริยะ..เพียรประกอบต่อกัน ทำความดีต่อกันเรื่อย ๆ อะไรที่เป็นความดีทำใส่กันเรื่อย ๆ จิตตะ..เอาใจใส่อยู่เสมอ ไม่วางทิ้ง ไม่นอกใจ เอาใจใส่อยู่เสมอ มอบความเป็นใหญ่ให้อยู่เสมอ ซื่อสัตย์อยู่เสมอ วิมังสา..ดูเหตุดูผลอยู่เสมอ อะไรมันจะเกิดความแตกแยก แก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ดีอยู่เสมอ นี่ทำได้สำเร็จ การงานก็ทำสำเร็จ ทำอะไรก็สำเร็จ
เรียกว่า “ธรรมอันทำให้เกิดความสำเร็จ” ในโลกมีเท่านี้ ไม่มีอะไรอีก เป็นหลัก หลักแข่งขันกับโลก ในโลกเขามีความสำเร็จทางโลก มีหลักสูตร มีวิชาการ ทำให้วิชาการเกิดความสำเร็จ ตามศาสตร์ต่าง ๆ ชำนิชำนาญในศาสตร์ต่าง ๆ ในสาขาวิชาการต่าง ๆ ทำได้สำเร็จ นักขับเครื่องบินก็ขับเครื่องบินได้สำเร็จ ซ่อมก็ซ่อมได้สำเร็จ นั่นแหละหลักธรรม อะไรเป็นความสำเร็จได้ ไปถึงความไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จได้ มีไหม แข่งกันกับวิชาศาสตร์ทางโลกได้ไหม นี่แหละ ฉันทะ
อย่างที่เราสาธยายพระสูตรเนี่ย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นภาษาบาลี ฉันทะคือพอใจเพียรประกอบ สิ่งความดีตั้งไว้ ยังอกุศลที่ยังไม่เกิด อกุศลที่เป็นบาปยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ฉันทะ.. พอใจที่จะสร้างกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และประคองไว้ ให้ตั้งอยู่ในกุศลนั้น มีสติ ไม่เลอะเลือน ให้งอกงาม ให้ไพบูลย์ ดีขึ้น เมื่อกุศลอื่น เมื่อกุศลนี้มีอยู่แล้ว ความไม่หลงมีอยู่แล้ว ความไม่ทุกข์ไม่โกรธมีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา ถ้าอกุศลที่เป็นหลง เป็นโกรธ เป็นบาป เกิดขึ้นแล้ว อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นอีก เป็นเหล่าเป็นกอไป มีเชื้อมีสายไป เหมือนเชื้อโรค ถ้าเชื้อโรคก็ขยายได้ง่าย โรค รูปโรค นามโรค โรคที่เป็นรูป ที่เป็นโรคของรูป บางอย่างรักษาได้ บางอย่างรักษาไม่ได้ แต่โรคทางจิตใจเนี่ยรักษาได้ รักษาได้ อันนี้ โรคอันนี้ รักษาได้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็โรคอันนี้ อันโรคที่มันเป็นโรคทางร่างกายนั้น มันเป็นรูปโรค มันเป็นก้อนโรคอันหนึ่ง ตื่นเสีย พระพุทธเจ้าเมื่อเห็นโรคอันนี้เนี่ย ตื่น พุทโธเนี่ย ตื่น เห็นหลงก็ตื่นหลง เห็นโกรธก็ตื่นโกรธ เห็นทุกข์ก็ตื่นทุกข์ ไม่เข้าไปใกล้ ไม่ให้มันคุ้นเคย ไม่ให้มันมาแตะต้อง มันมีพิษ เรียกว่าโรคอันนี้ โรค นามโรค โรคของกาย โรคของรูปเป็นอันหนึ่ง โรคของนามเป็นอันหนึ่ง ถ้ามีโรค ถ้ารักษาโรคของนาม นามโรคได้ โรคของกายก็ค่อยจะเป็นการเยียวยา หรือป้องกันได้ อย่างคุณหมอถามคนป่วย เอาสมมติฐาน เอาข้อมูลจากคนป่วย ได้สันนิษฐานเป็นโรคแบบนี้แบบนี้ ใช้ยาแบบนี้แบบนี้ นั่นแหละก็รักษาได้ แต่โรคของสมุทัย คือโรคของนามโรคเนี่ย เขามีสมมติฐาน มีเหตุ ว่ามันหลง มันจะทุกข์ จะโกรธ เหตุมันคือหลง ตัวที่แก้หลง อันที่แก้หลง คือ มีสติ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง
“สักกัตวา พุทธะรัตตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง หิตัง เทวะมะนุสสานัง พุทธะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ ทุกขา สัพเพ พะยา สัพเพ โรคา” พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ คือธรรมะ พระธรรมเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระสงฆ์เจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
“พุทโธ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม” อย่างที่เราสาธยายพระสูตรทำวัตร พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
“ธัมโม ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม” พระธรรมเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
พระสงฆ์ก็เหมือนกัน เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน เป็นไปเพื่อความสงบ
มันหลง..เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง กำจัด มันโกรธ..เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ มันทุกข์..เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ มันสุข..เปลี่ยนสุขเป็นไม่สุข ละสุขละทุกข์ได้ เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป ๆ เรียกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในคราวเดียวกัน
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีธรรม นี้เป็นธรรม เป็นเครื่องมือ ใช้ได้เลย เยอะแยะไปเลย มีศีลก็มาช่วย สมาธิก็มาช่วย ปัญญาก็มาช่วย
ศีลคือปกติ มันหลง..ไม่ปกติ ความไม่หลง..ปกติ ศีลมา สมาธิ..มั่นใจตั้งมั่นอยู่เสมอ ทำอะไรก็ชัดเจน แม่นยำ นี่สมาธิ ออกจากบ้าน ปิดประตูหน้าต่าง ใส่กุญแจ มีสมาธิ กุญแจใส่กระเป๋ามีสมาธิ แน่นอนแล้ว แม่นยำชัดเจน นี่สมาธิ ปัญญา..รอบรู้ คราวเดียวกันทันที ทำสำเร็จ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ทั้งความเพียร อะไรต่าง ๆ กำมือเดียวนะ ไม่มาก
พระพุทธเจ้าได้ชูใบไม้ขึ้นในป่า กำมือเดียว ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในกำมือนี้กับใบไม้ทั้งป่า อะไรมากกว่ากัน จนท้าทายแบบนี้ พระสงฆ์ทั้งหลายก็บอกว่าใบไม้ในป่ามีจำนวนมาก ใบไม้ในกำมือไม่สามารถเปรียบเทียบใบไม้ในป่าได้ นี่แหละสิ่งที่เรามาสอนมีเท่านี้ กำมือเดียวเท่านี้ อันใบไม้ทั้งป่าเป็นส่วนประกอบ ใหญ่ที่สุดคือสติสัมปชัญญะ เหมือนรอยเท้าของช้าง ธรรมอันอื่นเหมือนรอยเท้าของสัตว์อื่น รวมลงมาที่รอยเท้าของช้างได้ คือความไม่ประมาท สติเป็นความไม่ประมาท มีสติเป็นหน้ารอบ ไม่เผลอ เหมือนพระขีณาสพผู้มีสติเป็นวินัย ขีณาสพคือพระอรหันต์ ผู้มีสติ อรหันต์ไม่ใช่เหาะเหินเดินฟ้าไปไหน ผู้มีสติ หน้ารอบ มีสติก็อยู่โดยชอบ ตั้งแต่ความคิดชอบแล้ว ความดำริชอบแล้ว พูดจาชอบแล้ว การงานชอบแล้ว การเลี้ยงชีวิตชอบแล้ว ความเพียรชอบแล้ว ตั้งสติก็ชอบแล้ว สมาธิชอบแล้ว ทั้งหมดไปได้เลย ถ้ามีอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธออยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ก็ไม่มีวิธีใดที่เราจะทำต่อไป ก็ชวนกันเจริญสติแบบนี้แหละ ให้เราได้ปกป้อง กินข้าวชาวบ้าน ถือผ้าชาวบ้าน โดยเฉพาะหลวงตาเป็นหนี้ประเทศชาติมากที่สุด เจ็บไข้ได้ป่วยใช้เงินเป็นล้าน ๆ บาท ขอใช้หนี้ด้วยการบอก การพูดอย่างนี้ สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน