แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ใส่ใจกับธรรมจักร ทั้งออกมาทางวาจา ทั้งจิตใส่ใจมันก็มีความสุขดี วันนี้ก็เป็นวันอาสาฬหบูชาวันเพ็ญเดือนแปด แต่ปีนี้มันเป็นแปดสองหน มาเป็นวันเพ็ญเดือนเก้า ก็นับจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 2,600 ปีกับอีก 90 วัน มาถึงวันนี้รอบหนึ่งอีกที่พวกเราได้มีโอกาสครบรอบ จึงได้มาร่วมกันวันอาสาฬหบูชา มาสมาทานศีล มาทำบุญ มาปฏิบัติธรรม ก็มีชีวิตมาถึงนี่แล้ว ก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ ไป
มาปฏิบัติธรรม ก็คือมาเรียนรู้จากความรู้ ได้เรียนรู้จากผู้รู้ การเรียนรู้จากผู้รู้หรือการเรียนรู้จากตำรับตำราหนังสือท่องเอาจำเอา อันนั้นเป็นความรู้ทางโลกๆ ความรู้ทางพระพุทธศาสนาทางธรรมะ มาเรียนรู้จากสภาวะที่ความรู้ ภาวะที่รู้ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรานี้ เมื่อเราปฏิบัติจะได้เห็นภาวะที่รู้นี้ ให้ภาวะที่รู้สอนกายสอนใจเรา สิ่งที่มันไม่ใช่รูปเกิดขึ้นที่กายที่ใจมากมาย ปฏิบัติธรรมจึงมีโอกาสสอนตัวเองได้มากมาย เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับกายกับใจ
ภาวะที่รู้จะสอนสิ่งที่ผิดให้เกิดความรู้ขึ้นมา สิ่งไหนไม่ใช่ความรู้เป็นสิ่งที่ผิด เมื่อถูกสอนบ่อยๆ ก็จะเชื่องลง จะดีขึ้น เช่น เรามีสติ ถ้าตรงกับความหลง มีสติดูกายเคลื่อนไหว คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก สิ่งที่มันเกิดที่มันหลงขึ้นมาก็ผุดขึ้นมา แต่เราเอาความรู้ตั้งไว้แล้ว ก็ไปทักท้วง รู้เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้น กลับมาตั้งในความรู้สึกตัว ครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากความหลงจากความคิด ความหลงจากอาการต่างๆ ที่เกิดกับกายก็มาก ก็เลยกลับมาเหมือนเดิม มามีความรู้สึกตัวที่คู้แขนเข้าเหยียดแขนออก นี่คือเรียนรู้จากสภาวะที่รู้ จะเรียนรู้จากสภาวะที่รู้เช่นนี้ จึงเกิดเป็นพุทธะ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เป็นเครื่องทำให้เกิดการหลุดพ้นจากอาการต่างๆ ได้ เป็นพุทธะขึ้นมาได้
พุทธะในภาวะที่รู้มากกว่าอันอื่น เหมือนกับเราฟังพระสูตรที่สวดธรรมจักร ธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้ามันเรื่องดีทั้งนั้น เมื่อเราปฏิบัติธรรมมีสติ คู้แขนเข้าเหยียดแขนออก เห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนแม่นยำ ไม่ต้องถามใคร มีอยู่พร้อมแล้ว ได้บทเรียนเยอะแยะ ที่มันเกิดจากกายจากใจเรานี้ เมื่อได้บทเรียนก็เป็นประสบการณ์ ไม่ว่าเราจะทำอะไรถ้ามีประสบการณ์ มีบทเรียนกับสิ่งที่ผิดที่ถูก มันก็มีความชำนาญรู้แจ้งรู้ยิ่งขึ้น เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา ล่วงพ้นภาวะเก่าๆ ได้ อันนั้นก็ละได้แล้ว
อย่างที่เราสาธยายพระสูตร ทุกข์เรากำหนดรู้ได้แล้ว ทุกข์รู้แจ้งแล้ว ทำได้แล้ว เหตุให้เกิดทุกข์เรารู้แล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ละได้แล้ว วิธีทำให้พ้นจากความทุกข์ เราทำได้แล้ว ทำให้เกิดมีขึ้นแล้ว เพราะมันอยู่ในสัมผัสมาเอง ได้เห็นเอง ผู้ปฏิบัติต้องเห็นเอง ในสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรานี้ เราเห็นเอง นั่นก็คือเรื่องเก่า อย่างทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือเรื่องเก่าๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก็เอาเรื่องเก่าภาวะที่รู้เข้าไปเฉลยเหมือนเดิม มันก็ย่อมชำนิชำนาญมากขึ้น ไม่รู้ก็รู้แล้ว ทำไม่ได้ก็ทำได้แล้ว ไม่แจ้งก็ทำให้แจ้งแล้ว ทำให้เกิดมีได้แล้ว ไม่ได้ทำลงไป มันหลงก็ได้รู้ลงไปในความหลง เปลี่ยนรู้ไปแทนที่ความหลง ความรู้ไปแทนที่ความทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดกับกายกับใจเรานี้เรียกว่าอริยสัจ
ของจริงที่มันเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่ มันก็ไปตรงกับความรู้สึกตัว มันก็เปิดเผยไม่ปิดบังอำพราง ถ้ามีสติ ไม่มีตรงไหนปิดบังอำพรางในกายในใจเรานี้ ได้บทเรียนเยอะแยะ ได้ประสบการณ์เยอะแยะ ที่ได้พบได้เห็นเรื่องอาการต่างๆ ที่เกิดกับกายกับใจ มันเป็นสูตรเป็นสูตรไป ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้เห็นนู่นเห็นนี่ เป็นหมวดเป็นหมู่ อะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ เช่น ความหลงมันใช้ไม่ได้ ความรู้สึกตัวมันใช้ได้ ความทุกข์มันใช้ไม่ได้ ความรู้สึกตัวความไม่ทุกข์มันใช้ได้ เพราะได้สัมผัสตอบได้เองไม่มีคำถาม ความจริงความเท็จเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปถามใคร อะไรที่มันเกิดกับกายกับใจเรานี้ เห็นความเท็จความจริงถ้ามีสติเป็นที่ตั้ง
สติเป็นเจ้าถิ่น สติเป็นเจ้าของ สติเป็นผู้ดูแล ถ้าได้สติเป็นผู้ดูแลกาย ชำนาญในกาย สติชำนาญในจิตใจ มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น มีอำนาจ อำนาจในความรู้สึกตัวก็กลายเป็นธรรม เป็นธรรมเกิดขึ้นต่อกายต่อใจ เมื่อกายจะได้รับความเป็นธรรมแล้วอะไรที่ไม่เป็นธรรม กระตือรือร้นที่จะแก้ ปลดเปลื้องมัน เช่น ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ มีไม่ได้แน่นอน เฉยไม่ได้ อันที่ว่าความทุกข์ ถ้ามีสติก็ต้องดูแลเหมือนพ่อแม่ดูแลลูก ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม หาจนเจอ อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์แก่ลูก ลูกร้องไห้ หาสาเหตุ สติที่เป็นสติปัฏฐาน ยิ่งเกิดเป็นศึลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา ก็ยิ่งชำระล้างสิ่งตรงไหนที่มันไม่ถูกต้อง เป็นไปเอง กำจัดไปเอง
พุทธะ คือกำจัดความทุกข์ ธรรมะกำจัดทุกข์ สังฆะกำจัดทุกข์ อย่างที่เราสวด พุทโธ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ไม่ใช่อย่างอื่น ธัมโม ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระสงฆ์เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ มันเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ไม่ใช่มีใครมาช่วย เราสร้างขึ้นในตัวเราแล้วภาวะที่รู้เนี่ย เกิดเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นมา ดูแลได้ คุ้มครองได้ กำจัดได้ ถ้าเราทำเป็นแล้ว เป็นไปเอง จึงเรียกว่าได้ทำให้เกิดมีได้แล้ว ทำให้เกิดมีได้แล้วในอริยสัจในเราทั้งหลาย อะไรที่มันมีอยู่ตรงไหน ทำได้แล้ว ทำได้แล้ว ทำเป็นแล้ว
ก่อนที่จะทำเป็นทำได้ต้องฝึกหัด ไม่ใช่ไปใช้เหตุใช้ผล สัมผัสเอาเอง มีสติสัมผัสกับกาย มีสติสัมผัสกับใจ กายกับใจต่อกัน อะไรก็รู้ เกิดกับกายก็รู้ มาถึงภาวะที่รู้ว่าจบแค่นี้ อะไรเกิดกับจิตใจก็มาถึงภาวะที่รู้ สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้ก็มีกรรมฐาน มีนิมิตมีที่ตั้ง ทีแรกก็หัดที่ตั้งมีนิมิต มันกลับมาเอง ทีแรกก็ต้องกลับมา ขวนขวายทวนกระแส หัดไปหัดไป ไม่ได้ทวนกระแสอะไร มันง่าย เราไม่ได้ฝึก ถ้ามันเป็นแล้วไม่ต้องฝึก ชำนาญ เหมือนเราหัดเขียนหนังสือ ทีแรกก็อาศัยบรรทัด ต่อไปไม่ต้องอาศัยบรรทัด ตรงไปเอง
หัดอะไรก็ชำนาญเรื่องนั้น มันหัดได้มันสอนได้ ยิ่งสติไปในกายยิ่งสอนได้ทุกเรื่องทุกราว สติมีในใจก็ยิ่งสอนใจได้ทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องทุกราว เพราะอะไรมันไม่จริงเท่ากับสติ ไม่ชัดเท่ากับความรู้สึกตัวในตัวมันเอง หลวงพ่อเทียนจึงว่า มีสติดูกายเห็นจิต ดูกายแต่ไปเห็นจิตเอง มันอยู่ด้วยกันนี้เป็นรูปเป็นนาม เมื่อเห็นกายเห็นจิต มีสติเห็นก็ถือว่าอะไรเกิดกับกายกับใจก็รู้ การรู้อันเดียวไปเป็นตัวเฉลย หลงไม่เป็นหลง หลงเป็นรู้ไปเสียแล้ว ทุกข์เป็นรู้ไปเสียแล้ว อะไรก็เป็นรู้ไปเสียแล้ว มันแล้ว ทำอะไรมันต้องแล้ว ถ้าทำไม่แล้ว ไม่รู้ทำมันทำไม ทำอะไรก็ต้องเสร็จลงไป ทำนาก็นาเสร็จ เกี่ยวข้าวก็เกี่ยวเสร็จ สร้างบ้านก็สร้างเสร็จ
อันนี้มันสร้างสติไปในกายในจิตนี้ อะไรที่ไม่ใช่สติก็เสร็จลงมาได้ กลายเป็นธรรมรักษา ผู้ประพฤติธรรมอยู่เป็นนิจ ธรรมก็ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ตกไปในทางที่ชั่ว เป็นได้เองไม่เหมือนกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายในนี้มันเป็นของที่ใช้ได้ทุกโอกาส ในเรื่องที่เกิดทุกข์เกิดโทษ เกิดแก่เจ็บตาย ช่วยจนถึงเวลาเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ทำให้แก่ ไม่ทำให้เจ็บ ไม่ทำให้ตายเพราะความตาย ไม่ได้เจ็บเพราะความเจ็บ ไม่ได้ทุกข์เพราะความทุกข์ เป็นอย่างนี้อริยทรัพย์ภายในคือสติปัญญาหรือว่าธรรมะนี้ ทุกคนก็มีกายมีใจกาย กายใจมาตั้งให้เกิดความรู้ ให้ความรู้สึกตัวสอนกายสอนใจ คนอื่นสอนไม่ได้ ความรู้เท่านั้น รู้สึกตัวนั้นเป็นครูสอนกายสอนใจได้ ประกอบขึ้นมาให้มันมี ทำให้มีได้แล้ว ทำให้เกิดมีได้แล้ว ถ้ามีก็ได้ใช้ ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ใช้
ชีวิตเราที่ผ่านมาได้ใช้ภาวะที่รู้นี้คุ้มค่าไหม อะไรเป็นเจ้าของกาย อะไรเป็นเจ้าของจิตใจ เกิดกับกายก็เป็นอะไรไป ไปถึงสองอย่างคือรูปคือนาม กายเป็นทุกข์ ใจก็เป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ กายก็เป็นทุกข์ มันมีความรู้ไหม มันคุ้มค่าไหม ไปโทษอะไร ไปโทษบุญวาสนาที่ไหน ไปโทษใคร เรื่องที่เกิดขึ้นกับเราไปโทษใคร โทษคนอื่นหรือ เขาว่าเรา เขาทำให้เรา อันนั้นก็ไม่จบซะทีเดียว ถ้าปฏิบัติธรรมต้องมาดูแลตัวเอง ไม่ได้ไปโทษใคร ให้มีสตินะ จะได้บทเรียนเยอะแยะ ที่มันเกิดกับกายกับใจ ถ้ารู้เรื่องกายเรื่องใจสอนกายสอนใจได้แล้ว อันอื่นไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะนินทาสรรเสริญ สุขทุกข์ อะไรต่างๆ เกิดแก่เจ็บตายไม่มีปัญหา
ผู้ฝึกตนได้แล้ว มีสติดีแล้ว ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาสรรเสริญ พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น ก็เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด ผู้ฝึกตนดีแล้วมีสติไปในกายในใจดีแล้ว ไม่สะเทือนเพราะนินทาสรรเสริญ เกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นอย่างนี้ธรรมะ ขอจากใครไม่ได้ ตัวใครตัวมันต้องสร้างเอาประกอบเอา มีอุปกรณ์แล้ว วิชากรรมฐานก็มีแล้ว พระพุทธเจ้าให้ตรัสรู้พระธรรมอย่างนี้ นั่งคู้แขนเข้า นั่งเหยียดแขนออก มีแขนมีมือไหม มีทุกคน คู้แขนเข้า ทำไมจึงคู้แขนเข้า อาศัยวัสดุอุปกรณ์ผลิตให้เกิดความรู้ จะคิดเอาไม่ได้ มารู้ความจริงที่มันเป็นปัจจัตตัง ถ้าไม่เคลื่อนไหวเป็นหลักเป็นนิมิต มันจะไม่เป็นปัจจัตตังไม่เป็นปัจจุบัน มันจะเป็นอดีต เป็นอนาคต
ปัจจุบันคือขณะ เป็นขณะ คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก เป็นครั้งเป็นครั้ง ก็รู้เป็นครั้งเป็นครั้งไปพร้อมๆ กันกับนิมิตที่มันเคลื่อนไหว การหัดก็ต้องมีรูปแบบการฝึกหัด ไม่ว่าหัดอะไรก็ต้องจับลงไปสัมผัสลงไป ถ้าไม่สัมผัสไม่จับ มันก็ไม่เป็น การมาสัมผัสกับสติต้องหัดเช่นเดียวกันกับวัตถุอันอื่น เอากายเป็นนิมิตที่ตั้ง คู้แขนเข้า รู้สึก เหยียดแขนออก รู้สึก เจตนาลงไปอย่างนี้ มันจะเป็นปัจจุบัน เมื่อมันตั้งอยู่ในปัจจุบันนานๆ มันก็ชำนิชำนาญ ชำนิชำนาญเหมือนกับต้นกล้าต้นข้าว เมื่อฝังลงดิน มันมีที่ตั้ง มันไม่ตั้งอยู่เฉยๆ มันก็ย่อมออกรากหยั่งรากลงไป พัฒนาตัวมันเอง โตขึ้นมาเป็นเกิดดอกออกผลได้
สติเมื่อตั้งไปในกายนี้ มันเป็นที่เกิดของมรรคผลนิพพาน สติตั้งไว้ที่ใจ มันเป็นที่เกิดของมรรคผลนิพพาน ต่อยอดให้เป็นมรรคเป็นผลได้ที่กายที่ใจนี้ มันมีกายมีใจ อาศัยกายอาศัยใจเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกตัว อย่าใช้กายใช้ใจเป็นที่ตั้งของอันอื่น อันอื่นมันเคยตั้งไว้นานมาแล้ว กิเลสก็พันห้า ตัณหาก็ร้อยแปด มาฟื้นฟูกายฟื้นฟูใจให้มีสติ เหมือนฟื้นฟูป่า แต่ก่อนดินแถวนี้ที่เราอยู่นี้เป็นป่าหญ้าคาป่าพง มันก็ไม่มีคุณค่าต่อแผ่นดินต่อมนุษย์ ฟื้นฟูจะปลูกต้นไม้ลงไป การปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้เก็บต้นไม้เลย ต้นหญ้าต้นพงก็ยังเกิดขึ้นมาอีก ก็ต้องขยันตนเอง ก็ต้องถางต้องดายหญ้า อันไหนที่ไม่ใช่ต้นไม้ที่เราปลูกก็ดายออกไป เราดายออกไป อันที่เราดายต้นอื่นๆ ออกไป ต้นไม้ที่เราปลูกก็งามมีโอกาสงามขี้น
ฝึกกายฝึกใจก็เหมือนกัน เอาความหลงออกไป ความรู้ก็งามขึ้น เอาความทุกข์ออกไป ความรู้ก็งามขึ้นมา ความโกรธออกไป ความรู้ก็งามขึ้นมา เรามาใช้ความรู้ เหมือนต้นไม้ที่เราปลูก ต้นข้าวที่เราปลูกในนา ปลูกอ้อย ปลูกข้าว ก็ต้องรู้จักช่วยเหลือ มีศรัทธาช่วย มีความเพียรช่วยลงไป มีสมาธิมั่นใจลงไป เรี่ยวแรงลงไปสามารถเปลี่ยนได้ มีกำลังเปลี่ยนความร้ายเป็นความดี เปลี่ยนอะไรเป็นความรู้ สมาธิปัญญารู้เห็น ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง ปัญญาก็รอบๆ อยู่วงนอก วงเล็บข้างนอกไว้ ไม่ให้หลุดไปได้ ยอมไม่ได้ จำนนไม่ได้ ปล่อยทิ้งไม่ได้
นี่คือฝึกตนสอนตน ให้เกิดความขยันขึ้นมา ไปๆ มาๆ ก็หมดได้ ต้นคาป่าพงหญ้าคาป่าพงก็หมดได้ ไม่มีสักเส้นเดียวเลย กลายเป็นป่าเป็นดงขึ้นมา แทนป่าพงป่าหญ้าคา ในกายในใจเรานี้มีอะไร บางคนก็สะเปะสะปะมา ปล่อยทิ้งมานานอาจจะรกรุงรังมาก ว่าจะสร้างสติ คู้แขนเข้าเหยียดแขนออก มันก็คิดไปนู่นคิดไปนี่ นั่นแหละ นั่นแหละงานของเรา ทำไมจึงคิด ทำไมจึงคิด อย่าไปว่า ดี มันดีด้วย มันคิดขึ้นมาจะได้รู้ความคิด ได้เห็น มันอยู่นี่หรือนี่ เหตุมันเกิดที่นี่หรือ มันหลงนี่ก็กลับมารู้
นี่แหละ นี่แหละที่เรียกว่าอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หลง ทุกข์คือยังไง ทุกข์ก็ต้องกำหนดรู้ รู้แล้ว รู้แล้ว คำว่าทุกข์เนี่ย รู้ชัดเจน ไม่เป็นสุขแน่นอน ไม่ใช่สติ เหตุให้เกิดทุกข์ก็ละได้แล้ว ละแล้ว กำลังละอยู่ แล้วก็ละได้แล้ว ละได้แล้ว ก็เลยทำอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์ละได้แล้ว สิ่งที่ทำยังไม่แจ้ง ทำแจ้งให้แจ้งแล้ว ทำให้มีเกิดขึ้นแล้ว ก็เรื่องเดียว มีปริวัติสามอาการสิบสอง ถ้าจะพูดเป็นภาษาปฏิบัติ ทุกข์เห็นแล้ว เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ เหตุ ได้เหตุแล้ว พ้นจากทุกข์ นี่ปริวัติสาม ในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สี่อย่างนี้ มีปริวัติสามเหมือนกันหมด ทุกข์รู้แล้ว ทุกข์เห็นแล้ว ไม่เป็นทุกข์ พ้นจากทุกข์ทำได้แล้ว เหตุให้เกิดทุกข์ ละแล้ว กำลังละอยู่ ละได้แล้ว พ้นแล้ว
เหมือนหลีกงู เห็นงูชูคอแผ่แม่เบี้ย เหมือนเห็นทุกข์ เห็น อยู่ในความปลอดภัยอันหนึ่ง ภาวะที่เห็นเนี่ย ปลอดภัยมาบ้าง เห็นแล้ว คนเห็นงูเหมือนคนเห็นทุกข์ คนเห็นความโกรธ สตินะก็จะไม่ให้งูกัด ออกไป กำลังออกไป หนีไปห่างไกลไปเท่าหนึ่งสองเท่า ไปแล้วออกไปแล้ว เราไปไกลก็พ้นแล้วพ้นโน่น งูอยู่โน่น พ้นแล้วจากงู มีปริวัติสามอย่างนี้ อะไรก็ตาม ให้ชัดเจน ให้แจ่มแจ้ง ให้ทะลุทะลวง อย่าทำเล่นๆ กลบๆ เกลื่อนๆ มันจะไม่แจ่มแจ้ง อย่ากลบเกลื่อน อย่าทำเล่นๆ อะไรเกิดขึ้นมาที่ไม่ใช่สติ
การฝึกตนสอนตนนี้ต้องจัดเจนแม่นยำ เช่น ท่านั่ง ถ้าท่านั่งมันไม่สะดวกก็เปลี่ยนใหม่ วางจังหวะนั่งใหม่ อาศัยให้เกิดความสะดวกแก่ความรู้สึกตัว อย่าให้เวทนามาครอบงำมากเกินไป ถ้าเดินเหนื่อยมากก็เปลี่ยนอริยาบถ ท่านั่งท่าไหนก็ได้
ฝึกใหม่ๆ จะให้อยู่อิริยาบถเดียวนานๆ มันจะพร่า ไม่ชัดเจนในสติ เวทนาจะครอบงำ หรือมันเกิดความง่วง จะแก้ความง่วง ไม่ใช่ไปอดไปทนอย่างอื่น หาวิธีช่วยเยอะแยะ ลุกขึ้นหรือมือลูบตัวลูบหน้า มองทิศมองทางออกไปซะก่อน อย่าไปสร้างจังหวะสู้ความง่วง บางทียังสู้ไม่ได้ถ้าไม่เก่งถ้าไม่ชำนาญ หาอุบายมีเยอะแยะเทคนิค ไม่มีสูตรสำเร็จ ตัวใครตัวมัน เหมือนพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า เอตทัคคะต่างกันในการบรรลุธรรม มีศาสตร์มีศิลป์ต่างกัน ได้ความเด่นชัดต่างกัน
เราจึงดูแลตัวเรา ให้ดูให้รู้ตัวเราจริงๆ ตัวเราไม่มีอะไรมาก มีกายมีใจมีรูปมีนามเท่านี้ อาการที่เกิดกับรูปกับนามมันก็ไม่มีอะไรมาก ไม่เกิดขึ้นใหม่ มันมีเก่าๆ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน แม้ความโกรธก็คืออันเก่า ความหลงคืออันเก่า ความโลภคือเรื่องเก่า มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แก้อยู่อย่างนี้อันเก่านี้ไม่เกิดขึ้นใหม่ๆ เหมือนอันอื่น กิเลสตัณหาก็อันเก่า มันเกิดจากไหน น่าจะเป็นเหมือนพระพุทธเจ้าว่าละอกุศล อกุศลคืออะไร อกุศลก็คือความหลง ความโลภ ความโกรธนี่เป็นอกุศล หนึ่ง สอง สาม ละตัวนี้จะละอย่างไร มีสติ มันเกิดก่อนที่จะโลภจะหลง มันเกิดตัวหลง ตัวหลงเกิดขึ้นก่อน ตรงกันข้ามกับสติพอดี ตรงกันเป๊ะเลยทีเดียว เวลาเราปฏิบัติ พอมันมีสติก็ละอยู่นี่แล้ว ละความชั่วแล้ว ชั่วคืออะไร คืออกุศล อกุศลคืออะไร คือ หลง โกรธ โลภ มีสติก็ละความชั่วนี้แล้ว แล้วก็ทำความดีไปในตัว จิตก็จะบริสุทธิ์ ละความชั่วกลายเป็นศีลแล้ว ทำความดีเป็นสมาธิ จิตบริสุทธิ์เป็นปัญญาเสียแล้ว เป็นพวงเป็นพวงไป ทำอย่างหนึ่งได้ไปอีกหลายอย่าง ถ้าทำถูกนะ ถ้าทำผิดก็ไปได้หลายอย่าง
ง่ายๆ ปฏิบัติธรรม เจริญสตินี้เป็นเครื่องทุ่นแรง สิ่งหนักให้เป็นเบา สิ่งยากให้เป็นง่าย เสมือนว่าถ้าทำตามคำสอนพระพุทธเจ้า เหมือนของที่ปิด ได้เปิดออก เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจทั้งหมด ไม่มีคำถาม เหมือนกับสิ่งที่ปิด เปิดออกแล้ว เหมือนสิ่งที่คว่ำไว้ หงายขึ้นแล้ว เหมือนคนหลงทาง ได้ชี้ทางไว้แล้ว การปฏิบัติธรรมมันช่วยตัวเองได้ถ้ามีสตินะ โตวันโตคืนขึ้นมา โตวันโตคืนขึ้นมา ถ้าจัดเจนแม่นยำ หนึ่งวัน เจ็ดวัน เพราะมันเรื่องเก่า มันรู้ มันหลงก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ ภาวะที่รู้ตั้งไว้แล้ว เป็นเจ้าถิ่นแล้ว ทำเรื่องเก่าอยู่นี้
ไปๆ มาๆ ก็รู้ รู้ รู้ ชำนาญในการรู้ขึ้นมา ชำนาญในการใช้ความรู้ ความรู้ก็เป็นความรู้ ดูแลกันเอง มีสติดูกายดูจิต มีจิตดูจิต จิตจะดูจิตเอง กายจะดูกายเอง มันไม่เอาอันที่ไม่ถูกต้อง เช่น เห็นทุกข์ ทุกข์เนี่ยมันทุกข์ ตั้งแต่ตัวมันก็เป็นทุกข์ แล้วเอาอันอื่นมาให้เป็นทุกข์เนี่ย มันก็ขุดคุ้ยออกมา สูบบุหรี่ เฮ้อ ไม่ได้อดเลย บุหรี่นี้ หลุดไปเลย ทำลายความโกรธความหลง เบาบางจางหายลง มันก็ไปกระทบกระเทือนอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนี้ มันกระทบกระเทือนอย่างนั้น เหมือนซักผ้า เอาน้ำใส่เอาน้ำยาซักผ้าแช่ไว้ มันก็กำจัดไปเอง ผ้าก็สะอาด กำจัดของสกปรกออกไปเอง ถ้าทำถูก วิธีทำถูกต้อง
กรรมฐานเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เรื่องกายเรื่องใจเรานี้ สิ่งที่ผิดทำให้ถูกต้องได้ทุกอย่าง กรรมฐานนี้ จึงว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคือเปลี่ยนร้ายเป็นดีนี้ มา มีเท่าไรเปลี่ยนได้หมด สิ่งที่มันเกิดกับกายกับใจนี้ เปลี่ยนได้ทุกอย่าง จนมันเกลี้ยงเกลาหมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ในโลภโกรธหลง เป็นต้น
นี่ครบรอบ มาถึงวันนี้ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันเพ็ญเดือนเก้า ปี 2555 นับจากวันตรัสรู้มาได้ 2,600 ปี กับอีก 90 วัน วันอาสาฬหบูชานี้นับจากวันตรัสรู้มา 3 เดือนเป็น 90 วัน เราก็มีอายุอยู่นี่ ได้เห็นสัมผัสกันอยู่นี่ ให้ทำความดีต่อไปเถอะพวกเรา เอากายเอาใจมาทำความดี ชีวิตมันหมดไปเรื่อยๆ ไป อย่าไปทำอันอื่นเถิด สงวนกายสงวนใจเพื่อให้เกิดความดีให้มากที่สุด วิธีที่ทำให้เกิดความดีได้มากก็คือมาอยู่นี่ อยู่วัดวาอาราม มีเพื่อนมีมิตรไม่เป็นศัตรูกัน ไม่แย่งเอางานเอาการอะไรกัน เว้นไว้แต่สมัครใจเป็นครั้งเป็นคราว ไม่แย่งไม่แบ่งปัน ไม่ให้แบ่งปัน ให้เป็นส่วนตั๊วส่วนตัว
ลองใช้ชีวิตอย่างนี้ ลองดูเถิด อย่างน้อยก็สามเดือนนี้ เก้าสิบวันนี้ให้เต็มที่ มีวัตรปฏิบัติสำหรับตัวเอง ขีดเส้นไว้ ทำอะไร ทำอะไร อย่าเลอะเลอะเทอะเทอะ เป็นเจ้าแบบเจ้าแผนซักหน่อยในระยะสามเดือนนี้ บัญญัติอะไรที่ขูดเกลาตัวเองก็ให้อธิษฐานในใจ ตัวใครตัวมัน จะขูดเกลาตัวเองแบบไหน มีนิสัยอะไรที่มันเป็นยังไงมา แก้นิสัย เอาขอนิสสัยใหม่ ขอนิสสัยจากพระพุทธเจ้า จากพระธรรมพระวินัย เพื่อฝึกตนสอนตนจะได้มีคุณค่าขึ้นมา จะไม่เสียชาติ ถ้าไม่ฝึกซะเลย ปล่อย ยากอันโน้น ยากอันนี้ ก็ยากไปจนตายนั่นแหละ
อย่าไปอาศัยใคร อย่าอาศัยผู้ใดเลยการฝึกตนนี้ ถ้าไปอาศัยคนอื่นให้คนอื่นช่วย เอาดีจากคนอื่น ไม่มีเลย ตัวเราก็ไม่ช่วย แล้วให้คนอื่นพาให้ดี ธรรมะนี้สอนให้ช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนให้ช่วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นช่วย เอาดีจากคนอื่น ไม่ใช่ ให้มั่นใจ ให้มั่นใจ ในพระธรรมคำสอนว่า ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติต้องทำเอาเอง เป็นปัจจัตตังของผู้ปฏิบัติ มันเป็นอย่างนั้นวิทยาศาสตร์ มันเป็นวิทยาศาสตร์ ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์อีก รู้เองเห็นเอง เป็นปัจจัตตัง
วันนี้ก็อาสาฬหบูชาแล้ว เราก็อยู่ร่วมกันมา ก็อุ่นอกอุ่นใจ เห็นแม่ชี เห็นญาติเห็นโยมที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา เห็นหมู่พระสงฆ์ที่เป็นสังฆะร่วมสมานสามัคคี เข้าหมกลงหอ เข้าหม้อลงไหอันเดียวกัน อาชีพเหมือนกัน รักกัน เคารพกัน อุ่นใจแม้เราอยู่คนละกุฏิไกลๆ เราก็อุ่นใจอุ่นใจ อันนั้นก็มีอะไรที่ต้องไม่แบ่งปัน มีแต่ความอุ่นใจ สิ่งแวดล้อมมันดี อุ่นใจ ชื่นใจ สบายใจ เพื่อนดี มิตรดี สหายดี เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เป็นมรรคเป็นผลได้
เอ้า สมควรแก่เวลาแล้ว