แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หมดไปเยอะ อันโน้นอันนี้ก็หมดไป หูก็หมดไป เสียงก็หมดไป มันไม่เที่ยง รูปนี้เกิดขึ้นแล้ว แก่ เจ็บ ตาย ไป รูปธรรมนามธรรมนี้เกิดขึ้นแล้ว มีแล้วหายไป มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง เหนื่อยหน่าย เหนื่อยหน่ายความไม่เที่ยง เหนื่อยหน่ายความเป็นทุกข์ เหนื่อยหน่ายความไม่ใช่ตัวใช่ตน นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน หลงแล้วหลงอีก เหนื่อยหน่ายไหมความหลง ทุกข์แล้วทุกข์อีก เหนื่อยหน่ายไหมความทุกข์อ่ะ หรือว่าชอบมัน
จึงจำเป็นต้องปฏิบัติธรรม เพราะจำเป็น เราไม่จำเป็นจะต้องหลง ไม่จำเป็นต้องทุกข์ ทำไมเราถึงทุกข์ ถึงหลง ถึงโกรธ ถึงเศร้าหมอง มันไม่จำเป็น จะแก้หรือไม่แก้ ไม่ใช่จะหลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย สิ่งเหล่านี้มันแก้ได้ การดับไม่เหลือแห่งทุกข์ การดับความหลงไม่เหลือ การดับความโกรธไม่เหลือ มีอยู่ ไม่ใช่มันไม่มี สิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่เรา เช่นหลงกับรู้อยู่ด้วยกัน คนละมุม เป็นหน้ามือหลังมือ ทุกข์กับความไม่ทุกข์อยู่ด้วยกัน หน้ามือหลังมือ เกิดกับความไม่เกิด แก่กับความไม่แก่ เจ็บกับความไม่เจ็บ ตายกับความไม่ตายอยู่ตรงกันข้าม
ไม่น่าจะจน เปลี่ยนง่ายๆ ดับได้อยู่ ดับได้อยู่ คือของจริง ดับไม่เหลือแห่งทุกข์มีอยู่ ได้ทำแล้ว ดับไปแล้ว ทุกข์ไม่กำเริบขึ้นอีกแล้ว ไม่มีที่ให้ตั้ง บอกคืนหมดแล้ว จึงได้ชื่อว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะหน้าแล้ว ทุกข์ไม่กำเริบอีกแล้ว นี่คือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ใครๆ ก็ได้ยิน เราก็เลยมาตามรอยตรงนี้กัน
เวลานี้ที่ทำให้เราเข้าถึงภาวะเช่นนี้ได้ ก็มีหลวงพ่อเทียน ถ้าปฏิบัติธรรมก็จะลืมหลวงพ่อเทียนไม่ได้ แม้แต่หลวงตาเองที่นั่งพูดอยู่นี้ เป็นส่วนทั้งหมดของหลวงพ่อเทียน ถ้าไม่มีหลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้อยู่ในสภาพเช่นนี้ งั้นวัดป่าสุคะโตก็อาจจะไม่มีด้วยซ้ำไป (หัวเราะ) เพราะหลวงพ่อเทียนทำให้เกิดนี่ขึ้นมา ถ้าจะมาเห็นเพียงแต่นี้มันไม่ใช่ มันลึกเข้าไปหลวงพ่อเทียน เราก็เป็นศิษย์ที่มีครู เรียนตามพ่อก่อตามครูมา ครูของเราก็หลวงพ่อเทียน บรมครูคือพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเทียนสอนให้เรารู้จักธรรมะ รู้จักหทัยของพระพุทธเจ้า หัวใจของหลวงพ่อเทียน ก็รู้จักธรรมะ รู้จักพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ไม่เคยมีใครสอน มาพบหลวงพ่อเทียน ท่านก็สอนให้มีสติรู้ซื่อๆ สัมผัสกับภาวะที่รู้ซื่อๆ โอ๊ย! อยากจะร้องให้คนมาดู มันหลงก็เห็นซื่อๆ มันหลงไม่มีรสชาติ มันทุกข์ เห็นความทุกข์ซื่อๆ เห็นมันทุกข์ซื่อๆ ไม่ใช่ทุกข์เป็นรสชาติความทุกข์ สุขเป็นรสชาติความสุข ไม่ใช่เลย มันซื่อๆ โอ๊ย! อย่างนี้ใครก็ทำได้แล้วเนี่ย ใครๆ ก็ทำได้ คำว่ารู้ซื่อๆ นี่ มีอยู่แล้วทุกคน คำว่ารู้ซื่อๆ รู้แล้ว มันหลง รู้แล้ว มันโกรธ รู้แล้ว มันทุกข์ รู้แล้ว มันผิด รู้แล้ว มันถูก รู้แล้ว มันสงบก็รู้แล้ว ไม่สงบ รู้แล้ว ไม่ใช่ว่ามันสงบ เออนี่ ชอบ ไม่ซื่อแล้ว ไม่ใช่รู้ซื่อๆ มันฟุ้งซ่าน อย่างนี้ไม่ชอบ นั่นไม่ใช่รู้ซื่อๆ มันผิด ไม่อยากให้มันผิด ทำไมจึงผิด ไม่ใช่รู้ซื่อๆ ถ้ามันถูก เออ อย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ใช่รู้ซื่อๆ สุขก็มีค่า ผิดมีค่า ถูกมีค่า ทุกข์มีค่า
เวลาปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐานเนี่ย มันเหมือนกับถอน เห็นอะไรมันทำอันนั้นแล้ว ไปเห็นความหลงก็ทำความหลงแล้วไปแล้ว หลงเห็นแล้ว ทำกับความหลงแล้ว พ้นจากหลงได้แล้ว เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง พ้นจากความหลง แล้วไปแล้ว ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ก็แล้วไปแล้ว ครั้งที่ 3 ก็แล้วไปแล้ว มันจะเหลืออะไร อะไรก็เห็นอย่างนี้แหละ การดับไม่เหลือแห่งสังขารทั้งหลายมันมีอยู่นะ หลวงพ่อเทียนสอนรู้ซื่อๆ อย่างนี้
เรารู้อย่างนี้ไม่เห็นหลวงพ่อเทียน โอ๊ย! หลวงพ่อเทียนอยู่ตรงนี้หนอ ไม่ใช่รู้จากหลวงพ่อเทียนเห็นหน้า เรารู้จักหัวใจหลวงพ่อเทียน สัมผัสกับหัวใจหลวงพ่อเทียน อันอื่นไม่เกี่ยวข้อง มารู้จักหลวงพ่อเทียนในฐานะแบบนี้ จึงมีความแม่นยำชัดเจน ได้ชีวิตเพราะสิ่งเหล่านี้ ถ้าสอนเรื่องนี้ ใช้ไปๆ ใช้ได้ไปๆ จนเห็นไปลึกๆ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม พอเห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม อ้าว! ทำไมเห็นหลวงพ่อเทียนอีก โถ หลวงพ่อเทียนท่านฉลาด สอนให้เห็นเรื่องนี้ได้ พ่อแม่ก็ไม่เคยสอน ใครก็ไม่เคยสอน เคยมีครูอาจารย์มามากเหมือนกัน ไม่เคยมีผู้ใดสอนแบบนี้ ให้เห็นรูปธรรม เห็นรูปเห็นนาม
พอดูไปๆ ทีแรกก็เป็นกายเป็นใจ ดูไปๆ อันกายอันใจไม่ใช่กายใช่ใจ เป็นรูป ถ้าเป็นกายมันจนง่าย ถ้าเป็นรูปไม่จน มันกว้างขวาง ถ้าร้อนก็คือกาย เป็นตัวตนได้ง่าย ถ้าหนาวคือกาย ถ้าปวดคือกาย ถ้าหิวคือกาย ถ้าเห็นเป็นรูป เห็นเป็นอาการ ไม่ใช่กาย อาการของรูป ไม่ใช่เรียกว่าสุข ไม่เรียกว่าทุกข์ก็ได้ เวทนาที่เรียกว่าเวทนา สุข ทุกข์ ไม่ต้องเรียกเลย เรียกว่าเป็นอาการของรูป อันความโกรธ ความวิตก กังวล เศร้าหมองเป็นอาการของนาม ไม่ใช่เป็นจิตใจ ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน เป็นอาการผิวเผินนิดๆ หน่อยๆ ไม่มีรสชาติเหมือนกับกายกับใจ แต่ก่อนเป็นกายเป็นใจมีรสชาติมาก กู กูโกรธ กูร้อน กูหิว พอเห็นเป็นรูป ไม่ใช่กูเลยซี ไม่สามารถจะเรียกว่ากูได้ อาย อายความเท็จความจริง ไม่สามารถเรียกว่ากูหรือตัวตนได้ เป็นอาการ
มันก็เลยเปลี่ยนแปลง เอ๊า! หลวงพ่อเทียนเป็นอย่างนี้หนอ เปลี่ยนแปลงยังไง เปลี่ยนแปลงเป็นปัญญา แต่ก่อนเคยโง่เคยหลง มาเป็นปัญญา แต่ก่อนเคยเป็นปัญหา เดี๋ยวนี้เป็นปัญญา เปลี่ยนแปลงไปเป็นวิปัสสนา วิ คือ วิเศษ ล่วงพ้นภาวะเดิม ฟังรู้เรื่องไหมนี่ (หัวเราะ) ลิ้นแข็งนะ ล่วงพ้นภาวะเดิม โอ๊! หลวงพ่อเทียนรู้จักแยกสมถะวิปัสสนา ตรงนี้ แต่ก่อนได้ยินเขาว่าคนว่า ฝึกสมถะ ฝึกวิปัสสนา อะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา มันไม่ใช่ไปอธิบาย มันเป็นการเห็น ไม่ใช่คำพูด มันพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น
เห็นหลวงพ่อเทียนตรงนี้ ส่วนอื่นไม่รู้ แต่รู้หลวงพ่อเทียนฐานะแบบนี้ จึงมีความผูกพันกับหลวงพ่อเทียน เป็นชีวิตของเราไปเลย ผูกพันกับหลวงพ่อเทียนในฐานะแบบนี้ แยกไม่ออก ไม่ใช่หลวงพ่อเทียนมรณภาพตายไปแล้ว ไม่ใช่ สิ่งที่มี สิ่งที่เป็นอยู่กับชีวิตเรา มันเป็นหลวงพ่อเทียนที่ให้ติด เป็นสิ่งที่ให้ติดเหมือนสี มาย้อมสีอะไร มันก็ติดอันนั้นชีวิตอ่ะ มันติด มันเป็นวิญญาณ วิญญาณที่มันติด ไม่ใช่วิญญาณล่องลอย มันติด ติดอะไรอ่ะ ติดภาวะที่ต่างเก่าพ้นภาวะเดิมนี่ จะให้ไปโกรธ มันโกรธไม่ได้ จะให้เป็นหลงอีก มันหลงไม่ได้ จะให้เป็นทุกข์อีก มันทุกข์ไม่ได้ แต่ก่อนมันติดแบบนั้นน่ะ วิญญาณแบบนั้น มีวิญญาณแบบนี้ ในความหลงมันก็มีวิญญาณ มีภพ มีภูมิ เป็นเปรตก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกก็ได้ ในความหลงในความโกรธในความทุกข์ เช่นกัน
พอมันป็นวิปัสสนาญาณ สิ่งเหล่านั้นสิ้นไปเลยทีเดียว จะเรียกได้ว่าปิดประตูอบายภูมิได้เลยทีเดียว มันเห็นอย่างนี้ โอ้ มันล่วงพ้นภาวะเก่า เห็นไหม ผูกพันกับหลวงพ่อเทียนมากขึ้นๆ ชัดเจนมากขึ้น ฝึกไปๆ มีสติไป เห็นไป เห็นปรมัตถ์สัจจะ บอกผิดบอกถูกตลอดทาง ความโกรธเป็นสมมุติ ความไม่โกรธเป็นปรมัตถ์ มันจริงกว่ากัน ความไม่เที่ยงเป็นอาการอันหนึ่ง ไม่ใช่ปรมัตถ์ ไม่ใช่สัจจะ ความไม่เที่ยงก็จริงแบบความไม่เที่ยง จะให้ไม่จริงแบบไม่เที่ยง เป็นไปไม่ได้ ความทุกข์ก็จริงแบบความทุกข์ แต่มันไม่จริงแบบความไม่ทุกข์ มันบอกเป็นเช่นนั้น อ่า คำว่าทุกข์เพราะความไม่เที่ยง สิ้นภพสิ้นชาติ ทุกข์เพราะความไม่ทุกข์ สิ้นภพสิ้นชาติ ทุกข์อริยสัจ ส่วนทุกข์เป็นสภาวะทุกข์ มันก็มีอยู่ แต่ทุกข์แบบนั้นกำหนดรู้ด้วยการรู้ ไม่มาก ทุกข์นิสสรณะทุกข์ การหายใจเข้าหายใจออก อันนี้ไม่เรียกว่าทุกข์ เป็นนิสสรณะของธรรมชาติ ทุกข์อาคันตุกะทุกข์คือ ต้องขับต้องถ่าย อันนั้นก็ไม่ใช่ทุกข์ที่เป็นทุกข์อริยสัจ ทุกข์อริยสัจเสร็จเลยนะ เสร็จเลย
มารู้จักหลวงพ่อเทียนทางนี้ มาเห็นแจ้งเรื่องกุศลอกุศล อกุศลกับกุศล บอกทิศบอกทาง แยกกันได้เด็ดขาด เรียกว่ากุศลคือบุญ ไม่ใช่นะ อกุศลคือบาป ก็ไม่ใช่นะ อกุศลมันเป็นทุกข์ กุศลคือพ้นทุกข์ เหมือนกับคนละฝั่งกัน อันหนึ่งมุดลอยอยู่ในห้วงน้ำ อันหนึ่งขึ้นไปบนฝั่ง ถ้าจะเปรียบกุศลกับอกุศล อันหนึ่งอยู่ห้วงน้ำวัฏฏะโอฆะ อันหนึ่งขึ้นฝั่ง คนที่ขึ้นฝั่งจะเห็นคนอยู๋ในห้วงน้ำเช่นไร แล้วมันก็ต่างกันอยู่ คนที่เขาสุขๆ ทุกข์ๆ พอใจ ไม่พอใจ ดีใจ เสียใจ ฟูๆ แฟบๆ กับขึ้นฝั่งมันจะเป็นยังไง มันไม่เป็นยังไง คือมันไม่เป็นอะไรอีก
มาเห็นหลวงพ่อเทียน ผูกพันกับหลวงพ่อเทียนฐานะแบบนี้ รู้จักจิตใจหลวงพ่อเทียน ไม่ใช่รู้จักหน้าตา เราจึงไม่ใช้ความจำ เป็นการสัมผัส โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมที่เรากำลังทำอยู่นี้ ไม่ใช่ที่จะเป็นรูปแบบเฉยๆ มันเสร็จไป มันทำเหมือนคนทำงาน ทำงาน งานต้องเสร็จ สร้างบ้าน บ้านต้องเสร็จ ทำอะไร งานที่เราทำมันต้องเสร็จ เราทำอะไร กรรมฐานคือการไปทำอะไร เราทำ เรามีสติ มีสติเหมือนกับมีเครื่องมือทำงาน มันหลง เหมือนกับงาน มีสติเครื่องมือทำงานเสร็จไปแล้ว เห็น รู้สึกตัว มันหลง รู้ ทำแล้ว อะไรที่ไม่ใช่สติ สติจะทำให้เสร็จไปๆๆ มันเสร็จจริงๆ นะ ถ้าไม่เสร็จ ไม่รู้เราจะทำมันไปทำไม ปฏิบัติธรรมมันเสร็จไป ตั้งแต่ความหลง ความโกรธ ความโลภ ความทุกข์ เสร็จไปๆ อะไรที่มันเป็นงานภาระ หมดภาระไปๆ เสร็จไปๆ เสร็จไปอย่างนี้
นี่จึงจำเป็น ไม่ใช่เราจะหลงจนตาย ทุกข์จนตาย โกรธจนตาย มันเป็นครั้งสุดท้ายได้ แต่มันก็ช่วยกันไม่ได้ กรรมฐานเป็นตัวใครตัวมัน ทำแทนกันไม่ได้ มันมีครั้งสุดท้ายได้ ตอบได้เลยชีวิตเราเนี่ย หนึ่งล่ะ เอ้า แต่นี้ไป เราจะไม่ไปเอากายเอาใจมาเป็นสุขเป็นทุกข์อีกต่อไป ไม่เอากายเอาใจมาเป็นสุขเป็นทุกข์อีกต่อไป จะมีกี่นาที กี่วัน กี่เดือน กี่ปี จะเอาหินแขวนคอให้จมลงไปในน้ำ ก็จะไม่เป็นอะไร จะจับไปปล่อยเกาะ แม้ว่าจะไม่ให้อาหารกินก็จะไม่เป็นอะไร คือมันแล้วจริงๆ
ประสาอาไร้ที่มีตาเห็นรูป พอใจไม่พอใจ ประสาอะไรได้ยินเสียง พอใจไม่พอใจ มันไม่ใช่อย่างนี้ มันจิ๊บจ๊อยเหลือเกิน เรามันอ่อนแอ บางทีเอาชีวิตมาห้อยมาแขวนไว้กับอะไร ความสุขความทุกข์ ความรักความชัง ความพอใจไม่พอใจ เอาไปห้อยไปแขวนกับสิ่งอื่นก็มี คนอื่นก็มี วัตถุอื่นก็มี อะไรเนี่ย เปราะบาง แม้บางทีคิดขึ้นมาเป็นทุกข์ก็มีนะ คิดขึ้นมานอนไม่ได้ กินไม่ได้ก็มี น้ำตาไหล นอนไม่หลับเพราะความคิดก็มีเหมือนกัน มันเปราะบางเกินไป มันก็ไม่เหมาะที่จะอยู่ในโลก แล้วจะพึ่งใคร เอาไปห้อยแขวนที่ตรงไหน
ถ้าเราพึ่งตัวเองไม่ได้เราจะไปพึ่งใคร จะให้ใครพึ่งเราได้ แม้มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ไม่มั่นใจตัวเอง มันก็ไม่สมศักดิ์ศรีว่ามนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูง สูงที่ตรงไหนกัน จึงจำเป๊นจำเป็นการปฏิบัติธรรม แล้วมันก็ช่วยกันไม่ได้ ให้ทำเอง บอกให้ทำ บอกตรงไหน มีสตินะ ให้มีสติ สติไปขอใคร ไม่ได้ขอใคร ประกอบขึ้นมา กรรมฐานไปในกาย มีสติไปในกาย พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ก็ทำแบบนี้ ผู้ทำตามอย่างนี้ ทำตามคำสอนอย่างนี้ เรียกว่ารู้ธรรม เห็นธรรม เรียกว่าพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าไม่ทำตามใคร ทำด้วยตนเอง จึงเรียกว่าพระพุทธเจ้า เรียกว่าตรัสรู้ ผู้ที่ทำตามเรียกว่าพระสงฆ์ เห็นอะไร เห็นธรรมเหมือนกัน เห็นธรรมเหมือนกัน ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า
ยุคนี้สมัยนี้ ใครสอนให้เรารู้จักธรรม เราก็ไม่ได้นั่งฟังเทศน์จากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าแสดง เพียงแต่เราได้ยินมา จำมา แต่ไม่มีใครสอนชัดเจนแม่นยำเหมือนหลวงปู่เทียนเรา ร้อยปีมานี้ จึงเรียกว่า เรียนตามพ่อก่อตามครู หลวงพ่อเทียนเป็นครูของเรา พระพุทธเจ้าเป็นบรมครูของเรา ทำให้เรารู้จักธรรมะ เมื่อรู้จักธรรมะ รู้จักพระพุทธเจ้า ผู้รู้ตามคำสอน ปฏิบัติตามคำสอนชื่อว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี เป็นต้น ไม่ใช่พระสงฆ์เกิดจากการออกบวช การบวชออกจากโบสถ์ออกมาเป็นพระสงฆ์ อันนั้นสงฆ์สมมุติ ไม่ใช่สงฆ์พระรัตนตรัย
สงฆ์พระรัตนตรัยเกิดจากการปฏิบัติธรรม มีการเกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี เป็นต้น ปฎิบัติดียังไง สุปฏิปัณโณ ปฏิบัติดีแล้ว คือมีสติ อุชุปฏิปัณโณ ปฏิบัติตรง ญายปฏิปัณโณ ปฏิบัติออกจากทุกข์ สามีจิปฏิปัณโณ ปฏิบัติสมควร ตรงไหน ตรงอย่างไร มันหลงตรงกับความไม่หลง อย่าไปเคารพความหลง ตรงต่อธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ความหลงไม่เป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม ปฏิบัติตรงแบบนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงเคารพพระธรรม ได้เป็นมาแล้ว จะเป็นอยู่ต่อไปด้วย
บัดนี้ เราอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติตาม ทำอย่างไร เชื่อไหม เชื่อแล้วทำ ทำลองดูไหม มันหลง ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม เรามีสิทธิไม่หลง เวลาถ้ามันโกรธ เรามีสิทธิไม่โกรธ เวลามันทุกข์ เรามีสิทธิไม่ทุกข์ นั่นเรียกว่า สิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็ไม่ต้องไปขออนุญาตจากใคร ฉันหลงแล้ว ขออนุญาตไม่หลงได้ไหม ไม่มีเลย ปัจจัตตัง ของใครของเรา ดีแล้ว ถ้ามันหลง จะได้ไม่หลงตรงนั้น ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ที่นั่น ปฏิบัติสมควรสม่ำเสมอทุกครั้งทุกคราวทำอย่างนั้นไป ทำอย่างนั้นไปทุกครั้งทุกคราว ไม่ใช่มีกาลมีเวลา เวลาไหนก็ทำแบบนั้น ยืนอยู่ นอนอยู่ นั่งอยู่ เดินอยู่ ทำแบบนั้น ถ้ามันนอนอยู่ มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง เดินอยู่มันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ ทำอะไรอยู่ที่ไหน ถ้ามันมีแบบนี้ก็เปลี่ยนได้ อย่างนี้ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร ผู้ทำอย่างนี้เรียกว่าพระสงฆ์
ปฏิบัติพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติอย่างไร ถ้ามันหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง นี่แหละพรหมจรรย์ ถ้าหลงเป็นหลง เปรอะเปื้อน ไม่ใช่พรหมจรรย์ ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ เปรอะเปื้อนแล้ว ไม่ใช่พรหมจรรย์ ถ้ามันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ พ้นจากทุกข์ นี่แหละพรหมจรรย์ สะอาดไปแล้ว สะอาดไปแล้ว สะอาดไปแล้ว ซักไปแล้ว ถอนไปแล้ว รื้อไปแล้ว ก็สะอาด
แหม! หลวงพ่อเทียนช่างสอนให้เราได้ทำสิ่งที่เราทำได้ ปฏิบัติในสิ่งที่ทำได้ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ควรเชิญให้มาดู ควรเรียกให้คนอื่นมาดู ควรประกาศให้มาดู เป็นปัจตังของใครของมัน ไม่ใช่ของทำให้กันได้ นี่คือปฏิบัติธรรม ต้องเป็นงานแบบนี้ ไม่ใช่มีวิธีแบบไหน ไม่ต้องใช้หัวคิดปัญญา ไม่ต้องใช้มันสมอง ใช้การกระทำลงไป ให้มีการกระทำลงไป 14 จังหวะ รู้ 14 ครั้ง รู้ทีละครั้ง ไม่เกินวินาที ยากไม่เกินนั้น ไวไม่เกินนั้น พอดีๆ เดินวินาทีหนึ่ง ก้าวทีหนึ่ง วินาทีหนึ่งก้าวทีหนึ่งแบบฝึกหัด ถ้ารู้ทุกวินาทีจะเกิดอะไรขึ้น
เราเคยหัดอย่างนี้บ้างไหม ที่อื่นมันก็ไม่ค่อยมีเวลา จึงจำเป็นต้องจัดคอร์สแบบนี้ขึ้นมา 7 วันบ้าง ให้มีสติทุกนาที ไม่มีใครไปใช้ท่าน เอาเลย ยกมือสร้าง 14 จังหวะ วินาทีละรู้ มันต้องมากแน่นอน มหารู้แน่นอน มันหลง มันจะมากกว่ารู้ มันก็ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลง ถ้ารู้มากกว่าหลง ทำใหม่ๆ หลงมากกว่ารู้ ทำไปทำมา รู้มากกว่าหลง จนในที่สุด ไม่ต้องอาศัยจังหวะสร้างมือ ไม่ต้องอาศัยตรงไหน ในภาวะที่รู้มันเป็นทั้งหมดของชีวิตเรา หายใจก็ไม่ใช่แค่หายใจ คือความรู้สึกตัว เดินก็ไม่ใช่เดิน คือความรู้สึกตัว อะไรทั้งหมดคือความรู้สึกตัว เพราะสติเป็นเจ้าของ มันติดอย่างนี้ มันเป็นวิญญาณแบบนี้ เรียกว่าเป็น ทำให้มันเป็น
ถ้ามันเป็นแล้ว อันนี้มันไม่ลืม ไม่ใช่ความรู้ ความรู้ใครก็สอนได้ มีสอนกันในทุกๆ ที่ มีถึงมหาวิทยาลัย แต่การสอนให้เป็น ไม่มีใครสอนเราได้ มีแต่เราสอนตัวเราเองนะ จึงมาได้แต่เพียงเป็นเพื่อนกัน บอกกันอย่างนี้ ใครสงสัยอะไรก็ถาม ถ้าไม่มีคำถามก็ทำกันไป บางทีมันทำให้เราเกิดปัญญาได้ บางทีบางสิ่งที่เราต้องถาม ทำไปก่อน อาจจะไม่ต้องถาม ไม่ต้องถาม ทำไปเสียก่อน เช่น มันเกิดอะไรขึ้นมา ทำไปเสียก่อน มีสติไปก่อน เอาไปเอามา คำที่จะถามมันไม่ต้องถามเลย เพราะทำไปแล้วมันแก้ไปในตัวมันเอง ถ้ามีสตินะ ถ้าไม่มีสติมันก็เกิดคำถาม หาคำตอบจากความคิด มันก็ไม่ใช่ หาคำตอบจากความคิด ไม่ถูก คำตอบไม่ใช่เกิดจากความคิด มันเกิดจากการพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น คิดเห็นน่ะคิดเอาก็ได้ แต่พบเห็นมันปัจจัตตัง คิดเห็นไม่ใช่ปัจจัตตัง ไกลเกินไป พบเห็นเป็นปัจจัตตัง เดี๋ยวนี้ เป็นของใครของมัน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ
ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมแบบนี้ ปฏิเสธหลวงปู่เทียนไม่ได้ เรามีศิษย์ แต่เป็นศิษย์ที่มีครู ครูของเราคือหลวงพ่อเทียน อยู่ที่ไหน หลวงพ่อเทียนพาไป ทำไป พาพูด พาคิด มันเป็นชีวิตของเราไปเลยหลวงพ่อเทียนน่ะ หลวงพ่อเทียนคือชีวิตของเรา จะมาใช้ชีวิตส่วนนี้ให้เป็นอื่นไป นอกจากมาใช้เป็นธรรมะ จะบอกกันเท่านี้ มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ทำได้เด็ดขาด มันโกรธ เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ มันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ มันเป็นอะไรที่มันเป็นทั้งหลายๆ ไม่ต้องเป็นไปกับมัน มีแต่เห็นมัน เห็น มันไม่เป็น เห็น ไม่เป็นกับอะไร มันมีมากมาย แต่เห็น ไม่เป็น นี่สิทธิของเรา ทำได้จริงๆ นี่เรียกว่าพับใส่กระเป๋าได้ เห็น ไม่เป็น ไม่ต้องเป็นอะไรกับอะไร มันสุข เห็นมันสุข ไม่เป็นผู้สุขนั่นนะ มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์นั่นนะ
นี่แหละคือสรุปกำมือเดียว จะเท็จจริงอย่างไร อย่าไปคิด ว่าแต่มันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง นั่นแหละก้าวแรก ถ้าไม่มีก้าวแรก มันก็ไม่มีก้าวที่สอง ถ้ามันทุกข์เหรอ นั่นแหละเปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ ถ้าก้าวตรงนี้เป็น ก้าวตรงนั้นเป็น ก็ไกลไปเรื่อยๆ ไกลไปเรื่อยๆ ไกลจากกิเลส อรหัง ผู้ไกลจากกิเลส ผู้ไกลจากกิเลสคือผู้มีสติ ผู้มีสติเป็นผู้มีตาหน้ารอบ เรียกว่าหน้ารอบ หน้ารอบคือพระขีณาสพ พระขีณาสพคือพระอรหันต์ ผู้มีสติเป็นหน้ารอบ ไม่ใช่อรหันต์คือรูปร่างลักษณะ อรหันต์คือผู้มีสติเป็นหน้ารอบ ขีณาสพเป็นได้ทุกคน ไม่ต้องนุ่งกางเกง ไม่ต้องนุ่งที่ไหน นุ่งกางเกง นุ่งผ้าขาว ผ้าดำได้ทั้งนั้น เหนือสมมุติเป็นปรมัตถ์ ถ้านุ่งผ้าเหลืองนุ่งผ้าขาวเป็นสมมุติบัญญัติ ออกบวชไม่เกี่ยวข้องด้วยบ้านเรือนเรียกว่าอะไร นี่คือสมมุติบัญญัติ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยครั้งพระพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติธรรม แม้แต่พระสิทธัตถะก็เห็นสมณะออกบวช ได้อาศัยเพศนี้ออกบวชเพื่อศึกษาเรื่องนี้ มีมานานแล้ว
นี่ก็สะดวก ประเทศไทยมีวัดมีวา มีพระสงฆ์ ใช้ได้ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ประเทศอื่นก็ไม่มีพุทธศาสนาเหมือนเมืองไทย ศาสนพิธี ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม สี่อย่างค้ำจุนเอาไว้นี่ ศาสนบุคคลก็คือพระสงฆ์ ญาติโยมมี ศาสนบุคคลก็คืออุปถัมภ์บำรุงศาสนบุคคลที่เป็นพระสงฆ์ ศาสนวัตถุคือ วัดวาอาราม ศาสนพิธีรู้จักที่นั่งที่อยู่ ญาติโยมนั่งอยู่ที่โน่น พระสงฆ์นั่งอยู่ที่นี่ แม่ชีนั่งอยู่ที่นี่ ศาสนพิธี พิธีกราบไหว้ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา สรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ศาสนพิธี ศาสนธรรมอันเดียวกัน มีสติ ถ้าพระภิกษุสงฆ์มีสติ ญาติโยมมีสติ อันเดียวกัน ผู้หญิงมีสติ อันเดียวกัน คนหนุ่มคนแก่มีสติ อันเดียวกัน ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล มันต่างกัน ส่วนศาสนธรรมอันเดียวกัน นี่คือของจริงต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีศาสนา ไม่มีลัทธินิกาย เช่น สติ จะเป็นศาสนาไหนก็ได้ คือรู้สึกระลึกได้ ไม่มีลัทธินิกาย นี่เป็นศาสนธรรม
ประเทศไทยสมบูรณ์แบบทั้งหมด ให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงศาสนธรรม จึงน่าภูมิใจมากประเทศไทยนี่ ก็มี ศาสนวัตถุ มีวัดวาอาราม มีพระสงฆ์เป็นครูอาจารย์ เป็นเพื่อนเป็นมิตร แต่ไม่พาหลงทิศหลงทาง มีอยู่จริงนะ เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเอาที่ไหนกัน จะเวลาไหน มันต้องเป็นเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่มีหนา เมื่อวานก็ไม่มี มันมีเดี๋ยวนี้ จะทำดีก็ทำเดี๋ยวนี้ ละความชั่วก็ละเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ละความชั่วพรุ่งนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ปัจจัตตังคือเดี๋ยวนี้แหละ เอาเลย
ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เริ่มไปเรื่อยๆ รู้สึกไปๆ ทำเบาๆ ทำสบายๆ รู้สึกซื่อๆ อมยิ้มแย้มแจ่มใส อย่าไปอยากรู้อยากเห็น อย่าไปเอาผิดเอาถูก มันผิดเห็นมันผิด มันถูกเห็นมันถูก ซื่อๆ ไปแบบนี้ มันจะสะดวก ถ้าผิดเป็นผิด มันไม่บรรลุธรรมได้ง่าย ถ้าผิด เห็นมันผิด บรรลุธรรมได้ง่าย ถ้าผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก บรรลุธรรมได้ยาก เห็นมันผิด ง่าย เป็นผู้ผิด สุขเป็นสุข บรรลุธรรมได้ยาก สุข เห็นมันสุขไม่เป็นผู้สุข บรรลุธรรมได้ง่าย อย่างนี้นะ ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน ไม่นอนไม่หลับ ไม่ใช่แบบนั้น หลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง บรรลุธรรมได้ง่าย ถ้าหลงเป็นผู้หลง บรรลุธรรมได้ยาก ตรงนี้ จัดสรรกับชีวิตเราให้ดีๆ เริ่มต้นให้ดี มันจะไปง่าย ถ้าเริ่มต้นไม่ดี มันก็ไปได้ยาก ตั้งต้นไม่ดีมันก็ผิดไปเลย ดังนั้น เราจึงจับหลักให้มันได้ การปฏิบัติธรรมเนี่ย พยายามถามครูอาจารย์ อาจารย์ทรงศิลป์ก็เป็นกรรมฐานแม่ไก่ อยู่กับพวกเราตลอดเวลา หลวงตาก็เลยไม่ค่อยจะได้อยู่ จะไปโน่นไปนี่อยู่
วันนี้ก็สมควรแก่เวลา พูดมากหน่อย