แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต้องมีผู้อื่นบอก เราก็ยังได้บอกตัวเอง เราได้สาธยายพระสูตรเหมือนกับเราบอกตัวเอง ยิ่งเวลาเราเข้าสู่ภาคปฏิบัติก็ยิ่งสนุกดี เห็นกายที่มันเคลื่อนมันไหว มันมีนามมีใจ คือมันรู้สึกการเคลื่อนไหว อยากยกมือมันก็ยก อยากวางลงก็ลง อยากลุกก็ลุก อยากนั่งก็นั่ง อยากนอนก็นอน บางทีไม่ได้อยากนอนไม่ได้อยากนั่ง บางทีมันเกิดขึ้นมาเอง ความขี้เกียจขี้คร้าน ความลังเลสงสัย มันเกิดขึ้นเอง มีอยู่อีก อย่างนั้นก็มี ง่วงเหงาหาวนอนก็มี หลายเรื่องที่มันเกิดกับกายกับใจของเรานี้ เราก็สนุกเห็นถ้ามีสติอ่ะ ได้พบได้เห็น ได้สอนในเวลาที่มันผิด ได้กระทำในเวลาที่มันถูก ผิดถูกมันบอกเรา
เห็นอยู่บ่อยๆเรื่องเก่าๆ ความง่วงเหงาหาวนอนมันเรื่องเก่าๆ ความลังเลสงสัยคิดฟุ้งซ่านก็เก่าๆ พยาบาท ราคะ ทิฏฐิ มานะ เรื่องเก่าๆโผล่ขึ้นมา ดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นไปเห็นมา มันก็รู้แจ้งเรื่องนั้นๆเข้าไป มันคือเรื่องเก่าๆ เห็นเป็นรูปเห็นเป็นนามตามความเป็นจริง เมื่อเห็นเป็นรูป เห็นเป็นนาม มันก็บอกมันคืออะไร มันมีอะไร มันเป็นอะไรรูปนามนี้ มันมีความไม่เที่ยง มันมีความเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวตน มันบอก ได้เห็น ได้พบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น
เวลามันเกิดความไม่เที่ยง เราได้พบเห็นเข้า เวลามันเกิดความเป็นทุกข์ได้พบเห็นเข้า เวลามันเกิดความไม่ใช่ตัวตน ห้ามปรามไม่อยู่ เราก็พบเห็นเข้าต่อหน้าต่อตาเรา เมื่อเราเห็น ที่มันเกิดการพบเห็นอย่างนี้ ก็ย่อมตอบได้เองในขณะที่เราปฏิบัติ เหมือนกับเราเรียนหนังสือได้อ่านได้พบปัญหา ได้พบปัญญา วิธีแก้โดยการกระทำ วิธีแก้โดยการคิด เช่น คณิตศาสตร์ วิธีแก้โดยการกระทำ วิธีแก้ไม่ได้ มีแต่รู้เฉยๆ วิธีบรรเทา เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก บางอย่างรู้เฉยๆ บางอย่างบรรเทา บางอย่างละ เป็นระเบียบเรียบร้อยของรูปของนามตามความเป็นจริง เห็นวัตถุอาการที่มันก่อเกิดขึ้นกับรูปกับนามมากมายหลายอย่าง เราก็สนุกดู
เห็นรูปเห็นนาม มีการกระทำ ขณะที่เราปฏิบัติอยู่ มันมีการกระทำอะไร รูปมันทำอะไร นามมันทำอะไร เราจะต้องเห็นมัน เวลารูปมันทำ นามมันทำ การทำคือมันได้สัมผัส รูปทำ มือที่เรายกมือ ประนมมือ รูปมันทำอะไร มือเรารูปที่มันกำมือ มันทำอะไร นามที่มันรู้ตามความเป็นจริง มันทำอะไร นามที่มันหลงไปตามความคิด มันทำอะไร เราก็เห็นต่อหน้าต่อตาเรา เราก็ทำกับสิ่งเหล่านั้นได้ เปลี่ยนมัน มันทำชั่ว เห็นมันทำชั่ว มันทำถูก เห็นมันทำถูก ได้สอนตรงนั้น ได้สอนตัวเองตอนนั้น
เราเดินอยู่นี้ อ้าว! นามมันไปไหน ไปบ้าน ไปคิด ไปโน่นไปนี่ 5 ปี 10 ปี มันไม่ใช่ เราก็ได้เห็น กลับมา มันแสดงออกมาอะไรอีกหลายอย่างเกี่ยวกับรูปกับนาม เราได้เห็น เราได้บอก เราได้สอน เกี่ยวข้องกับการกระทำของรูปของนามอย่างถูกต้อง เพราะมันสอนเรา ผิดมันสอนเราให้ทำถูก ถูกมันสอนเราให้ได้ทำต่อไป ชั่วไม่ทำ ถ้าเราเห็นแล้ว ดี ทำไปใจไม่ยึด เพราะเห็นแล้ว ง่ายๆ แต่ก่อนถ้าเป็นมันไม่ง่าย ถ้าสุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ติด ติดเกาะ ติดฝั่ง เดี๋ยวนี้เห็น นี่มันคือนี่ นี่คือนี่
เราก็ได้ประสบการณ์ได้บทเรียนตรงนั้นด้วย ที่มันเป็นเท็จเป็นจริงอย่างไร มันมีรูปธรรมมีนามธรรม มีรูปที่เป็นสมมติ มีรูปที่เป็นบัญญัติ นามบัญญัติ นามสมมติ หลายอย่าง บางทีสมมติขึ้นมาเป็นสุข สมมติขึ้นมาเป็นทุกข์ ทั้งๆที่มันไม่มีตัวมีตน เราก็เห็นตามความเป็นจริง
การเห็นของจริงของพระอริยะเจ้า ที่มันเกิดขึ้นกับรูปกับนามนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สะดวกไปเรื่อยๆ ความหลงทำให้เราสะดวกเพื่อจะไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ก่อนเราไม่เห็น ความหลงทำให้เราติดขัดสะดุด อันที่เกิดกับรูปกับนามสะดวกตรงที่มันผิด ไม่เหมือนธรรมอันอื่น ชำนาญในตรงที่มันถูก เมื่อมันมีความชำนาญในความถูก มันก็สะดวกในความผิดเพื่อเอาไปทำความผิด เมื่อชำนาญในความถูกต้อง มันก็เพื่อไปทำความผิดให้ถูกต้อง มันก็เลยสะดวก เช่น ทุกข์ แต่ก่อนมันติด พอมาเห็น มีความชำนาญในการทำถูก มันก็เปลี่ยนความทุกข์ได้ง่ายดาย
เป็นเรื่องกระตือรือร้น เป็นเรื่องที่ขยันตรงนี้ เป็นเรื่องที่ภาวนาตรงนี้ เป็นเรื่องที่ทำความเพียรตรงนี้ มันเกิดความเพียรขึ้นมาตรงนั้น มันเกิดความขยันตรงนั้น ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ มันจึงกลายเป็นความเพียรไป กลายเป็นภาวนาไป ภาวนาคือขยันตรงที่มันเสื่อมมันเสียหาย เหมือนเราเห็นอะไรที่มันเสียหาย ก็ขยันทำให้มันดี นายช่างซ่อมสิ่งที่มันเสียหาย ถ้าเขาเห็นจุดที่มันเสียหาย เขาขยันกระตือรือร้น เห็นจุดมันเสียหาย เขาแสดงท่าทางแบบความพอใจ เพราะเขาจะทำให้สำเร็จ
การปฏิบัติธรรมนี้ก็เช่นกัน เห็นทุกข์เห็นความหลงเห็นอกุศลนี้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นแล้ว ลูบๆคลำๆ ไม่ใช่เลย พอเห็นอกุศลเกิดขึ้นมา เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก มันเป็นทางไปแบบนั้น ปฏิบัติธรรมมันไม่มีการรอ ผิดก็ถูกทันที ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ทันที ไม่เหมือนเราทำไร่ทำนา ทำงานอันอื่นต้องเสี่ยง เช่น ปีนี้น้ำท่วม ไม่ได้ข้าวสักต้น ก็เสี่ยง ทำแล้วเสียหาย แต่ว่าการปฏิบัติธรรมมันไม่ได้เสี่ยงเลย เมื่อผิดก็ทำถูกทันที เมื่อทุกข์ก็ไม่ทุกข์ทันที อะไรที่มันผิดไม่ผิดทันที มันเกิดความพร้อมในฉันทะวิริยะจิตตะ วิมังสา ทำให้สำเร็จ ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ทำให้สำเร็จ ทำให้มันเกิดความสำเร็จ สำเร็จจริงๆ ยิ่งความโกรธความโลภความหลง ยิ่งเป็นอกุศลง่ายดายที่สุด
ถ้าเป็นความดี มันเป็นความชำนาญ ความดีชำนาญ ความถูกต้องชำนาญ ความผิดเกิดความสะดวกให้เกิดความดี ไม่เหมือนผิดอันอื่น ผิดอันอื่นต้องวางแผน มีทิศทางไป มีเครื่องมือ เช่น สร้างบ้านผิด ไม่ได้แบบ บางทีก็รื้อทิ้ง ตึก ๒๐-๓๐ ชั้นมันร้าว เราก็รื้อทิ้ง แต่ว่าการปฏิบัติธรรมไม่มีคำว่ารื้อ คำว่าทิ้ง ไม่มี ได้ประโยชน์ เช่น เห็นทุกข์ ได้ประโยชน์ เห็นอกุศล ได้ประโยชน์ มันจะเป็นกุศลเพราะอกุศล มันจะมีปัญญาเพราะมีปัญหา อย่างเช่น สังขารคือปัญหา วิสังขารคือไม่มีปัญหา
นี่มันก็พอใจ๊พอใจปฏิบัติธรรม เหมือนกับงานชอบที่สุดเลย ทำไมจะไม่ชอบ ภาวะที่รู้สึกตัว พอมีความรู้สึกตัวไปเห็นความไม่รู้สึกตัว ไปเห็นความหลง มันก็ตรงกันพอดี เวลาเรามีสติ มันก็เห็นความหลง พอเห็นความหลงก็มีสติ ทำในสิ่งที่มันไม่ถูกต้องให้มันถูกต้อง เป็นงานชอบ ยิ่งเห็นอกุศลทั้งหลายที่เป็นรากเหง้าของกุศล ยิ่งขยัน ไม่ได้ปล่อยทิ้ง มีเท่าไหร่ พยายามติดตามให้หมดจนไม่เหลือหลอ อยากจะพูดเลยว่ามันหาไม่มีจริงๆ คำว่าทุกข์เนี่ย มันไม่มีไออุ่นไม่มีอะไรแม้แต่น้อยนิดเลยทีเดียวนะ เขาว่าคนป่วยเป็นทุกข์ มันอยู่ตรงไหนทุกข์นี่ มีคนว่าความเจ็บเป็นทุกข์ มันทุกข์ตรงไหน อะไรที่เขาว่ามันเป็นทุกข์ มันทุกข์ตรงไหน มันไม่มีทุกข์จริงๆ นะ มันก็เลยจะให้ว่าไม่สำเร็จได้อย่างไร งานมันเสร็จ ไม่เหมือนงานล้มลุกปลูกมันปลูกอ้อย อาชีพไร่มันไร่อ้อยมา ได้เงินได้ทอง ปลูกข้าวได้ข้าวมากิน มันก็ยังมีความทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
เหมือนพระพุทธเจ้าไปโปรดพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ แต่พระพุทธเจ้านั้นทำงานทำนา มีศรัทธาความเชื่อ ถ้าทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว เปลี่ยนความชั่วเป็นความดีก็ทำได้ ศรัทธาเชื่อมั่นและมีความเพียร ไม่ท้อถอย อันที่ว่าหลงที่ว่าโกรธที่ว่าทุกข์ แต่ให้มันทำเกิดความดี เอาใจใส่ จิตตะเอาใจใส่ มีสติเหมือนข้าวปลูก มีปัญญาไขน้ำเข้า ปิดน้ำไว้ ไขน้ำออก เราได้ผลคือไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่พราหมณ์ทำนาได้ข้าวกินข้าวก็ยังแก่ยังเจ็บยังตาย นั่นหมายความว่าทำแบบนี้มันเสร็จตรงไหน เสร็จตรงที่เรามีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เหมือนกับการบ้านของพระสิทธัตถะ เห็น เห็นอย่างนี้ทำให้เกิดการศึกษาอย่างนี้ขึ้นมา
เรามาศึกษาก็ทำกรรมฐานตรงไปทางนั้นแหละ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นอะไรก็ไม่ใช่ๆๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขา เพื่ออะไร มันปลดไปแล้วๆ อะไรที่มันเห็นๆ มันก็ผ่านไปๆ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงนะ เห็นรูปเห็นนามก็ได้หลักฐาน เห็นวัตถุอาการ เห็นปรมัตถ์ ได้หลักฐานมัดเข้าไป เหมือนพิพากษาตุลาการจับจำเลย ฟ้องจำเลย จำเลยคือความหลง เราเคยเป็นจำเลยของความหลง เป็นจำเลยของความทุกข์ เป็นจำเลยของความโกรธ ปัญหาต่างๆ เราเป็นจำเลย เราตกเป็นจำเลย ความโกรธเราก็โกรธ ความทุกข์เราก็ทุกข์
ต่อมาเห็นปรมัตถ์สัจจะ เหมือนกับพ่อง (เขียนตามเสียง แต่ไม่ทราบความหมาย) ให้เกิดความเป็นธรรมกับชีวิต ได้ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร จนได้อิสรภาพขึ้นมา เรียกว่าปรมัตถ์สัจจะ ความจริงออกมาเป็นความจริง ความหลงมันไม่จริง ความไม่หลงมันจริง ความทุกข์ไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริง อะไรก็ตามชื่อว่าทุกข์นี่ไม่จริงทั้งนั้น ความเจ็บจะเป็นทุกข์อย่างไร มันไม่จริง ภาวะที่เห็นไม่เป็นนี่ มันจริงกว่า ความแก่ความเจ็บความตายมันก็ไม่จริง มันจริงแบบนั้น มันจริงแบบไม่เที่ยง มันจะจริงแบบเที่ยงได้อย่างไร มันจริงแบบเป็นทุกข์ จะให้มันเป็นสุขได้อย่างไร มันคนละเรื่องกับการกระทำของเรา
เราชำนาญในเรื่องนี้มาก พระพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้าเพราะมารู้เรื่องนี้ ผู้รู้ตามเรียกว่าพระสงฆ์สาวก ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ต้องไปสุ่มหาเหมือนพระพุทธเจ้า สมัยเป็นสิทธัตถะสุ่มหาตั้ง 6 ปี กว่าจะมานั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ยกมือเคลื่อนไหว ทำมามากกว่านี้แล้ว เกือบตายไปแล้ว คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก กว่าจะมาถึงจุดนี้ตั้ง ๖ ปี บัดนี้พวกเราก็ลัดมานี่เลย จะไม่สะดวกอย่างไร ไม่ต้องใช้ไปสมอง ไม่ใช่เพราะมาใช้หัวคิด เหตุผลอันใด ให้มีโอกาสอย่างนี้โดยตรง
เราก็พยายามหาโอกาสให้ทุกคน แล้วก็เป็นเพื่อนกับทุกคน ได้มาทำแบบนี้ มันจะยากอะไร แค่ยกมือ รู้สึกตัวนั่นแหละ ถ้ารู้สึกตัวได้ก็นั่นแหละทาง แต่ก่อนมันริบหรี่ รู้ไปๆ ก็จะมากขึ้น เป็นทางมากขึ้น นี่คือการเพื่อให้ลัดเข้ามาตรงนี้เลย ไม่ต้องไปทำอะไร
บางทีกำหนดชั่วโมงหนึ่ง นั่งอยู่ด้วยกัน หาวหลับหาวนอนก็มี บางคนก็ทรมาน มองนาฬิกาถึงชั่วโมงหรือยัง พอถึงชั่วโมงก็ตีกระดิ่งกริ๊ง ออกจากกรรมฐานได้แล้ว หัวเราะเอิ๊กอ๊าก (หัวเราะ) มันไม่ใช่ กรรมฐานมันไม่ใช่ออกไม่ใช่เข้า มันเป็นการกระทำ ทำในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามสติกำลัง ไม่ใช่ออกเป็นชั่วโมง เวลา 2 ทุ่มขึ้นไปห้องกรรมฐาน จนถึงเวลา 3 ทุ่ม ชั่วโมงหนึ่ง
เคยไปดูสำนักต่างๆ กำหนดชั่วโมงหนึ่ง พอได้ชั่วโมงหนึ่ง ขณะที่อยู่ชั่วโมงหนึ่งนั้น อาจารย์ก็บอกว่าใครเกิดอะไรขึ้นก็พูดนะ พูดออกไปเลย ดับไฟอยู่ชั่วโมงหนึ่ง ก็มีเสียงพูด 3, 4, 5 คนพูดออกมา แต่อาจารย์ก็ไม่ตอบขณะนั้น พอชั่วโมงหนึ่งก็เปิดไฟ ตีกระดิ่งกริ๊ง อาจารย์ก็พูดเรื่องที่นักปฏิบัติพูดมานั้น ปัญหาที่หนึ่งจากผู้ปฏิบัติพูดว่า... แก้ไปๆ
แม้บางทีนั่งอยู่ในศาลา ฝนตก ถ้ามันไม่หัด ทึ่มไปหมด ขณะนั้น อาจารย์ก็บอกว่าใครมีความรู้สึกอะไรเห็นอะไร ก็พูดออกมาได้เลย มีพระรูปหนึ่งพูดขึ้นว่า ตอนต้นไม้หักลงมานั้น กระผมเห็นตัวเขียวๆ นั่งอยู่ต้นไม้กิ่งไม้ กิ่งไม้เลยหัก พูดเท่านี้จบไป พอจบชั่วโมงอาจารย์ก็เฉลยว่า ตัวเขียวๆ นั่นแหละคือพระอินทร์ (หัวเราะ) ถ้าตัวแดงๆเป็นเทวดา แสดงว่าพระอินทร์มาสรรเสริญพวกเรา ถูกไหม พูดอย่างนั้น โอ๊ย! อาจารย์วิปัสสนา เราก็หมด อาจารย์วิปัสสนา อาจารย์ใหญ่ยังพูดอย่างนี้หนอ ลูกศิษย์ก็เห็นพระอินทร์เห็นตัวเขียวๆ คนทั้งหลายที่ไม่รู้เรื่องวิปัสสนาก็ โอ้! ดีเนอะ คนเห็นพระอินทร์ดีแล้ว ตัวเขียวๆ ตัวใหญ่ไหม ใหญ่กว่าคนนะ ตัวเขียวๆ เราก็เลย อ๋อ! อย่างนี้เนอะ พระกรรมฐานในเมืองไทย
ตอนนั้นปี 2512 พระกรรมฐานของประเทศไปรวมกันเป็นพันๆ เราก็เป็นตัวแทนจังหวัดเลย เจ้าคณะจังหวัดเลยให้ไปเป็นตัวแทนของจังหวัดเลย ไปร่วม มันไม่ใช่ มันเป็นนิมิต เอาอันนั้นเป็นพระอินทร์ได้อย่างไร นิมิตเกิดขึ้น แล้วแต่มันจะเกิดแบบไหน อินทร์จริงๆ มันความเป็นใหญ่คือคุณธรรม ไม่ใช่เป็นตัวเขียวๆ เทวดาคือคุณธรรม เทวธรรม หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร หิริโอตตัปปะ ถ้ามีอยู่กับใครถือว่าเทวธรรมในโลก พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าพูดไม่กล้าคิด เพราะนั่นถือว่าความชั่ว นั่นแหละเทวธรรมรักษาโลก โลกบาลคุ้มครองโลก ถ้าอยู่ในคนๆไหน คุ้มครองโลก ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน หิริโอตตัปปะไม่กล้าพูดชั่วคิดชั่วทำชั่ว นี่คือเทวดา ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน แดงๆเป็นเทวดา บางทีก็อธิบายไป นั่นไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท นี่คือเห็นธรรม เห็นพระพุทธเจ้า ผู้รู้ตามคำสอนพระพุทธเจ้าชื่อว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดี มีการเจริญสติ เกิดจากพระสัทธรรมคือสงฆ์พระรัตนตรัย สงฆ์สมมติเกิดจากโบสถ์ หลวงพ่อบวชให้จึงเป็นสงฆ์ อยู่นี่ก็มีหลายรูป (หัวเราะ) อันสงฆ์สมมตินี้ไม่ใช่สงฆ์พระรัตนตรัย
สงฆ์พระรัตนตรัยเป็นได้ทุกคน ถ้าปฏิบัติเกิดจากพระสัทธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ นับคู่ได้ 4 คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรคโสดาบัน ละสังโยชน์ได้ 3 สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส จะละไม่ได้หรือนี่ สักกายทิฏฐิเห็นกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เอากายเป็นตัวเป็นตน เห็นเป็นรูปไปเสียแล้ว กรรมฐานมันต้องเป็นอย่างนี้
วิจิกิจฉาไม่สงสัยในการกระทำ ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว มีสติห้ามได้หยุดได้ มันหลง รู้ มันทุกข์ รู้ ไม่สงสัยตรงนี้ ทำไม ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมยังหลง ไม่อยากหลง ไม่อยากให้หลงมันก็หลง ไม่มีแบบนั้น พอหลง เปลี่ยนทันที ไม่เนิ่นช้า ไม่สงสัย ตรงกัน หลง ไม่หลง ทุกข์ ไม่ทุกข์ โกรธ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ลังเลสงสัย ไม่ใช่อ้อนวอน สาธุเอ๊ย อย่าให้พวกข้ามีความโกรธความหลงเด๊อ ไม่ใช่อ้อนวอนแบบนั้น เหมือนที่พระพุทธเจ้ามาช่วยคนนั้นช่วยคนนี้
ปฏิบัติธรรมต้องช่วยตัวเอง มันหลงก็ช่วยตัวเองไม่ให้หลง มันทุกข์ก็ช่วยตัวเองไม่ให้ทุกข์นี่ ทำได้ๆ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ความหลง ไม่หลง ให้ผลแล้ว หลง เห็นหลงเป็นเหตุ เปลี่ยนหลงไม่หลงเป็นผล มรรคคือเห็น ผลคือไม่เป็น อยู่ไกลไหม มรรคคือเห็น ผลไม่เป็น เห็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ พ้นจากทุกข์แล้ว มันมีมรรคมีผลอยู่กับกำมือของเรานี้ เวลายกมือเคลื่อนไหว รู้ ทำอะไรก็รู้ เป็นมรรคเป็นผลอยู่แล้ว เวลามันโกรธ รู้ขึ้นมาเป็นมรรคเป็นผลแล้ว
มันเป็นอย่างนี้ปฏิบัติธรรม ไปอ้อนวอนที่ตรงไหน ต้องทำเอาเอง นี่มันตรงขนาดนี้ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร ย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ตามควรแก่ผู้ปฏิบัติ สมควรแก่ผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่กาลเวลา มาเข้าคอร์ส 5 วัน 7 วัน 1 เดือน 1 ปี ไม่รู้อะไร ไม่ใช่เกี่ยวอย่างนั้น อยู่กับการกระทำของเรา
การกระทำของเราคืออะไร ความไม่ประมาท ไม่ประมาทคืออะไร คือไม่หลง คนไม่ประมาทเหมือนม้ามีฝีเท้าดี ความประมาทเหมือนม้ามีฝีเท้าไม่ดี ห่างไกลกัน เดินทางชั่วโมงเท่ากันแต่ว่าห่างไกลกัน เราจะเยาะเย้ยมันดู เราไปอยู่ในหมู่เพื่อนหลง เราไม่หลงเหมือนเขา ไปบิณฑบาตวันนี้จะไปกับใคร ออกไปหน้าวัด ไปกับคนที่หลงพระที่หลง ไปก็ชวนพูดชวนคุย เราไม่หลง เพื่อนเราหลง เราไม่หลง ตั้งแต่เพื่อนชวนให้หลงหลายครั้งกว่าจะเข้ากลับมาสู่วัด เราไม่หลง เพื่อนพยายามพูดให้เราหลง เราไม่หลง ชวนให้เราดูโน่น ดูนี่ เราไม่หลง บางทีเห็นเพื่อนหลง เราไม่หลง เก่งตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ตกหมู่แร้งเป็นแร้ง ตกหมู่กาเป็นกานะ ปฏิบัติธรรมคือส่วนตั๊วส่วนตัว ทำได้ทุกโอกาส ไม่ใช่เป็นเพราะเพื่อนเพราะมิตร ไม่ใช่อย่างนั้นเหมือนขายยาบ้ายาหมา ปฏิบัติธรรมเป็นส่วนตัว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน เด็ดขาด มีสิทธิ 100 เปอร์เซ็นต์
ให้ใช้สิทธิเรื่องนี้ให้ได้ อยู่ที่นี่นะ แล้วพยายามอย่าเบียดเบียนกัน อย่าทะเลาะวิวาทกัน อย่าทำอะไรที่ไม่สะดวก แม้จะไอจะจาม จะอะไรก็ตามระมัดระวัง เวลาใดที่เพื่อนเรากำลังมีสติอยู่ ตื่นขึ้นมานอนด้วยกันพยายามจับสิ่งจับของ กลับไปนอนอยู่เขาใหญ่ อยู่ในห้อง ห้องนอนเขาเช่าโรงแรมให้ เราก็ตื่นก่อนหมู่ ธรรมดาก็ต้องดื่มน้ำ ถ้าจะเปิดไฟก็กลัวจะรบกวนเพื่อน ก็เอามือไปคลำหา คลำหาขวด (หัวเราะ) ค่อยๆ คลำไป ค่อยขนาดไหน มือก็ยังไปชนกับขวดกับแก้ว โป๊งเป๊งๆ ขอโทษเด๊อ เสียใจ เพื่อนนอนอยู่ก็ยุกยิกขึ้นมา (หัวเราะ) เราก็ระมัดระวังบางทีก็ยังมีนะ มีสติเต็มที่ ถ้ามันผิดก็ขอโทษเอา ไม่ได้หลงนะ แต่พยายามมันก็ยังทำให้เพื่อนหลงไปได้ นอนอยู่ดีๆตื่นขึ้นมาได้ นี่ก็คือเพราะเราอยู่ด้วยกัน ให้ช่วยกัน เป็นเพื่อนกันเป็นกัลยาณมิตรพาไปถึงมรรคผลนิพพานได้
เอา ตอนนี้ก็สมควรแล้ว กราบพระพร้อมกัน