แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่เรากำลังทำอยู่ ขอพูดกับทุกท่านเรื่องกรรมฐาน เอาไว้เป็นหมู่เป็นมิตรด้วย จะไม่พาหลงทิศหลงทาง เรามีงานมีการ เรามีการบ้านอย่าปล่อยทิ้งขว้างอยู่ มันเป็นขยะ มันรกรุงรัง สิ่งที่มันมีอยู่นี้ทำได้ทำได้สำเร็จได้ ถ้าเราไม่ทำมันก็ไม่สำเร็จ การบ้านของเราคือมันหลง การทำการบ้านคือเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ จบไปแล้ว หลงที่ใดรู้ที่นั่น เมื่อมันหลงแล้วก็มีอะไรอื่นๆเกิดขึ้น ขอให้เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เรียกว่าเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร เหมือนเต่าที่มันมีสี่ขา เวลามันเดิน เปลี่ยนหงายท้องมันขึ้น เหมือนพ่อแม่เอาเต่าไปให้ลูกเล่น เต่าบ่หย่างเอาไฟจุดก้น เต่าบ่หม่นเอาหอกไล่แทง เวลาใดมันไม่รู้ก็รู้เข้าไป เตรียมพร้อม ขณะใดที่มันหลงก็เปลี่ยนได้ทันทีเพราะมีตัวรู้ มีสภาวะที่รู้อยู่เสมอ พร้อมที่จะเปลี่ยนรู้เป็นหลงได้ คือเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขารได้ นี่งานของเรา ความหลงนี้ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ ทุกชีวิตก็หลง ไม่ว่าพระว่าโยม หนุ่มสาว อายุแก่เฒ่า ปานกลาง เพศใดภาษาใดลัทธิใด อยู่ที่ไหนหลงได้ทั้งนั้น จึงมีการงานส่วนตัวอย่างนี้ เมื่อมันหลงนี้ก็ไปไกล ไปถึงชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไปเรื่อยๆ เวียนว่ายตายเกิด เกิดดับ เกิดดับ หลงแล้วกี่ครั้งกี่หน เมื่อมันหลงก็ไปถึงความโลภ ความโกรธ ความทุกข์ อะไรต่างๆมากมาย ขยายไปเป็นอกุศล คือไม่รู้พาให้ทุกข์ พาให้มีโทษกับตัวเองและคนอื่น ถ้ารู้สภาวะที่รู้ก็เปลี่ยนแปลง ก็ไม่เป็นอกุศล เป็นกุศลเกิดขึ้นแทนที่ เหมือนความสว่าง แสงสว่างแทนความมืด เรียกว่ากุศล กุศลนี้เป็นธรรมขาวเหมือนสว่าง อกุศลเป็นความมืด เป็นธรรมดำ มันมืดไม่รู้ ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักคนอื่น เข่นฆ่าราวีดุด่าเบียดเบียนกันได้ เพราะมันหลง ความหลงนี้เป็นความมืด เป็นบาป เป็นนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นกรรมไป หนักบ้าง เบาบ้าง ตามความหลงของผู้ของคน ถ้าผู้ใดเปลี่ยนความหลงได้ เป็นความรู้ได้ น้อยๆหรือมากขึ้น ถ้าเปลี่ยนได้มากหน่อยจะเรียกว่าเสขะบุคคล ผู้ยังมีความหลงอยู่นิดหน่อย เหมือนกับถ่านไฟที่ยังไม่มอดเย็นสนิท ยังอุ่นอยู่ เมื่อไปกองกันไว้มันอาจจะอบเกิดไฟขึ้นมาได้ ถ้าไม่มอดสนิท
เหมือนสมัยหนึ่งเราอยู่พุทธยาน เมืองเลย พระเณรพากันเผาถ่าน ไม้ล้มก็ตัดเผา แล้วเอาถ่านนั้นมากองไว้ใต้ถุนศาลา ยังไม่เย็นสนิท เอามากองกันไว้ ตอนกลางคืนก็พากันไปนอนอยู่ตามกุฏิต่างๆไกลศาลา เหมือนศาลาหน้าสุคะโตนี้ไม่มีใครนอน แต่เป็นศาลาสองชั้นต่ำๆ เอามาวางไว้ใต้ถุนศาลา ตรงพระพุทธรูปอยู่มีธูปมีเทียน อยู่กันนานๆไปก็เกิดไฟขึ้น พอเกิดไฟขึ้นก็ร้อนลงถึงธูปถึงเทียน เทียนก็ซึมลงไปใส่ถ่านไฟแดงๆ ก็เกิดเปลวไฟลุกไหม้ พระเณรอยู่ในกุฏิไม่รู้เลย ชาวบ้านเขาไปดูหนัง เดินผ่านมาทางวัด มาเห็นไฟลุกท่วมศาลาอยู่ ก็เลยตีเกราะตีกลองพากันไปดับไฟ พระก็ยังไม่รู้เลย มันอุ่นอยู่ ถ่านมันอุ่นอยู่ มันเกิดไฟได้ เสขะธรรมา มันเป็นไออุ่นอยู่ ผู้ยังต้องระวังอยู่ ผู้ต้องศึกษาอยู่ แม้ดับไปบ้างแล้ว แต่อย่าประมาท เอาให้เป็นอเสขะบุคคล ผู้ที่เย็นสนิทแล้ว มอดแล้ว สังขารดับหมดแล้ว มีแต่วิสังขารเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน เหมือนถ่านที่มันมอดแล้วเอาวางใส่ตักเอาวางใส่มือ ไม่ร้อนแล้ว ใครมาจับมาต้องก็ไม่ร้อนแล้ว วางอยู่ที่ไหนอยู่ในหมอนในเสื่อก็ไม่ร้อนแล้ว นี่เรียกว่าอเสขะบุคคล มีได้เหมือนกันสมัยครั้งพุทธกาล หมู่ชนผู้เชื่อฟังคำสอนของเราตถาคตแล้ว พากันปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย เขาเรียกหมู่ชนก็ดับชนิดนี้ ชอบด้วยธรรมวินัย วิคืออะไร นัยยะคืออะไร วิคือวิเศษ ดีแล้ววิเศษแล้ว มีสภาพที่รู้คู่กับสภาพที่หลง เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เรียกว่าปฏิบัติธรรม วิคือวิเศษแล้ว เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ถูกที่สุดแล้ว ชอบธรรมแล้ว ความหลงมันเป็นธรรม ความรู้เป็นธรรม ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยนี้เรียกว่าสงฆ์ สงฆ์นี้เกิดขึ้น บุรุษสี่คู่นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล แยกเป็นโยมก็มี อย่างพระอรหันต์สมัยก่อนนั้นเป็นพระอรหันต์แล้วจึงมาขอบวช บางรูปก็ไม่เป็นพระอรหันต์มีศรัทธาเกิดขึ้นอยากจะบวชก็มาขอบวช ไม่บวชเลยก็มี เช่น นางวิสาขา อนาถบิณฑิกเศรษฐี ตระกูลที่เป็นเสขะบุคคลมีเยอะ พระพุทธเจ้าจึงห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ไปขออะไรจากบ้านของบุคคลที่เป็นเสขะบุคคล เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี ห้ามสงฆ์ไปขอ ไม่ขอก็ให้อยู่แล้ว มีอยู่ทั่วไป ส่วนผู้ใดประสงค์จะมาบวชก็มาบวช พระพุทธเจ้าเรียกว่าบวชเอหิภิกขุอุปสัมปทา การบวชของผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็โอวาสบอกว่าท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว จงเป็นผู้ประพฤติธรรมนั้นเถิด นี่คือพระอรหันต์แล้วมาขอบวช เช่น โกณฑัญญะพราหมณ์ เป็นพระอรหันต์แล้วจึงมาขอบวช ส่วนผู้ใดยังไม่เป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว จงเป็นผู้ประพฤติตามธรรมวินัยนั้นเถิด ให้ประพฤติตามธรรมวินัยนั้น ส่วนผู้เป็นพระอรหันต์แล้วให้ปฏิบัติธรรมนั้นเถิด คือมันมีแล้ว เย็นแล้ว ให้อยู่ในความเย็นนั้น เปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขารนั้น มีอยู่อย่างนี้ ก็เลยเป็นหมู่ชนผู้เชื่อฟังคำสอนคือพวกเรานี้ก็ได้ แน่นอนคือพวกเรานี้แหละ มาจากทุกสารทิศ อุตส่าห์มาบวช ลางานลาการมา ทั้งหนุ่มๆสาวๆ ทั้งอายุปานกลาง ทั้งเฒ่าทั้งแก่ เรียกว่า หมู่ชน ส่วนพระธรรมมีอยู่แล้ว พระธรรมนั้นคือสติ สัมปชัญญะ ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง อุปการะคืออะไร คือคุณค่า เหมือนพ่อเหมือนแม่ ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เราก็สอบนักธรรมได้ เอาประกาศมาห้อยฝา ไม่ใช่เลย ไม่ใช่อยู่ในตำรา กระดาษ นวโกวาท อยู่ในกายในใจเรานี้ หนังสือของสองข้อนี้ ธรรมสองข้อนี้อยู่ในกายในใจเรานี้ อยู่ที่ไหนเราก็เอามือวางบนหัวเข่าพลิกขึ้นยกขึ้นยกลงรู้สึกนี่ละ ระลึกได้อยู่ รู้สึกตัวอยู่ ถ้ารู้สึกอยู่นี้ระลึกได้อยู่นี้ เหมือนพ่อเหมือนแม่ อยู่ใกล้พ่อใกล้แม่ พระพุทธเจ้าถึงชื่อให้มันยอดเยี่ยมขนาดนี้ เพียงสองข้อไม่มาก ทุกคนปฏิบัติได้ให้ผลได้ มือวางไว้บนเข่าพลิกขึ้นก็รู้ได้ทุกคน
เมื่อวานนี้เด็กน้อยมา พ่อแม่พามากราบหลวงตา บางคนก็มานั่ง พ่อแม่บอกให้มานั่งต่อหน้าหลวงตา แล้วก็ยกมือสร้างจังหวะได้ เด็กน้อยเรียกว่าทำได้ ทำได้ อย่างสังกิจจสามเณร อายุเพียง 7 ขวบ บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้แล้ว สังกิจจสามเณร เราจะขี้เหร่กว่า สังกิจจไปหรือ อายุตั้งเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี น้อมมาใส่เรา อย่าทอดธุระ เรามีการบ้าน ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ เสียชาตินะ เกิดมาต้องขาดทุนนะ เรามีทุนแล้ว มนุษย์สมบัติแล้ว เดินอยู่บนทางสี่แพร่ง ยืนอยู่บนทางสี่แพร่งขณะนี้ ทางหนึ่งไปสู่มรรคสู่ผลอยู่ตรงหน้านี้ ทางข้างหลังไปสู่เปรต อสุรกาย นรก อย่าหันหลังไป มันไม่ใช่ทาง เมื่อวานนี้หลวงตาพูดถึงทาง กลับมาซะ มันจะหันหลังไป มันจะไปสู่ความหลงสิบปีมันยังเอามาคิดมีบ้างไหม ความโกรธเอามานั่งอยู่ที่นี่ ความทุกข์เอามานั่งอยู่ที่นี่ ความรักความชังเอามาถึงศาลาหอไตรนี้ มาด้วยทำไม เอาทิ้งไว้โน้น มันจะกลับไปหรือมันจะวิ่งไปข้างหน้า หลวงตาสอนนี้จะถึงสุขาวดีไหม จะถึงอมิตาพุทธไหม จะทำฌานได้ไหม มันคิดไปแล้ว มันล่วงหน้าไปแล้ว รู้ก่อนรู้ หลงก่อนหลง กลัวจะไม่ได้ กลัวจะผิด กลัวจะยาก ยังที่ไม่เป็นอะไร ก็ยากแล้ว มันไปข้างหน้า วางแผนไว้ นั่นไม่ใช่ของจริง เมื่อวานก็ไม่ใช่จริง พรุ่งนี้ก็ไม่ใช่จริง เดี๋ยวนี้จริงกว่า ทำอะไรก็ได้ เดินไปเถอะ ข้างหน้ามี มันจะไปข้างหลังกลับมา แล้วจึงมีกรรมฐานรูปแบบ เอามือวางไว้บนเข่าเป็นนิมิต เอาของจริงเป็นนิมิต ที่กายนี้ ให้รู้ที่กาย พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติเห็นกาย ทุกคนมีกาย จะเป็นหนุ่มเป็นแก่ก็มีกายอันเดียวกัน จะเป็นหญิงเป็นชายก็มีกาย เป็นพระเป็นเณรก็มีกาย เหมือนกันหมด กายนี้ก็มีกายมีใจเหมือนกันหมด มันเคลื่อนไหวเป็น ไม่ใช่ต้นเสาก้อนหิน มันทำดีได้มันทำชั่วได้คือกายคือใจ เป็นกายกรรม มโนกรรม มันจะเกิดดีจะเกิดชั่วต้องอยู่ที่กายที่ใจนี้ มาเริ่มต้นตรงนี้กัน ไม่ใช่ไม่มี เราก็มีอยู่ พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า มันจะหลงไปข้างหลังก็กลับขึ้นมา ปัจจุบันนี้คือชีวิตจริง ถ้าไม่ตั้งไว้ที่นี่มันจะไหลไปข้างหลัง คืนไปข้างหลัง ถ้าไม่ตั้งไว้ที่นี่มันจะวิ่งไปข้างหน้า เอาผิดเอาถูกก่อน สุขก่อนทุกข์ก่อน ได้ก่อนเสียก่อน ยากก่อนง่ายก่อน เอาความยากความง่าย เอาความผิดเอาความถูก เอาความสุขเอาความทุกข์ เอาสุขาวดี เอาอมิตาพุทธ เอาฌานไปแล้ว มันไปแล้ว มันลืมตรงนี้ มันจะไปที่ใดมันต้องตั้งต้นนี้ก่อน ไม่ใช่หาคำตอบจากความคิดนะ เรานี่มันคิดเก่งเหมือนกันทุกคนนั่นแหละ เราจึงเอาของจริงศึกษา ความรู้ความหลงก็ต่างวาระกัน บางคนหลง บางคนรู้ คนบางคนเขาไม่หลงแล้ว ความทุกข์ของคนบางคน คนบางคนเขาไม่ทุกข์แล้ว ความโกรธของคนบางคน บางคนเขาไม่โกรธแล้ว อย่านึกว่าเราทุกข์คนเดียว คนอื่นก็เคยทุกข์มาเหมือนกัน ไม่ต้องอธิบาย สุขก็เคยเหมือนกัน หลงก็เคยเหมือนกัน เป็นอันเดียวกัน หัวอกเดียวกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน มันจะขาดทุน
เรามีมนุษย์สมบัติ ศีลธรรมพาเรามาเกิดอยู่ที่นี่ ทำดีได้ ละความชั่วได้ ถ้าไม่มีศีลมีธรรมพามานั่งอยู่ตรงนี้ มันก็เป็นเปรตเป็นอสุรกายเป็นสัตว์นรก พัฒนาไม่ได้ แต่คนเหล่านี้เมื่อไม่พัฒนามันจะต่ำไปอีก จะเป็นเปรตเป็นอสุรกายเป็นสัตว์นรก แม้เทวดาอยู่ในเมืองสวรรค์ก็ยังมาเกิดเป็นมนุษย์ถึงจะไปสู่นิพพานได้ กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐแล้ว เป็นลาภอันประเสริฐแล้ว ไม่ใช่เกิดเป็นอันอื่น จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรม นี่คือพระธรรม มีแล้ว ใครจะรู้ ใครจะไม่รู้ พระธรรมมีอยู่ก่อนแล้ว เช่นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เห็นพระธรรม พระธรรมพาเป็นพระพุทธเจ้า พระธรรมมีอยู่ก่อนแล้ว เป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าธรรม อันดีก็เรียกว่ากุศลธรรม อันไม่ดีเรียกว่าอกุศลธรรม ไม่ใช่มาจากไหน มันอยู่ในชีวิตเรานี้ กุศลก็ดี อกุศลก็ดี พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าเป็นชาวสยัมภู ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระพุทธเจ้าก็คือสามัญชนเหมือนเรานี้ แต่เป็นเจ้าฟ้าชายชาวสยัมภู
หลวงตาเคยไปสยัมภูนะ เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ถามไปหมดเลย อุตส่าห์มีศรัทธานะ ต้องตามหาให้ได้ ยังไงๆ ไปเนปาล หิมาลัยก็ขึ้นไปนอนแล้ว ไปนอนอยู่บนเขาหิมาลัย มองลงมาสนามบินกรุงกาฐมาณฑุ 20 กม. 30 กม. มองลงมาเห็นแต่ไฟแดงแค่คืบเดียว มันสูง ไฟแดงสนามบินมันแค่นี้ 20 กม. เรียกว่ากาฐมาณฑุ สยัมภู เดี๋ยวนี้ก็ยังมีโพธิสัตว์นะ เขาก็ยังเชื่อกันอยู่ เขาพาไปดูโพธิสัตว์เป็นเด็กน้อยอายุ 7 ขวบ เขาเลี้ยงมาดี รู้จักอะไรเยอะแยะ ของเราหรือของเขา แต่ในสยัมภูนั้นมีบ้านเป็นปราสาท แล้วก็ให้ไปดู เปิดราชวังเข้าไป ถ้าใครมีบุญ โพธิสัตว์น้อยจะออกมาทางหน้าต่าง ให้ยืนอยู่แถวนี้ แต่ห้ามถ่ายรูป ถ้าโพธิสัตว์เห็นแล้วยิ้มใส่ถือว่ามีบุญแล้วท่านทั้งหลาย แต่ห้ามถ่ายรูป ห้ามชี้มือ ต้องไปยืนอยู่ตรงหน้าต่าง เราไปยืนอยู่ไม่นานก็ออกมาทางหน้าต่าง สวยนะคนกาฐมาณฑุนี้ เด็กน้อย ขาวเหมือนจะมองทะลุเลย ก็มอง ก็มองเรา เขาออกมามอง เราก็ยิ้ม คนที่ไปด้วยกันก็ชื่นใจโพธิสัตว์ยิ้มใส่ ธรรมดาหนอคนเรานะ อันนี้เรียกว่าโพธิสัตว์น้อยยังมีอยู่นะ อีกไม่กี่ปีจะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีก เขาว่ายังงั้น กาฐมาณฑุนะ สยัมภูนะ
พระพุทธเจ้าของเรา สิทธัตถะอยู่ในสยัมภูนี้ จนตรัสรู้ใหม่ ออกจากศรีมหาโพธิ์ในอาทิตย์ที่ 4 เดินไป อุปกาชีวกคนหนึ่งเดินสวนทางมา เห็นหน้าพระพุทธเจ้า ก็มอง วางของพะรุงพะรังลง ถามตรงๆ ท่านเป็นใคร ท่านมาจากไหน มีใครเป็นครูของท่าน ท่านรู้ธรรมอะไร พระพุทธเจ้าก็กำลังร้อนวิชากรรมฐาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสขึ้นเลยอย่างไม่ทะนุถนอม เราเป็นชาวสยัมภู ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูของเรา พราหมณ์คนนั้น คุยโอ้อวดเกินไป คำว่าตรัสรู้ไม่เคยได้ยิน พระพุทธเจ้าพูดออกไปได้เลย พราหมณ์อุปกาชีวกนั้นก็หนีไปเลย ไม่ได้ฟังธรรมเลย พลาดเสียแล้ว จะใช่หรือเปล่า ตอนใกล้ปรินิพพาน อุปกาชีวกคนนี้ยังคิดอยู่ โอย ถ้าจะเป็นสมณะโคดม ลูกชายสุทโธทนะ ชาวสยัมภู นั่นกระมังตรัสรู้ชอบ ก็ยังคิดในหัวใจ ตลอดตั้งแต่วันพบทีแรกเลย เจ็บใจ เจ็บใจใช่ไหม เออ คิดไป ก็เล่าลือไปเรื่อยๆไปสมณะโคดมนี้อาจจะเป็นที่เราเห็นท่าน 40 ปีโน้นมั๊ง ใกล้จะปรินิพพานแล้ว อยู่กุสินารา อุปกาชีวกคนนี้ก็ อดรนทนไม่ได้ ไปเลยนะ วิ่งไปเลย แม่ชีน้อย ไม่ใช่เดินนะ กระหืดกระหอบไป ว่าใครเขาเล่าลือว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้ว ผู้คนก็ไปกราบไปไหว้ไปบูชา ดอกไม้ธูปเทียนกองถึงสูงที่สุดเลย จนพระอานนท์ อนุพุทธะ เป็นยามเฝ้าไม่ให้คนเข้าไปรบกวน แต่ถ้าจะไปอานนท์ต้องขวนขวายให้ผู้หญิงเข้าก่อน แบ่งคิวเข้าไป ดอกไม้ไปบูชาวางลง ไล่ออกไป ผู้ชายให้มาทีหลัง บริการผู้หญิงเก่งนะ ขวนขวายเรื่องผู้หญิงมาก จนเมื่อกาลนานไปแล้ว ปรินิพพานไปแล้ว สังคายนาครั้งแรก พระสงฆ์เถระทั้งหลายปรับอาบัติแก่อานนท์เลย หนึ่งอานนท์ขวนขวายเรื่องผู้หญิงมากเกินไป สองขวนขวายให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี อานนท์ว่าที่ไหน ตั้งแต่สมัยครั้งปรินิพพานนะ ทำไมจึงให้ผู้หญิง บริการผู้หญิงเข้าไปก่อน เพราะเหตุใดอานนท์ก็เฉลยว่าผู้หญิงก็มีลูกมีเต้ามีลูกมีนม เขาต้องการเอานมให้ลูกกิน เขาต้องรีบกลับบ้าน ผู้หญิงไปทำงานบ้านทำอาหารการกินให้ครอบครัว ให้เขากลับก่อนผู้ชายไม่มีลูกมีนม จะผิดก็เอ้า! ปรับก็ปรับ พระสงฆ์ก็ปรับอาบัติทุกกฎแก่พระอานนท์ แล้วทำไมจึงขวนขวายให้ภิกษุณีบวช ทำไมบริการเขาเหลือเกิน พระพุทธเจ้าห้ามอยู่แล้วไม่ให้บวช เอ้า! ใครก็ตามในสาธารณะธรรมวินัยนี้สามารถปฏิบัติบรรลุธรรมถึงมรรคผลนิพพานได้ ทำไมไปห้าม พระอานนท์ยังไปกราบทูลพระพุทธเจ้า นางมหาปชาบดีเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าว่า สงสารพระแม่ โกนผมหมดแล้วยังไม่ให้บวช ในธรรมวินัยนี้จะเป็นพระอรหันต์ได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นหรือ ผู้หญิงเป็นไม่ได้หรือ อย่างอุบลวรรณา สารีบุตร อุบาลี ทำไมเป็นพระอรหันต์ วิสาขามหาอุบาสิกา ทำไมเป็นพระอรหันต์ได้ ผู้หญิงแท้ๆทำไมจึงห้ามไม่ให้บวช พระพุทธเจ้าตอบไม่ได้เลย เอ้า! บวชก็บวช อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเลย นี่เราปรับอาบัติแก่เธอ เอ้า! ปรับก็ปรับ เห็นไหมอานนท์ถูกปรับอาบัติเพราะผู้หญิงเยอะแยะเลย ขวนขวาย
แม้คราวหนึ่งก็ปรับอาบัตินะ อานนท์นี้เป็นผู้ที่มีกริยามารยาทงดงาม แม้มักจะบริการสังคมชุมชนดี ไปแจกทานให้แก่นางพราหมณีในสำนักของอลัชชี เขาบิณฑบาตไม่พอ มาขออาหารจากสำนักเชตวัน อานนท์ก็แจก วันนี้มีคนมาขอรับแจกอาหารกี่คน เมื่อวานมา 20 คน พระพุทธเจ้าก็ถามมาวันละกี่คน ให้เขาให้เพียงพอนะ ให้คนละห่อละห่อไป เห็นมาวันละ 20 คน อานนท์ก็ห่อไว้ 20 ห่อใช่ไหม แต่วันนั้นมา 19 คน พอแจกไป แจกไป แจกไปจนถึงคนสุดท้าย 19 คน มันเหลืออยู่กี่ห่อ มันเหลืออยู่ 2 ห่อใช่ไหม ให้ 2 ห่อเลย แต่ว่าเป็นโอกาสพราหมณีสาว เป็นพราหมณีสาวพอได้รับแจกทานไปแล้ว ก็ถามมา เธอได้กี่ห่อ ฉันได้ 2 ห่อ ทำไมจึงได้ 2 ห่อ เพราะพวกเราได้คนละห่อเดียว ไม่รู้หละ อานนท์เขาก็มองเราเหมือนกับอะไรก็ไม่รู้ แล้วพราหมณีก็คิดไปเอง นึกว่าได้อาหาร 2 ห่อ นึกว่าพระอานนท์รักตัวเอง ก็เลยไปคุยโอ้อวดใครต่อใคร หลายวัน มีท่าทีเล่าลือกันไป ได้ยินถึง สำนักเชตวัน พระพุทธเจ้าก็ถาม ทำไมหละพระอานนท์รักพราหมณีหรือ เขาเล่าลือกัน เอ้าเรื่องอะไร ก็วันนั้นเธอให้อาหารเขา ๒ ห่อ พระอานนท์ก็แก้ว่า อาหาร 20 ห่อ มีคนมา 19 คน ไม่รู้จะเอาคืนมาทำอะไรก็ให้เขาไป จึงเกิดวินัยข้อนี้ห้ามขึ้นว่าห้ามแจกสิ่งของด้วยมือของตน เรายังสวดปาฏิโมกข์ว่า ภิกษุให้สิ่งของแก่มือของตนต้องปาจิตตีย์ ห้ามนะพระสงฆ์ทั้งหลาย เรื่องอานนท์ อุปกาชีวกคนนี้ก็มากระหืดกระหอบมา เหงื่อไหลไคลย้อยมา ขอทางแหวกเข้ามา วิ่งมาจากเมืองอื่นมา กลัวจะไม่เห็นพระพุทธเจ้า เราเห็นมา 40 ปี เราผิดพลาดเหลือเกิน เสียใจ วิ่งมา วิ่งมา ขอเถอะ ขอเถอะ ให้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ก่อนพระอานนท์บริการผู้หญิงนะ อุปกาชีวกคนนี้เป็นผู้ชาย เขากราบเขาไหว้ อุตส่าห์วิ่งมาเหงื่อไหลไคลย้อย เถียงกันกับอุปกาชีวกอานนท์นะ ไม่ได้ ไม่ได้ ออกไป ผู้หญิงเข้าคิวมา โวยวายขึ้นมา พระพุทธเจ้าเรียกพระอานนท์ เรื่องอะไรกัน พระพุทธเจ้านอนอยู่ เรื่องอะไรกันอานนท์ อุปกาชีวกเขาจะเข้าไป ข้าพระพุทธเจ้าห้ามเขาอยู่ เขาไม่เชื่อฟัง ให้เขาเข้ามาเถอะอานนท์เอ๋ย ให้เขาเข้ามา อุปกาชีวกก้มลงทูลขอฟังธรรมสักคำก่อนปรินิพพาน ขออนุญาตพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง รู้ไหมโอวาทข้อนี้ว่าอย่างไร ใครรู้บ้างไหม “หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ” ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่เป็นพระวาจาอันพร่ำสอนของเราตถาคตครั้งสุดท้ายแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว อุปกาชีวกคนนี้ได้บรรลุธรรมเลย เกือบไม่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นสาวกองค์สุดท้าย ใช่ไหม สาวกองค์แรกคือใคร โกณฑัญญะพราหมณ์ เมื่อวานนี้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์เมื่อวานนี้จน 40 ปี ไปถึงอุปกาชีวกคนนี้ สาวกคนสุดท้าย พระพุทธเจ้าเทศน์กัณฑ์แรกว่าอย่างไร กัณฑ์สุดท้ายว่ายังไง พวกเรารู้ไหม อาจารย์ทรงศิลป์ก็พาสวดอยู่เมื่อกี้ กัณฑ์แรกว่าไง “หันทะ มะยัง ปะฐะมะพุทธะภาสิตะคาถาโย ภะณามะ เส” แปลว่าอะไร ไปดูเอา เสียเปรียบกัน ขี้เกียจไม่ได้ หาดู อยู่ในหนังสือเล่มนี้มี ปฐมภาษิต ปฐมคือครั้งแรก ปัจฉิมะคือครั้งสุดท้าย มัชฌิมะคือกลาง ๆ นี่มันมีอย่างนี้ ฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ให้รู้เรื่องนี้เอาไว้บ้าง มาสอนเรา อย่างน้อยก็เอาปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้าย อย่าประมาท สังขารไม่เที่ยงนะ เสื่อมไปเป็นธรรมดา ความไม่ประมาทคืออะไร หลวงตาเคยพูด เหมือนรอยเท้าช้าง ธรรมทั้งหลายอยู่ในความไม่ประมาท เหมือนรอยเท้าช้าง ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์อื่น เอาธรรมข้ออื่นมาลงนี้ได้ มาลงใส่นี้ได้ รอยเท้าช้างมันใหญ่ ความไม่ประมาทจึงมาอยู่กับเราในตรงนี้ มีสติรู้สึกตัวระลึกได้อยู่ นี่แหละความไม่ประมาท รู้สึกตัวอยู่ รู้สึกตัวอยู่นี่