แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เวลานี้เรามาศึกษา มาปฏิบัติธรรม เราจัดสรรเวลามาเพื่อการนี้ก็ต้องให้มีส่วนประกอบหลายๆอย่าง มีศรัทธา ความเชื่อ ทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว เป็นส่วนประกอบอันหนึ่งอีก แล้วก็มีความเพียร สติมันจะเกิดเพราะการประกอบความเพียร เป็นส่วนที่ทำให้สติมันเกิดขึ้นมา ความพยายามใส่ใจที่จะรู้ เวลามันหลงเพียรพยายามที่จะเปลี่ยนหลงให้เป็นรู้ เรียกว่าประกอบเพื่อความเพียร เรียกว่าศรัทธา ให้เป็นงานเฉพาะ ใส่ใจเฉพาะ ขยันรู้เอาไว้ ตั้งไว้เพื่อจะเปลี่ยนความไม่รู้ให้เป็นความรู้ ให้มีความพร้อม ถ้าไม่มีความพร้อมมันก็เก้อเขิน อะไรก็ตามถ้าเราไม่มีความพร้อม มันไม่ทันเวลา ประคองตั้งจิตไว้เพื่อจะละอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดขึ้นอีก นี่คือความเพียรมีศรัทธาเรียกพละ ศรัทธาพละ กำลังอันหนึ่ง วิริยะพละ ความพากเพียรกำลังที่สองเสริมเข้าไป สติพละ มีความเพียรอันที่สามเสริมเข้าไป สมาธิพละให้มั่นคงเสริมเข้าไปให้มั่นคงอย่าหวั่นไหว แล้วก็จะถึงปัญญาพละ สำเร็จ ทำความดีได้สำเร็จ ละความชั่วได้สำเร็จ แล้วก็มีความสำเร็จเกิดขึ้นได้เรียกว่า ปัญญาถึงปัญญา จากปัญหาก็เป็นปัญญาครั้งสุดท้าย คือเรามีสติอยู่นี่ก็เป็นเหตุ เมื่อเหตุมันดีมันก็มีผลดีถึงปัญญา เป็นอริยทรัพย์ภายในของเรา มันไม่สูญเสียไปไหน ผู้ประกอบสติก็ต้องมีสติจนมันชำนาญ เวลามันหลงถ้ามันชำนาญแล้วไม่ได้ทำอะไร เมื่อมีความหลงก็มีสติทันที ความหลงอยู่ที่ใดสติอยู่ที่นั่น มันเป็นไปแล้วเราหัดให้มันเป็น ไม่ว่าอะไรถ้าหัดให้เป็นมันก็เป็นไปเลยไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปลำดับ เรียกว่ามันเป็นมรรคเป็นผล เป็นมรรคเป็นผลแล้วไม่มีเป็นโทษเป็นภัย ความหลงก็ละได้แล้ว ความทุกข์ก็ละได้แล้ว ความโกรธก็ละได้แล้ว เป็นมรรคเป็นผลในชีวิตเรา ถ้าเป็นความเย็นก็เย็นแล้วไม่ร้อนแล้วดับได้แล้ว อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่าชนะ ชัยชนะเราก็มาสวดถวายพรพระ พระพุทธเจ้าเอาชนะมารทั้งหลาย กิเลสมาร ขันธมาร พญามาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร สังขารมารที่มันเกิดขึ้น ตลอดถึงอะไรต่างๆ ช้างนาฬาคีรี นางจิญจมาณวิกา ที่โจษกันพระพุทธเจ้าก็เอาชนะด้วยหลักธรรม มีเมตตากรุณาไว้เป็นพื้นฐาน มีใจหนักแน่นไว้ มีสติไว้ ไม่หวั่นไหวอะไรง่ายๆ คนมีสติย่อมไม่หวั่นไหว ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่ด่วนรับไม่ด่วนปฏิเสธ เพราะหัดไว้แล้ว เราฝึกหัดไว้แล้ว เราทำเป็นแล้ว อันนี้ก็เกิดจากการหัดการฝึก การฝึกหัดไม่ว่าเราฝึกอะไรก็เป็นอันนั้น ฝึกหัดงานอันใดก็เป็นงานเรื่องนั้น เป็นกีฬาเรื่องนั้น เป็นกีฬาชำนาญในความรู้ เป็นปริญญาชำนาญในความรู้ กำหนดรู้โดยความรู้ กำหนดรู้โดยความละ เรียกว่าปริญญาของชีวิต ชำนาญในการใช้ชีวิต เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นความชำนาญ การเกิดแก่เจ็บตายมันเป็นภัย มันเป็นโทษ ผู้ที่ศึกษาผู้ที่มีความชำนาญก็พ้นโทษ อย่างเราหัดว่ามันหลงก็รู้ อะไรที่มันหลงทั้งหลายๆนั้น มันรู้ มันชำนาญ จนไม่มีอะไรที่จะทำให้หลง มันก็เลยชำนาญในความรู้เพราะมันหัดเป็น แต่ก่อนมันชำนาญในความหลงก็ง่ายที่จะหลง พอเราหัดไปหัดไปก็ง่ายที่จะรู้ มันเป็นไปได้ชีวิตของเรานี้มันหัดได้ ฝึกได้ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ จึงอย่าประมาท เล็กๆน้อยๆก็ทำไปก่อน รู้ไปก่อน ฉวยโอกาสไปก่อน ไม่ใช่หาโอกาส
การฝึกตนสอนตนไม่ใช่หาโอกาส เป็นการกระทำลงไป เช่นความดีนิดหน่อย มันก็ดีได้ เหมือนน้ำหยดทีละหยดสู่ตุ่ม โอ่งเต็มไปด้วยน้ำฉันใด ความดีแม้เล็กน้อยก็อย่าประมาท ความชั่วแม้เล็กน้อยก็อย่าประมาท ก็เหมือนกับน้ำหยดลงใส่ตุ่มหยดบ่อยๆก็เต็มตุ่มได้เช่นกัน อันความชั่วก็เหมือนกัน ความดีก็เหมือนกัน มันก็มีเท่านี้ มีกุศลก็ควรทำต่อไป มีอกุศลก็ควรละไว้เสมอ มันก็เกิดขึ้นที่เรานี่ หลงเป็นอกุศล รู้เป็นกุศล การเริ่มต้นตรงนี้เป็นกำเนิดเกิดขึ้นในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็เดินทางนี้กุศล-อกุศล เมื่อกุศลเรามีสติดี อกุศลเราไม่ได้หลงไปกับความทุกข์ที่เป็นโทษเป็นภัย มันก็ตามเราไป ในกายก็ไม่ได้ทำชั่ว วาจาก็ไม่ได้พูดชั่ว จิตใจก็ไม่ได้คิดชั่ว หาที่จะทำชั่วที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจา จากจิต ก็ไม่มี ผ่านมาหลายวัน หาสิ่งที่จะมาเป็นทุกข์เป็นโทษไม่มี กุศลที่มันมากตึงขึ้นอย่างนี้มันก็จะมีธรรมชาติ กฏธรรมชาติ เหมือนหลวงปู่เทียนท่านเล่าเรื่องอารมณ์กรรมฐานให้ฟัง ไม่ทำบาปด้วยกายก็ทำแล้ว ไม่ทำบาปด้วยวาจาก็ทำได้แล้ว ไม่ทำบาปด้วยใจก็ทำได้แล้ว ทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจไม่เคยทำบาปทำกรรม มันเหลืออะไรอีก มันเหลืออะไรอีก ถ้าไม่ทำบาปทางกาย วจีกรรม มโนกรรม มันเหลืออะไรอีก มันก็บริสุทธิ์ เมื่อความบริสุทธิ์นี้เกิดขึ้นเหมือนกับว่าเชือกมันขาด เชือกมันขาดก็หดไปสู่อันเดิม เช่น เชือกเส้นหนึ่งผูกอันหนึ่งไว้ เชือกเส้นหนึ่งผูกอันหนึ่งไว้ พอดีมันขาดมันหดตัวไปประจำที่เดิม มันก็เป็นเชือกอยู่แต่มันใช้ไม่ได้แม้จะเอามาต่อมันเป็นเชือกมันก็ใช้ไม่ได้ เวลาจะมัดอะไรมันก็ขาด เอามาใช้ลองดู เอามาใช้เป็นอกุศลทางกาย อกุศลทางวาจา อกุศลทางจิต มันใช้ไม่ได้ มาให้มันรักมันก็ใช้ไม่ได้ มาให้มันโกรธมันก็ใช้ไม่ได้ มาใช้เป็นสุขมันใช้ไม่ได้ มาใช้เป็นทุกข์มันใช้ไม่ได้ มาใช้อะไรที่มันเคยใช้ มันใช้ไม่ได้ มันหดตัว เวลาจะใช้มันหด มันหดไปมันไม่ให้ใช้ สิ่งนี้น่ารักนะ-มันก็ใช้ไม่ได้ ใช้ให้เป็นความรักให้เป็นความรักไม่ได้ ใช้ให้เป็นความโกรธให้เป็นความโกรธไม่ได้ ใช้ให้เป็นความทุกข์ให้เป็นความทุกข์ไม่ได้ มันใช้ไม่ได้ แต่ก่อนมันใช้ได้มันติด ถ้าจะเปรียบเหมือนกับน็อตมันรูด เกลียวมันรูด มันหมุนไม่ติดเหมือนเกลียวสกรูน็อตที่มันลื่นที่มันหวานแล้ว มันหมุนไม่ติดมันขันไม่อยู่ ขันไปเท่าไหร่ก็ไม่ดูดไม่มัด ความโกรธใช้ไม่ได้ ความทุกข์ใช้ไม่ได้ อะไรที่มันเป็นความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายแม้มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ มันก็ไม่มี มีแต่ทุกข์เท่านั้นหมดไป มีแต่ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ หาอะไรอีกไม่มีแล้ว เหมือนกับมีร้อนก็มีหนาว ถ้าไม่มีหนาวก็มีร้อนเกิดขึ้น ถ้าไม่มีร้อนก็มีหนาวเกิดขึ้น ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเลยไม่มีอะไร มันใช้ไม่ได้ จะใช้ให้รักให้เกลียดชัง ใช้ให้โกรธให้ดีใจ เสียใจ ให้มีรสมีชาติในรสของโลกมันไม่มีแล้ว มันจืดไปแล้วเป็นอิสระ เต็มไปด้วย เมตตากรุณา มีเงินมีทองเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ เกิดจากการกระทำ
เมื่อลำดับดู มันเกิดจากอะไร ก็เกิดจากนี้ มาจากนี้ มาอย่างนี้ ก็เลยเป็นวิชากรรมฐาน ซึ่งพระพุทธเจ้าได้วางสูตรเอาไว้ เมื่อมาทำดูมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นทางอันเดียว ไปสู่ที่เดียว เดินคนเดียวถึงจุดหมายปลายทางอันเดียวกัน อันเป็นอันเดียวกัน ชีวิตของสัตว์โลกมันมาตรงนี้อันเดียวกัน ถึงที่เดียวกัน เช่นเรามีสติ พระพุทธเจ้าก็อยู่เฉพาะหน้าเรานี่แล้ว ถ้าเราหลงพระพุทธเจ้าก็ไม่มีแล้ว มันก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด เห็นกายก็เห็นกายเหมือนกัน มีเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายก็เหมือนกัน เป็นสุขเป็นทุกข์เกิดกับกายก็เหมือนกัน บางทีเอากายมาเป็นสุขเป็นทุกข์เมื่อเราศึกษาแล้วมันก็ไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ เห็นที่เป็นเวทนาที่เรียกว่าสุขว่าทุกข์มันก็ไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ จิตที่มันคิดเป็นสุขเป็นทุกข์มันก็ไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ ธรรมที่มันเกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ กุศล-อกุศลมันก็ไม่เป็นไปตามที่มันเป็นตามเหตุตามปัจจัย มันจบไปแล้ว มันเป็นปกติ คืนสภาพ ถ้าจะเป็นขันธ์ห้าที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็มีอะไรที่เกิดกับรูป สัญญาก็มีอะไรที่เกิดเป็นสัญญา หน้าที่ของรูปก็ทำหน้าที่ของรูป สัญญาทำหน้าที่ของสัญญาให้เป็นงานเป็นการของเขา สังขาร วิญญาณ มันเป็นความขยันของขันธ์ห้า พอดีว่ามันไปศึกษาดูแล้ว มีแต่สติ อะไรก็มีแต่สติ ไม่ให้เป็นรสเป็นชาติ มันก็จืด เหมือนกับคนห้าคน แต่ก่อนทำงานเพื่อสร้างหน้าที่ของรูป ทำหน้าที่ของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พอเรามาดูไปดูไป มันหยุด เหมือนคนห้าคนนี้มันหยุด หยุดทำงานวางสิ่งวางของวางเครื่องมือ เพื่อไปสู่ที่เดิม สู่สภาพเดิม รูปก็สักว่ารูป เวทนาสักว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หยุด สังขารเหมือนนายช่างปั้นหม้อ ก็หยุดปั้น วิญญาณคือมันเคยติดอะไรมามันก็ไม่ติด เหมือนเนื้อผ้าที่มันดีมันย้อมไม่ติด เมื่อมันพัฒนาไปมันก็มีมาตราฐานมากขึ้น นายช่างปั้นหม้อ ปั้นหม้อขึ้นมาปั้นเท่าไหร่ก็แตก ปั้นเท่าไหร่ก็แตก จะเป็นหม้อลูกเล็กลูกใหญ่ ลูกสวย ลูกไม่สวย ปั้นขึ้นแล้วแตกทั้งนั้น สิ่งใดเป็นผลิตผลของสังขารมันไม่เที่ยงมันไม่ใช่ตัวตน มันหลอกไม่ได้ เห็นแจ้งในขันธ์ห้า หยุด เมื่อไม่มีขันธ์ตัวนี้ มันก็ไม่มีภพมีชาติ เวทนา สัญญา สังขารดับ อย่างพระพุทธเจ้าตอนที่ใกล้ปรินิพพาน มีพระอนุรุทธะเป็นผู้ชำนาญในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็สอนอยู่ ที่ว่า เวทยิทนิโรธ ฌานที่สี่ฌานที่ห้า เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เนวสัญญา ญา นะ สัญญา) สัญญาไม่มี ไม่มีคำว่าเจ็บ ก็มีความเจ็บ ไม่มีสัญญาในความเจ็บ ไม่มีสัญญาในความทุกข์ มันไม่เห็นตรงไหนที่เป็นความทุกข์เพราะความเจ็บ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เนวสัญญานาสัญญา มันไม่มี มันจืดไปแล้ว มันเลยอยู่เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย อันนี้มันเป็นไปทำนองนี้เรียกว่าทำให้มันเป็น ผลจากการปฏิบัติธรรม มันเป็นทางไปแบบนี้ เริ่มต้นจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นสูตรทั้งหมด ทั้งหมดของชีวิตใครก็ตามมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม มันชำนาญอะไรที่เป็นเรื่องของกายมันบอก เห็นเป็นรูป เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อเห็นเป็นรูปธรรมมันแตกฉาน ถ้าเห็นเป็นกายมันจน เห็นเป็นใจมันก็จน ถ้าเห็นเป็นกายมันมีตัวมีตนอยู่กับกาย เป็นภพเป็นชาติอยู่ตรงนี้ ถ้าเห็นกายสักว่ากายมันก็จบไป เวทนาก็เป็นตัวเป็นตนเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นของเราร้อนหนาวคือเรา หิวคือเรา อะไรคือตัวคือตน
เมื่อเห็นแจ้งไปเห็นเป็นรูปมันเลยไม่เป็นตัวเป็นตนอยู่ในกาย ไม่เป็นตัวเป็นตนอยู่ในเวทนา ไม่เป็นตัวเป็นตนอยู่ในจิต ไม่เป็นตัวเป็นตนอยู่ในธรรม มันก็บอก มันก็บอกความเท็จความจริง มันบอก ความหลงไม่จริงความไม่หลงมันจริง ความทุกข์ไม่จริงความไม่ทุกข์มันจริง ความโกรธมันไม่จริงความไม่โกรธมันจริง ความเท็จ-ความจริงมันบอก รูปมันบอก นามมันบอก นอกจากมันบอกแล้วก็บอกถึงวัตถุอาการ สมมุติ บัญญัติ รูปก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง นามก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง รูปเหมือนฆ้อง แขวนอยู่นั่นน่ะ แต่เมื่อมีการสัมผัสเอาค้อนไปตี มันดังขึ้นมา เสียงครางของฆ้องเรียกว่าเจตสิก ไม่ใช่ฆ้องมันดัง มันเป็นเหตุที่ทำให้มันเกิดเสียงขึ้นมา ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ที่มันเป็นขันธ์ห้า มันก็เป็นอย่างนั้น ก็เหมือนกับจิตของเรานี้ มันมีสัญญา มันมีรูป มันมีนามในจิตของเรานี้ เหมือนกับไมค์ที่ตั้งอยู่ต่อหน้าเรานี่ มันเป็นไมค์เวลามีเสียงอะไรกระทบมันก็ดังขึ้นมา มันมีวัตถุอาการ จิตใจของเราก็เป็นวัตถุอาการอันหนึ่ง มันใกล้อะไรมันก็เก็บสิ่งนั้นไว้ เวลานอนเราไม่ได้ใช้ มันยังเก็บเอาเป็นความฝันต่อไปๆ ถ้าเราไม่หัดมันก็เก็บเอาทุกอย่าง เก็บเสียงทุกอย่าง อะไรใกล้มันก็เก็บเอาๆ แล้วมันขยันติด กลางวันมันติดอะไรมา มันก็เก็บไว้ๆ เหมือนวิญญาณ จิตนี้มันก็มีวิญญาณมันเก็บเอาไว้นั้นแหละ ไปเก็บไปย้อมไปติดสิ่งใดมา ความสุข ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก ความเกลียดชัง ความพอใจ ความไม่พอใจ มันติดอยู่อย่างนั้น มันเป็นสมมุติ มันเป็นบัญญัติ ไม่รู้มันเป็นอย่างนั้น เคยบอกว่าความหลงมันไม่จริงความไม่หลงมันจริง มันก็เป็นสมมุติบัญญัติ ปรมัตถ์ ความโกรธเป็นสมมุติความไม่โกรธเป็นปรมัตถ์ มีอยู่แต่เดิม แต่จิตของเรานี้ มันมีแต่เดิมบริสุทธิ์ เวลามีความรักเกิดขึ้น มันมีสิ่งที่จรมา เวลาความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธมันจรมา เราไม่รู้เราไปเก็บไว้ พระพุทธเจ้าเลยบอกว่าเวลามันหลง-รู้ เหมือนกับไม่เก็บแล้ว ไม่เก็บเอาความหลง ไม่เก็บเอาความสุข ไม่เก็บเอาความทุกข์ เวลามันหลง-รู้ เวลามันสุข-รู้ เวลามันทุกข์-รู้ มันไม่เป็นแผลเป็น ถ้าให้หลงเป็นหลงมันเป็นแผลเป็น โกรธเป็นโกรธมันเป็นแผลเป็น ทุกข์เป็นทุกข์มันเป็นแผลเป็น มีแต่รอยแผลในชีวิตเรา รอยความรัก รอยความโกรธ รอยความได้ รอยความเสีย รอยความผิด รอยความถูก มันเป็นแผลเป็นในชีวิตเรา มันติดมา การมาเจริญสติมันเหมือนมารักษา มนุษย์มือสองมันถูกชน มันมีรอยบุบ รอยช้ำ รอยปูด มีสติมันซ่อม มันหลงซ่อมให้มันรู้ มันทุกข์ซ่อมให้มันรู้ มันซ่อมได้นะให้มันดี เรียกว่าฟิตใหม่ เข้าอู่ใหม่ เข้าคอร์สใหม่ เพื่อจะเอาไปใช้ให้มันใช้ได้ ให้กายก็ใช้ไม่ให้เกิดทุกข์เกิดโทษ ใช้วาจาก็ไม่ให้เกิดทุกข์เกิดโทษ ใช้จิตก็ไม่ให้เกิดทุกข์เกิดโทษ จนถึงเราความชำนาญในกาย เวทนา จิต ธรรม มันทั้งหมดของชีวิต มันจึงมีงานแบบนี้ ให้มันชำนาญในการกีฬาเป็นการช่าง เป็นนายช่างซ่อมที่มันเสียให้เป็นของดี เปลี่ยนร้ายเป็นดีเรียกว่าปฏิบัติธรรม เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์เรียกว่าปฏิบัติธรรม เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธเรียกว่าปฏิบัติธรรม หลวงตาก็พูดแบบภาษาธรรม ไม่ใช่พูดให้คิด พูดให้มันเห็นนะ "ซ่อม" มันหลง-ซ่อมให้มันรู้ มันจึงจะไม่มีแผลเป็น ถ้าหลงเป็นหลงมีแผลเป็น นี่คือชีวิตของมนุษย์มันประเสิรฐอย่างนี้ ให้มันดี การไม่มีแผลเป็นในชีวิตของเรานี้เป็น พรหมจรรย์ เป็นพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง มันมีอยู่ในชีวิตของเรานี้ ไม่ใช่มีแต่รอยแผล แผลในใจ หลายปีแล้วเอามาเจ็บปวดเพราะมีแผล มีรอย เพราะไม่ได้เคยซ่อม ไม่มีสติเข้าไปเห็นเข้าไปรู้ รู้แล้วไม่มี สุขก็รู้แล้ว ทุกข์-รู้แล้ว ความโกรธ ความโลภ ความหลง-รู้แล้ว มันอันเดียวเท่านั้นแหละ ความโกรธก็อันเดียว ความหลงก็อันเดียว ความทุกข์ก็อันเดียว ความรัก ความเกลียดชังก็อันเดียว ไม่มีพันธุ์อื่นเหมือนโรคไข้หวัดพันธุ์ใหม่ ไม่มีแบบนั้น มีอันเก่าอยู่ที่ไหนก็เป็นนี่โลกอันนี้ เป็นรสชาติของโลก ถ้าเกิดมาก็เป็นอย่างนี้ มีรูปธรรม มีนามธรรม มันก็มีเท่านี้เป็นอันเดียวกัน พระธรรมจึงเป็นอย่างนี้ ตรัสไว้ดีอย่างนี้ แต่ทุกข์เป็นทุกข์ก็มี ทุกข์ไม่เป็นทุกข์ก็มี จะทำอย่างไรก็แล้วแต่เราจะศึกษาเรื่องนี้
ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ก็เสียชาติ โกรธเป็นโกรธก็เสียชาติ หลงเป็นหลงก็เสียชาติ ให้มันจบไปมันไม่เสียชาติ ชีวิตเราเพื่อการนี้ ไม่ใช่เกิดมาเพื่อมีปัญหา ให้เกิดมามีปัญญา ถ้าเป็น(รา คัค คิ) เย็นแล้ว (โท สัค คิ) เย็นแล้ว (โม หัค คิ) เย็นแล้ว มันเย็นแล้ว ชีวิตมันเย็นแล้วไม่มีพิษมีภัยต่อตนเองแล้ว ไม่มีพิษมีภัยต่อคนอื่นแล้ว มันก็เหมาะแก่การงานแล้ว ไปเป็นผัวเป็นเมียกันก็เย็นแล้ว เป็นพ่อเป็นแม่เป็นเพื่อน เย็นแล้ว มันก็มีสวรรค์ นิพพาน อยู่บนดินนี้อยู่บนโลกนี้ อย่าไปรอถึงวันตาย พระนิพพานไม่ใช่ตาย นิพพานคือหมดพิษแล้วหมดโทษแล้ว เย็นแล้วอย่างนี้ มันอยู่ที่ชีวิตเรานี้ เราจึงมาฝึกตนสอนตน เตือนตน สนุกนะ ไม่มีอะไรสนุกเท่าการสอนตัวเรา เห็นความหลงมันลึกซึ้ง เห็นความไม่หลงมันลึกซึ้ง เห็นความทุกข์มันลึกซึ้ง เห็นความไม่ทุกข์มันลึกซึ้ง ไม่ใช่ลึกลับ ศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาลึกลับ เป็นศาสนาแห่งความลึกซึ้งสัมผัสได้เลย พลิกมือขึ้นรู้สึกตัวได้เลย เวลามันหลง รู้สึกตัวได้เลย ลึกซึ้งแบบนี้ ปฏิบัติได้แบบนี้ มันน่าจะขยัน แม้มันมีความง่วงเกิดขึ้น ก็อย่าถือว่ามีปัญหา มันเป็นปัญญาตรงนั้นด้วย มันไม่มากมันไม่ยากอะไร ถ้ามีความง่วงเกิดขึ้นก็มองไปไกลๆ เอาออกไปก่อน อย่ามาคุมเกินไป ถ้าคุมอะไรเกินไปมันไม่ค่อยจะได้ผล เหมือนเราฉีดยา ค่อยๆบีบออก ค่อยๆฉีดออก ปล่อยเบาๆให้มันสมควรตามกำลัง เหมือนบีบขนมจีน ขนมเส้น มันมีรูเฝียน บีบสม่ำเสมอ มันจึงเป็นเส้นสวยงาม ถ้าบีบผุดๆผัดๆเส้นสั้นๆไม่สวย ความเพียรถ้ารีบเกินไปก็เสียหาย แตก ทำให้เครียดทำให้เบื่อหน่าย เข็ดหลาบ ทำไม่เป็นก็เข็ดหลาบได้ เหมือนพระโสณะ มีศรัทธามาก เมื่อทำความเพียร ขยันเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เอาข้างเดินข้างก็แตก เอาส้นเดินส้นก็แตก เอาปลายเท้าเดินย่องไปปลายเท้าก็แตก แตกหมด ทางเดินจงกรมมีแต่รอยเลือด มานั่ง มาดูเราทำขนาดนี้ ไม่ได้บรรลุธรรมเลย ไม่มีใครทำมากเท่ากับเรา รอยทางเดินจงกรมจนมีแต่รอยเลือด หมดความสามารถเท่านี้ ไม่เห็นใครมีทางเดินมีรอยเลือดเหมือนกับเราเลย เรานี่มันไม่มีบุญวาสนา คงจะไม่ได้บรรลุธรรมอะไร คงจะต้องสึกไปทำบุญทำทานเอา เรามีทรัพย์มาก โสณะโกฬิวิสะ มีทรัพย์เป็นโกฏิ เงินทองเรามี เราไม่ได้บุญกุศลได้มรรคผลนิพพาน เพราะทำความเพียรแบบนี้ ไปลาสึกไปทำบุญทำทานเอามีเงินทองไม่อดไม่อยาก พระโสณะโกฬิวิสะ ก็ไปลาพระพุทธเจ้า ขอลาสึก
พระพุทธเจ้าถาม "โสณะ เธอเป็นดนตรีใช่ไหม"
พระโสณะตอบ "ใช่พระเจ้าข้า สมัยเป็นหนุ่มเล่นดนตรี"
พระพุทธเจ้า "เธอเล่นอะไร"
พระโสณะ "กีต้าร์ พิณ สีซอ"
พระพุทธเจ้า "เมื่อเวลาเธอประสงค์จะเอาเสียงมันเหมาะมันเพราะ เธอเอาสายพิณสายกีต้าร์ของเธอมันตึงเกินไป จะได้เสียงเพราะไหม"
พระโสณะ "ไม่เพราะ พระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้า "ถ้าหย่อนเกินไป เพราะไหม"
พระโสณะ "ไม่เพราะ พระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้า "เอายังไงมันถึงจะเพราะดี"
พระโสณะ "เอาพอดี พอดี "
มันมีโน้ต ลาเร ลาซอล ลาซอล ลาโด ซอลซอล ซอลมี หลวงตาเคยเล่นดนตรีเหมือนกันนะ มันจึงพอดี
นั่นก็เช่นกันโสณะ เธอมันตึงเกินไป ให้พอดี เธอทำไม่พอดี นี่บางทีเราตึงเกินไปก็ง่วงได้ คิดฟุ้งซ่านได้ บังคับเท่าไหร่ยิ่งไปกันใหญ่ หย่อนๆ ถ้าเพ่งเกินไปก็ง่วง เครียดได้ มองไปไกลๆ เอาออกไปด้วย เอาเข้ามาด้วย ถ้าเป็นความจิตอย่าคิดอยู่ในนี้ รู้อยู่ในนี้ อยู่หย่อนๆทำสบายๆ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร รู้ก็ไม่เป็นไร เราผิดก็ไม่เป็นไร หลงบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้ารู้บ้างก็ไม่เป็นไร ภายในใจมันเย็น มันสบาย ให้สนุก ถ้าทำลองไปเอาจริงเอาจัง บางคนหน้าบูดๆทำความเพียร แทนที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นมันทุกข์นี่มันน่าจะยิ้มหัวเราะความทุกข์ เห็นมันง่วงน่าจะยิ้มหัวเราะความง่วง ทำใจ เรียกว่า ฉันทัง ชะเนติ วายะมะติ วิริยัง อา ระภะติ จิตตัง ปัคคัณหาติ ปะทะหะติ มีความเพียร ความเพียรไม่ใช่ทำแบบไม่หยุดไม่หย่อน ความเพียรคือทำแบบพอดีๆ เรียกว่าศิลปะก็ได้ ทำในใจนะ
ถ้ามันง่วงก็มองไปไกลๆ มองท้องฟ้า ทิศเหนือ ทิศใต้ มองยอดไม้ ทำท่าคิดไปก่อน ออกไปเสียก่อน อย่าเข้ามาในความรู้สึกตัวเกินไป มองไปก่อน สติไปอยู่ต้นไม้โน่น สติไปอยู่ท้องฟ้า ทิศเหนืออยู่ทางไหน ทิศตะวันออกอยู่ทางใด ทิศตะวันตกอยู่ทางไหน คิดไปลำดับดูก่อน ลำดับไปแล้วเวลานี้เป็นเวลาเท่าไหร่ เป็นเวลากลางวัน กลางวันไม่ใช่เวลานอน กลางวันเป็นเวลาทำงาน กลางคืนเป็นเวลานอน ฝืนความรู้สึกไปก่อนแล้วค่อยๆกลับมา ทำเล่นๆ บางทีมันใหญ่ สู้มันโดยตรงไม่ได้ จะมาสร้างจังหวะสู้กับความง่วงไม่ได้ จะมาเดินสู้กับความง่วงไม่ได้โดยตรง เอาแบบอ้อมๆไปก่อน เหมือนหลวงตาเห็นกระแตสู้กับงู กระแตมันตัวเล็ก งูมันตัวใหญ่ กระแตมันช่วยหนู งูมันไปคาบหนูจากรังลงมาบนกุฏิ ตกลงมา หนูก็ร้องจู้ดๆๆๆๆ กระแตอยู่ในโพรงต้นตับเต่าข้างกุฏิหลวงตา มันก็เห็น ได้ยินเสียงหนูร้อง ก็ออกมาจากโพรงมันก็กระโดดเข้ากัดหางงู งูคาบหนู หางมันอยู่โน่น งูมันตัวใหญ่ กระแตก็กระโดดคาบหางงู แก๊กๆงูก็คาบหนูมันสู้กระแตไม่ได้ มัวแต่คาบหนูอยู่ มันก็เลยวางหนูไปสู้กระแต กระแตก็ไม่สู้ วิ่งอ้อมอยู่นั่น เวลาใดงูจะเลื้อยตามหนูไป กระแตก็กัดหางไว้ แก๊กๆๆ งูก็ขึ้นมาสู้กระแตอีก ตัวหนูที่มันวิ่งเข้าไปกอไผ่ มันมีกอไผ่อยู่นั่น ถ้างูมันจะตามหนูไปกระแตก็กัดหางไว้ เอาไปเอามางูเลยขดตัว งูตัวใหญ่เลยขดตัวเลย ขดตัวกระแตก็วิ่งรอบตัว ยอมกระแตเลย นี่มันสู้ซึ่งหน้ามันไม่สู้ ถ้าลับหลังมันเอา การสู้กับกิเลสอย่าไปสู้ซึ่งหน้า สร้างจังหวะสู้กับความง่วงมันจะเข็ดหลาบนะ จะมีปัญหา ก็เล่นไป มองไป ขยันทำไปก่อน รู้ไปก่อน ทำไปก่อน มันคิดอะไรต่างๆก็อย่าไปสู้ความคิด ทำเล่นๆไปก่อน เคลื่อนไหวไปก่อน พยายามปรับตัวอยู่เรื่อย ตั้งต้นใหม่อยู่เรื่อย ชีวิตใหม่ต้องต้นใหม่ ตั้งเอวใหม่ เวลานั่งไปนานๆ มันจะค่อมลงๆ พอมันค่อมลงก็ยืดตัวขึ้น วางหน้าอก วางต้นคอ วางใบหน้า ใบหน้าเราก็มีที่วางนะ ถ้าวางไม่เป็นก็ไม่งามนะ วางใจด้วยตามสบาย นี่เรียกว่าอุบายปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา - ปัญญา สมาธิ สติ วิริยะ ศรัทธา หมุนอยู่นี่เป็นจักรธรรม มันหมุนนะไม่ใช่เป็นแถวไปเหมือนไต่คันนา ให้ตามหลังกันมันเป็นวงกลม กงจักรแห่งธรรม อันหนึ่งสนับสนุนอันหนึ่ง อันหนึ่งสนับสนุนอันหนึ่ง ไปพร้อมกันหมด มีความหลง มีความไม่หลง มีศรัทธา มีสมาธิ มีปัญญา เห็นหลงที่ใด มันดี มันไม่หลงเป็นหลง มันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ไป เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เรียกว่าจักรธรรม หมุนไปข้างหน้า ก้าวไปสู่ความเจริญ อันนี้เรียกว่ามันมีปัญญานะ มีสติก็ละความชั่ว มีสติก็ทำความดี มีสติจิตบริสุทธิ์มันก็ถูกต้องแล้ว นี่เวลาเรารู้สึกตัวพระพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้านี้แล้ว ไม่อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราหลง พระพุทธเจ้าเคยหลง ถ้าเราง่วงพระพุทธเจ้าเคยง่วง ถ้าเราทุกข์พระพุทธเจ้าเคยทุกข์ ถ้าเราโกรธพระพุทธเจ้าเคยโกรธ ไปทางเดียวกัน ไปเจอภูเขาลูกแรกคือ นิวรณธรรม เหมือนกัน ภูเขาลูกแรกขวางกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือความ ง่วงหงาวหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย ความพยาบาท กามราคะ เกิดขึ้น เหมือนกัน คนมีลูกมีเมียก็ย่อมคิดถึงลูกถึงเมีย เกิดขึ้นเหมือนกันก็รู้เอา รู้เอาไปนี่ ไปทางเส้นเดียวกัน ไปคนเดียว ไปสู่ที่เดียว ถึงที่เดียวกัน มันก็พ้นไปอย่างนี้ล่ะ มันหลงจึงเป็นรู้ มันโกรธจึงเป็นรู้ มันมีราคะจึงเป็นรู้ มันทุกข์จึงเป็นรู้ อะไรที่มันเป็นปัญหามันจึงเป็นปัญญาเกิดขึ้นไปนี้