แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน มีอะไรที่ต้องบอกชี้ให้เห็นให้ดู เพราะว่าชีวิตของเรามันมีหลายอย่างถ้าเราไม่รู้ไม่เห็น ไม่พบเห็น มันก็หลอกเรา เราจึงมาดู เหมือนที่พระพุทธเจ้าว่า สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันวิจิตรตระการ ดุจราชรถที่คนเขลาคนหลงกำลังหมกอยู่ ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่ โลกไม่ใช่แผ่นดิน โลกคือกายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบ มีกายมีจิตรู้อะไรได้ เราจึงมาเรียนให้มันจบโลกอันนี้ แล้วมันก็จบเป็น มันมีอะไรหลายอย่าง มันมีบาป มันมีบุญ มันมีภพภูมิต่าง ๆ ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน การมาดูก็คือมีสติ สติเหมือนดวงตา ดวงตาภายใน มาดูกาย มาดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกาย ดูกายอย่างเดียวเห็นจิตสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจ มันจะแสดงให้เราเห็น ความไม่จริงมันก็แสดง ความจริงมันก็แสดง แสดงหลายฉาก มันออกมาแสดง ออกมาโชว์ บางทีเราก็หลงไปตามการแสดงของกายของจิต ที่จริงเขาเป็นอย่างนั้น เพราะว่าไม่มีใครมาดูแลเขามานาน เขาก็แสดงตามฉากต่าง ๆ จนเขาชำนิชำนาญ ทำให้เราหลงส้น หลงทิศทางไปกับเขา ถ้าเรามาดูแล้วเราจะได้ความฉลาด ความฉลาดได้ปัญญา มันก็จะเกิดขึ้นจากการแสดงของกายของจิต เช่น เรามีกายเราก็หลงไปกับกาย การดูนี้ก็เหมือนกับว่ามันรู้แจ้ง พระพุทธเจ้าเห็นก่อนใครทั้งหมด กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นอย่างนั้น ถ้ายังเป็นตัวเป็นตนอยู่กับกายก็ถูกมันครอบงำ เราเป็นทาสของกาย กายก็บงการ บงงาน ชี้ให้เราสุขให้เราทุกข์ ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับกายไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กระทบกระเทือนไปหลายอย่าง พอมาเห็นว่ากายสักว่ากาย เห็นแจ้งมันก็จบ ดูกายมันก็จบเรื่องของกายไป ถ้าเป็นกายล้วน ๆ แต่ว่ามันยังมีอีก ซ้อนขึ้นไปหลายอย่าง มีเวทนา มีสุข มีทุกข์ มีอะไรต่าง ๆ อยู่บนกายนี้มากมายไปหมด ถ้าได้บุกออกไปเป็นช่องเป็นทางไปสักหน่อยมันก็เป็นทางไป รู้ไป เห็นไป มันก็บอกเรา กายมันบอก ใจมันบอก เป็นช่องเป็นทาง เป็นกระแส เป็นทิศเป็นทางไป มันไม่เหมือนการศึกษาทางโลก หาส่วนประกอบมาพิสูจน์ แต่กายนี้ในตัวมันมันก็บอก เช่น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน ไม่ต้องมีอะไรพิสูจน์ ในความไม่เที่ยงมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ในความเป็นทุกข์มันก็เป็นอย่างนั้น มันตรง ๆ มันก็โชว์ให้เราเห็นตรง ๆ ในความไม่ใช่ตัวตนมันก็โชว์ให้เราเห็นตรง ๆ แต่เราก็ไปหลงตรงนี้บ้าง เอามาเป็นสุข เอามาเป็นทุกข์ เอามาดีใจสีใจกับความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นทุกข์ สร้างความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงพาให้เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนพาให้เป็นทุกข์ แทนที่จะฉลาด แทนที่จะเห็นแจ้ง มันก็ได้บทเรียน ได้บทเรียน เห็นความเท็จความจริงในความเป็นทุกข์ ในความไม่เที่ยง ในความไม่ใช่ตัวตน มันก็ซ้อนขึ้นมาในกายในจิต แต่ว่าวิธีศึกษากรรมฐานเนี่ย มันมีขั้นตอนดี๊ดี มันมีทางดี๊ดี ทางดำเนินไปดี ๆ ว่าแต่อย่าออกจากทาง บางทีมันชวนรู้ชวนเห็น มันสุขก็ชวนให้สุข มันรู้ก็ชวนให้รู้ ก็อย่าหลงไป ให้ดูไปก่อน ให้มาสร้างตั้งที่หลักก่อน เอามาตั้งที่หลักเดิมเสียก่อน มันทุกข์ก็เอามาตั้งที่กาย ให้รู้สึกที่กายไปก่อน มันสุขก็เอามาตั้งไว้ที่กายก่อน มีหลักมันจึงจะเดินไป ถ้าไปสุขไปทุกข์ไปรู้มันก็ไม่ได้ไปไหน มันก็จบอยู่ตรงนั้น เมันจบอยู่ตรงนั้นมันก็ไม่ได้ผ่านพ้นไปที่ไหน ถูกกัก ถูกขัง ถ้าเรากลับมามีสติมาตั้งไว้ใส่ใจที่จะรู้สึกตัวอยู่ มันก็ไปของมันเอง มันเห็นอะไรมันก็เห็นไปเอง ก็รู้ตัวนี้ตัวรู้สึกตัวเหมือนมรรคเหมือนทางเหมือนไปเรื่อย ๆ ตัวรู้สึกตัวนี้ไปเรื่อย ๆ ผ่านความหลง ผ่านความรู้ ผ่านความสุข ผ่านความทุกข์ ผ่านความผิด ผ่านทางถูก ตัวรู้นี้ผิดมันก็รู้ ถูกมันก็รู้ ทุกข์มันก็รู้ สุขมันก็รู้ รู้มันก็รู้ ไม่รู้มันก็ไม่รู้ เรียกว่าผ่าน ถ้ารู้ก็ไม่ผ่าน ถ้าสุขก็ไม่ผ่าน ถ้าทุกข์ก็ไม่ผ่าน วิธีที่จะทำให้เราผ่านก็คือกลับมารู้สึกตัว นี่แหละทำอันเดียวนี้ไปได้ อะไรก็ตามกลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว
วิธีที่จะรู้สึกตัวก็ดีเหลือเกิน บรรพะ พระพุทธเจ้าว่าบรรพะ กายบรรพะคือการเคลื่อนไหว สัมปชัญญะบรรพะคือความรู้สึกความระลึกได้ มั่นคง เหมือนเราเหยียบดินเวลาเราเดินทาง ไม่ใช่เดินอยู่บนอากาศ ถ้าเดินอยู่บนอากาศเดินอยู่ในน้ำมันไม่มั่นคง เราเหยียบดินมันมั่งคง เราก็สามารถก้าวไปได้ ผ่านไปได้ มันมีวัตถุที่จะทำให้เราเข้มแข็งไม่ต้องมีเครื่องยนต์กลไกเหมือนเรือบินที่เขาวิ่งอยู่อากาศ เรือมันวิ่งอยู่ในน้ำ อันนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่า เขาก็อาศัยอย่างนั้นเขาก็วิ่งไปได้ แต่ว่ากายของเราเดินอยู่บนดิน การบรรลุธรรมการเห็นธรรมมันต้องเอาธรรมชาติจริง ๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่มีอะไรมาช่วย ต้องมีอะไรมาประกอบ มันไม่มี มีแต่เอากายมาประกอบ เช่นสติมันจะเกิดขึ้นมาก็ต้องประกอบ ไม่ใช่ไปหาเทคโนโลยีเครื่องยนต์กลไกอะไร เหมือนเครื่องวัดสมอง เหมือนเครื่องวัดอะไร เครื่องแพทย์อะไรต่าง ๆ นั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่การที่จะเข้าไปเห็นธรรม รู้ธรรมมันต้องในตัวของมัน ถ้าในตัวของมันสร้างตัวของมัน ก็เรียกว่ายอดเยี่ยม เหมือนเขาให้แมลงทำลายแมลง เหมือนตัวต่อทำลายตัวหนอนในอ้อย เหมือนแมลงมันปราบแมลง มันก็อยู่กันได้ ธรรมชาติมันปรับตัวมัน ไม่มีตัวแมลงอันใดที่จะเก่งไปกว่าต่อแตนที่มันปราบแมลงที่มันเจาะอ้อยเจาะอะไรต่าง ๆ ไม่ต้องไปใช้อะไร ในชีวิตจิตใจของเรานี้ ในจิตมันก็มีจิต ในสติมันก็มีสติ สติมันก็กำจัดความมืดความหลงไปเลย ผู้ใดมีเพียรเพ่งอยู่ เหมือนพระพุทธเจ้า ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ พินิจเพ่งอยู่ เมื่ออะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจ กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร สังขารมาร เทวบุตรมาร การมีสติมีเพียรเพ่งอยู่ มีสติอยู่ก็เหมือนแสงพระอาทิตย์ที่พ้นจากขอบฟ้าทำลายความมืดได้ฉันได้ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ก็ทำลายความหลงได้ฉันนั้น มีสติอยู่ มีสติอยู่ก็ทำลายมาร เสนามาร มัจจุมารได้ เหมือนช้างที่กินอ้อยม้วนอ้อยเข้าในปากเป็นความง่ายดายฉันนั้น คือคำว่าเพียร มีสติ ใส่ใจที่จะรู้อยู่เสมอและรู้อยู่เสมอ อะไรที่เกิดขึ้นในขณะที่เรารู้อยู่มันก็เหมือนช้างกินอ้อย เหมือนแสงพระอาทิตย์กำจัดความมืด เป็นอย่างนั้น
ถ้าเรารู้อยู่ รู้อยู่ ไม่ต้องทำอะไร มีแต่พบเห็น ตัวรู้ตัวนี้เอาไปเอามามันดู มันเป็นภาวะที่ดู ถ้าภาวะที่ดูมันก็เกิดภาวะที่เห็น ถ้าภาวะที่เห็นมันก็เกิดภาวะที่หลุดพ้น เรียกว่าจุดหมายปลายทางคือหลุดพ้น เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่พรหมจรรย์นี้ ไม่ใช่ลาภสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ ไม่ใช่เจ้าลัทธินิกาย มีพวกพ้องบริวาร ไม่ใช่แบบนั้น แต่ว่าเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจึงเรียกว่าพรหมจรรย์ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เราดูมันเห็นจึงเป็นพรหมจรรย์ตอนไหน เราสุขเราเห็นมันสุขเป็นพรหมจรรย์แล้ว ไม่เปรอะเปื้อนกับความสุข มันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ เป็นพรหมจรรย์แล้ว ไม่เปรอะเปื้อนกับความทุกข์ อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นในกายในจิตนี้ เราเห็นแต่เราไม่เข้าไปเป็นกับมัน เป็นพรหมจรรย์ เรียกว่าเมื่อเห็นมันก็พ้นแล้ว พ้นไปแล้ว พ้นจากทุกอย่าง ถ้าเห็น ถ้าเป็นแล้วไม่พ้น
วิธีปฏิบัติ การเจริญสตินี้ตรงตรง ตรงในลักษณะของการหลุดพ้น สิ่งที่ทำให้เห็นมีมากเหลือเกิน เราตั้งใจเจริญสติบางทีมันเห็นความง่วง โอ! ไม่ต้องไปหา มาเอง ความง่วงทำให้เราเห็นมัน เห็นแล้วก็ไม่เกี่ยวข้องไม่เข้าไปเป็น วิธีที่จะไม่เข้าไปเป็นเราก็มี ยกมือสร้างจังหวะ เปลี่ยนอิริยาบถ ทำความรู้สึกให้ชัดเจนเหมือนตาที่เราดูอะไร มันไม่ชัดเจนก็หลับตาแล้วมองใหม่ ถ้าหูฟังไม่ค่อยได้ยินก็ปรับมอง ฟังตั้งใจใหม่ ปรับให้มันชัดขึ้นมา สติบางทีมันครึ่งรู้ครึ่งหลง ครึ่งรู้ครึ่งหลงในขณะที่เราสร้างสติก็มี เราก็พยายามปรับให้มันรู้ ให้มันรู้ชัด ๆ จังหวะบรรพะที่เราทำเนี่ยสามารถปรับให้รู้ชัดได้ พลิกมันก็พลิกจริง ๆ มือนี้ ตั้งไว้มันก็ตั้งจริง ๆ มันเห็น การรู้อย่างนี้มันไม่มีคำถาม ตั้งไว้จริง ๆ รู้ ยกขึ้นมันก็ยกจริง ๆ มันปรับให้รู้ กลับเข้ามาตั้งหลัก ที่ตั้งเรียกว่ากรรม เป็นฐานเป็นที่ตั้งเรียกว่ากรรม กรรมฐานด้วย กรรมตัวนี้มันจะจำแนกไปเอง มันจะปรับของมันไป เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมา มันมาให้เราเห็น มาโชว์ข้างหน้า มันก็ไม่ลับไม่ลี้อะไร สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ สิ่งที่ทำให้หลงก็ไม่ได้ลับได้ลี้อะไร สิ่งที่ทำให้สุข สิ่งที่ทำให้ทุกข์ มันก็วางบอกตรง ๆ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ก็บอกตรง ๆ เห็นด้วย เห็นชัด เราก็กลับมา เราสร้างตัวรู้ความหลงมาโชว์ เราสร้างตัวรู้ความทุกข์มาโชว์ เราสร้างตัวรู้ความสุขมาโชว์ เราสร้างตัวรู้ความหมกมุ่นครุ่นคิดอะไรต่าง ๆ มาโชว์ มาให้เพียรเสียหน่อย อย่าเพิ่งไปเอายาก อย่าเพิ่งไปเอาง่าย ให้รู้สึกตัว กลับมารู้สึกตัว อย่าไปแก้มัน อย่าไปแก้ อย่าไปอยากได้ เวลามันทุกข์ไม่อยากได้ความทุกข์ เวลามันสุขอยากได้ความสุข ไม่ต้อง ให้เรารู้เฉย ๆ รู้เฉย ๆ รู้สึกตัวแล้วกลับมา ตัวกลับมากลับมารู้ตัวนี้จะพาให้เราเก่ง ถ้าจะว่าแล้วมันเก่งหรือว่าทำให้เรามีฐานมีหลัก การกลับมารู้บ่อย ๆ ตัวนี้แหละเรียกว่ากรรมที่มันเป็นหลัก เราทำกรรมตัวนี้ กรรมตัวนี้ก็ละบาป ละได้ทุกอย่างถ้าเรากลับมารู้ กลับมารู้ ไม่เป็นอะไรกับอะไร อย่าเพิ่งหยุดความเพียร มันเกิดอะไรขึ้นอย่าให้เขาดึงไปง่าย ๆ ให้กลับมาตั้งที่หลัก เหมือนเราอยู่กลางน้ำไหลแล้วเรามีหลักเกาะอยู่ แม้น้ำจะไหลไปเท่าใดเราก็เกาะอยู่ น้ำมันก็มีมันก็ไหลของมันไป เรียกว่า สันตติ คันธาเร มันไหลไป สันตติมันเกิดมาใหม่มันก็ไหลออกไปอีก แต่เรายืนเกาะอยู่บนหลักอยู่กลางน้ำไหล หลักของกรรมฐานก็คือที่ตั้งไว้เนี่ย ตั้งไว้อย่างนี้ รู้อยู่นี่ กลับมารู้อยู่นี่ กลับมารู้อยู่นี่ ความหลงมันไหลมาก็กลับมารู้อยู่นี่ ความทุกข์ความสุขมันไหลมาก็รู้อยู่นี่ สันตติมันเกิดหลายอย่างนะ มันเกิดได้หลายอย่าง ขณะที่เรามีสติ ยิ่งมันแข็ง มีสติสร้างสติมันยิ่งคิด เวลาไม่ได้สร้างสติมันก็ไม่คิด เวทนามันก็โชว์เหลือเกิน แต่ก่อนนี้เรามีอะไรบังไว้ เช่น เวทนาอิริยาบถบังไว้ ไม่ค่อยเห็นชัด ๆ อิริยาบถก็คือยืน เดิน นั่ง นอน กระพริบตา หายใจ เคลื่อนไหวอะไรต่าง ๆ มันบังเวทนา ในสุขในทุกข์มันก็อวิชชามันไม่มีสติ มันหลง มันหลงจึงสุข เพราะมันหลงจึงทุกข์ พอมารู้แล้ว ความสุขความทุกข์ก็บังไม่ได้เพราะไม่มีความหลง มันบังไม่ได้ ไม่ต้องไปแก้มันอันสุขอันทุกข์ ไม่ต้องไปอยากได้ ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปกลัว ไม่ต้องไปเบื่อกับมัน เบื่อทุกข์เบื่อแล้ว ไม่ใช่ มาสร้างสติอย่างเดียวอย่าไปถึงความเบื่อ อย่าไปถึงความชอบ อย่าไปถึงความผิด อย่าไปถึงความถูก อย่าไปถึงความได้ อย่าไปถึงความเสีย รู้เฉย ๆ โอ้ย! มาเหนือ มาเหนือชั้นเลย ภูมิ ถ้าเป็นนักรบก็ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิดี ๆ มันก็ชนะได้ ถ้าชัยภูมิไม่ดีก็ชนะไม่ได้ เราเจริญสติ สตินี้เอามาตั้งไว้ที่กายเป็นชัยภูมิ ตั้งตรงนี้ ตั้งตรงนี้
พระพุทธเจ้าได้ชี้ไว้ชัดเหลือเกิน เริ่มแรกเอามาตั้งไว้ที่กายเพราะกายมันก็มี สติมาตั้งไว้ที่กาย พอตั้งไว้ที่นี่ก็ไปได้แล้ว ถ้าดูกายเห็นจิต ดูคิดเห็นธรรม ดูกายเห็นจิต ดูคิดเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมมีเยอะแยะ กุศลก็มี อกุศลก็มี กุศลก็คือความเฉลียวฉลาด เป็นความสงบ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ฝ่ายอกุศลก็ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความหลงก็มีความไม่หลง ความโกรธก็มีความไม่โกรธ ความทุกข์ก็มีความไม่ทุกข์ ความเกิดก็มีความไม่เกิด ความแก่ก็มีความไม่แก่ ความเจ็บก็มีความไม่เจ็บ ความตายก็มีความไม่ตาย อย่างพระท่านสวดมาติกา กุสะลา ธัมมา ธรรมที่เป็นกุศล อกุสะลา ธัมมา ธรรมที่เป็นอกุศล อัพยากะตา ธัมมา ธรรมที่ยังไม่เป็นกุศล ธรรมที่ยังไม่เป็นอกุศล มันเป็นคู่ เห็นธรรมเห็นอย่างนี้ ความหลงมี ความไม่หลงก็มี ความโกรธก็มี ความไม่โกรธก็มี เห็นถ้ามีสติมันก็ผ่านไป มันก็ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป เห็น เห็น เห็น เห็นเขาแสดง พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ปัญจวัคคีย์ โกณฑัญญะเห็นคำพูดของพระพุทธเจ้า การแสดงออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทำให้เกิดการสัมผัสของผู้ฟังเช่นโกณฑัญญะ คำพูดเสียงพูดออกจากพระโอษฐ์โกณฑัญญะสัมผัส รูปเที่ยงไหม ไม่เที่ยง อัญญาโกณฑัญญะก็ตอบไป เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารก็ไม่เที่ยง วิญญาณก็ไม่เที่ยง ถ้าสิ่งไหนไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งไหนเป็นทุกข์สิ่งนั้นก็ไม่ควรไปยึดไปถือ อ้าว! มันบอกไปเลย ทุกข์มันก็บอก สุขมันก็บอก สิ่งความไม่เที่ยงมันก็บอก เห็น สัมผัสไป คล้าย ๆ กับตอบในใจว่ารู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว พระพุทธเจ้าแสดงไปก็รู้แล้ว บางทีขณะที่เราปฏิบัติหลวงพ่อเทียนเทศน์ไป บางทีมันพูดไปก่อนหลวงพ่อเทียน พูดไปก่อนเพราะมันเกิดแนวร่วมกับคำพูดหลวงพ่อเทียน เกิดแนวร่วมฟังไป แต่ว่าเราได้ฟังสิ่งที่เราได้ทำ ในสิ่งที่เราได้ทำเราได้ยิน มันก็เกิดแนวร่วม เหมือนเราไปดูหนังดูละครถ้าเกิดแนวร่วม แสดงไปกับเขาได้ เขาร้องไห้ก็ร้องไห้ไปกับเขา เขาหัวเราะก็หัวเราะไปกับเขา เขาสุขก็สุขไปกับเขา เขาทุกข์ก็ทุกข์ไปกับเขา เรียกว่าแนวร่วม อันนั้นน่ะละคร แต่ว่านี้มันไม่ใช่การแสดงละคร มันเป็นปัจจัตตัง มันเห็น ไม่ใช่มโนภาพ มันเห็น มันเห็นการแสดงของกายของจิตในสิ่งที่เราเคยหลง บัดนี้มันเห็นก้นบึ้งของความหลง ฉลาดอยู่ในความหลง ในสิ่งที่เราเคยทุกข์ เราเกิดความฉลาดในสิ่งที่เราเคยทุกข์ ในสิ่งที่เราเคยสุข เราฉลาดในสิ่งที่เราเคยสุข นี่เรียกว่าเห็น ความสุขความทุกข์ทำอะไรให้เราไม่ได้ การปฏิบัติธรรมมันเป็นอย่างนี้นะ ไม่ใช่ไปรู้อันโน่นรู้อันนี่ ไปจำเอา ไปเอาเทปอาจารย์ ไปพูดไปจำเอาแล้วรู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้ ชอบอย่างนั้นชอบอย่างนี้ แต่ตัวเราเป็นอย่างไรยังไปพึ่งอะไรอยู่หรือ มันเป็นเรื่องของเราแท้ ๆ การปฏิบัติธรรม แม้นว่าคนอื่นจะชี้ผิดชี้ถูกมันก็เป็นเรื่องของเรา เช่นเราเอามือมาวางไว้บนเข่า เราก็รู้ว่ามือวางอยู่บนเข่า เราตะแคงมือตั้งไว้ เราก็รู้ว่ามือเราตะแคงอยู่ คนอื่นจะบอกว่ามือเราไปที่ไหนเราก็ไม่เชื่อเพราะเราเห็น เวลาเราทุกข์คนอื่นจะบอกว่าเราสุข เวลาเราสุขคนอื่นจะบอกว่าเราทุกข์ มันก็ไม่ได้ เราก็เห็นอยู่ เราก็แก้ของเราไปเอง เราก็รู้ของเราไปเอง มันเรียนด้วยตนเอง อาศัยลำแข้ง พอได้หลักมันอาศัยลำแข้งเดินไปได้เลย กรรมฐานนี้มันไปได้เลย ถ้ากรรมฐานอันใดคอยให้คนอื่นบอก คุณได้ญาณเท่านั้น คุณได้ญาณเท่านี้ คุณเห็นนิมิตอันนั้น คุณเห็นนิมิตอันนี้ ก็เชื่ออาจารย์ คุณกำลังจะได้ชั้นนั้นชั้นนี้ เชื่ออาจารย์ไป ไม่ใช่ เราต้องเห็นเอาเอง เราหลุดอะไรมา เราพ้นอะไรมา มีประสบการณ์มีบทเรียนได้จากอะไร บทเรียนที่เราได้มันเกิดอะไร ถ้าเห็นของจริงเห็นของเท็จมันก็จืดได้ จืดได้ เช่น ความหลง ไม่มีใครไปเอาความหลงเพราะมันไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรมกว่า มันก็จืดแล้วความหลง ความทุกข์ ถ้าเราเห็นแล้วมันไม่จริง ความไม่ทุกข์มันจริงเป็นธรรมกว่า ความโกรธมันไม่จริง ความไม่โกรธมันจริงกว่า แล้วใครบอก ไม่มีใครบอก เราสัมผัสดูแล้ว เราสัมผัสดูแล้ว จะบังคับให้โกรธมันก็ข่มขืนตัวเรา จะบังคับให้หลงมันก็ข่มขืนตัวเรา การข่มขืนตัวเรานี้ถือว่าบาปกว่าการขมขื่นคนอื่นเพราะการขมขื่นคนอื่นมันสองต่อแล้ว มันสองต่อแล้ว แล้วตัวอะไรที่มันใหญ่ก็ตัวหลง อ้าว! มีตัวหลง มีตัวรู้ แก้ตรงไหน ไม่ได้แก้ สร้างความรู้เรื่อยไป ให้ไปโกรธ ไปทุกข์ ไปรัก ไปชัง มันไม่ใช่ ถ้าจะมีก็เมตตากรุณา จะเป็นความรักก็ไม่ใช่ความรักแบบดุ้น ๆ มีเมตตากรุณาก่อนแล้วค่อยรัก รักแบบนี้รักบริสุทธิ์เหมือนพระพุทธเจ้ารัก พระพุทธเจ้าเป็นยอดนักรัก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้องคุลิมาลจับดาบไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ยังรักองคุลิมาล รักไม่ใช่รักเฉย ๆ จะช่วยเหลือด้วย ไม่ใช่รักแบบโลก ๆ รักแบบโลก ๆ อันนั้นไม่ใช่ รักเพื่อเอาความอยากความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่
การปฏิบัติธรรมมันเป็นสูตร มันเป็นทาง ไม่ใช่หมกมุ่น ไม่ใช่สุ่ม ๆ เราเอามือวางไว้บนเข่าเราก็รู้ ไม่ได้สุ่ม เราตั้งมือเราก็รู้ ไม่ได้สุ่ม ไม่ได้ไปถามใคร เรายกมือขึ้นเราก็รู้ไม่ต้องไปถามใคร เราหลงเราก็รู้ ไม่ใช่ไปถามอาจารย์ อาจารย์ฉันหลงไหม ผมหลงไหม หนูหลงไหม ไม่มีคำถาม ถ้าเราโกรธก็ต้องไปถาม ถ้าเราหายโกรธก็ถาม ไม่ใช่ เราหายโกรธหรือยัง ไม่ใช่มีคำถาม เราก็ทำไป สัมผัส สัมผัส สัมผัส ถ้าเห็นความหลงชัดเจน เห็นความไม่หลงชัดเจน มันก็มีคำตอบอยู่ในนั้นแล้ว เห็นความทุกข์ชัดเจนก็มีคำตอบอยู่ในนั้นแล้ว ไม่มีใครไปเอา ทำยังไง ไม่เป็นอะไรกับอะไร รู้ เห็น อ้าว! หลักจริง ๆ คืออะไร คือเห็น มีแต่ดู มีแต่ดู มีแต่ดู ดูแล้วก็ฉลาด ดูแล้วก็เห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น เรียกว่าไปแล้วบัดนี่ หลุดแล้วบัดนี่ ไปแล้ว พ้นแล้ว พ้นอยู่ที่ไหน นั่งอยู่นี่ก็หลุดพ้น ยืนอยู่นี่ก็หลุดพ้น นอนอยู่นี่ก็หลุดพ้น ความหลุดพ้นเป็นศิลปะ เป็นมาตรฐานชีวิต ความหลุดพ้นเป็นมาตรฐาน ชีวิตที่ได้มาตรฐาน เหมือนกับวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ที่ได้มาตรฐาน มาตรฐานของวัตถุสิ่งของก็มีใช้ได้ มาตรฐานชีวิตนี้ไม่เหมือนมาตรฐานวัตถุสิ่งของหรือไม่มีอะไร มันไม่มีอะไร ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา ไม่มีอะไรที่เป็นภาระ ชีวิตล้วน ๆ ปฏิบัติธรรมมันไปแบบนี้ ก็เห็นอยู่นี่ ไปอยู่ที่ไหน ก็อยู่กับตัวเรา ไม่ใช่อยู่สุคะโต ไม่ใช่อยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่กับครูบาอาจารย์ ไปศรัทธาครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ ศรัทธาการกระทำของเรา เมื่อเราศรัทธาการกระทำของเรา เราก็รู้ ผู้บอกผู้สอนเรา ก็เกิดรู้ ผู้บอกผู้สอน ผู้เป็นต้นตำรับตำรา ก็ศรัทธาต่อครูบาอาจารย์ ศรัทธาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศรัทธาแบบนี้เป็นศรัทธาก้าวหน้า ไม่ใช่ผลุบ ๆ โผล่ ๆ เหมือนศรัทธาหัวเต่า ไม่ศรัทธาหัวเต่า ศรัทธาก้าวหน้าไม่เปลี่ยนแปลง เช่นสมัยหนึ่งหลวงพ่อเทียนตัดกระเพาะทิ้ง เป็นโรคมะเร็ง มีคนมาบอกหลวงพ่อเทียนว่าจะต้องฉันอาหารทุกชั่วโมง สองชั่งโมง มันก็ผิดวินัยถ้าไปฉันอาหารทุกสองชั่วโมง วินัยห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล ตั้งแต่เที่ยงไป ถ้าหลวงพ่อเทียนไปฉันอาหารทุกสองชั่วโมงมันก็ผิดวินัย ก็มีคนบอกว่าก็ต้องสึก มีคนรับผิดชอบให้หลวงพ่อเทียนสึก แล้วก็จะได้ดูแลรักษา มีกลุ่มอุบาสิกามีกลุ่มอุบาสกขอรับเป็นธุระเรื่องนี้ไป หลวงพ่อเทียนก็มาฉันจริง ๆ สองชั่วโมงครั้งหนึ่ง อ้าว! พอมาฉันก็มีพระบางรูปมาอ้างว่าเป็นโรคกระเพาะขอมาฉันอาหารเหมือนกัน หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า “นี่มันก็เป็นอย่างนี้ทำยังไงดี” หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า “ถ้าผมสึกจะทำยังไงละ มันก็เป็นอย่างนี้ พระก็ทำตามแบบนี้” ก็เลยพูดว่า “แม้นหลวงพ่อเทียนสึก ผมก็ยังจะกราบจะไหว้” ไม่ได้เกี่ยว ยังจะกราบจะไหว้ ไม่ได้เบื่อ ไม่ได้ถือว่าผิด แต่ว่าหาวิธีที่มันจะดีกว่านี้ แต่สิ่งที่จะทำให้จิตใจเราเปลี่ยนไปเวลาหลวงพ่อเทียนสึกไม่มี แต่จะมีผลกระทบบ้าง จะมีผลกระทบบ้าง ผู้ที่ไม่รู้ความเท็จความจริง “อาจารย์กรรมฐานก็สึกไปแล้ว พวกผมก็มีการกระทบกระเทือนจะเอายังไงดี” ก็ไปเมืองเลย ไปสร้างทับมิ่งขวัญ ไปหาเจ้าคณะจังหวัดเลย ไปถามเจ้าคณะจังหวัดเลย บอกว่าจำเป็นต้องฉันอาหารทุกสองชั่วโมงแล้วจะอยู่อย่างไร หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดเลย “อ้าว! มันจะเป็นไร มา มาอยู่นี่ ใครจะมาว่า มันป่วย มันจำเป็นเนี่ย ชีวิตปล่อยมันทิ้งยังไง การกินเพื่อเอาชีวิตเพื่อมีชีวิต มันไม่เป็นไร” ก็เลยไปอยู่เมืองเลย
มันศรัทธาแบบนี้ ศรัทธาไม่ท้อถอย ศรัทธาอะไร ศรัทธาในความเพียรที่มีครูบาอาจารย์บอก เราทำอย่างนี้มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา แล้วไม่เคยมีใครมาบอกมาสอน แล้วก็ศรัทธาอะไร ศรัทธาตัวเรายกมือไหว้ตัวเรา ยกมือไหว้ตัวเราได้ ศรัทธาจริง ๆ ก่อนที่จะศรัทธาคนอื่น ศรัทธาแบบเราทำแล้วมันยกมือไหว้ตัวเอง เราทำอย่างนี้แล้วมันเป็นอย่างนี้ ไป ไปไหนก็ไป ปฏิบัติธรรม แต่ว่ามันก็มีอย่างนี้ประเทศไทย พุทธศาสนาของประเทศไทยของคนไทยมันมีวัดวาอาราม มันทำให้เกิดความสะดวก เป็นที่ปฏิบัติ เป็นวัดวาอาราม มีที่อยู่ มีผู้บอก มีผู้สอน มีตัวมีตน มีข้าวปลาอาหาร อยู่กันแบบนี้ให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปเพื่อจะไม่เปลี่ยวเดียวดาย ปีนหลัก มันมีวัดวาอาราม มีพระสงฆ์องค์เจ้า มีธรรมวินัย มาจากพระพุทธเจ้า นักบวชอยู่ในระเบียบอยู่ในอะไรมันก็ควรที่จะมี ไม่ใช่เราจะไปตัวใครตัวมัน อ้าว! มาอยู่ด้วยกัน มาปฏิบัติ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่เหมือนอยู่บ้านอยู่เรือนของเราอยากกินอะไรมีตู้เย็นมีอาหาร อยากนอนก็สบาย ไม่ปราศจากอยากออกจากบ้านจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว มีโอกาสที่จะต้องฝึกบ้าง บางคนก็บอกว่าฉันไม่เห็นมีทุกข์อะไร ในโลกนี้ฉันมีความสุข ตระกูลของฉันก็มีความสุขไม่เคยทำบาปทำกรรมอะไร ไม่เคยเบียดเบียนใคร เงินทองก็มี การงานก็ดี ญาติพี่น้องก็ดี ฉันไม่ได้เห็นลำบาก ไม่เคยทุกข์ ไปสอนธรรมที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว มีผู้หญิงคนหนึ่ง “ฉันไม่เห็นมีทุกข์อะไร เงินทองก็มีเยอะ พ่อแม่พี่น้องก็มี ไม่เห็นลำบาก ไม่เคยเบียดเบียนใคร ถ้าอยู่อย่างนี้จะได้ไหมหลวงพ่อ” “โอ ถ้าตัวเองไม่เป็นทุกข์แล้ว ตัวเองไม่เบียดเบียนคนอื่นแล้ว ก็ไปช่วยให้คนอื่นไม่ให้เขาเป็นทุกข์ ไปช่วยคนอื่นไม่ให้เขาเบียดเบียนเขา ไปช่วยคนอื่นไม่ให้เขาเบียดเบียนคนอื่น ต่อ ๆ กันไปอย่างนี้” เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่ ต้องไปสอนคนนั้น ไปบอกคนนี้ จนมาถึงพวกเรา บัดนี้เป็นส่วนรวม ส่วนรวมในเรานี่ก็ไม่เบียดเบียนใครไม่เบียดเบียนตนเองก็เป็นส่วนรวม แต่ว่ามันคับแคบต้องให้มันมากกว่านั้น ไปบอกใคร ไปทำให้เขาดู ไปอยู่ให้เขาเห็น ไปพูดให้เขาฟัง ก็ควรที่จะให้มี อย่าไปมีความสุขในบ้านในเรือนของตนอย่างเดียว ไป ออกไป เป็นวัดเป็นหมู่เป็นมิตร ชักชวนคนอื่นเอาคนอื่นไปอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน