แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการปฏิบัติธรรมก็พอจะรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ปัญหา ปัญญาต่างๆ มันเกิดที่ใด มันไม่มีที่ใด พอจะรวบรวมมาพูดสู่กันฟังเพื่อการต่อยอดให้กับผู้ปฏิบัตินั่นเองเป็นวิธีเรียนลัดชนิดนึง การฟังธรรมนี่ ภาคปฏิบัตินี่ก็อย่าไปหาคำตอบจากความคิด คิดอะไรเอามาถามครูบาอาจารย์ มันอาจไม่เป็นความจริงเสมอไป ถ้าจะมีคำถามขึ้นกับตัวเองก่อน ไม่ใช่ความคิด ภาวะอาการอะไรที่มันเกิดขึ้นในเวลาเราปฏิบัติธรรม ทำยังไงมันก็ยังมีปัญหาอยู่ ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ยังไม่ได้คำตอบก็อย่ารีบด่วนไปถาม บางครั้งเราปฏิบัติไป เจริญสติไป มีสติเป็นตัวยั่งยืนเป็นฐานไว้ มันอาจจะได้คำตอบโดยไม่ต้องถามครูบาอาจารย์ก็ได้
มีเหมือนกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลาปฏิบัติเกิดกับตัวเองไม่รู้จะถามใคร หลวงพ่อเทียนก็ไม่อยู่ บางครั้งเราอยู่คนเดียว บางครั้งเราอยู่กับหมู่ ก็เอาความเพียรบุกเบิกไปก่อน มีสติไปก่อน มันมีไรเกิดขึ้นก็รู้ไว้ก่อน เอาตัวรู้เฉลยไว้ก่อน บางทีก็ทำไปวันสองวัน มันก็ได้คำตอบออกมา ไม่ต้องถามครูบาอาจารย์เลย ประสบการณ์บทเรียนจากตัวเอง มันดีกว่าที่จะเกิดจากผู้อื่น ถามคนอื่น ถ้าถามคนอื่นจะไม่ลงตัวเท่ากับเราพบเห็นเข้ากับตัวเอง ปัญหาต่างๆ มันก็มีตามอารมณ์กรรมฐาน เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นปิติ เป็นนิมิต เป็นปัสสัทธิ อะไรต่างๆ มากมาย บางคนก็เป็นนิมิต บางคนก็ไม่เป็นนิมิต บางทีเราได้ยินคนพูด อาการนิมิตเกิดขึ้นแก่ตัวของเขาเอง เราก็ไม่เป็นกับเขา ก็อย่าไปคิดว่ามันจะเหมือนกัน นิมิตไม่ใช่เป็นเหมือนกันทุกคน ปิติก็ไม่เป็นเหมือนกันทุกคน ปัสสัทธิก็ไม่เป็นเหมือนกันทุกคน บางคนก็เรืองปัญญาเข้าไปเลย ไม่ต้องผ่านนิมิตอะไรต่างๆ รู้เข้าไปเลย ไม่ต้องไปข้องแวะอะไร อย่า เอ๊ะ! ทำไมเราไม่เป็น เหมือนท่าน บางทีอยากให้เป็น บางทีไม่ต้อง เราไปเลย มีสติสัมปชัญญะต่อไป ต่อยอดไปเลย ไม่ต้องมามองหน้ามองหลังอะไร มันไปได้แล้ว มีสติมันก็ไปได้แล้ว มันเกิดไรขึ้น เกิดความรู้มากจนยั้งไม่อยู่ เดินจงกรมก็เดินแสดงธรรม นั่งสร้างจังหวะก็แสดง มีแต่หลั่งไหลออกมาในญาณในปัญญาต่างๆ ถ้าเราไปเป็นผู้รู้ ก็หุ่มไปในใจ ในความรู้ที่เราเห็นเราพบนั้นมากๆ เข้า ไม่มีสติเพลินไปกับความรู้มันก็กลายเป็นวิปัสสนูเสียเวลาไป บางทีก็บางคนก็อดไม่ได้ต้องแสดง มันไม่จริงอ่ะ ความรู้ผู้ที่เป็นวิปัสสนูมันหมดเป็น เมื่อมันหมดแล้วต้องตั้งต้นใหม่ บางคนก็เสียใจ เสียดายให้มันเป็นวิปัสสนูเฉยๆ ไม่ใช่เรืองปัญญา อันเกิดจากเหตุผลต่างๆ ในการทำความเพียรของเรามันเกิดขึ้น บางทีก็ไม่มีความรู้อะไรเลย ก็อย่าไปหาความรู้ที่เกิดจากอะไรต่างๆ มากมาย เอาสติไปก่อน มีสติไปก่อน มันมีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ไปก่อน ปราบมันไปก่อน ปราบอันใดที่ไม่ใช่สตินั้นน่ะ มันเกิดขึ้นมาก็ปราบไปก่อน
เหมือนใบมีดของรถแทรกเตอร์ที่มันกวาดเกรดบนผืนดิน มันปราบไปก่อน มันค่อยๆ เป็นทางไป สติผ่านไปตรงไหน มันก็เป็นทางไปตรงนั้น นี่คือการปฏิบัติ มันมีอะไรล่ะอันที่มันต้องปราบ มันคือความหลงนี่แหละ เหตุผลของมันคือตัวหลง ทำไมมันจึงหลงล่ะ ถ้าจะถามก็เพราะไม่มีความรู้ ทำไมจึงไม่มีความรู้ล่ะ เพราะไม่ได้ประกอบขึ้นมา ทำไมไม่ประกอบ เพราะหาเวลา ไม่ก็ มันก็อยู่ไป มันก็อยู่กับตัวเรา เวลามันหลงไปหาเวลาตรงไหนก็เอามันตรงนั้นเลย พอมันหลงก็รู้ทันที ใช่มั้ย ไม่ต้องทำไมๆ พอมันหลงก็รู้ทันที มันรู้เวลามันหลงมีประโยชน์ ความหลงก็ถูกปราบลงแล้ว ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เหมือนรถแทรกเตอร์ปราบทางขึ้นเขา รอบ ๑ รอบ ๒ รอบ ๓ มันก็กลายเป็นทางเรียบไป ให้คนเข้าเดินได้ รถสี่ล้อ หกล้อก็วิ่งตามไปได้ แต่ก่อนแทรกเตอร์เท่านั้น ตีนตะขาบเท่านั้นที่ผ่านไปได้ รอบแรกก็ไม่ค่อยดีหรอก มันหลงแล้วหลงอีก เรื่องเก่ายังเอามาหลงอีก เรื่องเก่ายังเอามาทุกข์อีก เอ๊ะ! ประเมินตัวเอง ทำไมไม่ผ่านไปไหน ยังอยู่ตรงนี้หรือ อย่าไปเอะใจ เรามีสติเรื่อยไป มีสติเรื่อยไป ถ้าปราบตรงนี้ได้แล้ว อันอื่นก็ค่อยสงบลงบ้าง ความคิด ความลังเลสงสัย ความวิตกกังวล ความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน มานะทิฐิ กามราคะ ปฏิฆะ เคยชินยังไง ก็ค่อยลด อายละบาดนี่ อายสติละบาดนี่ ไม่ซุกซนเหมือนเมื่อก่อน แต่ก่อนมันซุกซน มาถึงปุ๊บทันทีเกิดกิเลสขึ้นมา มาถึงปั๊บทันทีเกิดความรัก มาถึงปั๊บทันทีเกิดความชัง พอใจ ไม่พอใจ พอเราเคยปราบตัวหลงลงแล้ว มันก็อ่อนลงเป็นการปฏิบัติปฏิวัติทันทีเลย สงบลง
โอ๊ะ! ผ่านไปๆ ก็ง่ายขึ้นๆ ง่ายที่จะรู้ แต่ก่อนมันง่ายที่จะหลง เพราะอะไร เพราะไม่เคยเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ มีแต่รู้เฉยๆ มันหลงก็รู้ มันรู้ก็รู้ ไม่เคยรู้จริงๆ ตรงที่มันหลง เหมือนกับเราไล่ยุง มันเจ็บมาอยู่ตรงนี้มันก็รู้จริงๆ เหมือนแม่เลี้ยงลูกอ่อน ลูกร้องไห้ แม่ผู้เลี้ยงลูกก็ดูเอาหูฟังท้อง เอาแก้มมาสัมผัสกับท้องลูก เอาแก้มมาสัมผัสกับหน้าตา ตรงไหนมันร้อนหนา? ไม่ร้อนน่ะ ตรงท้องก็ยังดีอยู่หนา ร้องไห้แบบนี้ไม่ใช่ปวดท้องแน่นอน ร้องไห้อย่างนี้ไม่ใช่เจ็บป่วย ดูตัวยังปกติอยู่ ขายังอุ่น ตัวยังอุ่นพอดีๆ ไม่เย็น ไม่ร้อนเกินไป หัวก็พอดี อาจจะเป็นมดละมั้งกัด เปิดหา เปิดไปเปิดมาเห็นมดตะนอยกัดลูก แม่ก็หยิบมดออก โอ๊ย! มั่นใจแน่วแน่ นี่ล่ะทำให้ลูกเจ็บ โอย! มันพอใจเอามดตะนอยออกจากลูกที่มันกัดลูก พอมดตะนอยออกก็ขมิ้นชันไปทา ลูกก็หายร้องแม่ก็ได้บทเรียนตรงนั้นด้วย เลี้ยงลูก 1คนได้ปริญญาตรี ลูกคนที่ 2 ปริญญาโท ลูกคนที่ 3 ปริญญาเอกใช่มั้ย อะไรอ่ะ เพราะบทเรียนการเลี้ยงลูกเวลาอะไรเกิดขึ้นเอามาให้กู เวลาคนอื่นอุ้มลูกมา ลูกร้องไห้ แม่ก็ เอามาให้กูๆ พอแม่มาอุ้มลูกก็ดู ลูบหัวลูบขาลูบก้นให้ลูกกินนม ร้องไห้มาก็หายร้องทันที ให้มีความมั่นใจขนาดนั้น แม่เลี้ยงลูกไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้
อันตัวเราแท้ๆ นี่ไม่ใช่ลูกนะ มันก็อยู่กับเราเนี่ย มันหลงมันรู้มันก็อยู่กับเรานี่ อะไรที่มันเกิดขึ้น มันไม่ซุกไม่ซน มันโชว์ให้เห็นอยู่เกิดขึ้นมาเลย ไม่ใช่สติ ถ้าเรามีสติเป็นเกณฑ์แล้ว วัดแล้วอะไรมันไม่ใช่สติ มันก็รู้ทันที เอาสติไปดูไปแล ไปสร้างสติต่อไปเรื่อย อย่าไปสนใจการที่ประกอบความรู้มันมีพร้อม วัตถุปัจจัยต่างๆ สามารถที่หาได้ทุกกรณี ในการสร้างความรู้สึกตัวนี่ มันจะเกิดตัวเบา ตัวลอย ปีติ ขนพองสยองเกล้า ขนลุกท่วมตัว อะไรก็ตื่นไวเกินไป เคยเป็นเหมือนกัน นั่งอยู่เวลาพระตีระฆังไปฉันนี่ ทั้งที่ตาเห็นอยู่ ก็ตื่นตกใจทันที ตื๊บ! อ้าว มันอะไรกันนี่ อะไรๆ ไปถามเธอ มันไม่ใช่คำถาม ก็ทำให้ใจมีความรู้ มันระวังเกินไปมันก็ตื่นง่าย ก็เลยเป็นคนโหว่งไปซะ เหมือนวัวที่มัน ม้าที่มันพยศไปเลย อะไรก็ตกใจ เทียมคราด เทียมไถ เทียมเกวียนก็ไม่ได้ ก็เลยต้องหัดใหม่ ค่อยไปอย่างสุขุม
พระธรรมนี่ไม่ใช่ลี้ลับนะ ไมใช่ลึกลับ มันลึกซึ้ง มันสัมผัสไม่ได้ เหมือนอะไรที่เขาสอนเรื่องลึกลับ เห็นนั่นเห็นนี่ ลึกลับไม่เห็นได้ทุกคน มันไม่ใช่แบบนั้น มันลึกซึ้ง เห็นได้ทุกคนที่มันเกิดกับตัวเอง เรียกว่าลึกซึ้งคัมภีรภาพ งดงาม ทำได้ มันหลงก็รู้ ชื่นใจเวลามันหลง เรามีความรู้ มันทุกข์ก็รู้ ชื่นใจเวลามันทุกข์ รู้สึกตัวนี่ มันลึกซึ้งคัมภีรภาพ อ่อนโยนไม่ใช่แข็งกร้าว พุทธเจ้าตรัสออกมาคำใด ดูก่อนๆ เพราะที่สุดเลย ดูก่อนอานนท์ กัลยาณมิตร เพื่อนดีมิตรดีไม่ใช่ธรรมดา พาไปถึงมรรคถึงผลได้ ดูก่อนอานนท์ ดูก่อนปัญจวัคคีย์ ดูก่อนพราหมณ์ ลึกซึ้งงดงามคัมภีรภาพ เรานี่ก็ต้องงดงามกับตัวเอง อย่าไปแข็งกร้าวเกินไป เคร่งเครียดเกินไป พอใจไม่พอใจมันแข็งกร้าว
อย่างเราเขียนไว้ที่ประตูวัด ประตูเหล็กน่ะ ‘เปิดได้ ปิดด้วย’ พอดีใช่มั้ย หลวงพ่อเห็น ‘เปิดแล้วปิดทันที’ๆ เด็ดขาดใช่มั้ย แล้วก็ปิดจริงๆ ล่ะ เด็ดขาด ที่สุคะโตนี่ ‘เปิดได้ ปิดด้วย’ ไม่เด็ดขาดเลย คนเลยไม่ปิดสักที ประตูวัดไม่ปิดสักที
สมัยก่อนคนไป พ่อค้าเขามาซื้อขาย ‘จะไปพักที่ไหนล่ะ’ ‘ไปพักบ้านนั่น ไปพักบ้านญาติของพ่อ’ บ้านญาติของพ่อคือบ้านใครล่ะ? อ้าว! วัดนั่นล่ะ เป็นญาติของพ่อ เป็นพ่อค้าคนไปหาขายสิ่งขายของ ไปซื้อวัวซื้อควายให้ญาติพี่น้อง ไปพักบ้านญาติพ่อ คือไปพักที่วัด ไม่มีอะไร ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเช่าอะไร แต่ที่บางวัดขึ้นป้ายนะ ว่าญาติมาพักที่วัดนะ ค่าน้ำค่าไฟเอาแล้ว 10 บาท 20 บาท ห้ามเขียนเด็ดขาดที่สุคะโต เพราะเป็นบ้านของเรา เป็นอย่างนั้นนะ
การปฏิบัติธรรมมีเหมือนกัน อันที่มันเกิดอันที่นิมิตไม่มีทุกคน อย่าไปอยากมีอยากเป็น ขนพองสยองเกล้า ตัวลอยขึ้น ตัวเบาขึ้น กายลหุตา จิตลหุตา เบาก็ไปเป็นผู้เบา บางทีไปกระโดดหน้าผาตายก็มี หลวงตาไปเห็น ไอ้คอนสารนี่ สมัยก่อน ป่าที่ใด ถ้ำที่ใด เขาที่ใด ช้อบชอบ เมื่อมองเห็นภูเขา คิดอยากจะไปนั่งยอดเขา สมัยเป็นหนุ่มนะ ตะเกียกตะกายไป ยอดเขาน่าจะนั่งดีแท้ตรงนั้นน่ะ ก็ปรากฏว่าไม่มีผู้ไปนั่ง ไปถามชาวบ้าน มีพระตกหน้าผาตายไม่รู้สาเหตุ หลวงตาก็คิดดูสาเหตุแล้ว
หนึ่งพระรูปนั้นบอกเบอร์บอกหวย ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง อาจจะมีคนที่เสียประโยชน์ อาจจับพระโยนลงหน้าผาตายไปก็ได้ หรือว่าพระรูปนั้นทำสมาธิเกิดนิมิตตัวเบาตัวลอย ไม่มีน้ำหนักเลย โหนจาก จากภูเขาลูกนี้ไปลูกนั้นมันก็พอไปถึงพอดี ก็จะเหาะไป บางทีกระโดดไปตกหน้าผาตาย เป็นไปได้ มันเบาตัว เบากายมีเหมือนกัน บางทีเดินจงกรมนี่เหมือนกับไม่ไปเหยียบดินเลย เบา ไปเป็นผู้เบา โอ๊! หลวงพ่อไปซุกซนกับเรื่องนั้นนะ ก็มารู้สึกตัวๆ อย่าไปเป็นผู้เบาจึงเห็นมันรู้สึกตัว กลืนน้ำลายตัวเองก็อิ่ม ไม่ต้องกินข้าว เออถ้าเราไม่กินข้าว อะไรมันจะเกิดขึ้น เพื่อนเราก็มี เขาจะถามว่า เอ๊ะ! ไม่เห็นฉันข้าวนะ สองวันก็ไม่เห็น สามวันก็ไม่เห็น จั๊กไปไหนล่ะ อ้าวไม่เห็นนี่บอกไปไหน ธรรมดาเราจะไปไหนต้องบอกกันธรรมวินัยอันนี่ไม่เห็นบอก ต้องไปถามหาวุ่นวายกัน พอไปถามหาแล้ว มันเกิดเรื่องเกิดราวเสียเวลา ทำให้เกิดปัญหาแก่เพื่อน ถ้าเราไม่ไปฉันข้าว ต้องมีปัญหาอย่างนี้แน่นอน ถึงเวลาก็ไปฉันบ้าง ให้เพื่อนเห็นหน้าทุกวันก็ยังดี ถ้าจะไม่ไปให้เพื่อนเห็นหน้าก็บอกกัน ถ้าไม่มาฉัน ถ้าเกิน ๗ วันไปดูด้วย บางทีก็บอก ก็มันไม่หิวจริงๆ นี่ ไม่ได้ดอก ๗ วันก็ต้องตายแล้วไม่กินข้าว เพื่อนก็ไม่ควรที่จะเป็นถึง ๗ วัน ถ้าไม่ฉันจริงวันนึงก็พอ ไม่ต้อง 7 วัน 2 วันหรอก ก็เลยเอ๊า บางทีก็เผื่อบ้าง ไม่ใช่เอาตามตัวเองที่มันปรากฏอะไรขึ้นมา ไปตามอาการที่มันเกิดขึ้น ไม่ได้ หลงไปแล้ว หลงเป็นผู้ไปทางนั้นแล้ว ไม่หิวก็เป็นผู้ไม่หิว มันหิวก็เป็นผู้หิว มันหลงไปแล้วก็รู้สึกตัวๆ ขึ้นมามันก็ปกติ ปกติได้
บางทีมันอาจจะ หน้านี่เหมือนกับน้ำรินลงมาใส่ มันชื่นนนน มันก็อมยิ้ม ไม่อยากจะยิ้มก็ยิ้มในใบหน้า สังเกตดู มันมีปีติมากทีเดียว มีความสุข มองอะไรน่ะ อู๊ย! ปีติไปทั้งหมดเลย เสียงมดเสียงแมลงก็สนุกสนาน เสียงสงบก็ยิ่งยอดเยี่ยมมาก มองในแง่ดี ปีติทุกอย่าง ลืม ลืมหลับลืมนอน อิ่มอกอิ่มใจตลอดเวลา เพราะเห็นรูปเห็นนาม เกิดปีติแล้ว มีเหมือนกันก็อย่าไปข้องแวะกับมัน เห็นก็เลยสรุปให้แบบกำมือเดียวเพียงแต่เห็นมันรู้มัน เรียกว่าเห็น อย่าเข้าไปเป็น มันก็ราบไปแล้ว อะไรที่มันเข้าไปรู้นี่มันราบไปๆ จะเป็นนิวรณธรรม ปิติ ปัสสัทธิ จินตญาณ วิปัสสนูปกิเลสทั้งหลาย มันจะราบลงๆ อันที่เป็นราคะ โทสะ โมหะ ความโลภโกรธหลงมันจะราบลงไป ก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มันก็ปกติมั่นคง ก้าวหน้า ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะที่เราปฏิบัติ ถ้าเรามีศีล เราจะรู้นะ ถ้าเราเข้าไปเป็นมันจะไม่ค่อยรู้อะไร มันจะไม่ค่อยได้บทเรียน บทเรียนที่มันเกิดให้เรารู้ เรากลายเป็นไม่รู้ไม่ชี้มัน เมื่อเราไม่รู้ไม่ชี้ไปสอนคนอื่นก็ไม่รู้ไม่ชี้ ให้คำตอบไม่ได้
อาจารย์สงครามมาก็ให้ไปสัมผัสกับญาติโยมนักปฏิบัติดูก่อน เพื่อจะเอาข้อมูลที่จากการปฏิบัติของผู้คนแล้วนำมาพูดมาสอนให้บอกต่อกัน คนหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง มาเป็นคำพูดเดียวกัน เราฟังเวลาที่ขณะเดียวกันได้บทเรียนมากมาย มีการสรุปการอบรมการสอนธรรมะในภาคเผยแผ่ของกลุ่มเราน่ะ สายหลวงพ่อเทียนน่ะ จะมีวันรวมกัน ประเมินผลการปฏิบัติงานมาเป็นยังไง ผู้ที่ทำงานก็มาเล่าให้ฟัง ผู้ที่ให้ข้อมูลก็บอกเราก็เพียงแต่เราก็บอกว่า ถ้าจะให้ได้ผลในการปฏิบัติธรรม นักสอนธรรมะไม่ใช่จำมาพูด ไปเอาข้อมูลจากผู้ปฏิบัติมาเป็นปัจจุบัน ข้อมูลที่เกิดจากผู้ปฏิบัติที่เรามาสอนวันนี้ นั่งอยู่นี่ นำมาพูดเรื่องคนนั่งอยู่นี้ให้เขาได้ยินข้อมูลปัจจุบันของเขา คนที่ไม่มีข้อมูลก็จะได้ฟังก็จะได้รู้ได้บทเรียนเรื่อยไป มันจึงจะเกิดผล เดี๋ยวนี้นักสอนธรรมะนี่พูดจริงๆ จำมาอ่านมา บางทีขยายลำโพงออกไปในบ้านโน้น คนฟังอยู่นี่ไม่รู้เรื่องเลย ขึ้นลำโพงใหญ่สูงเข้าไปในบ้านก็หนวกหูชาวบ้านเขา คนฟังไม่รู้เรื่องพูดไปโน่น ไม่ได้พูดให้คนนั่งอยู่นี่ฟัง มันก็ไม่ค่อยได้ผล
วิธีปฏิบัติธรรมที่ให้ได้ผล คือเอาข้อมูลจากผู้ปฏิบัติมาแสดงทุกวันๆ นี่หลวงพ่อหลวงตาพูดนี้ก็ได้ข้อมูลจากนี้มา ไม่ใช่อยู่ๆจะมาพูดเลยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้พอที่จะรู้ทุกๆ อย่างในความผิดความถูก เวลาผู้ปฏิบัติธรรมจึงเป็นสากล เป็นสูตรของการปฏิบัติ โดยเฉพาะสูตรของเจริญสติปัฏฐาน 4 นี่มันเป็นสูตรที่สมบูรณ์ๆ ที่สุดเลย เราจึงต้องฟังดูก่อน อย่าเอาความชอบ เอาความไม่ชอบเป็นการตัดสิน อย่าไปเชื่อเรา คำพูดของเราวันนี้ ท่านไม่มีก็อย่าเพิ่งปฏิเสธ คำพูดของเราวันนี้ถ้าเกิดขึ้นแก้ปัญหาไม่ได้อย่าเพิ่งปฏิเสธ ให้ทำดูก่อน เอารู้ไปดูก่อน รู้ไปก่อน กลับมารู้ตัวเองไปก่อน เดี๋ยวมันจะได้คำตอบเอง ชัดเจนเอง อย่าด่วนรับ อย่าด่วนปฏิเสธ คือคุณค่าของสติสัมปชัญญะ ถ้าด่วนรับด่วนปฏิเสธไม่ใช่คุณค่าของสติสัมปชัญญะเลยทีเดียว เราจึงศึกษาเรื่องนี้ให้แยบคายในการปฏิบัติ มันจะละเอียดๆ ไม่หยาบคาย บางคนปฏิบัติแล้ว 10 ปี 20 ปี ยังหยาบคายอยู่ๆ มันไม่ใช่ ให้มันละเอียดก่อน
เหมือนหลวงตานี่สอนพระให้ทำงาน กวาดบ้านให้ดูซิ บางองค์ก็กวาดบ้านก็กวาดไม่เป็น ไม่ดูทิศทางลม การระหว่างกวาดไปทำให้ฝุ่นฟุ้ง มันก็ตกที่เก่า คือไม่ละเอียด ไม่สุขุม ไม่รอบคอบ ก็ไปบอกวิธีการกวาดบ้านนะ ก็กวาดโบราณท่านว่า กลางคืนกวาดเข้า กลางวันกวาดออก โบราณพ่อแม่สอนลูก กลางคืนกวาดเข้าไป บางทีแม่เย็บเข็มเย็บผ้า อย่าไปกวาดออกจากบ้าน กวาดไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ตอนเช้ามาไปดูไปเห็นเข็ม เข็มเล่มเดียวก็เสียดายนะคนโบราณนี่ หลวงตาเคยมีไม้ขีดไฟน่ะ แก็สน่ะ ถ่านเล็กๆ น้อยๆ มันหลุดออกไปก็เสียดาย คนทุกวันนี้ไม่เสียดายเลย ทิ้ง เช่น นายช่างตีตะปูนี่ ดัดตะปูไม่เป็น ถอนทิ้งๆๆ แต่ก่อนนี่ อู๊ย! ตะปูตกลงที่โน่น ไปหา เหยียบหญ้าหา ใช่มั้ย? หลวงพ่อพรหม ตะปูเนาะ ที่บ้านมันหลุดลงไป แม้นบ่อ ไปหา มาหาช่วยด้วย ตะปูมันกระเด็นมาตรงนี้ เหยียบหญ้าหา ไม่เห็นตะปูดอกนั้นไม่ยอม หาจนได้ ทุกวันนี้ทิ้งขว้าง ซื้อมาสองลังตีได้ลังเดียว นอกนั้นทิ้งไปเลย ตอนเย็นกวาดเข้า ตอนเช้ากวาดออก การกวาดบ้านต้องระวังเอาไม้กวาดขึ้นมาอย่าให้มันแหลมๆกระทบ มันจะปลิวขึ้นมา กวาดไปเนิบๆ ใจมันละเอียด หลวงตาเลยเขียนไว้เวลามีงาน ล้างแก้ว ล้างใจด้วย ล้างถ้วย ล้างใจด้วย ล้างชาม ล้างใจด้วย มันละเอียดอ่อน มันปราณีต มันจะงดงามมาก
เหมือนแม่เลี้ยงลูก เวลาให้ลูกกินนม ยิ้มให้ลูกดู พูดว่อยๆ ยิ้มหัวพูดปากเบาปากเปล่า ลูกก็มองหน้าแม่ เห็นหน้าแม่ยิ้มก็ยิ้มไปกับแม่ ให้มันปราณีต มันถึงจิตถึงใจ มันเป็นการสัมผัสได้ เป็นการสอนตัวเอง สอนคนอื่น เราจะช่วยคนตายก็เหมือนกัน เราต้องแสดงความเอาใจใส่ แสดงความรัก แสดง ไม่ปล่อยให้ว้าเหว่ ไม่ทำอะไรที่ทำให้คนป่วยเสียอกเสียใจ เยียวยากันทางด้านจิตใจ อันนี้เราทำงานทั้งวัน เราทำกับตัวเองก็เหมือนกัน บางทีต้องสุขุมรอบคอบ คัมภีรภาพ เห็นความทุกข์อย่าปฏิเสธ ความสุขเป็นอย่างนี้ๆ ความรู้สึกตัวเป็นอย่างนี้ๆ มันจะละเอียดๆ ไป เหมือนกวาดบ้านก็สะอาดไปเลย ไม่ต้องกวาดอีก ละเอียด มันก็ละไปๆ บางทีก็พั่บเดียวได้ ความโกรธ โกรธทีเดียวไปได้เลย เพราะมันละเอียด ความทุกข์ ทุกข์ทีเดียวไปได้เลย ไวที่สุดเลย ไวกว่าคนที่ไม่ละเอียด คนไม่ละเอียดน่ะก็ไม่ค่อยสะอาด ความหลงก็ไม่ค่อยสะอาดซะที ความทุกข์ไม่ค่อยสะอาดซะที ความโกรธไม่ค่อยสะอาดซะที ความโลภความหลงความรักความชังก็ไม่ค่อยสะอาดซะที ยังค้างคาจิตใจอยู่ มันก็ยังไม่เรียบเลย ยังมีฝุ่น มีสิ่งที่เกาะอยู่ เพราะฉะนั้นที่จะถึงมรรคถึงผลมันต้องเรียบนะ ถ้ามรรคผลนิพพานมันเหมือนกับสุคะโตนี่ จะขึ้นมานี่ได้ ก็ต้องสร้างทางให้เรียบขึ้นมา ปราบให้เรียบ ให้ลาดซะหน่อย ไม่ใช่เป็นหน้าผา หักด้ามพร้าด้วยเข่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เอาจริงเอาจัง 2 วัน 3 วัน หักด้ามพร้าด้วยเข่ามันไม่หักดอก ขึ้นหน้าผาขึ้นไม่ได้ ต้องให้มันเรียบก่อน การละความชั่วทำความดีก็เหมือนกัน ต้องเรียบมันง้ายง่าย
วิธีทำให้เรียบคือสตินี่แหละ ปราบเลยใบมีดรถแทรกเตอร์ ปราบมันลงไป รู้มันลงไป รอบแล้วรอบเล่า รู้แล้วรู้เล่า มันก็ใช่แล้วเป็นทางไปแล้ว รู้เท่าไหร่กลายเป็นทางไปเท่านั้น หลายๆ อย่างที่มันเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัตินี้ สารพัดสารเพ มีตัวรู้ตัวเดียวไปเลย เราจึงสบายมากให้มันผ่านได้ มรรคผลนิพพานเหนือการเกิดแก่เจ็บตาย ต้องเรียบตรงนี้ ตั้งแต่ต้นนี่ไปคือ รู้ไปๆๆ รู้แล้วไม่เป็น ไม่ให้คุณค่าอะไร มันรู้ก็ไม่ให้คุณค่าความรู้ มันไม่รู้ก็ไม่ให้คุณค่าความไม่รู้ มันสุขก็ไม่ให้คุณค่าความสุข หลวงพ่อจะพูดมันอยู่เรื่องเดียวนี้แหละ มันทุกข์ก็อย่าให้ค่าความทุกข์ มันหลงก็อย่าให้ค่าความหลง ให้มีตัวรู้มากกว่าเหนือคุณค่าใดๆ เลยทีเดียวการ ปฏิบัติธรรมเนี่ย การเดินทางในทางนี้ไปจากความชั่วไปสู่ความดี ถึงมรรคผลนิพพานทันทีเลย อย่าทำอะไรเป็นพิธี เป็นรูปแบบเฉยๆ สมัยก่อนแม้แต่เพลงกล่อมลูกก็ไปนิพพานได้
นี่หลวงตานี่ทำหอวัฒนธรรมที่วัดภูเขาทองว่าจะรวบรวมวัฒนธรรมต่างๆ ไปเขียนไว้ติดฝา กำลังจะปรึกษาอาจารย์ตุ้ม อาจารย์สมศรีจะทำไงดี อย่างน้อยเพลงกล่อมลูกไปเขียนไว้ มีมั้ย? ญาติโยมทั้งหลาย มีมั้ยเพลงกล่อมลูก? คน 70 ปี 80 ปีคงมีนะ คน 30 ปีนี่ไม่มีหรอก สมัยนี้ มีมั้ยนี่? หลวงตานี่เกิดมาในยุคได้ยินเสียงเพลงกล่อมลูก อยากฟังมั้ย? จะร้องให้ฟัง ‘นอนซะเด้อหล่า หลับตาแม่สิกล่อม แม่ไปไฮ่หมกไก่มาหา แม่ไปนา หมกปลามาป้อน แม่เลี้ยงม่อน ..’ โอ๊ะ! ลืมไป ‘นอนเด้อหล่า หลับตาแม่สิกล่อม นอนดูผ้าสามวาแม่เจ้าตำ นอนฮ่มไม้สามปล่อง พ่อยอดสา’ แมนบ่? ‘แม่ไปไฮ่หมกไก่มาหา แม่ไปนา หมกปลามาป้อน แม่เลี้ยงม่อน อยู่ในป่าสวนมอน สวนมอนเอ๊ย ป้องใบเต็มก้านเด้อ ผู้อยู่บ้าน เป่าปี่ไปหา เออ เอ๊อ’ หลวงตาได้ยินนะ เรื่องไปทำไร่ทำนานี่ เสียงแม่เสียงน้องสาวมันกล่อมหลาน ลูกพี่สาว ลูกแม่สุดนี่ มันได้จากผู้หลักผู้ใหญ่มากล่อมดังไปทั่วทุ่งเลย หลวงตาได้ยินก็จำเอา ‘เอ่อเออ ฝนตกฮ่ง จอมโพนซะมาเปียกน้อ หนองกว้างๆ ดินแห่งไหง่ผง ใจประสงค์ส่างกลางดงก็ว่าท่ง ขี่ค่านแล้วกลางบ้านก็ว่าดง’ เออ! ปักษ์ใต้เขาก็ว่า ‘เอ่อ เออ มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้องฟ้าร้องไม่ถึง มันถึงได้ถ้าหมดบาปบุญเอย เอ่อเอย’ ใช่มั้ย? อาจารย์พุทธทาสทำต้นมะพร้าวกลางสระไปดูก็ได้ มะพร้าวนาฬิเกร์เพลงกล่อมลูก
มะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้ง ทำไมอยู่กลางขี้ผึ้ง? ต้นมะพร้าวหมายถึง มรรคผลนิพพาน ขี้ผึ้งคืออะไร? ดีใจ เสียใจ พอใจ ไม่พอใจ ความโกร ความโลภ ความหลง ความรัก ความชัง มันเป็นขี้ผึ้ง มันลอยยาก มันดีใจ มันสุข มันทุกข์ ความสุขเป็นทะเล ความทุกข์เป็นทะเล ผู้จะไปถึงได้ต้องหมดบาปบุญเอย ความทุกข์เป็นบาป ความสุขเป็นบุญ ถ้ายังมีบุญมีบาป ยังมีดีใจ เสียใจอยู่ ก็ไปถึงมะพร้าวไม่ได้ ไม่ได้กินมะพร้าว หมายถึง มรรคผลนิพพาน เราจึงต้องลาดตั้งแต่นี่ รู้สึกตัวไม่เป็นอะไร มันสุขก็เห็นมัน มันทุกข์ก็เห็นมัน มันรู้ก็เห็นมัน มันหลงก็เห็นมัน ‘ฝนตกฮง จอมโพนซะมาเปียก บัดห่วยหนองกว้างๆ ก็บ่แห่ง ดินแห้งไหง่ผง’ จอมโพนคืออะไร คือผู้มีจิตใจสูง เวลาหลวงตาเทศน์อย่างนี้ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ใจมันสูง ฟังอยู่ เปียกมั้ย? ได้ยินมั้ย? โอ๊ะ! หลวงตาบอกว่า มันสุขก็เห็น มันทุกข์ก็เห็น อย่าเข้าไปเป็น มันเปียกแล้ว ทำอย่างนั้น เอาไปทำแล้ว ใช่มั้ย? ‘บัดบึงหนองกว้างๆ ก็บ่แห่งดินแห้งไหง่ผง’ จิตใจต่ำๆ มัวแต่คิด ครุ่นคิด ไปถึงนู่นถึงนี่ไป มันไม่สูง มันต่ำอยู่ ไปรักไปชังใคร อารมณ์ข้ามาจากไหน
เหมือนน่ะ มานพ 16 คนน่ะ ไปกราบทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า พราหมณ์ครูอาจารย์ใช้ให้ไป ไปโต้ลองดูซิว่า สมณศากยวงศ์ออกบวชเป็นพระพุทธเจ้ามันรู้แค่ไหน ให้พวกเธอไปถามปัญหา 16 ข้อนี้ ข้อละคนนี่ ไปถามดูซิ ถ้าคำถามนี้ตอบไม่ได้ เราก็อย่าไปเคารพนับถือ มานพ 16 คนนี่เลือกไปมีแต่ยอดๆ ปัญญาทั้งนั้น ไปทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า บุคคลที่ 1 ที่ 2 มานพคนที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 พระพุทธเจ้าเฉลยไปได้หมด บุคคลที่ 16 พอคำถามที่ทั้งหมดตอบมา คนที่ 16 นี่ก็ถามปัญหา ตอบไม่ได้ต้องถามอาจารย์ปัญญา ท่านเรียนมาก จำไม่ได้หลวงตา โอ๊! ปรากฏว่าคนที่ 16 น่ะ ไม่บรรลุธรรมเลย ทำไมไม่บรรลุธรรมล่ะ มัวแต่คิดถึงลุง ลุงเป็นนักบวชอยู่กับอาจารย์โน่น ห่วงลุง โอ๊! อยากให้ลุงมาฟังเด้อ อยากให้ลุงมาฟัง ไพเราะที่สุดเลย พระพุทธเจ้าตอบปัญหานี่คิดถึงลุงเลยไม่ได้บรรลุธรรมเลย มัวคิดถึงคนอื่นใช่มั้ย? ก็นั่นเลยไม่ได้ใส่ใจ มันเหมือนนี่ ผู้หลักผู้ใหญ่แท้ๆ ห้วยหนองน่ะหมายถึงแทนที่จะน้ำฮ่งน้ำขังได้เลยไม่ขังซะหน่อยเลย เข้าหูซ้ายออกหูขวาไป เลยไม่เปียกเลย แห้งอยู่ใช่มั้ย? แห้งอยู่ อันนี้ก็เหมือนกัน ‘ใจประสงค์ส่างกลางดงก็ว่าท่ง ขี่ค่านแล้วกลางบ้านก็ว่าดง เอ่อเออเอ่อ’
ถ้าใจประสงค์ส่างแล้ว ไม่กลัวอะไรทั้งหมดเลย ไม่กลัวอะไร ในชีวิตเรานี่ สร้างสติมันง่าย มันจะยากขนาดไหนไม่เอามาอ้าง เดี๋ยวก็ โอ๊ย! อยากมีลูกมีหลานมีบ้านมีช่องมีภาระ ป่าดงอันนั้นน่ะ แม้จะเป็นใหญ่ขนาดไหนก็สร้างมันลงไป เรียกว่า เห็นป่าก็สิว่าทุ่มมันไปเลย ไม่คิดว่ายากเลย ถ้าขี้เกียจขี้ค่านแล้ว มันง่ายๆ นี่อันตัวรู้กับตัวหลงมันไม่เหมือนกัน ตัวทุกข์กับตัวรู้มันก็ไม่เหมือนกัน ตัวรู้เป็นของง่ายๆ อย่ามองว่าเป็นดงเป็นป่า ตัวทุกข์ก็เป็นของง่ายๆ อย่ามองว่าเป็นดงเป็นป่า มันง่าย มันเป็นทุ่งอยู่แล้ว เรายิ่งว่าดงมันก็ยากอยู่แล้ว ของยากคิดเป็นของง่าย คนที่จิตใจต่ำทำชั่วได้ง่ายทำดีได้ยาก กลางบ้านแท้ๆ ก็นึกว่าทุ่งไป
โบราณกล่อมลูก ถ้าใครมีอะไรดีๆ ก็มาบอกด้วยจะไปเขียนไว้ จะไปรวบรวมวัฒนธรรมคนโบราณเราไว้ ทำเป็นหอธรรมขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้รู้ โอ้ว... คนโบราณเค้าทำอย่างนี้ เค้าเขียนอย่างนี้ มีการสอนธรรมะตั้งแต่กล่อมลูก แล้วพูดกันมากนิพพานนี่ ข้าวร้อนๆ ลูกแอ่วกินข้าว แม่บอกว่าให้ข้าวนิพพานก่อนๆ บางทีหัดช้างหัดม้าถ้าช้างมันหมดพยศ เรียกว่าช้างได้นิพพานแล้ว เย็นแล้ว ไม่มีพิษมีภัยแล้ว ม้าไม่พยศ สอนได้ก็นิพพานแล้วเย็นลงแล้ว มีคำพูดกับนิพพานในทุกๆ อย่างที่เป็นความร้อน ความปัญหา อันตราย นิพพานน่ะคือความเย็นลงจนไม่มีพิษมีภัยนี่น้า มันจะยากขนาดไหนน่ะ มันเย็นที่ใจ ที่ใจเรานี่มันไปอยู่ตรงไหน เหมือนพระลักษณ์พระรามไฟไหม้เมืองลังกา ไฟนั้นเกิดที่ไหนน่ะ อยู่ที่หาง อยู่ที่หางหนุมาน หนุมานต้องวิ่งไปคอยดับไฟทั้งบ้านทั้งเมืองเลย มันดับไม่ยากเพียงแต่บอกหนุมานว่า เอาหางที่ไฟลุกอยู่นั่น เอามาอมซะ มันก็มอดทันทีเลย คนเราก่อกรรมทำเข็ญทั่วบ้านทั่วเมือง มันอยู่ที่ใด อยู่ที่คนเรา เอามาดับมันซะ มันเย็นซะ เย็นเดี๋ยวนี้ มันอยู่เย็นเป็นสุข ทุกถ้วนหน้าทุกคนนะ