แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตั้งใจนะพวกเรา ...มีผู้พูด มีผู้สอน มีผู้ฟัง นำไปปฏิบัติ นำไปศึกษา แน่นอนที่สุดการศึกษาเรื่องของชีวิตเรา ต้องเอาชีวิตล้วน ๆ เอาไปดู ไปพือ(เปิด)ดู ไปเปิดดู ให้เห็นกับหูกับตาเรา
สติ เหมือนดวงตาภายใน มาดูกายนะ ให้เห็นกาย กายมันแสดง อะไรที่มันเกิดขึ้นจากกาย มันเป็นอย่างไร เท็จจริงมันเป็นอย่างไร ให้ได้คำตอบ ๆ ให้มันจบลงไป อย่าเอาเรื่องของกายมาเป็นปัญหา เอาเรื่องของกายมาเป็นปัญญา มีสติเห็นกาย ตามความเป็นจริง พื้นที่ของกาย มีสติไปลงแล้ว สติยึดพื้นที่ของกายได้แล้ว เป็นสมบัติของสติ กายเป็นสมบัติของสติ สติเป็นสมบัติของกาย ความสุขความทุกข์ไม่เป็นสมบัติของกาย มันเป็นความไม่ชอบธรรม “ความชอบธรรม” คือ มีสติเข้าไปลงพื้นที่ ยึดพื้นที่ เหมือนกับเรายึดพื้นที่ป่าพง ป่าหญ้าคา ให้เป็นพื้นที่ของป่ายาง ป่าตะเคียนทอง แล้วมันก็เป็นผลกระทบเกิดขึ้น เป็นเห็ด เป็นแหล่งอาหารเกิดขึ้น เป็นประโยชน์ ถ้าป่าพงป่าหญ้าคามันเกิดขึ้น มันก็เป็นเชื้อไฟ ทำให้เกิดไฟลุกลาม ถ้าไฟเกิดขึ้นก็มีการฉิบหายตามไปหลายอย่าง สัตว์สาราสิ่ง เกิดขึ้น โล่งโปร่ง ไหม้วอดวายไป
แต่ว่ากายของเรามันไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย ทำให้เราเป็นสุข ทำให้เราเป็นทุกข์ สุขทุกข์เกิดขึ้นที่กายอย่างเดียวไม่พอ ยังมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นวัตถุอื่น เรามีสติมาเห็นกาย จนยึดพื้นที่ของกายว่า ไม่มีอะไรมาแสดงบนกายได้แล้ว มีแต่สติ เข้าไปดูไปเห็น ได้คำตอบ กายนี้สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เราจึงมาสร้าง มาดู หันหน้ามาดู เคยมองไปทางอื่น ต้องกลับมา มาดู ถ้าเป็นดวงตา ต้องกลับมาดู อย่าออกไปข้างนอก อย่ามองไปข้างนอก กลับมาดู ตาภายในมันกลับมาดูตัวเอง บัณฑิตก็มองตนเสมอ จนเห็นว่ากายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ได้คำตอบ อะไรที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่มีตนอยู่ในกาย มีแต่สติสัมปชัญญะ มีแต่ปัญญา
เวทนาที่มันเกิดขึ้น เป็นสุขเป็นทุกข์ เมื่อสติไปลงพื้นที่แล้ว ยึดพื้นที่แล้ว อันเวทนานั้น แต่ก่อนเขาแสดงเป็นบทสุข บททุกข์ แล้วก็สุขทุกข์ที่เกิดจากเวทนา มันก็กระจายไปกว้างใหญ่ไพศาล บางทีก็ต้องหาซื้อ หาปล้น หาจี้ หาข่มขืน หาอะไรที่ได้เวทนามา เวทนาเกิดจากกายจากจิตที่เป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็เห็นแล้ว มีแต่สติเข้าไปเห็น คำว่าเวทนา เป็นสมบัติของสติ สติลงพื้นที่ อันเวทนาไม่ไปทางไหนเป็นปัญญา ๆ เราก็ยึดพื้นที่ไปเรื่อย ๆ อะไรที่เป็นสิ่งที่ขวางที่กั้น เราเปิดออกได้แล้ว ผ่านไปได้ สิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ไม่ให้ถึงสติปัญญา เราก็ล่วงข้ามไปได้
ถ้าเราถึงจิต มีสติไปลงพื้นที่ของจิต จิตไม่มีโอกาสที่จะแสดงบทบาทที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าเกี่ยวกับจิตนี่ เป็นสติล้วน ๆ เราไปดู ไปแล ไปเห็น ง่ายกว่ากาย แต่บางทีเราไปมองว่าจิตนี่เป็นการฝึกยาก ที่จริงมันไม่ยาก ถ้าเป็นอะไรที่มันเกิดขึ้นกับจิต มันง่ายกว่ากาย ๆ เพียงแต่รู้หรือกลับเปลี่ยนคนละมุม มันหลงก็เปลี่ยนเป็นรู้เท่านั้น มันโกรธก็เปลี่ยนเป็นความไม่โกรธ มันทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ อะไรที่มันเกิดขึ้นกับจิตเปลี่ยนได้ รู้สึกตัว รู้สึกตัว เหมือนกัน อันเดียวกัน ความรู้สึกตัวอยู่ที่กาย ความรู้สึกตัวอยู่ที่เวทนา ความรู้สึกตัวอยู่ที่จิต ยึดได้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาแสดงอยู่บนจิต เอาจิตเป็นเวทีของการแสดงเหมือนเมื่อก่อนไม่มีแล้ว ชักสะพานได้แล้ว ชักสะพานออกหมดแล้ว มีแต่จิตล้วน ๆ จิตบริสุทธิ์ ตลอดถึงอาการต่าง ๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต มันก็ไม่ใช่จิต ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาย้อมจิต จะมาย้อมจิตให้เป็นไปตามอาการต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้แล้ว
รู้ลักษณะของ 4 อย่าง ที่มันเป็นสิ่งที่ขวางกั้น มันเป็นด่านทำให้ผ่านไม่ได้ เราเปิดออก ๆ เราเห็นความจริงความเท็จที่มันเกิดขึ้นกับกาย กับเวทนา กับจิต กับธรรม เท็จจริงอย่างไร ตัวสติเป็นตัวเห็น ตัวดู ถ้าอะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับสติ สติผ่านไปตรงไหน เคยพูดอยู่เสมอว่า “สติเปรียบเหมือนไม้กวาด” ไม้กวาดนี้ถ้าผ่านไปตรงไหนก็สะอาด สติเหมือนกับใบมีดรถแทรกเตอร์ รถเกรด ที่มันผ่านไปตรงไหนตรงนั้นมักจะเรียบ ทำให้เกิดความคล่องตัว แต่ก่อนตะกุกตะกัก พอมีสติลงไป มันเรียบ เรียบตามอาการที่เรามีสติ ถ้ามีสติมากก็เรียบมาก ถ้ามีสติน้อยก็เรียบน้อย เราจึงเห็นคุณค่าของการเจริญสติ มันผ่านกาย ผ่านเวทนา ผ่านจิต ผ่านธรรมไปได้ ก็สรุปน้อยลง ๆ ความหลงก็น้อยลง เพราะความรู้สึกตัวมันยึด ยึดจุดอ่อน ยึดจุดอ่อนที่เขาจะแสดงให้เป็นไปต่าง ๆ เรารู้ เราพบเห็น รู้เห็น พบเห็นเข้า การพบเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่รู้เฉย ๆ อะไรที่มันเกิดจากความรู้ มีสติสัมปชัญญะ เหมือนมารดาของกุศลทั้งหลาย กุศลธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้น เมื่อมีความเป็นธรรมเกิดขึ้น มันก็เป็นใหญ่ มีอำนาจ เกี่ยวข้องกับสิ่งไหน มักจะได้ความชอบ เกิดสัมมาทิฐิ มีสติทีไรมันชื่นอกชื่นใจ
งานของชีวิต คือ มีสติ ถ้าหลงสติ หรือสติไม่มี แสดงว่าชีวิตไม่มี คราวใดที่เราได้เดินจงกรม ได้นั่งลงรู้ สึกตัวยกมือเคลื่อนไหว ตามบรรพต่าง ๆ ที่เราปลูกลงไป เพิ่มความรู้สึกเข้าไป ชีวิตมันก็สุด สุดปรารถนา ที่สุดของชีวิต มีความรู้สึกตัว เข้าถึงภาวะความรู้สึกตัว มีความรู้สึกตัวก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนร้ายเป็นดีไป ทำให้จิตใจที่เคยมีสิ่งครอบงำย่ำยี คลุกเคล้าด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ปราศจากสิ่งที่มัวหมอง สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เปรอะไม่เปื้อน ชีวิตที่ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสุข กับทุกข์ กับโลภ โกรธ หลง ก็เหมือนกับเสื้อผ้าที่ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสิ่งปฏิกูลโสโครก การใช้สอยก็สะอาด สวมใส่สะอาด ชีวิตที่บริสุทธิ์ ชีวิตที่ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏการณ์กับชีวิตเรา ถ้าเห็นอะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็เป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่โดยตรง เป็นการเป็นงาน ทำความไม่ดีให้เกิดความดี ทำความผิดให้เกิดความถูกต้อง ทำความทุกข์ให้เกิดความไม่ทุกข์ เป็นการเป็นงานของชีวิต ไม่ได้ทอดไม่ได้ทิ้ง ไม่ได้ปล่อยปละละเลยตรงนี้ โดยตรง ปฏิบัติโดยตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร ใครก็ตามถ้าตรงอย่างนี้ ถือว่าเป็นสงฆ์ได้ พระสงฆ์ เป็นสุปฏิปันโนบุคคล ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร
มันก็มีไม่มากชีวิตเรา จิตใจบริสุทธิ์มีน้ำจิตน้ำใจ โดยเฉพาะจิตใจนี้ คำว่าน้ำใจนี้ มันไม่เหือดไม่แห้ง ไม่เหมือนเงินทอง ไม่เหมือนปริญญา ไม่เหมือนเทคโนโลยี เทคโนโลยีบางครั้งก็ช่วยไม่ได้ เงินทองก็ช่วยไม่ได้ ปริญญาก็ช่วยไม่ได้ มีแต่น้ำใจเท่านั้นที่จะแสดงออกว่าช่วยเหลือกัน คลื่นสึนามิที่ทำให้ชีวิตของคนทั้งหลายล้มหายตายไป ผู้ที่มีน้ำใจก็ยังทำงานทำการอยู่ อยู่กับศพ หามศพ กู้ศพ เก็บศพ ไม่เกี่ยวกับเงินกับทอง มาจากทั่วโลก คือมาช่วยเหลือกัน น้ำใจนี้ อาจจะไม่ใช่ลัทธิ นิกาย ชาติ ศาสนา ลัทธิอะไรก็ตาม ไม่เกี่ยว มีแต่น้ำใจ ที่แสดงออกโดยความช่วยเหลือเมตตากรุณา เมตตาไม่ใช่เมตตาเฉย ๆ เข้าไปดูแลช่วยเหลือ ไม่ใช่เป็นคำพูด เสนอตัวเอง น้ำใจนี้คล้าย ๆ กับว่าเป็นโพธิสัตว์ มีอะไรเกิดขึ้นที่มีปัญหา มักจะเสนอตัวเองเข้าไปช่วย เข้าไปแก้ไข ไม่ใช่เรียกร้อง ถ้าเรียกร้องไม่ใช่น้ำใจ น้ำใจมันแสดงออกมา เสนอตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำสิ่งที่หนักให้เป็นเบา ทำสิ่งที่ยากให้เป็นง่าย ทำสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก เกิดจากน้ำใจ ผู้ฝึกฝนตนเองดี มีน้ำใจ มีสติ มีปัญญา มันก็ไม่ใช่ปัญญาอยู่กับเราคนเดียว มันไปเป็นประโยชน์ต่อสิ่งอื่นวัตถุอื่น อย่างนี้
การปฏิบัติธรรมมันต้องมีเกณฑ์ชี้วัด ล่วงพ้นภาวะเก่า ถ้าเกี่ยวกับกายกับใจ เกี่ยวกับชีวิต มันจบ มันไม่มีปัญหาอะไร เคยสุข เคยทุกข์ ความสุข ความหลง ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภไปต่อเอาความโลภ ความหลงไปต่อเอาความหลง ความโกรธไปต่อเอาความโกรธ ความสุขก็ต่อเอาความสุข ความทุกข์ก็ต่อเอาความทุกข์ จากการปรุง ๆ แต่ง ๆ ทุกข์จากความไม่รู้ ก็ไปต่อเอา พอมาดูเข้าจริง มันไม่มี อันตัวโกรธมันก็ไม่มี ตัวหลงมันก็ไม่มี ตัวทุกข์มันก็ไม่มี มันไม่มีจริง ๆ มีแต่สติเท่านั้นที่เป็นความจริงชีวิตเรา ถ้าเป็นการเห็นก็เห็นถูกต้อง เห็นเป็นกาย เห็นเป็นรูป เห็นเป็นจิต เห็นเป็นนาม เป็นรูป เป็นนาม มันแตกฉาน มันเข้าแถวมาให้ดู มันสารภาพ เหมือนพิพากษาตุลาการ จับจำเลยมาฟ้องให้เกิดความเป็นธรรม ขบวนการแห่งความเป็นธรรม จำเลยเมื่อจนต่อเหตุปัจจัยก็สารภาพ สารภาพหมดเปลือก ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้น ความหลงเขาก็สารภาพเป็นความหลง มีประโยชน์อะไร เมื่อความหลงเขาสารภาพเป็นความหลง หลอกลวงไม่ได้อีก ก็เป็นธรรมขึ้นมา ความโกรธมันก็เป็นความโกรธ ความโกรธไม่เป็นธรรมอะไร สารภาพว่าไม่มีประโยชน์ เห็น เขาไม่แสดงหรอก เขาก็สารภาพเอาเลย กลายเป็นธรรมขึ้นมา หรือความทุกข์ ความทุกข์แท้ ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ความสุขนอนอยู่บนวิมานที่ไหน ปราสาทสามฤดู ไม่ใช่ มาเห็นความทุกข์ที่เกิดจากรูปจากนาม เริ่มต้นจากกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เขาแสดง เขาก็แสดง เขาก็แสดงอยู่ เมื่อเขาแสดงเราก็เห็นเขา เมื่อบทบาทที่เขาแสดง มันเท็จจริงอย่างไร เขาก็บอก ความจริงก็บอก ความไม่จริงก็บอก มีการศึกษา มีสติ
อันว่าสตินี้ มันไม่ใช่สติธรรมดา แต่ว่าเราก็เริ่มสร้าง ก็เป็นสติธรรมดา ยกมือเคลื่อนไหวไปมารู้สึกตัว สร้างสติ บางทีจิตมันคิดไปทางอื่นต้องดึงกลับมา ทำอย่างนั้นสมัยเริ่มต้นการศึกษา ศีลก็ต้องรักษา สมาธิก็ต้องไปนั่ง บังคับให้รู้สึกตัว หายใจเข้า หายใจออก หลับตาลงไป นั่งนิ่ง ๆ ลงไป ปัญญาก็คิดเอาเหตุเอาผล หาคำตอบจากความคิด อะไรที่มีปัญหา หาคำตอบจากความคิด ไม่ใช่พบเห็น ถ้าได้คำตอบจากความคิด ไม่ใช่ปัญญาพุทธะ เป็นปัญญาแบบโลก ๆ
“ปัญญาของพุทธะ” ไม่ใช่เหตุผล ไปพบเห็น เช่น ความหลง เห็นความหลง ความหลงกลายเป็นปัญญา รู้แล้ว เห็นความหลง รู้แล้ว เห็นความโกรธ รู้แล้ว ปัญญา เห็นความทุกข์ก็รู้แล้วคือปัญญา เห็นความวิตกกังวลเศร้าหมอง รู้แล้ว เห็นตัวเองผิด รู้แล้ว เห็นคนอื่นถูก เห็นคนอื่นผิดก็รู้แล้ว คำว่า “รู้แล้ว” มันจบไปแล้ว ไม่ต่อ นั่นแหละปัญญา มันสุด มันจบ ถ้าอะไรที่ยังมีปัญหาเป็นการบ้านไม่ใช่ปัญญา อันนี้คือ “เกณฑ์ชี้วัดของนักปฏิบัติ” เกณฑ์ชี้วัดของเรา
ถ้าพูดถึงจิตใจ ก็เย็น ก็ปกติ เหมือนพูดให้ฟังวันก่อน ๆ ปกติ มันก็มีแต่ที่จะช่วยกันและกัน การงานที่จะต้องทำต่อทุกสรรพสิ่งยังมี ไม่ใช่ไปหลบลี้หนีที่ไหน ไปช่วยกัน ไป เพื่อเหมาะแก่การงาน ผู้มีสติสัมปชัญญะ ผู้เห็นตัวเองตามความเป็นจริง เหมาะแก่การแก่งาน จึงไม่ใช่หลบหนีไปไหน สร้างสติต่อไป ต่อไปสติมันจะช่วยเรา รักษาศีล ต่อไปศีลจะรักษาเรา สร้างสมาธิ สมาธิจะรักษาเรา ช่วยเรา สติมาช่วย ศีลมาช่วย สมาธิมาช่วย ปัญญามาช่วย มาช่วย ช่วยยก ช่วยขนส่ง ให้พ้นจากปัญหา
ศาสนา พุทธศาสนา หรือตัวปัญญาเป็นการขนส่ง เป็นการขนส่ง ปัญหาต่าง ๆ ให้พ้นไป ขนส่งตัวเองพ้นไป ขนส่งคนอื่นสิ่งอื่นให้พ้นไป เรียกว่า “ศาสนา” ถ้าศาสนาไม่ขนส่ง ให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ พ้นยาก พ้นลำบาก หรือศาสนาต้องถึงมรรคถึงผล ถ้าศาสนาไม่มีมรรคมีผลก็ไม่ใช่ศาสนา ถ้าไม่ล่วงพ้นภาวะเก่า ๆ หลงจนตาย โกรธจนตาย ทุกข์จนตาย ไม่ใช่ แม้เราจะว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ อะไรที่เรายึดถือไว้เป็นที่อาศัย มันก็ไม่ใช่ ถ้ายังหลงยังโกรธอยู่ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ มันพ้นแล้ว จึงแสดงออกมา ก่อนที่จะว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ มันพ้นแล้ว ทำอย่างนี้มันพ้นอย่างนี้
เหมือนสมัยก่อน ผู้คนได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พอฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เขาก็ว่าเอาเอง นะโม ตัสสะ เขาก็ว่าเอาเอง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เขาก็ว่าเอาเอง ออกมาจากความสำนึก ข้าพเจ้าถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทำดูแล้วมันพ้นจริง ๆ รู้ตื่นเบิกบาน เป็นคุณธรรม เป็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดไม่เห็นธรรมผู้นั้นไม่เห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า คือ “ตัวรู้ตื่น ตัวปัญญา” ไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นตัวปัญญาที่พ้น ที่ตื่น ที่เบิกบาน อยู่ในชีวิตจิตใจของเรา ต้องขนส่งออกไป มันเป็นเกณฑ์ มันเป็นเกณฑ์ชี้วัด มันมาตรฐาน มีสมรรถภาพ มันใช้งานใช้การได้ ในกายก็ทำประโยชน์ เว้นโทษเว้นภัยได้ สิ่งไหนที่เป็นพิษเป็นภัยแก่กาย สำรวมทุกชีวิต ไม่ไปทำ ไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ให้เป็นปัญหาต่อคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่นเพราะกาย จิตใจก็ใช้ทำประโยชน์ร่วมกันกับกาย มันก็ใช้ได้ มันมีรูปมีนาม เอารูปเอานามนี้ไปทำประโยชน์ คิดก็คิดเป็น เอาความคิดมาใช้เป็นประโยชน์
ถ้าคิด พระพุทธเจ้าก็สอนให้คิดว่าพุทธานุสสติ คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า มีเมตตาธิคุณ ต้องมีในเราด้วยเมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณก็ต้องมีในเรา บริสุทธิคุณก็ต้องมีในเรา ปัญญาธิคุณก็ต้องมีในเรา เรียกว่าคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมก็คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ต้องมีในชีวิตเรา แสดงออกทางกายก็เป็นศีล แสดงออกทางวาจาก็เป็นศีล แสดงออกทางจิตใจก็เป็นศีล ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนคนอื่น พระสงฆ์ก็คือ ทำหน้าที่อันถูกอันต้อง ช่วยกัน ปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงต่อการงาน ต่อหน้าที่ ตรงต่อบุคคล ตรงต่อเวลา ตรงต่อศีล ต่อธรรม ไม่ผิดไม่เพี้ยน ปฏิบัติออกจากทุกข์เป็นศิลปะ คำว่าทุกข์นี่เป็นศิลปะ มีเท่าไรข้ามล่วงได้เท่านั้น ไม่เป็นการบ้าน ไม่นอนเนือง คำว่าทุกข์นี่ไม่นอนเนือง เป็นสิ่งที่ชำนิชำนาญ คำว่าทุกข์ ไม่มีการบ้าน มีเพื่อไม่มี ทุกข์อะไรที่มันมีเกิดขึ้นเพื่อไม่ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์เพื่อทุกข์ เรียกว่า “ปฏิบัติออกจากทุกข์” ปฏิบัติสม่ำเสมอ สมควร ปกติ อยู่ในภาวะความปกติ
สรุปแล้ว ชีวิตทั้งกายทั้งใจได้ที่ได้ทาง ไม่ไปไหน ถ้าจะดูแบบสุดยอดคือ “ไม่มีไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไรกับอะไร” มีแต่เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ถ้ามันร้อนก็ไม่เป็นผู้ร้อน ถ้ามันหนาวก็ไม่เป็นผู้หนาว มีแต่เห็นตามความเป็นจริง ถ้ามันทุกข์ก็ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นตามความเป็นจริง ถ้ามันปวดมันเมื่อยก็เห็น ไม่ได้เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย เห็นตามความเป็นจริง ของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนามกับกายกับจิต ใช้ดูแล้ว ใช้ได้ ความไม่โกรธใช้ได้กว่าความโกรธ ความไม่ทุกข์ใช้ได้กว่าความทุกข์ ความไม่หลงใช้ได้กว่าความหลง เราใช้ดู ชีวิตต้องใช้ได้ เราเพียงไปใช้อันที่มันใช้ไม่ได้ เช่น ความโกรธ ยอมให้ความโกรธนอนอยู่กับเราข้ามวันข้ามคืน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นพิษเป็นภัย
พอเรามามีสติแล้ว มันก็ต่างเก่า เหมือนเราฝึกใหม่ ๆ ไม่มีสติ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ ความหลงความรู้ก็เหมือน ๆ กัน ครึ่งรู้ครึ่งหลง พอมันหลงก็ไม่ค่อยรู้หรอก ก็อยู่กับความหลงนั่นแหละ พอมันคิดก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองคิด ยังอยู่กับความคิด ถ้าเราฝึกไป ฝึกไป ฝึกไป พอเรารู้สึกตัว ๑ วัน ๒ วัน พอมันหลงอะไรทางใดขึ้นมา เราก็รู้สึก ความหลงกับความรู้มันต่างกัน เลือกเป็นแล้วบัดนี้ ชีวิตที่เลือกเป็น เลือกใช้ เลือกเกี่ยวข้อง เลือกได้ชีวิตเรานี่ ไม่ใช่เลือกไม่ได้นะ หรืออย่างที่เราพูดกัน ได้ยินพูดกันว่า บุญวาสนานี้แข่งขันกันไม่ได้ ไม่จริง บุญวาสนานี่แข่งขันกันได้ เพราะอะไร เพราะเราจะทำเอา วาดเขียนลงไป ให้มันดีมันงาม อยากให้อะไรมันดีมันงาม เขียนลงไป แต่งลง วาดลงไป กายก็วาดลงไป ให้มันงาม งามด้วยศีลด้วยธรรม ให้มันใช้ได้ วาสนามันแข่งขันกันได้ อย่าไปปล่อยทิ้ง หรือว่ากรรมเวรมา คำว่ากรรมนี่ก็แต่งได้ เราจะทำแต่กรรมดี เราจะละความชั่ว ไม่ใช่กรรมจะลิขิตชีวิตเราไว้ บางทีเราไปมองถึงกรรมอะไรแต่ชาติปางก่อน เป็นเวรเป็นกรรม เป็นกรรมของผม กรรมนี้ก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนกรรมชั่วเป็นกรรมดี มันเกิดขึ้นที่กายก็เปลี่ยนมัน มันเกิดขึ้นที่จิตก็เปลี่ยนมัน
อย่างกรรมอะไร กิเลสกรรมวิบากในวัฏสงสาร กิเลสกรรมวิบากเหมือนกับกงล้อ หมุนกันอยู่ เราจะเปรียบเหมือนคนสูบบุหรี่ กิเลสกรรมวิบาก คนสูบบุหรี่ก็อยู่ในวัฏฏะอันนี้ ตอนไหนมันเป็นกรรม ตอนไหนมันเป็นกิเลส ตอนไหนมันเป็นวิบาก กรรมคือสูบ กิเลสคืออยาก วิบากคือติด เพราะสูบจึงติด เพราะติดจึงอยาก เพราะอยากจึงสูบ เพราะสูบจึงติด เพราะติดจึงอยาก เพราะอยากจึงสูบ เพราะสูบจึงติด เพราะติดจึงอยาก อันไหนมันเป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก เราจะตัดตรงไหน ไปถามคนที่สูบบุหรี่เขาก็ว่า “ทำไมจึงสูบบุหรี่?” “เพราะมันอยาก” “ทำไมมันจึงอยาก?” “เพราะมันติด” “ทำไมมันจึงติด?” “เพราะมันสูบ” ถามไป ถามไป โอ้! เพราะไม่สูบจึงไม่ติด เพราะไม่ติดก็ไม่อยาก เพราะไม่อยากก็ไม่สูบ เพราะไม่สูบก็ไม่ติด เพราะไม่ติดก็ไม่อยาก มันวนกลับมา อันหนึ่งมันวนไปข้างซ้าย อันหนึ่งมันวนไปข้างขวา การเวียนไปข้างขวานี่เรียกว่าพุทธะ การเวียนไปข้างซ้ายเรียกว่า “รูปโลกทั้งหลาย” ยินดียินร้าย เป็นสุขเป็นทุกข์ ติดไป ถ้าหลงก็ติดความหลง ถ้าโกรธก็ติดความโกรธ กลายเป็นจริตนิสัย นี่ทำไมจะละไม่ได้กรรม ทำไมจะไม่ชนะกรรม ตัวอย่างเช่นสูบบุหรี่ เพราะสูบคือกรรม ตัวกรรมคือสูบ เรามาเห็นกรรม เห็นสมุทัย เห็นสังขาร ตัวรู้กับตัวหลง ก่อนที่มันจะโกรธมันต้องหลง ก่อนที่มันจะทุกข์มันต้องหลง ทำไมมันจึงโกรธ ทำไมมันจึงหลง ทำไมมันจึงทุกข์ มันก็เป็นกรรมอยู่ตรงนั้น เรามีสติ ๆ ถ้ามีสติมันก็ไม่หลง แต่เวลาใดที่มันหลง พอมีสติความหลงก็หายไป อย่างนี้ ทำไมจึงจะตัดกรรมไม่ได้ มันก็อยู่กับมือของเราเนี่ย ถ้าจะเป็นประตูนรกก็ปิดกันตรงนี้ ถ้าจะเป็นประตูสวรรค์นิพพานก็เปิดมันตรงนี้ด้วยมือของเรา นี่คือศาสนา ต้องใช้ได้
ถ้าศาสนาเพียงถือเอา อ้อนวอนเฉย ๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่ไปอ้อนวอน ไม่ใช่ไปขอ ต้องเป็นการกระทำ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม เรื่องการกระทำ การกระทำนี่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เราจึงมีวิชากรรมฐาน วิชากรรมฐาน เป็นวิชาที่สุดยอด ของการศึกษาชีวิตเรา ส่วนวิชาอื่น ๆ ก็รู้บ้าง พระพุทธเจ้าของเรานี้ 17 ศาสตร์ ตั้งแต่ขี่ม้า ยิงธนู ฟันดาบ นอกจากนั้นก็อะไรทุกอย่าง ตามแบบของการศึกษาแบบผู้ที่เป็นกษัตริย์ครองบ้านครองเมืองจนจบ 17 ศาสตร์ พอมาเรียนที่เรียกว่าศาสตร์ตัวนี้ ศาสตร์ของชีวิตนี่ ถ้าจบตรงนี้อันอื่นก็ง่ายเลยบัดนี้
ยิ่งพวกเราเป็นคุณครู อาจารย์ คุณหมอ พยาบาล โอ้ย! ยิ่งดีใหญ่ เอาศาสตร์เหล่านั้นไปใช้สำเร็จประโยชน์ มีเครื่องมือ มีสติ มีปัญญา ไปช่วยโลก มันเป็นงานบุญ หลวงพ่อก็ไม่มีความรู้แบบนั้น มีความรู้แต่ว่าทำการเกษตร ทำไร่ทำนา ปลูกป่า วันนี้ก็จะมีบางจาก มาปลูกป่า หลวงพ่อก็วางไว้แล้ว ป่าที่ปลูกวันนี้ปลูกตรงไหน พื้นที่แบบไหน ต้นไม้อะไร วางไว้แล้ว รู้ดี ต้นไม้ประเภทนี้มันอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ต้นไม้แบบนี้มันอยู่ในพื้นที่แบบนี้ เหมือนกับอาจารย์ตุ้ม “หลวงพ่อมีต้นกุ่มต้นก่าม ต้นกุ่มต้นก่ามมันชอบน้ำนะหลวงพ่อ” อ้าวก็ใช่ รู้ ต้องไปปลูกริม ๆ น้ำ ต้นจิกต้นกระโดนมันชอบน้ำ จิกนา จิกน้ำก็ชอบน้ำ ต้องปลูกใกล้ ๆ น้ำ ถ้าจิกโคกกระโดนมันก็อยู่บนโคก ก็รู้จักมัน ก็เลยวางเอาไว้ วันนี้จะปลูกต้นมะฮอกกานี ต้นไม้ที่สวยที่สุดในการปลูกต้นไม้มา 5 – 6 ปี 10 – 20 ปี เป็นต้นไม้ที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้ จะให้พวกผู้มีศรัทธากลุ่มบางจากมาปลูก อันนี้รู้จักการจัดสรรต้นไม้ดูแลต้นไม้อย่างไร ก็ได้จับต้นไม้ด้วยมือของเรา ขุดหลุมเอาต้นไม้หย่อนลง หย่อนลง หย่อนลงบนหลุม ได้เอามือของเราคุ้ยเขี่ย ดินร่วน ๆ ซุย ๆ ลงก่อนแล้วก็ค่อยสอด ค่อยกด ค่อยปลูก แล้วกลบดี ๆ ปักหลักมัดเชือกติดหลักต้นไม้ไม่ให้มันเอนไป โอ้ย! สุดฝีมือ มั่นใจ ก่อนที่จะปลูก ถ้าฝนไม่ตกอย่างนี้ ก็รดน้ำให้เบ้ามันเปียก ให้เบ้ามันเปียกสักหน่อย แล้วค่อยไปปลูกลงไป การจับต้นไม้ลงหลุม เหมือนกับจับลูกอ่อนลงใส่อู่ ใส่เปล ค่อย ๆ หย่อนลงไป ไม่ใช่ทิ้ง ถ้าทิ้งมันก็ช้ำ เด็กก็ไม่นอน ต้องค่อยหย่อนลงไป นิ่ม ๆ มันก็เป็นบรรยากาศของเขา อันนี้รู้ไปแบบนี้
กับรู้ชีวิตนี้ รู้จริง ๆ ไม่หลอกลวงใครแล้ว ถ้าใครหลงก็บอกว่าไม่จริงหรอกความหลง ความไม่หลงจริงกว่า บอกตรง ๆ อย่างนี้ ถ้าใครโกรธ ไม่จริงความโกรธ ความไม่โกรธจริงกว่า จะเชื่อไหม ความทุกข์ มันไม่จริงความทุกข์ ความไม่ทุกข์นี่จริงกว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความเชื่อยังใช้ไม่ได้ ต้องทำให้เป็น ความเชื่อเนี่ย มีศรัทธาหรือความรู้เนี่ย ใช้ไม่ได้หรอก ต้องทำลงไป เรานั่งอยู่นี่ มีแต่คนมีความรู้ รู้ดีรู้ชั่ว หลงมันดีไหม ไม่ดี โกรธดีไหม ไม่ดี ทุกข์ดีไหม ไม่ดี ไม่มีใครตอบว่าทุกข์มันดี โกรธมันดี ตอบว่าไม่ดีทั้งนั้น แต่ทำไมเราจึงโกรธอยู่ ทำไมเราจึงทุกข์ ความรู้บางอย่างก็ใช้ไม่ได้ ต้องมาปฏิบัติ ไม่ต้องไปทำอะไร เวลามันโกรธอดเอา เวลามันทุกข์ก็ทนเอา ไม่ใช่ ไม่ต้องไปได้อด ไม่ต้องไปได้ทน มันมีวิธีที่ต้องไม่ทน ทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ มันมีการกระทำเรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นอิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจยตา คืออะไร เพราะอย่างนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะอะไรมันจึงหลง เพราะไม่มีสติ พอมีสติ ความหลงมันก็ไม่มีแล้ว มีสติแก่กล้าขึ้นไป เพราะมีสติ เมื่อไม่มีความหลงก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความโกรธ ถ้าจะเปรียบเทียบกิเลส ๓ ตัวเนี่ย โลภ โกรธ หลง เหมือนนิ้วมือ 3 นิ้ว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วชี้นี้ต้องสูงกว่าเขา ใหญ่กว่าเขา ยาวกว่าเขา เหมือนกับความหลง ถ้าหลงก็โกรธก็ได้ ถ้าหลงก็โลภก็ได้ ตัวหลงเป็นตัวใหญ่ ตัวหลงเป็นตัวการตัวโผมัน พอดีกับเราฝึกสติ ไม่ต้องไปปราบมันหรอก ความโกรธ ความโลภ ความหลง มีสติต่างหาก เราเจริญสติต่างหาก มันจะราบไปเลย ถอนรากไปเลย
เพราะฉะนั้นนี่ ลัดที่สุดแล้ว การปฏิบัติ ย่อที่สุดแล้ว ตรงที่สุดแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควรเนี่ย ขอท้าทายว่า เป็นจริงอย่างนี้คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปเนิ่นช้าเสียเวลาทำอะไร สติมันก็อยู่กับเรา รู้อะไร สมบัติของสติเอามาใช้ได้หมด กายจิตใจนี่ เอามาเป็นวัสดุอุปกรณ์ ผลิตความรู้สึกตัว อย่าไปใช้ให้เกิดความหลง เราก็ได้ฝึกหัดมา คุณหมอ พยาบาล คุณครูทั้งหลาย อาจารย์ทั้งหลาย ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัสดู อย่าให้จบลงสำหรับวันนี้ ก็ทำไปเรื่อย ๆ ประกอบไปเรื่อย ๆ การทำอย่างนี้มันก็เอียงไป ไหลไป สู่มรรคสู่ผลได้ ไม่ใช่ว่า เออ! ทำ 7 วันไม่รู้อะไร ไม่ใช่แบบนั้น การกระทำของเราวันนี้ มันก็มีประโยชน์ เหมือนกับเราทิ้งกระสอบทรายใส่น้ำที่มันไหลเชี่ยว น้ำมันลึก เราทิ้งกระสอบทรายลงไปกระสอบหนึ่ง หายไปไม่เห็นหรอก กระสอบที่สองทิ้งลงไป กระสอบที่สามทิ้งลงไป ทิ้งลงไป ทิ้งลงไป แต่ว่าการขยันทิ้งกระสอบทรายนี้สำคัญนะ ถ้าทิ้งลงไปไม่เห็นอะไรแล้ว ไม่ใช่ กระสอบทรายกระสอบหนึ่งที่ทิ้งลงไป ไปนอนอยู่ใต้ก้นห้วย มันก็ทำหน้าที่ของมัน มันก็ทำหน้าที่ของมัน แต่เราขยันทิ้งลงไป ขยันทิ้งลงไป ขยันทิ้งลงไป เอาไปเอามาก็เต็มขึ้นมา ปฏิบัติไปก็เต็มขึ้นมา เต็มขึ้นมา บุญแปลว่าเต็มขึ้นมา มันเต็มขึ้นมา ถ้าเราขยันทิ้ง ขยันรู้ ขยันรู้ เมื่อรู้ขยันรู้ ความรู้ก็ไม่ได้หนีไปไหน มันก็สัมผัสได้ รู้เอา รู้เอา รู้เอา ความขยันรู้เรียกว่า “ภาวนา” วิชาสุดยอดของการทำบุญ ขยันรู้เนี่ย เป็นสุดยอดของการทำบุญ ทาน ศีล ภาวนา เพราะฉะนั้นก็อย่าให้มันจบ ก็ทำไปเรื่อย ๆ เพิ่มเติมกับการใช้ชีวิตของเราไป