แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราเดินทางไกลนะ ข้ามวัฏสงสาร จิตเป็นนาย กายเป็นเรือ สติเป็นหางเสือ พายไป อย่าให้เรือหนักเกินไป เรือที่แล่นข้ามวัฏสงสาร ถ้าสุขก็หนัก ถ้าทุกข์ก็หนัก จะเป็นเรือพ่วง หลงก็หนัก ผิดถูกก็หนัก หนักมากคือความหลง ความโกรธ ความทุกข์ วิดออก การวิดเรือก็คือ “มีสติ” ทุกครั้งที่มันหนักพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงวิดเรือของเธอให้มันเบา กิเลสกรรมทั้งหลาย อย่าบรรทุกไป เรือของเธอจะแล่นได้สะดวก ถึงได้ง่าย ถึงจุดหมายปลายทางได้ง่าย” เราก็บรรทุกมานานเหลือเกิน หนักมานานเป็น “ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ” หนักในรูป ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป มหาภูตรูป เป็นรูปอาศัย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
อุปาทายรูป รูปที่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมาย กายก็เป็นเรา ความคิดก็เป็นเรา สุขก็เป็นเรา ทุกข์ก็เป็นเรา อะไรก็เป็นเรา เป็นตัวเป็นตนอยู่ในความคิด รูป รส กลิ่น เสียง อันนี้เรียกว่า “อุปาทายรูป” อุปทายรูป มหาภูตรูป มันก็เป็นที่อาศัยทำให้ใช้ได้ มีกายก็มากำหนดรู้ มีใจก็รู้ ถ้าอย่างนี้เรียกว่า “ใช้ได้” อย่าให้มันใช้เรา ถ้ากายมันใช้เรา เราก็หนัก ถ้าใจมันใช้เรา เราก็หนัก เราจึงวิดน้ำอันนี้ออก โดยมี “สติ” ทุกครั้ง เห็นกายอยู่เป็นประจำ เหมือนเจ้าของเรือ ถ้าอะไรมันเกิดจากกายขึ้นมา ก็ให้เห็น อย่าเข้าไปเป็น ที่ว่า “เรือไม่รั่ว” ถ้าเป็นก็เรือรั่ว ถ้าเป็นสุขก็เรือรั่วแล้ว ถ้าเป็นทุกข์ก็เรือรั่วแล้ว มีสติเป็นเจ้าของ คอยดูแลอยู่เสมอ ให้เรือเบาๆ มันก็มีอะไรมานานแล้ว
ต้องมีสติเป็นตัวขยัน ขยันดูแล ขยันวิดน้ำ จนมันเบาที่สุด มีสติเห็นกายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นั่นคือเรือเบา เวทนา ก็เหมือนกัน เห็นเวทนาสักว่าเวทนา มันสุข มันทุกข์ นั่นไม่ใช่เรา เป็นสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นจิตที่มันคิดก็สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ถ้าเรือแล่นอย่างนี้ก็เบา เห็นธรรมที่มันเกิดจากจิตใจของเรา เป็นความง่วงเหงาหาวนอน เห็นความคิดฟุ้งซ่าน เห็นความลังเลสงสัย เป็นสุข เป็นทุกข์เพราะความคิด ให้ความคิดพาให้สุขให้ทุกข์ อันนั้นเรือมันหนัก เห็น สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อย่างเนี้ย ก็รู้ สัมผัสดู ว่ามันหลงไม่หลง มันจะเบา ถ้าหลงเป็นหลงมันจะหนัก ถ้าโกรธเป็นโกรธมันจะหนัก ทุกข์เป็นทุกข์มันจะหนัก โลภเป็นโลภมันจะหนัก
ให้เห็น ให้เห็นอย่าเป็น มันจะแล่นสบายเรือเราเนี่ย ไปทางนี้เหมือนกันหมด อันเดียวกัน บรรทุกอย่างเดียวกัน เหมือนกันหมด ไม่ต่างกัน อย่านึกว่าเราเป็นคนเดียว ใครก็เป็น พระพุทธเจ้าได้เดินผ่านทางสายนี้มา จึงบอกไว้ว่านี่มันเป็นอย่างนี้ เห็นอย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้าเห็น ถ้าจะผ่านพ้นไปก็ผ่านที่เดียวกัน เอาความหลงไว้หลัง เอาความทุกข์ไว้หลัง เอาความโกรธไว้หลัง เอาความพอใจไม่พอใจไว้ข้างหลัง เอาความสุข ความทุกข์ไว้หลัง มีแต่สติสัมปชัญญะ เรือเบาๆ โน่นจนขึ้นฝั่งได้ ถ้าสุข ทุกข์ มันก็ไม่ใช่ ขึ้นฝั่งได้ยาก มันมุดลงไป มันหนักลงไป จมลงไป เราจึงขยันสักหน่อย ถ่อพาย โบราณท่านว่า “พายเถิดพ่ออย่ารั้งรอพาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” มันวายเป็น มันสายเป็น มันเน่าเป็น สังขารร่างกายนี้ ถ้าหมดไปแล้วก็เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ที่เขาทิ้งลงแผ่นดิน ใช้ไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ขณะนี้ยังใช้ได้อยู่ แจ๋วอยู่ ถ้ามันหลง รู้ ใช้ได้แล้ว ถ้ามันทุกข์ก็รู้ ใช้ได้แล้ว ถ้ามันสุขก็รู้ ใช้ได้แล้ว ไม่ใช่เราจะให้สุขหรือทุกข์สั่งงานสั่งการเรา เราไม่ต้องเป็นทาส เราเป็นนาย ถ้าเราทำอย่างนี้ ฝึกอย่างนี้ เราเป็นเจ้าของเราเอง มีสิทธิ มันหลง มันผิด มีสิทธิไม่หลง มันทุกข์ เรามีสิทธิไม่ทุกข์ มันโกรธ เรามีสิทธิไม่โกรธ เรียกว่าสิทธิธรรมาธิปไตย ใช้สิทธิของเราให้ได้ อย่าไปสละทิ้ง บางทีเราทิ้งไปใช้สิทธิอันนี้ ไปเอาอันอื่น เช่น เวลาโกรธ ไม่อยากจะลืม ข้ามวันข้ามคืน เวลาทุกข์ก็ไม่อยากจะลืม ให้แต่ความหลงเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน หลงมากกว่ารู้
ดูดี ๆ เวลาเรานั่งยกมือสร้างจังหวะ วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง มันหลงกี่ครั้ง แต่ละวินาทีมันรู้ไปตามการเคลื่อนไหวของกายไหม พยายามใส่ใจ ลบ เขียนใหม่ เหมือนกับเราหัดเขียนหนังสือ ทำงานผิดพลาด ถ้ามันผิดก็แก้ใหม่ มันแก้ได้อยู่ เปลี่ยนได้อยู่ ปฏิบัติได้อยู่ เปลี่ยนใหม่ ทำให้มันถูก เวลามันผิดไม่ทำให้ถูก มันก็ผิดอยู่เรื่อย ๆ ไป เวลามันหลง เปลี่ยนไม่หลงนี่ แก้แล้ว เหมือนกับซ่อมแล้ว มันเป็นรอยความหลงในชีวิตเรา เราก็ซ่อมแล้ว เหมือนรถมือสองใช้งานมาเยอะ ใช้ให้เป็นความหลง เป็นความพอใจไม่พอใจ จนเป็นรอยในชีวิตเราเลยทีเดียว เราจึงมาทำเรื่องนี้กัน ให้มันจบลงไปซะ ความหลงเป็นครั้งสุดท้าย ความทุกข์เป็นครั้งสุดท้าย ความโกรธเป็นครั้งสุดท้าย อะไรเป็นครั้งสุดท้าย มีสติแล้วแลอยู่ ขึ้นฝั่ง แห้ง
พระพุทธเจ้าเรียกอยู่เสมอ โน่นฝั่งโน้น จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ ขึ้นมา ขึ้นมานี่ ไปสุข ไปทุกข์ ไปหลง ไปโกรธ ทำไม ขึ้นมา ขึ้นมา มันมีอยู่ฝั่งน่ะ มันมีบกอยู่ ไม่ใช่มีแต่น้ำ มันมีบก เหมือนหลวงตาเล่าเรื่อง “เต่ากับปลา” ให้ฟัง เต่ามันเป็นสัตว์สะเทือนบกสะเทือนน้ำ ไม่เหมือนปลา นี่คือชีวิตของเรา มันเป็นสัตว์ประเสริฐ ต้องฝึกตนสอนตน ถ้าไม่สอนมันก็ไม่ประเสริฐ มันเลวกว่าสัตว์ด้วยซ้ำไป มันมีนรกด้วยนะ มนุษย์ในคนเรานะ มันมีเปรต มีอสุรกาย มีสัตว์เดรัจฉานด้วย ถ้าไม่หัด ถ้าเราหัดมันก็จึงจะพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ ไปสู่มรรคผลนิพพาน แห้ง จืด เหลือสูญ ทุกข์เหลือสูญไม่มีค่า สุขก็เหลือสูญไม่มีค่า โกรธ โลภ หลง ไม่มีค่า ไม่มีค่าเป็นสุญญตา ชีวิตเป็นสุญญตาวิหาร ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา อะไรที่มันเกิดจากกายจากใจ มันเป็นอาการธรรมชาติ เรามีความแก่เฒ่าเป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ใช่เรา ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ใช่เรา มันเป็นธรรมดาของรูป อันตัวไม่ตายคือภาวะที่เห็นเนี่ย ไม่ได้เจ็บแต่มันเจ็บถึงบอกอยู่เสมอว่า เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง เห็นมันเจ็บไม่เป็นผู้เจ็บ เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ ลองดูตรงนี้ดู มันจะบริสุทธิ์เป็นพรหมจรรย์นะ เป็นพรหมจรรย์
พรหมจรรย์คือตรงนี้ คือไม่เปรอะเปื้อนกับอะไรทั้งหมด มีแต่เห็นอย่างนี้ เราก็ทำได้ เห็น เห็นทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นกับกาย ถ้าจะบอกก็เป็นอาการ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เป็นอาการที่เกิดกับกายกับใจ ไม่ใช่หิว ไม่ใช้ร้อน ไม่ใช่หนาว เป็นอาการที่เกิดกับกายกับใจ งานของเรามันมีอย่างนี้ อย่าทิ้งให้งานค้าง ยุ่งเหยิง เป็นงานยุ่งเหยิง “อนากุลา จ กมฺมนฺตา” การงานยุ่งเหยิง สับสน หลงแล้วหลงอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก โกรธแล้วโกรธอีก อะไรก็อยู่อย่างนี้ แทนที่มันจะหมดไป แล้วมันดีอะไร บางทีเราก็ไปเอาว่าดีด้วย เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เอามาปั่นหัวตัวเองเจ็บปวดอยู่ โกรธทั้งวันทั้งคืน ให้ความทุกข์ความโกรธนอนอยู่กับเรา ดูดี ๆ มันไม่ทุกข์ก็ได้ไม่โกรธก็ได้ คนในโลกนี้ อย่านึกว่าเรา อย่าเอาไปอ้างกัน มันเดือดร้อน
เดือนที่ผ่านมา สองเดือนที่ผ่านมา ประเทศชาติเดือดร้อน กรุงเทพเดือดร้อน เพราะความโกรธ ความโลภ ความหลง เอาไปอวดกัน ชี้โทษแต่เขา คนพาลชี้โทษคนอื่น บัณฑิตต้องเพ่งโทษตัวเอง มองตน เตือนตน แก้ไขตน ใครก็ผิด ใครก็ถูก ใครก็หลง ใครก็รู้ได้ แทนที่จะช่วยกัน พาไปด่ากัน มันก็ไม่ใช่ ไม่จบ ต้องมาแก้ตัวเรานี่เอง มันก็จบ เหมือนหนุมาน ทำให้ไฟไหม้เมืองลังกา ไฟมันอยู่ที่หางหนุมานน่ะ มันก็วิ่งไปไหนก็เกิดไฟไหม้ แต่จะดับได้ยังไงล่ะ มันก็หมดเลยเมืองลังกา หนุมานมันไม่ยาก เพียงเอาหางที่มันมีไฟมาอมเข้านิดเดียวมันก็ดับมอดแล้ว วิ่งไปไหนก็ไม่มีไฟแล้วบัดนี้
ชีวิตเราก็เหมือนกัน ต่างคนต่างเปลี่ยนความร้ายเป็นความดี มันก็จบง่าย เริ่มต้นทุกคนอย่างนี้ เสนอตัวเราก่อนนี้ ให้โอกาสเจอเราก่อน ขอต้อนรับในงานนี้ เป็นมิตรเป็นเพื่อนกับท่านทุกคน จะไม่พาหลงทิศหลงทางนะ มันมีหลักอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้นี่ ทางมันไปสู่ถึงจุดหมายปลายทางมีอยู่เนี่ย ทางไปไม่ถึงก็มีนะ เมื่อไหร่เราจะเดินไปในทางนี้สักที มัวแต่หลงอยู่อย่างนั้น ไปไม่ถูกสักที เราจึงมามีสติ เหยียบเส้นทาง “ผ่านหลงเป็นรู้” ไป เวลามันหลง ก้าวใหม่ ก้าวแรกมันหลง ก้าวหลังไม่ต้องหลง ก้าวแรกผิดพลาด ก้าวใหม่ต้องมั่นใจ มั่นคง เปลี่ยนอย่างนี้ มันจะอยู่ไม่ได้ เหมือนหลวงตาพูดเมื่อวานนี้ว่า “อย่าไปเพาะเชื้อมัน ความหลง” ถ้าหลงเป็นหลงรู้ว่าเพาะไว้ ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ก็เรียกว่าเพาะไว้ โกรธเป็นโกรธก็เพาะไว้ มันก็ไม่เชื่อ เหมือนข้าวเปลือกที่เอาไว้ในฉาง ในยุ้ง เอาเวลาถึงฤดูเอามาเพาะ อันนั้นก็เป็นของกินมันก็มีประโยชน์ อันความหลง ความโกรธ ความโลภ ความทุกข์ ความรัก ความชัง มันไม่ค่อยมีประโยชน์ มีแต่มีโทษ ถ้าเราไม่กล้า เราทำสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปก็เป็นประโยชน์ มีคุณ มีค่า ต่อตัวเองและคนอื่น สังคมอื่น สิ่งอื่นวัตถุอื่น ดีไปหมดนะ จากมือห้านิ้ว สิบนิ้ว คนเรามันทำได้ มันทำได้ ถ้าทำดี ถ้าทำชั่วมันก็ไปฉิบหายไปทั้งโลก เช่น โลก ภาวะโลกร้อนเพราะฝีมือของคน ไม่ใช่เกิดจากอะไรต่าง ๆ สงครามเกิดจากฝีมือของคน การหยุดสันติภาพเกิดจากฝีมือของคนเหมือนกัน เหมือนกับหน้ามือหลังมือ ถ้าใช้หลังมือมันก็ผิด ถ้าใช้หน้ามือมันก็ถูก อันความหลงเป็นหลังมือ ความไม่หลงเป็นหน้ามือ เขาก็อยู่ด้วยกัน มาพร้อมกัน
เหมือนพระสิทธัตถะ เห็นความเกิด ก็เห็นความไม่เกิดต้องมีแน่นอน เห็นความแก่ก็เห็นความไม่แก่มีมาด้วยกันแน่นอน เห็นความเจ็บก็เห็นความไม่เจ็บ อยู่ด้วยกันนั่นแหละ เห็นความตายก็ต้องมีความไม่ตายอยู่ด้วยกันนั่น จึงเอามาเป็นโจทย์ศึกษาเรื่องนี้ จึงเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา เป็นพระพุทธศาสนาขึ้นมา เพราะทำลายสิ่งเหล่านี้ มันมีคู่ ไม่ใช่เราจะไม่มีทาง มันมีคู่ ถ้ามีเกิดก็ต้องมีไม่เกิดจนมาออกผนวช ทรงผนวช มาศึกษา ก็ผ่านเรื่องนี้ได้ จึงได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เมื่อเอามาสอน คนรู้ตามจึงชื่อเพิ่มขึ้นว่า “สัมมาสัมพุทโธ” จึงมาถึงพวกเราเนี่ย เราก็ทำได้ ผ่านมาแล้วสองสามพันปีก็ทำได้อยู่ มันมีแต่เดิม แต่ก่อนไม่มีใครเห็น พอพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เรื่องนี้ ก็เอามาสอนพวกเรา เราก็รู้ตาม หมู่ชนผู้เชื่อฟังคำสอนปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยพระพุทธเจ้าทรงสอน มันก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่มันหนีไปไหน เราจึงไม่จนหรอก อย่าไปมองคับแคบ อย่าไปทุกข์คนเดียว อย่าไปหลงคนเดียว อย่าไปโกรธคนเดียว บอกเราด้วยไปนั่งร้องไห้เสียใจอยู่คนเดียวทำไม ไม่ต้อง ทำงานก็ได้ มาช่วยกันอย่างนี้
มาช่วยกันอย่างนี้เรา คนหลงทางก็ต้องบอกให้คนรู้จักทาง เหมือนกับชีวิตของเราเนี่ย คว่ำไว้ หงายขึ้นได้ มันปิดไว้ เปิดออกได้ มันมืดก็มีแสงสว่าง เวลามันหลงก็ยังมีแสงสว่างน้อย ๆ อยู่ คือมีสติ นั่นแหละทาง ตามไป แม้มันนิดหน่อยก็ยังจะพบสว่างออก ถ้าเราตามมันไป อย่าให้มืดเป็นมืด มันก็มีอยู่ ในความมืดนั้นความสว่างก็มีอยู่ มันเป็นคู่กันอยู่ อย่าจน อย่าจน อย่าจน ให้ขวนขวายสักหน่อย มันดีนะ งานอย่างนี้มันงานดี งานสูงสุด เปลี่ยนหลงเป็นรู้นี่มันชอบที่สุด เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์นี่ชอบที่สุด เปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธชอบที่สุด อันที่มันไม่ดีเปลี่ยนให้เป็นดี มันดีที่สุดแล้ว ไม่มีงานอันไหนที่ยอดเยี่ยมเหมือนงานอันนี้ งานชีวิตเรานี่ ต่างคนต่างเปลี่ยนอย่างนี้ มันก็จะสงบร่มเย็นได้ ถ้าไม่มีความหลง ไม่มีความโกรธ ไม่มีความทุกข์ ก็ไปสอนคนอื่น ให้เขาทำเหมือนเราเนี่ย อย่าอยู่คนเดียว สอนคนอื่นด้วย บอกคนอื่นด้วย จนสุดความสามารถ นี่เป็นงานของเรา เราก็มีพ่อมีแม่ มีเพื่อน มีมิตร มีภรรยาสามี มีลูก มีหลาน มีแผ่นดิน มีแม่น้ำ มีอากาศ มีป่าไม้ เราก็ไปช่วยสิ มือ ๕ นิ้วของเรามันสร้างโลกได้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็ฉิบหายไปเลยล่ะ อย่างพวกเราไม่เคยตัดต้นไม้สักต้น เราก็เดือดร้อนแบบนี้ โลกร้อนแบบนี้ ถ้าคนจะไปดีคนเดียวไม่ได้ ต้องไปช่วยคนอื่น อย่าอยู่เฉย แจกของส่องตะเกียง เลี้ยงคนทั้งโลกไปเลย มันอยู่ไม่ได้ดอก ไม่มีคำสั่งมา มาสั่งเรา มันเป็นไปเอง เช่น เราเวลาเราไม่ทุกข์ เห็นคนอื่นทุกข์นี่อยากช่วย เวลาเราอิ่มเห็นคนอื่นหิวก็อยากช่วย เวลามีความสบายเห็นคนอื่นลำบากก็อยากช่วย เช่น เรานอนอยู่ในหลังคา ในฝาในบ้านเรือนดี ก็คิดเห็นคนที่ไม่มีที่นอน มันก็อยากคิดจะช่วยเหลือ ไม่ใช่เห็นแก่ตัว
พระพุทธเจ้าเห็นแล้วคิดถึงใครล่ะ แล้วตรัสรู้นี่คิดถึงใคร คิดถึงคนที่จะต้องบอกคือใครหนอ คิดถึงหมดเลย เหมือนพ่อแม่ได้อะไรมาคิดถึงลูกก่อน พระพุทธเจ้าพอได้สัมผัสเรื่องนี้เข้า คิดถึงคนที่จะต้องมารู้เรื่องนี้ด้วยจะมีใครหนอ ทำไมลึกๆ ลับๆ แบบนี้หนอ ทีแรกก็ท้อพระทัย มีใครจะรู้ได้หรือเนี่ย มี ต้องมีได้ก็มองอยู่ จึงคิดเห็นปัญจวัคคีย์ เหมือนกับจะวิ่งเอาก็ว่าได้ รีบจากพุทธคยาถึงพาราณสี อิสิปตนมฤคทายวัน เป็นการแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คืนวันเพ็ญเดือนแปดที่ผ่านมาเมื่อสองวันนี้ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นวันอาสาฬหบูชา เราก็สวดธัมมจักฯ ก็บอกเรื่องนี้ เรื่องชีวิตเราเนี่ย นั้นก็คือใคร คือเรานี่แหละ เราก็มีรูป มีนาม รูปมันก็มีรูปธรรม มันก็ “ทำ” นามธรรมมันก็ “ทำ” ทำดี ทำชั่ว รูปธรรมนามธรรมเป็นธรรมชาติ ธรรมดา เหมือนกันหมด รูปทุกข์นามทุกข์เหมือนกันหมด หายใจเข้า หายใจออกก็แก้ทุกข์เหมือนกัน พริบตา หายใจ กลืนน้ำลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กินข้าว ขับถ่าย กลัวภัยหลบภัยเหมือนกัน รูปธรรม นามธรรม รูปธรรม นามธรรมอันหนึ่ง คือมันทำชั่วมันทำดี อันรูปธรรม นามธรรม อันหนึ่งคือมันธรรมชาติเหมือนกันหมด รูปโรคนามโรคก็มีโรคเหมือนกัน โรคของรูปก็มี ต้องแก่ ต้องไปสู่ ความไม่เที่ยง ต้องไปสู่ความไม่ทุกข์ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ แจกออก มีรูป มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดไม่ใช่ตัวตนไม่ ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัว ว่าตนของเรา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้
จากบอกทาง ต่อมาถึงอนัตตลักขณสูตร สอนปัญจวัคคีย์ มันเป็นอย่างนี้ จนเข้ามาสู่อริยสัจ ๔ เหตุกับผล หลงเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล หลงเป็นเหตุ โกรธเป็นผล หลงเป็นเหตุ โลภเป็นผล ตัวใหญ่ตัวโผมันคือ ความหลงนี่แหละ ก้าวแรกที่สุด พอมีสติ มันก็ตรงหน้าคือความหลง ตรงกันพอดี มีความรู้มีความหลงตรงกันพอดี เปลี่ยนเลยนั่นน่ะ เวลามันมีสติ เห็นมันหลง ไม่มีใครไม่เห็นนะ เจอด่านแรกเลย “หลง” “รู้” นั่นน่ะมันคู่กันไป มันทุกข์ก็รู้ คู่กันไปเนี่ย ตัวเฉลยตุลาการพิพากษา พิพากษาตุลาการ ฟ้องให้มันเกิดความยุติธรรม เกิดขึ้นจากชีวิตเรา ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรมความไม่โกรธเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม สัมผัสดูแล้ว จริงๆ ไม่ต้องถามใครเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน นี่คือปฎิบัติ แต่เป็นการสัมผัส รูปโรคนามโรค มันมีโรคอย่างนี้ชีวิตเรา รักษาโรคให้หาย “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ รู้แข่งกิเลส ตัณหา ราคะ โทสะ ให้เรือลำนี้มันเบาไป มันจะวิ่งได้ด่วน เร็วไวที่สุด แป๊บเดียว ลัดนิ้วมือเดียว ง่ายๆ คำว่าทุกข์นี้ไม่มี ไม่เอามาเป็นตัวเป็นตน มันก็มีแต่ไม่ใช่เรา จะทำไง เวลาแก่เป็นทุกข์หรือ เจ็บเป็นทุกข์หรือ ตายเป็นทุกข์หรือ ไม่ทุกข์ไม่ได้หรือ เราทำไง เตรียมตัวไว้นะ เพียงแต่หลงนิดหน่อยก็ทุกข์แล้ว ถ้ามันเจ็บ มันจะตายเข้าเป็นไง มันจะทุกข์ไหม ถ้าไม่เก่งตรงนี้ ลาดไปตอนนี้ก่อน มันก็จะไปไม่ถึง ต้องลาดไปอย่างนี้ก่อน ก้าวไป ข้ามพ้นความหลงเป็นความไม่หลง ข้ามพ้นความทุกข์ ความโกรธเป็นความไม่โกรธ มันไปอย่างนี้นะทาง ผ่านไปเนี่ย มันจึงจะเหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องตาย ต้องเจ็บ แน่นอน หลีกเร้นไม่ได้ ถ้าตายจะทำไงเรา ถ้าเจ็บจะทำไง ถ้าไม่เห็นตั้งแต่เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง เห็นมันโกรธไม่เป็นผู้โกรธ เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ เห็นมันเจ็บไม่เป็นผู้เจ็บ เห็นมันตายไม่เป็นผู้ตาย ตรงนั้น มันจะยากอะไร เหมือนทางขึ้นเขา มันลาดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ มันก็ขึ้นได้ง่าย ชีวิตของเราก็มีเหมือนกัน สูง มันก็ต้องมาจากต่ำก่อน เปลี่ยนหลงเป็นรู้ ลาดมาแล้วถ้าหลงเป็นหลง ไม่ได้ลาดมาซะหน่อย เป็นหน้าผาชีวิต ขึ้นไม่ได้ หักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้ ถึงลาดเอาไว้ กรุยทางไว้ survey ไว้ ให้มันเป็นทางดำเนินชีวิตเราไป เดินเอาเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนการกระทำเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย
นี่เป็นหน้าที่ของเรา เหมือนกับบอกเดินไปทางนี้ จากศาลาหอไตรไปทานอาหารที่ศาลาอาสนะศาลาข้างหน้า ก็เดินไป ถ้าไม่เคยเดินก็จะหลง พอเดินไปแล้วไม่หลง ชำนาญมาก ตรงที่มันหลงตรงไหนน่ะมันจะชำนาญตรงนั้น ถ้าคนเดินทาง นักเดินทาง ผิดตรงไหนจะถูกตรงนั้นมากที่สุด เป็นศิลปะ ชำนาญมากขึ้น เป็นทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์ เหมือนนายช่างก่อสร้าง ทีแรกก็ผิดๆ พลาดๆ ทำไม่ค่อยดี ทำไป ทำไป มันดีเอง เลื่อยเล่มเก่า มีดเล่มเก่า อะไรก็อันเก่า แต่ว่ามีฝีมือ ใช้บ่อยๆ ให้มีฝีมือ ทำได้ดี เหมือนนักเขียนนักก่อสร้าง ขีดแป๊บๆ ประเดี๋ยวเป็นรูปขึ้นมาแล้ว ทำแป๊บเดียวเป็นรูปร่างขึ้นมา มองทะลุทะลวงได้ ออกมาจากสติปัญญาแล้ว ชีวิตของเราบางคนมันก็จะเป็นว่าปริญญา
“ญาตปริญญา” กำหนดรู้ด้วยการรู้ ง่ายที่จะรู้ รู้แล้ว
“ตีรณปริญญา” แจกแจงออก อะไรที่มันเป็นอะไร แจกออก ไม่ใช่ตัวใช่ตน
“ปหานปริญญา” ทำให้สิ่งนั้นหมดไปได้
“ปะหาตัพพันติ เมภิกขะเว จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ (ปัญญา อุทะปาทิ) วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ญาณเกิดตรงนั้น ญาณเกิดตรงที่มันหลงมันไม่ถูกต้อง ญาณข้ามล่วงไป
เราจึงไม่เห็นวิธีไหน เอากายนี้เป็นตำรา เอาจิตใจเป็นตำรา มีสติเป็นตัวศึกษาเข้าไป มันจะเปิดเผย ไม่ลี้ลับอะไร ไม่ลี้ลับ ในกายกว้างศอก ยาววา หนาคืบนี่ เห็นไปหมด เห็นอันหนึ่งก็เห็นอันอื่นไป เห็นอกุศล มันก็บอกนี่คือ อกุศล เห็นกุศลมันก็บอก ไปคนละทางแบบนี้ สัมผัสดูแล้วรู้ อกุศลคือหลง โกรธคือโลภ และก็ความไม่หลง ความไม่โกรธ ความไม่รู้ มันก็ไปทางนี้ เหมือนเห็นกุศล อกุศล ไม่เคยทำบาปทางกาย ไม่เคยทำบาปทางวาจา ไม่เคยทำบาปทางจิตใจ บริสุทธิ์ดูสิ มันก็เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมา มีศีล มีสมาธิกับปัญญา มีศีล มีสมาธิกับปัญญา ศีลก็กำจัดกิเลส กำจัดทุกข์ไปเอง ศีลจะรักษาเราไปเอง สมาธิจะรักษาเราไปเอง ปัญญาจะรักษาเราไปเอง
พระพุทธเจ้าจึงว่าพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ คือ คุณธรรม พระพุทธเจ้าจริงๆคือธรรมะ “พุทโธ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม” พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ “ธัมโม ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม” พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระสงฆ์เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนาย อิสระเหนือข้าพเจ้า อันที่มันถูกต้อง มันมีอยู่ในชีวิตเราเนี่ย นั้นจะไปเอาความชั่วความไม่ถูกได้ยังไง เป็นที่เคารพ พระพุทธเจ้าเคารพพระธรรม พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพพระธรรม ได้เป็นมาแล้ว ได้เป็นอยู่ทุกวันนี้ และจะเป็นไปข้างหน้า
เราจึงต้อง อย่าจนเถอะพวกเรา พวกเราขอเป็นมิตร เป็นเพื่อนกัน พออยู่กันได้ก็อยู่ไป อยู่นานๆก็ดี (หัวเราะ) ถือว่ามาได้ทุกโอกาส ที่นี่ก็มีเสนาสนะสัปปายะพออยู่กันได้ อาหารสัปปายะพอได้อยู่ได้กิน บุคคลสัปปายะก็พอมี เป็นมิตรเป็นเพื่อน ไม่เดียวดาย เจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยกัน ดูแลกัน ไม่ทอดไม่ทิ้ง ธรรมะสัปปายะเข้ามาสัมผัสดู ว่าเราสอนอย่างนี้ เราชี้อย่างนี้ อันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง ธรรมะสัปปายะ ไม่จน นี่ประเทศไทย เมืองไทย ชาวพุทธ พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา แม่ชี ภิกษุณี เราจึง คล้ายกับว่ามีหวังก็ว่าได้ จะว่าหวังก็ได้ ไม่ต้องสิ้นหวัง มีหวังอยู่ อย่างน้อยก็คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์ จะให้ไปบอกตอนนอนอยู่ห้องไอซียูก็ไม่ทันนะ ไปตีเกราะเรียก สวดมนต์ให้ฟัง “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” คนป่วยก็ยังนอนเฉยอยู่ หลายพักหลายรอบ เราไปสวดให้คนป่วยนอนอยู่ห้องไอซียูฟัง ตีเกราะก๊อกๆเรียก ยังไม่ตื่นบางที พอตื่นขึ้นมา พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าอาศัยพระคุณเจ้าดีครับ ข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ โยมเคยใส่บาตรหนอ เคยทำบุญหนอ เคยรับศีลหนอ เคยเห็นพระนะ พระเดินมา โยมใส่บาตร เคยทำนั่นนะ เรียก ยกมือขึ้นมาไหว้หน่อยๆ ขึ้นมาไหว้ มองหน้าเราเห็นหน้า นี่หลวงพ่อมาถึงท่านแล้ว หลวงพ่อมาเยี่ยม เรียกเอา ร้องตะโกนเอา ปานนั้นก็ไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ)
ถ้าเราไม่เริ่มต้น ไม่แก้ไข เตรียมตัวเอาไว้ เตรียมตัวก่อนตาย เตรียมใจก่อนตาย เตรียมกายก่อนแตก เตรียมน้ำก่อนแล้ง เตรียมเบี้ยก่อนเดิน มีการเตรียมด้วยนะ ถ้าไม่เตรียมไม่ได้ มันจะพะรุงพะรัง อะไรก็ทำไม่เป็น เวลามันทุกข์ เวทนารุมเร้าทำยังไง เวทนาก็เป็นใหญ่ เคยว่าไหม เวทนาก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ว่าแต่ปาก ใจทำไม่เป็น ไม่เห็น จึงบอกให้ทำเนี่ย เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้สุข ไม่เป็นผู้ทุกข์ ทำไว้เดี๋ยวนี้ วันนี้ดีกว่า ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ เวลามันหลงเห็นมันหลง หัวเราะความหลงได้ ถ้า “เห็น” นะ ถ้า “เป็น” หัวเราะไม่ออก ถ้าเห็นแล้วหัวเราะความโกรธได้ แค่นี้ก็โกรธอยู่เนี่ย แค่นี้ก็ทุกข์อยู่เนี่ย เปราะบางขนาดนี้จะเป็นอะไรได้ เป็นพ่อคนแม่คนได้ ก็ต้องหัวเราะความโกรธได้ หัวเราะความทุกข์ได้ ถ้าเป็นแล้วหัวเราะไม่ออก มันเป็นตัวเป็นตนไปแล้ว ถ้าเห็นมันคนละอัน จึงไม่เปรอะเปื้อนเรื่องอันใด ปฏิบัติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ คือทำอย่างนี้ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี่คือ มีแน่นอน สัจธรรมมีแน่นอน มรรคผล นิพพาน มีแน่นอนไม่ใช่ล้าสมัย ถ้าเราเปลี่ยนหลงเป็นรู้นี่ ไปสู่มรรคสู่ผล ก้าวแรก ก็พูดให้ฟังทุกวัน ทุกวัน แล้วก็ชวนกันทำ เจริญสติเอา ตัวใครตัวมัน สร้างให้กันไม่ได้ ให้เห็นมันหลง เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงนั่นน่ะ ถูกต้องที่สุดแล้ว เอ้า! สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน