แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จากการที่ได้ฝึกฝนมา จนเห็นรูปธรรม นามธรรม ตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า เห็นขันธ์ห้า เห็นอาการต่างๆ ที่เกิดตามรูปตามนาม เห็นอันเก่า เห็นแล้ว เห็นแล้ว เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตน ก็เห็นแล้ว เห็นแล้ว เห็นหลายรอบ ไม่เห็นแล้วไปได้เลย เห็นแล้ว เหมือนกับเรารู้จักทาง มันก็เห็นตรงนั้นแหละ เดินไปตรงไหนก็เห็นตรงนั้นแหละ เห็นทางออกจากวัดเรา มันมีหลุมมีบ่อ ถ้าไปเห็นหลุมที่ใดเราก็รู้ล่วงหน้าแล้ว คนเจ้าของทางชินทาง บางคนขับรถโดยสารชินทางวิ่งของตน สี่แยกสามแยก โค้งอยู่ตรงใด สะพานอยู่ตรงไหน รู้จักเหมือนขับรถเป็น ขับรถเป็นตอนไหน ตอนที่มันไม่ปกติ รู้จักใช้เบรก รู้จักเปลี่ยนเกียร์ รู้จักหยุดความเร็วลงทันที เพราะทำเป็นแล้ว เหมือนหลวงตาเคยไปเทศน์สมัย 2518 มาเทศน์ที่มหาลัยเกษตรศาสตร์ ปากช่อง วิ่งรถมาจากกรุงเทพ มาถึงแก่งคอย มีรถมอเตอร์ไซค์วิ่งตัดหน้า คนขับรถก็สองคน คนหนึ่งขับ คนหนึ่งนั่งมาข้างหน้า หลวงตาก็นั่งข้างหน้ามาด้วยกัน คนที่ขับรถก็ขับรถ คนที่ไม่ขับรถแต่เคยขับรถก็เหยียบเบรกย่ำขาเปล่าๆ ไม่มีรถขับนะ ใช่ไหม (หัวเราะ) ย่ำเท้าเปล่า จับมืออย่างนี้ ไม่ได้ขับนะ แต่ท่าแสดงของเขา คนที่ขับรถก็นำรถพ้นจากภัยทั้งสองทาง ก็เลยถามคุณวิโรจน์ที่ไม่ได้ขับรถ คุณวิโรจน์ทำอะไรเมื่อเมื่อกี้นี้ ผมนึกว่าผมขับรถมันก็ไปของมันเอง (หัวเราะ) มือมันก็ไป เท้ามันก็ไป ผมเหยียบเบรกนะ ผมเหยียบเบรกแต่ว่าไม่มีเบรก แต่คนที่ขับเขาก็เหยียบของเขาก็เป็นรถจริงๆ อันนี้มันเกิดอะไร มันเป็น ถึงคราวมันเป็นเอง คนขับรถมันเป็นเอง ไม่ต้องบอก ไม่ต้องลำดับ เวลานี้ลดเกียร์ลง ถอนพวงมาลัยออก เหยียบเบรก ย่ำเบรก คุณวิโรจน์ย่ำเบรก ทั้งๆที่ไม่มีรถนะ เพราะเขาเคยชินในเหตุการณ์เช่นนั้น ไม่ต้องลำดับลำนำ ไม่ต้องไปเป็นภาคทฤษฎี เป็นตัวปฏิบัติไปเลย
จากที่เรามาศึกษาชีวิตของเราในภาคปฏิบัติ เมื่อมันหลงก็รู้ไปเลย ไม่ต้องมาอาศัยจังหวะก็ได้ เมื่อมันทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ไปเลย เมื่อมันโกรธมันก็ไม่โกรธไปเลย ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้อดทน ไม่ได้หนีไปไหน นั่งอยู่นี่ ไม่ได้ทิ้งกัน ก่นด่ากัน หนีออกจากกัน ทะเลาะกัน ถ้าอย่างนั้นมันต้องเถียงกัน ไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนกับทางนี้ นี่ปฏิบัติธรรมให้มันเป็นอย่างนี้ อะไรก็ตามก็ทำอยู่ตรงนี้แหละ เราก็เห็นเหมือนกันน่ะ เห็นความง่วง เห็นความหลง เห็นความโกรธ เห็นความโลภ เห็นความทุกข์ เห็นกิเลสตัณหา เห็นทีไรมันก็ต้องทำอย่างนี้ เหมือนคนขับรถ พอหลุมอยู่ที่ใดก็ต้องทำอย่างนี้ อะไรที่มันเกิดขึ้นต้องทำอย่างนี้ มันจึงเป็นการขับรถ เป็นในอาการในโอกาสเช่นนั้น ไม่ใช่จับพวงมาลัย เหยียบคันเร่งไปนั่นไม่ใช่ขับรถเป็น คนขับรถเป็นต้องผ่านอุบัติเหตุต่างๆ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างถูกต้องชัดเจนแม่นยำ เวลาเห็นหลุมที่เคยทาง ก็รู้จักทางตัวเอง เหมือนคนขับรถโดยสารขึ้นเขา เหมือนคนอยู่บนหลังเขาขับรถลงเขา เขาเคยทาง ไม่ค่อยมีอุบัติเหตุ บางคนไม่เคยทางก็มีอุบัติเหตุบ้าง ทางบางอย่างมันก็ไม่ไปตามกฎของจราจร เขาไม่อยากทำให้คดให้งอ มันก็งอไปตามภูมิประเทศ ทางลงเขาขึ้นเขาไม่อยากให้มันชันลาดสูง มันก็ชันในขณะที่มันเลี้ยวโค้งอันนี้ โค้งขึ้นไป สูงขึ้นไป มันก็มีต่ำลงไปนิดหน่อย คนไม่เคยขับรถเวลาขึ้นเกียร์ต่ำขึ้นไปได้แล้ว ลงไปนิดหน่อยมันก็ปลดเกียร์เบา ไปอีกหน่อยๆมันก็ขึ้นสูงอีก มันกลัวที่จะขึ้นเกียร์หนักเฉพาะกะทันหัน ถ้ารถมีน้ำหนักมาก มันก็เข้าเกียร์ไม่ได้ เกียร์เบากับหนักมันขึ้นมาเปลี่ยนเกียร์หนัก พอเปลี่ยนเกียร์หนักก็ตั้งต้นใหม่ก็ไปไม่ได้ รถมันหนักเครื่องดับ เครื่องดับก็ถอยหลัง เบรกไม่อยู่ ตกหน้าผาก็มีเหมือนกัน หรือลงจากมอสูง ทีแรกขึ้นเกียร์หนักไป ลงมอสูงลงเกียร์เบาขณะที่รถวิ่งไว รถวิ่งไวเกินไป เข้าเกียร์ไม่ได้ก็ลื่นไปเลย แล้วก็วิ่งตะพึดตะพือไปเบรกไม่ได้ เข้าเกียร์ก็ไม่ได้ รถมันไว ก็เกิดอุบัติเหตุได้ ขาขาด แขนขาดไปก็มี อันนี้คนไม่เคยทาง
คนไม่เคยเห็นความทุกข์ก็อาจจะทุกข์ได้ง่าย คนที่ไม่เคยเห็นความโกรธก็อาจจะโกรธได้ง่ายๆ คนที่ไม่เคยผ่านพ้นกับกิเลส ตัณหา ราคะ ก็ตกเป็นทาสของ กิเลส ตัณหา ราคะได้ง่ายๆ เวลามันเกิดขึ้นนี่เราก็รับใช้มัน ตอนเรามาปฏิบัติธรรม เรามาถือเพศ เรามาอยู่วัด เรามาสมาทานกรรมฐาน มันก็ช่วยได้ มองตัวเองห่มจีวร โกนผม มองตัวเองนุ่งขาว โกนผม มองตัวเองอะไรอยู่ในวัดในวา ก็เปลี่ยนแปลงไปได้ หลายๆครั้งก็เห็นสิ่งเหล่านี้แหละ มันก็ประสบการณ์สิ่งเหล่านี้แหละ เห็นกิเลสมันยังพ้นกิเลส เห็นรูป เห็นนาม มันก็บอกความละเอียดของรูปของนาม กิเลส ตัณหา มันเป็นอาการของนาม ความร้อนความหนาวเป็นอาการของรูป มันบอกเราละเอียด มันตะโกนบอก ถ้าคนผู้รู้อารมณ์เบื้องต้น มันก็ไปอย่างนี้แหละ แต่ว่าอย่าไปติดสุข ติดทุกข์ อย่าไปติดหลง ติดรู้ ให้มันมีค่า เพราะเป็นอาการ เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเรายังไม่รู้จักธรรมชาติไม่รู้จักความเป็นจริง ก็ไปเอาอาการต่างๆมาเป็นตัวเป็นตน ความร้อนความหนาวเป็นตัวเป็นตน ความสุขความทุกข์เป็นตัวเป็นตน กิเลสตัณหาเป็นตัวเป็นตน มันก็ต่างกันกับผู้ที่ได้อารมณ์ ผู้ได้อารมณ์มันก็รู้จักแยก ชะลอ หรือเบาๆ เหมือนๆกับความไว ความช้า ในเวลามันวิ่งมันโกรธมันก็ช้า ความโกรธคือการวิ่ง ความทุกข์คือการวิ่งทางจิตวิญณาณ มันรีบด่วนร้อน มันก็เย็นในความร้อนนั้นได้ เพราะนักปฏิบัติเป็นเช่นนั้น อะไรเกิดขึ้นก็ตรงกันข้าม ตรงกันข้ามเสมอไป แล้วก็อย่าไปเอาจริงเอาจังจนเกินไป ปฏิบัติธรรมเนี่ยเอาตนเป็นประมาณ เอาตนเป็นที่ตั้งเกินไป ให้วางตนเป็นกลางๆ เห็นความผิดก็ไม่แตกต่างกับความถูก ทำตรงนี้ให้เป็น มันจะง่ายขึ้น บางคนมีอัตตาทิพยะปรารภตนเป็นใหญ่ต่อรอง เอาตนไปต่อรอง จะทำไม่ได้ จะทำไม่ได้ ทำได้ นี่ตนเป็นใหญ่ มักจะไม่ได้ผล
มีเพื่อนมาอยู่ที่นี่บ้างเหมือนกัน มีพระจะมาปฏิบัติธรรมสามเดือน จะตั้งใจเอาให้สุดความสามารถ ถ้าไม่บรรลุธรรมสามเดือนนี้ อาจจะสิกขาลาเพศไป คงไม่มีบุญวาสนา ไปเอาบุญวาสนามาอ้าง มันไม่ใช่ วาสนาคือความพร้อม เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปเอาอะไรมาอ้าง คือเขียนเอา อยากรู้ก็สร้างรู้ เห็นมันหลงก็สร้างรู้ วาดคือเขียนเอาแต่งเอา บารมีคือพร้อม คือเต็มด้วยความรู้ อย่างนี้แหละ วาสนามันมีอยู่ ไม่ใช่ไปอ้อนวอนอะไรต่างๆเมื่อใด ไม่ใช่ มันมีวาสนาตรงที่มันหลงก็ได้ มันมีวาสนาตรงที่มันมีกิเลสตัณหาก็ได้ มันก็เขียนลงไป มันผิดทำให้มันถูก มันทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์เนี่ย เชื่อบุญวาสนาบารมี มีความพร้อม บาระแปลมี บาระแปลว่าเต็ม เต็มไปด้วยที่สร้างเอาไว้ ความรู้สึกตัวอย่างเนี่ย อย่าไปเอาวาสนา พอครบสามเดือนไม่รู้ธรรมเลย โอ้! สิกขาลาเพศไป (หัวเราะ) อย่างนี้มันจริงๆนะ ไม่อยู่เลย กลายเป็นเบื่อหน่ายต่อเพศ เบื่อหน่ายต่อวัดไปเลย ทำไม่ได้หรอก ไม่ได้หรอก เห็นวัดเห็นวาปฏิบัติธรรมไม่ได้หรอก มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นในโลกนี้ แต่วันนี้มันมีมรรค ผล นิพพาน ทุกวันนี้ไม่มีมรรค ผล นิพพานหรอก ไปเสียใหญ่ (หัวเราะ) เหมือนกับหมา (หัวเราะ) หมาขี้เกียจตัวหนึ่ง หากินผลไม้ลูกไม้ ไปกินทุกวันก็มีลูกไม้หล่นลงมา กินอิ่มแล้วก็คาบให้ลูก แต่วันนั้นไป ลูกไม้ไม่หล่นเลย ก็นอนเฝ้า เมื่อไรจะหล่นลงมาหนอ นอนอยู่ครึ่งวันค่อนวัน ลูกไม้ไม่หล่นสักต้น ก็เลยด่าต้นไม้ ไอ้ต้นไม้ กูไม่อยากมึงดอก ลูกกูเมียกูก็ไม่อยากมึง ลุกขึ้นไปโกรธต้นไม้ เยี่ยวราดต้นไม้ ที่แท้ตัวเองเกียจคร้านนอนเฉยๆไม่ขึ้นไป ขึ้นสิ ถึงจะได้ (หัวเราะ) ไปนอนอยู่ อันนี้ก็การมีอุปมัยอุปมาสมมตินะ
เราต้องมีกรรมฐาน ต้องมีสตินี้ รู้อยู่นี้ไปเอาอะไร ไปเอารู้ที่ไหน เมื่อไร รู้อยู่นี่ก็ดีแล้ว ก้าวแรกของการเดินทาง ถ้ารู้อยู่อย่างนี้ก็ไปแล้ว ไปจากความหลงแล้ว เหมือนเราเดินทาง ก้าวทีละก้าวก็ถึง ขึ้นดอยเขาศรีปาทะ เราเดินทาง เราแก่กว่าเขา เขาหนุ่มกว่า เขาขึ้นรนๆ เขาลงมาแล้ว เราก็ยังขึ้นไปอยู่ แล้วถึงทุกก้าว เราค่อยเดินไป ขึ้นได้เหมือนกัน ศรีปาทะ ถ้าใครเคยขึ้นเข้าศรีปาทะ อะไรเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย อยู่นี่ก็มีแม่ชีอูดเคยขึ้นไป คุณหมูก็เคยขึ้นไป ศรีปาทะนี่ศรีลังกา ถ้าไปลองดูก็ได้ จะไปไหมจะพาไป (หัวเราะ) จริงๆนะ ได้ขึ้นตื่นตีสามตีสี่ขึ้นไป ลงมาก็สองทุ่มสามทุ่ม ขนาดไหน ถ้าขึ้นตอนตีหนึ่งหรือห้าทุ่มหกทุ่ม ก็ขึ้นกลางคืนไปเลย ไม่ร้อน อาจจะสบายกว่า อย่างคนเขาขึ้นกลางคืน แต่เราอยากเห็นบรรยากาศกลางวัน ร้อนช่างหัวมัน เดินเหงื่อไหลไคลย้อยไป นี่คือ คือความอันไม่ถึงเอาไว้ที่หลัง อันไม่ถึงจะไม่ถึงไม่ใช่ไปคิดแบบนั้น แต่เราก้าวไป
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ให้รู้ไป รู้ไปเนี่ย รู้ทีละครั้งๆตามจังหวะที่เราประกอบ ตามกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน กายเนี่ยเอามาประกอบเป็นวัสดุอุปกรณ์ สร้างความรู้ขึ้นมาเนี่ย มันก็มีเท่านี้ เหมือนกันหมด ไม่ต่างกัน กายก็เหมือนกันหมด จะเป็นหนุ่มเป็นแก่ เหมือนกันหมด จะเป็นพระเป็นฆราวาส เหมือนกันหมด ชาติใดภาษาใดมีกาย ความรู้สึกตัวก็เป็นเหมือนกันหมด ความหลงก็เหมือนกันหมด แต่ไม่เหมือนกันตรงที่หลงเปลี่ยนเป็นรู้เนี่ยอาจจะต่างกันบ้าง บางคนอาจจะชินชา เฉื่อยช้า เหมือนการเปลี่ยน มักจะเอาความหลงบ้าง ข้องแวะบ้าง ความสุขข้องแวะบ้าง ความทุกข์ไปข้องแวะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นบ้าง ข้องแวะอยู่กับกิเลสตัณหา ราคะบ้าง พยาบาทบ้าง ข้องแวะอยู่กับการง่วงเหงาหาวนอนบ้าง ถ้ามันง่วงก็อ้าปากหาวหลับตามีความสุขนะ สบาย นี่ข้องแวะไปซะ แทนที่ตื่นตรงที่มันจะหลับ มันก็ไม่ฝึก ไม่เก่งตรงนี้ มันไม่ตื่นตอนที่มันจะหลับ มันก็เลยหลับไป แก้ยาก
การเปลี่ยนเนี่ย ต้องเปลี่ยนให้สมกับการปฏิบัติ คือต้องเปลี่ยนจริงๆ อุตส่าห์จริงๆ ทวนกระแสจริงๆ น้ำมันไหลทวนกระแส จึงจะว่ายถึงฝั่งที่ต้องการ เหมือนเราเคยลอยน้ำไหลเชี่ยว ก็จะไปฝั่งตรงกันข้าม เราต้องออกทวนกระแสสักหน่อย น้ำมันไหลไปทางนี้เราก็ว่ายขึ้นทางนี้ไป เผื่อเอาไว้ แล้วก็พอขึ้นไปสูงกว่าฝั่ง ดัดๆนิดหน่อยมันก็ไปเลย เหมือนกับออกเรือข้ามฟาก การจะข้ามก็ไม่ใช่วิ่งตรงๆเลย ถ้าวิ่งตรงๆมันหนัก ขึ้นไปทางเหนือหน่อยๆเอียงๆ ข้ามได้ ทวนกระแส มันหลง รู้ ทวนกระแส มันทุกข์ รู้ ทวนกระแส ภาวะที่รู้เป็นตัวทวนกระแส ของรส ของโลก รสของโลกมันไปทางไหล ทวนกระแสมันไปทางสูงๆ เห็นทุกข์นี่เราทวนกระแส เป็นผู้ทุกข์ตามกระแสแล้ว นี่มันก็จำเป็นนะปฏิบัติธรรมเนี่ย แต่ว่ามันจำเป็นเรื่องใด เพราะชีวิตเรามันต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีกิเลส ตัณหา ราคะ อันที่มันเป็นนายของเรา เราตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา ราคะ ของการโลภ โกรธ หลง ถ้าเราไม่ชนะอันนี้เสียชาติทีเดียว เสียชาติจริงๆ เราขาดทุนแล้ว ที่เรามานั่งอยู่ เป็นมนุษย์เนี่ยเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุสสะปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐอยู่แล้ว มีสิทธิไปสู่มรรค สู่ผล เต็มที่ ถ้าเราทอดทิ้งธุระเรื่องนี้ไปก็เสียชาติ ไม่สมกับพ่อแม่ให้น้ำนมเรามา จนถึงกับทุกข์เวลาเกิดแก่เจ็บตาย ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ยอมจำนน
ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะปรากฏชัดแก่เรา พระพุทธเจ้าก็แสดงไว้อย่างนี้ ยอมอะไร ทำไมถึงยอม ร้องไห้เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย คนอื่นตายเราก็ร้องไห้ คนอื่นตายคนที่ตายก็ร้องไห้เสียใจเสียดาย ห่วงหน้าห่วงหลัง นี่มันเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ไม่จำเป็นเลย มันก็แก่ทุกวันนะเราเนี่ย มันก็เจ็บทุกวัน มันเกิดดับทุกวัน ถี่ยิบเลย ถ้าเราไม่รู้ ถ้าเห็นรูปนาม เห็นเป็นอาการเกิดดับ เห็นอาการเกิดดับของรูปของนาม ในอิริยาบถต่างๆ อันรูปนามนี้มันเป็นมหาภูตรูป มันอาศัยทำความดีละความชั่ว แต่นามรูปที่มันเกิดซ้อนมากับรูปกับนามนี้ มันเป็นภพเป็นชาติ ถ้ามันตั้งภพตั้งชาติใดบนรูปบนนาม มันก็ไปที่ภพชาติที่มันตั้งไว้ เช่น เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมเนี่ย ในจิตมันก็มีจิตที่มันซ้อนคิดขึ้นมาในจิต ความคิดเกิดจากจิต ความคิดที่มันเกิดจากจิต บางทีเป็นอิสระ มันคิดขึ้นมาเอง มีอิสระปล่อยให้เขาคิดอะไรก็ได้ มาอาศัยบ้านเราทำชั่ว เรามีสิทธิเป็นเจ้าของบ้าน
สติสัมปชัญญะนี่เป็นเจ้าของกายเจ้าของใจ เป็นผู้ดูแลกายใจให้มันดี เรียกว่าปฏิบัติธรรม อย่าปล่อยปละละเลย ทีแรกเราก็ไม่รู้หรอก พอเห็นรูปเห็นนามแล้วก็ โอ๊ย ! กระตือรือร้น เป็นการช่วยเหลือรูปช่วยเหลือนาม ช่วยเหลือกาย ช่วยเหลือใจ แต่ก่อนปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง อะไรที่เขามาอาศัยก็รับได้ ความโกรธก็รับเอา ความทุกข์ก็รับเอา ความสุข กิเลสตัณหา รับเป็นตัวเป็นตนไปเลย ร้อยเปอร์เซ็นต์ รับใช้ บางทีก็เอาไปใช้จนมอมแมมไป ก็โอย! คิดได้ เพียงแต่คิดได้กระแสวับๆแวมๆ เห็นคนนั้นเป็นอย่างนี้ เห็นเขาเป็นคนดี เอาความดีให้คนอื่น แต่เรานี้ทำไมไม่ทำ ไปง้อ ง้อคนอื่น แทนที่จะตบหน้าอกของตนเอง เรานี่แหละคนหนึ่ง ให้มีฉันทะ ให้มีอุตสาหะ ตัวอย่างก็มีอยู่แล้ว คำสอนก็มีอยู่แล้ว พิสูจน์ได้ พระธรรมคำสอน พร้อมทั้งเป็นไปเพื่อความออกจากทุกข์มีอยู่ เป็นไปเพื่อความสงบมีอยู่ เป็นไปเพื่อปรินิพพานมีอยู่ อย่างนี้ จะไปเสียใจร้องไห้เศร้าโศกทำไม เป็นทุกข์ทำไม เป็นสุขทำไม หลงทำไม ให้มันเหนือนั่นไป เห็นกายสักว่ากาย แยกจากนี่ไป
มันร้อนวิชามากเรื่องนี้ ไม่ยอมแก่เลยหลวงตาเนี่ย ยังจะไปจีนวันนี้ (หัวเราะ) ยังไม่ยอมแก่จริงๆ มันร้อนวิชาอยู่นะ มันนอนอยู่โรงพยาบาลตั้งสองปีนี่ โอ๊ย! อยากแสดงธรรม เห็นเพื่อนไปแสดงธรรมที่นครปฐม ขอไปด้วยเฮ็ดหยัง ให้ไปด้วยได้ ทั้งๆที่นอนแอ้งแม้งอยู่ อยากไป อยากไปพูดเรื่องนี้นะ จนได้มาพูดตรงนี้ตามความประสงค์ จะแก่ช่างหัวมันนะ ขอให้บอกศีล บอกธรรม บอกทาง ไม่เอามาเป็นเครื่องขวางกั้น จนเราตัดสินใจ โอ๊ย! คนที่ไม่มีกรรมฐาน เขาจะอยู่ยังไงหนอ เวลาเจ็บเวลาตายเนี่ย เราทำท่าอยู่แบบคนที่ไม่มีกรรมฐาน มันอยู่ไม่ได้จริงๆ จะไปทุกข์เพราะหายใจไม่ได้ จะไปทุกข์เพราะเจ็บปวดมันทำไม่เป็น มีไหม ไม่ทุกข์เพราะความเจ็บปวดมีไหม หรือว่าร้องไห้ไปเลย เวลาโกรธก็เป็นแบบหนึ่ง เวลาไม่โกรธก็เป็นแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ชีวิตเราแบบนั้น ชีวิตเราต้องอยู่คงเส้นคงวา มีสติสัมปชัญญะเนี่ย มันจำเป็นนะ อันความสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ปฏิเสธได้ เราก็ต้องรับกรรมนี้ไป มันก็สิ้นกรรมได้ สิ้นภพสิ้นชาติเหล่านั้นได้ เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์อย่างนี้ มันจึงจะคุ้มค่าที่เราเกิดมา จนตัดสินใจว่าถ้าคนไม่รู้กรรมฐานเขาอยู่อย่างไรหนอ เอ้า! เราก็สอนเขาอยู่ สอนเท่านั้นไม่พอ ต้องสอนมากกว่านั้น เอ้า! จะสอนได้ยังไง เราจะหายใจไม่ได้ ก็ต้องอยู่แค่หายใจเข้าไม่ออก หายใจออกไม่เข้าก็หมดแล้วชีวิตนี้ รูปนามนี้ เราก็ต้องไม่ตายซิ จะไม่ตายทำไง ไม่ตายก็ต้องไม่ตายนั่นแหละ ไม่ตายแบบไหน ไม่ตายเพราะความเกิดแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี้ก็ไม่ตายแบบหนึ่ง ที่เป็นส่วนตัว แต่มันก็ไม่มีประโยชน์ต่อสิ่งใดเลย เราพยายามช่วยตัวเอง มันขี้เกียจ จะเอาชีวิตขึ้นมา มันขี้เกียจนะ บางทีมันไม่อยากเอา เอามันทีไรมันก็ ใช้มันมันก็ใช้ไม่ได้ เหนื๊อยเหนื่อย มาช่วยชีวิตเนี่ย แล้วปล่อยว่างๆสบายไป มันสบายดี เราไปคิดอีกแบบหนึ่งว่า มีความคิดอะไรที่มันสนุกๆไป อ้าว! เราเคยเตือนไปสัญญากับแม่ว่า ตอนแม่ใจจะขาด เราก็บอกแม่ว่า แม่ แม่มีลูกเจ็ดคนนะ ยังไม่ตายสักคนนะ ลูกของแม่บวชเป็นพระคนหนึ่งนะแม่นะ แม่ไม่ต้องห่วงนะ ลูกของแม่นั่งอยู่นี่ทั้งหมดเลย แม่ไม่ต้องห่วง หลวงพ่อจะดูแลพี่น้องทุกคน หลวงพ่อจะตายหลังเขา ให้เขาตายก่อน พี่น้องตายหมดทุกคนหลวงพ่อจึงจะตายนะแม่นะ จะดูแลพี่น้องทุกคน ไม่ต้องห่วง หลวงพ่อจะตายทีหลังเขา แม่ยกมือไหว้เลย สาธุ (หัวเราะ) นอนป่วยอยู่ (หัวเราะ) เราเนี่ยจะมาตายซะอย่างนั้น พี่น้องยังไม่ตายสักคนเลยนะ จะมาตายทีหลังเรายังไง เราบอกกับแม่ว่าจะตายทีหลังของพี่น้อง ไม่ได้ ผิดสัญญากับแม่แล้ว ก็มีความพยายามนะ เอ้า! เอาคืนมา กลับมาหายใจ หายใจไม่ได้อีก วางไปอีก กลับมาอีก ก็เป็นอย่างนี้ สนุกดีนะ ไม่ใช่อาลัยอาวรณ์อะไรนะ มันจำเป็นอย่างนี้
กรรมฐานนี่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ปล่อยปละละเลย มันก็ไม่ยาก ปฏิบัติได้ให้ผลได้ มันก็อยู่กับเราเนี่ย ความหลงก็อยู่กับเราเนี่ย ความรู้ก็อยู่กับเราเนี่ย ความโกรธก็อยู่กับเรา ความไม่โกรธก็อยู่กับเราเนี่ย ตรงกันข้ามพอดี เจ้าชายสิทธัตถะตอนเป็นเจ้าฟ้าชาย มองตรงกันข้ามอันนี้ ไม่ใช่มองแบบริบหรี่เลย เมื่อมีเกิดต้องมีไม่เกิด เมื่อมีแก่ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตายก็ต้องมีไม่ตาย มันเป็นอย่างนี้จริงๆ จะไปยอมทำไม เราเป็นทุกข์ความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นทุกข์ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ความเป็นทุกข์ การพลัดพรากก็เป็นทุกข์ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ มันไม่ใช่ นิดๆหน่อยๆแค่นี้ก็มาเป็นทุกข์แล้ว มันเกิดจากเราปรุงแต่งไปเอง บางทีธรรมชาติมันปรุงแต่งไป ก็เห็นมัน ตามความเป็นจริงของเขา ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะปรากฏชัดกับเราได้ “จิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ อะระหันตัง สัมมาสัมพุทธัง” อุทิศต่อพระพุทธเจ้า อุทิศคือทำเหมือนพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทำยังไง พระพุทธเจ้าก็บอกว่า นี่กายานุปัสสนา มีสติเห็นกายนะ มาทำตาม ไม่ใช่กลัวตาย ไม่อยากตายอันนั้นไม่สำเร็จ อุทิศคือทำตาม เมื่อเราทำตามอย่างนี้ก็ติดเปรอะเปื้อนเป็นตราของเราไป ชั่วดีเป็นตราไป เราทำดีเนี่ยเป็นตราไป มันมีนะตราตัวนี้ เรานอนตายอยู่ เกิดมาเราก็ไม่เคยทำบาปทำกรรมอะไร ไม่สะดุ้งผวาเพราะกรรมของตน มีแต่ทำความดี ความดีที่เราทำมันเต็มไปหมดเลย อะไรก็ที่มองเห็นได้ชัดหลายอย่าง นอกจากส่วนตัวเราไม่ ภายในใจก็บริสุทธิ์ การงานก็บริสุทธิ์ ไม่เป็นไปเพื่อทำให้ใครเดือดร้อน มันก็ชื่นใจสบายใจนะ ถ้าจิตทำความชั่วจะสะดุ้งนะ บางคนตายด้วยกิริยาต่างๆ ก็อยากจะช่วยตรงนี้บ้าง แต่มันก็ช้าไปแล้ว ไปช่วยตอนหายใจไม่ได้ เหมือนจะช้าไป บางทีก็ช่วยได้บ้าง ช่วยไม่ได้บ้าง ถ้าเขาไม่มีเครื่องรับไปสักหน่อย เหมือนเรามีเครื่องรับโทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ มีข้อมูลข่าวสารมา แต่ทางอื่นเรารับได้ เรายังปฏิเสธได้ เหมือนเราดูทีวี อะไรเรื่องดีๆเราก็ดู อะไรที่ไม่มันดีก็ปิด ก็ง่ายนิดเดียว มีรีโมท หรือมีอะไร อ้าวปิดปั๊บ อันนี้ก็เหมือนกัน รู้จักปิด รู้จักล็อคให้เป็น ชีวิตเรามันประเสริฐจริงๆ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ บางคนปิดไม่เป็น รับไม่เป็น เอามันตะพึดตะพือ รับความทุกข์ให้ความทุกข์อยู่กับเรา รับความโกรธให้ความโกรธอยู่กับเรา มันก็ได้ข้อมูล ได้โปรแกรมไม่ค่อยดี เหมือนกับเราให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันก็เก็บโปรแกรมนั้นไว้ โปรแกรมในหัวใจเราเนี่ย มันเก็บไว้เยอะแยะเลยข้อมูล เต็มไปด้วยกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มันก็เป็นอย่างนี้ชีวิตเรา ถ้าเราไม่ฝึกตนสอนตน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของใครที่ไหน เป็นเรื่องของส่วนตัวเรานี่ อย่าเอาอะไรมาอ้างนะ