แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดธรรมะสู่กันฟัง เมื่อตอนเช้า ตอนเย็น เพื่อให้เป็นส่วนประกอบกับการศึกษาปฏิบัติธรรมที่พวกเรากำลังทำอยู่ พูดกับทุกคน เพราะเราเป็นอันเดียวกัน มีกายมีใจ เป็นที่ตั้ง เป็นที่เกิดอะไรหลายๆอย่าง เราก็มีสติเป็นดวงตาภายใน ดูกาย ดูใจของเรา อย่าปล่อยปละละเลย อะไรที่มันเกิดขึ้น ต้องการให้เป็นยังไง หัดดู หัดสู้ หัดสน หัดตักเตือนว่ากล่าวตัวเองอันสอนได้ กายก็สอนได้ ใจก็สอนได้ ถ้าสอนได้แล้ว เราก็ใช้ได้ เราใช้กาย เราใช้ใจ เราใช้ตา เราใช้หู เราใช้จมูก เราใช้ลิ้น เราใช้จิตใจ สำเร็จประโยชน์ ละความชั่วได้ ทำความดีได้ ทำจิตใจบริสุทธิ์ ชีวิตนี้ถ้าเราสอนมันดีๆ มันสำเร็จถึงจุดหมายปลายทาง คือมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ถ้าเราไม่หัดไม่สอนตัวเอง ก็เป็นโทษ เป็นภัยต่อตัวเองและคนอื่น ไปไม่ถึงไหน เวียนว่ายตายเกิด เสียชาติ หลงแล้วหลงอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก โกรธแล้วโกรธอีก จิตเหล่านี้มันผ่านได้ มันเป็นทางผ่าน มันมีทางผ่าน
ถ้าเราศึกษาแล้ว มันจบเป็น ความหลงเป็นครั้งสุดท้าย ความทุกข์เป็นครั้งสุดท้าย ความโกรธเป็นครั้งสุดท้าย เป็นชีวิตล้วนๆ เวลานี้อะไรมันใช้เรา เรามีกายมีใจ เรารับใช้สิ่งใด มีประโยชน์จากกายจากใจไหม หรือว่ามีแต่โทษ ตาดึงไปใช้ หูดึงไปใช้ หลงทิศหลงทางไป ความหลงสร้างความหลงเรื่อยไป ความทุกข์สร้างความทุกข์เรื่อยไป ความโกรธสร้างความโกรธเรื่อยไป เป็นนิสัย เป็นจริต โทสะจริต มีความโกรธง่าย โทโสง่าย ออกหน้าออกตา โมหะจริต มีความหลง ออกหน้าออกตา ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา มีแต่ความรู้ใช้ไม่เป็น ไม่ได้ใช้ความรู้ที่มันรู้ชอบ ไปใช้ความหลงที่มันไม่ชอบ ให้ความโกรธ ความทุกข์ ความหลง มาอยู่กับชีวิตเรา ข้ามวันข้ามคืน ข้ามปีข้ามเดือน รับใช้ เป็นขี้ข้า เป็นทาสของเขา แล้วไม่เห็นได้อะไร หลงมันได้อะไร โกรธมันได้อะไร ทุกข์มันได้อะไร เอาไปอวดไปอ้างกัน เป็นเรื่องน่าอาย เราจึงมีสิทธิ เวลามันหลง มีสิทธิไม่หลง เวลามันทุกข์ มีสิทธิไม่ทุกข์ เวลามันโกรธ มีสิทธิไม่โกรธ โง่ไปเลย คนหลงคือคนโง่ คนโกรธคือคนโง่ คนทุกข์คือคนโง่ กับคนอื่นอาจจะไม่โง่ แต่ว่าโง่กับตัวเอง โง่มาก ฉลาดกับคนอื่น เอารัดเอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน ผลที่สุดไม่มีอะไร หลงไปทั้งชาติ เราจึงมาสิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของเรา
สิกขาคือศีล ศีลคือปกติ มีสติ อย่างที่พูดให้ฟังเมื่อวานนี้ สิกขาก็คือมีสติ เมื่อมีสติมันก็ละความชั่ว การละความชั่วก็เป็นศีลแล้ว มีสติก็ทำความดีก็เป็นบุญแล้ว คนทำดีเพราะมีสติ คนทำชั่วเพราะขาดสติ มันก็มีแค่นี้ มันไม่มาก เราก็เห็น ไม่รี่ไม่รับ เวลาใดเราทำชั่วแสดงว่าขาดสติ หลงไปแล้ว กลับคืนมาได้ ปฏิบัติคือกลับมาสู่ทาง สู่ความดี สู่ปกติ สู่ศีล สู่บ้านของตน บ้านของคนคือปกติ ทางกายทางจิตใจ ถ้าไม่ปกติแสดงว่าพลัดถิ่น พลัดบ้านแล้ว เพราะบ้านนี้เป็นมีความรู้สึกมีความระลึกได้ เราอยู่ที่ไหนก็อันเดียว เป็นหนึ่งเดียว ถ้าเราฝึกหัดอย่างนี้ ทุกคนก็เป็นคนคนเดียวกัน ถ้าเราไม่หัด ก็ต่างคนต่างเป็น พึ่งพาอาศัยกันไม่ได้ เดือดร้อน จนสร้างตัวบทกฎหมายขึ้นมา เพื่อคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สินของกันและกัน ทำไมจึงมีอย่างนั้น น่าจะดูแลตัวเองให้ดี เป็นหนึ่งเดียวกันเนี่ย จะอยู่สุขสงบร่มเย็นร่วมกัน เราไม่ตั้งต้นที่ตรงไหน เรามาตั้งต้นจากการศึกษา คือความรู้สึกตัวนี้ เห็น ถลุง ศึกษาคือถลุง ย่อยออก มันเปลี่ยนได้ มันหลงเปลี่ยนเป็นไม่หลง มันทุกข์เปลี่ยนเป็นไม่ทุกข์ เรียกว่าศึกษา ไม่ใช่จบอะไรมา ศึกษาสิกขา เป็นชีวิต ถ้ารู้สึกตัวนี่มีชีวิตแล้ว ถ้าหลงเมื่อไหร่ ขาดชีวิตไปแล้ว เปลี่ยนชีวิตเป็นอันอื่นไปแล้ว อยู่ในอุ้งมือของยักษ์ของมารไปแล้ว บางทีอยู่ในอุ้งมือของผู้คุมต่างๆ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉานได้ ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เขาก็เป็นสัตว์เหมือนเดิม
แต่ชีวิตของคนเรานี้ มันเป็นได้หลายภพหลายภูมิ ในรูปก็เป็นภพภูมิอีก หลายภพหลายภูมิ รับใช้สิ่งต่างๆ จับศาสตราอาวุธ เป็นยักษ์ไปแล้ว ในรูปมันหิว ไม่รู้จักอิ่มจักพอ เป็นเปรตไปแล้ว ในรูปนี้มันโง่ ไม่รู้จักแก้ไขตัวเอง เอารูปมาเป็นสุขเป็นทุกข์ เอารูปมาเป็นอะไรออกหน้าออกตา เกิดจากรูป มีภพ มีชาติหลายอย่าง เกิดจากเวทนา ก็มีภพ มีชาติ บางทีเวทนาเป็นใหญ่ รับใช้เวทนา ไปปล้น ไปจี้ ไปซื้อ ไปหา ไปข่มขืน ไปขโมยเขาเอามา มารับใช้เวทนา ต้องการอะไรเวทนา มันมีนิสัยอย่างไร รับใช้ซกๆๆๆ ไปตามเวทนา เป็นภพภูมิอยู่ในเวทนา ในจิตก็มีภพภูมิในจิต หลายภพหลายชาติ ที่พักอาศัยป่าเถื่อน เป็นอาคันตุกะมาพัก อะไรมาพักก็ได้ จิตของคนเราถ้าเราไม่ฝึก ไม่มีเจ้าของดูแล สำส่อน สาธารณะ ความโกรธมาใช้จิต ความหลงมาใช้จิต ความทุกข์มาใช้จิต ความรักความชังมาใช้จิต ความเศร้าหมองขุ่นมัวอะไรมาใช้จิต เลอะเลือนไปหมด จิตที่ดีบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาวสะอาด ใช้ไม่เป็นก็เปรอะเปื้อน ผุพังไป ทรุดโทรมไป จนเจ้าของจิตใช้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง ไม่มั่นใจมั่นจิตตัวเอง รับผิดชอบไม่ได้ ไม่เชื่อใจ ทั้งๆที่มันสอนได้ นี่ชีวิตของคนเรามันมีภูมิต่างๆ ถ้าเราไม่หัด ก็เสียไปทั้งชาติเลย ถ้าหัดก็โอย! มนุษย์ประเสริฐเลิศ จากคนมาเป็นมนุษย์ สูงขึ้นมาหน่อย คนนี่มันปนเปกัน ชีวิตของคนปนเปกัน คุ้มร้ายคุ้มดี เรียกว่าคน ถ้าเป็นมนุษย์ สูงขึ้นมา ไม่ด่วนรับ ไม่ด่วนปฏิเสธ มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเป็นเทวดาก็มีความละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว คนอื่นไม่เห็น เราก็เห็น อันความชั่วเนี่ย มันเกิดขึ้นที่เราก่อน เหตุปัจจัยเบื้องต้นเกิดขึ้นที่ความหลง ความชั่วเนี่ย ถ้าไม่มีความหลง ความชั่วก็ไม่มี เหตุที่เกิดขึ้นที่นี่ ดับก็ดับที่นี่ ถ้าเป็นเทวดาเป็นเทวธรรมแล้ว คุ้มครองโลกได้ มั่นใจ อาศัยกันได้ ดูแลอะไรคุ้ม คนดีคนชั่วยังไง ในตัวเรา นอกตัวเรา มีความละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อบาป เป็นพระพรหมก็มีเมตตากรุณาออกหน้า คิดสิ่งใดประกอบด้วยเมตตากรุณา พูดสิ่งใดประกอบด้วยเมตตากรุณา ทำสิ่งใดประกอบด้วยเมตตากรุณา เป็นพรหมใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ แม้เด็กก็เป็นผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีเมตตากรุณาก็เป็นเด็ก หวั่นไหว นี่แหละว่ามันเกิดได้ในจิตในใจในชีวิตของเรานี้ เอามา ถ้าหัดขึ้นไป ก็สูงขึ้นไป เป็นพระ พระประเสริฐแล้ว ไม่เปรอะเปื้อนสิ่งใด ชีวิตมาตรฐาน คือชีวิตของพระ ไม่หวั่นไหว ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่กระทบกระเทือน ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน เหมือนศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด ตาก็มี หูก็มี แต่ไม่หวั่นไหว เห็นทางตาก็สักว่าเห็น ได้ยินทางหูสักว่าได้ยิน ได้กลิ่นทางจมูกก็สักว่าได้กลิ่น ได้รสทางลิ้นก็สักว่า ไม่ได้เอามาปรุงจนเกิดความชอบ ความพอใจ และไม่พอใจ ตรงนี้ก็ไปได้รอดได้ถ้ามีสติเฝ้าดู การสัมผัสก็เลยฝึกหัดตนอย่างนี้ เอาจุดอ่อนของมัน จุดอ่อนเป็นหนึ่งที่ความหลง จุดอ่อนที่สุดที่มันทำผิด ทำพลาด เป็นทุกข์ เป็นความเดือดร้อนแก่ตัวเอง และคนอื่น
มันมีความหลง มันไม่มีอะไร มีแต่ภาวะที่หลง ที่รู้ ดูเข้าดีๆ ศึกษาดีๆ มีเท่านี้ ง่ายๆ มันเข้าแถว มันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ความหลงไม่ลับลี้อะไร หลงทางหูก็เห็นได้ หลงทางตาก็เห็นได้ หลงทางจมูก ลิ้น กาย ใจ หลงได้ รูป รส กลิ่น เสียง อารมณ์ต่างๆ เห็นได้ ไม่ลับลี้ ความหลงน่ะ ความรู้ก็ไม่ได้ต้องหา ไม่เรียกร้องใครมาช่วย มาอยู่ด้วยกัน ระหว่างความรู้ ความหลง อะไรที่มันเกิดขึ้นรู้ปั๊บ เอาความรู้เป็นเจ้าบ้าน เจ้าเรือน เป็นเจ้าของ ความรู้สึกตัวเป็นเจ้าของกาย เป็นเจ้าของใจ รักนวลสงวนตัวเอาไว้ การตั้งต้นนี่ การศึกษาชีวิตเนี่ย มันไม่ยาก ไม่ต้องไปมีวัสดุอุปกรณ์เหมือนการศึกษาสิ่งอื่น มีกาย มีใจก็พอแล้ว กายใจเป็นที่ตั้งอะไรต่างๆ ความดี ความชั่ว พอใจ๊ พอใจ เมื่อเรามีสติดูกาย ยกมือสร้างจังหวะเคลื่อนไหว มันทำได้ ปฏิบัติได้ ง่ายๆ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องเอาเหตุเอาผล เอาผิดเอาถูกมาเป็นที่ตั้ง ให้รู้เข้าไปเลย รู้เข้าไป สัมผัสเข้าไป สัมผัสกับความรู้สึกเข้าไป เอาความรู้สึกมาต่อกับกาย กับใจ เมื่อความรู้สึกตัวมาอยู่กับกาย กับใจ เวลาสัมผัส มันก็เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาได้ ถ้ามีความหลงเข้ามา มันก็เกิดอกุศล เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ไปทางอื่น
มีพระอรหันต์สมัยครั้งพุทธเจ้า ครั้งพุทธกาล เรียนอะไรก็ไม่รู้ อย่างพระพาหิยะเนี่ย พาหิยะเป็นผู้ตรัสรู้เฉียบพลัน เร็วพลัน เป็นเอตทัคคะผู้บรรลุธรรมฉับพลัน ง่ายๆ เรียนอะไรไม่ได้ เพียงแต่เอาพระพุทธเจ้าว่าเรียนง่ายๆ เรียนแต่เพียงผัสสะ เพียงผัสสะ มีสติ และผัสสะคือตาสัมผัสกับรูป รู้สึกตัว เวลาหูสัมผัสกับเสียง รู้สึกตัว เวลากลิ่นสัมผัสกับจมูกรู้สึกตัว เวลากายสัมผัสกับโผฏฐัพพะ อารมณ์ ความร้อน หรือจิตใจ รู้สึกตัว เท่านี้เอง ประโยคน้อยๆ พระพุทธเจ้าสอน พระพาหิยะ
ไม่เหมือนพระโปฐิละ อันนี้ขออภัย จำไม่ได้ เรียนจบพระไตรปิฎกก็สวดต่างๆ จบหมด แต่พระพุทธเจ้าเรียกว่า ภิกษุใบลานเปล่า เวลามากราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ “มาแล้วหรือ ภิกษุใบลานเปล่า”
เวลาจะกราบลาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็พูดอีกว่า “ไปแล้วหรือภิกษุใบลานเปล่า” ไม่พูดอะไร
โปฐิละก็เสียใจ น่าจะสรรเสริญเรา เรียนเก่ง จำพระสูตร ไปที่ใดฉะฉาน ชัดเจน ชี้แจงแสดงธรรม โปรดนั่น เทศนาที่นี่ เรื่องนี้ พระสูตรนี้เทศน์ที่นั่น มีคนฟังที่นั่น มีคนบรรลุธรรมที่นั่น พระสูตรต่างๆ สติปัฏฐานสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ต่างๆ เยอะแยะไปเลย รู้หมด ไปที่ไหนนี่ ข่มภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลาย พุทธบริษัททั้งหลาย ต้องยอม ในพระสูตรไปอวด เวลามานี่หลวงตาพูดไม่ถูก ถ้าเป็นพระโปฐิละมาได้ยิน พวกเราไม่ฟังหลวงพ่อหรอก ไปฟังโปฐิละ โอ้! เก่งหนอ ไปเลย ผลที่สุด พระพุทธเจ้าเรียก ภิกษุใบลานเปล่า ก็เลยมาคิด เอ้! ทำไม เราไปที่ใดเรามีอำนาจ มีความรู้ วุฒิภาวะสูงสุด ภิกษุทั้งหลายต้องยอม เหมือนราชสีห์เดินผ่านหมู่ฝูงสัตว์ กลัว ไม่กล้าอะไร ไม่กล้าพูดด้วย ก็มาคิด เอ้! ทำไมพระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญเรา เรามีความรู้ขนาดนี้ จบมาแท้ๆ ก็คิด ต่อไปนี้เราจะต้องหาครูบาอาจารย์เสียก่อน ให้มีผู้สอนเรา ไปสำนักหนึ่งมีสระน้ำหน้าวัดเหมือนวัดป่าสุคะโต มากราบอาจารย์หัวหน้าหมู่ อาจารย์ก็บอกว่า ขอให้สอนผมด้วย อาจารย์ว่าไปหาองค์นี้ ไปหาองค์นี้ อาจารย์ก็บอกว่าไปหาคนนั้น เรื่อยไป ไม่มีใครกล้าสอน
ผลที่สุดไปหาเณรน้อย นู้น องค์สุดท้ายแล้ว เณรน้อย “สอนผมด้วย เป็นอาจารย์ผมด้วย จะให้ทำอะไร” ก็ลดทิฐิมานะลง
เณรน้อยก็ไม่ปะ ไม่พูด บอกไป เดินไปหน้าวัด กำลังห่มจีวร ผ้าสังฆาฏิ เหมือนเราเนี่ย ทำวัตร เณรน้อยก็พาโปฐิละ เดินลงสระ ไปสระน้ำ เณรน้อยบอกว่า “อาจารย์โปฐิละลงไปในน้ำนี้” มันหนาว โปฐิละก็ทำท่าจะไม่ยอม
“ไปสิ ลองไป” เณรน้อย “เอ้า! เณรน้อยสอนก็ต้องเชื่อฟัง” เณรน้อยก็บอกว่า “ถ้าบอกอะไรต้องเชื่อฟังนะ”
“ครับ จะเชื่อฟัง” เดินลงไปทั้งผ้า เทียมเข่า “พอไหมเณร พอไหม”
“ยัง ลงไปอีก”
ลงไปถึงเอว “พอไหมเณร”
“ไม่พอ ลงไปอีก”
น้ำเพียงอก “พอหรือยังเณร”
“ไม่พอ ลงไปอีก”
น้ำเพียงปากพูดไม่ได้ เณรน้อยก็กวักมือให้ขึ้นมา พอขึ้นมาเณรน้อยก็สอน “มีจอมปลวกจอมหนึ่ง มีรู 6 รู มีตัวเหี้ยอยู่ในจอมปลวก จะจับตัวเหี้ยได้ยังไง” โปฐิละก็คิดได้
ตอบยังไง 6 รู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะจับเหี้ยได้ยังไง มันอยู่ในเนี่ยะ เหี้ยคือความชั่วทั้งหลาย คำว่าเหี้ย เขาไม่อยากเรียกว่าเหี้ย เขาเรียกว่าตัวเงินตัวทอง บางคนทำให้กันฉิบหายวายวอด จับเหี้ยมาปล่อยข้างบ้าน ด่าว่ากันว่าเหี้ยใช่ไหม มีตัวเหี้ยตัวหนึ่งมันอยู่ในเนี่ย จะจับมันได้ยังไง ความชั่วทั้งหลาย จะจับยังไงพวกเรา จะจับเหี้ยยังไง สมมติพวกเราเป็นโปฐิละ
โปฐิละก็คิดได้ “ก็ต้องปิดรู 5 รู ขุดตามไปรูเดียวมันก็จับได้”
เณรน้อยก็ “พอแล้ว ไป จับเหี้ยให้ได้”
ผลที่สุดโปฐิละจับเหี้ยแล้ว โปฐิละทำยังไงล่ะ เอาตรงไหน เออ! หัวใจ ดู บำเพ็ญทางจิต มีสติดู มันมีตัวรู้ ตัวหลงแล้วเนี่ย ก็เห็นตัวหลง รู้สึกตัว เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ จับเหี้ยได้เลย อันนี้เรียกว่าประโยคน้อยๆ มันมีอยู่กับเราแล้ว ไม่ต้องไปจำพระสูตรต่างๆ
หรือรูปหนึ่ง พระพี่ชาย เอาน้องชายมาบวชด้วย น้องชายก็ปึกหนาสาโหด สอนให้เรียนอะไรก็ไม่ได้ ไปไหนพี่ชายก็ได้แต่ด่า อายเพื่อน โง่เง่าเต่าตุ่น พี่ชายก็เกลียดมากๆ วันหนึ่ง พี่ชายด่ามากเท่าไหร่ เห็นท่าไม่ได้ ไม่ไหว ขอสึก ก็ให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่าทำไมถึงสึก ก็ว่าพี่ชายด่า เรียนอะไรก็ไม่ค่อยได้ พระพุทธเจ้าก็ว่าไม่ต้องสึก ก็มอบผ้าขาวผืนหนึ่งให้เท่าฝ่ามือนี่ ก็ให้เอาผ้าไปลูบดู ระโชหะระนัง ระชังหะระติ ให้ว่าบริกรรมคำเดียว “ระโชหะระนัง ระชังหะระติ” นั่นก็ลูบผ้า ผ้าขาวๆ กลายเป็นผ้าดำไปหมดเลย ลูบไป ระโชหะระนัง ระชังหะระติ ลูบไป ลูบไป ผ้าดำ เห็นผ้าขาวๆ มาเห็นผ้าดำ โอ! ทำไมผ้าจึงดำ มือทำไมจึงไปเป็นมือดำไปเปื้อนผ้า ก็มาอุปมาเหมือนจิตใจของเราเนี่ย ผัสสะ เอ้อ! การสัมผัสบ่อยๆ ไม่มีสติ เปรอะเปื้อนกับความยินดียินร้าย ดีใจ เสียใจ ตาเห็นรูป พอใจ ไม่พอใจ หูได้ยินเสียง พอใจ ไม่พอใจ จมูกได้กลิ่น พอใจ ไม่พอใจ สัมผัส ผัสสะ ไม่ใช่มือสัมผัสกับผ้าอย่างเดียว มันแตกฉานไป แตกฉานไป แตกฉานไป แตกฉานไป ก็อ๋อ! ได้บรรลุธรรมทันทีเลย แตกฉานเพราะการสัมผัส สัมผัสอะไรที่มันสะอาดจัง เราสวดเมื่อวานนี้
“ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง” สิ่งเหล่านี้นี่เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ
“ยะทิทัง จีวะรัง ตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล” จีวรนี้สะอาดมาแต่เดิม เมื่อถูกกับกายอันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว ย่อมสกปรก น่าเกลียดอย่างยิ่งไปด้วยกัน ผ้าสะอาดมาถูกกายบ่อยๆ ก็จนเหม็น
จิตใจของเรานี้บริสุทธิ์มาแต่เดิม แต่มันอาคันตุกะจรมา แต่ก่อนไม่เป็นไร เมื่อสัมผัสบ่อยๆ จรมา มาพักที่นี่ ความหลงมาพักที่ใจ ความโกรธมาพักที่ใจ ความทุกข์มาพักที่ใจ ความรักมาพักที่ใจ ใจก็เลยเต็มไปด้วย ความโกรธ ความทุกข์ ที่จริงใจไม่ค่อยโกรธ ไม่ทุกข์ ความทุกข์ไม่ใช่ใจ ความโกรธไม่ใช่ใจ มันเป็นอาคันตุกะ มันมาใหม่ มันซักได้ เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ มันเปรอะเปื้อนได้ มันไม่ใช่ใจ เพราะเราไม่ศึกษา นึกว่าใจ กูโกรธ กูทุกข์ กูพอใจ กูไม่พอใจ กูชอบ กูไม่ชอบ ไปซะ เห็นเอาความโกรธมาเป็นใจของตนเอง ตามความโกรธ ถ้ากูได้โกรธแล้ว กูไม่ยอม ถ้ากูได้โกรธ กูไม่ด่ามันกูไม่ยอม กูต้องด่ามันให้ได้ ทำตามความโกรธ เสียเปรียบความโกรธ โกรธขึ้นมาให้ลูกตีลูก โกรธสามี ภรรยา ด่ากันเหมือนหมูเหมือนหมา ความโกรธบงการ ไม่ใช่ใจเลย มันหายเป็นมันหมดเป็นความโกรธเนี่ย ความทุกข์มันหมดเป็น มันไม่ใช่เจ้าบ้านเจ้าเรือน ไม่ใช่ตัวใช่ตน อันความโกรธ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราสวดพระสูตร พระพุทธเจ้าก็สอน
กายานุปัสสนา เห็นกายในกาย สักว่ากายไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา อย่าไปเอากายมาเป็นตัวเป็นตน เห็นกายสักว่ากาย เคลื่อนไหวไปมา ให้รู้สึกตัว มีความรู้สึกตัว กายมันแสดงออก มันปวดขา โอ๊ย! กูปวด อันนั้นเป็นตัวเป็นตน เห็นมันปวด เรียกว่ากาย สักว่ากายแล้ว ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่ใช่เป็นผู้ปวด เห็นมันปวด เห็นมันหนาว ไม่ใช่เป็นผู้หนาว นั่นแหละ ไม่ใช่ตัวใช่ตน สักว่ากายแล้ว
เวทนามันอะไรเกิดขึ้น ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันก็ไม่ใช่เห็นมัน เห็นมัน เห็นมัน อย่าเข้าไปเป็น ที่เรียกว่าง่ายๆ อย่างเนี่ยปฏิบัติธรรม
จิตที่มันคิดขึ้นมา ให้ความคิดเป็นใหญ่ ขี้เกียจก็หยุดทำ ขยันก็ทำลงไป เอาความขยัน เอาความขี้เกียจเกิดที่ใจเป็นสิ่งบงการ ถ้าความขี้เกียจก็หนี ไม่เอาเลย ถ้าความขยันก็ให้ยกมือ คิดถึงบุญกุศล พอเบื่อขึ้นมาก็หนีไป ให้ทำตามอาการต่างๆ นึกว่าเรา ไม่ใช่เลย ถูกตัวนี้หลอก ทั้งภพทั้งชาติ สร้างความเดือดร้อนให้กันและกัน เนี่ย! อะไรมันที่นี่ สัมผัส
พระพาหิยะศึกษาตรงนี้ พระที่ลูบผ้าก็ศึกษาการสัมผัส เรามาปฏิบัตินี่ก็สัมผัส ต้องเคลื่อนไหวให้มันรู้สึกตัว ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนแล้ว มันก็มีตาภายใน เหมือนคนตาบอดไม่เห็น ไม่มีใครตาบอดเท่ากับไม่ดูแลตัวเอง ไม่มีใครหูหนวกเท่ากับไม่ฟังเสียงอะไร เขานินทาก็ได้ยิน ไม่เป็นไร เขาสรรเสริญก็รู้ ไม่เป็นไร อย่าให้คนอื่นมาซัดชีวิตของเราให้เต้นไปตามๆ ตามเขา เราเป็นตัวของตัวเอง เรารู้ตัวเองดีกว่าคนอื่นรู้ ถ้าเขานินทาเรา เราก็รู้ของเราเอง ถ้าเขาสรรเสริญเรา เราก็รู้ตัวเราเอง และจะไปเรียกร้องอะไร จะไปป้องอะไร ไม่อยากให้เขาว่า ไม่อยากให้เขาทำ มันห้ามไม่ได้ แต่ห้ามเรานี่ห้ามได้ เราจะไม่เป็นอะไรตามคนเขาว่า เราจะเป็นของเราเอง ให้รู้สึกตัวนี้ หัดอย่างนี้ หัดอย่างนี้ มันใช้ได้จริงๆ ประเสริฐจริงๆ ชีวิตของเราเนี่ย ทำไมจึงไม่ใช่ความถูกต้องชอบธรรม นี่เรียกว่ามาฝึกหัดให้ทำให้เป็น ไม่ใช่มาเอาความรู้ มาทำให้เป็น เมื่อมันหลงไป รู้ ทำเป็นแล้ว เมื่อมันสุข รู้ เมื่อมันทุกข์ รู้
ปฏิบัติให้กลับมารู้เป็นที่ตั้ง ที่ตั้งเรียกว่ากรรมฐาน กรรมฐานคือที่ตั้ง ฐานคือที่ตั้ง กรรมคือการกระทำ กรรมนี้จะลิขิตไปเอง ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล อย่าไปเอาความชอบไม่ชอบ เป็นใหญ่เป็นโต ให้มีการกระทำเกิดขึ้น ถ้าเราพูดกันอย่างนี้ ชวนให้ทำอย่างนี้ เราก็เป็นเพื่อนอยู่นี่ มีอะไรก็อยู่เหมือนๆ กัน เวลานี้เราหนาวก็เหมือนกัน อะไรก็เหมือนกัน ไปกินข้าวก็เหมือนกัน อาหารอย่างเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน ตัวเขาตัวเรา ไปเบียดเบียนกันทำไม ปีใหม่แล้ว มาดีต่อกันเถอะ มาดูแลตัวใครตัวมันให้คุ้ม ปฏิบัติธรรมคือดูแลตัวเองให้ดีๆ อย่าให้ไปรบกวนอะไรที่ไหน รักษากาย วาจา ใจ คือนี่แหละ คือศีล คือสมาธิ ปัญญา มีสตินี่แหละ นี่ ที่นี่ก็พูดกันอย่างนี้ แต่คำพูดเป็นคำลมๆ แล้งๆ ไม่ใช่พูดให้จำ พูดแล้วเอาไปทำดู เหมือนพระพุทธเจ้าบอก “พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนการกระทำเป็นหน้าที่ของเธอ ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าช่วยใครไม่ได้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม เห็นสติสัมปชัญญะ เป็นเหตุ เป็นที่ตั้ง”