แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในทุกวันนี้เราก็ไม่ได้มีทางที่จะได้ฟังเทศน์ การบอกการสอนจากพระพุทธเจ้า เหมือนสมัยสองสามพันปีที่ผ่านมา ที่เกิดพระอรหันต์ ที่เกิดสงฆ์ขึ้น มันก็เป็นไปไม่ได้ การบรรลุธรรมสมัยนั้น เกิดจากการฟังเทศน์ 50% เป็นพระอรหันต์ก่อน มาถือบวชทีหลัง ก็มีจำนวนมาก อย่างเอตทัคคะ ๘๐ รูป ส่วนมากเป็นพระอรหันต์ก่อน บรรลุธรรมก่อน จึงถือบวช ตัวเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้การอุปสมบทแก่ภิกษุเอง สังเกตจากการให้อุปสมบท เอหิภิกขุอุปสัมปทา เพียงกล่าวว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด พระธรรมวินัยเราตรัสไว้อยู่แล้ว ท่านจงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้เป็นที่สิ้นทุกข์เถิด นี่คือผู้ที่ยังไม่ที่สุดแห่งพรหมจรรย์คือพระอรหันต์ ถ้าผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็บอกว่า ท่านจงเป็นผู้ประพฤติธรรมนั้นเถิด นี่คือเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พวกเราไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย ไม่ได้ฟังธรรม แล้วก็ยังมีธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามากมาย เราเอามาสวดมาสาธยาย เหมือนกับเราได้ฟังธรรมะพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว เราจึงมีวัตรปฏิบัติในการสวด มีหนังสือ มีตำรา เอาออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์เอง มีพระมหากัสสปะเถระ เป็นผู้ห่วง จำกันเอาไว้ พระอานนท์จำแม่นที่สุดเลย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมะที่ใด พระอานนท์นี่จำมาได้หมด เพราะเป็นพุทธอุปัฏฐาก ขอพรจากพระพุทธเจ้าว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมที่ใด ขอให้ข้าพระองค์ติดตามไปด้วย ก่อนที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก เลือกมา พระพุทธเจ้าถามว่าเธอทำไมจึงขอเช่นนั้น เพราะว่าพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก เมื่อถามอะไร พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่ไหน เรื่องอะไร ไม่รู้ ก็ไม่สมควรที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงได้จำแม่นมาใส่ใจ เรียกว่าบันทึกไว้ในหัวใจ
เมื่อถึงคราวทำสังคายนาร้อยกรองธรรมคำสอนขึ้นมา ก็ต้องขาดพระอานนท์ไม่ได้ พระอานนท์ก็มีความสำคัญ ในคราวที่ทำสังคายนา พระมหากัสสปะเถระเจ้าได้เป็นประธานในหมู่สงฆ์ เลือกพระเถระผู้เป็นอรหันต์ทั้งหมดมารวมกัน ต่างรูปต่างองค์ก็จำกันมาแม่นในทางใด สารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอุบาลี พระอนุรุทธะ แม่นทางใดก็จำกันมา มาพูดให้ฟัง แต่พระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ว่าขาดไม่ได้ พระกัสสปะจึงเว้นไม่ได้ ต้องให้พระอานนท์ปฏิบัติธรรม เพื่อจะทำสังคายนา อานนท์ก็เริ่มปฏิบัติธรรม เอาจริงเอาจัง หน้าดำคร่ำเครียดทั้งๆ ที่รู้มาก จำแม่นเหลือเกิน แต่ก็เอาสิ่งที่ตนรู้มาไต่เต้าไป แม้แต่การทำทุกรกิริยา เอามาเป็นแบบอย่าง เอามาสอนตัวเอง ทั้งพระพุทธเจ้า เอาทั้งความรู้ ทั้งการกระทำให้เกิดขึ้นให้มีขึ้น
ในคืนนั้น บางทีก็พระอรหันต์ทั้งหลายมาถาม เป็นอย่างไรอานนท์ ขอเวลาๆ เหมือนกับเราทำนา เหลืออีกไม่กี่วันกำหนดได้ คงจะสำเร็จ ถามกันว่า ใกล้เสร็จหรือยัง ประมาณสองสามวัน พระอานนท์ก็ตอบ ขอเวลาชั่วโมง สองชั่วโมง เร่งเข้าไป จนถึงแสงเงินแสงทองจะขึ้นแล้ว ทั้งคืนนั้นก็คิดอะไรบ้าง ทั้งไม่ได้หลับได้นอน ได้พักได้ผ่อน อานนท์ก็ของีบสักหน่อยน้า เหมือนเราเหนื่อยใช่มั้ย เราต้องมีสิทธิ์ที่งีบได้ ก่อนนอนหายใจรู้สึกตัวได้ อานนท์ก็ถือโอกาสเช่นนั้น ในขณะที่พระอานนท์กำลังเร่งอยู่นั้น ไม่ได้ตั้งใจเลย เร่งเอาความรู้ เอาการกระทำ เอาอะไรมา แต่ใจไม่รู้จักวาง เหมือนหลวงตาไปพูดกับโยมเมื่อวานนี้ ใจต้องวางนะ เดินอยู่นี่วางใจนะ อย่าไปให้มันมีอะไรเกิดขึ้นในใจ เพื่อจะอยากรู้อยากเห็น ไม่ต้องอย่างนั้นนะ วางใจรู้ซื่อๆ ไป อานนท์ก็วางใจลง นอนงีบสักหน่อยก่อนน้า พอเอนหลัง หัวยังไม่ถึงหมอน ได้บรรลุธรรมตอนนั้นเลย
อันนี้คือไม่ใช่ความรู้ เป็นการทำใจ ก็ทันกับทำสังคายนา เป็นพระอรหันต์เกิดขึ้น เรียกว่า ขีณาสพ ทำสังคายนา พวกเราก็เอาคำสอนมาช่วยส่วนหนึ่งที่เรามาสอนตัวเอง อย่างเราสวด อะไรคือสติ อะไรคือกาย อะไรคือเวทนา อะไรคือจิต อะไรคือธรรม ทำอย่างไร มาจากพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เสมือนว่าเราได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีกาล ไม่มีเวลาเลย ท่านอยู่กับเราอยู่แล้ว เราก็มีอยู่แล้ว เราไม่ได้ใช้ ไม่ได้ประกอบ อายุหลวงตานี่ก็ได้ฟัง ได้ทันเห็นอาจารย์ ตั้งแต่อาจารย์พุทธทาส อาจารย์ หลวงพ่อ เจ้าคุณ หลายๆ องค์ หลายๆ รูปที่เคยฟัง สมัยก่อนกระตือรือร้น คือ รีบด่วนที่สุดในการศึกษาเรื่องนี้ เพราะดูแล้วบางครั้งก็ตกใจ อุตส่าห์บำรุงพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็ทำผิดอะไรต่างๆ บางทีก็ไปขึ้นบ้านผู้หญิง ชาวบ้านต้องนัดกันไปไล่ เคยไปไล่พระออกจากบ้านผู้หญิง แต่จับไม่ได้ เขาหลีกไปก่อน
บางทีก็เห็นพระไปจับปลาในสระกลางคืน จับปลาในสระชาวบ้าน ที่เกี่ยวข้าวขึ้นใหม่ๆ แล้วยังไม่จับปลาในบ่อเขา พระก็พากันไปจับเอาปลาในสระ เราไปหาควาย ตอนเย็น เดินไปเห็นผ้าเหลืองวางอยู่ขอบสระ เอ้า อะไรน้อ เดินไปดู เห็นพระงมปลาอยู่สามสี่รูป เราก็เอามือมาลูบหัวใจเรา โอ๊ย เราอุตส่าห์บำรุงสร้างวัดสร้างวา ให้พระมาอยู่ที่นี่หนอ อะไรๆ คือพระ อะไรคือธรรมะ อะไรคือบาปคือบุญหนอ ทำบุญแต่ไม่รู้จักบุญ กลัวบาปแต่ไม่รู้จักบาป อยากรู้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์มันคืออะไร พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระธรรมเป็นอย่างไร การบ้านเกิดขึ้น จึงรีบๆ หน่อยหนึ่ง ตอนนั้นรีบจึงมาศึกษา ตั้งใจอยากรับผิดชอบเรื่องนี้กัน ฉะนั้น เราก็เลยสมบูรณ์แล้ว พวกเรามีอาจารย์ ยุคหลวงตาก็ได้เอาจังๆ ต่อหน้าต่อตา หลวงปู่เทียนสอน แสวงหาครูบาอาจารย์ ก็มาสะเปะสะปะมาพบหลวงปู่เทียนเข้า ถูกกับความคิดของตนเอง ที่เป็นปัญหาไม่รู้ หลวงปู่เทียนก็ท้าทาย ก็เลยตั้งใจ
เวลาหลวงพ่อเทียนแสดงธรรม เราไม่ใช่ไปจำเอามา มาทำตัวเอง สิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด เราไม่รู้ สิ่งที่เรารู้ หลวงพ่อเทียนไม่พูด เกิดความขัดแย้งคนละทิศละทาง สิ่งที่เรารู้ หลวงพ่อเทียนพูด สิ่งที่เราไม่รู้ หลวงพ่อเทียนก็พูด ก็สัมผัสดู ก็ไต่เต้าไป ไต่เต้าไป เวลาทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น เราฟังหลวงพ่อเทียนพูด มันก็มีในเรา เราก็ทำได้ สิ่งที่หลวงพ่อเทียนพูด ก็เหมือนสิ่งที่เราได้เรียนมา คือสมัยเป็นเณรเรียนนักธรรมชั้นตรี มันก็มีในตำรา อย่างสติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว แต่ก่อนคุณน่ะ ท่องเอาจำเอา มันอยู่ในตำรา ภาษานกแก้วนกขุนทอง บัดนี้มามีสติไปในกาย ไม่ใช่เป็นการท่อง เป็นการไปจุ่มไปต่อเอา มันมี เหมือนจริงๆ
เมื่อมีสติเห็นกาย มันก็เห็นจริงๆ กาย มีสติเห็นเวทนาก็เห็นเวทนา อ้าว มันมีอยู่นี่เนาะ แต่ก่อนเราก็ไม่รู้ ความรู้อยู่ในตำรา จำได้ กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน หลักสูตรนักธรรมชั้นโท มันมีอยู่นี่ เราเห็นอยู่นี่ เราอ่านตำราอยู่นี่ เรามีรสชาติโดยตำรา กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอย่างไร เราก็ทำไปๆ ตามแผนที่ เสมือนเราได้แผนที่เดินทางในประเทศไทย ติดรถไป เราจะไปไหน ดูแผนที่ ทางหมายเลขอะไร กี่กม. เราก็ไปตามแผนที่ ขณะที่เราเดินทางขับรถ นั่งรถไปตามแผนที่ เราก็เห็นอะไรที่มันผ่าน เราไม่หลง เราก็ไป ไปตามแผนที่ ความหลงก็ค่อยดีขึ้นด้วย จะได้หยุด เอาใหม่ เพื่อจะไม่เสียเวลา เข้ามาดู ดูไป
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ความหลงเป็นเรื่องดี อะไรที่ไม่ใช่สติเราก็รู้ เราผ่าน ผ่านบ้านโน้นเมืองนี้ไป เอาบ้านนั้นไว้หลัง เอาบ้านนี้ไว้หลัง ผ่านความหลงกี่ครั้งกี่หน ผ่านความสุขกี่ครั้งกี่หน ผ่านความทุกข์กี่ครั้งกี่หน ผ่านกิเลสตัณหา นิวรณ์ธรรม ความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ อะไร เท่าไหร่ๆ เหมือนกับเดินผ่านไป เหมือนกับเอาไว้หลังเรื่อยๆ เอาไว้หลังไปเรื่อย อะไรที่ผ่านก็รู้แล้วๆๆ มันก็ผ่าน มันก็เกิดการสะดวก บางครั้งเหมือนกับทางเปลี่ยว บางครั้งเหมือนกับจราจรติดขัด อึดอัดขัดเคืองมากมาย เกิดจากการปฏิบัติธรรม บางทีมันก็เป็นกีฬาเป็นการสนุก คราวใดที่มันง่วงมันมีศิลปะ เป็นธรรมชาติ มันยิ้มสู้ มันฮึดสู้ ไม่ใช่อ่อนแอ มันฮึดสู้ มันขวางกั้นหรือเนี่ย มันฮึดสู้ขึ้นมา อะไรขวางกั้น ไม่ใช่สติ เราก็ฮึดสู้มัน ได้บทเรียนดี๊ดีการปฏิบัติธรรม สอนตัวเองน่ะ ประสบการณ์การสอนตัวเอง
แม้กระทั่งอาจารย์หลวงพ่อหลวงปู่เทียนพูด เราก็เห็นอยู่ในเรา เราก็ทำ อะไรที่รู้ หลวงพ่อเทียนพูด เราก็รู้ อะไรยังไม่รู้ ไม่เป็นเหมือนหลวงพ่อเทียนสอน เราก็ทำให้เกิดให้เห็น มันก็เป็นงานเป็นการ เป็นงานเป็นการจริงๆ ในการปฏิบัติธรรม เหมือนหลวงตาพูดเมื่อวานนี้ การที่เกิดจากการศึกษา เพราะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม ก็ได้หลักได้ฐาน เหมือนการฟ้อง เหมือนการหาความเป็นธรรม ก็ได้ความเป็นธรรมไปเรื่อยๆ ไป ก็เล่าเรื่องอารมณ์ เล่าเรื่องทางผ่าน มันก็ผ่านได้จริงๆ นะ ไม่ใช่ว่ามันจะมีอยู่ในเราเสมอไป สิ่งที่มันมี มันก็หมดไป สิ่งที่มันไม่มี ไม่เคยมี มันมีขึ้นมา นี่คือการปฏิบัติธรรม ให้มีสติไปก่อน บัดนี้ก็มีสติ เป็นไปกันทุกอย่าง บัดนี้มันก็ไม่เป็นไปกับเขา มันคิดก็ไม่ได้ไปตามความคิด มันสุขก็ไม่เป็นไปตามความสุข มันทุกข์ก็ไม่ได้เป็นไปตามความทุกข์ อะไรที่มันเคยเดินไปต่างๆ มากมาย ภาระ ปัญหา อะไรต่างๆ มันก็ไม่เป็นเหมือนเก่า มันไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อน
เราก็เลยสรุปมาบอกมาพูดว่า มันเป็นอย่างนี้ ไม่ให้ค่ามัน มันสุขก็อย่าให้ค่าความสุข มันทุกข์ก็อย่าให้ค่าความทุกข์ มันหลงก็อย่าให้ค่าความหลง อะไรที่มันมีในรสในชาติ ไม่ต้องเป็นรสเป็นชาติไปกับมัน ความโกรธก็มีรส บางคนก็ชอบความโกรธ ตัดสินใจทำตามความโกรธ ความทุกข์ก็มีรส ตัดสินใจไปตามความทุกข์ มันรักก็มีรส ตัดสินใจไปตามความรัก มันชังก็มีรส ตัดสินใจไปตามความชัง พอเรามีสติ มันรู้ซื่อๆ อ้าว แต่ก่อนมันก็มีค่าสำหรับเรา สร้างอะไรขึ้นมา พอมารู้ซื่อๆ ไปก่อน เข้าทางไปก่อน รู้ซื่อๆ ไป กลายเป็นเรื่องสนุกไปเลยการปฏิบัติธรรม มันเห็นของจริงที่เกิดกับเรา แม้แต่การหลอกเราก็หลอกตัวเอง แม้การรู้เราก็รู้ตัวเอง เห็นไป ปฏิบัติธรรมไป เห็นรูป เห็นนาม เห็นอาการของรูป เห็นอาการของนาม ผ่านไปอย่างนี้
ปฏิบัติธรรมไม่ใช่ไปเห็นสีเห็นแสง เห็นนิมิต อะไรต่างๆ เห็นพระพุทธเจ้าเดินมา อะไรก็ตาม นั่นเป็นนิมิตแล้ว ผู้ใดเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นอย่างนี้ พูดเรื่องเห็นพระพุทธเจ้าก็เอาไปสอนตัวเรา หาวิธีที่สอนตัวเรา สร้างสิ่งแวดล้อม มาให้แก่ตัวเองให้ดีๆ การศึกษาทุกกรณี สารพัดเรื่องที่มันจะเกิดกับการปฏิบัติ ไม่เหมือนเราอยู่เฉยๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เวลาเรามามีสติ ปรากฏว่ามันคิดมาก อะไรก็สุข อะไรก็ทุกข์ รับเข้ามาทำให้เราหลงทางได้ เราก็มีอาชีพ อธรรมทั้งหลายมันก็ครองเรามานาน รสชาติของอธรรมมันก็ติด สูบบุหรี่อะไรต่างๆ เคยอะไรต่างๆ ก็ติดกันมา พอมารู้ มารู้เนี่ย มันเหมือนกับมาซ่อม กายมีแผลในใจ เคยรัก เคยสุข เคยผิด เคยถูก เคยดี เคยชั่ว มาซ่อม มารู้เหมือนกับซ่อม รู้ทีไรก็พลิกไป รู้ทีไรก็ฟิตใหม่ๆ มันเป็นอย่างนี้ สร้างสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆ ไป เรามาอยู่ในรุกขมูล พระอาจารย์ พระสงฆ์ทั้งหลายมาอยู่ในรุกขมูลอยู่ป่า อันนั้นก็เป็นสิ่งแวดล้อมภายนอก
รุกขมูล คืออะไร คือ ขูดเกลา ขูดเกลาคืออะไร ทำให้เราเข้มแข็ง ฝนตก แทนที่เราจะทุกข์ มันไม่ใช่เรื่องทุกข์ การปวด การเมื่อย การไม่สะดวกสบายไม่ใช่เราอ่อนแอ ทำให้เราเข้มแข็ง เคยสมมติตัวเองสมัยหนุ่มๆ เดินธุดงค์ ญาติโยมเชียงใหม่ เห็นเราเดินธุดงค์ นิมนต์ไปพักที่สวน ชื่อสวนจำไม่ได้แล้ว อยู่ใกล้ๆวัดอุโมงค์ เขาเกิดศรัทธาอะไรไม่รู้ นิมนต์ไป 5 รูป ไปปักกลด เขาก็ให้บ้านพัก แต่เราไม่พัก เราถือรุกขมูลวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร ก็ปรากฏฝนตกทั้งคืน เจ้าของบ้านก็กางร่มมา เอาร่มมา มาช่วยเก็บของขึ้นบ้าน เราไม่เก็บ เราไม่ไป ให้ฝนตก ก็เปียก แต่เปียกข้างบนมันไม่เปียก แต่น้ำมันไหลหลากมามันก็เปียก
ทำอย่างไร ก็เอาผ้าจีวร เอาผ้าสังฆาฏิใส่ในบาตร เหลือไว้แต่ผ้านุ่ง ก็เอาก้อนอิฐโบราณ เอาก้อนใหญ่ๆ มาวางตะโพกก้อนหนึ่ง พอนั่งให้ตัวไม่จมน้ำ แล้วก็เอนไปพิงบาตร พอบาตรเอนไปก็นอน นอนมันก็เปียก น้ำไหลผ่านท้องไปเลย แล้วก็ทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ ก็สมมติว่า เอ้า เราเป็นกบ กบเขาอยู่ในน้ำตลอดภพตลอดชาติ เขายังอยู่ได้ ถ้าเป็นกบสักคืนหนึ่ง คืนหนึ่งไม่ได้หรือ ก็สนุกไปเลย นอนเปียก เราก็อาจจะเปียก พระคุณเจ้าพระสงฆ์อาจจะเปียก ถ้าอย่างนั้นก็สมมติว่าเป็นกบไปซะ ไม่ได้ตลอดคืนตลอดปี ก็เป็นครั้งเป็นคราวไป
ขูดเกลา ธุดงค์แปลว่าขูดเกลา เคยเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์เลย เคยหลง ไม่หลง ไม่มีรสชาติของความทุกข์ มีแต่สติ มีแต่สัมปชัญญะ ทุกกรณีนะ สร้างสิ่งแวดล้อมขูดเกลาตัวเองไปเรื่อยๆ ตรงไหนที่มันจะผิดเพี้ยนไป มันจะเกิดภพเกิดชาติเราก็รู้ อย่างนี้ปฏิบัติธรรม สนุกดี จึงต้องฝึกหัดตัวเองทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอก บางทีเกิดความสุข ความสบาย เกิดความหิว เกิดความอิ่ม รสชาติอาหารชอบ ในรสที่ไม่ชอบ มันก็เกิดทุกกรณี ที่เราทำให้จิตใจเราเปลี่ยนแปลงไป อย่าให้มันไปมีรสมีค่า จืดไปเลย ให้มันจืดซะ รสชาติน่ะ สร้างสิ่งแวดล้อมบ้าง สิ่งภายในก็สร้าง สิ่งภายนอกก็สร้าง ให้ประกอบกันไป เหมือนพระอานนท์เอาจริงเอาจัง จนหน้าดำคร่ำเครียด เอาความรู้ของตัวเอง เอาวิธีการปฏิบัติ ที่ได้หลักได้ฐานมาจากพระพุทธเจ้า เป็นเดนเป็นเศษที่พระพุทธเจ้าดุด่ามากที่สุดคืออานนท์ จนถึงพวกเราได้สวด อานนท์ เราจะทำกับเธออย่างไม่ทะนุถนอมนะ เหมือนช่างหม้อที่ยังทำกับหม้อยังเปียกยังดิบอยู่ เราจะขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด ถ้าเธอมีแก่น มีมรรคผลนิพพาน เธอจึงทนอยู่ได้
พระอานนท์คือใคร พระอานนท์ก็คือลูกสุกโกทนะ น้องพระเจ้าสุทโธทนะ ก็น้อง เอาจริงเอาจังจนถูกด่าถูกอะไรต่างๆ แม้แต่ราหุล พระพุทธเจ้าก็ด่ามากที่สุด ไม่เหมือนคนอื่น บางทีราหุลน้อยใจ ไม่มาฉันข้าว พระพุทธเจ้าก็ให้เพื่อนราหุลไปเรียกมา ตั้งแต่สมัยพระองค์บำเพ็ญอยู่พุทธคยา เป็นเด็กเลี้ยงควาย ก็มองดูว่าน่ารัก แต่ไม่มีพ่อมีแม่ มารับจ้างเลี้ยงควาย กินนมควาย มาเล่นอยู่ที่พุทธคยา สมัยพระพุทธเจ้าบำเพ็ญอยู่ ตรัสรู้แล้ว อยู่แถวต้นศรีมหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุขอยู่ที่นั่น เด็กเลี้ยงควายก็มาเล่นด้วย พระพุทธเจ้าก็ลูบหัวลูบหางลูบตัว ถ้าจะเปรียบเทียบกับราหุลก็รุ่นเดียวกันนี่แหละ ประมาณ 7-8 ขวบ เด็กก็มาเล่นด้วยทุกวันๆ
ตอนพระพุทธเจ้าหนีจากพุทธคยาไปป่าอิสิปตนนี้ เธอจะร้องไห้ว่าจะติดตามไป แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้ไป เธอเป็นเด็กเลี้ยงควายรับจ้าง ไปแล้วเราจะกลับมา ผลที่สุดก็ได้พบกันจนได้ไปบวช เมื่อบวชไปแล้วก็รุ่นราวคราวเดียวกับราหุล หลวงตาจำชื่อไม่ได้ แต่ก่อนจำได้อยู่ ชื่ออย่างไรก็ไม่รู้ ลืมไปแล้ว ก็เป็นเณรด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ดุด่าราหุล ก็ให้ไปตามมา อันนี้ก็ขนาบแล้วขนาบอีก เราไม่มีพระพุทธเจ้าขนาบเหมือนพระอานนท์ ราหุล เราขนาบตัวเอง มันหลงแค่นี้ก็หลงหรือ ไอ้บ้า มันแค่นี้ก็โกรธหรือ แค่นี้ก็ทุกข์หรือนี่ ประสาความคิดเฉยๆ มันก็ทุกข์หรือนี่ มันจะทำอะไรได้ บางทีก็ด่าตัวเอง ขนาบตัวเอง สนุก สนุกด่าตัวเอง สนุกสอนตัวเอง
บางทีก็เปราะเหลือเกิน เข้มแข็งขึ้นมา จะเป็นญาณหอบกระเป๋ากลับบ้านเสียแล้ว เป็นญาณหรือว่าคิดไปเอง คิดขึ้นมาเราไปเอง หรือว่าอะไรมาอ้างบ้าง ไปก็ไปไม่เป็นไร อย่าให้เกิดญาณหอบเสื่อนะ มีเหมือนกัน สมัยหลวงตาอยู่พุทธญาณ เมืองเลย มีหลวงตาองค์หนึ่งมาจากอ.หนองสองห้อง มาอยู่ด้วย ตั้งใจมานะอาจารย์ เขาก็ตั้งใจมานานแล้ว บัดนี้ผมเตรียมตัวเตรียมใจหมดแล้ว มาแล้ว เออ ให้ปฏิบัติธรรมไป พอปฏิบัติธรรมไป ไม่ได้ถึงเดือนถึงอะไรเลย ออกปากมาลากลับบ้าน เอ้า เป็นอะไรเล่า จะกลับบ้าน จะกลับวัด อาจารย์ ทำไมกลับล่ะ มันมีอันโน่นอันนี้ หลายอย่างมันค้างคาจิตใจเนี่ย อ้อ ก็ดีเนอะ แต่เมื่อก่อนมาเขาบอกว่าทำอะไรหมดแล้ว มาปฏิบัติ พอมาปฏิบัติ ทำไมจึงมีอะไรมากมาย มันคิดขึ้นมา อะไร อย่าไปเชื่อมัน ความคิดเนี่ย ความคิดขึ้นมาก็หอบบาตรไป ความคิดขึ้นมาก็หอบบาตรมา มันเป็นใหญ่ขนาดนั้นหรือ อันความคิดเนี่ย ดูดีๆ นะ ดูดีๆ ดูนะ ไม่ใช่ให้ไปตามมัน
ถ้าเราตามความคิดเสมอไป มันจะมีที่อยู่หรือ ความคิดที่มันคิดขึ้นมา มันเหลือเกินนะ อย่า อย่าตามมันไปเอง เทศน์ให้ฟัง พูดให้ฟัง เอ้า ถ้างั้นผมไม่ไปแล้ว กลับอุ้มบาตรขึ้นไปกุฏิเอง เนี่ย ความคิดมันหลอกเป็นญาณหอบบาตรกลับวัด หอบกระเป๋ากลับบ้าน ความคิดมันหลอก ระวังให้ดีน้า อะไรก็หลอกเราได้ ดีที่สุดคือความคิด เราจึงมารู้ทัน หลวงปู่เทียนบอกว่ามันเป็น สังขิต พอรู้จักเห็นรูปธรรมนามธรรม จบอารมณ์เบื้องต้น เห็นรูปทุกข์ นามทุกข์ รูปโรค นามโรค รูปสมมติ รูปบัญญัติ รูปบุญ รูปบาป อย่าไปอยู่ในความรู้ มันรู้มันก็มีรสชาตินะ ไปลูบคลำความรู้อยู่กลายเป็นวิปัสสนูไปเลย หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า อย่าไปเอาความรู้นะ อย่าไปเอาความสุขนะ มันมีความสุขเหมือนกัน มันก็มีปัญญา ปัสสัทธิ สงบ สุขปัญญาด้วย ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ ก็บ้า
กบโคกมาเจอรอยควาย มีรอยน้ำเขาขังอยู่ ก็ร้องลั่น รู้ กบโคกมีมั้ย หลวงพ่อเทียนพูด โอ๊ย ก็คือเรานี่แหละ เป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก มาปฏิบัติธรรม มีความรู้อะไรต่างๆ ก็อยากไปสอนแม่ อยากไปสอนพี่ สอนน้อง มันก็คิดไป อย่าไปเอาความสุข อย่าไปเอาความรู้ มาบำเพ็ญทางจิต สร้างจังหวะให้ไวๆ หน่อย บำเพ็ญจิต พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทางจิต สร้างจังหวะไวๆ จังหวะอาจจะไม่ต้องเป็น 14 จังหวะ หลวงปู่เทียนสอนเราก็เพียงแต่ว่า บำเพ็ญทางจิตคือมีสติดูจิต มีจิตดูจิต ในจิตมันก็มีการดูของมัน ในจิตมันก็มีสติดูเหมือนกัน หลายวิธี การบำเพ็ญทางจิต อย่าให้มันหลอกได้ ความคิดน่ะ มันรู้ก็เห็นมัน มันรู้ก็เห็นมัน อะไรมันรู้ ที่มันเกิดจากจิต ให้ไว เรียกว่าบำเพ็ญทางจิต อย่าไปอ่อนไปกับมัน มีตัวรู้เป็นหลัก คล้ายๆ ว่ามันแข่งกัน มันมีตัวรู้เป็นเจ้าเรือน เป็นเจ้าของอยู่แล้ว มันคิดขึ้นมาก็รู้ แต่ก่อนความคิดใหญ่ แต่บัดนี้สติมันใหญ่กว่า ตามรู้ไปๆ บำเพ็ญทางจิต ๑๔ จังหวะก็ทำอย่างนี้ อะไรมันเล่น สมัครเล่นกลับมาทำบ้าง เล่นกับจังหวะ สนุกดี เล่นรู้
ถ้าคราวใดที่มันยังมีความง่วงนะ อารมณ์เบื้องต้น ถ้าง่วง หลวงปู่เทียนก็สอนเรา ถ้ามันร้อยครั้งรูปแบบ บางทีก็สามารถสอนตัวเอง เอารูปแบบ หลวงพ่อเทียนสมัยก่อนท่านก็ทำแบบนี้นะ กราบพระ มีจังหวะถี่ยิบเลย ฉบับเดิม หลวงพ่อเทียนก็เปลี่ยนแปลงมาจนมาถึงแบบนี้ แต่ก่อนก็บอกว่า ติง-นิ่ง ติง-นิ่ง ติง-นิ่ง ติง-นิ่ง ว่าไปด้วยนะ ติง-นิ่ง ติง-นิ่ง ติง-นิ่ง ติง-นิ่ง เอ้า มันเป็นภาษาลาว พอภาษากลางก็ ไหว-นิ่ง เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ หลวงพ่อเนินพระเนา ไหว-นิ่ง ไหว-นิ่ง ต่อไปหลวงพ่อเรียนเลย มันก็บริกรรม รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ ไม่ต้องบริกรรม ไม่ต้องพูด ก็ตัดออกมาๆ เหลืออยู่เท่านี้ ยังตัดอะไรไม่ได้ มันสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่มีอะไรขวางกั้น ตรงเป๊ะเข้ามาเลย ตรงกับความรู้สึกเข้ามา
บางทีเราก็เล่น ถ้ามันง่วงนอนมากก็อย่ามาทำปอกแปก มันช่วยได้หลายอย่าง การเคลื่อนไหวไม่ใช่การเคลื่อนไหวปอกแปก มันบริหารส่วนหัวใจ ส่วนต้นคอ ส่วนลำแขน มันได้ดีที่สุดเลย การประกอบความเพียร มันบริหารหัวใจ ปอด ต้นคอ ไหล่ หน้าอก เดินจงกรมยิ่งดีใหญ่ วิธีที่ปฏิบัติแบบนี้ มันไม่ใช่เสียสุขภาพนะ
หลวงตาไปสอนสหรัฐฯ เขามาต้อนรับหลวงตาที่สนามบิน พอไปถึงที่พักเขาก็บอกเราเลยว่า ให้สอนแบบหลวงพ่อเทียนนะ อย่างอื่นไม่ต้องสอน เราจึงมีรูปแบบไม่ล้าสมัย ใช้ได้ทุกวิถีทาง แล้วภาษาพระพุทธเจ้าสอนก็เพียงแต่ การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออกให้มีสติ มีสติขณะที่คู้แขนเข้ามา ขณะที่คู้แขนเหยียดแขนออกไป มีสติการมองไปข้างขวา มีสติการมองไปข้างซ้าย มีสติการมองไปข้างหน้า เดินหน้า ถอยหลังให้มีสติ วิธีนี้จึงเกิดขึ้นมา ตามตำราพระสุตตันตปิฏก สติปัฏฐานสี่ นานก่อนยุบหนอพองหนอ แต่ไปเจริญอยู่ที่เมืองลาว ก็เลยกลับมาสู่เมืองไทย เข้ามาอยู่ หลวงพ่อเทียนเลยพูดตามมา
เดี๋ยวนี้ก็มีการสอนกัน หนองคาย เป็นหลักจริงๆ ที่นั่นนะ แต่ว่าเขายังมีไหวนิ่งๆ เวลาจะฉันอาหารก็ต้องมีอยู่ เอามือวางไว้อย่างนี้ บาตรตั้งไว้ตรงนี้ก็ฉัน ยกมือขึ้นมา ตกบาตรเอาข้าวมา เอามือมาวาง แล้วไปจับอาหาร จับอาหารก็เอาไปวาง ยกใส่ปาก ถ้าอาหารถูกปาก อมไว้ก่อน มือวางแล้วก็มานั่งหลับตาเคี้ยว เกือบสองชั่วโมง ยังมีอยู่ทุกวันนี้ ทางเนินพระเนาวยังสอนกันอยู่ เวลาทำอาหารก็ปิ่นโตไปส่งกุฏิ กุฏิมีทางเดินจงกรม มีห้องน้ำห้องส้วม อาหารที่เขาไปส่งก็ทำเป็นสำเร็จไม่ต้องไปฉีก ไปแบ่ง มีก้างมีอะไร ไม่มี ถ้าเป็นปลาก็จับเป็นชิ้นๆ สามารถจับปลาขึ้นมาได้ บางทีตาไม่ต้องดู ฝึกกันเป็นสองชั่วโมง หลวงปู่เทียนเคยฝึกอย่างนั้นมา
อันนี้ก็มีสติ ฉันอาหารก็ธรรมดา ให้มีสติไวๆ ก็ได้ ช้าๆ ก็ได้ ไม่มีกฏเกณฑ์ เราสอนตัวเราเอง หาวิธีฝึกตัวเองไป หลายๆ อย่างที่มันทำให้เกิดสติ สิ่งแวดล้อมอันใดที่ทำให้มีสติเอามาใช้ทั้งนั้น แม้แต่มองใบหน้าก็เห็น ถ้าง่วงนอนมากๆ จะทำอย่างไร จังหวะสู้ไม่ได้ ยืดตัวขึ้นมองยอดไม้ ต้นอะไรหนอ มองไปไกลๆ ท้องฟ้า โอ้ กลางวันหนอ กลางคืนหนอ เวลานี้หนอ ทิศเหนืออยู่ทางนั้น ทิศใต้อยู่ทางนี้ ตะวันตก ตะวันออกอยู่ทางนั้น ลำดับไป ให้มันออกไป อย่าไปเลย ก็กลับมา มากำหนด ออกไปข้างนอกตั้งใจไป เข้ามาข้างใน เข้ามาดูกาย ให้มันชำนิชำนาญ อย่าไปสยบกับสิ่งใด การปฏิบัติมีการพลิกแพลงบ้าง พลิกแพลงตัวเองบ้าง อย่าไปจน หาวิธี เหมือนช้างตกหล่ม ไม่ใช่ไปจมอยู่ ถอนออกมา บางทีไปจมกับความสุข บางทีไปจมกับความทุกข์ ไปจมกับความผิดความถูก มารู้ซื่อๆ
หลวงตาอ่านหนังสืออยู่เมื่อวาน หนังสือที่อยู่หน้าศาลา หน้าธรรมศาสตร์ เขาพิมพ์มา กัลยาณธรรมเขาจะให้หลวงตาไปพูดธรรมศาสตร์ วันที่ 6 กรกฎาคม ให้สอนแบบการเจริญสติ ซื่อๆ ซื่อๆ เนี่ย อย่าให้มันรสชาติอะไรมัน รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ ไป มันดงแห่งความไม่ซื่อ มันมีมาก มันมีรส เราจึงรู้ซื่อๆ ไปก่อน เอาบุกไปเลยตัวนี้ ซื่อๆ ไป รู้ซื่อๆ ไป เนี่ย มันจึงเป็นหลักสูตร เป็นสูตร เป็นสูตรไป ที่ว่าดูซื่อๆ ไม่ใช่ซื่อๆ ซื่อบื้อ มันเป็นการพัฒนาที่สุดเลย คำว่ารู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ เนี่ย มันจึงเป็นทางผ่านได้ทุกกรณี ถ้ามีรสมีชาติมันก็ผ่านไม่ได้ มันติด รู้ซื่อๆ ไม่มีค่าอะไรกับอาการที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรา จนได้สูตรเห็นเป็นขั้นเป็นตอน เห็นจังหวะ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีศีลแล้วจึงรู้ มีสมาธิแล้วจึงรู้ มีปัญญาแล้วจึงรู้ ใช้ได้แล้วจึงรู้ มันใช้ได้ อะไรมันใช้ไม่ได้ก็รู้ อะไรมันใช้ได้ก็รู้ มันจึงจบไปเป็นหมวดเป็นหมู่ไป
ในการศึกษาชีวิตของเรา มันก็มีวิธีอย่างนี้ การปฏิบัติ ไม่ใช่เรามาสุ่มสี่สุ่มห้าด้นเด้าไป มันมีหลักสูตรคือกายคือใจเรานี้ มีผิด มีถูก มีสุข มีทุกข์ เต็มตัวในชีวิตของเรา สนุกดี ทำอย่างไรเราจึงจะรู้มัน รู้มัน มันขุดคุ้ยออกมา นิสัยอย่าง
ไรมา มันจะรู้แบบนั้น เคยอย่างไรมา จัดไปอย่างนั้น ก็รู้ซื่อๆ เข้าไป รู้ซื่อๆ เข้าไป นี่คือการปฏิบัติของพวกเรา ถ้ามาทำวัตรก็ดี ถ้าไม่มาทำวัตรก็ดี แต่ต้องนอนนะ ต้องกินข้าวให้อิ่ม ต้องพักผ่อน อย่ารีดตัวเองเกินไป การปฏิบัติทำให้พอดีๆ กินข้าวให้อิ่ม นอนให้พอ ไม่เป็นไร ไม่ถือว่าผิดถ้านอน พักผ่อนสักหน่อย โดยเฉพาะคนแก่อย่าไปรีดตัวเองเกินไป พักผ่อน ความรู้สึกตัวมีอยู่ได้ทุกโอกาส แต่อย่าเอาความแก่มาอ้าง อย่าเอาความเจ็บความปวดมาอ้าง อย่าให้ค่ามัน มีสติเรื่อยไปๆๆ นี่คือการปฏิบัติธรรม
ปฏิคือเปลี่ยน เปลี่ยนเป็นรู้ทั้งนั้น เปลี่ยนมาเป็นรู้ทั้งนั้น ถ้าไม่เปลี่ยนมาเป็นรู้ ไม่ใช่ปฏิบัติเลย มันมีโอกาสที่เปลี่ยนมาเป็นรู้มากมายเหลือเกิน เก็บตกมากมายความรู้ตัวนี้ ไม่ใช่ว่ารอคอย เมื่อไหร่มันจะเกิดขึ้นๆ ไม่ใช่แบบนั้น อาศัยการเก็บตกนอกรูปแบบยิ่งดีใหญ่ ไม่ใช่มานั่งสร้างจังหวะเดินจงกรมจึงจะรู้ นอกรูปแบบยิ่งดี การมีสติจึงสอนตัวเองให้มากที่สุด คนอื่นสอนไม่เท่าตัวเราสอนตัวเรา