แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีแผนที่ทำอะไรก็ตาม ใครถูก ใครผิด นำผิดนำถูกได้ ต้องมีการสื่อสารกันบ้าง เพื่อช่วยให้คล่องตัว สะดวกในการไปทางไหนทิศทางใด ก็มีทางเดินของชีวิต ทางเดินของจิตใจ ทางเดินของร่างกายที่เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม คนอื่นช่วยบ้าง เราช่วยตัวเองด้วย นำกันไป นำพากันไป พี่รู้สองน้องรู้หนึ่ง ช่วยกันขนส่งให้พ้นจากปัญหาต่าง ๆ ทางวัดก็มีการนำกัน นำทำวัตรเพื่อให้เป็นหลัก เอาพระสูตรมาสาธยาย ลำดับให้ดี ใช้เสียงให้พอเหมาะพอดี นำพาทางเย็น ๆ ถ้าขึ้นเสียงเล็กน้อยเกินไป มันเสียงคร่ำเครียด คนคร่ำเครียดมักจะใช้เสียงน้อย ๆ ไม่เย็น พยายามนำเสียงให้คนเย็นด้วย บทสวดต่าง ๆ ให้จังหวะพอดี ๆ ลำดับให้ดี เตรียมตัวให้ดีเพราะเราจะต้องนำ
ถ้าผู้นำดี นำให้เลิกสงครามก็ได้ อย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สมัยคอมมิวนิสต์ พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี พูดเย็น ๆ คนอยู่ป่าได้ยิน สื่อสารได้ยิน ชวนร่วมพัฒนาชาติไทย คนอยู่ในป่าเข้ามามอบตัวหมดเลย เอามาเลย รบทางนั้น ตั้งแม่ทัพตรงนี้ ก็รบกันตลอดเวลา เสียงเย็น ๆ จากนายกเปรม เสียงเย็น ๆ จากผู้นำประเทศ ให้ต้นเสียงให้ดี ๆ ปิยะวาจาให้ชัดเจนก็จะเย็นลงได้ บอกให้รบก็รบได้ บอกให้หยุดก็หยุดได้ แม่ทัพนายกองมีจิตวิทยาสร้างสรรค์ อย่างสมัยสงครามหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า ทหารป่าล้อมทหารบ้านออกไม่ได้ ไม่ได้กินข้าวกินน้ำอยู่หลายวัน เขายิง โผล่หัวขึ้นทีไร เขาก็ยิง อยู่ใกล้ ๆ กัน ก็ต้องปิดล้อม ในหลวงของเราขี่เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปเหนือท้องฟ้า ไปด้านทิศใต้ ทางหล่มสัก ประกาศทางลำโพงอยู่บนเครื่องเฮลิคอปเตอร์ว่า ในหลวงอยู่ทางนี้ ทางทิศใต้นี้ ให้ออกมาทางนี้ ทางนี้ทหารตำรวจยึดพื้นที่ได้หมดแล้ว ให้พากันตีออกมาทางนี้ได้ ไม่มีปัญหาเลย ผกค. เคลื่อนไหวไม่ได้ ทางนี้ก็ล้อมไว้ ผกค. อยู่ตรงกลาง มันก็ไปไม่ได้แล้ว ตีทางนี้ ทหารที่หลบอยู่ก็มีกำลังใจขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครไปล้อมอยู่ตรงนั้นเลย ผกค. ที่ล้อมอยู่ อ้าว มันล้อมเราหมดเลยนี่ เราอยู่ตรงกลาง เผ่นหนีไปเลย ไม่ต้องรบเลย ทหารกับตำรวจก็ออกมาได้ ใช้จิตวิทยาผู้นำทางเสียงให้มันพ้นภัยได้
คนโกรธใช้เสียงพูดออกไปหายโกรธได้ พระพุทธเจ้าใช้หลักนี้ เรียกว่า โกญจนาท เรียกว่า เสียงพอดี ๆ แม้แต่พราหมณ์ด่าวรรณะหัวโล้น เกิดเป็นวันไหน ก็มาขอแต่ข้าวเขากิน ไม่ทำมาหากินอะไรเลย ที่นี่เขาไม่ให้หรอก ไป ๆ
พระพุทธเจ้า : ดูก่อนพราหมณ์เอ๋ย เราก็ทำนาเหมือนกัน
พราหมณ์ : นาโกหกหรือ (พราหมณ์ก็เคร่งเครียดขึ้น) ไม่เห็นมีนาที่ไหน ไม่เห็นมีข้าวปลูกข้าวพันธุ์ ไม่เห็นมีคราด มีไถ
พระพุทธเจ้า : ดูก่อนพราหมณ์ เราก็มีนา มีคราดมีไถ มีข้าวปลูกข้าวพันธุ์ มีวิธีทำนาของเรา
พราหมณ์ : ไหนของท่านอยู่ที่ไหน เห็นมีแต่อุ้มบาตรมาขอเขาอยู่เช่นนี้ตลอด
พระพุทธเจ้า : เดี๋ยวก่อนพราหมณ์ (เย็นไหมแม่ทองคำ เขาด่ามา เราไม่ด่าตอบ) นาของเราคือศรัทธา เมื่อเรามีศรัทธา ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เราก็ละความชั่วเราก็ทำความดี มีศรัทธาไม่ท้อถอย ไม่อดไม่อยาก เหมือนนาของเรา ความเพียรที่เราพยายามละความชั่วพยายามทำดี เหมือนน้ำฝนเต็มทุ่งเต็มท่า เรามีสติมีสมาธิมั่นคง ทำสิ่งใดไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่หวั่นไหว เหมือนคราดเหมือนไถเรา เพราะมีสติสัมปชัญญะเหมือนข้าวปลูกข้าวพันธุ์หว่านลงไป เนื้อนาที่คราดไถแล้ว เขามีปัญญารู้จักไขน้ำเข้าปล่อยน้ำออก เวลามันท่วมก็ไขน้ำออก เวลาน้ำแห้งก็เอาน้ำมันเข้ามา หมายถึงความพากเพียร ความวิจยะสอดส่องดูเสมอ อะไรผิดอะไรถูก เราได้ผลคือมรรคผลนิพพาน เมื่อกินไปแล้ว ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายเลย นาของพราหมณ์มีข้าวได้ข้าวมา กินแล้วยังแก่ยังเจ็บยังตาย พราหมณ์เอ๊ย
พราหมณ์จะด่าได้ไหมนี่ ไม่ด่าแล้ว (หัวเราะ) โอ้ พราหมณ์วางไม้กวาดทันที เดินมาหา อะไรนะ นายังไงไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย มารับบาตรขึ้นบนบ้านไปเลย ให้ลูกให้เมียมาฟังเรื่องนี้ เลยเอาข้าวใส่บาตร ถวายตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น อันนี้เพราะเสียงพูด
บ้านเรานำกันบ้าง สุ้มเสียง เราไม่สอนตรง ๆ แต่ว่าเราใช้เสียงนำกันไป หลายอย่างที่เราจะช่วยคนช่วยตัวเอง ความคิดเหมือนกัน เราช่วยคนอื่น เราช่วยตนเอง อย่ามีปลิโพธกังวลใด ๆ ในเรื่องการใช้ชีวิต
กายปลิโพธอย่าให้มี แม้เจ็บไข้ได้ป่วยเจียนตายก็ไม่ต้องปลิโพธกับร่างกาย มันเป็นคนละเรื่องกันกับใจ ใจเย็นมั่นคงเสมอ อย่ามีกายปลิโพธเกี่ยวข้อง ขัดขวาง ยุ่งยากไปกับอาการของกายต่าง ๆ อย่าให้มี ปล่อยวางไป
จิตปลิโพธ ปลิโพธทางจิตใจ คิดข้องแวะ ความรัก ความชัง การยินดียินร้าย การพอใจการไม่พอใจ อย่าอยู่ตรงนั้น ปลดปล่อยออกไป เรียกว่า จิตปลิโพธ
ญาติปลิโพธ ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงพี่ห่วงน้อง ห่วงอะไรต่าง ๆ ทรัพย์สินศฤงคาร คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี คนนั้นทำชั่ว คนนี้เอาเปรียบเอาเรียบ อย่าไปคิด มันติดขัดเหมือนบ่วงเหมือนเชือกผูกคล้องเอาไว้ อย่าให้มีญาติปลิโพธ
อุปทิปลิโพธ แม้แต่มีกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นมาย้อมจิตใจเรา ก็ให้พ้นไป ปล่อยวาง
เอาอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย เอาอย่างคนดีทั้งหลาย อย่าไปคิดส่วนตัวเกินไป ให้วาง ๆ มองไกล ๆ มองออกไป ดูโลกที่เป็นบางเรื่องใหญ่ ที่เป็นไปยังไง ปัจจุบันเป็นยังไง เสนอตัวเราให้เอาอย่างคนอื่น มาน้อมมาใส่เรา เนี่ยเป็นเครื่องมือที่ทำกรรมฐานด้วย ไม่ใช่จะมานั่งทำต่อหน้าต่อตา ตีระฆังมานั่ง ทำความเพียร สร้างจังหวะ อันนั้นมันเป็นพิธีกรรม พิธีกรรมนี่ก็ขวางกั้นได้
แม้แต่เราสวด เอาดีกับการสวดก็ไม่ใช่เสมอไป การสวดเป็นการสอนตัวเรา ทำสมาธิไปในตัว มีปัญญาไปในตัว หายใจเข้าหายใจออกไปในตัว สิ่งที่เราสวดก็ได้บทเรียนไปในตัว ได้ผลหลายอย่าง การสวดให้ผู้ตามเก้อเขิน ให้ผู้นำบางจังหวะจะโคนที่จะขั้นตอนต่าง ๆ เวลาเราสวด บทที่เราสวดจนจบอย่าให้มีความเห็นส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เอาแต่ภาษาที่เราสวดตรง ๆ เข้าไปเลย เตรียมตัวไหว้พระ พร้อมแล้วกราบ ให้มันพอดี ถ้าเตรียมตัวไหว้พระประมาณ 2-3 นาที พร้อมแล้วกราบหลวงพ่อ (หัวเราะ) เก้อเขิน บางคนพอเตรียมตัวไหว้พระ เขาก็พร้อมแล้ว มันไวพอดี ๆ จังหวะที่นั่งอยู่คุกเข่ากัน พร้อมแล้วกราบ คำเดียว อันสองก็กราบ กราบ ทีนี้ไม่ดี เพราะคนตามเนี่ยจะเก้อเขิน เวลาไปที่ใดไม่เป็นสากล มันก็มีอยู่แล้ว กราบนี่ อัญชลี วันทา อภิวาท มีอยู่ทุกคน พอดีแล้ว อัญชลีพนมมือ วันทายกขึ้นเหนือคิ้ว อภิวาทกราบลง ทำในใจอยู่แล้ว ไม่ต้องบอก กราบ กราบ อันนี้ไม่ต้องว่า
เหมือนกับ สอน ก.ไก่ กันอยู่เสมอ แต่คนที่ตาม ก็บางทีไม่พร้อม ถ้าเราว่าอัญชลี วันทา อภิวาท ลงพร้อมน่ะมันพร้อมกัน เวลากราบลง พุทธโธ เม นาโถ ขึ้นพอดี กราบครั้งที่สอง ธัมโม เม นาโถ ขึ้นพอดี มันว่าอยู่แล้ว กราบครั้งที่สาม สังโฆ เม นาโถ ขึ้นแล้ว พร้อมกันอยู่แล้ว ถ้าเราได้ศึกษาได้เรียนมา อย่าไปสอน ก.ไก่ กันตลอดเวลา ให้เขาได้คล่องตัว เป็นหลักสากล
เวลาบทใด ๆ ๆ พยายามลำดับให้ดี อย่าให้เก้อเขิน เพราะเราจะต้องนำแล้ว ให้หัดเป็นผู้นำให้ได้ อย่าเป็นผู้ตามเขาเสมอไป และนำอย่างดี น้ำเสียงก็อย่างดี จังหวะก็พอดี แบบจบก็พอดี จะจบตรงไหน หลักสากลว่าอย่างไร เอาตรงไหนที่พอเหมาะพอดี บางทีก็ไม่ต้องแผ่เมตตาก็ได้ แต่ถ้าไปแผ่เมตตา ต้องเป็นบทกรวดน้ำ จบแล้วก็จบเลย บางทีบททำสมาธิ ทำสมาธิ จบทำวัตรเพียงเท่านี้ จบทำวัตรเช้าเพียงเท่านี้ ก็บอกเอา ถ้าว่าจบแล้ว ทุกคนก็จะนั่งวางมือไว้บนตัก ทำความสงบ มีสติ เวลาพอเล็กน้อย อย่าให้นานเกินไป อย่าให้ตรงนี้นานเกินไป ไม่เอาจริงตรงนี้ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องจริงจัง เป็นพิธีกรรมเพื่อให้เราได้สงบนิดหน่อย
การแผ่เมตตาก็ว่าขึ้นเลย ว่าขึ้นเลย เตรียมตั้งใจแผ่เมตตาด้วยกัน ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงอยู่ดีมีสุข อย่าเบียดเบียนกัน สาธุ สัพเพ สัตตา นี่ไม่ได้ ต้องว่าไปเลย พอทำความสงบแล้ว ก็ว่าขึ้นเลยผู้นำ สัพเพ สัตตาว่าไปเลย ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องใช้เหตุผลตอนนี้ สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลาย แล้วก็จบพอดี ให้ไปจบลงตอนกรวดน้ำ ต่อตอนกรวดน้ำหลังแผ่เมตตาก็ไม่ถูกอีก พอแผ่เมตตาก็จบ บทที่จบสวย ๆ งาม ๆ มีหลายบท อย่างพิจารณาสังขารเนี่ยก็จบได้ ปัจฉิมโอวาทก็จบลงได้ รับปัจฉิมโอวาทแล้วก็ให้มันจบตรงนั้นซะ เพราะมันโอวาทครั้งสุดท้าย อย่ามีต่อไปอีก ก็ลงตรงนั้นได้ กรวดน้ำก็ลงได้ ตอนเช้าตอนเย็นลงได้ ไม่ต้องแผ่เมตตาก็ได้ถ้ากรวดน้ำแล้ว
อย่างที่ท่านนครนำ ถ้ากรวดน้ำแล้วต้องแผ่เมตตา แต่ว่าถ้าทำสมาธิแล้วกรวดน้ำ “หันทะมะยัง” ก็ไม่เหมาะเท่าไหร่ ถ้าจะจบทำวัตรน่ะต่อไปเลย กรวดน้ำจบแล้วก็ทำสมาธิหน่อยก็กราบไป มีสองขั้นสองตอน พอทำสมาธิแล้วแทนที่จะแผ่เมตตาก็กลายเป็นการกรวดน้ำไป มันก็เลยกระจุยกระจายไปซะ ให้มันพอดีลง แผ่เมตตาก็จบ หรือทำสมาธิแล้วแผ่เมตตา ทำสมาธิแล้วกรวดน้ำก็ได้ แต่ว่าไม่ค่อยสากลเท่าไหร่ ถ้าเอาไปสังคโย เรามักจะว่าผิด ถ้าทำตอนเย็นต้องหลังอาหารแล้วว่า อัชชะ มะยา อะปัจจะเวกขิตฺวา ไม่ใช่ว่าไปสังคโยตอนเย็น ไม่ใช่ว่าไป สังคโย เมโสเมตาปาตัง ไม่ใช่ อะปาติสังคโยน่ะตอนเช้าก่อนบริโภค บริโภคแล้วตอนเย็น อัชชะ มะยา บางทีเราก็นำกันผิดๆ ไป ก็ไม่ค่อยจัดเจน
ถ้าผู้ที่รู้บทต่างๆ แล้วก็หัดเป็นผู้นำ ผมกับหลวงพ่อกรมจะไม่นำแล้ว เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ไม่เหมาะ ให้ผู้หนุ่มนำไปดีกว่า เพราะฉะนั้น ก็พัฒนาตัวเองให้ได้ ให้เหมาะสม ไม่เก้อเขิน เพราะอยู่ที่ใดทางใด เป็นสิทธิของเรา มั่นใจอย่าไปเกรงกลัวใครจะว่าผิดว่าถูก บางทีทะเลาะกัน การนำทำวัตรสวดมนต์ มีพระกับโยมทะเลาะกัน ไล่กันหนีจากวัด พอเจ้าอาวาสมาทำวัตรไป นำไป ๆ อ้าว โยมข้างหลังไม่ตามเลย ไปคนละบทไปเลย ก็ไม่พอใจ เพราะนำไม่ถูก พระก็นำไม่ถูก ว่าอะไรตะพึดตะพือไป โยมบางคนเขาก็รู้ นำผิดไป เขาก็ไม่ตาม เจ้าอาวาสสวดไปคนเดียว (หัวเราะ) โยมไม่ไป ก็เถียงกันขึ้น ทำวัตรเสร็จ ไล่กันหนีจากวัด ผมต้องไประงับอธิกรณ์เรื่องนี้ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต, มะยา กะตัง ปุญญัง สารีริกะธาตุ มะหาโพธิง พุทธะรูปัง พระว่าไปทางไหน โยมว่าไปทางไหน มันกาละเทศะต่างกัน มันก็อะไรผิดอะไรถูกตามสมมติบัญญัติ มีมาแล้ว บ้านก็งิ้ว ที่นั่นเป็นสถานที่ปกครองของคนนั้น ต้องไประงับอธิกรณ์ แค่นี้ก็ผิดกันแล้ว นำทำวัตรเฉย ๆ (หัวเราะ) ต้องให้จัดเจน อย่าเอาอะไรที่มันส่วนตัว ๆ มันมีหลักสากลในพิธีกรรมต่าง ๆ ในพิธีกรรมต่าง ๆ มีหลักสากล
ในชีวิตเราก็มีหลักสากล ความคิดผิดไม่ใช่สากล เป็นส่วนตัว ความโกรธ ความพยาบาท ความอิจฉา ไม่ใช่สากลเลย ความไม่โกรธเป็นสากล ความไม่ทุกข์เป็นสากล มีสติเป็นสากล ความหลงไม่เป็นสากล เข้าข้างความเป็นสากลให้ได้ ชีวิตเราก็เหมือนกัน ใช้ไม่ได้ก็สอนตัวเรา ถ้ามันทุกข์ใช้ไม่ได้แล้ว หมกมุ่นครุ่นคิดอะไร ควบคุมไม่ได้หรือ ด่าตัวเอง เวลานอนหาเรื่องมาคิด อ้าว ไม่ใช่ ควบคุม สอนตัวเรา โอ๊ย สนุกสนานดีการสอนตัวเองนี่ มีไหมเวลามันคิดตอนนอนนี่ ด่าตัวเองไหม ใช้ไม่ได้น่า แก่เฒ่าแล้วเหมือนแก่เพราะอยู่นานหรือเนี่ย (หัวเราะ) ต้องแก่เพราะความรู้ ไม่ใช่อยู่นานนะ ด่าตัวเองหน่อย เฮ้ย ขนาดเป็นพ่อคนแม่คนแล้ว มาเป็นอย่างนี้ เหมือนเด็กๆ นะเนี่ย เฆี่ยนเลย เฆี่ยนตัวเองหน่อย ขนาบแล้ว มันมีขนาบ อย่าล่วงเกิน
เราหลงนี่ก็ถือว่าล่วงเกินพระพุทธเจ้า เราทุกข์ก็ถือว่าล่วงเกินพระพุทธเจ้า เราโกรธก็ถือว่าล่วงเกินพระพุทธเจ้า เราหมกมุ่นครุ่นคิดอะไรที่ไม่ใช่เรื่อง เป็นนักบวชไปคิดการบ้านการเมืองก็ไม่ใช่ เหมือนกับ “เซน” เขาสอนกัน อาจารย์กับลูกศิษย์เดินธุดงค์ไปด้วยกัน พอไปถึงป่า เณรน้อย “โอ๊ย! อาจารย์ ป่านี้ทำไมเงียบสงัดดี มีน้ำไหล น่าจะเป็นที่บำเพ็ญสมาธิดีน้อ” แต่ก่อนอาจารย์ให้เณรน้อย(สะ)พายบาตร อาจารย์ก็เลยขอพายบาตรกับเณรน้อย เอามาเณรน้อย เอามา พายบาตรเราจะพายเอง เณรน้อยก็ไม่กล้าให้พาย เอามา เราจะพายเอง พายบาตรกับเณร
อาจารย์ก็พาเณรไป เห็นทุ่งโทงต่างๆ เห็นน้ำซึมซับเหมือนกับจะทำนาทำอะไรดี แต่ว่าไม่มีเจ้าของ เป็นที่โล่ง ๆ ต้นอ้อยสูง ๆ เหมือนบ้านหนองแคสมัยก่อน เลี้ยงควาย เขาเรียกว่าโทง ไล่ควายข้ามโทง มันหล่ม ต้องขี่ควาย ป่าหญ้าคมปาว ก็เดินไม่ได้ ป่าคมปาวมันบาด ต้องขี่หลังควาย เรียกว่าโทง เณรน้อยไปเห็นตรงนั้น “โอ๊ย อาจารย์ ที่นี่น่าจะทำนา ตั้งบ้านเรือนดีน้อ” อาจารย์ “เอ้า พายบาตร เณร” ให้เณรพายบาตรต่อไป นี่ “เซน” เอ ทำไมอาจารย์ให้เราพายบาตร เมื่อก่อนนี้ อาจารย์มาพายบาตรจากเรามันเรื่องอะไรหนอ เณรน้อยคิด ขณะที่เณรคิดว่านี่น่าจะทำสมาธิดี มันเป็นจิตของพระ จิตของพระเกิดขึ้นแล้ว ถ้าคิดว่าเออทำสมาธิบำเพ็ญเพียรภาวนา มันเป็นจิตที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นพุทธะแล้ว เราควรเคารพจิตประเภทนี้ อาจารย์เลยพายบาตรจากเณร เคารพความคิดแบบนี้อยู่ในเณร
แม้เณรน้อย ๆ ก็ถือว่าอาจารย์แหละคิดอย่างนั้น เมื่อเณรคิดว่า เออนี่ ตั้งบ้านสร้างเรือน มันเป็นฆราวาสแล้ว เอ้า เณรพายบาตรต่อไป เรียกว่า เซน เณรบรรลุธรรมได้ เวลาคิดอะไรขึ้นมา เอาจิตประเภทนี้ ไม่คิดแบบนั้นแล้ว เราก็เหมือนกัน ถ้าเราสอน แล้วมันถูก อู๊ย โปร่งโล่ง มันมีอะไร มองอะไรทะลุทะลวง ภาวะความทุกข์ความโกรธนิดน้อย บางทีนิด ๆ หน่อย ๆ ก็โกรธ จับผิดจับถูกอะไรโกรธ เราก็ตามอันนี้ไป อย่าตามมันไป หัดสอนตัวเรา สอนตัวเราดีกว่าคนอื่นสอน ได้ประโยชน์มากทีเดียว มาช่วยกันตรงนี้พวกเรา แม้เห็นใครทำผิดทำถูกก็ให้มันเป็นเรื่องสอนตัวเรา ใครทำดีก็เป็นเรื่องสอนตัวเรา มันมีอยู่เสมอในโลกนี้ ในตัวเราก็มี
อย่างพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อะไรเกิดขึ้นขณะนั้น กับพระพุทธเจ้าของเรา “มาร” กิเลสมาร ขันธมาร สังขารมาร เทวบุตรมาร มัจจุมาร ต้องผ่านมารมากทีเดียว อยู่คนเดียวมารมันหลายมาร ไอ้ที่เกิดขึ้นขณะบำเพ็ญทางจิต มันเป็นมารเกิดขึ้นทำให้เราหลงทิศหลงทางได้จากความคิดของเราเองที่ปรุง ๆ แต่ง ๆ ขึ้นมา เราต้องทำอย่างนี้ ฉะนั้น เราอยู่นี่แล้ว ถ้าพระก็เอามือลูบหัวดูหัวโล้นแล้ว ห่มผ้าจีวรแล้ว เราอยู่ในสภาพแบบนี้แล้ว ถ้าเป็นโยมก็เรามานั่งอยู่นี่แล้ว มาอยู่ในวัดวาอารามแล้ว ไม่มีบ้านมีเรือนแล้ว ก็เอาเต็มที่ อย่าไปห่วงว่า คิดห่วงลูกห่วงหลานห่วงบ้านห่วงเรือนอะไร อย่าไปคิด เราเป็นคนดี เราเป็นคนไม่ดี เราทำอะไรทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ อย่าไปคิด
เรื่องการบำเพ็ญจิตเรื่องใหญ่ที่สุด เราทำดีอยู่ขณะนี้ เรามาเป็นพระขณะนี้ อะไรมันเกิดขึ้น ณ ขณะที่เรามานี่ ถ้าเรามีภรรยาสามีมีลูกมีหลาน เขาก็ โอย พ่อเราไปบวชเป็นพระ สามีเราไปบวชเป็นพระ น้องเราไปบวชเป็นพระ พี่เราไปบวชเป็นพระ ลูกเราไปบวชเป็นพระ มาคิดตรงนี้มันก็มีอะไรที่มันไปจนได้เหมือนกัน ถ้าเราไปทำอันอื่นเขาก็อาจคิดไปแบบอื่น ถ้าเรามาบวช เบื้องหลังมันจะดี อย่าไปห่วงเขา อันเราห่วงเขา เขาอาจจะโมทนากับเรา แต่เราหลงไปห่วงเขา แต่เขาอนุโมทนากับเราด้วย แม้มีปัญหาต่าง ๆ ก็ยังภูมิใจว่าเราไม่ใช่ไปไหน ไปปฏิบัติธรรมไปอยู่วัดอยู่วา มีคนสนับสนุนเรื่องนี้กันเยอะ
อย่างที่นี้เขาสร้างให้เรามาอยู่ เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองให้เป็นคนดี ให้ละความชั่ว ให้จิตใจบริสุทธิ์ คนที่สร้างเขาก็ได้บุญ เพราะที่นี่ทำให้คนเป็นคนดี มันก็มีเหมือนกัน สถานที่บางแห่งมันทำให้เราเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เช่น ในพุทธกาล สังเวชนียสถาน 4 แห่ง ควรจะไป กุลบุตรกุลธิดา ผู้เกิดสุดท้ายควรจะไปเห็นสังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ จะได้สำนึกอะไรขึ้นมาในใจ ควรที่จะไป มันต่างกันกับที่เราศึกษา เราเรียนรู้ ขออภัย หลวงพ่อไปดู ไปดู 5-6 รอบแล้ว ยังไม่อิ่มไม่พอเลย ชื่นใจ ไปเห็นร่องรอยของพระศาสดาของเรา ก็บอกตัวเองว่า แต่นี้ไปคำว่า “ไม่ไหว” จะไม่พูด อันความยุ่งยากแก่การทำงานพระศาสนา สร้างวัดสร้างวา สอนผู้สอนคน เราตั้งใจสอนเขาดี เขาก็ด่าเราก็มี ไม่ไหว ๆ คำพูดว่า “ไม่ไหว” จะไม่พูดอีกเลย ในหัวใจก็ตั้งเปลี่ยนไป คำว่า “ไม่ไหว” ไม่พูดจริง ๆ นะ การสอนคนนี่ ว่ายาก โอ๊ยไม่ไหว สร้างวัดสร้างวาก็ไม่เคยท้อถอย เอาตรงนี้ คำว่า ยาก ไม่ไหว ไม่พูด มันก็ภูมิใจตรงนี้ด้วย มันภูมิใจจริง ๆ ภูมิใจตรงไหนล่ะ
เมื่อวานนี้โยมมาถวายปัจจัย โห ทำไมให้มากเหลือเกิน ก็เดือดร้อนอะไร ไม่เดือดร้อน ๆ พ่อแม่ก็ฝากมาถวายหลวงพ่อเพื่อรักษาตัวให้สะดวก มีคนให้นำมา ผมภูมิใจที่หลวงพ่อพูดว่า ปัจจัยที่ญาติโยมเอามานี่ มันไม่ใช่ของเรานะ เป็นปัจจัย 4 ทะลุไปถึงปัจจัย 4 แปรสภาพปัจจัยวัตถุนี้เป็นบุญ ปัจจัย 4 เป็น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ไปถึงโน้น แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ อย่างสุคะโตเนี่ย เกิดอยู่ที่ใด ถ้าเราไม่เป็นปัจจัย 4 มันจะเป็นอย่างนั้นหรือ สุคะโตน่ะ มันไม่เป็นอย่างนั้นเลย ถ้าเป็นของส่วนตัว มันเป็นปัจจัย 4
อย่างมาเทศน์ธรรมศาสตร์ เขาถวายเป็นแสน ๆ นะ ไปไหนเงินแสนน่ะ ทำไมไม่แบ่งเพื่อนแบ่งหมู่ หลวงพ่อก็มอบอาจารย์ตุ้ม สุคะโตมีปัญหาน้ำไม่พอ น้ำดื่มไม่พอ ทำยังไงอาจารย์ตุ้ม เราต้องรับมือแล้วนี่คนไปเยอะ น้ำดื่มไม่พอ ช่วงนั้นก็ปรึกษากัน จะมาขนน้ำวัดภูเขาทอง วางแผนต่อท่อ ซื้อท่อมาต่อขึ้นไปหลังเขา ปล่อยน้ำที่แท้งค์นั้นลงมา พอดีเห็นว่าไม่ไหวแน่ถ้าเป็นอย่างนี้ เอ้า สร้างแท้งค์น้ำเอง แท้งค์ละหมื่น อยู่ศาลาหน้านี่ก็ 8 แท้งค์ ศาลาไก่ก็ 8 แท้งค์ หอไตรก็ 6 แท้งค์ เป็นหลาย เป็นแสน เป็นล้าน ก็เลย เอานะอาจารย์ตุ้ม ไปซื้อทำน้ำซะ บอกอาจารย์โน้สให้บอกเพื่อนว่า สุคะโตนี่ ผู้ที่พอช่วยสุคะโตได้มีอยู่ 2–3 รูป หลวงพ่อล่ะองค์หนึ่งนะ ใช่มั้ย ทรงศิลป์องค์หนึ่ง แล้วก็อาจารย์ตุ้ม วรเทพ มีอดิเรกลาภ ทำไมเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างนั้น ภูเขาทองก็เหมือนกัน ถ้าไม่เป็นอย่างนี้
เราก็ภูมิใจตรงที่เราทำอะไรลงไปไม่ใช่ของเราเลย เห็นร่องมือร่องรอยของเรา มันภูมิใจตรงนี้ ไม่ใช่ว่าอันนี้เป็นของเรา อันนี้เป็นของเรา อันนั้นมันบาป ทำไม่ได้นักบวชน่ะ เพราะฉะนั้นทำอะไรลงไปน่ะ เป็นของโลก เป็นสมบัติของแผ่นดิน ปลูกป่าโลกรอดตาย ไม่ใช่ของเราเลย ให้เป็นของแผ่นดิน สร้างวัดสร้างวาโลกรอดตาย ไม่ใช่ของเราอะไรสักอย่างเลย มันภูมิใจตรงนี้ นี่เป็นน้ำธรรมหล่อเลี้ยงชีวิตของนักบวช ไม่ใช่ไปเอานั่นอันนี้อันนั้น มันไม่ใช่เลย
เรามีความสุขมากเรื่องนี้ ความสุขไม่ใช่เกิดจากการเอา อันนี้คือส่วนที่มันชื่นใจ ภูมิใจ เอาชนะตัวเองได้ การนำเนี่ย อะไรต่างๆ ที่มันพอที่จะมองอะไรในแง่ดี ๆ ทำในแง่ดี ๆ คิดในแง่ดี ๆ พูดในแง่ดี ๆ ให้ปลิโพธกังวลส่วนตัว ไม่มีใครรู้จักเรา เอาให้ได้มาก ๆ ปลิโพธคือข้องติด คุยภาษาบาลีไม่รู้จัก การข้องติด เกี่ยวข้องกับความคิด สุขภาพ ร่างกาย เรียกว่า กายปลิโพธ ห่วงญาติห่วงพี่ห่วงน้อง ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สินศฤงคาร เรียกว่าญาติปลิโพธ พระพุทธเจ้าเราทำไมถึงทิ้งพิมพา ประสูติราหุลเพียง 7 วัน ทิ้งลูกน้อย ๆ หนีไปน่ะ ท่านทิ้งหรือ เราก็คิดแบบปฏิเสธ ไม่ ไม่เห็นด้วย พระเวสสันดรทำไมจึงพาลูกพาเมีย ไม่ใช่รับผิดชอบอะไร มันดียังไง เรามองแบบไหนกัน
พระพุทธเจ้าทิ้งพิมพาราหุลมันดีอย่างไร หนีไปบวชเรามองกันแบบไหน บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับพระเวสสันดร ไม่เห็นด้วยกับสิทธัตถะ มีใครที่ทำได้อย่างนี้ สิทธัตถะ คลอดเพียงประสูติเพียงได้เจ็ดวัน พิมพายังอ่อนอยู่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทำไมทิ้งกันตอนนี้ มันคิดยังไง คิดคนละมุม บางทีเราไม่เข้าใจได้ ถ้ามาคิดแบบโพธิสัตว์ดู ไม่ใช่คิดแบบสามัญชนธรรมดา สิทธัตถะกับพิมพาเป็นโพธิสัตว์ทั้งคู่ การเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องเป็นทุกข์อยู่ตรงนี้กันเกือบทุกคน ต้องหาคำตอบให้ได้ ไม่เป็นเจ้าฟ้าชาย หาคำตอบเรื่องนี่ เมื่อมีเกิดมันต้องมีไม่เกิด เมื่อมีแก่ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตายต้องมีไม่ตาย แน่นอนที่สุด มองตรงกันข้ามกันน่ะ
สิทธัตถะพอเห็นโอรสประสูติแล้ว ไม่บกพร่องแล้ว มันพอแล้ว รอไปกว่านี้ไม่ได้ นานไปกว่านี้ไม่ได้ อายุตั้ง 26 ปีแล้ว เราต้องออกหาเรื่องนี้ให้ได้ ปรึกษากันพิมพา พิมพาก็อาจจะขอร้องว่า อ่อนอยู่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ขอให้ดูแลสักหน่อยก่อน ไม่ได้แล้ว เราต้องช่วย เรารักกันจริง ๆ ไม่ใช่เรารักกันสองคน เรารักคนทั้งโลก ไม่ใช่ความรักพิมพาเป็นของเรา พิมพาของสิทธัตถะ สิทธัตถะเป็นของพิมพา รักกันสองคนนี่ไม่ได้ เราน่ะต้องมาช่วยโลก เอาชีวิตของเราคู่นี้มาเสียสละช่วยโลก ให้ไปศึกษาเรื่องนี้ดู โน่น พระโพธิสัตว์ไม่คิดแบบคนสามัญชนธรรมดา อะไรมันจะมาขวางกั้นได้ ญาติปลิโพธ หรือลูกเต้าบุตรหลาน ภรรยาสามีหรือ ไปได้ พิมพาก็เอาเถอะจ้ะ ไม่ขวางกั้นเลย แต่ว่าน้ำตาร่วง คนรักกันจะหนีจากกัน หนีไปบวช
ตามกลอนแหล่เทศน์เสียง “พิมพาผิดตรงไหน พิมพาผิดตรงไหน สิทธัตถะจึงหนีไปบวช หน้าที่ของภรรยา พิมพาไม่ผิดตรงไหน” ไม่ใช่เลย มันดูถูกพระโพธิสัตว์ เอามาแหล่ มาทำให้คนเราเสียอกเสียใจ ร้องไห้ไปด้วย โพธิสัตว์ไม่คิดอย่างนั้น พอพูดรู้เรื่องรู้ราวขึ้นมาก็ โอย เห็นด้วย ค้านไม่ได้เลยพิมพา ไปเถิดพี่ ไปเถิดเสด็จพี่ ๆ อย่าห่วงพิมพาราหุลเลย แล้วสิทธัตถะก็มองพิมพาลักษณะไม่ลำบาก มองราหุลไม่ลำบาก ไม่ใช่ปล่อยทิ้ง ก็ไป สิทธัตถะไปอยู่ก็คิดถึงพิมพา เอ้า พิมพา คำพูดยังติดหูอยู่เลย เสด็จพี่ เอาเลย ๆ ไม่ท้อถอย ใช่ไหม ไม่ใช่ให้กลับบ้านหน่อย ทำไมไปบวชไปเลย ทิ้งกัน
หลวงปู่กล้าทีแรกก็มาสร้างกุฏิให้กันอย่างดี พอหลวงพ่อกล้ามาบวชอยู่เมืองเลย พุทธญาณด้วยกันมาบวชแล้วก็ พ่อกล้าเอ๊ย เจ้าอยู่นะซี บ่เป็นจั๋งซี่เด๊ (ตอนคุณอยู่ ไม่เป็นอย่างนะ) ลูกเต้ากะดี บัดนี่เจ้ามาบวช เขาบ่เซีย(เชื่อ)ฟัง เขามาถิ่มมาปะ (เขาทิ้งขว้าง) อย่าบวชเถาะ สึกไปซะ ยากหลาย เว้าสามแท (พูดสามครั้ง) เอาไปเอามา มาด่ากันเลย ตัวคนเดียวปล่อยทิ้งอันนี้มันใช้ได้ยังไงล่ะ ด่ากัน เลยกลายเป็นบาปไป หลวงพ่อก็จัดให้ พ่อกล้าหนีไปอยู่อำเภอท่าลี่ ลักหนีไปเลย (หัวเราะ) บอกอย่าบอกใครนะ บอกแต่ลูกชาย อย่าบอกแม่นะ แม่มาด่ากลัวแม่จะเป็นบาป ส่งหนีไป พ้นกันไป อันนั้นอย่าไปคิด คิดแบบนั้นไม่ใช่โพธิสัตว์ พิมพาสนับสนุนโพธิสัตว์ สิทธัตถะบำเพ็ญพรตทุกขกิริยาอะไรต่าง ๆ ความได้ยินทางหูจากตัวเอง พิมพาเป็นโพธิสัตว์ทั้งคู่เลย ไม่ท้อถอยเลย ไม่ห่วง
พระเวสสันดรน่ะส่งกัณหาชาลีเข้าไปกรุงสีพีเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า ถ้ามองคนปุถุชนสามัญชนมองว่า ทำไมอย่างนั้นล่ะ พอมอบกัณหาชาลีให้พราหมณ์ พราหมณ์ไม่เฆี่ยนตีอะไรทันที กัณหาชาลีร้องไห้ทันที ตีลูกต่อหน้าต่อตา พระเวสสันดรมองยังไง โอ ถ้าพราหมณ์ชูชกไม่ทำอย่างนี้ กัณหาชาลีจะดื้อไม่เชื่อฟัง อ๋อ อดใจเลย มองไปข้างหน้า ทั้งๆ ที่ชูชกจับเชือกมาผูกผ้ามาผูกมือจับได้ กัณหาชาลีร้องไห้ ดึงมา กัณหาชาลีจะไม่ไป กัณหาชาลีเจ็บ ร้องไห้ มีบ้างไหม แม่ทองคำถ้าเห็นเช่นนี้ทำอย่างไร นิสัยตั้งใจของโพธิสัตว์นี่ มันไม่ใช่สามัญชน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เดินข้ามป่า ข้ามเขาอาจจะเล็ดอาจจะลักหนีมา ต้องให้เชื่อฟังให้กลัวชูชกแบบนี้ดีแล้ว อดกลั้นเอาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ถึงกรุงสีพี
การให้กัณหาชาลีกับชูชกน่ะ มีแผนอย่างดีเลย แผนอะไร มาตรค่าราคา กัณหาเท่านั้น ชาลีเท่านี้ ชูชกก็เห็นมาตรค่าราคาจะเอาไปขายที่ใด ต้องเอาไปขายให้พระเจ้ากรุงสญชัยแน่นอน เพราะไม่มีใครสามารถซื้อได้เลยขนาดนี้ ชูชกจะเอากัณหาชาลีเด็กน้อยไปใช้หรือ ให้อมิตตตาใช้หรือ ไปตักน้ำไปผ่าฟืนหรือ เป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กน้อยต้องเอาไปขาย เอาเงินไปจ้างคนดีกว่า รวยแล้วกู ใช่มั๊ย ถ้าขายกัณหาชาลีได้เงินเป็นหลาย ๆ มาก กินไม่หมดเลย พระเวสสันดรก็ไม่ได้บอกให้ไปหาพระเจ้ากรุงสญชัย แต่ชูชกก็รู้ พระเจ้ากรุงสญชัยคือปู่ของกัณหาชาลี เอาไปขายตรงนั้น เมื่อปู่เห็นคนจูงเด็กร่อนเร่มาอย่างนี้ มองดูเป็นหลานตัวเองแท้ ๆ จะทำไง ให้ต้องเข้ามา ก็ต้องซื้อ พระเวสสันดรว่า ให้กัณหาห้าร้อย ช้างห้าร้อย เงินห้าร้อยอะไรต่าง ๆ พระเจ้ากรุงสญชัยเอาเงินออกท้องพระคลัง ซื้อเลย ซื้อแล้วก็เลี้ยงพราหมณ์ชูชก พราหมณ์ชูชกก็กินเอา ๆ ท้องแตกตาย พระเจ้ากรุงสญชัยประกาศให้ญาติของชูชกมารับเงิน ไม่มีใครมารับเลย
อมิตตตาคือใคร ไปอยู่ที่ไหน เป็นคนดีไหม อมิตตตาฟังดูสิคือใคร อมิตตตาคือไม่ใช่มิตร อมิต ไม่ใช่มิตร ไม่ใช่ปัญญาที่ดีเท่าไร สั่งให้ชูชกไปขอหาคนมาใช้ วางแผนจะให้ชูชกหนีไปตาย ก็ได้ใช่ไหม ไปขออะไร พอชูชกไปถึง อมิตตตาก็หนีไปเลยออกจากบ้านไปเลย ชูชกก็หลงไปเอง บางทีมันมาในรูปแบบ นี่พระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ วางแผน ขณะที่กัณหาชาลีอยู่ในป่า ไม่มีบ้านคน เอาอย่างของลิงของกวาง เพราะลิงมาเล่นกวางมาเล่น แล้วก็นิสัยเด็กไม่ใช่มีนิสัยดี พระเวสสันดรก็ไม่ได้ดูแลมีแต่พิมพา พิมพาก็เข้าหาผลหมากรากไม้ในป่า ปล่อยให้มาเล่นอยู่อาศรม พระเวสสันดรก็นั่งไปไม่ได้ไปดูแลอะไร พอดีเห็นกัณหาชาลีได้นิสัยเหมือนสัตว์ ก็มองเป็นห่วงลูกทั้งสอง เราก็ถูกเนรเทศแล้วมาอยู่ในป่าในดงแล้ว ทำไม อนาคตของเด็กน้อยเป็นอย่างไรหนอ ทำไมจะให้เด็กเข้าไปในกรุงสีพีได้หนอ พอดีชูชกไปขอ ใช่ไหม วางแผนเลย
พระเวสสันดรจบเศรษฐศาสตร์ คนมีความรู้นะ แผนทำให้สงครามเกิด แผนทำให้สงครามเลิกได้ แผนให้สำเร็จต่าง ๆ ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ปุถุชนคนธรรมดา เขามองพระเวสสันดรลักษณะแบบไหน มองพระสิทธัตถะลักษณะแบบใด อย่าไปเอาความคิดเห็นของเราไปเกี่ยวข้อง แม้แต่ตัวเราก็เหมือนกัน อย่าตัดสินใจตามความคิดของตนเสมอไป มองหน้ามองหลังดี ๆ กว้างใหญ่ไพศาล ทะลุทะลวงช่วยการบรรลุธรรมได้เหมือนกัน