แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เจริญพร ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย
การศึกษาธรรมะพอให้รู้จักทิศทางซักหน่อย เรารู้จักตัวเองในฐานะแบบใด ชีวิตเราเป็นไฉน ใช้ชีวิตยังไง ชีวิตเรานี้ใช้ผิด มันก็ผิด ใช้ให้ถูก มันก็ถูก ใช้ให้เป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ ใช้ให้เป็นสุข ก็เป็นสุข แต่ว่าใช้ให้เป็นสุขเป็นทุกข์นั่น ถูกหรือผิด ใช้ได้ไหม ถ้าชีวิตเป็นสุขเป็นทุกข์น่ะ มันก็เป็นสังขาร สุขก็เป็นสังขาร ทุกข์ก็เป็นสังขาร สังขารนี่ใช้ไม่ได้ ไม่จีรังยั่งยืน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปุญญาภิสังขาร สังขารคือบุญคือความสุข อปุญญาภิสังขาร สังขารคือบาป อเนญชาภิสังขาร สังขารยังไม่เป็นบุญเป็นบาป พร้อมจะเป็นบุญเป็นบาปแล้วแต่เหตุปัจจัย มีมันจึงได้เป็นสังขาร สิ่งนั้นจึงไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน ควรหรือที่เราจะต้องไปยึดเอา สิ่งที่เป็นทุกข์ สิ่งที่มันไม่เที่ยงว่าเป็นตัวเป็นตน
เราศึกษาธรรมะอย่างไร เมื่อเรามาเจริญสติ มาดูกายดูใจจะได้คำตอบ กายมันจะบอก ใจมันจะบอก ความจริงเป็นยังไง ความเท็จเป็นยังไง ความไม่เที่ยงเป็นยังไง มันแสดงให้เราเห็น ความไม่ทุกข์เป็นยังไง มันแสดงให้เราเห็น เราก็ได้บทเรียนจากการพบเห็น ไม่ใช่การคิดเห็น พบเห็น พบเห็นความรู้ พบเห็นความหลง ระหว่างความรู้กับความหลง เขาก็แสดง เราก็เป็นผู้ศึกษาตรงนี้ อย่าปล่อยให้มันหลงไปฝ่ายเดียว อย่าปล่อยให้มันรู้ไปฝ่ายเดียว
ผู้ศึกษาต้องเป็นผู้เห็น เห็นรู้ เห็นหลง ความหลงความรู้เป็นอาการเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา ไม่ใช่อยากให้มันรู้ ไม่อยากให้มันหลง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราจะศึกษาของจริงของไม่จริง ของไม่จริงก็แสดง ของจริงก็แสดง ถ้าแสดงได้แต่ของจริง มันก็ไม่เห็นของไม่จริง มันยังมีการที่จะต้องพิสูจน์ดู สัมผัสดู ความหลงมันจริงมั้ย ความไม่หลงมันจริงมั้ย ความทุกข์มันจริงไหม ความไม่ทุกข์มันจริงไหม มันก็จะมีคู่ๆ คู่ๆ ไป สารพัดอย่างเกิดขึ้นขณะที่เราศึกษา ดูกายดูใจก็เป็นที่ตั้งของปัญหา เป็นที่ดับของปัญหา คือกายกับใจเรานี้ สนุกดี ไม่เคยเห็นตัวเอง ก็จะได้เห็น
อะไรเป็นตัวเอง เราสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นตัวเป็นตน เราว่าเราเป็นทุกข์ เราว่าเราเป็นสุข มันจริงไหม ใช้ได้ไหม ก็ลองดู มันมาตรฐานไหม สิ่งใดที่มาตรฐานมันก็ต้องใช้ได้ เอาจริงๆ แล้ว สิ่งที่ไม่เป็นอะไร มันใช้ได้ เพียงแต่เห็น มันใช้ได้ ถ้าเป็นล่ะ ใช้ไม่ได้เลย เห็นน่ะ ไม่เข้าไปเป็น ไม่เป็นอะไรกับอาการที่มันเกิดขึ้น ไม่แสดง ให้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ให้เป็นไปเพื่อความสงบ ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน คือหยุด สุด ไม่เป็นอะไร เมื่อไม่เป็นอะไรก็ใช้ได้ เหมือนเราใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ใช้รถ ถ้ามันพร้อมที่จะให้เราใช้คือมันไม่เป็นอะไร พร้อม ถ้ามันเป็นอะไรอยู่ มันก็ไม่พร้อม ถ้ายังสุข มันก็ยังใช้ไม่ได้ ถ้ายังทุกข์ก็ใช้ไม่ได้
เราจึงศึกษาดู จนเห็น จนย่อย จนแยก ออกมา เราก็จะเห็นตรงนี้แหละ ดูกายดูใจ เห็นกายเห็นใจ เห็นเป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่เห็นเป็นกาย ไม่ใช่เห็นเป็นใจ ถ้าเห็นเป็นกาย กายจะลงโทษเพราะเรื่องของกายมีเยอะ มีร้อนมีหนาว มีปวดมีเมื่อย มีหิว อะไรหลายอย่าง การที่มันแสดงออกในทางใด เราก็ยอมรับ ถ้ามันร้อนก็เป็นผู้ร้อน ถ้ามันหนาว เป็นผู้หนาว ถ้ามันปวดก็เป็นผู้ปวด ถ้ามันสุขเป็นผู้สุข ถ้ามันทุกข์เป็นผู้ทุกข์ กายมันแสดงอย่างนั้น เราก็แสดงไปตามบทบาทของเขา อันนั้นเรียกว่าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เรียนรู้
ความทุกข์ก็เป็นความทุกข์ไป ความสุขก็เป็นความสุขไป ของอย่างเดียวเป็นสุขก็มี ของอย่างเดียวเป็นทุกข์ก็มี มันใช้ได้ยังไง เราก็ศึกษาไป เห็นกาย ถ้าเห็นอย่างนี้ผ่านการแสดงออกของกาย มันก็มีแน่นอน เพราะกายเป็นวัตถุเหมือนกับแผ่นดิน ที่เกิดอยู่บนกายนี้ก็มีตา มีหู มีจมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นแหล่งที่เกิดความหลงเยอะแยะ เราจึงมาดูให้เห็นหลักฐาน ไม่ใช่ไปคิดหา มันแสดงจึงเห็น มันเป็นจึงรู้ ไม่ใช่ทุกข์ก่อนทุกข์ ไม่ใช่สุขก่อนสุข เราจะได้คำตอบไป จนเห็นกายเป็นรูป เห็นใจเป็นนาม มันก็กว้างขวาง ถ้าเห็นเป็นกายเป็นใจ มันคับมันแคบ เราก็จนไม่รู้จักหลบ ไม่รู้จักหลีก
ถ้าเห็นเป็นรูป มันก็กว้างขวาง มันก็มีทางออกเยอะแยะ เห็นสุขก็เป็นอาการ เห็นทุกข์ก็เป็นอาการ ในความเป็นทุกข์ พอเห็นเข้าจริงๆ เห็นเป็นอาการ มันก็เบาลง มันก็กระจายออก มันก็ย่อยแยกออก เราก็ต้องรู้จักเลือกเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาการต่างๆ ด้วยปัญญา แต่ก่อนมันโง่ตรงนี้ พอเราศึกษาไป มันมีปัญญาตรงนี้ด้วย เรียกว่าความรอบรู้ในกองสังขาร คือ กายสังขาร จิตสังขารนี้ เป็นแหล่งปัญญา ปัญญาพุทธะ ปัญญาแห่งการตรัสรู้ ไม่ใช่ปัญญาเพื่อทำมาหากิน
เมื่อมีปัญญาตรงนี้ มันก็เป็นที่ตั้งของปัญญาทั้งหลาย เหมาะแก่การงาน เหมาะแก่หน้าที่ เหมาะแก่การปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่รู้ตรงนี้ มันจะมีปัญหา เกิดจากเราไม่พอ เกิดจากคนอื่นอีก ถ้าเฉลยตัวเองไม่ได้ก็เฉลยคนอื่นไม่ได้ ถ้าเราเฉลยตัวเราได้ก็เฉลยคนอื่นได้ อันเดียวกัน สิ่งที่เราผ่านแล้ว คนอื่นยังไม่ผ่าน เราก็รู้จักการเกี่ยวข้องกับคนอื่นอย่างไร เช่น เขาหลง เราทำยังไง เขาโกรธ เราทำไง เขาอิจฉา เขาเบียดเบียนเรา เราทำไง เราก็มีทาง รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง เลยไม่มีปัญหา ถ้าเราไม่รู้ เฉลยตัวเองไม่ได้ ปัญหาอยู่กับเราไม่พอ ปัญหาอื่นมาบวกเข้า เมื่อคนอื่นโกรธ เราก็โกรธตอบ เป็นสองต่อ โง่ไปด้วย คนที่เขาโกรธก่อน ไม่ฉลาดตรงนี้ มันก็ไปไม่รอด
เราจึงมาศึกษาเพื่อไปทำงาน เพื่อไปทำหน้าที่ เพื่อชีวิตของเรา เพื่อช่วยกันและกัน ไม่ใช่เพื่ออะไร ชีวิตของคนคนหนึ่งเพื่อช่วยคนคนหนึ่ง จึงจะเป็นสัตว์มนุษย์ เป็นสังคมหมู่อยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวผัวเมีย ทำงานทำการร่วมกันด้วยความสุข ด้วยความสำเร็จอย่างนี้ อันนี้จำเป็นเหมือนกัน
ที่พระพุทธเจ้าได้รู้เรื่องนี้ ก็สนุกช่วยคน ถ้าเป็นความรักก็เป็นยอดนักรัก พระพุทธเจ้าเป็นยอดนักรักที่สุดในโลก กว่าคนอื่นทั้งหลาย ตั้งต้นจากตรงนี้ ก็มีอันดีอันงามเกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง ถ้าไม่มีตรงนี้ก็เห็นแก่ตัวมากขึ้น เป็นมหาต่อตัวเองไม่พอ เป็นมหาต่อคนอื่น วัตถุอื่น สิ่งอื่น ถ้าเรารู้ตรงนี้แล้ว เอาเราไปละความชั่ว เอาเราไปทำความดีได้สำเร็จ ความดีก็อยู่ที่กาย ความดีอยู่ที่ใจ แล้วกายเราก็มี ใจเราก็มี ความชั่วก็อยู่ที่กายที่ใจ เรามีกายมีใจไปละความชั่วได้สำเร็จ มันพร้อม อย่างนี้แหละ มีประโยชน์
พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระสงฆ์เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ เป็นเครื่องมือหมายถึงคุณธรรม ไม่ใช่ดุ้น ไม่ใช่ก้อน อย่างก้อนก็เป็นธาตุสี่ขันธ์ห้าเหมือนกัน แต่อันนี้มันมีคุณธรรมอยู่ตรงนี้ เพราะคนเรามีธาตุหก ปถวีธาตุคือธาตุดิน อาโปธาตุคือธาตุน้ำ เตโชธาตุคือธาตุไฟ วาโยธาตุคือธาตุลม อากาศธาตุคือช่องว่างมีในกาย วิญญาณธาตุคือความรู้อะไรได้ ธาตุเหล่านี้เป็นธาตุกรรมฐาน เอาเป็นที่ตั้งของการทำความดี เราจึงไม่น่าที่จะทำความชั่วเลย ถ้าเราไม่รู้ เอาธาตุนี้ไปทำความชั่ว ไปเข่นไปฆ่า เบียดเบียนตนเองและคนอื่น
เราจึงมาศึกษาเรื่องนี้เรียกว่าสิกขา สิกขาคือศึกษาให้มันได้เนื้อออกมา อะไรที่ไม่ใช่เนื้อให้มันหมดไป เราก็ใช้ตามความเหมาะสม ในโลกนี้มีสมมติมีบัญญัติ มีวัตถุมีอาการต่างๆ อย่าหลง อย่าหลงของเก่า อย่าเมาของใหม่ โบราณท่านว่า คือไม่หลงตัวเองก็ถือว่าไม่หลงทั้งหมดล่ะ แต่มีผู้สอนสภาธรรม ไม่ใช่สอน บอก ให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนี้ ถ้าสอนต้องยืนอยู่ในห้อง อันนี้บอก การบอกนี่ไม่อยู่ในห้อง นอกรูปแบบ เพราะถ้าบอกแล้วก็ไปได้เลย เช่น เราบอกให้สร้างความรู้ ความรู้ก็ไม่ได้สร้างเพราะมีอยู่แล้ว ใช้ไปได้เลย เราก็พร้อมพิสูจน์เรียกว่ามนุษย์สมบัติแล้ว ลองพิสูจน์ดู พอมีความรู้ก็จะเห็นความหลง ถ้าเรามีความรู้ เกี่ยวข้องกับความหลงยังไง ไม่ต้องไปถามใคร เป็นปัจจัตตังของผู้ที่ทำ หลงก็หลงเอง รู้ก็รู้เอง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ เป็นมั้ย ทำไม่เป็น ไม่ใช่สอนให้รู้ สอนให้ไปทำ ทำให้มันเป็น
ถ้ามันหลงก็รู้ ถ้ามันทุกข์ก็รู้ ถ้ามันผิดก็รู้ ถ้ามันถูกก็รู้ ภาวะตรงรู้นั่นล่ะมันเป็นตัวเฉลย อย่าไปเอาผิด อย่าไปเอาถูก ถ้ามันผิด-ไม่ชอบ ถ้ามันถูก-ชอบ ถ้ามันสงบ-ชอบ ถ้ามันฟุ้งซ่าน-ไม่ชอบ ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่เห็น ภาวะที่เห็นเป็นกลาง ภาวะที่เห็นเป็นมรรค มรรคคือความเป็นกลาง ความเป็นกลางมันก็ผ่าน ถ้าไปชอบไม่ชอบไม่ผ่าน เหมือนท่อนไม้ท่อนซุงไหลไปตามแม่น้ำ ถ้าท่อนไม้ท่อนใดไหลงลงไปร่องน้ำ ไม่ติดฝั่งซ้ายฝั่งขวา ก็ไหลลงไปสู่ทะเลมหาสมุทร ถ้าพระนิพพานเหมือนกับทะเล ท่อนซุงท่อนนั้นก็ไหลถึงทะเล จิตใจของคนเราก็เหมือนกัน มันไหลไป ไหลไป เอียงไปสู่มรรคสู่ผล ถ้าไปยินดีเป็นฝั่งขวา ถ้ายินร้ายเป็นฝั่งซ้าย ไปติดฝั่งซ้ายบ้าง ไปติดฝั่งขวาบ้าง นานเข้าขึ้นไป ไปซำแหละ ไปสุขไปทุกข์ ไปพอใจไม่พอใจ อยู่ตรงนั้นมันก็ไปไม่ได้
พระอรหันต์บางรูปบรรลุธรรมเพราะเห็นเรื่องนี้ เห็นท่อนซุงไหล นั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ฝั่งแม่น้ำ เห็นท่อนซุงไหลมา เปรียบเทียบกับชีวิตของเรา เอามาเปรียบเทียบมาสอนตัวเรา ได้บรรลุธรรม พระอรหันต์บางรูปเห็นใบไม้ร่วงลงมาก็ได้บรรลุธรรม มันนอกรูปแบบ แล้วแต่เราจะเอามาเป็นบทเรียนยังไง ภายนอกก็มี ภายในก็มี ภายในก็มีเรานี้ ภายนอกอาจจะมีอะไรเปรียบเทียบ พระพุทธเจ้าเคยเปรียบเทียบให้พระสงฆ์เอาเยี่ยงอย่างของกวาง เวลากวางหากินมันทำยังไง ไม่ใช่ลุกรี้ลุกรน มองหน้ามองหลัง เอาอย่างกวางบ้าง พระสงฆ์ผู้บำเพ็ญเพียร สำรวมอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฐฐัพพะ สำรวมลง เรียกว่ากวาง ไม่ด่วนรับ ไม่ด่วนปฏิเสธ ก็ทำให้หนักแน่น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนจากการฝึกฝนตนเองอย่างนี้ เราก็ อ๋อ หลายๆ อย่าง
มันอยู่นิ่งไม่เป็นหรอกชีวิตเราเนี่ย อย่างน้อยเราเคลื่อนไหวให้มันรู้สึกตัว หายใจเข้า หายใจออก ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว มีสติไปในกายให้ต่อเนื่อง อย่าให้มันกระท่อนกระแท่น เวลามันหลงก็รู้ได้ ไม่ใช่ความหลงเป็นความหลง ความหลงเป็นความรู้ ความผิดกลายเป็นความรู้ อะไรก็ตามเป็นความรู้ได้ มันเป็นสากลอย่างนี้ ความเป็นธรรมมันเป็นสากล ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลาเลย เปลี่ยนได้ เปลี่ยนสุขเป็นรู้ เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ได้
นี่คือมาใช้สติ มาสัมผัส มาต่อเอา เอากายมาต่อเอาความรู้สึกตัว เอาใจมาต่อเอาความรู้สึกตัว เห็นกายอยู่เป็นประจำ เมื่อใดมีอะไรเกิดขึ้น มีสัมปชัญญะมีสติถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ อย่าให้ค่า อย่าให้ค่าความสุข อย่าให้ค่าความทุกข์ ถอนออกมา มามีความรู้สึกตัว ไปทางนี้ เรียกว่าฝึกตนสอนตน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ถือว่าไม่ฝึกตนสอนตน มันหลงก็ปล่อยความหลงไป เราชีวิตอยู่ สมมติชั่วโมงหนึ่ง 60 วินาที เราสร้างจังหวะนี้ จังหวะหนึ่งที่เราเคลื่อนไหวประมาณวินาทีหนึ่ง ก็รู้ทีหนึ่ง วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง วินาทีละรู้ 60 วินาทีเป็น 1 นาที ชั่วโมงหนึ่งก็ตั้ง 3,000 กว่าวินาที ก็ได้ 3,000 รู้ เป็นมหารู้ขึ้นมาได้ มันทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้
เราใช้ชีวิตยังไง เกิดมาถึงปานนี้ ปูนนี้ อยู่กับสภาพเช่นไร อยู่กับสภาพความหลง หรือว่าอยู่กับสภาพความรู้สึกตัว ให้ความเป็นธรรมต่อเราไหม มีแต่เรียกร้องความเป็นธรรม สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองว่าไม่เป็น หาความเป็นธรรมที่ไหนได้ ยังโกรธ ยังโลภ ยังหลง ยังรัก ยังชัง ยังสุข ยังทุกข์อยู่ กายเบียดเบียนใจ ใจเบียดเบียนกาย ไม่เป็นสามัคคีกัน เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะกาย เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะใจ ตายไปก็เพราะกายเพราะใจนี้ แทนที่จะเอากายเอาใจมาเป็นมรรคเป็นผล กระทำให้สำเร็จได้อย่างนี้
ลองมาพิสูจน์กันดู อย่ามาเชื่อ ไม่ใช่พูดให้เชื่อ พูดให้ไปทำดู ยิ่งพวกเรานี้เป็นปัญญาชน เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก รับผิดชอบ เป็นบุคลากรของรัฐ ยิ่งสนุกดี ถ้าเราไม่รู้ตัวเองก็มีปัญหาให้เพื่อนร่วมงานได้ ทำงานก็เป็นทุกข์ แทนที่ทำงานด้วยความสนุก งานที่เราทำก็ชอบอยู่แล้ว เป็นการงานชอบ การงานปราศจากโทษ ไม่ใช่ฆ่าสัตว์ชำแหละเนื้อสัตว์ขาย ไม่ใช่ไปค้าศาสตราวุธ ไม่ใช่ไปค้าขายขายยาพิษ ไม่ใช่ไปค้าขายอะไรที่มันผิดศีลธรรม เราทำงานชอบอยู่ ได้บรรลุธรรมเพราะการทำงานได้ เราจึงมาอาศัยความสะดวกเพื่อให้บรรลุธรรม อย่าอาศัยความสะดวกเพื่อให้เห็นแก่ตัว อาศัยความสะดวกเพื่อบรรลุธรรม จึงสมควรอย่างยิ่ง น่าอนุโมทนากับพวกเราที่มาศึกษาเรื่องนี้ มันก็เป็นมรดก เป็นอริยทรัพย์ที่จะไปต่อให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลได้
อะไรที่เรายกมือไหว้ตัวเองได้ แทนที่จะยกมือไหว้ตัวเองได้ อย่างน้อย เราก็ต้องเอาชนะความหลงด้วยความไม่หลง เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เอาชนะความทุกข์ด้วยความไม่ทุกข์ มันก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ ถ้าเขาด่าเรา เราไม่โกรธ ถือว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ พระพุทธเจ้าสรรเสริญบุคคลผู้เอาชนะตน การเอาชนะคนอื่นร้อยครั้งพันหน ไม่เท่าเอาชนะตนแม้ครั้งเดียว การปฏิบัติธรรมเป็นการเอาชนะตนทุกกรณี เพราะความรู้สึกตัวนี่มันเป็นชีวิตที่ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับอะไร ความหลงมันเปรอะเปื้อน ความรู้สึกตัวมันสะอาดบริสุทธิ์ มีสติก็ละความชั่ว มีสติก็ทำความดี มีสติจิตก็บริสุทธิ์แล้ว เป็นการทำบุญไปในตัวขณะเดียวกัน เป็นการรักษาศีลไปในตัวขณะเดียวกันนี่แหละ อาจจะไม่ต้องว่า ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เพราะเรามีสติ มันก็ไม่คิดไป มีสติมันก็ไม่พูดเท็จพูดคำหยาบ มีสติมันก็ไม่ไปฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ มันสำรวมอยู่นี้ ก็ถือว่าเป็นการรักษาศีลได้ ศีลสิกขา ไม่ใช่ศีลสมาทาน ศีลสมาทานเป็นศีลหลอกกัน กลิ่นเหล้าอยู่ในปากก็ยังมาสมาทาน โกหกพระต่อหน้าต่อตาก็มี
ศีลสิกขานี่เป็นศีลที่ตัวเองก็หลอกตัวเองไม่ได้ หลอกตัวเองไม่ได้ก็ไม่กล้าหลอกคนอื่น อันนี้เราไม่รู้จักตัวเอง หลอกตัวเองได้ก็ไปหลอกคนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองทำไม่ดีก็ยังไปหลอกคนอื่นได้ แต่ถ้าเป็นศีลสิกขานี่มันหลอกไม่ได้ มันเป็นบาปตั้งแต่คิดแล้ว เป็นกรรมตั้งแต่คิดแล้ว ถ้ามีความรู้สึกตัวจะเหมือนกับ โอ๊ย เปื้อนแล้ว ถ้ามันคิดไป ถ้ามันคิดไปในทางไม่ดี มันเปื้อนแล้ว เหมือนกับอยากเอามือไปเช็ดหัวใจออก ถ้าเราไม่มีสติ มันก็หน้าด้านตรงนี้นะ ไม่อายเลย ถ้ามีสติ มันไม่ด้านนะ ก็มันเห็น มันจะรู้จักเข็ดหลาบ อาย ไม่ใช่อายคนอื่น อายตัวเอง ไม่กล้าคิดไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่ดี
พวกเราขอเป็นเพื่อนกับท่านทั้งหลายที่นี่ ก็ขอมีอาชีพเรื่องนี้กับชีวิตหนึ่ง ขอมีส่วนร่วมกับพวกเราที่จะต้องศึกษาเรื่องนี้ จะไม่พาหลงทิศหลงทาง