แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เพื่อเป็นส่วนประกอบกับการปฏิบัติ เราได้ฟัง ในสิ่งที่เราได้ทำ เราได้ทำในสิ่งที่เราได้ฟัง สิ่งที่ว่าส่วนประกอบ ฟังแล้วเอาไปทำ ไม่ใช่ฟังแล้วคิด ฟังแล้วไปทำดู เวลานี้เรามา เรียนให้เห็นไม่ใช่เรียนให้รู้ การเรียนให้รู้ ต้องเอาตาไปดู เอาปากไปท่องบ่น เหมือนเรียนหนังสือ ก-ไก่ ข-ไข่ ABCD ถ้าจะเรียนหนังสือก็เรียนเหมือนกันหมด ตามอักขระ พยัญชนะของภาษานั้น ๆ
นี่เรามาเรียนกรรมฐาน ไม่ใช่ท่องบ่น ก-ไก่ ก็คือ การเอากายนี่แหละเป็นตำรา เอาใจนี่แหละเป็นตำรา อยู่ในตัวเรานี้ สติ เป็นการศึกษา เป็นนักศึกษา เป็นผู้ศึกษา เหมือนตา แต่มันเป็นตาภายใน ให้เห็น ให้เห็น ไม่ใช่รู้ การรู้ก็เป็นการรู้เห็น พบเห็น ไม่ใช่แบบคิดเห็น ให้มีความรู้สึกตัว ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวเหมือนไม่ได้เปิดตำรา ให้ไปดู เรียนลงไปที่กาย มันมีสูตรอยู่ สูตรของกาย เอาดุ้น ๆ ก้อน ๆ นี่แหละ มาศึกษา มาให้มันเห็น เห็นกาย ให้มันชำนาญ ให้เห็นกาย อย่าเป็น กายไม่แสดงให้เราเห็น ถ้ามีการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษา กายมันแสดงให้เราเป็น เป็นไปตามกาย ก็นั่นเรียกว่าคนไม่รู้
ผู้ที่รู้เห็น มีสติ มีการศึกษาต้องพบเห็นกาย มันเคลื่อนไหว เห็นมันเคลื่อนไหว นอกจากกายมันเคลื่อนไหวแล้ว มันมีอะไรอยู่นี่ที่กับกายนี้อีกหลายอย่าง มันเป็นเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์ ต้องให้เห็น อย่าเป็น ถ้าเป็นเรียกว่าเราไม่รู้ ไม่เห็น เข้าไปเป็นเรียกว่าคนไม่รู้ ผู้ที่รู้ เห็น ต้องเห็น เห็นเวทนาที่มันสุขมันทุกข์ เกิดกับกาย ให้มันจบ ๆ ไปเป็นเรื่องเป็นเรื่องไป เห็นกายที่มันแสดง มันมีอาการเกิดขึ้นกับกาย มีเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีหิว มีร้อน มีหนาว มีปวด มีสุขมีทุกข์อะไรต่าง ๆ อันมีอาการที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย หลาย ๆ อย่างนี้ ถ้าเราเป็น เรียกว่าเรียนไม่จบ ยังเป็นทาสของการเป็น ผู้เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะกาย เอากายมาเป็นสุขเป็นทุกข์ เอากายมาเป็นสิ่งผิดสิ่งถูก อันนั้นเรียกว่า ยังอ่านไม่ออก ยังไม่ชำนาญ
ถ้าเราเรียนแล้ว เห็นแล้ว จะไม่เป็นไปกับอาการต่าง ๆ มีแต่เห็น เห็นแล้วก็ตอบลงไป กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา อันที่พูดว่า กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขานี้ ไม่ใช่วาจา ไม่ใช่ปากมันพูด มันเป็นปัญญาเสียแล้ว มันเห็นแล้ว มันจึงพูดออกมา จึงคิดออกมา จึงทำความเห็นให้แจ่มแจ้ง แจ้งแล้วในกาย สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา นั่น ผ่านไปแล้วเลื่อนชั้นไปแล้ว ผ่านจากกายไปแล้ว ไม่เอากายมาเป็นสุขเป็นทุกข์ ถ้าเป็นอาการเกิดขึ้นกับกาย ก็เห็นเป็นอาการ ไม่ใช่เราปวด เราร้อน เราหนาว เราหิว ถ้าเรายังมีอยู่ในกาย อันนั้นเรียกว่า ยังเป็นการบ้าน ไม่ผ่าน สอบไม่ผ่าน ถ้าเห็นอะไรที่มันเกิดขึ้นกับกาย ก็เห็นเป็นอาการของกาย ไม่ใช่เป็น ผู้เป็น เห็นมัน แสดงออก เป็นอาการของเขา ตามความเป็นจริง แล้วก็ที่เรียกว่าเวทนาน่ะ เป็นสุขเป็นทุกข์นั่นนะ ก็เห็นสักแต่ว่าเป็นเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา อย่าเอาเวทนามาเป็นตัวเป็นตน ถ้าเอาเวทนามาเป็นตัวเป็นตน เอากายมาเป็นตัวเป็นตน กายก็มีตั้งสองชั้น เวทนาก็มีสองชั้น กายในกาย เวทนาในเวทนา นอกจากนั้นก็มีอุปาทานเข้าไปยึด ว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราสุขเราทุกข์ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี่แหละ มันเป็นทุกข์ เพราะมีอุปาทานไปยึด เอากาย เอาเวทนา ว่าเป็นตัวเป็นตน อย่างนี้ ก็เห็นเป็นอาการธรรมชาติ มันได้ปัญญา
มันเกิดปัญญา กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา เวทนาสักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา นั่น ปัญญามันไปอย่างนี้ ปัญญามันรอบรู้ในกองกายของกองสังขารคือกายนี้ ไม่ใช่ปัญญาไปขบไปคิดแตกฉาน รู้โลกพระจันทร์ เห็นอะไรต่าง ๆ อันนั้นก็เป็นปัญญาแบบหนึ่ง ไม่ใช่ปัญญาการตรัสรู้
ดูให้เห็นจิต มันก็เห็นมันล่ะจิตเนี่ย มันไม่หลบไม่ลี้ดอก มันโง่ ๆ มันคิด จิตคือมันคิด ความคิดที่เกิดจากจิต มันไม่ใช่จิตธรรมดา มันเป็นการเพี้ยนไปจากจิตเดิม ๆ มันคิด ความคิดนี่ได้ตั้งใจก็มี ตั้งใจคิด ความคิดแบบไม่ได้ตั้งใจ อันนั้นเรียกว่าความคิด จิตที่มันไม่ได้คิด มันเป็นจิตปกติอยู่ ถ้าเกิดความคิดเพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ เกิดจากกาย เกิดจากเวทนา มันก็ไปหาความคิด มันก็มีความพอใจ ไม่พอใจ มีความผิดความถูก ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น ไปถึงกับจิตอีก ก็มีสองต่อ ทุกข์อยู่กับกายเป็นทุกข์ธรรมชาติ ทุกข์สามัญลักษณะ ถ้าไม่มีอุปาทาน ไม่ถือว่าเป็นทุกข์ เป็นปัญญาได้ ถ้ามีอุปาทานเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ถือว่าเป็นทุกข์ สองต่อไปแล้ว คือ จิตก็ทุกข์ กายก็ทุกข์ เพราะจิตมันก็อุปาทานเหมือนกันยึดว่า ความสุข ความทุกข์ ความผิด ความถูก ไปเอาผิดเอาถูก แล้วก็ไปเอาชอบ เอาไม่ชอบ เข้าไปอีก ก็เลยหลาย ๆ ชั้นเข้าไป เราจึงเห็น จิตที่มันไม่ได้ตั้งใจ เราต้องรู้ทันที อย่าปล่อยให้มันเป็นอิสระ เราจะสอนจิต เวลานี้เรามาสอนจิต มีแต่ตัวรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าให้มันเป็นอิสระเกินไป เหมือนเราฝึกวัว ฝึกควาย ฝึกช้าง ฝึกม้า ถ้าปล่อยให้มันมีอิสระตามธรรมชาติของมันก็ใช้ไม่ได้ ใช้งานไม่ได้ จิตของเรานี่ก็เหมือนกัน แต่ก่อนมันจิตที่บริสุทธิ์ พอใช้มันเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไป ก็เปรอะเปื้อนได้
เหมือนมีด มีดหั่นผักเป็นมีดที่บริสุทธิ์ ถ้าเราไปฟันที่ไม่ใช่ผัก มีดสำหรับหั่นผัก ก็ไว้สำหรับหั่นผัก ถ้าไปฟันในสิ่งที่ไม่ถูกปรมัตถ์สัจจะของมีดหั่นผัก มันก็ผิดปรมัตถ์ มันก็ใช้ไม่ได้ เสียความเป็นมีดได้ มีดโกนที่มันเป็นคมโกนผมได้ เอาไปหั่นผัก มันก็ไม่ใช่อีกแหละ มันผิดปรมัตถ์ของมีด สมมุติบัญญัติเอาไว้โกนผม แม้นว่ามันคม ถือไปฟันต้นไม้ อันนี้มันก็ไม่ใช่ มันเสียความเป็นมีดไป
จิตของเรา ที่เป็นจิตเดิม ๆ เป็นจิตที่มันเปรอะเปื้อนไปหลาย ๆ อย่าง เป็นปัจจัยนิสัย ทำให้เกิดจริตนิสัยต่าง ๆ ไป ราคจริต โทสจริต โมหจริตไป ตามที่เราไม่ระมัดระวัง เราจึงเห็น เอ้าจิตที่ไม่ตั้งใจคิดนั่นน่ะ รู้ทันที สอนทันที ถูกสอนทุกครั้งทุกคราวที่มันหลงคิดไป ให้มีตัวรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้ามันหลงทีไรรู้ ถ้ามันหลงทีไรรู้ ความหลงนั่นแหละ มันจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความรู้ เอาอย่างนี้การศึกษา ถลุงออกไป ในความหลงมีความรู้ ในความสุขมีความรู้ ในความทุกข์มีความรู้ เข้าไปเลย อย่างนี้ เรียกว่าศึกษา ศึกษา คือ ถลุง เหมือนเขาถลุงแร่ เป็นก้อนหิน เอามาถลุงจนได้เนื้อเหล็ก เนื้อทอง อะไรต่าง ๆ เนี่ย แต่ก่อนมันเป็นดุ้นเป็นก้อน ในความสุขก็เป็นสุขไปเลย ในความทุกข์เป็นทุกข์ไปเลย บัดนี้ ในความสุขมันก็มีความรู้ ความทุกข์ก็มีความรู้ มันหลงที่จิตก็รู้ที่จิต จนถึงกับชี้หน้ามันเลย ว่าจิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา เวลามันสุขก็หัวเราะ เวลามันทุกข์ก็ร้องไห้ การร้องไห้กับการหัวเราะเนี่ยเท่า ๆ กัน มันเป็นสังขารเหมือนกัน เหนื่อยเหมือนกัน เหนื่อยเหมือนกัน
เพราะนั้น จึงเห็นสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา อย่างนี้ เป็นสูตรไปอย่างนี้ ทุกคนปฏิเสธสูตรนี้ไม่ได้ เหมือนกันหมด เก่งขนาดไหน มาเรียนเรื่องธรรมะ อันเดียวกัน อันเดียวกัน ไม่ใช่เอาเพศ เอาวัย เอาวิชาความรู้มันสมอง อะไรมาเกี่ยว มีการกระทำเหมือนกันหมด สิ่งที่เรียกว่ากรรมฐาน ในที่สุดก็ธรรม ธรรม คือสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับกายกับใจ เป็นความสุข ความทุกข์นั่นแหละ
ความง่วงเหงาหาวนอน ความสงบบ้าง ความฟุ้งซ่านบ้าง ความลังเลสงสัยบ้าง กามราคะบ้าง ปฏิฆะบ้าง พยาบาทบ้าง มันเกิดขึ้นมา อันเรียกว่าธรรม ธรรมที่เป็นกุศล มันสงบ มันสบาย ธรรมที่เป็นอกุศล มันฟุ้งซ่าน มันเศร้าหมอง นั่น มันเกิดกับตัวของผู้ปฏิบัติ มีความรู้มีความหลง อยากให้มันรู้ ไม่อยากให้มันหลง อารมณ์บวกลบเข้าไป ได้ความรู้พอใจ ได้ความหลงไม่พอใจ อันเรียกว่าธรรม อย่าเอาความรู้ความหลงมาเป็นสิ่งพอใจ เอามาเป็นความรู้สึกตัวเรื่อยไป จนเห็นว่าธรรมสักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา
สูตรนี้มันจบเป็น เห็นทีไรก็ตอบอย่างเดียวนี้ มีสติเข้าไป สติจะเป็นตัวตอบ ตัวชี้แจง ตัวถลุง เป็นนักศึกษาแล้ว สติเป็นนักศึกษาแล้ว เหมือนเราเป็นนักศึกษาเรียนรู้ อย่างเช่นนักเรียน นักเรียนต้องไปเรียนเบื้องต้น พอทำอะไรลงไปอย่าไปคิดไกล ให้เป็นนักเรียนและก็เป็นเด็ก สอนยังไงก็เชื่อฟัง แต่เราก็ไม่ได้เป็นเด็กแล้ว จะให้เราไปเรียนก็ว่าอีก เราก็ไม่ต้องเรียนแล้ว เราอ่านได้แล้ว ชำนาญแล้ว รู้ภาษาแล้ว ใช้ภาษาให้เป็นประโยชน์ อันนี้เรียกว่านักศึกษา พอเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นแล้วเห็นอีก เห็นแล้วเห็นอีก รู้แล้วรู้อีก รู้เรื่องนี้ ชำนาญมาก ชำนาญในกาย ชำนาญในเวทนา ชำนาญในจิต ชำนาญในธรรม ธรรมมันแสดง มันมาแสดงแบบโง่ โง่ แต่ก่อนเราไม่รู้ แต่ก่อนเราโง่ โง่ไปกับเขา เขาก็โง่ เราก็โง่ โง่สองต่อ
ความหลงมันทำให้เราโง่ ในความหลงก็มีความโง่ เราก็โง่ไปกับความหลง คนอื่นหลงก็ทำให้เราหลงไปด้วย คนอื่นโกรธก็ทำให้เราโกรธไปด้วย แต่ก่อนน่ะ บัดนี้เราไม่โง่ เราไม่หลงเหมือนเขา ถ้าเขาโกรธเราก็มีปัญญา เหมือนเรามีความรู้ ไปเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยต่าง ๆ คนหนึ่งโกรธ เราก็รู้ พอเขาหลงเราก็รู้ เอาความโกรธของคนอื่นมาเป็นความรู้ของเรา เอาความหลงของคนอื่นมาเป็นความรู้ของเรา เอาความทุกข์ความสุขของคนอื่นมาเป็นความรู้ของเรา แต่ก่อนเราไปกับเขาหมด ผู้ใดโกรธก่อน เราโกรธทีหลัง บางทีเราโกรธทีหลังก็มี โกรธไปกับเขา เช่น เขามาด่าเรา เขามาด่าเรา เราก็ไม่ผิด ไม่เหมือนที่เขาด่า เราก็โกรธเขา มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเรียนชำนาญแล้วนี้ขึ้นบ้าง ก็เห็น ที่เขาด่าเรา เราก็มองเรา ไม่มีใครรู้ตัวเราเท่ากับตัวเรา คนอื่นไม่รู้ตัวเรา เขาว่าเราผิด เราก็มองตัวเรา ถ้าเราไม่ผิด เราก็มองคนที่ด่า มันไม่ถูก คนเขาไม่รู้ มองแบบเขาไม่รู้ คนที่ไม่รู้ เป็นคนที่น่าสงสาร แทนที่เราจะโกรธ เราก็เลยไม่โกรธ ถ้ามองในแง่ดีก็ เอ้อเขา เขาก็บอกเรานะ เป็นกระจกทำให้เราดูตัวเอง เราก็ไม่โกรธ เราก็ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน ถ้าไปพูดกับคนที่โกรธอยู่ มันก็ไม่มีเหตุผล พูดกันไม่รู้เรื่อง เราก็มีปัญญา เกี่ยวข้องกันคนโกรธเป็น ได้ปัญญาอีกแล้ว ไม่โง่ อันเนี่ยะ มันก็เปลี่ยนไปอย่างนี้
อะไรที่อยู่กับคนอื่น อะไรที่อยู่กับสิ่งอื่น มันก็ช่างให้เรา ทำให้เราได้ความรู้ เพราะเราได้บทเรียนแล้ว กาย เวทนา จิต ธรรม เราเคยหลงเหมือนเขา เราเคยโกรธเหมือนเขา เราเคยทุกข์เหมือนเขา ทำไมเราจะไม่รู้จัก ความโกรธก็เหมือนกันหมด ความทุกข์ก็เหมือนกันหมด ความสุขก็เหมือนกันหมด แล้วแต่ใครจะหลง สมมุติบัญญัติ อุปาทาน ของใครของมัน
เราก็เห็นมาแล้ว ตั้งแต่หลักสูตรเบื้องต้น คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ก่อนเราเอากายมาเป็นสุข เอากายมาเป็นทุกข์ เอาเวทนามาเป็นสุข เอาเวทนามาเป็นทุกข์ เอาจิตมาเป็นสุข เอาจิตมาเป็นทุกข์ เอาธรรมมาเป็นความชอบ เอาธรรมมาเป็นความไม่ชอบ เราก็ไม่แตกฉานตรงนี้ พอเรามาเห็นแล้วเห็นอีก เห็นแล้วเห็นอีก มันแสดงให้เราเห็นอยู่เรื่อย ๆ เราก็เห็นของเก่า รู้ของเก่า มันก็ชำนาญ จนเห็นเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม จะเป็นกายก็ดี เป็นเวทนาก็ดี เป็นจิตก็ดี เป็นธรรมก็ดี มันก็ย่อให้เราลงอีกว่า เป็นรูปเป็นนามเท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน เมื่อย่อเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้ว รูปนามมันก็บอกเรา แตกฉานเข้าไปอีก เหมือนเราย่อ ภาษากวดวิชา เรียนย่อ ๆ แต่มันจบไปหลายอย่าง เรียกว่ากวดวิชา พอเห็นรูปเห็นนาม เนี่ยะต้องให้เห็นเป็นอย่างนี้นะ ที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี้ มันคืออะไร มันเป็นรูป ไม่ใช่กายแล้วบัดหนิ ถ้าเห็นเป็นกาย มันก็เป็นดุ้นเป็นก้อน มันจนง่าย ถ้าเห็นเป็นกายมันจนง่าย ถ้าเห็นเป็นรูปเนี่ยมันไม่จน เราก็มองไปว่ารูป มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครป้องกันมันได้ รูปเนี่ย ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่ามันได้ ไม่มีใครที่จะเก่งกว่ารูป มันเป็นไปตามมัน จะห้ามจะขวางจะกั้นอะไรมันไม่ได้ ไม่อยากให้มันหิว มันก็ไม่ได้ ไม่อยากให้มันร้อน มันก็ไม่ได้ ไม่อยากให้มันหนาวมันก็ไม่ได้ ไม่อยากให้มันเจ็บมันปวดมันก็ไม่ได้ มันก็เป็นไปตามอาการธรรมชาติของเขา เช่น เราหิวเนี่ย แต่ก่อนเราเป็นทุกข์ เพราะความหิว เป็นสุขเพราะความอิ่ม ที่จริงมันเป็นธรรมชาติของรูป อันความหิวไม่ใช่เรื่องทุกข์เลย ไม่ใช่เรื่องทุกข์เลย เป็นความภูมิใจซะเลยทีเดียว เวลามันหิวน่ะ ขอบคุณความหิว อายุ ๗๐ ปีแล้วยังหิวข้าว เดี๋ยวนี้ก็หิวหน่อย ๆ (หัวเราะ) มันเดินนานไกล ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ตั้งหลายชั่วโมง ขาดแคลน อาหารหล่อเลี้ยงชีวิต มันเนื่องด้วยอาหาร ชีวิตเรานะ แต่มันไม่รู้จักหิว เหมือนเราป่วย ๔๙ ๕๐ เนี่ย ไม่รู้จักหิวเลย น้ำหนัก ๗๐ มันไม่รู้จักหิว ลดลง ๆ เหลือ ๕๐ กิโลเลย (หัวเราะ) ตายแน่นอน ไม่หิว หิวเป็นทุกข์ทำไม ไม่ใช่เรื่องทุกข์เลย เป็นปัญญา ขอบคุณความหิว บางทีคนหิวข้าว เป็นศึกสงครามได้ พอความหิวเกิดขึ้น ใจเปราะบาง เห็นเป็นรูป โอ..รูปมันหิวเป็น มันร้อนเป็น มันหนาวเป็น มันปวดมันเมื่อยเป็น นั่งนานก็ปวดก็เมื่อย ยืนนานก็ปวดก็เมื่อย นั่งนานก็ปวดก็เมื่อย เดินนานก็ปวดก็เมื่อย มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน รูปเนี่ย มันก็ใช่ตามธรรมชาติของเขา เห็นเป็นรูปเป็นนาม นามมันก็รู้จากอะไรได้ ยกมือนี่ก็มีรูปมีนาม ถ้าต้นเสานี่ บอกมันไม่ได้ ให้มันยกมันไม่ได้ มันไม่มีนามธรรม ก้อนอิฐก้อนหินไม่มีนามธรรม แต่มันก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ถูกสิ่งที่ครอบงำอยู่ ไม่มีใครเป็นใหญ่ อะไรในโลกนี้ตกอยู่ในความไม่เที่ยงทั้งนั้น
แต่ก่อน ไม้ต้นนี้เราทำเอง ศาลาหลังนี้เราทำเอง มันก็ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ เปลี่ยนมาสองสามครั้งแล้ว แต่ก่อนอยู่โน่น กุฏิเบอร์ ๘ โน่น ย้ายลงมานี่ ย้ายลงมานี่ก็เปลี่ยนไปอีก ทำหลังคาใหม่ อาจารย์ตุ้มทำหลังคาใหม่ ซ่อมแซมอยู่เรื่อย อันนี้มันยังซ่อมแซม อันรูปของเรานี้มันซ่อมไม่ได้ ซ่อมจะให้มันดีเหมือนตามเดิมไม่ได้ เหมือนไม้ ไม้มันก็ยังดีได้ แต่ไม้ก็ยังมีอายุเหมือนกัน อย่างหลวงตานี่ก็ แต่ก่อนก็หนุ่มกว่านี้ จะให้มันหนุ่มเหมือนเดิมไม่ได้
อันรูปนี่ ใคร ๆ ก็เสมอกันหมด ไม่มีอะไรใครที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน ไม่มีผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ต่อต้าน ย่อมละทิ้งในสิ่งทั้งปวงไป นี่รูปเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นทุกข์เพราะรูป เจ็บปวดเป็นทุกข์หรือ ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์เพราะรูป เพราะเห็นเป็นรูป แต่ก่อนเห็นเป็นกาย จนง่าย ถ้าเห็นเป็นรูปนี่แตกฉาน ไม่ทุกข์เพราะรูป เห็นเป็นรูปเป็นนาม นามก็คือความรู้อะไรได้ มันอยู่ด้วยกัน โยงเข้ามามีเท่านี้ ใครก็ในโลกนี้ที่เป็นมนุษย์เกิดในโลกนี้ เหมือนกันหมด มีแต่รูปกับนาม ไม่มีใครแตกต่างกัน
รูปนามเท่าเทียมกัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ต้องเป็นความทุกข์ครอบงำ ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์นี้ จะปรากฏชัดแก่เรา
เราจึงมาปฏิบัติธรรมเนี่ย มาเรียนรู้ ไม่ให้มันทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์หรือ ไม่ทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์หรือ ไม่ทุกข์ ความตายเป็นทุกข์หรือ ไม่ทุกข์ ความร้อนความหนาวเป็นทุกข์หรือ ไม่ทุกข์ สิ่งเหล่านี้ทำได้แน่นอน เราจะไปทุกข์ทำไม เพราะแต่ก่อนเราไม่รู้ พอรู้แล้วมันเห็น เห็นแล้วไม่เป็น ไม่เป็นอะไรกับอะไร เช่น ความทุกข์ของรูป มันก็เป็นสภาวะทุกข์
อะไรที่มันเป็นสภาวะทุกข์ หายใจเข้า หายใจออก กระพริบตา กลืนน้ำลาย ชีวิตประจำวันเป็นสภาวะทุกข์ อาคันตุกะทุกข์ ทุกข์จรมาเป็นครั้งเป็นคราว ปวดหนัก ปวดเบา ไม่ใช่เรื่องทุกข์ เป็นอาคันตุกะของทุกข์ มันก็มีอีกแบบหนึ่ง
นิสสระทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์ ไม่เที่ยง ไหลเรื่อย นั่งอยู่นี่ก็ไม่เที่ยง เนี่ยนิสสระทุกข์ ไหลไป ไหลไป สันตติเกิดขึ้น ทันทาเล ไหลไปที่ไหน ไหลไปสู่ความแก่ วันนี้ก็แก่ไปอีก ชั่วโมงนี้แก่ไปอีก แก่ไปอีก มันค่อย ๆ ไป นิสสระทุกข์ มันไปของมัน ไปของมัน ไม่ใช่ออกมาเป็นอุปาทาน บัดนี้
ทุกข์ที่เป็นทุกข์ของอริยะสัจ อันนี้ทุกข์เพราะเหตุ เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความวิตกกังวลเศร้าหมอง นี่เป็นทุกข์อริยสัจ อริยสัจนี้ ทุกข์อันนี้ถือว่าเป็นทุกข์ที่เด็ดขาด ไม่ต้องทุกข์เลย มันทุกข์เพราะอาคันตุกะทุกข์ ทุกข์ว่าต้องกิน ต้องขับต้องถ่าย อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ เป็นทุกข์ สภาวะทุกข์ตามธรรมชาติ เจ็บไข้ได้ป่วย แก่เจ็บตาย เป็นสภาวะทุกข์ตามธรรมชาติ ไม่ใช่มาเป็นทุกข์ ทุกข์อันนี้เป็นทุกข์ที่บรรเทา มันหิวก็กินข้าว บรรเทาไม่ใช่แก้ แก้ไม่ได้ ถ้าหนาวก็ห่มผ้า อันนี้ไม่ใช่แก้ บรรเทา เจ็บไข้ได้ป่วย บรรเทา รักษา บางอย่างโรคภัยไข้เจ็บ โรคบางอย่างรักษาได้ ที่เป็นรูปโรค อันนั้นเขาเรียกรูปโรค ไม่ใช่รูปธรรมดา อันเป็นโรคเหมือนหลวงตาเป็นโรคมะเร็งเนี่ย เรียกว่ารูปโรค โรคของรูป เพราะนั้น หมอนั่งอยู่เนี่ย ช่วยได้ โรคอันนั้น
โรคที่เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง ความทุกข์เนี่ย ไม่มีใครช่วยเราได้ เราต้องช่วยตัวเอง พ่อแม่จะช่วยลูกก็ไม่ได้ ลูกจะช่วยพ่อช่วยแม่ก็ไม่ได้ ต้องช่วยตัวเอง อย่างที่อาตมาเนี่ย ต้องมาด้วยตนเอง อาศัยตัวเอง ตัวใครตัวมัน ใครหลง คนนั้นก็ต้องเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เอง เปลี่ยนให้กันไม่ได้ หลวงตาหนูหลงแล้วมาช่วยด้วย ไม่ได้ หลวงตาหนูทุกข์มาช่วยด้วย ก็ไม่ได้ เรียกร้องใครไม่ได้ อันความทุกข์ ความหลง ความโกรธ เนี่ย ต้องตัวของใครตัวมัน เนี่ยเรามาทำอย่างนี้ เวลามันหลงเห็นไหม นั่งยกมือสร้างจังหวะอยู่ เอ้ามันคิดไปถึง ที่ไหนหละ อำเภออะไร ชุมพวงรึ ก็กลับมา โอ้เห็นไหม เห็นมันหลงไหม ไม่ได้คิดว่าจะคิดไปเลย มันคิดไป ก็กลับมารู้ สอนแล้ว มันหลงไปอีก รู้ สอนตัวเองแล้ว
ดีมั๊ย ดี๊ ดี สอนตัวเองอันนี้ ไม่ใช่ไปเบื่อหน่ายนะ เอ้าให้มันหลงออกไป สนุกรู้ เอาความหลงมาเป็นความสนุก เอาความทุกข์มาเป็นความรู้ สนุกรู้ เห็นมัน อย่างนี้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม เปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ คือเปลี่ยนเป็นตัวรู้นี่แหละ รู้อย่างเดียว เอาไปก่อน อย่าเอาเหตุเอาผล ทำไมจึงหลง ทำไมจึงทุกข์ ทำไมจึงไม่สงบ ทำไมจึงฟุ้งซ่าน ทำไมไม่รู้สึกตัว อย่าไปทำไม ทำไม ทำไม คำว่าปฏิบัติธรรมเนี่ย ทำไม ทำไม ไม่มี มีแต่ยิ้ม ๆ ไปเลย มันทุกข์ก็เห็น ยิ้ม ๆ มันสุขก็เห็น ยิ้ม ๆ หัวเราะตัวเอง ถ้าใครรู้จักหัวเราะตัวเองได้ละ ดีมาก ถ้าหัวเราะแต่สิ่งอื่นมันใช้ไม่ได้นะ หัวเราะความทุกข์ ได้เหมือนกันนะ หัวเราะความปวด ได้เหมือนกัน บ้าเอ๊ย ถ้ามันไม่ปวด มันก็ไม่ใช่รู้ ตะขาบมันกัด ถ้ามันไม่ปวด มันก็ไม่ใช่รู้ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรไปยึดว่าตัวเราของเรา ความปวด ตะขาบมันกัด ก็เบาลง เบาลง ๆ ตะขาบมันกัดมันจะปวด ตุ้บ ๆ ๆ ๆ ดังขึ้น คนจะร้องโอ้ย ๆ ๆ ถ้าเรามารู้ ร้องเพลงบรรเลงเวลามันปวด ร้องเพลงแข่งกับความปวดนะ ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตน สิ่งไหนเป็นทุกข์ สิ่งนั้นมันไม่เที่ยง สิ่งไหนไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน สิ่งไหนไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ควรยึดว่าเราว่าตัวของเรา นี่คือตัวรู้ มันก็แตกฉานไปเนี่ย รู้ รูปมันบอก รูปมันสอนเรา มันก็บอก นี่คือความไม่เที่ยงนะ นี่คือความเป็นทุกข์ นี่คือความไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นหน้าที่ของรูป มันร้อน มันหนาว มันหิว มันปวด มันเมื่อย นามคือมันรู้อะไรได้ ยุงกัดมันก็รู้ มันเจ็บ นี่เป็นนามธรรม มีกาย มีความเจ็บ รู้
ถ้าเราแตกฉานเข้าไปก็เห็น ความหิวเป็นเรื่องของกาย ไม่ใช่ทุกข์ใจ ถ้ามันเจ็บปวดที่กาย ก็ให้เป็นเรื่องของกาย ใจอย่าไปเจ็บไปปวด แยกออก เรียกว่านาม อย่าเอากายไปขวางกั้นนาม อย่าให้กายเป็นใหญ่กว่านาม นามนั้นต้องไม่เป็นอะไร เห็น รู้เป็นปัญญา ว่านามมันรู้ นามธรรม รูปทุกข์ นามทุกข์ รูปโรค นามโรค มันมีอยู่ในกองรูป กองนามนี้ เหมือนกันหมด รูปทุกข์ก็เหมือนกันหมดต้องกระพริบตา หายใจ กลืนน้ำลาย ต้องกิน ต้องถ่าย ต้องหลับต้องนอน ต้องอะไรหลาย ๆ อย่าง อันนี้เราเท่าเทียมกันหมด ส่วนนามธรรมนั้น ถ้าเราไม่รู้รูปรู้นาม มันไม่รู้จักแยกแยะ ถ้าไม่เห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริงนะ ถ้าจะแยกออก ถ้าเจ็บก็เจ็บที่ ถ้าปวดท้องมันก็เป็นรูป ใจไม่ต้องเดือนร้อน เห็นมันปวด ไม่ใช่เป็นผู้ปวด มันก็ต้องมีโรค
เช่น หลวงตาปวดท้อง เป็นมะเร็ง มะเร็งเนี่ยมันลามไปถึงตับอ่อน เป็นก้อนเนื้อที่ตับอ่อน ปวดท้องอย่างหนัก เห็นมันปวด ไม่ใช่เป็นผู้ปวด อันปวดท้องเป็นรูป อันนามธรรมไม่ต้องทุกข์เพราะการปวด มันมีปัญญาด้วยในเวลามันปวด เห็นของจริงที่มันแสดงออก นี่รูปแท้ ๆ ก็ไปตรวจส่องกล้อง หมอไปตรวจส่องกล้อง เอายาชาให้กรอกปากลงไป ใครบ้างที่เคยกินยาชา มีไหม แม่ชีน้อยเคยกินไหม ยาชา น้ำยาชา เหมือนเขาเอามาทาแผลที่เขาผ่าตัดไม่รู้จักเจ็บ อันนี้มันเป็นแผล อันนี้มันปาก มันมีลิ้น พอกินยาชาลงไปน่ะ โอ๊ยรสชาติยอดเยี่ยมเลย (หัวเราะ) เราก็มอง โอ๊ยสมน้ำหน้ามันหนอรูปเอ๊ย ไม่ได้ทุกข์เลย มันมีลิ้น มันมีรสหนอ นี่เป็นยาชา ไม่ใช่อาหารนะ นี่แหละรูป เป็นอย่างนี้ ทำไมมันเจ็บมันปวด มันก็ต้องเป็นแบบนี้ การช่วยเหลือรูปต้องทำอย่างนี้ บางทีก็ต้องผ่าตัด แบะออกเป็นชิ้นเป็นชิ้นก็มี มาต่อเอาใหม่ นี่รูป มันเป็นอย่างนี้ ช่วยรูปก็ต้องช่วยอย่างนี้ อันนี้สาอะไรเขาเอาน้ำยาชามากรอกปาก มันก็ดีแล้วรูปเอ๊ย ใจไม่ทุกข์เลย หัวเราะรูป สมน้ำหน้ามันแล้ว รูปนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ ส่องกล้องเข้าไป ก็ยังใช้ไม่ได้ มาตัดเอาก้อนเนื้อในลำคอเนี่ย ตัดไปพิสูจน์อีก พอพิสูจน์ได้แล้วก็ว่า มะเร็งน้ำเหลือง ก้อนเนื้อโตเร็ว สู่ตับอ่อน ปวดท้อง เห็นมันปวด ไม่ใช่เป็นผู้ปวด เวทนาที่ตัวที่ตนมันแตกฉาน ตั้งแต่เห็นกาย เห็นเวทนาเนี่ย เวทนาคือมันปวดเนี่ย ไม่ใช่เราเป็นผู้ปวด เห็นมันปวด มันแยกไป แยกไป ถ้าเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์เฉพาะรูป นามไม่เป็นทุกข์ เหมือนถูกลูกศร ลูกเดียว ถูกเฉพาะรูป ไม่ถูกที่นาม คือจิตใจ ถ้าคนไม่เคยฝึกหัด ก็ถูกทั้งกายทั้งใจ เจ็บกายเจ็บใจด้วย หมดท่าเลย อยู่ในภพในภูมิทั้งหมด จนง่าย ถ้าเห็นรูปเห็นนามน่ะไม่จนนะ การปฏิบัติธรรมมันเป็นเรื่องของส่วนตัวอย่างนี้
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้โดยตรง เรื่องอื่นเป็นเรื่องปลีกย่อย เรื่องนี้เป็นเรื่องรีบด่วน ทุกคนต้องมารับผิดชอบตัวเองให้ได้ มันจะเป็นบุญเป็นบาปก็เป็นตรงนี้ ตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็ยังไม่รู้รูปรู้นามแน่ เนี่ยมันก็รู้อย่างนี้ เห็นแจ้งในรูปในนาม เป็นธรรมชาติของโลก รูปโรค นามโรค รูปทุกข์ นามทุกข์ รูปสมมุติ นามสมมุติมันหลาย ที่มันเห็นเนี่ย มันแตกฉานไป
สมมุติบัญญัติ ปรมัตถ์สัจจะ ความหลงเป็นสมมุติบัญญัติ ความไม่หลงเป็นปรมัตถ์สัจจะ ความทุกข์เป็นสมมุติบัญญัติ เคยทุกข์เท่าไหร่ มีจริงไหมความทุกข์ เคยสุขเท่าไหร่ มีจริงไหมความสุข เอาความสุขมาให้ดูหน่อย เอาความทุกข์มาให้ดูหน่อย มันไม่มี มันเป็นสมมุติขึ้นมา อุปาทานขึ้นมา ยึดไว้ ยึดไว้ เป็นครั้งเป็นคราว
เวลามันโกรธก็ด่ากันฆ่ากัน เวลาหายโกรธแล้วก็อายตัวเอง อายกัน บางทีทะเลาะกัน เวลามันโกรธด่ากันได้ เวลาหายโกรธแล้ว โอ๊ยเสียใจ บางทีโกรธลงไปตีลูก ตีลูก จนเห็นรอยมือห้านิ้ว ตีก้นเนี่ย แดงแจ๋เลย บางทีเอาไม้เรียวมาเฆี่ยนจนเลือดซึมเลย เวลาหายโกรธแล้ว สงสารลูก เวลาลูกนอนก็เอายาหม่องไปทาให้ นี่หลงตีลงมือ ตีลูกนี่เสียใจมาก เนี่ย ผิดแล้ว เพราะทำตามความโกรธ ทำตามความรัก ทำตามความชัง อันนั้นไม่ใช่ชีวิตเราแล้ว เสียเปรียบความโกรธ เสียเปรียบความรักความชัง เหมือนกันหมด
หลวงตาก็เคยโกรธ โกรธน้องชาย ตีน้องชาย ตกคันนาเลย มือท่วมหัวนะ น้องชายตกเปียกขี้โคลนอยู่ตอนนั้น พอเห็นน้องชายนั่งเปียกขี้โคลนอยู่ เกิดความสงสารทันที โอ๊ยน้องชายเป็นเด็กหนอ มันคงกลัว บอกมันให้เอาควายไปกินหญ้า ปลายนาโน่น ไถนาค่ำ มันไม่เอาไป มันจูงวนอยู่เนี่ย ควายก็ไม่มีหญ้ากิน เราก็ห่วงลูกควาย ไถนา มึงทำไมไม่เอาควายไปกินหญ้า ข้อยย่าน ย่านแม่มึงหยัง (หัวเราะ) ทุบหัวน้อง ตาแป๊ะเนี่ย สงสารนะ จับแขนน้องขึ้นมา น้องก็ร้องไห้ แต่ตอนนั้นพูดไม่ออก เสียใจ น้องก็หนีเข้าบ้านไปเลย ไม่เอาควายไป เราต้องไม่ ว่าจะปั้นคันนา ไม่ได้ปั้นคันนาหรอก ต้องเอาควายไปเลี้ยง สมน้ำหน้ามึงบ้อ ไปตีน้องเข้ า เอาควายกลับบ้านไป แม่พูดคำแรกว่า ให้มึงเอาซะ นากับเฮียนนี่ กูจิพาน้องกลับบ้านเก่า เอาไปซะสิ่งของเนี่ย เสียใจมากเลย ไม่พูดสักคำเลย เราตีน้อง แม่เสียใจ พ่อไม่มี (...) เสียใจมากเลย เสียเปรียบความโกรธ มีไหม ชีน้อย ทำไมจะต้องรับใช้มัน ความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มาทำใจดี ๆ นะ เห็นมันชัดเจนแล้วนะ เป็นปัญญาของเรา
การศึกษาธรรมะ มันเป็นอย่างนี้นะ มันพ้นจริง ๆ นะ พ้นจากการโกรธ ความหลง ความหลง พ้นจริง ๆ มันก็อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนใครนะ เป็นอย่างนี้แหละ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าเป็นอะไร มีฤทธิ์ มีเดช เหาะเหินเดินฟ้า ไม่ใช่อย่างนั้น มารู้ตัวเองจนเปลี่ยนความร้ายเป็นความดีได้ ไม่ทุกข์นี่สำคัญที่สุดแล้ว เวทนาเป็นทุกข์ เวทนาไม่เป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สัญญาไม่เป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ สังขารไม่เป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ วิญญาณไม่เป็นทุกข์ คือเห็นมันได้อย่างนี้ เพราะปฏิบัติคือเปลี่ยนแล้ว
ถ้าคนไม่ศึกษา ถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ถูกความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว แน่นอนที่สุดเลย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนต้องไปจุดนี้แน่นอน ทำไมให้มันครอบงำเล่า ประสาความทุกข์น่ะ ความโกรธน่ะ มันมีขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่วัวมาไหม มันไม่มี มันเกิดอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่ความไม่รู้ต่างหาก
ถ้าเรามารู้สึกตัวเนี่ย ทำเท่านี้ ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด กำจัดกิเลส ศีลกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญากำจัดอย่างละเอียด พอมีรู้อย่างนี้ก็ใจดีกว่าเก่า รู้กว่าเก่า เพราะมันรู้ รู้ตัวเองนี้ มันมีใจดีกว่าเก่า ไม่ใช่ดีใจ ใจมันดี ใจดีนี่เป็นบุญ ตัวรู้นี่เป็นบุญ รู้บุญ รู้บาป บาปคือไม่รู้ คือทุกข์ บุญคือตัวรู้ คือไม่ทุกข์ บุญคือตัวนี้ ศีลคือตัวนี้ รู้บุญรู้บาป รู้ศาสนา ศาสนา คือ คำสอนทั้งหลาย แต่พุทธศาสนาสอนให้รู้เรื่องนี้ ตื่นจากทุกข์มา
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นธรรมอย่างนี้ เรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เห็นพระพุทธเจ้าเดินมา อันนั้นเป็นนิมิต อย่าไปสนใจ พระบางรูป เดินจงกรมอยู่เห็น อันนั้นเป็นนิมิต บางทีมาบอกหลวงตา เป็นนิมิต อย่าไปหลงมัน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นรูป เห็นนามเนี่ย มันจะไปเห็นอันอื่นก็กลับมา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท
มันหลง มันจึงทุกข์ มันหลงมันจึงสุข มันหลงมันจึงโกรธ มันหลงมันจึงพอใจ ไม่พอใจ เหตุของมันอยู่ที่ความหลง ต้นของความหลงอยู่ที่ความทุกข์ บางอย่างเกิดอยู่ที่หลง ถ้าไม่หลงแล้ว เหตุเกิดที่ใดก็ดับตรงนั้น มันจะได้ความรู้เพราะความหลงนั่นแหละ มันจะได้ความรู้เพราะความทุกข์นั่นแหละ
บทเรียนจากความหลง ความทุกข์ เนี่ยมีประโยชน์มาก อย่างพระพุทธเจ้าสอนพวกเรา ผู้ใดเห็นความไม่เที่ยง ผู้นั้นถึงนิพพานได้ ผู้ใดเห็นความเป็นทุกข์ ผู้นั้นถึงนิพพานได้ ผู้ใดเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ผู้นั้นถึงนิพพานได้
สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่าย ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด เอาความไม่เที่ยงเป็นนิพพาน ปุถุชนเอาความไม่เที่ยงมาเป็นทุกข์ ปุถุชนเอาความเป็นทุกข์ มาเป็นทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าเอาความเป็นทุกข์มาเป็นนิพพาน เรียกว่า ปฏิบัติ เปลี่ยนร้ายเป็นดีอย่างนี้ เราก็หัดเปลี่ยนไป มันหลงรู้ มันหลงรู้ เรื่อยไป อย่างนี้