แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก็เป็นเรื่องของเรานี่แหละ เหมือนกับพระพุทธเจ้าได้ช่วยมีส่วนร่วมกับการใช้ชีวิตของเรา ให้เกิดพ้นจากพิษภัยต่าง ๆ แล้วก็เราก็มาฟังต่ออีก อันที่มันเป็นปัจจุบัน เราก็นั่งอยู่ที่นี่ มีกายมีใจ แล้วก็ให้มีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน ในการทำให้กายใจของเราพ้นพิษพ้นภัยไป ช่วยกันดูแลรักษา สนับสนุนกัน ก็มีทางเดียวคือการบอกเล่าให้กันฟัง เหมือนกับร่วมมือรักษาชีวิตของเราเหมือนกันหมด เราก็ใช้เหมือนกัน มีกายมีใจเหมือนกัน การใช้กายใช้ใจ ใช้ผิดก็เป็นทุกข์เป็นโทษ เหมือนกัน ถ้าใช้ถูกก็เป็นประโยชน์ เป็นพิษเป็นโทษแก่เราไม่พอ ต้องเป็นพิษเป็นโทษต่อคนอื่นสิ่งอื่นวัตถุอื่น ถ้าเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นสิ่งอื่นวัตถุอื่น เราเป็นสัตว์สังคมมีพ่อมีแม่ มีผัวมีเมีย มีลูกมีหลาน มีเพื่อนมีมิตร มีสิ่งของต่าง ๆ เหมือนกัน เดินอยู่บนแผ่นดิน กินข้าวกินน้ำ หายใจเหมือนกัน เรามาช่วยกัน มีส่วนร่วมช่วยกัน ใช้เป็นก็มีประโยชน์ ใช้ผิดก็เป็นโทษ เสียหายได้ง่าย เหมือนกับเราใช้รถใช้รา ถ้าใช้เป็นก็ไม่เสียหาย ถ้าใช้ไม่เป็นก็เสียหาย สำคัญอยู่ที่การใช้และดูแลรักษา การดูแลรักษาสำคัญ การมีก็อาจจะหาได้เหมือนกัน หาข้าวหาน้ำหาเงินหาทองหาได้ แต่การรู้จักรักษา รู้จักใช้ไม่ค่อยถูก รักษาไม่เป็น ใช้ไม่เป็นก็มี ไปกินเหล้า ได้เงินมาไปซื้อเหล้าซื้อบุหรี่ เที่ยวเตร่เร่ร่อน นั่นเรียกว่าเราใช้ไม่เป็น แล้วก็รักษาไม่เป็นไปในตัวเสร็จ หมด กินผอม ๆ ผอมจ้อกก้อก ไม่เหลือ รายรับมันก็ไม่ดีเท่าไร มันดีที่รายเหลือ ให้มันสมดุลกัน รายรับไม่ดีเท่ารายเหลือ กินบ่อยเงินหมดเซ็นเชื่อ ชีวิตไม่เหลือจุนเจือยามเข็ญ ไว้ใช้จ่ายในการจำเป็นนั้นก็คือรายเหลือ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน มันหมด หมด ความดีก็มี ไม่มีอะไรดีที่ใช้ ออกมาทางกายก็เป็นกายทุจริต ออกมาทางวาจาก็เป็นวาจาทุจริต(วจีทุจริต) ออกมาทางใจก็เป็นมโนทุจริต เสียหายหมด ถ้าใช้เป็นก็เป็นกายสุจริตมีประโยชน์ วาจาสุจริต(วจีสุจริต)มีประโยชน์ มโนสุจริตมีประโยชน์ ดังที่เราได้สาธยายพระสูตร วิธีใช้ชีวิตของเรา ตามหลักอริยมรรค
สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ เห็นอะไร เห็นอะไรที่มันเป็นทุกข์เป็นโทษ เห็นเหตุที่มันให้เกิดทุกข์เกิดโทษ เราใช้เหตุอันที่เกิดทุกข์เกิดโทษให้พ้นจากทุกข์จากโทษ เวลาเราปฏิบัติก็เห็นอยู่ เห็นมันหลง มีประโยชน์ไหมมันหลง เหตุที่มันหลงเพราะไม่มีสติ ทำไมไม่มีสติ เพราะไม่ประกอบ ทำไมไม่ประกอบ เพราะหาเวลาไม่มี ไม่มีความเพียร ก็เลยจนสติ แทนที่จะมีก็เป็นความจนไปซะ เหมือนไม่มีเงินเวลาหิวข้าวก็ไม่ได้กินข้าว เพราะไม่รักษา เพราะใช้ไม่เป็น มันหมดไป ใช้แต่ความหลง ดูดี ๆ เวลาเรามาปฏิบัติธรรม มันจะเห็นความหลง ต่อหน้าต่อตา เป็นคู่กับความรู้ พยายามที่จะรู้สึกตัว มันยังหลงยังแทรกซ้อนขึ้นมา ก็มันเคยมา มันเคยใช้ มันก็เลยมาใช้ มาใช้เรา ใช้ให้เราหลง ใช้ให้เราสุข ใช้ให้เราทุกข์ ใช้ให้เราโกรธ ใช้ให้เราอะไรต่าง ๆ มันเคยใช้กายใช้ใจเรา มันเป็นเจ้าของ เราจึงมาใช้สิทธิ์ มันหลงเรามีสิทธิไม่หลง มันโกรธเรามีสิทธิไม่โกรธ มันทุกข์เรามีสิทธิไม่ทุกข์ มามีสิทธิเรื่องนี้กัน ให้สักร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าให้เป็นสาธารณะเกินไป สำส่อนเกินไป นี่เราเห็นอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิ เห็นมันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงเนี่ย สิทธิ เห็นมันทุกข์ เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์เนี่ย สัมมาทิฏฐิแล้วเนี่ย เหตุมันอยู่ตรงไหนแก้ที่นั้น เครื่องมือก็มีอยู่แล้ว มีสติ เป็นกุญแจดอกเอกเปิดได้ เฉลยได้ทั้งหมดของเรื่องเกิดกับกายกับใจ เฉลยได้ทั้งหมด ไม่มีอะไรติดขัดถ้ามีสติ เดินผ่านไป เราพูดแล้วพูดอีก มันหลงเห็นมันหลง เปลี่ยนหลงไม่หลง พ้นจากความหลง นี่แหละคือสัมมาทิฏฐิ ไม่ต้องไปอ่านหนังสือ พระพุทธเจ้าช่วยเราให้ทำอย่างนี้ มันก็เริ่มปั๊บลงไปเป็นปัญญาแล้ว หาไม่ยาก ไม่ได้คุ้ยเขี่ยหา เหมือนหาเงินหาทองอาบเหงื่อต่างน้ำ กว่าจะได้มา เอาเหงื่อไปแลก แต่ปัญญาอันที่เป็นอริยทรัพย์ภายใน ที่มันเป็นทรัพย์ประเสริฐนี้ มันเป็นปัจจัตตังทันที ไม่น่าจะขี้เกียจขี้คร้าน พลิกมือขึ้นก็รู้แล้ว มันหลงก็รู้แล้ว ให้เราขยันตรงนี้ นี่สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปโป(สัมมาสังกัปปะ) ดำริออกจากทุกข์ อะไรที่มันไม่ดีดำริออก ถ้าดำริออกจากความชั่ว เพียรทำความดี จะเรียกว่านักบวชก็ได้ บวชทางจิตวิญญาณ ปะวะชะ แปลว่า ดำริออก หนีออกจากความชั่วไปสู่ความดี เปลี่ยนหลงเป็นรู้ หนีความหลง หนีความชั่วไปสู่ความดีแล้ว เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ เรียกว่าหนีความชั่วไปสู่ความดี เป็นความดำริชอบ ถูกต้องที่สุด ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นปัญญา ใช้ดู ความหลงจริงไหม ความไม่หลงมันจริงไหม อะไรมันใช้ได้ ความโกรธจริงไหม ความไม่โกรธจริงไหม ความทุกข์จริงไหม ความไม่ทุกข์จริงไหม ใช้ดู สัมผัสดู ไม่ต้องถามใคร มีสิทธิ ไม่มีคำถาม สัจธรรมเรื่องนี้ไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ นี่แหละคือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ มันอยู่ที่ไหนละ ก็อยู่ที่เรานี่
ต่อไปก็วาจา มันก็อยู่ที่เรานี่ พูดจาชอบ เมื่อเราพูดจาชอบ ก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อกัน บอกผิดบอกถูกต่อกันอยู่ พูดอยู่นี่แหละพูดจาชอบ ไม่ได้ยกย่อง ไม่ได้นินทาใคร พูดไปตรง ๆ ตามความถูกต้อง กินเหล้ามันไม่ดี สูบบุหรี่มันไม่ดี พูดอย่างนี้เรียกว่าพูดจาชอบ ไม่ใช่ไปยกย่อง อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นปิยวาจา อย่าขี้เกียจนะ เราก็ถูกสั่งถูกสอนมา พ่อแม่สั่งสอนเรามา ขยันหมั่นเพียร อย่าทะเลาะวิวาทกัน พ่อแม่สอนเรา เลี้ยงใจกัน มีพี่มีน้องหลายคน ยังเอามาสอนตัวเรา ไม่เหมือนคนทุกวันนี้ เลี้ยงลูกเป็นจักรพรรดิ ได้ลูกคนเดียว ไม่รู้จักแบ่งใคร เป็นจักรพรรดิไปเลยตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่รู้จักแบ่งปัน ไม่รู้จักอะไร ไม่ถูกเปรียบเทียบ ไม่มีการช่วยเหลือกัน เลี้ยงน้องเลี้ยงพี่ แบ่งอะไรได้มาคิดถึงน้องคิดถึงพี่ไม่ค่อยมี ลูกคนเดียว ก็พูดเล่น ๆ ไป นี่สัมมาวาจา พูดจาชอบ คือบอกอย่างนี้ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ บอกกันจริง ๆ อย่างนี้ ตอนเช้าตอนเย็น
การพูดจาชอบเป็นศีลแล้วบัดหนิ การตั้งใจชอบ การเห็นชอบ ความเห็นชอบการดำริชอบเป็นปัญญา พอมาพูดจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นศีลแล้วบัดหนิ หาไม่ยาก มีสติมันก็เป็นไปเอง มันมีอะไรชอบเกิดขึ้นหลายอย่าง สองข้อสุดท้าย สองข้อต้นเป็นปัญญา สี่ข้อกลางๆเป็นศีล สัมมาสติเป็นสมาธิแล้วบัดนี้ เหมือนเราทำอยู่เนี่ย กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ มีสติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นสมาธิแล้วบัดหนิ
การที่เรายกมือขึ้น รู้สึกตัว เป็นทั้งปัญญา เป็นทั้งศีล เป็นทั้งสมาธิ รวมไปหมดขณะเดียวกันเลย ต้องรักษา สร้างปัญญา ทั้งรักษา ทั้งมีศีล ทั้งมีสมาธิ เวลามันสุขมันทุกข์เกิดจากกาย ถอนออกมามีสติ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาคือสุขคือทุกข์ เห็นความคิดที่มันเกิดจากจิต สักแต่ว่า มีสติ เห็นธรรมที่มันเกิดจากกายจากจิต เรียกว่ารูปธรรมนามธรรม ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นเป็นสติแล้ว ถอนออกมา มีสติ นั่นละสมาธิ ไม่ใช่นั่งหลับตาไม่รู้อะไร มันจะหลับก็ปล่อยให้มันหลับ ไม่ใช่สมาธิ มันดื้อนะ มันหลับเนี่ย บอกให้มันรู้มันไม่ยอม มันจะหลับอย่างเดียว ไม่ใช่สมาธิ สมาธิไม่ใช่นั่งหลับ สมาธินี่ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะมันเห็นของเท็จของจริง สติเนี่ย สมาธิเนี่ย ส่วนสมาธิข้อสุดท้าย มันเป็นตามผลงานแล้ว มันล้างตั้งแต่ปัญญาศีลแล้ว กว่าจะไปถึงสมาธิมันได้ใช้งานแล้ว มันละอะไรไป พอถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน เหมือนกับเราฝึกวัวเทียมเกวียน ฝึกช้าง ฝึกม้า มันหายพยศ เพียงแต่เรานั่งหลังหรือจับสายบังเหียนนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ได้สอนมัน ไม่ได้ลาก ไม่ได้ดึงอะไร เพียงแต่เรากระดิกตัวนิดเดียว มันก็รู้ เช่น เราขี่ม้า เวลามันวิ่งผิดเรากระดิกขานิดหน่อย มันก็เจ็บ รู้ วิ่งได้ดีอีก พอมันวิ่งผิดเรากระดิกขานิดหน่อย มันถูกสอนแล้ว มันรู้แล้ว เหมือนม้าจะให้เลี้ยวไปทางไหน เอาเข่ากระตุก ถ้าไม่มีเชือก หรือกระดิกเชือกทางใดที่เราต้องการ มันก็รู้แล้ว บางทีมันรู้กัน เราก็รู้ม้า ม้าก็รู้เรา เรารู้วัว วัวก็รู้เรา เราก็รู้ควาย ควายก็รู้เรา เพราะเราเทียมเกวียน มันรู้เรา มันรู้จัก เจ้าของจะให้อะไรมันรู้จัก บางทีเอาออกจากคอก จูงไป ยกหัวเกวียนขึ้น มันเดินเข้ารับแอกทันที ไม่ต้องบอก ไม่ต้องจูงมัน มันรู้ว่าเราจะใช้มัน อย่างควายเทียมเกวียนของน้องชายหลวงพ่อ ตาแป๊ะเนี่ย นั่งอยู่เนี่ย ขนข้าวจากลานขึ้นมายุ้ง ให้มันไปเลย ไปถึงบ้านตัวเองเลย นี่มันใช้ได้ สัมมาสมาธิเนี่ย มันใช้งานได้แล้ว ผลงานที่เราฝึกตั้งแต่ปัญญาศีลมา ตั้งแต่เราสอนกายเฉพาะกายเนี่ย เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วก็มาใช้ชีวิตถูกต้อง เป็นศีลนี้ใช้ชีวิตถูก มันผิดเพื่อให้มันถูก มันทุกข์เพื่อให้ไม่ทุกข์ มันใช้ถูกแล้ว เคยเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เคยเปลี่ยนโกรธเป็นรู้ เคยเปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ เคยเปลี่ยนอะไรเป็นรู้ทั้งหมด ที่มันเกิดกับกายกับใจของเราเนี่ย เราใช้มา มันก็เลยเป็น ทำให้มันเป็น มันใช้เป็น ไม่ใช่มันรู้ ทำให้เป็น
การทำให้เป็น เราฝึกตนสอนตน ไม่ใช่คนอื่นสอน ไม่ใช่คำสอน มาหัดเอา กรรมฐานไม่ใช่เรื่องมาสอนกัน นั่งสอนกัน ต้องไปหัดเอา ถ้าไม่หัดมันทำไม่เป็น มีแต่รู้ ถ้าสอนก็สอนได้ ได้ใบประกาศ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ใครก็ว่าได้ แต่อะไรคือสติ ไม่รู้ตรงไหน ระลึกตรงไหน ไม่เคยทำดู การทำต้องเป็นเรื่องของเราเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนการกระทำเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ถ้าทำให้มันเป็น การทำให้เป็น ไม่มีใครสอนเราได้ นอกจากเราสอนตัวเราเอง
หลงก็ไม่ดี รู้อยู่แล้ว โกรธไม่ดี ทุกข์ไม่ดี ใครก็รู้ แต่เรายังหลงอยู่ ยังโกรธอยู่ ยังทุกข์อยู่ ความรู้มันใช้ไม่ได้ถ้าไม่เอามาหัด ก็มาหัดมาฝึกอย่างนี้แหละ ไม่มีวิธีใด ที่จะมาสอนชีวิตเราเท่ากับกรรมฐาน จึงมีสถานที่แบบนี้ขึ้นมา เรียกว่าวิปัสสนาธุระ ให้เป็นธุระ คันถธุระเรียนรู้มาแล้ว ส่วนวิปัสสนาธุระมาฝึกหัด เหมือนการแพทย์ หลวงตาไปดูเขาเรียนแพทย์ ไปผ่าศพ อยู่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงตาก็เอาศพไปให้เขาแล้ว มอบให้เขาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แต่บัตรหลวงพ่อมันหายไปไหนก็ไม่รู้นะ บอกอาจารย์ไพศาลไว้ ถ้าตายก็ไปแจ้งโรงพยาบาล ให้เขามาเอาศพไป บัตรมันหายไปแล้ว บัตรอุทิศศพ เขาต้องพลิกหนังพลิกอะไรมาปาดดู ดูตำราไป ชำแหละไปตั้งแต่ฝ่าเท้า ทุก ๆ ส่วนของร่างกาย เอาจนแหลกไปเลย แล้วก็ดูตำรา เขาไปปาดดู ไปชำแหละดูนะ จนสำเร็จเป็นนายแพทย์ เป็นแพทย์หญิง เพราะเขาเรียนรู้เรื่องกาย มันมีเส้น มีเอ็นอยู่ตรงไหน นี่คือทำดู ไปทำดู ไม่ใช่รู้เฉย ๆ
ชีวิตเราก็รู้แล้ว แต่มาทำดู นี้เป็นกรรม การทำอย่างนี้เรียกว่า กรรม กรรมมันจำแนกไป กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเป็นของจำแนกสัตว์ ทำบาปเองเศร้าหมองเอง ไม่ทำบาปเองหมดจดเอง การเศร้าหมองความหมดจดเป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะยังคนอื่นให้เศร้าหมองหรือหมดจดเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ จึงจำเป็นต้องมาฝึกหัด ให้มีสติไปในกายอย่างนี้ เรียนประถม ชั้นประถม ใครจะเรียนสูง ๆ มาอย่างไรก็ต้องมาหัดเสียก่อน มาหัดให้มีสติไปในกาย มันก็จะเห็นอะไร เห็นมันหลง นั่นแหละดีแล้ว เห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ นั่นดีแล้ว จะได้เปลี่ยนเป็นรู้ เห็นมันพอใจ เห็นมันไม่พอใจ เห็นมันขี้เกียจขี้คร้าน เห็นมันเกิดกิเลสตัณหา เห็นมันเกิดโกรธโลภหลง ดีแล้ว เจอแล้ว เห็นมันง่วงเหงาหาวนอน เห็นแล้ว เปลี่ยนมาเป็นรู้แล้ว ถ้าจะว่ารู้แล้ว รู้แล้วก็ได้ ไม่ต้องว่าหนอ อันความรู้ไม่ต้องออกมาเป็นวาจาเป็นเสียง พุทโธก็ไม่ต้องว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้แล้วเหมือนกัน
มาฝึกหัดอย่างนี้ จะมีความรู้ขนาดไหนมา ก็ต้องมีความโกรธ ความหลง ความทุกข์ ความโลภ ความวิตกกังวล เศร้าหมอง มันไม่ใช่ความรู้ มันต้องมาหัด หัดทำให้เป็น เรียกว่าเปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เรียกว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมไม่ใช่อะไร คือเปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ เปลี่ยนที่มันไม่ดีทั้งหลายให้มันดี ปฏิบัติ ขยันทำความดี เรียกว่าภาวนา เรามาสร้างจังหวะ 14 จังหวะ นี่แหละคือภาวนา ขยันรู้ทุกวินาทีเนี่ย นี่แหละภาวนา ไม่ใช่บริกรรมนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ อะระหัง อะระหัง อะระหัง ไม่ใช่ ถ้าไปสอนกันตอนป่วยให้ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ อะระหัง อะระหัง อะระหัง มันก็ไม่รู้เรื่อง พุทโธ พุทโธ มันมีแล้ว มีในชีวิตของเรา เราหัดไปแล้ว เวลามันหายใจไม่ได้จะมีเสียงไหมพุทโธ มันไม่มี มันก็ต้องดูไป จนเห็นมัน ทุกเรื่องที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ จบจริง ๆ นะ จบเรื่องกายเรื่องใจ มีอะไรอยู่เนี่ย รู้เห็นหมด ไม่ใช่ไปเห็นที่ไหน เห็นอันที่เกิดกับกายกับใจกองสังขารนี้
ความรอบรู้ในกองสังขารอันนี้ เรียกว่าปัญญานะ ปัญญาพุทธะเป็นปัญญาเรื่องนี้ ถ้าปัญญาเรื่องศึกษา เรื่องศาสตร์ เรื่องศิลป์ เรื่องวิชาการ เป็นปัญญาอันหนึ่ง ปัญญาพุทธะเรียกว่าความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่าปัญญา การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยชื่อว่าศีล ความตั้งใจมั่นเรียกว่าสมาธิ คือศีลคือสมาธิ คือปัญญา มันก็เรื่องของกายของใจเรานี้ ปัญญาอยู่ที่ไหน ศีลก็อยู่ที่นั้น สมาธิอยู่ที่นั้น ศีลอยู่ที่ไหน ปัญญาสมาธิก็อยู่ที่นั้น มันไม่เป็นแถว ไม่เข้าแถว มันเป็นจักร มันหมุน กลม ๆ ไม่ใช่กลมเหมือนหลวงพ่อกรมนะ หลวงพ่อเป ไม่ใช่แบบนี้นะ มันเป็นวงกลม มันกลิ้งนะ เหมือนจักรเหมือนล้อรถ มันหมุน จะว่าศีลก่อนสมาธิก่อนปัญญาก่อนมันไม่ใช่ มันหมุน อะไรไป มันก็ไปด้วยกันนั่นแหละ ปัญญาทำให้เกิดศีล ศีลทำให้เกิดสมาธิ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาทำให้เกิดศีล หมุนไปอย่างนั้น ไม่ใช่อันเดียว มันจึงเป็นการกำจัดกิเลส เพราะมันเหยียบไป เหมือนใบมีดแทรกเตอร์ที่มันผ่านไป มันก็ทำให้ที่มีคลื่นเรียบลง หรือเหมือนไม้กวาดที่มันผ่านไปก็ทำให้ขี้ฝุ่นออก มันเป็นอย่างนั้น คำว่าศีล คำว่าสมาธิ คำว่าปัญญา กำจัดกิเลส มันเหยียบไปก่อน เหมือนรอยรถแทรกเตอร์ เจาะทางขึ้นเขา ชนก้อนหินไปก่อน แต่ยัง ยังวิ่ง รถยังวิ่งไม่ได้ เอารถเกรด เกรดไปทีหลังอีก ถ้ายังไม่หายขรุขระรถบด บดเหยียบไปอีก เหมือนกับศีลกับสมาธิปัญญานั่นแหละ มันก็เรียบแล้วบัดนี้ ศีลกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญากำจัดกิเลสอย่างละเอียด มันเป็นอย่างนั้น เป็นขบวนการ
หลวงพ่อเทียนเปรียบเทียบ เวลาเราไปอาบน้ำในห้วย ที่บ้านบุฮม ต้องลงไปอาบน้ำในห้วย ในห้วยน้ำไหลมาจากที่สูงจากไร่ชาวไร่เขา เขาฉีดยาฆ่าแมลงมาก ทำไร่ฝ้าย แต่จะไปอาบน้ำเลยไม่ได้ มันคัน ลงอาบน้ำในห้วยเลยไม่ได้ ต้องไปขุดทรายฝังไว้ เอาขันคนละอัน ไปควักทรายขึ้นมา ควักลงไปสักหน่อย สักครึ่งศอก หรือศอกหนึ่ง น้ำก็ไหลออกมา เมื่อน้ำออกแล้ว ก็ตักน้ำออก น้ำที่ไหลก่อนมันยังขุ่น ตักออกทีหนึ่งก็ยังไม่ใส ตักออกครั้งที่สอง หลายครั้งไป น้ำที่ขุ่นก็กลายเป็นน้ำใส นี่แหละปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อเทียนสอนพวกเรา มันหลง เหมือนกับรู้ ตักน้ำออก หลงทีไรรู้ มันโกรธทีไรรู้ ตักออกแล้ว ตักน้ำที่มันขุ่น ๆ ออก ตักออกหลายครั้งหลายคราว อันความขุ่นมันก็ใสขึ้นมา น้ำอันเก่ามันใสได้ อันความโกรธมันเกิดที่จิตใจของเรา เมื่อเราเปลี่ยนเป็นตัวรู้ มันก็จะใสขึ้นมา จะไม่ขุ่น ไม่มีทุกข์มีโทษ เมื่อตักออกมาหลายเที่ยวแล้ว มันไหลออกมาเรื่อย ตักออกอีก ไหลออกมาอีก ตักออกอีก ไหลออกมาตักอีกจนน้ำมันใส พอน้ำมันใสเราค่อยอาบมัน เริ่มอาบแล้ว ค่อย ๆ ตักมาอาบ ไปอาบน้ำทีไรก็ทำแบบนั้น นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อเทียนสอนพวกเรา
สมัยหลวงตาไปอยู่กับหลวงพ่อเทียนตอนต้น ๆ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ เรามาปฏิบัติอยู่ก็ เออ! มันก็เหมือนหลวงพ่อว่าจริง ๆ นะเนี่ย มันหลงทีไรตักออก อย่าให้หลงเป็นหลง ถ้าปล่อยให้มันขุ่นอยู่ มันก็ขุ่นอยู่นั่นแหละ ถ้าไม่เปลี่ยนเป็นรู้ มันโกรธเปลี่ยนมัน โกรธอยู่นั่น ไม่เปลี่ยนให้เป็นไม่โกรธ มันก็ขุ่นอยู่นั่น มันใช้ไม่ได้จริง ๆ พอมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนมันใช้ได้ มันใช้ได้ ชีวิตของเรามีประโยชน์ ไม่มีโทษแก่ตน ไม่มีโทษต่อคนอื่นจริง ๆ นี่ปฏิบัติธรรม เราทำแบบนี้ ไม่ใช่อ้อนวอน มีแต่ไหว้ มีแต่กราบ บอกให้ปฏิบัติธรรมน่ะไม่เอา มันก็ได้แต่พื้น ๆ เป็นชั้นประถม ยังไม่แตกฉาน ต้องให้มันเป็นปริญญาในเรื่องนี้ ชำนาญมาก ชำนาญจนจบนะ จบแล้วคืออะไร คือไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไรทำแล้ว มันเสร็จแล้ว มันเสร็จแล้ว มันเสร็จแล้ว อันเก่า ความโกรธก็อันเก่า ความหลงก็อันเก่า ความทุกข์ก็อันเก่า ไม่ใช่ของใหม่ มันมีเท่านี้จริง ๆ ก็มีกายมีใจ เห็นมันหมด อะไรที่เกิดขึ้นรู้แล้ว เลยไม่เป็นอะไรกับมัน มันสุขก็ไม่ได้เป็นสุข มันทุกข์ก็ไม่ได้เป็นทุกข์ มันเป็นอะไรก็ไม่ได้เป็นไปกับมัน มีแต่สติ รู้อยู่เสมอ รู้อยู่เสมอ เห็นแจ้งจริง ๆ ไม่มีคำถาม ว่าเราได้เห็นมาเป็นอย่างไร เราทำอะไรแล้วเป็นอย่างไร เหมือนเราเดินทางที่ชำนาญ ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องเสียเวลา ตัดสินใจไปเลย มันพาไป ความถูกมันพาไป ความผิดมันบอก ความถูกมันพาก็บอกไป ให้มั่นใจ เหมือนคนขับรถ เหมือนกับหัดรถ ขับใหม่ ๆ มันก็ เหมือนกับรถจะไปทางหนึ่งเราจะไปทางหนึ่ง เหมือนเราหัดขี่จักรยาน เมื่อมันขี่เป็นแล้วใช้เป็นแล้วก็เหมือนกับมันพาไป บางทีมันทำนาย รถข้างหน้าเขาจะไปทางไหน มันทำนายถูก รู้รถตัวเอง มันเป็นอะไรรู้จัก ใช้ถูก ใช้เป็น ไม่มีทุกข์ไม่มีโทษ ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จริง ๆ อันกายใจเรานี้ ถ้าหัดมันใช้ได้ เป็นมรรคเป็นผล ถ้าไม่หัดก็เป็นนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นเดรัจฉานได้ มันมีบาปมีบุญ ชีวิตของคนเนี่ย มันมีสวรรค์นิพพาน มีทุกข์มีโทษ มีประโยชน์ ชีวิตของเราก็มีค่า เป็นมนุษย์สมบัติได้พร้อมแล้ว พร้อมที่สุดคือปัจจุบันนี้ พร้อมแล้ว เมื่อเราปัจจุบันไม่มี เราไปทำตอนไหน ถ้าไม่มีปัจจุบัน ปัจจุบันคือของจริง พรุ่งนี้ไม่จริง เมื่อวานนี้ก็ไม่จริง วันนี้ ชั่วโมงนี้แหละมันจริง จะใช้อย่างไร ใช้ได้ เลือกใช้ได้ มันมาให้เราใช้จริง ๆ ใช้ให้เรามีความรู้ จึงพร้อมแล้วที่สุด เราก็เป็นเพื่อนกันอยู่นี่ มีที่อยู่อาศัย มีข้าวกิน มีเป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน