แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มาฟังธรรมกันนะ เป็นส่วนประกอบของการปฏิบัติ เรามาทำงานเหมือนกัน คือ ปฏิบัติธรรม ต้องให้ได้ฟังเรื่องการงานที่เราทำอยู่นี่ การปฏิบัติธรรมนี่ก็คือเอากายเอาใจเป็นหลักสูตร ให้มีสติเป็นตัวศึกษา จึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรม เมื่อมีสติไปในกาย ไปในจิตใจ ก็จะเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจมากมาย อย่าเอามาเป็นปัญหา สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายกับใจนั้น อย่าหาคำตอบอย่าเพิ่งเอาผิดเอาถูก เอายากเอาง่าย ให้มีสติ ทวนไป ให้รู้สึกตัว เวลาปฏิบัติเนี่ย หัดตนสอนตนอย่างนี้ ให้รู้สึกตัวกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจนั้น เช่น ความง่วงเหงาหาวนอน อย่าถือว่าเป็นปัญหา สิ่งเหล่านี้แหละจะทำให้เราเกิดปัญญาสูงขึ้นไป ได้ผ่าน ได้เห็นมามาก อาจจะเป็นภูเขาลูกแรกด้วย พระพุทธเจ้าก็พูดอย่างนี้ตรัสอย่างนี้ ภูเขาลูกแรกที่ไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือ นิวรณธรรมนั่น ใคร ๆ ก็ผ่านตรงนี้กันทั้งนั้น เวลาปฏิบัติ เวลามีสติไปในกาย เพราะมันจนตรอก เหมือนกับการคุมขังนั่นแหละ แล้วก็หาทางออก มันเป็นอิสระ ร่างกายนี้เป็นอิสระ สาธารณะ อะไรมาใช้ก็ได้ จิตใจก็เช่นกัน อะไรมาใช้ก็ได้ เวลาเรามีสติ เราเป็นผู้คุม หรือว่าเป็นเจ้าของ ไม่ให้อันอื่นมาใช้ ก็ต้องแย่งใช้บ้างเป็นธรรมดา จรมาบ้าง อาการต่าง ๆ ที่มันจรมา 84,000 อย่าง เกิดขึ้นมาในกายในใจนี้ ผู้มีสติไปในกายจะได้เห็น แล้วก็เอากรรมฐานเป็นที่ตั้ง มีภาวนา ขยันอยู่ ให้ขยันแข่งกับอาการต่าง ๆ แม้มันจะเกิดอะไรขึ้นมา ก็ขยันรู้ โดยรูปแบบกรรมฐาน สัมปชัญญะปัพพะ มีการเคลื่อนไหว กระตุ้นให้มันรู้สึกตัว ช่วยเครื่องทุ่นแรงให้เกิดความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวนี้ ไม่ใช่จะอยู่เฉย ๆ มันเหมือนกับยุงมันกัด เราต้องเคลื่อนไหวไล่มันออกไป ถ้าไม่เคลื่อนไหวมันไม่ออก อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจนี้ การเคลื่อนไหวให้เป็นเคลื่อนไหวสัมปชัญญะ รู้สึกระลึกได้ จะเหมือนไปไล่ยุง ไล่กัดออกจากกายนั่นแหละ ความเจ็บก็อาจจะหายไป แต่ว่าการไล่ยุงเป็นสัญชาตญาณของกาย เป็นวิญญาณธาตุของกาย ควายเหยียบหนามมันก็ถกออก หยุด แต่ว่าอันกายอันใจที่มันเป็นอาการต่าง ๆ มันเคยใช้ เช่น ความหลงเป็นความหลง ความโกรธเป็นความโกรธ ความทุกข์เป็นความทุกข์ มันมาอย่างนั้นนานแล้ว กิเลส ตัณหา ราคะ เป็นกิเลส ตัณหา ราคะ มาอย่างนั้น เราก็รับใช้ไปอย่างนั้น มานานแล้ว เวลามันหลงก็หลงไป เวลามันโกรธก็โกรธไป เวลามันทุกข์ก็ทุกข์ไป เวลามันพอใจก็พอใจไป เวลามันไม่พอใจก็ไม่พอใจไปกับมัน มันเป็นอย่างนั้นมานานแล้ว บัดนี้เรามามีสติเป็นเจ้าของ ให้มีความรู้สึกตัวไปแทนซะ อะไรเกิดขึ้นมาใช้ได้ทั้งนั้น ความรู้สึกตัวนี่ ใช้ได้ทั้งนั้น รู้สึกระลึกได้ทันทีไว้ก่อน ผ่านไปอย่างนี้ก่อน จะเป็นร้ายเป็นดีอย่างไร ก็ผ่านอย่างนี้ก่อน อย่าเพิ่งหาคำตอบจากความคิด อย่าไปหาเหตุหาผลมาตอบมาอ้าง เหตุผลไม่ใช่สัจธรรม เป็นสมมุติบัญญัติของแต่ละคนเกิดขึ้น ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ ปรมัตถสัจจะมันไม่เป็นอื่น ๆ มันคืออันเดียวกัน เช่น ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง ความโกรธไม่ถูกต้อง ความไม่โกรธถูกต้องอย่างนี้ และก็มีสิทธิเวลามันเกิดอาการขึ้นมาในคราวเดียวกันนั้น ให้รู้สึกตัว สิทธิการใช้กับกายกับใจอย่างนี้เรียกว่า ความเป็นธรรม กายจะได้รับความเป็นธรรม จิตใจจะได้รับความเป็นธรรม ให้เกิดความชอบธรรม อย่างนี้เรียกว่า ความเกรงความเท็จความจริง ถ้าไม่มีสติเป็นต้นกำเนิดของผู้เจ้าของกายเจ้าของใจ กายกับใจก็ไม่มีความเป็นธรรมเลย รับใช้ ป่าเถื่อน สาธารณะ จนเกินเหตุ จนเป็นภาระ เป็นจริตนิสัย ราคะจริต ปรุงแต่งที่จะเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น โทสจริต ความโกรธออกหน้า โมหจริต ความหลงออกหน้า เป็นอย่างนั้น เช่น ความพอใจ ไม่พอใจ นี่แสดงว่ามันออกหน้าแล้ว ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจคิด เวลามาสัมผัสกัน แล้วก็พอใจไม่พอใจ มันออกหน้าไปแล้ว มันไปแล้ว
บทเรียนตรงนี้มีค่า พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ มีสติไปในกายเป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกมา รู้สึกตัว ก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เราไม่เชื่อคำสอน มีมานานแล้ว 2,600 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้หัดอย่างนี้จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่หัดอย่างนี้เราก็ไม่ใช่มนุษย์ เป็นคน ปนเปไปหมดเลย คนก็ไปสู่นรก ไปสู่อบาย มันไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มันมีสัญญา สังขาร วิญญาณ มีรูป มีนาม อุปาทาน มีภพ มีชาติ เช่น ความโกรธก็เป็นภพเป็นชาติ เรื่องเก่าเอามาโกรธอีก โกรธแล้วโกรธอีก ความทุกข์ เรื่องเก่าก็เอามาทุกข์แล้วทุกข์อีก มันมีภพมีชาติอย่างนี้ สัตว์เดรัจฉานไม่มี ไม่มีอย่างนี้ เช่น เราตีหมามันขาหักไป เจ็บขามันยังลืมไปแล้ว เมื่อเห็นเจ้าของก็ปะเหลาะเข้ามาหา อ่อนน้อมถ่อมตัวเข้ามาหา คนเพียงแต่ว่าโกรธก็มองหน้ากันไม่ออก กลายเป็นเรื่องร้ายไปเลย นี่ระหว่างคนมันปนกันไป ไม่เหมือนสัตว์มันจำเอาไว้ สัญญามันจำไว้ สังขารมันปรุงเอาไว้ วิญญาณมันติดเรื่องนั้นไว้ กลายเป็นอุปาทานในขันธ์ 5 ยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเป็นตน
ปฏิบัติธรรม คือ เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้น รู้สึกระลึกได้ เป็นตถตา เป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับใจเป็นเช่นนั้นเอง การมีสติจะง่าย ๆอย่างนี้ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ ถ้าไม่มีสติจะไม่ไหว ๆ อันนี้ก็ทำได้ อันนั้นก็ทำไม่ได้ ไม่ไหว ยุ่งยาก จนเกิดความคร่ำเครียด เบื่อหน่าย ถ้าเป็นตถตาก็ง่าย ๆ ลื่น ๆ เบา ๆ ไม่หนัก เป็นทางไปง่าย ๆ มันผ่านไป เป็นทางผ่านไม่ใช่ทางตัน ถ้าเราไม่มีสติก็เป็นทางตันซะ ไปไม่ได้ เพียงแต่เจอความง่วงก็ไปไม่ได้ เจอความคิดฟุ้งซ่านก็ไปไม่ได้ หอบกระเป๋ากลับบ้าน ว่าจะมาปฏิบัติอยู่เท่านั้นเท่านี้ มาเจอสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับกายกับใจก็ไม่เอาอีกแล้ว กลับ หอบเอากระเป๋ากลับบ้าน มาปฏิบัติมาคิดโน้น คิดนี่ อันนั้นก็ยังไม่เสร็จ อันนี้ก็ยังไม่เสร็จ ห่วงหน้าห่วงหลัง เชือกผูกคอปอผูกศอก สนุกนะ ถ้ามีสติตั้งหลักเป็นสติจริง ๆ รู้สึกระลึกได้จริง ๆ เห็นเรื่องนี้มันสนุก จะเป็นปัญญา ได้เลื่อนฐานะ เลื่อนชั้นไปเรื่อย ๆ มันได้ปัญญาจากปัญหาอย่างเนี่ย ถ้าไม่มีปัญหาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ตั้งชื่อว่า พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้แจ้งโลก โลกะวิทู รู้แจ้งโลก เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย แต่ก่อนเจ็บเป็นเจ็บ ทุกข์เป็นทุกข์ บัดนี้มันมีสติ ๆ ๆ สตินี่กลายเป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญาก็ทำให้บริสุทธิ์ หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น มันกำจัด
ศีลเป็นเครื่องมือ ศีลเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
พุทโธ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
ธัมโม ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม พระธรรมเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
สังโฆ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม พระสงฆ์เจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์
คือ คุณธรรมอันนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่เป็นผู้เป็นคนเดินมา อันนั้นพระพุทธเจ้าเป็นภาษาคน พระพุทธเจ้าภาษาธรรม คือ ธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม เห็นอาการต่าง ๆ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันเกิดขึ้นกับกายกับใจอย่างนี้ เพราะว่าหลง มันจึงเกิดอะไรขึ้นมา ถ้าไม่หลงรู้สึกตัวมันก็ไม่เกิด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี และก็มันก็มีวัตถุอาการในโลกนี้ ในกายในใจเรานี้ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วก็มีรูป มีรส มีกลิ่น มีเสียง สัมผัสอารมณ์ ที่มากระทบ เราไม่มีหลัก ก็พัดไป ปลิวไปโน่น ปลิวไปนี่ ไม่มีหลักกรรมฐานมีที่ตั้ง ไม่มีภาวนาขยันไว้รู้ไว้ อาจจะขยันหลง อาจจะมากกว่าขยันหลง ลองดูสิ เวลาเราใส่ใจจิตรู้สึกตัว โดยวิชากรรมฐานเคลื่อนไหวสัมปชัญญะปัพพะ 14 จังหวะ มันรู้ทุกจังหวะไหม ชั่วโมงหนึ่งประมาณ 3,600 รู้ มันรู้ถึง 3,600 รู้ไหม เคยมีไหม ขยันรู้อย่างเนี้ย วินาทีละรู้เนี่ย เดินก็เหมือนกัน อาจจะไวกว่าการสร้างจังหวะ เดินชั่วโมงหนึ่งอาจจะเป็น 5,000-6,000 ก้าว ก้าวหนึ่งก็รู้สึกระลึกได้ถึง 5,000-6,000 การรู้ เคยนับก้าวรู้สึกไปเรื่อย ๆ จากวัดป่าสุคะโตไปภูเขาทอง จากศาลาไก่ เดินลัดไปทางสะพานแขวนโน่น แต่ก่อนไม่มีถนนสายนี้ บ้านนี้เป็นเกาะเวลาน้ำท่วมไปไหนไม่ได้ น้ำลำปะทาวมันขวางกั้นไว้หมด เดินจากศาลาไก่ไปถึงประตูวัดภูเขาทอง 5,307 ก้าว หรือ 5,310 ก้าว นับทุกวัน เพราะอยู่คนเดียวสองวัดนี้ ตอนเช้าพอฉันข้าวที่นั่นแล้ว ก็มา เดินมานี่ มาดูโน่นดูนี่ ตอนเย็นอาบน้ำแล้วเอาผ้าพาดไว้ท่าน้ำ ให้คนได้เห็นว่า ผ้าอาบน้ำตากอยู่นี่ยังมีพระอยู่ พอย่ำค่ำมาก็เดินกลับไปวัดภูเขาทอง เดินทุกวัน ก็หัดรู้ไป รู้ไป ๆ ๆ หัดทุกรูปแบบ เพื่อกับการชำนาญเป็นศาสตร์เป็นศิลป์ในการใช้กาย มันก็สนุกดี เป็นใหญ่ในกาย เป็นใหญ่ในใจ สติเนี่ย คือความรู้สึกตัวนี่ เราไม่หัดก็ไม่เป็น อาจจะหลง เกิดมาถึงวันนี้ปูนนี้ ความหลงกับความโง่มันเป็นอย่างไร ให้ความเป็นธรรมต่อกายต่อใจไหม กายใจได้รับความเป็นธรรมไหม เมื่อไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นกายกับใจ มันก็เป็นทุกข์เป็นโทษ ครองตนเองก็ไม่ได้ เมื่อครองตัวเองไม่ได้ ก็ครองคนอื่นก็ไม่ได้ ครองงาน ครองการก็ไม่ได้ ครองศาสนาก็ไม่ได้ ผิดพลาด เป็นปัญหาต่อตัวเองและคนอื่น ต่อครอบครัว ต่อประเทศชาติ ต่อโลก ไม่มีโลกะวิทู ไม่มีโล่กำบังคุ้มครองโลก ถ้าคุ้มครองตัวเองได้ ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในเรา เกิดความเป็นธรรมต่อไปเรื่อย ๆ ไป เราจึงมาประกัน น่าจะขอบคุณความหลง น่าจะขอบคุณความทุกข์ น่าจะขอบคุณความโกรธ ความโลภ กิเลส ตัณหา ราคะ มันก็ได้สูงขึ้นไปเพราะเรื่องนี้ ถ้าไม่มีเรื่องนี้เราก็ไม่สูง ไม่ชื่อว่ามนุษย์ใจสูง มันจึงเหนือแก่เจ็บตาย เพราะไม่มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นทุกข์ นี่หลงเป็นหลง ก็มีทางเกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ถ้าหลงเป็นรู้ ถ้าหลงเป็นรู้ โกรธเป็นรู้ ทุกข์เป็นรู้ มันก็เหนือไปเรื่อย ๆ เป็นอย่างนี้ มันลากขึ้นไป ถ้าจะเปรียบเหมือนกับมรรคผลนิพพานอยู่สูง ๆ มันไม่ใช่หน้าผา ปฏิบัติธรรมมันทำให้ลาด ไปง่าย ๆ อย่างนี้ ถ้าหลงเป็นรู้ โกรธเป็นรู้ ทุกข์เป็นรู้ อะไรเกิดขึ้นมาเป็นรู้ ไปทางนี้ ถ้าหลงเป็นหลง เป็นหน้าผา เป็นชันขึ้นไม่ได้ ให้ลาดเอง ปฏิบัติทำให้ลาดง่าย เอียงง่าย ขึ้นง่าย ผ่านง่าย ถ้าไปห้ามหลง ห้ามความโกรธทำไม่ได้หรอก ให้รู้สึกตัว เวลามันทุกข์ก็รู้สึกตัวเนี่ยมันลาดแล้ว เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์พ้นจากทุกข์มันง่ายอย่างนี้ ถ้าหลงเป็นหลง ก็เป็นภพเป็นชาติไป ก็ไปอย่างนี้กันทุกชีวิตนั่นแหละ อันเดียวกันแท้ ๆ เดินทางสายเดียวกัน ไปคนเดียว ไปสู่ที่เดียวกัน ก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่ใช่ชั้นวรรณะลัทธินิกายเพศวัยอะไรทั้งสิ้น ศาสนาไหนทั้งสิ้น เรามีกายมีใจเหมือนกันหมดคนในโลกนี้ ถูกแสงแดดก็ร้อน ละอองฝนก็หนาว เหมือนกันหมด จึงเป็นอันเดียวกันเนี่ย ชาติใด ภาษาใด คนแก่ คนหนุ่ม นักบวช ฆราวาส ญาติโยม หลงอันเดียวกัน โกรธก็อันเดียวกัน ทุกข์ก็อันเดียวกัน วิธีแก้ก็อย่างเดียวกัน สิทธิอย่างเดียวกัน อะไรมันยาก มีพร้อมแล้วเนี่ย ในความหลงก็มีความไม่หลงอยู่นั่น ในความโกรธก็มีความไม่โกรธอยู่นั่นแล้ว ในความทุกข์ก็มีความไม่ทุกข์อยู่นั่นแล้ว มีสิทธิเปลี่ยนได้ในโอกาสนั่นแล้ว คราวเดียวกันนั้น ไม่มีใครมาแย้ง ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร ไม่ใช่ไปถามใคร ตอบได้เอง มีสิทธิได้เอง เรามาปฏิบัติธรรม มามีสิทธิ 100% ในเรื่องนี้ เราก็ให้โอกาสต่อกันและกัน เวลาเช้าก็ตีฆ้องมารวมกัน ให้โอกาส ให้สัญญาเพื่อจะได้ไม่ประมาท และก็มาแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อให้เกิดเครื่องมือในการปฏิบัติ นำไปปฏิบัติ เพียงพอ พูดอย่างนี้ เอาไปใช้ได้ตลอดไปเลย ได้ยินนะ ทุกคนอย่างนี้ ในความโกรธก็มีความไม่โกรธหนา สิ่งที่เราหลงคนอื่นเขาไม่หลง สิ่งที่เราทุกข์คนอื่นเขาไม่ทุกข์ก็มีในโลกนี้ ทำไมจึงไปอยู่ตรงนั้น มา มาทางนี้ มาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ เป็นความมาอย่างนี้ มาถึงที่ไม่มีน้ำจากที่มีน้ำ จงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีความกังวล ก็ถึงมรรค ถึงผลได้ง่าย มาแบบนี้ มาง่าย ๆ อาจจะ 1 วัน 7 วัน ก็ได้ การหลงคือรู้ มันทุกข์คือรู้ มันโกรธคือรู้ ง่วงคือรู้ คิดคือรู้ ง่าย ๆ อย่างนี้ ด่วนสักหน่อยอย่างนี้ เหมือนกับทางด่วน ๆ อย่างนี้ ถ้าสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ สงบก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ อย่างนี้ มันจะด่วนมากทีเดียวเลย เหมือนหลงเป็นหลงแหละ รถแม่ค้าขายผัก เหมือนรถไฟรถแม่ค้า จอดทุกสถานี ไม่ใช่รถด่วน รถเร็ว รถอะไร หลวงตาเคยไปนั่งรถเร็วไว ที่ประเทศจีน ชั่วโมงหนึ่ง 260 กม. ถึง 300 กม. ชั่วโมงหนึ่ง ไม่มีประเทศไทยเรา นี่ประเทศไทยกำลังจะทำแบบนั้นนะ แต่ว่า ก็เศร้าหมองนะ ทางที่ใดรถไววิ่งผ่านน่ะ เศร้าหมอง เงียบ สงบ การค้า การขาย เมืองต่าง ๆ เงียบเหงาไปเลย เพราะมันไม่จอด ไปจอดเมืองใหญ่ คนแน่นกัน เบียดกัน เมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ ข้ามหัวไปเลย ก็ดีแบบหนึ่ง แต่มันไม่ดีแบบหนึ่ง
นี่รถสายด่วนฟรีเวย์ ปฏิบัติธรรม สติปัฏฐานนี่ฟรีเวย์ มีแต่ไฟเขียวผ่านได้ตลอด รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกระลึกได้ รู้สึกตัวนะ แล้วก็ประกอบอยู่เนี่ย ๑๔ จังหวะ รู้เอา รู้เอานี่ ไม่ใช่ว่า รอให้อะไรถูกซะก่อน เหมือนวัวดื้อ เวลาใส่เกวียน ถ้าไล่ไม่ไป ต้องไม้เรียวตีลงไป ให้ถูกซะก่อน จึงค่อยไป ถ้าดื้อไปกว่านั้น ถ้าเห็นไม้เรียวถูกแล้วยังไม่ไป เห็นเลือดออกซะก่อนดีกว่า บางทีก็ดื้อมากกว่านั้น ถ้ายังไม่ล้มก็ยังไม่ไปหรอก เจ็บขนาดไหนก็ยังไม่ไป วัวดื้อสอนยาก