แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การฟังธรรม คือ การฟังเรื่องชีวิตของเรา ชีวิตของเรามีกาย มีใจ การใช้ชีวิตใช้กายใช้ใจ บางทีก็ผิด การใช้ผิดก็เป็นทุกข์เป็นโทษ การใช้กายใช้ใจถูกก็มีประโยชน์ ถึงมรรค ถึงผล ถึงนิพพาน
การปฏิบัติธรรม คือ การมาใช้กายใช้ใจให้ถูก มาดูแลให้ปลอดภัย วิธีใช้กายใช้ใจให้ถูก ก็มีการปฏิบัติหลายแบบ โดยเฉพาะกรรมฐาน ก็เป็นเรื่องของกายของใจเรา การหายใจเข้า หายใจออก ต้องกลมกลืนกับกายกับใจ มีสติมีสมาธิ การเคลื่อนไหวร่างกาย ยกมือสร้างการเคลื่อนไหว ๑๔ จังหวะ ให้มันกลมกลืนไปด้วยกัน ระหว่างจิตใจกับสมาธิ
ลมหายใจ เดินจงกรม การเคลื่อนไหวของกาย มันก็เป็นทั้งหมดของชีวิต มีสติรู้ รวมลงที่การเคลื่อนไหว ใส่ใจที่จะรู้ มันก็เป็นการล้าง ล้างพิษ ถ้ามีสติรู้ไปกับความเคลื่อนไหว มันล้างพิษภัยที่มันเกิดกับกายกับใจ ระบบหลายอย่าง ถ้ามีสติ มีสมาธิ มีการเคลื่อนไหว มันก็มีระบบการควบคุมการไหลเวียนของโลหิตให้สม่ำเสมอ ไม่มีความกดดัน ก็ชำระอารมณ์ไปในขณะเดียวกัน มีความรู้สึกตัว ๆ มีสมาธิใส่ใจอยู่ มีการเคลื่อนไหวอยู่ มันก็มีประโยชน์เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นโทษก็ค่อย ๆ จางไป ๆ สุขภาพก็จะดีขึ้น สุขภาพร่างกายก็ดีขึ้น สุขภาพทางจิตใจก็ดีขึ้น ระบบไหลเวียนของโลหิตก็ดีขึ้น ระบบของสภาพร่างกาย กระเพราะอาหารก็อ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นดี ระบบย่อยก็จะดี เช่นเรายกมือสร้างจังหวะ มันวิวัฒน์พัฒนาระบบเอวขึ้นมา ระบบไหล่ ระบบหัวใจ ระบบปอด ระบบเลือด หัวใจทำงานปกติ ไม่มีความกดดันอารมณ์มาครอบงำ มีแต่รู้สึกเข้าไป มันก็วางออก เหมือนกับถ้าเป็นท่อน้ำ อันท่อน้ำว่าง ๆ สามารถไหลไปได้ ไม่มีอะไรขวางกั้น ชีวิตของเรามีสิ่งขวางกั้น มีอารมณ์มาขวางกั้น บางที เช่น เวลาใดหิวข้าวก็มีอารมณ์เกิดขึ้น มันก็ทำให้ความหิวไม่มี น้ำย่อยไม่มี การไหลของธรรมชาติมันผิดเพี้ยนไป เพราะฉะนั้นนี่อารมณ์ก็สำคัญนะ โดยเฉพาะไม่มีสติก็ ก็มีอะไรมันจรมาหลายอย่าง ถ้ามีสติมันก็ให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพใช้ได้ รู้สึกตัวไปกับการเคลื่อนไหว มันคิดไป สุขไปทุกข์ไปที่ไหน กลับมารู้ ให้มันปกติ การกลับมารู้นี้ มันเป็นการเยียวยา เยียวยาชีวิตของเราให้อยู่ในความปกติได้ ถ้าจะเปรียบเหมือนหยูกยา พุทธะรัตตะนัง ธัมมะรัตตะนัง สังฆะรัตตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง เป็นโอสถนะ
ความปกติความรู้สึกตัวนี่ ถ้าเป็นรังสีของศาสตร์ ของอะไรต่าง ๆ มันก็ล้างออก ล้างออก หลวงตาเคยไปอยู่เมืองจีน ช่วงไม่สบาย หมอจีนมารักษา การรักษาก็คือ เขาให้เรารักษาตัวเรา ไม่ใช่ให้เขารักษาเรา เขาให้หลวงตานอนลง หลับตา ล้างใจดี ๆ แล้วก็นอน ระหว่างนอนมีสติ แล้วก็มือวางข้าง ๆ หย่อน ๆ เขาก็ให้กำมือ ให้รู้สึกตัว หายใจเข้า ลองดูซิ หายใจเข้า แบมือหายใจออก หายใจเข้า หายใจออก ทำอยู่สักเก้ารอบสิบรอบ แล้วเขาก็บอกว่า บัดนี้มีหลอดไฟสีเขียวเต็มบนศีรษะ หลอดไฟสีเขียว ๆ อยู่บนศีรษะ หลอดไฟก็ไหลอยู่บนศีรษะตามผิวหนัง ไหลลงมาทางแขนซ้าย ไปปลายนิ้ว ไหลลงมาถึงแขนขวา ไปถึงปลายนิ้ว หลอดไฟก็ไหลลงไปตามลำคอ ตามหน้าอก ตามท้อง ตามกระเพราะอาหาร ตามเอว ตามสะโพก ไหลลงไปถึงต้นขา ถึงเข่า ถึงน่อง ถึงข้อเท้า ปลายเท้า ร้อนปลายเท้า ร้อนปลายมือ หลอดไฟสีเขียวก็หลุดออกไป พร้อมด้วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วหลอดไฟสีเขียวก็ขึ้นมาอีกบนศีรษะ ไหลไปตามผิวหนัง ทั่วสรรพางค์กาย ไหลลงไปเลย ลงไปเลย ๆ ลงไป ไหลลงไปสู่ปลายเท้าปลายมือ ร้อนที่ปลายเท้า ปลายนิ้วมือ แล้วก็ขับของเสียออกจากผิวหนัง หลอดไฟสีเขียวก็ไหลมาสู่เนื้อ กล้ามเนื้อทุกส่วน ตั้งแต่บนศีรษะ ไหลลงไปจนถึงปลายเท้าเหมือนกัน ทำสบาย ๆ หายใจโล่ง ๆ หลอดไฟสีเขียว ๆ ก็ไหลขึ้นมาบนศีรษะ ไหลเวียนไปตามกระดูก ทุกส่วนของกะโหลกศีรษะ ไหลไปกระดูกต้นคอ กระดูกสามร้อยท่อน หลอดไฟสีเขียวไหลไปทั่วกระดูกจนถึงปลายนิ้ว ก็ร้อนที่ปลายนิ้ว หลอดไฟเขาหลุดออกมา ถือว่ารักษาโรคของท่านแล้ว หลอดไฟสีเขียวไหลมาสู่เส้นประสาททุกส่วนของร่างกาย บนศีรษะ ไหลไปตามเส้นทุกเส้น เส้นเลือด เส้นลม เส้นโลหิต เส้นประสาท ไหลลงไปจนถึงปลายเท้า หลุดออกไป ร้อนที่ปลายเท้า รักษาโรคของท่านแล้ว หลอดไฟสีเขียวขึ้นมาสู่บนศีรษะ เข้าไปสู่สมอง อยู่ในสมอง ในกะโหลกศีรษะ ไหลไปเต็มหมด ไหลลงมาสู่ลำคอ ไหลลงมาสู่หัวใจ ตับ ไต ไส้ พุง ทุกส่วนของร่างกาย กระเพราะอาหาร ไหลลงไปทางต่ำลงไป ขับลงไปถึงปลายเท้า ร้อนที่ปลายเท้า ขับของเสียออกไปแล้ว หลอดไฟทุกหลอด ไหลลงมาสู่ทุกส่วนของร่างกาย ขับล้างอีกทีหนึ่ง ก็ให้เราทำสมาธิ นี่เรียกว่าฉายรังสีให้ตัวเอง วิธีเขารักษาคน ดีไหม เพราะนั้นการรักษาคน แพทย์แผนตะวันออก เขาให้เรารักษาเรา ไม่ใช่เขามาช่วยเรา ให้เราทำอย่างนี้ ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน รักษาตัวเอง เหตุใดมันคิดไป กลับมารู้ รักษาใจ อย่าปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจิตใจ การรู้ทุกครั้ง มันก็เป็นการทำให้ร่างกายปกติ
พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องนี้ การคู้แขนเข้ามีสติ การเหยียดแขนออกมีสติ การคู้แขนเข้าการเหยียดแขนออกมีสติ มันไม่ใช่เท่านี้ มันทำให้ทุกส่วนของร่างกายอยู่ในปกติได้ เคยหมกมุ่นครุ่นคิด เคยมีความสุข มีความทุกข์ มีอารมณ์ค้าง มีจริตนิสัยยังไง ไม่อยู่ กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว มันก็ร้อนอยู่นะ ให้มันรู้หยุดลงไป มันก็ดีไปทุกส่วน รู้สึกตัวเข้าไป ยืดตัวทำให้อ่อนโยนนุ่มๆ จิตใจนุ่มๆ นุ่มนวล กายก็นิ่มนวลไม่แข็งกระด้าง ไม่มีอะไรสู้ ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก มีแต่เห็นรู้ไป รู้ไป รู้ไป วางหมด ไม่ว่ามันอะไรเป็นอะไรทั้งหมด สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ไม่ว่ารัก ไม่โกรธเกลียดชัง อะไรมันค้างอยู่ในใจ ก็มารู้ สิ่งนั้นก็จืดลง ๆ มีแต่ภาวะที่รู้เข้าไปแทน อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม มันก็เกิดผลต่อเราเอง ถ้าเราสัมผัสกับความรู้สึกตัวเนี่ย เคลื่อนไหวไม่ใช่ของธรรมดา อย่าขี้เกียจ มันเป็นของสมบัติของชีวิตของร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ บางทีการเคลื่อนไหวอาจจะเลียนมาจากสัตว์สมัยก่อน ๆ อย่างชี่กง ไทเก็ก อะไรต่าง ๆ มาจากสัตว์ เห็นไหม ช้างมันทำงานหนัก ลากซุง วัวควายมันทำงานหนัก ลากล้อ ลากเกวียน ลากคราด ลากไถ มันพรวน ไถพรวนดินในท้องนา เป็นหลาย ๆ ร้อยไร่ มันก็ดันอยู่เช่นนั้น เวลามันลุกขึ้นมา มันก็เหยียดทั้งพับหน้าพับตัว เคลื่อนไหวไปมา มันก็เบียดต้นไม้ เช่นช้างเนี่ย เวลาควาญข้างพาช้างอาบน้ำ พอช้างอาบน้ำขึ้นมา ก็บอกให้ช้างนวดตัว เอาต้นไม้เป็นหมอ หมอนวด มันก็เอนท้องเข้าไปนวด เอนข้างเข้าไปนวด เอนหลังเข้าไปหาต้นไม้นวด ข้างซ้ายข้างขวา นวดตัวมัน มันเอาต้นไม้เป็นหมอ เป็นหยูกเป็นยา การเคลื่อนไหวนี่ไม่ใช่ธรรมดา มันทำให้เลือดไหลเวียนดีไม่อุดตัน หัวใจก็ไม่อุดตัน อารมณ์ก็ไม่มีขวางกั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทาน บางทีเราไปยึดอะไร ยึดอุปาทาน สุขก็เป็นสุขยึดเอาไว้ ทุกข์เป็นทุกข์ ต้องการความสุข ทุกข์ไล่ตาม กี่ครั้งกี่หน ความรักมีความเกลียดชัง ความพอใจมีความไม่พอใจ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเสียศูนย์ เกิดจากจิตใจ อารมณ์มาเป็นคู่ จรมาพักอาศัย ส่วนด้านร่างกายก็คอยจะเป็นทุกข์เป็นโทษ ถ้าใจมีความโกรธ ร่างกายก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ถ้าร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บ ใจก็หมกมุ่นครุ่นคิด เป็นศัตรูกัน ไม่เป็นมิตรกันเลยระหว่างกายระหว่างใจ
บัดนี้ เรามาฝึกตนเนี่ย ให้เห็น ให้รู้อยู่ที่กาย แต่มันไปรู้ที่ใจ นั้นเวลาสอนใจ ใจไม่มีตัวมีตน ไปจับมันไม่ได้ จับฝึกไม่ได้ ไปหัดให้มันอยู่เป็นที่ ให้มีสติรู้ที่กายเคลื่อนไหวไปมา แล้วใจมันก็ไม่ไปไหน มันไปแล้วก็กลับมาที่นี่ เรียกว่ามีที่ตั้งแบบนี้แล้ว มันไปทางอื่นกลับมา มีสติรู้สึกตัว มันผิดร้อยครั้งพันหน สอนมันร้อยครั้งพันหน ให้มันรู้ มีความรู้ เข้าไปดูแลกายใจ เหมือนพ่อแม่ดูแลลูก พระพุทธเจ้าจึงชื่อธรรมทั้งสองอย่างนี้ว่า อุปการคุณ เหมือนพ่อเหมือนแม่ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวนี่ เหมือนพ่อเหมือนแม่ของกายใจของใจ พ่อแม่ก็ดูแลลูกอยู่นี่ ธรรมก็ดูแลชีวิตของเราแบบนี้ อะไรที่มันดูแลเราทุกวันนี้ ถ้าเรามาดูดี ๆ ดูซิ ชีวิตเรามาถึงปูนนี้ มันหลงมากหรือว่ามันรู้ ความหลงกับความรู้สึกตัว ความปกติกับความไม่ปกติ อันไหนมันมากกว่ากัน กายก็ดีใจก็ดี บางทีมันเอาอะไรมาใส่ กินเหล้า สูบบุหรี่ สิ่งเสพติดทั้งหลาย มันใช้ผิดไป จิตใจก็ไปหมกมุ่นครุ่นคิด ฟู ๆ แฟบ ๆ ดีใจเสียใจ อันดีใจเสียใจ พอใจไม่พอใจ ไม่ใช่บ้านของใจ เรียกว่าใจสำส่อน ถ้าเป็นคน ก็เป็นโสเภณี โสเภณีจิตสำส่อน ใจที่มันคิดอะไรได้ทั้งหมด มันก็ใจสำส่อนเหมือนกัน เสียศูนย์ เสียความเป็นใจ ไปเปรอะเปื้อนอะไรมา ไปยึดเอาสิ่งนั้นว่าเป็นเรา นึกว่าเราสุข เราก็เป็นผู้สุข นึกว่าเราทุกข์ ก็เป็นผู้ทุกข์ไป สุข ๆทุกข์ ๆ มันไม่ใช่ใจ ความสุขเป็นอารมณ์ ความทุกข์เป็นอารมณ์ ความโกรธเป็นอารมณ์ ความวิตกกังวลเศร้าหมองเป็นอารมณ์ กิเลสตัณหาราคะเป็นอารมณ์ มันจรมา ใจแต่เดิมมันบริสุทธิ์ สะอาดเป็นผ้าขาว แต่สิ่งที่มันมาทำให้ผ้าเปื้อน ไม่ใช่ผ้า มันมีสิ่งสกปรก มันใช้ไม่เป็น ไม่สำรวมระวัง เรี่ยราด มันก็ไปเปื้อนเอาสิ่งสกปรก แต่สิ่งสกปรกนั้นซักได้ ซักได้ เอาออกได้ ใจที่มันหลง ไม่หลง ซักออก มีสติ ใจที่มันโกรธ ไม่โกรธ มีสติเข้าไป ซักออก ให้มันขาวบริสุทธิ์ การมีสติมันก็ละความชั่ว มีสติมันก็ทำความดี มีสติจิตก็บริสุทธิ์ เหมือนเราสวดโอวาทปาติโมกข์เมื่อกี้นี้
พระสูตร สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้เกิดขึ้น
สะจิตตะปะริ โยทะปะนัง การทำจิตของตนให้ขาวรอบ
มันเป็นคำพูด ไม่ใช่การกระทำ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง มันทำบาปอะไร เรามาอยู่วัดนี่ บวชเป็นพระเป็นชี เป็นญาติเป็นโยม แต่มันมีทางจิตที่มันคิดไป มันเป็นใหญ่ มันไปย่องไปมา นั่งอยู่นี่มันคิดไปถึงโน่น คิดไปถึงคนรัก คนชัง คิดไปถึงความสุขความทุกข์ มันแล่นไป ใจมันเป็นใหญ่ เมื่อใจไปแล่นไปดื้อ ซุกซน มันก็ไม่อยู่ที่นี่ ไม่ได้รักษาศีล ผิดศีล หมกมุ่นครุ่นคิด ในอารมณ์ที่ครุ่นคิด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอครุ่นคิดในอารมณ์ที่ครุ่นคิด ปล่อยไปในทางราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าศีลของเธอทะลุแล้ว ด่างแล้ว พร้อยแล้ว ไม่มีศีลเลย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้ใดครุ่นคิดในอารมณ์ที่ครุ่นคิด เธอมีสติสำรวม ไม่หมกมุ่นครุ่นคิด มีสติสัมปชัญญะเฝ้าดูแลอยู่ เรียกว่าเธอรักษาศีล ศีลของเธอบริสุทธิ์แล้ว มันผิดศีลเพราะความคิดนะ ศีลที่จะเป็นศีลสิกขา ศีลที่จะไปสู่มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ศีลสมาทาน เป็นศีลสิกขา มันบริสุทธิ์ เมื่อเรามีสติเนี่ย มีสติทุกส่วน คนละความชั่วเป็นศีลแล้ว ไม่ได้คิดไปไหน เมื่อมีสติอยู่ มันก็ทำความดีแล้ว สร้างกุศลแล้ว เมื่อมีสติอยู่ มันก็จิตบริสุทธิ์แล้ว ครบวงจรเลย มันไม่มาก ถ้าเรามีทำถูก ถ้าเราทำถูก มันไม่มาก ถ้าเราทำไม่ถูกก็มากไป ถ้าทำถูกมันน้อย ๆ ถ้ามีสติมันรวม แปดหมื่นสี่พันรวมลงที่สติ เป็นแม่ของธรรมทั้งหลาย ถ้าหลงก็เป็นแม่ของอกุศลทั้งหลาย ผิดพลาดไปเลย
พระพุทธเจ้าจึงศึกษาเรื่องนี้กัน ได้ศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นพระพุทธเจ้านะ แต่ก่อนศึกษาเรื่องอื่น เอากายนอนเสี้ยนนอนหนาม ไม่กินข้าว ไม่หายใจ นั่นไม่ใช่ทาง ผิด แม้แต่หนังหุ้มกระดูก มันยังคิดถึงสาวสนมกำนัลใน ถึงมีกิเลสตัณหา โกรธปัญจวัคคีย์(...) นั่นแหละได้บทเรียน โอ ขนาดร่างกายมันผอมขนาดนี้ มันยังมีอย่างนี้นะ มันต้องเป็นเรื่องจิตใจแน่นอน เราต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ไปศึกษาเรื่องจิตเรื่องใจ การศึกษาเรื่องใจทำยังไง ก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ อาบน้ำ สระผม อยู่ในดงคสิริ หลวงตาไปตามร่องรอย พระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญทุกรกิริยาแถบนั้น มีถ้ำอยู่ ภูเขาดงคสิริ เทือกเขามาจากราชคฤห์ มาลงมาทางใต้ มาทางพุทธคยา ตามแม่น้ำเนรัญชรา มีภูเขาที่ใดก็มีแม่น้ำอยู่ที่นั่น เช่น ลำปะทาวไหลออกจากภูเขาที่นี่ เนรัญชราก็ไหลจากเทือกเขาปัญจนคร เขาทั้งห้าลูก จากกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากกบิลพัสดุ์ มาผ่านราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเนี่ย พระเจ้าพิมพิสารจะแบ่งเมืองให้คนละครึ่งให้ปกครอง พระสิทธัตถะไม่เอา ขอแสวงหาโมกขธรรม พระเจ้าพิมพิสารเลยบอกว่าถ้าได้ถึงบรรลุธรรม โมกขธรรมสูงสุดแล้ว ให้กลับมาสอนด้วย สัญญากัน แล้วผ่านพระเจ้าพิมพิสารมาทางตอนใต้ ลงมาแถวดงคสิริ แถวแม่น้ำเนรัญชรา มาทรมานตัวเอง จนที่สุดก็เลิก เบื้องต้นมานั่งอยู่ใต้ต้นนิโครธ อาบน้ำ กินข้าว ปัญจวัคคีย์หนีจาก เห็นว่าไม่ใช่ทางแล้ว มักมากแล้ว พระสมณโคดมกินข้าวแล้ว ไม่มีทางบรรลุธรรมแล้ว หนีไปเลย เหลือแต่พระองค์เดียวอยู่ลำพัง ก็ได้ข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา นั่งอยู่ต้นนิโครธ เป็นทุ่งนา เด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายรบกวนมาก เลยหนีออกจากต้นนิโครธทางทิศตะวันออกของเนรัญชรา ข้ามแม่น้ำไปทางทิศตะวันตก เดินไประหว่างแม่น้ำไปถึงเนินพุทธคยา มีโสตถิยะพราหมณ์เอาหญ้าคาถวาย ไปเกี่ยวหญ้ามา เห็นเป็นสมณะไม่มีอะไร ไปเอาหญ้าคาแบ่งให้ห้ากำมือ พระพุทธเจ้าก็ถือไป ไปปูลาดต้นศรีมหาโพธิ์แล้วก็นั่งอยู่ตรงนั้น ไม่มีเบาะนั่งเหมือนเรา หญ้าคานั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ไม่มีกระดานเหมือนเรา อธิษฐานใจอย่างแน่วแน่ เราจะไม่ลุกจากที่นี่ ตายเป็นตาย ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมเมื่อไหร่ ก็คู้แขนเข้า เบื้องต้นคู้แขนเข้ามีสติ เหยียดแขนออกมีสติ การเหยียดแขนออกมีสติ การคู้แขนเข้ามีสติ แทนที่มันจะมีสติ มันก็คิดไปหลายอย่าง คิดถึงพิมพาราหุล คิดถึงปราสาทสามฤดู คิดถึงสาวสนมกำนัลใน คิดถึงพระราชทรัพย์สินศฤงคาร กลับมา ไม่ใช่มานั่งคิดถึงลูกถึงเมียนะ เรามาบำเพ็ญนะ กลับมา มันคิดไป กลับมา ปฏิบัติคิด กลับมา มันคิดไปเรื่องอะไรก็ตาม กลับมา รู้สึกตัว ทำตรงนี้ รู้สึกตัวตรงนี้ ให้รู้สึกตัว บางทีวางมือหายใจเข้า รู้สึกตัว หายใจออก รู้สึกตัว บางครั้งก็ลุกขึ้นเดิน เห็นรอยเดินทางด้านทิศเหนือของพระศรีมหาโพธิ์ เดินกลับไปกลับมา รู้สึกตัว เดินมันก็คิดเหมือนเก่า ความคิดไม่อยู่ในอิริยาบถใด เราก็รู้สึกตัวกลับมา ทุกก้าวที่มันรู้สึกตัว มันคิดไปก็กลับมารู้สึกตัวอยู่ จริงจังเข้าไป ระหว่างมันหลงรู้ มันไปไม่รอดนะ ความหลงไม่ใช่ของจริง สัมผัสดู สัมผัสดู สัมผัสดู เห็นมันหลง เห็นมันรู้ เห็นมันหลง เห็นมันรู้ มันพิสูจน์ไม่ได้ความหลง มันไม่ทนทาน ไม่ใช่ของจริง ของจริงคือความรู้สึกตัว ตัดสินใจ ยิ้มให้กับมัน แต่ก่อนความหลงทำให้เครียดนะ ถ้ามันคิดไป ง่วงก็ง่วง มีความง่วงเหงาหาวนอนมี ความลังเลสงสัยมี คิดหน้าคิดหลังไป อะไรผิดอะไรถูก คิดได้ ไม่ให้ความคิดมาตัดสิน เอาการกระทำ ใครก็คิดได้ พอทำลงไป เอ๊ะ มันมีประโยชน์อะไรเนี่ย มาให้ยกมือเคลื่อนไหวไปมา มีประโยชน์อะไร ไปบ้าน กลับบ้าน ทำงานทำการดีกว่า ได้นู่นได้นี่ขึ้นมา ทิ้งบ้านทิ้งเรือนมาทำไม เรามีลูกมีเมีย มันคิดหาเหตุหาผลไป ราหุลเกิดได้ ๗ วัน เราหนีมา พิมพาก็ยังไม่แข็งแรง เราหนีมาเนี่ย จะอยู่ยังไง ๖ ปีแล้ว ปีที่ ๖ แล้วนะ ไม่เคยกลับบ้าน ๖ ปีนะ เรามาเพียงสองวันก็คิดถึงบ้านแล้ว สิทธัตถะ ๖ ปีนะ มันจะขนาดไหน ทนนะ มีมนุษย์คนไหนบ้าง เคยอยู่ในความสุข สุขุมาลชาติ ถอดเกือกแก้วออก ถอดเสื้อผ้าออก นุ่งผ้าสีปะ ๆ ไม่มีอะไร มันก็ย้อนคิดไป กลับมา ๆ บัดนี้แหละมันก็เห็น เห็นก็เฉย ๆ โอ ๆ หัวเราะความคิดได้ หัวเราะความสุขได้ หัวเราะความทุกข์ได้ สุขมันเป็นอันหนึ่ง ทุกข์มันเป็นอันหนึ่ง อันที่ไม่สุขไม่ทุกข์มันก็มีอยู่ เหมือนกับเราดูมัน ภาวะที่ดู มันมีอำนาจนะ มันเป็นฌานนะภาวะที่ดู มันเผา มันหมดไป เห็นความสุขความสุขหมดไป มีแต่ภาวะรู้เข้าไป เห็นความทุกข์ความทุกข์หมดไป เห็นมันรัก มันเกลียดชัง ความรักความเกลียดชังหมดไป มันไม่ทน มีความรู้สึกตัวเข้าไป รู้อะไร ธรรมย่อมชนะอธรรม อธรรมคือความไม่ดี ธรรมคือความดี อธรรมคือความไม่ถูกต้อง ธรรมคือความถูกต้อง เทียบใส่เข้าไป เลือกได้ ตัดสินใจ เห็นกระแส แต่ก่อนมันอยู่โน่นนะ จิตใจของเราอยู่ต่ำ ๆ บัดนี้สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา เห็นเนี่ยมันสูงนะ การเป็นมันต่ำต้อย เมื่อไหร่ได้กระแส ได้โอกาส ทะลุทะลวงอะไรได้บ้าง เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นการระลึกถึง ๖ ปีก่อน มันเป็นยังไง เดี๋ยวนี้เป็นยังไง สภาพจิตใจเป็นยังไง เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ เดี๋ยวนี้อยู่ตรงไหน มีใจอยู่ตรงไหน แต่ก่อนใจมันเอาทุกอย่าง เดี๋ยวนี้มันไม่มีอะไร มันมีสติรู้สึกตัวอยู่ ดูหน้าดูหลังบริสุทธิ์ กายก็ไม่ได้ทำบาป ใจก็ไม่ได้คิดทำบาป วาจาก็ไม่ได้พูดอะไรที่ผิด ๆ ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อาสวักขยญาณ เมื่อมีอาสวะจิตออกไปบางอย่าง ทำลายความหลง ทำลายความโลภ ความโกรธ ความทุกข์ลงได้มาก ไม่หมดไปก็เบาบางลงมา แต่ก่อนหลง ๑๐๐% โกรธ ๑๐๐% ทุกข์ ๑๐๐% พอมีสติมันก็ลดลง อาจจะเหลืออยู่ ๑๐-๒๐ % เท่านั้น นิดหน่อย อุ่น ๆ นิดหน่อย ไม่เร่าร้อน ต่างกับภาวะเดิม ภาษาเราเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ล่วงพ้นภาวะเก่าขึ้นมา เพราะการฝึกขึ้นเนี่ย ไม่ได้ไปเอาชีวิตไหนมา เป็นดวงจิตที่มันบริสุทธิ์กว่าเก่า เคยสุขก็ไม่สุข เคยทุกข์ไม่ทุกข์ เคยรัก เคยเกลียดชังใคร มันก็ไม่มี มีแต่ภาวะที่รู้อยู่ สัมผัสความรู้เข้าไป สัมผัสความรู้เข้าไป มีความรู้สึกตัวอยู่ หายใจเข้า หายใจออก การเคลื่อนไหว การเดินจงกรม
นักปฏิบัติต้องไม่จน ตั้งต้นใหม่อยู่เสมอ อย่าไปข่ม บางทีมันง่วง ก็อย่าไปสู้ความง่วง ไม่มีอะไรต่อสู้ เพียงแต่เห็นมันง่วง ไม่เฮ็ดเป็นผู้ง่วง ง่าย ๆ บางคนพอง่วงก็สู้กับความง่วง สู้ไม่ไหว ผลที่สุดก็แพ้ หาที่นอนไปเลย อ้าปากหาว ลืมตาไม่ขึ้น ลุกไปล้างหน้า มันก็ยังง่วงอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนที่ใจ มันดันไปเปลี่ยนที่กาย ถ้าใจมัน รีบ ๆ เห็นมันซะนะ ง่าย ๆ ถ้าเป็นมันยาก ถ้าเห็นมันง่าย วิธีที่จะหลุดพ้น ถ้าเห็นแล้วหลุดพ้น ถ้าเป็นแล้วหลุดพ้นไม่ได้ เห็นสุขพ้นจากความสุข เห็นทุกข์พ้นจากความทุกข์ ถ้าเป็นผู้สุขก็เป็นผู้สุข หนีไม่พ้น ถ้าเป็นผู้ทุกข์ก็เป็นผู้ทุกข์ไปเลย ถ้าเป็นผู้ง่วง เป็นผู้ยาก เป็นผู้ง่าย เป็นผู้เครียด มันก็หนีไม่ออก ไปไม่ได้ โซ่ไม่แก้ กุญแจไม่ไข การเป็นนี่มันติดหลัก ถ้าเห็นมันปล่อยออกมา
วิธีปฏิบัติ เรียนลัด ๆ แบบนี้ ไม่ต้องหาเหตุหาผล ทำอย่างนี้มันเกิดนี้ขึ้นมา ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันเกิดนี้ขึ้นมา เนื่องด้วยกัน เช่น เราโกรธ มันมาจากไหน มันมาจากความหลง เราทุกข์มาจากไหน มาจากความหลง เราเกิดอะไรต่าง ๆ มันมาจากไหน มาจากความหลง เพราะความหลงมี มันจึงเป็นอย่างนี้ เป็นนี้ เป็นนี้ ๆ เป็นชาติ ชรา มรณะไป ถ้าไม่มีความหลง อันนี้ก็ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี มันมีต้น ชีวิตของเรานี้นะ เรียกว่าเนื่องด้วยกัน ภาษาที่เราคุ้นเคยเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท มันเนื่องด้วยกัน เพราะฉะนั้นเนี่ยมันมีต้น ทุกอย่างเกิดที่เหตุ จะดับก็ดับที่เหตุ ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ ไม่ว่าอะไรทั้งหมดเลย มันก็มีเหตุเนี่ย เหตุที่มันโกรธ มันมีเหตุอยู่เนี่ย เหตุที่มันทุกข์ เพราะมีเหตุอยู่เนี่ย มันมีอะไรล่ะ มีหลง มีรู้ มีสองอันเท่านี้ ถ้าหลงมันหน้ามือ ถ้ารู้มันหลังมือ หรือถ้าหลงมันหลังมือ ถ้ารู้มันหน้ามือ เปิดออก ถ้าหลงก็ทุกข์เหมือนหลังมือ ความไม่ทุกข์เหมือนหน้ามือ เปิดออก มันมีคู่อย่างนี้ ทุกอย่างมีคู่แบบนี้ มีมืด มีสว่าง มีแก่ต้องมีไม่แก่ มีเจ็บต้องมีไม่เจ็บ มีตายต้องมีไม่ตาย อย่างเนี้ย มีหลงก็มีรู้ มีทุกข์ก็มีรู้ มีโกรธก็มีรู้ มันมีแบบนี้ เหมือนอะไรก็มีสอง เรียกว่าคู่ มีโกรธมีไม่โกรธ มีทุกข์มีไม่ทุกข์ เป็นคู่กัน มองแบบนี้ อย่าไปจน บางทีเราทำไปมันทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ มีสิทธิ มันโกรธ มันไม่โกรธก็ได้ มีสิทธิที่ไม่โกรธ มีสิทธิไม่ทุกข์ ใช้สิทธินี่ บางคนไม่ใช้สิทธิเลย โกรธข้ามวันข้ามคืน ทุกข์อยู่ทั้งนั้น จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อันความไม่ทุกข์อยู่กับเราแท้ ๆ ทำไมไม่ใช้ เปลี่ยนลองดู สู้ลองดูสักหน่อย หายใจเข้า หายใจออก พลิกมือ มายกมือสร้างจังหวะ พระพุทธเจ้าทำไว้ให้ อย่าไปจี้อยู่ที่เดียว เปลี่ยนแปลงไป ออกฉาก ออกฉาก เหมือนนักมวยคอยชก ออกฉาก ออกฉากใหม่
หลวงตาเคยเห็น กระแตตัวเล็กสู้กับงูตัวใหญ่ งูตัวใหญ่มันคาบหนูตกลงมา หนูร้องจู๊ด ๆ ๆ ๆ กระแตอยู่โพรงไม้ต้นตับเต่ากุฏิหลวงตา วิ่งลงมา วิ่งกัดหางงู มันไม่สู้กับงู มันวิ่งกัดหาง งูเลื้อยไป กระแตก็วิ่งกัดหาง งูก็คาบหนู มันจะกัดกระแต สู้กระแตไม่ได้ เพราะมันคาบหนูอยู่ กระแตคาบหาง กัดหาง ๆ ๆ ถี่เข้า ๆ ๆ หลวงตาก็ดูอย่างสนใจ งูวางหนูเลย มาสู้กระแต กระแตก็เต้นออก กระโดดออก ไม่สู้ งูจะเลื้อยไปตามหนู หนูคลานไปนะ พองูจะเลื้อยตามหนูไป งูมันหางมันอยู่ที่กับหัวมันอยู่ไกลกันนะ พอมันเลื้อยกระแตกัดเอาไว้ อยู่เป็นวางูมันใหญ่ กระแตคาบหางงู กัดเอาไว้ งูก็ขึ้นมาสู้กระแต กระแตกระโดดหนี งูยังจะตามหนูอีก งูก็เลื้อยไปทางนู้น กระแตก็กัดหางไว้อีก ผลที่สุดงูมันตัวใหญ่ โค้งขดงอขึ้นมา กระแตก็ไม่สู้ วิ่งล้อมอยู่ ผลที่สุดหนูวิ่งเข้ากอไผ่ เข้าโพรงไปเลย กระแตวิ่งล้อมอยู่ งูก็เลื้อยไป ผลที่สุดหนูรอดปลอดภัย สัตว์ตัวเล็กสู้กับสัตว์ตัวใหญ่ งูมันกินกระแตด้วยนะ แต่กระแตมีปัญญา สามารถบังคับงูได้
ประสาอะไรกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มันสู้กับสติไม่ได้ดอก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตรงนี้ พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ เรามีสติเดี๋ยวนี้ กับสติอยู่กับพระพุทธเจ้าอันเดียวกัน อยู่กับแม่ชีอันเดียวกัน อยู่กับพระอันเดียวกัน อยู่กับญาติโยมคนหนุ่มคนสาวอันเดียวกัน ไม่ใช่แปลกกัน มีสิทธิ ๑๐๐% เราจึงมาศึกษาลองดู พิสูจน์กันเถอะพวกเรา
หลวงตาสอนธรรมะอยู่นี่ นานแล้ว ยังไม่มีอะไร ชีวิตของพระกรรมฐานเนี่ยอาภัพที่สุด ไม่มีใครที่จะมาพูดให้ฟัง มันเป็นยังไง หลวงตาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน ยังพูดให้หลวงพ่อเทียนฟัง ภายในสองปีเท่านั้นเอง แล้วก็เป็นนักเทศน์เลยตั้งแต่พรรษาแรกนะ แต่นี่ถ้าหลวงตาไม่เทศน์ มีการเทศน์กันไหมที่นี่ พระสองพรรษาแรกต้องแสดงธรรมได้แล้ว เพราะมันอดไม่ได้ มันอดไม่ได้ ไม่ต้องอาราธนาก็ได้ ไม่มีที่แสดงธรรม มาสร้างวัดของตัวเองขึ้นมา นั่งอยู่เนี่ย เราทำเอง เรียกคนมา เอาแบบนั้นนะ ตั้งแต่บวชมา พยายามหาที่หาทาง ๘-๙ วัดแล้ว คิดว่าที่นี่เหมาะที่สุด พออยู่กันได้ หลวงพ่อเทียนมอบวัดให้เราสามวัด เลือกเอา อย่าหนีไปไหน มีวัดทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย อยู่ในเมืองเลย วัดโมกข์อยู่ในขอนแก่น วัดสนามในอยู่ในกรุงเทพ สามวัด อย่าหนีไปไหน จะเอาวัดไหนก็ได้ แต่เราไม่ค่อยคิดแบบนั้น มีพระอีกจำนวนหลายรูป สามารถอยู่ได้ มันสำเร็จแล้ว เราต้องเก่งกว่านี้อีก ไปหาที่ใหม่ พระวัดนี่ มันทำเสร็จแล้วให้เขาอยู่เถอะ เราไปหาที่ใหม่ มาอยู่นี่ ใช่ไหมแม่เพียน อยู่นี่ ๔-๕ ปีมานี้ มีเพื่อน มีญาติ มีแม่ชี มาอยู่ด้วย แต่ก่อนอยู่คนเดียว เพราะนั้นก็มีความสุขมากตอนนี้ ไปเทศน์ที่กรุงเทพ มีคนถาม ช่วงหลวงตาบวชมาหลายปี ช่วงไหนมีความสุขที่สุด ช่วงนี้แหละมีความสุข แก่มาก เจ็บป่วย มีความสุขมาก การงานก็ไม่ได้ทำ อยู่เป็นอิสระ มือไม้ก็ไม่มีจับจอบจับเสียม เมื่อแก่แล้วก็มา สบาย มีผู้มาอยู่ มีแม่ชี มีพระสงฆ์ มีญาติโยมมาอยู่ด้วย ก็เลย เอออุตส่าห์ทุ่มเทมา อยากให้คนมาอยู่ ก็มีบ้าง แต่ไม่พอใจ ยังอยากได้มาก ๆ กว่านี้ จะเลี้ยงไหวไหม แม่ชีน้อย มีน้ำใจนะ โรงทานทั้งหลาย อย่าหน้าบูดหน้าบึ้งนะ ตำพริกให้อมยิ้มเสมอ ถ้าใจดี ปรุงอาหาร อาหารก็รสดี ทำน้ำพริกไม่เผ็ดนะ ถ้าใจร้าย คร่ำเครียด ตำพริกก็เผ็ดกินไม่ได้นะ บางทีบางครั้งก็เผ็ดเกินไป เค็มเกินไป ใจมันไม่ดี โรงทานใจไม่ดี ทะเลาะกันไหม อย่าไปทะเลาะ บางคนเขามาเห็น เจ้าของโรงทานหน้าบูดหน้าบึ้ง เขาไม่อยากกินข้าวด้วย มาอยู่วัด ไม่อยู่หรอก แม่ชีมีแต่หน้าบูด ๆ บางคนน่ะ เนี่ยเขาจะมาอีกไม่นาน เขาจะมาทำอาหารกินเอง ทำไมจึงทำกินเอง มันสะดวกกว่า ทำไมจึงสะดวก หรือว่าเจ้าของโรงทาน ผู้ปรุงอาหารไม่ให้ความสะดวกหรือ ไม่ใช่ เขาอยากทำเอง เขาจะเอาอาหารมาทำเอง ให้มาฟังเทศน์หลวงตา สองวัน ให้หลวงตาเทศน์ให้ฟัง สิบกว่าคน เอ้าตามใจ ใช่ไหม ถ้าเขามาทำเอง ก็อย่าไปเกลียดเขานะ ช่วยเขาบ้างนะ เอ้าๆอยากทำเองหรือ ช่วยสักหน่อยได้ไหม อะไรเอ้าเป็นลูกมือสักหน่อย หั่นผักให้เขาบ้าง ดูแลเขาบ้าง อย่าไปทิ้งช้อน เอ้า ทำเอา อย่าไปบอกอย่างนั้น ให้มีน้ำใจสักหน่อยนะ เขาว่า เขาด่าเรา เราก็ไม่โกรธเขาตอบ เหมือนคนจีนเนี่ย คนที่มาซื้อของเขา บางทีแม่ค้าต่อนิดหน่อย อะไรก็ต่อ ทิ้งไปเลย คนจีนเขาจะบอกว่าจะขายให้คนที่ไม่ต้องการซื้อ คนที่ต้องการซื้อไม่เป็นไร จะพยายามขายของให้คนที่ไม่ต้องการซื้อให้ได้มากที่สุด นี่น้ำใจคนจีน เขาจึงเป็นเจ้าของประเทศ ขายของเนี่ยสู้คนจีนไม่ได้ เอาอันนี้ดีไหม เอาอันนี้ดีไหม อันนี้ก็ดีนะ เขาไม่เอา อันนี้ก็ดีนะ ไปซื้อกระดาษทิชชู่ เขาเสนอขายกระดาษทรายให้ เพิ่นยังซื้อนะ อันนี้ดีน่ะ มันอาจจะไม่ได้เช็ดหน้าเช็ดมือ ได้มาตลาดแล้ว มาซื้อของแล้ว เอาไปไว้ ๆ ซื้อของเขาเลย จะซื้อกระดาษนู่น ไม่ได้มาซื้อกระดาษทราย
นี่เรานี่พยายามดูสิ อะไรมันยาก ใส่ใจลงไป ยิ้มสู้ ลองดูซิ ให้ยากเป็นยากไม่ได้หรอก ยิ้มสู้ความยาก ใจดี ๆ โบราณเขาว่าใจดีสู้เสือ ย่อมชนะเสือนะ หลวงตาก็พูดแบบ ชีวิตของเราล้วน ๆ ฝึกฝนตนเอง มีหลายอย่างนะ ถึงคราวปล่อยก็ปล่อย ถึงคราวทำก็ทำ ที่มันยากเอาไว้ก่อน ใครเจอปัญหาเข้า คิดหาคนที่ถาม คิดหาคนที่ตอบ คิดหาที่พึ่ง หยุดไว้ก่อน เราจะทำของเราเอง ยังไม่ถามใครดอก ทำไป บางทีความคิดจะถาม มันไม่ต้องถาม มันตอบได้แล้ว ให้อดทนสักหน่อย อันนี้นะ นักปฏิบัติต้องมีอย่างนี้ นิสัยของบัณฑิตต้องเป็นอย่างนี้ นิสัยของปราชญ์ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่จะมาอาศัยคนอื่น คนอื่นชี้ถูกชี้ผิดให้ไม่ได้ ต้องทำเองร่วมกัน