แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การฝึกฝนตนเอง มีสติ ถ้าต้องการจะมีก็มีได้ทันที ใครก็ตาม ไม่ใช่ใหม่ ไม่ใช่เก่า มีสติไปในกายทันที โตขึ้นทันที ใช้ได้ทันที ไม่เหมือนปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกข้าว การมีสติไปในกาย เพื่ออะไร เพื่อป้องกันอกุศลธรรมที่เป็นบาปไม่ให้เกิดขึ้น อกุศลธรรมคือความไม่ดีเกิดขึ้นกับกายกับใจ สติจะเป็นการป้องกันเหมือนเจ้าถิ่น เหมือนเจ้าของ เหมือนกำลังพลที่จะปราบข้าศึกศัตรูได้ทันที ยิ่งใหญ่ทันที เช่น ความหลงเกิดขึ้นจากกายจากใจ ใช้สติทันที เหมือนกับกำลังพลปราบข้าศึก ให้ความหลงเป็นความรู้ อะไรที่ไม่ใช่ตัว ภาวะที่รู้เกิดจากกายจากใจ มีสติเท่านั้นที่ใช้ได้ตลอดไปตั้งแต่ต้น จนท่ามกลาง และที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหม่ ผู้เก่า ก็ทำอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เรียนเหมือนฝ่ายโลก อนุบาล ประถม มัธยม ชั้นอุดม ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผู้ใดชำนาญ ชำนาญในความรู้ เห็นอะไรต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นภาวะที่รู้ ชำนาญ เรียกว่าปฏิบัติธรรม
ทีแรกก็อาจจจะง่ายที่จะหลง ถ้าหลงทีใดก็รู้ ง่ายที่จะสุข จะทุกข์ เกิดจากกายจากใจ โดยเฉพาะความคิดมาให้หลงได้มากว่ากาย ตัวรูป รส กลิ่น เสียง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้เป็นครั้งคราว แต่ความหลงเกิดจากจิตใจนี่ ไม่มีอะไรที่จะไปเกี่ยวข้อง ไปใช้กับความหลงที่เกิดกับใจได้นอกจากความรู้สึกตัว เราจึงมีความเพียร ใส่ใจที่จะรู้เสมอ ตามองค์มรรคองค์ที่หก ความเพียรชอบ แล้วก็ต่อไปถึง การมีสติ เป็นการโชว์ขั้นตอนของการที่จะปฏิบัติ การมีความเพียรเกิดขึ้น ป้องกัน ตั้งมั่น มีสติ แล้วก็มีองค์ที่เจ็ดสนับสนุน โชว์ไว้เหมือนทัพหน้าทัพหลัง ไม่จนง่าย
นอกจากองค์มรรคองค์ที่ 7 ก็มีองค์ที่ 8 จุดหมายปลายทาง ธงชัยก็เกิดขึ้นได้ องค์ที่ 8 ประตูชัย ก้าวถึงที่สุดหมายปลายทาง จนไม่มีอะไรที่จะต้องไปทำกับมันอีก สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจนี้ มันหมดเป็น ไม่ใช่มันอยู่จนมีภพมีชาติในกายในใจ เราเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงเนี่ย เปลี่ยนอะไรที่เกิดกับกายกับใจเป็น"รู้"เนี่ย เรียกว่า คุมกำเนิดของภพชาติ ไม่ใช่หลงจนตาย ทุกข์จนตาย มีปัญหาจนตาย ไม่ใช่อยู่ที่กายที่ใจ อันนั้นไม่ใช่สมบัติของกายของใจ สมบัติของกายของใจคือมรรคผลนิพพาน ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ทำได้ทุกคน
มีสติก็มีได้ทุกคนทันที สะดวกกว่าความหลง ความหลงมีเหตุมีปัจจัย ทำให้เกิดหลงได้ วัตถุที่เกิดแห่งความหลง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ ความรู้สึกตัวนี่ง่ายกว่านั้น บางทีเอาความหลงมาเป็นประสบการณ์ มาได้บทเรียนจากมัน
ได้ประโยชน์ ยิ่งเป็นความทุกข์ ถ้าเป็นความทุกข์นะมีประโยชน์มาก ทุกข์อะไรก็ไม่แน่นเหนียวเหมือนกับความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจ เราก็ได้ประโยชน์จากมัน มีสติเข้าไป จุดรวมมันอยู่ที่นี่ เหมือนกับช่องแคบที่ทางผ่านของอกุศลมาทางจิตมากกว่าทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติเท่านั้น ฝึกเอาไว้เพื่อให้พร้อม ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ครองไว้ก่อน เรียกว่าเจ้าถิ่น มีสติเป็นเจ้าของกาย เป็นเจ้าของจิตใจเอาไว้ มีสิทธิ เมื่อมีสิทธิก็ใช้สิทธิ ให้เป็นธรรม ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม เป็นธรรมจริงๆ สัมผัสได้ ผู้ปฏิบัติพึงพึ่ง พึงกระทำได้ด้วยตนเอง
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นการโชว์ธงชัยของพระอรหันต์ ความหลง ความไม่หลง มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม ตลอดอกุศลทั้งหลายไม่เป็นธรรมเลย มีความเพียรก็ละอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น มีความเพียรเพื่อยังกุศลที่เกิดขึ้นให้เจริญมากขึ้น ก็คือสติ เมื่อกุศลมากขึ้นเจริญมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น เป็นที่เกิดของศีล ของสมาธิ ของปัญญา เป็นที่เกิดของมรรค ของผล ความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานของมรรคผล ศีลจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีความรู้สึกตัว ดูแลกายใจ ไม่ใช่คำพูด เป็นหลักปฏิบัติ มีสติ ก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีศีลก็กำจัดกิเลส ความชั่วทั้งหลาย ตามกำลังของศีลได้ไม่มาก มีสมาธิก็กำจัดกิเลส ความชั่วทั้งหลายได้มากกว่าศีล มีปัญญาก็กำจัดกิเลสได้มากกว่า เรียกว่า ลงลึกสุดทาง เกลี้ยงเกลา คือปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดมรรค เกิดผล เกิดจากสติเป็นพื้นฐาน สติก็ไม่ได้เรียนรู้ ใช้ได้เลย มีอยู่แล้ว เหมาะแก่การอยู่ในกายในใจเรา เป็นสมบัติของกายของใจ อะไรก็ไม่งดงามเหมือนกับมีสติไปในกาย สัมผัสดู จากวุ่นวายสับสนอะไรต่างๆ ก็ตาม ถ้ามากำหนดคู้แขนเข้า รู้สึก เหยียดแขนออก รู้สึก ตามต้นฉบับสติปัฏฐานที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในเรื่องนี้ จากวิธีการหลายๆ อย่างที่ทำมา 6 ปี ค้นหาสัจธรรมเพราะมีโจทก์ แต่ละคนก็มีโจทก์ เป็นจำเลยของโจทก์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ หาด้วยวิธีใดก็ไม่เจอ จึงมามีสติไปในกาย นั่งคู้แขนเข้า เหยียดแขนออกในวันเพ็ญเดือน 6 นั้น เกิดอะไรขึ้นขณะที่มีสติคู้แขนเข้า เหยียดแขนออก เห็นอะไร มีอะไรมารบกวน มีมารมารบกวน กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร สังขารมาร กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง เคยคิด เคยใช้ชีวิตแบบไหนก็ไปเปรอะเปื้อนกับเรื่องนั้น ก็กลับมารู้สึกตัว คิดถึงพิมพา ก็มาคู้แขนเข้าเหยียดแขนออก โดยอาศัยกรรมฐาน
กรรมฐานเกิดขึ้นที่นั่น คือที่ตั้งแห่งการกระทำ ตั้งไว้นี่ ไม่ใช่มานั่งคิดถึงลูกถึงเมีย บางคนมีลูกก็คิดถึงลูก คนมีเมียก็คิดถึงเมีย ก่อนเคยทำอะไรมาก็ติดมา เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ อุปาทานมันติดเอาไว้ ก็กลับมา ไม่ใช่มานั่งคิด เวลานี้มารู้สึกตัว ทิ้งมันเลย มารู้สึกตัว ยิ่งมันคิด มันหลงไปที่ใด ก็รู้สึกตัวไปแทนที่ ความหลงมา เกิดขึ้นมา มีความรู้ไปแทนที่ไว้ อะไรที่มันเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่สติ แก้ได้ทุกเรื่อง เหมือนกับแก้ต่าง เป็นจำเลยแก้ต่าง เคยทุกข์ รู้สึกตัว แก้แล้ว พิพากษาแล้ว เคยทุกข์ เคยโกรธ เคยมีกิเลสตัณหา พิพากษาแล้ว รู้สึกตัว ไม่ให้มีที่ตั้ง บอกคืนไม่ให้ค่า ไม่ให้ที่อาศัย มีความรู้สึกตัว เป็นเจ้าถิ่น อาศัยกรรมฐานช่วยรอบๆ ได้ อาจจะไม่อยู่ในรูปแบบของการมานั่งยกมือสร้างจังหวะ ผู้ที่เคยชินแล้ว ถ้าผู้ที่ไม่เคยก็อาศัยกรรมฐานนี้เป็นนิมิต เป็นที่เกาะ อย่าให้ความคิดแก้ความคิด แก้ความทุกข์ หาคำตอบจากความคิด มันแก้ไม่ได้หรอก ต้องมีกรรมฐาน ที่ตั้งทิ้งไว้นี่ ก็กลับมารู้นี้ก่อน อะไรที่เกิดขึ้นก็กลับมารู้ก่อน ง่ายๆ อย่าเพิ่งไปหาคำตอบจากความคิด มันเบื่อ มันฟุ้งซ่าน มันอะไรเกิดขึ้น ก็กลับมาหากรรมฐาน หาที่ตั้งเอาไว้ ไม่ใช่ไป ทำไมๆๆ ให้ทุกข์เป็นทุกข์ ให้เครียดเป็นเครียด ให้ฟุ้งซ่านเป็นความฟุ้งซ่าน ถือว่าเราซะ เป็นตัวเป็นตนกับสิ่งที่มันเกิดขื้น มันก็ไม่ได้ กลับมาหาที่ตั้ง เหมือนกันหมด ปฏิบัติก็เหมือนกันหมด ไม่ใช่คนละแบบ ความฟุ้งซ่านก็มี คิดถึงอดีตก็มี คิดถึงอนาคตกังวลในอนาคตก็มี นั่นไม่ใช่ความจริง กลับมาที่ตั้งให้เป็นปัจจุบัน ของจริงมันต้องเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันมันแก้ได้เปลี่ยนได้ ไม่ใช่อนาคต ไม่ใช่อดีต เช่น มันเคยมีความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก กิเลสตัณหา มีทั้งอดีต มีทั้งอนาคต ไม่ใช่ อย่าไปแก้แบบนั้น มารู้สึกตัวเนี่ย ปัจจุบันมันรู้ได้ มีสติ โต้ตอบทักท้วง เห็นความหลงว่าเกิดจากความคิดที่ไม่ตั้งใจ มันหยาบคายที่สุด
ทีแรกมันอาจจะด้านเพราะความคิด นั่งคิดอยู่ได้ นั่งทุกข์อยู่ได้ นั่งสุขอยู่ได้ อยู่กับความสุข ความทุกข์ อยู่กับความหลง ความโกรธอยู่ได้ แต่พอมีสติมันจะหยุดลง ไม่ต้องไปอดไปกลั้น โดยกรรมฐาน โดยอาศัยกรรมฐานเป็นรูปแบบ เรื่องความโกรธ ไม่ใช่ไปอดไปกลั้น ทนเอา อย่างนั้นน่ะใช้ไม่ได้ ถ้ายังอดยังทน ยังใช้ไม่ได้ ในเรื่องของสติไม่ใช่ไปอดไปทนแบบนั้น เพียงแต่เราอยู่ในกรรมฐาน รู้สึกตัวซะ ยกมือ พลิกมือ หายใจ ยืดตัวขึ้น รู้สึกตัวซะ ทิ้งท้ายมันเลย ดีดตัวออกมา ออกฉาก ถ้าเป็นนักรบก็มีฉากมีที่หลบ รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ไม่ใช่ไปใส่ใจเรื่องนั้น มาใส่ใจเรื่องกรรมฐาน มีสติไปในกาย แล้วก็รู้ได้ มันจะเคลื่อนไหวมือ อาจจะเดินจงกรม อาจจะหายใจเข้าหายใจออก อาจจะยืดเนื้อยืดตัว วางใบหน้าใบตา วางใบหน้าดีๆ มันก็ง่าย ให้มันชำนิชำนาญ เป็น "ญาตปริญญา" ชำนาญในการรู้สึกตัวง่ายกว่าที่จะหลง รู้แล้ว "ญาตปริญญา" ตอนนี้คือรู้แล้ว อะไรก็ผ่านมาทางรู้ทั้งหมด บ่อยที่สุด ถ้าเป็นนักรบก็ยิงอาวุธบ่อยที่สุด แม่นที่สุด สุขก็รู้แล้ว ทุกข์ก็รู้แล้ว ผิดก็รู้แล้ว ถูกก็รู้แล้ว หลงก็รู้แล้ว ไวเหลือเกิน เรียกว่าชำนาญแล้ว "ปริญญา" ชำนาญในความรู้ที่ไปเกี่ยวข้องสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ได้พัฒนาได้บทเรียนจากมัน เหมือนกับคู่ชกคู่ซ้อม เหมือนกับกฏเกณฑ์ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ
การฝึกสติไปในกายนี้ ได้บทเรียนมากมาย เป็นสูตรบอกถึงหมวดถึงหมู่ อกุศล กุศล รู้ชัดเจน เห็นกุศล เห็นอกุศลพร้อมกัน โชว์สองอย่าง อกุศลคือความหลงความไม่ดีทั้งหลาย กุศลนี่ความดีทั้งหลายแทนที่ หมวดกุศล หมวดอกุศล มีสติ ไม่ปล่อยอกุศลให้ค้างคาในกายในใจ ไม่ให้มีรอย ทันที นิดหน่อยไม่ได้ ขุดคุ้ย เมื่อมีสติดี มันจะขุดคุ้ยเป็นงานปราบอกุศล จริงๆไม่ใช่งานอย่างอื่น จะมาทางไหนก็รู้ เหมือนกับยารักษาโรค ยารักษาเชื้อโรค เชื้อโรคอยู่ที่ไหน ยาก็ไปรักษา อะไรที่เป็นเชื้อโรค รูปโรค นามโรค รูปทุกข์ นามทุกข์ รู้หมด รูปสมมติ นามสมมติ เป็นทุกข์เพราะสมมุติ เป็นทุกข์เพราะรูปโรค เป็นทุกข์เพราะนามโรค รักษาได้ รูปนามโรคก็คือทำให้จิตใจเศร้าหมอง ความหลง ความโกรธ ความทุกข์ อย่างนี้มันรักษาได้ หายหมด เรียกว่าอโรคยา เป็นผู้ไม่มีโรค นามโรค รูปโรค รูปทุกข์ นามทุกข์ ขุดคุ้ยมากที่สุด สนุก ตรงกันพอดีเลย พุทธะเกิดขึ้นเพื่อเรื่องนี้ เพื่อการนี้โดยตรง
เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มีแล้วเกิดอะไรขึ้น เรียกว่าสิ้นภพสิ้นชาติ สิ้นภพสิ้นชาติ มีสติเป็นหน้ารอบ สติเป็นธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้เป็นมรรคเป็นผล พระขีณาสพมีสติเป็นวินัย มีสติเป็นหน้ารอบ รอบคอบ เป็นมรรคเป็นผล ขีณาสพคือพระอรหันต์ ไม่มีอะไรจะทำ นอกจากทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป เมื่อมันมีทุกข์ดับไป จะทำอะไรอีก ไม่มีอะไรทำ เรียกว่า พุทธะเกิดขึ้นกับชีวิตของคน ในที่รูปมีนามนี้ คนเลยเป็นพุทธะ ไม่ใช่คนเป็นคน ถ้าคนเป็นคน หลงเป็นหลง คนก็เป็นคน ทุกข์เป็นทุกข์ ก็คนเป็นคน ถ้าทุกข์เป็นรู้ โกรธเป็นรู้ หลงเป็นรู้ คนเป็นพุทธะ เพื่อเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ ถ้าหลงเป็นหลง ไปสู่นรก เท่ากับขนโค ถ้าหลงเป็นรู้ ไปสู่นรก เท่ากับเขาโคนิดหน่อย เมื่อชาติมันสิ้นได้ ไม่เหมือนเก่า พ้นภาวะเดิม
ผู้ที่เจริญสติในระดับใดระดับหนึ่ง ปิดอบายภูมิได้แน่นอน เพราะเราเห็นอยู่ อบายภูมิคืออะไร ถ้าจะพูดถึงภูมิชีวิตของ เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก นี่คืออะไรจำพวกนี้ เดรัจฉานมันขวางไว้ อะไรที่มันขวางในทางขวาง เรียกว่าเดรัจฉาน ความหลงมันขวางไม่ให้เกิดความรู้ ความโกรธขวางไว้ไม่ให้เกิดความไม่โกรธ ความทุกข์ขวางไว้ไม่ให้เกิดความไม่ทุกข์ ถ้ามันยังมีเกิดขึ้น มีโกรธ มีโลภ มีหลง มีทุกข์ ไปทางขวาง ไม่มีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม อสุรกายคือโง่ โง่ไม่ฉลาด แม้แต่หลงอยู่ก็ยังโง่อยู่ โกรธก็ยังโง่อยู่ ไม่อาย หยาบคาย ดื้อด้าน หมกมุ่นอยู่ในความคิด คิดทีไรก็เป็นทุกข์ คิดก็เป็นการกัดต่อตัวเอง ไม่รู้จักปล่อยวาง ไม่รู้จักออกจากอสุรกายก็เลยโง่ ไม่ดีดตัวออกมา จนเกิดความเร่าร้อน ก็อยู่ในภูมิของเปรต ตามภูมิของความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นกับชีวิตของคนนี้ สิ่งเหล่านี้มันไม่ยาก มันต้องปิดได้ผู้เจริญสติ รับรองได้ อันชื่อว่าทุกข์ มันเป็นของที่เห็นได้ มันเปลี่ยนได้จริงๆ ที่ว่าหลงก็เปลี่ยนได้จริงๆ ที่ว่าโกรธก็เปลี่ยนได้จริงๆ ไม่ใช่มาอยู่นี่แล้วลึกซึ้ง ปัจจัตตัง สัมผัสได้ สัมผัสได้ต่างกันอยู่ ในหลงในความไม่หลง มันเอาไม่ได้ มีทุกข์ในความไม่ทุกข์ ในความลังเลสงสัย ในความฟุ้งซ่าน ในความง่วงเหงาหาวนอน พยาบาท ทิฏฐิมานะ ทิฏฐิมานะสำคัญมั่นหมาย เป็นตัวเป็นตนไปกับอะไรต่างๆ ในความอะไรที่มันเกิดกับกายกับใจ เป็นตัวเป็นตนไปเสียทั้งหมด ตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายแล้วนะ อยู่ในขันธ์ 5 เวทนาก็คือเรา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือเรา คือตัวเรา ถ้าเห็นว่าเวทนาสักว่าเวทนา นี่ไม่มีตัวมีตนในขันธ์ 5 ที่ว่า "สักกายทิฏฐิ" พระอริยบุคคลชั้นต้นละได้ ไม่สงสัยในการปฏิบัติ "หลง" ไม่ถูกต้อง "ความไม่หลง" ถูกต้อง ตัดสินใจไปเลย ไม่สงสัย ก็แค่นี้ เราจะทำไม่ได้เลยหรือ
สมบัติของพระอริยะบุคคลชั้นต้น มีกันทุกคน มีกันทุกคนนะไม่ใช่ลี้ลับ "สักกายทิฏฐิ" เอาเรื่องต่างๆที่เกิดขื้นกับกายเป็นตัวเป็นตน เป็นตัวเป็นตนที่เกิดขึ้นกับกาย เห็นซะ เกิดความร้อน เห็นมันร้อน ไม่ใช่เป็นผู้ร้อน มันหิว เห็นมันหิว ไม่เป็นผู้หิว มันเจ็บ เห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ วิธีละสักกายทิฏฐิคือเห็น ตัวเดียวเนี่ย ไม่ใช่ไปหาวัตถุสิ่งของอย่างอื่น พร้อมแล้ว รอบจริงๆ สติเป็นหน้ารอบจริงๆใช้ได้ จริง
ขอให้สถานที่เป็นที่ฝึกอบรมในด้านนี้โดยตรง 1 วัน 2 วัน 7 วัน พิสูจน์กันดู เราเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน ทำเหมือนกัน หลงก็หลงเหมือนกัน สุขก็สุขเหมือนกัน ทุกข์ก็ทุกข์เหมือนกัน ผิดก็ผิดเหมือนกัน แต่เวลาเราผิด เราจะทำให้ไม่ผิด ก็ทำเหมือนกัน ฝึกตนสอนตนเอา มันมาให้ฝึก ความหลงมาให้ฝึก ให้เกิดความรู้ อย่าให้ผิดเป็นผิด เห็นมันผิด อย่าให้ถูกเป็นถูก เห็นมันถูก อย่าให้ความฟุ้งซ่านเป็นความฟุ้งซ่าน เห็นมันฟุ้งซ่าน อย่าให้ความสงบเป็นความสงบ เห็นมันสงบ อย่าไปเปรอะเปื้อนกับสิ่งใด สติไม่เปรอะเปื้อนกับสิ่งใด
เวลารู้ รู้นี่ เป็นพรหมจรรย์ เป็นพรหมจรรย์นะ รู้สึกตัวเนี่ยคือพรหมจรรย์ ไม่เปรอะเปื้อน บริสุทธิ์ ถ้าหลงเป็นหลง เปรอะเปื้อนกับความหลง สุขก็เปรอะเปื้อนกับความสุข ทุกข์เปรอะเปื้อนกับความทุกข์ ถ้า “รู้” นี่ เป็นพรหมจรรย์ นี่คือการปฏิบัติเป็นการสัมผัสได้ ได้บทเรียนจากกายจากใจมากมาย จนสรุปได้ว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เป็นกับมัน มีแต่เห็น-ไม่เป็น จะมีมากขนาดไหน มีแต่เห็น ไม่เป็นกับมัน เรียกว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย จะให้ค่ามันเป็น "อาการ" ไม่ใช่ตัวใช่ตนเลย ขอบคุณมัน ยุงกัดมันเจ็บ เป็นอาการของกาย จิตใจมันคิดโน่นคิดนี่ เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับใจ ถ้าเป็นอาการเฉยๆ คนไม่ตายต้องมีอาการอะไรเกิดขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากกายจากใจ ให้ค่าเป็นอาการไม่ให้ค่าเป็นสุข ไม่ให้ค่าเป็นทุกข์
ถ้าเป็นสุขเป็นทุกข์ มันมีตัวมีตน ทุกข์มันจะอยู่ในกาย ทุกข์จะอยู่ในใจ ให้เป็นอาการเท่านั้น ไม่เป็นกับมัน จุดหมายปลายทางอยู่ที่นี่ ลัดๆ มาอย่างนี้ ปฏิบัติธรรมอย่าเนิ่นช้าเกินไป ไวๆ ซักหน่อย อย่าทำเล่นๆ มันจะด้าน ด้านในความหลง ด้านในอาการต่างๆ มากมาย อาการที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นคนด้าน เป็นคน "เป็น"ไปกับมัน สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ หลงเป็นหลง รักเป็นรัก เกลียดชังเป็นเกลียดชัง มันจะด้านอยู่เช่นนั้นจนตาย ให้เป็นผู้ที่จัดเจน รอบคอบ แม่นยำ ฝึกตน สอนตน ประมาทไม่ได้ในความหลง
ประมาทไม่ได้ในความสุข ประมาทไม่ได้ในความผิด ความถูก ความทุกข์ เป็นความรู้ทั้งนั้น มันจะลัด อะไรที่เกิดขึ้น นิวรณ์ธรรม ความง่วงหงาวหาวนอน ความลังเลสงสัย ความครุ่นคิดฟุ้งซ่าน อย่าประมาทกับมัน สลัดออกมา รู้สึกตัว ถ้ามันเอาแรง ก็เอากับมันแรงๆ สลัดเหมือนปัดออก
ฉะนั้น ถ้าเราไม่ประมาทกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ มันจะลัดที่สุดเลย อาจจะหลงสัก 7 รอบ เหมือนพระโสดาบันผู้มีภพ 7 ภพ 7 ชาติ ถ้าเก่งเหมือนพระอนาคามี มีภพอันเดียว มีภพเดียว จะอยู่ในฐานะแบบไหน เรื่องที่ทำให้ทุกข์มีกี่ครั้ง คิดขึ้นมาเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะความคิดมีกี่รอบ แสนรอบ อสงไขยรอบ มันจะมีค่าอะไรชีวิตของเรานี่ เคยโกรธเรื่องใด เคยโกรธให้ใคร กี่อสงไขยรอบแล้ว กี่ครั้งแล้ว ใส่ใจซะหน่อยเพื่อจะรีบด่วน สลัดทันที รู้สึกตัวทันที เรามีกรรมฐานแล้ว เอาเลย อาจจะเป็นพระอนาคามีรอบสุดท้าย โดดได้ กระโดดได้ไกล ถ้าตั้งใจดีๆ มีความเพียร มีความรอบคอบ กระโดดได้ไกลถึงสุดยอดเลยก็ได้ เหมือนพระอนาคามี ผู้มีรอบอันเดียว หมดเกลี้ยง ไม่เหลือ จะเป็นพระอรหันต์ได้ พระอรหันต์คือผู้ไกลจากข้าศึก ไม่มีข้าศึก ไม่เหมือนอรหันตร์ที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันเดียว