แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีหลวงพ่อองค์หนึ่งชื่อว่าดีเนาะ เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี พูดคำเดียว ใครมาหาก็ “ดีเนาะ หลวง” ใครยกย่องก็ “ดีเนาะ หลวง” ใครนินทาก็ “ดีเนาะ หลวง” เลยเรียกหลวงพ่อว่าดีนอ ไม่ใช่พูดเองคนเรียกมาก่อน ในคำสอนเราก็ได้ยินมากันแล้ว พระพุทธเจ้าประกาศมานานแล้วว่า “พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้” เราได้ยินมาไม่ใช่หลวงตาเป็นผู้พูด “พร้อมทั้งพระธรรมคำสอนอันเป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์” ประกาศมาแล้วในประเทศไทยหลายพันปีมาแล้ว “เป็นเครื่องสงบกิเลส เป็นไปเพื่อปรินิพพาน” นี่ก็ได้ยินกันอยู่ “เป็นไปเพื่อออกจากทุกข์” ถ้ามันทุกข์ก็ออกจากทุกข์ได้ ถ้ามันหลงก็ออกจากหลงได้ ถ้ามันโกรธก็ออกจากโกรธได้ นี่ได้ยินกันมา อันนั้นมันไม่ดี อันนี้มันดี เราก็ได้ยินมาแล้ว อย่างน้อยก็พ่อแม่เป็นครูสอนคนแรก ที่เราได้ยินก่อนใครทั้งหมด เราเคยได้ความรู้ปฏิบัติตามพ่อแม่มาไม่มากก็น้อยจนเป็นคนดีได้เห็นอยู่ในโลกนี้ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็เป็นคนชั่วก็ยังเห็นอยู่ในโลกนี้ ถ้าจะเป็นความผิดก็เป็นเรื่องของเรา ถ้าจะเป็นความถูกก็เป็นเรื่องของเรา อย่าไปโทษคนอื่น ให้มองอย่างนี้ บัณฑิตต้องฝึกตนอย่างนี้ ช่างศรย่อมดัดลูกศร ช่างถากก็ย่อมถาก ช่างตัดผมก็ตัดผมเรื่อยไป บัณฑิตต้องฝึกตนฝึกตนอย่างเนี่ย แม้ไม่มีใครพูดเราก็ได้ยิน หลวงตาพูดอยู่นี่พูดกับทุกคน ได้ยินมาแล้ว
ทำไมมันจึงหลงเพราะไม่รู้ ทำไมไม่รู้เพราะไม่ได้สร้างความรู้ ทำไมเราจึงจนเพราะเราขี้เกียจ ทำไมเราจึงจนเพราะเราเล่นการพนัน ทำไมจึงทุกข์เพราะเราหลงเลยถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ เคยโกรธมาแล้วไม่มีประโยชน์อะไรเลยความโกรธน่ะ ทะเลาะวิวาทกัน เบียดเบียนตนเองด้วย โกรธทีไรเป็นภัยต่อตัวเองก็ยังโกรธกันอยู่ เคยมีทุกข์ก็ทุกข์มาแล้ว หน้าบูดหน้าบึ้งกินไม่ได้นอนไม่หลับก็ไม่เข็ดไม่หลาบ ก็เป็นไปเพื่อออกจากทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้แล้ว ทำไมไม่ศึกษาไม่แก้ไขไม่เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์มันมีสิทธิ์ทำได้อยู่ เวลามันโกรธมีสิทธิที่จะเปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ ทำได้กันอยู่แต่ไม่ค่อยเปลี่ยนกัน บางทีไปยึดเอาความโกรธไม่ยอมปล่อยวาง ไปยึดเอาความทุกข์ไม่ยอมปล่อยวาง ปรุงแต่งอยู่เรื่อย
บางทีเห็นความหลงเป็นเรื่องสนุกสนาน กินเหล้าเมายาเที่ยวเตร่เร่ร่อนเพลิดเพลินในรูปรสกลิ่นเสียง ก็ยังทำกันอยู่ เสียเงินเสียทองใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบมันก็ไม่มีสักที รายรับมีรายเหลือไม่ค่อยมี นี่ก็เคยผ่านกันมาทุกคน เราจึงมาร่วมกันแก้เรื่องนี้กันเถอะ ให้มันรู้ซะ เหตุผลที่ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้ ถ้าเกิดจากความรู้ปัญหาก็จบ เพราะไม่มีความรู้มีอวิชชาปิดบังจึงเกิดภพ เกิดชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ ถ้ามีวิชชาตั้งต้นมันก็หมดไปได้มันกลับไปได้ ไม่มีภพมีชาติ ไม่มีชรามรณะ ไม่มีโกรธมีโลภมีหลง มันเป็นได้อย่างนี้ จึงเป็นไปเพื่อออกจากทุกข์อย่างนี้ เราก็ว่ากัน “พุทธัง สะระณังคัจฉามิ” ตั้งแต่เข้าโรงเรียน ป.1 ป.2 โน่น ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือรัตนะนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ มันเป็นภาษานกแก้วนกขุนทองไม่เอามาปฏิบัติ รู้กันอยู่ ทุกคนก็รู้ ไม่มีใครไม่รู้ว่าโกรธไม่ดีทุกข์ไม่ดี รู้กันอยู่แต่ไม่ค่อยเปลี่ยน ความรู้มันใช้ไม่ได้ต้องหัด ต้องหัดเปลี่ยน กรรมฐานนี่มาหัดเปลี่ยน หัดเปลี่ยนให้เป็น มันหลงก็รู้ให้เป็นขณะที่มันหลงนั่นละ อย่าเอาความรู้มาขวางกั้น มันทุกข์ก็เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ ทำให้เป็น มันต้องมีแน่นอน ถ้าเรามาดูมันก็ต้องเห็น เห็นหลงเห็นรู้มันคู่กัน เห็นทุกข์เห็นไม่ทุกข์มันคู่กันอยู่ อย่าหมดตัวอย่างเนี่ย เห็นกับตาทำกับมือเรา เอากายไปต่อเอาความรู้มันต่อได้อยู่ สร้างเป็นพื้นฐานเอาไว้
การศึกษาเบื้องต้นก้าวแรกมีความรู้สึกตัวอย่างเนี่ย มันก็เห็นความหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ศึกษาแล้ว หัดแล้ว สอนแล้ว ฝึกแล้ว ทีแรกก็ฝึกไม่ค่อยเป็น ความหลงพาไป ไปทางตาบ้าง ไปทางหูบ้าง ไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางจิตใจ รูปรสกลิ่นเสียงเป็นเหตุ ตาเป็นเหตุ เหตุมันเกิดเราก็แก้ที่เหตุนั้น ถ้ามันหลงที่ไหนก็แก้ที่นั่น เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้ มันมีอยู่ ใหม่ ๆ มันติดกันเลยเหมือนกับหน้ามือหลังมือ ความหลงเหมือนกับหลังมือ ความรู้เหมือนกับหน้ามืออย่างเนี่ย ดูที่กายเอากายเป็นผู้ที่เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้มันก็มีอยู่ เรามีการเคลื่อนไหวเป็นหลักเป็นฐานเป็นที่ตั้งเอาไว้ เหมือนกันกับเรายืนจับราวสะพาน เดินข้ามสะพานแคบ ๆ เวลามันเซไปก็จับเอาไว้อย่าให้มันพลัดตกลงไป อย่าปล่อยตัวให้ตกลงไป ก็จับได้อยู่ไม่ต้องตกก็ได้ นี่มันมีฐานมีที่ตั้งมีหลักเป็นอาศัยเรียกว่ากรรมฐานที่ตั้งของการกระทำ มันก็ทำได้อยู่อย่างเนี่ย ไม่ใช่เราเลื่อนลอยยืนอยู่บนอากาศ มันก็มีฐานอย่างนี้มีกันทุกคนมีกาย ก็มีสติกันทุกคนไม่ต้องไปขอใคร ความหลงก็หลงเองเราก็รู้เองไม่ต้องไปเรียกใครมาช่วยเหลือ เป็นเรื่องส่วนตัวเนี่ย มันก็เป็นเรื่องสนุกนะ เป็นปัจจัตตังอยู่ใกล้ตัว ไม่ใช่อยู่ไกลเลย มันพบเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่คิดเห็น
อย่าเอาความคิดไปเกี่ยวข้องเหตุผลไปเกี่ยวข้อง มันจ๊ะเอ๋กันตรง ๆ ก็มีความรู้ความหลงเกิดขึ้นมาตรง ๆ โง่ ๆ ไม่ใช่ฉลาดความหลงเนี่ย มันกลบเกลื่อนเฉย ๆ เราก็รู้เอารู้เอาซะ เปลี่ยนหลงเป็นรู้นี่ทำให้มันเป็นฝึกให้เป็นอย่างเนี่ยเรียกว่ากรรมฐาน ไม่ใช่เรียนรู้ตามโรงเรียนตามสถาบันต่าง ๆ เราก็ได้ความรู้กันทุกคนนั่นแหละ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นพ่อคนแม่คน สำเร็จมาแล้ว ประสบการณ์มาแล้ว มันก็ผ่านเป็นบทเรียนมาแล้ว ไปเป็นหนุ่มเป็นสาว อายุกลางคน ผู้เฒ่าผู้แก่ ยิ่งดีทุกโอกาส เนี่ยเรามาฝึกอย่างนี้ อยู่เป็นเพื่อนกันอย่างนี้มันก็อันเดียวกัน มีกายมีใจอันเดียวกัน มีตามีหูเหมือนกัน มีความหลงเหมือนกัน มีความไม่หลงเหมือนกัน มีความโกรธเหมือนกัน มีความไม่โกรธเหมือนกัน มีความทุกข์เหมือนกัน มีความไม่ทุกข์เหมือนกัน มีการเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน มีความไม่เที่ยงเหมือนกัน มีความไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน แต่นั่นไม่เหมือนกันเวลาเราเปลี่ยนร้ายให้เป็นดี การเปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนผิดเป็นถูกนั่นนะเรียกว่าไม่เหมือนกัน อันนั้นเรียกว่าภาวนา
ไม่เสียเวลากับความหลง เอาความหลงมาเป็นความรู้ เอาความทุกข์มาเป็นความรู้ เอาความโกรธมาเป็นความรู้ มันมีอยู่ที่เดียวกัน ความหลงเป็นเหตุทำให้มีความรู้ได้ ความทุกข์เป็นเหตุทำให้มีความรู้ได้เนี่ย มันมีเหตุอย่างนี้ เหตุปัจจะโย มีเหตุไม่ใช่หลงดื้อ ๆ มันเกิดจากเหตุก่อน อารมฺมณปจฺจโย มีอารมณ์ ตาเห็นรูปยื่นมาหาใจ เอาใจเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจชอบไม่ชอบ มันไม่ถูก ถ้าให้มันตัดสินใจเองมันก็ผิดได้ เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เกิดกิเลสตัณหาราคะโกรธโลภหลงได้เพราะมีเหตุที่ตรงนั้น อารมฺมณปจฺจโย อารมณ์ไม่ใช่ใจ ความโกรธไม่ใช่ใจ ความทุกข์ความพอใจไม่พอใจไม่ใช่จิตใจมันเป็นอารมณ์ เขาเรียกวัตถุแล้วก็อาการ วัตถุคือตาหูจมูกลิ้นกายใจ วัตถุคือรูปรสกลิ่นเสียง แต่อาการนั้นมันเกิดขึ้นในระหว่างการสัมผัส ระหว่างการสัมผัสมันก็เป็นอาการ มันเป็นอาการไม่มากเหมือนกับคนป่วยไม่มาก อาการป่วยให้หยูกให้ยาตอบสนองรักษาได้ เรียกว่าอาการ
หลงมากบางทีก็เกิดความหลง ทุกข์ โกรธ อาการที่มันออกไปเป็นอารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่ใจ มันมาจรมา มาย้อมใจกลายเป็นอารมณ์ไป เพราะความหลงปิดบังเอาไว้ เมื่อมีความหลงเกิดขึ้นก็เป็นสมมติต่อไปอีกบัญญัติเข้าไป เราชอบ เราไม่ชอบ มันไปไกล ทำตามความชอบ ทำตามความไม่ชอบ เมื่อเราชอบไม่ชอบก็ไปแสดงออกทางกายทางใจเต็มที่ เป็นภพเป็นชาติเต็มที่ ถ้าโกรธก็แสดงตามความโกรธ ถ้ารักก็แสดงตามความรัก ให้ความโกรธพาทำ ให้ความรักพาทำ จนเสียผู้เสียคน เรียกว่าอาการสมมติบัญญัติไปยึดเอาว่าเราว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรา เราก็ไปยึดเอาว่าเรา ถ้าเราโกรธเราก็ไม่ยอม ถ้าโกรธเราถือไว้ไม่ปล่อยทิ้ง ส่วนที่รักก็กลายเป็นคนที่ชังได้ถ้าสมมติถ้ามีความโกรธเกิดขึ้นมีอุปาทานเกิดขึ้น เนี่ยมันก็อยู่ด้วยกันอย่างเนี้ย จึงน่าเสียดาย เสียดายสิทธิความชอบธรรมความถูกต้อง ความโกรธไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ความไม่โกรธถูกต้องชอบธรรม เสียดายตรงนี้ในเวลานั้นพลาดเสียแล้วแทนที่จะได้ประโยชน์กลายเป็นโทษ ใช้ผิดก็กลายเป็นโทษ ใช้ถูกก็กลายเป็นประโยชน์ ในตัวเรานี้ประโยชน์ถึงที่สุดคืออัตถจริยาประโยชน์ โลกัตถจริยาประโยชน์ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า เมื่อมีประโยชน์เกิดขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อโลก เป็นคนดี แล้วก็คนดีที่ไหนก็เจริญที่นั้น มันก็อยู่ที่เราเนี่ย ถ้าเป็นคนชั่วที่ใดก็เดือดร้อนที่นั่น นี่มันก็เป็นประโยชน์และเป็นโทษอย่างนี้ในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง รูปกายรูปนามเนี่ย
การปฏิบัติธรรมก็คือการมาดูแลรูปและดูแลนามนี่ กายใจนี้ให้มันอยู่ในความชอบ ตั้งไว้โดยชอบ เมื่อเราอยู่โดยชอบโลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สักเตเม ภิกขะเว ภิกขุ สัมมาวิหะระยุง อโลโก อะระหันเตหิ อัสสะ( ที่ถูกคือ อิเมจะ สุภัททะ ภิกขู สัมมา วิหะเรยยุง อะสุญโญ โลโก อะระหันเตหิ อัสสาติ พระพุทธเจ้าว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออยู่โดยชอบแล้ว โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ อยู่โดยชอบก็นี่แล่ว มีความรู้สึกตัวอยู่เนี่ย เห็นกายเห็นอะไรต่าง ๆ ที่มันมาทางกาย มันเกิดทางใจก็เห็นมันเนี่ย สติเป็นดวงตาภายในเห็นแม้กระทั่งความคิด ตาเนื้อไม่เห็นความคิดเห็นแต่เป็นวัตถุ ตาในนี่เห็นแม้กระทั่งความคิดความโกรธโลภหลง ปกติมันก็อยู่ของมันเองแต่มันมีสิ่งที่มาทำให้ปรุงแต่ง มันก็เห็น เห็นอารมณ์ไม่ใช่จิต มันมาปรุงแต่ง เป็นน้ำที่มันเป็นคลื่นไม่ใช่น้ำ มันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดคลื่น อย่าไปมองคลื่นว่าเป็นน้ำ น้ำไม่มีคลื่นดอกมันปกติอยู่ แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยมันก็มีคลื่นขึ้นมาเป็นธรรมชาติ
ใจของเราก็เหมือนกันมีการสัมผัสอารมณ์ก็ย่อมมีคลื่นเกิดขึ้น มีความรักมีความชัง ความพอใจไม่พอใจ ความโกรธโลภหลง เป็นคลื่นของจิต เป็นอารมณ์ของจิต ไม่ใช่จิต จิตนั้นมันปกติอยู่แต่ถ้าอะไรมาต้องมันก็เป็นไปได้ ถ้าเราไม่หัดไม่มั่นคง เราจึงหัดให้มันเห็นเนี่ย ไม่ใช่ห้ามไม่ให้มันเห็น มันคิดอยู่ก็รู้ อย่าให้ความคิดเป็นใหญ่ อย่าหาคำตอบจากความคิดเกินไป หาเหตุหาผลเกินไป ปฏิบัติธรรมกรรมฐานให้เป็นการกระทำอันเนี่ย ตัวใครตัวมัน ไม่มีใครช่วยกันได้ ต้องมาช่วยตัวเองไปเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนกันอยู่ มีปัญหาอะไรก็พอที่จะชี้นำได้อยู่ อย่าหลงคนเดียว อย่าทุกข์คนเดียว อย่าโกรธคนเดียว บอกกันบ้างบางทีมันแก้ได้ บอกทางกันบ้างบอกกันเวลาหลงทาง ส่องแสงสว่างในเวลามันมืด
มันมีอยู่ในชีวิตของเรานี้เรียกว่าเรียนตามพ่อ ก่อตามครู มีครูบาอาจารย์ มีพ่อมีแม่ บางทีท่านรู้อยู่แต่เราต้องเงี่ยหูฟัง เราเป็นเพื่อนกันแบบนี้ ไม่ปล่อยกันทิ้ง อย่าปล่อยให้ความโกรธย่ำยีตัวเองคนเดียว แม้แต่การเจ็บการแก่การตายก็ช่วยได้นะ ตายให้เป็น เจ็บให้เป็น แก่ให้เป็น ถ้าแก่ไม่เป็นก็เป็นทุกข์ เจ็บไม่เป็นก็เป็นทุกข์ ตายไม่เป็นก็เป็นทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายไม่ทุกข์มันมีอยู่ไม่ใช่ไม่มี มันเป็นคู่กันอยู่ มองเป็นคู่แบบนี้เมื่อมีแก่ก็ต้องมีไม่แก่ เมื่อมีเจ็บก็ต้องมีไม่เจ็บ เมื่อมีตายต้องมีไม่ตาย แบบเนี่ย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นโจทก์ เป็นโจทก์เรา เราเป็นจำเลย ถ้ามันเจ็บก็ต้องทุกข์เป็นจำเลยไป ต้องพิพากษาเรื่องนี้ให้เป็นธรรมขึ้นมา สติเป็นพิพากษาตุลาการเกิดความเป็นธรรมได้
เริ่มต้น ท่ามกลางที่สุด เริ่มต้นจาก ก ไก่ ข ไข่ ให้รู้สึกที่กายนี้ไป อ่านออกแล้ว เห็นกายเห็นใจ เห็นเป็นรูปธรรมเห็นเป็นนามธรรม กำลังจะอ่านออก ฉลาดเพราะรูปเพราะนาม ฉลาดเพราะกายเพราะใจ อ่านออกเขียนได้ สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายไม่จน สิ่งใดเกิดกับใจไม่จน ไม่จน ไม่มืด ฉลาดตรงนี้ เป็นความรอบรู้ในกายในใจเรียกว่ากองสังขาร การรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่าปัญญามันเกิดจากนี้ ไม่ใช่จากทัศนศึกษาอันอื่น เกิดจากกายจากใจที่มันแสดงออกให้เราเห็น ดูสิพระพุทธเจ้าสมัยเป็นเจ้าฟ้าชาย เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา ไม่มีหนังสือสักเล่มเดียว หนังสือก็ยังไม่มี พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปประมาณ 700 ปี จึงมามีตัวหนังสือขึ้นมา สังคายนาครั้งที่ 4 ที่ประเทศศรีลังกา จารึกใส่ใบลานเขียนเป็นตัวอักษรภาษาสิงหล ต่อมาสังคายนาครั้งต่อมาอีกมาทำที่อินเดีย เขียนเป็นตัวบาลี นี่ก็ยังมีหนังสือ เดี๋ยวนี้ก็เต็มบ้านเต็มเมือง มันออกจากกายจากใจเรานี้ 84000 อย่างเกิดกับกายกับใจเรา เป็นตำราเล่มใหญ่ พระไตรปิฎกก็เรียกได้ แล้วเวลาเรามีสติมันจะเห็น ความไม่เที่ยงก็เห็น ความเป็นทุกข์ก็เห็น ความไม่ใช่ตัวตนก็เห็น มันแสดงอยู่ในกายในใจเรานี้ในอารมณ์นี้ ไม่ใช่ความไม่เที่ยงไปอ่านในหนังสือ มันมีอยู่ในคน ความทุกข์ไม่ใช่ไปอ่านหนังสือมันมีอยู่ในคนในกายในใจนี้ ความไม่ทุกข์ก็ไม่มีอยู่ในหนังสือมันมีอยู่ในคนนี้
มันจึงเป็นอันเดียวกัน กายใจก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่เป็นคนละคน มีธาตุ 4 ขันธ์ 5 เหมือนกัน ร้อนเหมือนกัน หนาวเหมือนกัน หิวเหมือนกัน อิ่มเหมือนกัน เจ็บปวดเหมือนกัน หลงเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน ความทุกข์ไม่ใช่ต่างกันเลย ความทุกข์ก็คือทุกข์นั่นแหละอันเดียวกัน แล้วความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรานี้ไม่ต้องไปถามใครฉันทุกข์หรือเปล่า ฉันหิวข้าวหรือเปล่า ฉันอิ่มแล้วหรือยัง ไม่ต้องมีคำถาม ปัจจัตตัง อันเดียวกันแท้ ๆ ไม่มีพันธุ์ใหม่เหมือนโรคไข้หวัดพันธุ์ใหม่ จะโกรธก็พันธุ์เก่านั่นแหละ มันโกรธคือโกรธนั่นแหละ มันทุกข์คือทุกข์นั่นแหละ ไม่มีพันธุ์ใหม่ มันเรียนจบได้ แต่ทางวิทยาศาสตร์ยังเรียนไม่จบ ต้องค้นคว้าวัคซีนเพื่อป้องกันให้วัคซีนแก้หวัดพันธุ์ใหม่ ถ้าโรคเอดส์ก็ต้องให้เอดส์ หลวงตาเป็นโรคมะเร็งก็ต้องให้คีโม ไม่ใช่เอาโรคเอดส์มาให้ อันนั้นก็มีอันเก่านั่นแหละ คือโรค อันโรคความโกรธเนี่ยอันเดียวไม่ใช่คนละอย่าง อย่างน้อยก็ต้องเปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธมีสติ ไม่มีใครช่วยเราได้อันเนี่ยเราต้องช่วยตัวเอง
อันโรคภายนอกมีหมอนี่นั่งอยู่เนี่ยพยาบาลช่วยเรา หลวงตาเคยอาศัยพยาบาลอาศัยหมอเนี่ยเป็นเทพธิดาเทพบุตรของเราเลย ถ้าไม่มีคนพวกนี้เราไม่รอดแน่ หายใจไม่ได้แล้ว หายใจไม่ได้ก็หายใจคนเดียวเองไม่มีใครมาช่วยเราได้ เจ็บก็เจ็บคนเดียว ถ้าเราไม่ฝึกน่ะ จนที่สุดเวลานั้นนะ แต่ถ้าเราฝึกมันยิ่งมีชัดเจนเวลานั้นนะ มันมีเรื่องเดียวคือเจ็บ เรื่องอื่นไม่มีเลย เจ็บก็คือเจ็บใหญ่ที่สุดเวลามันเจ็บนะ มันก็อยู่เช่นนั้น มันก็เห็นแจ้ง หายใจไม่ได้ก็เห็นเรื่องหายใจไม่ได้ ไม่มีเรื่องอื่นที่จะกระจุยกระจายเป็นส่วนตัว มันจนเวลานั้น ความเจ็บก็พาให้จน หายใจไม่ได้ก็พาให้จน จะทำไง เมื่อยามสงบเราไม่ฝึกยามศึกเราก็รบไม่เป็น ฝึกอย่างนี้มันไปถึงโน่น เราจึงเหนือการเกิดแก่เจ็บตายเพราะเห็นมัน เห็นมันเจ็บไม่ใช่เป็นผู้เจ็บ เห็นมันหายใจไม่ได้ไม่ใช่เป็นผู้หายใจไม่ได้ เราก็อยู่ของเราเอง พร้อมที่จะวางลง ปลงไว้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเดือดร้อน ถ้าเราไม่เป็นก็เอาทุกอย่างทั้งกลัวทั้งอะไรต่าง ๆ เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ มันก็มีอยู่ ถ้าจะเป็นความเจ็บไม่เป็นทุกข์ เป็นความแก่ไม่เป็นทุกข์ เป็นความตายไม่เป็นทุกข์มีอยู่แท้ ๆหลายคนที่จนเรื่องนี้กัน ไม่น่าจะจนเลย มันเปลี่ยนได้ อย่างมันเจ็บเห็นมันเจ็บอย่างเนี่ย มันทำได้อยู่ มันทุกข์เห็นมันทุกข์เนี่ยอย่าเป็นผู้ทุกข์เนี่ย มันหลงเห็นมันหลงน่ะ รู้นั่นนะ ความรู้ตัวนี้เป็นปัญญาเป็นมรรคเป็นผลไป ถ้าไม่ตั้งต้นตรงนี้มันก็ไปไม่ถึงไหน เรามาตั้งต้นกัน ใครก็เหมือนกัน
จะจบปริญญาสาขาไหนก็ตั้งต้นตรงนี้ แล้วสิทธัตถะจบมา 17 ศาสตร์ เป็นเจ้าฟ้าชายเรียนเก่งแต่ต้องมาตั้งต้นที่นี่ ไม่ใช่เอาศาสตร์นั่นมาเป็นสิ่งต่อรอง มันก็มีกายมีใจนี้ เริ่มต้นก็จากมีสติเห็นกายเนี่ย กายานุปัสสนาเห็นกายอยู่เป็นประจำ ไม่ออกหนีไปไหน เรื่องของกายหัดรู้มัน มันจะไปทางไหน เรื่องของใจก็เห็นมัน ดูมันอยู่เนี่ย มันก็เห็นแน่นอน มันคิดถึงพิมพาเวลานั่งอยู่ต้นศรีมหาโพธิ์ ความคิดมันจะหอบหิ้วไป หาเหตุหาผลจากความคิด เราเป็นเจ้าฟ้าชายเป็นจักรพรรดิราชได้ ครองในทวีปทั้ง 7 นี้ได้ เราจะมานั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ได้ยังไง พิมพาก็ยังอยู่ ราหุลก็ยังมีอยู่ ราชสมบัติทรัพย์ศฤงคารยังมีอยู่ ปราสาทสามฤดูยังมีอยู่ มีสิทธิของเรา สาวสนมกำนัลในทั้งหลายเต็มพระราชวังอยู่ เวลานอนมาขับกล่อมให้บุรุษทีละคนทุกคืนก็ยังได้ จะมาอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร เหตุผลกระโดดหนีจากต้นศรีมหาโพธิ์ไปใช่ไหม กลับคืนกบิลพัสดุ์ราชวังเลย ไม่ไป เวลามันคิดขึ้นมา จึ๋ก! เวลานี้ไม่ใช่มานั่งคิดถึงพิมพา เวลานี้เรามีสติเห็นกาย ยกมือไป ยกมือมา นี่เรารู้อย่างนี้ ยกมือเข้า เอามือออก รู้อย่างนี้ การคู้แขนเข้า การเหยียดแขนออก ให้รู้อย่างนี้
เอาจริงพระองค์อาจจะเดินจงกรมอยู่ด้านทิศเหนือศรีมหาโพธิ์ หลวงตาไปเห็นอยู่ ที่ไหน ๆ ที่พระพุทธเจ้าอยู่มักจะมีทางเดินจงกรม ป่าอิสิปตนฯก็เดินจงกรมอยู่ ตอนเดินจงกรมอยู่ใกล้จะสว่าง ยสกุลบุตรออกจากเมืองมา ร้องมาขณะที่พระองค์เดินจงกรมอยู่ประมาณตี 4 ตี 5 “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ยสกุลบุตรลูกเศรษฐีเดินออกมา พระพุทธเจ้าจงกรมอยู่พอดีขานตอบไปเลย “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่ก็ได้” ได้ยินไหม พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ ช่วยคนแท้ ๆ เห็นคนทุกข์อยากช่วย “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาที่นี่ก็ได้” ยสกุลบุตรเข้าไปเลย พระพุทธเจ้าจงกรมอยู่ก็สอนกัน เวลามันคิดถึงพิมพากลับมา คิดถึงราหุลกลับมา คิดทีไรกลับมารู้ ไม่ให้ความคิดเป็นใหญ่ ให้ความรู้เป็นใหญ่ เปลี่ยนความคิดออกไปมันหลงให้เป็นความรู้ คิดถึงปราสาทสามฤดู
ในช่วงเพ็ญเดือนหกมันฝนตกชุกนะ ไม่มีหอไตรเหมือนเรานะ ต้นศรีมหาโพธิ์ฝนตกก็เปียก ก็ย่อมคิดใช่ไหม ไม่มีใครไม่คิดแม้แต่เราก็ต้องถือร่ม วิ่งไปเข้าร่มหรือกางร่มออก นี่สิทธัตถะไม่มีปัญญาที่จะมีอย่างนั่นแล้ว มีแต่นั่งหญ้าคาที่โสตถิยพราหมณ์เอาให้ ไม่มีอะไร ไปเกี่ยวหญ้าคามา เห็นสิทธัตถะเดินขึ้นจากเนรัญชรามาเพื่อขึ้นสู่เนินศรีมหาโพธิ์ โสตถิยพราหมณ์แบกหญ้าคามาเลยเกิดสงสารเกิดศรัทธา ไม่มีอะไรให้ มีหญ้าคานี้ก็แบ่งให้ “เอ้า! เอาไป เอาไป” เหมือนเราจนใช่ไหม คิดหาอะไรให้ก็ไม่มี เช่นหญิงคนหนึ่งเป็นลูกจ้างเฝ้านา ไปตักน้ำเอาข้าวคั่วใส่พกซิ่นไป เอาไปกิน ไปตักน้ำ หิวมากทำงานตำข้าว ลูกจ้างเศรษฐีเวลาเห็นพระพุทธเจ้าออกมาบิณฑบาตร อุ้ย ไม่รู้จะเอาอะไรให้น้อ มีแต่หาบน้ำกับถังเปล่า เลยเห็นข้าวคั่วอยู่ในพกซิ่น ไปเปิดพกซิ่นออกมาก็เลยเอาข้าวคั่วให้ ว่าจะเอาไปกินนะ พอให้แล้วก็ตกใจ “เอ! ท่านจะฉันให้หรือเปล่าหนอ น่าเกลียดนะ ข้าวคั่วเพียงนิดหน่อยอยู่ในพกซิ่นเราเนี่ย เราก็ให้ ใส่บาตรให้” มันจนใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็รู้เลยมานั่งฉัน พอมานั่งฉันคนรับจ้างตำข้าวก็ดีใจ โอย..สาธุ เนี่ยได้บุญนะ ถึงว่าหญิงคนนั้นตายไปเป็นเทพธิดาเลยทีเดียวเพราะให้ทาน เราจึงมีเป็นข้าวสารทข้าวจี่ใช่ไหม เคยจี่ข้าวไปถวายพระไหม ไม่ค่อยมีนะเดี๋ยวนี้นะ ไม่มีแล้วบุญข้าวจี่ แต่ก่อนเดือน 3 บุญข้าวจี่ เดือน 4 บุญผะเหวด เดี๋ยวนี้เดือน 3 ไม่มีบุญข้าวจี่ ไม่เคยได้กินข้าวจี่มาอยู่เนี่ย แต่บ้านเก่าบ้านเกิดยังมีอยู่นะ ไม่มีประเพณีใหม่อย่างนี้ มีหญ้าคานั่งนิดเดียวใต้ต้นศรีมหาโพธิ์แท่นศิลาอาสน์ เครื่องมุงเครื่องบังไม่มี จนขนาดนั้นเลย มันก็ย่อมคิด สวนทางมันอย่างใหญ่เลย ตายเป็นตาย จะอยู่ตรงนี้แหละอะไรก็ทำมาหมดแล้ว 6 ปี เหลือเรื่องเดียวคือกายใจ บำเพ็ญทางจิตเข้ามาเลยทีเดียว มันคิดก็เห็นมันกลับมา คิดถึงพิมพาก็กลับมา กลัวตายก็กลับมา ทำท่าจะเป็นไข้ร้อน ๆ หนาว ๆ ไม่กลัว รู้สึกตัวขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมา รู้สึกตัวในเวลามันหลง เอาไปเอามามันก็มีความรู้เกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือนหกเท่านั้นเองได้บรรลุธรรม ต้องเดินตามรอยตรงนี้ไปพวกเรา ตามรอยนี้ไป นี่รอยพระพุทธเจ้าแท้ ๆ ไม่ใช่รอยอยู่พระบาทสระบุรี อันนั้นก็มีเหมือนกัน แต่รอยที่จะทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้านั้นอยู่ตรงนี้ มีสติสัมปชัญญะ
เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เรื่อยไป เมื่อมีสติมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น กลายเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาได้ ไม่หวั่นไหว แต่ก่อนมันหวั่นไหวเพราะความคิด ผิด อะไรก็ผิดไปเลย ถ้าเกิดจากความคิดนี่ผิดศีลก็มี ทำให้ทุกข์ทำให้โกรธก็มี บัดนี้ไม่มีปัญหาพอมันคิดขึ้นมาได้ประโยชน์จากมัน มันจะรู้ เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ได้ ทุกกรณี ทุกคนทำได้อยู่ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนก็ทำไม่ได้นะ มีไหม ถ้ามันหลงไปรู้สึกตัวมีบ้างไหมพวกเราที่อยู่ที่นี่ ถ้าไม่ไปตรงนี้ถ้าไม่เปลี่ยนตรงนี้ไปไม่ถึงไหนนะ อย่าเอาปีเอาเดือนมากำหนด เอาตรงนี้แหละความเพียรมั่นคง เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เนี่ย นี่เอาความเพียรมั่นคง ถ้าความหลงเป็นความหลงความเพียรไม่มั่นคง เร็ว ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเอาความเพียรมั่นคงเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เนี่ยมั่นคง ทุกทีที่มันหลงรู้ทุกทีที่มันหลง ทุกทีที่มันทุกข์รู้ทุกที่ที่มันทุกข์ ทุกทีที่มันโกรธรู้ทุกที่ที่มันโกรธ
นี่มั่นคง เมื่อมันมั่นคงอย่างนี้รักษากายรักษาใจเป็นศีลขึ้นมา เป็นศีลขึ้นมา เป็นศีลขึ้นมา ศีลนี้กำจัดกิเลสได้ตั้งแต่ทุกข์ไปจนถึงการปรุงแต่งความโกรธโลภหลงได้ เมื่อมันมั่นใจเป็นสมาธิขึ้นมาไม่หวั่นไหวเพราะความหลงความทุกข์ ถ้าไม่เข้มแข็งตรงนี้มันอ่อนแอ แต่ก่อนอ่อนแอบัดนี้มันเข้มแข็ง สมาธิเหมือนก้อนหินไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด มันก็คิดอยู่แต่ไม่หวั่นไหว เข้มแข็งขึ้นมาแล้วก็มีปัญญารอบรู้ มีปัญญารอบรู้มันก็เหมือนจักรแห่งธรรมหมุนไป มันก็ง่ายขึ้นเหมือนกลิ้งครกลงเขา ถ้ามันหลงเป็นหลง ทุกข์เป็นทุกข์ เหมือนกลิ้งครกขึ้นเขา ทุกขปฏิปทา ปฏิบัติลำบาก ต้องเป็นตัวใครตัวมันเรื่องนี้ หัดเอา ฝึกหัด บางทีครุ่นคิดในอารมณ์ที่ครุ่นคิดไม่รู้จักสลัดความคิดออก พอคิดทีไรก็ปล่อยอารมณ์เป็นปรุงแต่งเรื่อยไป คิดแบบบ้า ๆ บอ ๆ คิดสารพัดประโยชน์ ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนหลวงตาพูดเรื่องลิงอ่ะ เรื่องลิงซุกซนได้ยินไหมเมื่อวานนี้ ลิงเที่ยวซุกซนน่ะชอบกระโดดโลดเต้นไปที่ต้นไม้เปลี่ยว ๆ เดี่ยว ๆ ไม่มีกิ่งก้านสาขา ชอบกระโดดหน้าผา ชอบซุกซนจนติดตังทั้งขามือสองขาสี่ขา ปากก็ติด สมน้ำหน้ามันที่เที่ยวซุกซน
ฉันใดภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็มาด่าภิกษุ ภิกษุทั้งหลายพวกเธอทั้งหลายหมกมุ่นครุ่นคิดในอารมณ์ที่ครุ่นคิด ไม่สำรวมอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล่นไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เพลิดเพลินในกามคุณ ทะเยอทะยานอยาก เธอทั้งหลายก็ต้องถูกราคะ โทสะ โมหะ เสียบแทงจิตใจของเธอ เธอก็อยู่ไม่ได้ จีวรลุกเป็นไฟ ข้าวในบาตรลุกเป็นไฟ กุฏิลุกเป็นไฟ เธอต้องสิกขาลาเพศไป ฉันใดก็ดี มารเอาไปกินเอาไปฆ่าจนเจียนตาย ภิกษุทั้งหลายฉันใดก็ดี เธอทั้งหลายจงอย่าเป็นเช่นลิงเที่ยวซุกซนเช่นนั้น ให้สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ