แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราเป็นผู้พูด ท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟัง พูดกับทุกท่าน พูดกับทุกคน เรื่องที่พูดเป็นเรื่องของเรา เรื่องของตัวเรานี่แหละ เรามาศึกษา มาเรียนรู้ กายกับใจเป็นแหล่งแห่งการเรียนรู้ สติเป็นนักศึกษา กายใจเป็นตำรา มันจะบอกเรา ว่าจะมีความรู้สึกตัวเป็นหลัก เหมือนกับตาคอยดูที่เขาจะแสดงออก สิ่งไหนที่แสดงออกก็แสดงว่าเราได้เห็นแล้วเราได้รู้แล้ว ให้เรามีสติดูกายเคลื่อนไหว เป็นนิมิต เมื่อเกิดความหลงขึ้นมา เรารู้แล้วว่ามันไม่ใช่ความรู้ ความหลงมันเกิดขึ้น เช่นความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน เราก็ได้รู้ หลงไปในความคิด เราก็รู้แล้วว่ามันหลง มันไม่ใช่ความรู้ ก็บอกตัวเอง สอนตัวเอง เราก็ได้เรียนรู้เรื่อยไป หลักของเราก็ดูอยู่ เหมือนกับเราอ่านตำรา เราท่องหนังสือ บางทีมันก็ว็อบคิดไปทางอื่น เราก็กลับมาท่องหนังสือ จิตใส่ใจตาม ลำดับลำนำดีๆ มันถึงจะติด มันถึงจะเป็นวิญญาณ วิญญาณแห่งความรู้สึกตัว ไม่ใช่วิญญาณแห่งความหลง วิญญาณแห่งความหลงมันขอมาเกิด ขอมาแทรก เราก็ไม่เอา เราก็บอก เวลานี้เราสร้างความรู้สึกตัว เราก็บอก แล้วมันก็เชื่ออยู่ เพราะความรู้สึกตัวมันเป็นธรรม ธรรมย่อมชนะอธรรมอยู่เสมอ ความหลงไม่ใช่ธรรมดอก บางทีเราให้โอกาสมันมามาก แต่เวลานี้ขอเถอะ ขอโอกาส เวลานี้เรามาเจริญสติ ไม่ใช่เวลานี้มาคิดถึงลูกถึงหลาน เวลานี้ไม่ใช่เวลาทำอันอื่น เรามาเจริญสติ ขอสงวนเวลา ขอสงวนลิขสิทธิ์ คล้ายๆกับว่าอย่างนั้น ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว มันจะได้บทเรียนเยอะๆ ไปหมดเลย สิ่งไหนที่มันไม่เคยเห็นชัดก็จะได้เห็นชัด แต่ก่อนเราไม่เคยเห็นความคิดตัวเอง อยู่กับความคิด อยู่กับความหลง อยู่กับความโกรธ อยู่กับความรัก ความชัง พอมาดูเข้าจริงๆ น่ะ มันไม่ใช่ มันเป็นอาคันตุกะ มาเป็นครั้งเป็นคราว เราก็จะได้ทักท้วง เราจะได้ทักท้วง โต้ตอบ บอกคืน บอกกลับ เวลามันหลงขึ้นมา เวลามันคิดขึ้นมา ก็บอก เราก็กลับมา กลับมาหาฐาน มาหาที่ตั้ง มันจะได้บทเรียนเท่านั้นแหละ เช่น มันหลงคิดไปก็กลับมาหากาย ที่เคลื่อนที่ไหวอยู่นี้ ง่วงเหงาหาวนอน ก็กลับมาหากายที่เคลื่อนที่ไหวอยู่นี้ ให้มันทันทีทันใด ตรงกันข้ามพอดีๆ หัดให้มันตรงกันข้าม มีโจทก์มีจำเลย ความหลงเป็นโจทก์ สติเป็นพิพากษาตุลาการ ทั้งใจทั้งกายเป็นจำเลยของความหลง เราก็แก้ต่าง มันเคยหลงมาเราก็แก้ต่าง เหมือนกับพิพากษาตุลาการที่จะสร้างความเป็นธรรม กระบวนการแห่งความเป็นธรรม ทว่ากายใจของเรานี่มันครอบงำ มันเป็นจริตนิสัยมานานแล้ว บางทีก็ง่ายที่จะหลง พอเรามาดูจริงๆ ชีวิตเราความหลงมันมากกว่าความรู้สึกตัวด้วยซ้ำไป พอมาสร้างความรู้สึกตัวนี่ โจทก์คือความหลง ก็จะมาแย่งเอากายเอาใจให้ไปคิด ให้เป็นทาสของเขา เราตั้งใจจะสร้างความรู้สึกตัวอยู่ดีๆ อ้าวมันง่วงขึ้นมา มันไม่ยอมให้รู้ มันดื้อ ความง่วงก็เหมือนกับมันดื้อ ความดื้ออยู่ในชีวิตเรา เหมือนกับลูกของเรา หลายคน ลูกบางคนก็ดื้อ ลูกบางคนก็ด้าน ลูกบางคนก็ซุกซน ความง่วงหมายถึงมันดื้อ มันด้าน เหมือนกับลูกที่บอกมันไม่เชื่อไม่ฟัง แต่ก็พยายาม แต่มันไม่เหมือนกับลูกจริงๆ เพราะมันอยู่กับเรา มันเป็นเรื่องของกายของใจเรา มันก็อยู่กับเรา แต่ลูกซึ่งเป็นลูกตัวเราจริงๆ มันก็อยู่คนละที่ ละทางกัน บางทีเราก็ไม่ได้เห็นมัน มันทำผิดทำถูก หลบหูหลบตา เราไม่ได้ยิน เราไม่ได้เห็น แต่ตัวเรานี่เห็น รู้เห็นทุกโอกาส น่าจะมีสติเป็นดวงตา คอยดูแล คอยตรวจสอบ คอยทักท้วง คอยโต้ตอบ คอยบอกคืน คอยบอกกลับ สอนให้มันรู้ คนละเรื่องกัน ความหลงกับความรู้คนละเรื่องกัน ให้ใส่ใจตรงนี้ ให้มันเห็นความหลงชัดเจน เห็นความรู้ชัดเจน ความหลงเป็นอันหนึ่ง ความรู้เป็นอันหนึ่ง ความทุกข์เป็นอันหนึ่ง ความไม่ทุกข์เป็นอันหนึ่ง ความโกรธเป็นอันหนึ่ง ความไม่โกรธเป็นอันหนึ่ง เนี่ยมองให้มันชัด แต่ก่อนอาจจะไม่ชัด ปนเปกันไป ทั้งรู้ทั้งหลงไปด้วยกัน ไม่เอา ให้มันชัดเจน การปฏิบัติธรรม สร้างความชัดเจน สร้างความแม่นยำ ให้มันเป็นจริง ความรู้ก็เป็นความรู้จริงๆ ความหลงก็เป็นความหลงจริงๆ แต่ถ้าเราไม่เคยสร้างความรู้ให้เป็นฐาน ให้เป็นหลัก มันก็จะไม่เห็นความหลงชัดจริง ชัดแจ้ง ไม่เห็นแจ้งในความหลง เวลาเราสร้างความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวมีฐาน มีที่ตั้ง พอมันหลงขึ้นมาแล้วจะเห็นความหลงชัดเจน หลงไปทางไหนก็เห็นชัด หลงไปในความคิดก็เห็น โดยเฉพาะหลงไปในความคิดเนี่ย ถ้าไม่เก่งจริงๆ จะไม่เห็น เราก็ไปด้วยกันได้ เป็นสุขเป็นทุกข็ไปด้วยกัน ปนเปกันไป แต่นี่เรามีสติเห็นมันทั้งสองอย่าง เห็นทั้งสุขเห็นทั้งทุกข์ เห็นทั้งรู้ เห็นทั้งหลง เราก็สร้างตัวรู้ เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ นี่เรียกว่าปฏิบัติ ถ้าไม่เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ไม่ใช่นักปฏิบัติ จะนั่งหลังขดหลังงอ จะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เหมือนพระรัฐบาล พระจักขุบาล พระรัฐบาล ใช่มั้ย เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก แต่ด้วยความอยาก ความอยากรู้อยากเห็น รีบกายจนไม่มีเวลาพักผ่อน แล้วเดินจนฝ่าเท้าแตก เพราะอยากรู้อยากเห็น เคร่งเครียด บึกบึน เอาส้นเท้าเดิน ส้นเท้าก็แตก เอาปลายเท้าเดิน ปลายเท้าก็แตก เอาข้างเดิน ข้างเท้าก็แตก รอยเดินจงกรมเป็นรอยเลือดไปเลย ในที่สุดท้อใจ ลาสิกขา พระพุทธเจ้าก็ทราบ เรียกมาถาม มาสนทนาธรรมด้วย ถามรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นหนุ่ม สมัยเป็นหนุ่มเป็นนักดนตรี ดีดพิณ สีซอ ก็ถามว่า รัฐบาลเวลาเธอทรงดนตรีนะ ถ้าสายพิณของเธอตึงเกินไปมันจะเพราะไหม ไม่เพราะพระเจ้าข้า ถ้าหย่อนเกินไป มันจะเพราะไหย ไม่เพราะพระเจ้าข้า จะทำอย่างไรมันจึงจะเพราะ เอาพอดีๆ แม้เธอปรารภความเพียรก็เช่นกัน รัฐบาลเอ๋ย เธอตึงเกินไป เธอหย่อนเกินไป มันก็ไม่มีความพอดี เช่นเดียวกัน
เธออย่าไปอยากรู้อยากเห็นอะไรมาก ความขยันก็พาเธอทำ ความขี้เกียจก็พาเธอหยุด ไม่ใช่ ความอยาก ความหย่อน ความตึง มันใช้ไม่ได้ มันต้องพอดี มีสติสัมปชัญญะคอยดูการแสดงของกายของใจ บางทีใจมันอยากรู้ ก็เห็นมันอยากรู้ อย่าเป็นผู้อยากรู้ ให้เห็นมันอยากรู้ มันขี้เกียจ ก็อย่าเป็นคนที่ขี้เกียจ ถ้าเห็นมันขี้เกียจมันจะเกิดความพอดี นี่การปฏิบัติธรรม สติที่เราสร้างนี่ช่วยเรา ว่าแต่เราสร้างให้มันมี ว่าแต่เราสร้างให้มันมี ถ้ามันไม่มีมันก็ไม่ได้ใช้ เหมือนเราไม่มีเงินมันจะได้ใช้อะไร หิวตาย เราต้องหา เราต้องสร้างขึ้นมา อย่าขี้เกียจ ขี้คร้าน คนขยันก็หาทรัพย์ได้ คนเกียจคร้านก็นอนเป็นทุกข์ การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เราทำได้จริงๆ พลิกมือ ยกมือ เคลื่อนไหวมือได้ รู้สึกตัวได้ รู้สึกตัวได้ ตั้งต้นจากความรู้สึกตัวน้อยๆ ที่มีเจตนาเอามาไว้กับกายที่มันเคลื่อนมันไหว เริ่มต้นตรงนี้ ต่อไป ต่อไป มันจะมีฐาน มีที่ตั้ง มันจะมากขึ้น มากขึ้น เป็นมหารู้ เมื่อมันเป็นมหารู้แล้วก็เอาล่ะ บัดนี้เราสมมุติว่าเรามีเงินมีทอง เราก็สามารถที่จะขยายธุรกิจของเราออกไปได้ แต่ก่อนหาเงินสิบ เงินห้า เงินสิบ ต่อไปอาจจะหาเงินร้อยเงินพัน ต่อไปอาจจะไปหาเงินหมื่นเงินแสน เหมือนหลวงปู่เทียนพูด สมัยหลวงพ่อไปปฏิบัติกับท่าน หลวงพ่อเทียนก็ว่า หาเงินร้อยเงินพันหาไม่เป็น ไม่รู้จะหาแบบไหน แต่ว่าหาเงินหมื่นเงินแสนนี่หาง่าย ท่านบอกว่า นั่นมันก็คิดแบบนั้น การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หาเงินหมื่นเงินแสนหายังไง มันมีให้หา มันมี ถ้ามีสติขึ้นมากๆ มากๆ มันก็มี มีญาณมาช่วย มีสมาธิ มีปัญญา มีมรรคเข้ามาช่วย คนมีเงินมีทอง เงินมันก็หาเงินเอง เงินมันลงทุน ปัญญามันลงทุน มันหาเอง จากอันโน้นได้มา จากอันนี้ได้มา หลายเรื่องหลายราว หาหลายๆ อย่างก็ได้มารวมกันเข้ากันมากขึ้นๆ แต่ก่อนนี้ตามันก็พาให้เราหลง หูก็พาให้เราหลง จมูกลิ้นกายใจมันก็พาให้เราหลง ต่อไปๆๆ เมื่อมันรู้แล้ว ตาก็พาให้รู้ หูก็พาให้รู้ จมูก ลิ้น กาย ใจก็พาให้เรารู้ มันช่วยเรา ศีลสมาธิปัญญา ก็คุ้มครองป้องกันรักษาเรา ญาณปัญญาก็เกิดขึ้นมาสนับสนุน นั่นมันเป็นอย่างนั้นมันได้ความสมสัดสมส่วน ได้พลังงาน นี่มันเป็นไปเอง แต่ว่าการเริ่มต้นนี่มันจะยากอยู่สักหน่อย แต่ความยากที่เราทำมันจะง่ายภายในภายหลัง ความตึงก็เพื่อที่จะหย่อน ความหย่อนก็เพื่อที่จะตึง ให้คิดอย่างนี้ บางทีมันตึงมากก็หย่อน บางทีมันหย่อนมาก ก็ตึง ให้มันพอดี หาความพอดีกับตัวเอง บางทีก็ตั้งไม่ถูก พอทำปั๊บก็เอาจริงเอาจัง หน้าดำคร่ำเครียด ง่วงเหงาเศร้าซึม เครียดไปเลย ถ้าอย่างนั้นก็หย่อนลงไปซะหน่อย หย่อนลงไปซะหน่อย หายใจโล่งๆ มองในแง่ดี ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร มองในแง่ดีๆ มันตึงเพื่อจะหย่อน หย่อนเพื่อที่จะสอนตัวเอง เหมือนกับเราฝึกหัดวัวควาย จับควายใหม่ วัวใหม่ มันวิ่งเตลิดเปิดเปิง วิ่งแรง เราก็หย่อนไป แล้วก็ดึงกลับขึ้นมา ถ้าไปตึงเวลามันวิ่ง มันเจ็บทั้งสองส่วน อาจจะเชือกขาด อาจจะมือขาดก็ได้ แล้วเมื่อมันเจ็บมากๆ ควายที่เราสนตะพายมัน มันเจ็บมากๆ ก็ดิ้นมากๆ มันก็ดิ้นมากๆ เมื่อมันดิ้นมากๆ ล่ะก็ พยศ มันก็พยศ มันไม่ให้เราเกี่ยวข้องกับมัน เช่นเราสนตะพายควาย หลวงพ่อเป็นนักสนตะพายควาย สนเข้าควาย ภาษาบ้านเฮาเนาะ สนเข้าควาย ถ้าไปจับบักใหญ่ บักโต ตึ้งตั้งๆ มัดมันก็ดิ้น ค่อยๆ ลูบคลำ มันก็ชอบอยู่หรอก ค่อยๆ ลูบคลำไป ลูบคลำก็ค่อยๆ จับ ค่อยๆ ลูบ ค่อยสอดเข้าไป มันก็ให้เราทำอยู่ เช่นเราไถนา เขาควายมันขาด ถ้าไปมัดไปดึงมันๆ ก็ไม่ชอบนะ คอยลูบคอยคลำ ทีหลังๆ มันก็จะยื่นจมูกมาให้เราเลย ว่าแต่เราค่อยๆ สอด มันก็หัดได้ การหัดการสอนตัวเองก็เหมือนกัน มันก็ไม่ชอบรุนแรงเหมือนกัน ตึงเครียดเกินไป เอาจริงเอาจังก็ไม่ใช่นะ ต้องรู้จักจริตของตนเอง ปล่อยๆ หยุดๆ เย็นๆ ให้เวลา อย่างเช่นท่านั่ง บางทีอยู่ๆ จะมานั่งนานๆ เหมือนหลวงพ่อมันไม่ได้ ปวดขาปวดแขนก็ยืดตัวใหม่ พักใหม่ ยืดตัวใหม่ วางกาย วางใจ วางใบหน้า วางกิริยาอาการต่างๆ ค่อยๆ สอนตัวเอง ค่อยๆ ยกมือขึ้น ยกมือไว้ ทำใจไปด้วย ทำกายไปด้วย ทำความรู้สึกตัวไปด้วย ให้มันเป็นปี่เป็นขลุ่ยไป ถ้าหากไม่เป็นก็เป็นศัตรูกันแล้ว พอเจริญสติทีไร โอ๊ยมันยุ่งยากเหลือเกิน มันเรื่องใหญ่ จะนั่งทีไร โอ๊ยมันใหญ่ กลัวจะนั่งไม่ได้ จะทำได้หรือเปล่า จะทำได้หรือเปล่า จะอยู่ได้จบคอร์สหรือเปล่า เจ็ดวันหรือเปล่า มันคิดไป เพราะว่าทำก็ยากจริงๆ มันคิด ตั้งท่าตั้งทางอะไรเกินไปไม่ได้ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ตะพึดตะพือไป ทำได้ก็ไม่เป็นไร ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ชีวิตนี้หัดทะนุถนอม หัดเชียร์ตัวเอง อย่าลงโทษการปฏิบัติธรรม อย่าไปลงโทษ ค่อยทำไป บางทีจะไปเอาคนอื่นมาเป็นเกณฑ์ชี้วัดเราก็ไม่ได้ แต่ว่าเราก็ต้องมีส่วนเราต่างหาก เช่น ท่องหนังสือ คนหนึ่งก็ท่องจำได้ดีไปหน้าหนึ่งแล้ว เรายังไม่ถึงวรรค สองแถว สามแถว เราก็จะมารีบตัวเองก็ยากเปล่าๆ เครียดไปเปล่าๆ สมัยก่อนเคยท่องหนังสือแข่งขันกัน สมัยบวชเป็นเณร มันก็มีการหลอกกัน เช่นสมมุติว่าเราท่องไปได้ตั้ง ๕ ใบแล้ว บางทีเพื่อนเรามา เราก็เปิดคืนมา ๒ ใบ ๓ ใบ ทำท่าท่องอยู่ ที่แท้เราไปได้แล้ว ๕ ใบ ๖ ใบไปแล้ว แต่บางทีเราไปดูคนที่เก่งกว่าเรา ท่องพร้อมกัน นวโกวาท วินัยบัญญัติ อนุศาสตร์ ๘ อย่าง นิสสัย๔ อกรณียกิจ๔ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสสัย มี ๔ อย่างคือเที่ยวบิณฑบาต๑ ว่ากันไป ว่ากันไป อ้าว แป๊บเดียวเขาไปได้แล้ว ๒ ใบ ๓ ใบ เรายังท่องไม่ได้ ก็เครียดขึ้นมา เร่งตัวเอง รีบตัวเอง ยิ่งตะเปะตะปะ ตะเปะตะปะไปเลย เมื่อรีบตัวเองมากๆ ไม่ได้ เราต้องรอได้ คอยได้ หยุดได้ เย็นได้ ค่อยตั้ง ค่อยทำไป เอาไปเอามามันก็เก่งเหมือนกัน การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน บางทีเณรน้อยมาถามเราสมัยเราเป็นโยมไปปฏิบัติ เขาว่าเณรน้อยบอกว่า เขาปฏิบัติกัน ๗ วัน เขารู้จักรูปนาม เจ้ามาปฏิบัติแล้วตั้ง ๑๐ มื้อแล้ว ยังบ่รู้จักรูปนาม เจ้าเฮ็ดจังใด๋อยู่ เราก็ลงโทษตัวเอง ตกใจว่า เณรมาว่าอย่างนั้น เราตกใจ เอ เราเป็นบาปเป็นกรรมหรือเปล่า ทำไมเราไม่รู้ ทำไมเราไม่รู้ เณรตัวเล็กๆ ทำไมเขารู้ ก็เลยคิดแบบนั้น ก็เลยไม่ได้ คิดแบบนั้นไม่ได้ ต้องเปลี่ยน ไม่เป็นไร เราจะทำไปอย่างนี้ล่ะ รู้ก็ไม่เป็นไรล่ะ เณรเอ๊ย ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร จะทำอยู่นี่แหละ ไม่รู้ก็ไม่เป็นหยังดอก ค่อยทำไปนี่แหละ ใจมันดี เวลามันให้โอกาส หัวใจนี่มันพอง ทำไป เอ้า มันหลงทีไร ไม่ใช่ เรามาสร้างความรู้ มันคิดถึงบ้านถึงช่อง มันคิดไปนั่น เอ้าไม่ใช่ เรามาสร้างความรู้ ไม่ใช่มานั่งคิด ชั่วโมงที่เราเดินจงกรมรู้สึกตัว ชั่วโมงนี้เป็นชั่วโมงเราสร้างสติ นี่เราก็สอนค่อยๆ สอนไป พอบอกตัวเองไป พอบอกตัวเองไป บอกความรู้ ความหลง มันหลง คิดไป เอ้า ไม่ใช่ เวลานี้เรามาสร้างความรู้ ความรู้มันคืออย่างนี้ เดินคืออย่างนี้ รู้สึกตัวอย่างนี้ รู้สึกตัวอย่างนี้ ตามไป โอ้นี่คือความรู้ โอ้นี่ความรู้ โอ้คิดไปหลง โอ้นั่นตัวหลง โอ้ตัวรู้ ตัวรู้ เดินอยู่นี่คือรูป เดินอยู่นี่คือรูป รู้สึกตัวอยู่นี่เป็นตัวรูปตัวนาม เห็นรูปเห็นนามทันที เนี่ย พลิกล็อคหน่อยเดียว แต่ก่อนคุมเกินไป ไม่เว้นวรรคให้กับตัวเอง ไม่ได้ ไม่ได้จังหวะ ต้องเว้นวรรคสักหน่อย ไม่ใช่พรืดเหมือนเหล็กเส้น การปฏิบัติธรรม การเจริญสติ เป็นภาวะที่ดู ออกมาดู เป็นช่อง เป็นช่อง ความหลงน่ะ ได้ปัญญา แต่ก่อนความหลงได้ความหลง ไปสู้กับความหลง ไม่ใช่ บัดนี้ความหลงกลายมาเป็นปัญญา โอมันหลงนะ โอ้นี่คือรูป ยกมือโอ้นี่รู้ โอ้ มันแก้กันเอง ไม่ต้องไปใช้สมอง ไม่ต้องใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช่ไปรีบตัวเอง บังคับตัวเอง มันแก้กันไปในตัวระหว่างความรู้กับความหลง ระหว่างความทุกข์กับความไม่ทุกข์ก็เหมือนกัน นะ ในการปฏิบัติมันมีมาแก้ในตัวของมันเอง มันเป็นธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
ถ้าเราทำถูกอย่างที่เราเรียนรู้ มรรค มรรคก็คือดำเนินไปเรื่อยๆ เหมือนเราก้าวเดิน เดินไปแต่ละก้าว มันเป็นการก้าวถูกต้องอยู่แล้วไปคิดทำไม เมื่อไหร่มันจะถึง เมื่อไหร่มันจะถึง ไม่จำเป็นต้องคิดเลย เวลาเดินจากศาลาหอไตรไปศาลาหน้าเนี่ย โอ๊ย ไกลเหลือเกินหนอ เดินไหวหรือเปล่า เราแก่แล้ว เราปวดขา ปวดเข่า เดินไม่เก่ง โอ๊ยไปคิดอะไร เดินไป ค่อยเดินไป ก้าวทีละก้าว ก้าวทีละก้าว มันสำเร็จแล้ว มันผ่านจากศาลาหอไตรไปแล้วก้าวหนึ่ง สองก้าวก็ผ่านไปแล้ว สามก้าวก็ผ่านไปแล้ว แต่ก้าวแต่ละก้าวมีความหมาย ไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อไรมันจะถึง เมื่อไรมันจะถึง การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน รู้สึกตัว รู้สึกตัว แต่ละรู้ แต่ละรู้ อยู่นี้มีความหมายมาก มันไปจากอะไร มันไปจากความหลง เราทำอยู่แล้ว เป็นกรรมอยู่แล้ว กรรมมันจะลิขิตอยู่แล้ว ให้ทำอย่างนี้ การปฏิบัติธรรม พอทำอะไรลงไปนี่มีแต่ความคิด ทำผิดทำถูก ผิดก็โอ๊ย ถูกก็โอ๊ย ความผิดความถูกซัดเราพอๆ กัน การกระทบเท่าๆ กัน แต่ถ้าว่าเราพลิกล็อคสักหน่อย เห็นมันผิด เห็นมันถูกอันเนี่ย มันผิดก็เห็นมัน ยิ้มได้เหมือนกัน มันทุกข์ก็ยิ้มหัวเราะความทุกข์ได้เหมือนกัน มันสุขก็ยิ้มหัวเราะความสุขได้เหมือนกัน มันสุขก็รู้มันเหมือนกัน มันทุกข์ก็รู้มันเหมือนกัน อย่างนี้การปฏิบัติธรรม ง่ายๆถ้าทำถูก หลักเดียวเป็นตัวเฉลย รู้สึกตัว รู้สึกตัว ภาษามรรคเรียกว่าดู คำว่าดูนี่ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนเลย ไม่เหมือนกับคำว่า “เป็น” คำว่า”เป็น” นี่โอ้ กระทบกระเทือนมาก คำว่า “ดู” ไม่มีอะไรกระทบเลยเรียบ คำว่าเป็นเนี่ยขรุขระ เป็นทางขรุขระ กระทบกระเทือน เมื่อกระทบกระเทือนก็ง่อนแง่น คลอนแคลน ถ้าดูนี่เรียบ มันหลงก็เห็นมัน เรียบ มันรู้ก็เห็นมันรู้ มันสุขก็เห็นมันสุข มันทุกข์ก็เห็นมันทุกข์ นี่คือสติล้วนๆ สติล้วนๆ สติปัฏฐานเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่สติธรรมดา สติธรรมดาไปตาม ไปตามทุกอย่าง มันคิดก็คล้อยไปตามความคิด คิดมีเหตุมีผลเป็นตัวเป็นตน เป็นสุขก็เป็นตัวเป็นตน เป็นสุขจริงๆ เป็นทุกข์ก็เป็นตัวเป็นตน เป็นทุกข์จริงๆ อันนั้น สติธรรมดา สติของปุถุชน สติปัฏฐานเป็นสติที่จะทำลายความเป็นตัวเป็นตน ถ้าไม่เห็นนี่ไม่เป็นตัวเป็นตน คำว่า “เป็น” นี่ คือเป็นตัวเป็นตน เข้าใจหรือเปล่า พูดอย่างนี้ ไม่ได้ให้ใช้สมองนะ เพราะว่าสติปัฏฐานนี่ทำลายความเป็นตัวเป็นตน อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกชัดๆ เลยว่า กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา อะไรที่เป็นเรื่องของกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสักแต่ว่า จิต ก็เป็นสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา นี่ สติปัฏฐาน ไม่ใช่โอ๊ยนะ ปวดเอว โอ๊ย ปวดเอว มันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นตนอยู่ในความปวด มันเป็นตัวเป็นตน ในความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า มันเป็นตัวเป็นตนอยู่ในความร้อนความหนาว มันเป็นตัวเป็นตนอยู่ในความหิว ความสุข ความทุกข์ สติปัฏฐานนี่ เฉลี่ยออก เฉลี่ยออกเลย เห็นมันปวด เห็นมันหิว เห็นมันร้อน เห็นมันหนาว เห็นมันปวดมันเมื่อย เห็นแล้วเฉลี่ยแล้วนั่น เฉลี่ยแล้วเรียบลงมาหน่อยไม่เป็นคลื่นแล้ว เห็นแล้ว เห็นแล้ว ถ้าภาษาธรรมะ “เห็นแล้ว” เห็นแล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว ภาษาพระอัญญาโกณฑัญญะ รู้แล้ว มันคิดก็รู้แล้ว มันสุขก็รู้แล้ว มันทุกข์ก็รู้แล้ว มันหิวก็รู้แล้ว มันร้อนก็รู้แล้ว มันปวดมันเมื่อยก็รู้แล้ว แต่ว่า (อัญญา สิ วะตะโภ โกณฑัญโญ) รู้แล้ว รู้แล้ว อย่างนี้นะ ไม่ใช่ “เป็น” นะ ปฏิบัติธรรม มันจะทำให้เกิดความเรียบง่าย ความง่ายมันสร้างเราอยู่หรอก แต่เราไปสร้างความง่ายเป็นเรื่องยาก สร้างความเบาให้เป็นเรื่องหนัก ส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติธรรม เอาให้ได้ จะเอาให้ได้ ไม่รู้จะเอาอะไร ถ้าเอามาได้ จะได้อะไร ได้ความยาก ได้ความง่าย ได้ความสุข ได้ความทุกข์ ถ้าจะดูมัน มันก็ไม่มีอะไร มีแต่เห็นแจ้งไป ได้บทเรียน ความทุกข์ก็ได้บทเรียนเป็นปัญญา ความสุขก็ได้บทเรียนเป็นปัญญา ความหลงก็ได้บทเรียนเป็นความไม่หลง ได้ปัญญา สภาวะที่ดูเนี่ย เริ่มต้นให้ถูกนะ การปฏิบัติธรรม ทำสบายๆ มันก็เริ่มต้นอยู่แล้ว กายานุปัสสนาเนี่ย เคลื่อนไหวไปมา มันจะแสดงนะ บทเรียนที่ได้จากกายมันก็มีเหมือนกัน มันปวด มันเมื่อย ก็เห็นมันปวด มันเมื่อย เรียนรู้แล้ว รู้แล้วมันปวด รู้แล้วมันเมื่อย รู้แล้วมันสุข รู้แล้วมันทุกข์ มันจะเรียนรู้เรื่อยไป มันเป็นแหล่งเรียนรู้ มันจะแสดงหลายรส หลายชาด เราก็เห็น เราก็เห็น เราเห็นแล้ว ความปวด ความเมื่อย เห็นชัดเหลือเกิน เห็นเมื่อไหร่ เห็นอยู่โน่น เห็นอยู่สุคะโต เวลานั้น เรานั่งอยู่ในหอไตร เรานั้นเรานั่งอยู่ในศาลาหน้า เวลานั่น เราเดินอยู่ใต้ร่มไม้ เราเดินอยู่บนทางเดินจงกรม เราเห็นแล้ว เราเห็นแล้ว เรารู้แล้ว เวทนามันเป็นอย่างนั้นหนอ มันสุขเวทนา ทุกขเวทนา เวลานั่น เดินอยู่ต้นข่าขี้หมู หลวงพ่อยังคิดได้ เวลานั้นเรานั่งอยู่ในกุฎิ เวลานั้นมันเห็นครั้งเดียว มันจบมาตลอดทุกวันนี้ เห็นรูป เห็นนาม เห็นแล้วเวลานั้น มันเดินอยู่ใต้ต้นข่าขี้หมู พอมาดู โอ้ การเดินคือรู้นี่หนอ รู้นี่หนอ รู้มันคิดไปโน่น ไม่ใช่หนอ ไม่ใช่เรามาทำอันนั้น ไม่ใช่เรามาเดินคิดหนอ เราเดินสร้างสติหนอ ออกจากบ้านจากเรือนมาไม่ใช่มาคิดถึงลูกถึงเมีย เรามาสร้างสติหนอ เขาบอกโอ้นี่หนอ นี่สติหนอ โอ้ มันคิดไปแล้ว กลับมาหนอ รู้จักรูปนามทันที พอมาบำเพ็ญทางจิต รู้เอา รู้เอา เอาเห็นความคิด เห็นความคิด เห็นความคิด ความคิดมันสร้างความให้ ให้รู้มัน ก็ตรงกันข้ามพอดี ตรงกันข้ามพอดี ความคิดที่มันหลงไปกับความคิด ความรู้ที่มันไปเห็นความคิด มันตรงกันข้ามพอดี พังทลายเลยความคิด ไม่จริง อะไรๆ ก็หาคำตอบจากความคิด ไม่ใช่ ความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวเป็นธรรมเป็นธรรม เปลี่ยนแปลงเลยชีวิตจิตใจเปลี่ยนแปลงเลย เห็นครั้งเดียว รู้ครั้งเดียว เฉลยครั้งเดียว เฉลยได้ครั้งเดียว ไม่มีปัญหา ไม่เอากายมาเป็นสุข ไม่เอากายมาเป็นทุกข์ ไม่เอาจิตใจที่มันเกิดอะไร ที่มันเกิดกับจิตกับใจมาเป็นทุกข์ ความทุกข์ที่มันเกิดกับจิตกับใจนั้น ไม่มีเลย ความสุขที่มันเกิดกับจิตกับใจไม่มีเลย ไม่หาเอาความสุขเพราะกายเพราะใจ ไม่เอาความสุขเพราะการกิน การเดิน การนั่ง การนอน ไม่ใช่ ความสุขไม่ได้อยู่ตรงนั้น ความสุขคือ ไม่มีอะไร เข้าใจหรือเปล่า ความสุขคือไม่มีอะไร ไม่มีอะไร แต่ก่อนก็หลง หาความสุข ความทุกข์ เป็นเรื่องของกายของใจ จะได้อย่างนั้นก็เป็นสุข ไม่ได้อย่างนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่ได้ เป็นไปไม่ได้นะ รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัวแล้ว เส้นผมบังภูเขานะ การปฏิบัติธรรม ไปหาอะไรให้มันยุ่งไปหมดเลย สุขมันมีจริงหรือเปล่า ทุกข์มันมีจริงหรือเปล่า ทุกข์ก็ให้ทุกข์เหรอ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นในโลกเหรอ สุขก็จะให้สุข สุขก็วิ่งหนี ทุกข์ก็วิ่งไล่ มันก็ไม่ไหว เห็นมันซะ เห็นมัน เห็นมัน รู้สึก รู้สึก โอ๊ย ได้ปัญญา เห็นสุขเห็นทุกข์นี่แล้วเป็นปัญญา เช่นพระพุทธเจ้าว่า เห็นทุกข์นี่เป็นเห็นอันประเสริฐ เห็นของจริงอย่างประเสริฐ เหตุให้เกิดทุกข์ในอริยสัจ ๔ เห็นอย่างประเสริฐ ไม่ใช่เห็นอันอื่นนะ ถ้าไม่เห็นทุกข์จะหนีทุกข์ได้ยังไง ถ้าไม่เห็นสุขจะเป็นผู้มีความสุขได้อย่างไร เพราะงั้นเรามาสร้างตัวรู้ สร้างตัวรู้ สร้างตัวรู้นะ ไม่ยากหรอกนะ ขอเชียร์ให้กำลังใจกับพวกเรา เพราะว่าอันเดียวกันแท้ๆ พวกเรานี่ แม้แต่จะเป็นเพศพระหัวโล้น ห่มเหลืองก็อันเดียวกัน คือ ความรู้อันเดียวกัน อันเดียวกัน คนคนเดียวกัน คนทุกคนเป็นพระพุทธเจ้าตัวจริงอยู่ตรงนั้น ความเป็นจริงจุดหมายปลายทางพุทธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เหมือนกับว่า ฟังเสียงทุกเสียงเหมือนเสียงพระสวดมนต์ ดูคนทุกคนเหมือนเป็นพระพุทธเจ้า อยู่ที่ไหนมีนิพพานอยู่ที่นั่น เอามันเป็นอย่างนั้นแล้ว ชีวิตเราเนาะ ไปหาอะไรให้มันยุ่งยาก อยู่ที่ไหนนิพพานที่นั่นแล้ว เย็นนะ ไปร้อนทำไม ไปทุกข์ ไปวิตกกังวลอะไรเนอะ