แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไม่ต้องรีรอหลังนะ พวกเรา ทำงานทำการ หลวงตาก็เพียรพยายามที่จะพูดสู่ฟัง ไม่เบื่อหน่ายในการแสดงธรรม เพราะมันเป็นความสุดยอดของการศึกษา เป็นการเรียนลัด ผู้ฟังก็อย่าเบื่อหน่าย อย่าเบื่อหน่ายต่อคำสั่งสอน ขี้เกียจทำตาม เห็นแก่การหลับการนอน ความสะดวกสบาย ไม่ประกอบการปรารภความเพียร เพลิดเพลิน ทะเยอทะยานในโลกเกินไป มีความกังวลปลิโพธ มันก็เป็นชีวิตที่ไม่เจริญ เรามาศึกษากันเถิด มาเคลื่อนย้ายขนส่งตัวเรา มีสติมีความระลึกได้ มีความรู้ตัว ธรรมทั้งหลายเนี่ย สตินี่เหมือนรอยเท้าของช้าง รอยเท้าของสัตว์อื่นมารวมลงที่รอยเท้าช้างได้หมดทุกรอย ธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน ออกจากที่ได้คือ สติ
อย่างที่พูดให้ฟังเมื่อวานนี้ว่า ผ่าน อย่าอยู่ มันหลงก็รู้ ผ่านไปแล้ว มันไม่รู้ก็รู้ ผ่านไปแล้ว ถ้าไม่รู้ไม่ชี้อะไรอยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีวิธีไม่มีการแสดงออก เหมือนก้อนหินก้อนดิน ชีวิตเราต้องไปถ้าเราไม่ไป มันก็จะไปอีกทางหนึ่ง มันไปอยู่แล้วชีวิตเรา เดี๋ยวนี้นั่งอยู่ตรงนี้ มันไหลไปอยู่ ไหลไปอะไรไหลไปที่ไหน ไหลไปสู่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไปสู่ความพลัดพราก จากของรักของชอบใจ มันไปทางนั้น เราจึงต้องมาทวนกระแสเหมือนพระพุทธเจ้าเสี่ยงถาด เวลาฉันข้าวนางสุชาดาสมัยเป็นโพธิสัตว์ ปรากฏว่าถาดไหลทวนกระแสน้ำ ไม่ใช่ถาด ถ้าเป็นบุคลาธิษฐานก็เป็นถาดจริง ๆ ถ้าเป็นธรรมาธิษฐานก็เป็นจิตใจของเราคือ สตินี่มันทวนไป ทวนโลก มันหลงก็รู้ ทวนไปแล้ว มันสุขมันทุกข์ก็รู้ ทวนไปแล้ว มันมีอะไรต้องทวนอยู่ทุกเวลาชีวิตเรา เพราะฉะนั้นตัวรู้ตัวนี้เป็นการไป เหมือนขนส่ง
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวก ตั้งแต่ปฐมโพธิกาลจนถึงปัจฉิมโพธิกาล ก่อนปรินิพพานก็บอกสุดท้ายเป็นพระวาจาพร่ำสอนอันมีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้าว่า เธอทั้งหลายอย่าได้ประมาท คือมีสติเนี่ยมีความรู้สึกตัว มาเห็นมารู้ รู้กายเคลื่อนไหวไปมา ประกอบมันขึ้นมา ถ้าไม่ประกอบมันไม่มี มันจะมีตัวหลงมากกว่า เราจึงประกอบ เห็นกายเห็นสิ่งที่มันมี อย่าไปหาสิ่งที่มันไม่มี ไม่ใช่หา มันเห็นทันที เห็นกายที่มันเคลื่อนมันไหว เห็นอันเดียวอยู่ตลอดต่อหน้าต่อตา มันก็เห็นอันอื่นเยอะแยะ นอกจากกายเราก็มีเวทนา มีจิต มีธรรม เราก็ผ่านตรงนี้เรื่อย ๆ ผ่านแล้วผ่านเล่า เหมือนกับเราเดินทางชำนาญในเส้นทาง เจ้าของทาง เหมือนบ้านอยู่หลังเขาเนี่ย รถโดยสารบนหลังเขา ขึ้นเขาลงเขาเป็นทางของเขา ไม่มีอุบัติเหตุอันใด เพราะเป็นทางของเขา เขาชำนาญในการขึ้นการลง แต่ถ้าคนที่อื่นไม่ขึ้นมักจะพลาดได้ แล้วก็อุบัติเหตุหลายครั้งหลายคราวเพราะเขาไม่เคย เคยนั่งกับรถของคนที่ไม่เคยขึ้นเขา เขาก็จังหวะไม่ถูก ตอนที่ขึ้นเขาทีแรก พอขึ้นมาแล้ว มันมีเรียบนิดหน่อย เขาก็ปล่อยเกียร์เบาพอดีพอขึ้นอีก พอมันขึ้นอีกเขาไปลงเกียร์หนักอีก รถก็ดับถ้ารถมันหนัก เครื่องมันดับ มันขึ้นสั้น ๆ เวลามันเนิน มันทางเสมอมันไม่ยาว เขาเพลินไป เขาไปขึ้นเกียร์หนักตอนขึ้นใกล้ๆ ก็เลย รถหนักก็ไปไม่ได้ แล้วก็ดับ พอมันดับถ้ามันหนักมันก็ถอยหลัง มันเอาไม่อยู่
เรานี่ก็เหมือนกัน นักเดินทางในชีวิตของเรา จนเห็น เมื่อเห็นแล้วก็ทำเป็นใช้ชีวิตเป็น เห็นรูป เห็นนาม เห็นกาย ทีแรกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นนาม เห็นธรรม ต่อไป ๆ เราก็กาย เวทนา อันจิตอันธรรมนี่มันเป็นอันเดียวคือรูปธรรม นามธรรม เป็นรูปเป็นนามทั้งสี่อย่างเนี่ยเป็นรูปเป็นนาม มันย่อลงมา ให้เราสะดวก เห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม มันก็แตกฉานตรงนี้ รูปมันบอก นามมันบอก ไม่ใช่คิดเห็นนะมันพบเห็นเข้า โอ้..อันเคลื่อนไหวอยู่นี่มันเป็นรูป ที่มันรู้จักเคลื่อนไหวนี่มันเป็นนาม มันเป็นธาตุรู้ มันเคลื่อนไหวเป็น เป็นหลักฐานที่มันตั้งต้นตรงนี้ เหมือนกันหมดทุกคนว่า รูป นาม พอเห็นรูปเห็นนาม ก็เห็นรูปธรรมนามธรรม รูปมันทำนามมันทำ รูปทำเห็นนามมันทำ ทำอะไร ท. สระ-อำ ทำชั่ว ท. สระ-อำ ทำดี
รูปธรรมอีกอันหนึ่งคือ ธรรมชาติ ประกอบกันหลายอย่าง มันมีอาการ มีวัตถุปัจจัยหลายอย่าง ประกอบกัน ทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดอะไรต่าง ๆได้ ถ้าธรรม ธ.ธง ตัว ร. สอง ตัว ม.ม้า มันธรรม รูปธรรม ธรรมตัวนี้ จำแนกไป มันเกิดขึ้น ระหว่างมีรูป มีนาม มันก็เป็นรูปธรรม นามธรรม นามธรรมที่เป็นธรรมชาติมีร้อน มีหนาว มีหิว มีปวด มีเมื่อย ก็เลยเห็นลักษณะนี้ ไม่ใช่เวทนา แต่ก่อนเป็นเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ พอมาเห็นเข้า เห็นมันเป็นอาการ ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สุข ใช่ทุกข์ ไม่ใช่หิว ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่หนาว ไม่ใช่ปวด มันเป็นอาการของรูปธรรม เป็นอาการของนามธรรม ไม่ใช่โกรธ ไม่ใช่โลภ ไม่ใช่หลง ไม่ใช่กิเลสตัณหา เป็นอาการของนามธรรม เป็น ธ.ธง ร.เรือ สอง ตัว ม.ม้า อันนั้นเป็นธรรม แต่ก่อนเราก็ไปยึด มีอุปาทานยึดเอา ตอนที่เราสวด ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้า อันรูปธรรมที่นั่น มันเป็นเป็นขันธ์ ถ้าเราไปยึด ก็เกิด เกิดดับ เกิดดับ
ขันธ์อันนั่น ขันธ์ที่เป็นนามธรรม มันเกิดปนรูปธรรม เหมือนกับภูเขาลูกนี้ มันเกิดมีภูอีกหลายลูกอยู่บนภูเขาลูกนี้ มันขี่อยู่ มันขี่อยู่บนภูเขา ภูค้อ ภูคี ภูหยวก ภูกระแต ภูสามชั้น ภูหลง อะไรเยอะแยะไปเลย เราก็มีภูหลง เป็นวัดหนึ่งของพวกเรา มันยืนอยู่หลังเขาลูกนี้ สูงขึ้นไปหน่อยนึง อันที่มันขี่อยู่บนรูปธรรม อยู่บนนามธรรม มันมีรูปอีกอันนึง รูปอันนั้นมันสร้างปัญหา ถ้าเราไม่เห็นมัน ทำให้เราเป็นสุข ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เห็นเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่พอมาเห็นเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม มันเป็นอาการ ไม่ใช่เป็นสุข เป็นทุกข์ แต่ก่อนเรามาเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง เป็นกิเลสตัณหาราคะถือว่าเรา เพราะอะไรเราจึงถือ เพราะไม่เห็น แต่ก่อนไม่เห็น เอามาเป็นตัวตนหมดทุก ๆอย่างในรูปธรรม ในนามธรรม ในรูปธรรม ในนามธรรมที่เป็นธรรมชาติ แล้วก็เห็นแจ้งเข้าไป ว่าอันรูปธรรม นามธรรมนี้ ตกอยู่ในความไม่เที่ยง เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
อ้าว ... พอเห็นตรงนี้แล้วอะไรก็ง่ายแล้วบัดเนี่ย อะไรก็ง่าย แต่ก่อนหนัก พอมาเห็นแจ้งมันเบา มันเป็นที่ทิ้งที่วาง ไตรลักษณ์นี้ไม่ใช่ของเล็กน้อย ไม่ใช่เราสวดแต่ปาก เรามาเห็นแล้ว พระพุทธเจ้าเห็นแล้ว จึงสวดออกมาเป็นวาจา “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน” มันเป็นการเห็นไม่ใช่เป็นการสวด เป็นการสาธยาย สมัยก่อนไม่มีการสวดมนต์ อาจไม่มีการสวดมนต์ไหว้พระ ก็พระสงฆ์ก็นัดกันเอง พระพุทธ์เจ้าก็นัด มาเถอะภิกษุทั้งหลาย เราจะพาไป หรือภิกษุทั้งหลายเดินเข้าป่า ก็พระพุทธเจ้าก็จับใบไม้ขึ้นมากำมือเดียว เอาชูใบไม้ให้ภิกษุดูว่า ดูก่อนภิกษุใบไม้ในป่า กับใบไม้กำมือเดียว อันไหนมันมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่าใบไม้ในป่ามากกว่า ใบไม้กำมือของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า นี่การรู้อะไรมากมายแปลว่า การมาทำน้อย ๆ คือมารู้สิ่งที่เรารู้ทั้งหลายเหมือนใบไม้ในป่า แต่เอามารู้เพียงเรื่องเดียวคือ ภาวะความรู้สึกตัวมาเห็น
อ้าว เวทนาก็เห็น สัญญาก็เห็น สังขารก็เห็น วิญญาณก็เห็น เวทนาคืออะไร ความสุขความทุกข์ สัญญาคืออะไร สัญญาคือ จับไว้ เอาไปจุ่มเอา เหมือนเราย้อมผ้า เมื่อเราเอาผ้าไปย้อมมันก็สีใดมันก็ติด ในขันธ์เนี่ยเราขยันย้อมตรงไหน มันก็ติดตรงนั้นเรียกว่าสัญญา สังขารก็คือขยัน ขยันย้อมอยู่เรื่อย ๆ ขยันโกรธ ขยันหลง ขยันสุข ขยันทุกข์ ขยันรัก ขยันชัง มันก็ขยัน เรียกว่า สังขาร อยู่ให้เป็น ชอบปรุงๆ แต่งๆ เรื่องโน่น เรื่องนี้ วนเวียน เวียนว่ายตายเกิด เกิดดับ เกิดดับ วิญญาณก็ติดไป เมื่อย้อมมันก็ติด กลายเป็นวิญญาณ วิญญาณแบบไหน ถ้าไปย้อมเอาอกุศลธรรม มันก็เป็นภพต่ำ เป็นอบายภูมิไป เปรตอสูรกายสัตว์นรกเดรัจฉานได้ อันมันติดโดยส่วนมากอุปาทานตัวนี้มันติด พอมาเห็นเข้าก็มาเรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นเป็นอาการของกายของใจ ของรูปของนาม มันก็ง่าย เรามาเห็นแล้ว โอ้ มันตกอยู่ในไตรลักษณ์ สามัญลักษณะ สามัญลักษณะนี้เหมือนกับถังขยะอันใหญ่เป็นที่ทิ้งที่วาง รูปทั้งหลายบางทีมันมีรสชาติ ชีวิตของเรามันมีรสชาติ รสอะไรความหลงก็มีรส ความรู้ก็มีรส ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความชัง อะไรต่าง ๆเยอะแยะก็มีรส และก็พอทิ้ง มันก็ไม่มีรส มันก็วางลง วางนี้ไม่ใช่วางเหมือนจับของจับสิ่งจับของ เป็นการวางง่าย ๆ วางคือภาวะที่เห็น กริยาที่เห็นที่รู้ เนี่ยคือวาง อะไรที่มันจะวางยาก ก็อาศัยไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความไม่ทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน วางก็เอา ก็เบา ถ้าเอาก็หนัก การวางคืออะไรคือ หลุด ๆ จากอะไร หลุดจากความหลง หลุดจากความทุกข์ ความสุข ความรัก ความชัง หลุดออกมา ก็เบาไป เรียกว่า กายลหุตา เบากาย จิตลหุตา เบาจิต ก็เกิดเบาขึ้นมา สนุก สนุกกับการใช้ธรรมะ ใช้บทเรียน ใช้ประสบการณ์จากการกระทำ ที่เรามีการพบเห็น สอนตัวเรา
หลุดไปนี่ไตรลักษณ์ เป็นที่ทิ้งที่วาง รูปนามเนี่ยเอามารวมลงที่ไตรลักษณ์ เฉลยไปเลย สนุกกว่า สรุปเฉลยไป แล้วไปเห็นทุกข์ รูปทุกข์ นามทุกข์ ทุกข์ของรูป มีเยอะแยะ นับไม่ถ้วน มาเห็นทุกข์ตรงไหน ทุกข์ที่มันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา มี ไม่ใช่เราไม่มี การหายใจเข้าหายใจออกเป็นทุกขัง ไม่หายใจไม่ได้หรือ ไม่ได้ ต้องหายใจเข้าหายใจออก จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องหายใจเข้าหายใจออก ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา ต้องกลืนน้ำลาย ต้องกระพริบตา ต้องยืน เดิน นั่งนอน อันทุกขังอยู่ไม่เป็นอยู่นิ่งไม่ได้ มันไหล...ไป อนิจจัง ก็ซ้อนเข้าไป อันทุกขังนี่ก็ไม่ใช้ทุกข์ มันเป็นอนิจจังอยู่ อะไรที่เป็นทุกข์ แม้แต่ความโกรธก็เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ความรักก็เป็นอนิจจัง ความหลงก็เป็นอนิจจัง แต่เราก็ไม่ได้ใช้ตัวนี้ ก็ยึดเอา ทำตามมัน ก็เสียเปรียบมัน เอาของไม่จริงมาเป็นของจริง ของไม่ใช้ตัวตนว่าเป็นของตัวตน ก็ไม่เห็นทุกข์
แต่ก่อนสูบบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นทุกข์ นะ รูปเนี่ย เอาบุหรี่มาให้มันสูบ เอาเหล้ามาให้มันกิน เอาอะไรต่าง ๆ มาให้รูปนี่ บางทีก็มี อะไรที่พะรุงพะรังเข้าไปอีก ภาราหะเว อันขันธ์เป็นภาระหนักขึ้น ตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็หนักแล้ว ถ้าเป็นคนเคี้ยวหมากกินหมาก ก็ถือตะกร้าหมาก ปากก็อยู่ไม่นิ่ง เที่ยวท่องถือกระโถน ท่องถือถุงน้ำหมากน้ำลาย ม้วนไป น่าสมเพช ถ้ามาดูแล้วโอ้ย.. สงสารรูป ไม่เคยมีใครช่วยเหลือรูป เราก็ไม่เคยช่วยเหลือรูป ช่วยเหลือนาม ปล่อยปละละเลย ดูแลตัวเองไม่เป็น
ถ้าเป็นนามธรรมคือ วิญญาณรู้ ก็ไปได้ทุกที่ทุกทาง คิดอะไรก็ได้ คิดได้ตะพึดตะพือ ความชั่วความผิด ความถูกอะไรต่าง ๆ คิดได้คิดดี ปล่อย พอมาเห็นโอ้ย.. รูปทุกข์นามทุกข์ กระตือรือร้นช่วยเหลือ ช่วยเหลือรูปช่วยเหลือนาม โอ้ย... มันเป็นมรรคเป็นผล ตอบสนอง แต่ก่อนสูบหรี่ เอ๊า..หลุดไปเลยบุหรี่ ไม่ได้อด มาเห็นทุกข์แล้ว อะไรที่มันเคยติดเปื้อนมา มันมีเหมือนกันน่ะพะรุงพะรัง อุปาทานกังวลเรื่องอะไรต่าง ๆเยอะแยะ เพราะชีวิตผ่านมา ถ้าเป็นอย่างหลวงตาเป็นชีวิตที่ขี้ทุกข์ขี้ยาก เป็นลูกกำพร้าพ่อตายจาก เป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยากที่สุด เหมือนกับจนถึงมีผ้าขาวม้าผืนเดียว เหมือนทักษิณว่าโจรภาคใต้โจรเหมือนผ้าขาวม้า มันก็ทำความยิ่งใหญ่ฆ่าคนตายมาถึง 2-3 ปีแล้ว ถ้าเกิดที่แรกทักษิณว่าโจรผ้าขาวม้าไม่มีอะไรหรอก ไม่น่ากลัว เพราะฉะนั้นโจรแบบนั้น อันจนแบบ จนเป็นแบบทุกข์นั้น จนผ้าขาวม้า อ้าวมีผ้าขาวม้าผืนเดียว ไปทำนาก็ห่มผ้าขาวม้า อะไรก็ผ้าขาวม้า ไปเลี้ยงควายก็ผ้าขาวม้า เปียกก็ต้องห่มผ้าขาวม้าผืนนั้น อันนั้นก็ต่อสู้กับความยากความจน โอ้ย..... สงสารรูป สงสารจนน้ำตาซึม พ่อก็ไม่มี พ่อไม่บอกไม่สอน แม่ก็ไม่คอยบอกไม่สอน เพราะแม่ก็ไม่รู้ โอ้ย..เรามารู้เรื่องนี้เข้า รูปทุกข์ นามทุกข์ การกอบกู้รูปนามที่ให้พ้นจากทุกข์เนี่ย มันเป็นสิ่งที่ภูมิใจ
เหมือนหลวงตาปลูกป่าปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้ มันดีอ่ะ มันตอบสนอง ตอบสนองยังไง มันเหี่ยว เราเอาน้ำไปรดมัน มันก็ชื่นบานขึ้นมา มันตอบสนอง โตขึ้นมาแล้วมันตอบสนอง เหมือนกับเรามีคอมพิวเตอร์ในชีวิตเรา ต้นไม้ต้นใดที่เราปลูกไว้ เราก็ไปเยี่ยมยาม ให้น้ำ มันก็ตอบสนอง การสอนตัวเองมันตอบสนอง จากการมีทุกข์ อ้าวหมดไป๊หมดไป จากการสูบบุหรี่ อ้าวหมดไปแล้ว หมดไปแล้ว บุหรี่นิพพานไปแล้ว ไม่มีในหัวใจ ความทุกข์ก็คอยนิพพานลง ความโกรธก็เบาลง ความโลภก็เบาลง ความหลงก็เบาลง กิเลสตัณหามันเบาลง ไม่แน่นหนา เพราะอะไร เพราะเห็น ไม่ให้ค่า มันมีเครื่องมือเยอะแยะเลย การปฏิบัติธรรมนี้ เห็นรูปทุกข์ เห็นนามทุกข์ ช่วย ช่วยได้ จนพ้นออก ชีวิตจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป จะให้ทุกข์เหมือนเดิมก็ไม่ได้แล้ว แม้แต่ทุกข์ก็มีบ้าง จะให้โกรธก็เหมือนเดิมไม่ได้ ก็มีบ้าง แต่ว่าไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อนิพพาน มันคือคุณธรรม ไม่ใช่ไปที่ไหน
เพราะไปจากเนีี่ย ไปจากตัวหลงไปสู่ตัวรู้ ไปจากตัวทุกข์ไปสู่ตัวรู้ ไปจากตัวโกรธไปสู่ตัวรู้ ไปจากตัวรักตัวชัง กังวลวิตกเศร้าหมอง ไปสู่ตัวรู้ ภาวะที่รู้ เนี่ยเป็นทางไป พ้นไป พ้นไป เรียกว่าวิมุติ หลุดไป หลุดไป เรามาปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่เรามาคาดคะเน เมื่อไหร่มันจะเป็น เมื่อไหร่มันจะเป็น เรามาสร้างสติ มานี่มาหลายวันแล้ว ไม่เห็นมีอะไร จะได้อะไรหนอ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ มาเห็นตัวเอง มันหลงรู้ไหม เออ นี่แหละ หลงกันทุกคน รู้กันทุกคน มันเห็นตัวหลงมันก็รู้ขึ้นมา มันได้ทำตรงนี้ว่ากรรม ถ้ามันหลงแล้วรู้เป็นยังไง มันก็พ้นจากความหลงไป เคยชำนาญในการพ้นจากความหลง พอพ้นอยู่ทุกเวลานาที พ้นจากความทุกข์ พ้นจากกิเลสตัณหา พ้นจากอะไรต่าง ๆ ที่เป็นรูปทุกข์นามทุกข์ จิตใจก็เปลี่ยนไป รู้บุญรู้บาป รู้ศาสนา บุญก็คือใจที่มันดีกว่า มันรู้ ตัวรู้ไม่โง่เนี่ย คือบุญแล้ว เมื่อก่อนมันโง่เอา บ้าหอบฟาง สุขก็เอา ทุกข์ก็เอา หลงก็เอา โกรธก็เอา เป็นกูไปเสียหมด เรียกว่า ไม่รู้ พอไม่รู้ก็โกรธได้ ทุกข์ได้ หลงได้ รักได้ ชังได้ ติดตัว เป็นภพเป็นชาติ พอเรามารู้ มันเป็นบุญ บุญคือรู้ รู้แล้วก็หลุด บุญมันอิ่ม มันเต็ม ไม่บกพร่อง ไม่หิว คือมันรู้ โอ้..บุญคือภาวะรู้นี้แหละ... ไม่ทำชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่คิดชั่ว ถ้ามันจะมีความชั่วก็เปลี่ยนความไม่ชั่ว เรียกว่าบุญ โอ้..บุญ
ศาสนาคือเรา คือคนเรามีศีลมีธรรม ละความชั่ว ทำความดี จิตใจบริสุทธิ์ไม่กังวลใด ๆ รู้จักศาสนา รู้จักพุทธศาสนา คล้ายๆว่าขนส่งตัวเองพ้นจาก บวก(หนองน้ำ ปลัก)เหลว ขี้โคลน ขี้เลน ถ้าจะเปรียบตรงนี้ก็ เปรียบเหมือนว่าเรา สมัยก่อนเป็นเด็ก เหมือนเด็กน้อยเล่นขี้โคลน พอเห็นขี้โคลน เด็กก็โจนลงไปเกลือกขี้โคลน ผู้ใหญ่ก็เหมือนพ่อแม่เอาลูกขึ้นมาจากขี้โคลนเอามาล้าง ปีกลายนี้ ต้นไม้ที่ฝายน้ำล้น ท่ามะไฟหวานทางที่เข้าบ้าน แต่ก่อนไม่มีฝาย ไม่มีน้ำตรงนั้น พอทำฝายน้ำล้น เห็นคันคูมันยาวเหยียด ก็เลยไปปลูกต้นไม้ พอปลูกต้นไม้ก็มีบวกหนอง ที่มันบวกนิดหน่อย แล้วก็ไปฉันเพลที่ตรงนั้น ชาวบ้านไปเพล เด็กน้อยก็ไปรวมตัวกัน พอเด็กน้อยเห็นบวกน้ำขังเป็นขี้เลน แล้วก็ลงไปลุย ลุยไม่ใช่ลุยธรรมดา นั่งลงเกลือกลงไป นอนลงเหมือนควายไปเลย พ่อแม่ก็วิ่ง วิ่งลงไปจับ ก็จับเด็กไม่อยู่ ขี้โคลนมันเปียกเหลือเกิน ปล่อยให้เล่นกันจนมองไม่เห็นเป็นผู้เป็นคนเลย มันก็ว่ามันสนุก แต่พอแม่เอาขึ้นมา เอาขึ้นมาก็ มาอุ้มขึ้นรถมอเตอร์ไซด์เอาไปอาบน้ำ
อันตัวรู้เนี่ย มาเห็นตัวหลง ช่วยตัวหลง ตัวหลงมันเป็นอะไร ตัวหลงมันเปื้อน ตัวทุกข์มันเปื้อน ตัวโกรธมันเปื้อน อะไรต่าง ๆมันเปื้อน แม้แต่คิดนี่ อุ๊ย เอามือลูบอกเลย ถ้าคิดชั่วนะ มันเปื้อน มันเปื้อนจิต ไม่ใช่ว่าคิดแบบหน้าด้านๆนะ พอเห็นรูปเห็นนามแล้ว เอามือมาลูบอกเลย โอ้ยแค่นี้ก็คิดหรือ ไปแล้วหรือ แค่นี้ก็โกรธหรือ แค่นี้ก็หลงแล้วหรือ มันว่าอย่างนี้ ตัวรู้นี่ เมื่อมีตัวรู้ มันไม่ใช่ตัวรู้ธรรมดา เป็นญาณ เป็นปัญญาด้วย ก็ช่วย ช่วยตัวเอง ก็พ้นไป ก็เออ มันก็ไปเรื่อย ๆ มันเป็นสูตร เป็นสูตรไป การปฏิบัติธรรม แต่อย่าไปหานะ ถ้าหาไม่เห็นนะ ต้องทำให้มันมีขึ้น สูตรตัวนี้ไม่ใช่หา ไม่ใช่คิดหา ไม่ใช่ทำ เอาเดินจงกรมหามัน เมื่อไรมันจะเกิด เมื่อไรมันจะเกิด เมื่อไรมันจะรู้ ไม่ใช่แบบนั้น มันก็รู้อยู่แล้ว พอทำลงไปมันรู้อยู่แล้ว ยกมือเคลื่อนไหว ก็รู้อยู่แล้ว อันเคลื่อนอยู่นี่ มันก็มีอยู่จริง คือรูปใช่มั้ย แต่ก่อนเราไม่รู้มัน รูปนี่มันทำอะไรของมันเป็นไหม ทำไม่เป็น มันยกมือไหว้อย่างนี้อะไรสั่งมัน มันกำกำปั้นอย่างนี้อะไรสั่งมัน ไม่ใช่รูปมันทำเอง มันมีนาม มันเหมือนต้นเสาต้นนี้ เอ้า.เสา ยกมือไหว้เราสิ มันเคลื่อนไม่เป็น ไปนั่งนั้นดูสิ ไปเข้าโรงหนังดูสิ เล่นไพ่ไฮโลดูสิ มันทำไม่เป็น อันเป็นรูปธรรมดา
ก้อนดินก้อนหิน แต่ตกอยู่ในความไม่เที่ยงเหมือนกัน อันเดียวกัน ต้นเสาต้นนี้ไม่เที่ยง แต่ก่อนเสาต้นนี้ก็อยู่กุฏิข้างบน เบอร์แปดเรียกว่าหอไตร มีพระไตรปิฎก ไปซื้อเอาไว้ ไปไว้ที่นั่น สมัยก่อนอยู่คนเดียวก็ไปอ่านหนังสือพระไตรปิฎก ก็ไม่มีใครไปใช้ พอดีก็เออย้ายลงมา ศาลาหลังนี้ย้ายลงมาที่นี่ มาเป็นหอไตรที่นี่ แต่ก่อน มันก็หนุ่ม อาจจะดี แน่นหนา เดี๋ยวนี้ก็ทรุดโทรมลงไป แล้วก็ซ่อมแซมต่อ แต่ก่อนปลวกก็กินเสาขาด ขึ้นไปนั่งนี่ ง่อนแง่นๆ ก็มาต่อมาทำใหม่ อันนี้ก็ไม่เที่ยงของรูป ไม่มีนาม
อันชีวิตเราก็เหมือนกัน มันก็มีความไม่เที่ยง มันไม่ใช่ มันก็ไหลไปของมันอยู่ เรามาเห็นเนี่ย เออ เห็นรูปเห็นนาม เห็นอาการของรูปของนาม เห็นรูปทุกข์ นามทุกข์ รูปโรคนามโรค มันก็เป็นแหล่งของโรค อันโรคของรูปเนี่ย นามก็เป็นโรค โรคของรูปมีหลายอย่าง การร้อน การหนาว การปวด การเมื่อย การหิว การขับการถ่าย เป็นโรคของรูป ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรักความชัง กิเลส ตัณหาเป็นโรคของนาม โรคอันนี้ โรคบางอย่างเราต้องช่วยตัวเรา โรคบางอย่างต้องช่วยหมอ ถ้าไม่ช่วยหมอก็ต้องให้หมอมาช่วย อาศัยหมอ อันนี้โรค โรคมีหลายโรคนะ รูปโรคนามโรครูปธรรมนามธรรม เห็นเป็นสูตรๆ ไป
ต่อไปก็เห็นปรมัตถ์ ปรมัตถ์คือ ของจริง จริงแบบไม่จริง มันทบทวนเอง ความไม่เที่ยงก็จริงแบบความไม่เที่ยง มันก็จริงแบบความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ก็จริงแบบความเป็นทุกข์ แต่มันไม่จริงแบบความไม่ทุกข์ ในความจริงมันมีความไม่จริง ในความไม่จริงมันมีความจริง เรียกว่าปรมัตถ์ สมมติบัญญัติขึ้นมาในโลกเต็มไปหมดเลย อะไรๆก็เป็นสมมติเต็มโลก เราก็หลงตรงนี้ พอเห็นปรมัตถ์ เห็นสมมติ เห็นบัญญัติ เห็นวัตถุอาการต่าง ๆ
เหมือนอาจารย์หลวงพ่อมหาปาน วัดโสกป่าหลวง เวียงจันทร์ ประเทศลาว สอบอารมณ์หลวงปู่เทียน สมมตินะ ศรีเชียงใหม่ โยมเชียงคานอยู่ศรีเชียงใหม่ วัดรังษีมุกดาหารอยู่นี้ อาจารย์สั่งให้โยมเชียงคานมาหา แต่ว่าทางระหว่างศรีเชียงใหม่มารังษี มันมีป่า ก็ยิงเสือไปตรงนั้น แต่มันไม่ตาย มันไซ ใครมาก็กัด อาจารย์สั่งให้โยมเชียงคานมาหานี่ จะมาไหม หลวงพ่อเทียนก็ตอบอย่างปรมัตถ์เลย ต้องมา อาจารย์สั่ง มา อ้าวถ้ามาแล้วเสือกัด อ้าว เสือมันยังไม่กัดผม ไม่กลัวหรือ ยังไม่กลัว ไม่กลัว อ้าว ถ้ามาเสือมันกัด ผมยังไม่เห็นเสือ ผมจะกลัวยังไร ถ้าเสือมาหาผม ผมอาจจะฆ่าเสือได้ เกลือใช่ไหม เกลือก็ไม่เค็ม เพราะมันเป็นบัญญัติ
บัญญัติอย่างนี้อะไรมันเกิดขึ้นในตัวเรา บัญญัติว่าชอบ บัญญัติว่าไม่ชอบ บัญญัติว่ากลัว บัญญัติว่ากล้า ถ้ามันบัญญัติว่ากลัวก็ไม่อยากทำความดี ขี้เกียจ ถ้าบัญญัติว่าไม่กลัว ทำความชั่วก็ได้ จับศาสตราวุธ ฆ่าประหัตถ์ประหารกัน ด่ากันก็ได้ถ้ามันบัญญัติว่ามันดี ความชั่วมันบัญญัติว่าดี ความผิดบัญญัติว่าถูก ความทุกข์บัญญัติว่าสุข มันก็ทำได้ เช่นเราบัญญัติตัวเรา ความโกรธมันดีมั้ย ปรมัตถ์มันไม่ถูก ความโกรธเป็นสมมติบัญญัติ ความไม่โกรธเป็นปรมัตถ์สัจจะ ความโกรธดีมั้ย เราก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่เราทำไมจึงโกรธ เมื่อมันบัญญัติเราก็ไปตามบัญญัติ บัญญัติเอา ทำให้เราโกรธ ทำให้เราทุกข์ ทำให้เรารักเราชัง อะไรต่าง ๆ บัญญัติเอา บัญญัติเอาเองต่างกัน บางคนบัญญัติเอาความสุข อาจจะเป็นความทุกข์ของคนอื่น บางคนบัญญัติเอาความสุขความทุกข์ของคนอื่น อาจจะเป็นความสุขของคนอื่น
เช่น ไม่กินเหล้าไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่สูบบุหรี่ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไปนุ่งผ้าถุงซะ บางทีเขาบอกอย่างนั้น สมัยก่อนเคยเป็น ไม่กินเหล้ามาตั้งแต่ไหนแต่ไรนะ เตะตะกร้อแข่งขันกัน ถ้าใครทำตะกร้อหล่นต้องปรับลูกเอก หน้าอีแปะหน้าอีแปะหลังเตะหน้า เตะข้างหน้า ถ้าตกลูกละบาท ถ้าหลัง ส้นหลัง แปะหลัง ถ้าตกลูกละห้าสิบสตางค์ กรรมการก็เขียนไว้ๆ ถ้าใครตก ก็ปรับไปๆ ถึงเวลาหยุดก็รวมเงินกันไป ซื้อเหล้ามากิน คนหนุ่มสมัยก่อน ไม่เหมือนตะกร้อทุกวันเนี่ยนะ ถ้าเซปักตะกร้อทุกวัน ทำให้ตก ทำให้ตกได้ก็ชนะ แต่ก่อนไม่ให้ตกเลย เตะตะกร้อไม่ให้ตกเลย พอเสียเงินแล้วก็ซื้อเหล้ามากิน ก็เขาจะเทรดปากเอา ก็ไม่กิน ไอ้บักตัวเมียเอ๊ย มึงอ่ะ กินเหล้า นี่เขาบัญญัติว่าสุขของเขา เห็นเราไม่กินเหล้า เขาว่าทุกข์ของเรา มึงโง่เหรอ เป็นอย่างนั้นก็มีนะบัญญัติ
ถ้าประหัตถ์ประหารกัน ถือศาสตราวุธเข้าฟัน เข้าฆ่ากันตาย ต้องตายไปก็ไม่กลัว ถ้ามันบัญญํัติว่าถูกของเขาก็ทำลงไปได้ บัญญัติเชือกมาแขวนคอได้ บัญญัติเอาปืนมายิงตัวตาย บัญญัติกินยาตาย บัญญัติเอาไฟฟ้ามาช๊อตตัวเราตาย บัญญัติอะไรต่าง ๆ แล้วแต่ บัญญัติเนี่ยมันเป็นล้นโลกทีเดียว หลวงพ่อเทียนมารื้อถอนตรงนี้ บัญญัตินี่ ไม่ใช่ อันบัญญัตินี่มันก่อน ไม่ใช่ ไปเห็นเข้าจริง ๆ ไม่ใช่ สุขก่อนสุข ทุกข์ก่อนทุกข์ เจ็บก่อนเจ็บ ไม่ใช่อย่างนั้น บัญญัติ ปรมัตถ์สัจจะ ความทุกข์มันเป็นสมมติบัญญัติ ความไม่ทุกข์เป็นปรมัตถ์สัจจะ หรือเราใช้มีด มีดนี่สำหรับฟันไม้ ถางป่า สร้างบ้าน สร้างเรือนอันนั้นถูกต้องตามบัญญัติ สร้างมีดขึ้นมาเพื่อไปสร้างบ้านสร้างเรือน แต่สมมติบัญญัติเอามีดไปฆ่ากัน ตัดคอกัน แล้วผิดใช้ปรมัตถ์ไม่เป็น ผิด เราใช้ชีวิตไม่ถูกต้องเยอะแยะไปเลย เดือดร้อนตัวเราเดือนร้อนคนอื่น พอเห็นปรมัตถ์บัญญัติ สมมติบัญญัติ ปรมัตถ์สัจจะ สมมติบัญญัติ รื้อถอนออกเลย เห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา ศีลเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร เราสัมผัส โอ้ เรามีศีลมานาน เราไม่รู้ พอเรามีศีลมา โอ้ย เราอยู่กับศีลมานาน ไปถามใครมั้ย ศีลเนี่ย ไม่ถาม หลวงพ่อเทียนผมมีศีลแล้วหรือยัง ผมมีสมาธิหรือยัง ผมมีปัญญาหรือยัง ไม่มีคำถามแบบนี้ โอ้เรามีศีลแล้ว มีแล้วจึงเห็น เป็นแล้วจึงรู้ ปรมัตถ์เนี่ยไม่ใช่ไปขอ เราก็ปกติอยู่นี่.... กายก็ไม่ทำบาปทำชั่วอะไร ใจก็ไม่ทำบาปทำชั่วอะไร แม้แต่คิดมันก็ไม่กล้าคิด โอ้เราก็มีศีล
ศีลคือเจตนา ศีลนี้คือหนักแน่น ศีลมาจากคำว่า ศิลา ศิลาคืออะไร คือก้อนหิน ไม่หวั่นไหว ลมพัด ก้อนหินก็ยืนอยู่ นั่งอยู่ ไม่เหมือนข้าวลีบ ไม่เหมือนนุ่น โอ้เราไม่หวั่นไหวมานาน โอ้ศีลมันเป็นอย่างนี้หนอ ศิลาคือก้อนหิน หนักแน่นในการกระทำ ทำอะไรเป็นสมาธิตั้งใจ ล้างถ้วยก็ตั้งใจ กวาดบ้านก็ตั้งใจ ซักผ้าก็ตั้งใจ อะไรก็ตาม ปลูกต้นไม้ก็ตั้งใจ เคยสอนคนปลูกต้นไม้ ประคับประคอง เหมือนเอาลูกอ่อน ลงใส่อู่ใส่เปล เวลาเอาต้นไม้ออกจากถุง ประคับประคองสองมือ เหมือนเราโอบต้นไม้ลงหลุม เหมือนเอาลูกอ่อนลงใส่เปลนอน ค่อยๆ นี่เรียกว่าสมาธิ ทำอะไร มั่นใจ ๆ ๆ ไม่สองจิตสองใจ อ่านหนังสือก็อ่านหนังสือ สมัยสอบนักธรรมชั้นเอกเน่ี่ย อ่านภาษิตดูสิ ทดลองดูสิ สองเที่ยวจำได้ไหม สามบรรทัด ภาษิตของนักธรรมเอก เขาต้องให้ได้สามบรรทัด เช่นว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา” นี่แถวหนึ่ง “มโนเสฏฺฐา มโนมยา” นี่แถวหนึ่ง “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า” ว่าสองรอบให้ได้ มันมีสมาธิ ถ้าทำอะไรที่มีสมาธิดี มันดีหลายอย่างนะ ทำอะไรก็งาม ทำอะไรก็งามเรียบร้อย เมื่อวานหลวงตาก็ไปพาพระทำงาน เอ้ายกอิฐบล็อกตรงนี้ออก ย้ายไป พระก็เอาไปวางระเกะระกะ ไม่ถูกต้อง วางใหม่ เอาอิฐบล็อคตรงนี้ไปวางที่ไหน พระบางรูปก็ยกไปอีกก็ไปรกที่อื่นอีก ไปวางนี้ทำได้ไหม ทำไม่เป็น เพราะอะไร เพราะไม่มีสมาธิในการทำงาน ก็เลยบอกว่าเอาไปวางตรงนั้นลองดูสิ ให้เป็นคั่นก้อนหินไว้ เวลาเรากวาดมันจะไม่ผิด หินที่เรามาปูนี่มันจะไม่กระเด็นออก เอ้ายกออกก็วางไป วางเป็นแถวกั้นหินไว้ สวยงาม ทำไรมันดี ถ้ามีสมาธิ ไม่ใช่มานั่งหลับหูหลับตา ไปทำงาน ห้องครัวก็สะอาด ที่นอนก็สะอาด เรียบร้อย เสื้อผ้าก็สะอาด ศีลมันไปอยู่ในบ้าน ในครัว ในที่ทำงาน โต๊ะเก้าอี้ ของอยู่ของกิน สะอาดเรียบร้อย โอ้เรามีศีลหนอ ศีลไม่ใช่ไปรักษากาย วาจา เรียบร้อย ชื่อว่าศีล มันเรียบร้อยหลายๆอย่างนะ ศีล โอ้ไปรู้ศีล รู้สมาธิ รู้ปัญญา ศีลกำจัดกิเลสได้ จริง ๆ อ่ะ ศีลแบบนี้ หรือว่าศีลสิกขา ถ้ามารู้ศีลนี่ โอ้ยเยอะแยะเลย
ดงแห่งปัญญาเลยทีเดียว มาศึกษาดงที่รูป ที่นามนี้ มันมีอยู่ทุกคน มาขอกับพระเหรอศีลเนี่ย ได้นั่นเป็นศีล สังคมบัญญัติเพื่อให้เรารักษาอยู่ด้วยกัน มันละกิเลสไม่ได้เลย อันศีลสิกขาที่มันเกิดจากการเจริญสตินี้มันละกิเลสได้ มันละได้ โอ้ย....อาศัยศีลนี่ สีเลนะ สุคะติง ยันติ ผู้มีทรัพย์สมบัติก็เพราะศีล มีความสุขเพราะศีล สีเลนะ โภคะสัมปะทา ผู้มีทรัพย์สมบัติได้เพราะศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ผู้ไปนิพพานได้ก็เพราะศีล โอ้.... มันเป็นอย่างนี้หนอ ใจมันดีกว่าเก่า พ้นภาวะเก่าขึ้นมา ปรมัตถ์ เห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา เห็นปรมัตถ์ เห็นสมมติบัญญัติ รื้อถอน คล้ายกับว่าเข้าประตูธรรมไปเลยตอนนี้นะ ใจก็สูงขึ้นไปอย่างนี้นะ ไม่ใช่คิดหานะ มันเห็น มันทำให้มี
โอ้ย...เหมือนกับหลวงตาพูดว่า ถ้าเกรดมันดี มันเข้ามหาวิทยาลัยได้ ตั้งแต่ประถม ตั้งแต่เริ่มต้น เรารู้ มีไหมตัวรู้ เราหลง มีไหม แล้วก็เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ได้ไหม เปลี่ยนได้ ก็เกรดดีไปเรื่อย ๆ ไป ให้ค่าเลยไหม ใช่ มีตัวรู้หรือไปเปล่า ศึกษารึเปล่า ถลุงหรือเปล่า คำว่า สิกขานี่ คือ ถลุง คือย่อย เหมือนเขาถลุงแร่ แร่มันเป็นก้อนหิน ย่อยออกมามันเป็นเหล็ก เป็นเงินเป็นทอง อันที่กายที่ใจเรานี้ มันเป็นดุนมันเป็นก้อน เรียกว่ารูปนาม พอมีสติเข้าไป มันถลุง มันย่อยออกมา เรียกว่าสิกขา สิกขาของภิกษุมี ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา การรักษากายวาจาใจเรียบร้อยชื่อว่าศีล รักษาใจมั่นชื่อว่าสมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่าปัญญา เราก็ตอบได้ เรียนมา บัดนี้ไม่ไช่อยู่ในตำรากระดาษ มันอยู่ในเรานี้ เรามีสติเนี่ย มันเป็นรักษากายวาจาใจไหม การมีสติใส่ใจที่รู้นี้มันเป็นสมาธิไหม เคลื่อนไหวอยู่นี้มันเป็นสมาธิไหม หรือไปนั่งหลับตา ไปนั่งหลับตานะ มันรู้อะไรไหมนั่งหลับตา
หลวงตาเคยไปนั่งอยู่ในกุฏิพุทธญาณอยู่ไกล ๆหมู่ ดงป่าไร่ก็ลืมตาอยู่ มีกระแตมันทะเลาะกับอะไรมา แกร๊กๆ ร้องอยู่ ก็ฟังเสียงยังไม่เห็นตัวมัน ฟังแต่เสียง แล้วก็หันหน้าไปทางมันร้องอยู่ นั่งหันหน้าไปทางนั้น เสียงมันก็มีสองเสียง เสียงกระแตก็ร้องอยู่ แกร๊ก ๆๆ และอีกเสียงก็ ฮู่ว์... อย่างนี้ ก็ฟังมา ฟังมา อ่อแม่กระแตไล่งูมา กระแตมันออกลูก งูเห่ามันไปทางนั้น ก็ไล่ ก็กัดหาง เรื่อยไป กระแตก็วิ่งกัดหาง งูเห่าก็คืนมาฉก เอาไปมากระแตก็ไล่มา ไล่มา เหมือนนกกางเขนเห็นงูเขียวมา มันก็ สมัยหนึ่งก็มีนกกางเขนมาอยู่กระบวยตักน้ำ มันก็ไล่งูได้ กระแตมันไล่งูมาหาเรา เราลืมตาอยู่ เราก็มีกุฏิ เตียง เอาแฝกมุง เอาเตียงมาตั้งไว้นอน ก็เลื้อยมามันจะมาเข้าใต้เตียงเรานั่งอยู่ งูเห่าก็บอกมันว่า มันไม่รู้หรอกเราก็ไม่เคลื่อนไหว ก็นั่งดูมัน ลืมตา ถ้าไม่ลืมตาเห็นงูมั้ย เณร “ โอ้ยกัดเอาสิ” สมาธิไปนั่งหลับตาหรือ ไม่ใช่สมาธิแบบนั้น ลืมตาอยู่ งูมา เลื้อยมา ๆ เตียงก็ไม่สูงนะ ก็เลยเอากล่องไม้ขีดโยนไป ไปถูกหัวงูพอดี งูก็ตกใจตื่นขึ้นมา ชูคอขึ้นใส่เรา มันแผ่พังพาน(แม่เบี้ย)เห็นเรานะ เราก็เอาผ้าจีวรมา ค่อยๆ ปิดหน้าไว้ “งูเห่าเอ๋ย ขอโทษเด้อ เราว่าจะบอกเธอว่าเรานั่งอยู่นี้” อย่ามาตกใจหนอ ขอโทษ ๆ ก็นั่งกลัวมันจะพ่นน้ำลายใส่ (หัวเราะ) เอาจีวรมาปิดตามันหน่อยดีไหม มันก็ผลุบลงวิ่งเข้ากอไผ่ ทำไม่หลับตามันดีอย่างนี้ ถ้าหลับตา งูเลื้อยมาๆ นั่งตักเรานะมันเลื้อยมา มันฉกเอา กัดตายเลยทีเดียว สมาธิไม่ใช่นั่งหลับตา ไปทำงาน ปลูกต้นไม้ ไปเขียนหนังสือ เป็นหมอไปทำงาน ไปเขียน ไปเขียนบัญชี ไปฉีดยา สมาธิแน่วแน่ สมาธิมันสำหรับใช้งานใช้การ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่มันเป็นไปอย่างนี้น่ะ การปฏิบัติธรรม มาเห็นอุปาทานขันธ์๕ นี่โชว์ที่สุดเลย โชว์ตลอดเวลา อะไรๆไม่โชว์เท่ากับ ขันธ์ ๕ เลย มันโชว์สุดท้ายเลย เรามาชนะตรงนี้กัน
การปฏิบัติธรรมมันมีสูตร มีสูตรๆไปนะ ไม่ใช่เรามาสุ่มสี่สุ่มห้า มีเรียนพ่อก่อตามครู พระพุทธเจ้าทรงแสดง สั่งสอน พระสาวกทั้งหลายก็ติดตามรู้ตามมา จนถึงพวกเราทุกวันนี้ ยังมีอันเดียวอยู่ สติกันเดียว ความรู้สึกตัว กับพระพุทธเจ้าสมัยสองสามพันปีมาแล้ว กับอยู่กับเรา อันเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็เป็นสามัญชน คือขาสอง แขนสอง เป็นสุขเป็นทุกข์ ร้อนหนาวเหมือนกันกับเรา แต่ว่าเป็นสมมติเทพ เป็นกษัตริย์ แต่ว่าเสมอกันด้วยสามัญลักษณะ คือเหมือนกับเรา ไม่ใช่วิเศษวิโสมาจากไหน วันนี้ก็พูดให้ฟังเนอะ