แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพึ่งตัวเองก็คือมีสติ สตินี่รู้รอบ มันหน้ารอบ เราจึงต้องมีสติ ได้เป็นเจ้าของชีวิตเรา ถ้าไม่มีสติอันอื่นจะมาครอง สังเกตดูดี ๆ เวลามันทุกข์ มันหลง มันโกรธ มันเศร้าหมอง แสดงว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวเราแล้ว อันอื่นเอาไปครอง ตัวยักษ์ อย่างเรื่อง ศิลป์ชัย สีโห สังข์ทอง สุมุณฑา สุมุณฑาเนี่ย ยักษ์กุมภัณฑ์เอาไปเป็นเมีย แต่ว่าไม่มีใครไปเอาคืนมาได้ มี สังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัย อาสาตามเอาคืนมา เอาสุมุณฑาคืนมา กว่าจะได้คืนมาก็ผ่านอะไรหลายอย่าง ช้างซ่อนงาปลาซ่อนเงี่ยง น้ำกัดเหล็กกัดทอง แดดงูซวง กินรีกินนร รู้จักแดดงูซวงมั้ย เจอแดดงูซวงมั้ย มันพ่นใส่ตา ลืมตาไม่ขึ้น เอาจนยอมราบ แดดงูซวง ช้างซ่อนงาปลาซ่อนเงี่ยง อะไรก็มีแต่ปัญหาต่าง ๆ จะมีสติ อันอื่นมาขวางกั้น จะมีความรู้สึกตัว จะมีศีลสักหน่อย ปกติสักหน่อย น้ำกัดเหล็กกัดทอง ตัดขาดออกไป เหมือนกับเขื่อนกั้นน้ำ ถ้าไม่แข็งแรงก็ขาด พัง อันนั้น สังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัย ก็จึงเอาคืน เอาสุมุณฑาคืนมา สังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัย สังข์ทองเป็นพี่ชาย สีโหเป็นคนที่สอง ศิลป์ชัย เป็นคนที่สาม
พี่กับน้องกัน สังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัย คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สุดท้ายคือปัญญา ศิลป์ชัย คือปัญญา สังข์ทองคือศีล สู้กับงูซวงไม่ได้ ช้างซ่อนงาปลาซ่อนเงี่ยง น้ำกัดเหล็กกัดทองไม่ได้ สีโหก็ ก็จะตั้งให้มั่นอยู่กับกายเคลื่อนไหวก็หลุดออกไป หมายถึง สมาธิ มันยังไม่มั่นคง ก็ต้องเรียกศิลป์ชัยมาช่วย คือปัญญา รู้จักเปลี่ยนความร้ายเป็นความดี มันหลงเปลี่ยนเป็นรู้ นี่เรียกว่าปัญญา คือตัวศิลป์ชัย มันสงบ เปลี่ยนมารู้ มันฟุ้งซ่าน เปลี่ยนเป็นรู้ ต้องสามปัจจยาการ แรงช่วย แรงสนับสนุน เราทำมีความรู้สึกตัวเนี่ย มันมีทั้ง ๓ อย่าง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ตามถึงสุมุณฑาแล้ว จะไม่ยอมกลับ สุมุณฑา ยังอาลัยยักษ์อยู่ สังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัย ก็ต้องบังคับ กระชากลากดึง กลับออกมาจากถ้ำแล้ว สุมุณฑาก็ยังขอกลับคืนไปสั่งยักษ์ก่อน สังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัยก็พาคืนไป แต่ยักษ์นอนยังไม่ตื่น ถ้าตื่นก็คงจะได้รบกัน กับสังข์ทอง สีโห ศิลป์ชัย หมายถึง กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฐิ ถ้ายังไม่เข้มแข็งในศีล สมาธิ ปัญญา หมายถึงสติ ก็ย่อมจะหวั่นไหวได้ง่าย จึงไม่ใช่เรื่องรบ
ตอนใหม่ ๆ เพียงแต่รู้ รู้ไป ถึงคราวรบก็ยังพลังพร้อม อย่างว่า กิเลสเหมือนหมา สติเหมือนช้าง นิวรณ์ธรรมเหมือนแมลง สติเหมือนนกอินทรีย์ สังโยชน์ทั้งสาม กามราคะ ปฏิฆะ มานะทิฐิ สังโยชน์ทั้งห้า ทิฐิ มานะ อะไรต่าง ๆ ก็เหมือนกับดาบทิ่มแทงแล้ว ถ้าเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนเอา สมาธิ ก็เหมือนเราได้ยืนที่ จะฟันไม้ จะขุดดิน ไปยืนที่อันมั่นคง ไม่ใช่ยืนขาเดียว มันรู้รอบ ศีลก็คือ มีดหรือขวานที่มีคมกริบ ไม่ใช่เอามีดโกนไปโค่นไม้ซุง ต้องกำหนดพอเพียงกัน ปัญญาก็คือรู้จักกาลเทศะ เหวี่ยง แรงเหวี่ยงระหว่างฟันมีด แรงเหวี่ยงระหว่างขุดจอบ แรงเหวี่ยงระหว่างฟันขวาน ถ้าจะฟันไม่มีแรงเหวี่ยง ไม้ก็ไม่ขาด ต้องมีแรงเหวี่ยงช่วยคม หลายอย่างสนับสนุนกันไป สุก็คืองาม แต่ก่อนสุ งาม หมายถึงจิตของเราที่มันงดงาม มณฑาคือมลทิน มลทินมันเปรอะไปเปื้อนเอา มันก็เลยเศร้าหมองเรียกว่ายักษ์ ความเศร้าหมองเรียกว่ายักษ์ เมื่อความเศร้าหมองเกิดขึ้นที่ใจแล้ว ก็ทำดีได้ยาก อย่างยักษ์เนี่ย ที่ใดเห็นยักษ์ก็จับศาสตราอาวุธทั้งนั้น หน้าตาก็ไม่ค่อยดี มันเศร้าหมอง ไม่มียักษ์ตนไหนจับดอกไม้ธูปเทียน เหมือนคนมีความโกรธความทุกข์ ความเคียดแค้นชิงชัง มีแต่พยาบาทเบียดเบียน พูดคำสองคำก็คิดจะทำลายล้าง อะไรต่าง ๆ
ถ้าเรามีสติน่ะ มันก็หยุดเป็นน้ำมือของมารได้ กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร สังขารมาร อภิสังขาร ปรุง ๆ แต่ง ๆ เราก็หลง เห็นกายเป็นตัวเป็นตนไป จิตสังขารก็หลงในความคิด แทนที่จะได้ความรู้จากความคิด ได้ความรู้จากการปรุงแต่ง ศิลป์ชัยจึงเฉียบแหลมสักหน่อย เช่น ง่วงเหงาหาวนอน สู้ซึ่งหน้าก็ไม่ได้ ต้องโดยทางอ้อม ใครจะลุกขึ้น เดินจงกรม น้ำล้างหน้า หรือมองท้องฟ้า มือลูบไปตามตัว ทำความรู้สึกเป็นกลางวัน อย่าไปจนเลย หาทางที่จะแก้ไข อย่าไปอันเดียว มันมีเยอะแยะ ไม่เอาด้วยมนต์ สู้ด้วยมนต์ไม่ได้ ก็เอาด้วยกล เอาด้วยกลไม่ได้ เอาด้วยคาถา หลายอย่าง การปฏิบัติธรรมมีการพลิกแพลง
เรามาศึกษาพุทธประวัติ ขณะที่สิทธัตถะออกบวชใหม่ ๆ เนี่ย มันไม่ใช่ใกล้กับการทำที่ทำให้ตรัสรู้เลย ไปทำอันอื่น จนถึง ๕ ปี ๖ ปี กว่าจะได้ร่องรอย พลิกแพลงมาเรื่อย ๆ จนมาได้หลักว่าต้องบำเพ็ญทางจิต อันนั้นเรียกว่า ยังไม่เห็นลู่เห็นทาง บัดนี้เราเข้ามาสายตรงเลย เข้ามาสายตรง ๆ มาสัมผัสกับความรู้ ตาต่อตาเข้าไปเลย ไม่เคยมีความรู้สึกตัวก็ต้องเอามาทำให้ได้ หัดให้ได้ ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว แม้ความรู้สึกตัวมีอยู่ แต่มันซ่อนลึก ไม่ค่อยรู้จัก เห็นง่ายคือความหลง ความโกรธ ความทุกข์ ความรัก ความชัง สิ่งเหล่านี้ลอย ลอยหน้า โชว์หน้า บังความรู้สึกตัว ไม่ค่อยเห็น มันจึงมีการปฏิบัติฝึกหัดกันบ้าง มันก็เจอความหลง เจอความหลงไม่พอ เจอความหลงที่ต้องกลายเป็นทุกข์ ไปก็เป็นอุปาทาน เป็นกิเลสตัณหา หลงซื่อ ๆ ไม่เท่าไหร่ มันหลงแล้วมันต่อไป มันต่อไป ขยายไป ถึง ๆ เป็นภพ เป็นชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ ต่อไป แผล็บเดียว แผล็บเดียวไปไกล จนถึงหัวเราะร้องไห้
ที่จริงมันต้องหลงก่อน ดูดี ๆ ดูดี ๆ จะได้บทเรียนจากความหลงความทุกข์ เยอะแยะไปหมดเลย เห็นกายเห็นเป็นรูป เห็นความรู้อะไรได้ต่าง ๆ เกี่ยวกับกาย เคลื่อนไหวไปมา รู้ร้อนรู้หนาว เป็นนามธรรม มันมีรูปมีนาม จึงมีทุกข์ เป็นร้อนเป็นหนาว เป็นเจ็บเป็นปวด เป็นถูก ๆ ผิด ๆ เป็น สุข ๆ ทุกข์ ๆ เป็น เพราะมันมีรูปมีนาม ถ้ามีแต่กายแต่ใจนี่ มองไม่ออก ดูไป ดูไป มันมองแตกฉานได้ มันบ่งบอก ขั้นตอนเป็นยังไง เหมือนหมอแพทย์รักษาเชื้อโรค เหมือนนักศึกษาเรียนสูตรเรียนมาดี เวลาเข้าสนามสอบ ผู้ใดมีประสบปรากฏการณ์ ประสบการณ์ในการผ่าตัด ผู้นั้นก็เป็นหมอที่เก่ง ผู้ใดมีประสบการณ์ในการหลงในการรู้ ผู้นั้นก็มีประสบการณ์มากที่สุด น่าจะขอบคุณความหลงความทุกข์ บางทีเราไม่เข้าใจ นึกว่ามัน มันไม่ถูกต้อง มันมีอยู่ ทำไมจะไม่ถูกต้อง มันมีให้เห็นน่ะ มันก็มีอยู่
พระพุทธเจ้า หรือตั้งแต่ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็ยังเห็นเลย เห็นสิ่งที่เราเห็น เหมือนกันหมดเลย เห็นนิวรณ์ธรรม เห็นความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย ความพยาบาท ราคะ โทสะ โมหะ จนชี้ได้เลยว่า นี่แหละคือธรรมอันกั้นจิต เหมือนภูเขาขวางหน้า เราจะเดินทางไปทุรกันดาร ไปถิ่นทุรกันดาร ไม่มีทาง เราต้องหัดเดิน ปีนเขาปีนป่ายไป เหมือนพวกเราที่มาอยู่ที่นี่ สมัยก่อน ๒๐, ๔๐ ปีผ่านมา มันไม่มีทางรถทางเรือ ก็ปีนเขาขึ้นมา นั่นขนาดไหน กว่าจะได้ข้าวมากินสักเม็ด กว่าจะได้น้ำปลามากินสักขวด มันก็ประสบการณ์ทั้งนั้น มันถึงค่อยมีทางขึ้นมา
อันนี้ก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมเนี่ย ภูเขาอันกั้นจิตมีไหม ความง่วงเหงาหาวนอนมีไหม ความลังเลสงสัยมีไหม ความคิดฟุ้งซ่านมีไหม จับ ๆ จด ๆ อะไรผิดอะไรถูก วกวนอยู่แถวนั้นน่ะ มันก็เลยนั่นแหละ ภูเขาอันกั้นจิต พระสิทธัตถะเห็นทีแรกก็ชี้ลงไปเลย นี่แหละภูเขาอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ถ้ามันเกิดขึ้นทีไรก็ไม่ต้องลังเลสงสัย ไม่ใช่สติ มีเหมือนกัน เห็นเหมือนกัน กิเลสมาร ทุกชีวิต เมื่อยังไม่บรรลุธรรมก็มีกิเลส กิเลสคือทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ใช่บุตรภรรยาสามี ทรัพย์สินเงินทอง ถ้ามีทรัพย์สมบัติก็อยู่โน่น มีไร่นาเรือกสวนก็อยู่โน่น มันไม่ใช่อยู่กับเรา กิเลสเนี่ย คือมันนอนเนื่องในใจ มันย้อมจิต ทำให้เป็นไปต่าง ๆ ขวางกั้นเอาไว้ ขวางกั้นเอาไว้
นอกจากกิเลสมารที่มาย้อมจิตแล้ว ขันธมารอีก ก็ร่างกายจิตใจของเราน่ะ มันเป็นขันธ์ทั้งนั้น เป็นรูปขันธ์ เป็นนามขันธ์ มันก็แสดงออก เราไม่รู้ว่ามันเป็นขันธมาร เราก็เป็นสุขเป็นทุกข์กับขันธ์แหละทีนี้ ถ้าเป็นความมืด เป็นความมืดสีขาว คือความสุข ถ้าเป็นความมืด ความมืดสีดำคือความทุกข์ หรือแบ่งซะสุขทุกข์ ต้องการสุข ทุกข์วิ่งหนี เอ้า! ทุกข์ ทุกข์ไล่ตาม ต้องการสุข สุขวิ่งหนี ความทุกข์ไล่ตาม มันก็เป็นอย่างนี้ ที่จริงมันของอันเดียวกัน
ถ้าผู้มีสติแล้ว จะเห็นเหมือนกันหมด มันสุขก็เห็น มันทุกข์ก็เห็น ไม่ได้แบ่งเป็นอะไร เป็นภาวะที่เห็น มันหลงก็เห็น มันรู้ก็เห็น มันผิดก็เห็น มันถูกก็เห็น มันเหนือ มันมาแบบเหนือเมฆ สติเนี่ย เห็นรูปเห็นนามเข้าไป รูปมันก็บอก นามมันก็บอก เรียกว่าจับ ๆ จด ๆ จับพลัดจับผลู มันมีขั้นตอน มันมีสูตรของมันไปเอง ใส่ใจ บางทีรู้ก่อนรู้ เป็นก่อนเป็น อะไรเอาความรู้ออกหน้าออกตา ยังทำไม่เป็น เอาเหตุเอาผล ออกหน้าออกตา ยังทำไม่เป็น ถ้ามันรู้ถ้ามันหลง รู้สึก ถ้ามันคิดไป รู้สึก ถ้ามันสุขมันทุกข์ รู้สึกเนี่ย ทำให้เป็นตรงนี้ ถ้าทำเป็นตรงนี้ได้ เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายไป เราจึงมาสายตรง ๆ ตรงนี้แน่นอน วิธีอื่นไม่ต้องไปสนใจ มาสนใจเรื่องนี้ก่อน เรื่องอื่นก็จะรู้ทีหลัง
มันเป็นชัยภูมิที่ดี ถ้าเราได้หลักความรู้สึกตัวแล้ว มักจะไม่พ่ายแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ แม้จะมีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ถ้าเรามีความรู้สึกตัวแล้วน่ะ เป็นเรื่องง่าย ๆ คำพูดบางทีเราก็กลัว บางอย่างสมมติบัญญัติ ภูเขาท่วมทับเรา ไปก็เป็นตัวเป็นตน สมมุติชอบไม่ชอบ เต็มไปหมดเลยชีวิตเรา บัญญัติเก่ง สมมุติเก่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่บัญญัติสิ่งที่สมมุติก็ไม่จริง ล้มเหลว เหมือนปั้นควายดินทราย สร้างขึ้นอย่างดี ประเดี๋ยวก็พังไป อันสมมติบัญญัติ แล้วเราก็เอาอยู่ เอาสุขเอาทุกข์ บัญญัติเอาเอง ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าชอบว่าไม่ชอบ ขวางกั้น ทำให้สติงอกงามได้ยาก เราจึงมาดูเฉย ๆ ให้เห็นเฉย ๆ
การมีสติ การบำเพ็ญทางจิต จิตดูจิต มีสติดูจิต ไม่ใช่ว่า หาดู ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องดูมัน ถ้ามันคิดขึ้นมาก็ค่อยดู ค่อย ๆ เห็น รู้ก็กลับมา คำว่ารู้สึกตัวเนี่ย มันก็ดูจิตแล้ว มันคิดทำให้รู้สึก มันเคลื่อนไหวทำให้รู้สึก นั่นแหละจิตดูจิต สติดูจิต เอาไปเอามาเป็นอันเดียวกัน จิตก็คือภาวะที่รู้สึกตัว สติก็คือภาวะความรู้สึกตัว ละความชั่วคือภาวะความรู้สึกตัว ทำความดีคือภาวะความรู้สึกตัว ภาวะความรู้สึกตัวเนี่ย ทำความดี ภาวะความรู้สึกตัวละความชั่ว ภาวะความรู้สึกตัวนี่แหละ ทำให้จิตบริสุทธิ์ ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ได้ละความชั่ว ไม่ทำความดี จิตก็ไม่บริสุทธิ์เลย เราจึงมาทำกรรมฐานอันนี้
อย่าไปเอาเหตุเอาผล อย่าสมมุติว่าเราแก่เราเฒ่า เราเป็นคนโง่ คนนั้นเป็นคนฉลาด ไม่ต้องเปรียบเทียบ ถ้ารู้สึกตัวก็มีสิทธิเท่าเทียมกัน หัดมีตัวรู้ไป เนี่ยรู้ไม่ใช่ไปแค่ พลิกมือคว่ำมือ พลิกมือขึ้นจึงจะรู้ หายใจเข้าหายใจออกจึงจะรู้ ไม่ใช่ เมื่อมีสภาวะที่รู้ เมื่อรู้แล้ว มันก็เปลี่ยนไปทั้งหมดเลย อะไรก็มีแต่สภาพที่รู้ไปหมด เจ็บไข้ได้ป่วยคือภาวะที่รู้ อะไรก็เป็นภาวะที่รู้ไปหมด ไม่ต้องไปสร้างก็ได้ มันมีแล้ว มันทำเป็นแล้ว การสร้างเป็นเบื้องต้น ความโกรธ ความโลภ ความหลงไม่ต้องไปอด ไม่ต้องไปหลบหลีก ไม่มีอะไรหลบหลีก มันหายไปเมื่อไหร่ไม่รู้ ถ้าเรามีความรู้สึกตัวไป บางทีเราไปอดทน ไม่ใช่ อดทนก่อน ไม่ใช่ นั่นเป็นชั้นอนุบาล
ถ้าฝึกหัดดีแล้ว เป็นการศึกษาดีแล้ว มันก็เป็นไปเอง มันแล้วไปแล้ว เหมือนกับคนทำงานแล้วไปแล้ว ไม่ต้องไปศึกษาอีก มาทำนาทำไร่ ปลูกอ้อยร้อยไร่ ปลูกข้าวร้อยไร่ มันก็แล้วไปแล้ว ข้าวที่ปลูกก็ปลูกแล้ว มันเป็นประจักษ์แจ้ง รู้แล้ว อะไรที่เกิดขึ้นรู้แล้ว มันแล้วไปแล้ว ไม่ต้องยกมือสร้างจังหวะก็ได้ ไม่ต้องไปนั่งที่ไหนก็ได้ เป็นชีวิตทั้งชีวิตไปเลย มันจึงเหนือทุกอย่าง เหนือการเกิดแก่เจ็บตายไปเลย
พระพุทธเจ้าจึงอุทานตอบรับ ยสกุลบุตร ยสกุลบุตรน่ะ ร้องออกมา ลูกชายเศรษฐี “ที่นี่วุ่นวายเหลือเกิน ที่นี่ทุกข์เหลือเกิน วุ่นวายเหลือเกิน ขัดข้องเหลือเกิน” ร้องออกมา เหมือนคนร้องไห้ ทะเลาะกัน บ้านก็อยู่ก็ไม่น่าอยู่ สามีเคยรักก็ไม่รัก ภรรยาที่เคยรักก็ไม่รัก มองอะไรนี่เป็นเสี้ยนเป็นหนาม วุ่นวายเหลือเกิน ขัดข้องเหลือเกิน
พระพุทธเจ้าก็ขานตอบ “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาที่นี่เถิด” ยสกุลบุตรก็เดินเข้าไป พระพุทธเจ้าก็เทศนาให้ฟัง เรื่องอนุปุพพิกถา ให้อาบน้ำ อนุปุพพิกถาเหมือนอาบน้ำ หรือซักผ้า ให้ร่างกายสะอาดจึงมาแต่งเนื้อแต่งตัว ซักผ้าสะอาดแล้วมาย้อมสีต่าง ๆ ได้ ใจเมื่อมันสะอาดแล้วก็ย้อมธรรมเข้าไป เรียกว่า “เนกขัมมานิสังสกถา” ดำริออก ความทุกข์ความไม่ใช่ออกไปได้ ความวุ่นวายออกได้ ทำความเห็นให้แจ้ง ทำความเห็นให้ถูกต้อง ไม่ใช่ที่นี่ มันอยู่ในเรา ไม่ใช่เมืองพาราณสี มันอยู่ที่หัวใจของ ยสกุลบุตร มาดู ที่ใดมีทุกข์ที่นั่นไม่มีทุกข์ ที่ใดมีความหลงที่นั่นไม่มีความหลง ที่ใดมีความเศร้าหมองที่นั่นไม่มีความเศร้าหมอง อย่าหมดเนื้อหมดตัวขณะที่อย่างนั้นเกิดขึ้น หัดมอง หัดดู เห็นแล้วเท่าไหร่ สุขเท่าไหร่ ทุกข์เท่าไหร่ ความสุข ความรัก ความชังเกิดขึ้นเท่าไหร่ น่าจะได้บทเรียน มันก็ เส้นผมบังภูเขา เคยเสียใจ เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความไม่รู้จริง ๆ เอ้า! มันไม่ใช่เรื่องของเรา ก็มันมาอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้
เหมือนดังปฏาจารา (หัวเราะ) ลูกเศรษฐี ลูกสาวเศรษฐี แต่หลงรักคนใช้ แอบแต่งงานกัน พากันหนี พ่อแม่ก็ไล่หนี ได้ลูกสองคน ลูก ๆ ข้ามดงข้ามป่า ไม่มีบ้านมีเรือน พอดีก็สามีก็ตาย เสียใจ ก็ได้บรรลุธรรมเพราะความตาย ความพลัดพราก จะกลับไปบ้านพ่อบ้านแม่ กำลังเป็นทุกข์ เซซัดเซโซ เจอคนถามว่า พ่อของฉันเป็นไง แม่ของฉันเป็นไง เศรษฐี เขาบอกว่าลมพัด บ้านพัง หักถล่มทะลายไปเลย ทั้งพ่อเศรษฐีแม่เศรษฐีก็ถูกบ้านเรือนล้มทับตายอยู่ที่นั่น เผาทั้งบ้าน เดี๋ยวนี้มีควันอยู่ อ้าวจะไปไหนล่ะ เป็นบ้าไปเลย แก้ซิ่นแก้ผ้า
หรืออีกนางหนึ่ง ได้ลูก พอดีก็ได้ลูกรักลูก ลูกก็ตาย ไม่สามารถเอาลูกไปทิ้งได้ คิดว่าจะเอาลูกคืนได้ ตายแล้วก็คืนได้ ไม่ยอมทิ้ง กระเจิดกระเจิงก็เพราะลูก หาหยูกหายา จนถึง จนถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ว่ามียาอยู่ เธอต้องหาตัวยามา แต่เมล็ดผักกาดมา จะทำยาเอาลูกคืนให้ แต่เอาตรงบ้านคนที่ไม่มีใครตาย นางก็ไปบ้านใดบ้านใดมีแต่คนตาย เมื่อเห็นว่าคนตาย คนตาย คนตาย คนตาย คนตาย หลายบ้าน หลายบ้าน ก็คิดได้ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้
ไม่ใช่ความตายมาลงโทษ ถ้าใช้เป็น เป็นประโยชน์ ความเจ็บก็เหมือนกัน ความแก่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เราคนเดียว มันธรรมด๊าธรรมดา เมื่อมันโกรธ มันก็มีไม่โกรธ เมื่อมันทุกข์ก็ต้องมีไม่ทุกข์ อยู่ที่นั่นแล้ว อย่าหมดเนื้อหมดตัว ดูดี ๆ ได้ปัญญา ปัญญาได้จากปัญหาอย่างนี้แหละ แล้วก็มีสตินะ ถ้ามีสติก็เอาเลย เป็นสุขเป็นสุขทันที เป็นทุกข์เป็นทุกข์ทันที โกรธก็โกรธทันที หลงก็หลงทันที ถ้ามีความรู้สึกนิดหน่อย มองตน ถ้าเป็นดวงตา ตามันมองออกไปข้างนอก กลับมองด้านใน ถ้าเป็นดวงตา มองด้านในดู ทำไมเราถึงหัวเราะ ทำไมจึงร้องไห้ เรื่องอันใด เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เท็จจริงขนาดไหน มีอะไรบ้างใครบ้าง มองกลับมาดี ๆ บางทีอาจจะลึกซึ้งด้วย เดินออกจากบ้านได้สบาย เดินเข้าบ้านได้สบาย ทำงานทำการได้สบาย ความโกรธอาจจะกลายเป็นความรักกันและกันขึ้นมา
มีหลายคนที่ ที่เอามาสอนให้มาฝึกหัดเนี่ย พาความโกรธมาปฏิบัติ พาความทุกข์มาปฏิบัติ น่าขอบคุณความทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์มันก็ไม่มีศรัทธา อย่าง ยสะ ทุกข์หนอทุกข์หนอ วุ่นวายหนอเนี่ย ถ้าไม่มีความทุกข์เกิดศรัทธาไม่ได้ บางที ถ้าเราใช้เป็นก็ได้ประโยชน์จากความทุกข์ ได้ประโยชน์จากความหลง ได้ประโยชน์จากความโกรธ เยอะแยะ อย่าให้เป็นโทษจากความทุกข์ อย่าให้เป็นโทษจากความโกรธ เอาประโยชน์ มันมีอยู่ ความโกรธทำให้เกิดความไม่โกรธ ความทุกข์ทำให้เกิดความไม่ทุกข์ ความหลงทำให้เกิดความไม่หลง ตรงกันข้ามพอดี๊พอดี เหมือนกับหน้ามือหลังมือเราอยู่ด้วยกัน โบราณท่านจึงว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ถ้ามันหลงลงไปเวลาเรามาปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่หลงเราคนเดียว คนอื่นก็หลงเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ใช่เราง่วงคนเดียว คนอื่นก็ง่วงเหมือนกัน ไม่ใช่เราทุกข์คนเดียว คนอื่นก็ทุกข์เหมือนกัน ความรักความชังก็มีเหมือนกัน ลองดูดี ๆ ฟังหูไว้หู สติเนี่ย คำว่าสตินี่มาไว ไม่ด่วนรับ ไม่ด่วนปฏิเสธ ให้สติมาก่อน ไม่ด่วนรับ ไม่ด่วนปฏิเสธ ดูก่อน เป็นกลาง ๆ เสียก่อน โบราณท่านจึงสอนลูกสอนหลานว่า ฟังหูไว้หู ดูตาให้ดูตา เอาไว้ตาก่อนอย่าเพิ่งเชื่อตา ฟังหูอย่าเพิ่งไปเชื่อหู ได้กลิ่นได้ลิ้มได้รสอย่าเพิ่งเชื่อกลิ่นลิ้มรส ให้เป็นกลางซะหน่อย อย่าหลง มันจะได้ปัญญา
เหมือนคนมา ขออยู่วัดเรา มาขออยู่วัด ไม่ใช่ว่าเราจะสงสารให้ความสงสาร เราจะเอาความโกรธให้ความโกรธทำหน้าที่ ความพอใจไม่พอใจ ถามดูเล่น ๆ ซะหน่อย ไปยังไงมายังไง ไม่ได้เรื่องได้ราว มันจะได้เรื่องขึ้นเรื่อย ๆ อย่างวันนี้หลวงตา รดต้นไม้ตอนเช้าที่วัดภูเขาทอง มีโยมมาอยู่วัด นานแล้ว เป็นปีแล้ว พอวันนี้เขาก็มากราบเรา เรายืนรดน้ำต้นไม้อยู่ ว่าหลวงพ่อผมอยากบวช ผมอยากจะบวช หลวงพ่อก็เลยบอกว่า มาอยู่วัดนี้ได้เป็นปีแล้ว ไม่เห็นสวดมนต์ไหว้พระ ไม่เห็นทำกิจสงฆ์อะไรเลย การประเคนข้าว การประเคนน้ำ การปูสาด การจัดเสนาสนะ ไหว้พระสวดมนต์ไม่เห็น ไม่เห็นมาทำเลย เขาบอกก็ไม่ค่อยมา ผู้ที่จะบวชต้องมีนิสัย ไม่ต้องให้ใครบอก ขวนขวายเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าบวชก็เป็นบาป ถ้าจะบวชต้องมาเนิ่น ๆ กว่านี้ ดูท่าทางลักษณะไม่เหมือนความเป็นพระ อันบวชก็ตกนรก เพราะเราไม่ได้มีนิสัยแบบนักบวช ไหว้พระสวดมนต์ก็ไม่เป็น ไม่เห็นจริง ๆ ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นไม่เห็นเลย เห็นก็แต่เวลาพระฉันอิ่มก็เดินมาก็ยกหม้อข้าวออกไปกิน บางทีก็รีบกิน รีบกินพยายามอิ่มไว้ก่อน เพื่อจะไม่ได้ล้างถ้วย บอกก็หลายครั้ง ก็ไม่ ไม่ค่อยปฏิบัติตาม จะไล่หนีก็ไม่ไล่ จะสรรเสริญให้อยู่ก็ไม่ว่า แต่ว่าดูแล้วมันไม่เหมาะที่จะบวชดอก มันจะเป็นบาป ถ้าจะบวชก็ไม่เป็นลักษณะนี้ คนเป็นพระไม่เป็นอย่างนี้ ก็เลยบอกแค่นี้ เราถามเราดู เราก็รู้ คนยังไง เป็นยังไง บางทีไม่เข้ามาอยู่เป็นปี เพียงแต่เราสอบถามดู ก็รู้ ว่าสมควรหรือไม่สมควร บางทีเราก็ปฏิเสธเลยไม่ได้ ต้องพูดเอาความถูกต้อง อันนี้เป็นต้น
หรือแม้แต่ดูแป๊บเดียวก็รู้ ก็มีเหมือนกัน หาบาตรหาจีวรให้เลย นี่ก็เหมือนกัน อะไรที่เราเกี่ยวข้อง รอบตัวเรา มันมีเกณฑ์ชี้วัดในตัวเรา เพราะเราเคยเป็นโยม มีเกณฑ์ชี้วัด เราจะไปบวชมีเกณฑ์ชี้วัดยังไง มันก็ก้าวหน้า ถ้าเราไม่มีเกณฑ์ชี้วัดเลย มันก็ มันก็สับสน อันเรานี่ก็เหมือนกัน การดูตัวเองเป็นกลางเนี่ยมันดีที่สุด อย่าเพิ่งด่วนผิดด่วนถูก เอาสุขเอาทุกข์ สตินี่จะไม่ด่วนรับไม่ด่วนปฏิเสธ เป็นกลาง ๆ ก็หัดเป็นกลาง ๆ แม้แต่ทำกรรมฐาน ก็ดูเฉย ๆ ดูซื่อ ๆ อย่าไปเอาผิดเอาถูก อย่าใส่ใจจนเคร่งเครียด อย่าทำเล่นจนอ่อนแอ ให้พอดี ๆ ความอ่อนแอ ความเคร่งเครียด เข้มแข็งก็(...) ถ้าอ่อนก็อ่อนเหมือนไหม ถ้าแข็งแข็งเหมือนเพชร ที่ควรแข็ง ในที่ควรแข็งเอาอ่อนสู้ก็ได้ ในที่ควรอ่อนเอาความอ่อนสู้ก็ได้ เอาความแข็งสู้ได้ รู้จักกาลเทศะ เกี่ยวกับการสอนตัวเองก็เหมือนกัน บางทีจริงจังเกินไป ก็หมดศรัทธา
มีพระอรหันต์สมัยก่อน เคร่งครัดเกินไป ทุ่มเทเกินไป ความเพียรไม่ได้ประโยชน์ หมดศรัทธาเลย หมดศรัทธาเลย ไม่เอา พระพุทธเจ้าทรงแก้ไขใหม่ เราดูดี ๆ อะไรที่เราทำแล้วมันเป็นยังไง ประเมินเล่น ๆ มีศรัทธาขนาดไหน ขนาดที่ทำให้ขาดความเลื่อมใสยังมีศรัทธาอยู่ไหม เราเป็นยังไง บางทีการตัดสินใจ เอาอันอื่นมากำหนดตัวเอง ไม่สอนตรงนั้น บางทีเราหมดศรัทธา อาจจะสร้างศรัทธาขึ้นมาก็ได้
บางทีเรามีศรัทธามาก อาจจะทำพอดีพอดีก็ได้ มีเหมือนกันสมัยปฏิบัติ เกิดปีติมาก ไม่รู้จักหลับจักนอน ไม่รู้จักกินข้าว กลืนน้ำลายตัวเองก็แซ๊บแซ่บอิ่ม ปีติ ปัสสัทธิเนี่ย กลืนน้ำลายตัวเองอิ้มอิ่ม เวลาจะฉันบิณฑบาต เดินไปกุฏิ ไปกุฏิอุ้มบาตรเดินไป ยังไม่ถึงที่นั่งมันวูบเข้าไป อยากวางบาตรอยากนั่งสร้างจังหวะ ต้องอดเอาไว้ ต้องอดเอาไว้ รอก่อน รอก่อน ถ้านั่งปั๊บมันเอาเลย จ้ำมันลงไป ไม่อยากกินข้าวกินน้ำ ไม่อยากกินข้าวกินน้ำมันทำไง ถ้าเราไม่กินจริง ๆ ก็ได้ อิ่มอกอิ่มใจ อะไรจะเกิดขึ้น เรามีเพื่อนมีมิตร เราไม่ไปฉันข้าว เพื่อนเราจะว่ายังไง สองวันไม่ไปสามวันไม่ไป เดี๋ยวเพื่อนก็ต้องไปดู โจษกันถามกันว่า อ้าว! เราก็ต้องอดเอา อุตส่าห์บังคับตัวเองไปฉันพอเพื่อนเห็นหน้าเพื่อน ฉันก็ไม่ต้องไปยื้ออะไรมากมาย เอาเฉพาะถ้วยที่ใกล้ ๆ เรา ฉันเล่น ๆ ไป บางทีมันก็ศรัทธามากเกินไป บางทีมันก็ติดสมาธิ เวลาเปิดห้องเข้าไปมันจะวูบเข้าไปล่ะทีนี้ สงบเข้าไปก่อนยังไม่ได้นั่งเลย ก็ต้องถอยไว้ ถอยเอาไว้ก่อน ไม่ใช่ทำตามศรัทธา ทำตามอาการที่มันชวน อาการที่มันชวน หยุดไว้ก่อน บางทีมันรู้ เอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปตามความรู้ รู้โน่นรู้นี่ รู้แล้วก็มันอยากจะพูด ก็ไม่พูดก่อน เอาไว้ก่อน บางทีพอมันรู้อะไรพูดไปก็กลายเป็นวิปัสสนู กลายเป็นวิปลาสไปเลย เป็นจินตาญาณไป
บางทีความทุกข์ก็กลายเป็นจริตไป ความโกรธกลายเป็นจริตไป ได้ประโยชน์จากความทุกข์ ได้ประโยชน์จากความโกรธ ได้ประโยชน์จากความรู้ ได้ประโยชน์จากความไม่รู้ เอามันทุกอย่าง ถ้าเรามีสติ ดูสนุก ๆ ไป มันแสดงแล้วเราก็ดูไป ถ้าว่ามันแสดง มันจึงเป็นการศึกษา ถ้ามันแสดงไม่ศึกษาดู มันก็ไม่ใช่การศึกษา ไม่ใช่การปฏิบัติ สิ่งใดไม่แสดงในตัวเรา ก็ศึกษามันดู อาจจะได้บทเรียนเรื่อยไป บางอย่างแสดงไม่เท่าไหร่ มันก็หมดรสหมดชาติ ความสุขก็หมดรสหมดชาติ ความทุกข์หมดรสหมดชาติ มีแต่ความรู้ ถ้ามันแสดง เราก็เป็นไปตามฉากที่แสดง ความสุขก็มีรสแห่งความสุข ความทุกข์มีรสแห่งความทุกข์ มันก็แสดงอยู่เรื่อย
อันความสุขความทุกข์ ความโกรธ ความโลภ ความหลง เราจึงอย่าให้ค่ามัน รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ ภาวะที่รู้ซื่อ ๆ เนี่ย มันเป็นรสพระธรรม ภาวะที่เป็นผู้รู้ ไม่ใช่รสพระธรรม ภาวะที่เป็นผู้หลงไม่ใช่รสพระธรรม รสพระธรรมเป็นภาวะที่รู้ซื่อ ๆ รู้บริสุทธิ์ นี่คือรสพระธรรม ชนะรสทั้งปวง มีรสเดียวเท่านี้ ไม่ใช่ความสุขเป็นรสอันหนึ่ง ความทุกข์เป็นรสอันหนึ่ง ความรัก ความชัง ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นรสอันหนึ่ง ความสงบเป็นรสอันหนึ่ง ความฟุ้งซ่านเป็นรสหนึ่ง ไม่ใช่ ความฟุ้งซ่านก็รู้ ความสงบก็รู้ มันรู้ก็รู้เนี่ย ไปทางนี้เลย มันจะตรง มันจะด่วน ฟรีเวย์ ทางฟรีเวย์ ทางด่วนฟรีเวย์ ผ่านได้ตลอดนะ ถ้าจะบอกก็บอกว่า ที่นี่ไม่มีทุกข์นะ ที่นี่ไม่มีคนโกรธนะ ถ้าจะบอกนะ ที่นี่มีแต่คนมีสตินะ ก็บอกตลอด ที่นี่ไม่มีคนโกรธนะ ถ้าเราโกรธก็อายเพื่อน ที่นี่ไม่มีคนทุกข์นะ ถ้าเราทุกข์ก็อายเพื่อน ที่นี่ไม่มีคนกลัวผี ถ้าเรากลัวผีก็อายเพื่อน
หลวงตาเคยเอาเรื่องนี้มาด่าตัวเอง ผีหลอก ผีหลอก มันหลอก มันเหม็น นอนอยู่กระต๊อบ เหม็น มันกลิ้งมาหาเรา หลุมฝังศพอยู่ใกล้ ๆ เวลาเอาศพไปลงหลุมเราก็ดู ก็ขอไม้หีบศพมาปูกระดาน มาทำกระดานปู ก็ยังมีกลิ่นเหม็น และก็ผีหลอกก็กลิ้งมาหาเรา (หัวเราะ) มันกลิ้งมาน่ะ เรานั่งนี่มันกลิ้งมา หลุมฝังศพน่ะ ศพที่เทลงหลุมน่ะ มันกลิ้งมาหาหลวงพ่อ เราก็มีคาถา ว่าคาถาขึ้น ศพมันก็กลิ้งออกไป สู้กันอยู่นั่นแหละ เล่าคาถา ศพกลิ้งออกไป ถ้าไม่เล่าคาถา เหนื่อย ศพก็กลิ้งเข้ามา ก็สู้กันอยู่ บางทีก็ มาใกล้ ๆ ก็เหม็น เล่าคาถาออกไป ศพมันกลิ้งออกหนีก็หายเหม็นด้วย เอายังไงบัดหนิ ตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมายังเหม็นอยู่อย่างเนี่ยนะ เหม็นจนว่าต้องเอาจีวรปิดปาก อ้าว! ขนาดนี่หรือผีเนี่ย เรียกว่าผีตายโหง เขาฆ่ามันตายมันขนาดเนี่ยนะ ถ้าเราจะกลัวผีไปหาเพื่อน พระที่นี่เขาไม่กลัวผี เณรน้อย ๆ ก็อยู่คนเดียว องค์นู้นอยู่ตรงนู้นองค์นี้อยู่นี่ เณรน้อยอยู่ตรงนั้น แม่ชีอยู่ตรงนู่น เขาก็อยู่คนเดียว ถ้าเรากลัวผีไปนะ เราไปบอกว่า ผีหลอกผีหลอก เราก็อายเขาสิ (...) (หัวเราะ) เอ้ย! ที่นี่เขาไม่กลัวผีนะ ผีที่ไหนล่ะ มาจะล้อเล่นหรือเปล่า หายวับเลย ความเหม็นก็หายไปเลย (หัวเราะ) เพราะนั้นเขาไม่กลัวผี เราไปกลัวทำไม อายเขา เขาไม่โกรธ เราไปโกรธทำไม อายเขา เขาไม่ทุกข์ เราไปทุกข์ทำไม อายเขา จบซะเรื่องพวกนี้ อย่าให้มีในเรา ถ้ามีอะไรเช็คเอา ใครมีความโกรธหยุดซะ ใครมีความทุกข์หยุดซะ มีแต่ความรู้สึกตัว ยกมือสร้างจังหวะ ถ้ามันโกรธก็เอานี้เลย ถ้ามันทุกข์ก็เอานี่เลย รู้สึกตัว