แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เปิดธรรมะสู่กันฟัง พูดเรื่องเราทำกันอยู่นี่แหละ เวลานี้เรากำลังศึกษาธรรมะ เอากายเป็นตำรา เอาใจเป็นตำรา เอาสติเป็นนักศึกษา ในกายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้ มันมีอะไรอยู่ที่นี่เยอะแยะ ความทุกข์ความดับทุกข์ อะไรต่าง ๆ ให้รู้จักช่องทางที่ถูกต้อง อย่าใช้ชีวิตผิด ๆ เราต้องฝึกหัดเตือนตนสอนตนโดยการเจริญสติ สตินี่เหมือนเป็นระดับน้ำเที่ยงของจิต จิตต้องมีระดับเที่ยง ระดับมาตรฐาน ถ้าไม่สอนมัน ไม่ฝึกหัด ก็ไม่มีมาตรฐานของจิต ฟู ๆ แฟบ ๆ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีมาตรฐาน ใช้ไม่ได้ ต้องให้ได้ระดับพอสมควร
เมื่อจิตได้มาตรฐานแล้ว มันก็เป็นมิตรภาพ มีคุณภาพ มิตรภาพ เหมือนถนนจากเมืองพลไปหาขอนแก่น ระดับถือแก้วน้ำไม่กระเพื่อมเลย แต่ตรงนั้นเขากำกับความเร็ว เพราะมันทำให้คนหลงได้ อันนั้นคือถนนหนทาง ชีวิตของเราก็ควรจะมีทางเดินให้มันราบเรียบ อย่าฟู ๆ แฟบ ๆ คุ้มร้ายคุ้มดี ไม่มีอะไร ไม่มีคลื่น ชีวิตไม่มีคลื่น แม้นมีนินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่มีคลื่นของจิตได้ถ้าเราหัดดี ๆ แต่ถ้าเราหัดคอยจะรับอะไรหลายอย่าง กระทบกระเทือนนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เปราะบาง จิตใจของเราถ้าเราไม่ฝึกหัด คอยจะเปราะบาง เป็นอะไรได้ทั้งนั้น ความรักความชัง ก็เป็นได้ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็เป็นได้ วิตกกังวล เศร้าหมอง คร่ำเครียด อะไรได้ทั้งนั้น จิตน่ะ สารพัดสารเพ สำส่อน เถื่อน จิตเถื่อน เหมือนกับคนเถื่อน ไม่มีขอบเขต เพราะว่าคนเรานี้มันมีจิตที่เรียกว่า “ วิญญาณ” จิตมีความรู้อะไรได้
เราจึงต้องฝึกหัด ให้มันต้องไม่เป็นอะไรเหล่านั้น อยากจะพูดคำเดียวเท่านั้น คือ “ไม่มีไม่เป็นอะไร” สภาพของจิตน่ะ ไม่ต้องเป็น ไม่ต้องเป็นอะไร รับอะไรทั้งนั้น แต่การฝึกหัดจะต้องผ่านความมีความเป็นอะไรมากมาย จึงจะไปถึงภาวะที่ไม่มีไม่เป็นอะไรเลย เหมือนมาตรฐานรักษาได้จิตใจเนี่ย จนได้เกิดพระพุทธเจ้า เกิดมรรคผลนิพพานขึ้นมา เพราะจิตใจของคนเราไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มันฝึกได้สอนได้ อย่าปล่อยปละละเลย เอาประโยชน์จากตรงนี้ จะได้อาศัย ให้เป็นส่วนรวม เมื่อเราฝึก ทุกคนฝึกหัดจิตใจของตน ก็เกิดเป็นส่วนรวม ทั่วโลกไปเลย ถ้าเราไม่ฝึกก็เป็นโทษของส่วนรวมอีกเหมือนกัน จึงมีศาสนา มีคำสอน มีวัฒนธรรม มีประเพณี ที่คอยเป็นรั้วล้อมไว้ ไม่ลุอำนาจของรั้ว ขอบเขต ของกาย ของใจ ของวาจา มันต้องมีรั้ว คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา
ผู้ใดรู้จักสำรวมจิต ผู้นั้นก็จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร ผู้ใดมีสติทุกเมื่อ มัจจุราชก็ตามไม่ทัน จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความปกติมาสู่ตน นี่เราอาศัยมันได้มั้ยจิตน่ะ
ถ้าเราไม่ฝึกนะ คอยจะทิ่มแทงตนเองอยู่ เรื่องเก่า ๆ ย้อนคิด ย้ำคิด โดยเฉพาะเรื่องความทุกข์ ย้อนคิดเก่ง ไม่ลอยแพ ไม่ลอยบาป ลอยแพไปเลย อย่าให้มันมา จรมา ไม่ต้อนรับ ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นอาคันตุกะ จรมาเป็นครั้งเป็นคราว เพราะอะไร เพราะเรารับ มาทีไรก็ยอมรับ เป็นสุขก็เป็นสุขไป ยอมรับแล้ว เป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ไป ยอมรับแล้ว โกรธก็รับโกรธไป หลงก็รับความหลงไป มันก็มาเรื่อย ถ้าเรามีสติเป็นเจ้าของ เจ้าบ้านเจ้าเรือน มันก็มีสิทธิไม่ต้องรับอะไรได้ มันก็ปกติอยู่เป็นนิจ ย่อมไม่หวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลน เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด ผู้ฝึกตนดีแล้วไม่หวั่นไหวเพราะนินทา สรรเสริญ เพราะโลกมันมีรสชาติ ในโลกนี่มันมีรสชาติ ถ้าไม่ฝึกตนเองเนี่ย คอยที่จะกระทบกระเทือน เป็นปัญหาต่อตนเองและคนอื่น ต้องขยันเรื่องนี้กันบ้าง ลองดู กระตือรือร้น ขวนขวาย มีผู้ทำ มีผู้เป็นตัวอย่าง มีผู้พูดให้ฟัง มีผู้ทำให้ดู มีคนมาอยู่ ยังไงเราก็อย่าไปอยู่ในที่คับแคบ โดยที่ไม่ศึกษาเรื่องอะไร เปิดเผยตัวเองดู
การเจริญสติมันเปิดเผยตัวเอง แล้วสตินี่ก็หงายของคว่ำขึ้นมา ปิดของที่เปิด เปิดของที่ปิดออก ได้เห็น เห็นความหลง เห็นความคิด เห็นอาการต่าง ๆ มากมาย สติก็ผ่านเอา ผ่านเอา ผ่านไป ผ่านไป อะไรมาก็รู้ อะไรมาก็รู้ มาทัศนศึกษา ครบถ้วนทุกรูปแบบ ทั้งเห็น ทั้งรู้ ทั้งสัมผัส ทั้งรู้รสรู้ชาติของอะไรต่าง ๆ ความหลงเป็นไง ความรู้เป็นไง ความผิดเป็นไง ความถูกเป็นไง ความรักความชัง ดีใจเสียใจเป็นอย่างไร ตอบได้ทั้งนั้น ในการศึกษา มันศึกษาจริง มันถลุง มันย่อย มาเป็นหลงเป็นรู้ได้ มาเป็นทุกข์มาเป็นรู้ได้ มาเป็นโกรธมาเป็นรู้ได้ ย่อย เอาแต่เนื้อ ไม่เอาเป็นดุ้น เห็นเป็นรูปเป็นนาม ย่อยออก เห็นกองขันธ์ย่อยออก เห็นกองธาตุย่อยออก เห็นอาการย่อยออก ความร้อน ความหนาว ความหิว ความโกรธ ความเมื่อย ย่อยออก ไม่ใช่ตัวใช่ตนเลยบัดหนิ มันเปิดเผย เปิดเผยออกไป แล้วหลุดไป พ้นไป เป็นทางไป บางทีก็ไม่พบทาง ก็อย่าไปยอมตรงนั้น มันมีทางตรงที่ไม่เห็นทาง เหมือนเราหลงทาง มันต้องมีทาง เมื่อหลงทางก็ต้องมีทาง ไม่ใช่ทางมันหลงมันหลงไปเรื่อยไป ไม่ใช่ อันความหลงน่ะมันทำให้เกิดความรู้ ชำนาญตรงนั้นด้วย ถ้าเราศึกษาดี ๆ มันบอก ความผิดมันก็บอก ความถูกมันก็บอก จึงเปิดเผย ชีวิตของเรา แล้วไม่มีใครหลอกเราได้ ไม่มีใครทำให้เราหลงได้ ทำให้เราถูกเราผิดได้
ไม่เหมือนการศึกษาทางโลก มันมีเกณฑ์ชี้วัดในตัวเอง เหมือนเกณฑ์วัดอะไรต่าง ๆ ความถูกมันก็เป็นความถูก เสมอไป ใช้ได้ เขามาตรวจสภาพวัด เขามีเกณฑ์ชี้วัด ที่จะเป็นสิ่งที่ใช้ได้ไหม วัดน่ะ อย่างน้อยต้องมี สามสี่ สอ สะอาด ตรงไหนก็สะอาด พร้อมจะนั่งได้ พร้อมจะใช้ได้ สะดวก เข้าห้องน้ำห้องท่าก็มีน้ำใช้ มีขันใช้ มีความสะอาด สะดวก สะอาด ใช้ได้ สงบ ไม่วุ่นวาย มีแหล่งการศึกษาเรียนรู้ศึกษา มีสติ มันก็ติด มันก็ซึมซับเอาได้ ถ้าวัดใดมีเกณฑ์ชี้วัดดี ๆมันก็ซึมซับได้ แล้วก็ไปศึกษา ไม่ใช่มีแต่ความวุ่นวาย มันมีการศึกษา
เหมือนสมัยหนึ่ง ไปสอนธรรมะที่จังหวัดชัยภูมิ ปี ๕๑๔ (พ.ศ. ๒๕๑๔) ไปเปิดปฏิบัติธรรมอยู่วัดเจ้าคณะจังหวัด ก็มีนายกพุทธสมาคม มาปฏิบัติ มีผู้หลักผู้ใหญ่มา เราก็พูดความจริง อะไรผิดอะไรถูก มาชวนกันดูตัวเอง มีนายกพุทธสมาคมน่ะสูบบุหรี่ เราก็ว่าดีมั้ยสูบบุหรี่ มันก็ไม่ดี ลูกเต้าก็ห้าม เราจะให้คนอื่นห้ามเราหรือจะห้ามเราเอง สูบบุหรี่มันตรงไหนที่มันเป็นเหตุ เราสูบมันจึงติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ เพราะสูบมันจึงติด เพราะติดมันจึงอยาก เพราะอยากมันจึงสูบ เพราะไม่สูบก็ไม่ติด เพราะไม่ติดก็ไม่อยาก เพราะไม่อยากก็ไม่สูบ ตรงไหน มันเป็นกิเลสกรรมวิบากตรงไหน เรารู้ว่ากิเลสกรรมวิบากมันคือตรงไหนกัน ถ้าศึกษา มันจะเห็นเงื่อนไข กิเลสกรรมวิบาก อยู่ในการสูบบุหรี่ อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นกรรม อะไรเป็นวิบาก สูบเป็นกรรม ติดเป็นกิเลส อยากเป็นวิบาก เราจะตัดกรรมเหล่านี้มันเป็นวงล้อตรงนี้ตัดตรงไหน ชวนจริง ๆ เพราะเป็นปัญญาชน ไม่ใช่อ้อมแอ้ม อะไรเป็นกรรม อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นวิบาก ก็เห็นอยู่แล้ว การสูบเป็นกรรม ตัดกรรมกับตัดกรรมนี่ตัดตรงไหน ก็ตัดตรงไม่สูบ เพราะไม่สูบก็ไม่ติด เพราะไม่ติดก็ไม่อยาก เพราะไม่อยากก็ไม่สูบก็เป็นไปเอง แล้วจะตัดมั้ย ตัดกรรมตรงนี้ ถ้าตัดก็ตัดเดี๋ยวนี้ เอาบุหรี่มาให้เดี๋ยวนี้ (หัวเราะ) อาจารย์สัมผัสก็มีไฟแช็กอย่างดีราคา ๘๐๐ บาท มีไม้ขีดแล้วก็บุหรี่ด้วย ขอ มานี่ ตัดเดี๋ยวนี้ กล้ามั้ย ยกมาให้เลย ทำประวัติไว้ เอาไว้ที่เจ้าคณะจังหวัด นี่ต้องเอากันขนาดนั้น เพราะปัญญาชน พอมาเห็นเราทีไร โอ๊ย! ยกมือไหว้ ดีจริงจริ้ง ดีจริง ๆ ดีจริง ๆ เราพูดกัน พูดกันหมดเปลือก อ้าว! มาวัด ผมมาวัด ผมมาดูวัด ที่มีเกณฑ์อะไรที่ผมจะได้นำไปใช้ที่บ้านผม ผมก็ได้เกณฑ์แล้ว เกณฑ์ชี้วัด ทำให้เราดีขึ้น มันอยู่มาอยู่วัดเนี่ย มันดีขึ้น ผมเลิกสูบบุหรี่ได้เด็ดขาด ถ้าหากวัดไม่มีอะไรที่ศึกษา ไม่ให้ดู ขอพระคุณเจ้าไปดูบ้านผม เราก็คุยเรื่อยไปเลยบัดหนิ (หัวเราะ) ที่ผมมาวัด ผมมาดูความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อศึกษา ถ้าท่านไม่มีอะไรให้ศึกษา ขอนิมนต์พระคุณเจ้าไปดูบ้านผม เพราะบ้านเขาเป็นโรงแรมเลิศนิมิต โรงแรมห้าดาว เขาก็คุยได้
อะไรที่มันต่างเก่าพ้นภาวะเดิมเพราะการศึกษาเนี่ย มันต้องมีแน่นอน เคยหลงมารู้ เคยทุกข์มารู้ เคยผิดมารู้ จนเป็นมาตรฐานของชีวิตเรา ขึ้นมาได้เพราะเราศึกษา มันมีค่ามีคุณมากชีวิตของเราเนี่ย โดยเฉพาะจิตใจเนี่ย มันหัดได้ยอดเยี่ยม ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน จนเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา จากความเป็นคนเป็นมนุษย์ จากความมนุษย์เป็นพระได้ ถ้าเป็นคนเนี่ยก็ คุ้มร้ายคุ้มดี แต่เป็นมนุษย์สูงขึ้นมาหน่อย ถ้าเป็นพระก็ประเสริฐแล้วบัดหนิ ความเป็นพระเป็นอยู่ที่จิตที่ฝึกดี ไม่ใช่ คนมาทำรูปแบบ รูปแบบก็เป็นเพียงสมมติ สมมติสงฆ์ บวชออกจากอุปัชฌาย์อาจารย์ จากโบสถ์ สวดญัตติเข้าไป
“มะนุสโสสิ ปุริโสสิ ภุชิสโสสิ อนะโณสิ นะสิ ราชะภะโฏ อะนุญญาโตสิ มาตาปิตูหิ ปะริปุณณะวีสะติวัสโสสิ ปะริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง กินนาโมสิ”
อุปัชฌาย์ถามเข้าไป จนสามารถให้บวชห่มผ้าได้ แต่เป็นพระเนี่ย เกิดจากพระสัทธรรม พระสงฆ์เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดีเป็นต้น ไม่ใช่เกิดจากอุปัชฌาย์อาจารย์ อันนี้เป็นอันเดียวกัน “สัทธัมมะโช สุปะฏิปัตติคุณาทิยุตโต” ใช่ไหมหลวงพ่อ ว่าดัง ๆ ดูซิ เสียงดี ไม่ดัง เอาดัง ๆ กว่านี้ได้มั้ย (หัวเราะ) นั่น! เอ้า! พอ ๆ ๆ เริงร่ารู้ สอนคนได้ เกิดจากพระสัทธรรม มีการปฏิบัติดีเป็นต้น
ปฏิบัติดี ปฏิบัติยังไง ปฏิบัติตรง ตรงอะไร ตรงต่อความหลง มันหลงตรงเข้าไป อย่าอ้อมแอ้ม มันรู้ทันที มันทุกข์ตรงเข้าไป รู้ทันที ปฏิบัติออกจากทุกข์ เปลี่ยนความหลงเป็นตัวรู้ เปลี่ยนความทุกข์เป็นตัวรู้ มันก็ออกจากทุกข์ได้ สม่ำเสมอ ตรงต่อตัวเอง ตรงต่อการงาน ตรงต่อตรงอื่น ตรงต่อศีล ตรงต่อธรรม ไม่ผิด ความหลงเป็นของไม่ถูกต้อง ความไม่หลงเป็นความถูกต้อง ความทุกข์เป็นความไม่ถูกต้อง ความไม่ทุกข์เป็นความถูกต้อง ความโกรธเป็นความไม่ถูกต้อง ความไม่โกรธเป็นความถูกต้อง ออกจากทุกข์ ถ้าไม่ทำตรงนี้มันไม่ใช่พระสงฆ์ อาจจะตกนรก พระตกนรก ทายกเป็นเปรต อย่างที่เขาว่า เราจึงมีการศึกษากัน นั่นชีวิตของเรา เพื่อเรื่องนี้จริง ๆ
อย่างพระโพธิสัตว์ สิทธัตถะ เกิดมา “เราจะเป็นหนึ่ง” ว่าไปเลย จนพูดว่า “เป็นชาติสุดท้ายของเราไม่มีชาติอื่นอีกแล้ว” ลองดูซิ ลอง เราจะเป็นอะไร มั่นใจขึ้นมา เอ้า! พวกเราก็ ลูกพ่อนี้แม่นี้เราคนหนึ่งละ ว่าอย่างเนี่ย ก็มีความมั่นใจบ้าง โดยเฉพาะมีครูบาอาจารย์สอน หลวงพ่อเทียนก็ท้าทาย มีพระพุทธเจ้าเป็นบรมครู ไม่มีตรงไหนน่าตำหนิติเตียน ศึกษาพุทธประวัติ จากได้บวชเป็นเณร ได้เรียนรู้พุทธประวัติ อ่านพุทธประวัติ โอ้ย! ศรัทธา เราก็มั่นใจ มีเหล่าพระสาวก อย่างน้อยอ่านอนุพุทธประวัติ พระสาวก ๘๐ รูป มีเอตทัคคะในทางใด อ่านประวัติของท่านดู เราก็นำคำสอนท่านมาสอนตัวเอง ไม่มีพ่อ เมื่อสึกออกไป เป็นเณร คนเกียจคร้านมีลักษณะอย่างไร มิตรแท้เป็นลักษณะอย่างไร มิตรเทียมเป็นลักษณะอย่างไร ความสำเร็จมีลักษณะอย่างไร ความฉิบหายมีลักษณะอย่างไร ตระกูลที่ตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะเหตุใด ตระกูลที่ตั้งอยู่นานได้เพราะเหตุใด เราเอามาสอนเรา ฝ่าฟันความทุกข์ยากลำบากได้ ไม่มีพ่อสอน เอาธรรมะมาสอนตัวเอง
คนเกียจคร้านมีลักษณะอย่างไร หนึ่งหมายความว่า หนาวนักไม่ทำการงาน สองหมายความว่า ร้อนนักไม่ทำการงาน สามหมายความว่า หิวนักไม่ทำการงาน เหนื่อยนักไม่ทำการงาน หมายความว่ายังเช้าอยู่ไม่ทำการงาน ถ้าใครอ้างอย่างนี้ ลักษณะนั้นแหละคือคนขี้เกียจ เราก็เอามาสอนตัวเราด้วย (หัวเราะ) เออ! ไม่อ้างอย่างนี้เลย เวลาใดที่ อุ้ย! หนาว เวลาใดร้อน เวลาใดหิว ไม่ทำงานไม่ใช่ ทำไป
ตระกูลที่มั่งคั่งอยู่นานได้เพราะเหตุใด หนึ่งรู้จักซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า มีอะไรบ้าง หลังคาบ้านมันรั่ว คอกวัวคอกควายเป็นยังไง สายขิกสายขอสายเหล็กมันเก่าเปลี่ยนใหม่ อะไรที่ไม่ดีซ่อมแซมขึ้นมา รักษาสมบัติ ทรัพย์ที่ยังไม่มีให้มีขึ้นมา อะไรบ้างไม่มี หาให้มันมีขึ้น ตะกรงตะกร้ากล่องข้าวไม้คาน เครื่องใช้มือสอย จอบเสียมมีไหม หาให้มี ไม่มีไปหาเงินหาทองมาซื้อ ทำนาขายข้าว ก็ทำได้ สิ่งที่หายไปแล้วเอาคืนมา มีดไปไหน เสียมไปไหน ตามหา (กรร)ไกรไปไหน พอดี มันก็ได้คืนมา ถ้าเราไม่หาของที่มันหายไปคืนมา มันก็ฉิบหาย ในบ้านในเรือนต้องเป็นผู้มีศีล อย่าเป็นแร้งคาบมา กาคาบหนี อย่าเล่นการพนัน อย่ากินเหล้าเมายา เราพยายามประคับประคอง มันก็ดี ทีนี้ โอ้ย! คำสอนพระพุทธเจ้านี่ สอนหมดทุกอย่าง สามีภรรยา จะปฏิบัติต่อกันยังไง เรียนมาสมัยเป็นเณรน้อย เอามาใช้ มันก็สำเร็จได้ เราก็ได้หลักฐานอันกฎเกณฑ์ชี้วัดในการใช้ชีวิต มันก็มั่นใจ
ยิ่งมาปฏิบัติธรรมเนี่ย มายกมือสร้างจังหวะหลวงพ่อเทียนสอนเนี่ย โอ้ย! สุดหัวใจเลย สุดหัวใจมาก ๆ เหมือนเก็บเอ้าเก็บเอา เก็บเอา อริยทรัพย์ รู้สึก รู้สึก รู้สึก มันก็ไม่หลง มันก็ โอ้! ดีเหลือเกิน มันก็ขยัน เวลาไปไหนนี่ห่วงแต่งานนี้ ไม่อยากไปไหน นั่งปฏิบัติอยู่กุฏิตัวเอง เวลาใดฉันอาหารไปกลับกุฏิวางบาตรลงนั่งสร้างจังหวะ โอ้ย! สุดหัวใจ สุดหัวใจ โลกนี้เราอยู่คนเดียว เวลาใดวันไหนวันใดตื่นก่อนหมู่นี่ โอ้ย! ชื่นใจ เวลาใดวันไหนตื่นทีหลังเขา จะมาชี้โทษตัวเอง ตื่นขึ้นมาไม่มีนาฬิกาเหมือนทุกวันนี้ มองใบไม้ ถ้าใบไม้(...) เออ! ตีสามแล้ว เป็นมันน่ะ มองออกไปข้างนอกกุฏิ น้ำค้างตกลง ยก ต๊ก ต๊ก เสียงน้ำค้าง เมืองเลยมีน้ำค้างมั้ย น้ำค้างเยอะ น้ำค้างมันตกจากใบไม้ มันหยอดลงจากใบไม้ข้างบนตกมาใส่ใบตองข้างล่าง มันก็ดัง ป๊อก ป๊อก ป๊อก เออ! ได้เวลาตื่น บางทีได้ยินเสียงรองเท้าของกุฏิข้าง ๆ ดัง แต๊บ แต๊บ โอ้ย! ไม่ได้แล้วบัดหนิ เราตื่นขึ้นมาเขาเดิน ถ้าตะเกียงน้ำมัน มองไปเห็นแสงตะเกียง ผ่าน้ำค้างสลัว ๆ โอ้ย! รู้สึกว่า เฆี่ยน ๆ ตัวเอง ไม่ประมาทในสิ่งที่ไม่ประมาท ไปไหนก็ยัง รู้สึก มันก็เป็นกอบเป็นกำขึ้นมา
การปฏิบัติธรรม มันมีเกณฑ์ในตัว ล่วงพ้นภาวะเก่าไป ของจริงต้องเป็นอย่างนี้ นะ ไม่ใช่ว่า ไม่มีอะไรเลย งม ๆ ซาว ๆ (งมไปเรื่อยยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง) ไม่ใช่อย่างนั้น สร้างสติมันก็มีสตินี่ พลิกมือขึ้นรู้สึก ยกมือขึ้นรู้สึกน่ะ มันก็ไม่มีหลงน่ะ พอมีสติความหลงก็ไม่มีน่ะ มันก็ตรงกันพอดีเลย นี่จึงมี มีของจริงอย่างเนี่ย ของไม่จริงก็เห็นนั้นน่ะ ความไม่เที่ยงมันก็จริงแบบความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ก็จริงแบบความเป็นทุกข์ ไม่จริงแบบความไม่เป็นทุกข์ เห็น เห็นเป็นคู่ ๆ ความหลงมันมีอยู่บนความไม่หลง เห็นเป็นคู่ ๆ ไม่จนเลย นี่คือการปฏิบัติธรรม นั้นเราไม่ต้องเชื่อใครแล้ว ลองดู พระพุทธเจ้าสอนให้ทำดู ให้ดู ให้เห็นกับตาเราเอง เพียงแต่ได้ยินอย่าไปเชื่อ ให้ดูก่อน พอดูก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้สัมผัสดูก่อน ให้เห็นกับหู ได้ดูกับตา ได้สัมผัสด้วยมือ จึงจะมั่นใจ เกิดศรัทธาขึ้นมา ไม่ท้อถอย อย่างนี้เรียกปฏิบัติธรรม