แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เป็นกัลยาณมิตรกัน อาจารย์ไพศาลก็อยู่นี่ อาจารย์ทองขาล หลวงพ่อกรม อาจารย์ทรงศิลป์ เพื่อนสหธรรมิก แม่ชี ญาติโยม แล้วก็มีหลักสูตร ที่กายที่ใจ นอกจากเราเป็นมิตรเป็นเพื่อนกันแล้ว ทุกคนก็มีกายมีใจ ครูอาจารย์ก็มีกายมีใจ เราผู้ศึกษาก็มีกายมีใจ ได้เป็นมาแล้ว ไม่ใช่เฉพาะเราอยู่ที่นี่ เวลานี้กาลนี้ หลายที่ก็ทำวัตรสวดมนต์แสดงธรรมเหมือนกัน ตามวัดวาอารามต่าง ๆ กำลังเทศน์กำลังสอนกันอยู่ ไม่ใช่เราอย่างเดียว มีทั่ว ๆ ไป แล้วก็ นอกจากกาลเวลาที่กิจวัตรวิธีวัตรนี้แล้ว เรายังอาศัยการกระทำของเราอย่างต่อเนื่อง มีกาย มีใจ มีสติ อ่านหลักสูตร สูตรก็คือกายคือใจ เอาสติไปอ่าน ไปเห็นเหมือนกับท่องจำ
การท่องจำของการปฏิบัติคือ ให้รู้สึกตัวอยู่ไปในกาย เหมือนเราท่องหนังสือ หนังสือมันก็มีแต่เราต้องไปดูหนังสือ ดูเฉย ๆ ไม่ได้ต้องหัดว่าตามภาษา เอวัมเม สุตังฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ตัตฺระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิฯ ว่าไปทีแรกมันไม่ติด แต่ว่าไปว่าไปหลายรอบมันก็ติดปาก ไม่ต้องไปดูหนังสือ มันก็ว่าไปได้เพราะว่ามันติดเป็น
การเจริญสติไปในกายก็เช่นเดียวกันอาศัยกายเคลื่อนไหว จะเป็นลมหายใจก็ได้ จะเป็นอิริยาบถยกมือเคลื่อนไหวก็ได้ จะเป็นการเดินจงกรมก็ได้ อิริยาบถหยาบ ๆ ยืนเดินนั่งนอน หัดรู้ แต่บางทีก็มีเจตนา บางทีไม่ได้เจตนา เช่นมันคิดขึ้นมาไม่ได้เจตนาก็รู้ อย่าให้คิดฟรี ๆ อย่าให้หลงฟรี ๆ อย่าให้ทุกข์ฟรี ๆ อย่าให้โกรธฟรี ๆ หัดรู้ หัดเห็น อย่าให้มันผ่านไปเฉย ๆ ใช้ประโยชน์จากอาการที่มันเกิดขึ้นที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นนะ เก็บตก เขาเรียกว่าเก็บตก ตรงนั้นก็ดีเหมือนกัน นอกจากเราเจตนาที่จะตั้งสติไว้กับลมหายใจเข้าออก หรือตั้งสติไว้กับการเคลื่อนไหวก็ยิ่งดี มันจะมีการรอบ รู้รอบ ๆ ถ้าไม่หัดมันก็ไม่รอบ มันผ่านไปเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์
ในพระสูตรก็มีอยู่แล้วว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่กับเรานั่น มันก็ไม่ได้อยู่ในตำรา ไม่ต้องไปอ่านเหมือนกับการท่องจำ แต่สติมันจะไปอ่านมันจะติด เห็นกายเคลื่อนไหวทีใดก็รู้ นั่นแหละ ภาวะที่รู้มันติด มันจุ่ม มันต่อ มันไม่เหมือนท่องจำ การท่องจำมันยังเป็นภาษาที่อยู่ภายนอก พหิทธาธรรม ธรรมภายนอก ๆ ยังใช้ไม่ได้ อัชฌัตตาธรรมคือธรรมภายใน มันใช้ได้ เมื่อมีสติไปในกายมันใช้ได้ มันก็รู้แล้ว เวลามันสุขมันทุกข์มันก็รู้ ภาวะที่รู้มันก็ใช้ได้ ภาวะที่เป็นยังใช้ไม่ได้ เป็นสุขเป็นทุกข์ยังใช้ไม่ได้ เหมือนภาษาท่องจำว่า สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว มันยังใช้ไม่ได้ ใคร ๆ ก็ว่าได้ แต่มันยังใช้ไม่ได้ ความโกรธก็รู้ ความทุกข์ก็รู้ แต่เวลามันโกรธมันเป็นผู้โกรธ ยังใช้ไม่ได้ ถ้ายังทุกข์ยังเป็นผู้ทุกข์อยู่มันใช้ไม่ได้ ให้เห็นมันทุกข์จึงจะใช้ได้ ไม่เป็นผู้ทุกข์ใช้ได้ หัดใช้ ให้มันใช้ได้ สิ่งที่ผิดทำให้มันดีมันก็ดีได้ สิ่งที่เสียหายทรุดโทรมทำให้ดี มันก็ดีมาได้ ในกายในใจเรานี้อันที่เป็นธรรมมันซ่อมได้มันดีได้ อกุศลทำให้เป็นกุศลได้ อกุศลคือบาป เปลี่ยนบาปให้เป็นกุศลที่ให้มันไม่บาป ไม่ทุกข์ อกุศลคือมันทุกข์ เปลี่ยนอกุศลให้เป็นกุศลคือไม่ทุกข์ เห็นทุกข์ไม่ทุกข์พ้นจากทุกข์ นี่มันใช้ได้อย่างนี้ชีวิตเรา มันจึงเป็นสัตว์ประเสริฐ เราก็พ้นจากความหลงนี่แหละจึงมีธรรมะ พ้นจากความทุกข์ พ้นจากความโกรธ พ้นจากความโลภ มันจึงมีธรรมเกิดขึ้น ถ้ายังไม่พ้น ยังไม่มีธรรมที่เป็นกุศล เป็นแต่อกุศล เมื่อไหร่เราจะเปลี่ยนสักที จะอยู่จนตายอย่างนั่นเถอะ เราก็ต้องเปลี่ยนบ้าง มันก็มีอยู่ ความหลงก็มีอยู่ ลองดูว่าจะมีความรู้สึกจะเห็นตัวหลงนี่ ต่อหน้าต่อตา ภาวะที่หลงมันเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ไปซ่อนไปค้นหาที่ไหน
เหมือนตลาดนัดของสรรพสิ่งถ้ามีสติไปในกายแล้ว กายนี้เป็นตลาดนัด กุศล อกุศล ใจก็เป็นตลาดนัด กุศล อกุศล หาไม่ยาก เพียงแต่เรามีสติดูเนี่ย ก็ตอบเอาเอง เห็นเอาเอง พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนี้ ทำเอาเอง ถ้าท่านหลงท่านก็ทำเอาเองให้เป็นภาวะที่ไม่หลง พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนการกระทำเป็นหน้าที่ของภิกษุทั้งหลาย แม่ชีทั้งหลาย ญาติโยมทั้งหลาย ภิกษุแปลว่าผู้เห็นภัย ถ้าไม่เห็นภัยยังไม่พ้นภัย ถ้าใครเป็นผู้เห็นภัยผู้นั้นเรียกว่าเป็นภิกษุ เห็นความหลงว่ามันไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง อันนี้เรียกว่าเห็นภัยพ้นจากภัย เห็นความทุกข์ไม่ถูกต้อง ความไม่ทุกข์ถูกต้อง เรียกว่าพ้นภัย ใครเห็นภัยอย่างนี้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ใครพ้นไปอย่างนี้ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเห็นจึงพ้น ถ้าไม่เห็นมันไม่พ้น ไม่ได้ปฏิเสธ ถ้ามีสติมันจะเป็นการศึกษา ถลุงย่อย ได้บทเรียนได้ประสบการณ์ อย่างนี้ไม่น่าจะขี้เกียจไม่น่าจะต่อรองอะไร ถ้าไม่รับผิดชอบ ถ้าไม่เชื่ออย่างนี้ก็เท่ากับทำลายตัวเอง มันมีอยู่ในตัวเรานี่ ถ้าจะไม่เชื่อก็ไม่เชื่อตัวเอง ถ้าไม่เชื่อตัวเองก็ไม่มีค่าอะไร
ชีวิตเรา เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้ ฤกษ์งามยามดี โชคชะตาราศี อันนั้นใช้ไม่ได้เลย ไม่มีความสำเร็จ ถ้าไม่มีการกระทำให้เกิดขึ้นเสียแล้ว จึงมีกรรมฐานคือการกระทำแบบนี้ขึ้นมา แล้วเราก็ช่วยกันไม่ได้จริง ๆ แต่เป็นมิตรเป็นเพื่อนกันได้ บอกกันได้ ชี้ทางกันได้ ชวนมาทางนี้อย่าไปโน้น อย่างนี้บอกได้ แต่ถ้าไม่หัดก็คนที่ถูกสอนก็ทำไม่เป็น คนที่ถูกบอกก็ทำไม่เป็น ถ้าคนที่ทำอยู่ลองบอกเขาก็ทำเป็น ถ้าไม่ทำเมื่อบอกเฉย ๆ มันก็ทำไม่เป็น อะไรก็เป็นอย่างนี้ เราจึงหัดสิ่งที่ได้ยินมา สิ่งที่เราได้ยินก็มีอยู่กับเรานี่แล้ว ถ้าตรงไหนที่ได้ยินมา เช่น มีสติไปในกาย มีสติไปในกาย เราก็ทำอยู่ สิ่งที่เราได้ยินเราได้ทำ สิ่งที่เราได้ทำเราได้ยิน อันนี้ก็เรียกว่ากัลยาณมิตร จึงจำเป็นต้องมี เรียนตามพ่อ ก่อตามครู มีผู้สอน มีผู้ทำตาม มันจะไม่เสียเวลา ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าด้นเดาหาเอา
เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชเมื่อแรกตั้ง 6 ปี ไม่มีใครชี้แจงเรื่องนี้ ชี้ไปเรื่องอื่น จนมาค้นได้จากกายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบ มีจิตมีใจนี้น่ะ ว่ามีสติเห็นกายอยู่เป็นประจำ อาตาปี สัมปชาโน สติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทดีมะนัสสังฯ เวลามันเกิดอะไรขึ้นที่กายถอนออกมาให้เป็นภาวะที่รู้ มันจึงมีอะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายเป็นอะไรต่าง ๆ เป็นสุขเป็นทุกข์เรียกว่าเวทนา เป็นร้อนเป็นหนาว เป็นปวดเป็นเมื่อย นั่นก็ให้เห็น อย่าเป็น เห็นเวทนาสักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั่นนะ เป็นสักแต่ว่า เป็นอาการที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนอยู่ตรงนั้น ถอนออกมา ให้เห็น อย่าเป็น แต่ก่อนมีตัวมีตนอยู่ในกาย มีตัวมีตนอยู่ในสุข มีตัวมีตนอยู่ในทุกข์ มีตัวมีตนอยู่ในความพอใจ มีตัวมีตนอยู่ในความไม่พอใจ เป็นอย่างนั้นมานานแสนนานในสัตว์ในโลกนี้ อันนั้นอันเป็นสุขเป็นทุกข์เรียกว่าโลก โลกมันเป็นอย่างนั้น รสของโลกเป็นอย่างนั้น มีรสชาติ สุขก็เป็นรสชาติ ทุกข์ก็เป็นรสชาติ พอใจไม่พอใจเป็นรสเป็นชาติของโลก สัตว์โลกติดอยู่ในนี้ไปไม่ได้ ออกจากโลกไม่ได้ ชีวิตไปห้อยไปแขวนกับสุขกับทุกข์ เอากายเอาใจไว้ให้เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็เลยผิด ไม่ได้เห็น ให้เห็นอย่างนี้ สักแต่ว่าน่ะ มันก็เป็นอย่างนี้ เบิกทางไป เซอร์เวย์ (survey)ไป
ทีแรกก็ทวนกระแสสักหน่อย มันจะเป็นง่ายจะเห็นยากสักหน่อย แต่การเห็นนี่มีแสงริบหรี่ แต่ตามไปเถอะมันจะสว่างไป มันไม่มากทีแรกนะ แต่ตามแสงนั่นแหละไป ภาวะที่เห็นนั่นแหละมันเป็นแสงสว่างเป็นกระแสเป็นนิมิต ผู้ที่เจริญสติจะได้กระแสแห่งนิพพานคือมันเห็นอย่างนี้ ภาวะที่รู้มันก็มีสตินั่นแหละกระแสแล้วล่ะ เป็นทางไปแล้ว ให้เห็นนั่นนะเป็นทางไปแล้ว เห็นกระแสแห่งพระนิพพานเป็นกระแสน้อย ๆ ไป เวลามันหลงเห็นมันหลงเอาไปเถอะ เรามาสร้างภาวะที่รู้ขึ้นมาอย่าไปให้เหตุให้ผล ทำไมมันจึงหลง ทำไมมันจึงทุกข์ อย่ามีทำไม นักปฏิบัตินักเจริญสติ ไม่มีคำว่าทำไม ภาษาไทยศัพท์นี้ลบออกได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปใช้เลย มีแต่เห็น “เป็นเช่นนั้นเอง” “ไม่เป็นไร” “ช่างหัวมัน” จะเกิดกับตัวเราก็ตาม จะเกิดกับคนอื่นก็ตาม สิ่งอื่นก็ตาม มันจะได้นิสัยใหม่ ของยากกลายเป็นของง่าย ถ้าไม่ไหว ๆ มันจะยาก ถ้าไม่เป็นไรมันจะง่าย มันจะเบากว่าคำว่าไม่ไหว นี่เรียกว่านิสัย
เยอะแยะเครื่องมือที่ทำให้หลุดพ้น เราอย่าจนหามาในชีวิตเรานี้ เวลามันทุกข์ก็อย่าเป็นผู้ทุกข์ เห็นมันทุกข์ เห็นสักว่า สักว่า สักว่าไป เห็นจิตที่มันคิดอย่านึกว่าตัวตนในความคิด มันเป็นสักแต่ว่าคิด มันก็คิดเป็น มันมีธรรมชาติเป็นอาการที่มันต้องเกิดขึ้น เช่นมีไมค์ที่อยู่ต่อหน้าหลวงตาเนี่ย ถ้ามีเสียงมาสัมผัสก็เก็บเสียงเอาไปขยายให้เป็น ดังออกไป มันมีสัญญาณ วิญญาณธาตุรู้อะไรได้ วิญญาณธาตุ ชีวิตเราเนี่ยนอกจากธาตุ 4 ก็มีช่องว่าง ในกายในใจเรานี้ วิญญาณธาตุอีกเป็น 6 มันรู้อะไรได้ เราจึงต้องเอาประโยชน์ อย่าให้เป็นแต่โทษอย่างเดียว ถ้าสักแต่ว่ามันเป็นประโยชน์ สักแต่ว่ากายเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นแล้วมันไม่มีประโยชน์มีแต่โทษ บางทีจิตที่มันคิดก็นึกว่าเราซะ เอายากเอาง่ายกับความคิด ความผิดก็เป็นอันผิด ความถูกเป็นอันถูก ความหลงเป็นหลง ให้เห็นเฉย ๆ มันจะไม่มีค่าในความผิดความถูก เห็นความสุขความทุกข์ให้เห็นไป มันผิดก็เห็น มันถูกก็เห็นอย่างนี้ มันจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันจึงเป็นทางผ่าน ถ้ามันสุขเป็นผู้สุข ไม่เป็นมัชฌิมา เป็นสุดโต่งไปทางหนึ่ง ถ้ามันทุกข์เป็นผู้ทุกข์ ไม่เป็นมัชฌิมา เป็นสุดโต่งไปทางหนึ่ง เรียกว่าอารมณ์ของสัตว์
โลกของคนมีสองอย่างคือบวกคือลบ ถ้าลบก็คือไม่พอใจ ถ้าบวกคือพอใจ เราก็ข้องอยู่ที่นี่ ถ้าเห็นแล้วไปเลย ผ่านไปเลย มีอยู่ อันความสุขก็มีอยู่ ความทุกข์ก็มีอยู่ ความพอใจก็มีอยู่ ความไม่พอใจก็มีอยู่แล้ว จึงเห็น จะเอากายเอาใจไปห้อยไปแขวนให้มันเกิดสุขเกิดทุกข์เพราะกายเพราะใจ เดี๋ยวนี้เราให้กายให้ใจสั่งงานเรา เราไม่เป็นเจ้าของเลย แล้วแต่มันจะใช้อย่างไร ทำตามหมด พะรุงพะรัง ภารา หะเว ปัญจักขันธา หนัก แล้วแต่เขาจะใช้อะไร สารพัดอย่าง กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด หนัก
เราจึงมาเป็นเจ้าของใช้มัน ใช้ใจใช้กายให้มันทำดี หัดใช้มันให้มันเชื่อง มันไม่ค่อยให้ใช้หัดใหม่ ๆ เนี่ย ว่าจะให้อยู่ด้วยกัน มีสติดูกายเคลื่อนไหว ดูกายก็เห็นจิตมันจะคิดก็ดูอีก มันก็ไม่ค่อยให้ใช้ทีแรกนี่ มันยังซุกซน ดื้อๆๆ บางทียังด้านด้วย เช่น ความง่วงเหงาหาวนอนมันดื้อ ความคิดฟุ้งซ่านมันก็ดื้อ ไม่ให้ใช้ ว่าจะให้มันรู้ มันไม่เอามันจะหลับอย่างเดียว มันก็ไม่ถึงกับด้าน อันนั้นเราสอนไม่ได้เรียกว่า เนยยะปทปรมะ มีเหมือนกัน เหมือนบัวใต้น้ำใต้ดินโน่นนะ มีในโลกนี้ มีเหมือนกัน มีเหมือนกัน ถ้าเรายกพลิกมือขึ้นรู้สึก ยังไม่เป็นบัวใต้ดินนะ พลิกมือตั้งไว้รู้สึก ยกมือขึ้นรู้สึก บัวพ้นดินแท้ ๆ เลยเนี่ย อีกไม่นานจะพ้นน้ำบานออกมาได้ หลวงตาเคยไปสอนบัวใต้ดินนะ ไม่รู้อะไรเลย คนแก่คนเฒ่าอาจจะเป็นบัวใต้ดิน บอกให้พลิกมือก็ไม่รู้ ไปคว้าแต่ตะกร้าหมาก มาทำมาจก(หัวเราะ) แล้วก็พูดเรื่องทอดผ้าป่าเรื่องทอดกฐินสร้างโน่นสร้างนี่ไปโน่น นั่นตัวเองไม่ได้ใช้เลย มันคืออะไรกายใจนี้ใช้ได้ไหม
จึงมาหัดกัน มันไม่เป็นมาแต่เกิด ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องนี้คงบอดไปแล้ว แต่ทั้ง ๆ ที่มีอยู่มันก็อาจจะบอดไป จึงมาดูเนี่ย มันก็มีอยู่ให้เราเรียนรู้จากมันนี่แหละ มันจะหลงมันจะสุขจะทุกข์นั่นแหละ อ่านตำราให้ออก เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ทีแรกก็เป็นกายเป็นใจ พอเห็นไปเห็นมาหลายรอบหลายครั้ง คุ้นหน้าคุ้นตาก็เห็นเป็นรูปธรรมเห็นเป็นนามธรรม มันเป็นรูปกายนี่ อันที่มันรู้อะไรได้นั่นเป็นนามธรรม อันรูปอันนามนี้มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร เป็นรูปเป็นนาม แต่รูปนี้มาอาศัยมันได้ ให้มันทำดีได้ ถ้าไม่มีรูปไม่มีนามมันก็ไม่มีมรรคมีผล จึงมาอาศัยรูปนี่ให้มาทำดีให้ละความชั่ว จึงมาอาศัยนามให้มาทำดีให้ละความชั่ว มันจึงใช้ได้ ถ้ามันไม่หัดให้มันทำอย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้ มันจะพาไปตกนรกถ้าไม่เห็น ไปเป็นเปรตไปเป็นอสุรกายโน่น ถ้าไม่รู้มันตกนรกเท่ากับขนโค ถ้ารู้มันจะไปนรกเท่ากับเขาโค น้อย ๆ ผู้ที่เจริญสติ มีสติดีป้องกันได้อบายภูมิ ไม่ตกนรกไม่เป็นเปรตไม่เป็นอสุรกายเดรัจฉานแน่นอน ที่เรากลัวกัน ไม่ตกนรก เราต้องป้องกันเดี๋ยวนี้ เมื่อมันเห็นจึงป้องกันได้ เห็นทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์นั่น พ้นมาแล้ว เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความหลงเห็นความรู้ ไม่เป็นผู้รู้ผู้โกรธผู้หลง นั่นนะ อาจจะปิดได้เลยถ้ามันเก่ง ก็เลยเห็นทางไปสู่มรรคสู่ผล เหนือการเกิดแก่เจ็บตายได้เพราะเราทำอย่างนี้ ไม่ใช่อ้อนวอน เป็นการกระทำของเราเอง อยู่กับการกระทำนี่แหละไม่ได้อาบเหงื่ออะไรมาก ถ้ามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลงเนี่ย ไม่ได้ยากทำได้ทุกคน พระพุทธเจ้าจึงว่าปฏิบัติได้ ทำได้ ให้ผลได้ อย่างเนี้ย เปลี่ยนได้ไหมเวลามันหลงเปลี่ยนให้ไม่หลงให้รู้ขณะที่มันหลงได้ไหม ได้ทุกคน แล้วก็เวลามันทุกข์เปลี่ยนทุกข์ให้ไม่เป็นทุกข์มันทำได้ทุกคน ไปหัด หัดไว้มันก็ทำได้ทุกคนเนี่ย เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เห็นตะพึดตะพือไป ได้บทเรียนจากกายจากใจ ได้บทเรียนเยอะแยะ
มีปัญญาก็ตรงนี้รอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือกาย กายสังขาร จิตสังขาร รอบรู้ทุกกรณีอันสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่จนแน่นอน คำว่าจนใจ จนใจ ไม่มีหรอกในโลกนี้ เมื่อรอบรู้ในกองสังขารเป็นปัญญา เป็นปัญญาของพุทธะ รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา ไม่หมักไม่หมมไม่จมอยู่กับสิ่งเหล่านี้ พ้นออกมา อะไรที่มันแสดงออกจากกายจากใจรู้หมด รู้ครบ รู้ถ้วน รู้แจ้ง ไม่ได้ทำอีกเพราะมันจบ จบ เป็นสูตรที่จบจากชีวิตเราเนี่ย มันเรียนจบได้ เรียกว่าอเสขะ เสกขา ธัมมา อะเสกขา ธัมมา เนวะเสกขานาเสกขา ธัมมา ปะริตตา ธัมมา มะหัคคะตา ธัมมา อัปปะมาณา ธัมมา ปะริตตารัมมะณา ธัมมาฯ (หัวเราะ) พวกเราก็ฟังพระสวด แต่ว่าเราไปนึกว่าพระสวดให้คนตาย ที่จริงพระท่านสอนเรา อัชฌัตตา ธัมมา พะหิทธา ธัมมาฯ อัชฌัตตาธรรม ธรรมภายใน จัดภายในคือกายใจของเราให้มันดี พะหิทธาธรรม ธรรมภายนอก ทาแต่หน้าแต่แป้ง แต่งแต่ดอกไม้ธูปเทียน ภายในไม่จัด เสกขาธรรม พระก็ต้องศึกษา ชีวิตต้องศึกษาเรียกว่าเสกขาธรรม อเสกขาธรรมไม่ต้องศึกษาอีก รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้วเนี่ย เหมือนอัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ อัญญาสิ รู้แล้วหนอ รู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว เป็นพระสงฆ์ขึ้นมาทันทีเลย เพราะอะไร เพราะปฏิบัติตามธรรมวินัย วิคือวิเศษ นัยยะนำไป ความหลงไม่ถูกต้อง ความไม่หลงถูกต้อง ความหลงไม่เป็นวินัย ความไม่หลงเป็นวินัย ความทุกข์ไม่เป็นวินัย ความไม่ทุกข์เป็นวินัย วิเศษกว่ากัน เป็นธรรมกว่ากัน เรียกว่าอเสขะ จบได้
ที่วัดสุคะโตนี้จึงตั้งว่าสถาบันเลยทีเดียว เพื่อให้ศึกษาเรื่องชีวิตที่กายใจนี้ให้มันจบ ถ้ามันจบก็ไม่เป็นปัญหาก็เป็นประโยชน์ต่อสรรพสิ่งทุกสิ่งในโลกนี้ แจกของส่องตะเกียงเลี้ยงคนทั้งเมืองได้ ถ้ามันมีน้ำใจต่อความชอบธรรม เมื่อมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นจากคน ๆ หนึ่งก็มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นจากคนที่หนึ่งที่สองที่สามไป สิ่งอื่นวัตถุอื่นได้ นี่เราอย่าให้พลาดในชาตินี้ ในพรรษานี้เราลอง ไม่ใช่ว่าจะเคร่งเครียดนะ สนุกนะ สนุกหลงลองดูสิ สนุกทุกข์ลองดู สนุกโกรธลองดู หัวเราะยิ้มตลอดเวลา มันโกรธก็ยิ้มหัวเราะตัวเอง มันทุกข์ก็ยิ้มหัวเราะตัวเอง เห็นทุกข์แท้ ๆ นะ มันประเสริฐ ปัดโธ่ถ้าจะพูดว่า พุทโธตอนนี้อ่ะ พุทโธ เพราะอันนี้ ปัดโธ่ ปัดโธ่นะ ปัดโถ ปัดโธ่ ตื่นขนาดนะ รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา ปัดโธ่ แต่ก่อนไม่เห็นนะบัดนี้มาเห็นแล้วบัดนี้
เหมือนที่หลวงตาไปสอนคนจีน เขาพูดออกมาจากปากเขาว่า เขาเข้าใจแล้ว ทุกสิ่งเกิดแต่หลงเพราะหลงมันจึงคิด ถ้าไม่คิดก็ไม่มีทุกข์ ทุกข์มันมีเพราะความคิดเป็นใหญ่เสียก่อน ความคิดนี้ทำให้เกิดทุกข์ได้ คิดที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นแหละ มันอยู่ตรงนี้แน่นอน เอาละบัดนี้จะอยู่ตรงนี้จะจัดการตรงนี้ มันเกิดจากความหลงก็เกิดจากความคิดนี่แหละ พอมันคิดก็ทุกข์ขึ้นมา อะไรก็เกิดจากความคิดทั้งนั้น พวกเราจึงสวด มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยาฯ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จก็ที่ใจ ได้ยินไหมเมื่อกี้นี่สวดนะ อาจารย์ทรงศิลป์พาเราสวดสาธยายพระสูตร หรือว่าเป็นภาษานกแก้วนกขุนทองไป ได้เห็นด้วยหรือเปล่า หรือปล่อยให้มันไหลไปอย่างนั้น เถื่อน ๆ อยู่เช่นนั้นหรือ ปล่อยให้ไหล กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นเปลวอย่างนั้นหรือ ไม่ได้เห็นว่ามันเหตุอยู่ที่นี่ นั่นแหละไม่ได้แก้ที่นี่ มันจะไปทำอะไร อ้อนวอนอยากจะได้บุญอะไร กุศลตรงไหน
หลวงตาก็บอกว่าใจร้ายไปนรกนะ ใจดีได้สวรรค์นะ ใจเย็นได้นิพพานนะ นี่ใจแท้ ๆ จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตดี สุคติเป็นที่หวัง จิตเต อสังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นที่หวัง พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ เรามาบอกกันอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่หนีไปไหน อยู่แต่ติดกับเรานี่แหละ ปล่อยให้จิตเศร้าหมองหน้าเง้าหน้างอหน้าบูดหน้าบึ้งอยู่ทำไม ทำไมไม่ชื่นบาน พุทโธ เห็นความโกรธเกิดขึ้นก็โธ่ โธ่ โธ่ อาย หลวงพ่อเทียนว่าถ้าให้โกรธนะอาย ให้แก้ผ้าเดินอ้อมบ้าน จะเอาทางแก้ผ้าเดินอ้อมบ้าน อันที่มันน่าอายจะทำแบบนั้นน่ะ ถ้าให้โกรธเนี่ย ไม่เอาแน่นอน ให้แก้ผ้าอ้อมบ้านดีกว่าถ้ามีใครบังคับ มันเอาไม่ได้เพราะไม่ถูกต้อง แต่คนเอาความโกรธไปอ้างกัน เคยไหมแม่เพียร เอาความโกรธไปอ้างกันมีไหม ด่ากันได้ชี้หน้ากันได้ เอาความโกรธไปอ้างกัน ไปด่ากันคำหยาบ ๆ เป็นทาส ทะเลาะกันก็มี ทำให้เดือดร้อนก็มี บางทีก็ทุบหม้อข้าวหม้อแกงถ้าความโกรธนะ เกิดขึ้นมามีเหมือนกัน ยิงกัน ระเบิดขว้างกัน ตายไปเท่าไรแล้ว
เราจึงมาแก้ตรงนี้ เหตุมันอยู่ที่นี่ นี่ปฏิบัติธรรมมันเป็นอย่างนี้ไม่ใช่อะไรไม่ใช่เพื่อลาภสักการะสรรเสริญเยินยอหมู่มิตรพวกพ้องบริวาร ไม่ใช่ตั้งเป็นเจ้าลัทธินิกาย ไม่ใช่แบบนั้น เพื่อความหลุดพ้นในเรื่องนี้ มาชวนกัน อย่าทำอันอื่นให้พยายามตรงนี้ ดูแลกันให้พอเหมาะพอสม ถ้าจะมาเดินจงกรมอยู่แถวลานหินโค้งก็ได้ ถ้าอยู่ในกุฏิมันอาจจะบางทีก็ดีบางทีก็ไม่ดีก็ออกมาบ้าง อาจารย์ทรงศิลป์ก็อยู่แถวนี้ หลวงพ่อกรมก็อยู่แถวนี้ อาจารย์ทองขาลก็น่าจะมาแถวนี้ ดูแลพระด้วย หลวงพ่อกรม หลวงพ่อก็อยู่แถวนี้มีอะไรก็ถามไถ่ได้ เราเป็นเพื่อนกันอย่าปล่อยกันทิ้ง แม่ชีก็ดูแลกัน ญาติโยมก็ดูแลกันอยู่ บรรพชิตก็ดูแลกันไป น่าเป็นห่วงแต่แม่ชีจีนนะ อยู่นี่ไหม เห็นไหม มาไหม หา หา มาไหม เป็นอะไร เป็นผู้หลง โอ้ยังคิดว่าจะบอกกันนี่ เก่งนะแม่ชีนี้ ไปดูความเป็นอยู่ของคนจีน พระจีน ภิกษุณีจีน ไม่เหมือนเรานะ ของอยู่ของกินเต็มห้องนะ ตอนเย็นมีผลหมากรากไม้มีอะไรกิน ขนมอะไรมีกิน น้ำร้อนน้ำอุ่นตั้งไว้ในห้อง หลวงตาไปอยู่เมืองจีนเนี่ย เยอะแยะเลย เขาเอาวางให้กิน แอ๊ปเปิ้ลลูกเท่าสองกำปั้น (หัวเราะ) เต็มไปหมดเลย องุ่นลูกเท่านี้ เอามาไว้ให้ฉันตอนเย็นนะ เครื่องดื่มเยอะแยะเลย แต่เราไม่ฉัน พอเราไม่ฉันเขาก็มาปั่นเป็นน้ำให้ มาปั่นทุกวัน เห็นเราไม่ฉันเลย เอามีดมาให้ปาดฝานอะไรกิน เราก็ไม่ทำอะไร เลยมาทำน้ำให้ มาปั่นน้ำให้ แล้วจีนเขาไม่กินน้ำเย็นนะ กินน้ำอุ่น มีน้ำชาน้ำอุ่นนะ ก็น่าสงสารเธอมาก ก็ไม่มีใคร ถ้าจะดูแล้วเนี่ย มันก็อยู่กับเราได้ยากนะ พวกเรามันขี้ทุกข์ขี้ยากสักหน่อยใช่ไหม อยากอะไรก็ไม่ได้กิน (หัวเราะ) ของเคี้ยวฉันไม่ได้นะ ของเคี้ยวรู้จักไหม คือหย่ำเอา (ทำเสียงเคี้ยวข้าว) เคี้ยวข้าวมันเป็นของเคี้ยว ถ้าหล่อเป็นก้อนกลืนอย่างนี้ก็ไม่ได้นะ ของเคี้ยวไปกลืนมันก็ผิดเหมือนกันนะ เว้นไว้แต่น้ำ คำข้าวเนี่ย บางทีมันหิวข้าวก็เคี้ยวไม่ได้กลืนเอาก็ได้ หล่อเป็นก้อน ๆ กลืนลงไปก็ผิดศีลเหมือนกันนะ ต้องอาบัติเหมือนกัน ของเคี้ยวของนั้นกลืนไม่ได้ ลงไปลำคอ เว้นไว้แต่น้ำแล้วไม่สีฟัน ดูแลกัน หลวงตาก็น่าบกพร่องมาก ๆ เรื่องนี้ ดูแลไม่ทั่วถึง แต่อยากไปเยี่ยมพระนักปฏิบัติอยู่ในป่าก็ไปไม่ได้นะ กำลังว่าจะซื้อรถนั่งสักคันหนึ่งกับหลวงพ่อกรมนะ รถแบตเตอรี่ (หัวเราะ) นั่งไป ถามคุณหมูอยู่ว่าคันหนึ่งมันเท่าไร ประมาณแสนกว่าบาท โอ๊ย! แสนกว่าบาทพอที่จะหาซื้อได้นะ ขับพาหลวงพ่อกรมไป ให้หลวงพ่อกรมขับไป (หัวเราะ) เอา! สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน